เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม : ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543 (ครบรอบ 3 ปี)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

ข่าวเด่นที่ไม่เป็นข่าว 25 อันดับ ประจำปี 2544-2545
โดย : ภัควดี - นำมาจากกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
00200- ข่าวเด่นที่ไม่เป็นข่าว ประจำปี 2544-2545 ี [ 14 ก.ค. 2003 ]

(บทความนี้ยาวประมาณ 19 หน้ากระดาษ A4)

ข่าวเด่นที่ไม่เป็นข่าว 25 อันดับ ประจำปี 2544-2545
อันดับ 1 FCC ดำเนินการแปรรูปคลื่นวิทยุ
เป็นเวลาเกือบ 70 ปีที่คณะกรรมาธิการการสื่อสารของรัฐบาลกลาง (Federal Communications Commission-FCC) แห่งสหรัฐอเมริกา มีอำนาจบริหารและออกกฎข้อบังคับให้คลื่นวิทยุเป็น "สมบัติส่วนรวม" ทางอิเล็กโทรนิกส์ เพื่อผลประโยชน์ของชาวอเมริกัน

FCC ออกใบอนุญาตให้ผู้ดำเนินรายการวิทยุเป็นผู้เช่าความถี่ของคลื่นวิทยุหรือโทรทัศน์สถานีใดสถานีหนึ่ง แต่ไม่อนุญาตให้เป็นเจ้าของคลื่นความถี่นั้น ดังนั้น ตลอดเวลาที่ผ่านมา สาธารณชนจึงยังมีอำนาจในการควบคุมสื่อสารมวลชนประเภทนี้

หลายปีก่อน สถาบันเพื่อความก้าวหน้าและเสรีภาพ ออกรายงานในหัวข้อ "การปฏิวัติระบบโทรคมนาคม: โอกาสของอเมริกัน" โดยแนะนำให้แปรรูปคลื่นวิทยุให้เป็นของเอกชนอย่างสิ้นเชิง โดยผู้ดำเนินรายการวิทยุที่มีใบอนุญาตอยู่ในปัจจุบัน จะได้เป็นเจ้าของคลื่นความถี่ของตนโดยสมบูรณ์ เพื่อให้สามารถนำคลื่นความถี่นั้นไปซื้อขายแก่บริษัทอื่นได้ ส่วนคลื่นความถี่วิทยุอีกจำนวนเล็กน้อยที่ยังไม่มีการจัดสรร ก็จะถูกนำออกขายให้แก่ผู้ประมูลราคาสูงสุด เปรียบเสมือนเป็นอสังหาริมทรัพย์ทางอิเล็กโทรนิกส์

เมื่อการแปรรูปสำเร็จสมบูรณ์ FCC ก็จะถูกยกเลิกไปเพราะไม่มีอะไรเหลือให้คอยกำกับดูแลอีกแล้ว เหตุผลที่อ้างว่าอยู่เบื้องหลังแผนการนี้ก็คือ การให้รัฐบาลควบคุมคลื่นวิทยุมีแต่ความไร้ประสิทธิภาพ เมื่ออยู่ในกำมือของเอกชน คลื่นความถี่จะนำมาแลกเปลี่ยนซื้อขายในตลาดได้ และระบบอุปสงค์อุปทานในตลาดเสรีจะทำให้มีการใช้ "ทรัพย์สิน" ทางอิเล็กโทรนิกส์เหล่านี้อย่างสร้างสรรค์ที่สุด (และแน่นอน สร้างผลกำไรได้สูงสุดด้วย)

รัฐบาลคลินตันลงความเห็นว่า ข้อเสนอให้แปรรูปครั้งนี้ออกจะเรียกร้องมากเกินไป อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2001 ชั่วเวลาเพียงไม่กี่เดือนหลังจากประธานาธิบดีที่ "สนับสนุนธุรกิจ" มากกว่าเข้ารับตำแหน่ง นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของสหรัฐฯ 37 คนเข้าชื่อกันในจดหมายเรียกร้องให้ FCC ยินยอมให้ผู้ดำเนินรายการวิทยุปล่อยเช่าช่วงคลื่นความถี่ในตลาดได้ ความคิดของนักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ก็คือ การให้เช่าช่วงจะเป็นขั้นแรก ซึ่งจะตามมาด้วยการแปรรูปอย่างสมบูรณ์ทั้งประเทศ และในท้ายที่สุด ทุกประเทศจะถูกกระตุ้นให้ขายคลื่นความถี่แก่ผู้ประกอบการสื่อสารมวลชนข้ามชาติ

ไมเคิล เค. เพาเวลล์ ประธานของ FCC และบุตรชายของรัฐมนตรีต่างประเทศ โคลิน เพาเวลล์ กล่าวปราศรัยในทำนองว่า FCC เป็นอุปสรรคขัดขวางการเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ที่เปรียบได้กับการบุกเบิกตะวันตก เขาประกาศว่า "ผู้กดขี่คือกฎข้อบังคับ" ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2001 เพาเวลล์ยกเลิกอำนาจของ FCC ในการประเมินการดำเนินงานของผู้ประกอบการที่ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ส่วนรวม

การต่อต้านข้อเสนอในการแปรรูปคลื่นวิทยุมีมาจากหลายฝ่ายด้วยกัน กลุ่มที่สำคัญมีอาทิเช่น โครงการกฎหมายสื่อมวลชนเพื่อประชาธิปไตย (Democratic Media Legal Project-DMLP) ในซานฟรานซิสโก ซึ่งโต้แย้งว่าการแปรรูปนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญของสหรัฐฯ เพราะมันจำกัดความหลากหลายของการแสดงความคิดเห็น ละเลยหรือไม่เป็นตัวแทนที่ถูกต้องของกลุ่มทางสังคม การเมืองและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน และขาดความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม สื่อสารมวลขนที่ตั้งอยู่บนกำไรจากการโฆษณา สนับสนุนการควบรวมกิจการและการผูกขาดสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ เท่ากับทำให้สื่อสารมวลชนถูกตัดขาดจากประชาชนส่วนใหญ่ และพรากสิทธิในการปกครองตนเองไปจากประชาชน ทั้งนี้เพราะการปกครองตนเองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีความหลากหลายและไม่ปิดกั้นทางด้านทัศนคติ รวมทั้งรายงานข่าวที่ถูกต้องซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในสังคมข้อมูลประชาธิปไตย

สื่อมวลชนกระแสหลักส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกามีรายงานข่าวถึงการแปรรูปนี้เฉพาะในด้านเศรษฐกิจและการเมือง แต่มีข่าวน้อยมากเกี่ยวกับฝ่ายที่ต่อต้านข้อเสนอในการแปรรูป ยิ่งหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงผลกระทบที่มีต่อผลประโยชน์ของสาธารณชน ส่วนโครงการ DMLP นั้น ไม่เคยมีรายงานข่าวเอ่ยถึงเลย

อันดับ 2 ข้อตกลงทางการค้ารอบใหม่มุ่งแปรรูปบริการทางสังคมทั่วโลก
ข้อตกลงทางการค้ารอบใหม่มุ่งไปที่การแปรรูปบริการสาธารณประโยชน์เกือบทุกประเภทของรัฐบาล ให้กลายเป็นธุรกิจเอกชนและเปิดทางให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามาแสวงหากำไร

ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าภาคบริการ (GATS) คือข้อตกลงการค้าที่พยายามเปิดเสรี เพื่อทลายอุปสรรคที่เคยคุ้มครองบริการทางสังคมที่รัฐบาลเป็นผู้จัดหาให้ประชาชนมาโดยตลอด ข้อตกลง GATS ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2537 ตามมติของการประชุม "รอบอุรุกวัย" และในปี พ.ศ. 2538 ข้อตกลง GATS ก็ถูกผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์การการค้าโลกหรือ WTO

บรรษัทข้ามชาติต่างตั้งตารอที่จะได้ใช้ข้อตกลง GATS เพื่อหากำไรจากการแปรรูประบบการศึกษา สาธารณสุข การอนุบาลเด็ก พลังงาน การประปา ไปรษณีย์ ห้องสมุด พิพิธภัณฑ์และขนส่งมวลชน

ถ้าข้อตกลง GATS บรรลุขั้นสุดท้ายเมื่อไร มันจะล้อมกรอบระบบเศรษฐกิจของโลกให้เป็นไปเพื่อเอกชนและการแสวงหากำไรทั้งหมด GATS กับ WTO จะทำให้รัฐบาลที่แปรรูปบริการทางสังคมไปแล้วไม่สามารถหวนกลับมาใช้ระบบสาธารณะที่ไม่แสวงหากำไรได้อีก โดยถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

รัฐบาลใดก็ตามที่ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของ WTO จะต้องเผชิญกับการลงโทษทางการค้า สิ่งที่เคยเป็นสมบัติร่วมของสังคม เช่น ธนาคารเมล็ดพันธุ์ อากาศและแหล่งน้ำ สาธารณสุขและการศึกษา จะกลายเป็นสินค้า ตกอยู่ในมือของเอกชนและขายให้แก่ผู้ให้ราคาประมูลสูงสุดในตลาดเสรี ส่วนประชาชนที่ไม่มีปัญญาซื้อหาบริการเหล่านี้ก็จะถูกกันอยู่วงนอก

การค้าภาคบริการเป็นการค้าภาคที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก หากข้อตกลง GATS ถูกนำมาปฏิบัติ บรรษัทเอกชนจะเก็บเกี่ยวผลกำไรได้อย่างมหาศาล สาธารณสุข การศึกษาและการประปา เป็นสิ่งที่มีศักยภาพในการทำกำไรมากที่สุด ค่าใช้จ่ายทั่วโลกในด้านการประปาสูงกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี ด้านการศึกษาสูงกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ และในด้านสาธารณสุขสูงกว่า 3.5 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี

WTO ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนที่เรียกว่า สำนักงานเพื่อการศึกษาข้ามชาติระดับโลก บริษัทนี้มีแผนการรวบรวมนโยบายต่าง ๆ ที่ "ปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมต่อผู้ประกอบการต่างชาติทางด้านการศึกษา" ผลลัพธ์ของงานวิจัยนี้จะถูกนำไปใช้กดดันประเทศต่าง ๆ ที่มีระบบการศึกษาของรัฐบาล เพื่อให้ประเทศเหล่านั้นยอมเปิดตลาดการศึกษาแก่ผู้ประกอบการเอกชนในระดับโลก

อนาคตของบริการทางสังคมและความเป็นอธิปไตยของประเทศต่าง ๆ ล้วนตกอยู่ในอันตราย สืบเนื่องมาจากมติของ GATS บรรษัทต่างชาติจะมีสิทธิเข้ามาประกอบการในประเทศที่อยู่ภายใต้การควบคุมของ GATS / WTO และสามารถเข้ามาแข่งขันเพื่อแย่งชิงงบประมาณสาธารณะกับสถาบันที่ไม่แสวงหากำไรหรือสถาบันที่เป็นของรัฐบาลได้ เช่น โรงเรียนหรือโรงพยาบาล เป็นต้น

การเจรจาต่อรองข้อตกลง GATS ระบุหัวข้อสำคัญสามอันดับต้นสำหรับหลักการการค้าเสรีในอนาคตไว้ดังนี้คือ

-ประการแรก GATS กำลังผลักดัน "การปฏิบัติระดับชาติ" ซึ่งจะห้ามรัฐบาลไม่ให้ปฏิบัติเป็นพิเศษต่อผู้ประกอบการในประเทศของตน เหนือกว่าผู้ประกอบการที่มีฐานทางธุรกิจจากนอกประเทศ แนวความคิดนี้นำมาใช้กับธุรกิจบริการบางประเภทแล้ว แต่ GATS ต้องการให้นำมาบังคับใช้กับธุรกิจบริการทุกประเภท นี่จะช่วยขยายช่องทางให้บรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่เข้าสู่ตลาดท้องถิ่นและลดทอนความรับผิดชอบของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยลงไป

-ประการที่สอง GATS กำลังพยายามสร้างข้อจำกัดต่อการออกกฎข้อบังคับภายในประเทศ นี่จะตีกรอบรัฐบาลในการออกกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และข้อบังคับอื่น ๆ ที่ขัดขวาง "การค้าเสรี"

-ประการที่สาม GATS พยายามผลักดันการขยายกฎของ "การมีตัวแทนทางการค้า" กฎนี้จะอนุญาตให้นักลงทุนจากประเทศใดก็ตามที่อยู่ภายใต้ GATS สามารถตั้งตัวแทนไว้ในประเทศอื่น ๆ นักลงทุนต่างชาติไม่เพียงได้รับอนุญาตให้แข่งขันทางธุรกิจกับบริษัทเอกชนในประเทศนั้น ๆ แต่จะยังได้รับอนุญาตให้แข่งขันเพื่อช่วงชิงงบประมาณสาธารณะต่าง ๆ ได้ด้วย

ข้อตกลง GATS จะทำให้พลเมืองในประเทศต่าง ๆ หมดหนทางควบคุมอนาคตของบริการสาธารณประโยชน์ด้วยกลไกของระบอบประชาธิปไตย

เจ้าหน้าที่การค้าชาวอเมริกันคนหนึ่งสรุปกระบวนการของ GATS/WTO ว่า "โดยพื้นฐานแล้ว มันจะไม่หยุดยั้งจนกว่าคนต่างชาติทั้งหมดเริ่มคิดเหมือนชาวอเมริกัน ประพฤติเหมือนชาวอเมริกัน และที่สำคัญที่สุดคือ ช้อปปิ้งเหมือนชาวอเมริกัน"

ข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าภาคบริการ เป็นการเจรจาทางด้านการค้าที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตมนุษย์บนโลกใบนี้มากที่สุด แต่กลับมีประชาชนจำนวนน้อยมากที่รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ถ้าหากรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิกของ WTO สามารถบรรลุข้อตกลงทั้งหมดได้ภายในปี พ.ศ. 2548 บริการสังคมต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นจะถูกแปรรูปให้เป็นธุรกิจเอกชนทั้งหมด

ภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2545 ทุกประเทศต้องยื่นรายการภาคบริการที่ต้องการให้ประเทศอื่น ๆ เปิดเสรีแก่ตน และภายในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2546 แต่ละประเทศจะต้องยื่นคำตอบรับ การเจรจาทั้งหมดนี้ทำกันเป็นความลับ ประชาชนพลเมืองได้แต่คาดเดาเอาเองว่า รัฐบาลของตนเสนอเปิดเสรีบริการอะไรบ้าง นอกจากนั้น ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2544 การประชุมระดับรัฐมนตรีของ WTO ที่เมืองโดฮา ประเทศกาตาร์ ยังตั้งข้อผูกมัดให้ประเทศสมาชิกยกเลิก "อุปสรรคทางด้านภาษีศุลกากรและที่ไม่ใช่ภาษีศุลกากร" ต่อธุรกิจบริการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงแหล่งน้ำและการประปาด้วย

สื่อมวลชนกระแสหลักต่างพร้อมใจกันเพิกเฉยต่อเรื่องนี้ ยิ่งหลังจากเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน และสงครามที่ตามมาด้วยแล้ว มันก็ยิ่งง่ายขึ้นที่รัฐบาล กลุ่มบรรษัทธุรกิจและองค์กรโลกบาลอย่าง WTO จะประชุมพบปะกันอย่างเป็นความลับโดยสิ้นเชิง โดยอนุญาตให้นักข่าวที่คัดสรรแล้วไม่กี่คนเท่านั้นเข้าไปทำข่าวได้

อันดับ 3 นโยบายของสหรัฐฯ ในโคลอมเบียสนับสนุนการสังหารหมู่
ตลอดสองปีที่ผ่านมา โคลอมเบียเป็นประเทศที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากวอชิงตันเป็นอันดับที่ 3 รองจากอิสราเอลและอียิปต์ ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2543 สภาคองเกรสของสหรัฐฯ เห็นชอบกับงบประมาณ 1.3 พันล้านดอลลาร์ที่ให้การสนับสนุน "แผนการโคลอมเบีย" แก่ประธานาธิบดีปาสตรานา ซึ่งเป็นการทำสงครามต่อต้านยาเสพย์ติด นอกจากสนับสนุนทางการเงินแล้ว สหรัฐอเมริกายังช่วยฝึกกองกำลังทางทหารให้แก่โคลอมเบียอีกด้วย

อัตราการฆาตกรรมต่อปีของโคลอมเบียอยู่ที่ 30,000 ราย มีรายงานว่า ประมาณ 19,000 รายของการฆาตกรรมทั้งหมด มีส่วนเชื่อมโยงไปถึงกลุ่มกองกำลังฝ่ายขวาผิดกฎหมาย ผู้นำหลายคนของกลุ่มกองกำลังเหล่านี้เคยเป็นนายทหารในกองทัพโคลอมเบีย โดยได้รับการฝึกจากกองทัพของสหรัฐอเมริกา

ตามรายงานขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชน กองทัพและกรมตำรวจของโคลอมเบีย ยังทำงานใกล้ชิดกับกลุ่มกองกำลังนอกกฎหมายฝ่ายขวา องค์กรสิทธิมนุษยชนมีหลักฐานว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีปาสตรานา ต้องรับผิดชอบต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น

อเล็กซานเดอร์ ค็อคเบิร์น และ เจฟฟรีย์ เซนต์แคลร์ ให้ความเห็นว่า สงครามต่อต้านยาเสพย์ติดในโคลอมเบีย แท้ที่จริงแล้วไม่ได้เกี่ยวกับยาเสพย์ติดสักเท่าไร มันเกี่ยวกับการกวาดล้างการลุกฮือของประชาชนอินเดียนแดงที่เป็นชาวนา ซึ่งดิ้นรนต่อสู้กับความหายนะที่เกิดจากบริษัทน้ำมัน เจ้าพ่อปศุสัตว์ และบริษัททำเหมืองเสียมากกว่า นี่คือสงครามปราบจลาจล ที่วางแผนมาเพื่อแผ้วถางหนทางแก่บรรษัทข้ามชาติอเมริกันที่จะเข้าไปตั้งโรงงานในโคลอมเบีย

ตลอดสองปีที่ผ่านมา พลเมืองชาวโคลอมเบียต้องตกเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน จากน้ำมือของกองทัพโคลอมเบียที่ได้รับการฝึกฝนจากสหรัฐฯ และกลุ่มกองกำลังฝ่ายขวา ผู้นำสหภาพแรงงานและนักกิจกรรมทางด้านสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญกับการฆ่า ทรมาน และกลั่นแกล้งรังควาน

มีรายงานว่า ลาตินอเมริกาเป็นพื้นที่ที่อันตรายที่สุดในโลกสำหรับนักสหภาพแรงงาน นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 มีนักสหภาพแรงงานถูกสังหารในโคลอมเบียถึง 4,000 คน หรือในบรรดานักสหภาพแรงงานที่ถูกฆ่าตายในโลกทุก ๆ 5 คน มากกว่า 3 คนเป็นชาวโคลอมเบีย

ปัญหาอีกประการหนึ่งที่เกิดจาก "สงครามต่อต้านยาเสพย์ติด" ก็คือ ผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดจากการพ่นยาฆ่าพืช ซึ่งมุ่งหมายจะทำลายต้นโคคาและดอกฝิ่น แต่การพ่นยานี้ได้ทำลายธัญพืชที่เป็นอาหารของชาวพื้นเมืองด้วย รวมทั้งมีผลกระทบทางสุขภาพต่อมนุษย์ ทั้งยังฆ่าปลา วัวควายและทำให้แหล่งน้ำเป็นพิษ

องค์กร USWA ร่วมกับกองทุนสิทธิแรงงานระหว่างประเทศ ได้ยื่นฟ้องต่อบริษัทโคคา-โคลา และดรัมมอนด์ ในข้อหาที่ทั้งสองบริษัทมีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชนในโคลอมเบีย โดยเฉพาะบริษัทดรัมมอนด์ที่รู้เห็นการสังหารผู้นำสหภาพแรงงานด้วย สื่อมวลชนกระแสหลักมีรายงานข่าวถึงการฟ้องร้องอยู่บ้าง แต่ไม่มีรายละเอียดมากนัก นิตยสารไทม์มีรายงานข่าวที่ดีมากเกี่ยวกับการฟ้องบริษัทโคคา-โคลา และเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงต่อต้านสหภาพแรงงานในโคลอมเบีย กระนั้นก็ตาม เป็นเรื่องตลกที่นิตยสารไทม์เลือกตีพิมพ์รายงานนี้ในฉบับที่ออกจำหน่ายที่อื่น ๆ ในโลก ยกเว้นแต่ไม่ยอมตีพิมพ์ในฉบับที่ออกจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา

อันดับ 4 รัฐบาลบุชขัดขวางมิให้เอฟบีไอสืบสวนเกี่ยวกับตระกูลของบิน ลาดิน ก่อนเกิดวินาศกรรม 9/11
หนังสือภาษาฝรั่งเศสเรื่อง Bin Laden, la verite interdite (บิน ลาดิน ความจริงต้องห้าม) อ้างหลักฐานว่า รัฐบาลบุช ขัดขวางการทำงานของเอฟบีไอที่ต้องการสืบสวนความเคลื่อนไหวด้านการก่อการร้ายที่พัวพันกับตระกูลของบิน ลาดิน นอกจากนั้น รัฐบาลบุชยังวางแผนที่จะเข้าไปทำสงครามอัฟกานิสถานตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 แล้ว

ในปี พ.ศ. 2539 แหล่งข่าวกรองระดับสูงในวอชิงตันบอกกับหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดี้ยนว่า "มีข้อจำกัดในการสืบสวนพวกซาอุดีอาราเบียเสมอ" ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้อ้างว่า ภายใต้อิทธิพลของบริษัทน้ำมันสหรัฐฯ ยอร์จ ดับเบิลยู. บุช และคนในรัฐบาลคอยขัดขวางการสืบสวนเกี่ยวกับขบวนการก่อการร้าย ขณะเดียวกันก็ต่อรองกับรัฐบาลฏอลิบาน ให้ส่งมอบตัวนายอุซามะห์ บิน ลาดิน เพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและการยอมรับทางการเมือง

หนังสือเล่มนี้ยังเปิดเผยต่อไปด้วยว่า จอห์น โอ'นีล อดีตรองผู้อำนวยการของเอฟบีไอ. ยื่นใบลาออกในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2544 เพื่อประท้วงต่อการที่ถูกขัดขวางไม่ให้สืบสวนเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามปากคำของโอ'นีล เองนั้น "อุปสรรคสำคัญในการสืบสวนการก่อการร้ายของอิสลามคือ ผลประโยชน์ของบริษัทน้ำมันสหรัฐฯ และบทบาทของซาอุดีอาระเบียในเรื่องนี้" ข้อจำกัดดังกล่าวยิ่งเลวร้ายลงไปกว่าเดิมเมื่อรัฐบาลบุชปัจจุบันเข้ารับตำแหน่ง หน่วยข่าวกรองถูกสั่งให้ "ถอนกำลัง" จากการสืบสวนใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกคนอื่น ๆ ในตระกูลบิน ลาดิน ราชวงศ์ซาอุฯ รวมทั้งความเชื่อมโยงใด ๆ ที่ซาอุดีอาระเบียมีกับอาวุธนิวเคลียร์ในปากีสถาน. สำหรับตัว จอห์น โอ'นีล เสียชีวิตในเหตุการณ์ 9/11 ที่เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์

บีบีซี. ของอังกฤษยังตอกย้ำข้อมูลที่ได้มาจากอดีตหุ้นส่วนทางธุรกิจคนหนึ่งของยอร์จ บุช ว่า บุชทำกำไรได้ล้านดอลลาร์แรกเมื่อ 20 ปีก่อน จากบริษัทที่ได้รับเงินอุดหนุนจากซาเล็ม พี่ชายของอุซามะห์ นอกจากนี้ ทั้งตระกูลบุช และตระกูลบิน ลาดินต่างมีผลประโยชน์อยู่ในกลุ่มบริษัทคาร์ไลล์ บริษัทเงินทุนเอกชนที่เติบโตขึ้นเป็นหนึ่งในผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุด ในสัญญาทางด้านความมั่นคงและการสื่อสารของสหรัฐอเมริกา

ผู้เขียนหนังสือชาวฝรั่งเศส ยังอ้างหลักฐานว่า เป้าหมายที่แท้จริงของสหรัฐฯ ในอัฟกานิสถานคือต้องการกรุยทางเข้าสู่แหล่งก๊าซและน้ำมันในทวีปเอเชียกลาง สหรัฐอเมริกามีความตั้งใจที่จะรุกรานอัฟกานิสถานมานานก่อนเกิดวินาศกรรม 9/11

ผู้เขียนหนังสือฝรั่งเศสเล่มนี้คือ ฌอง-ชาร์ลส์ บรีซารด์ และ กิลโยเม ดาสกี เป็นนักวิเคราะห์ทางด้านข่าวกรองที่มีชื่อเสียงเป็นที่เชื่อถือ อีกทั้งยังไม่ใช่คนที่ฝักใฝ่ในทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) เลย

ข้อมูลของทั้งสอง ยังสอดคล้องกับข้อมูลของนักข่าวสายอังกฤษ หลังจากการโจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ได้สองเดือน ทีมสืบสวนของหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดี้ยน และรายการนิวส์ไนท์ของสถานีโทรทัศน์บีบีซี ได้ค้นพบเอกสาร หลักฐานและคำสัมภาษณ์จากคนวงใน ที่เปิดโปงว่า รัฐบาลบุชเคยขัดขวางการทำงานของเอฟบีไอในการสืบสวนการก่อการร้ายที่พัวพันกับตระกูลบิน ลาดิน และราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียในช่วงก่อนเกิดวินาศกรรม 9/11 นโยบายปิดหูปิดตานี้เป็นผลมาจากการเมืองเกี่ยวกับน้ำมัน และความซ้อนทับของผลประโยชน์ทางการเงินที่ตระกูลบุชมีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งกับราชวงศ์ซาอุฯ ธนาคาร และนักค้าอาวุธ

อันดับ 5 สหรัฐอเมริกาจงใจทำลายระบบน้ำของอิรัก
ระหว่างสงครามอ่าวครั้งที่แล้ว สหรัฐอเมริกาจงใจทิ้งระเบิดใส่ระบบน้ำประปาของอิรัก หลังสงคราม สหรัฐฯ ยังผลักดันการคว่ำบาตรทางการค้าที่ห้ามไม่ให้อิรักนำเข้าวัสดุภัณฑ์ ที่จำเป็นในการทำน้ำประปา มาตรการของสหรัฐฯ ก่อให้เกิดความตายของพลเรือนชาวอิรักจำนวนมาก โดยเฉพาะเด็ก

เอกสารที่ได้มาจากหน่วยข่าวกรองความมั่นคงชี้ให้เห็นว่า เพนตากอนรู้ดีถึงผลกระทบร้ายแรงที่จะเกิดแก่พลเรือน แต่ก็ยังจงใจผลักดันให้มันเกิดขึ้น การทำลายโครงสร้างพื้นฐานของฝ่ายพลเรือนที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิตเป็นการละเมิดสนธิสัญญาเจนีวาโดยตรง

อันดับ 6 รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังผลักดันอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาใหม่
รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังกรุยทางเพื่อฟื้นฟูอาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมาใหม่เพื่อความเป็นใหญ่ในโลก กลุ่มฟื้นฟูอาวุธนิวเคลียร์กำลังเสนอโครงการ "หัวรบนิวเคลียร์ขนาดเล็ก" ที่สามารถเจาะลงไปใต้ดินและสร้างแรงระเบิดนิวเคลียร์ขนาดเล็กได้

กลุ่มที่สนับสนุนการพัฒนาอาวุธชนิดนี้ประกอบด้วย นักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ เจ้าหน้าที่ของกระทรวงพลังงาน อดีตข้าราชการระดับสูง และคณะกรรมการที่สภาคองเกรสแต่งตั้งขึ้นมากำกับดูแลเรื่องนี้ คนกลุ่มนี้ต้องการสร้างหลักประกันว่า "สหรัฐอเมริกาจะยังคงพัฒนาศักยภาพทางด้านอาวุธนิวเคลียร์ต่อไปในศตวรรษหน้า"

อันดับ 7 ภาคธุรกิจส่งเสริมให้แปรรูปโรงเรียนรัฐเป็นเอกชน
ภาคธุรกิจกำลังส่งเสริมให้แปรรูปโรงเรียนของรัฐโดยเปิดโอกาสแก่นักลงทุน ข้อเสนอของประธานาธิบดีบุชที่จะให้มีการทดสอบมาตรฐานการเรียนการสอนประจำปี ยิ่งเป็นการเปิดทางให้ธุรกิจเอกชนเข้ามาครอบงำระบบโรงเรียน โรงเรียนในชุมชนยากจนและชนกลุ่มน้อย จะถูกบีบให้นักเรียนทำคะแนนได้สูงขึ้น หรือต้องสูญเสียเงินอุดหนุนจากภาครัฐ

หลายฝ่ายวิจารณ์ว่า การสร้างมาตรฐานนี้ไม่ได้ช่วยให้การศึกษาดีขึ้น แต่เป็นการเปิดทางให้โรงเรียนรัฐต้องแปรรูปไปเป็นเอกชน ซึ่งสนใจกำไรและผลตอบแทนมากกว่านักเรียนและการพัฒนาการศึกษา

อันดับ 8 นาฟต้าทำลายชุมชนเกษตรกรรมในสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศ
ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ต้องรับผิดชอบต่อความยากจน และล่มสลายของเกษตรกรรายย่อยจำนวนมากในเม็กซิโกและไฮติ

นาฟต้ายังสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อชุมชนเกษตรกรรมในสหรัฐอเมริกาและแคนาดาด้วย การจ้างงานในเขตชนบทที่ลดฮวบลง ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านสังคม-เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะยิ่งเลวร้ายลงไปอีกเมื่อมีการยกเลิกอุปสรรคและกำแพงทางการค้าเพิ่มขึ้น

เมื่อนาฟต้าผ่านสภาคองเกรสในปี ค.ศ. 1993 เกษตรกรชาวสหรัฐฯ ถูกโน้มน้าวว่า ข้อตกลงนี้จะช่วยเปิดพรมแดนการค้ากับเม็กซิโกและแคนาดา ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ ขายสินค้าเกษตรได้มากขึ้น แต่นับจากนั้นเป็นต้นมา บรรษัทยักษ์ใหญ่ในทวีปอเมริกา เช่น ไทสันและคาร์กิลล์ กลับใช้ผลผลิตส่วนเกินทางการเกษตรกดราคาให้ต่ำลง ทำให้เกษตรกรต้องแข่งขันตัดราคากันเอง และขัดขวางไม่ให้ประเทศที่อยู่ในข้อตกลงสร้างมาตรการป้องกันขึ้นมา

บรรษัทเหล่านี้ยังออกไปทำเกษตรกรรมขนาดใหญ่นอกสหรัฐฯ และใช้ข้อตกลงนาฟต้านำเข้าสินค้าเกษตรราคาถูกกว่ากลับไปตีตลาดในสหรัฐฯ เท่ากับทำลายเกษตรกรรายย่อยลง

นับตั้งแต่มีการใช้ข้อตกลงนาฟต้า สินค้าทางด้านอาหารถึง 80% หลั่งไหลเข้ามาแทนที่อาหารที่เคยปลูกเอง นาฟต้าเปิดทางให้บรรษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติเข้าไปเพิ่มการผลิตในเม็กซิโก ซึ่งทำกำไรได้มากกว่าจากแรงงานราคาถูก รวมทั้งสามารถใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลงที่ถูกสั่งห้ามในสหรัฐฯ ด้วย

ทั้งในเม็กซิโกและไฮติ นโยบายนาฟต้าทำให้เกิดการอพยพของคนในชนบทเข้ามาอยู่ตามสลัมในเมืองและกลายเป็นแรงงานราคาถูก ชาวนาในเม็กซิโกไม่สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าจำนวนมาก และการผลิตขนาดใหญ่ที่ใช้สารเคมีเข้มข้นของบรรษัททางการเกษตรของสหรัฐฯ จนต้องเผชิญกับภาวะข้าวโพดล้นตลาดถึง 450% นับตั้งแต่มีการใช้ข้อตกลงนาฟต้า. ส่วนการที่ไฮติเปิดเสรีทางการค้ากับสหรัฐฯ เป็นการทำลายการปลูกข้าวบนเกาะในลักษณะเดียวกัน. สลัมและการพังทลายของชุมชนชนบทนำไปสู่การล่มสลายของวัฒนธรรมดั้งเดิม

ข้อเสนอของประธานาธิบดีบุชที่จะให้มีเขตการค้าเสรีทวีปอเมริกา (Free Trade Area of the Americas-FTAA) ซึ่งเพิ่มอีก 31 ประเทศเข้ามาอยู่ในข้อตกลงนาฟต้า จะยิ่งทำให้ชุมชนเกษตรกรรมตกอยู่ในอันตรายมากขึ้น

อันดับ 9 สหรัฐฯ เผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ด้านที่อยู่อาศัย
ชาวอเมริกันเกือบ 6 ล้านครอบครัว ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาที่อยู่อาศัย เด็กจำนวนหลายล้านคนต้องเติบโตในที่อยู่อาศัยที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่มีที่อยู่อาศัยเลย ปัญหานี้เคยเป็นปัญหาของครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ แต่กำลังส่งผลกระทบลุกลามไปถึงครอบครัวชนชั้นกลางแล้ว การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ การปฏิรูประบบสวัสดิการในปี ค.ศ. 1996 และเหตุการณ์ 11 กันยายน ยิ่งเป็นปัจจัยหนุนให้ปัญหานี้รุนแรงขึ้น แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากนักการเมืองหรือสื่อมวลชนสักเท่าไร

อันดับ 10 ยุทธการตีสองหน้าของซีไอเอ.ในมาซีโดเนีย
ซีไอเอ.บ่อนทำลายความมั่นคงทางการเมืองในมาซีโดเนีย เพื่อเบิกทางให้กับการวางท่อส่งน้ำมันของบรรษัทข้ามชาติสหรัฐฯ-อังกฤษ และกีดกันไม่ให้มาซีโดเนียเข้าร่วมเป็นสมาชิกในสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เงินสกุลดอลลาร์ ในภูมิภาคที่ถูกครอบงำด้วยเงินสกุลดอยทช์มาร์คของเยอรมนี

เมื่อมาซีโดเนียไม่ได้เป็นสมาชิกในอียู. บริษัทน้ำมันของอังกฤษกับสหรัฐฯ จึงได้เปรียบบริษัทคู่แข่งของยุโรปในการวางท่อส่งน้ำมัน บริษัทน้ำมันของอังกฤษ-สหรัฐฯ ที่ได้ผลประโยชน์ก็คือ บีพี-อะโมโก-อาร์โก, เชฟรอนและเท็กซาโก ซึ่งแข่งขันกับบริษัทโททัล-ฟินา-เอลฟ์ของยุโรป. บริษัทฮัลลิเบอร์ตัน อีเนอร์จีที่มีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับรองประธานาธิบดีดิ๊ค เชนีย์ มีผลประโยชน์โดยตรงในการวางท่อน้ำมัน

เกมการชิงอำนาจครั้งนี้ก็เพื่อกีดกันบัลแกเรีย มาซีโดเนีย กับแอลเบเนียจากอิทธิพลของประเทศในอียู. เช่น เยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศสและเบลเยียม โดยความพยายามครั้งนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากสถาบันทางการเงินในวอลล์สตรีท เพื่อบ่อนทำลายและลดความน่าเชื่อถือของเงินสกุลดอยทช์มาร์คและยูโร โดยหวังว่าจะยัดเยียดให้เงินสกุลดอลลาร์เป็นเงินตราหลักของภูมิภาคนี้ได้

กองทัพปลดปล่อยโคโซโว (KLA) และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติ (NLA) ในมาซีโดเนีย ได้รับการฝึกจากกองกำลังพิเศษของอังกฤษ และได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์จากซีไอเอ. การโจมตีภายในมาซีโดเนียโดยกองทัพทั้งสองนี้สอดคล้องกับวาระในการขยายอียู.และการลงนามในสัญญาระหว่างอียู.กับมาซีโดเนีย การโจมตีที่เกิดขึ้นช่วยเปิดทางให้สหรัฐฯ เข้ามาตั้งฐานทัพและสร้างอิทธิพลทางการเมืองในภูมิภาคนี้

ความขัดแย้งในมาซีโดเนียเป็นส่วนหนึ่งในความบาดหมางที่ขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ระหว่างผลประโยชน์ของอังกฤษ-อเมริกันกับประเทศในยุโรป ในช่วงที่เกิดสงครามยูโกสลาเวีย อังกฤษจับมือเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ และตัดขาดความสัมพันธ์ในหลาย ๆ ด้านกับเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี

มีข้อเท็จจริงและหลักฐานที่ทราบกันดีว่า ขบวนการอัล-กออิดะห์ ให้การสนับสนุนปฏิบัติการของ KLA ในมาซีโดเนีย นักรบมูจาฮิดีนจากตะวันออกกลาง และเอเชียกลางเป็นพวกแรกที่ถูกระดมให้มาช่วยรบใน KLA ในระหว่างปี ค.ศ. 1998-99 ตัวบิน ลาดินเองก็เคยไปที่แอลเบเนีย และส่งหน่วยทหารของตนเข้าร่วมรบในโคโซโว

รัฐบาลบุชอ้างหลักฐานว่าอุซามะห์ บิน ลาดิน อยู่เบื้องหลังวินาศกรรม 9/11 และยังประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย แต่ในมาซีโดเนีย มีหลักฐานจำนวนมากที่บ่งชี้ว่า รัฐบาลบุชให้การสนับสนุนองค์การก่อการร้ายที่มีความเชื่อมโยงกับขบวนการอัล-กออิดะห์ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ รัฐบาลบุชรองรับการก่อการร้ายระหว่างประเทศเป็นส่วนหนึ่งในวาระทางนโยบายต่างประเทศของตน ข้ออ้างเกี่ยวกับสงครามต่อต้านการก่อการร้ายจึงเป็นหน้าฉากที่กุขึ้นมาเท่านั้น

อันดับ 11 บุชแต่งตั้งอดีตอาชญากร เข้ามามีบทบาทสำคัญในรัฐบาล
นับตั้งแต่รับตำแหน่งประธานาธิบดี, ยอร์จ บุช ดึงเอาเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสมัยยอร์จ บุชผู้พ่อ และโรนัลด์ เรแกน ซึ่งเคยมีส่วนพัวพันในคดีต่าง ๆ เข้ามาดำรงตำแหน่งสำคัญในรัฐบาล

ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2001 จอห์น พอยน์เด็กซ์เตอร์ ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสำนักงานรับรู้ข่าวสาร (Information Awareness Office) ซึ่งเป็นหน่วยงานใหม่ของเพนตากอน. ในสมัยรัฐบาลเรแกน จอห์น พอยน์เด็กซ์เตอร์ถูก ตัดสินว่ามีความผิดฐานสมรู้ร่วมคิด ขัดขวางขบวนการยุติธรรมและทำลายหลักฐานในคดีอิหร่าน-คอนทรา. ประเทศคอสตาริก้ายังประกาศอย่างเป็นทางการว่า พอยน์เด็กซ์เตอร์เป็นผู้ลักลอบขนถ่ายยาเสพย์ติดและห้ามไม่ให้เข้าประเทศ

เอลเลียต อบรามส์ เพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเพื่อประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชนและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ. ในปี ค.ศ. 1991 อบรามส์ยอมรับสารภาพผิดในข้อหาปิดบังหลักฐานต่อสภาคองเกรสในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของเขาในคดีอิหร่าน-คอนทรา

จอห์น เนโกรปอนติ ทูตสหรัฐฯ คนใหม่ในสหประชาชาติ ในสมัยรัฐบาลเรแกนเคยเป็นเอกอัครราชทูตประจำฮอนดูรัส ในช่วงปี ค.ศ. 1981-1985 มีบทบาทในการปกปิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกองกำลังทหารที่ได้รับการฝึกฝนจากซีไอเอ.ในภูมิภาคลาตินอเมริกา

ออตโต ไรช์ ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สำหรับกิจการซีกโลกตะวันตก (ซึ่งรวมลาตินอเมริกา) เขาเคยช่วยผู้ก่อการร้ายออร์ลันโด บอช เข้ามาอยู่ในสหรัฐฯ หลังจากถูกจำคุกในเวเนซุเอลาด้วยข้อหาวางระเบิดสายการบินคิวบา ซึ่งสังหารผู้โดยสารไป 73 คน

อันดับ 12 หมวดที่ 11 ในข้อตกลงนาฟต้า เหยียบย่ำกฎหมายคุ้มครองสังคมของประเทศสมาชิก
การคุ้มครองนักลงทุนในข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือทำให้บริษัทธุรกิจมีอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยของประเทศสมาชิก อีกทั้งยังขยายขอบเขตคำนิยามของสิทธิในทรัพย์สินออกไป

หมวด 11 ของนาฟต้า ซึ่งอนุญาตให้บริษัทธุรกิจฟ้องรัฐบาลได้ มีวรรคหนึ่งที่จะทำให้ทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ เช่น กำไรที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตของบริษัท กลายเป็นทรัพย์สินเอกชน. กฎหมายหรือข้อบังคับใด ๆ ก็ตามที่พยายามคุ้มครองผลประโยชน์ส่วนรวม จะถูกถือว่าเป็นการฉกฉวยเอาศักยภาพที่จะทำกำไรของบริษัทไป. ดังนั้น รัฐบาลจึงถูกบังคับให้ต้องชดเชยทรัพย์สิน / กำไรที่สูญเสียไปแก่เจ้าของทรัพย์สิน (ซึ่งก็คือบริษัทธุรกิจ) นี่ถือเป็นการขยายขอบเขตของกรรมสิทธิ์เอกชนออกไปอย่างไม่เคยมีมาก่อน

เนื่องจากข้อบังคับใด ๆ ก็ตาม ย่อมส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจบางอย่างต่อทรัพย์สินเอกชน ข้อตกลงนาฟต้านี้จึงกลายเป็นเครื่องมือในการจำกัดบทบาทของรัฐบาลและขัดขวางกระบวนการออกกฎหมาย รวมทั้งยังบ่อนทำลายสวัสดิการสังคมและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมด้วย

คดีเมธาเน็กซ์ v. สหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างของการฟ้องร้องที่เกิดขึ้นตามหมวด 11 นี้ เมธาเน็กซ์เป็นบริษัทแคนาดา ที่ผลิตสาร MTBE ที่ใช้เป็นส่วนประกอบในน้ำมัน เนื่องจาก MTBE ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและเป็นอันตรายต่อแหล่งน้ำ ในปี ค.ศ. 1999 รัฐแคลิฟอร์เนียจึงออกคำสั่งให้ลดการใช้ MTBE จนกว่าจะยกเลิกการใช้ทั้งหมดไปในที่สุด. สี่เดือนต่อมา บริษัทเมธาเน็กซ์จึงฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ กล่าวหาว่าข้อบังคับใหม่ของรัฐแคลิฟอร์เนีย ทำลายกำไรในอนาคตของบริษัท และเรียกร้องเงินชดเชยเป็นจำนวน 970 ล้านดอลลาร์

เมธาเน็กซ์ไม่ได้ยื่นฟ้องต่อศาลรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ แต่ยื่นฟ้องต่อนาฟต้า โดยที่นาฟต้ามีคณะอนุญาโตตุลาการ 3 คน ซึ่งพิจารณาและไกล่เกลี่ยคดีเป็นความลับ แม้ว่าประเด็นปัญหานี้จะเกี่ยวพันกับส่วนรวม แต่มันกลับถูกตัดสินโดยคณะตุลาการที่ไม่ได้รับการเลือกตั้ง มิหนำซ้ำ สาธารณชนจะไม่ได้รับรู้ข้อมูลหรือการดำเนินคดี นอกเสียจากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายยินยอมให้เปิดเผย

คดีเมธาเน็กซ์ v. สหรัฐอเมริกายังอยู่ในระหว่างพิจารณา แต่มีบริษัทอื่น ๆ ที่เคยได้รับเงินชดเชยจากการสูญเสียกำไรในอนาคตแล้ว

ในปี ค.ศ. 2000 บริษัทเมตาแคลด ชนะในคดีที่ฟ้องต่อรัฐบาลเม็กซิโก ชาวเม็กซิกันต้องเสียเงินภาษีถึง 16.7 ล้านดอลลาร์ เพื่อจ่ายค่าชดเชยแก่เมตาแคลด จากการที่รัฐบาลสั่งระงับการสร้างสถานที่สำหรับทิ้งขยะมีพิษ

ในเดือนเมษายน ค.ศ. 2001 บรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ 29 บริษัทของสหรัฐอเมริกา อาทิเช่น ยีอี, ฟอร์ด, จีเอ็ม, โมโตโรล่า, ดูปองท์, เชฟรอน, พรอคเตอร์ & เกมเบิล และ 3M ร่วมกันผลักดันให้ข้อบังคับนาฟต้าหมวด 11 นำไปใช้กับการหารือข้อตกลงเขตการค้าเสรีทวีปอเมริกาหรือ FTAA ด้วย

อันดับ 13 เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ และ เจอรัลด์ ฟอร์ด โกหกต่อประชาชนอเมริกันเกี่ยวกับติมอร์ตะวันออก
เอกสารลับสุดยอดที่เพิ่งพ้นจากระยะเวลาการเป็นความลับชี้ให้เห็นชัดว่า อดีตประธานาธิบดีเจอรัลด์ ฟอร์ด และรัฐมนตรีต่างประเทศ เฮนรี่ คิสซิงเจอร์ ให้ไฟเขียวแก่ประธานาธิบดีซูฮาร์โต ระหว่างการพบปะกันในจาการ์ตา เพื่อเปิดทางให้อินโดนีเซียบุกเข้ายึดครองติมอร์ตะวันออกในปี ค.ศ. 1975

การรุกรานครั้งนั้น ทำให้ชาวติมอร์ล้มตายประมาณ 230,000 คน ประชากรอีก 1 ใน 3 ต้องตายจากความอดอยาก โรคร้ายและการปราบจลาจล ตามรายงานขององค์กรนิรโทษกรรมสากล ติมอร์ตะวันออกเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในศตวรรษที่ 20

อันดับ 14 กฎหมายใหม่จำกัดการทำแท้งในสหรัฐอเมริกา
มีการทำสงครามอย่างเงียบ ๆ และซ่อนเร้นต่อสิทธิในการทำแท้ง โดยรัฐบาลท้องถิ่นหลายแห่งในสหรัฐฯ สร้างกฎข้อบังคับทางกฎหมายที่เข้มงวดต่อคลินิกที่ให้บริการทำแท้ง ภายใต้เปลือกนอกว่าเป็นกฎหมายคุ้มครองสุขภาพของผู้หญิง ข้อบังคับเหล่านี้จะทำให้คลินิกเหล่านี้ต้องปิดตัวไปโดยปริยาย

อันดับ 15 แผนพลังงานของบุช คุกคามสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุข
แผนพลังงานของรัฐบาลบุชจะเพิ่มมลภาวะทางอากาศในสหรัฐอเมริกา แผนพลังงานนี้เพิ่มการบริโภคน้ำมัน และลดการให้เงินอุดหนุนแก่การวิจัย เพื่อการพัฒนาพลังงานที่สะอาดและยั่งยืน

แม้บุชยอมรับว่าปัญหาโลกร้อนเป็นปัญหาสำคัญ และต้องหามาตรการเพื่อลดการถ่ายเทความร้อนสู่โลก โดยที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้รับผิดชอบต่อปริมาณความร้อนถึง 25% ที่ถ่ายเทออกไป แต่บุชกลับผ่อนคลายกฎข้อบังคับที่ใช้ควบคุมการปล่อยมลพิษของโรงงานไฟฟ้าที่มีอายุ 30-60 ปี โรงงานเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญในการปล่อยสารพิษต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดหมอกพิษ (smog) ที่มีอันตรายต่อปอดของมนุษย์เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 ซองต่อวัน

อันดับ 16 ซีไอเอ.ลักพาตัวผู้ต้องสงสัยไปทรมานและฆ่าทิ้งในต่างประเทศ
ซีไอเอ.มีส่วนพัวพันในการลักพาตัวบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อการร้าย ส่งตัวผู้ต้องสงสัยเหล่านี้ไปยังประเทศที่สอบปากคำด้วยการทรมานได้ ผู้ต้องสงสัยจะถูกส่งตัวไปยังประเทศที่ให้ความร่วมมือ ไม่ได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย และถูกจำขังโดยไม่มีข้อหาแน่ชัด

กรณีตัวอย่างของผู้ถูกลักพาตัวคนหนึ่งคือ มูฮัมหมัด ซาอัด อิกบัล มัดนี ซึ่งซีไอเอ.เชื่อว่าเป็นสมาชิกในขบวนการอัล-กออิดะห์

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2002 ซีไอเอประสานงานกับหน่วยข่าวกรองของอินโดนีเซียเพื่อจับตัวอิกบัล ไม่กี่วันต่อมา รัฐบาลอียิปต์ก็ยื่นคำขอให้ส่งตัวอิกบัล ในข้อหาว่ามีส่วนพัวพันกับการก่อการร้าย แต่ไม่ระบุรายละเอียด อินโดนีเซียส่งตัวเขาให้อียิปต์ทันที โดยไม่มีการพิจารณาคดีในศาลหรือปรึกษาทนาย

วิธีการเช่นนี้ ถูกนำมาใช้อย่างเข้มข้นนับตั้งแต่เกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 แต่ความจริงสหรัฐอเมริกาใช้วิธีการลักพาตัวเช่นนี้มานานแล้ว. ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ วอชิงตันโพสต์ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993-1999 มีผู้ต้องสงสัยถูกลักพาตัวจากหลาย ๆ ประเทศ เช่น แอฟริกาใต้, ไนจีเรีย, เคนยา และฟิลิปปินส์ ฯลฯ ผู้ต้องหาเหล่านี้หลายคนถูกสังหาร

อันดับ 17 สื่อมวลชนกระแสหลัก ไม่สนใจประเด็นสำคัญของขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์
สื่อมวลชนในสหรัฐอเมริกา ไม่สนใจจะให้ข้อมูลแก่สาธารณชนถึงหัวใจของประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านโลกาภิวัตน์ครั้งใหญ่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีแต่ภาพข่าวหวือหวา เช่น ผู้ประท้วงถูกยิงด้วยแก๊สน้ำตา เผชิญหน้ากับแถวตำรวจในชุดปราบจลาจลที่ขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์กระแสหลัก จนกลบเหตุผลที่แท้จริงของการที่ประชาชนหลายพันหลายหมื่นคนออกมาประท้วงในท้องถนน

ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2001 ประชาชนกว่า 100,000 คน ไปรวมตัวกันที่เมืองเจนัวเพื่อประท้วงการประชุม G-8 สถานีโทรทัศน์กระแสหลักให้ความสนใจน้อยมากกับประเด็นต่าง ๆ ที่ผู้ประท้วงหยิบยกขึ้นมา ผู้สื่อข่าวส่วนใหญ่เพียงแต่สรุปว่ามีการประท้วงเกิดขึ้น บางสถานีโทรทัศน์ เช่น ฟ็อกซ์ ไม่รายงานถึงผู้ประท้วงด้วยซ้ำ

เมื่อพิจารณาดูข่าว 200 ชิ้นของสื่อมวลชนกระแสหลักอันประกอบด้วย ABC, CBS, CNN, FOX, NBC ลอสแองเจลิสไทมส์, นิวยอร์กไทมส์, วอชิงตันโพสต์, ไทม์ และนิวสวีก ยิ่งแสดงถึงเนื้อหาที่อ่อนเกี่ยวกับการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดทั้ง 4 ครั้ง นั่นคือ การประท้วงการประชุมของ IMF ในปราก เมื่อเดือนกันยายน 2000, การเจรจาการค้าเสรีระดับซีกโลกในเมืองควีเบคเมื่อเดือนเมษายน 2001, การประชุมสุดยอดสหภาพยุโรปในโกเทนเบิร์ก สวีเดน เมื่อเดือนมิถุนายน 2001, และการประชุม G-8 ในเมืองเจนัวเมื่อเดือนกรกฎาคม 2001

ข่าวของสื่อมวลชนกระแสหลักไม่เพียงแต่พุ่งความสนใจไปที่ผู้ประท้วงจำนวนน้อยที่ก่อความรุนแรง แต่การเสนอข่าวไม่คำนึงถึงการให้ข้อมูลถึงบริบทที่ทำให้เกิดการประท้วงขึ้น

สาระที่ผู้ชุมนุมประท้วงพยายามนำเสนอก็คือ พวกเขาต้องการความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น (และลดอิทธิพลของบรรษัทข้ามชาติ) ในการออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและแรงงานทั่วโลก รวมไปจนถึงเรียกร้องให้มีกระบวนการประชาธิปไตยมากขึ้นในองค์กรโลกบาล ไม่ว่าจะเป็นธนาคารโลก IMF และ WTO ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงเห็นว่า เจ้าหน้าที่ผู้บริหารองค์กรเหล่านี้คอยล้มล้างกฎหมายที่ได้มาตามกระบวนการประชาธิปไตยในนามของ "การพัฒนา" และ "การค้าเสรี"

มีหลายกรณีที่ตำรวจใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วง แต่สื่อมวลชนกระแสหลักกลับเน้นไปที่ความรุนแรงเพียงไม่กี่ครั้งที่ผู้ประท้วงเป็นฝ่ายก่อขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในการประท้วงที่เจนัว หน่วยสวาทของอิตาลีประมาณ 70 คน บุกเข้าไปในสถานที่ที่ผู้ประท้วงกำลังชุมนุมกันอยู่ ทำให้ผู้ประท้วงบาดเจ็บถึง 61 คน

กระนั้นก็ตาม มีสื่อมวลชนกระแสหลักไม่กี่แห่งที่รายงานการใช้ความรุนแรงของตำรวจ ส่วนใหญ่ไปเน้นที่ความรุนแรงของผู้ประท้วงมากกว่า

หลังจากเหตุการณ์ 9/11 เป็นต้นมา มีปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งเกิดขึ้นในหมู่ผู้ประท้วงเอง นั่นคือปรากฏการณ์ที่เรียกได้ว่า "ความเบี่ยงเบนของสาระ" ตลอดเวลาที่ผ่านมา ความเข้มแข็งของขบวนประท้วงอยู่ที่การครอบคลุมประเด็นปัญหาต่าง ๆ เอาไว้ภายใต้การชูธงเรียกร้องกระบวนการประชาธิปไตยที่ต่อต้านบรรษัทข้ามชาติ ทว่านับตั้งแต่สงครามและความขัดแย้งในอัฟกานิสถาน อิรักและตะวันออกกลางดึงความสนใจของสื่อมวลชนไปหมด ขบวนประท้วงโลกาภิวัตน์จึงยินดีแบ่งเวทีกับนักสันติภาพ และผู้สนับสนุนปาเลสไตน์ แม้กระทั่ง IndyMedia ซึ่งเป็นแหล่งข่าวสำคัญของขบวนการ ก็ยังดึงประเด็นทางเศรษฐกิจไปไว้เบื้องหลังการประท้วงสงคราม

ขบวนการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมระดับโลกยังต้องเผชิญหน้ากับการท้าทายในแง่ของการสื่อสาระของตนออกมาให้สาธารณชนล่วงรู้ การประท้วงสงครามอาจกลบเสียงเรียกร้องเกี่ยวกับมลภาวะหรือการค้าเสรี ในเมื่อมีที่ทางน้อยอยู่แล้วในสื่อมวลชนกระแสหลัก ขบวนประท้วงโลกาภิวัตน์จึงต้องตัดสินใจให้ดีว่าความชัดเจนอยู่ตรงไหน

อันดับ 18 แนวปะการังของโลกกำลังตาย
หนึ่งในสี่ของแนวปะการังทั่วโลก ถูกทำลายจากมลภาวะ การตกตะกอน การทำประมงเกินขนาดและความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของภูมิอากาศในโลก

ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ทั่วโลกที่ปะการังมีสีซีดลงมีผลสืบเนื่องมาจากอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้น อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เกิดการขาดแคลนโปรตีน ไขมันและคาร์โบไฮเดรตที่จำเป็นต่อการซ่อมแซมและสร้างโครงปะการัง ซึ่งทำให้ปะการังมีสีซีดลง ในปี ค.ศ. 1991 ปรากฏการณ์นี้ทำลายปะการังอะโครโพลาในแถบโพลีนีเชียไปถึง 25% ปรากฏการณ์เอล นีโญ่ในปี ค.ศ. 1997-98 ฆ่าปะการังในมหาสมุทรอินเดียไป 70%

การค้าสัตว์ทะเลซึ่งมีมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ต่อปี เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำลายแนวปะการัง การจับปลาสวยงามแปลก ๆ มักมีการใช้ยาพิษ โดยเฉพาะโซเดียมไซยาไนด์ ซึ่งทำลายระบบนิเวศทั้งหมดเพียงเพื่อจับปลาไม่กี่ตัวที่อยู่ในบริเวณรอบนอก การทำประมงด้วยระเบิด ซึ่งทำกันมากในฟิลิปปินส์ ทำลายปะการังลงเป็นผุยผงโดยไม่มีทางฟื้นคืนสภาพเดิมได้

อันดับ 19 บรรษัทข้ามชาติอเมริกันปล้นประเทศคองโก
ความพยายามของบรรษัทข้ามชาติตะวันตก ที่จะกอบโกยเงินทองจากความมั่งคั่งของทรัพยากรธรรมชาติในประเทศคองโก นำไปสู่เหตุการณ์ที่หลายคนเรียกว่า "สงครามโลกครั้งแรกของแอฟริกา" ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปแล้วถึง 3 ล้านคน

สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกได้รับสมญานามว่าเป็น "แผ่นดินที่รวยที่สุดบนโลก" แร่และทรัพยากรที่มั่งคั่งของคองโก ทำให้ประเทศนี้ตกเป็นเป้าการรุกรานจากประเทศแอฟริกันเพื่อนบ้านอย่างอูกันดาและรวันดา โดยมีสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง

คองโกเต็มไปด้วยทรัพยากรและสายแร่หลายล้านตัน อันประกอบด้วย เพชร ทองแดง โคบอลต์ สังกะสี แมงกานีส ยูเรเนียม ไนโอเบียม และแทนทาลัม หรือที่เรียกกันว่า โคลตัน (coltan) โคลตันเป็นแร่ที่มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะใช้ในการผลิตโทรศัพท์มือถือ ไฟเบอร์ออพติกส์ และอุปกรณ์ประจุกระแสไฟฟ้าในชิปคอมพิวเตอร์

ในเดือนธันวาคม 2000 การขาดแคลนโคลตันเป็นเหตุผลหลักที่การขายเครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชั่น 2 ของโซนี่ต้องสะดุดลงอย่างกะทันหัน

คองโกเป็นแหล่งแร่โคลตันถึง 80% ของโลก แหล่งโคบอลต์มากกว่า 60% ของโลก และเป็นผู้ผลิตทองแดงคุณภาพสูงรายใหญ่ที่สุดในโลก สหรัฐอเมริกาจึงถือว่าแหล่งแร่นี้มีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการทหารของอเมริกาเป็นอย่างมาก

ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ เคยระบุชี้แหล่งแร่ในประเทศโลกที่สาม แล้วหนุนให้บรรษัทข้ามชาติอเมริกันเข้าไปลงทุน. ย้อนกลับไปเมื่อกลางทศวรรษ 1960 รัฐบาลสหรัฐฯ ตั้งรัฐบาลเผด็จการโมบูตูมาเองกับมือ ซึ่งทำให้บรรษัทอเมริกันเข้าไปทำเหมืองแร่ในคองโกได้กว่า 30 ปี อย่างไรก็ตาม ในระยะหลัง โมบูตูเริ่มกีดกันบรรษัทตะวันตก และพยายามหาทางเข้าไปควบคุมแหล่งแร่เอง

ในปี ค.ศ. 1998 ผู้นำของประเทศรวันดาและอูกันดา ซึ่งได้รับการฝึกทางทหารจากสหรัฐฯ บุกรุกเข้าไปในดินแดนที่อุดมไปด้วยสายแร่ของคองโก ผู้รุกรานทั้งสองอุปโลกน์รัฐบาลแบบอาณานิคมขึ้นมา โดยได้รับอาวุธยุทโธปกรณ์และการฝึกทางทหารจากสหรัฐฯ เป็นมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ การเข้าไปควบคุมแหล่งแร่ทำให้บรรษัทข้ามชาติ อาทิเช่น American Mineral Fields เข้าไปทำเหมืองแร่ได้ แม้ว่าจะผิดกฎหมาย ยักษ์ใหญ่ทางด้านวิศวกรรมอย่าง เบคเทล เข้ามามีอิทธิพลอยู่ในเขตครอบครองนี้เช่นกัน

จากการผลิตโคลตัน รัฐบาลรวันดาและอูกันดามีรายได้ถึง 20 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน การส่งออกเพชรของรวันดาเพิ่มขึ้นจาก 166 กะรัตในปี 1998 เป็น 30,500 กะรัตในปี 2000 ส่วนการส่งออกเพชรของอูกันดาพุ่งขึ้นจาก 1,500 กะรัต เป็น 11,300 กะรัต เป้าหมายการส่งออกสินแร่เหล่านี้คือ สหรัฐอเมริกา

อันดับ 20 การวิจัยรหัสพันธุกรรมของโนวาร์ติส เป็นอันตรายต่อชีวิตพันธุ์พืชในโลก
นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานให้บริษัทอาหารยักษ์ใหญ่สวิสคือ โนวาร์ติส ผู้ผลิตโอวัลติน ได้พัฒนาและจดสิทธิบัตรวิธีการ "สะกดปิด" ระบบภูมิต้านทานของพืช นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเชื่อว่าเทคโนโลยีใหม่นี้เป็นอันตรายที่สุดในการดัดแปลงพันธุกรรม

สิทธิบัตรของโนวาร์ติส ระบุว่า นักวิทยาศาสตร์คาดว่า เทคโนโลยีชีวภาพนี้สามารถใช้กับธัญพืชเกือบทุกชนิดบนโลก โนวาร์ติสอ้างว่า วิธีการดัดแปลงพันธุกรรมวิธีใหม่ จะช่วยให้เกษตรกรควบคุมโรคและเพิ่มผลผลิตได้ดีขึ้น แต่ผู้สันทัดกรณีวิจารณ์ว่า มันจะทำให้เกษตรกรในโลกที่สาม ต้องพึ่งพิงการซื้อสารเคมีจากบริษัทมากขึ้น

กระบวนการนี้จะมีการถ่ายโมเลกุลดีเอ็นเอที่เรียกว่า รหัสพันธุกรรม NIM เข้าไปในพืช ยีนตัวนี้จะเข้าไปทำปฏิกิริยากับระบบภูมิคุ้มกันของพืช ระบบภูมิคุ้มกันจะถูกเลือกให้เปิดปิดได้โดยการใช้สารเคมีกระตุ้นเมื่อเสี่ยงต่อการเกิดโรค แต่ในสิทธิบัตรยังบรรยายถึงการสามารถทำให้ระบบภูมิคุ้มกันทั้งหมดถูกสะกดปิดโดยสิ้นเชิง นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเกรงว่า เทคโนโลยีใหม่อาจมีผลกระทบเลวร้ายต่อนิเวศวิทยา ถ้าพืชที่ถูกสะกดปิดระบบภูมิต้านทานถูกปล่อยให้ผสมข้ามพันธุ์กับพืชตามธรรมชาติ

สหประชาชาติเพิ่งประณามการใช้เทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมที่ใช้สารเคมีเพื่อกระตุ้นลักษณะทางพันธุกรรม ทั้งยังแนะนำว่าไม่ควรนำมาปลูกในแปลงทดลองและเรียกร้องให้ยับยั้งการพัฒนาใด ๆ จนกว่าจะมีการประเมินผลกระทบที่รอบด้านกว่านี้

โนวาร์ติสตั้งใจจะใช้เทคโนโลยีใหม่นี้กับข้าวบาร์เลย์ แตงกวา ยาสูบ ข้าว พริก ข้าวสาลี กล้วยและมะเขือเทศ นอกจากนั้น บริษัทยังมีรายการพืชอื่น ๆ อีกกว่า 80 ชนิด อาทิเช่น แอปเปิล แพร์ สตรอเบอร์รี่ ถั่ว ฝ้าย ใบชา ฯลฯ

อันดับ 21 บริษัทจัดหาคนงานชั่วคราวในสหรัฐฯ มีส่วนทำลายสหภาพและปฏิบัติต่อคนงานอย่างเลวร้าย
Labor Ready Inc. เป็นบริษัทตัวแทนจัดหาแรงงานชั่วคราว ที่มีปริมาณจ้างงานมากกว่า 700,000 ในปี ค.ศ. 2000 เลเบอร์ เรดี้ มีสำนักงาน 839 แห่งใน 49 มลรัฐ และในแคนาดา และพร้อมที่จะจัดหาแรงงานชั่วคราวมาทำงานแทนในกรณีที่มีการหยุดงานประท้วงของแรงงานสหภาพ

เลเบอร์ เรดี้ จ่ายค่าจ้างให้คนงานในอัตราต่ำสุด คนงานไม่มีสวัสดิการและต้องทำงานในสภาพเลวร้าย คนงานต้องมารอที่สำนักงานจัดส่งตั้งแต่ตีห้าถึงหกโมงเช้า ไม่มีการจ่ายเงินให้กับเวลาที่ใช้ในการรองาน อัตราบาดเจ็บจากการทำงานของคนงานสูงกว่าอัตราเฉลี่ยถึงสามเท่า

อันดับ 22 การทำฟาร์มเลี้ยงปลา เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของผู้บริโภคและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ
การทำฟาร์มเลี้ยงปลา เป็นแหล่งอาหารทะเลถึงหนึ่งในสามที่บริโภคกันทั่วโลก ในสหรัฐอเมริกา การเพาะสัตว์น้ำเป็นแหล่งผลิตปลาเทราท์และปลาแคทฟิช รวมทั้งครึ่งหนึ่งของกุ้งและปลาแซลมอน

ในต้นทศวรรษ 1990 อุตสาหกรรมเพาะสัตว์น้ำถูกประโคมว่าเป็นทางแก้ปัญหาการจับสัตว์น้ำเกินขอบเขต แต่อันตรายจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีต่อคนและสิ่งแวดล้อมอาจมากกว่าผลดีที่เคยคาดไว้

การศึกษาในแคนาดาเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า ปลาแซลมอนเลี้ยงหนึ่งหน่วยบริโภคมีปริมาณไดอ๊อกซินและพีบีซีเกินขีดที่องค์การอนามัยโลกแนะนำไว้ 3-5 เท่า ฟาร์มปลาแซลมอน 200,000 ตัวปล่อยปริมาณไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และมูลของเสียเทียบเท่ากับน้ำเสียของประชากร 20,000-25,000 คน ปลาแซลมอนที่เลี้ยงในฟาร์มถูกดัดแปลงพันธุกรรมให้มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีอัตราการเผาผลาญอาหารสูงกว่าปลาตามธรรมชาติถึง 50-70% เมื่อซุปเปอร์ปลาพวกนี้หลุดไปในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ มันจะไปแย่งอาหารของปลาอื่น ๆ

นอกจากนี้ยังมีการใช้สารเคมีอย่างหนักในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นับตั้งแต่ยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าพยาธิ ยาฆ่าแมลง ฮอร์โมน ยาสลบ แร่ธาตุและวิตามินเสริม การใช้ยาปฏิชีวนะเช่นนี้มีผลเสียต่อสุขภาพของปลาเท่า ๆ กับคน เพราะมันทำให้เกิดอาการดื้อยาทั้งในมนุษย์และปลา

แคนาดาเป็นเป้าหมายสำคัญของการทำฟาร์มปลาแซลมอน โดยตอนแรกเชื่อว่าจะช่วยให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่ภายในไม่กี่ปี บรรษัทต่างชาติก็เข้ามาซื้อกิจการของรายย่อย ฟาร์มขยายตัวออกไปและติดตั้งกระชังไว้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ชาวประมงกุ้งพบว่าแหล่งน้ำเต็มไปด้วยมูลปลา อาหารเหลือและซากปลาแซลมอนตาย

ยังมีปัญหาอื่น ๆ ตามมา เสียงไซเรนที่ติดตั้งไว้เหนือกระชังปลาเพื่อไล่แมวน้ำและสิงโตทะเล พลอยทำให้ปลาวาฬเพชฌฆาตหนีไปจากหมู่เกาะนอกฝั่งแคนาดาด้วย

เพื่อกำจัดเหาทะเล มีการใช้ยาฆ่าพยาธิที่พลอยฆ่ากุ้งบางชนิด ปลาเลี้ยงที่มีการระบาดของโรคผิวหนังทำให้ปลาแซลมอนธรรมชาติที่ว่ายผ่านมาติดโรคไปด้วย ถ้าหากปลาแซลมอนตามธรรมชาติถูกทำลายไป มันจะเกิดผลกระทบต่อห่วงโซ่อาหารของนก หมีและสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่น ๆ

การแข่งขันตัดราคาปลาแซลมอนเลี้ยงให้ต่ำลง ส่งผลกระทบต่อชาวประมงในอะแลสกาที่ทำประมงปลาธรรมชาติแบบยั่งยืน นอกจากรสชาติที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างปลาเลี้ยงกับปลาธรรมชาติแล้ว สารตกค้างในปลาเลี้ยงยังมีสูงมาก งานวิจัยในแคนาดาระบุว่า ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ไม่ควรกินปลาแซลมอนเลี้ยงเกินกว่าหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ พลังของผู้บริโภคสามารถแก้ปัญหานี้ได้ นั่นคือ กินแต่ปลาแซลมอนธรรมชาติเพื่อรักษาปลาแซลมอนธรรมชาติเอาไว้

อันดับ 23 ม้าต้องมีชีวิตอยู่อย่างทารุณ เพื่อกำไรของบริษัทยา
Premarin การบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน (hormone replacement therapy-HRT) สำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ทำมาจากปัสสาวะของแม่ม้าที่กำลังตั้งท้อง (PMU) ปัสสาวะม้าจะถูกนำมาสกัดเอสโตรเจนและนำออกขายในหลายรูปแบบ เพื่อช่วยบรรเทาอาการของวัยหมดประจำเดือน ผู้หญิงประมาณ 9 ล้านคนใช้พรีมารินในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และคาดว่าตัวเลขจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ พรีมารินผลิตโดยบริษัทไวแอธ-เอิร์สต์ (Wyeth-Ayerst) ซึ่งเป็นสาขาย่อยของบริษัทอเมริกันโฮมโปรดักทส์ และเป็นยาทดแทนเอสโตรเจนตัวเดียวที่ได้มาจากสัตว์ ในขณะที่ยายี่ห้ออื่น ๆ ผลิตจากถั่วเหลืองและพืชผัก

ม้าที่ตั้งท้องกลายเป็นเครื่องจักรผลิตยา มันจะถูกทำให้ตั้งท้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าและถูกขังไว้ในคอกแคบ ๆ ตลอดหกเดือน แม่ม้าจะถูกเสียบถุงเก็บปัสสาวะติดไว้ที่ตำแหน่งใต้หาง อุปกรณ์เก็บปัสสาวะนี้ทั้งสร้างความเจ็บปวดและไม่ถูกอนามัย ทำให้อวัยวะเพศของแม่ม้าติดเชื้อ ม้าจะถูกล่ามไว้กับเชือกสั้น ๆ ที่บังคับไม่ให้เดินไปไหนมาไหนได้มากกว่าหนึ่งก้าว รวมทั้งนอนลงไม่ได้ด้วย หลังจากมีชีวิตเช่นนี้อยู่หลายปี แม่ม้าจะถูกส่งไปโรงฆ่าสัตว์เพื่อชำแหละเนื้อส่งไปขายที่ยุโรปหรือญี่ปุ่น

ทุกวันนี้ มีฟาร์ม PMU อยู่ 439 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในแคนาดาและมีจำนวนไม่มากอยู่ในดาโกตาเหนือ ในปี ค.ศ. 1999 มีแม่ม้า "เข้าแถวฉี่" ประมาณ 55,000-65,000 ตัว ตามปรกติ ม้าควรได้รับน้ำดื่มไม่น้อยกว่าสองครั้งต่อวัน แต่เกษตรกรมักให้น้ำแก่ม้าน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อยได้เพื่อให้เอสโตรเจนในปัสสาวะมีความเข้มข้นสูงขึ้น ทั้งนี้เพราะบริษัทรับซื้อจะจ่ายเงินตามความเข้มข้น ไม่ใช่ตามปริมาณ

ทุก ๆ ฤดูใบไม้ผลิ แม่ม้าจะให้กำเนิดลูกม้า ลูกม้าจะได้อยู่กับแม่ไม่กี่เดือนแรก หลังจากนั้นก็ถูกหย่านมในเดือนกันยายนเพื่อให้แม่ม้าไปเข้าแถวฉี่ต่อ ลูกม้าส่วนใหญ่ถูกนำไปขุนให้อ้วนและส่งเข้าโรงฆ่าสัตว์

อันดับ 24 วอลมาร์ตหาหนทางทำลายสหภาพแรงงานในระดับมลรัฐ
วอลมาร์ตทุ่มเงินจำนวนมากให้การรณรงค์ทางการเมือง เพื่อสนับสนุนกฎหมายที่จะลดค่าจ้างและสวัสดิการของคนงานในรัฐโอคลาโฮมา กฎหมายนี้จะทำลายศักยภาพของสหภาพแรงงาน วอลมาร์ตยังมีแผนที่จะรณรงค์ให้ขยายกฎหมายนี้ครอบคลุมทั่วประเทศ

อันดับ 25 รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ช่วยอุ้มคุกเอกชนให้พ้นจากการล้มละลาย
เป็นเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษที่อุตสาหกรรมคุกเอกชนเฟื่องฟูขึ้นมา แต่คุกเอกชนมักมีประวัติการทำร้ายผู้ต้องขังและการหลบหนีมากกว่าคุกของรัฐบาล ทั้งนี้เนื่องจากการพยายามลดค่าใช้จ่ายลง มลรัฐต่าง ๆ จึงไม่ยอมให้การสนับสนุนหรือยกเลิกสัญญา แต่รัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกากลับเข้ามาต่อสัญญากับคุกเอกชนแทน

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

ภาพประกอบดัดแปลง เพื่อใช้ประกอบบทความเรื่อง ข่าวเด่นที่ไม่เป็นข่าว 25 อันดับ ประจำปี 2544-2545
(เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนครั้งแรก
23 กรกฎาคม.2546)

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 290 หัวเรื่อง "เรื่องที่ไม่เป็นข่าว แต่มีความสำคัญต่อประชาชน"โดย : ภัควดี นำมาจากกระดานข่าวมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน 00200- ข่าวเด่นที่ไม่เป็นข่าว ประจำปี 2544-2545 ี [ 14 ก.ค. 2003 ]

 

230746
release date
R
random topic
หากประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาด font ลงมา จะแก้ปัญหาการทับซ้อนต่างๆได้
H
home

หมวด 11 ของนาฟต้า ซึ่งอนุญาตให้บริษัทธุรกิจฟ้องรัฐบาลได้ มีวรรคหนึ่งที่จะทำให้ทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ เช่น กำไรที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตของบริษัท กลายเป็นทรัพย์สินเอกชน. กฎหมายหรือข้อบังคับใด ๆ ก็ตามที่พยายามคุ้มครองผลประโยชน์ส่วนรวม จะถูกถือว่าเป็นการฉกฉวยเอาศักยภาพที่จะทำกำไรของบริษัทไป.
ดังนั้น รัฐบาลจึงถูกบังคับให้ต้องชดเชยทรัพย์สิน / กำไรที่สูญเสียไปแก่เจ้าของทรัพย์สิน (ซึ่งก็คือบริษัทธุรกิจ)
นี่ถือเป็นการขยายขอบเขตของกรรมสิทธิ์เอกชนออกไปอย่างไม่เคยมีมาก่อน
(ตัดมาจากข่าว อันดับ 12 เรื่องข้อตกลงนาฟต้า เหยียบย่ำกฎหมายคุ้มครองสังคมของประเทศสมาชิก)

 

รัฐบาลบุช ขัดขวางการทำงานของเอฟบีไอ ที่ต้องการสืบสวนความเคลื่อนไหวด้านการก่อการร้าย
ที่พัวพันกับตระกูลของบิน ลาดิน นอกจากนั้น รัฐบาลบุชยังวางแผนที่จะเข้าไปทำสงคราม
อัฟกานิสถานตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 แล้ว(ข่าวอันดับที่ 4)
หลายข่าวที่สำคัญต่อโลกและประชาชนยังคงไม่ถูกรายงานจากสำนักข่าวกระแสหลัก ดังนั้นเราจึงควรให้ความสนใจอย่างยิ่ง
สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกได้รับสมญานามว่าเป็น "แผ่นดินที่รวยที่สุดบนโลก" แร่และทรัพยากรที่มั่งคั่งของคองโก ทำให้ประเทศนี้ตกเป็นเป้าการรุกรานจากประเทศแอฟริกันเพื่อนบ้านอย่างอูกันดาและรวันดา
โดยมีสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง (ข่าวอันดับที่ 19)
ม้าต้องมีชีวิตอยู่อย่างทารุณ เพื่อกำไรของบริษัทยา Premarin การบำบัดด้วยฮอร์โมนทดแทน (hormone replacement therapy-HRT) สำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ทำมาจากปัสสาวะของแม่ม้าที่กำลังตั้งท้อง (PMU) ปัสสาวะม้าจะถูกนำมาสกัดเอสโตรเจนและนำออกขายในหลายรูปแบบ เพื่อช่วยบรรเทาอาการของวัยหมดประจำเดือน ผู้หญิงประมาณ 9 ล้านคนใช้พรีมารินในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง และคาดว่าตัวเลขจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ พรีมารินผลิตโดยบริษัทไวแอธ-เอิร์สต์ (Wyeth-Ayerst) ซึ่งเป็นสาขาย่อยของบริษัทอเมริกันโฮมโปรดักทส์ และเป็นยาทดแทนเอสโตรเจนตัวเดียวที่ได้มาจากสัตว์ ในขณะที่ยายี่ห้ออื่น ๆ ผลิตจากถั่วเหลืองและพืชผัก (ตัดมาจากข่าวอันดับที่ 23)
ข้อมูลของทั้งสอง ยังสอดคล้องกับข้อมูลของนักข่าวสายอังกฤษ หลังจากการโจมตีตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ได้สองเดือน ได้ค้นพบเอกสาร หลักฐานและคำสัมภาษณ์จากคนวงใน ที่เปิดโปงว่า รัฐบาลบุชเคยขัดขวางการทำงานของเอฟบีไอในการสืบสวนการก่อการร้ายที่พัวพันกับตระกูลบิน ลาดิน และราชวงศ์ซาอุดีอาระเบียในช่วงก่อนเกิดวินาศกรรม 9/11 นโยบายปิดหูปิดตานี้เป็นผลมาจากการเมืองเกี่ยวกับน้ำมัน และความซ้อนทับของผลประโยชน์ทางการเงินที่ตระกูลบุชมีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งกับราชวงศ์ซาอุฯ ธนาคาร และนักค้าอาวุธ (ข่าวอันดับที่ 4)
บทความทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ หากนำไปเผยแพร่ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร - 230746