H

เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม : ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความฟรี ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง GI-สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์....ที่ยังต้องทำความเข้าใจ....ให้ตรงกัน บทความจากสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จากเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 306 หัวเรื่อง

GI สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (รายละเอียดและข้อเสนอเพิ่มเติม ต่อจากบทความที่ 280)

นำเสนอโดย พอล เลอมัง สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์
(บทความนี้ยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4)

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้
midnightuniv(at)yahoo.com

270946
release date
h
o
m
e
R
relate
GI-สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์....ที่ยังต้องทำความเข้าใจ....ให้ตรงกัน พอล เลอมัง - เจนีวา สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

เรื่องจีไอมีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เมื่อทริ๊ปส์ได้กำหนดข้อยกเว้นการให้การคุ้มครองสินค้าจีไอด้วย ในมาตราที่ 24 ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ถึง 5 ข้อ ดังนี้
1.หากสินค้าใดได้ใช้ชื่อในการค้ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี ก่อนความตกลงทริ๊ปส์หรือก่อนหน้านั้นไม่นานแต่เป็นไปโดยสุจริตใจ ก็ยกเว้นให้ใช้ชื่อนั้นต่อไปได้
2.เครื่องหมายการค้าใดใช้มาก่อนความตกลงทริ๊ปส์และใช้โดยสุจริตใจก็ให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นต่อไปได้ หรือหากได้จดทะเบียนการค้าก่อนที่ประเทศต้นกำเนิดสินค้าจีไอนั้นจะมีกฎหมายให้การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
3.เมื่อชื่อสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หนึ่งได้กลายเป็นคำที่ใช้กันทั่วไปของสินค้าประเภทหนึ่งในภาษาหนึ่งของประเทศสมาชิก (เช่นคำสามัญทั่วไป generic name) ก็ไม่จำเป็นต้องให้การคุ้มครองแก่สมาชิกนั้นอีกต่อไป
4.การให้การคุ้มครองจีไอไม่ได้ห้ามบุคคลใดใช้ชื่อตนเองเป็นเครื่องหมายการค้า ตราบที่ไม่ได้ใช้เพื่อทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด
5.ไม่มีข้อบังคับให้การคุ้มครองสินค้าจีไอใดที่ไม่ได้รับการคุ้มครองในประเทศต้นกำเนิด จากข้อยกเว้นต่างๆ

GI-สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์...ที่ยังต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน
พอล เลอมัง - เจนีวา, สวิสเซอร์แลนด์
(บทความจากสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI ยังคงเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันอยู่ในสังคมไทย ทั้งภาครัฐและเอกชนโดยเฉพาะภาครัฐนั้น ยังต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อให้การคุ้มครองจีไอในประเทศอย่างถูกต้อง รวมทั้งมีแนวปฏิบัติในการจดทะเบียนและตรวจสอบสินค้าจีไอและเรียกร้องการคุ้มครองสินค้าจีไอของไทยในต่างประเทศ

ในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นได้ชัดก็คือ ความเข้าใจของแต่ละคนนั้นยังไม่ค่อยจะตรงกันเท่าใดนัก บางคนเข้าใจมุมหนึ่งในขณะที่อีกคนเข้าใจอีกมุมหนึ่ง ภาพที่ออกมาจึงยังไม่สมบูรณ์และอาจไม่ถูกต้อง

ผมจึงขอนำประเด็นต่างๆ ในเรื่อง GI ที่คิดว่าเป็นข้อเท็จจริงและมีความสำคัญ...เพื่อที่ทุกฝ่ายจะใช้ประกอบในการพิจารณาการตัดสินใจในเรื่องนี้

ทั้งนี้ ขอเรียน ณ ตรงนี้ว่า ผมยึดถือข้อเท็จจริงเป็นหลัก ไม่ได้มีความเอนเอียงไปในด้านใดทั้งสิ้นและการนำเสนอนี้ก็ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพียงเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจให้มากที่สุด เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อคนไทยทั้งประเทศ

จีไอคืออะไร
ตอบสั้นๆ ก่อนว่าจีไอ มาจากคำว่า Geographical Indications เรียกกันย่อๆ ว่า GI (ไม่ใช่จีไอที่หมายถึงทหารอเมริกัน) จีไอคือมาตรการคุ้มครองหรือเป็นสิทธิประเภทหนึ่งในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า ที่กำหนดขึ้นมาเพื่อที่จะปกป้องคุ้มครองชื่อเสียงและคุณภาพของสินค้า (โดยเฉพาะสินค้าเกษตรได้แก่ไวน์และสุรา) มิให้ถูกแอบอ้างชื่อ ลอกเลียนแบบที่จะทำให้ผู้บริโภคหลงเข้าใจผิดในแหล่งที่มา และส่งผลกระทบต่อสินค้าตัวจริง

จีไอปรากฏในกฎหมายระหว่างประเทศในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทางทรัพยสินทางปัญญา หรือเรียกสั้นๆ ว่าทริ๊ปส์ ปี ค.ศ.1994 (วันที่ 15 เมษายน) ซึ่งเป็นการประชุมรอบอุรุกวัย ขององค์การการค้าโลก สาเหตุที่มีความตกลงนี้เนื่องจากกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปต้องการให้องค์การการค้าโลกเข้ามากำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาแก่ประเทศสมาชิก ซึ่งในครั้งนั้นสหรัฐฯไม่ต้องการให้เรื่องนี้เข้ามาอยู่ในองค์การการค้าโลก เพราะเห็นว่าเป็นการคุ้มครองที่เข้มงวดเกินไปและอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหารของสหรัฐฯได้ใช้ชื่อสินค้าที่เป็นจีไอของผู้อื่นมานาน หากมีการคุ้มครองที่เข้มงวดก็จะกระทบต่อสินค้าของสหรัฐฯเป็นอย่างมาก

นอกจากนั้นบางประเทศที่คัดค้านก็เห็นว่ามีองค์การระหว่างประเทศอื่นดูแลเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาอยู่แล้วไม่ควรนำทริ๊ปส์เข้ามาในเวทีการค้าโลก แต่ไม่สามารถต้านทานสหภาพยุโรปได้ซึ่งได้กดดันยื่นเงื่อนไขว่าหากไม่มีทริ๊ปส์ก็จะไม่ตกลงเรื่องสินค้าเกษตร ซึ่งในที่สุดที่ประชุมต้องยอมให้มีการบรรจุความตกลงทริ๊ปส์ที่มีการคุ้มครองจีไอที่เข้มงวดรวมทั้งการคุ้มครองพิเศษสำหรับกับไวน์และสุราในความตกลง

ทำไมถึงต้องมีจีไอ
ทำไมต้องมีจีไอในวันนี้ ตอบสั้นๆ ก็เพราะการคุ้มครองคุณภาพและชื่อเสียงของสินค้าที่มีอยู่ในกฎหมายท้องถิ่นและระหว่างประเทศที่ใช้กันอยู่ยังมีความแตกต่างกัน ส่วนใหญ่ใช้การคุ้มครองในรูปของเครื่องหมายการค้า แต่ก็ยังมีการใช้ชื่อสินค้าแอบอ้างเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด โดยเฉพาะไวน์และสุรา จึงเห็นว่าระบบที่ผ่านมายังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

กลุ่มประเทศผู้ผลิตไวน์และสุรายักษ์ใหญ่เช่นสหภาพยุโรป ซึ่งมีสินค้ามากมายหลายพันชนิดขายในตลาดโลก จึงต้องหากฎระเบียบอื่นๆ มาคุ้มครองเพิ่มเติมและเนื่องจากในปัจจุบันองค์การการค้าโลกเป็นองค์การที่สำคัญที่สุดในการสร้างกฏและจัดระเบียบการค้าโลก จึงพยายามใช้กฎระเบียบองค์การให้ครอบคลุมเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในด้านการค้าโดยเน้นเรื่องการคุ้มครองสินค้าไวน์และสุราด้วย นอกจากนี้ จีไอมีวัตถุประสงค์ที่จะให้การคุ้มครองสิทธิของชุมชนเป็นสำคัญด้วย

อย่างไรก็ดี ในประเด็นนี้ ถ้ามองในแง่ดี ไม่ใช่ว่าจีไอจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรไร่องุ่นฝรั่งเศสเท่านั้น แต่ต้องถือว่าจะเป็นประโยชน์กับเจ้าของสิทธิทางทรัพยสินทางปัญญาของทุกประเทศที่เข้าข่ายเป็นจีไอและที่เคยถูกละเมิดโดยการปลอมแปลงจากผู้อื่นด้วย ในหลักการจึงเป็นเรื่องที่ดี

ที่ผ่านมามีความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาทางการค้าหลายฉบับ เช่น อนุสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ทางอุตสาหกรรม ค. ศ. 1976 อนุสัญญากรุงมาดริด ค.ศ. 1981 และพิธีสารเกี่ยวเนื่อง ค.ศ. 1989 อนุสัญญากรุงลิสบอน ค.ศ.1958 เป็นต้น องค์การที่ดูแลความตกลงเหล่านี้ได้แก่องค์การทรัพยสินทางปัญญาสากล WIPO ในขณะที่องค์การการค้าโลกนั้นเป็นองค์การที่กำหนดระเบียบและดูแลเฉพาะความตกลงทริ๊ปส์เท่านั้น ซึ่งเรื่องจีไอเป็นเรื่องที่สำคัญเรื่องหนึ่งในการเจรจาในองค์การการค้าโลก

คำนิยามของจีไอ
ตามมาตรา 22 ของความตกลง TRIPs Agreement ระบุว่า สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI หมายถึง

สิ่ง (ชื่อหรือเครื่องหมาย) ที่บ่งชี้ ของสินค้าหนึ่ง ที่มีแหล่งกำเนิดในพื้นที่ ภูมิภาคหรือท้องถิ่นที่อยู่ในดินแดนของประเทศสมาชิก ซึ่งทั้งคุณภาพที่ได้และชื่อเสียงที่มีมานาน(ของสินค้า)หรือคุณลักษณะอื่นๆ เป็นผลเนื่องมาจากแหล่งกำเนิดพื้นที่ทางภูมิศาสตร์นั้นๆ

จะเห็นว่าคำนิยามนี้ สามารถตีความได้หลายอย่าง ทั้งอย่างแคบและอย่างกว้าง แม้ผู้เชี่ยวชาญเองก็ยังต้องถกเถียงกันและยังไม่มีข้อยุติ ดังนั้นเราจะลองมาขยายความมาตรานี้เพื่อให้เข้าใจตรงกัน คำที่ผมเห็นว่าต้องสนใจและทำความเข้าใจให้กระจ่างก็คือ

สิ่งบ่งชี้ / สินค้า / แหล่งกำเนิด / คุณภาพ / ชื่อเสียง / คุณลักษณะอื่นๆ และสุดท้าย แหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์

จีไอหมายถึงเครื่องหมาย Indicatons ที่บ่งชี้ Identify ซึ่งหมายถึงชื่อ เครื่องหมาย รูปภาพ สัญลักษณ์ที่บ่งชี้ของสินค้า
จีไอหมายถึงสินค้า goods สินค้าในที่นี้ไม่ได้มีการตีความเอาไว้แต่น่าจะหมายถึงสินค้าทุกชนิดทั้งเกษตร อุตสาหกรรมและอื่นๆ

จีไอหมายถึงแหล่งกำเนิด as originating in the territory of a member หมายถึงมาจากแหล่งกำเนิดหนึ่งของดินแดนของสมาชิก ซึ่งเป็นได้ทั้ง ภูมิศาสตร์ที่เล็กที่สุด ตั้งแต่หมู่บ้าน อำเภอ ตำบล จังหวัด เขต ภาคตลอดจนประเทศก็น่าจะใช้ได้

จีไอหมายถึงคุณภาพ a given quality ต้องมีคุณภาพที่ไม่เหมือนใครหรือไม่มีใครเหมือนหรือไร้เทียมทาน ซึ่งต้องมีหลักฐานทางวิชาการที่สนับสนุนได้ว่าเป็นข้อพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี

จีไอหมายถึงชื่อเสียง reputation ต้องมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางซึ่งน่าจะหมายถึงการยอมรับในระดับประเทศและระหว่างประเทศมาเป็นเวลานานด้วย

จีไอหมายถึงคุณลักษณะอื่นๆ characteristic ของสินค้าซึ่งอาจได้แก่สภาพธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมที่เฉพาะ เช่นกระแสน้ำร้อนน้ำอุ่น อากาศที่หนาวเย็น แดดที่จัด ดินที่มีลักษณะเฉพาะ

จีไอหมายถึงการเชื่อมโยงแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ geographical origin ข้อนี้หมายถึงว่าคุณภาพของสินค้าและคุณลักษณะทุกอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นล้วนเป็นผลที่มีส่วนเชื่อมโยงกับลักษณะต้นกำเนิดทางภูมิศาสตร์นั้น ตัวอย่างไวน์ฝรั่งเศสที่พูดได้เต็มปากว่าที่มีคุณภาพรสชาติพิเศษก็เพราะ มาจากแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์เฉพาะของฝรั่งเศส เช่น คอนยัต แชมเปญ บอร์โด เป็นต้น

สินค้าใดมีคุณลักษณะดังกล่าวข้างต้นก็เป็นจีไอตามมาตรานี้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องครบทุกข้อผมจึงขอทำความเข้าใจตรงนี้ว่าไม่ใช่สินค้าทุกชนิดจะเป็นจีไอและไม่ใช่ว่าไวน์และสุราทุกชนิดจะเป็นจีไอเช่นกัน แต่ต้องมีคุณสมบัติใดคุณสมบัติหนึ่งตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ซึ่งก็แน่นอนผู้ได้เปรียบก็คือผู้ที่มีระบบการควบคุมและคุ้มครองมานานซึ่งก็ได้แก่สินค้าไวน์และสุรากับสินค้าอาหารบางชนิดของสหภาพยุโรป ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มประเทศที่มีระบบการให้การคุ้มครองจีไอมาก่อนอีกหลายประเทศ

พูดภาษาชาวบ้านก็คือเรื่องจีไอนี้เข้าทางสหภาพยุโรป เพราะคำนิยามที่ระบุว่าต้องมีคุณภาพชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายเป็นที่ยอมรับนั้นทำให้สินค้าของยุโรปส่วนใหญ่ได้เปรียบเพราะขายมานาน นอกจากนั้น ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการทำให้สหภาพยุโรปได้เปรียบในการค้นคว้าศึกษาในเรื่องคุณภาพ และลักษณะพิเศษที่เชื่อมโยงกับภูมิศาสตร์ ซึ่งกลายเป็นข้อมูลที่สนับสนุนในการเป็นสินค้าจีไอได้อย่างง่ายดาย ส่วนสินค้าของประเทศอื่นๆ ก็ต้องมานั่งทะเลาะกันว่าที่ว่ามีชื่อเสียงนั้นเป็นอย่างไร คุณภาพนั้นมีรายละเอียดอย่างไร ลักษณะเชื่อมโยงทางภูมิศาสตร์นั้นเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องยากสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่มีสินค้าเข้าข่ายจีไอหรือมีสินค้าที่เป็นจีไอแล้ว แต่ไม่รู้จะพิสูจน์อย่างไรและคุ้มหรือไม่ที่พยายามเรียกร้องการคุ้มครองจีไอโดยที่ยังไม่มีความแน่นอน เพราะสินค้ายังไม่มีมูลค่าหรือ economic value เพียงพอ

ความคุ้มครองที่ให้กับสินค้าจีไอ
หลังจากที่รู้คำนิยามของจีไอแล้ว เรามาดูกันว่า ความตกลงทริ๊ปส์นี้ให้การคุ้มครองจีไออย่างไรและในระดับใดบ้าง

ความตกลงทริ๊ปส์นี้ให้การคุ้มครองสินค้าจีไอ 2 ระดับแยกกันอย่างชัดเจน คือ ในระดับทั่วไป ซึ่งต่อไปนี้จะขอเรียกว่าเป็นระดับ B (เพื่อความเข้าใจง่ายๆ) อยู่ในมาตรา 22 สำหรับสินค้าทั่วไป โดยให้การคุ้มครองสองกรณีคือ

- กรณีที่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความหลงผิดในแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ของสินค้านั้นและ
- ในกรณีที่เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

และในระดับพิเศษที่สูงกว่า ซึ่งจะขอเรียกว่า ระดับ A อยู่ในมาตราที่ 23 สำหรับจีไอไวน์และสุราเท่านั้น ย้ำนะครับว่าเฉพาะจีไอไวน์และสุราเท่านั้น ซึ่งได้รับการคุ้มครองเพิ่มเติมจากสินค้าจีไอทั่วไป ทั้งนี้ในระดับนี้ ห้ามใช้คำว่า ชนิด ประเภท แบบ การเลียนแบบ หรือที่คล้ายกันก็ตาม ห้ามการลอกเลียนแบบทุกอย่างแม้จะไม่เป็นการทำให้ผู้บริโภคหลงผิดก็ตาม เช่นไวน์บอร์โด ห้ามมิให้ผู้ใดใช้ชื่อนี้เลย แม้จะระบุว่าเป็นไวน์บอร์โดที่มิได้ผลิตจากฝรั่งเศสก็ตาม หรือแม้จะเขียนไม่เหมือนกันแต่ถ้าอ่านออกเสียงเหมือนกันก็ไม่ได้

การคุ้มครองนี้เรียกได้ว่าคุ้มครองสูงสุดทั้งนิตินัยและพฤตินัย ถ้าเป็นจีไอแบบไวน์และสุราแล้วไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ไม่ต้องพิสูจน์ต่อศาลเพียงแต่หาหลักฐานว่าได้มีการละเมิดสิทธิแล้วเท่านั้น ซึ่งทำให้ได้รับความสะดวกในการคุ้มครองมาก ไม่สร้างภาระให้เจ้าของสิทธิและสมาชิกทุกประเทศต้องให้การคุ้มครอง ในขณะที่ในระดับจีไอทั่วไป ระดับ B (สำหรับสินค้าทั่วไป) เจ้าของสิทธิต้องเป็นผู้พิสูจน์ว่าได้มีการละเมิดสิทธิ โดยทำให้ผู้บริโภคหลงผิดหรือจะต้องพิสูจน์ว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมอย่างไร ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นเรื่องยากและเป็นภาระสำหรับเจ้าของสิทธิในการหาข้อพิสูจน์สนับสนุนเป็นหลักฐานประกอบเพื่อเสนอต่อศาล

ทำไมถึงมีการกำหนดความคุ้มครอง 2 ระดับ
เป็นคำถามที่น่าถามที่สุด ความจริงแล้วควรจะมีการคุ้มครองจีไอระดับเดียวคือกับสินค้าทุกชนิด แต่ในการประชุมรอบอุรุกวัย สหภาพยุโรปถือโอกาสเพิ่มความคุ้มครองในระดับที่เพิ่มขี้นให้กับไวน์และสุราในมาตราที่ 23 ซึ่งประเทศสมาชิกต่างได้ให้การยอมรับความตกลงทริ๊ปส์ไปแล้วทั้งฉบับโดยหลายประเทศอาจจะยังมิได้เข้าใจดีพอในรายละเอียดและนัยยะของเรื่องนี้

เรื่องจีไอมีความยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้นไปอีก เมื่อทริ๊ปส์ได้กำหนดข้อยกเว้นการให้การคุ้มครองสินค้าจีไอด้วย ในมาตราที่ 24 ได้กำหนดข้อยกเว้นไว้ถึง 5 ข้อ ดังนี้

1.หากสินค้าใดได้ใช้ชื่อในการค้ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี ก่อนความตกลงทริ๊ปส์หรือก่อนหน้านั้นไม่นานแต่เป็นไปโดยสุจริตใจ ก็ยกเว้นให้ใช้ชื่อนั้นต่อไปได้ (แม้จะบังเอิญไปซ้ำชื่อกับสินค้าจีไอของประเทศใด)

2.เครื่องหมายการค้าใดใช้มาก่อนความตกลงทริ๊ปส์และใช้โดยสุจริตใจก็ให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นต่อไปได้ หรือหากได้จดทะเบียนการค้าก่อนที่ประเทศต้นกำเนิดสินค้าจีไอนั้นจะมีกฎหมายให้การคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

3.เมื่อชื่อสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หนึ่งได้กลายเป็นคำที่ใช้กันทั่วไปของสินค้าประเภทหนึ่งในภาษาหนึ่งของประเทศสมาชิก (เช่นคำสามัญทั่วไป generic name) ก็ไม่จำเป็นต้องให้การคุ้มครองแก่สมาชิกนั้นอีกต่อไป

4.การให้การคุ้มครองจีไอไม่ได้ห้ามบุคคลใดใช้ชื่อตนเองเป็นเครื่องหมายการค้า ตราบที่ไม่ได้ใช้เพื่อทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด

5.ไม่มีข้อบังคับให้การคุ้มครองสินค้าจีไอใดที่ไม่ได้รับการคุ้มครองในประเทศต้นกำเนิด จากข้อยกเว้นต่างๆ

เหล่านี้ทำให้การที่สินค้าหนึ่งสินค้าใดจะได้รับความคุ้มครองเป็นจีไอนั้นยากขึ้นไปอีก และในทางปฏิบัติยังต้องประสบปัญหาอุปสรรคในการตีความอีกหลายประการ

จุดอ่อนของทริ๊ปส์
ไม่ได้ให้การคุ้มครองโดยอัตโนมัติ สมาชิกจะต้องพิจารณากันเองว่าจะให้การคุ้มครองอย่างไร นั่นหมายความว่าทริ๊ปส์มิได้กำหนดมาตรฐานของการให้ความคุ้มครองไว้ ซึ่งก็หมายความว่าสมาชิกหากต้องการได้รับความคุ้มครองให้กับสินค้าของตนก็จะต้องไปขอจดทะเบียน เพื่อเรียกร้องการคุ้มครองในทุกประเทศและหากมีการละเมิดกันก็ต้องฟ้องร้องกันเองในกรณีที่มีปัญหาในประเทศนั้นๆ

ผลกระทบจากจีไอ
ผลกระทบที่เกิดขึ้นในการค้าระหว่างประเทศก็คือ จะมีการปกป้องคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาในเรื่องจีไอของสินค้ามากขึ้น นอกเหนือไปจากเรื่องสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าที่ใช้กันอย่างแพร่หลายแล้ว ดังนั้นประเทศใดมีสินค้าที่เป็นจีไอมากก็ได้ประโยชน์มาก ประเทศใดมีน้อยก็ได้ประโยชน์น้อย และที่สำคัญนอกจากสองกลุ่มดังกล่าวแล้วจะมีอีกกลุ่มประเทศหนึ่งที่จะต้องเสียประโยชน์อย่างมากเพราะสินค้าหลายอย่างที่เคยใช้ชื่อเลียนแบบของผู้อื่น เช่นสหรัฐฯและออสเตรเลีย ก็อาจจะต้องเลิกใช้ชื่อนั้นเพราะมีชื่อซ้ำกับจีไอในยุโรป เนื่องจากเป็นชนชาติเดียวกันที่ได้อพยพไปตั้งถิ่นฐานใหม่และได้นำเอาวิธีการทำสินค้าจีไอไปผลิตเป็นสินค้าขาทั่วไปเช่นกัน อีกทั้งยังมีชื่อเมือง อำเภอ ตำบล หมู่บ้านที่คล้ายกันกับของยุโรปจึงมีสินค้าที่มีชื่อสินค้าจีไอเหมือนกับของประเทศต้นกำเนิด ซึ่งในทางปฏิบัติน่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งและการฟ้องร้องกันทางการค้ามากทีเดียว

จีไอทำให้เกิดการตื่นตัวของประเทศกำลังพัฒนา เจ้าของสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งสินค้าจีไออาจจะถูกลอกเลียนแบบไปใช้ในประเทศพัฒนาแล้ว และผู้ลอกเลียนแบบสามารถอ้างสิทธิในสินค้านั้นและห้ามผู้อื่นรวมทั้งเจ้าของสิทธิตัวจริงใช้ก็อาจเป็นไปได้

พัฒนาการของการปกป้องคุ้มครองสินค้ามีมานานแล้ว
เมื่อเราเข้าใจเรื่องจีไอพอสมควรแล้ว เราจำเป็นที่จะต้องทราบถึงพัฒนาการของการเรียกร้องให้มีการคุ้มครองสินค้าในอดีตว่ามีความเป็นมาอย่างไร ทำไมถึงได้มีการปกป้องคุ้มครองชื่อเสียงของสินค้ายุโรปซึ่งก็ได้แก่ไวน์ และสุรา ผมยังยืนยันว่า หากไม่เข้าใจเหตุผลความเป็นมาของการปกป้องสินค้าไวน์และสุราก็ยากที่จะเข้าใจเรื่องจีไอในปัจจุบัน

ประเทศในยุโรปได้มีระบบการให้การคุ้มครองชื่อเสียงของสินค้ามาแล้วนับพันปี โดยเฉพาะไวน์ ยกตัวอย่างในยูโกสลาเวียมีการจัดระเบียบการขายไวน์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1222 ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีการควบคุมการผลิตและคุ้มครองไวน์มากที่สุด เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มเกษตรกรไร่องุ่นที่ต้องการปกป้องคุณภาพของไวน์ของท้องถิ่นตนมิให้มีการนำไวน์ที่ไม่ได้คุณภาพใช้ชื่อตามถิ่นกำเนิด ทั้งนี้เพื่อจะได้รักษาคุณภาพมาตรฐานและชื่อเสียงของไวน์ที่ดีเอาไว้

ได้มีการออกใบรับรองที่เรียกว่าการรับรองที่มาของสินค้า Indication of source และการรับรองถิ่นกำเนิดของสินค้า appellation of origin ซึ่งไม่ได้มีความหมายมากไปกว่าตัวอักษร คือไม่ได้รับรองไปถึงคุณภาพของไวน์แต่รับรองเพียงว่ามาจากแหล่งกำเนิดและแหล่งผลิตจริง อย่างไรก็ดีแม้มีการควบคุมคุ้มครองมากเพียงใดก็ปรากฏว่ามีการลอกเลียนแบบ ปลอมแปลงไวน์กันมากโดยเฉพาะชื่อของไวน์จากผู้ผลิตไวน์รายใหม่ๆ ในประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ที่มิได้อยู่ในยุโรปแต่ใช้ชื่อไวน์ฝรั่งเศสเพื่อทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นในทางการตลาด ทำให้ชื่อเสียงของไวน์ฝรั่งเศสที่แท้จริงกระทบกระเทือนและเมื่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมไวน์รุนแรงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ก็มีความจำเป็นที่ผู้ผลิตไวน์ฝรั่งเศสจะต้องปกป้องสินค้าของตนเอง จึงได้พยายามผลักดันให้มีการออกกฎหมายในระดับสากลเพื่อคุ้มครองในเรื่องชื่อเสียง และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ของไวน์ฝรั่งเศสซึ่งถือว่ามีคุณภาพที่ไม่มีใครเหมือน

ได้มีการวิพากย์วิจารณ์เกษตรกรสหภาพยุโรปกันมากโดยเฉพาะฝรั่งเศสว่าพยายามผลักดันจีไอ เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมไวน์และสุรา โดยกล่าวหาว่าเป็นการนำเอากติกา ระเบียบภายในประเทศของตนมาเป็นกติกาและระเบียบระหว่างประเทศ และมองว่าเป็นการไม่ยุติธรรมต่อประเทศอื่นๆ ที่มิได้มีอุตสาหกรรมไวน์

แต่ในประเด็นนี้ ผมกลับมีความเห็นแตกต่างหรือต่างมุม และก็ไม่ใช่ว่าผมจะเข้าข้างเกษตรกรไร่องุ่นของฝรั่งเศสแต่อย่างใด ผมเห็นว่า เรื่องจีไอนั้นไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็เพิ่งจะมีการเรียกร้องกันในวันนี้ในองค์การการค้าโลก เพื่อจะได้สิทธิประโยชน์ในการคุ้มครองอย่างสูงสุด แต่เป็นเรื่องที่มีพัฒนาการมาช้านานแล้ว นานเสียกว่าสินค้าอื่นๆ รวมทั้งข้าวหอมมะลิไทยของเราด้วย

ด้วยความจำเป็นที่จะต้องคุ้มครองสินค้าเกษตรของท้องถิ่นตนซึ่งมีทั้งคุณภาพ ชื่อเสียงและขายไปทั่วในตลาดโลก ถ้าจะว่าไปแล้ว ถือเป็นสิทธิอันชอบธรรมของกลุ่มผู้ผลิตไวน์ฝรั่งเศสมิใช่หรือ เพราะไวน์ฝรั่งเศสถูกลอกเลียนแบบ ปลอมแปลงทั้งเครื่องหมายและชื่อมามากมายมาเป็นเวลานาน ถ้าคิดเป็นความเสียหายทางการค้าที่ย้อนกลับไปในอดีตก็มีมูลค่ามากมายมหาศาลและประมาณค่ามิได้

ก็เหมือนกับความรู้สึกของกลุ่มชาวนาไทยและคนไทยทั่วไปที่ต้องการจะปกป้องคุ้มครองข้าวหอมมะลิไทยที่มีชื่อเสียงและขายอยู่ในตลาดโลกมานานแล้วเหมือนกัน เพราะฉะนั้นหากจะเข้าใจเรื่องจีไอก็ต้องเข้าใจเรื่องการปกป้องชื่อเสียงและคุณภาพของสินค้าไวน์ด้วย

ถ้าใครเป็นนักดื่มไวน์จะทราบดีว่าไวน์ฝรั่งเศสแต่ละขวดที่ได้มานั้นมิใช่มาได้ง่ายๆ เพียงแค่เอาลูกองุ่นมาคั้นให้น้ำออกมาและหมักไว้เท่านั้น แต่ไวน์ที่ดีมาจากองค์ประกอบหลายอย่างตั้งแต่ดินที่ปลูก อากาศที่ปกคลุมอยู่ในขณะนั้น พันธ์องุ่นที่ดีที่สุดและเหมาะกับพื้นที่นั้น การดูแลรักษาระหว่างต้นองุ่นเจริญเติบโต การเก็บลูกองุ่นมาคั้นและหมักโดยใส่ยิสต์เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมก่อนจะนำไปใส่หมักต่อในถังไม้โอ๊คในสถานที่เหมาะสม และไม่ใช่ว่าพอใส่ถังแล้วเสร็จสิ้นการทำไวน์ ระหว่างที่อยู่ในถังไม้โอ๊คก็ยังต้องมีเคล็ดลับในการปรุงไวน์ให้มีความกลมกล่อมและมีรสชาติที่เป็นเฉพาะของตน

ทุกขั้นตอนเหล่านี้มีการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวดรวมทั้งฉลากที่ปิดขวดไวน์ ท่านทราบหรือไม่ว่าการทำไวน์นั้นเป็นวิชาการชั้นสูงในระดับมหาวิทยาลัยทีเดียวและไม่ใช่มหาวิทยาลัยเกษตรทั่วๆไปแต่เป็นมหาวิทยาลัยไวน์โดยเฉพาะ สิ่งเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ไวน์ฝรั่งเศสมีคุณภาพที่ดีที่สุด ไม่เหมือนใคร มีคุณค่าที่หมายถึงราคาที่สูงสุดในตลาดโลก

ที่ผมต้องเล่าเรื่องการทำไวน์ก็เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าสินค้าที่จะเป็นจีไอนั้นไม่ใช่ว่าจะเป็นได้กันง่ายๆ ไวน์ฝรั่งเศสที่ดีที่สุดที่เรียกว่าเฟริส์ตคลาส กรองด์ครู ซึ่งมีราคาขวดละนับหมื่นบาทขึ้นไปจนถึงเป็นแสนเป็นล้านบาทนั้นต้องมาจากพันธ์องุ่นที่ดีที่สุดของไร่ เวลาเลือกลูกองุ่นมาคั้นเอาน้ำต้องเลือกลูกที่ใหญ่ สวยและมีขนาดเท่ากันทุกลูก ย้ำนะครับว่าต้องมีขนาดเท่ากันทุกลูก ซึ่งก็จะได้ลูกองุ่นเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นในแต่ละพวงและนี่เองเป็นเหตุให้ไวน์พิเศษพวกนี้ผลิตได้ในจำนวนจำกัดมากๆ และจำนวนไม่เท่ากันในแต่ละปี แต่ก็ทำให้ไวน์เหล่านี้มีราคาแพงสมกับความพิเศษกว่าไวน์ที่เหลือ

ลองหันไปดูข้าวหอมมะลิของไทยบ้าง ผมไม่ทราบว่ามีกระบวนการผลิตที่พิเศษเช่นนี้หรือไม่เพื่อให้ได้ข้าวหอมที่มีคุณภาพไม่เหมือนใครในโลก

การให้การคุ้มครองสินค้าจีไอมีผลใช้บังคับแล้ว
ตามที่ผมได้บอกไว้ตั้งแต่ต้นว่าข้อเขียนนี้ต้องการที่จะทำความเข้าใจให้ตรงกัน จึงขอเรียนว่า การให้ความคุ้มครองสินค้าจีไอซึ่งมี 2 ระดับ คือระดับ B (สำหรับสินค้าทุกชนิด) และระดับ A เฉพาะไวน์และสุรา ทั้งนี้ ความตกลงทริ๊ปส์กำหนดให้ประเทศสมาชิกให้การคุ้มครองแล้ว พูดกันชัดๆ ก็คือ ความตกลงนี้มีผลใช้บังคับกับประเทศสมาชิกแล้ว แต่มิได้ระบุว่าสมาชิกจะต้องใช้ระบบใดในการให้ความคุ้มครอง ก็คือจะใช้กฎหมายอื่นๆที่มีอยู่แล้วให้ครอบคลุมเรื่องจีไอนี้หรือจะออกกฎหมายเฉพาะที่เรียกว่า sui generis ก็ได้ ขึ้นอยู่กับสมาชิกจะพิจารณากันเอง

จึงปรากฏว่าประเทศสมาชิกมีการปฏิบัติที่ต่างกันเช่น สหรัฐฯ แคนาดา และฮ่องกงให้การคุ้มครองจีไอภายใต้กฎหมายเครื่องหมายการค้าโดยไม่ออกกฏหมายพิเศษในเรื่องนี้ ซึ่งก็หมายความว่าการคุ้มครองจีไอถูกจำกัดขอบเขตภายใต้เครื่องหมายการค้า ผู้ขอรับการคุ้มครองต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขอรับการคุ้มครองและการคุ้มครองก็มีกำหนดระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ซึ่งผู้ขอรับการคุ้มครองจะต้องคอยดูแลติดตามและดูแลผลประโยชน์ของตนเอง

ในขณะที่ สหภาพยุโรปมีระบบการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นการเฉพาะ ผู้ขอรับการคุ้มครองไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนแต่อย่างใด และไม่มีกำหนดระยะเวลาเหมือนเครื่องหมายการค้า

สำหรับประเทศไทยถือว่าเรายังไม่มีกฏหมายเฉพาะในเรื่องนี้ (กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) แต่ในความเป็นจริงเรามีกฎหมายอื่นที่ครอบคลุมถึงเรื่องจีไอแล้วคือกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ที่ห้ามการหลอกลวงให้ผู้บริโภคให้หลงผิด และกฏหมายการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ฉะนั้นจึงถือว่าไทยไม่ได้ผิดกฎขององค์การการค้าโลกในเรื่องนี้ อย่างไรก็ดี ความจำเป็นในการออกกฎหมายจีไอเป็นการเฉพาะก็ยังมีอยู่ ทั้งนี้เพื่อที่ว่าการจะไปขอให้ประเทศอื่นให้การคุ้มครองสินค้าจีไอของเรา ไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อให้การคุ้มครองในบ้านของเราก่อน ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่า เรารับรองสินค้าของเราเป็นจีไอและเราให้ความสำคัญในเรื่องนี้จริงๆ

การเรียกร้องให้มีการขยายการคุ้มครองของสินค้าจีไอระดับ A ให้ครอบคลุมไปยังสินค้าอื่นด้วยยังไม่มีผล
มาทำความเข้าใจให้ตรงกันอีกครั้งว่า จีไอในระดับ B (สินค้าอื่นๆ)มีผลบังคับแล้ว (มาตรา 22) และจีไอในระดับ A เฉพาะไวน์และสุราก็มีผลแล้ว (มาตรา 23) ที่ยังไม่มีผลก็คือการเรียกร้องให้สินค้าอื่นๆ ได้รับสิทธิการคุ้มครองระดับที่เท่ากับไวน์และสุราด้วย ประเด็นนี้ยังอยู่ในระหว่างการเจรจากันในองค์การการค้าโลก คือตกลงเห็นชอบที่จะให้มีการเจรจาในเรื่องการขยายความคุ้มครองซึ่งจะต้องผลักดันให้มีการแก้ไขทริ๊ปส์ต่อไป

การเข้าใจว่าสินค้าอื่นยังไม่ได้รับการคุ้มครองเป็นจีไอ จนกว่าการเรียกร้องให้ขยายการคุ้มครองให้เท่ากับไวน์และสุราจะประสบผลสำเร็จหรือเข้าใจว่าการขยายความคุ้มครองจีไอให้เท่ากับไวน์และสุรามีการตกลงกันแล้วจึงเป็นการเข้าใจผิด อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงเรื่องจีไอแล้ว ผมเห็นว่าควรจะพูดถึงการขยายความคุ้มครองจีไอนี้ด้วย

ประเด็นของไทยเริ่มเมื่อ การประชุมที่โดฮา สมาชิกจำนวนหนึ่งได้เรียกร้องให้ขยายการคุ้มครองจีไอระดับ A สำหรับไวน์และสุราไปยังสินค้าอื่นด้วย ไทยจึงเห็นช่องทางที่จะให้ข้าวหอมมะลิไทยหรือไหมไทยหรือสินค้าอื่นๆ ของไทยให้ได้รับการคุ้มครองสูงสุดด้วย ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ไทย (อดิศัย โพธารามิก) ก็เห็นช่องทางนี้และเชื่อมั่นด้วยว่าจะเป็นไปได้

ในหลักการ ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่จะต้องต่อสู้ เพื่อให้มีการขยายการคุ้มครองเนื่องจาก ดังที่กล่าวมาแล้วว่าในขณะนี้ ในความตกลงทริ๊ปส์มีการให้ความคุ้มครองสินค้าจีไอ 2 ระดับ คือระดับสูงกว่าได้แก่ไวน์และสุรา (เฉพาะไวน์และสุราเท่านั้น) และในระดับต่ำกว่าได้แก่สินค้าอื่นๆ ที่นอกเหนือไปจากไวน์และสุรา ตรงนี้เองที่เป็นปัญหา ก็ในเมื่อไวน์และสุราได้รับการคุ้มครองในระดับที่สูง ทำไมสินค้าอื่นๆจึงไม่ได้รับการคุ้มครองเช่นนั้นบ้าง ถือเป็นการเลือกปฎิบัติที่ชัดที่สุดและไม่สามารถยอมรับได้

ไทยจึงเข้าร่วมกลุ่มเรียกร้องการขยายความคุ้มครองจีไอนี้เพื่อให้สินค้าอื่นๆ ได้รับการคุ้มครองเท่ากับไวน์และสุรา ซึ่งหากสามารถขยายการคุ้มครองครอบคลุมทุกสินค้าจริงๆ แล้ว ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปกป้องคุ้มครองสินค้า เพราะจะได้รับการคุ้มครองที่สูงมาก ซึ่งไทยก็หวังว่าสินค้าไทยจะได้รับผลประโยชน์ตรงนี้ด้วย

ไทยต้องทำอย่างไร
เมื่อเข้าใจตรงกันแล้วว่าในขณะนี้การให้ความคุ้มครองจีไอมีผลบังคับใช้แล้ว และสมาชิกองค์การการค้าโลกทั้ง 148 ประเทศ ต้องให้การคุ้มครองตามความตกลงทริ๊ปส์ เราก็ต้องรีบพิจารณาว่าสินค้าไทยที่ขายอยู่ในตลาดโลกในปัจจุบันนี้ (และที่ยังไม่อยู่ แต่อาจจะเข้าสู่ตลาดโลกในอนาคตอันใกล้) มีสินค้าอะไรบ้างที่เข้าข่ายเป็นจีไอที่ต้องการความคุ้มครองสินค้าใน ระดับ B ตรงนี้สำคัญมาก เพราะจะได้รับการปกป้องคุ้มครองในประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกทั้ง 148 ประเทศ

ดังนั้น สิ่งที่ไทยต้องรีบทำในขณะนี้ก็คือสำรวจและจัดทำรายการสินค้าจีไอของไทยเพื่อที่จะจดทะเบียนเป็นจีไอ (ตาม พ.ร.บ. ที่จะออกในอนาคตอันใกล้) และขณะเดียวกันประกาศให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ รับทราบซึ่งหากต้องการให้สินค้าดังกล่าวได้รับการคุ้มครองจากประเทศใดก็ต้องไปขอจดทะเบียนจีไอในประเทศนั้นทันที

เรื่องยังไม่หมดแค่นี้ แม้ว่าเรารับจดทะเบียนสินค้าของเราว่าเป็นจีไอ ตามกฎหมายจีไอของเราแต่เมื่อเราไปขอจดทะเบียนเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองจีไอในประเทศอื่นที่เป็นเป้าหมาย ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศนั้นจะให้การรับรองสินค้าจีไอของไทยเสมอไป สมาชิกอื่น อาจปฏิเสธการให้ความคุ้มครองแก่สินค้าไทยก็ได้เพราะใช้กฏหมายที่ต่างกันและใช้วิธีการคุ้มครองที่ต่างกัน ดังนั้นอาจต้องเจรจากันในระดับทวิภาคีแทน อาจจะต้องมีการพิสูจน์เพื่อจะให้ได้รับการยอมรับก็ได้ จะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะไปเที่ยวขอจดทะเบียนในทุกประเทศและมีค่าใช้จ่ายที่สูงหากเกิดปัญหาการฟ้องร้องกันในศาล

สหภาพยุโรปจึงได้พยายามผลักดันให้มีการจัดทำความตกลงเรื่องจัดตั้งระบบสากลในการจดแจ้งและจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์สำหรับไวน์และสุรา ขอย้ำว่าเฉพาะไวน์และสุราเท่านั้นซึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง แต่ยังตกลงกันไม่ได้เพราะได้เสนอให้มีผลผูกพันสมาชิกทั้งหมดที่จะต้องยอมรับ และใช้วิธีการแจ้งรายชื่อสินค้าที่เป็นจีไอของแต่ละประเทศผ่านองค์การการค้าโลกให้สมาชิกทราบ โดยไม่ต้องไปจดทะเบียนในทุกประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ก็กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาของประเทศสมาชิกในองค์การการค้าโลกเช่นกัน

สำหรับประเด็นของไทยในชั้นนี้นั้น เรื่องเร่งด่วนน่าจะอยู่ที่ว่าสินค้าใดของไทยเป็นจีไอหรือไม่ โดยยังไม่ต้องกังวลคิดถึงเรื่องการผลักดันเรื่องขยายการคุ้มครองจีไอระดับ B ให้เท่ากับไวน์และสุราที่คงจะใช้เวลาอีกนานกว่าจะตกลงหลักการกันได้ และถ้าจะว่ากันแล้ว เป็นคนละเรื่องกัน เพราะไม่ว่าการเรียกร้องให้ขยายจีไอระดับ B ให้เท่ากับไวน์และสุราจะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่เกี่ยวกับการที่ข้าวหอมมะลิไทยหรือไหมไทยจะเป็นจีไอระดับ B หรือไม่เป็น

ถ้าข้าวหอมมะลิไทยหรือไหมไทยเข้าข่ายคุณลักษณะใน 3 ประการที่กำหนดไว้ในความตกลงทริ๊ปส์นั่นก็คือ มีคุณภาพ มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ หรือมีคุณลักษณะอื่นๆที่โยงกับแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์ก็เป็นจีไอระดับ B ถ้าไม่เข้าข่ายดังกล่าวก็ไม่เป็นจีไอเลย

แต่ เมื่อหากมีการขยายจีไอระดับ B ให้ได้รับการคุ้มครองสูงเท่ากับไวน์และสุราได้สำเร็จนั่นแหละ ตรงนี้ถึงจะมีผลต่อข้าวหอมมะลิไทยและไหมไทยที่ (หากว่า) เป็นจีไอ แล้ว ก็จะได้รับการคุ้มครองในระดับสูงสุดไปโดยปริยาย ซึ่งเป็นเสมือนความฝันอันสูงสุดของเรา

ดังนั้น ในขณะที่เรื่องการขยายจีไอยังอยู่ในระหว่างการเจรจาต่อรองในองค์การการค้าโลก ไทยโดยภาครัฐควรรีบให้ความรู้แก่ประชาชน เกษตรกร และชุมชนต่างๆ ให้เข้าใจในเรื่องจีไอ เพื่อจะให้ได้รู้ถึงสิทธิและผลทางกฎหมายของจีไอที่ถูกต้อง ทั้งในระดับในประเทศและในระหว่างประเทศ

สำหรับไวน์และสุราไทยนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะการจะเป็นจีไอนั้นยากมากโดยเฉพาะไวน์ไทยที่เพิ่งเริ่มผลิตมาไม่นานมานี้ ยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะสามารถสร้างชื่อเสียง คุณภาพและคุณสมบัติให้เป็นจีไอได้ตามที่ระบุในทริ๊ปส์

ประเด็นที่ผมเห็นว่าสำคัญได้แก่ การตั้งชื่อสินค้า ผู้ผลิตไทยส่วนใหญ่รู้หรือไม่ว่าในยุคนี้จะตั้งชื่อสินค้าตามใจฉันไม่ได้แล้ว แต่ควรจะตั้งชื่อสินค้าให้เป็นจีไอไว้ก่อนจะดีที่สุด คือให้มีชื่อสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ด้วยควบคู่กันไปกับเครื่องหมายการค้า จะเป็นการปกป้องคุ้มครองสินค้านั้นอย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต ตัวอย่างสินค้าไทยที่ขอยื่นจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้ว (ทั้งที่ยังไม่มี พ.ร.บ.) เช่น ทุเรียนเมืองนนท์ กระท้อนบางกร่าง ส้มโอสาริกา ปลาสลิตหอมบางบ่อ ตุ่มสามโคก ไวน์บางเพรียง และข้าวหอมมะลิยโสธร เป็นต้น ชื่อเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการตั้งชื่อเพื่อจะใช้สิทธิการคุ้มครองจีไอในองค์การการค้าโลก โดยขณะเดียวกันต้องเร่งสร้างชื่อเสียงคุณภาพและมาตรฐานของสินค้าให้แตกต่างจากสินค้าอย่างเดียวกันหรือชนิดเดียวกันให้ได้ และชุมชนในพื้นที่ดังกล่าวต้องรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องสิทธิดังกล่าวร่วมกัน

โอท๊อปกับจีไอ
เมื่อพูดถึงเรื่องจีไอแล้ว ทำให้ผมอดนึกถึงเรื่องสินค้าโอท๊อปไม่ได้ รัฐบาลชุดนี้พยายามส่งเสริมโอท๊อปมาก สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณท์หรือโอท๊อป นับเป็นสิ่งที่ดีสำหรับชุมชนไทยทั่วประเทศที่จะมีรายได้เพิ่มขึ้น และก็ดูเหมือนว่าจะประสบผลสำเร็จด้วยดี เพียงไม่กี่เดือนยอดขายสินค้าเหล่านี้สูงลิ่วนับหมื่นล้านบาท มีสินค้าชุมชนเกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหัตถกรรม ผ้าทอ ผ้าซิ่น ไวน์องุ่นและไวน์ผลไม้นานาชนิดของไทย สินค้าหลายชนิดส่งออกไปตลาดต่างประเทศแล้ว ซึ่งรัฐบาลก็ช่วยติดต่อหาตลาดให้ ทุกอย่างนี้ดูดีไปหมด คนท้องถิ่นกำลังจะรวยวันรวยคืน แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจลืมหรือไม่ค่อยได้เน้นก็คือการปกป้องคุ้มครองชื่อเสียงและคุณภาพของสินค้าเหล่านี้ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะต้องทำอย่างเป็นระบบ อย่างจริงจังและให้รอบคอบมากที่สุด

การรีบส่งเสริมสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณท์เร็วเกินไป อาจจะส่งผลเสียได้ เช่นส่งไปขายในตลาดต่างประเทศเลยโดยสินค้านั้นยังไม่มีการวิเคราะห์ถึงคุณภาพมาตรฐานว่าสูงพอหรือไม่ เหมาะสมกับสภาพบ้านเมืองเขาไหม มีข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนในเรื่องคุณลักษณะที่พิเศษหรือลักษณะเฉพาะของสินค้ามากน้อยเพียงใด มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในประเทศเราเองหรือประเทศอื่นๆด้วยหรือไม่ รวมทั้งได้คำนึงถึงการระมัดระวังเรื่องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือจีไอ หรือเตรียมป้องกันสิทธิในประเทศที่วางขายสินค้าหรือไม่ และหากมีการฟ้องร้องกัน ชุมชนไทยเจ้าของผลิตภัณท์จะสามารถรับมือกับสิ่งนี้ได้มากน้อยเพียงใด

หากสินค้าเกิดได้รับความนิยมในตลาดต่างประเทศ โดยยังไม่ได้มีการจดทะเบียนการค้าป้องกันเอาไว้ ก็อาจจะมีการลอกเลียนแบบหรือใช้ชื่อเลียนแบบสินค้านั้นได้ (ไม่ว่าจะจากผู้ผลิตในประเทศของเราเองหรือจากประเทศคู่แข่งเพื่อนบ้าน) ซึ่งไม่เป็นผลดีในระยะยาว หรือหากสินค้ามีคุณภาพไม่ดีพอ ก็จะทำให้สินค้าโอท๊อปอื่นๆ พลอยเสียชื้อเสียงไปด้วย โดยยังไม่ทันพัฒนาตัวเองไปสู่ตลาดระหว่างประเทศ

การส่งเสริมสินค้าโอท๊อปที่ดีที่สุดในความเห็นของผมอยู่ที่การสร้างฐานข้อมูลให้แน่น ละเอียดถูกต้อง ชี้ให้เห็นถึงคุณภาพและคุณลักษณะที่พิเศษของสินค้าที่โยงกับภูมิศาสตร์ของแหล่งผลิต และควรจะจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในประเทศไทยเพื่อให้ได้รับการคุ้มครอง รวมทั้งจดทะเบียนในตลาดหลักๆ ในต่างประเทศที่เป็นตลาดส่งออกของไทยให้หมดด้วย

ผมค่อนข้างจะเชื่อว่าสินค้าที่ดีมีคุณภาพที่จะไปขายในต่างประเทศนั้นจะต้องได้รับการยอมรับและสร้างคุณค่าทางการตลาดทั้งคุณภาพและราคา ในประเทศผู้ผลิตเสียก่อน เวลาขายส่งไปต่างประเทศจะได้มีราคาที่สูงเหมาะสมกับชื่อเสียงและคุณภาพ ไม่ใช่เพียงว่าส่งของถูกไปขายแพงในต่างประเทศ ผมนึกเปรียบเทียบกับไวน์ฝรั่งเศสที่พัฒนาคุณภาพจนได้รับความนิยมและการยอมรับจากภายในประเทศและในภูมิภาคก่อน ราคาขายที่สูงก็สูงมาจากในประเทศก่อน

นอกจากนั้น ผมสังเกตว่าสินค้าหลายชนิดของโอท๊อปตั้งชื่อเป็นเครื่องหมายการค้าอย่างเดียวโดยไม่มีชื่อสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มาเกี่ยวโยง ทั้งที่จริงแล้วจะมีก็ได้ ก็เลยจะขอแนะนำว่าการตั้งชื่อสินค้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตรให้มีชื่อสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ด้วยไม่ว่าจะเป็นตำบล อำเภอ หมู่บ้านหรือจังหวัดก็จะเป็นการดียิ่ง ถือว่าได้เปรียบหลายต่อ เพราะนอกจากจะเป็นได้ทั้งเครื่องหมายการค้าแล้ว ยังจะแสดงถึงคุณลักษณะที่เฉพาะของสินค้านั้นที่โยงกับภูมิศาสตร์ทำให้เพิ่มคุณค่าได้และป้องกันการแข่งขันด้วย แต่ทั้งนี้สินค้าต้องมีคุณภาพสูงจริงๆ

สรุป
ความจริงแล้วการพยายามปกป้องคุ้มครองคุณภาพและชื่อเสียงของสินค้าที่มีมาช้านานจนถึงบัดนี้ในนามของจีไอนั้น นับเป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้ผลิตของไทยตามชุมชนต่างๆ ในโครงการโอท๊อป เพราะจะมีกฎหมายคุ้มครองในระดับระหว่างประเทศให้ใช้พอดี ขอเพียงรู้และทำให้ถูกต้องตามขั้นตอน หากสินค้ามีคุณภาพจริงๆ ก็จะสามารถตั้งราคาให้สูงได้ตามคุณภาพนั้นโดยไม่มีใครสามารถแข่งขันได้ โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงปริมาณเพราะสินค้าจีไอนั้น ราคาไม่ได้ขึ้นอยู่กับ demand + supply อย่างเดียวแต่จะขึ้นอยู่กับคุณภาพ ชื่อเสียงและคุณสมบัติที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค

มีใครเคยคิดไหมว่าทำไมไวน์ฝรั่งเศส ขวดหนึ่งปริมาณเพียง 750 มิลลิลิตร รินดื่มกันได้ไม่กี่แก้ว ทำไมมีราคาเป็นหมื่นเป็นแสนบาทต่อขวด ในขณะที่ข้าวหอมมะลิเป็นเกวียนๆ ยังเอาไปแลกไวน์ขวดเดียวไม่ได้เลย วันหนึ่งไม่แน่นะครับ ข้าวหอมมะลิไทยอาจมีราคาสูงเกวียนเดียวอาจแลกรถยนต์ดีๆ ได้หนึ่งคันก็ได้ ผมฝันมากไปหรือเปล่า.................

ผมหวังว่าการเสนอข้อเขียนนี้จะเป็นประโยชน์บ้างพอสมควรในการเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในเรื่องจีไอเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน

กันยายน 2546

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

 

บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ หากนำไปใช้กรุณาอ้างอิงตามสมควร และแจ้ง midnightuniv(at)yahoo.com