มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ขอเรียกร้องร่วมกับสมัชชาคนจน เพื่อคืนทรัพยากรให้กับชาวบ้านตามสิทธิในรัฐธรรมนูญ

 

กิจกรรมการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีรูปแบบเป็นการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันและกัน ประกอบด้วยคณาจารย์จากหลายๆคณะฯ มาร่วมพูดคุยกันกับนักศึกษา และผู้สนใจทุกท่าน โดยแต่ละหัวข้อจะมีผู้เสนอประเด็น 1 คน และจะใช้เวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้น หลังจากนั้นจะเป็นหน้าที่ของวงสนทนาเป็นผู้นำประเด็นไปอย่างอิสระ อาจจะขึ้นต้นด้วยเรื่องวิธีคิด และไปจบลงที่เรื่องเพศ และทั้งหมดของการนำเสนอ จะไม่มีการสรุป ทุกคนต้องสรุปกันเอาเอง

ถอดเทปการสนทนาเรื่อง “วิธีคิด” เปิดประเด็นโดย สมเกียรติ ตั้งนโม, วันที่ 28 พฤศจิกายน 2541 เวลา 14.00 น. ณ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อ.สมเกียรติ : สำหรับเรื่อง”วิธีคิด” ได้รับการเสนอขึ้นมาเนื่องจากว่า เกิดจากปัญหาที่เป็นจริงอันหนึ่งคือ เวลาที่มีปัญหาอะไรสักอย่างหนึ่งซึ่งเราจะต้องแก้ปัญหา เรามักจะมีทางออก หรือมีการถกเถียงต่อปัญหาอันนั้นแตกต่างกันหลายประเด็น แน่นอนอันนี้เป็นเพราะว่า มันเกิดขึ้นมาจากกรอบความคิดของแต่ละคนซึ่งตั้งต้นมาไม่เหมือนกัน อย่างเช่น ผมเรียนมาทางด้านศิลปะเป็นส่วนใหญ่ ผมจะมีวิธีคิดที่ทำให้ปัญหาต่างๆที่เผชิญได้รับการแก้ไขให้เป็นไปได้มากที่สุด โดยจะใช้วิธีอะไรก็ตาม อันนี้มิได้คำนึงถึงเรื่องใดๆที่เป็นอุปสรรค แต่เล็งผลเลิศไปที่เป้าหมายที่จะทำให้เกิดการประสบความสำเร็จ ใช้วิธีการสังเคราะห์ทุกชนิด. อันนี้ก็เป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหา

ปรากฏว่า พอเกิดปัญหาขึ้นมาจริงๆ ผมใช้วิธีการนี้เสนอขึ้นมาในที่ประชุมกับคนกลุ่มอื่นๆ ซึ่งมาจากกรอบความคิดที่แตกต่างกัน ผลที่ประสบคือว่ามีข้อแตกต่างกันมาก จึงคิดว่าน่าจะมีประเด็นเกี่ยวกับวิธีคิดเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

เท่าที่ได้ค้นคว้ามา ได้มีนักคิดคนหนึ่งได้สรุปว่า วิธีคิดของมนุษย์นั้นถ้าหากจัดหมวดหมู่แล้วจะแบ่งออกได้ 5 วิธีคิดด้วยกัน คือ อย่างแรกเรียกว่า วิธีคิดแบบนักอุดมคติ, อย่างที่สองเรียกว่า วิธีคิดแบบนักสัจนิยม, อย่างที่สามคือ วิธีคิดแบบนักสังเคราะห์, อย่างที่สี่ก็คือ วิธีคิดแบบนักวิเคราะห์, และอย่างสุดท้ายคือวิธีคิดของนักปฏิบัตินิยม.

ทั้ง 5 แบบของวิธีคิด เวลาที่เราเข้าประชุมที่ไหนก็ตาม จะมีคนอยู่ 5 แบบนี้เข้ามาประชุมร่วมด้วยเสมอ จึงทำให้ปัญหาที่อยู่ในที่ประชุมนั้นถูกมองออกไปในคนละแง่หรือคนละด้าน หรือหาทางออกที่เป็นข้อสรุปร่วมกันไม่ได้. ดังนั้น การประชุมหลายๆครั้งจึงลงเอยด้วยการแสดงประชามติ ซึ่งคิดว่าวิธีการนี้ไม่ได้หมายถึงสิ่งที่ตัดสินใจไปนั้นถูกต้องเสมอ อาจจะเป็นเพราะว่าประชามตินั้นเริ่มต้นจากผู้เข้าร่วมประชุมของกลุ่มคนที่มีวิธีคิดอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่าวิธีคิดในแบบอื่นๆหรือเปล่า. ด้วยเหตุนี้ ประชามติในวงประชุมในทุกๆการชุมนุม อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุดเสมอไป อย่างเช่น ในวงประชุมบางแห่ง อาจมีนักปฏิบัติการมากกว่านักอุดมคติ ข้อสรุปหรือประชามติก็จะเป็นไปในลักษณะปฏิบัติการ.

ผมอยากจะอธิบายถึงวิธีคิดในแต่ละแบบให้ละเอียดลงไปเล็กน้อย ดังนี้

    1. วิธีคิดแบบนักอุดมคติ : ส่วนใหญ่แล้ว นักอุดมคติมักจะมองปัญหาในลักษณะที่เป็นเรื่องของสิ่งสุดยอดมีความสมบูรณ์ เล็งผลเลิศไปที่เป้าหมายสูงสุดหรืออุดมการณ์. พวกนี้จะขัดแย้งหรือตรงข้ามกันกับนักปฏิบัตินิยม

    2. นักปฏิบัตินิยม พวกนี้มักจะมองปัญหาต่างๆจากการปฏิบัติการ หรือ proceed ของสิ่งที่จะทำว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด. คนพวกนี้จะไม่เห็นความสำคัญของนักอุดมคติ และค่อนข้างที่จะเป็น objective. ในขณะที่นักอุดมคติจะเป็นพวก subjective.

    3. วิธีคิดแบบนักสัจนิยม : คนกลุ่มนี้เวลาเสนออะไรมักจะมีคนซึ่งค่อนข้างเห็นด้วยสูง ทั้งนี้เพราะพวกนี้ยึดถือความเป็นจริงเป็นหลัก. ความจริงที่ยึดถือนั้นเป็น objective และทุกคนสามารถร่วมคิดกับเขาได้

    4. วิธีคิดแบบนักวิเคราะห์ : นักวิเคราะห์จะมองปัญหาแบบแยกส่วน จำแนกออกเป็นเรื่องๆ มีการแยกแยะอย่างละเอียด จนกระทั่งอาจจะมองไม่เห็นภาพรวม ซึ่งถือเป็นข้อด้อยของนักวิเคราะห์

    5. วิธีคิดแบบนักสังเคราะห์ : พวกนี้จะมองประเด็นปัญหาต่างๆในที่ประชุม แล้วนำเอาความคิดที่เสนอกันอย่างหลากหลายมารวบรวมหรือสังเคราะห์กัน เพื่อที่จะมองปัญหาอย่างทะลุปรุโปร่ง

ผมจะขอพักเรื่องของวิธีคิดทั้ง 5 แบบข้างต้นเอาไว้ก่อน มาเริ่มต้นใหม่โดยตั้งคำถามว่า วิธีคิดที่ครอบงำสังคมโลกมาโดยตลอดนั้นคืออะไร ? คำตอบก็คือ “วิธีคิดที่ยึดถือคุณค่าของความจริงเพียงอย่างเดียวเท่านั้น” ซึ่งได้ยึดครองโลกของเราอยู่. อันนี้ให้เราคิดถึงเรื่องของศาสตร์ที่อยู่รอบๆตัวเราในทุกวันนี้. ศาสตร์ทุกศาสตร์จะมุ่งไปสู่คุณค่าของความจริง ไม่ว่าจะเป็นศาสตร์ทางด้านฟิสิกส์ซึ่งยึดถือความจริงที่อธิบายได้ในเชิงประจักษ์ ในขณะเดียวกัน สังคมศาสตร์ก็พยายามที่จะยึดถือคุณค่าของความจริงนี้อธิบายศาสตร์ของตนเอง นักประวัติศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน. ดูเหมือนว่าศาสตร์ใหม่ๆที่อยู่ในกระแสหลักทุกๆศาสตร์ยึดถือคุณค่าของความจริงเป็นหลัก ในขณะที่หลักของคุณวิทยา หรือ Axiology มีเรื่องของคุณค่าชนิดอื่นอยู่ด้วยในเรื่องที่มนุษย์ควรจะยึดถือ นั่นคือ คุณค่าความดี คุณค่าความงาม และคุณค่าความจริง. แต่มนุษย์ในยุคปัจจุบันมาเพ่งเล็งในเรื่องคุณค่าของความจริงเพียงอย่างเดียว ซึ่งถือว่าเป็นเลิศที่สุดในบรรดาคุณค่าต่างๆที่กล่าวมานี้

ความคิดอันนี้เกิดขึ้นมาจากเรื่องสองเรื่องก็คือ อันแรกคุณบุญทวีได้เล่าให้ฟังว่า เขาได้มีโอกาสไปที่อิตาลี แล้วไปเห็นผลงานประติมากรรมซึ่งทำขึ้นเป็นอนุสาวรีย์ เป็นรูปของม้าที่ล้มลงและกำลังจะขาดใจตาย คุณบุญทวีได้ไปศึกษาประวัติของอนุสาวรีย์ชิ้นนี้ แล้วพบว่า ก่อนที่จะสร้างประติมากรรมชิ้นดังกล่าวขึ้นมา ได้มีการฆ่าม้าประมาณ 10 ตัว เพื่อที่จะศึกษาว่า วิธีที่มันล้มและวิธีที่มันใกล้จะขาดใจตาย มันทุลนทุลายขนาดไหน ? แล้วมันมีท่าทางอย่างไร ? ประติมากรก็พยายามเลียนแบบปรากฎการณ์ที่เป็นจริงนั้น.

จากคำพูดอันนี้ ทำให้ผมย้อนกลับไปดูศิลปะในอารยธรรมของตะวันตก เราจะเห็นว่าในอารยธรรมตะวันตกได้ยึดถือแนวทางความเป็นจริงอยู่ในหัวใจของงานศิลปะนับเนื่องติดต่อกันมาเป็นพันๆปี. ผมอยากจะเริ่มต้นที่แม่ของอารยธรรมของตะวันตก นั่นก็คือ อารยธรรมกรีก.

กรีกเริ่มต้นอารยธรรมของตนเองโดยยึดถือคุณค่าความจริงที่เป็นอุดมคติเป็นหลัก. เราจะเห็นว่างานประติมากรรมของกรีกตั้งแต่สมัยโบราณ ไม่ว่าจะเป็นภาพเทพเจ้าต่างๆ อย่างเช่น เทพซีอุส, เทพอพอลโล, มักจะได้รับการสร้างขึ้นมาในท่าทีแบบของมนุษย์ แต่ทำให้งดงามกว่ามนุษย์คือ เป็นความจริงในเชิงอุดมคติให้งดงามยิ่งกว่ามนุษย์. หลังจากนั้น อารยธรรมโรมันซึ่งเข้ามาครองอำนาจต่อจากกรีก ก็ได้รับทอดสืบช่วงอารยธรรมของกรีกมาเป็นอารยธรรมของตนเองในทางด้านศิลปะ โดยได้ยึดถือคุณค่าของความจริงนี้ต่อมา แต่ไม่ได้ทำเป็นรูปทวยเทพมากเท่าภาพของจักรพรรดิ์หรือวีรบุรุษของชาวโรมัน.

พอมาถึงช่วงที่เรียกว่ายุคกลาง(middle age) อันนี้ผมอยากจะพูดรวมในภาพกว้างนับตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 1-14 ได้เกิดช่องว่างในเรื่องของความเหมือนจริงนี้ขึ้นมา นั่นคือไม่ได้ยึดถือรูปแบบที่เหมือนจริงแบบกรีกและโรมัน แต่มีหนทางในการปฏิบัติทางด้านศิลปะเป็นของยุคนี้ของตนที่เรียกว่า Christian Arts ภาพที่ปรากฎจะมีลักษณะของภาพเขียนสีที่แบนๆ ถ้าเป็นประติมากรรมก็ไม่ได้เน้นในเรื่องกายวิภาคเหมือนกับกรีกและโรมัน.

แต่พอมาถึงยุคเรอเนสซองค์คือระหว่างคริสตศตวรรษที่ 14-16 อันนี้ได้กลับไปฟื้นฟูศิลปะกรีกและโรมันกันอีกครั้ง ได้มีการเลียนแบบความจริงขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง.

และหลังยุคสมัยเรอเนสซองค์เป็นต้นมา ก็มีการสร้างงานที่มีลักษณะเป็น realistic มาโดยตลอด จนกระทั่งมาถึงยุคที่มีการประดิษฐ์กล้องถ่ายรูปขึ้นมา นั่นคือจุดสูงสุดของการเสนอภาพของความเป็นจริง ซึ่งหลังจากนั้น ศิลปะกับความเป็นจริงซึ่งเคยอยู่ด้วยกันร่วมพันปี เริ่มแยกตัวออกจากกัน. บรรดาศิลปินหลังยุคที่มีการประดิษฐ์กล้องถ่ายรูปเริ่มสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่ฉีกตัวของมันเองออกมาจากปรากฎการณ์ที่เป็นจริงที่เรียกว่า”นามธรรม” หรือศิลปนามธรรม.

อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามาดูในทางวิชาการเราจะเห็นว่า ความจริงกับศิลปะตะวันตกมันได้เดินคู่ขนานกันมาเลยในประวัติศาสตร์ (ระหว่างประวัติศาสตร์ศิลป์ตะวันตกซึ่งยึดถือความเป็นจริง กับ หลักการที่ยึดถือความเป็นจริง ได้เดินเคียงคู่กันมาโดยตลอด).

เอกสารที่แจกเมื่อตอนเริ่มต้นซึ่ง อ.วัลลภ เป็นคนที่นำมานั้น เป็นงานของ Edward de Buno ซึ่งเป็นคนที่ตั้งคำถามกับองค์ความรู้ตะวันตกที่ยึดถือความเป็นจริงมาตั้งแต่สมัยเพลโต ซึ่งจะเห็นได้ชัดในงานเขียนของเขาเรื่อง “ความคิดคู่ขนาน”(Parallel Thinking). ผลงานชิ้นนี้เป็นการพยายามนำเสนอสิ่งที่ไกลไปจากการยึดถือเรื่องของความเป็นจริง หรือยึดถือคุณค่าในด้านนี้ของมนุษย์. เท่าที่สามารถสรุปเอาไว้ตรงนี้อย่างสั้นๆเกี่ยวกับความคิดของ de Bruno นั้น ก็คือ ได้มีการนำเสนอความคิดใหม่ที่เรียกว่า “ศิลปะของความเป็นไปได้”(the art of possibility). ในหนังสือเล่มนี้พยายามที่จะกระตุ้นเราให้ใช้ความคิดในสิ่งที่เกินไปจากข้อจำกัดของความเคยชิน นั่นก็คือความเป็นจริงนั่นเอง. ผมคงจะทิ้งเอาไว้เพียงแค่นี้ เพื่อให้พวกเราสนทนากันต่อไป.

อ.สุชาดา : ไม่เห็นด้วยเลยกับสิ่งที่อาจารย์สมเกียรติพูดมาทั้งหมด เกี่ยวกับการแบ่งวิธีคิดออกมาเป็น 5 ชุด อย่างที่ว่า เป็นนักปฏิบัตินิยม นักสัจจนิยม นักอุดมคติ อะไรทั้งหลายนี่. ทั้งหมดที่แบ่งออกมาเป็น 5 นักนี้, เป็นวิธีคิดของฝรั่ง ซึ่งชำนาญกับการจัดกลุ่ม นับตั้งแต่สสารทั้งหลายในโลกนี้ รวมทั้งเป็นวิธีคิดที่ใช้ในการจัดกลุ่มประเภทของคน ประเภทของวัตถุสิ่งของ และประเภทของสถานการณ์อะไรต่างๆโดยตลอด.

ที่บอกว่าไม่เห็นด้วยก็เพราะว่า มันน่าจะเป็นเรื่องอะไรที่รวมๆหรือผสานกันอยู่ คือทั้ง 5 นักนี่สามารถจะรวมตัวกันอยู่ในคนๆหนึ่งได้ไหม ? เช่น นักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง อย่าง อ.ชัชวาลเรียนมาทางสายวิทยาศาสตร์ ซึ่งอาจถูกฝึกฝนมามากหน่อยในเรื่องของวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่จะรู้ว่า…อย่างเช่นมีดวงไฟวับๆแวมๆในคืนเดือนมืดนั้น ไม่ใช่ผีแน่นอน. อาจจะเป็นไปได้ว่าเกิดจากความชื้นหรือฟอสฟอรัส หรือก๊าสกัมมะถันซึ่งทำให้เกิดเป็นดวงไฟลุกโชน. ถ้า อ.ชัชวาล ไม่ได้เรียนวิทยาศาสตร์ หรือว่าเป็นชาวบ้านธรรมดา อาจจะคิดว่านั่นเป็นผีกระสือ หรือผีกระหังอะไรไป.

นี่คือวิธีคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ แต่ขณะเดียวกันนั้น คนที่เรียนวิทยาศาสตร์อย่าง อ. ชัชวาล อาจจะมีประสบการณ์ชุดอื่นๆ อย่างเช่นว่า ถ้าหากว่าผ่านเหตุการณ์บางอย่าง อย่าง 14 ตุลา หรือเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ หรืออาจมีโอกาสทำงานคลุกคลีทางสังคมร่วมกับนักกิจกรรมในมหาวิทยาลัย หรือทำงานร่วมกับพวก NGOs, เชื่อได้เลยว่ามันมีการประสมประสาน หรือว่าดูดซึมวิธีคิดวิธีการทำงานแบบอื่นๆเข้ามาด้วย. ทั้งหมดก็คือ เพื่อจะบอกว่าไม่เห็นด้วยเลย เพราะทุกคนสามารถที่ประสมประสานวิธคิดทั้งหลายเข้ามาโดยที่ ในกระบวนการตัดสินใจหนึ่งๆ หรือขั้นตอนหนึ่งๆซึ่งคิดว่าจะทำหรือไม่ทำอะไรนี่ มันไม่ได้เกิดขึ้นมาจากการคิดก่อนว่า เอ๊ะ…นี่เรากำลังใช้วิธีคิดชุดไหน ? หรือเรากำลังเป็นนักอะไรอยู่. อันนี้ไม่ใช่

ผู้เข้าร่วมสนทนา : อยากจะถามศัพท์ก่อนว่า ความคิดคู่ขนานนั้นคืออะไร ?

อ.สมเกียรติ : ความคิดคู่ขนานคือว่า เรายกตัวอย่างเปรียบเทียบกับรางรถไฟก็แล้วกัน อย่างเช่นรางด้านซ้าย คิดถึงในเรื่องของความเป็นจริงมาโดยตลอด ในขณะที่รางด้านขวาคิดถึงเรื่องของจินตนาการ คิดถึงความเป็นไปได้. ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ถ้าเราอยากจะเปิดร้านก๊วยเตี๋ยวที่ไม่มีชาม ถามว่าเราทำได้ไหม ? คำตอบก็คือ “ทำได้”, เราใส่ถุงพลาสติกขายแทน. สิ่งที่เราได้จากการขายก๊วยเตี๋ยวเป็นถุงๆก็คือ เราไม่ต้องจ้างลูกจ้างมาล้างจาน เราไม่ต้องมีโต๊ะหรือเก้าอี้ในร้าน. เราสามารถทำคนเดียวได้. ใส่ถุงแล้วขาย ไม่ต้องเสียเวลาล้างจานคนที่มากิน.

ดูกันอีกประเด็นหนึ่งก็คือ สมองสองซีกของคนเราทำงานต่างกัน. ในงานของ Dr. Roger W. Sperry ได้ทำการวิจัยว่า ทำไมคนที่ประสบอุบัติเหตุทางสมองซีกขวา จึงไม่สูญเสียวิธีการสื่อสารโดยใช้คำพูด หรือ ยังสามารถคิดคำนวณได้ รวมทั้งยังสามารถใช้เหตุผลได้. แต่กับคนที่ได้รับอุบัติเหตุทางด้านสมองซีกซ้าย ปรากฏว่าไม่สามารถพูดได้ ไม่มีความสามารถเกี่ยวกับเรื่องของตัวเลข เรื่องความจำสูญเสียไป แต่สำหรับเรื่องของจินตนาการยังคงมีเหมือนเดิม สามารถเขียนรูปได้. อันนี้นักวิจัยค่อยๆทำการศึกษา จนกระทั่งสามารถแยกแยะได้ว่า สมองส่วนบนของมนุษย์นั้นแบ่งออกเป็นสองซีก ก็คือซีกซ้ายและซีกขวา. ซีกซ้ายเป็นเรื่องของความสามารถในเชิงวิเคราะห์ เรื่องของการใช้เหตุผล เรื่องของการพูด เป็นเรื่องของตัวเลข เป็นสมองที่หาข้อสรุปร่วมกันได้. ส่วนซีกขวามีความสามารถในเรื่องของ จินตนาการ ไม่เกี่ยวกับการใช้คำพูด ไม่ใช่เรื่องของเหตุผล เป็นเรื่องอารมณ์ความรู้สึก ไม่เก่งในเรื่องตัวเลข เป็นสมองที่มีความสามารถในเชิงสังเคราะห์ เป็นสมองที่ไม่มีความเห็นร่วม.

เรื่องการไม่มีความเห็นร่วมกันนี้คงต้องอธิบายกันสักเล็กน้อย. สมองซีกซ้ายเป็นสมองแบบวิทยาศาสตร์ เรารู้ว่าน้ำเดือดที่ 100 องศา อันนี้คือข้อเท็จจริงตามกฎของฟิสิกส์ เป็นความเห็นร่วมกันไม่ว่าจะทดลองที่แล็ปไหนก็ตาม. แต่เมื่อใดก็ตามที่เป็นเรื่องของความงาม การตัดสินในเรื่องของสุนทรียภาพ จะเป็นเรื่องของสมองซีกขวา. เราจะไม่เห็นความงามร่วมกันจริงๆ หรือมีรสนิยมเหมือนกันจริงๆ. ยกตัวอย่างเช่น การแข่งขันกีฬายิมนาสติกทำไมต้องมีกรรมการร่วมกันหลายๆชาติ เวลาแข่งขันกระโดดน้ำจากสปริงบอร์ด (…ไม่ใช่แข่งว่ายน้ำ, ซึ่งอันนี้เป็นกฎฟิสิกส์ธรรมดา ร่างกายที่แข็งแรงกว่า เทคนิคที่เหนือกว่า ก็ได้รับชัยชนะไป). แต่ถ้าเป็นการแข่งขันกระโดดน้ำ ซึ่งเน้นในเรื่องของความสวยงาม หรือลีลา ทำไมต้องมีกรรมการตัดสินถึง 10 ชาติ. คะแนนที่ออกมาก็ต่างกันออกไป ตัดเอาคะแนนที่สูงสุดและต่ำสุดออกไป แล้วหาค่าเฉลี่ยที่เหลือดูว่าใครได้ค่าคะแนนสูงสุด คนนั้นเป็นผู้ชนะ อันนี้ก็คือการไม่เห็นร่วมกันของสมองซีกขวา. หรืออย่างเวลาที่มีการประเมินผลงานทางด้านศิลปะ จึงต้องใช้กรรมการพิจารณาหลายๆคน. อันนี้ก็คือเรื่องของสมองซีกขวา เพราะไม่มีข้อสรุปร่วม, เป็นเรื่องของอัตวิสัย.

อ.วารุณี : ดิฉันกำลังคิดว่า เรื่องวิธีคิดนี้ ทุกคนจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร ? ขอพูดในเรื่องซึ่งไม่เกี่ยวกับที่ อ.สมเกียรติ พูดมาเลย. คือว่าในช่วงหลังมานี้ มันมีการวิพากษ์วิจารณ์ระบบคิดแบบหนึ่ง ในภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า dichotomy (Division into two usually contradictory parts or opinions.) คือ วิธีคิดที่แยกหรือวิเคราะห์ทุกอย่างออกเป็น 2 ขั้วที่ตรงข้ามกัน. ซึ่งความคิดนี้เป็นความคิดตะวันตก และในช่วงหลังมานี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์สูงมาก.

การแยกออกเป็นขั้วสองขั้วอยู่ตลอดเวลานี้ มันทำให้เราไม่ได้ภาพทั้งหมดของความเป็นจริง. ยกตัวอย่างเช่น คือ การแยกระหว่าง subject กับ object ซึ่งอันนี้เราพูดกันมากว่า คือ เวลาที่เราแยก subject กับ object, เรามองข้างนอกกับตัวคนออกเป็นคนละส่วนกัน. ที่ง่ายกว่านั้นก็คือ การแยกระหว่าง “ส่วนตัว” กับ “สาธารณะ”(private and public). ซึ่งอันนี้ขอใช้เวลานิดหนึ่งว่า มันส่งผลต่อการวิเคราะห์อย่างไร ?

จะยกตัวอย่างที่ค่อนข้างคุ้นเคย อย่างกรณี private กับ public มันถูกเอามาใช้ในกรณีของการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางเพศ แล้วเราก็เริ่มมองว่า เมื่อเราแยกโลกของเราออกเป็นสองโลก คือโลกที่เป็นสาธารณะกับโลกที่เป็นส่วนตัวในบ้าน เราก็เริ่มที่จะมองผู้หญิงและผู้ชายแตกต่างกัน แล้วเราก็เริ่มกำหนดบทบาทว่า “ผู้หญิงคืออะไรที่อยู่ในบ้าน ส่วนผู้ชายก็คืออะไรที่อยู่นอกบ้าน”, หรือเราอาจจะแยกงาน”ในบ้าน”กับ”งานนอกบ้าน”. และเมื่อสังคมตะวันตกเติบโตเป็นอุต-สาหกรรมมากขึ้น เราได้ให้คุณค่ากับการทำงานนอกบ้านมากขึ้น หมายความว่า งานนอกบ้านนำเงินมาให้เรา ซึ่งเราก็เริ่มที่จะให้ความสำคัญกับเงินหรือวัตถุที่เราผลิตได้. เพราะฉนั้นการผลิตนอกบ้านจึงเริ่มที่จะมีความสำคัญขึ้นมาก. ขณะเดียวกัน ถ้าคุณแยกโลกสองโลกนี้ออกจากกันเด็ดขาด แล้วแยกผู้หญิงกับผู้ชายออกจากกัน “ผู้หญิงเป็นโลกในบ้าน”ส่วน”ผู้ชายเป็นโลกนอกบ้าน”. สิ่งที่ตามมาก็คือ มันก็นำไปสู่บทบาทที่ต่างกัน แล้วการให้คุณค่าของบทบาทก็ต่างกัน. โดยให้คุค่านอกบ้านสำคัญกว่าในบ้าน เพราะฉนั้นความไม่เท่ากันก็เริ่มมีมากขึ้นๆ หรือการเอารัดเอาเปรียบทางเพศก็สูงขึ้นๆ แล้วผู้หญิงก็ถูกให้ค่าด้อยลงๆ เพราะไปผูกพันกับโลกข้างใน

สิ่งเหล่านี้เป็นระบบคิดจากตะวันตกซึ่งจะแยกทุกอย่างออกเป็นด้านตรงข้ามสองขั้วอยู่ตลอดเวลา. หรือแม้แต่การมองธรรมชาติกับคนก็แยกออกเป็นสองขั้ว เพราะฉนั้นเราถึงมีความคิดว่า ทำอย่างไรมนุษย์จึงจะสามารถเอาชนะธรรมชาติได้ เพราะธรรมชาติไม่ใช่ส่วนหนึ่งของเรา เป็นสองขั้วที่อยู่ตรงข้ามกัน. การวิเคราะห์ในลักษณะนี้ หลังๆมันมีการตั้งคำถามกันขึ้นมาก แล้วก็หันมามองทางตะวันออกมากขึ้น.

อย่างมีการมองว่าในโลกตะวันออกของเรา เราไม่มีวิธีการมองที่แยกออกเป็นสองขั้ว อย่างเช่น ในกรณีของ หยิน กับ หยาง. เราจะเห็นว่าสัญลักษณ์หยินกับหยางไม่ได้แบ่งออกเป็นสองขั้ว หรือแม้แต่ความเป็นมนุษย์ของคนๆหนึ่ง ถ้าจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ก็มักจะมีการพูดว่า คุณจะต้องมีคุณสมบัติของหยินกับหยางในภาวะที่สมดุลย์กัน. จะไม่มีอะไรที่เป็นสองส่วน. ฉนั้นภาวะที่เป็น หยินหยางซึ่งบางคนแปลว่ามันเป็นภาวะของผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งจริงๆแล้วดิฉันไม่ทราบว่าได้รับการแปลถูกไหม ? แต่มันเหมือนกับจะบอกว่า การที่คุณเป็นมนุษย์คนหนึ่งมิใช่ว่าคุณจะมีคุณสมบัติที่เป็นผู้หญิงหรือผู้ชายอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่ากัน แต่หมายถึงคุณต้องมีคุณสมบัติที่มีสัดส่วนของสองภาวะนี้สมดุลย์กัน. ทั้งหมดที่สรุปแบบนี้มิได้หมายความว่าโลกตะวันออกไม่มีการเอาเปรียบผู้หญิงนะ.

แม้แต่วิธีคิดแบบพุทธก็ไม่มองธรรมชาติแยกออกไปจากมนุษย์ หรืออย่างที่มีคำว่า macro- biotic ซึ่งก็มาจากตะวันออกเหมือนกัน, จากญี่ปุ่น ซึ่งจริงๆแล้วมาจากฐานความคิดของเซน. จาก macro biotic ก็คือการมองว่ามนุษย์เราหรือตัวเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ. Macro แปลว่าใหญ่ biotic เป็นเรื่องชีวิต อันเป็นส่วนหนึ่งของภาพรวมทั้งหมด. อันนี้เป็นสิ่งที่ไม่ตรงกับที่เราเรียนมาในระบบคิดของตะวันตก หลายครั้งเวลาที่เราวิเคราะห์อะไร เรามักจะแยกขั้วตรงข้ามกันก่อนเสมอ. คงจะทิ้งประเด็นเอาไว้แค่นี้ก่อน

อ.ชัชวาล : สิ่งที่ อ.วารุณี พูดนี้คิดว่าสำคัญมาก เพราะการมองโลกแบบแยกส่วน คือแบบที่แยกออกเป็นสองขั้วมันเป็นแนวคิดพื้นฐานในวิทยาศาสตร์ตะวันตก หมายถึงว่า ช่วงที่วิทยาศาสตร์เจริญรุ่งเรืองในตะวันตก การมองว่าธรรมชาติที่มันแยกต่างหากออกไปจากตัวเรา เป็นแนวคิดหลักของนิวตัน ฉนั้นแนวคิดของวิทยาศาสตร์ตะวันตกจะคิดเช่นนั้นตลอดมา ราวสองศตวรรษมาแล้ว. จนกระทั่งมาถึงยุคไอน์สไตน์ หรือ นีลบอรน์ ก็ดี ซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญ พบว่า เราไม่สามารถที่จะอธิบายอีเล็คตรอนซึ่งมันเล็กมากๆได้ ถ้าเราไม่รู้ว่าเราสังเกตุมันอย่างไร ? นั่นหมายความว่ามันเริ่มเชื่อมโยงกันระหว่าง ผู้สังเกตุกับสิ่งที่ถูกสังเกตุ. ตรงนี้เป็นข้อถกเถียงที่ขัดแย้งกันมาก ว่า เป็นไปได้อย่างไรที่โลกธรรมชาติมันดันมาขึ้นอยู่กับตัวเราซึ่งเป็นผู้สังเกตุด้วย.

ในทางวิทยาศาสตร์ที่มาพบภายหลังว่า เราไม่สามารถแยกมนุษย์ออกจากสิ่งที่เราสังเกตุได้ เป็นกรณีที่ controversial หรือถกเถียงกันมากในหมู่นักวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งในที่สุดต้องอยมรับว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ คือเราจะรู้จักมันได้ก็ต้องรู้จักตัวเราเองเสียก่อน. อันนี้ก็เป็นลักษณะที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตะวันตกที่สำคัญหลายๆคน มาสนใจเรื่องเซน มาสนใจปรัชญาพุทธศาสนาต่างๆมากขึ้นเรื่อยๆ.

อ.สมเกียรติ : ผมอยากจะร่วมสนทนาต่อจาก อ.วารุณี สักเล็กน้อยเกี่ยวกับ ผู้หญิงในบ้าน ผู้ชายนอกบ้าน. อันที่จริงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ในยุค primitive การแบ่งแยกอันนี้เกิดขึ้นมาจากความแตกต่างกันในแง่ของ physical. ในสังคมยุคดึกดำบรรพ์ ยุคล่าสัตว์และเก็บกิน, ผู้ชายที่มีกำลังมากกว่าผู้หญิงสามารถเดินทางออกจากชุมชนของตนเอง ออกไปล่าสัตว์ในที่ไกลๆได้หลายๆวัน, ในขณะเดียวกันนั้นจะทำหน้าที่ออกหาอาหารอยู่ใกล้ๆที่อยู่อาศัย โดยอาศัยการเก็บกิน ขณะที่ผู้ชายล่าสัตว์ส่วนผู้หญิงเก็บกิน …เก็บกินหมายความว่าอะไร ? หมายความว่า เก็บแมลง เก็บดอกไม้ใบไม้ เก็บผลไม้ เป็นอาหารซึ่งเป็นปัจจัยหลักเอาไว้เพื่อการบริโภค และอันนี้เป็นปัจจัยหลักของการดำรงชีวิตที่ผู้หญิงทำหน้าที่อยู่ ไม่ใช่ผู้ชาย.

ผู้ชายที่ออกไปล่าสัตว์ทุกครั้งนั้น มิได้หมายความว่าจะได้สัตว์กลับมา บางครั้งก็ต้องไปตายด้วยคมเขี้ยวของสัตว์ ด้วยเหตุนี้ ปัจจัยหลักของการดำรงชีวิตในด้านอาหารจึงอยู่ที่ผู้หญิง เพราะเป็นผ้มีความมั่นคงในการเก็บสะสมอาหารมากกว่า. เหตุของความไม่แน่นอนของการที่ผู้ชายออกไปล่าสัตว์นั้น ได้ทำให้เกิดพิธีกรรมที่เรียกว่า black magic ขึ้นมา เพื่อป้องกันความเสี่ยงดังที่พบหลักฐานบนผนังถ้ำหลายแห่ง ซึ่งเขียนเป็นภาพสัตว์ต่างๆซึ่งเป็นแหล่งอาหาร และมีร่องรอยของการใช้ของแข็งหรืออาวุธทิ่มแทงสัตว์ต่างๆเหล่านั้น อันนี้เป็นพิธีกรรมความเชื่อที่ทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะได้ฆ่าสัตว์อย่างเดียวกันนั้นได้จริงๆ. จะเห็นว่าพิธีกรรมนี้แสดงนัยะถึงความเสี่ยงที่จะไม่ได้อาหารมา มิฉนั้นคงไม่มีพิธีกรรมในการปลุกปลอบเช่นนี้. ดังนั้นการแบ่งแยกแรงงานเพื่อให้ได้มาซึ่งปัจจัยการบริโภคจึงเกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุค primitive.

ภายหลังต่อมา “ยุคอุตสาหกรรม”ที่ถือว่าเป็นยุคของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ซึ่งต้องการแรงงานที่เข้ามาสู่ระบบอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานมากในช่วงแรกๆสูงเพื่อทำการผลิต แรงงานเหล่านี้มีทั้งผู้หญิงและผู้ชายซึ่งมีความสามารถที่จะหยิบจับวัตถุสิ่งใดก็ตาม เพื่อส่งเข้าไปในระบบสายพานของโรงงานได้ ยุคนี้เป็นยุคที่ผู้หญิงและผู้ชายต้องออกจากบ้านไปรวมกันอยู่ที่โรงงาน.

ผมอยากจะพูดต่อไปในที่นี้ด้วยถึงการเกิดขึ้นมาของโรงเรียน. ยุคอุตสาหกรรมนี้นับว่ามีความสำคัญต่อการเกิดขึ้นมาของโรงเรียน เพราะว่าแรงงานของพ่อและแม่ไปรวมกันอยู่ที่โรงงานอุตสาหกรรม ปัญหาจึงเกิดขึ้นมาว่า แล้วเด็กๆส่วนใหญ่จะเอาไปไว้ที่ไหน ? เพราะไม่มีคนดูแล. ดังนั้นจึงมีการนำเด็กไปรวมกันในที่ๆหนึ่ง ซึ่งจะมีผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบแทนพ่อแม่ได้ มีการสอนเรื่องศีลธรรม พร้อมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆแทนพ่อแม่รวม ทั้งการฝึกอาชีพเพื่อพร้อมจะก้าวเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมด้วย ดังจะเห็นได้จากมีการให้ความสำคัญกับวิชาวิทยาศาสตร์มากกว่าศิลปะ. นอกจากนี้ เด็กนักเรียนก็มีการแต่งเครื่องแบบเหมือนๆกัน คล้ายๆกับแรงงานในระบบอุตสาหกรรม

อ.สมชาย : ผมมีเรื่องค้างคาใจเกี่ยวกับประเด็นที่ อ. สมเกียรติ ได้นำเสนอมาตั้งแต่ต้น คือ อ.สมเกียรติ บอกว่าเวลาที่เรามองความงามจะต่างกัน. เพราะฉนั้นเวลามีการแข่งขันกระโดดน้ำ หรือแข่งขันกีฬายิมนาสติก ต้องมีกรรมการหลายๆคนเพื่อมาตัดหัวตัดท้ายออก แล้วใช้คะแนนที่อยู่ตรงกลาง. ผมคิดว่า เอาเข้าจริงๆภายใต้การมองความงามที่ต่างกัน มันก็ถูกกำหนดมาโดยความงามชุดใหญ่ๆอีกชุดหนึ่งหรือเปล่า เช่น ภาพโมนาลิซ่าเป็นภาพที่มีความงามมาก. แรกๆผมก็เชื่อว่าเป็นเช่นนั้น แล้วพยายามอ่านคำอธิบายนั้นเพื่อมาอธิบายต่อ เช่น เวลาที่เราเดินไปมุมไหน ภาพโมนาลิซ่าก็จะมองตามเราไปตลอด. ตอนหลังผมมายอมรับกับตัวเองตรงๆว่า ระหว่างภาพโมนาลิซ่ากับภาพน้องป๊อป …ให้ตายเถอะ ผมว่าภาพน้องป๊อปอย่างไงก็สวยกว่า.

จริงๆแล้ว เวลาที่เราอธิบายความงาม ผมคิดว่ามันถูกกำกับโดยผลิตผลของเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมด้วย เพราะฉนั้น มันจะแยกออกได้หรือระหว่างสมองซีกซ้ายหรือซีกขวา เพราะตามความเข้าใจของผม ความงามมันเป็นผลผลิตขึ้นมาจาก เช่น สังคมสมัยหนึ่งบอกว่า ผู้หญิงสวยต้อง… ก้นใหญ่ ต้องท้วม. ถ้าเอวเล็กๆแบบสมัยนี้ไปเดิน, อย่างผู้หญิงอินเดีย ถ้าเห็นคนเอวเล็กๆอาจบอกว่าไม่งาม ดูไม่ได้เลย ขาดอาหาร ต้องไปบำรุงไขมันและโปรตีน. เพราะฉนั้นผมจึงงงๆอยู่ว่า จริงๆแล้ว พวกเราสามารถแยกเอาวิธีคิดพวกนี้ออกจากกันอย่างเด็ดขาดได้จริงหรือเปล่า เพราะเวลาที่เราพิจารณาเรื่องความงาม หรือสุนทรียภาพต่างๆ มันก็ถูกกำหนดมาจากชุดความคิดอะไรใหญ่ๆอีกหนึ่งชุดที่ตามมาหรือเปล่า ?

กับอีกประเด็นหนึ่ง เรื่อง”โลกข้างนอก”กับ”โลกข้างใน”. คือผมคิดว่าเรามีเรื่องซึ่งต้องระวังอีกเรื่องหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องของสิทธิสตรี. อันนี้คือพอเวลาคิดถึงเรื่องนี้ เราจะคิดกันไปว่ามันเป็นเหมือนๆกันทั่วทั้งโลก ไม่ว่าที่ไหนก็ตาม ผู้ชายมันต้องกดขี่ผู้หญิง มันต้องเอาเปรียบ. โลกข้างนอกเป็นโลกของผู้ชาย ส่วนโลกในบ้านเป็นโลกของผู้หญิง. เวลามองสังคมไทยผมคิดว่ามีข้อควรระวังนิดหนึ่ง อันนี้ผมได้มาจากการอ่านบทความของ อ.ธาวิช สุขพานิช คือถ้าผมวงเล็บต่อท้ายผมจะบอกว่าอาจารย์เป็นคนที่ anti-feminist. ผมคิดว่าข้อเสนอหลายอย่างน่าสนใจ, บอกว่า พอเวลา feminist ของไทยเวลามองมักจะเอากรอบของฝรั่งมามอง ซึ่ง อ.ธาวิช จะลากมาเลยว่า เอาเข้าจริงแล้วในสังคมไทยต้นรัตนโกสินทร์ ผู้หญิงไทยมีสิทธิ์มีอำนาจค่อนข้างมากในครอบครัว เพราะผู้ชายมีหน้าที่ต้องถูกเกณฑ์แรงงาน เข้าเดือนออกเดือน เพราะฉนั้น ผู้ชายซึ่งไม่ได้อยู่บ้านจึงไม่มีอำนาจจัดการอะไรได้. การเข้าเดือนออกเดือนหมายความว่า …จะมีคำไทยคำหนึ่งว่า”แม่เจ้าเรือน” ไม่มีคำว่า”พ่อเจ้าเรือน” หมายความว่า …พอได้รับการเกณฑ์แรงงานไปเข้าเดือนออกเดือน ฐานะในทางเศรษฐกิจหรืออำนาจในการจัดการบ้านเรือนจึงทำให้ผู้ชายไม่มีความต่อเนื่องกับเรื่องเหล่านี้.

หรือแม้การพยายามที่จะยกสุภาษิตมาบอกว่า ผู้ชายเป็นช้างเท้าหน้า ส่วนผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง. ซึ่งก็มีข้อโต้แย้งว่า สังคมไทยเมื่อก่อนนี้เวลาคิดเรื่องทิศนี้น่ะ มันไม่เกี่ยวเลย. สังคมไทยสมัยก่อน เขาบอกว่าใครอยู่ข้างหน้าก็คือพวกไพร่ราบทหารเลว เวลาไปรบสังเกตุได้ว่า ไพร่ราบทหารเลวตายก่อน ส่วนพวกทับหลวงอยู่ข้างหลัง. เพราะฉนั้น เวลาอธิบายอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่เป็นของสังคมไทย คิดว่ามันมีข้อที่เราควรระวังเยอะ.

อ.สมเกียรติ : ผมอยากจะตอบ อ.สมชาย เรื่องการพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องความงามนิดหน่อย. คือความงาม ผมอยากจะแยกให้ชัดในที่นี้ว่ามันมีอยู่ด้วยกันสองระดับ คือระดับที่เรียกว่า sublime กับระดับ beauty. สำหรับความงามในแบบ sublime เป็นความงามแบบที่ไม่ใช่ women’s aesthetic หรือความงามแบบสวยๆ น่ารัก เป็นที่ชื่นชมของบุคคลธรรมดา. มันเป็นความงามในคนละแบบกับ beauty ที่ทุกคนเข้าใจได้ง่ายกว่า.

ที่นี้ให้มาดูรูปน้องป๊อปเพียงรูปเดียวเลย อาจารย์เห็นสวยส่วนคนอื่นเห็นไม่สวยมีไหม ? อยากจะชี้ลงไปให้ชัดเลย ซึ่งเรามีประสบการณ์กันทุกคน อย่างเช่น เด็กอนุบาลที่หัดเขียน ก.ไก่ กันทั้งห้อง, เราดูรู้ไหมครับว่า ใครเขียน ก.ไก่ สวยในห้องนี้. แน่นอน เราดูรู้ แล้วทำไมเราจึงดูรู้ล่ะ. และที่เราดูออก …มันจะมีกลุ่มอย่างนี้คือ กลุ่มที่เขียน ก.ไก่ ได้สวย, อาจจะมี 10 คนเท่านั้นเอง ส่วนที่เหลือไม่ต้องไปดูแล้ว แต่ในสิบคนนี้ใครสวยที่สุด อันนี้เริ่มจะไม่เห็นร่วมกันแล้ว ไม่สามารถระบุให้เป็น objective ได้.

ผู้เข้าร่วมสนทนา : อยากจะพูดถึงเรื่องวิธีคิดในพุทธศาสนาว่ามีกี่ประเภท. เท่าที่ความเข้าใจของผมคือ พุทธศาสนาจะเน้นเรื่องของสัจจะเป็นหลัก เน้นถึงความจริงตามความเป็นจริง. วิธีคิดซึ่งจะนำไปสู่ความจริงนั้น อาจจะไม่เหมือนกับทางตะวันตก. ที่ อ.สมเกียรติ ได้แยกวิธีคิดออกเป็น 5 ประเภท คิดว่าคล้ายๆกับทางพุทธศาสนา. ในพุทธศาสนาก็มีวิธีคิดแบบพิเคราะห์ สังเคราะห์ และก็มีปฏิบัตินิยมเหมือนกัน ผมคิดว่าอันนี้ก็น่านำเอามาเปิดประเด็นพิจารณาเช่นเดียวกัน.

อ.สมชาย : ผมขอกลับไปเรื่องความงามอีกครั้งนะครับ. คือในการพิจารณาความงามในเชิงปัจเจก เราสามารถแยกแยะ หรือแต่ละคนสามารถที่จะมองความงามได้ต่างกัน แต่โดยมาตรฐานรวมของสังคม ผมคิดว่ามันสามารถบ่งบอกได้, อย่างในช่วงหนึ่งนี่ ทำไมเวลาประกวดนางสาวไทยพวกเธอจึงต้องทำผมทรงเปิดหน้าผากและทำผมฟูๆ หรืออย่างปัจจุบัน ผู้หญิงซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานความงามมันก็ตรง 4 อย่างคือ ขาว สวย หมวย อึ๋ม.

คือผมคิดว่าในแต่ละช่วงเวลา มันมีมาตรฐานความงามซึ่งมันเกิดขึ้น. ถ้าเกิดเราบอกว่าสมองซีกหนึ่งเราทำงานอย่างเป็นอิสระ อันนี้ก็หมายความว่า ความงามมันก็น่าจะคงที่ มันไม่ควรจะเปลี่ยน. ทำไมความงามศตวรรษหนึ่งหรือยุคหนึ่ง มันจึงมองอย่างหนึ่งว่าเป็นความงาม ในขณะที่ปัจจุบันมันกลับมองความงามอีกอย่าง อันนี้ทำให้ผมคิดว่าการพิจารณาความงาม มันไม่ได้เป็นอิสระของเซลล์สมองเพียงอย่างเดียว แต่มันสัมพันธ์กับการรับรู้ด้วย. ปัจจุบันผมคิดว่าผู้ชายส่วนใหญ่เกินครึ่งต้องเห็นว่าน้องป๊อปต้องสวยกว่าโมนาลิซ่า อันนี้ไม่รู้ว่าเป็นการตัดสินแบบเผด็จการหรือเปล่า แต่ผมคิดว่ามันต้องเป็นอย่างนั้น.

อันนี้ผมต้องการยืนยันว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงในเรื่องของความงาม. …ดูอย่างเลขอารบิค รูปทรงมันก็เปลี่ยนไปนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน. …ผมคิดว่าในแง่ความงามมันมีสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงอยู่ คำถามผมก็คือว่า มันมีความสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆหรือเปล่า มากกว่าที่จะเป็นการทำงานอันเป็นอิสระของเซลล์สมองด้านใดด้านหนึ่ง.

อ.วารุณี : ดิฉันคิดว่าสิ่งที่ อ.สมชาย พูดมาทั้งหมดนี้ คือมันก็เป็นข้อถกเถียงสองขั้วเช่นเดียวกัน คือเรื่องที่เป็นธรรมชาติ หรือ nature กับ nurture (ธรรมชาติ กับ การบ่มเพาะ) ซึ่งโต้เถียงกันมากระหว่างธรรมชาติกับวัฒนธรรม ว่าคุณเรียนรู้ทางวัฒนธรรมใช่ไหม ? ความงามบางอย่างคุณเรียนรู้ผ่านทางวัฒนธรรมแล้วคุณบอกมันว่างาม อย่างเช่น ผู้หญิงที่งามในสังคมไทย กันผู้หญิงที่งามในสังคมอเมริกันอาจจะไม่เหมือนกันก็ได้. เพราะฉนั้นมันก็เป็นข้อถกเถียงเหมือนกัน เหมือนกับว่าเป็นสองขั้ว คือ คุณจะบอกว่ามันมีตามธรรมชาติไหม ? มันมาจากเซลล์สมองอย่างเดียวหรือเปล่า หรือจริงๆแล้วมันถูกเรียนรู้ผ่านทางวัฒนธรรม. ซึ่งดิฉันไม่รู้ว่าถ้าเราถกเถียงกันในประเด็นนี้ …คือทุกวันนี้เขาก็ถกเถียงกันอยู่ว่า วัฒนธรรมมันมีอิทธิพลทั้งหมดหรือเปล่า หรือตัวเซลล์สมองของเราหรือธรรมชาติของเรามีอทธิพลทั้งหมดหรือเปล่า ?

อ.เครือมาศ : เมื่อสักครู่นี้คุณอดุลยเดชพูดถึงเรื่องของวิธีคิดแบบพุทธศาสนา แล้วก็มีการมาพูดถึงเรื่องของความงาม. ดิฉันมีคำๆหนึ่ง อยากจะขอความกระจ่างจาก อ.ชัชวาล กับ อ.ประมวล นิดหนึ่ง คือศัพธ์ทางพุทธศาสนาที่เรียกว่า “จิตประภัสสร”. อาจารย์จะอธิบายอย่างไร ? เกี่ยวกับความงามกับจิตประภัสสรนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ?

อ.ประมวล : ผมขอตอบตามทฤษฎีก็แล้วกันนะครับว่า ตามคติทางพุทธศาสนานั้น ตัวจิตเองเดิมแท้ไม่เจือปนด้วยเจตสิกที่เป็นกุศลหรืออกุศล คือสภาวจิตที่มันเป็นกลางๆ ความเป็นกลางๆตรงนี้นะครับจึงใช้คำว่า”จิตเป็นประภัสสร”ในตอนต้น. จิตของเราจะถูกปรุงแต่งให้เกิดเจตสิกไปประสมในจิต ท่านเปรียบเทียบว่าเหมือนกับน้ำโดยธรรมชาติบริสุทธิ์ ไม่มีสีและไม่มีกลิ่น ต่อเมื่อมีสีหรือมีกลิ่นเข้าไปประสม จึงทำให้น้ำมีรสที่หลากหลาย มีสีที่หลากหลาย มีกลิ่นที่หลากหลาย. ความหมายโดยทฤษฎีก็คือ จิตเดิมแท้ ไม่มีสี ไมีมีกลิ่น เหมือนน้ำบริสุทธิ์.

อ.เครือมาศ : ดิฉันเคยอ่านข้อความหนึ่ง ซึ่งเขียนเอาไว้ในสมุดเยี่ยม อ.บำเพ็ญ ตอนที่ป่วยอยู่ว่า ”โรคคือผู้ทำลาย สังขารคือผู้ถูกทำลาย จิตประภัสสรเท่านั้นที่แลเห็นสัจธรรม” เมื่อพูดถึงจิตประภัสสรดิฉันคิดว่ามันมีความรู้สึกถึงความงามอยู่ในนั้นด้วย. และยังนึกถึงคำๆหนึ่งของ เรเนเยฟ ที่เป็นนักเต้นบัลเลท์ ซึ่งเขาได้มาเต้นลาโรงที่เมืองไทยหลายปีก่อน. ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ Bankok Post ไปถามเขาว่า ระหว่างความงาม ความจริง กับความดี อันไหนสำคัญกว่ากัน ? เขาบอกว่า

“ความงามชุ่มชื่นกว่าความจริงที่แข็งกร้าว แล้วก็อ่อนโยนกว่าความดีที่แห้งแล้ง” อันนี้เป็นคำจำกัดความที่น่ารักมาก ซึ่งไม่เคยเห็นใครให้คำจำกัดความระหว่าง ความงาม ความดี และความจริง โดยรวบรวมสรุปได้อย่างนี้.

ดิฉันนึกถึงเวลาไปที่ญี่ปุ่น พุทธศาสนาในญี่ปุ่นแทบจะไม่สอนอะไรเลย คุณเดินไปในสวนเซนแค่นั้น เพียงแค่เห็นเท่านั้น ใจเราก็อ่อนโยนแล้ว ไม่ต้องมีป้ายรักแม่น้ำปิง หรือรักแม่น้ำกาโม่ให้มันวุ่นวาย อันนี้รู้สึกดีที่ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ แค่นี้แหละซึ่งไม่ต้องพูดกันมากมาย.นอกจากนี้ยังมีคำเล็กๆที่ดิฉันได้จากพุทธศาสนาอีก คือคำว่า”โยนิโสมนสิการ” หมายถึงการใช้ความคิดที่แยบคายหรือว่าใช้ไปในทางที่ถูกที่ควร

ผู้เข้าร่วมสนทนา : ฟังดูแล้ว สนใจว่า”เราคิดแล้ว นำไปสู่อะไร ?”. อย่างของพุทธ, วิธีคิดที่ท่านพระธรรมปิฎกได้แยกไว้ในพุทธธรรม ท่านได้แยกเอาไว้เป็น 10 อย่างอันเป็นวิธีคิดแบบของพุทธ. วิธีคิดของพุทธนั้นจะมีความละเอียด ลึกซึ้ง และรอบด้านมาก. ที่มากกว่านั้นก็คือว่า วิธีคิดของพุทธ มีเป้าหมายของตัวเองอยู่ ก็คือได้โน้มนำไปสู่ปัญญาและเรื่องของการหลุดพ้น.

ตอนแรกที่ฟังนั้นจะรู้สึกว่า พวกฝรั่งหรือพวกตะวันตกเวลาเขาคิดนี่ เขานำไปสู่อะไร ? อย่างไรบ้าง ? คืออย่างที่เคยฟัง วิธีคิดแบบที่เป็นเหตุเป็นผลเป็นตรรกะ มันจะเป็นเพียงหนึ่งในสามของการได้มาซึ่งปัญญา คือเพียงขั้นที่สองถ้าผมจำไม่ผิด ก็คือ เป็นเพียงจินตมยปัญญาเท่านั้น. จะมีสุตะมยปัญญา คือปัญญาที่ได้จากการฟัง, แล้วก็จินตมยปัญญา ปัญญาที่ได้จากการใช้ความคิด และขั้นสูงสุดของการคิดก็คือว่า ภาวนามยปัญญา. ตรงนี้ก็อยากจะเสนอให้เกิดมีการแลกเปลี่ยนความรู้กัน.

อ.เครือมาศ : เรื่องของวิธีคิดหรือการคิดนี้ ดิฉันนึกถึงอีกคำหนึ่งขึ้นมา เป็นคำทางพุทธศาสนาคือคำว่า”อจินตยวัตถุ” หรือคำว่า”อจินไตย”ซึ่งเป็นเรื่องอันไม่พึงคิด. ดิฉันได้โทรไปถาม อ.บำเพ็ญว่ามีอะไรบ้าง ? คำตอบก็คือ โลกาวิสัย, พุทธวิสัย, ฌานวิสัย, และกรรมวิบาก. อ.บำเพ็ญยังบอกต่อไปว่า “อาจารย์ครับ นักวิชาการทั้งหลายน่ะ บ้าทั้งนั้นเลย”. “อจินไตย” คือเรื่องไม่พึงคิดมาก จะมีคำบอกไว้ว่า “ถ้าคิดมาก เธอจะมีส่วนของความเป็นบ้า”. อันนี้คิดว่าเป็นคำที่เตือนสติได้ดีมาก.

ตอนหลังมานี้ ดิฉันๆได้เริ่มมาเข้าใจวิธีคิดของไทยในคำเล็กๆ อย่างเช่นคำว่า “บ้าหอบฟาง”. ถามว่าทำไมต้องเป็นฟาง, …ดิฉันคิดว่า ยุคหนึ่งตัวเองก็เป็นบ้าหอบฟาง นั่นคือหอบทฤษฎีไว้แล้วไม่ได้เอาสาระ, ข้าวจึงไม่ได้กิน ได้กินแต่ฟาง. ดังนั้นพอดิฉันอายุ 30 ปี ดิฉันก็ถอนทฤษฎีออกไปหมดเลย.

ก่อนหน้านี้ดิฉันเริ่มเรียนภาษาฝรั่งเศสระดับปริญญาตรี ตอนนั้นชอบนักปรัชญาฝรั่งเศส มาก, ชอบเดส์การ์ตส์, ชอบซาร์ตร์, คือหลงไหลในความคิดของบรรดานักคิดเหล่านี้, พอมาอายุ 30-40 ก็เริ่มทิ้ง เพราะเริ่มจะรู้ว่าบ้าหอบฟางมาก ก็เริ่มเอาทฤษฎีออกไปทีละอันๆ เพราะดิฉันก็กลัวว่าจะมีส่วนของความเป็นบ้า.

อ.สุชาดา : ต่อจาก อ.ติ่ง นะคะ, คือบางครั้ง เราเห็นศิลปินทำอะไรไม่รู้ เช่น ลงไปนอนกับพื้นแล้วลุกขึ้นยืน แล้วก็ลงไปนอนอีก แล้วก็บอกว่าเขากำลังแสดงศิลปะ. ในวิธีคิดแบบของพวกเรา ก็รู้สึกว่า ไอ้นี่มันผีบ้าหรือเปล่า ?

เท่าที่ฟังๆมาก็ชวนให้เกิดคำถามต่อมาเกี่ยวกับเรื่องวิธีคิด คือ จริงๆแล้ว วิธีคิดนี้มันมีเพศของมันอยู่หรือเปล่า ? ดิฉันเคยได้ยินมาว่า เอ๊…วิธีคิดอันนี้เป็นแบบผู้หญิง, ส่วน เอ๊…วิธีคิดนี้แบบผู้ชายนี่. หรือแม้แต่พ่อหลวง จอนิ โอโดเชา ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวกะเหรี่ยงก็เคยพูดไว้ว่า “เวลานี้โลกมันถูกครอบงำด้วยวิธีคิดแบบผู้ชาย” แล้วท่านก็อธิบายไว้นิดหนึ่งว่า “วิธีคิดแบบผู้ชาย ชอบอะไรที่มันใหญ่ๆโตๆ, เช่นสร้างเขื่อนใหญ่ๆ สร้างตึกใหญ่ๆ เอาวัตถุเยอะๆ เอาเงินเยอะๆ แต่วิธีคิดแบบผู้หญิงมันไม่ออกมา มันถูกกดเอาไว้. เพราะวิธีคิดแบบผู้หญิง เป็นวิธีคิดที่ลงไปในรายละเอียด แล้วก็พยายามจะทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องของความสงบ เป็นเรื่องของความงามไป”. อันนี้ก็คือเรื่องที่พ่อหลวงจอนิอธิบาย.

ดิฉันจึงมีคำถามว่า ถ้าอย่างนั้น วิธีคิดมันมีเรื่องของเพศไหม ? เพศนี่เป็นตัวกำหนดให้วิธีคิดของคนแต่ละคนแตกต่างกันไหม ? ต่อมาคือ วิธีคิดที่มีเรื่องของประสบการณ์เฉพาะไหม ? เช่น ถ้าคนที่เคยผ่านเหตุการณ์ 6 ตุลา น่าจะมีวิธีคิดบางอย่างที่แตกต่าง หรือไม่เหมือนคนที่ไม่ได้ผ่านเหตุการณ์เช่นนั้น. หรือคนที่เคยเฉียดใกล้ความตาย หรือเคยประสบอุบัติเหตุครั้งใหญ่เลยจนแทบจะเอาชีวิตไม่รอด น่าจะมีวิธีคิดอะไรบางอย่างที่เพิ่มเติมขึ้นมา มากกว่าคนที่ไม่เคยเฉียดใกล้ความตายหรือเปล่า ? หรือคำถามต่อมาอีกก็คือ วิธีคิดมันมีเรื่องของวัฒนธรรมหรือเปล่า ? สมมุติว่าคนไทยตาดำๆ ไปเรียนเมืองนอกร่วมกับฝรั่งคนหนึ่ง เรียนในวิชาอย่างเดียวกันหมดเลย อายุเท่ากัน มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน รสนิยมเดียวกัน ชอบฟังเพลงอย่างเดียวกัน เหมือนกันหมดเลย. แต่คนไทยคนนั้นกับฝรั่งคนนั้นจะคิดแตกต่างกันไหม ?

สรุปอีกครั้งก็คือ วิธีคิดมีเรื่องของเพศไหม ? วิธีคิดมีเรื่องของประสบการณ์เฉพาะไหม ? วิธีคิดมีเรื่องของภูมิหลังทางวัฒนธรรมหรือเปล่า ? ใครช่วยไขข้อข้องใจด้วยก็แล้วกัน.

อ้ายแสงดาว : ผมคิดว่าการคิดอย่างมีสติ คงไม่บ้านะครับ. ส่วนที่ถามว่า การคิดนั้นมีเรื่องของผู้หญิงผู้ชายหรือเปล่า ? หรือคิดจากประสบการณ์ที่ปะทะมาหรือเปล่า ? หรือมันมีเรื่องของวัฒนธรรมหรือเปล่า ? ผมคิดว่าถ้าเรามองโดยองค์รวมของความเป็นจริงคือธรรมชาติ …ซึ่งมนุษย์เราก็เป็นส่วนหนึ่งขององค์รวมในธรรมชาติ ก็เหมือนมดเหมือนแมลงต่างๆ, เพราะถ้าเราคิดอย่างเข้าใจว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ การคิดของเรามันก็คงจะไม่วุ่นวายสับสน ถึงกับทำให้สังคมหรือทำให้โลกมันเดือดร้อน เช่นดั่งปัจจุบันนี้.

ไม่ว่าราจะคิดอะไรก็ตาม จะคิดแปลกไปอย่างไรก็ตาม, แต่ถ้าเข้าใจในเรื่องโลกเรื่องธรรมชาติว่าเป็นหนึ่งเดียวกัน ผมคิดว่า การคิดนี้ก็คงจะเข้าใจได้อยู่.

อ.กนกวรรณ : นึกถึงตัวเองว่า เวลาที่จะคิดอะไร ? อย่างที่เมื่อสักครู่ที่คุณสุชาดาว่า, …รู้สึกว่าจะเป็นไปโดยประสบการณ์ซะเยอะ. ส่วนที่ อ.สุชาดา ว่ามีเพศไหม เป็นผู้หญิงผ้ชายไหม ? อันนี้ก็รู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์เช่นเดียวกัน เพราะว่าการที่เรามีความรู้สึกว่า แบบผู้หญิงหรือแบบผู้ชาย มันก็เป็นประสบการณ์ที่สั่งสมมาตั้งแต่เดิม. จึงรู้สึกว่า เวลาที่เราจะคิดอะไรนี่ มันขึ้นอยู่กับประสบการณ์มาก. เช่นว่าบางที เราเห็นคนเขาทำสิ่งนี้ๆ เราเคยเห็นมาก่อนว่า ถ้าเขาทำอย่างนี้ ถัดไปเขาจะต้องทำอันนั้นๆ, แต่บางทีไม่ใช่ แต่เราก็จะคิดว่ามันจะเป็นอย่างนั้น เพราะว่าประสบการณ์เคยเห็นอย่างนั้น.

อ.สมชาย : วิธีคิดแต่ละแบบที่เกิดขึ้นมา มันมุ่งที่ตอบสนองต่อปัญหาที่คนในแต่ละช่วงเผชิญอยู่ ซึ่งผมคิดว่ามันมีประโยชน์. อย่างเช่น พุทธ ที่บอกว่าสิ่งบางสิ่ง หรือเรื่องบางเรื่องมันเป็นอจินไตย คิดไปมันจะทำให้บ้า. ซึ่งผมคิดว่าคำตอบของพุทธมุ่งที่จะไปสู่โลกของโลกุตระ ในขณะที่พื้นฐานของตะวันตก ผมคิดว่าในระยะเริ่มต้นมุ่งที่จะจัดการระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ คือมนุษย์จะเอาทรัพยากรทางธรรมชาติตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้อย่างไร ? เพราะฉนั้นจึงสร้างวิธีคิดหรือกระบวนการในการอธิบายโลกขึ้นมาชุดหนึ่ง. ซึ่งสิ่งที่เป็นปัญหาก็คือว่า วิธีคิดแบบหนึ่งมันตอบปัญหาในช่วงหนึ่ง แต่พอมันพ้นไปแล้ว มันอาจจะมองปัญหาได้ไม่ครอบคลุม.

ยกตัวอย่างเช่น ความคิดของตะวันตกในช่วงหนึ่งมุ่งจะตอบปัญหาระหว่างความสัมพันธ์ของมนุษย์กับธรรมชาติ ว่า มนุษย์ควรจะอยู่อย่างไรถึงจะสุขสบายที่สุด. แต่พอผ่านพ้นไปแล้ว มันไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาใหม่ๆขึ้นมาได้. เพราะฉนั้น มันจึงเริ่มมีวิธีคิดอื่นๆ ซึ่งอาจจะอยู่ในวัฒนธรรมต่างๆขึ้นมา ที่ถูกดึงเอามาหรือนำเอาประโยชน์มาใช้. ผมคิดว่าในตัววิธีคิดแต่ละแบบมันมีประโยชน์อยู่ เพราะฉนั้นผมจึงไม่เห็นด้วยกับการที่บอกว่าเราอย่าไปคิด เพราะจะทำให้ฟุ้งซ่าน. ผมเชื่อมั่นว่าการคิดนั้น แม้ว่ามันจะดูเหมือนว่าไม่มีประโยชน์ แต่ผมว่ามันมีประโยชน์.

มีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งฝรั่งบอกว่า ทั้งหมดที่ผ่านมาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ การคิดเราตั้งอยู่บนฐานของสิ่งที่เราเรียกว่าคู่ตรงกันข้าม เช่น ขาวดำ ดีชั่ว ผู้ชายผู้หญิง. แล้วเขาบอกว่า การคิดแบ่งแบบนี้มันเป็นอย่างนี้ล่ะ มนุษย์จะคิดอย่างไรก็คิดได้เท่านี้แหละ ไม่สามารถที่จะคิดไปได้มากกว่านี้. ซึ่งคำถามที่ผมตั้งขึ้นมาตลอดเวลาตอนอ่านงานเหล่านี้ จริงหรือ ? ตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาเราแบ่งทุกอย่างเป็นขั้วตรงกันข้ามอย่างนี้จริงหรือ ? คำถามอันหนึ่งซึ่งผมงงมากก็คือ ทำไมขาวมันตรงข้ามกับดำ, ขาวมันตรงข้ามกับดำอย่างไร ? ผมรู้สึกว่ามันไม่ใช่ ขาวมันไม่ตรงข้ามกับดำ มันเป็นคนละสีเท่านั้น. ความดีมันตรงข้ามกับความชั่วหรือ ? ผมรู้สึกก็ไม่ใช่ มันเป็นการกระทำที่มีนัยะทางคุณค่าคนละแบบ. สิ่งที่ผมกำลังจะตั้งคำถามก็คือว่า การที่บอกว่ามนุษย์คิดในลักษณะที่เป็นขั้วตรงกันข้ามนั้น เอาเข้าจริงๆ ฝรั่งมันจัดให้หรือเปล่า ?

อันนี้ผมคิดว่า เป็นการใช้ระบบคิดอันหนึ่งเข้าไปจัดความคิดที่มีอยู่ของโลกโดยกรอบของตัวเองหรือเปล่า ? ซึ่ง ผมไม่รู้ว่าในทางศิลปะอธิบายหรือเปล่าว่าขาวตรงข้ามกับดำ แต่ผมเองไม่รู้ว่ามันตรงข้ามกันอย่างไร ?

ส่วนอีกคำถามหนึ่งเมื่อสักครู่นี้ที่ว่า วิธีคิดมีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือเปล่า ผมคิดว่าคำถามนี้น่าสนุกขึ้นมาหน่อย. เพราะปัจจุบันมักจะมีการกล่าวประณามอยู่เสมอว่า โลกทุกวันนี้เป็นโลกซึ่งมีวิธีคิดเป็นของผู้ชาย. ถ้าวิธีคิดมีเพศ. โลกทุกวันนี้ใช้กระบวนวิธีคิดแบบผู้ชาย หมายความว่าอย่างไร ? ระบบอุตสาหกรรม การส่งเสริมการแข่งขัน การเน้นประโยชน์ในทางวัตถุ ความแข็งแรงอะไรต่างเหล่านี้เป็นวิธีคิดของผู้ชาย. ผมก็เลยมานั่งคิดว่า เอาเข้าจริงๆมันเป็นของผู้ชายจริงหรือ. โลกของการแข่งขัน โลกของการเอารัดเอาเปรียบ …ถ้างั้นหมายความว่า ถ้าผู้หญิงมาทำ ก็จะต้องทำให้ดีซิ ใช่ไหม ? แต่เอาเข้าจริง พอเรามาเห็นในสิ่งที่เป็นจริงผมคิดว่า ไม่ว่าผู้หญิงไปเป็นนักการเมือง ไปเป็นนักธุรกิจ แล้วมันต่างกันตรงไหน ? ผมรู้สึกว่ามันก็ไม่ต่างกัน มันก็เลวพอๆกัน. ซึ่งอันนี้บางคนอาจจะอธิบายได้ว่า แม้ว่า body ของเขาจะเป็นผู้หญิง แต่เธอก็ไปรับเอาวิธีคิดแบบผู้ชายมา. ถ้าอย่างนี้ก็หมายความว่า วิธีคิดมันก็ข้ามเพศได้ซิ, แล้วทำไมต้องมายัดเยียดให้วิธีคิดที่มันเลวๆเป็นของผู้ชายได้ล่ะ. ผมคิดว่านี่เป็นปมซึ่งผมไม่ค่อยเห็นด้วยตลอดมา ผมรู้สึกว่าได้ถูกกระทำ เพราะผมก็รู้สึกว่าผมสนใจเรื่องเล็กๆน้อยเหมือนกันนะ ไม่ใช่จะสนใจแต่เรื่องใหญ่ๆโตๆ

แล้วทำไมต้องมาหาว่าเป็นของผู้ชายหมด ทำไมต้องเป็นแพะรับบาปในเรื่องนี้ตลอดเวลาเลย.

อ.วารุณี : ดิฉันคิดว่าเข้าใจผิด คือการที่พูดบอกว่า ระบบคิดที่เป็นอยู่ซึ่งครอบงำโลกอยู่เป็นความคิดผู้ชาย เพราะว่า เขามองว่านักปรัชญาที่สร้างระบบคิดขึ้นมาเป็นผู้ชายทั้งหมด. คุณไม่มีนักปรัชญาที่เป็นผู้หญิงเลย ยิ่งเมื่อสองร้อยหรือสามร้อยปีที่ผ่านมา ไม่มีนักปรัชญาที่เป็นผู้หญิงเลย. คุณไม่มีนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นผู้หญิงเลย คุณไม่มีนักการเมืองที่เป็นผู้หญิงเลย เพราะฉนั้น ความคิดที่นำเสนอออกมาสู่สังคมนี่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปกครองก็ดี ไม่ว่าในแง่มุมทางวิทยาศาสตร์ก็ดี หรือในแง่มุมทางปรัชญาความคิดหรือสังคมก็ดี มันไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยผู้หญิง แต่ถูกสร้างขึ้นมาโดยผู้ชาย. เพราะฉนั้นความคิดพวกนี้เขาจึงบอกว่ามันเป็นความคิดของผู้ชาย ซึ่งความคิดของผู้ชายมันกลายเป็นกระแสความคิดหลักที่ครอบงำอยู่ ดังนั้น ถามว่าผู้หญิงในนี้คิดเหมือนผู้ชายไหม ? คือจริงๆเราอย่าไปแบ่งอย่างนั้น จริงๆแล้วมันเป็นระบบคิดบางอย่างที่มันถูกสร้างขึ้นโดยเพศหนึ่ง ที่เราเรียกว่าเพศผู้ชาย และความคิดนี้มันได้มีอิทธิพลซึ่งไม่ใช่ในโลกตะวันตกเท่านั้น ซึ่งดิฉันคิดว่าเพียงไม่ถึง 30 ปีด้วยซ้ำที่คนลุกขึ้นมาตั้งคำถามว่า ระบบคิดที่มันถูกสร้างขึ้นมานี่ มันควรเป็นระบบคิดที่ถูกต้องหรือเปล่า ? เพราะมันถูกสร้างขึ้นมาโดยคนเพียงเพศเดียว แล้วมันก็ครอบงำไปทั่วโลก.

ที่นี้ถามบอกว่า เรามาดูเรื่องผู้หญิงผู้ชายทำไม ? ดิฉันคิดว่าเราน่าจะมาดูที่ตัวระบบคิดดีกว่าว่า ไอ้ตัวระบบคิดพวกนี้มันชอบธรรมไหม ? อย่างการที่พยายามมองว่า ธรรมชาตินี่มันต้องรับใช้มนุษย์ ความคิดแบบนี้มันน่าจะใช่หรือถูกไหม ?

อ.สมชาย : ผมเห็นด้วยในตอนท้ายว่ามันชอบธรรมหรือเปล่า ? แต่ผมขอตั้งข้อสังเกตุนิดหนึ่งว่า ผมนี้ช่างเต็มไปด้วยความเข้าใจผิด. ตอนแรกผมแย้ง อ.สมเกียรติ, อ.สมเกียรติ บอกว่าคุณเข้าใจคำถามผมผิด. ผมทิ้งคำถามให้ อ.วารุณี, อ.วารุณีบอกว่า”คุณเข้าใจคำถามของดิฉันผิด”. ผมคิดว่าทำไมมันไม่กลับกันล่ะว่า ทำไมผมต้องเข้าใจผิดด้วยล่ะ ? ก็ผมเข้าใจของผมอย่างนั้นน่ะ ไม่ผิดเลยที่ผมฟังมา และแปลโดยนัยะที่ผ่านมา ผมรู้สึกว่านี่เป็นวิธีคิดแบบหนึ่งหรือเปล่า ?

เวลาที่ผมตั้งคำถามนักศึกษา ถ้านักศึกษาตอบมาไม่ตรงกับคำถาม ผมจะไม่คิดว่านักศึกษาเข้าใจคำถามของผมผิด แต่ผมจะลองตั้งคำถามใหม่ ผมถือว่าผมอาจจะตั้งคำถามผิดพลาดไป. ผมรู้สึกว่านี่เป็นวิธีการแบ่งแยกหรือเปล่า …ฉันพูดคำถาม นี่คือคำตอบ.

อ.สุชาดา : ขอโทษที่ใช้คำว่า เข้าใจคำถามผิด อันนี้เป็นการใช้ประโยคตอบสนองที่คลาดเคลื่อนนะคะ. เมื่อสักครู่จะบอกว่า ไม่ได้หมายความอย่างนั้นอย่างที่ อ.สมชาย โต้ตอบกลับมา คือ เมื่อสักครู่ ได้ยกเอาคำพูดของพ่อหลวงจอนิ ซึ่งมีความคิดหรือวัฒนธรรมที่เชื่อและเคารพในธรรมชาติค่อนข้างมาก. ที่นี้จะบอกว่าสื่อสารไม่ตรงกันก็ตรงตอนที่โต้ตอบกับพ่อหลวงจอนินั้น มีบริบทของการสนทนาอยู่จำนวนมาก ในความหมายของพ่อหลวงจอนิก็คือว่า เราไม่มาพูดกันว่าผู้ชายเป็นผู้ชายตั้งแต่เมื่อไหร่ ? หรือว่าผู้หญิงเป็นผู้หญิงตั้งแต่เมื่อไหร่ ? หรือว่าในวิธีคิดของเรื่องสิทธิสตรีอาจจะบอกว่า ผู้หญิงไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะเป็นผู้หญิงแต่ถูกทำให้เป็นผู้หญิงด้วยการอบรมเลี้ยงดู หรืออะไรก็แล้วแต่ทำนองนี้นะคะ. เมื่อผู้ชายเป็นผู้ชายแล้วก็คือว่า มันมีบุคลิกภาพ มันมีความคิดอะไรบางอย่างแบบ …อาจจะตั้งแต่ที่ อ.สมเกียรติ เล่ามาตั้งแต่แรกว่าต้องใช้พละกำลังในการล่าสัตว์ หรือเอาชนะศัตรูต่างเผ่า หรืออะไรก็แล้วแต่. ตรงนี้มันได้เกิดมาเป็นบุคลิกภาพแบบผู้ชายแล้ว เมื่อเวลาผ่านไปเป็นพันๆปีก็คือ วิธีคิดที่มันต้องเอาชนะ วิธีคิดที่ฉันเป็นผู้สร้าง ซึ่งไม่ใช่หมายความว่าวิธีคิดนี้ผิดหรือถูก เพียงแต่บอกว่าวิธีคิดนี้แตกต่างไปจากวิธีคิดแบบผู้หญิง ซึ่งมันเริ่มต้นมาจากอดีตกาลที่เก็บผักใส่ซ้า… เก็บผลไม้ หรือถนอมอาหาร อะไรแบบนี้ (หัวเราะ) …มันทำให้ผู้หญิงหล่อหลอม สั่งสมวิธีคิดอีกแบบหนึ่งซึ่งเป็นวิธีคิดแบบที่ เป็นเรื่องที่มันอาจจะไม่เหมือนกับวิธีคิดแบบผู้ชาย ซึ่งต้องใช้พละกำลังเข้าแก้ปัญหา ไม่ใช้วิธีที่ต้องเอาชนะเพื่อเข้าแก้ปัญหา อาจจะใช้น้ำตาแทน หรืออะไรอย่างนี้ซึ่งมันแตกต่างกัน. พยายามที่จะบอกว่าใช้วิธีคิดที่แตกต่างกันเท่านั้น.

อ.เครือมาศ : ขอใช้สิทธิพาดพิงเมื่อสักครู่ที่อ้ายแสงดาวพูดเรื่องให้คิดเยอะๆโดยใช้สติ. คือดิฉันได้พูดถึงเรื่องของอจินไตยว่าไม่พึงคิดเพราะถ้าคิดแล้วเธอจะเป็นบ้า. มีเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นสดร้อน ๆ คือได้ไปทานข้าวกลางวันกับเพื่อนๆ แล้วชวนคุยเรื่องของภาพยนตร์เรื่องหนึ่งคือเรื่อง That Something About Marry ซึ่งเป็นเรื่องเพศมากๆ

มีเพื่อนคนหนึ่งบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็น postmodern ส่วนเพื่อนอีกคนหนึ่งซึ่งสนใจในเรื่อง postmodern มากๆก็เถียงว่าไม่ใช่ แล้วก็เกิดการโต้เถียงกันใหญ่ทำให้ทานข้าวไม่อร่อยเลย. ดิฉันคิดว่าความคิดอะไรก็ตามที่ไม่มีฐานของสติอย่างที่อ้ายแสงดาวบอก, ไม่มีฐานของการรู้สึกตัว ดิฉันคิดว่าจะพังกันไปหมดทั้งโลกนะคะ.

เมื่อสักครู่มีการพูดถึงเรื่องของธรรมชาติกับมนุษย์ ที่ทางตะวันตกได้แบ่งแยกสองสิ่งนี้ออกจากกัน. ดิฉันได้ไปดูหนังเรื่อง Little Buddha ซึ่งมีฉากของพระแม่ธรณีในวันสุดท้ายก่อนการตรัสรู้. ก็คือ มีคนอธิบายว่าการตรัสรู้ไม่ใช่เรื่องของความชาญฉลาด, ตอนที่พระพุทธเจ้าใกล้บรรลุธรรมหรือตรัสรู้นี่ พระแม่ธรณีก็มาบีบมวยผม แล้วพญามารทั้งหลายก็ตายหมดเลย. หนังเรื่อง Little Buddha ได้ทำเหนือเหตุผลจริงๆ สวยงามมาก. หนังเรื่องนี้มีลักษณะที่เป็นหนังแขกมากๆเลยคือ irrational. อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ได้จูงมือภรรยาคือ อ.สุวรรณา ไปดูหนังเรื่อง Sleepless in Seattle ด้วยกัน 3 รอบ. ถามว่าทำไม ? อาจารย์ตอบว่า “ผมว่าหนังเรื่องนี้ อเมริกันมันไปเป็นอินเดียตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้.

กลับมาที่ฉากสุดท้ายของเรื่อง Little Buddha จะเอาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้เลย. มีพระแม่ธรณีมาบีบมวยผม. ท่านผู้รู้ได้อธิบายการบรรลุธรรมของพระพุทธเจ้าว่า ส่วนหนึ่งเป็นพระบารมีที่สั่งสม อีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติเจ้า. ในทางหนึ่งเป็นเรื่องของธรรมชาติช่วย มันไม่ใช่เรื่องของความสามารถส่วนตัวและไม่ใช่เรื่องของปัจเจกด้วย.

คุณบุญทวี : เท่าที่ฟังๆมา, ปกติแล้วผมเป็นคนไม่ค่อยคิด แต่เห็นโฆษณาบอกว่าเป็นเรื่องวิธีคิด ผมเลยรีบบิดมอเตอร์ไซค์มาทันทีเลย. จริงๆแล้วผมรู้แต่วิธีคุ้ยกับวิธีแคะ. ตอนที่ อ.สมชาย พูดถึงตอนต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ว่า ผู้ชายไทยถูกเกณฑ์แรงงานให้เข้าเดือนออกเดือน อันนี้ผมคิดว่ายังดีกว่าฝรั่ง ในสมัยโรมันถ้าไปรบ ผู้หญิงต้องใส่เข็มขัดกันชู้.

เท่าที่ฟังมา วิธีคิดมันต้องผ่านวิธีเชื่อ วิธีรู้สึกและก็สื่อสารออกมา. ผมเคยถูกเพื่อนคนหนึ่งถามว่า “เฮ้ยกี่โมงล่ะ ?” ผมก็บอกว่า “กูไม่ได้ใส่นาฬิกา” เพื่อนผมบอกว่า”กูไม่ได้ถามมึงว่าใส่นาฬิกาหรือเปล่า แต่กูถามมึงว่ากี่โมงแล้ว ?”

มีการพูดถึงเรื่องของวิธีคิดทางพุทธศาสนา ซึ่งจริงๆแล้ว ผมก็เคยมีโอกาสศึกษาเรื่องของพุทธศาสนามาบ้างเพราะหน้าที่การงานบังคับ จนถึงวันนี้ผมได้ข้อสรุปเกี่ยวกับพุทธศาสนาสำหรับคนอย่างผมอยู่อย่างหนึ่งคือ ผมเป็นคนหันหน้าเข้าหาวัด แต่ตีนมันเดินถอยหลังเข้าร้านเหล้าอยู่เรื่อย (มีเสียงหัวเราะของผู้เข้าร่วมสนทนา).แล้วที่พี่สุชาดาโยนประเด็นขึ้นมาเรื่องวิธีคิดแบบแบ่งเพศ ผู้ชายกับผู้หญิง, ผมเลยสงสัยว่ามีวิธีคิดแบบตุ๊ดแบบทอมหรือเปล่า ?

อ.วัลลภ : ผมออกจะเห็นด้วยกับคุณบุญทวี เท่าที่ผมฟังมาเรื่องวิธีคิดต่างๆ ยังฝังใจว่ามันมีอะไรที่เป็นฝรั่ง เพราะเมื่อสักครู่ที่พูดถึง de Bruno, และ อ.ติ่ง บอกว่ามีการเถียงกันบนโต๊ะอาหาร ผมคิดว่าเป็นวิธีการของโสกราตีส เถียงกันเพื่อที่จะเอาชนะว่าใครถูกใครผิด ผมจึงมาคิดแบบคุณบุญทวี คือคิดอย่างไรให้มันเป็นประโยชน์ อย่างนั้นดีกว่า. คือคิดใหม่ แทนที่จะอ้างถึงโสกราตีส, โสกราตีส มันล้าสมัยแล้ว ตายไปกี่พันปีมาแล้ว.

นักศึกษา มช. : พอดีหนูสนใจวิธีคิดที่มีความแตกต่างกันทางวัฒนธรรมนะคะ มีคราวหนึ่งที่หนูเคยยกตัวอย่าง ไม่รู้ว่า อ.สมเกียรติ และ อ.สมชาย ยังจำได้หรือเปล่าที่คณะวิจิตรศิลป์. หนูเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับคนขายอาหารที่หอพักที่เป็นผู้หญิงซึ่งมาจากอีสานใต้ ติดชายแดนเขมร ก็จบ ป.3 นะคะ เขาเขียนหนังสือไม่ค่อยได้อ่านหนังสือไม่ค่อยออก เขาถามหนูว่าบนท้องฟ้าเลยเมฆไปมีอะไร ? …ที่หนูพูดอย่างนี้ต้องการจะบอกว่า เรามีฐานคิดที่ต่างกัน เราเรียนมาเรามีฐานคิดแบบวิทยาศาสตร์ แต่ว่าคนอีกกลุ่มหนึ่งเขาคิดไม่เหมือนเรา. คำตอบที่หนูได้จากเขาก็คือว่า เขาคิดว่าบนท้องฟ้าเลยเมฆไปก็จะมีเทวดาเหมือนกับรูปที่วาดๆกัน. อันนี้เป็นสิ่งที่เขาคิดจริงๆ.

ประเด็นที่หนูอยากจะถามก็คือว่า ในสังคมเดียวกันมีคนซึ่งมีวิธีคิดที่ต่างกันมากเลย หนูอยากจะรู้ว่าเราจะทำอย่างไร ? บางทีเราอาจจะไม่ต้องไปลบวิธีคิดของคนอื่น หรือลบวิธีคิดของเรา แต่ทำอย่างไรเราจะประสานวิธีคิดของเราให้อยู่ร่วมกันได้ ? อาจจะไม่ต้องไปทำลายวิธีคิดของอีกคนใช่ไหม ? ไม่ต้องเปลี่ยนความคิดของเขา หรือถ้าจะเปลี่ยนเราจะเปลี่ยนไปทางไหนเพื่อให้มันไปกันได้ ?

อ.ไพสิฐ : คือที่เราพูดถึงวิธีคิดร่วมกันนี่ ผมพยายามที่จะวาดความเชื่อมโยงมันขึ้นมา ผมคิดว่าตัววิธีคิดนี้มันเป็นเรื่องของการหาความชอบธรรมของเหตุผลหรือข้ออ้างของแต่ละฝ่ายว่า ของใครมันน่าที่จะเชื่อๆได้มากกว่ากัน แล้วตัวที่ทำให้เชื่อนั้นมันมีผลกระทบต่อสังคม แล้วมันทำให้คนอื่นเชื่อตาม มันตอกย้ำให้คนอื่นเชื่อตาม.

ผมอยากจะยกตัวอย่างอันหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับความคิดวิทยาศาสตร์ซึ่งไปหักล้างอำนาจแบบเทวสิทธิ์ ในยุคหนึ่งที่เราเชื่อว่าโลกแบน และมันมีพลังในการอธิบายที่ทำให้คนในยุคนั้นเชื่อว่าโลกแบน จะไปไกลจากนั้นไม่ได้. แต่มีคนที่คิดอยู่บนกรอบใหม่ที่มาหักล้าง ตอนหลังก็ค้นพบว่าโลกมันไม่ได้แบน และได้มาหักล้างความคิดเดิมให้มันลดทอนอิทธิพลลงไป พร้อมๆทั้งทำให้ความคิดอื่นๆที่ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้กรอบคิดอันนั้นมันล่มสลายลงไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นสมบูรณาญาสิทธฯก็ดี ก็ถูกระบบเหตุผลอันใหม่ สร้างเหตุผลสร้างอะไรใหม่ขึ้นมา. ในกรณีนี้ก็คือกรณีของวิทยาศาสตร์นั่นเอง. ปัจจุบัน วิทยาศาสตร์ก็ถึงทางตันในระดับหนึ่ง แต่ที่นี้กระบวนการในการสร้างเหตุผลมันมาปนอยู่กับเรื่องของคุณค่า เรื่องของความชอบธรรม มาปนอยู่กับการจะคิดอย่างไรที่จะต้องมีข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน หรือว่าจะคิดอย่างไรโดยไม่มีอคติ.

จากความคิดอันหลากหลายในปัจจุบัน มันทำให้ความคิดต่างๆเกิดการปะทะกัน และการปะทะกันนี้มันพยายามหาข้อสรุปหรือข้อยุติเป็นเรื่องๆไป ซึ่งถึงที่สุด ความคิดที่ถูกที่สุดมันอยู่ตรงไหน ? ผมคิดว่ามันขึ้นอยู่กับพลังในการอธิบายบนเหตุและผลที่ถูกสร้างขึ้นมาในกรอบต่างๆ อันไหนมันน่าเชื่อถือ ? ที่สำคัญคือ ความคิดที่เรากำลังพูดถึงอยู่ เราไม่สามารถแยกขาดจากเงื่อนไขของสิ่งแวดล้อม จากประสบการณ์ จากวัฒนธรรมได้ ซึ่งอันนี้มันทำให้เกิดความคิดที่แตกต่างกันขึ้นมา.

คือที่เราคุยๆกันนี้ น่าจะมาถึงประเด็นเมืองไทยที่มันมีความคิดอันหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น การพูดถึงปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ อิทธิพลในด้านวิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลักนี่มันได้รับการชูขึ้นมาและมีอทธิพลค่อนข้างมากในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็มีความคิดที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ อย่างกรณีของ SME หรือเศรษฐกิจพอเพียง มันก็ปะทะกันทั้งสองอันนี้. ทางออกที่ผมเห็นเกี่ยวกับเรื่องความขัดแย้งกันต่างๆนี้ คิดว่าทางออกมันจะต้องเป็นไปในเรื่องของวิธีการแบบสันติวิธี หรือให้ใช้เหตุผลมาหักล้างกัน.

อ.สมเกียรติ : ผมขอเปิดประเด็นในเรื่องของวิธีคิดที่มันมาจากคนที่เกิดในราศีที่แตกต่างกัน. คือความคิดอันนี้มันเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยกรีก เวลาที่มีการตัดสินในกระบวนการยุติธรรม จะมีการเลือกลูกขุนขึ้นมา 12 คน, แต่อันนี้แตกต่างไปจากกระบวนการยุติธรรมอเมริกันในการเลือกคณะลูกขุนขึ้นมา, กระบวนการยุติธรรมของกรีกเลือกคนมาจากคนทั้ง 12 ราศี เพราะเขารู้ว่าคนในแต่ละราศีนั้น มันมีลักษณะภายในบางอย่าง หรือบุคลิกส่วนตัวที่จะกระทำการบางอย่างซึ่งแตกต่างกัน. ดังนั้นจำเลยที่อยู่ในราศีใดก็ตามที่ถูกนำมาสู่ศาล จะมีคนที่เป็นลูกขุนอยู่ในราศีนั้นรองรับอยู่ แล้วก็จะให้คำปรึกษากับคณะลูกขุนด้วยกัน เพื่อให้เข้าใจมิติภายในและมิติภายนอกของพฤติกรรมที่ทำผิดของตัวจำเลยคนนั้น เพื่อจะแก้ไขเขา. การลงโทษในสมัยนั้นเป็นการลงโทษในลักษณะของการแก้ไขคน ไม่ใช่การลงโทษเพื่อการแก้แค้น มันจึงต่างออกไป. อันนี้เลยจึงขอเปิดประเด็นเรื่อง ราศีของมนุษย์มีส่วนในการกำหนดมิติภายในซึ่งทำให้เกิดความคิดบางอย่างที่แตกต่างไปได้ไหม ?

อ.วารุณี : ที่ อ. สมเกียรติ เสนอมานี่อาจจะเป็นมิติใหม่ของระบบคิดบางอย่าง ส่วนที่ อ. สมชาย

มองนี่จะเป็นเรื่องของวิธีคิดแบบสองขั้วที่ว่า เป็นธรรมชาติล้วนๆ หรือว่าเป็นวัฒนธรรมล้วนๆ ในขณะที่ อ.สมเกียรติ เสนอประเด็นใหม่ขึ้นมาว่าไม่ใช่ทั้งสองขั้ว อาจจะมีอะไรที่นอกเหนือออกไป เช่น ราศี หรืออย่างที่คุณบุญทวีเสนอเรื่องความเป็นทอม,ความเป็นดี้ที่จะกำหนดวิธีคิดของคนก็ได้.

นักศึกษา : ขอต่อเรื่องราศีหน่อยนะคะ คือแต่ก่อนเคยเชื่อเรื่องราศีมากเลย และสะสมหนังสือเรื่องราศีนี้เต็มไปหมดนะคะ เพราะว่าไม่มีความมั่นใจในตัวเองว่าตัวเองจะมีบุคลิกภาพอย่างไรบ้าง ? ถ้าหากไปอ่านแล้ว เราอาจจะเป็นตามที่เขาว่าก็ได้. แต่อ่านไปอ่านมา ทุกราศีมีความเป็นตัวเราหมดเลย และที่น่าสังเกตุก็คือว่า เคยไปถามเพื่อนฝาแฝดคู่หนึ่งว่า “เธอมีราศีอะไรเหรอ ?” สองคนนั่นตอบว่าเป็น gemini, หนูก็บอกว่า”ถ้างั้นรู้แล้ว เธอมีบุคลิกภาพต้องเป็นอย่างนี้ๆ คือหนูท่องได้หมดแล้ว แต่ที่น่าสนใจก็คือว่า ทั้งสองคนนี้นิสัยไม่เหมือนกันเลย แล้วมีความขัดแย้งในด้านความคิดมากมาย หนูจึงคิดว่ามันคงไม่เกี่ยวกับเรื่องของราศี

คิดว่ามันคงเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์มากกว่า หรืออารมณ์ตอนที่แม่ตั้งครรภ์มากกว่า. น้องสาวของหนูจะแตกต่างจากหนูมาก เพราะแม่อดอยากมาก คือทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ, ส่วนหนูนะคะจะอิ่มเอิบมาก มีนมกินทุกวัน เพราะเศรษฐกิจช่วงที่หนูเกิดดีมาก. น้องสาวจะเป็นคนที่มีนิสัยก้าวร้าวมาก ก็เลยตัดสินด้วยตัวเองว่า คงเป็นเพราะอารมณ์ในระหว่างตั้งครรภ์คงสร้างบุคลิกภาพพื้นฐานของความก้าวร้าวหรือมีสุนทรียภาพขึ้นมา

อ.สมเกียรติ : เวลาที่เราไปอ่านงานเกี่ยวกับเรื่องของราศี เราคงไม่ไปอ่านเฉพาะงานของ Linda Goodman เพียงอย่างเดียว แล้วรู้ว่าเราเป็นราศีนั้นราศีนี้นะครับ. ความจริงในรายละเอียดของมันก็คือลัคนามันมีความแตกต่างด้วย. อย่างเช่นว่า เราเกิดราศีพิจิกแต่ลัคนาของเราเป็นกุมภ์ ตามตำราบอกไว้ว่า(มีคนหัวเราะ) เขาจะชอบเรื่องลึกลับ ชอบกินอะไรแปลกๆ แต่ชอบเป็นคนบริการสังคม. ส่วนคนที่เกิดราศีพิจิกแต่ลัคนาเป็นเมถุน ก็จะเป็นคนที่ชอบอะไรแปลกๆ ชอบเรื่องลึกลับ และจะเป็นคนเจ้าชู้ มีอารมณ์ไม่คงที่. อันนี้ก็คือเราจะต้องดูลงไปในรายละเอียดของลัคนาด้วย.

ผู้เข้าร่วมสนทนา : ผมมีวิธีคิดแบบพุทธ พุทธในความหมายของผมคือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน. ถ้าไม่รู้ก็ศึกษาให้รู้ในเรื่องอะไรก็ตามที่เราอยากรู้ เมื่อเรารู้แล้ว เราตื่นไหม ? คือไม่ตาย. ปฏิบัติตามที่รู้ไหม ? ขณะที่เรารู้แล้ว เราปฏิบัติแล้ว เราเบิกบานหรือเปล่า ? ถ้าปฏิบัติไปด้วย หม่นหมองไปด้วย เคียดแค้นไปด้วย ไม่ใช่พุทธนะ. ต้องรู้แล้ว ตื่นแล้ว และเบิกบาน. อันนี้เป็นวิธีคิดของผมและคิดว่าน่าจะนำมาประยุกต์ใช้ได้ดี.

เมื่อสักครู่ที่อาจารย์เปิดประเด็นว่า วิธีคิดมันเกี่ยวกับราศีไหม ? ผมเองก็เคยศึกษาเรื่องนี้พอสมควร ทั้งนี้ทั้งนั้นผมก็สรุปเอาเองตามที่มีข้อมูลว่า ตรงนั้น…ถ้าอธิบายอย่างวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างมันจะมีสนามแม่เหล็ก มันจะมีประจุไฟฟ้า. แม้กระทั่งขณะที่เราคิดตรงนี้ ประจุไฟฟ้าของแต่ละสรรพสิ่ง ทั้งใบไม้ ใบหญ้า ต้นไม้ และอากาศ มันมีผลซึ่งกันและกัน ทุกอย่างมัน memory ซึ่งกันและกัน เพราะฉนั้นมันจะส่งผลให้ทุกชีวิตเป็นไปตามที่มัน memory ไว้ ไม่มีขาดตอน. เพราะฉนั้นถ้าจะพูดถึงราศีหรือความลึกลับ ทุกอย่างมันเป็นไปได้ทั้งนั้น เพราะว่ามันมีปฏิสัมพัทธ์ซึ่งกันและกันอยู่เสมอ.

…ผมมีประเด็นคิดอีกอันหนึ่งคือว่า สรรพสิ่งในโลกนี้ มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่จะทำให้ตัวเองดีขึ้นหรือเลวลงได้ นอกนั้นไม่มีสิทธิ์ครับ. พืชต้องมาใช้กรรม สัตว์ต้องมาใช้กรรม คนเท่านั้นที่จะทำให้ตัวเองดีหรือเลวได้. และขณะที่เป็นคน นั่งเห็นๆกันอยู่นี้ บางคนอาจจะมีเปรตอยู่ในใจ บางคนอาจจะมีเทวดาอยู่ในใจ เพราะความคิดมันเกิดดับๆอยู่เสมอ ในวันหนึ่งเราอาจจะมีสักร้อยภพก็ได้ เราอาจจะเป็นเปรตสักสิบภพ เป็นเทวดาสักห้าภพ เป็นพรหมบ้าง.

ผู้เข้าร่วมสนทนา : เท่าที่เรากำลังเสนอวิธีคิดต่างๆมา ผมกำลังมองว่า วิธีคิดต่างๆนั้นมันเหมือนกับเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่กำลังจะบอกว่าเราเข้าไปสู่อะไรบางอย่าง ? เช่นว่า เราต้องการเดินทางจากเชียงใหม่ไปกรุงเทพฯ เราต้องไปด้วยเส้นทางไหน และด้วยวิธีอะไร ? วิธีคิดก็คือ ทำอย่างไรให้เราเข้าไปสู่เส้นทางหรือเป้าหมายนั้นได้. ผมจึงมานึกย้อนว่า การที่เรามาหาวิธีคิดนั้น เรามาหาวิธีคิดกันเพื่ออะไร ? เพื่อให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้น หรือว่ามีจิตใจที่ดีงามขึ้นมาด้วยหรือเปล่า. ถ้าวิธีการคิดเหล่านี้มันทำให้เราตอบปัญหาตัวเองได้ว่า จิตใจเราดีงามขึ้น และเรามีความสุขมากขึ้น ผมคิดว่านั่นเป็นความคิดที่ดีและเป็นวิธีคิดที่ถูกต้องด้วย.

มันหมายถึงว่า วิธีคิดที่เราพยายามจะแบ่งแยกสิ่งต่างๆออกจากกัน ไม่ว่าจะเป็น วิธีคิดของผู้ชายหรือวิธีคิดของผู้หญิงก็ดี ผมเชื่อว่า ถ้าเถียงกันวันนี้ก็ไม่จบ เพราะมันจะแบ่งแยกย่อยลงไปอีกว่า วิธีคิดของโรงเรียนนี้ ของเด็กอาชีวะลุ่มนี้ ซึ่งมันจะแยกย่อยออกไปอีก …เชื่อไหมครับว่า กลุ่ม”มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน”ตรงนี้ ก็มีวิธีคิดของตนเองด้วย และก็อาจจะแตกต่างจากกลุ่มอื่นด้วย แต่อะไรที่มันจะสำคัญกว่านั้น ก็คือว่า ถ้าคิดแล้วมันจะทำอะไรให้ดีขึ้นบ้าง. ถ้ามันทำให้เรามีจิตใจดีงามขึ้น ถูกต้องขึ้นก็คงจะดีมาก

กำลังจะบอกว่า วิธีคิดนี้เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น. ผมเข้าใจว่า การที่เราจะเข้าสู่เป้าหมายที่นำไปสู่ความสุข มันคงจะหมายถึงการเข้าถึงมากกว่า แล้วผมก็พยายามคิดว่า การเข้าถึงนี้มันมีอยู่หลายหลาก หนึ่งในนั้นก็คือการใช้วิธีคิด. ผมไม่แน่ใจว่า เวลาที่เรามองต้นไม้ที่อยู่ข้างหน้านี่ เรามองมันและเราเข้าถึงมันด้วยอะไร ? ด้วยวิธีคิดหรือว่าด้วยวิธีรู้สึกที่เราสัมผัสมัน. ถ้าเราสัมผัสมันได้ วิธีคิดยังจำเป็นอยู่หรือเปล่า ? และถ้าหากว่าเราเข้าถึงมันด้วยวิธีคิด สิ่งนี้จะเรียกว่าเราเข้าไปสัมผัสมันอย่างแท้จริงหรือเปล่า ? แล้วใครจะตอบได้ไหมว่ามันเป็นการเข้าถึงจริงๆ.

คงจะเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าคนทุกคนมีความสุขเหมือนกัน แต่มันคงหมายถึงว่า คนทุกคนควรจะมีสิทธิ์ที่จะอิสระคิด อิสระทำ แต่ว่าทุกคนจะต้องเข้าไปถึงความสุขที่สมบูรณ์ในตัวเองที่ไม่จำเป็นต้องไปอ้างอิงกับใคร เพราะผมเชื่อว่า สูงสุดของแต่ละคน คงขึ้นอยู่กับว่าคนๆนั้นสมบูรณ์ในตัวเอง โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาใครมากเท่าไหร่ แต่ว่ามีความเป็นตัวเองมากพอที่จะบอกให้คนอื่นรับรู้ความสุขนี้ได้เหมือนกัน.

อ.สุชาดา : จริงๆแล้ววิธีคิดนั้นอาจจะมีอยู่สองส่วน ส่วนแรกคือวิธีคิดซึ่งมันเป็นพื้นฐานหรือภูมิธรรมของแต่ละคน อาจประกอบด้วย gene, หรือ genetic อะไรเหล่านี้, กับอีกส่วนหนึ่งที่เป็นความคิดซึ่งเปลี่ยนแปลงได้. สมมุติว่าเราไม่ได้รับการศึกษามาเลยจนกระทั่งอายุ 40 และยังคิดอยู่ว่า เหนือเมฆขึ้นไปนั้นมันมีอะไรอยู่ แต่เมื่อเราได้มาเรียนหนังสือหลังอายุ 40 แล้วเริ่มมีความรู้มากขึ้น เริ่มรู้แล้วว่าเหนือเมฆนั้นคืออะไร ? อันนี้คือวิธีคิดที่มันปรับเปลี่ยนไปได้จากการขวนขวายหาความรู้. ประเด็นของดิฉันก็คือ มันอาจจะมีวิธีคิดอีกจำนวนหนึ่งซึ่งมันขึ้นอยู่กับกาลเวลา และความรู้ที่เปลี่ยนแปลงของเราด้วย.

ดิฉันเคยมีประสบการณ์ของตัวเองตอนไปซื้อของที่ตลาด แล้วบอกแม่ค้าว่า ไม่ต้องใส่ถุงพลาสติกหรอก แม่ค้าบอกว่าไม่เป็นไร เอาไปเถอะ แม่ค้าไม่ขี้เหนียวหรอก. อันนี้คือวิธีคิดของเขาที่ประกอบด้วยความไม่รู้ ความไม่รู้ว่าถุงพลาสติกนั้น มันก่ออะไรให้กับดิน น้ำ ป่า บ้าง, แต่ดิฉันรู้จึงปฏิเสธถุงพลาสติก อันนี้คือวิธีคิดซึ่งมันปรับเปลี่ยนได้จากความรู้ที่แตกต่างกันไป.

อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือว่า ถ้าเราหยุดความรู้ หรือคิดว่าความรู้ของเรานั้นมันถูกที่สุดแล้ว ดิฉันมีข้อสังเกตุว่ามันจะมีโอกาสที่ทำให้เราถูกชักจูงได้ง่าย. ขอยกตัวอย่าง เรื่องวัดแห่งหนึ่งซึ่งกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์, ดิฉันตั้งข้อสังเกตุว่า คนที่ไปเชื่อแล้วคิดตามๆกัน แม้กระทั่งเห็นปาฏิหาริย์ว่ามีภาพอะไรที่ปรากฎขึ้นบนท้องฟ้า มันก็เกิดจากวิธีคิดอันนี้ที่ ไม่ได้คิดว่า เราไม่ควรจะเชื่อตามอย่างที่คนอื่นเขาเชื่อตามกันมา เราไม่ควรเชื่ออย่างที่คนอื่นบอกกันมา จนกว่าจะได้พิสูจน์ด้วยตัวเองหรือเห็นด้วยตัวเอง.

นั่นคือ ถ้าเรามีวิธีคิดพื้นฐานตัวนี้ ที่บอกว่ามันมีอยู่ชุดหนึ่งซึ่งมันเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว กับอีกชุดหนึ่งที่มันเปลี่ยนแปลงได้, ถ้าเรา base on ชุดพื้นฐานนี้ที่คิดว่า ไม่มีอะไรในโลกนี้จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือคิดว่าทุกอย่างในโลกนี้เป็นเรื่องเรียนรู้ได้ สมมุติเราคิดอย่างนี้ วิธีคิดของเราอีกจำนวนหนึ่งจะเปลี่ยนตามกาลเวลา เปลี่ยนแปลงตามที่มันเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ.

คุณบุญทวี : ผมกำลังคิดว่ามันน่าจะมีวิธีคิดแบบปีนักษัตร เพราะว่าบางคนเคยเจอว่า เอ๊ะ…ทำไม ไอ้นี่มันจึงคิดอะไรแบบหมาๆ แสดงว่าไอ้นี่มันคงจะเกิดปีจอ อันนี้ไม่แน่ใจนะครับมันอาจจะเป็นทฤษฎีใหม่ก็ได้นะครับ. ส่วนอีกคนหนึ่งที่บอกว่า ที่พูดเอาไว้เกี่ยวกับเรื่องกรรม เรื่องภพ ที่คนเราต้องเกิดมาตามกรรม ผมเชื่อนะครับและสนับสนุนเพราะว่า บางทีเราเจอคนดีๆนะครับ โอ้โฮ…เป็นคนคิดดี ทำดี แสดงว่าคนนี้เป็นเทวดาหรือว่าเป็นเทพมาเกิด หรือบางทีเราเจอนักการเมืองเลวๆ ก็รู้สึกว่า นี่มันสัตว์นรกมาเกิดจากชาติที่แล้ว.

อ.วารุณี : เนื่องจากมีคนแสดงความคิดเห็นกันมาก จะเห็นว่ามีคนคิดแตกต่างกันไปมากและดิฉันคิดว่าสังคมไทยจะเป็นอย่างนี้มากขึ้น คือเราจะมีความหลากหลายทางความคิดมากขึ้น. จริงๆแล้วมันเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมไทย เพราะว่าสังคมไทยเรานี่เน้นในเรื่องความสามัคคี เน้นในเรื่องความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ใครพูดอะไรที่ไม่เหมือนกัน เป็นเรื่องที่ผิดปกติมาก. สังเกตุไหมว่า เวลาที่เรามีความคิดแตกต่าง ทุกคนจะบอกว่า …อย่าเลย อย่าไปสร้างความขัดแย้งเลย แล้วก็อยู่กันไปอย่างสามมัคคี อะไรเหล่านี้. ดิฉันคิดว่ามันไม่เป็นจริงแล้วในปัจจุบันนี้ เพราะสังคมไทยเติบโตและมีความหลากหลายในกลุ่มคนมาก เพราะฉนั้นเราจะเริ่มมีคำถามเกิดขึ้นว่า เอ๊ะ…คนคิดไม่เหมือนเราเยอะนะ แล้วเราจะอยู่กันได้อย่างไร ? ดิฉันคิดว่า สิ่งหนึ่งที่น่าจะต้องเกิดขึ้นก็คือการยอมรับในความคิดของคนอื่น อย่างจริงๆ. ก็…เขาไม่จำเป็นต้องมาคิดเหมือนเรา เขาจะคิดอะไรก็เรื่องของเขา เราจะคิดอะไรก็เรื่องของเรา เพราะทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคิด. และเมื่อไหร่ก็ตามที่คนอื่นๆไม่ต้องมาคิดเหมือนกับเรา ดิฉันคิดว่าเราจะไม่รู้สึกขัดข้องใจเท่าไหร่.

อีกประเด็นหนึ่งก็คือเรื่อง”ความคิดแบบพุทธ”. ดิฉันเป็นพุทธด้วยศรัทธา ไม่ใช่เป็นชาวพุทธโดยทะเบียนบ้าน แต่ดิฉันคิดว่าบางครั้ง, อันนี้เป็นคำถามนะคะว่า ความคิดแบบพุทธนี่น่ะ มันเป็นความคิดที่สุดยอดแล้ว. แต่ทำไมสังคมเรา ซึ่งเป็นสังคมพุทธถึงยังเป็นสังคมที่เรายังยอมรับไม่ได้ว่าเป็นสังคมที่ดี เรามีคนจนอยู่ในสังคมนี้เยอะมาก เรามีโสเภณีเยอะมาก เรามีเด็กเร่ร่อนเยอะมาก แล้วสังคมเราก็มีความรุนแรงเยอะมาก. มีประเทศไหนบ้างที่เด็กอายุ 2 ขวบถูกข่มขืน ? สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ? ดิฉันคิดว่า การเป็นชาวพุทธของเรานั้นในด้านหนึ่งมันก็เป็นความภาคภูมิใจ แต่ดิฉันคิดว่ามันต้องตั้งคำถามเหมือนกันว่า มันมีช่องว่างในสังคมพุทธของเราที่มีช่องว่างที่ไม่สามารถทำให้สังคมเรามันดีกว่านี้ ?

อ.อุทิศ : ผมนั่งฟังมานานแล้ว และก็รู้สึกว่าเรื่องนี้มันจืดจัง เพราะไม่ชวนทะเลาะ. ตอนนี้ผมพบแล้วว่ามีประเด็นที่ชวนทะเลาะอยู่ 2 ประเด็นด้วยกันคือ …ประเด็นแรกที่อยากจะชวนทะเลาะก็คือ …ผมงงว่าเรามาพูดเรื่องอะไรกัน ? คือผมนี่น่ะคิดอีกเรื่องหนึ่งเลย แต่ทำไมวงสนทนาจึงคิดอีกเรื่องหนึ่ง.

คือพอเห็นคำว่า”วิธีคิด”ก็นึกถึงหนังสือที่เคยอ่านมา อย่างเช่น งานของ Kant, ซึ่งเคยคุยกับอาจารย์ประมวลมาครั้งหนึ่ง(ดร.ประมวล เพ็งจันทร์-สอนปรัชญา) พอพูดถึงเรื่องนี้มันหมายถึงวิธีคิดแบบคณิตศาสตร์ เป็นศักยภาพของมนุษย์ที่เป็นนามธรรม เป็นความสามารถก่อนประสบการณ์ที่มนุษย์สามารถที่จะสัมผัสจับต้อง. ตอนที่คุยกับ อ.ประมวล วันนั้นดีมาก คือ เมื่อมนุษย์เกิดมา มนุษย์มีศักยภาพตรงนี้แล้ว …และพยัญชนะที่จะคิดนั้น, มี time-space ที่เป็นพยัญชนะ, มีกาละและเทศะ, แล้วก็มีศักยภาพที่จะคิด. ซึ่งพอพูดถึงตัวนี้ มันเป็นวิธีคิดแบบคณิตศาสตร์ ก็คือเรียงร้อยเป็นสมการอะไรทำนองนี้. เราเกิดมามีสิ่งนี้ และความรู้ของมนุษย์สร้างขึ้นมาจากธรรมชาติสองตัว ก็คือว่า ตัวนี้ล่ะที่เราเกิดมาเรามี กับความจริงนอกตัวเราหรือความจริงในตัวมันเอง สองตัวนี้มันแต่งงานมัน มันเลยเกิดความรู้ขึ้นมา.

แล้วผมก็คิดถึง Wittgenstein. พอพูดถึงความคิด มันเป็นการเล่นแร่แปรธาตุแค่เรื่องของภาษา มนุษย์อยู่กับภาษา โตกับภาษา. จุดนี้ผมเลยจะชวนคุยนิดหนึ่งว่า เอ๊…ผมมีปัญหาหรือเปล่า ว่าผมเข้าใจผิดเรื่องภาษา. เพราะว่าผมรู้สึกว่า สิ่งที่เราพูดทั้งหมดมันไม่ใช่วิธีคิด แต่มันเป็นสาระของวิธีคิด สาระของการคิด. และผมเคยอ่านงานทางด้านตรรกวิทยาซึ่งบอกว่า วิธีคิดของมนุษย์มีอยู่ 2 แบบคือ induction กับ deduction (induction เป็นวิธีคิดแบบอุปนัย หมายถึง การอ้างประสบการณ์เฉพาะหน่วยที่แน่ใจแล้ว มาสนับสนุนข้อความทั่วไปที่ยังไม่แน่ใจให้มีความแน่ใจมากขึ้น) (deduction เป็นวิธีคิดแบบนิรนัย หมายถึง การอ้างข้อความทั่วไปที่แน่ใจมาสนับสนุนประสบการณ์เฉพาะหน่วย-ผู้ถอดเทป). คิดอย่างวิทยาศาสตร์ก็คือ จากหน่วยเล็กเข้าไปหาหน่วยใหญ่, คิดแบบนักปรัชญา ก็คือ คิดจากหน่วยใหญ่แล้วก็เข้าไปหาหน่วยเล็ก. ตรงนี้ก็เป็นวิธีคิดสองแนว ผมก็ยังงงๆ เพราะว่าที่ฟังมาทั้งหมด สำหรับผมจะรู้สึกว่ามันเป็นสาระของความคิด, มันเป็น system of idea. มันเป็น ism ต่างๆ …พอพูดถึงพยัญชนะตรงนี้เสร็จ ในตัวพยัญชนะเป็นที่สะสมข้อมูล เป็นที่สะสมประสบการณ์ และสังเคราะห์ออกมาเป็นภาษาและจัดระบบในสมองเรา.

ที่ผมเคยฟัง …เป็น feminist บ้าง เป็นอะไรต่างๆ ผมเคยฟังเขาเถียงกันในเรื่องนี้และผมไม่เคยชอบเลย โดยเฉพาะพวก feminist นะ. ผมรู้สึกอย่างหนึ่งว่ามันเป็นวิธีคิดฝรั่ง ฝรั่งเป็นคนจุดประเด็น แล้วก็สิ่งหนึ่งที่ผมเจอก็คือว่า เขามักจะรู้สึกว่ามันมีงานที่มันเท่ห์ และงานที่น่าเกลียดชัง. ผมมีแฟนเป็นแม่บ้าน และแฟนผมมักจะว่าผมเสมอ, ผมบอกว่าผมล้างจานก็ได้นะถ้าเขาออกไปทำมาหากิน.

ผมพยายามจะยืนยันว่ามนุษย์มีเอกลักษ์ของความคิดตัวเอง มนุษย์คือชุมนุมของประสบการณ์ ชุมนุมของความรู้ที่แตกต่างกัน. ผมไม่เหมือนคุณเลย ทุกคนไม่เหมือนกันเลย, ทุกคนมีประสบการณ์ มีสไตล์ความคิดที่ไม่เคยเหมือนกัน. แต่ผมคิดว่าพวก feminist พวกผิวขาวผิวเหลือง, คือเขาพยายามที่จะตั้งประเด็นขึ้นมาเพื่อที่จะหาแพะ …ผมรู้สึกอย่างนั้นนะ พยายามที่จะหาแพะ แต่ไม่หาความจริงว่า อ.ไพสิฐกับผมนั้นต่างกันร้อยแปด แล้วเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ? ผมรู้สึกว่าเขาไม่ได้หาตรงนี้ แต่เขากำลังหาว่าเราต่างกันนะ แล้วคุณนั่นน่ะชั่ว… ความคิดนี้ผู้ชายชั่ว ผมคิดว่านี่ไร้สาระ เลิกพูดเถอะ.

อีกเรื่องที่ผมชวนทะเลาะอีกอย่างคือ อยากจะชวนให้ทุกคนเผาคำว่าสัจธรรมทิ้งไป คำว่าความจริงอะไรทำนองนั้น โดยเฉพาะพูดเรื่องพุทธศาสนาซึ่งทุกคนจะรู้สึกว่า มันเป็นความถูกต้องร้อยเปอร์เซนต์ ตรงนี้ผมต่างมากเลย. เพราะว่าผมรู้สึกว่า มนุษย์ก็คือชุมนุมของความคิด และอยากจะเถียงกับ อ.เครือมาศ ว่า อย่าคิดเลยเดี๋ยวจะเป็นบ้า. อาจารย์ครับ ต้องคิดมากๆ คิดทุกๆเรื่อง เพราะทุกวันนี้เรามีชีวิตอยู่กับความคิด ถ้าเราคิดไม่กระจ่าง มันจะทำให้เราต้องฆ่าตัวตาย แต่ถ้าเราคิด clear ความคิดจะเป็นภูมิคุ้มกันเราให้มีชีวิตอย่างมีความสุขได้ อันนี้ชวนทะเลาะกับ อ.เครือมาศ. และผมชวนทะเลาะเรื่องพุทธด้วยว่าผมไม่เห็นด้วยนะ คือ เมื่อไหร่ก็ช่างที่เรารู้สึกว่าในโลกนี้มีความจริงร้อยเปอร์เซนต์แล้ว มีความจริงที่เถียงไม่ได้ ผมว่ากลียุค.

ถ้าคุณมีความเชื่อตรงนี้มันจะเป็นบ่อเกิดของความประมาททันที. แล้วก็สัญชาตญานของมนุษย์ที่มีคุณค่านั้นก็คือสัญชาตญานของความสงสัย ของการได้คิด ของการตื่นอยู่เสมอ. สัญชาตญานอันนี้เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก เพราะการมีชีวิตที่มีความสุขนั้นยากมาก เราต้องใช้ความคิดในการบริหาทุกวินาที เพื่อที่จะให้เรามีความสุข เพื่อที่เราจะได้ไม่ทะเลาะเบาะแว้ง ผมจึงเห็นว่าต้องคิดมากๆ.

ผมก็เชื่อว่าพุทธศาสนามีอำนาจในการอธิบาย ผมชอบคำพูดของอาจารย์นะที่ว่า ที่สุดเรามีแค่อำนาจอธิบาย ซึ่งผมชอบ. อำนาจอธิบายไม่ใช่ความจริงสูงสุด แต่เป็นคำอธิบายที่ผูกกันเป็นระบบและเรายังเถียงไม่ได้ แต่ไม่ใช่ถูกร้อยเปอร์เซ็นต์. สักวันหนึ่งผมจะจับเท็จให้ได้. แต่ ok อะไรดีเราก็เชื่อไปก่อน แต่อย่ารู้สึกว่ามันคือความจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ มันต้องเปลี่ยนได้มันต้องพอกพูนได้ คือผมเชื่ออย่างนั้น.

อ.เครือมาศ : ดิฉันชอบ อ.อุทิศ มากเลย คือมีอะไรท้าทายอยู่ตลอดเวลา. เมื่อสักครู่อาจารย์คงไม่ได้อยู่ในที่นี้ เพราะดิฉันไม่ได้บอกว่าไม่ให้คิดนะคะ แต่ความคิดซึ่งมันไม่มีฐานของสติหรือความรู้สึกตัวเบื้องต้นมันจะนำไปสู่อะไร. ดิฉันอยู่กับคุณแม่ที่กลไกการกำจัดทุกข์หายไป. ปกติคนเรา ต่อให้คุณคิดอย่างไรนี่ แต่ละวันมันจะมีกลไกในช่วงที่เราหลับทำให้มันหายไป มันเป็นกลไกตามธรรมชาตินะคะ ตื่นเช้ามาเราจะสดชื่น. เมื่อกลไกนั้นหายไป ของคุณแม่ดิฉันทุกข์มากต่อความคิดของตัวเอง รู้สึกว่าความคิดมันได้กลายเป็นพิษไปเสียแล้ว.

ที่ อ.วารุณี บอกว่า พุทธในสังคมไทยมันเป็นอย่างไร ? ทำไมเราจึงยังมีความรุนแรงอยู่. ดิฉันคิดว่าฐานที่เป็นชาวพุทธแบบเถรวาทนี่ มีคนตั้งข้อสังเกตุว่ามันต้องมีอะไรแน่เลย. เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในธิเบตหรือเขมรที่บ้านเมืองล่มจมนี่… อย่างประเทศธิเบต ต้องถึงกับย้ายถิ่นฐานกันเลย ดิฉันได้อ่านอัตชีวประวัติของท่านทะไลลามะ ท่านบอกว่าผู้คนต้องมาปรับตัวกันใหม่ ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ แต่ชาวธิเบตรื่นเริงได้อย่างไรก็ไม่รู้ท่ามกลางความทุกข์ยากลำบากนั้น. ผู้สื่อข่าวนิวยอร์คไทม์มาสัมภาษณ์ท่านว่า ทำไมขนาดบ้านเมืองเป็นอย่างนี้ ทำไมท่านถึงไม่ทุกข์เลย ทำไมท่านหัวเราะได้ตลอด ? ท่านบอกว่า ในที่ประชุมท่านจะทำให้คนอื่นหัวเราะหมดเลย เพราะความจริงก็คือว่า สมองที่ relax หรือสมองที่ผ่อนคลายจะทำงานได้ดีกว่าสมองที่เคร่งเครียด.

กฤษณะ มูรติ พูดถึง mutation การกลายกลับฉับพลันจากเจ้าชายสิทธัตถะไปเป็นพระพุทธเจ้า จากคนธรรมดากลายไปเป็นพระเยซู หรือการกลายจากดักแด้ไปเป็นผีเสื้อ เป็นการพูดถึง mutation การเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรไม่เหมือนเดิมแล้ว. เขาพูดถึงช่องว่างระหว่างความคิด การนอนหลับของเรามีช่องว่างอยู่ และเป็นกลไกกำจัดทุกข์ในแต่ละคน. ดิฉันคิดว่าคนเราแต่ละคน สมองของคนเราทำงานเหมือนกันหมด เป็นสิ่งเราเรียนรู้ซึ่งเรียกว่าเป็น collective นานมาแล้วหลายพันปี.

คนเราควรจะหาช่องว่างระหว่างความคิดกัน ปกติพวกเราจะไม่ค่อยค้นหาช่องว่างระหว่างความคิด หรือความเงียบ หรือสิ่งที่เราเรียกกันว่าเป็นสุญญตา. และ ดร. เดวิด บอห์ม ก็สามารถที่จะเอามาเชื่อมกับทฤษฎีควอนตัมได้ ช่องว่างนั้นมันแผ่ขยายออกไป มันเป็นพลังงานที่มีศักยภาพมากเลย.

อ.ประมวล : ผมขอใช้สิทธิ์พาดพิง อันนี้เป็นวิธีการของ อ.อุทิศ คือถ้าต้องการให้ใครพูดก็พูดถึงคนนั้นเสียก่อน. แต่ผมไม่ทะเลาะกับ อ.อุทิศ นะครับ. เริ่มต้นคือ ผมไม่เห็นด้วยกับ Kant ที่ อ.อุทิศ อ้างถึง เพราะว่าสมัยผมเรียนปรัชญาผมตกปรัชญา Kant จนอาจารย์ผู้สอนบอกว่า Kant ก็คือ can’t หรือ can not ไม่สามารถที่จะเรียนปรัชญาตัวนี้ได้.

วันนี้ผมนึกถึงนวนิยายของ Hermann Hesse ที่เขียนเรื่อง สิทธารัตถะ. อ.อุทิศ เหมือนกับสิทธารัตถะ ตอนที่พบพระพุทธเจ้า. ก็คือเมื่อพบพระพุทธเจ้าและฟังธรรมแล้ว ก็กล่าวคำว่า ตัวเขาน่ะ เชื่อแน่เลยว่าพระพุทธเจ้าคือผู้รู้แจ้งเห็นจริง แต่ก็สงสัยอย่างเดียวว่า พระพุทธเจ้าจะเปิดเผยความลับที่โคนต้นโพธิให้เขารู้ได้หรือไม่ ? เขาคิดว่า พระพุทธเจ้าคงไม่สามารถที่จะเปิดเผยได้ เพราะฉนั้นเขาจึงไม่อยู่ด้วยกับพระพุทธเจ้า ทิ้งให้เพื่อนคนหนึ่งบวชเป็นพระภิกษุอยู่กับพระพุทธเจ้า และตัวเขาเองก็ละทิ้งความเป็นสมณะหรือนักบวชไปประกอบอาชีพ ไปมีครอบครัว และสุดท้ายก็ไปเป็นคนแจวเรือจ้าง เมื่อบั้นปลายชีวิตเขาพบกับเพื่อนของเขาอีกครั้งหนึ่งซึ่งบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา แล้วเพื่อนของเขาคนนี้คือโควินทะ ก็เกิดความประจักษ์แจ้งว่าสิทธารัตถะนี่ คือผู้รู้แจ้งแล้ว.

หนังสือเล่มนี้ ชาวพุทธฝ่ายเถรวาทค่อนข้างจะยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นความรู้สึกที่หนักอกหนักใจมากที่ คนบวชกลับไม่รู้แจ้ง แต่คนที่ไม่บวชกลับรู้แจ้ง. ผมคิดว่า อ.อุทิศ คล้ายๆกับสิทธารัตถะ ความหมายที่จริงก็คือ …ผมไม่ได้ต้องการที่จะโต้แย้งกับ อ.อุทิศ จริงๆผมอยากจะตั้งข้อสังเกตุอย่างหนึ่งว่า, ที่ อ.อุทิศ พูด, ที่ว่าเรามักจะยอมรับว่า วิธีคิดแบบพุทธนี่ดีที่สุด, แต่ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าวิธีคิดแบบพุทธมีหรือเปล่า ผมมีความรู้สึกอย่างนี้ครับว่า, เมื่อคนเราใช้ภาษา ภาษานั้นเป็นเรื่องของมโนภาพที่เกิดขึ้นในใจ แล้วเราใช้ภาษาเป็นสัญลักษณ์เป็นสื่อหมาย เพราะฉนั้นเวลาที่เราใช้ภาษา มันจึงเป็นความเพียรพยายามที่จะใช้อำนาจของเราไปบีบบังคับคนอื่นให้ยอมรับ. พอเราไปยอมรับ เราก็เกิดความเชื่อ ความเชื่อที่ไม่รู้เลยสิ่งที่ตัวเองเชื่อแล้วมันคืออะไร ? แม้ความเชื่อที่เป็นวิทยาศาสตร์ หรือความเชื่อที่พระพุทธเจ้าบอก. ผมก็คิดว่านั่นเป็นความเชื่อ

ที่ อ.อุทิศ บอกว่า inductive, deductive นี่. หรือไทยเราใช้คำว่า นิรนัย กับ อุปนัย, ผมคิดว่าในทางหลักของพระพุทธศาสนา ผมคิดว่าชาวพุทธไม่ควรใช้วิธีคิดแบบนิรนัย วิธีคิดแบบนิรนัยคือเชื่อหรือยอมรับว่ามีความจริงอยู่ ความจริงนั้นใครบอกก็ไม่รู้ แล้วนำความจริงนั้นมาอธิบายสิ่งต่างๆ แต่ผมคิดว่าความคิดทางพระพุทธศาสนาและสิทธารัตถะต้องการก็คือ เขาแสวงหาความจริงด้วยตัวของเขาเอง จากประสบการณ์ที่เขารู้ที่เขาเห็นและเขาคิดและก็ใคร่ครวญ. เพราะฉนั้น ปัญหาที่เราเชื่อว่าวิธีคิดในพุทธมี และก็ดี มันเป็นนิรนัย และวิธีคิดแบบนี้ไม่ใช่วิธีคิดแบบพุทธ.

อ.สมชาย : ผมมีประเด็นสั้นๆคือ ผมมีปัญหามากเวลาบอกว่าสังคมไทยเป็นสังคมพุทธ แล้วจะมีคำอธิบายที่หลากหลาย และมีคนจำนวนหนึ่งบอกว่า …การกระทำเหล่านี้ ไม่ใช่พุทธหรอก, อันนั้นพุทธไสย อันนั้นพุทธเทียม แล้วก็บอกว่า จริงๆแล้วมันต้องพุทธแบบนี้. ซึ่งผมรู้สึกว่ามันเป็นปัญหามากคือ ท้ายที่สุดแล้วอะไรมันคือพุทธล่ะ. ผมพยายามที่จะเสนอใหม่ว่า ไอ้ที่เป็นอยู่ในสังคมไทยนี่น่ะพุทธ คือพุทธเป็นแบบนี้แหละ เป็นแบบนี้โดยที่ไม่ต้องมีคำอธิบาย.

ผมรู้สึกว่าจะหาคำอธิบายแบบพุทธไม่ได้ เพราะจะมีการพยายามกันออกไปเรื่อยๆ. พออันไหนมันรู้สึกเลวร้ายหรือไม่ดี อย่างเช่น นิกายบางนิกายตอนนี้กำลังมีปัญหา ก็จะมีบางส่วนออกมาปกป้องว่า อันนั้นไม่ใช่พุทธแท้ กันมันออกไป, ส่วนที่ดียังเหลืออยู่. เลยเป็นกระบวนการขึ้นมาที่ว่า พุทธนั้นดีมาก แต่ไม่รู้ว่าดีๆนั้นคืออะไร ? แต่ที่ไม่ดีนี่น่ะ รู้, สามารถกันออกไปได้. จริงๆแล้ว พุทธก็เป็นอย่างนี้แหละ มันอีเหละเขระขระ มีอะไรหลายๆชั้นซ้อนๆกันอยู่. อันนี้ประเด็นแรก

อันที่สอง ที่ว่าต่างคนต่างมีวิธีคิดที่แตกต่าง แต่วิธีการจัดการกับความแตกต่างนั้นคงไม่ง่ายนัก เพราะระบบของกระบวนการคิดนี่มันส่งต่อถึงวิธีการปฏิบัติ หรือส่งต่อถึงสิ่งที่คนกระทำต่อกันในสังคม. ผมคิดว่ามันคงไม่ง่ายที่ตอบว่า เราต่างยอมรับว่าแต่ละคนมีความคิดที่แตกต่าง. ยกตัวอย่างเช่น ถ้าผมลุกขึ้นยืนแล้วบอกว่า ผมชอบเที่ยวผู้หญิง ทุกคนจะรับผมได้หรือเปล่า ? ทุกคนบอกว่า โอ้…ได้. ผมคิดว่าในท้ายที่สุดมันมีความขัดแย้งกันอยู่ในความแตกต่างของวิธีคิด เพราะ ฉนั้นผมคิดว่ามันมีความยุ่งยากเพิ่มขึ้นมา

ผู้เข้าร่วมสนทนา : วิธีคิดก็เปรียบเสมือนเส้นทางเดินของเรา เรารู้ว่าทางของเราควรจะมีอะไร ? เราได้เห็นทางของคนอื่น เขาปลูกต้นไม้ รู้สึกว่าต้นไม้สวย ดอกไม้สวย เราจะไปขุดเอาของเขามา มาปลูกบนทางของเรา ก็จะกลายเป็นไปเอาของคนอื่นมา เราก็จะไม่รู้จักการคิด. ดังนั้นเราจะต้องรู้ว่า เราจะปลุกต้นไม้อย่างไรให้ได้เหมือนเขา วิธีการปลูกของเราจะปลูกอย่างไร ? จะใช้น้ำแบบไหนรด จะใช้ปุ๋ยไหม ? จะเลือกพันธุ์อะไรมาปลูกบนเส้นทางของเรา ? อันนี้ก็ได้เรียนรู้มาจากประสบการณ์ของตนเองค่ะ. คือไม่อยากให้เราเลียนแบบเขาทั้งหมด ให้เรารู้จักเลือกเอาว่า เราจะเลือกทานอะไร ? จะเลือกดอกอะไร ? ไม่ใช่ไปขุดของเขามา หรือไปเลียนแบบเขามาทั้งหมด.

คุณบุญทวี : ผมรู้สึกว่าแต่ละคนที่พูดถึงความคิด ดูเหมือนว่ามันจะผูกติดอยู่กับความเชื่อด้วย เพราะว่าเรามีความเชื่ออยู่ชุดหนึ่งใช้ไหม ทำให้เราคิดออกมา ซึ่งเป็นผลผลิตของความเชื่อชุดนั้น. ผมนึกถึงหนังอยู่ 3 เรื่อง, มีอยู่เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับซานตาครอส คริสต์มาส, มีคนพยายามที่จะพิสูจน์ว่าซานตาครอสมีจริง แล้วก็เรื่องบานปลายใหญ่โตกลายเป็นเรื่องที่ขึ้นโรงขึ้นศาล, บอกว่าซานตา ครอสไม่มีจริง. พระเอกซึ่งเป็นทนายความพยายามจะพิสูจน์ ซึ่งจะทำอย่างไรให้ชนะความในศาล. พระเอกคิดตั้งนาน แต่ก็คิดไม่ออก จนกระทั่งหยิบแบ๊งค์ดอลล่าร์ขึ้นมาจะซื้อของ แล้วก็เหลือตาไปเห็นข้อความในแบ๊งค์ว่า in God we trust เท่านั้นเองนะครับ. หนังเรื่องนี้ก็พอจะเดาได้ว่า พระเอกพิสูจน์ได้ว่า ซานตาครอสมีจริง. เพราะว่า มันก็เหมือนกับจะพิสูจน์ว่าพระเจ้ามีจริงหรือเปล่า ? ความเชื่ออันนี้มันตอบสนองกับระบบความคิดของมนุษย์มานานมาก พอผมคิดถึงเรื่องนี้ ผมจึงคิดถึงหนังเรื่องต่อมา คือเรื่อง Contact ซึ่งเป็นหนังที่ดีมากๆเรื่องหนึ่ง. มีบทสนทนาอยู่ช่วงหนึ่ง ซึ่งนากเอกเป็นนักดาราศาสตร์ ผู้ค้นคว้าหาความจริง ทุกอย่างจะต้องอธิบายได้ด้วยเหตุผล และต้องพิสูจน์ได้ด้วยทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ส่วนพระเอกเป็นนักการศาสนา.

นางเอกถามพระเอกว่า คุณพิสูจน์ได้ไหมว่า พระเจ้ามีจริงหรือเปล่า ? พิสูจน์อย่างไร ? พระเอกก็ถามว่า คุณรักพ่อตัวเองที่เสียชีวิตไปแล้วหรือเปล่า ? นางเอกบอกว่า ฉันรักเขามากเพราะเขาเป็นแรงบันดาลใจหลายอย่างในชีวิตฉัน เป็นกำลังใจแม้กระทั่งทุกวันนี้. พิสูจน์ซิว่าคุณรัก พิสูจน์ได้ไหม ? พิสูจน์ให้เป็นวิทยาศาสตร์ได้ไหม ? นางเอกก็ตอบไม่ได้ ก็อึ้งไป.

แล้วผมก็นึกถึงหนังอีกเรื่องหนึ่งต่อมา คือเรื่อง “ล็อคเนส” คือเรื่องของการค้นหาตัวประหลาดในทะเลสาบ แม้ว่าจะเป็นหนังห่วยในรอบปี แต่ผมชอบบางประโยค, คือพระเอกเป็นนักวิทยาศาสตร์ และก็พยายามที่จะค้นหาให้ได้ว่าไอ้ตัวประหลาดนี่มันมีอยู่จริงไหม ? ก็ไปที่ทะเลสาบนี้ ไปเจอเด็กผู้หญิงชาวบ้าน. เด็กผู้หญิงถามว่า คุณเชื่อไหมว่าตัวประหลาดนี้มีจริง ? พระเอกบอกว่า ต้องเห็นก่อนถึงจะเชื่อ. เด็กผู้หญิงบอกว่าไม่ได้ ต้องเชื่อก่อนถึงเห็น. ทั้งหมดนี้มันโยงอยู่กับความคิดอันหนึ่งที่ว่า ทุกคนมีความเชื่อก่อนนะครับ ไม่งั้นจะไม่เข้าไปศึกษาในเรื่องของความคิด ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม. หลังจากศึกษาแล้วถ้ามันตอบสนองความเชื่อลึกๆที่มันอยู่ในใจของตัวเอง ถ้า

มันตอบสนองรสนิยม หรืออะไรสักอย่างเราก็จะยึดอันนั้นมาเป็นสรณะในการที่จะคิดต่อไป.

เรื่องสิทธารัตถะที่ผมอ่าน ผมก็คิดว่าเขาเชื่อนะครับ เพราะเขารู้สึกว่าวิธีการของพระพุทธเจ้า สิ่งที่พระพุทธเจ้าค้นพบ ตรัสรู้นี่ เป็นสิ่งที่จริง เป็นสัจธรรม เป็นอะไรก็ตามที่ใช่เลย. แต่วิธีการที่เข้าถึงนี่ไม่จำเป็นต้องเป็นวิธีการเดียว นั่นคือ ทำให้ตัวพระเอกของเรื่องค้นหาด้วยวิธีการอื่น ในขณะที่โควินทะยึดติดกับตัวของบุคคล.

อ.สมเกียรติ : วิธีการที่สิทธารัตถะตรัสรู้ ในขณะที่เขาพายเรือ อันนี้เป็นการตรัสรู้ที่ไม่ใช่แบบของโควินทะพยายามเดินตามวิถีปฏิบัติแบบพุทธวิธีปกติ แต่มันเป็นการหยั่งรู้หรือเป็นการตรัสรู้โดยฉับพลัน เป็นเรื่องของสหัชญาน. สหัชญานตัวนี้หมายถึง การเข้าถึงความจริงอีกวิธีหนึ่งโดยไม่ผ่านกระบวนการของเหตุผล ก็คือไม่ใช่เรื่องของสมองซีกซ้าย.

อีกเรื่องหนึ่งก็คือว่า ผมมาตั้งข้อสังเกตุว่า ความคิดของคนเราโดยทั่วไปจริงๆนี่ มีหรือเปล่า ผมไม่แน่ใจ เพราะว่า ความจริงแล้วเราเป็นแค่ object หรือว่าเป็นกรรม ของผู้กระทำ, ซึ่งผู้กระทำหมายถึง subject หรือประธาน. เราเองเป็น object ตลอดเวลาเลย, ตั้งแต่ object ของกระบวนทรรศน์แบบอุตสาหกรรม, object จากโรงเรียน, object ของพ่อแม่, object จากเพื่อนใกล้ๆ, หรือ object จากหนังสือที่เราอ่าน. จริงๆแล้วเรามีความคิดของตัวเราเองหรือเปล่า ผมก็ยังไม่แน่ใจ.

ทุกวันนี้เรารู้สึกว่าคนบ้าควรจะไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ คนป่วยควรจะอยู่ที่โรงพยาบาล พ่อแม่เราป่วยซึ่งไม่หนักหนามากก็เอาไปให้หมอดูแล เด็กๆให้ไปอยู่ที่โรงเรียน ความคิดเหล่านี้ทั้งหมดเรารู้สึกว่ามันถูกต้อง, แต่ความจริงมันเป็น object ของสถานการณ์ใน space และ time อันหนึ่งเท่านั้นเอง.

ในยุคอุตสาหกรรม ได้มีการจัดคนทั้งหลายเข้าไปอยู่ในที่ต่างๆเหล่านี้. อันนี้มาโยงถึงสิ่งที่ อ.เครือมาศ พูดไว้, คือมันมาโยงกันอย่างนี้ครับว่า ทุกวันนี้ผมกำลังไม่เชื่อว่าเราส่วนใหญ่มีความคิดกันจริงๆ เพราะว่าเราเป็น object ของ subject ต่างๆ, สิ่งที่ผมอยากนำเสนอก็คือว่า เมื่อเราเป็น object ของสิ่งต่างๆแล้ว เราจะเป็นตัวของตัวเองได้อย่างไร ? วิธีการก็คือ ผมอยากจะใช้คำที่ อ.เครือมาศ เพิ่งพูดเอาไว้เมื่อสักครู่นี้ก็คือ เราจะต้องเกิด mutation ทางความคิดในหัวสมองของเรา. ในขณะที่เราเป็น object ของสิ่งต่างๆ ถ้าเรายังเป็น object ต่อไป, เราก็จะทำหน้าที่เป็น subject เก่าๆที่จะถ่ายทอดไปให้ object อื่นๆต่อไปเท่านั้นเอง. แต่ถ้าเราเกิด mutation ทางความคิด, เราก็จะเป็น subject ที่ถ่ายไปสู่ object อื่นๆเหมือนกัน, แต่แตกต่าง.

อันนี้เป็นความคิดที่ผมไปอ่านงานของฟูโก้แบบกระท่อนกระแท่น แล้ว re-create ขึ้นมา. ผมเข้าใจเอาเองว่า subject คืออะไร ? และ object คืออะไร ? (เสียงผู้คนหัวเราะ) …อย่าเพิ่งตลกนะครับ เพราะผมไปเล่าให้ อ.นิธิ ฟัง. อ.นิธิ บอกว่า, …เออ ฟังดูดี, เพราะว่าคุณ re-create มัน.

 

  Back to Midnight's Home E-mail address : midnightuniv(at)yahoo.com