เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยิน สมดุล และเป็นธรรม : ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543 (ครบรอบ 3 ปี)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

การสัมมนาเรื่อง "อิรักในอุ้งเล็บอินทรี"

โดยคณะเศรษฐศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ร่วมกับสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม 2546 ณ ห้อง ร. 102 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้ร่วมสัมมนา : ศาสตราจารย์วิทิต มันตราภรณ์ / ศาสตราจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ / รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ /
รองศาสตร์สุริชัย หวันแก้ว / ผู้ดำเนินรายการ : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ

ดร.เกษียร เตชะพีระ หัวข้อที่ตั้งในการสัมมนาครั้งนี้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมาก แม้จะคล้ายนิยายจีนไปหน่อย สถานการณ์สงครามที่สหรัฐโจมตีอิรักเป็นเหตุการณ์ระหว่างประเทศที่แสดงถึงการแบ่งยุคแบ่งสมัย คล้ายกับสงครามเกาหลีในทศวรรษที่ 1950 และสงครามเวียดนาม ในทศวรรษที่ 1960 สงครามอิรักครั้งนี้นิยามอะไรบางอย่างเกี่ยวกับการแบ่งพลังการเมืองโลก คือคุณเข้าใจอะไร และเข้าข้างไหน สงครามแต่ละครั้งบ่งบอกยุคสมัย เช่นสงครามเกาหลีที่บ่งบอกการเริ่มต้นสงครามเย็น สงครามเวียดนามบ่งบอกยุคแห่งการปลอดปล่อยอาณานิคม และสงครามอิรักได้บ่งบอกถึงการต่อต้านการก่อการร้ายที่ไม่รู้จบ

มาร์ติน จาร์ค ได้เขียนในหนังสือพิมพ์เดอะ การ์เดียนเมื่อวานนี้ ในบทความเรื่อง power of one ว่า หลายๆอย่างได้ยุติลงในปี 1989 ที่กำแพงเบอร์ลินพังทลายลง ถึงแม้ว้าเราจะต้องรอถึงเหตุการณ์ 911 หรือ 11 กันยายน ปี 2001 เราจึงจะเข้าใจว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงโลกขึ้น เพราะในปี 1989 เป็นความปราชัยของโลกคอมมิวนิสต์ แต่ในเหตุการณ์ 11 กันยายนที่ตึกเวิร์ดเทรด เป็นการแสดงถึงการเริ่มต้นใหม่ของอำนาจอีกขั้วหนึ่ง การโจมตีอิรักได้กลายเป็นการนิยามขอบเขตโลกและอำนาจของสหรัฐ เป็นการท้าทายบรรทัดฐานและระเบียบโลกทั้งหมด องค์การสหประชาชาติและระเบียบโลกองค์กรอื่นๆ ต้องถูกตั้งคำถามใหม่เช่นกัน

ขอแนะนำวิทยากรผู้ร่วมอภิปรายครั้งนี้ โดยแต่ละท่านเป็น เจ้าพ่อ หรือ opinion leader ตามนิยามที่รัฐบาลกำลังกล่าวถึงอยู่ อาจารย์วิทิต มันตราภรณ์ ทางด้านสิทธิมนุษยชน อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ทางด้านเศรษฐกิจการเมือง อาจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ทางด้านสันติศึกษา และอาจารย์สุริชัย หวันแก้ว ทางด้านประชาธิปไตยภาคประชาชน ขอเริ่มต้นการอภิปรายที่อาจารย์วิทิต

ศ. วิทิต มันตราภรณ์ หากย้อนกลับไปดูเหตุการณ์สงคราม ที่สหรัฐและพันธมิตรบุกเข้าไปในอิรัก ต้องตั้งคำถามว่า เป็นความชอบธรรมหรือไม่ ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นอย่างไร และผลลัพท์ที่เกิดจาก ซัดดัม ฮุสเซ็น หมดอำนาจ เป็นอย่างไร

แต่เดิม กฎบัตรสหประชาชาติ วางกรอบการใช้กำลังไว้ว่า การเป็นผู้ริเริ่มทำสงคราม จะทำได้ก็ต่อเมื่อ
1.ป้องกันตนเอง ซึ่งเป็นประเด็นที่สหรัฐใช้เป็นข้ออ้าง แต่ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน เพราะ การทำสงครามนั้น หมายถึงได้ถูกโจมตีแล้ว หรือมีการใช้อาวุธ แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่ทันเกิดขึ้น
2.เป็นมติจากคณะมนตรีความมั่นคง ให้ความเห็นชอบ

ในปี 1990-1991 คณะมนตรีความมั่นคง ได้อนุมัติให้อำนาจสหรัฐเข้าไปในคูเวตเพื่อขับไล่อิรัก ที่รุกรานคูเวต แต่กับกรณีนี้ มีความแตกต่างกัน นั่นเท่ากับว่า UN กำลังถูกท้าทายอย่างมาก และสหรัฐก็ใช้ข้ออ้างว่า อิรัก ยังมีอาวุธเคมีหลงเหลือ จึงทำให้ต้องฝืนมติ UN

ก่อนหน้านี้ มีมติ 1441 กล่าวหาว่า อิรัก ละเมิดมติ คือไม่ให้ความร่วมมือกับคณะผู้ตรวจสอบอาวุธ ซึ่งแต่เดิม มติเปิดช่องให้อิรักต้องให้ความร่วมมือ ไม่เช่นนั้นก็จะถูกกระทำด้วยปฏิบัติการที่ serious อย่างใดอย่างหนึ่ง หลังจากนั้น ก็ยังไม่มีมติอื่นที่มีความชัดเจนมากกว่านี้ แต่สหรัฐก็ไม่รอที่จะยื่นมติขอความเห็นชอบจากคณะมนตรีความมั่นคงก่อน กลับบุกอิรักในทันที เพราะเกรงว่าจะถูกชาติสมาชิกบางชาติคัดค้าน เนื่องจากการลงมติต้องใช้เสียง 9 ใน 15 ชาติสมาชิก และมีหลายชาติยังไม่เห็นด้วยกับการรุกรานครั้งนี้

คำถามสำคัญ สำหรับการบุกเข้าไปในอิรักของสหรัฐและพันธมิตรครั้งนี้ คือ มีความชอบธรรมหรือไม่ และได้ข้อสรุปจากหลายฝ่าย ว่าไม่ชอบธรรม การชนะสงคราม"ไม่ได้หมายความว่า จะชนะสันติภาพด้วย"

หลังจากการรุกรานจบลง UN มีมติใหม่ออกมา คือ การร่วมกันฟื้นฟูและสร้างอิรัก โดยไม่ได้มีการพูดถึงความชอบธรรมหรือไม่ของสหรัฐที่บุกเข้าไปในอิรักแต่อย่างใด

มติ 1483 ออกเมื่อ 22 พ.ค. 46 มีหลักกฎหมายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระบุไว้ หลักกฎหมายเห็นชอบ 14 ประเทศ ไม่ร่วมประชุม 1 ประเทศ คือ ซีเรีย ถือว่าได้รับการรับรองและสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ โดยมีสาระสำคัญคือ

1.รับรองอำนาจอธิปไตยและเสถียรภาพของอิรัก
2.ปลดอาวุธอิรัก
3.เน้นสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเองของอิรัก รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติ
4.สนับสนุนให้ประชาชนอิรักมีรัฐบาลที่เป็นผู้แทนซึ่ง ยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรม
5.เน้นบทบาท UN ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
6.เน้นให้ประเทศพัฒนาแล้ว มาช่วยฟื้นฟูอิรัก
7.เน้นช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อไป โดยให้ UN และองค์กรต่างๆมาร่วมด้วย
8.เน้นความรับผิดชอบเกี่ยวกับอาชญากรรมที่เกิดขึ้นจากระบอบเก่าของอิรัก
9.เน้นการเคารพวัตถุโบราณและวัฒนธรรมของอิรัก
10.ถือว่าสหรัฐและคณะเป็นผู้มีอำนาจในการครอบครองอิรัก

กิจกรรมที่ต้องดำเนินการต่อไป

1.ขอให้ UN และประเทศสมาชิก ช่วยเหลืออิรัก ขอให้ประเทศสมาชิก สนับสนุนอาหารและทรัพยากรอื่นๆ เพื่อช่วยฟื้นฟูอิรัก
2.ผู้บริหารเดิมของอิรัก ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น (หมายถึงผู้นำอิรักต้องขึ้นศาลระหว่างประเทศหรือไม่)
3.เรียกร้องให้คณะผู้มีอำนาจ ให้ความเคารพ การฟื้นฟูการปกครองตนเอง
4. เรียกร้องให้ทุกฝ่ายเคารพกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสงคราม
5.ต้องชำระหนี้และอื่นๆซึ่งติดคูเวตอยู่

6.เน้นการทนุทนอมทรัพย์สินและวัตถุโบราณของอิรัก
7.ให้ UN ตั้งผู้แทนพิเศษ เพื่อรายงานการบังคับใช้มตินี้ และรายงานสถานการณ์ต่างๆต่อ UN และประสานงานด้านอื่นๆ เพื่อช่วยให้อิรักปกครองตนเองได้
8.ให้การตั้งคณะรัฐบาลของอิรัก มาจากตัวแทนผู้บริหารหลายๆ ฝ่าย แต่อย่าลืมว่าอิรัก มีความหลากหลายจากกลุ่มต่างๆเช่น สุหนี่ ชิอะห์ และเคิร์ด เป็นต้น
9. ยกเลิกการห้ามค้าขายและลงโทษอิรัก นอกจากอาวุธ ซึ่งประเด็นนี้ ส่งผลกระทบต่อไทยอย่างมาก
10.ถอนอาวุธจากอิรัก และประเมินการทำงานของคณะตรวจสอบฯก่อนหน้านี้

11.ตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาอิรัก โดยมีคณะกรรมการบริหารตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส
12.กองทุนนี้ต้องใช้ด้วยความโปร่งใสเพื่อพัฒนาอิรัก และต้องใช้หนี้เก่าที่มีค้างอยู่
13.คงเรื่องความช่วยเหลือด้านอาหารไว้ต่อไปอีก 6 เดือน
14.ประเมินสัญญาการค้าขาย รวมทั้งความช่วยเหลือด้านอาหาร และรายงานต่อ UN เพื่อเปิดช่องให้กลุ่มการค้าต่างๆ ได้ชะลอ
15.ขายน้ำมันและผลิตภัณฑ์ได้ และนำเงินเข้ากองทุน แต่ต้องมีการรายงานและตรวจสอบบัญชี

16.รายได้ที่ได้ ต้องนำไปชำระหนี้เก่า
17.ให้เอกสิทธิคุ้มกันกลุ่มผู้ทำการค้าขายของคณะผู้มีอำนาจที่อยู่ในอิรักขณะนี้
18.ริบทรัพย์ของผู้นำอิรัก เพื่อนำมาช่วยชาวอิรัก
19.ให้ UN ร่วมกันทำงานกับองค์กรอื่นๆ
20.ต้องตรวจสอบและประเมินผลภายใน 12 เดือน

ไทยพูดตั้งแต่ต้นใน UN ว่าพร้อมจะให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูอิรัก ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ

1.ปรึกษาและประสาน UN ให้แน่นแฟ้นขึ้น
2.ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จะเป็นเรื่องที่ดี
3.ความช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม เช่น การส่งทีมกู้กับระเบิดไปช่วยเหลือ
4.ผลกระทบต่อการค้า โดยเฉพาะการค้าน้ำมัน ซึ่งเป็นสมบัติของอิรัก เราต้องเคารพเรื่องนี้
5.ต้องเพิ่มพูนการสร้างความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่น และสร้างความสัมพันธ์ต่อกัน

ศ. รังสรรค์ ธนะพรพันธ์ ขอกล่าวถึงสองประเด็นคือ การฟื้นฟูอิรัก และการจัดระเบียบโลกใหม่โดยเฉพาะการจัดระเบียบเรื่องน้ำมัน

เรื่องการฟื้นฟูอิรักมีคำถามอยู่สามประเด็นคือ ใครมีหน้าที่ฟื้นฟูอิรัก ใครจะรับภาระต้นทุน และจะฟื้นฟูอิรักอย่างไร ?

1. ใครมีหน้าที่ฟื้นฟูอิรักเบื้องต้นสหรัฐดูต้องการผูกขาดการฟื้นฟูอิรัก เพราะผลประโยชน์มหาศาล แต่โดยการผลักดันของอังกฤษ ทำให้สหรัฐต้องโอนอ่อนให้สหประชาชาติเป็นผู้นำแทน แต่สหรัฐยังคงมีอำนาจหลักอยู่ ตอนนี้มีองค์กรต่างๆมากมายเข้ามาช่วยเหลือ จนนักวิชาการบอกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงจากการรุกรานทางทหารเป็นการรุกรานทางเศรษฐกิจ เช่น UNDP WTO IMF หลายฝ่ายเข้ามาช่วยเหลือ แต่ดูเหมือนจะ "ช่วยเถือ" มากกว่า

อย่างไรก็ตามที่น่ากังวลก็คือโลกตะวันตกมีคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับอิรักน้อยมาก ที่มีความรู้ในเรื่องตะวันออกกลางส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอิสราเอลกับปาเลนสไตน์มากกว่า โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจของอิรัก ทางตะวันตกมีผู้เชี่ยวชาญน้อยมาก

2. ใครจะเป็นผู้รับภาระต้นทุนการฟื้นฟู เราได้ฟังจากอาจารย์วิทิตจะทราบว่าสหประชาชาติพยายามใช้วิธีผันรายได้จากการขายน้ำมันเพื่อนำมาฟื้นฟูประเทศ แต่ตนคิดว่าสหรัฐควรเป็นประเทศที่รับภาระนี้เพราะเป็นผู้ทำลาย หรือรุกรานอิรัก แต่ตอนนี้สหประชาชาติมีมติให้องค์กรชำนาญพิเศษของตนเขาไปช่วยเหลือแล้ว แสดงว่าภาระการฟื้นฟูอิรักก็จะตกแก่สมาชิกองค์การสหประชาชาติและสมาชิกองค์การชำนาญพิเศษเหล่านี้

3. จะฟื้นฟูอิรักอย่างไร ผมมั่นใจได้ว่าการฟื้นฟูอิรักนั้นจะเป็นไปตามมิติที่ทางสหรัฐพยายามสร้างอิทธิพลไว้ (Washington consensus) นั่นคือระบบของอิรักจะถูกผนวกเข้ากับระบบทุนนิยมโลก และเมื่อใดที่อิรักชำระหนี้เก่าและกู้เงินกับ IMF ใหม่ได้ การกู้เงินก็จะเป็นไปตามนโยบายแบบมีเงื่อนไข เหมือนกับที่ไทยเคยกู้เมื่อปี 2540 ตอนเศรษฐกิจตกต่ำ ดังนั้นเราจะเห็นว่าสหรัฐพยายามที่จะกันไม่ให้อิรักพัฒนาไปเป็นรัฐอิสลาม เพราะมันมีส่วนไม่สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมโลก

การจัดระเบียบน้ำมันโลกใหม่
ปัญหาพื้นฐานสำคัญคือ ภาระหนี้ต่างประเทศ เขตการค้าเสรี economic sanction และการค้าน้ำมัน

ตอนนี้อิรักมีหนี้สินรวมแล้วประมาณ 3.5 แสนล้านดอลล่าร์ เป็นหนี้ที่เกิดจากการก่อสงคราม เมื่อหักหนี้สินจากเงินที่ต้องจ่ายชดเชยความเสียหายจากสงครามออกไปแล้ว อิรักยังมีหนี้กว่า 6 หมื่นล้านดอลล่าร์ หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล เจ้าหนี้หลักๆก็คือ รัสเซีย และประเทศตะวันออกกลางอื่นๆ แต่อิรักเป็นหนี้สหรัฐน้อย

การมีหนี้ของอิรักทำให้เป็นอุปสรรคในการฟื้นฟูอิรัก จึงมีนักวิชาการเสนอว่าควรจะยกหนี้ต่างประเทศให้อิรักไหม มีการยกประเด็นเรื่องหนี้จันฑาล เป็นหนี้ที่ก่อโดยรัฐบาลเผด็จการที่ไม่ควรตกเป็นภาระของรัฐบาลต่อไป ถ้ารัฐบาลต่อไปเป็นรัฐบาลประชาธิไตย ส่วนหนึ่งเป็นเงื่อนไขทำให้หลายประเทศขยาดที่จะให้รัฐบาลเผด็จการกู้ ถ้าเรื่องหนี้นี้จะนำมาใช้ อิรักจะเป็นประเทศแรกที่เริ่มใช้ แต่ผลเสียจะเกิดขึ้นกับรัสเซียถ้าเกิดการยกหนี้ขึ้น และประเทศอื่นๆก็จะอ้างหลักการเหล่านี้ เพื่อขอยกหนี้ เช่นอินโดนีเซีย อัฟริกาใต้ และไนจีเรีย ความปั่นป่วนด้านตลาดการเงินระหว่างประเทศจะเกิดขึ้น ดังนั้น อาจจำเป็นต้องลดหย่อนหนี้ให้ แต่เท่าใด และอย่างไรยังไม่มีเกณฑ์

การตั้งเขตการค้าเสรีในตะวันออกกลาง
ภายในปี ค.ศ. 2013 ซึ่งเป็นความคาดหวังของสหรัฐฯ แต่ขณะนี้ปัญหาคือโครงสร้างของอิรักเข้มแข็งพอหรือยัง และเครื่องมือสำคัญ เช่น กฎหมาย แทนที่จะมีผลดีอาจจะกลับบ่อนทอนเสถียรภาพอิรักแทน

การ sanction ทางเศรษฐกิจกับอิรัก
ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2533 ทำให้ชาวอิรักได้รับความทุกข์มาก เด็กอิรักกว่า 5 แสนคนต้องตายเพราะความขาดแคลน เศรษฐกิจไม่พัฒนาและขาดการลงทุนหรือการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อพัฒนาประเทศ การ sanction เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้มหาอำนาจเข้าไปหาผลประโยชน์ในอิรัก และการ Sanction มีผลทำให้ซัดดัมสามารถอยู่ในอำนาจได้ เพราะสามารถอ้างว่าความเดือดร้อนในประเทศ เกิดจากถูก sanction ไม่ใช่การปกครองแบบเผด็จการ อย่างไรก็ตาม แม้อิรักจะถูกลงโทษ แต่ก็มีการทำการค้าในตลาดมืดอยู่มาก

และประเด็นยกเลิกการ Sanction ทางเศรษฐกิจนี้เอง เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้มหาอำนาจ เข้าไปแสวงหาประโยชน์ในอิรัก

สำหรับระเบียบน้ำมันโลก New World Petroleum Order นั้น อิรักมีน้ำมันสำรองมากติดเป็นอันดับสองของโลก รองจากซาอุดิอารเบีย คือมีประมาณ 112,000 ล้านบาเรล คิดเป็นร้อยละ 10 ของปริมาณน้ำมันสำรองของโลก

ปริมาณการผลิต ก่อนที่จะถูก Sanction ประมาณ 3.8 ล้านบาเรลต่อวัน แต่หลังจากถูกลงโทษ ลดลงเหลือ 2 ล้านบาเรลต่อวัน ซึ่งสหรัฐหวังว่า จากนี้ไป ภายใน 3 ปี จะเพิ่มกำลังผลิตได้อีกประมาณ 2 ล้านบาเรลต่อวัน ทั้งนี้ น้ำมันดิบของอิรัก ถือว่ามีคุณภาพดี กลั่นง่าย และกลายเป็นเป้าทางผลประโยชน์ที่อิรักต้องการเข้าไปมีส่วน เพราะปัจจุบัน สหรัฐนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศจำนวนมาก ประมาณกันว่า ภายในค.ศ.2020 สหรัฐต้องนำเข้าน้ำมันถึง 2 ใน 3 จากปริมาณการใช้ทั้งหมด และจากข้อมูลพบว่า กว่าครึ่งของน้ำมันที่ส่งออกจากอิรัก ส่งเข้าไปในสหรัฐ

สหรัฐต้องการลดการพึ่งพิงน้ำมันจากตะวันออกกลาง โดยพยายามหันไปซื้อจากแอฟริกาตะวันตก หรือหาแหล่งขุดเจาะอื่นๆเพิ่ม ก่อนหน้านี้ บริษัทที่ได้รับสัมปทานน้ำมันในอิรัก ล้วนแล้วแต่เป็นชาติที่ต้านสหรัฐทั้งสิ้น เช่น รัสเซีย จีน และฝรั่งเศส

ดังนั้น โดยสรุปคือ เดิมระเบียบน้ำมันโลก ถูกกำกับโดย โอเปค ทั้งราคาและปริมาณการผลิต หากสหรัฐเข้าไปส่งเสริมการผลิตในอิรักได้ ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้น โอเปคจะลดบทบาทลง และสหรัฐจะมีบทบาทมากขึ้นแทน ในการกำหนดราคาน้ำมัน

ดร. เกษียร เตชะพีระ เคยมีข้อเสนอ ให้มีการแปรรูปอุตสาหกรรมน้ำมันของอิรัก ซึ่งนั่นหมายความว่า จะเอื้อประโยชน์ต่อบริษัทข้ามชาติที่เข้าไปทำธุรกิจอย่างมากมายมหาศาล และได้มีแนวคิดไปไกลถึงขั้น แปรรูปรัฐวิสาหกิจ นั่นหมายความว่า จะทำให้อำนาจของรัฐอิรักที่จะเกิดขึ้นใหม่ลดลงอย่างมาก ในการไปกำกับดูแลกิจการน้ำมัน และยังมีข้อเสนอใหม่ ที่ให้ล้มโอเปค ตั้งองค์กรดูแลน้ำมันในโลกขึ้นมาแทน และให้บทบาทสหรัฐมากขึ้นในการเป็นผู้นำ

ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ สงครามที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างมากมาย ผู้คนล้มตายมาก 5,000-10,000 คนที่เป็นพลเรือน ปกติจะมีวิธีประเมินความรุนแรงของสงครามได้หลายแบบ เช่น วัดจากสัดส่วนของคนที่เสียชีวิตว่าเป็นพลเรือนหรือทหารมากกว่ากัน ครั้งที่สหรัฐบุกปานามา มีสัดส่วนพลเรือนต่อทหารตาย 13:1 แต่ในครั้งนี้เป็น 33:1 จะเห็นว่า ครั้งนี้มีความรุนแรงมาก

วิธีการทำสงครามในครั้งนี้ ถือได้ว่า หลายเรื่องมีความไม่ชอบธรรม เช่น ใช้ระเบิด cluster bomb ซึ่งมีสะเก็ดกระจายจำนวนมาก รัศมีความรุนแรงไกลขนาดสนามฟุตบอล การยิงที่ไม่แม่นยำ และการโจมตีในเขตพลเรือน รวมถึงการต่อสู้ภาคพื้นดิน ทำให้เกิดความเสียหายมาก

มีข้อมูลว่า ตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. 2546 ที่ผ่านมา สภาคองเกรสของสหรัฐได้ผ่านกฎหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งระบุเกี่ยวกับการอนุมัติงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อมาให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสงคราม แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้จ่ายเงินก้อนนี้ไปให้อิรัก เพราะอ้างว่า เกรงว่าเงินจะไม่ปลอดภัย นี่ทำให้เกิดคำถาม

"ผมมีข้อมูลจากเหยื่อสงครามชาวอิรักครั้งนี้ เป็นชายที่ครอบครัวตายจากสงคราม ลูก 3 คน เมีย ตายหมด เหลือแต่ลูกเล็กอายุ 18 เดือน เขาบอกว่า คนสหรัฐคือฆาตกร เขาไม่เคยคิดจะเรียกร้องความช่วยเหลือเหล่านี้จากสหรัฐ เขาเรียกร้องต่อพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น"

อีกประเด็นหนึ่งคือ สุสาน หรือ มัสยิดของอิรัก ที่สำคัญมีหลายแห่ง แต่แตกต่างจากรูปปั้นของซัดดัม เพราะการรื้อรูปปั้นทำได้ แต่การรื้อมัสยิดทำไม่ได้ ทหารสหรัฐเข้าไปมัสยิดจะถูกชาวบ้านอิรักต่อต้าน ทั้งที่จริงแล้วมัสยิดส่วนใหญ่เป็นของซุนนี ทั้งที่เป็นคนกลุ่มน้อยแต่มีอำนาจปกครองอิรัก คนส่วนใหญ่คือพวกชีอะห์ แต่ปรัชญาของอิสลามเขาถือว่าสถานที่สร้างมัสยิดนั้นเป็นภูมิศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ทำลายไม่ได้ แต่ทหารอเมริกันมองว่าเป็นภูมิศาสตร์ธรรมดา

ตอนนี้พวกชีอะห์เข้ายึดครองมัสยิดก็บอกว่าการสร้างมัสยิดของซัดดัมเป็นเรื่องหน้าไหว้หลังหลอก เพราะในขณะที่ข้างบนมัสยิดเป็นที่ทำละหมาดและทำพิธทางศาสนา แต่ข้างล่างกลับเป็นที่คุมขังผู้คน ซึ่งซัดดัมได้เบียดบังพื้นที่ของคนส่วนใหญ่คือกลุ่มชีอะห์

ซัดดัมพยายามสร้างมัสยิดเหมือนสร้างปิรามิด คือสร้างให้มีขนาดใหญ่แม้จะสร้างไม่เสร็จ แต่มันก็จะไม่มีวันถูกทำลายได้ เป็นสัญลักษณ์ที่ยังคงอยู่ต่อไป ในอิรักยังมีมัสยิดและสุสานบุคคลสำคัญในคติธรรมของศาสนาอิสลามอีกมากมาย

คำถามคือมัสยิดเกี่ยวอะไรกับสหรัฐ มันเกี่ยวกันในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับซาอุดีอาราเบีย เพราะที่ผ่านมาสหรัฐฯใช้ซาอุฯเป็นกำลังสำคัญในตะวันออกกลาง แต่ตอนนี้สหรัฐพบว่าไม่สามารถพึ่งซาอุฯได้อีก จึงพยายามสร้างขึ้นเองใหม่โดยผ่านอิรัก สิ่งหนึ่งที่สนันสนุนแนวคิดนี้คือหน่วยข่าวกรองสหรัฐพบว่ามีองค์กรและมูลนิธิมากมายในซาอุฯ สนับสนุนกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์

ตอนนี้จึงเหมือนสหรัฐส่งคนของตนไปครองเมืองต่างๆ และมีตัวใหญ่สุดคือเบร์เมอร์ไปคุม คำถามคือบรรดา interim authority เหล่านี้จะอยู่ไปนานเท่าไหร่ สหรัฐเองก็บอกว่านานเท่าที่จำเป็น จากข่าวที่สัมภาษณ์ทหารอเมริกาต่างเชื่อว่าต้องมีอเมริกันจึงจะทำให้อิรักอยู่ได้ เพื่อให้อิรักพัฒนา ซึ่งกรณีนี้ต่างจากในอัฟกานิสถานที่ฮาร์มิด คาร์ไซ ได้ขึ้นเป็นผู้นำ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการ sanction 13 ปีที่ทำให้คนที่เป็นผู้นำทางความคิดหรือผู้นำที่โดดเด่นถูกซัดดัมจัดการและครอบงำไปหมด

นิว กิงริด ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของแพตากอนได้พยายามอธิบายสาเหตุที่ทำให้คนประเทศอื่นไม่ชอบสหรัฐว่า เป็นเพราะการต่างประเทศสหรัฐอ่อนแอลงมาก และการต่างประเทศได้ละทิ้งหลักการที่มีคุณค่าของสหรัฐไปมาก และมีการประนีประนอมกับประเทศต่างๆมากเกินไป

ขณะนี้สหรัฐตั้งเอกอัคราชทูตเป็น Political appointee ซึ่งคนที่เป็นนักการทูตมืออาชีพจริงๆในสหรัฐเองจะไม่ได้เป็นทูต นักการทูตคนสำคัญในประเทศต่างๆ ทั่วโลกของสหรัฐกลายเป็นคนที่เคยเป็นผู้ระดมทุนให้พรรคบ้าง ผู้บริจาคเงินให้พรรคบ้าง หรือเป็นที่ปรึกษาที่เคยดูแลเรื่องการจัดตั้งและบริหารบริษัทน้ำมันของ บุช บ้าง มีคนแบบนี้เป็นทูตสหรัฐในกว่า 30 ประเทศ ทั่วโลก จนมีนักการทูตคนหนึ่งของสหรัฐถึงกับลาออกเพราะรับไม่ได้กับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลยุคนี้

นายวูด โฟวิช นักวิชาการคนหนึ่งที่มีแนวคิดเชิง neo-conservative บอกว่า ทางออกของคนตะวันออกลางคือการสร้างระเบียบใหม่แบบสหรัฐ เขาเชื่อว่าประชาธิปไตยไม่ใช้เพียงอุดมการณ์ แต่เป็นของขวัญที่ประทานแก่ชาวโลก และมีจักรวรรดิเดียวที่รับภารกิจนี้ของพระเจ้า และใครที่ไม่รับของขวัญนี้จะต้องถูกบังคับ

มีการเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ในนิยายเรื่องการเดินทางของกัลลิเวอร์ ที่ครั้งหนึ่งกัลลิเวอร์อยู่ในเมืองคนเล็กแล้วเกิดไฟไหม้ กัลลิเวอร์ดับไฟด้วยวิธีฉี่ใส่เมือง ถามว่าดับไฟได้ไหม ได้ แต่มันก็ทิ้งอะไรบางอย่างไว้ และบอกสัญลักษณ์อะไรบางอย่างกับกรณีที่เกิดขึ้นกับอิรัก

ตอนนี้จึงเป็นคำถามที่ว่า ปรัชญาการเมืองเรื่องประชาธิปไตยได้เดินทางมาถึงที่สุดแล้วหรือยัง ส่วนประชาธิปไตยเป็นของขวัญหรือไม่ ขึ้นอยู่กับเวลา เพราะบางคนเวลานี้อาจจะ 100 ปี อย่างสหรัฐ แต่อาจเป็นพันปีสำหรับคนอิยิปต์ เมื่อแนวคิดมาปะทะกัน แต่ละคนจะมีมุมมองต่างกัน มันหมุนวน อิรักในอุ้งมือสหรัฐจึงยังเป็นเพียงหนังตัวอย่าง ถ้าตอนนี้คุณเป็นอิหร่านคุณจะรู้สึกอย่างไร อยู่ใน list แต่ถ้าเป็นซีเรียคุณมีทางเลือก 2 ทางคือ จะประนีประนอมหรือจะคงยืนหยัดต่อไป สำหรับไทยคงไม่อยู่ใน list 60 ประทศเพราะเราสำคัญน้อยเกินไป

รศ.สุริชัย หวันแก้ว ผมตั้งคำถามว่า สงครามครั้งนี้ เกี่ยวข้องกับเราอย่างไร ไม่อยากให้มองแค่เพียงว่า เป็นเรื่องไกลตัวเพราะต่างเชื้อชาติ สัญชาติ แต่แท้จริงแล้ว เราควรมองที่ความเป็นมนุษย์เหมือนกัน และเราก็เกี่ยวข้องในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของงานวิชาการ ของการสอนการเรียนรู้สิ่งที่เป็นไปในสังคม เราต้องกลับมาดูว่า เราบริโภคข่าวที่เกิดขึ้นอย่างไร มีสื่อหลายแห่งที่นำเสนอข้อมูลสงครามเหมือนกับว่า ให้เราเป็นผู้มีส่วนร่วมในการรุกราน ทำสงครามกับผู้ละเมิดระบอบประชาธิปไตยในโลกนี้ด้วย ไม่เพียงแค่เป็นผู้ชมอย่างเดียว

ผมมองท่าทีที่เกิดขึ้นมี 3 แบบคือ
1.คนจะตั้งคำถามว่า เราจะได้อะไรจากสงคราม เช่น ไปทำมาค้าขายอะไรได้บ้าง เราจะกระทบอย่างไร ได้ผลประโยชน์อะไรจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือยอมรับความจริงว่า สงครามเกิดขึ้นแล้ว อย่าคิดมาก มาดูกันดีกว่าว่าเราจะทำอะไรต่อไปได้อีก
2.เราทำอะไรไม่ได้เลย powerless ได้แต่ก่นด่าว่า แสดงความไม่พอใจ
3.รู้สึกโกรธที่เราทำอะไรไม่ได้ ยอมรับความไร้ศีลธรรมที่เกิดขึ้น แต่ทำอะไรไม่ได้

เวทีเสวนาครั้งนี้ ทำให้ต้องกลับมาถามตัวเราเอง ผมสนใจ ประเด็นที่ 3 มากกว่า และเกิดคำถามว่า เราจะปล่อยให้ความไร้ศีลธรรมเช่นนี้เกิดขึ้นต่อไป แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง จะถามหาศีลธรรมและความชอบธรรมในโลกที่กำลังก่อรูปใหม่นี้อย่างไร

ผมมองว่า สงครามครั้งนี้ ทำให้เห็นว่า โลกยังคงมีการใช้อำนาจความรุนแรงในการตัดสินปัญหา เช่นเดียวกับสงคราม ยาเสพติด ฆ่าตัดตอน มีใครสนใจไหมว่า ครอบครัวคนที่ถูกฆ่า ลูกเมียเขาจะเป็นอย่างไร

สงครามอิรัก ไม่เพียงแค่เป็นผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ การเมือง หรือสังคมเท่านั้นแต่ยังโยงมาถึงความไม่มั่นคงในชิวิตของเราเอง และคุกคามการรับรู้ของเราต่อโลกด้วย ปรากฏการณ์นี้ บอกเราว่า สหรัฐกำลังใช้อำนาจขั้วเดียวในการแก้ปัญหา และกำลังทำให้เกิดบรรยากาศการไม่ยอมรับคนที่มีความเห็นแตกต่างกัน คนที่เห็นต่างจะถูกมองว่าเป็นฝ่ายตรงกันข้าม

มหาวิทยาลัยจะต้องมองบทบาทของตนเองอย่างไร คุณค่าทางสังคมและสาธารณะของมหาวิทยาลัยได้รับการพูดถึงน้อยมากจนน่าใจหาย มีแต่การพูดถึงว่าจะบริหารอย่างไร จะจัดการอย่างไรมีหลักสูตรใหม่จะมีอัตราค่าตอบแทนอย่างไร

สถานการณ์อีกอย่างคือ มหาวิทยาลัยสอนแต่วิชา ไม่ใส่ใจหรือละเลยแรงบันดาลใจของคนรุ่นใหม่ ความรู้ที่ได้เป็นความรู้เชิงเดี่ยว แยกส่วน แต่ขาดความรู้สึกต่อสังคม

สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือมหาวิทยาลัยกำลังเผชิญกับบริบททางสังคม การเมืองโลกที่เปลี่ยนไป ไม่เฉพาะการเกิดระเบียบใหม่ของโลกเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงชุมชนก็เป็นเช่นนั้นด้วย นอกจากนี้มหาวิทยาลัยจะมีส่วนในการก่อรูปร่างของการเปลี่ยนแปลงบริบทโลกที่ว่านี้ได้ไหมและจะทำอย่างไร

และสุดท้ายคือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ควรปล่อยให้อยู่ในโครงสร้างของอำนาจที่เป็นทางการเท่านั้น อย่างเช่น กรณีอิรัก ไม่ควรจะเป็นอำนาจของสหรัฐหรืออังกฤษเท่านั้น หรือแม้กระทั่งภายในประเทศเอง ผมกำลังพูดถึงบทบาทของภาคประชาสังคม

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

ตอนนี้จึงเหมือนสหรัฐส่งคนของตนไปครองเมืองต่างๆ และมีตัวใหญ่สุดคือเบร์เมอร์ไปคุม คำถามคือบรรดา interim authority เหล่านี้จะอยู่ไปนานเท่าไหร่ สหรัฐเองก็บอกว่านานเท่าที่จำเป็น จากข่าวที่สัมภาษณ์ทหารอเมริกาต่างเชื่อว่าต้องมีอเมริกันจึงจะทำให้อิรักอยู่ได้ เพื่อให้อิรักพัฒนา ซึ่งกรณีนี้ต่างจากในอัฟกานิสถานที่
ฮาร์มิด คาร์ไซ ได้ขึ้นเป็นผู้นำ...
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากอิรักถูกการ sanction 13 ปีที่ทำให้คนที่เป็นผู้นำทางความคิดหรือผู้นำที่โดดเด่นถูกซัดดัมจัดการและครอบงำ
QUOTATION
ขณะนี้สหรัฐตั้งเอกอัคราชทูตเป็น Political appointee ซึ่งคนที่เป็นนักการทูตมืออาชีพจริงๆในสหรัฐเองจะไม่ได้เป็นทูต นักการทูตคนสำคัญในประเทศต่างๆ ทั่วโลกของสหรัฐกลายเป็นคนที่เคยเป็นผู้ระดมทุนให้พรรคบ้าง ผู้บริจาคเงินให้พรรคบ้าง หรือเป็นที่ปรึกษาที่เคยดูแลเรื่องการจัดตั้งและบริหารบริษัทน้ำมันของ บุช บ้าง มีคนแบบนี้เป็นทูตสหรัฐในกว่า 30 ประเทศ ทั่วโลก จนมีนักการทูตคนหนึ่งของสหรัฐถึงกับลาออกเพราะรับไม่ได้กับนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลยุคนี้
การ sanction ทางเศรษฐกิจกับอิรัก ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2533 ทำให้ชาวอิรักได้รับความทุกข์มาก เด็กอิรักกว่า 5 แสนคนต้องตายเพราะความขาดแคลน เศรษฐกิจไม่พัฒนาและขาดการลงทุนหรือการนำเข้าเครื่องจักรเพื่อพัฒนาประเทศ การ sanction ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้มหาอำนาจเข้าไปหาผลประโยชน์ในอิรัก และการ Sanction มีผลทำให้ซัดดัมสามารถอยู่ในอำนาจได้ เพราะสามารถอ้างว่าความเดือดร้อนในประเทศ เกิดจากถูก sanction ไม่ใช่การปกครองแบบเผด็จการ อย่างไรก็ตาม แม้อิรักจะถูกลงโทษ แต่ก็มีการทำการค้าในตลาดมืดอยู่มาก (ข้อความตัดมาบางส่วนจากบทความ - บทความนี้ยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4)
อีกประเด็นหนึ่งคือ สุสาน หรือ มัสยิดของอิรัก ที่สำคัญมีหลายแห่ง แต่แตกต่างจากรูปปั้นของซัดดัม เพราะการรื้อรูปปั้นทำได้ แต่การรื้อมัสยิดทำไม่ได้ ทหารสหรัฐเข้าไปมัสยิดจะถูกชาวบ้านอิรักต่อต้าน ทั้งที่จริงแล้วมัสยิดส่วนใหญ่เป็นของซุนนี ทั้งที่เป็นคนกลุ่มน้อยแต่มีอำนาจปกครองอิรัก คนส่วนใหญ่คือพวกชีอะห์ แต่ปรัชญาของอิสลามเขาถือว่าสถานที่สร้างมัสยิดนั้นเป็นภูมิศาสตร์ศักดิ์สิทธิ์ที่ทำลายไม่ได้ แต่ทหารอเมริกันมองว่าเป็นภูมิศาสตร์ธรรมดา
(
ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
H
home