H

เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม : ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

ภาพประกอบดัดแปลง เพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการของ สายชล สัตยานุรักษ์
เรื่อง "สองร้อยปีวัฒนธรรมไทย และความยุติธรรม" (บทความวิชาการ-ฟรี-ของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน บริการโดยไม่คิดมูลค่า และไม่มีการสงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ หากนำไปใช้ กรุณาอ้างอิงถึงแหล่งที่มาตามสมควร) เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ 12 กันยายน 2546 : ความยาวประมาณ 14 หน้ากระดาษ A4

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 304 หัวเรื่อง
ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ
ความยุติธรรม ในสังคมไทย

นำเสนอโดย สายชล สัตยานุรักษ์
ภาควิชาประวัติศาสตร์
คณะมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้

h
o
m
e

120946
release date
R
relate topic
เว็ปไซค์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแบบขึ้นมาเพื่อใช้กับ Microsoft Internet Explorer ขนาดหน้าจอ 800x600 pixels
N
next
เมื่อจะมีการสร้างระบบกฎหมายแบบตะวันตก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเสนอให้ใช้ระบบประมวลกฎหมาย แม้ว่ากรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ซึ่งทรงสำเร็จวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดจะทรงเสนอให้ใช้ระบบกฎหมายประเพณีแบบอังกฤษก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะระบบประมวลกฎหมายเป็นระบบที่ทำให้พระบรมราชโองการ(ไม่ใช่ประเพณี)เป็นแหล่งที่มาของความยุติธรรมอย่างแท้จริง จึงไม่น่าแปลกใจอันใดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเห็นด้วยกับพระอนุชา ซึ่งทรงเป็นนักปกครองและนักปราชญ์แห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มิใช่เห็นด้วยกับพระราชโอรส ซึ่งได้ทรงศึกษาวิชากฏหมายมาจากประเทศที่ได้ผ่านการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์และการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาแล้ว และพยายามที่จะทำให้หลักกฎหมายกลายเป็นแหล่งที่มาของความยุติธรรมเหนือพระบรมราชโองการของพระองค์ ซึ่งทำให้พระองค์ไม่ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก (คัดมาจากส่วนหนึ่งของบทความ)
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปัญญาชนสำคัญที่สร้างฐานทางความคิดให้แก่ระบอบเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ได้พยายามทำให้เกิดการยอมรับโครงสร้างสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน คือให้คนไทย "รู้ที่ต่ำที่สูง"(คัดมาจากส่วนหนึ่งของบทความ)

สองร้อยปีวัฒนธรรมไทย และความยุติธรรม
สายชล สัตยานุรักษ์
ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

(บทความนี้ยาวประมาณ 14 หน้ากระดาษ A4)

ดิฉันอยากจะเริ่มต้นการพูดในวันนี้ด้วยการกล่าวว่า ในวัฒนธรรมไทยนั้นถือว่าผู้หญิงมีสติปัญญาน้อยและมีอคติสูง จึงไม่รู้จัก "ความยุติธรรม" (ซึ่งทำให้ผู้หญิงไม่สามารถเป็นนักปกครองหรือผู้พิพากษาได้) เว้นแต่ผู้หญิงบางคนจะมีคุณสมบัติของผู้ชายอยู่ในตัวมากเป็นพิเศษเท่านั้นจึงจะรู้จัก "ความยุติธรรม" ดังนั้น เมื่อผู้หญิงไทยอย่างดิฉันมาพูดเรื่อง "ความยุติธรรม" ท่านทั้งหลายก็คงจะคาดคะเนได้แล้วว่า ดิฉันกำลังจะพูดในเรื่องที่ตัวเองไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริงเลย และเมื่อดิฉันพูดจบแล้ว ท่านก็คงจะเชื่อมั่นได้เต็มที่ยิ่งกว่าเดิม ว่า "ความยุติธรรม" เป็นเรื่องของ "ลูกผู้ชาย"เท่านั้น

อะไรคือวัฒนธรรมไทย? ดิฉันขอใช้คำนิยามของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ว่า วัฒนธรรมคือระบบความสัมพันธ์ (ระหว่างคนกับคน คนกับสถาบัน คนกับธรรมชาติ) ซึ่งดำรงอยู่ในเมืองไทย โดยในวันนี้ดิฉันจะเน้นวัฒนธรรมไทยในช่วงตั้งแต่เริ่มตั้งกรุงเทพฯ ขึ้น จนกระทั่งเมื่อกรุงเทพฯ มีอายุครบสองร้อยปี คือระหว่างพ.ศ.2325-2525 ในระยะสองร้อยปีนี้วัฒนธรรมไทยมีความเปลี่ยนแปลงมาก ดังนั้นความคิดว่าอะไรคือความยุติธรรมจึงเปลี่ยนแปลงมากเช่นกัน

โดยภูมิหลังทางวิชาการแล้วดิฉันสนใจประวัติศาสตร์ความคิด ดังนั้น เรื่องที่จะพูดในวันนี้จึงขอเน้นไปที่วัฒนธรรมทางความคิดของไทย และเน้นวัฒนธรรมของรัฐหรือชนชั้นนำ มิใช่วัฒนธรรมชาวบ้าน แต่อย่างไรก็ตามวัฒนธรรมของรัฐนี้มีอิทธิพลเหนือชาวบ้านมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะสี่สิบปีที่ผ่านมา เมื่อการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ทำให้นโยบายต่าง ๆ ของรัฐมีผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งมากขึ้น ทั้งนี้รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น การสื่อสารคมนาคมและการศึกษา ตลอดจนมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วของระบบราชการที่เข้าไปมีบทบาทและอิทธิพลเหนือชาวบ้านในแทบทุกมิติของชีวิต ดังนั้น การมองวัฒนธรรมทางความคิดในระดับของรัฐจึงน่าจะมีประโยชน์อยู่ไม่น้อย

วัฒนธรรมทางความคิดในระดับรัฐนี้มิได้คลี่คลายเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติ แต่ได้ถูกสร้าง ถูกเลือกสรร และถูกปรับเปลี่ยนโดยปัญญาชนของรัฐเป็นระยะ ๆ เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นดิฉันจึงเน้นความคิดของปัญญาชนที่สำคัญ ๆ ของรัฐที่มีอิทธิพลสูงต่อวัฒนธรรมของรัฐหรือวัฒนธรรมกระแสหลักของไทยมากเป็นพิเศษ และพยายามแสดงให้เห็นโดยสังเขปว่า วัฒนธรรมทางความคิดที่ปัญญาชนของรัฐสถาปนาขึ้นนี้มีผลต่อแนวความคิดเรื่อง "ความยุติธรรม" อย่างไร และส่งผลอย่างไรต่อการดำเนินนโยบายของรัฐภายใต้วัฒนธรรมทางความคิดดังกล่าว

คำว่า "ความยุติธรรม" แปลตามตัวอักษรได้ว่าถูกต้องตามหลักธรรม คนจะได้รับผลดีจากการทำตามหลักธรรม และจะได้รับผลร้ายหรือถูกลงโทษจากการกระทำผิดหลักธรรมะ สิ่งที่ดิฉันอยากเน้นในการพูดวันนี้ก็คือ ในระบบความสัมพันธ์แบบไทยในช่วงเวลาสองร้อยปีที่ผ่านมา ความหมายของคำว่า "ธรรม" นั้นเปลี่ยน และกลุ่มคนที่มีอำนาจในการตัดสินว่าอะไรถูกต้องตามหลักธรรมและอะไรผิดตามหลักธรรมก็เปลี่ยน (คำว่า "ธรรม" ในสังคมไทยไม่ได้หมายถึงเฉพาะธรรมะของพุทธศาสนาเท่านั้น อาจนิยามกว้าง ๆ ไว้เพื่อความเข้าใจร่วมกันว่า ธรรมคือกฎเกณฑ์อันถูกต้อง ซึ่ง"กฎเกณฑ์อันถูกต้อง" นี้สมัยต้นกรุงเทพฯ เคยมีพุทธศาสนาเป็นแหล่งที่มาอันสำคัญที่สุด แต่ในระยะหลังหลัง"กฎเกณฑ์อันถูกต้อง"มีแหล่งที่มาใหม่ซึ่งดิฉันจะกล่าวต่อไปข้างหน้า)

วัตถุประสงค์ในการนำเสนอเรื่องนี้ก็คือ พยายามแสดงให้เห็นว่าในวัฒนธรรมไทยนั้น ความคิดเรื่อง"ความยุติธรรม"เป็นเรื่องของความไม่เสมอภาค และยังเป็นฐานทางความคิดของรัฐไทยสมัยใหม่ที่ช่วยสร้างความชอบธรรมให้แก่ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ตลอดจนการใช้ความรุนแรงของรัฐต่อประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ ตลอดมา

วัฒนธรรมไทยในสมัยต้นกรุงเทพฯ และ "ความยุติธรรม"
ในสมัยต้นกรุงเทพฯ วัฒนธรรมไทยผูกพันกับพุทธศาสนามากเป็นพิเศษ เนื่องจากชนชั้นนำได้นำเอาแนวความคิดสำคัญ ๆ ของพุทธศาสนามานิยามความหมายใหม่เพื่อเป็นอุดมการณ์ของรัฐ ระบบความสัมพันธ์ในรัฐไทยเวลานั้นมีแนวความคิดทางพุทธศาสนาเป็นรากฐาน กล่าวคือคนทำกรรมดี/กรรมชั่วมาไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน จึงมีสถานภาพ อำนาจ หน้าที่ และสิทธิแตกต่างกัน ผู้ที่ทำกรรมดีมามากที่สุดก็คือพระมหากษัตริย์เพราะทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ทรงมีฐานะเป็นธรรมิกราชาธิราชซึ่งทำหน้าที่จรรโลงธรรมะด้วยการสอนให้คนทั้งหลายในรัฐได้เข้าใจธรรมะ จะได้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามหลักธรรมะ หากผู้ใดทำผิดหลักธรรมะพระองค์จะทรงพิจารณาลงทัณฑ์อย่างยุติธรรมเพื่อให้บุคคลนั้นรู้ตัวว่าตนได้กระทำผิด จะได้ไม่กระทำเช่นนั้นอีก ในภายภาคหน้าชีวิตจะได้ไม่ตกไปสู่อบายภูมิ ทั้งนี้ไม่จำกัดอยู่เฉพาะคนในเมืองไทยเท่านั้น เพราะธรรมิกราชาธิราชทรงปกครองรัฐแบบจักรวาล จึงทรงทำหน้าที่ดังกล่าวข้างต้นนี้ในประเทศราชทั้งหลาย เช่น ลาว กัมพูชา ล้านนา รวมทั้งในพม่าด้วย (ในการทำสงครามกับพม่านั้นมีการสร้างคำอธิบายขึ้นมาว่าเป็นการทำสงครามเพื่อช่วยคนทั้งหลายในกองทัพพม่าให้ยุติการกระทำอันผิดหลักธรรมะ เพราะการยกทัพมาตีไทยเป็นการประกอบอกุศลกรรมซึ่งจะทำให้ชีวิตของคนทั้งหลายในกองทัพพม่าต้องตกไปสู่อบายภูมิ)

เมื่อธรรมิกราชาธิราชได้ทรงทำหน้าที่จรรโลงธรรมะ อันทำให้คนทั้งหลายมีโอกาสประพฤติธรรมและสร้างกองการกุศลเพื่อบรรลุนิพพานซึ่งเป็นอุดมคติของชีวิตเช่นนี้แล้ว คนทั้งหลายก็จะต้องมีความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ นั่นคือ"ใช้เรี่ยวแรงเป็นแดนแทนพระเดชพระคุณจึ่งจะชอบ" หรือจึงจะ "ยุติธรรม"(2)

จะเห็นได้ว่าในสมัยต้นกรุงเทพฯ "ยุติธรรม" หมายถึงถูกต้องตามหลักธรรมะของพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ทรงเป็นแหล่งที่มาของความยุติธรรม เพราะทรงเป็นพระโพธิสัตว์และธรรมมิกราชาธิราช (คือเป็นราชาที่ยิ่งใหญ่เหนือราชาทั้งหลายเนื่องจากพระองค์ทรงเป็นประธานในการจรรโลงธรรมะ) พระองค์ทรงรู้ดีว่าอะไรผิดอะไรถูก อะไรดีอะไรเลว และทรงเมตตาสอนให้คนทั้งหลายได้เข้าใจในธรรมะเหล่านี้ด้วย ไพร่ทั้งหลายจึงต้องใช้แรงงานทำงานให้พระองค์เป็นการตอบแทนบุญคุณ กล่าวโดยสรุปก็คือ ความยุติธรรมในยุคนี้มาจากพุทธศาสนาและเป็นฐานทางความคิดให้แก่ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน

วัฒนธรรมไทยและ "ความยุติธรรม"ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (2430-2475)
ระบบความสัมพันธ์ของคนไทยเปลี่ยนแปลงมากในรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจหลังสนธิสัญญาเบาริงและการเกิดขึ้นของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในยุคนี้ระบบมูลนาย-ไพร่-ทาสสิ้นสุดลง พุทธศาสนามิใช่แหล่งที่มาสำคัญที่สุดของอุดมกาณ์รัฐไทยอีกต่อไป เป็นเพียงส่วนประกอบ และได้รับการเน้นเฉพาะส่วนที่เป็นโลกียธรรมและพิธีกรรมอันไม่ขัดกับหลักวิทยาศาสตร์ของตะวันตกเท่านั้น ความหมายของ "ธรรมะ"เปลี่ยนมาเป็นกฏเกณฑ์อันถูกต้องที่พระมหากษัตริย์ซึ่งทรงมีอำนาจสมบูรณาญาสิทธิ์ได้ทรงตราขึ้น พระองค์ทรงรู้ดีว่าอะไรถูกอะไรผิด ไม่ใช่เพราะทรงเป็นพระโพธิสัตว์และธรรมิกราชาธิราชดังเช่นในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่เพราะทรงเป็น "เจ้า" (Royalty) และการเป็น"เจ้า"นี้เป็นเรื่องของชาติกำเนิด สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงชี้แจงว่าเฉพาะคนที่เกิดมาเป็น "เจ้า" เท่านั้นที่มี "Ideal" ซึ่งทรงแปลว่า "ศีลธรรม" แน่นอนว่าผู้นำของเจ้าคือพระมหากษัตริย์ย่อมทรงมี "ศีลธรรม""เหนือผู้อื่น ส่วนประชาชนคือคนที่ยังโง่อยู่ ย่อมไม่รู้ว่าอะไรคือความยุติธรรม ต้องรอคอยให้พระมหากษัตริย์ทรงอำนวยความยุติธรรมให้บังเกิดแก่ชีวิตของทุกคนในรัฐ(3)

กล่าวได้ว่า ความยุติธรรมในรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์มิได้มีพุทธศาสนาเป็นรากฐาน แต่มีพระปัญญาบารมีและพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงเป็นมนุษย์เป็นรากฐาน ขณะเดียวกันความยุติธรรมก็ถูกเชื่อมโยงเข้ากับความมั่นคงของพระมหากษัตริย์ การกระทำใดที่ทำให้พระมหากษัตริย์มั่นคง (ซึ่งหมายถึงชาติไทยมั่นคง) ถือว่าถูกต้อง เพราะหากปราศจากพระมหากษัตริย์และชาติไทยแล้วไซร้ ชีวิตของคนแต่ละคนก็เปรียบเสมือนภัสมธุลีอันไร้ค่าและปราศจากความหมาย

ชาติในจินตนาการของคนในยุคนี้เป็นชาติที่ประกอบด้วยคนชั้นต่าง ๆ ที่มีหน้าที่แตกต่างกันไป ซึ่งทำให้ได้รับผลดีจากการทำหน้าที่ไม่เท่ากัน เพราะหน้าที่ต่าง ๆ นั้น สำคัญต่อชาติและต่อพระมหากษัตริย์มากน้อยต่างกันไป หน้าที่ของเจ้าสำคัญที่สุด ดังนั้นเจ้าย่อมได้รับผลดีมากที่สุด รองลงมาคือข้าราชการซึ่งเป็นผู้ "ทำการของพระราชา" ข้าราชการจึงมีสถานะสำคัญรองจากเจ้า ส่วนประชาชนคือผู้ที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์และรอคอยความเมตตากรุณาจากพระองค์ สภาวะเช่นนี้นี้ถือว่ายุติธรรมหรือถูกต้องทุกประการ

ในยุคนี้การกระทำที่ถือว่าเป็นความผิดสูงสุดคือการกระทำที่กระทบต่อความมั่นคงของพระมหากษัตริย์หรือการกระทำอันเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ การลงโทษไม่ว่าจะรุนแรงเพียงใดก็ถือว่ายุติธรรมและเป็นพระมหากรุณาธิคุณด้วย

ดังนั้น ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์นี้พระบรมราชโองการนั้นเองคือแหล่งที่มาของความยุติธรรม เมื่อจะมีการสร้างระบบกฎหมายแบบตะวันตก สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเสนอให้ใช้ระบบประมวลกฎหมาย แม้ว่ากรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ซึ่งทรงสำเร็จวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ดจะทรงเสนอให้ใช้ระบบกฎหมายประเพณีแบบอังกฤษก็ตาม ทั้งนี้ก็เพราะระบบประมวลกฎหมายเป็นระบบที่ทำให้พระบรมราชโองการ(ไม่ใช่ประเพณี)เป็นแหล่งที่มาของความยุติธรรมอย่างแท้จริง จึงไม่น่าแปลกใจอันใดที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงเห็นด้วยกับพระอนุชา ซึ่งทรงเป็นนักปกครองและนักปราชญ์แห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มิใช่เห็นด้วยกับพระราชโอรส ซึ่งได้ทรงศึกษาวิชากฏหมายมาจากประเทศที่ได้ผ่านการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์และการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาแล้ว และพยายามที่จะทำให้หลักกฎหมายกลายเป็นแหล่งที่มาของความยุติธรรมเหนือพระบรมราชโองการของพระองค์ ซึ่งทำให้พระองค์ไม่ทรงพอพระราชหฤทัยเป็นอันมาก

กล่าวได้ว่าในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ "ความยุติธรรม" เป็นความคิดเกี่ยวกับกฏเกณฑ์ความสัมพันธ์ระหว่างคนชั้นต่าง ๆ ที่มีสถานภาพ อำนาจ และสิทธิไม่เท่าเทียมกัน เห็นได้ชัดจากชนชั้นเจ้าเองที่แบ่งสถานภาพ อำนาจ และอภิสิทธิ์ต่าง ๆ อย่างซับซ้อน และนักปราชญ์แห่งรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ได้สร้างอัตลักษณ์ให้แก่คนชั้นต่าง ๆ นับตั้งแต่พระมหากษัตริย์ เจ้า ข้าราชการ พระสงฆ์ ราษฎร และผู้หญิง ให้คนแต่ละชั้นรับรู้ว่าตนมีมีสถานภาพและหน้าที่อย่างไรบ้าง โดยใช้อำนาจรัฐในการสร้างระบบสัญลักษณ์ พิธีกรรม และวิธีปฎิบัติต่าง ๆ ให้คนยอมรับแบบแผนของความสัมพันธ์ทางสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน หรือยอมรับว่าความไม่เสมอภาคเป็นความยุติธรรมนั่นเอง

ควรกล่าวด้วยว่าในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบบสัญลักษณ์ พิธีกรรม และวิธีปฎิบัติต่าง ๆที่ทำให้คนยอมรับว่าความไม่เสมอภาคเป็นสิ่งที่ยุติธรรมนั้น มีรากฐานมาจากการเลือกเอาวัฒนธรรมเดิมบางส่วนมานิยามความหมายใหม่ ตัวอย่างที่ชัดเจนปรากฏในหนังสือ พระราชพิธีสิบสองเดือน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะเดียวกันก็มีการรับวัฒนธรรมตะวันตกเข้ามาทำให้กลายเป็นไทยตามหลัก "ความฉลาดในการประสานประโยชน์"ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เช่น การมีพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา การพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเหรียญตราตลอดจนเครื่องหมายอื่น ๆ การใช้ธง การใช้เครื่องแบบ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ประกอบกันขึ้นเป็นวัฒนธรรมไทยยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ส่งผลให้ "ความยุติธรรม"หมายถึงการได้และการเสียสิ่งต่าง ๆ ตามสถานภาพทางสังคมที่ตนมีอยู่ และสถานภาพทางสังคมนี้ผูกพันโดยตรงกับชาติกำเนิดของบุคคล

นับตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ชีวิตของประชาชนขึ้นอยู่กับความยุติธรรมที่รัฐอำนวยให้มากขึ้นเรื่อย ๆ ความยุติธรรมที่เครือญาติและชุมชนเคยอำนวยให้นั้นมีความสำคัญน้อยลงตามลำดับ จะเห็นได้ว่าความรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด การได้รางวัลและการลงโทษมาจาก "ผี" และคนใกล้ชิดน้อยลง แต่จะมาจากรัฐมากขึ้น

แม้ว่ายุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์จะสิ้นสุดลงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 แต่ชนชั้นนำของไทยยังคงพยายามรักษาระบบความสัมพันธ์เชิงอำนาจในแนวดิ่งนี้ไว้ด้วยการเสริมสร้างและธำรงรักษา "ความเป็นไทย" ทางวัฒนธรรมตลอดมา เช่น ศีลธรรมไทย มารยาทไทย ภาษาไทย พิธีกรรมและประเพณีไทย ฯลฯ ดังนั้นความหมายของ "ความยุติธรรม"ในวัฒนธรรมไทยกระแสหลักจึงแทบจะไม่เปลี่ยนแปลง

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง (สืบมาจนถึงปัจจุบัน) ลัทธิผู้นำ (Elitism) มีความสำคัญมากในรัฐไทย มีการสืบทอดวัฒนธรรมทางความคิดว่า ผู้นำชาติมีความสำคัญสูงสุดต่อชะตากรรมของคนในชาติ การแก้ปัญหาและการพัฒนาชาติขึ้นอยู่กับผู้นำที่มีบุคลิกภาพพิเศษ รวมทั้งมีสติปัญญาและคุณธรรมเหนือกว่าผู้อื่น แต่อย่างไรก็ตาม ในยุคหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองนี้มีความจำเป็นต้องอ้างต่อสังคมว่าเป็นการปกครองแบบ"ประชาธิปไตย" ทำให้ต้องเน้นว่าเป็นการปกครองตามความคิดของคนส่วนใหญ่หรือของคนทั้งประเทศ ทางออกจึงได้แก่ การสร้างชาติทางวัฒนธรรม ที่เรียกว่า "รัฐนิยม"บ้าง "มนุสสปฏิวัติ"บ้าง "การรักษาความเป็นไทยทางจิตใจเอาไว้"บ้าง(4)

ทั้งหมดนี้ล้วนทำให้คนไทยมีวัฒนธรรมทางความคิดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือเชื่อในความสำคัญของชาติไทยและลักษณะพิเศษของชนชาติไทยที่รักษาเอกราช และสร้างความเจริญมาได้ภายใต้ผู้นำแบบไทยที่มีความสามารถพิเศษ และวัฒนธรรมทางความคิดนี้นำไปสู่การยอมรับอำนาจและความสำคัญของผู้นำโดยถือว่าความคิดของผู้นำสะท้อนมติมหาชน (public opinion) (เพราะมหาชนได้ผ่านกระบวนการ "มนุสสปฏิวัติ" หรือผ่านกระบวนการปลูกฝัง "ความเป็นไทยทางจิตใจ" มาแล้ว มหาชนจึงคิดในกรอบที่ผู้นำต้องการให้คิดอยู่เสมอ) ในแง่นี้ "มติมหาชน" จึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความคิดของผู้นำ ซึ่งในทางปฏิบัติแล้ว "มติมหาชน" นี้เป็นเพียงข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่ความคิดของผู้นำเท่านั้น ดังนั้น ผู้นำจึงยังคงเป็นผู้อำนวยความยุติธรรมมาโดยตลอด

กฎหมายที่ตราขึ้นในยุคที่ประเทศไทยไม่มีรัฐสภา ประกาศคณะปฏิวัติ และมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองแห่งประเทศไทยที่ผู้นำเผด็จการสถาปนาขึ้น ล้วนอ้างว่าสะท้อนเจตนารมณ์ของ "มหาชน" และเป็นสิ่งอำนวยความยุติธรรมทั้งสิ้น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ถึงกับสร้างประวัติศาสตร์การปกครองของไทยสมัยสุโขทัยขึ้นมาเพื่อให้ "กฎหมาย" ที่ออกโดยผู้นำเผด็จการเหล่านี้มีรากฐานอยู่ในวัฒนธรรมไทยแต่โบราณ ทั้งนี้โดยการทำให้ "การปกครองสมัยสุโขทัย" กลายเป็นอุดมคติของการปกครองแบบไทย แล้วระบุว่าสมัยสุโขทัยนั้นไม่มีศาล ผู้ปกครอง "เป็นต้นแห่งความยุติธรรม และทรงใช้อำนาจตระลาการด้วยพระองค์เอง"(5) และการปกครองแบบไทยนี้ผู้ปกครองได้ทำหน้าที่ควบคุมฝ่ายบริหารอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่จะต้องมีรัฐสภา(6)

การปกครองแบบไทยหรือ "ประชาธิปไตยแบบไทย" ดังที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์เสนอนี้ เป็นรากฐานของวัฒนธรรมทางการเมืองของไทย ที่ผู้นำมีอำนาจเด็ดขาดสูงสุด ซึ่งปกครองให้ประชาชน "อยู่เย็นเป็นสุข" หรือ "อยู่ดีกินดี"(7) เพราะผู้นำคือผู้มีความเมตตากรุณาและจรรโลงความยุติธรรม(8)

มักเข้าใจกันว่าแนวความคิดนี้ถูกสร้างขึ้นในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่แท้ที่จริงแล้วเป็นแนวความคิดที่สืบทอดมาจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะเป็นแนวความคิดที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพปัญญาชนสำคัญของรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ทรงสถาปนาขึ้น

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้ทรงสร้างอัตลักษณ์ (Identity)ของผู้นำในอุดมคติของรัฐไทยสมัยใหม่ขึ้นมา คือ "สมเด็จพระปิยมหาราช" ความหมายของคำ ๆ นี้คือ "พระเจ้าแผ่นดินผู้ทรงไว้ซึ่งความรักของคนทั้งหลาย"(9) เพราะทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินของประชาชนและทำการปกครองเพื่อประชาชน หน้าที่สำคัญประการหนึ่งของ"สมเด็จพระปิยมหาราช"ที่ทรงกระทำเพื่อประชาชน ก็คือ การอำนวยความยุติธรรมให้แก่พสกนิกรของพระองค์ ดังปรากฏว่าพระราชกรณียกิจสำคัญของ"สมเด็จพระปิยมหาราช" ได้แก่ "...ได้ทรงเปลี่ยนแปลงไปเปนอย่างสำคัญมาก... ตั้งกระทรวงยุติธรรมแลศาลที่ชำระอรรถคดี ให้ราษฎรได้รับความยุติธรรมเสมอหน้ากัน...(10)

ข้อความที่ว่า "ให้ราษฎรได้รับความยุติธรรมเสมอหน้ากัน"นี้ มิได้หมายความว่าทุกคนในรัฐมีความเสมอภาคกัน แต่หมายถึงมีความเท่าเทียมกันในบรรดาคนที่อยู่ในชนชั้นเดียวกันเท่านั้น ดังนั้นในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งความยุติธรรมมาจากพระมหากษัตริย์นี้ โดยอุดมคติแล้วคนแต่ละคนจึงได้รับความยุติธรรมตามควรแก่สถานภาพของตน

หากพิจารณาจากคุณสมบัติและพันธกิจต่อประชาชนแล้ว "สมเด็จพระปิยมหาราช" กับ "พ่อขุนอุปถัมภ์" ในยุคจอมพลสฤทธิ์ ธนะรัชต์ แทบจะไม่แตกต่างกัน เพราะพ่อขุนอุปถัมภ์ก็เป็นผู้ที่มีปัญญาและมีความเมตตากรุณาในการทำหน้าที่ช่วยให้ประชาชน "อยู่ดีกินดี" และได้รับความยุติธรรม "เสมอหน้ากัน" เช่นเดียวกัน โดยที่ "ความเสมอหน้า" ในยุคจอมพลสฤทธิ์ ธนะรัชต์ก็มิได้หมายถึงความเท่าเทียมกันในบรรดาคนทุกชั้นในสังคมไทย (และความเสมอหน้ามีความหมายว่าอย่างไร หมายความว่าทุกคนจะมีส่วนได้รับประโยชน์แต่ไม่จำเป็นต้องเท่าเทียมกัน)

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ปัญญาชนสำคัญที่สร้างฐานทางความคิดให้แก่ระบอบเผด็จการของจอมพลสฤษดิ์ ได้พยายามทำให้เกิดการยอมรับโครงสร้างสังคมที่ไม่เท่าเทียมกัน คือให้คนไทย "รู้ที่ต่ำที่สูง"(11) ทั้งม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชและปัญญาชนร่วมสมัย คือ หลวงวิจิตรวาทการซึ่งทำงานให้แก่จอมพล ป.พิบูลสงครามและจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ล้วนแต่เน้นความสำคัญของ "ผู้นำ" ไว้อย่างสูง ในขณะที่ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชพยายามสร้างประวัติศาสตร์ให้แก่ "ระบอบการปกครองแบบไทย" ดังกล่าวมาแล้ว หลวงวิจิตรวาทการได้เน้นไว้อย่างตรงไปตรงมาว่า ผู้นำซึ่งมีปัญญาและจิตใจเหนือกว่าผู้อื่นนั้น เป็นผู้ที่ "มีความยุติธรรม...คือการกำหนดว่าอย่างไรเป็นการถูกต้อง"(12) และ "ผู้นำเป็นตัวมติมหาชน...มติมหาชนจะเป็นตำรวจ เป็นอัยการ เป็นศาลไปในเวลาเดียวกัน"(13) ซึ่งหมายความว่าโดยทฤษฎีแล้วผู้นำเป็นที่มาของกระบวนการยุติธรรมทั้งกระบวนการ ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจและการถ่วงดุลย์หรือการตรวจสอบอำนาจแต่อย่างใดทั้งสิ้น

กล่าวได้ว่า อำนาจของผู้นำเผด็จการของไทย รวมทั้งที่แสดงออกในคำสั่งและประกาศคณะปฏิวัติตลอดจนในมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักรไทย มิใช่อำนาจที่มาจากปากกระบอกปืนเพียงอย่างเดียว แต่เป็นอำนาจที่มีวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยเป็นฐานรองรับอย่างมั่นคง จึงเป็นอำนาจที่สามารถสืบทอดมาได้จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าทหารจะหมดอำนาจไปนานพอสมควรแล้วก็ตาม

นอกจากนี้หลวงวิจิตรวาทการ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช และคนไทยทั่วไปยังเน้นความคิดทางศีลธรรมอีกหลายประการที่จรรโลงโครงสร้างสังคมที่ไม่เสมอภาค เช่น ความกตัญญูกตเวที ความเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ ความเสียสละ ฯลฯ ซึ่งทำให้ "ความยุติธรรม" ในรัฐและสังคมไทยเป็น "ความยุติธรรม"ที่ไม่เสมอภาคโดยไม่ขัดต่อหลักศีลธรรมที่คนไทยยึดถือ

ข้อที่น่าสังเกตเป็นพิเศษก็คือ เมื่อความคิดเรื่องความยุติธรรมเผชิญหน้ากับความคิดชาตินิยม "ความยุติธรรม" ยิ่งปราศจากความหมายมากขึ้น ลักษณะของลัทธิชาตินิยมที่หลวงวิจิตรวาทการกล่าวถึงซึ่งกลายเป็นความคิดกระแสหลักของไทยนั้น ล้วนแต่เอื้อให้รัฐกระทำการใด ๆ ในนามของผลประโยชน์ของชาติหรือของส่วนรวมโดยไม่ต้องคำนึงถึงความยุติธรรม เช่น ลัทธิชาตินิยมนั้น "ถือส่วนรวมเป็นสำคัญกว่าส่วนย่อย"(13) "สิทธิที่จะทำอะไรตามใจชอบโดยไม่คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมนั้นควรรอนเสียได้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพราะถ้าปล่อยให้ประโยชน์ส่วนตัวบุคคลขัดกับประโยชน์ส่วนรวมอยู่ได้แล้ว ก็เป็นทางแห่งความล่มจมของชาติ"(15) ผู้นำชาติจะต้อง "ใจแข็งพอที่จะฆ่าคนซึ่งไม่ยอมเดินพร้อมกัน"(16) มหาบุรุษที่ทำงานเพื่อชาติต้อง "กระทำการเด็ดขาด...กำจัดพวกที่แข็งข้อ ใครที่ขัดขวางต่อประศาสโนบายของท่านก็ถูกลงโทษ ถูกจำคุกจนตาย...ประหารชีวิต..."(17) "ความยุติธรรม" ใน "วัฒนธรรมไทยแบบชาตินิยม" จึงเป็นความยุติธรรมที่ไม่เสมอภาคอย่างยิ่ง และชาตินิยมยังเป็นฐานคิดสำหรับการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา โดยถือว่าผู้กระทำอันตรายต่อชาตินั้นหากถูกลงโทษอย่างรุนแรงก็สาสมกับความผิดอันใหญ่หลวงที่ได้กระทำลงไป หรือถือได้ว่าเป็นการลงโทษที่ยุติธรรมแล้วนั่นเอง

เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่า เมื่อรัฐส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอย่างเต็มที่ในยุคพัฒนาประเทศเป็นต้นมา ความคิดเรื่องความยุติธรรมอีกอย่างหนึ่งซึ่งเพิ่งเกิดขึ้น ก็ได้หมดความหมายไป นั่นคือความคิดเรื่อง "ราคาที่ยุติธรรม" หลวงวิจิตรวาทการเคยพยายามเสนอให้รัฐบาลใช้สหกรณ์หลายประเภทเป็นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยหวังว่าระบบสหกรณ์นี้จะช่วย "ขจัดการค้ากำไร" ของพ่อค้าจีน และหวังด้วยว่า " สหกรณ์เป็นเครื่องมืออันมีสมรรถภาพที่สุดสำหรับควบคุมและตั้งราคาที่ยุติธรรม"(18)

แต่นโยบายการพัฒนาประเทศที่ลำเอียงเข้าข้างนายทุน ทำให้รัฐบาลมีนโยบายกดค่าแรงให้ต่ำและไม่สนใจทำให้ราคาสินค้ามีความยุติธรรม มีการตั้งกำแพงภาษีสินค้าเข้าบางประเภทเพื่อปกป้องการลงทุนภายในประเทศ (เช่น รถยนต์) หรือจำกัดปริมาณการส่งสินค้าออกบางประเภท (เช่น เมล็ดละหุ่ง) เพื่อทำให้ราคาวัตถุดิบในประเทศมีราคาต่ำ ส่วนนโยบายเก็บค่าพรีเมี่ยมข้าวก็เห็นได้ชัดอยู่แล้วว่า ทำให้ราคาข้าวของชาวนาถูกกดให้ต่ำกว่าราคาข้าวในตลาดโลกเป็นอันมาก การพัฒนาประเทศจึงทำให้กรรมกรและชาวนาอยู่ห่างไกลจากการได้รับความยุติธรรมอย่างที่สุด ในขณะที่ผู้นำรัฐอยู่ในฐานะเป็นแหล่งที่มาของ "ความยุติธรรม" ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ตราบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน "ราคาที่ยุติธรรม" จึงไม่เคยกลายเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมทางความคิดของไทย และรัฐก็ไม่เคยมีนโยบายกระจายรายได้อย่างแท้จริง แม้ว่าจะระบุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาหลายฉบับแล้วก็ตาม

อนึ่ง แนวความคิดชาตินิยมกระแสหลักที่เน้นว่า "ความเจริญส่วนตัวบุคคลก็เป็นธาตุผสมให้กลายเป็นความเจริญของบ้านเมือง" ก็เป็นรากฐานทางความคิดให้แก่ระบบเศรษฐกิจแบบ "มือใครยาวสาวได้สาวเอา" ใครมี "มือยาว"สาวได้มาก ใครมี "มือสั้น" สาวได้น้อยเช่นนี้ ถือว่าเป็นความยุติธรรม ยิ่งเมื่อประกอบเข้ากับการที่คนไทยให้คุณค่าแก่ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ (คือมองการมีเส้นสายไปในแง่ดี) ก็ยิ่งเปิดโอกาสให้คนที่มี "มือยาว" อยู่แล้วมีโอกาสที่จะต่อ "มือ" ของตัวเองให้ยาวยิ่งขึ้นไปอีก และมีอภิสิทธ์มากขึ้นไปอีก

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเรื่องวัฒนธรรมไทยและความคิดเรื่องความยุติธรรมกระแสหลัก ซึ่ง "ความยุติธรรม" หมายถึงสภาวะที่คน "ได้" และ "เสีย" อย่างไม่เท่าเทียมกันเนื่องจากมีสถานภาพทางสังคมแตกต่างกัน ในขณะที่ความคิดกระแสหลักดังกล่าวนี้มีอิทธิพลอย่างสูงในสังคมไทยนั้น นับตั้งแต่ประมาณทศวรรษที่ 2470 เป็นต้นมาก็ได้เกิดความคิดใหม่เกี่ยวกับ "ความยุติธรรม" ขึ้นมาในหมู่ชนชั้นกลางบางกลุ่มที่แตกต่างไปจากความคิดกระแสหลักอยู่มาก เนื่องจากชนชั้นกลางไทยในช่วงนั้นมีความหลากหลาย ความคิดเรื่องความยุติธรรมที่ปรากฏให้เห็นจึงมีความหลากหลายตามไปด้วย ผู้เขียนยังไม่มีโอกาสศึกษาวัฒนธรรมทางความคิดของชนชั้นกลางไทยโดยละเอียด จึงขอเสนอเป็นข้อสังเกตเบื้องต้น ดังนี้

ความยุติธรรมแบบศรีบูรพา (กุหลาบ สายประดิษฐ์)
ศรีบูรพาเป็นปัญญาชนหัวก้าวหน้าที่เด่นที่สุดคนหนึ่งของไทย มีอิทธิพลทางความคิดมากในช่วงทศวรรษ 2490 ซึ่งศรีบูรพาเขียนหนังสือและนวนิยายที่มีชื่อเสียงหลายเรื่อง กับในทศวรรษ 2510 ซึ่งงานเขียนของศรีบูรพาได้รับการตีพิมพ์ซ้ำ และเป็นที่นิยมอ่านอย่างกว้างขวางในหมู่นักศึกษาและชนชั้นกลางรุ่นใหม่

"ความยุติธรรม" ในทัศนะของศรีบูรพาผูกพันกับความคิดเรื่อง "มนุษยภาพ" คือความเป็นมนุษย์ที่มีจิตใจและปัญญาโดยไม่ขึ้นกับชาติกำเนิด เพศ วัย ศาสนา ชาติพันธุ์ สถานภาพทางสังคม ฯลฯ ดังนั้น มนุษย์ทุกคนจึงมีสิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ "มนุษยภาพ"นี้ เป็นเกณฑ์ในการตัดสินว่าอะไรยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรม ความคิดและการกระทำใดที่จะถือว่ายุติธรรมได้ก็ต่อเมื่อเป็นความคิดและการกระทำที่ไม่ละเมิดต่อ "มนุษยภาพ" ตรงกันข้ามหากความคิดและการกระทำใดละเมิดมนุษยภาพก็ถือว่าไม่ยุติธรรม (หรือ "อยุติธรรม") ส่วนการลงโทษที่ยุติธรรมก็คือการลงโทษต่อผู้ที่ละเมิด "มนุษยภาพ" ตามสมควรแก่ความผิดที่เขาได้กระทำลงไป โดยที่การลงโทษนั้นจะต้องไม่ละเมิดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของผู้ที่ถูกลงโทษด้วย

ความยุติธรรมแบบ "เสือดำ- เสือใบ"
นวนิยาย"เสือดำ" และ "เสือใบ" เขียนโดย ป. อินทรปาลิต ในช่วงทศวรรษ 2490 เป็นนวนิยายที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง จน "เสือดำ" และ "เสือใบ" กลายเป็น "วีรบุรุษ" ของคนชั้นกลางไทยจำนวนไม่น้อย(19)

ความยุติธรรมแบบ"เสือดำ-เสือใบ"เป็นวัฒนธรรมทางความคิดที่สืบเนื่องมาจากความคิดกระแสหลัก แต่ย่อส่วนลงมาเป็นระบบความสัมพันธ์ในชุมโจรและระหว่างผู้นำโจรกับคนในท้องถิ่น ไม่ใช่ระบบความสัมพันธ์ระดับชาติ ความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นเป็นความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่าง "ผู้ใหญ่" กับ "ผู้น้อย" และ "ความยุติธรรม" ก็ผูกพันกับระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อยนี้ กล่าวคือ การลงโทษผู้ที่ละเมิดต่อศีลธรรมของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ไม่ว่าจะเป็นการลงโทษที่รุนแรงหรือผิดกฏหมายเพียงใดและอย่างไร ก็ถือว่าเป็น "ความยุติธรรม" เช่น การที่เสือใบและเสือดำยิงข้าราชการที่รังแกประชาชน พ่อค้าและนายทุนเงินกู้หน้าเลือด ตลอดจนลูกน้องที่ทรยศ เพราะคนเหล่านี้ทำผิดหลัก "ธรรม" นั่นคือละเมิดศีลธรรมของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ การจัดการกับผู้ละเมิดศีลธรรมของระบบอุปถัมภ์โดยใช้ความรุนแรงเป็นความยุติธรรม จึงทำให้คนทั้งหลายที่ได้รับรู้ ยังคงเคารพนับถือผู้นำชุมโจรอยู่ต่อไป

ผลงานสำคัญเรื่องหนึ่งของรองศาสตราจารย์ ดร. ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ คือ ชีวิตและจุดจบของสลัมกรุงเทพฯแห่งหนึ่ง(20) แสดงให้เห็นว่าการละเมิดศีลธรรมในเรื่อง "ความยุติธรรม"ซึ่งเกิดขึ้นกลุ่มคนที่มีความสัมพันธ์กันในเชิงอุปถัมภ์เป็นความผิดที่ร้ายแรง ในสลัมซึ่งมีความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์เป็นระบบความสัมพันธ์หลักนั้น เมื่อผู้นำกลุ่มอุปถัมภ์ที่ใหญ่ที่สุดในสลัมแห่งหนึ่งละเมิดศีลธรรมของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ในเรื่องความยุติธรรม ก็ทำให้ลูกน้องหมดความนับถือ และเป็นเหตุให้สลัมแห่งนั้นต้องถึงจุดจบโดยไม่สามารถรื้อฟื้นขึ้นมาได้อีก

ความยุติธรรมในระบบอุปถัมภ์หมายถึงการที่ลูกน้องที่ใกล้ชิดที่สุดจะต้องได้รับส่วนแบ่งก่อนและได้รับมากที่สุดรองลงมาจากผู้นำกลุ่ม ไม่ใช่การแบ่งโดยพิจารณาจากความจำเป็นและไม่ใช่การแบ่งอย่างเสมอภาค เมื่อผู้นำกลุ่มอุปถัมภ์แบ่งสิ่งของตามความจำเป็นก็ทำให้ลูกน้องที่ใกล้ชิดที่สุดมีความโกรธเคืองผู้นำกลุ่มอุปถัมภ์อย่างรุนแรง ถึงกับปฏิเสธความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ที่มีต่อกันมายาวนาน ข้อเท็จจริงนี้ไม่เพียงแต่สะท้อนว่าในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์มีความ "ยุติธรรม" ที่ไม่เสมอภาคเท่านั้น แต่ยังสะท้อนด้วยว่าการละเมิดศีลธรรมในเรื่องความยุติธรรมตามทัศนะของผู้อยู่ในความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์นั้น เป็นความผิดที่ร้ายแรงจนไม่สามารถที่จะให้อภัยได้ แม้ว่าผู้ละเมิดจะเป็นผู้นำกลุ่มอุปถัมภ์ก็ตาม

ความยุติธรรมแบบชนชั้นกลางไทยทั่วไป
อิทธิพลของวัฒนธรรมทางความคิดกระแสหลัก ทำให้ชนชั้นกลางคิดถึง "ชาติไทย" ในแง่ที่ประกอบขึ้นด้วยคนที่มีลำดับชั้นต่าง ๆ (hierarchy) ซึ่งคนในแต่ละชั้นต่างก็ทำหน้าที่ของตนโดยไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของคนอื่น และแต่ละคนต้องพยายามทำให้ตนเองเจริญก้าวหน้ามากที่สุดเพราะ "ความเจริญส่วนตัวบุคคลก็เป็นธาตุผสมให้กลายเป็นความเจริญของบ้านเมือง...เป็นบ่อเกิดอันแท้จริงแห่งความมั่นคงและแข็งแรงของชาติ"(21)

ความคิดที่เน้นให้ปัจเจกบุคลไต่เต้าให้สูงที่สุดในระบบสังคมที่มีชนชั้นนี้ เมื่อประกอบเข้ากับวัฒนธรรมทางความคิดที่ถือว่า ความสำเร็จหรือความล้มเหลวมาจากปัจจัยด้านศีลธรรมส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม ก็ทำให้รัฐไม่ต้องคำนึงถึงมาตรการในการกระจายรายได้ ขณะเดียวกันก็เป็นพื้นฐานทางความคิดให้แก่ระบบเศรษฐกิจแบบ "มือใครยาวสาวได้สาวเอา" ชนชั้นกลางไทยจึงนึกถึงความยุติธรรมในแง่ที่ไม่ได้หมายถึงการกระจายรายได้อย่างเสมอภาค

นอกจากนี้ในทัศนะของชนชั้นกลางไทย "ความยุติธรรม" ไม่ได้หมายถึง"การแข่งขันเสรี" อีกด้วย ทั้งนี้เพราะชนชั้นกลางไทยยอมรับความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ทำให้ไม่รังเกียจการ "ต่อมือให้ยาวขึ้น" หรือไม่รังเกียจการใช้เส้นสาย ดังนั้น การสร้างระบบผูกขาด การใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อค้ำจุนธุรกิจ ตลอดจนการคอร์รัปชั่นจึงมีวัฒนธรรมทางความคิดเรื่อง "ความยุติธรรม" เป็นฐานรองรับอยู่มากทีเดียว กล่าวได้ว่าในวัฒนธรรมไทย การมีระบบเศรษฐกิจที่ไม่มีการแข่งขันเสรีเป็นเรื่องปรกติธรรมดา

เป็นที่น่าสังเกตว่า อย่างน้อยตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา ความคิดเรื่อง "ความยุติธรรม" ในวัฒนธรรมไทยได้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับความคิดเรื่อง "ลูกผู้ชาย" อยู่เสมอ "ลูกผู้ชาย"ในวัฒนธรรมไทยมีคุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งคือการมีความรักใน "ความยุติธรรม" อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วความคิดเรื่อง "ความยุติธรรม" ที่เชื่อมโยงกับความคิดเรื่อง "ลูกผู้ชาย" นี้มีความหมายค่อนข้างแคบ(22) นั่นคือหมายถึงการ "ไม่ลอบกัด" ผู้อื่น แต่จะต้องต่อสู้กันซึ่ง ๆ หน้า ความพ่ายแพ้จากการต่อสู้กับศัตรูอย่างซึ่ง ๆ หน้าถือว่ามีเกียรติกว่าชัยชนะที่ได้มาจากการลอบกัด เมื่อพิจารณาความคิดเรื่อง "ความยุติธรรม" ที่เชื่อมโยงกับความคิดเรื่อง "ลูกผู้ชาย" ซึ่งมีความหมายแคบมากเช่นนี้แล้ว ก็เห็นได้ชัดว่า "ลูกผู้ชาย" ที่รักความยุติธรรมนั้นหาได้รักในความเป็นธรรมทางสังคมแต่อย่างใดไม่

แม้แต่ "ลูกผู้ชาย" อย่าง "เสือดำ" และ "เสือใบ" ที่ไปปล้นคนรวยเอาทรัพย์สินมาแบ่งให้คนจน ก็ไม่มีความหมายในแง่ของการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม แต่มีความหมายในแง่ของการลงโทษคนเลวซึ่งละเมิดศีลธรรมของความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ แล้วสถาปนาความสัมพันธ์อันถูกต้องในระบบอุปถัมภ์ขึ้นมาใหม่ระหว่างผู้นำกับลูกน้องและชาวบ้านซึ่งเป็นบริวาร ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์นี้เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาคอย่างยิ่งและขาดเสรีภาพในการแลกเปลี่ยนอย่างยิ่งด้วย

ในปัจจุบันมีนักวิชาการและนักพัฒนาเอกชนจำนวนหนึ่งคิดถึง "ความยุติธรรม" ในแง่ของความเสมอภาคในโอกาส และพยายามหาทางทำให้มิติต่าง ๆ ในชีวิตของคนด้อยโอกาสดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ด้อยโอกาสอันเนื่องจากฐานะทางเศรษฐกิจ เพศ วัย ชาติพันธุ์ หรือถิ่นที่อยู่ โดยเน้นไปที่การแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง นับเป็นการมอง "ความยุติธรรม" ที่มีความเสมอภาค แต่"ความยุติธรรม" ในแง่นี้จะบังเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้สำเร็จ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะไม่ใช่ปัญหาในขอบเขตของรัฐชาติหนึ่ง ๆ เท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เชื่อมโยงไปถึงโครงสร้างของระบบทุนนิยมโลก

นักวิชาการและนักพัฒนาเอกชนในปัจจุบันไม่นึกถึงการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพทั่วโลกเพื่อสร้างโลกที่มีความยุติธรรมและความเสมอภาคอีกต่อไป แต่นึกถึงการสร้างองค์กรและเครือข่ายขององค์กรระดับต่าง ๆ รวมทั้งองค์กร "ข้ามชาติ" เพื่อสร้างอำนาจในการต่อรองหรือในการผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหา แต่ถึงแม้จะมีการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social movements) เกิดขึ้นไม่น้อย ล่าสุดคือการเคลื่อนไหวคัดค้านการรุกรานอิรัคของสหรัฐอเมริกา แต่ความอยุติธรรมในรัฐไทยและในโลกก็ยังมีอยู่เหลือคณานับ

"ความยุติธรรมที่มีความเสมอภาค" เป็นความคิดนามธรรมที่เกิดขึ้นในกลุ่มคนไทยจำนวนน้อยและไม่มีฐานของวัฒนธรรมทางความคิดในสังคมไทยรองรับ จึงเป็นความคิดที่มีพลังน้อยมากในสังคมไทย และไม่อาจคาดหมายได้เลยว่าอีกนานเพียงใดจึงจะกลายเป็นความคิดกระแสหลักขึ้นมาได้

ดังนั้น "ความอยุติธรรม" อันเป็นแก่นแท้ของระบบความสัมพันธ์ในรัฐไทยและสังคมไทยอย่างสืบเนื่องยาวนานนับร้อยปี จึงยังคงดำรงอยู่ และแสดงออกในรูปลักษณ์ต่าง ๆ อย่างดาษดื่นตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยที่ความรุนแรงเชิงโครงสร้างและการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาบนรากฐานของวัฒนธรรมไทยที่ "ความยุติธรรม" หมายถึงความสัมพันธ์ที่ไม่เสมอภาค และ "ชาติไทย"ที่มั่นคงและเจริญก้าวหน้ามีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดนั้น ก็ดำรงอยู่สืบมาเช่นกัน

(1) บทความนี้ผู้เขียนสังเคราะห์ขึ้นมาจากผลงานวิจัยที่เคยทำมาในอดีต มิได้ทำการศึกษาค้นคว้าใหม่อย่างกว้างขวางแต่อย่างใด จึงใคร่ขออภัยในความบกพร่องทั้งปวงมา ณ ที่นี้

(2) โปรดดู สายชล สัตยานุรักษ์, พุทธศาสนากับแนวความคิดทางการเมืองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน,2545.

(3) โปรดดูรายละเอียดใน สายชล สัตยานุรักษ์, สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ : การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น" ของชาวสยาม, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2546.

(4) คำว่า "รัฐนิยม" ถูกใช้โดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีหลวงวิจิตรวาทการเป็นประธานคณะกรรมการรัฐนิยม หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรเป็นประธานที่ปรึกษา คำว่า "มนุสสปฏิวัติ" ถูกใช้โดยหลวงวิจิตรวาทการ ส่วนคำว่า "การรักษาความเป็นไทยทางจิตใจ" ถูกใช้โดย ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช

(5) ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช, "การปกครองสมัยสุโขทัย", ใน หนังสืออ่านประกอบวิชาพื้นฐานอารยธรรมไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2514 หน้า 84.

(6) เรื่องเดียวกัน, หน้า 82-83.
(7) คำว่า "อยู่เย็นเป็นสุข" นิยมใช้ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ส่วน "อยู่ดีกินดี" นิยมใช้ในสมัยพัฒนาประเทศในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ เป็นต้นมา เป็นที่น่าสังเกตว่า "อยู่ดีกินดี" สะท้อนการให้ความสำคัญแก่ความสุขทางวัตถุมากขึ้น และเป็นรากฐานให้แก่การขยายตัวของบริโภคนิยมในเวลาต่อมา

(8) อันที่จริงแนวคิดนี้เห็นได้ชัดว่าสืบทอดมาจากคติธรรมิกราชาธิรา๙ซึ่งได้รับการสถาปนาขึ้นในรัชกาลที่ 1 เพียงแต่มิได้ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระโพธิสัตว์

(9) หจช. สบ2./13 ปาฐกถาเรื่องพงศาวดารแสดงพระเกียรติสมเด็จพระปิยมหาราช ๙ึ่งสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแสดงทางวิทยุกระจายเสียง เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2474.

(10) โปรดดูรายละเอียดใน สายชล สัตยานุรักษ์, สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ : การสร้างอัตลักษณ์ "เมืองไทย" และ "ชั้น" ของชาวสยาม, กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2546.

(11) หจช. สบ2./13 ปาฐกถาเรื่องพงศาวดารแสดงพระเกียรติสมเด็จพระปิยมหาราช ซึ่งสมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงแสดงทางวิทยุกระจายเสียง เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2474. 10 ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, "การสืบเนื่องและการถ่ายทอดนาฏศิลป์ไทย" การสัมมนานาฏศิลป์และดนตรีไทย ณ สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 23-24 มิถุนายน 2522

(12) หลวงวิจิตรวาทการ, วิชาการเมืองของอริสโตเติล" ใน วิจิตรสารเล่ม 2 กรุงเทพฯ : มงคลการพิมพ์, 2508. หน้า 221.

(13) หจช., ศธ.0701.29/4 เอกสารกระทรวงศึกษาธิการ กรมศิลปากร ปาฐกถาเรื่องรัฐนิยม หลวงวิจิตรวาทการแสดงทางวิทยุกระจายเสียง กรกฎาคม 2482.

(14) หลวงวิจิตรวาทการ, ชาตินิยม กรุงเทพฯ :ศูนย์วัฒนธรรมธุรกิจบัณฑิตย์, 2528. หน้า 38.
(15) หลวงวิจิตรวาทการ, อนาคต, พระนคร : เขษมบรรณกิจ, 2502.หน้า 279.

(16) หลวงวิจิตรวาทการ, "รัฐบุรุษคนสำคัญในปัจจุบัน" ใน รวมปาฐกถาของหลวงวิจิตรวาทการ กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2515. หน้า 212-213.

(17) หลวงวิจิตรวาทการ, มหาบุรุษ กรุงเทพฯ : เสริมวิทย์บรรณาคาร, 2520. หน้า 2.
(18) หลวงวิจิตรวาทการ, ชาตินิยม กรุงเทพฯ : ดำรงการพิมพ์, 2528. หน้า 59.

(19) อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยเขียนว่า อาจารย์เป็น "ใบอิสต์" จึงกล่าวได้ว่า "เสือใบ" เป็นวีรบุรุษคนหนึ่งในสายตาของอาจารย์นิธิ ในแง่ที่"เสือใบ" เป็นผู้ "มีวิญญานเสรี" คือได้ต่อสู้จนสามารถมีชีวิตที่มีเสรีภาพจากอำนาจรัฐเผด็จการ

(20) ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์, ชีวิตและจุดจบของสลัมกรุงเทพฯแห่งหนึ่ง กรุงเทพฯ : มูลนิธิภูมิปัญญา, 2537.

(21) หลวงวิจิตรวาทการ, มหาบุรุษ . หน้า158-159.
( 22) ผู้เขียนยังไม่ได้ศึกษาเรื่อง "ลูกผู้ชาย" ในทัศนะของศรีบูรพา แต่คาดว่า "ความยุติธรรม" ของ "ลูกผู้ชาย" ที่ศรีบูรพาเสนอน่าจะแตกต่างจากที่คนทั่วไปรับรู้

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเสวนาในหัวข้อเรื่องเรื่อง "ความยุติธรรมกับสังคมไทย" จัดขึ้นในระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2546 ณ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน