มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันสั้น กลางคืนยาว
จินตนาการเหนือเหตุผล
สำหรับหน้านี้ จะเสนองานของ Foucault สองชิ้น คือ
The Order of Things และ The Archaeology of Knowledge
ความยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4
The Order of Things
หลังจากที่พิมพ์ออกมาเผยแพร่
ไม่นานนัก ชาวฝรั่งเศสเกือบทุกคน
ก็มีหนังสือเล่มนี้กันคนละเล่ม

และฟูโกก็กลาย
เป็นคนที่มีชื่อเสียง
ขึ้นมาโดยทันที

แต่ที่สำคัญก็คือ มันไม่ใช่
หนังสือที่ทุกคนจะอ่านแล้ว
เข้าใจ โดยไม่มีความรู้เกี่ยวกับ
ประวัติศาสตร์เป็นอย่างดี

เช่นเดียวกับสาระของข้อเท็จจริง, เขามักจะรู้สึกเสมอว่า ผลงานของเขา ไม่ได้เขียนขึ้นมาสำหรับทุกๆคนอ่าน. เขาคิดว่า ผู้อ่านจะต้องมีพื้นฐานหรือเบื้องหลังเกี่ยวกับปรัชญา และประวัติศาสตร์ที่ดีมาก หากไม่เป็นเช่นนั้นแล้วละก็ ผลงานของเขาก็จะถูกเข้าใจผิด หรืออ่านกันไม่รู้เรื่องเอาเลยทีเดียว. อันที่จริงแล้ว เขาเองไม่ได้เห็นด้วย หรือพอใจเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ทั้งหมดแต่อย่างใด.

The Order of Things (แบบแผนของสิ่งต่างๆ)

ในหนังสือเล่มต่อมาของเขา, The Order of Things, Foucault ได้เฝ้ามองลงไปที่ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับมนุษย์ศาสตร์(Human Sciences)ทั้งหมด.

แปลกมากที่ หนังสือซึ่งมีความสลับซับซ้อนอย่างร้ายกาจและยากเย็นแสนเข็ญนี้ กลับได้รับความนิยมขึ้นมาในทันทีในประเทศฝรั่งเศส. หลังจากหนังสือเล่มนี้ได้พิมพ์ออกเผยแพร่ไม่นานนัก ทุกๆคนก็มีหนังสือนี้กันคนละเล่ม ต่อจากนั้น Foucault ก็กลายเป็นคนที่มีชื่อเสียงขึ้นมาทันที. ดูเหมือนว่า เขาจะเป็นที่รู้จักของผู้คน แต่สงสัยว่า จริงแล้วๆ ไม่ใช่ทุกคนที่ซื้อหนังสือเล่มนี้มาแล้ว จะอ่านมันอย่างเข้าใจ.

ชาวจีนมีวิธีการจำแนกแยะแยะ
สัตว์ต่างๆออกเป็นหมวดหมู่ที่
แตกต่างไปจากชาวตะวันตก

มันฟังดูแลน่าหัวเราะและดูเหลวไหล
เหลือเกินสำหรับชาวตะวันตก

FouCault มีความสนใจว่า
เพราะเหตุใด มันจึงแตกต่างกัน

 

(ข้อความในลูกโป่งคำพูด) "ความรู้เพียงเล็กน้อยเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างหนึ่ง"(Foucault เป็นผู้พูด) "ฉันไม่แคร์สิ่งที่คุณคิด. ฉันคิดว่าความเข้าใจเพียงเล็กน้อย ก็ยังดีกว่าไม่เข้าใจอะไรเลย, และคุณเองก็เถอะ ต้องเริ่มต้น ณ ที่ใดที่หนึ่งเหมือนกันไม่ใช่หรือ ?"(คำพูดในลูกโป่ง ของคนอีกคนหนึ่ง)
หนังสือที่อ่านยากอีกเล่มหนึ่ง ที่ชาวฝรั่งเศสทุกคนมี

Foucault เริ่มต้นหนังสือเรื่อง The Order of Things โดยการนำเอาย่อหน้าหนึ่ง มาจากหนังสือของนักเขียนชาวอเจนตินา นามว่า Jorge Luis Porges: ย่อหน้าดังกล่าวได้ยกเอาข้อความมาจาก "สารานุกรมภาษาจีนเล่มหนึ่ง" ซึ่งได้เขียนเอาไว้ว่า

"บรรดาสัตว์ต่างๆได้ถูกแยกแยะดังนี้ : (1) สัตว์ที่เป็นของพระจักรพรรดิ์, (2) สัตว์ที่ถูกนำมาดองเก็บไว้, (3) สัตว์ที่ถูกทำให้เชื่องแล้ว, (4) หมูต่างๆที่ยังดูดนม, (5) สัตว์ที่เรียกว่า sirens - ครึ่งนกครึ่งคน เกาะอยู่ตามโขดหินกลางทะเล และล่อลวงให้เรือเข้าไปเกยหินโสโครกและอัปปางลง, (6) สัตว์ในเทพนิยายต่างๆ, (7) สุนัขพเนจร, (8) สัตว์ที่รวมอยู่ในการจำแนกหมวดหมู่ที่มีอยู่แล้ว, (9) สัตว์ซึ่งมีอาการคลุ้มคลั่ง, (10) สัตว์จำพวกที่มีอยู่อย่างมากมายเหลือคณานับ(พวกมดและแมลงทั้งหลาย), (11) สัตว์ที่ถูกวาดขึ้นมาด้วยพู่กันที่ทำมาจากขนอูฐที่ละเอียดประณีต, (12) สัตว์จำพวกที่ถูกวาดขึ้นมาด้วยพู่กันอื่นๆ, (13) สัตว์ที่เพิ่งจะทำให้เหยือกน้ำแตก, (14) สัตว์ที่มาจากที่ห่างไกลมากซึ่งมองดูแล้วคล้ายๆแมลงวัน.

การรวบรวมสัตว์ต่างๆเหล่านี้ ดูแล้วมันช่างเป็นเรื่องที่เหลวไหล ราวกับว่ามันเป็นไปไม่ได้ ฟังดูแล้วเป็นเรื่องตลกมากสำหรับพวกเรา เพราะการจำแนกสัตว์ประเภทต่างๆเหล่านี้. แต่ทั้งหมด มันดูน่าขบขันในตัวของมันเองน้อยกว่าเรื่องของวิธีการที่น่าหัวเราะเกี่ยวกับการจำแนกหมวดหมู่สัตว์ต่างๆ ที่เป็นเช่นนี้เพราะ มันได้ละเมิดหรือฝ่าฝืนต่อความรู้สึกของเราทั้งหมดเกี่ยวกับระเบียบกฎเกณฑ์(order), อันที่จริงก็คือ แบบแผนของสิ่งต่างๆ(the order of thing)นั่นเอง.

"สิ่งต่างๆซึ่ง ได้อาศัยวิธีของการเล่านิทาน, ได้สาธิตหรือแสดงให้เห็นถึงเสน่ห์อันน่าดึงดูดใจอันแปลกประหลาดของประเทศแดนไกลเกี่ยวกับระบบคิดอีกอันหนึ่ง, ซึ่งนั่นเป็นข้อจำกัดของตัวเราเอง, ความเป็นไปไม่ได้อย่างสิ้นเชิงเกี่ยวกับการคิดอย่างนั้น" (คำพูดในลูกโป่งของ Foucault).

เราทั้งหมดต่างรู้กันว่า เมื่อใดที่การจำแนกหมวดหมู่นั้นมันเข้าท่า น่าเชื่อถือ หรือมีเหตุผล และเมื่อไหร่ที่มันไม่เป็นอย่างนั้น. Foucault ต้องการที่จะมองว่า อะไรคือ"สิ่งที่เราทั้งหมดรู้", ความรู้นั้นมันได้สร้างการจำแนกหมวดหมู่ขึ้นมาอย่างไร และทำไมมันจึงแตกต่างกันในช่วงเวลาต้นๆ.

Midnight University
Philosophy
Project

ในหนังสื่อเรื่อง The Order of Things เขาได้ทำการสำรวจเข้าไปในพื้นที่หลัก ๓ สาขาวิชาความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับมนุษย์(human sciences) นั่นคือ ภาษาศาสตร์, ชีววิทยา, และเศรษฐศาสตร์.

เขาได้มองเข้าไปในโครงสร้างเกี่ยวกับความรู้ของยุคเวลาหนึ่ง, วิธีการของมันเกี่ยวกับการสร้างระเบียบแบบแผน(order)ขึ้นมา. แต่เขาได้เริ่มต้นยาวนาน ก่อนการมีอยู่ของวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับมนุษย์, และได้สำรวจไปถึงพัฒนาการของขอบเขตความรู้ต่างๆ ที่รู้จักกันในคริสตศตวรรษที่ ๑๗ และ ๑๘ คือ หลักไวยากรณ์ทั่วไป ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ และการวิเคราะห์เกี่ยวกับความมั่งคั่ง.

"เครื่องหมายสำคัญอะไรที่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงโลกสมัยใหม่ ?" คำตอบก็คือ, "ก่อนคริสตศตวรรษที่ ๑๘ นั้น มนุษย์ไม่ได้ดำรงอยู่". มาถึงตรงนี้ ต้องตะโกนถามออกมาดังๆว่า มันหมายความว่าอะไร ? แน่นอน มนุษย์มีอยู่ก่อนแล้ว และอาจเคยมองตัวของพวกเขาเองในฐานะที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาลด้วยก็ได้.

แต่การที่พวกเขาเป็นศูนย์กลาง ก็เพราะว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างพวกเขาขึ้นมาให้เป็นเช่นนั้น. ดังนั้น พระผู้เป็นเจ้าจึงเป็นศูนย์กลางยิ่งกว่าอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้, และพระองค์ทรงเป็นแหล่งต้นตอของความรู้ทั้งมวล. ความรู้ของมนุษย์นั้นถูกจำกัด, ส่วนความรู้ของพระผู้เป็นเจ้าปราศจากขอบเขต. พอมาถึงศตวรรษที่ ๑๘ และ ๑๙ พระผู้เป็นเจ้าได้สูญเสียที่มั่นดังกล่าวนั้นไปในฐานะศูนย์กลางที่มีความมั่นคงของสรรพสิ่ง ผู้ซึ่งได้สร้างความรู้ทั้งมวลเท่าที่เป็นไปได้. มนุษย์ทำให้ตัวของเขาเองเท่านั้นเป็นศูนย์กลาง, ในฐานะที่เป็นแหล่งต้นตอของความรู้, และด้วยเหตุนี้ จึงหันไปสู่การสำรวจตรวจสอบอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับความรู้อันนี้ว่ามันคืออะไร ?

ความรู้มนุษยศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับมนุษย์ได้ดีดตัวขึ้นมา ในฐานะขอบเขตความรู้เก่าที่ได้ถูกสำรวจตรวจตราอีกครั้ง ด้วยความนึกคิดใหม่อันหนึ่งเกี่ยวกับมนุษย์ ในฐานะที่เป็นทั้งตัวกรรม(object) และตัวประธาน(subject)ของการศึกษา.

"พระเจ้าตายแล้ว"… "มนุษย์เองไม่ใช่ตัวปัญหาที่เก่าแก่ที่สุด และไม่ใช่ตัวปัญหาที่มั่นคงต่อเนื่องมากที่สุด ซึ่งได้รับการวางหรือกำหนดสำหรับความรู้ของมนุษย์". ดังที่ Nietzsche ได้ป่าวประกาศถึงความตายของพระผู้เป็นเจ้า, ส่วน Foucault นั้น มาถึงตรงนี้ ได้ทำนายถึง"ความตายของมนุษย์".

ข้อเรียกร้องใหม่อันยิ่งใหญ่นี้ที่ว่า มนุษย์คือผู้ประดิษฐ์คิดค้น, และเขาอาจต้องตาย, ได้ถูกกระทุ้งโดย Foucault เข้าไปสู่ความคิดของฝรั่งเศสแถวหน้าสุดอย่างเด่นชัดมาก.

ก่อนคริสตศตวรรษที่ 18 นั้น
มนุษย์ไม่ได้ดำรงอยู่
พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้นที่สร้างมนุษย์ขึ้นมา
แต่พอมาถึงคริสตศตวรรษที่ 18-19
พระผู้เป็นเจ้าได้ศูนย์เสียสถานะ
ความเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจและ
ความจริงไป

"พระผู้เป็นเจ้าตายแล้ว"

 

ดังที่ข้าพเจ้าได้กล่าวมาตั้งแต่ต้น, ปัญญาชนทุกๆคนในรุ่นเดียวกันกับ Foucault ได้มองตัวของเขาเองว่าเป็นผู้สืบทอด ต่อมาจาก Sartre. "หลังจากข้าพเจ้า! ฉันยังคงไม่ตาย! Michel และข้าพเจ้าได้เดินแห่ไปกลางถนน เราไปด้วยกัน!" (คำพูดในลูกโป่ง ภาพ Jean-Paul Sartre 1905-1980)

หนังสือเรื่อง The Order of Thing ได้เสนอการท้าทายโดยตรงต่อแนวคิดมนุษยนิยมของ Sartre. หนังสืออัตชีวประวัติของ Sartre ได้รับการตั้งชื่อว่า Les Mots ("Words"). ส่วนชื่อในภาษาฝรั่งเศสของหนังสือเรื่อง The Order of Things คือ Les Mots et les choses ("words and Things").

อะไรคือสิ่งที่ Foucault ได้ทำการท้าทาย ?

แถลงการอันมีชื่อเสียงของ Sartre, "Existence precedes essence"(การดำรงอยู่มีมาก่อนเนื้อหา), ได้สถาปนาไอเดียที่ว่า เนื้อหา, หรือความหมายของสิ่งต่างๆ ไม่ได้ถูกกำหนดมาก่อนแล้วโดยพลังอำนาจจากภายนอก แต่ความหมายได้รับการสร้างขึ้นมาโดยมนุษย์ (the essence, or meaning of things, was not predetermined by any outside force. instead, meaning is constructed by men). (ดังที่ Beauvoir จะพูดออกมาว่า, "ใช่ ถูกต้องแล้ว, โดยมนุษย์นั่นเอง. นั่นแหละคือปัญหาทั้งหมดล่ะ"). โลกไม่ได้บรรจุไปด้วยความหมายที่เหนือธรรมชาติใดๆ, พวกเราได้สร้างความหมายขึ้นมาดังที่พวกเราดำเนินไปข้างหน้า, เราทำการกรองโลกใบนี้โดยผ่านภาษา.

กระทั่งมาถึงตรงนี้, Foucault ได้สร้างไอเดียหรือความคิดเหล่านี้ต่อมา เช่นที่คนอื่นๆทำรอบๆตัวเขา.

แต่ปัญหาดังกล่าว ซึ่งมากับความนึกคิดของ Sartre เกี่ยวกับอิสรภาพของการดำรงอยู่. เนื่องมาจาก ไม่มีความหมายใดๆที่ถูกกำหนดมาก่อน, "แต่ละคนมีอิสระหรือเสรีที่จะสร้างสรรค์ความหมายของตัวเองขึ้นมา โดยผ่านการกระทำของตัวเขาเอง". แต่อิสรภาพอันนั้น ในตัวของมันเองเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดมาให้อันหนึ่ง (?), บางสิ่งบางอย่างซึ่งเราแต่ละคนยอมรับหรือพยายามที่จะไม่ยอมรับหรือปิดบังอำพราง. เวลาใดก็ตามที่เราไม่ยอมรับแก่นแท้หรือเนื้อหาอิสรภาพของเรานี้, เราก็กำลังกระทำในสิ่งที่เป็นศรัทธาที่เลวนั่นเอง.

Simone de Beauvoir (1908-1986) ได้เริ่มต้นตั้งคำถาม ไม่ว่าบทบาทของสภาพเงื่อนไขต่างๆทางสังคมในการจำกัดอิสรภาพ ซึ่งอาจไม่รุนแรงมากไปกว่าที่ Sartre กล่าวว่ามันเป็น. บรรดานักคิดทั้งหลายต่อมาเห็นด้วยกับคำถามต่างๆของเธอ และได้ขยายข้อสงสัยนี้ออกไป.

 

Simone de Beauvoir
ไม่มั่นใจในสถานะของเพศหญิง
ที่ถูกนิยามโดยสังคมของผู้ชาย
เธอเรียกร้องให้มีการนิยาม
ผู้หญิงหญิงขึ้นมาใหม่

 

 

 

 

 

การสนทนากันระหว่าง Beauvoir
กับ Sartre เกี่ยวกับสถานะของผู้หญิง
การนิยามผู้หญิงขึ้นมาใหม่

"ผู้คนไม่ได้ถูกบีบบังคับโดยไอเดียต่างๆที่นำเสนอต่อพวกเขาไม่ใช่หรือ ? คุณไม่ได้ทำสิ่งต่างๆให้มันง่ายลงมานิดหน่อยกว่าที่มันเป็นจริงไม่ใช่หรือ ?" (อยู่ในเครื่องหมายคำพูดของ Simone de Beauvoir).

"Simone, คุณพูดอย่างนั้นได้อย่างไร ? คุณก็รู้ดีว่าผมให้ความเคารพพวกเราทั้งหมดที่นับถือนักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ซึ่งเกี่ยวพันกับสภาพเงื่อนไขต่างๆทางสังคม, นั่นคือ Karl Marx. แต่มันช่วยไม่ได้ที่ผมจะคิดว่า แม้ว่าจะเป็นการบีบบังคับจากสถานการณ์ต่างๆ หรือ คนอื่นๆที่อาจกระทำกับเรา, แต่เราก็ยังคงมีทางเลือกบางอย่างเกี่ยวกับการกระทำหรือไม่กระทำ, และเราจะต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่สำหรับการตัดสินใจต่างๆเหล่านั้น". (อยู่ในเครื่องหมายคำพูดของ Sartre)

"ดิฉันไม่แน่ใจมากนัก. เกี่ยวกับเรื่องผู้หญิง. ในฐานะที่เป็นเพศที่สอง(๑๙๔๙) พวกเราได้รับการอบรมสั่งสอนในโลกที่ถูกนิยามโดยผู้ชายทั้งหลาย. เราจะเป็นอิสระได้แค่ไหน ที่จะทำลายหรือหนีรอดไปจากกรอบของนิยามความหมายของตัวเราเองในฐานะเพศที่สอง ถ้าหากว่าเราไม่เผชิญหน้ากับนิยามความหมายอื่นๆ ?" (อยู่ในเครื่องหมายคำพูดของ Simone de Beauvoir).

"ใช่, ที่รัก:" (อยู่ในเครื่องหมายคำพูดของ Sartre) (จบข้อความในลูกโป่งคำสนทนา)

นักโครงสร้างนิยม (The Structuralists)

ภายหลังยุคสงครามโลก ปัญญาชนเป็นจำนวนมากต่างๆมีความเห็นสอดคล้องกันกับข้อสงสัยของ Beauvoir ในเรื่องเกี่ยวกับ"เสรีภาพของปัจเจกชน". มีการเน้นถึงความสำคัญเกี่ยวกับโครงสร้างของสังคมในการสร้างปัจเจกชนขึ้นมา กลุ่มโครงสร้างเหล่านี้กลายมาเป็นที่รู้จักในนามว่า Structuralists (หรือนักโครงสร้างนิยม). ส่วนใหญ่แล้ว Foucault จะถูกนับว่าเป็นนักโครงสร้างนิยมคนหนึ่งในช่วงกลางของทศวรรษที่ ๖๐. คำถามก็คือ ใครคือคนเหล่านี้ล่ะ ?

พวกเขาเริ่มต้นด้วยการกลับไปรื้อฟื้นงานของ Ferdinand de Saussure (1857-1913), นักทฤษฎีคนหนึ่งในการพัฒนาความรู้ทางด้านภาษาศาสตร์ให้ปรากฏขึ้นมา, ซี่งส่วนใหญ่แล้ว ผลงานของ Saussure ได้รับการเมินเฉยมาโดยตลอด จนกระทั่งมาถึงช่วงทศวรรษที่ ๕๐-๖๐.

สิ่งที่น่าสนใจมากเกี่ยวกับเรื่องของภาษาก็คือ ในภาษาใดๆก็ตาม ความสัมพันธ์ของตัวบ่งชี้กับตัวถูกชี้บ่ง(signifier to signified)มักจะเป็นไปอย่างไร้เหตุผล หรือเป็นไปตามอำเภอใจเสมอๆ. (อันนี้ฟังดูอาจไม่ค่อยเข้าใจ ให้เราลองมาดูตัวอย่างดังต่อไปนี้)... เช่น

การรวบรวมเสียงและตัวอักษรที่สร้างขึ้นมาเกี่ยวกับคำว่า"ม้า"(คำว่า"ม้า"เป็น"ตัวบ่งชี้" - signifier) โดยตัวของมันเองนั้นไม่ได้มีอะไรเชื่อมโยงเกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้เลย ซึ่งเราทั้งหลายได้เห็นมันวิ่งเหยาะๆอยู่ในสนามหญ้า(ตัวที่ถูกบ่งชี้ - signified).

คำว่า"ม้า"ได้รับการเรียกขานทั่วโลกนั้น แตกต่างกันไปในแต่ละภาษา อย่างเช่นในภาษาฝรั่งเศส จะมีคำที่ใช้เรียกม้าว่า Cheval, และมีการใช้คำว่า"horse"ในภาษาอังกฤษ, ส่วนในภาษาเยอรมันใช้คำว่า"pferd", ในภาษาสวาฮีรีใช้คำว่า"farasi", ในภาษานอร์เวเจียนใช้คำว่า"hest", ในภาษา Serbo-Croatian ใช้คำว่า"konj", ในภาษา Welsh ใช้คำว่า"ceffyl", ในภาษาเตอกิชใช้คำว่า"at", ในภาษาสแปนนิชใช้คำว่า"caballo", และเราอาจเรียกสัตว์ประเภทนี้ว่า"ตุย"ก็ได้ ซึ่งคำว่า"ตุย"บ่งให้มันหมายถึงสัตว์ประเภทที่เรียกว่าม้า (และมันยังคงได้กลิ่นและรสอยู่เช่นเดิม). คำตอบต่างๆที่ว่า ความหมายมันทำงานอย่างไร ไม่ได้นอนเนื่องอยู่ในเสียงและตัวอักษรเหล่านี้, แต่มันอยู่ในระบบทั้งหมดของภาษา.

Saussure จ้องมองภาษาในฐานะที่มันเป็นทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหมด โดยดูว่ามันทำงานอย่างไร, มากกว่าที่จะโฟกัสลงไปในรายละเอียดของแต่ละภาษา. Foucault ได้เขียนถึงความคิดต่างๆอันนั้นลงไปตรงๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วอยู่ในหนังสือขนาดสั้นที่สนุกสนาน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับจิตรกรที่ชื่อว่า Rene Magritte, ในภาพ "C'eci n'est pas une pipe" หรือในภาษาอังกฤษว่า "This is Not a Pipe"). (ภาพประกอบ)

ภาพจิตรกรรมชิ้นนี้เกี่ยวกับรูป pipe กำลังพูดว่า, "คุณเห็นผมอย่างชัดเจนมาก ซึ่งมันดูน่าขันและไร้สาระจริงๆสำหรับผมในการจัดการกับตัวเอง ด้วยการเขียนว่า อันนี้คือไปป์. แน่นอน, คำต่างๆพรรณาตัวของผมน้อยกว่าที่ผมเป็นตัวแทนของตัวเอง".

ตัวอักษรหรือข้อความได้มากำหนดหรือบัญญัติ, "ยึดจับผมไว้สำหรับสิ่งที่ผมเป็นอย่างที่แสดงให้ประจักษ์ - ตัวอักษรต่างๆที่วางอยู่ข้างล่างภาพ, ถูกจัดการและให้รูปร่างเพื่อว่าจะได้อ่านได้สะดวกสบายง่ายขึ้น, และมั่นใจว่ารู้จัก พร้อมทั้งเปิดเผยตัวของมันเองกับแม้แต่เด็กนักเรียนที่พูดติดอ่างหรือตะกุกตะกักที่สุดก็เข้าใจ. ผมไม่มีอะไรมากเกินไปกว่าคำต่างๆที่ตอนนี้คุณกำลังอ่านอยู่".

คำว่า"ม้า"กับสัตว์ประเภทนี้
ระหว่างคำที่เป็นตัวอักษร
กับภาพที่ปรากฎ
ไม่มีอะไรที่สัมพันธ์กันเลย
แต่มันก็สร้างความเข้าใจขึ้นมาได้

ทั้งนี้เป็นเพราะเหตุใด

 

ย้อนกลับไปเรื่องของแนวคิด"โครงสร้างนิยม"

"ระบบของภาษานั้นเป็นโครงสร้างที่ใหญ่โตกว้างขวางมาก ซึ่งมักจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ. ก่อนหน้าข้าพเจ้า ภาษาศาสตร์ได้โฟกัสลงไปที่ ภาษาต่างๆซึ่งมันมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา แต่นั่นไม่ได้ทำให้คุณเกิดการสะดุดใจขึ้นมาเกี่ยวกับภาษาในฐานะที่เป็นอะไรทั้งหมด. เราจำเป็นต้องคล้ายๆบันทึกภาพอย่างรวดเร็วเกี่ยวกับภาษาๆหนึ่ง ณ ช่วงเวลาที่เฉพาะช่วงเวลาหนึ่ง และสำรวจถึงกฎเกณฑ์ทั้งหมด ที่ผนึกเข้าด้วยกัน" (Saussure)

นักมานุษยวิทยา Claude Levi Strauss ได้ขยายไอเดียต่างๆของ Saussure ที่พูดเกี่ยวกับวัฒนธรรมในลักษณะทั่วๆไป. เขาได้สร้างทฤษฎีขึ้นมาว่า "ภายในวัฒนธรรมหนึ่งนั้น มันก็มีลักษณะที่คล้ายๆกันกับภาษา. สังคมโดยรวมทั้งหมด, ความสัมพันธ์ของมนุษย์ทั้งมวล ได้ถูกควบคุมโดยกฎเกณฑ์ซึ่งครอบคลุมอยู่ข้างบนบางอย่าง. เขาได้ทำการศึกษากฎเกณฑ์เหล่านี้และพบว่า พวกมันมีศูนย์กลางรายรอบลักษณะที่เป็นคำคู่ตรงข้ามกัน (binary oppositions)บางอย่าง เช่น ล่าง/บน, ดี/เลว, และผู้หญิง/ผู้ชาย, เป็นต้น.

Levi-Strauss และบรรดานักโครงสร้างนิยมคนอื่นๆเชื่อว่า คำคู่ตรงข้ามต่างๆนั้น เป็นสิ่งสูงสุดและสำคัญอย่างยิ่ง. กฎเกณฑ์ต่างๆที่มาเชื่อมโยงหรือผูกคำคู่ตรงข้ามกันของภาษานั้น สามารถที่จะได้รับการนำมาศึกษาได้ดีที่สุด โดยการหยุดหรือแช่แข็งเวลาเอาไว้ และจ้องมองเข้าไปในช่วงขณะใดช่วงขณะหนึ่งโดยเฉพาะ. โครงสร้างของภาษามันเป็นสิ่งที่มีบทบาท และมีอำนาจครอบงำอันยิ่งใหญ่ และมนุษย์นั้น สืบทอดการดำรงอยู่โดยผ่านภาษา. ด้วยเหตุนี้ ไม่ว่าใครก็ตามจึงมิได้มีความเป็นอิสระที่จะคิดอะไรขึ้นมาภายนอกกฎเกณฑ์ต่างๆของภาษาใดภาษาหนึ่ง.

ถ้าเช่นนั้น Michel Foucault เป็นนักโครงสร้างนิยมหรือไม่ ? แน่นอน, ในด้านหนึ่งนั้น เขาไม่ใช่นักโครงสร้างนิยม: เขาเป็นนักประวัติสาสตร์, และโดยเฉพาะอย่างยิ่งซึ่งให้ความสนใจในการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา. แต่ในอีกด้านหนึ่งนั้น, ใช่. ในการสำรวจตรวจตราการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา, เขายากที่จะหลีกเลี่ยงเรื่องโครงสร้างนี้ไปได้. หนังสือเล่มต่อมาของเขา, The Archaeology of Knowledge, เป็นการอธิบายถึงเป้าหมายต่างๆและวิธีการของตัวเขาเองเกี่ยวกับเรื่องนี้.

หมายเหตุ : -แม้ว่าจะเป็นการอธิบายเกี่ยวกับสิ่งที่เขากำลังทำอยู่, แต่หนังสือเรื่อง Archaeology of Knowledge ก็ไม่ได้มีการแนะนำผู้อ่านว่าจะต้องมีพื้นความรู้อย่างไร เช่นดังหนังสือของ Foucault เล่มแรก. มันเป็นหนึ่งในหนังสือที่อ่านยากมากของเขาอีกเล่ม(คล้ายกับเรื่อง The Order of Things). เขาได้บัญญัติศัพท์ต่างๆขึ้นมา ขณะที่เขียนไปโดยไม่ได้อธิบายคำศัพท์เหล่านั้นแต่อย่างใด, และตรรกะของเขาก็บิดเบี้ยวและผันเปลี่ยนไปอย่างน่ากลัวเลยทีเดียว. ดังเช่น การสำรวจเกี่ยวกับแบบแผนทั้งหมดโดยตลอดของเขา มันมีความเป็นนามธรรมมาก โดยไม่มีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมมาสร้างให้เกิดความชัดเจนหรือความเข้าใจแต่อย่างใด ซึ่งอันนี้ค่อนข้างมีผลมากอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ (และบ่อยครั้ง มันสร้างความปั่นป่วนขึ้นมาในใจ). ในงานเขียนชิ้นอื่นๆของเขา, แน่นอน มันมีความหลักแหลมเฉลียวฉลาด ทั้งนี้เพราะ สิ่งใดๆก็ตามที่มีความยุ่งยากซับซ้อน มักจะต้องเป็นสิ่งที่แหลมคมหรือฉลาด -

เขาเรียกวิธีการของเขาว่า Archaeology (โบราณคดี) เนื่องมาจากไอเดียเกี่ยวกับการเปิดเผยให้เห็นชั้นต่างๆของอารยธรรมนั่นเอง. เขายืนยันว่า ความมั่นคงในระบบต่างๆของความคิดและวาทกรรม(discourse) อาจดำรงอยู่ได้ค่อนข้างนาน, และครั้นแล้วได้เกิดเปลี่ยนแปลงไปในทันที. หนังสือเรื่อง The Birth of Clinic, เป็นตัวอย่าง เป็นเรื่องซึ่งมีแก่นใจความสำคัญอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงไปในความคิดทางด้านการแพทย์ และการปฏิบัติในช่วงสิ้นสุดศตวรรษที่ ๑๘.

แต่ Foucault ได้ใช้เนื้อที่ของหนังสือเล่มนั้นไปในการสนทนาถึงระบบทางการแพทย์ที่ดำรงอยู่มาในช่วงเวลาหนึ่งก่อนหน้าที่จะมีการเปลี่ยนแปลง และระบบคลินิค(การสอนข้างเตียงคนไข้)ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งทุกวันนี้. การบรรยายอย่างละเอียดเหล่านี้เกี่ยวกับระบบต่างๆของความคิดคือแบบฉบับหรือสัญลักษณ์ของลัทธิโครงสร้างนิยม.

Foucault เป็น Marxist คนหนึ่งใช่ไหม ?

อย่างไรก็ตาม ขอให้เราหวนกลับไปในประเด็นต้นๆกันอีกครั้ง ไปสู่นักคิดอีกคนหนึ่งผู้ซึ่งมองเห็นระบบต่างๆว่าได้ก่อร่างสร้างสังคมขึ้นมา. Sartre ได้บอกกับพวกเราว่า เขาเป็นมาร์กซิสท์คนหนึ่ง. คนในรุ่นเดียวกันกับ Foucault ทั้งหมดต่างก็กบฎต่อ Sartre. ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงกบฎต่อ Marx ด้วยเช่นกัน ใช่ไหม ? และ Foucault เองนั้น เขาเป็นมาร์กซิสท์คนหนึ่งหรือว่าเป็นผู้ที่ต่อต้านมาร์กซิสท์กันแน่ ?

"ไอ้ห่า! ขอด่าหน่อยเถอะ ถ้ากูรู้ว่า ผู้คนทุกๆประเภทที่มีไอเดียหรือความคิดแปลกๆ ส่วนใหญ่แล้วมักจะอ้างตัวว่าเป็นสานุศิษย์ที่เดินตามก้นกู" (คำพูดในลูกโป่งของมาร์กซ์)

แนวคิดมาร์กซิสม์ประกอบด้วยฝั่นเกลียว ๒ ประการที่สำคัญดังนี้ ๑. ความยึดมั่นศรัทธาอันหนึ่งต่อวิสัยทัศน์ของมาร์กซ์เกี่ยวกับอนาคต, การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ, การการก่อตัวขึ้นมาของรัฐใหม่ที่เป็น Marxist state. ๒. การวิเคราะห์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่มีพื้นฐานอยู่บนวัตถุนิยมเศรษฐกิจของมาร์กซ์. ประวัติศาสตร์ถูกมองว่าเป็นความก้าวหน้าของระบบเศรษฐกิจหนึ่ง, มันคือแบบแผนการผลิตหนึ่ง ที่เปลี่ยนแปลงไปสู่แบบแผนการผลิตอีกแบบหนึ่ง, โดยทั้งหมดของสังคมและวัฒนธรรมได้รับการกำหนดโดยรายละเอียดต่างๆของโครงสร้างทางเศรษฐกิจอันนี้.

ปัญญาชนเกือบทุกคนในรุ่นของ Foucault ได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสท์, และอ้าแขนรับอุดมคติการปฏิวัติของมาร์ซิสท์. ส่วนบรรดานักโครงสร้างนิยมทั้งหลายพบว่า พวกเขาเข้ากันได้ดีและรู้สึกพอใจกับการวิเคราะห์เชิงประวัติศาสตร์ของมาร์กซ์ เพราะว่ามันไม่ได้เน้นความสำคัญถึงพลังของปัจเจกชน, ซึ่งปัจเจกชนนั้นได้รับการมองว่าได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาโดยอุดมการณ์ที่มีอิทธิพลของวันเวลาดังกล่าว. อุดมการณ์อันนั้น ในตัวของมันเองนั้นได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยระบบเศรษฐกิจ. แต่อย่างไรก็ตาม การที่มาร์กซ์อ้างว่า โครงสร้างทางเศรษฐกิจมีอิทธิพลครอบงำเหนือสิ่งอื่นใดนั้น, บรรดานักโครงสร้างนิยมทั้งหลายก็ได้ให้ภาษามีอิทธิพลครอบงำเหนือสิ่งอื่นใดเช่นกัน และมากยิ่งกว่าด้วย.

Michel Foucault ได้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสท์ช้ากว่าบรรดาเพื่อนฝูงของเขาส่วนใหญ่, และได้ละทิ้งพรรคคอมมิวนิสท์ไปก่อนคนอื่นๆ (เขาน่าจะเป็นสมาชิกที่เป็นทางการคนหนึ่งของพรรคนับจากปี 1950-1953).

มันเป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ว่า การที่เขาละทิ้งพรรคคอมมิวนิสท์นั้น เป็นเพราะว่าเขาสงสัยในความโหดร้ายบางอย่างของสตาลิน, หรือเป็นเพราะ Michel ไม่ชอบที่ดำเนินรอยตามฝูงชนกันแน่.

Foucault ไม่เชื่อในเรื่องเศรษฐศาสตร์ว่าเป็นพื้นฐานของประวัติศาสตร์. ใน Archaeology, เขาเชื่อว่า"วาทกรรม"(discourse)เป็นพื้นฐานต้นตอของประวัติศาสตร์, แต่มันเพียงดูเหมือนว่าจะมีผลกระทบต่อวาทกรรมอื่นๆเท่านั้น. เมื่อถึงจุดนี้ คำถามจึงเกิดขึ้นมาว่า คำว่า"วาทกรรม"(discourse) จริงๆแล้ว มันหมายความว่าอะไร ?

สำหรับคำว่า "วาทกรรม" นั้น เป็นศัพท์ที่สำคัญหรือเป็นแกนกลางในงานเขียนของ Foucault เลยทีเดียว…

ในความหมายที่กว้างที่สุดของมัน มันหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ถูกเขียน หรือถูกพูด หรือถูกสื่อสารโดยใช้เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ต่างๆ, และเป็นเครื่องหมายการเชื่อมโยงอีกอันหนึ่งกับลัทธิโครงสร้างนิยม และบทบาทที่สำคัญของมัน ได้โฟกัสลงไปที่ภาษา.

Foucault ยังให้ความหมายเกี่ยวกับคำๆนี้ที่เฉพาะเจาะจงลงไปอีกด้วย: นั่นคือ "วาทกรรม" คือ งานเขียนต่างๆในขอบเขตพื้นที่อันหนึ่งซึ่งหนึ่งเกี่ยวกับความรู้ทางเทคนิค - กล่าวคือ พื้นที่ต่างๆซึ่งเป็นเรื่องของบรรดาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย, ความรู้พิเศษหรือความรู้เชิงเทคนิค, และศัพท์พิเศษหรือศัพท์ทางเทคนิค.

ในแต่ละยุคแต่ละสมัยจะมีการนิยามวาทกรรมในยุคสมัยของตนขึ้นมา, และนิยามความหมายต่างๆเหล่านี้อาจผันแปรไปอย่างถึงรากตลอดเวลา. อย่างเช่น ความแตกต่างระหว่างขอบเขตความรู้ที่เรียกว่า"ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ"(Natural History) และขอบเขตความรู้ที่เรียกว่า"ชีววิทยา"(Biology).

ไอเดียดังกล่าวก็คือว่า บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางเทคนิคมักจะทำงานไปด้วยกันกับการสถาปนาขอบเขตความรู้ของพวกเขา
และไอเดียต่างๆซึ่งมีอิทธิพลของมันขึ้นมา. ขอบเขตความรู้ทางเทคนิคเหล่านี้ได้มีพลังอำนาจเพิ่มขึ้นตลอดเวลาเหนือผู้คนทั้งหลาย, และวาทกรรมต่างๆเหล่านี้ได้ตัดแต่งรูปร่างหรือก่อรูปโครงสร้างสังคมของเราอย่างลึกซึ้ง.

ยกตัวอย่างเช่น วาทกรรมในเรื่องของความบ้า, ได้ถูกผลิตขึ้นมาโดยบรรดาจิตแพทย์ นักจิตวิทยาทั้งหลาย นักสังคมสงเคราะห์ และผู้เชี่ยวชาญอื่นๆซึ่งนิยามบทบาทต่างๆของความบ้าหรือภาวะจิตที่ฟั่นเฟือนขึ้นมา, และด้วยเหตุนี้จึงได้นิยามบทบาทต่างๆของภาวะปกติ ซึ่งพวกเราทั้งหมดเป็นตัวแทนขึ้นมาด้วย.

แบบจำลองเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของ Foucault ได้เปลี่ยนแปรไปหลังจากที่ได้อ่านซ้ำงานของ Nietzsche ในเรื่อง Genealogy of Morals (วงศ์วานที่สืบทอดมาของศีลธรรม)

Friedrich Nietzsche (1844-1900) เป็นผู้ซึ่งได้มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อ Foucault มาโดยตลอด, สำหรับตัวของ Foucault เองนั้นสนใจในการปฏิเสธของ Nietzsche ในเรื่องของความคิดต่างๆเกี่ยวกับมนุษย์ที่มีเหตุผลและความจริงสมบูรณ์(rejection of notions of rational man and absolute truth), และการสร้างหรือวางรากฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ในความไร้เหตุผลและอุบัติเหตุ(founding of history in irrationality and accident).

จากแบบจำลองที่ถูกทำเป็นชั้นๆซึ่งเสนอโดยศัพท์คำว่า"archaeology"(โบราณคดี)นั้น, Foucault ได้เคลื่อนไปสู่สิ่งที่เขาเรียกมันว่า"genealogy"(เชื้อสายวงศ์วาน) ซึงเขานึกขึ้นมาในฐานะที่เป็นสาขาวิชาความรู้ต่างๆชุดหนึ่งที่แพร่ขยายออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด. เขาเริ่มที่จะเน้นว่าสาขาวิชาความรู้ต่างๆมากมายไม่ได้น้อมนำไปสู่ที่ใดเลย, และการค้นหาตรรกะอันหนึ่งของความก้าวหน้านั้น เป็นการเสนอแนะที่ผิดพลาดหรือเข้าใจผิด.

"ในการติดตามเส้นทางอันสลับซับซ้อนของการสืบต่อกันมา เพื่อที่จะจำแนกแยกแยะเรื่องของความบังเอิญ, ความผิดพลาด, การประเมินที่ไม่ถูกต้อง, และการคำนวณที่ผิดซึ่งได้ให้กำเนิดสิ่งต่างๆเหล่านั้นขึ้นมา ที่ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง และมีคุณค่าสำหรับพวกเรา; มันเป็นการค้นพบว่า ความจริงหรือภาวะที่เป็นอยู่ มิได้นอนเนื่องอยู่ที่รากของสิ่งที่เรารู้และสิ่งที่เราเป็น, แต่มันคือเรื่องภายนอกของความบังเอิญต่างๆ(exteriority of accidents)" (Foucault)

 

"เราเชื่อกันว่า ความรู้สึกต่างๆนั้นคือสิ่งซึ่งไม่มีการเปลี่ยนรูป แต่ความรู้สึกทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสูงส่งที่สุด และความเมินเฉยหรือไม่สนใจมากที่สุด, มีประวัติศาสตร์อันหนึ่ง. พวกเราเชื่อว่า ในเหตุการณ์ใดก็ตาม ร่างกายนั้นเชื่อฟังกฎเกณฑ์เฉพาะตัวของสรีรวิทยา และนั่นมันได้แสดงให้เห็นว่าได้หลุดรอดไปจากอิทธิพลของประวัติศาสตร์, แต่อันนี้มันก็ไม่จริงเช่นกัน" (Foucault)

"ร่างกายได้รับการหล่อหลอมขึ้นมาโดยระบบหรือกฎเกณฑ์อันชัดเจนมากมาย; มันได้รับการแบ่งแยกโดยจังหวะต่างๆเกี่ยวกับการทำงาน, การพักผ่อน, และวันหยุด; มันถูกวางยาด้วยอาหารหรือคุณค่าต่างๆ, โดยผ่านอุปนิสัยการกิน หรือกฎเกณฑ์ทางศีลธรรมนานา; มันได้สร้างความต้านทานหรือการต่อต้านต่างๆขึ้นมา" (Foucault)

ชีวิตของ Foucault ยังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วด้วย ในปลายปีทศวรรศที่ ๕๐ และ ๖๐ ก็เช่นเดียวกันกับคนอื่นๆทุกคน. กรุงปารีสในเดือนพฤษภาคม ๑๙๖๘ ดูเหมือนว่าจะเป็นศูนย์กลางของการปฏิวัติอันรุนแรง, นักศึกษาได้เข้าทำการยึดอาคารต่างๆ, และได้ถูกโจมตีจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ. บรรดาผู้นำของฝ่ายซ้ายหัวรุนแรงได้ประกาศความเป็น Maoists ของพวกเขา และเรียกร้องให้สิ้นสุดสถาบันต่างๆและการแบ่งชั้นความสูงต่ำลงทั้งหมด.

ในช่วงที่เกิดความสับสนวุ่นวายและความโกลาหลดังกล่าว Foucault ไปอยู่ ณ ที่ใด ? คำตอบก็คือ ขณะนั้นเขาอยู่ที่ตูนิเซีย.

นับจากปี ๑๙๕๔ เป็นต้นมา, Foucault ได้รับงานสอนช่วงหนึ่งห่างจากประเทศฝรั่งเศส - เขาได้ไปพำนักอยู่ในประเทศสวีเดน, โปแลนด์, และเยอรมันนี. ในปี ๑๙๖๐ เขาได้หวนกลับมายังฝรั่งเศสเพื่อสอนวิชาปรัชญาและจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัย the University of Clermont-Ferrand. ถัดจากนั้นในปี ๑๙๖๖ เขาก็ได้รับงานที่ตูนิเซีย ทั้งนี้เพื่อที่จะได้อยู่ใกล้เพื่อนของเขาซึ่งบุคคลทั้งสองได้เป็นเพื่อนกันมายาวนาน นั่นคือ Danial Defert.

เขาอาจจะพลาดเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ที่บรรดานักศึกษาได้ลุกขึ้นมาปฏิวัติในกรุงปารีส, แต่ที่ตูนิเซียเองนั้น ก็มีการประท้วงของนักศึกษาเช่นกัน. นักศึกษาคอมมิวนิสท์ขัดขืนต่อการปราบปรามของฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสท์ ซึ่งก็คือรัฐบาลที่นิยมอเมริกัน ที่กำลังพยายามจะทำให้ตูนิเซียเป็นประเทศสมัยใหม่ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้. การประท้วงครั้งนี้ ไม่เหมือนกันกับในฝรั่งเศส, คือเป็นเรื่องของชีวิตและความตาย. บรรดานักศึกษายอมรับโทษการตัดสินให้เข้าคุกเป็นเวลา ๘, ๑๐, ๑๔ ปีตามลำดับ.

บรรดานักศึกษาหลายคนของ Foucault ก็ได้ถูกจับกุมรวมกับผู้คนอื่นๆในกลุ่มนั้นด้วย. เขาพยายามที่จะพูดแก้ต่างให้กับนักศึกษาในศาล, แต่ก็ไม่ได้รับการยอมรับในการสอบสวนอย่างลับๆนั้นได้. เขาได้ช่วยนักศึกษาคนอื่นๆให้หนีรอด พ้นไปจากการถูกจับกุมโดยการซ่อนนักศึกษาเหล่านั้นเอาไว้ในอพ้าทเมนท์ของเขา.

เมื่อ Foucault หวนกลับมายังฝรั่งเศสในปลายปี ๑๙๖๘ เขาก็พร้อมแล้วสำหรับกิจกรรมทางการเมือง. เขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาปรัชญา ในแคมปัสใหม่ของมหาวิทยาลัยปารีส. การเข้าทำงานที่นั่น เขาได้เลือกบรรดานักปรัชญาหัวรุนแรงที่สุดที่เขาจะคิดได้ และพยายามที่จะประคองกระแสอันวกวนเกี่ยวกับภาควิชาของเขาให้ดำรงอยู่ด้วยกันได้จนกระทั่งถึงปีที่ ๑๙๗๐.

ต่อจากนั้นเขาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในโลกของปัญญาชนฝรั่งเศส: กล่าวคือ เขาได้รับการเลือกตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งที่ College de France. ภาระหน้าที่ทั้งหลายก็คือ การบรรยายต่อสาธารณชนชุดหนึ่งเกี่ยวกับความก้าวหน้าในผลงานของเขาในแต่ละปีนั่นเอง.

Foucault ได้ใช้อิสรภาพและชื่อเสียงเกียรติคุณของตำแหน่งนี้เพื่อกิจกรรมในทางการเมืองในหนทางที่รวมการเมืองและความเป็นนักวิชาการของเขาเข้าด้วยกัน.

ร่วมกัน, Danial Defert และ Foucault ได้เริ่มรวมกลุ่มที่จะสืบสาวราวเรื่องเกี่ยวกับการจำคุกและประท้วงคัดค้านเงื่อนไขต่างๆเกี่ยวกับการติดคุก. แต่ Foucault ยังได้ทำงานในเรื่องใหม่อีกเรื่อง เกี่ยวกับ "ปัญญาชนในฐานะที่เป็นนักประท้วงหรือคัดค้านด้วย".

Sartre ได้สร้างแบบจำลองของเขาขึ้นมา: ที่ว่า ปัญญาชนที่มีชื่อเสียงคือผู้ที่มีสติรับผิดชอบต่อชาติบ้านเมือง, ซึ่งได้ทำให้ปรัชญาของเขามีภาระสำคัญต่อประเด็นทางการเมืองและศีลธรรม.

Foucault ต้องการให้ความเป็นปัญญาชนเป็นศูนย์กลางความสนใจให้น้อยที่สุด. เขาทราบถึงชื่อเสียงและเกียรติคุณของเขาซึ่งสามารถที่จะทำให้ผู้สื่อข่าวและช่างกล้องทีวีเข้าคุกได้ และด้วยเหตุนี้ เขาจึงต้องการที่เงียบเข้าไว้.

ในปี ๑๙๗๑-๑๙๗๒ ได้เกิดมีการจลาจลของพวกนักโทษในฝรั่งเศส. Foucault ได้ช่วยเหลือบรรดานักโทษตีพิมพ์รายละเอียดเกี่ยวกับสภาพเงื่อนไขอันรุนแรงและเกรี้ยวกราดมากเกินกว่าปกติเกี่ยวกับการเป็นอยู่ของคนคุกเหล่านี้.

มาถึงตอนนี้ Foucault ทำงานอย่งหนักและจริงจังในการวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของการคุมขัง. ร่วมกันกับกลุ่มผู้วิจัยซึ่งเป็นนักศึกษาหลังสำเร็จปริญญาตรีแล้วของเขา, เขาได้ตีพิมพ์งานรวบรวมภาคเอกสารเกี่ยวกับกรณีการฆาตกรรมของฝรั่งเศสซึ่งเกิดขึ้นในปี ค.ศ.1835. "กรณี Pierre Riviere, ข้าพเจ้าได้ทำฆาตกรรมอย่างทารุณต่อแม่ของตน, น้องสาว, และน้องชาย…: กรณีหนึ่งเกี่ยวกับการฆ่าพ่อแม่และคนในสายเลือด(parricide)ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 ได้บรรจุเอกสารเกี่ยวกับคดีในทางศาลทั้งหมดเข้าไป, รวมทั้งคำสารภาพที่พิเศษสุดอันหนึ่ง, พร้อมด้วยความเรียงสั้นๆที่เขียนขึ้นโดย Foucault และบรรดานักศึกษาของเขาในการสัมนาเรื่องนี้.

เอกสารเป็นจำนวนมากได้พูดถึงคำถามหรือข้อสงสัยเกี่ยวกับกรณี Pierre Riviere ว่าบ้าคลั่งหรือฟั่นเฟือน, และด้วยเหตุนี้มันจึงได้สร้างสะพานเชื่อมอันหนึ่งขึ้นมาระหว่างผลงานเกี่ยวกับเรื่องความบ้าของ Foucault กับผลงานชิ้นต่อมาของเขา.

หนังสือเล่มต่อมาของ Foucault คือ Discipline and Punish (วินัยและการลงโทษ) ได้ยักย้ายจากโครงสร้างนิยมที่เป็นนามธรรมของ Archaeology ออกไป, และได้เล่าถึงเรื่องราวอันหนึ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจและการบังคับกดขี่. ความสนใจของเขาในเรื่องการคุมขังกลายเป็นการไต่ถามถึงต้นตอกำเนิดของการคุมขัง ในฐานะที่เป็นรูปแบบหนึ่งของการลงโทษ. โดยทั่วไปแล้ว การโฟกัสของเขานั้น มาถึงตรงนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับบทบาทของวาทกรรมในความสัมพันธ์เชิงอำนาจ, และความเป็นนามธรรมต่างๆดังที่ปรากฎของวาทกรรม มันมีผลในเชิงวัตถุที่เป็นรูปธรรมมากบนเรือนร่างของผู้คนทั้งหลาย.

อ่านต่อเรื่อง Discipline and Punish

พบคำผิด ข้อมูลผิดพลาด โปรดแจ้ง midnightuniv(at)yahoo.com