วารุณี ภูริสินสิทธิ์ ภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ : เผยแพร่บนเว็ปไซต์แห่งนี้วันที่ 27 มีนาคม 2545

สตรีนิยมสายหลังสมัยใหม่ สตรีนิยมแนวคิดต่าง ๆ ถูกมองว่าเป็นผลผลิตของแนวคิดในยุคสมัยใหม่ (ยกเว้นนักสตรีนิยมสายจิตวิเคราะห์บางคน) และถูกวิจารณ์จากสตรีนิยมสายแนวคิดหลังสมัยใหม่ว่ามีข้อบกพร่อง โดยเฉพาะประเด็นการเสนอภาพผู้หญิงที่เป็นหนึ่งเดียว คือเชื่อว่าผู้หญิงทั้งโลกมีความเหมือนกัน ไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม ทางชาติพันธุ์ ทางชนชั้น สตรีนิยมสายหลังสมัยใหม่ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างสูงตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ได้ให้ความสำคัญต่อความแตกต่างของกลุ่มผู้หญิง รวมทั้งความหลากหลายที่มีอยู่ของผู้หญิงแต่ละคน

นอกจากนี้ยังปฏิเสธความคิดสารัตถะนิยม โดยเสนอว่าไม่มีผู้หญิง ไม่มีความเป็นผู้หญิง ทุกอย่างล้วนสร้างผ่านปฏิบัติการทางวาทกรรม จึงไม่มีความเป็นผู้หญิงที่แท้ คงที่ตายตัวและไม่เปลี่ยนแปลง การเสนอว่าไม่มี "ผู้หญิง" ของสตรีนิยมหลังสมัยใหม่ได้นำไปสู่การถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากนักสตรีนิยมสายอื่น ๆ ว่าทำให้การต่อสู้เพื่อสถานะที่ดีขึ้นของผู้หญิงเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีสิ่งที่เรียกว่าผู้หญิงเสียแล้ว ถือเป็นการทำลายความชอบธรรมของขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิง

บทความลำดับที่ 166
QUOTATION
release date
270345

แนวคิดสตรีนิยม ได้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 40 ปีหลังนี้ และก่อให้เกิดแนวคิดในสกุลความคิดต่างๆมากมาย สำหรับผู้สนใจในประเด็นดังกล่าว ขอแนะนำให้อ่านงานชิ้นนี้

 

H
ภาพประกอบดัดแปลง ต้นฉบับเป็นจากผลงานของนักศึกษา Kitty Meek เทคนิคสีน้ำมัน (ได้รับรางวัลเหรียญเงิน) จากหนังสือ ILLUSTRATION : Society of Illustrators of Los Angeles 4krmuj 324
home

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิกที่ข้อความ member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ข้อความ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ข้อความ webboard

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้

midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

แนวคิดสตรีนิยมในสกุลความคิดต่างๆ
(ปรับปรุงจากบทความลำดับที่ 3 เรื่อง"ความเป็นเพศ")

วารุณี ภูริสินสิทธิ์
(บทความนี้ยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4)


ความแตกต่างระหว่างเพศหญิงและเพศชายทางสรีระได้นำไปสู่ความเชื่อที่ว่าผู้หญิงและผู้ชายมีความแตกต่างกันในทางอื่นๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็นในเรื่องสติปัญญา ความสามารถ ความถนัด จิตใจ และอารมณ์ ความเชื่อเช่นว่านี้ได้มีมาเป็นเวลานานนับพันปี ความแตกต่างดังกล่าวมักถูกมองว่าเป็นความแตกต่างที่มีมา "ตามธรรมชาติ" ซึ่งหมายความว่า ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ การเชื่อที่ว่าผู้หญิงมีความแตกต่างจากผู้ชายได้นำไปสู่สถานะของผู้หญิงที่ด้อยกว่าผู้ชาย เช่น ความเชื่อที่ว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ไม่มีเหตุผลชอบใช้อารมณ์ นำไปสู่การที่สังคมไม่ยอมรับผู้หญิงให้เป็นผู้นำเพราะมีคุณสมบัติทางเพศที่ไม่เหมาะสม

ความเชื่อที่ว่าผู้หญิงไม่เก่งทางคณิตศาสตร์ ไม่มีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์ ทำให้ผู้หญิงไม่ได้รับการสนับสนุนให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ วิศวกรซึ่งเป็นอาชีพที่มีรายได้ดีและมีเกียรติในสังคม ในโรงงานอุตสาหกรรมผู้หญิงจะเป็นได้เพียงกรรมกรไร้ฝีมือ ไม่สามารถเป็นช่างเครื่องยนต์ได้ เพราะผู้หญิงถูกมองว่าไม่มีความสามารถทางช่าง ความเชื่อที่ว่าผู้หญิงมีคุณสมบัติหรือความสามารถทางเพศในการดูแลผู้อื่น เช่น เด็ก คนแก่ ทำให้ผู้หญิงต้องเป็นผู้รับภาระหลักในการดูแลลูกและคนในครอบครัว แม้ว่าผู้หญิงจะทำงานนอกบ้านด้วยก็ตาม

หากนักศึกษา สมาชิกประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลงมาจะแก้ปัญหาได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงประมาณสองร้อยปีที่ผ่านมา สังคมของมนุษย์ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลายประการ การก่อเกิดและการยอมรับในเรื่องสิทธิมนุษยชน การให้ความสำคัญกับความเป็นประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงการผลิตแบบเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ได้ทำให้ผู้หญิงส่วนหนึ่งได้รับโอกาสการศึกษาเช่นเดียวกับผู้ชาย ผู้หญิงได้ทำงานนอกบ้านมากขึ้น สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิดการตั้งคำถามต่อความเชื่อเดิมๆ ที่เสนอว่าผู้หญิงมีสถานะที่ด้อยกว่าชาย และความแตกต่างของผู้หญิงและผู้ชายเป็นเรื่องตามธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ รวมทั้งการพยายามหาคำตอบว่าทำไมความเชื่อเช่นว่านี้เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้มาเป็นเวลานาน การเกิดการตั้งคำถาม การหาคำอธิบาย และการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อเปลี่ยนแปลงความเชื่อตลอดจนสภาพแห่งความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเพศนี้ ได้มีการเรียกรวม ๆ ว่าสตรีนิยม (Feminism)

สตรีนิยมได้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 40 ปีหลังของศตวรรษที่ 20 นำไปสู่การศึกษาเกี่ยวกับผู้หญิงในมิติต่าง ๆ โดยให้ความสำคัญในการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเพศ และได้ใช้ความคิดรวบยอดในเรื่องความเป็นเพศ (Gender) เป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์ที่สำคัญ

1. ความเป็นเพศคืออะไร
ในขณะที่เพศ (Sex) หมายถึงความแตกต่างทางสรีระ ความเป็นเพศ (Gender)หมายถึง องค์ความรู้ที่สร้างความหมายให้กับความแตกต่างทางร่างกาย เป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนในทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และจิตวิทยาระหว่างผู้หญิงและผู้ชาย ความเป็นเพศเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างสังคม เป็นการจัดการทางสังคมของความแตกต่างระหว่างเพศในด้านต่างๆ (Scott 1988) เป็นพฤติกรรมที่ถูกเรียนรู้ทางสังคม และเป็นความคาดหวังของสังคมที่สัมพันธ์กับเพศสองเพศ

เพศหญิงเพศชายเป็นข้อเท็จจริงทางสรีระ แต่การจะกลายเป็นผู้หญิงหรือเป็นผู้ชายเป็นกระบวนการทางวัฒนธรรม กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ วัฒนธรรมสร้างความเป็นหญิงเป็นชายในสังคมขึ้น วัฒนธรรมเป็นตัวสร้างความเป็นเพศ วัฒนธรรมเป็นผู้บอกว่าเราควรปฏิบัติตัวอย่างไร คิดอย่างไร และเราควรจะคาดหวังอะไรจากผู้อื่น และเมื่อวัฒนธรรมเป็นผู้กำหนดความเป็นหญิงความเป็นชาย วัฒนธรรมจึงเป็นผู้บอกว่าผู้หญิงและผู้ชายควรต้องทำตัวอย่างไร

เช่น ผู้หญิง (ในวัฒนธรรมไทย) ต้องเป็นคนเรียบร้อย ไม่พูดเสียงดัง ไม่สบถ ในขณะที่ผู้ชายไม่ถูกคาดหวังให้เป็นเช่นนั้น หรือภรรยาต้องเชื่อฟังสามี สามีต้องเป็นผู้นำในครอบครัว หรือผู้หญิงต้องให้ความสำคัญกับหน้าที่ของภรรยาและแม่มากกว่าการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ในขณะที่ผู้ชายต้องทำงานเพื่อประสบความสำเร็จซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด หรือผู้ชายต้องเป็นผู้เกี้ยวพาราสี ถ้าผู้หญิงคนใดเป็นผู้เกี้ยวพาราสีผู้ชายก่อนผู้หญิงคนนั้นจะถูกตำหนิจากสังคม

สิ่งเหล่านี้เป็นความคาดหวังที่สังคมมีต่อความเป็นหญิงความเป็นชาย และถ้าใครไม่ทำตามที่สังคมคาดหวัง ก็จะพบกับสิทธานุมัติ (sanction) จากสังคมในเชิงลบ เช่น การติฉินนินทา หรือเยาะเย้ย ถากถาง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายต้องปฏิบัติตามที่วัฒนธรรมของสังคมกำหนด และเนื่องจากความเป็นหญิงความเป็นชายในสังคมถูกกำหนดจากวัฒนธรรม ดังนั้นความเป็นหญิงความเป็นชายจะแปรเปลี่ยนไปตามเวลาและสถานที่

กล่าวคือ ความเป็นหญิงความเป็นชายในยุคสมัยหนึ่งอาจไม่เป็นความเป็นหญิงความเป็นชายในอีกยุคสมัยหนึ่ง เช่น สังคมไทยในอดีต ผู้หญิงในชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูงถูกคาดหวังให้อยู่กับบ้าน ดูแลครอบครัว การทำงานนอกบ้านถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีเกียรติ แต่ในปัจจุบันการทำงานนอกบ้านของผู้หญิงเป็นเรื่องปกติและในบางส่วนเป็นความจำเป็นของครอบครัว นอกจากนี้ความเป็นชายความเป็นหญิงที่ถูกคาดหวังจากสังคมจะไม่เหมือนกันในแต่ละสังคมด้วย เช่น ผู้หญิงในชนบทภาคเหนือมีอิสระในการเลือกคู่มากกว่าผู้หญิงในชนบทภาคใต้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า การอ้างว่ามีธรรมชาติของผู้หญิงและธรรมชาติของผู้ชายที่แน่นอน เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อถือ หรืออย่างน้อยก็ยังไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือมาสนับสนุน

นอกจากแตกต่างกันตามเวลาและสถานที่แล้ว การให้ความหมายทางสังคมต่อความเป็นเพศยังเป็นผลจากสถาบันทางเศรษฐกิจและสถาบันทางการเมืองในแต่ละยุคสมัยและในแต่ละสังคมด้วย ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้หญิงโดยเฉพาะในประเทศที่เข้าร่วมสงคราม ผู้ชายต้องออกไปรบ ผู้หญิงถูกเรียกร้องให้ออกมาทำงานทั้งในโรงงานอุตสาหกรรม และในงานด้านอื่นๆ เพื่อทำให้ระบบเศรษฐกิจดำเนินไปได้ แต่เมื่อสงครามยุติลง ผู้หญิงถูกผลักออกจากตลาดแรงงานเพื่อให้ผู้ชายมีงานทำ และผู้หญิงก็ถูกบอกว่าหน้าที่ของผู้หญิงหรือสิ่งที่ผู้หญิงทำได้ดีที่สุด คือดูแลบ้านและครอบครัว

กรณีการแบ่งหน้าที่ของหญิงและชายให้แยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดเกิดขึ้นจากระบบคิดที่แบ่งสังคมออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นสาธารณะ (public) อันได้แก่ เรื่องนอกบ้านหรือเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและบอกว่าส่วนนี้เป็นโลกหรือสังคมของผู้ชาย อีกส่วนถือว่าเป็นเรื่องชีวิตส่วนตัว (private) อันได้แก่ เรื่องในบ้าน หรือการดูแลบ้านเรือนและสมาชิกภายในครอบครัว และเสนอว่าส่วนนี้เป็นโลกของผู้หญิง

ระบบคิดนี้เริ่มเกิดขึ้นในสังคมตะวันตก เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการผลิตจากเกษตรกรรมมาเป็นอุตสาหกรรม การผลิตแบบอุตสาหกรรมทำให้งานและบ้านถูกแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาด อุดมการณ์ความเป็นแม่บ้าน (Ideology of Domesticity) ได้ถูกสร้างขึ้นและจำกัดบทบาทผู้หญิงให้อยู่ภายในโลกของครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้หญิงชนชั้นกลางและชนชั้นสูง

ความเป็นเพศ เป็นความคิดรวบยอดที่แตกต่างจากเรื่องบทบาททางเพศ เพราะความเป็นเพศมีความหมายที่กว้างกว่าบทบาททางเพศ บทบาททางเพศหมายความถึงแบบแผนต่างๆ ที่แสดงออกถึงความสัมพันธ์ของความเป็นเพศ เช่น บทบาทในการดูแลลูกเป็นของผู้หญิง บทบาทในการทำงานหาเลี้ยงครอบครัวเป็นของผู้ชาย แต่ความเป็นเพศมีความหมายที่มากกว่านั้น เพราะฉะนั้น การทำความเข้าใจต่อความเป็นเพศต้องไม่ถูกลดลงเพียงการทำความเข้าใจในเรื่องบทบาทที่แสดงออกในสังคมเท่านั้น ในความสัมพันธ์หญิง-ชายยังมีแง่มุมอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกสะท้อนออกมาในเรื่องของบทบาท เช่น การที่ผู้หญิงรู้สึกว่าด้อยกว่าชาย ความรู้สึกที่ต้องการพึ่งพิงผู้ชาย ความรู้สึกที่ต้องการมีผู้ชายในชีวิตเพื่อทำให้ชีวิตมีความสมบูรณ์ขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นความหมายของความเป็นเพศทั้งสิ้น

2. การสร้างความเป็นเพศผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคม
คุณลักษณะของแต่ละเพศที่ปรากฏไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยผ่านกระบวนการขัดเกลาทางสังคมที่ซับซ้อน และซึมซับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นตัวตนของคนในสังคม ความเป็นเพศเป็นตัวกำหนดความเป็นตัวตน ทักษะ และความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้อื่นของคนในแต่ละเพศ

กระบวนการขัดเกลาทางเพศจะเริ่มตั้งแต่เด็กเกิด ในช่วงที่ยังเป็นเด็กอ่อนอาจจะยังไม่แตกต่างกันนักในการเลี้ยงดูของทั้งสองเพศ แต่พบได้บ้างในเรื่องการเน้นที่อวัยวะทางเพศที่แตกต่างกัน เช่น ในการศึกษาของ สตีเฟน สปาร์ค (Stephen Sparkes) เรื่อง Body and Space: Socialization and Gender Hierarchy among the Shan and Isan (1996) ศึกษาการเลี้ยงดูเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายของชาวไทยใหญ่ ที่แม่ฮ่องสอน พบว่า คนในชุมชนให้ความสำคัญกับอวัยวะเพศของเด็กอ่อนเพศชาย โดยการจับและนำมาเป็นเรื่องล้อเล่นในที่สาธารณะ ในขณะที่อวัยวะเพศของเด็กอ่อนเพศหญิงถูกมองว่าเป็นของไม่สวย เป็นเรื่องที่ต้องปกปิด ซึ่งผู้ศึกษาอธิบายว่าการแสดงออกของคนในชุมชนเช่นนี้ ทำให้เด็กผู้หญิงรู้สึกว่า ตนเองมีความด้อยมีความน่าอับอายอยู่ในตัวเอง ซึ่งจะติดอยู่ในความนึกคิดของเด็กจนโตเป็นผู้ใหญ่ และไม่ว่าในสังคมใดก็ตาม ความแตกต่างในเรื่องการเลี้ยงดูจะเห็นได้ชัดเจนขึ้นเมื่อเด็กโตขึ้น

เด็กผู้ชายมีโอกาสเล่นได้ในทุกที่และเล่นนอกบ้านเป็นส่วนใหญ่ ของเล่นของเด็กผู้ชายมีความหลากหลายและเกมส์ที่เล่นจะมีกฏเกณฑ์และซับซ้อน มีจุดมุ่งหมาย และเป็นการแข่งขัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นการเตรียมให้ผู้ชายมีทักษะในการจัดการและความเป็นผู้นำ ในขณะที่เด็กผู้หญิงถูกจำกัดให้เล่นแต่ในบ้าน มีของเล่นเพียงไม่กี่ชนิด การเล่นไม่มีกฎเกณฑ์ที่ซับซ้อน เช่น เล่นขายของ เล่นตุ๊กตา ช่วยแม่ทำกับข้าว นอกจากนี้หนังสืออ่านเล่นของเด็กหรือหนังสือการ์ตูน จะกำหนดความเป็นหญิงความเป็นชายอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเจ้าหญิง เจ้าชาย หรือเรื่องอื่นๆ ผู้หญิงคือ ผู้ตาม คือ แม่บ้าน คือ ผู้ดูแลครอบครัว ผู้พึ่งพิง ในขณะที่ผู้ชายคือผู้นำ ผู้ปกป้อง ผู้เสนอความเห็น ผู้ตัดสินใจ

เมื่อเด็กเข้าโรงเรียน เด็กพบกับความคาดหวังของครู ความสัมพันธ์กับเพื่อน ซึ่งล้วนมีส่วนสร้างทักษะที่เชื่อว่าเหมาะกับเพศที่แตกต่างกัน ผู้หญิงถูกเชื่อว่าเหมาะที่จะเรียนทางศิลปศาสตร์ ขณะที่ผู้ชายถูกมองว่าเหมาะที่จะเรียนทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ผู้หญิงไม่ค่อยมีความสนใจเรียนทางวิทยาศาสตร์เพราะเชื่อเสียแล้วว่าตนเองไม่มีทักษะ รวมทั้งผู้หญิงจะถูกจำกัดโอกาสในการทำงานในบางอาชีพที่ถูกเชื่อว่าเป็นอาชีพของผู้ชาย สิ่งเหล่านี้เป็นเสมือนการกำหนดเส้นทางให้ผู้หญิงเดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในสังคมปัจจุบันการขัดเกลาทางเพศที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าครอบครัว โรงเรียน หรือกลุ่มเพื่อน คือ สื่อต่างๆ นวนิยาย โฆษณา ภาพยนตร์ ล้วนสร้างและเสริมความเป็นหญิงความเป็นชายตามประเพณีนิยม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณค่าของสาวบริสุทธิ์ ความเป็นแม่บ้านแม่เรือน ผู้หญิงกับความสวย ความสาว ในขณะที่ผู้ชายถูกสะท้อนควบคู่กับการทำงาน การเป็นผู้นำ ความเป็นผู้กล้า

ในสังคมที่เป็นเช่นนี้จึงไม่น่าแปลกที่คนในสังคม ไม่ว่าเพศหญิงหรือเพศชายยังมีคุณลักษณะที่ดูแตกต่างกันและยังมีความเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ตามธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้

3. ผลที่ตามมาของความเป็นเพศ
การที่สังคมกำหนดความเป็นเพศขึ้น โดยให้ผู้หญิงมีคุณลักษณะบางอย่าง และผู้ชายมีคุณลักษณะบางอย่างและเชื่อว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นำไปสู่การกำหนดบทบาทหน้าที่ รวมทั้งสถานะสูงต่ำที่แตกต่างกันของคนสองเพศ ผู้หญิงอยู่ในสภาพเป็นผู้ที่ด้อยกว่า เป็นผู้ตาม เป็นผู้ถูกกำหนด ในขณะที่ผู้ชายอยู่ในฐานะที่เหนือกว่า เป็นผู้นำ เป็นผู้กำหนด

ตัวอย่างเช่น การเชื่อว่าผู้หญิงมีหน้าที่หลักในการเลี้ยงลูกและดูแลครอบครัว นำไปสู่การที่ครอบครัวไม่สนับสนุนให้เด็กผู้หญิงได้รับการศึกษา โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีฐานะไม่ดีนัก แต่เด็กผู้ชายจะได้รับการศึกษาเพราะเชื่อว่าผู้ชายมีหน้าที่ในการเป็นผู้นำของครอบครัว ความเชื่อเช่นว่านี้ ทำให้ผู้หญิงในโลกนี้มีสัดส่วนของการไม่รู้หนังสือจำนวนมากกว่าผู้ชาย และเนื่องจากด้อยทางการศึกษารวมทั้งความเชื่อที่ว่าผู้หญิงไม่มีทักษะทางเครื่องยนต์กลไก ทำให้ผู้หญิงส่วนใหญ่ในโลกนี้เช่นกันที่มีสัดส่วนที่ต้องทำงานไร้ทักษะและได้รับการจ้างแรงงานต่ำมากกว่าชาย นำไปสู่การที่ผู้หญิงอยู่ในกลุ่มของผู้ยากจนในสัดส่วนที่มากกว่าชาย

การเชื่อว่าผู้หญิงเป็นเพศที่ไม่มีเหตุผล ไม่สามารถคิดอะไรที่ซับซ้อน ไม่สามารถคิดอะไรในระดับที่นอกเหนือจากประสบการณ์ได้ ไม่สามารถตัดสินใจในปัญหาที่สำคัญ ทำให้ผู้หญิงไม่ได้รับการสนับสนุนให้สนใจและไม่ได้รับการยอมรับในการเป็นผู้นำไม่ว่าในระดับใด จึงทำให้ในโลกนี้มีผู้หญิงจำนวนน้อยมากที่อยู่ในระดับนำ ที่มีโอกาสในการตัดสินใจในเรื่องที่มีผลต่อชีวิตของคนจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ผู้หญิงมีอยู่ครึ่งหนึ่ง

การเชื่อว่าในเรื่องเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ ผู้หญิงเป็นผู้รองรับ ไม่สามารถเป็นผู้แสดง (passive) และต้องเป็นสาวบริสุทธิ์ ในขณะที่ผู้ชายเป็นผู้ที่ต้องแสดง ทำให้ผู้หญิงไม่กล้าเสนอหรือต่อรองในการใช้เครื่องมือคุมกำเนิด เพราะกลัวถูกมองว่าเป็นผู้หญิงไม่ดีหรือมีประสบการณ์ ในเรื่องเพศมาก่อน ผลที่ตามมา คือผู้หญิงต้องแบกรับภาระการตั้งท้องและรับผิดชอบต่อเด็กที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิด หรือติดโรคทางเพศอื่นๆ1

ในทางจิตวิญญาน ผู้หญิงถูกเชื่อว่าอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าชาย ผู้หญิงไม่สามารถพัฒนาความคิดในระดับนามธรรมได้ นักปรัชญาตะวันตกตั้งแต่อริสโตเติลจนถึงเฮเกลได้อ้างมาตลอดว่า ผู้หญิงไม่สามารถเป็นเพื่อนกับผู้ชายได้เพราะผู้หญิงปราศจากความสามารถทางศีลธรรมในการมีความสัมพันธ์เชิงมิตรภาพในรูปแบบสูงสุดได้ (Shanley 1995) ความเชื่อเช่นนี้ส่งผลให้ผู้นำทางศาสนาในศาสนาสำคัญ ๆ ของโลกล้วนเป็นเพศชายทั้งสิ้น ในหมู่นักบวชด้วยกัน นักบวชหญิงก็มีสถานะที่เป็นรองนักบวชชาย

กรณีพระพุทธศาสนา แม้พระพุทธเจ้าทรงยอมรับว่าผู้หญิงสามารถบรรลุนิพพานได้เช่นเดียวกับผู้ชาย และในสมัยพุทธกาลได้มีพระภิกษุณีที่เป็นพระอรหันต์จำนวนมาก แต่สังคมไทยในส่วนของมหาเถรสมาคมยังคงปฏิเสธการบวชเป็นภิกษุณีของผู้หญิงจนถึงปัจจุบันนี้ สะท้อนถึงการไม่ยอมรับความเท่าเทียมทางจิตวิญญานของหญิงและชายที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยอย่างเหนียวแน่น

ทั้งหมดนี้ล้วนแสดงให้เห็นว่าความเชื่อต่าง ๆ ที่ควบคู่มากับความเป็นเพศ ได้ผลักหรือกันให้ผู้หญิงออกจากศูนย์กลางของอำนาจ ไม่ว่าทางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรม ทำให้ผู้หญิงมีสภาพไม่ต่างจากกลุ่มคนชายขอบที่ไร้อำนาจ อยู่ในสถานะของผู้ที่ถูกกำหนด ไม่สามารถเป็นผู้กำหนดหรือผู้ตัดสินใจ

4. สำนักคิดสตรีนิยม
ความเหลื่อมล้ำทางเพศได้ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวเรียกร้องความเท่าเทียมกันระหว่างเพศมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ในช่วงเวลาดังกล่าวยังได้เกิดการศึกษาและคำอธิบายหรือแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นรองของผู้หญิงในด้านต่าง ๆ อย่างมากมายอีกด้วย คำอธิบายหรือแนวคิดทางสตรีนิยมที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่พัฒนาขึ้นจากแนวคิดกระแสหลัก ๆ ที่มีอยู่ในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเสรีนิยม (Liberalism) ลัทธิมาร์กซ์ (Marxism) จิตวิเคราะห์(Psychoanalysis) หรือแนวคิดหลังสมัยใหม่ (Postmodernism) นักสตรีนิยมได้นำแนวคิดเหล่านั้นมาขยายความ ปรับแต่งให้กลายเป็นกรอบทฤษฎีที่กว้างขึ้นและใช้อ้างอิงได้ (Arneil 1999) สามารถแบ่งออกเป็นหลายสำนักคิดด้วยกัน

4.1 สตรีนิยมสายเสรีนิยม ถือว่าเป็นสำนักคิดแรกและถูกมองว่าเป็นแนวคิดกระแสหลักของสตรีนิยม เพราะคนส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับแนวคิดนี้ สตรีนิยมสายเสรีนิยมได้รับอิทธิพลอย่างสูงจากแนวคิดเสรีนิยมที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันของมนุษย์โดยเฉพาะในทางกฏหมาย ให้ความสำคัญต่อปัจเจกนิยมที่มีเหตุผล ทำให้นักสตรีนิยมในแนวนี้มักเรียกร้องให้ผู้หญิงเปลี่ยนแปลงตนเองให้เป็นคนมีเหตุผล ปรับปรุงตัวเองให้เหมือนกับผู้ชาย เช่นต้องไม่ใช้อารมณ์ ไม่แสดงความอ่อนแอ และเชื่อว่าผู้หญิงและผู้ชายไม่มีความแตกต่างกัน เป็นมนุษย์เหมือนกัน

ดังนั้นผู้หญิงควรมีโอกาสที่จะทำทุกอย่างให้ได้เหมือนผู้ชาย เรียกร้องให้ผู้หญิงมีโอกาสที่เท่าเทียมในการแข่งขันภายในระบบสังคมที่เป็นอยู่โดยเฉพาะในปริมณฑลสาธารณะ ให้ความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย ทางการเมือง เพื่อสิทธิของปัจเจกบุคคลในการแข่งขันในตลาดสาธารณะ เพราะเชื่อว่าถ้าผู้หญิงมีโอกาสที่เท่าเทียมแล้ว ผู้หญิงจะเป็นเหมือนผู้ชายได้ทุกอย่าง

การต่อสู้หลักของสตรีนิยมสายนี้คือ การต่อสู้ผ่านทางการแก้ไขกฎหมาย หรือการแก้ไขในแนวสังคมสงเคราะห์ ไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงที่โครงสร้างสังคม นักสตรีนิยมสายเสรีนิยมถูกวิจารณ์ค่อนข้างมากโดยเฉพาะการให้ความสำคัญเฉพาะประเด็นของกฏหมาย เพราะความด้อยโอกาสของผู้หญิงหลายประการไม่สามารถแก้ไขผ่านทางการแก้ไขกฏหมาย เช่น ไม่มีกฎหมายใดระบุว่าผู้หญิงต้องเป็นหลักในการดูแลลูก แต่ผู้หญิงก็ต้องทำแม้ว่าอาจจะไม่ต้องการทำ (Eisenstein 1981)

นอกจากนี้การเรียกร้องให้ผู้หญิงต้องปรับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกายหรือแสดงท่าทางตลอดจนการคิด อารมณ์ให้เหมือนผู้ชาย ก็ถูกวิจารณ์เช่นกันว่าเป็นการแสดงถึงการยอมรับให้ "ความเป็นผู้ชาย" เป็นตัวแบบของมนุษย์ที่พึงประสงค์ ซึ่งไม่น่าถูกต้อง เพราะคุณลักษณะหลาย ๆ ประการของผู้ชาย เช่น การชอบแข่งขัน ไม่มีความเอื้ออาทรต่อผู้อื่น ไม่มีความอ่อนโยน ความก้าวร้าว การเก็บกดทางอารมณ์ ล้วนไม่ใช่คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของมนุษย์อีกต่อไป

4.2 สตรีนิยมสายมาร์กซิสต์ เป็นอีกแนวคิดหนึ่งเกิดขึ้นในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 ได้รับอิทธิพลทางความคิดของคาร์ล มาร์กซ์ และเฟรดเดอริกค์ เองเกลส์ (Frederick Engels) โดยเชื่อว่าการกดขี่ที่ผู้หญิงได้รับเป็นผลจากระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะในระบบการผลิตแบบทุนนิยม

สตรีนิยมสายนี้เชื่อว่าระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมทำให้เกิดการแบ่งการทำงานออกเป็น งานบ้านที่ถือว่าเป็นงานที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต ไม่มีคุณค่าและไม่มีค่าตอบแทน และงานนอกบ้านซึ่งเป็นงานที่ก่อให้เกิดผลผลิตมีค่าตอบแทน ระบบทุนนิยมพยายามที่จะให้เก็บผู้หญิงไว้ทำงานบ้าน การกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อทุนนิยมเพราะผู้ชายสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่โดยไม่เสียเวลาในการทำงานบ้านหรือทำอาหาร และนายทุนไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าแรงงานสูงขึ้นเพื่อนำมาจ่ายให้กับคนทำงานบ้านเพราะมีผู้หญิงหรือภรรยาทำให้ฟรีอยู่แล้ว

ในกรณีที่ผู้หญิงได้มีโอกาสทำงานนอกบ้าน ภายใต้ระบบทุนนิยมที่เป็นอยู่ งานที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ทำถูกถือว่าเป็น "งานของผู้หญิง" เช่น งานพยาบาล งานเย็บผ้า งานเลขานุการ ซึ่งเชื่อว่าเป็นงานที่คล้ายคลึงกับงานที่ผู้หญิงทำที่บ้าน จึงทำให้งานเหล่านั้นได้รับค่าตอบแทนต่ำเมื่อเทียบกับงานที่ผู้ชายส่วนใหญ่ทำ เพราะงานบ้านถูกตัดสินว่าเป็นค่าที่ไม่มีคุณค่าในระบบทุนนิยม ระบบเศรษฐกิจโดยเฉพาะเศรษฐกิจแบบทุนนิยมจึงถือว่าเป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดของความเป็นรองของผู้หญิง

ดังนั้นการต่อสู้ของผู้หญิงสำหรับสตรีนิยมสายนี้ คือต้องเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมที่เป็นอยู่ การเสนอดังกล่าวทำให้สตรีนิยมสายมาร์กซิสต์ถูกวิจารณ์ว่ามองไม่เห็นการกดขี่ผู้หญิงในรูปแบบอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่นการกดขี่ที่ผู้หญิงได้รับในโลกส่วนตัว หรือภายในครอบครัว มองไม่เห็นว่าการกดขี่ผู้หญิงมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากการกดขี่ทางชนชั้น ข้อวิจารณ์นี้นำไปสู่การเกิดขึ้นของสำนักคิดสตรีนิยมสายถอนรากถอนโคน (Radical Feminism)

4.3 แนวคิดสตรีนิยมสายถอนรากถอนโคน อธิบายว่า การกดขี่ผู้หญิงเกิดขึ้นเพราะเธอเป็นผู้หญิง หรือผู้หญิงถูกกดขี่เพราะเพศของเธอ ความไม่เทียมกันทางเพศที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจาก อุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) ระบบชายเป็นใหญ่ หมายถึง ระบบของโครงสร้างสังคมและแนวการปฏิบัติที่ผู้ชายมีความเหนือกว่า กดขี่และเอารัดเอาเปรียบผู้หญิง

กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นระบบที่ผู้ชายมีความเหนือกว่าผู้หญิงในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ การเมือง หรือวัฒนธรรม กลุ่มแนวคิดนี้ให้ความสนใจต่อสถานะที่เป็นรองของผู้หญิงและมองว่าความเป็นรองที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากความต้องการเหนือกว่าของผู้ชาย และอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ได้พยายามสร้างความชอบธรรมต่อความเหนือกว่าของผู้ชาย (ผู้ชายเข้มแข็งกว่า ฉลาดกว่า มีเหตุผลมากกว่า คิดอะไรที่ลึกซึ้งได้มากกว่า ฯลฯ) และทำให้ความเหนือกว่านี้ดำรงอยู่ในความเชื่อของคนในสังคมผ่านทางกระบวนการขัดเกลาทางสังคมในรูปแบบต่าง ๆ สตรีนิยมสายนี้ได้มีการแตกย่อยเป็นสตรีนิยมสายวัฒนธรรม (cultural feminism) และสตรีนิยมสายนิเวศ(ecofeminism)

4.4 สตรีนิยมสายวัฒนธรรม จะยอมรับว่าผู้หญิงและผู้ชายมีคุณลักษณะที่แตกต่างกัน เหมือนที่เคยเชื่อกันในอดีต แต่นักสตรีนิยมสายนี้เสนอว่าคุณลักษณะที่เป็นหญิงนั้นดีกว่าหรือเหนือกว่าของผู้ชาย (ไม่ใช่ด้อยกว่าดังที่เชื่อกันในอดีต) ไม่ว่าจะเป็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ผู้อื่น การเอาใจใส่ดูแล ความอ่อนโยน ความสันติไม่ก้าวร้าว ล้วนเป็นคุณลักษณะที่ผู้หญิงควรชื่นชม และรักษาความเป็นหญิงเหล่านั้นไว้

4.5 สตรีนิยมสายนิเวศ มีความเชื่อคล้ายคลึงกับสายวัฒนธรรมว่าผู้หญิงมีความแตกต่างจากผู้ชายและดีกว่าผู้ชายตามธรรมชาติ แต่เสนอเพิ่มเติมว่าผู้หญิงมีความใกล้ชิดหรือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับธรรมชาติ เช่นการที่ผู้หญิงเป็นผู้ให้กำเนิดบุตร ทำให้ผู้หญิงเชื่อมโยงกับธรรมชาติ เชื่อมโยงกับโลก ส่วนผู้ชายนั้นใกล้ชิดกับวัฒนธรรม และในนามของวัฒนธรรมผู้ชายได้พยายามและประสบความสำเร็จในการข่มเหงรังแกทั้งผู้หญิงและธรรมชาติ การเชื่อมโยงผู้หญิงเข้ากับธรรมชาตินี้ได้นำไปสู่การฟื้นฟูพิธีกรรมโบราณที่ให้ความสำคัญกับการบูชาพระแม่เจ้า รวมทั้งระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง โดยมองว่าธรรมชาติเปรียบเสมือนแม่และพระแม่เจ้าซึ่งเป็นที่มาของพลังอำนาจและแรงบันดาลใจ และเรียกร้องให้มีการปฏิเสธวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Merchant 1995) ทั้งสตรีนิยมสายวัฒนธรรมและสายนิเวศถูกวิจารณ์ว่าเป็นพวกสารัตถะนิยม คือเชื่อว่ามีธาตุแท้ของความเป็นหญิง

4.6 สตรีนิยมสายสังคมนิยม (Socialist Feminism) ถือว่ามีความคล้ายคลึงกับสตรีนิยมสายมาร์กซิสต์อยู่หลายประการ ไม่ว่าการเชื่อว่าผู้หญิงกับผู้ชายมีความเหมือนกันหรือการวิเคราะห์สังคมโดยแบ่งเป็นโลกส่วนตัวและโลกสาธารณะ รวมทั้งการเสนอให้ผลักดันโลกส่วนตัวเข้าไปอยู่ในโลกสาธารณะ แต่ที่แตกต่างกันคือ สตรีนิยมสายสังคมนิยมมองว่าการอธิบายถึงการกดขี่ผู้หญิงจำเป็นต้องทำความเข้าใจต่อโลกหรือพื้นที่ส่วนตัวด้วย เช่นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศหญิงกับเพศชายและหน้าที่การให้กำเนิดเด็กของผู้หญิง

ดังนั้นสตรีนิยมสายนี้จึงเสนอว่า ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ เป็นผลจากการปฏิสัมพันธ์กันของระบบชายเป็นใหญ่และระบบทุนนิยมในสังคม หรือกล่าวได้ว่า เมื่อทั้งระบบความเป็นเพศและระบบเศรษฐกิจมาสัมพันธ์กันในยุคสมัยหนึ่งๆ ได้ทำให้เกิดโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ผู้ชายอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ ส่วนผู้หญิงอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ

ตัวอย่างเช่น ระบบชายเป็นใหญ่ได้สร้างความเชื่อที่ว่า คุณค่าของผู้หญิงอยู่ที่ความสวยและความสาว (คุณค่าของผู้ชายอยู่ที่ความสามารถ การประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน) ความเชื่อนี้เมื่อปฏิสัมพันธ์กับเศรษฐกิจแบบตลาดที่ต้องการขายสินค้าให้ได้มาก ดังนั้น ผ่านทางการโฆษณา ผู้หญิงจึงตกเป็นเหยื่อทางการค้าของธุรกิจเครื่องสำอางค์หลากหลายชนิดอย่างเต็มใจ เพื่อต้องการสวยและรักษาความสาวไว้

4.7 สตรีนิยมสายจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Feminism) เป็นแนวคิดสตรีนิยมอีกสำนักหนึ่ง ได้ใช้แนวคิดของจิตวิเคราะห์อธิบายถึงการเกิดขึ้นของความเป็นชายความเป็นหญิงซึ่งนำไปสู่ความเป็นรองของผู้หญิง โดยเชื่อว่าการทำความเข้าใจต่อพัฒนาการความเป็นชายเป็นหญิงจำเป็นต้องทำความเข้าใจในระดับจิตใจ

นักสตรีนิยมสายนี้เชื่อว่าความเป็นเพศ หรือความเป็นชายเป็นหญิงไม่ใช่เรื่องทางชีวะที่มีมา แต่เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นในระดับจิตไร้สำนึก(unconciousness)ในพัฒนาการชีวิตช่วงต้นๆ ของเด็ก ซึ่งถือว่าเป็นช่วงที่สำคัญในการก่อรูปอัตลักษณ์ของความเป็นเพศ เช่นงานของแนนซี่ โชโดรอฟ (Nancy Chodorow) (1978) ที่อธิบายว่าการเลี้ยงดูเด็กอ่อนที่ไม่สมดุลย์ คือ...

การที่แม่เลี้ยงดูเด็กใกล้ชิดแต่เพียงผู้เดียวโดยมีพ่อคอยดูอยู่ห่าง ๆ ก่อให้เกิดการก่อรูปอัตลักษณ์ความเป็นเพศที่แตกต่างกัน ทำให้ผู้ชายมักเป็นคนที่ปิดกั้นตัวเอง ไม่มีทักษะในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ส่วนผู้หญิงจะมีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น แต่มีความเป็นตัวของตัวเองน้อย ซึ่งเธอเสนอว่าความเป็นหญิงเป็นชายแบบนี้ไม่เหมาะสมทั้งคู่ มนุษย์ที่พึงประสงค์ควรเป็นการผสมผสานคุณลักษณะของทั้งสองเพศ ซึ่งจะได้มาโดยเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดูเด็กให้พ่อมีส่วนในการเลี้ยงดูลูกในระดับเดียวกับแม่ (equal parenting)

4.8 สตรีนิยมสายหลังสมัยใหม่ สตรีนิยมแนวคิดต่าง ๆ ข้างต้นถูกมองว่าเป็นผลผลิตของแนวคิดในยุคสมัยใหม่ (ยกเว้นนักสตรีนิยมสายจิตวิเคราะห์บางคน) และถูกวิจารณ์จากสตรีนิยมสายแนวคิดหลังสมัยใหม่ว่ามีข้อบกพร่องโดยเฉพาะประเด็นการเสนอภาพผู้หญิงที่เป็นหนึ่งเดียว คือเชื่อว่าผู้หญิงทั้งโลกมีความเหมือนกัน ไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม ทางชาติพันธุ์ ทางชนชั้น สตรีนิยมสายหลังสมัยใหม่ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างสูงตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา ได้ให้ความสำคัญต่อความแตกต่างของกลุ่มผู้หญิง รวมทั้งความหลากหลายที่มีอยู่ของผู้หญิงแต่ละคน

นอกจากนี้ยังปฏิเสธความคิดสารัตถะนิยม โดยเสนอว่าไม่มีผู้หญิง ไม่มีความเป็นผู้หญิง ทุกอย่างล้วนสร้างผ่านปฏิบัติการทางวาทกรรม จึงไม่มีความเป็นผู้หญิงที่แท้ คงที่ตายตัวและไม่เปลี่ยนแปลง การเสนอว่าไม่มี "ผู้หญิง" ของสตรีนิยมหลังสมัยใหม่ได้นำไปสู่การถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงจากนักสตรีนิยมสายอื่น ๆ ว่าทำให้การต่อสู้เพื่อสถานะที่ดีขึ้นของผู้หญิงเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้เพราะไม่มีสิ่งที่เรียกว่าผู้หญิงเสียแล้ว ถือเป็นการทำลายความชอบธรรมของขบวนการเคลื่อนไหวของผู้หญิง

5. ประโยชน์ของความเป็นเพศในการศึกษาสังคม 55
ในการศึกษาสังคมที่ปฏิบัติกันมาหรือที่ยังมีการทำเป็นส่วนใหญ่ในขณะนี้คือ เมื่อต้องการอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น จะพิจารณาคนในสังคมแบบรวม ไม่แบ่งแยกเพศ หรือบางครั้งก็ใช้การศึกษาข้อมูลของผู้ชายและถือว่าเป็นตัวแทนของประชากรทั้งหมด ซึ่งในการศึกษาสังคมลักษณะนี้ได้ถูกนักสตรีนิยม วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า เป็นการครอบงำในวงการวิชาการที่มีชายเป็นใหญ่ เพราะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงมีน้อยมาก ผู้หญิงจะไม่ได้รับความสนใจในการศึกษาหรือถ้าได้รับการศึกษาก็เป็นเพียงข้อมูลประกอบเท่านั้น

ที่เป็นเช่นนี้มาจากการที่ผู้หญิงถูกมองว่าไม่มีส่วนสำคัญในการกำหนดสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคม และอาจจะเพราะนักวิชาการที่เป็นผู้หญิงมีจำนวนที่น้อยกว่าชายมาก เพราะฉะนั้นจะพบว่าในการศึกษาสังคมไม่ว่าในด้านใดก็ตาม มักไม่ค่อยมีเรื่องของผู้หญิงปรากฏออกมา ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต การรวมกลุ่ม การจัดการความขัดแย้ง ระบบความคิด ทั้งๆ ที่ในทุกสังคมมีผู้หญิงอยู่ไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง

ดังนั้นเมื่อมีความคิดสตรีนิยมเกิดขึ้น ความคิดรวบยอดความเป็นเพศจึงถูกมองว่าเป็นหน่วยการวิเคราะห์ที่สำคัญในการศึกษาสังคม เพราะทำให้เราได้เรียนรู้ถึงประชากรอีกครึ่งหนึ่งของสังคม ที่มีส่วนสัมพันธ์กับความเป็นไปในทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และทำให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องมากขึ้นต่อสังคมนั้น ตัวอย่างเช่น ถ้ามีการศึกษาสังคมที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง และเห็นว่าหมู่บ้านนี้มีเศรษฐกิจที่ดี มีเงินไหลเวียนในชุมชน ถ้าพิจารณาสังคมแบบรวมๆ อาจสรุปว่าการพัฒนาของรัฐประสบความสำเร็จ แต่ถ้านำความเป็นเพศมาพิจารณาอาจพบว่าเงินที่สะพัดอยู่ในหมู่บ้านเป็นเงินที่ได้จากการไปค้าประเวณีของผู้หญิงในหมู่บ้าน ข้อสรุปในเรื่องการพัฒนาคงเป็นในด้านที่ตรงกันข้าม

อีกตัวอย่างของการศึกษาทางสังคมวิทยาที่ไม่ได้มีการพิจารณาถึงมิติของความเป็นเพศ คือการศึกษาในเรื่องการแบ่งช่วงชั้นทางสังคม ซึ่งทำการวิเคราะห์และอธิบายถึงความแตกต่างหรือความไม่เท่าเทียมกันระหว่างกลุ่มคน ในกรอบความคิดที่ใช้ในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันที่ผ่านมา ไม่ได้ตระหนักและไม่ได้รวมความเป็นเพศว่าเป็นมิติหนึ่งของการแบ่งช่วงชั้นทางสังคม ทั้งๆ ที่ผู้หญิงเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในฐานะที่ด้อยกว่าหรือไม่มีความเท่าเทียมกับผู้ชายอย่างเห็นได้ชัดเจน ดังนั้น การทำความเข้าใจสังคมโดยพิจารณาถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม จะมีส่วนช่วยในการอธิบายปรากฏการณ์สังคมในด้านต่างๆ ได้สมบูรณ์ขึ้น

เชิงอรรถ

1 ดูได้จากงานวิจัยต่างๆ ใน Alan Gray and S. Punpuing et al., Gender, Sexuality and Reproductive Health in Thailand, Thailand: Institute for Population and Social Research, Mahidol University, 1999.

บรรณานุกรม

Anderson, Margaret L. (1993) Thinking About Women: Sociological Perspectives on Sex and Gender 3th edition. New York: Macmillan Publishing Company.

Arneil, Barbara. (1999) Politics and Feminism. United Kingdom : Blackwell Publishers Ltd.

Ashenden, Samantha. (1997) "Feminism, Postmodernism and the Sociology of Gender" in Sociology after Postmodernism David Owen ed. London: Sage Publications.

Chodorow, Nancy. (1978) The Reproduction of Mothering : Psychoanalysis and the Sociology of Gender. Berkley: University of California Press.

Eisenstein, Zillah R. (1981) The Radical Future of Liberal Feminism. Boston: Northeastern University Press.

Scott, Joan W. (1988) Gender and the Politics of History. New York: Columbia University Press.

Shanley, Mary L. (1995) "Marital Slavery and Friendship: John Stuart Mill's The Subjection of Women" in Social and Political Philosophy: Classical Western Texts in Feminist and Multicultural Perspective P. Sterba ed. Belmont: Wadworth Publishing Company.

Sparkes, Stephen. (1996) "Body and Space: Socialization and Gender Hierarchy among the Shan and Isan." Paper Presented at the 6th International Conference on Thai Studies, Chiangmai, Thailand.

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม