มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ 2546
ภาพประกอบเพื่อใช้ประกอบบทความการเสวนาเรื่อง "การสำรวจเชิงอนาธิปไตย กรณีเขื่อนปากมูล"โดย อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท,์ รองศาสตราจารย์วารุณี ภูริสินสิทธ,ิ์ อาจารย์ชัชวาล ปุณปัน, ทันตแพทย์หญิงศศิธร ไชยประสิทธิ์ / ภาพประกอบเขียนโดย Nicholas Schrenk เทคนิคสีน้ำมัน นำมาจากหนังสือ Illustration ห้องสมุดคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ภาพประกอบเพื่อใช้ประกอบบทความเสวนาเรื่อง "การสำรวจเชิงอนาธิปไตย กรณีเขื่อนปากมูล" นำมาจากหนังสือ Illustration ห้องสมุดคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม
R
relate
release date
040246

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 239 เดือนกุมภาพันธ์ 2546 การเสวนาทางวิชาการ เรื่อง "การสำรวจเชิงอนาธิปไตย กรณีเขื่อนปากมูล"
สถานที่เสวนา ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันพุธที่ 22 มกราคม 2546 ระหว่างเวลา 09.30 - 12.30 น.

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ดำเนินรายการ
(ความยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4)

 

การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาตินี้ ไปค้านกับงานวิจัยไทบ้าน ที่บอกเลยว่า ก่อนสร้างเขื่อนมีปลา 265 ชนิด หลังจากสร้างเขื่อนเหลือ 43 ชนิดเท่านั้นเอง แต่พอเปิดเขื่อน 1 ปี ปลากลับมาถึง 156 ชนิด ความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์กลับคืนมา ซึ่งตรงข้ามกับงานสำรวจชิ้นนี้อย่างสิ้นเชิง งานสำรวจชิ้นนี้ไม่ได้ให้คำตอบอะไรเลย
(ชัชวาล ปุญปัน)

เมื่อดูจากรายงานของมหาวิทยาลัยอุบล แล้วน่าเสียดายที่ถูกละเลย เพราะเป็นการมองภาพกว้างของการใช้พลังงานโดยรวม ในการใช้พลังงานไฟฟ้าของทั้งประเทศ และชี้ให้เห็นว่าเขื่อนปากมูลไม่ได้มีความหมายอะไรเลยกับการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ
(ฉลาดชาย รมิตานนท์)

โครงการที่กล่าวมาทั้งหมดมีโครงการผลิตกระแสไฟฟ้า น่าคิดว่า เรานำกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากทุกเขื่อน ไปขายได้หรือไม่ เพราะประเทศไทยจะล้นไปด้วยกระแสไฟฟ้า ดังนั้นเราจึงต้องคิดดูว่าโครงการต่างๆจะรวมภาพทั้งหมดนี้ เมื่อไฟฟ้าล้นขนาดนี้ แล้วเราจะผลิตไปทำไมจำนวนมากมายขนาดนั้น หรือปริมาณน้ำจากเขื่อนที่กักเก็บเอาไว้มากมายขนาดนั้น

เมื่อไม่มีความจำเป็นในการผลิตกระแสไฟฟ้าหรือชลประทาน ผลที่ออกมาจึงเป็นการสร้างเขื่อนเพื่อการสร้างเขื่อน เพราะจะเกิดการแบ่งเค็กกัน ดังนั้นโครงการต่างๆของรัฐ ในภาพรวมๆ ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม นโยบายที่ว่าคิดใหม่ทำใหม่ จึงไม่ได้ใหม่แต่อย่างใด
(ฉลาดชาย รมิตานนท์ : นักวิชาการอิสระ)

 

H
การเสวนามหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเรื่อง "การสำรวจเชิงอนาธิปไตย กรณีเขื่อนปากมูล" เรียบเรียงโดย นัทมน คงเจริญ และ สมเกียรติ ตั้งนโม

เว็ปไซค์ของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ความรู้ โดยไม่คิดมูลค่า เพื่อให้คนไทยทุกคน สามารถเข้าถึงอุดมศึกษาทางเลือกได้อย่างเท่าเทียม

หากประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาด font ลง จะแก้ปัญหาได้

การเสวนาทางวิชาการ เรื่อง
การสำรวจเชิงอนาธิปไตย กรณีเขื่อนปากมูล
ผู้ร่วมเสวนา อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์, รองศาสตราจารย์วารุณี ภูริสินสิทธิ์,
อาจารย์ชัชวาล ปุณปัน, ทันตแพทย์หญิงศศิธร ไชยประสิทธิ์
ผู้ดำเนินรายการ อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล

ไพสิฐ : สำหรับการเสวนาในวันนี้ มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับการตัดสินในเชิงนโยบายของรัฐบาล มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงร่วมกันจัดเสวนาขึ้น ซึ่งจะเปิดให้มีการพูดคุยกันใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่

ประเด็นแรก คือ การสำรวจและเก็บข้อมูลที่รัฐบาลนำมาเป็นฐานในการตัดสินใจในเรื่องเกี่ยวกับเขื่อนปากมูล สำหรับเรื่องนี้ มีข้อพิจารณาที่จะเสนอต่อสังคมให้คิดต่อ ซึ่งเราจะเรียกในส่วนแรกนี้ว่า "การสำรวจเชิงอนาธิปไตยกรณีเขื่อนปากมูล และ

ประเด็นที่สอง จะเป็นการเสวนาเรื่อง "ความรู้ที่ขาดหายไปในกระบวนการตัดสินใจ"

ขอแนะนำวิทยากรท่านแรก ได้แก่อาจารย์ฉลาดชาย รมิตานนท์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านมนุษยวิทยา, ส่วนท่านที่สองคือ รองศาสตราจารย์วารุณี ภูริสินสิทธิ์ ซึ่งเป็นนักสังคมวิทยา ที่มีงานวิจัยและงานศึกษาเกี่ยวกับงานวิจัยและสำรวจ อาจารย์จะมาชี้ให้เห็นถึงการทำงานของสำนักงานสถิติแห่งชาติว่ามีข้อสังเกต และข้อควรพิจารณาตรงไหนบ้าง. ท่านถัดไปคือ อาจารย์ชัชวาล ปุณปัน นักฟิสิกส์เพื่อชาวบ้านและชุมชน ท่านสุดท้ายคือทันตแพทย์หญิงศศิธร ไชยประสิทธิ์ ผู้ทำงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ และร่วมทำงานวิจัยเกี่ยวกับการทำบัตรประกันสุขภาพ และปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาเอกอยู่ ซึ่งอาจารย์ก็มีความคุ้นเคยกับลักษณะงานวิจัยเช่นนี้อยู่ ขอเชิญอาจารย์ศศิธรเป็นผู้ให้ความเห็นก่อนเป็นท่านแรกครับ

ศศิธร : สวสัดีท่านผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่าน เป็นที่ทราบว่างานสำรวจของสำนักงานสถิติในครั้งนี้เป็นงานที่เราเรียกว่า โพล ซึ่งเป็นการทำขึ้นอย่างเร่งรีบ จากที่ทราบกันอยู่ โดยชื่อว่าเป็นการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับเขื่อนปากมูล มีการมุ่งประเด็นในการสำรวจไปที่สามอำเภอ ได้แก่ พิบูลมังสาหาร โขงเจียม และสิรินธร ในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นประเด็นพื้นฐานอย่างแรกที่ผู้อ่านงานชิ้นนี้จะต้องระลึกอยู่เสมอเมื่ออ่านงานฉบับนี้

จากข่าวหนังสือพิมพ์ หัวหน้าสำนักงานสถิติแห่งชาติเองก็รับว่างานสำรวจนี้เป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญมาก สำนักงานสถิติฯไม่เคยทำงานแบบนี้มาก่อน และได้ใช้เวลาในการศึกษาเพื่อร่างแบบสอบถาม 2 วัน จากนั้นลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ 3 วัน คือวันที่ 24-26 ธันวาคม 2545 โดยใช้เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสถิติฯจำนวน 173 คน จากข้อมูลนี้ชี้ให้เห็นว่าเป็นการทำอย่างเร่งรีบและใช้คนจำนวนมากในการเก็บข้อมูล ซึ่งเป็นข้อมูลที่นำมาใช้ในการตัดสินใจที่สำคัญ

ประเด็นที่สอง คือ ในหนังสือพิมพ์ได้รายงานข่าาวว่า ชาวบ้านใน อ.โขงเจียม ที่ได้สุ่มตัวอย่างชาวบ้านมาให้สัมภาษณ์ระบุว่า การสุ่มตัวอย่างนี้ทำไปอย่างผิดพลาด คือชาวบ้านที่อยู่ไกลแม่น้ำมูลกลับถูกเลือกมาให้ข้อมูลว่าเป็นชาวบ้านที่อยู่ใกล้แม่น้ำมูล ซึ่งตรงนี้รัฐใช้ในการตัดสินใจ และมีตัวเลขหลายตัวเลขที่แสดงว่า ชาวบ้านคิดเห็นอย่างไร

จากทั้งสองประเด็นแรกทียกมานี้ชี้ให้เห็นว่า งานสำรวจนี้มีข้อบกพร่องอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ หากอ่านดูในรายงาน โจทย์ที่มีอยู่ของงานวิจัยนี้ คือ งานวิจัยนี้ทำขึ้นเพื่อสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการ เปิด หรือ ปิด เขื่อนปากมูลและผลกระทบจากการตัดสินใจแต่ละอย่าง ประการที่สองคือ การสำรวจข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลในการตัดสินใจ

ขอเริ่มจากวิธีการสำรวจในครั้งนี้ ระบุว่าเป็นวิธีการสัมภาษณ์ ซึ่งมีอยู่สามส่วนที่ต้องคำนึงถึงในการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ ได้แก่

(1) แบบสัมภาษณ์
(2) ผู้สัมภาษณ์ว่าจะบันทึกข้อมูลอย่างไร
(3) ตัวผู้ให้สัมภาษณ์เอง ในการสำรวจ
ทั้งสามส่วนนี้มีปฏิสัมพันธ์กันอยู่

ข้อสังเกตประการแรก แบบสัมภาษณ์ มีทั้งสิ้น 16 ข้อ เป็นคำถามเกี่ยวกับผลกระทบจากปากมูลจริงๆมีเพียง 4 ข้อเท่านั้น และใน 4 ข้อนี้เป็นประเด็นที่นำมาตัดสินใจว่าจะปิดหรือเปิดประตูเขื่อนปากมูล

ประการที่สองของแบบสัมภาษณ์ได้กำหนดไว้ ว่าจะต้องมีกรอบที่เสนอรัฐบาลว่าควรตัดสินอย่างไร ในการสำรวจมีเพียงเท่านี้จริงๆที่นำมาเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

เวลาใช้เครื่องมือนี้ในการสำรวจ ต้องมีการทดสอบก่อน ว่าคำถามเมื่อถามไป คนฟังเข้าใจว่าอย่างไร เเนื่องจากการให้สัมภาษณ์ว่า เป็นการทำสำรวจแบบรีบเร่งมา ฉะนั้นแบบสอบถามนี้จึงไม่ได้ถูกทดลองมาก่อน เมื่อพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่ารายการบางอย่างไม่ครอบคลุมกิจกรรมหรือความต้องการของชาวบ้าน

นอกจากนี้ วิธีการสำรวจที่ใช้คน 173 คน จากแนวทางที่ควรจะเป็นผู้สำรวจต้องมีแบบมาตรฐาน แต่มาตรฐานของคนทั้งหมด 173 ย่อมต่างกันอยู่แล้ว ทำให้ไม่มีความเที่ยงตรงโดยรูปการของตัวมันเอง ยิ่งไปกว่านั้น การสำรวจครั้งนี้ยังใช้เวลาในการสำรวจเพียงแค่ 3 วันเท่านั้นในการสำรวจคน 3,750 คน อันนี้ยิ่งเพิ่มความไม่เที่ยงตรงเข้าไปใหญ่ เช่น ประเด็นการให้สัมภาษณ์โดยถามท้ศนคติ คนที่เป็นผู้สัมภาษณ์จะไม่มีทัศนคติที่เท่ากันอยู่แล้ว

เมื่อมาดูตัวการสำรวจความคิดเห็นก็มีข้อจำกัดโดยตัวของมันเอง แม้จะเป็นการดำเนินตามแบบที่ถูกต้องตามสถิติ ก็เป็นการกีดกันตัวผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงออกไป กล่าวคือ ในพื้นที่สำรวจใน 3 อำเภอ ที่ตั้งอยู่หนือเขื่อน ท้ายเขื่อน และบริเวณที่ตั้งเขื่อน แต่หน่วยที่ใช้กลับเป็นประชากรทั้งหมดในอำเภอ

จากนั้นแบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนพื้นที่ซึ่งคร้วเรือนนั้นตั้งอยู่ โดยมีการตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำมูล กับที่ไม่ติดกับแม่น้ำมูล ดังนั้นในความเป็นจริงพื้นที่ซึ่งติดแม่น้ำมูลย่อมมีน้อยอยู่แล้ว ส่วนใหญ่ และการสุ่มตัวอย่าง ตามหลักการแล้วต้องสุ่มตามปริมาณ กล่าวคือ มีน้อยจับน้อย มีมากจับมาก หมายถึงจำนวนประชากรมีน้อย ปริมาณที่สุ่มตัวอย่างมาจะต้องน้อยด้วย จึงไม่น่าแปลกใจต้วเลขที่ออกมาเช่นนี้

สำหรับจำนวนประชากรที่อยู่ติดแม่น้ำมูลที่มีโอกาสตอบ พอมาดูในรายละเอียด ชาวบ้านที่อยู่ติดแม่น้ำมูลก็ไม่ได้ทำอาชีพประมงทั้งหมด ตารางที่บอกมาจึงขาดจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง เช่น คนทำประมงมีเพียงแค่ 3.6 % หรือ 135 คนในจำนวนทั้งหมด 750 คน ดังนั้นภาพโดยรวม ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจึงไม่ได้แสดงความคิดเห็น

มีอยู่ข้อหนึ่งที่น่าสังเกต คือ การถามครัวเรือนถึงผลกระทบของเขื่อนปากมูล ตัวเลขของคนส่วนใหญ่ ซึ่งได้แก่คนทั้งสามอำเภอนี้ คือ 80% คิดว่าชีวิตของตนเองเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเปิดหรือไม่เปิดเขื่อนปากมูล ซึ่งอันนี้แปลกๆ เพราะผู้คนเหล่านี้ถูกนำไปให้ตอบคำถามต่างๆเกี่ยวกับเขื่อนปากมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็น เปิด-ปิด กี่เดือนดี แต่ท้ายที่สุดแล้วกับเฉยๆต่อการเปิดหรือปิดประตูเขื่อน และที่รัฐถามว่าเขื่อนทำแล้ว คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ ก็ต้องถามอีกว่าคนส่วนใหญ่ของรัฐเป็นใคร เพราะคนส่วนใหญ่ในงานสำรวจนี้ให้ความเห็นว่าชีวิตเหมือนเดิม

นอกจากกนี้ ในตัวอย่างที่เป็นผลสะท้อนจากการตั้งคำถามที่ไม่รัดกุม คือ ถามเกี่ยวกับความพึงพอใจเขื่อนปากมูล ซึ่งตัวเลขแสดงว่ามีความพึงพอใจเขื่อนปากมูล จำนวน 88% ทั้งที่เมื่อก่อนหน้านี้ถามว่ารู้สึกอย่างไรกับเขื่อนปากมูล กลับเฉยๆ ถึง 80% ทำไมตัวเลขทั้งสองนี้ไม่ไปด้วยกัน

เมื่อกลับไปดูแบบสอบถามจะพบว่า ข้อความพอใจมีตัวคำตอบให้เลือกเพียงสองทางคือ พอใจกับไม่พอใจ ไม่มีต้วเลือกที่ว่า เฉยๆ หรือไม่รู้จะตอบว่าอย่างไร หรือเป็นกลางๆ ดังนั้นคำตอบแนวนี้ทั้งหมดจึงถูกผลักเข้าไปอยู่ในประเภทพึงพอใจ ดังนั้นคำถามนี้และคำตอบนี้จึงใช้ไม่ได้ ในขณะที่ตัวเลือกตอบในข้อรู้สึกอย่างไรกับเขื่อนมีคำตอบอยู่ 3 ตัวเลือกคือ เหมือนเดิม, เฉยๆ, และแย่ลง.

นอกจากนี้การสุ่มตัวอย่างในครัวเรือนเป็นการเกิดขึ้นว่าจะลงครัวเรือนใด อย่างบังเอิญ ดังนั้นจึงมาลงสุ่มตัวอย่างว่า ครัวเรือนที่ทำอาชีพประมงมีเพียง 3.6 % แต่พอขึ้นตาราง ว่าร้อยละของอาชีพที่นำมาเป็นจำนวนตัวสินใจ ไม่ได้คิดอยู่บนฐานอะไรเลย เป็นเพียงการสุ่มโดยบังเอิญเท่านั้น จึงใช้ไม่ได้ เป็นการลวงตาอยู่

ประการสุดท้าย ในเรื่องข้อเสนอแนะที่น่าตกใจคือ การเสนอให้รัฐใช้ความรุนแรงในการสลายม๊อบ คือ ร้อยละ16.3 เป็นการเลือกใช้ถ้อยคำในการนำเสนอที่รุนแรง ในกรณีที่มีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงสูงอยู่แล้ว จากตารางมีผู้ไม่เสนอความเห็น ร้อยละ 64.6 คนที่เสนอความเห็นให้ใช้ความเด็ดขาดมีร้อยละ 16.3 และหากรวมความเห็นกลุ่มที่เสนอเรื่องอื่นซึ่งไม่ใช้ความรุนแรงแล้ว จะมีอยู่ร้อยละ 20.4 แต่ใช้การแตกเป็นประเด็นย่อยๆ โดยไม่ได้ชูว่านี้คือการเสนอว่าไม่ใช้วิธีการรุนแรง ซึ่งประเด็นนี้อยู่ที่ผู้ประเมินว่าจะจัดกลุ่มคำตอบอย่างไร เพราะคำถามเป็นคำถามเปิด

สรุปว่าวิธีการที่ใช้ในการเลือกจำนวนประชากรทั้งหมดของอำเภอ เป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ได้รับความเดือดร้อนโดยตรงไม่สามารถเข้ามาเป็นต้วกำหนดการตัดสินใจในกรณีนี้ได้

ไพสิฐ : จากที่อาจารย์หมอศศิธร ได้ตั้งประเด็นคำถามว่า หน่วยงานที่ทำงานนี้ยอมรับต่อสื่อมวลชนเองว่าทำด้วยความรีบร้อน และไม่มีประสบการณ์มาก่อน และนำไปสู่ความผิดพลาดหลายๆอย่าง ในกระบวนการ วิธี คำถามและการลงไปเก็บข้อมูล และในที่สุดก็ได้ข้อมูลที่มาจากการตีความที่ผิดพลาด แต่ได้นำไปใช้เป็นการตัดสินใจดำเนินการ เป็นการใช้ข้อมูลที่ไม่ตอบสนองต่อเรื่องที่เกิดขึ้น และเป็นการนำข้อมูลจากการสำรวจนี้ไปตอบคำถามที่มีคำตอบอยู่แล้วในใจ ซึ่งอาจารย์วารุณีคงจะได้นำประเด็นในงานสำรวจนี้ขึ้นมาพิจารณาในประเด็นรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง

วารุณี : ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า การสำรวจกับงานวิจัยเป็นเรื่องที่แตกต่างกันมาก สิ่งที่สำนักงานสถิติทำขึ้นมาที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ เป็นงานสำรวจ ซึ่งเป็นเพียงการให้ภาพอย่างกว้างๆ เป็นพื้นฐาน ซึ่งการสำรวจในลักษณะเช่นนี้ มักจะใช้กับการสำรวจประชากร แต่ไม่สามารถใช้อธิบายปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนของสังคมได้ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนต่อการดำรงชีวิตของชาวประมง หรือการเปลี่ยนของระบบนิเวศน์ที่มีความสำคัญกับมนุษย์

การสำรวจไม่สามารถแสดงภาพอย่างนั้นได้ เพราะการสำรวจคือการเสนอข้อมูลแบบแบนๆ ต่างกับงานวิจัยคือ งานวิจัยจะเป็นการเสนอถึงความสัมพันธ์ของตัวแปรต่างๆ หรือสิ่งต่างๆ ที่ทำให้เห็นถึงความเป็นเหตุเป็นผลกัน เห็นถึงความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆในสังคมที่เกิดขึ้น ดังนั้นผลจากการสำรวจจึงไม่สามารถที่จะนำมาใช้ หรือให้ความรู้เพียงพอที่จะนำมาเป็นเครื่องตัดสินใจปัญหาที่ซับซ้อนของสังคมได้

และในการแถลงของสำนักงานสถิติฯก็ยอมรับว่า งานสำรวจของเขาไม่สามารถจะนำมาแก้ปัญหาในกรณีเขื่อนปากมูลได้ เพราะเป็นเพียงแค่การสำรวจและต่างจากการวิจัยทางวิชาการ แต่เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจของประเทศไทย ไม่เข้าใจถึงความจริงทางวิชาการแบบพื้นๆนี้ได้ และก็ยังนำมาอ้างซ้ำแล้วซ้ำเล่า ว่าได้ใช้แบบสำรวจนี้มาเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจในกรณีการสั่งให้เปิด-ปิดประตูเขื่อนปากมูล

ขออธิบายเพื่อให้เห็นภาพของงานสำรวจนี้ สำหรับผู้ที่ไม่เคยอ่านงานนี้มาก่อน คือตัวอย่างที่มาจากงานสำรวจจะมีสองกลุ่มที่สำคัญ คือ

กลุ่มแรกประมาณ 20% เป็นกลุ่มที่อยู่ริมแม่น้ำมูล อีก 76% ไม่อยู่ติดริมน้ำมูลเลย
ประเด็นที่สองคือ 70% ของกลุ่มตัวอย่างในงานสำรวจนี้เป็นกลุ่มชาวนา อีก 20% เป็นอาชีพอื่นๆ ส่วนอาชีพประมงมีเพียง 3.6% เท่านั้นจากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด

ที่น่าสนใจคือ ในตารางที่ 4 บอกว่าประมาณ 80% ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านที่อยู่ติดหรือไม่ติดแม่น้ำมูล บอกว่าชีวิตเหมือนเดิมทุกอย่าง แปลว่าไม่ได้ดีขึ้น ไม่ได้เลวลงต่อการมีเขื่อนปากมูล เพราะฉะนั้นเงินที่ลงทุนสร้างเขื่อนแห่งนี้ไปกว่า 6,000 ล้านบาท จะสร้างไปทำไมในเมื่อไม่ได้ทำให้ชีวิตของชาวบ้านดีขึ้นเลย และซ้ำเรายังต้องเสียเงินในการต้องบำรุงรักษาอีกไม่รู้ตั้งเท่าไร ซึ่งเป็นภาษีของประชาชน แต่กลับไม่ได้ทำให้ชีวิตของชาวบ้านดีขึ้น

ที่น่าสนใจต่อไปคือ เมื่อชีวิตไม่ได้ดีขึ้น แต่จำนวน 80% ของชาวบ้านกลับบอกว่าพอใจเขื่อนปากมูล เราจะหาคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลในคำตอบนี้ได้อย่างไร และในงานสำรวจชิ้นนี้ ก็ไม่ได้อธิบายเหตุผลไว้แต่อย่างใด ดังนั้นผลการสำรวจตรงจุดนี้จึงน่าสงสัยมาก

ตารางถัดมา คือ ตารางที่ 5 ตามที่ได้เรียนในข้างต้นว่า ตัวอย่างจากอาชีพประมงมีเพียง 3.6% เมื่อลงรายละเอียดแต่ละอาชีพ เช่น ชาวนา ย่อมไม่ได้รับผลกระทบ หรือกรรมกรในเมือง จะไปได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูลโดยตรงได้อย่างไร

เมื่อกลับมาดูผู้มีอาชีพประมง มีตัวเลขบอกว่าได้รับผลกระทบโดยตรง 54.8% คือ มากกว่าครึ่งบอกว่าได้รับผลกระทบ คือชีวิตแย่ลง แต่เนื่องจากตัวอย่างอาชีพประมงมีเพียง 3.6% ดังนั้นเมื่อนำไปรวมกับอาชีพอื่นๆ ทำให้ตัวเลขทั้งหมดเบี่ยงเบนไปว่าไม่มีผลกระทบ กรณีนี้ชัดเจนว่าเป็นการใช้ตัวเลขก่อให้เกิดความเข้าใจผิด โดยการนำตัวเลขไปรวมกัน และผู้ทำอาชีพประมงไม่ใช่ตัวแทนที่จะนำมาเป็นหลัก ทั้งที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

ประการต่อมาที่พูดถึงกันมาก ในตารางที่ 8 คือ กรณีเปิด-ปิดเขื่อน จะเห็นว่ามีคำถามว่าเดือดร้อนหรือไม่จากการเปิด-ปิดเขื่อน ในช่องไม่เดือดร้อน มีตัวเลขรวม คือ ไม่เดือดร้อนเลย 78.9 - 97.0% ไม่ว่าจะเปิดตลอดปี หรือเปิด 4 หรือ 5 หรือ 8 เดือน ก็ไม่เดือนร้อน เมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลจะให้คำตอบได้อย่างไรว่าทำไมเลือก 4 เดือน ทำไมไม่เลือก 5หรือ 8 เดือน

เมื่อมาพิจารณาในตัวเลขที่บอกว่าเดือดร้อน ว่าเปิดตลอดปีเดือดร้อน 19.2% แต่เมื่อดูปิดตลอดปีเดือดร้อนตั้ง 21.1 % แสดงว่าปิดตลอดปีเดือนร้อนมากกว่าเปิดตลอดปีด้วยซ้ำไป

จะเห็นได้ว่าตัวเลขที่ออกมาแล้วไม่สร้างความเข้าใจ หรือไม่ก่อให้เกิดความแตกต่างสับสนพวกนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการเลือกตัวอย่างที่ไม่ถูกต้อง เช่น 70% นำคนที่ไม่อยู่ติดแม่น้ำมูลมาเป็นผู้ตอบ ก็ไม่มีความหมายอะไร เขาไม่เดือดร้อน

ตารางต่อไปที่พูดถึงกันมากเช่นกัน คือ ตาราง 12 แม้แต่ในคำแถลงของสำนักงานสถิติ ก็อ้างว่าตัวเลขของการบอกให้เปิด 4 เดือนนี้มากที่สุดคือ 23.9% เหมือนกับว่าเป็นตัวเลขที่สูงที่สุด แต่เมื่อเราดูตัวเลขทั้งหมด จะพบความน่าสังเกตอยู่สองจุด คือ ผู้ที่ตอบว่า "แล้วแต่รัฐบาลเห็นควร" 19.1% และ "ไม่แสดงความคิดเห็น" 12.1% การที่ตอบว่าแล้วแต่รัฐบาลหรือไม่แสดงความคิดเห็นนี้ มีความหมายเหมือนกัน คือ ไม่อยากแสดงความเห็นใดๆ คุณจะไปทำอะไรก็ทำไป เมื่อรวมผู้ที่ตอบในทำนองนี้จะพบว่ามีจำนวน 31.5% ด้วยซ้ำไป หมายถึงผู้ที่ไม่แสดงความคิดเห็นนี้มากกว่าผู้ที่ต้องการจะให้เปิดเขื่อน 4 เดือน ดังนั้นรัฐบาลไม่สามารถจะนำมาอ้างได้ว่าจำนวนคนให้เปิด 4 เดือน เป็นจำนวนที่สูงสุด

เมื่อพิจารณาด้านนำตัวเลข เปิดตลอดปี เปิด 5 เดือน หรือเปิด 8 เดือน มารวมกัน กล่าวคือเปิดตั้งแต่ 5 เดือนขึ้นไป จนถึงเปิดตลอดปีจะได้จำนวนประมาณ 19.6% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่างจาก 23.9% ไม่มากเลย

ประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งคืองานสำรวจหรืองานวิจัยเชิงปริมาณจะต้องตระหนักอย่างยิ่งว่า อะไรที่ไม่เกี่ยวข้องอย่านำมาถาม แต่ในงานสำรวจนี้ปรากฏคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเปิด-ปิดเขื่อนแต่อย่างใดเลย เช่น ทราบหรือไม่ว่าปลาวางไข่เมื่อไร แล้วเมื่อรู้ว่าปลาวางไข่เมื่อไหรไปเกี่ยวข้องอะไรกับการเปิด-ปิดประตูเขื่อน นำข้อมูลมาเชื่อมโยงอย่างไร

อีกข้อคือการถามว่าสาเหตุของการไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องปากมูลได้ จะพบว่าในตารางที่ 14 มีคำตอบที่คุ้นๆ จากการตอบคำถามปลายเปิด คำตอบที่ได้ เช่น เพราะมีผู้อยู่เบื้องหลังการชุมนุม หรือเพราะกลุ่มผู้เดือดร้อนเขายังไม่พอใจ หรือเพราะแต่ละคนไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และอีกคำถามที่ไม่เกี่ยวข้อง คือการถามว่าจะมีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้างซึ่งถามเป็นคำถามปลายเปิด และในคำตอบที่ได้ เช่น ต้องการให้สลายม็อบ 16.3% แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ 64.6% ไม่แสดงความคิดเห็น เป็นตัวเลขที่สูงมาก

โดยนัยของผู้ที่ไม่แสดงความคิดเห็นนี้หมายถึงคนไม่อยากตอบ หมายถึงว่าคนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้คิดว่ารัฐจะต้องไปปราบปรามคน ส่วนใหญ่เขาไม่อยากจะยุ่ง ถ้าดูภาพก็สอดคล้องพอสมควรว่าคนส่วนใหญ่ก็ไม่คิดว่าเขื่อนปากมูลเกี่ยวข้องอะไรกับเขา และเขาก็ไม่อยากจะแสดงความเห็นใดๆ

งานสำรวจที่เราต้องมาพูดกันในวันนี้ คืองานสำรวจที่ไม่ควรเลยที่จะนำมาใช้ในการตัดสินใจระดับใดๆ วิถีชีวิตและชุมชนของชาวประมง วัฒนธรรมความเชื่อและภูมิปัญญาของผู้คนที่อยู่รวมกันมาเป็นเวลานาน ต้องถูกทำลายลงด้วยงานสำรวจที่ไร้มาตรฐานเช่นนี้ โดยการถูกนำมาอ้างว่าเป็นข้อมูลที่เป็นฐานในการตัดสินใจระดับนโยบายของนายกรัฐมนตรี นับว่าเป็นความอับจนของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง

ไพสิฐ : จากคำทิ้งท้ายของอาจารย์ ผมขอตอบคำถามนั้นว่าเป็นเกระบวนแบบอนาธิปไตยที่แฝงอยู่ในการตัดสินใจ จึงนำตัวเลขที่ไม่เป็นเหตุเป็นผลกันนั้นมาเป็นฐานในการตัดสินใจ ท่านต่อมาขอเชิญ อ.ชัชวาล ที่เป็นนักฟิสิกส์ที่ทำงานร่วมกับชาวบ้านมาตลอดเป็นผู้นำเสวนาต่อไปครับ

ชัชวาล : จากการรายงานนี้ที่ชื่อว่ารายงานผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชน เกี่ยวกับเขื่อนปากมูล เป็นการสำรวจที่ชี้ให้เห็นว่า เป็นการสำรวจแบบอนาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะเริ่มต้นมาจากผู้สำรวจไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะสำรวจ แต่ถูกสั่งมาให้ทำการสำรวจ และก็สำรวจโดยการถูกครอบงำทางคำถามด้วย ว่ามีการตั้งโจทย์มาก่อนแล้วว่าใน 3 ข้อ นี้ ไปสำรวจมา

น่าสังเกตว่าเมื่อถูกสั่งมาให้สำรวจแล้วในแบบสอบถามนี้ หลังจากมีการถามข้อมูลเบื้องต้นว่าเป็นใคร เพศใด แล้ว คำถามข้อแรกคือ คุณได้ชมการถ่ายทอดโทรทัศน์หรือไม่ ที่นายกรัฐมนตรีพูดกับคนปากมูล ดังนั้นท่าทีแบบนี้คือท่าทีที่คุกคามทางคำตอบอยู่แล้ว คือคุณได้ดูว่ารัฐคิดอย่างไร และเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐพาผู้สำรวจไป ชาวบ้านที่ตอบก็ตั้งหลักว่าเมื่อคุณอยากรู้อะไร เขาก็จะตอบให้ได้อย่างที่คุณอยากให้ตอบนั่นแหละ ฉะนั้นการเริ่มต้นเก็บข้อมูลก็เป็นอนาธิปไตยประการแรกแล้ว

ต่อมาคือ คำถามว่าได้รับผลกระทบหรือไม่, แล้วตามด้วยคำถามว่าคุณรู้หรือไม่ว่าปลาวางไข่เมื่อใด, ท่านเห็นว่าการเปิด-ปิดประตูเขื่อนนี้ท่านเห็นว่าควรเป็นอย่างไร, และเป็นคำถามแบบปลายเปิดด้วย. แต่คำถามถัดมาถามว่าเปิดด้งต่อไปนี้จะเดือนร้อนหรือไม่ ก็ในเมื่อมีมีคำถามล็อคอยู่แล้วในตอนท้าย จะมาถามปลายเปิดอยู่มันจะมีประโยชน์อะไร

เราไม่อาจจะได้มาซึ่งคำตอบที่ถูกต้องครอบคลุมได้ จะเห็นได้ว่าไม่มีคำถามที่เกี่ยวกับเขื่อนปากมูลเลย เช่น ก่อนสร้างเขื่อนเป็นอย่างไร, ระหว่างสร้างเป็นอย่างไร, หลังสร้างเป็นอย่างไร, รู้หรือไม่ว่าการสร้างเขื่อนได้รับไฟฟ้าที่ผลิตจากเขื่อนนี้ไม่คุ้มค่าเลยจากการตั้งว่ากำลังการผลิต 136 เมกกะวัตต์ แต่ผลิตได้ 40 เมกกะวัตต์

รู้หรือไม่ว่าบริษัทที่ก่อสร้างโดยบริษัทต่างชาติและกลุ่มทุนอุตสาหกรรมที่ได้ผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อน หรือว่า การจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากฝรั่งเศส แล้วไปจ้างบริษัทจากอิตาลีในการก่อสร้าง ในการสั่งซื้ออุปกรณ์ สั่งซื้อจากออสเตรเลีย และบริษัทตั้งหม้อแปลงจากยูโกสลาเวีย

รู้หรือไม่ว่าขออนุมัติสร้างเขื่อนปากมูล 3,200 ล้าน แต่สร้างจริง 6,600 ล้าน รวมถึงกลุ่มต่างๆที่เป็นกลุ่มทุนท้องถิ่นที่ได้รับผลประโยชน์จากการสร้างเขื่อนปากมูล รวมไปถึงหอการค้า กลุ่มนิวอุบลโอพีเนี่ยน หรือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้จ้างบริษัทอิมเพค คอมมูนิเคชั่นด้วยเงิน 4.8 ล้านเพื่อโฆษณาปลาร้าเต็มไห และทำรายการจับต้นชนปลายบันไดปลาโจน อีกมากมายเช่น

คณะกรรมการเขื่อนโลกได้ทำวิจัยและลงมติว่าเขื่อนปากมูล ล้มเหลวในทุกด้าน รู้หรือไม่ว่าขณะนี้พลังงานล้นเกินประเทศแล้ว เราต้องจ่ายเงินให้ต่างชาติกว่าสี่หมื่นล้านในขณะนี้ เรายังจะมาสูญเสียงบประมาณในเงินเหล่านี้อีก ข้อมูลเหล่านี้สำนักงานสถิติได้โยนทิ้งไป เมื่อถามว่าคุณรู้หรือไม่ว่าปลาวางไข่เมื่อใด ก็ต้องถามว่ารู้หรือไม่ว่าเราสูญเสียเงินสี่หมื่นล้านไปแล้วกับเรื่องเหล่านี้ เป็นต้น

ในกรณีนี้ชี้ให้เห็นว่าเมื่อมีความบิดเบือน บิดเบี้ยวในเครื่องมือแล้ว ทุกอย่างก็จะบิดเบี้ยวไปหมด

ขอยกตัวอย่างในงานวิจัย สำรวจข้อมูลนี้ ที่หยิบมาจากสี่ตาราง แล้วนำมาเขียนใหม่ จากตัวเลขเดิมว่า ถามประชาชนที่เดือดร้อนจากการปิด-เปิดเขื่อน จำแนกตามเรื่องที่เดือนร้อน เช่น น้ำท่วม สิ่งแวดล้อม มากมาย พบว่าความกังวลว่ากุ้งและปลาจะลดลง มีจำนวนมากเป็นอันดับสองของเกือบทุกอัน มีอยู่เพียงอันเดียวเท่านั้นที่เป็นอันดับสาม และเมื่อหยิบเอาอาชีพหลัก โดยนำอาชีพประมงขึ้นมาเป็นหลัก เพราะเรารู้ว่าอาชีพประมงเป็นอาชีพหลักที่ได้รับผลกระทบ จะพบตัวเลขที่น่าสนใจ ว่าเมื่อดูจากจำนวนที่ให้เปิดตลอด ชาวประมงผู้ที่เดือดร้อน 49.2% ต่อมาเปิด 8 เดือน ความกังวลลดลง เหลือ 54.8% เปิดน้อยลงมาอีก ความกังวลสูงขึ้นเป็น 74.9% พอเปิดน้อยลงเหลือ 4 เดือน ความกังวลพุ่งขึ้นเป็น 79% แต่พอปิดตลอด ความกังวลลดลงเหลือ 45% ซึ่งตลกมาก ไม่อาจอธิบายได้ ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเลข อาจเป็นไปได้ว่าเลิกกังวลไปเลย คือเปลี่ยนอาชีพไปเลย กลับไปจนอย่างเดิม

สถิติตัวนี้ไปค้านกับงานวิจัยไทบ้าน ที่บอกเลยว่าก่อนสร้างเขื่อนมีปลา 265 ชนิด หลังจากสร้างเขื่อนเหลือ 43 ชนิดเท่านั้นเอง แต่พอเปิดเขื่อน 1 ปี ปลากลับมาถึง 156 ชนิด ความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์กลับคืนมา ซึ่งตรงข้ามกับงานสำรวจชิ้นนี้อย่างสิ้นเชิง งานสำรวจชิ้นนี้ไม่ได้ให้คำตอบอะไรเลย ที่เป็นตัวเลขที่สะท้อนให้เห็นถึงสำนักงานสถิติมากกว่าที่จะสะท้อนตัวแลขในความเป็นจริงของชาวบ้านที่คิดเห็นเกี่ยวกับปากมูล

ข้อสรุปและข้อคิดเห็นจากการที่ได้นั่งมองประวัติศาสตร์การสร้างเขื่อนในประเทศไทย ผมพบว่า มีความเกี่ยวข้องของกลุ่มชาติพันธุ์เป็นอย่างมาก และกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกี่ยวข้องมากที่สุด ซึ่งขอเรียกว่า "กลุ่มชาติพันธุ์นักการเมือง" ซึ่งจะเป็นตัวแทนกลุ่มโลกาภิวัฒน์สายพันธุ์ต่างๆ คือ กลุ่มสายพันธุ์โทรคมนาคม ที่เข้ามามีบทบาทครอบงำรัฐอยู่ทุกวันนี้

นอกจากนี้ยังมีสายพันธุ์ธุรกิจการเมือง และสายพันธุ์ธุรกิจส่งออก ซึ่งกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้บริโภคอิเลคตรอนและแก๊ส เป็นอาหาร คือสังเกตได้จากการเร่งผลิตอิเลคตรอนเพื่อสร้างกระแสไฟฟ้า และผลิตแก๊ส โดยไม่คำนึงว่าจะล้นประเทศ กลุ่มมนุษย์สายพันธุ์เหล่านี้ก็ยังจะเร่งให้มีการผลิตแม้ว่าจะล้นเกินสังคมอย่างไรก็ตาม และกลุ่มชาติพันธุ์ดังกล่าวนี้ ก็จะมีนายหน้าเป็นของต้วเอง

นายหน้าที่ผ่านมาคือ ปตท. การไฟฟ้าฝ่ายผลิต, กรมชลประทาน, เป็นต้น คือทำหน้าที่เป็นนายหน้ามาเสนอต่อสังคมว่าประเทศจะพัฒนาอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ต่อมานายหน้าเหล่านี้ทำงานไม่ค่อยได้ผลแล้ว คือ คนเริ่มไม่เชื่อ ดังนั้นเขาก็เปลี่ยนนายหน้าใหม่ ในวันที่ 20 ธันวา 2545 สำนักงานสถิติแห่งชาติได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นนายหน้าคนใหม่ และได้ทำหน้าที่นายหน้านั้นอย่างน่าสงสาร โดยทำหน้าที่ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้เชื่ออะไรเลย แต่มีคำตอบอยู่ในใจอยู่แล้วโดยตลอด เมื่อคนที่ควรจะเป็นนายหน้าคนหนึ่งคือ มหาวิทยาลัยอุบลฯ ที่เคยที่วิจัยมาก็ดันไม่ใช่นายหน้า อุตส่าห์จ้างตั้ง 10 กว่าล้าน ก็เลยหันกลับมาให้สำนักงานสถิติทำ ทั้งที่ไม่เคยทำมาก่อน ก็ลองๆดู

จึงอยากจะชี้ให้เห็นในที่นี้ว่า นโยบายโดยเฉพาะนโยบายพลังงานแห่งชาตินี้ ไม่เคยมีความเป็นประชาธิปไตยเลย เพราะมีนายหน้ามาทำหน้าที่แทนตลอด และน่าสังเกตว่าเมื่อคนเริ่มไม่เชื่อนายหน้าคนนี้แล้ว จะมีนายหน้าต่อไป หน้าตาเป็นอย่างไรออกมาอีก

ประเด็นสุดท้ายที่อยากจะตั้งคำถามให้กับสังคม คือ ความไม่มีตัวตนในประวัติศาสตร์ของนายกรัฐมนตรี หมายความว่า เมื่อมีนายกฯขึ้นมาใหม่ นายกฯจะทำราวกับว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลย ไปคุยกับชาวบ้าน บินไปดู เหมือนกับสมัยคุณชวน คุณทักษิณก็ทำเช่นนี้เหมือนกัน ที่ไปคุยกับชาวบ้าน นั่งเครื่องบินไปดู อะไรต่างๆ แต่พอมานั่งนึกๆดู นากยกฯคนนี้ เมื่อก่อนแกร่วมเป็นรัฐมนตรีมาตั้งหลายสมัย รองนายกฯ ด้วย แล้วตอนที่ท่านร่วมรัฐบาลอยู่นั้นท่านทำอะไรอยู่ ไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลยหรือ จึงตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ว่าเราลืมความเป็นตัวตนของนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเร็วเกินไป

ไพสิฐ : อาจารย์ชัชวาลก็ได้อธิยายความรู้ทางมนุษยวิทยาเกี่ยวกับชาติพันธุ์ใหม่ และอธิบายอัตลักษณ์ของมนุษยชาติพันธุ์นี้ว่าลืมอะไรค่อนข้างง่าย ดังนั้นใคร่ขอเชิญอาจารย์ฉลาดชายที่มีงานวิชาการทางด้านมนุษยวิทยามหลายสิบปี ช่วยกรุณามาให้ความเห็นในประเด็นต่อไป

ฉลาดชาย : จากงานวิจัยนี้ถูกทำขึ้นเพื่อจะได้นำมาอธิบายว่านายกรัฐมนตรีตัดสินใจจากกระบวนการศึกษาวิจัยที่เป็นระบบ ฉะนั้นงานชิ้นนี้เสร็จออกมาไม่ว่าจะมีระบบหรือไม่มีระบบ จะมีประเด็นหรือไม่มีประเด็นจึงไม่มีความสำคัญใดใดทั้งสิ้น เพราะเป็นเพียงข้ออ้างให้เขานำมาอ้างในสิ่งที่เขาได้ตัดสินใจไปแล้ว และในเรื่องเขื่อนปากมูล เขาได้ตัดสินในมายี่สิบสามสิบปีแล้ว ไม่ใช่ว่าจะเพิ่งมาตัดสินใจ

เมื่อจัดให้มีการพบกันที่ทำเนียบ การตัดสินใจนั้นทำขึ้นมานานแล้ว แต่เมื่อมีความเคลื่อนไหว ภาพของการตัดสินใจจึงชลอตัวมาเรื่อย ทั้งทีมีการตัดสินใจมาแล้วตั้งแต่ก่อนสร้าง เมื่อเขื่อนนี้สร้างเสร็จแล้ว การตัดสินใจก็เสร็จสิ้นลง ดังนั้นงานสำรวจที่สำนักงานสถิติได้ทำขึ้น จึงไม่มีความสำคัญแต่อย่างใดเลย ไม่ว่าในทางวิชาการ หรือเป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดความชอบธรรม

ดังนั้นงานชิ้นนี้จึงไม่มีความหมาย โยนทิ้งไปได้เลย ไม่มีคุณค่าที่จะมานั่งจับผิดมัน เพราะมันผิดมาโดยตลอด แล้วจะไปหาความถูกต้องในนั้นได้อย่างไร

แต่ประเด็นที่หนักหนาและลึกซึ้งไปกว่านั้น ที่ควรจะคิดกันคือ เรื่องเขื่อนปากมูลเป็นหนึ่งในหลายๆเรื่องที่เกิดขึ้นในตลอดระยะ 20-30 ปีที่ผ่านมา และจะดำเนินเช่นนี้ต่อไป คือ การพัฒนาประเทศในแนวทางเศรษฐกิจ ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจเช่นนี้ ซึ่งถูกใส่ในสังคมไทยตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไม่ได้หายไปไหน แต่จะยังอยู่และดำเนินต่อไปเรื่อยๆ

ลักษณะการพัฒนาเช่นนี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ครอบอยู่ทั่วโลก เมื่อพิจารณาดูในภูมิภาคนี้ ที่รวมเอาจีน เวียดนาม ลาว เขมร พม่า ไทย มาเลยเซีย ต่างๆ เข้าไปในหน่วยเดียวกัน ที่มุ่งเน้นการเปิดตลาดในเชิงทุนนิยม มุ่งเน้นการใช้ทรัยพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ทุกชนิดให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ในขณะที่เปิดตลาดแรงงานไปด้วย

ภาพเช่นนี้ เขื่อนปากมูลจึงเป็นชิ้นส่วนเล็กๆของการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงทั้งหมด

เมื่อเราหันกลับมามองว่าการพัฒนาลุ่มน้ำโขงเริ่มมาเมื่อไร คิดว่าไม่ต่ำว่าสามสิบปี ที่ธนาคารโลกและองค์กรทางการเงิน ร่วมกับรัฐบาลของประเทศต่างๆในโลกทุ่มเงินต่างๆเพื่อให้การศึกษาลุ่มแม่น้ำโขง และแม่น้ำโขงก็ถูกมองว่าเป็นแม่น้ำที่ต้องถูกพัฒนาไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทางคมนาคม พลังงาน การชลประทาน หรือการเกษตรกรรม

เมื่อพิจารณาเช่นนี้ จะพบว่า แม่น้ำโขงจะมีโครงการพัฒนาตลอดมา รวมถึงแม่น้ำสาขา เช่น ในลาวก็มีโครงการเขื่อนน้ำงืม เขื่อนน้ำเทิน ต่างๆ เกิดขึ้นมามากมายภายใต้โครงการของแม่น้ำโขง ของไทยก็มีโครงการย่อยๆ เช่น เขื่อนปากมูล โครงการเขื่อนแม่น้ำสงคราม ซึ่งลงมือสร้างไปแล้ว หากเราติดใจเรื่องการสร้างเขื่อนปากมูล ก็ต้องเตรียมตัวไว้ด้วยว่า อีกหน่อยก็ต้องคอยไปดูเรื่องการสร้างเขื่อนแม่น้ำสงคราม ยิ่งไปกว่านั้น โครงการโขง ชี มูล ที่จะต้องมีโครงการย่อยๆอยู่ในนั้น ก็ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้น ยังไม่พอ เราหันไปดูแม่น้ำโขง จะยังมีอีกโครงการใหญ่ คือ โขง กก อิง น่าน ที่มีโครงการสร้างเขื่อนอีกยี่สิบสามสิบเขื่อน ที่จะผันน้ำจากเขื่อนแก่งเสือเต้น ผันไปสู่เชื่อนสิริกิต แล้วผันไปลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ทางแม่น้ำน่าน ดังนั้นภาพของเขื่อนปากมูลจึงไม่ควรถูกมองเฉพาะจุดของเขื่อนปากมูลเพียงที่เดียว ไม่เช่นนั้นเราจะถูกชักนำให้หลงทาง เหมือนกับงานสำรวจของสำนักงานสถิติที่ดึงให้เรื่องที่ใหญ่มากนี้ เหลือเพียงกลุ่มแคบๆของคนเพียงสามอำเภอเพียงเท่านี้ ทั้งที่ผลกระทบในการสร้างเขื่อนเป็นผลกระทบต่อคนทั้งประเทศ ทำให้ภาพของเขื่อนปากมูลนี้เหลือเพียงคนสามอำเภอนี้ต้องการเขื่อน เราก็ต้องเอาเขื่อน

อีกกลุ่มหนึ่งที่จะเกิดขึ้นอีกคือกลุ่มของแม่น้ำสาละวิน ทั้งที่พม่า รัฐฉานและในประเทศไทย จะมีแม่น้ำสายเล็กๆที่จะอยู่ในข่ายของโครงการเขื่อนนี้ เช่นแม่น้ำเงา และแม่น้ำในจังหวัดแม่ฮ่องสอน

โครงการที่กล่าวมาทั้งหมดมีโครงการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือแม้แต่การผลิตเพื่อการชลประทาน ทุกโครงการมีการผลิตเช่นนี้ น่าคิดว่าหากเรานำกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากทุกเขื่อน เราจะสามารถส่งกระแสไฟฟ้าไปขายได้หรือไม่ เพราะประเทศไทยจะล้นไปด้วยกระแสไฟฟ้า ดังนั้นเราจึงต้องคิดดูว่าโครงการต่างๆจะรวมภาพทั้งหมดนี้ เมื่อไฟฟ้าล้นขนาดนี้ แล้วเราจะผลิตไปทำไมจำนวนมากมายขนาดนั้น หรือปริมาณน้ำจากเขื่อนที่กักเก็บเอาไว้มากมายขนาดนั้น

เมื่อไม่มีความจำเป็นในการผลิตกระแสไฟฟ้าหรือชลประทาน ผลที่ออกมาจึงเป็นการสร้างเขื่อนเพื่อการสร้างเขื่อน เพราะจะเกิดการแบ่งเค็กกัน ดังนั้นโครงการต่างๆของรัฐ ในภาพรวมๆ ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม นโยบายที่ว่าคิดใหม่ทำใหม่ จึงไม่ได้ใหม่แต่อย่างใด

แผนการต่างๆของรัฐเหล่านี้ พวกเราจึงจำเป็นที่จะต้องรื้อออกมาเพื่อวิเคราะห์ดู ซึ่งเราจะพบว่ามีแง่คิดต่างๆแฝงอยู่ในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ เกณฑ์ต่างๆนี้ มีอยู่ 3 เกณฑ์

ประการแรกได้แก่ เกณฑ์การพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเกณฑ์เก่าซึ่งพวกเรามักจะไม่เห็นด้วย
ประการที่สอง เกณฑ์ของคุณทักษิณที่ว่าคิดใหม่ทำใหม่ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร และ
ประการสุดท้าย คือการวิเคราะห์การพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นบทเรียนของการเรียนรู้จากการพัฒนาของทั้งโลก ที่มีความกังวลว่าการพัฒนานี้มีการใช้ทรัพยากรอย่างเสื่อมโทรมและแตกสลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ ที่ถูกเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล

ความกังวลนี้ตรงกับความกังวลของพวกเราซึ่งก็ไม่ต่างจากความกังวลของชาวบ้านที่ปากมูล ที่บ่อนอก-บ้านกรูด หรือที่จะนะ ไม่จำกัดเฉพาะที่ทำมาหากินของเขา แต่ยังขยายไปยังความห่วงใยธรรมชาติที่เมื่อสูญเสียไปแล้วจะไม่มีวันหวลกลับมาได้อีก หรือที่เรียกว่าความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์และความหลากหลายทางชีวภาพไปตลอดกาล ประเด็นความคิดอย่างหลังนี้ไม่ได้ถูกนำมาบรรจุไว้ในนโยบายคิดใหม่ทำใหม่, ในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเดิม, หรือในที่ไหนๆเลย

และเรื่องที่เรากังวลเกี่ยวกับความเป็นธรรมในการพัฒนา หรือความเป็นธรรมในการจัดการทรัพยากร หรือปัญหาความเป็นธรรมในการบริหารจัดการประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นเกณฑ์ที่ต้องนำมาพิจารณาในทุกโครงการว่ามีความเป็นธรรมอยู่หรือไม่ ดังนั้นจึงอย่าไปดูหยาบๆเกี่ยวกับประเด็นประชาธิปไตย ที่มักนำมาอ้างกันว่า คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์ แล้วเป็นสิ่งที่ดี นั่นไม่ใช่เครื่องประกันถึงความเป็นธรรม

สิ่งที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับความเป็นธรรมอยู่ที่เมื่อคนส่วนน้อยต้องสูญเสีย และถูกรังแก แล้วผลประโยชน์ของเขาได้รับการดูแลและรักษาหรือไม่ การอ้างผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่แล้วตัดประโยชน์ของคนส่วนน้อย จึงไม่ใช่หัวใจของการบริหารจัดการประเทศแบบประชาธิปไตย ที่ต้องเคารพคนส่วนใหญ่ ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงคนส่วนน้อยด้วย

เกณฑ์ที่สามคือ เมื่อเรามองความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ของการพัฒนาอย่างเป็นธรรมด้วย ทำอย่างไรการพัฒนาของรัฐจึงจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรมด้วย เมื่อพิจารณาแนวทางการบริหารประเทศตามแนวทางของคุณทักษิณแล้วนั้น พบว่า ไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นธรรมแต่อย่างใด ดูจากกรณีหลังนี้ เขาได้ทำลายกลไกที่สำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่นำมาใช้เป็นกลไกในการจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี

ในระบอบประชาธิปไตยจะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นแน่นอน ระบอบประชาธิปไตยจะต้องเป็นระบอบที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ในทางผลประโยชน์ ความแตกต่างในทางความคิด และอื่นๆ ดังนั้นเป็นธรรมดาที่จะเกิดความขัดแย้ง แต่ในระบบประชาธิปไตยเองจะต้องมีระบบการจัดการกับความขัดแย้งนั้นอย่างสันติวิธี

กลไกในการใช้สันติวิธี เช่น ประชาพิจารณ์ แต่เราพบว่าประชาพิจารณ์ที่ถูกนำมาใช้ในสองสามปีหลังนี้ เป็นประชาพิจารณ์ที่รวบยอด จัดฉาก ที่มีการตัดสินใจเกิดขึ้นแล้ว เพียงแต่ทำประชาพิจารณ์เพื่อบอกให้รับรู้ว่ามีการตัดสินใจดำเนินโครงการต่างๆไปแล้ว หรือเราลงมือทำไปแล้วนะ ขอให้คุณมารับทราบก็แล้วกัน

สิ่งต่างๆพวกนี้ได้ทำลายกลไกที่จะแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติวิธี รวมทั้งสิ่งที่คุณทักษิณทำล่าสุดไม่ว่าจะเป็นที่ปากมูลหรือที่หาดใหญ่ก็ตาม ได้บอกให้สังคมรู้ว่าเขาได้ทำลายหรือปิดทางอย่างสิ้นเชิงที่สังคมจะใช้วิธีการเจรจาอย่างสันติวิธี ไม่ว่าจะเป็นการใช้กำลังตำรวจ หรือการใช้กำลังทางวิชาการของข้อมูลที่บิดเบือน นำไปสู่ผลอย่างเดียวกัน

การกระทำเหล่านี้เป็นการต้อนให้คนทีมีความเห็นแตกต่างนี้ไม่มีทางออกอย่างสันติ นำไปสู่การแก้ปัญหาโดยใช้ความรุนแรง บังคับให้เขาเป็นผู้ร้าย บังคับให้ต้องสำแดงพลัง บังคับให้ต้องเดินขบวน แสดงออกซึ่งความก้าวร้าว ทำให้สังคมมึนชาต่อการแสดงออก และทำให้สังคมมองว่าผู้ที่แสดงความขัดแย้งนั้นเป็นศัตรูของสังคม ซึ่งผมเห็นว่าเป็นอันตรายอย่างมหาศาล ยิ่งกว่าอะไรทั้งสิ้น เป็นการบ่อนทำลายประชาธิปไตย เป็นการบ่อนทำลายสันติภาพ เป็นการบ่อนทำลายสันติวิธี ทำลายความเป็นมนุษย์ ทำลายประชาสังคม(Civil Society)

นอกจากนี้ คุณทักษิณยังได้ออกมาจองเวร เข่นฆ่า NGOs ซึ่งอันนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าเขาต้องการปิดทางออกของสันติวิธี ปิดทางออกอย่างใช้เหตุใช้ผล แล้วต้อนให้คนเหล่านั้นอยู่ในมุมอับ การออกมาบริภาษนักวิชาการเป็นอีก เป็นสัญญาณที่บอกว่าเขากำลังทำลายประชาธิปไตยที่คนทุกคนสามารถแสดงออกซึ่งความเห็น ความคิดในเชิงคัดค้าน ภาพนี้จึงเป็นสัญญาณที่น่ากลัวมากๆ ซึ่งสื่อมวลชนได้ชี้ให้เห็นว่ามันจะนำไปสู่เผด็จการในคราบของประชาธิปไตย โดยผ่านทางรัฐสภา เผด็จการที่อ้างความชอบธรรมจากการเลือกตั้ง เมื่อดูจากแนวโน้มของการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ จึงเป็นการแสดงถึงการใช้คำว่าประชาธิปไตยมาทำลายประชาธิปไตย

ไพสิฐ : ขอเปิดประเด็นสู่วงเสวนา

ฉลาดชาย : เมื่อดูจากรายงานของมหาวิทยาลัยอุบล แล้วน่าเสียดายที่ถูกละเลย เพราะเป็นการมองภาพกว้างของการใช้พลังงานโดยรวม ในการใช้พลังงานไฟฟ้าของทั้งประเทศ และชี้ให้เห็นว่าเขื่อนปากมูลไม่ได้มีความหมายอะไรเลยกับการผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ นอกจากนั้นยังมีการมองถึงนิเวศน์วิทยาและเรื่องวิถีชีวิต แต่กลับมาใช้การสำรวจของสำนักงานสถิติซึ่งหยาบมากๆ ไม่มีทั้งความกว้างความลึกใดๆทั้งสิ้น ฉะนั้นการที่นายกฯมาอ้างรายงานชิ้นนี้เป็นเครื่องช่วยในการตัดสินใจ จึงสะท้อนสติปัญญาในการตัดสินใจของนายกฯ ว่า"สติปัญญาแคบมาก"หรือ"ไม่มีสติปัญญาเลย" เพียงแค่จัดฉากขึ้นมาเพื่อจะบอกกับสังคมว่าเขาจะตัดสินใจอย่างนี้

ไพสิฐ : ขอขอบคุณท่านวิทยากรทุกท่าน และขอส่งเวทีให้แก่รายการช่วงต่อไปครับ

 

ผู้สนใจอ่านงานเสวนาช่วงต่อไป เรื่อง
"ความรู้ที่ขาดหายไปในกระบวนการตัดสินในของรัฐ กรณีเขื่อนปากมูล"
กรุณาคลิกไปอ่านได้จากที่นี่

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

 

สถานที่เสวนา ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันพุธที่ 22 มกราคม 2546 ระหว่างเวลา 09.30 - 12.30 น. จัดโดย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จ.เชียงใหม่
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรมสำหรับสังคมไทย