มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

 

 

Postmodernism and Politics
บทความแปล-มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ภาพประกอบดัดแปลง จากหนังสือออกแบบของ Philippe Starck ชื่อหนังสือ Starck จากภาพ Hot Betarr 1990-1991ภาพ portrait ชื่อ Vertigo 1996 และภาพ portrait
นำมาจาก website โฆษณาของ Yahoo mail นำมาสังเคราะห์ในภาพเดียวกัน
R
random
release date
010346

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 243
ลัทธิหลังสมัยใหม่และพื้นที่ทางการเมือง
Postmodernism and Politics

Iain Hamilton Grant

เรียบเรียงโดย สมเกียรติ ตั้งนโม

(ความยาวประมาณ 21 หน้ากระดาษ A4)

จากต้นฉบับหนังสือ (หน้า 28-40)
Critical Dictionary of Postmodern Thought : Edited by Stuart Sim, Routedge, New York, 1999.

บทนำ
นับตั้งแต่ลัทธิหลังสมัยใหม่(postmodernism)ได้ปรากฎตัวขึ้นมาบนแผงลอยหนังสือพิมพ์, นิตยสารรายสัปดาห์, และรายเดือนต่างๆ, ผู้คนก็ได้มีการถามถึงกันอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์กันระหว่าง"ลัทธิหลังสมัยใหม่"กับ"เรื่องทางการเมือง"

ดังที่มันเป็นไป ลัทธิพหุนิยม(Pluralism)และการสรรเสริญที่เพ้อกันไปเกี่ยวกับ"ความแตกต่าง"(difference) รวมไปถึงเรื่องความจริง(reality) ตามทัศนะของ Jean Baudrillard - และคนอื่นๆอีกมาก - คนเหล่านี้เปรียบเสมือน"พระชั้นสูงของลัทธิหลังสมัยใหม่" พวกเขาได้กล่าวออกมาในทำนองว่า "ไม่มีอะไรอย่างที่มันเคยเป็นอีกแล้ว" คำถามก็คือว่า ยังจะมีเรื่องราวอะไรที่คงเหลืออยู่สำหรับการเมือง ซึ่งจำเป็นต่อการเผชิญหน้ากับความอยุติธรรมที่โจ่งแจ้งและแผ่ซ่านไปทั่ว ซึ่งยังจะมีอยู่ในโลกหลังสมัยใหม่ของพวกเรา ?

แน่นอน ความหวังต่างๆเกี่ยวกับการจัดการเรื่องราวที่มีอยู่อย่างมากมายในยุคสมัยของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ"ลัทธิเผ่าพันธุ์"(racism)แต่ละท้องถิ่น, ความน่าหวาดหวั่นเกี่ยวกับความสลับซับซ้อนซึ่งมากับอุตสาหกรรมบันเทิงที่รุนแรงแบบทหาร, แรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่เด่นชัด, คอนโซลคาวบอย(console-cowboy)ที่ใช้ในการขจัดเป้าหมายด้วยอาวุธทำร้ายล้างอันรุนแรงและเกินความจำเป็นของสงครามอ่าวเปอร์เชีย(Gulf War), ความวุ่นวายและการก่อกวนทางการเมืองและศาสนา หรือรถถังจีนที่บดขยี้ไปบนเรือนร่างของผู้ประท้วงของเหล่านักศึกษา ที่ได้กระทำขึ้นมาต่อหน้าต่อตากับขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ทั้งหมดที่ผ่านมาดูเหมือนว่า มันไม่ได้มีการนำเสนอทางเลือกใหม่ใดๆขึ้นมาเลย" เช่นดั่งที่ลัทธิหลังสมัยใหม่เคยได้ประกาศถอดถอนอุดมคติต่างๆของยุคสมัยใหม่เกี่ยวกับ สิทธิ, เสรีภาพ, และความเสมอภาคที่เป็นสากล.

ที่กล่าวมานี้ทั้งหมด ดูประหนึ่งว่า "ลัทธิหลังสมัยใหม่" แทบไม่ได้มีการกระทำใดๆเลยให้ปรากฎออกมาอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเสนอวิธีการเกี่ยวกับการแก้ปัญหาข้างต้นแก่พวกเราอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน

การเมืองหลังสมัยใหม่
ในหลายๆทาง "การเมืองหลังสมัยใหม่"(postmodern politics) เป็นปัญหาที่ออกจะประหลาดสักหน่อยต่อประวัติศาสตร์ของลัทธิหลังสมัยใหม่ในโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษ ที่ซึ่งสำหรับศัพท์คำนี้ มันปรากฏตัวขึ้นมาครั้งแรกในโลกของศิลปะและสถาปัตยกรรม ต่อมาเมื่อลัทธิหลังสมัยใหม่ได้มาถึงการวิพากษ์ของมวลชน มันจึงกลายเป็นความสนใจในเชิงวิชาการอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเส้นทางของมันต่อจากนั้น ก็ได้เปลี่ยนแปลงจากศิลปะต่างๆไปสู่เรื่องทางการเมืองและปรัชญา จากบางสิ่งบางอย่างซึ่งรู้จักกันอย่างคร่าวๆไม่ชัดเจนนักในฐานะ"ทฤษฎีหลังสมัยใหม่" มาถึงตอนนี้มันได้เริ่มพัฒนาขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยอันหลากหลายของลัทธิหลังสมัยใหม่ในเชิงทฤษฎีที่ได้พัฒนามา ถูกทำให้เกิดขึ้นในลักษณะที่จะเกือบจะเป็นการเฉพาะ นั่นคือ ชิ้นส่วนทางความคิดส่วนใหญ่ของลัทธินี้เป็นของบรรดานักคิดและ"นักปรัชญาฝรั่งเศส"

ในบางขอบเขต มันเป็นผลเนื่องมาจากการครุ่นคิดและการคาดการณ์อันนี้ การค้าเสรี และในทฤษฎีต่างๆที่แยกไปจากบริบททางประวัติศาสตร์ รวมถึงบริบททางปรัชญาและการเมือง ที่มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการเมืองหลังสมัยใหม่ ซึ่งปรากฎว่ามันมีการเปิดกว้างมากขึ้น และด้วยเหตุดังนั้น มันจึงเป็นเจ้าภาพเกี่ยวกับการโต้เถียงกันมาตามลำดับอย่างไม่มีสิ้นสุด

โดยเหตุนี้ คำถามสองคำถามซึ่งอาจบอกอะไรกับเราได้ จึงควรถูกหยิบหยิบยกขึ้นมาถามก่อนในช่วงต้นนี้ก็คือ

คำถามแรก, มันมีผลกระทบอะไรบ้าง ที่ลัทธิหลังสมัยใหม่มีต่อเรื่องทางการเมือง ในสิ่งซึ่ง Richard Rorty เรียกว่าชุมชนคนชั้นกลางแอตแลนติคเหนือ ? และ
คำถามที่สอง, อะไรคือการเมือง ที่ถูกให้ข้อมูลทางปรัชญาซึ่งนำเข้ามาจากฝรั่งเศส สู่ชุมชนของพวกเราในวิธีการนำเสนอของทฤษฎีหลังสมัยใหม่ ?

คำตอบต่อคำถามเหล่านี้ถูกนำไปเชื่อมโยงผ่านคนๆหนึ่งที่สำคัญ (ซึ่งอันที่จริงคนสำคัญที่ได้พูดถึงลัทธิหลังสมัยใหม่โดยตรงนั้น มีอยู่เพียงไม่กี่คน) ของนักปรัชญาภาคพื้นทวีป. ดูเหมือนว่าเรื่อง The Postmodern Condition ของ Jean-Francois Lyotard จะอุบัติขึ้นในท่ามกลางการสนทนากันทุกครั้งเกี่ยวกับทุกๆแง่มุมของข้อถกเถียงเหล่านี้ ด้วยการทำให้มันง่ายลงมาอย่างที่สุดในเรื่อง"การยอมรับเกี่ยวกับตัวตน"(self-confessed) ซึ่งได้ถูกทึกทักในฐานะที่เป็นอัตลักษณ์ที่สมบูรณ์โดยถือว่ามันเป็นลัทธิหลังสมัยใหม่

และหนังสือเล่มนี้ได้กลายมาเป็นประวัติศาสตร์และเรื่องราวทางการเมืองทั้งหมดอันหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ได้รับการผลิตซ้ำหรือสำเนาขึ้นมาโดยบรรดานักทฤษฎียูโรเปียนทั้งมวล ที่ได้เตรียมการหรือจัดหาทรัพยากรต่างๆให้กับทฤษฎีหลังสมัยใหม่

แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่เราจะพูดถึงประวัติความเป็นมาอันนี้โดยตรง มันมีความจำเป็นที่จะต้องให้เครดิตหรือความเชื่อถือบางอย่างซึ่งเกี่ยวพันกับตำราของ Lyotard โดยพิจารณาถึงประเด็นอันหลากหลายหลักๆที่แนบอยู่กับปฏิกริยาในเชิงวิพากษ์ที่มีต่อลัทธิหลังสมัยใหม่บางประการ. ขณะเดียวกัน อันนี้อาจดูเหมือนเป็นการตีวงจำกัดหรือคับแคบจนเกินไป ต่อลำดับการที่สมบูรณ์ของงานเขียนที่มีต่อเรื่องราวเกี่ยวกับการเมืองหลังสมัยใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม มันจะทำให้เราบรรลุถึงแกนหลักต่างๆมากขึ้นเกี่ยวกับข้อถกเถียงที่สำคัญในพื้นที่อันนี้ได้

The Postmodern Condition & Grand narratives
ท่ามกลาง"การทำให้ง่ายลงอย่างมาก"ของ The Postmodern Condition ที่เสนอออกมา, มีสิ่งหนึ่งซึ่งบางทีมันจะเป็นผลกระทบที่สำคัญยิ่งกับสถานะดังกล่าว และ Lyotard เรียกมันว่า"meta narrative"หรือ"grand narratives"(วาทกรรมหลัก)

ในขณะที่วาทกรรมหลักในยุคสมัยใหม่ อย่างเช่น วาทกรรม the Enlightenment เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ"ความก้าวหน้าอันไม่มีสิ้นสุดของความรู้" และ"เสรีภาพ", หรือวาทกรรมของ Marxist เกี่ยวกับ"ความรุดหน้าในการปลดปล่อยมนุษย์ผู้ใช้แรงงาน ให้เป็นอิสระจากโซ่ตรวนที่มายัดเยียดให้กับพวกเขาโดยทุนนิยมอุตสาหกรรม" วาทกรรมเหล่านี้ได้แสดงบทบาทเด่นชัด เสมือนเป็น"สมอหลัก"ของความรู้และทางการเมืองในยุคสมัยใหม่

แต่อย่างไรก็ตาม ยุคหลังสมัยใหม่กลับปรากฎว่า เป็นยุคที่ได้รับผลสืบเนื่องมาจากวิกฤตของความมั่นใจในสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างมาก

เหตุผลอันหนึ่งสำหรับวิกฤตการณ์อันนี้คือ การเกิดขึ้นมาของ"ปรัชญาเชิงวิพากษ์" ซึ่งเริ่มต้นด้วยการวิพากษ์เกี่ยวกับ "Enlightenment" หรือ"ยุคสว่าง" อันเป็นไปในลักษณะเหน็บแนมประชดประชัน

ขณะที่ Kant ซึ่งเป็นคนริเริ่ม"ปรัชญาเชิงวิพากษ์"ในช่วงสิ้นสุดของคริสตศตวรรษที่ 18 โดยมีเจตนาที่จะเพิ่มเติมเหตุผลให้กับมนุษย์ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการปกครองดูแลตนเอง, มากกว่าที่จะให้มนุษย์นำความเชื่อของพวกเขาหรือปรากฎการณ์อันไม่เป็นที่รู้จัก ไปวางเอาไว้กับห้วงหัตถ์ของพระผู้เป็นเจ้าต่างๆเป็นผู้ตัดสิน. Kant เสนอให้"เหตุผล"คอยทำหน้าที่ควบคุมตัวของมันเองด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อที่จะรู้และเข้าใจข้อจำกัดต่างๆของตัวมัน

อย่างไรก็ตาม ในช่วงสิ้นสุดคริสตศตวรรษที่ 19 การวิพากษ์ได้มุ่งตรงไปสู่ชัยชนะที่ได้มาด้วยความยากลำบากของยุค Enlightenment โดยตรง, ด้วยการที่ Nietzsche ได้ประกาศออกมาอย่างชัดแจ้งว่า "พระเจ้าตายแล้ว"(God is dead), และเขายังได้กล่าวต่อไปว่า "ความจริง, ศีลธรรม, และความรู้, ตัวของมันเองเป็นเพียงมายาการเท่านั้น"

Marx ด้วยเช่นกันที่ได้เคลื่อนคล้อยและถอนตัวจากคฤหาสน์ Enlightenment เขาให้เหตุผลว่า "การเมืองของยุคสว่างได้เพ่งความเอาใจใส่ในอุดมคติเกี่ยวกับความก้าวหน้า โดยการต้องยินยอมจ่ายอิสรภาพของมนุษย์ไป เพื่อแลกเปลี่ยนกับความก้าวหน้าในทางวัตถุที่ได้มา และนั่นคือลัทธิอุดมการณ์ของยุคนี้ ซึ่งค่อนข้างจะเป็นเรื่องที่ผิดพลาดอันหนึ่ง, มันเป็นภาพสะท้อนที่สลับซับซ้อนเกี่ยวกับอุดมคติต่างๆของชนชั้นปกครอง"

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างปลายคริสตศตวรรษที่ 20, ลัทธิมาร์กซ์เองไม่เพียงไม่นำมาซึ่งอิสรภาพดังที่มันให้คำมั่นสัญญาเท่านั้น แต่มันกลับผลิตความวิปริตผิดปกติขึ้นมาชุดหนึ่ง อย่างเช่น การบดขยี้ประชาชนที่ประท้วงต่อต้านการปกครองของโซเวียดใน Budapest ในปี ค.ศ.1956 และความน่าสยดสยองนองเลือดของคุกต่างๆในค่ายกักกันนักโทษทางการเมืองสมัยสตาลิน(Stalin's gulags)

ความขัดแย้งและความเห็นต่างได้ดำเนินต่อไประหว่างวาทกรรมทั้งหลาย ดังนั้น จึงทำให้มันทั้งหมดอ่อนแอลง และโดยเหตุนี้ พอมาถึงช่วงสิ้นสุดของคริสตศตวรรษที่ 20 ดูเหมือนว่าจะไม่มีการเสนอตัวของวาทกรรมใดๆที่เข้ามารับหน้าที่ต่อจากพวกมัน ในการเข้ามาผูกความรู้และการกระทำของเราทั้งหมดเอาไว้ด้วยกันให้เป็นแบบแผนเชิงประวัติศาสตร์ ที่มีความสอดรับหรือประสานกันบางอย่าง. ดังนั้น ทั้งหมดที่เหลืออยู่ต่อมาก็คือ ขอบเขตอันหนึ่งซึ่งชิ้นส่วนต่างๆทางความคิดได้ถูกทิ้งไว้ให้แข่งขันกันเอง และแข่งขันกับคู่แข่งใหม่ๆ

สังคมหลังอุตสาหกรรม ลัทธิทุนนิยมบวกเทคโนโลยี
แต่อย่างไรก็ตาม ขอบเขตต่างๆข้างต้นได้ถูกควบคุมโดยพันธมิตรใหม่อันหนึ่ง ระหว่าง"เทคโนโลยี"และ"ลัทธิทุนนิยม", ซึ่งได้สถาปนาสิ่งที่นักทฤษฎีบางคนได้ให้ฉายาว่า"สังคมหลังอุตสาหกรรม"(post-industrial society) แต่อะไรคือเรื่องราวที่สำคัญ ที่ลัทธิทุนนิยมได้แถลงเอาไว้ ?

ในทางตรงข้ามกับข้อเท็จจริงกับสิ่งที่มันเคยพูดถึงและเล่าลือในยุคสว่าง(Enlightenment)เกี่ยวกับ"เสรีภาพที่เพิ่มขึ้น" พอมาถึงยุคหลังอุตสาหกรรม "เสรีภาพที่เพิ่มขึ้น"ซึ่งได้ให้หลักประกันหรือคำรับรองที่เยี่ยมยอดที่สุดในยุคสว่าง ได้กลับกลายเป็น"ตลาดเสรี"โดยลัทธิทุนนิยม ซึ่งทางเลือกสูงสุดและต่ำสุดได้เข้ามาแทรกแซงในความเป็นอยู่และอาชีพของปัจเจกบุคคล ภายใต้การเป็นพันธมิตรกับเทคโนโลยี

ยกตัวอย่างเช่น ประสิทธิภาพที่บรรลุถึงของปฏิบัติการทางด้านคอมพิวเตอร์ได้เห็นพ้องต้องกันกับการขับเคลื่อนเรื่องผลกำไร ดังนั้น เรื่องของรายได้จำนวนมากที่เข้ามา รายจ่ายจำนวนน้อยที่ออกไป จึงกลายเป็นกฎเพียงประการเดียวที่มาควบคุมตลาดการค้า และควบคุมความเกี่ยวพันทางสังคมและการเมืองเช่นเดียวกัน

ยิ่งไปกว่านั้น ในฐานะที่เป็นกฎอันหนึ่ง มันจึงเป็นเหตุเป็นผลในตัวของมันเอง: กล่าวคือ เมื่อกำไรได้ถูกสร้างขึ้นมา มันหมายถึงการบรรลุถึงประสิทธิภาพ, กฎดังกล่าวถือว่า"มีเหตุผล". มีการตัดความดึงดูดใจของคำบรรยายหรือวาทกรรมหลักให้สั้นลงจนเหลือเพียง"ความถูกต้อง"เท่านั้น

อันที่จริงอีกด้านหนึ่งของเหรียญอันนี้ก็คือ รัฐบาลและคณะกรรมการที่วางกฎระเบียบต่างๆได้ถูกทำให้เข้าใจผิดคิดว่า พวกเขาสามารถควบคุมขบวนการอิสระต่างๆของทุนข้ามชาติและทุนไร้พรมแดนได้ โดยการกำหนดบทลงโทษขึ้นมา. รัฐบาลต่างๆและนโยบายทางเศรษฐกิจของหลายๆประเทศ ไม่ได้ให้ข้อมูลหรือบอกกับเรา(ซึ่งอันที่จริงพวกเขาอาจไม่รู้ก็ได้)ถึงผลกระทบที่เป็นกระบวนการเคลื่อนไหวของเงินตราที่กำลังเป็นอยู่จริง: ขอให้ลองมาพิจารณากันถึงเสียงร้องคร่ำครวญที่ออกจะดูเขลาๆของรัฐบาลอังกฤษในช่วงระหว่าง"วันพุธทมิฬ"(Black Wednesday) และการพันตูกันเมื่อเร็วๆนี้ในทีอื่นๆเกี่ยวกับการเก็งกำไรค่าเงินระหว่างประเทศ

ขณะเดียวกันคำว่า"ลัทธิทุนนิยมตอนปลาย"(late capitalism) [คำนี้เป็นวลีของนักทฤษฎีการเมือง Ernest Mandel ที่ได้นำมาใช้ และถูกทำให้เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายโดย Fredric Jameson ซึ่งถือว่าเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งของสังคมหลังสมัยใหม่ และสังคมยุคหลังอุตสาหกรรม ดังที่ได้รับการบันทึกเอาไว้โดยนักวิจารณ์และนักทฤษฎีจำนวนมาก], คำนี้ก็ได้มีการเสนออยู่ในงานเขียนของ Lyotard ด้วยเช่นกัน แต่บ่อยครั้งมันได้ถูกมองข้ามไป

ดังที่เราจะได้เห็นกันต่อไปในบทความชิ้นนี้ ซึ่งจะได้ชี้ให้เห็นถึงเส้นทางวิวัฒนาการที่ต่างไปสำหรับลัทธิหลังสมัยใหม่ มากยิ่งกว่าที่มันได้รับการทึกทักอยู่บ่อยๆโดยผู้ที่สรรเสริญเกี่ยวกับ"ความแตกต่างหลังสมัยใหม่": นั่นคือ เงื่อนไขหรือสภาพการณ์หลังสมัยใหม่เป็นเรื่องเล่าเชิงประวัติศาสตร์อันหนึ่งเกี่ยวกับการอยู่รอดของวาทกรรมหรือคำบรรยายที่เหมาะสมที่สุด(the survial of the fittest-narrative)

เมื่อย้อนกลับไปสู่สาระของวาทกรรมจะเห็นว่า, ในความขัดแย้งของวาทกรรมเหล่านั้น, ไม่มีวาทกรรมใดโดดๆที่มีอิทธิพลมากพอที่จะมารัดดึงคำบรรยาย(วาทกรรม)ต่างๆเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน (แต่ในท้ายที่สุด ดูเหมือนว่าลัทธิทุนนิยมจะเป็นผู้มีชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด) และวาทกรรมหรือคำบรรยายเหล่านี้ได้รับการเล่าขานกันต่อๆมาโดยกลุ่มคนต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีวัฒนธรรมใด, ประวัติศาสตร์, ปรัชญา, หรือการเมืองใดที่มีลักษณะโดดเด่นเหนือกว่าเรื่องอื่นๆ

อะไรคือเอกภาพของการเมืองหลังสมัยใหม่ ?
ในขอบเขตนี้โดยความเห็นชอบร่วมกัน การเมืองหลังสมัยใหม่ได้ค้นพบตัวของมันเอง กล่าวคือที่ที่มันมีความเป็นเอกภาพ, จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันดังที่เรื่องราวของมันเป็นไป มันเป็นเพียงเรื่องของ"ความแตกต่าง"(difference)เท่านั้น

กับการที่ครั้งหนึ่งเจตจำนงทางการเมืองของผู้คน, ชาติหรือวัฒนธรรมหนึ่งวัฒนธรรมใดซึ่งเคยได้รับการควบคุมเพื่อเป้าหมายทั่วไปในระยะยาว แต่มาถึงตอนนี้ กลุ่มก้อนต่างๆก็ได้แตกออกจากกันเป็นส่วนๆ ซึ่งได้เข้าไปพัวพันอยู่กับการต่อสู้ดิ้นรนในชั่วระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา

การแผ่ขยายของการเมืองเรื่องเอกลักษณ์ที่มีอยู่ทั่วไปในช่วงยี่สิบปีหลังมานี้ เป็นพยานหลักฐานต่อเรื่องข้างต้นได้เป็นอย่างดี ด้วยการเน้นย้ำของมันในเรื่องความเป็นชนกลุ่มน้อย, ชนชั้น, เพศ, และความเชื่อทางการเมืองที่เป็นตัวแทนลักษณะทางเพศ

บรรดาผู้ให้การสนับสนุนเรื่องราวทั้งหลายเหล่านี้ต่างยอมรับ และให้การยกย่องสรรเสริญเกี่ยวกับ"ความแตกต่าง" ระหว่างกลุ่มก้อนที่หลากหลายและเอกลักษณ์ และยังยินยอมให้กับการเมืองรูปแบบใหม่อันหนึ่งได้พัฒนาสิ่งซึ่งครั้งหนึ่งไม่เป็นที่ต้องการขึ้นมา, มันเป็นเรื่องของอุดมคติต่างๆเกี่ยวกับ"เจตจำนงทั่วไป"ของผู้คน, หรืออุดมคติทางการเมืองเกี่ยวกับการปฏิวัติวัฒนธรรม, และเป็นการเอาชนะหรือพิชิตผลประโยชน์ต่างๆที่มีอยู่ของสมาชิกของมัน ที่นำไปสู่ความเชื่อหรือหลักปฏิบัติที่เป็นมาแต่เดิม(orthodoxy)อันหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้ พันธมิตรทางการเมืองกลุ่มเล็กๆจึงได้ปรากฎตัวขึ้นมาอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งยังคงสนใจต่อความแตกต่างระหว่างกลุ่มต่างๆที่มาประกอบกันของพวกเขา. ดังนั้น บรรดาผู้นิยม Marxists, ผู้นิยม feminists, พวก Green, และบรรดา gay ทั้งหลาย อาจค้นพบตัวของพวกเขาเองว่ากำลังให้ความเอาใจใส่หรือเป็นห่วงต่อประเด็นปัญหาอันใดอันหนึ่ง ที่กลุ่มต่างๆได้มาร่วมมือกันอย่างหลวมๆ

แต่ในเวลาเดียวกันและเป็นความเป็นจริงก็คือ พวกเขาอาจค้นพบว่า กลุ่มของพวกเขาเองนั้น ยังมีความต่างไปจากคนกลุ่มอื่นๆ. ยิ่งไปกว่านั้น การปฏิวัติยังได้แยกวาระหรือแผนการณ์(agenda)ออกไปสำหรับอนาคตข้างหน้า นั่นคือ การกระทำโดยตรงและการเมืองที่มีพื้นฐานอยู่บนประเด็นปัญหาของตัวเอง จะแสดงความเร่าร้อนรีบเร่งมากกว่า และมันมีนัยสำคัญที่แท้จริง

แต่อย่างไรก็ตาม พวกที่ชอบดูหมิ่นถิ่นแคนหรือชอบกล่าวร้ายทั้งหลายได้ชี้ถึงข้อบกพร่องหลักๆสองประการ ในมุมมองอันนี้เกี่ยวกับเงื่อนไขทางการเมืองหลังสมัยใหม่

ขอบกพร่องอันแรกคือ, วัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่งจะสามารถรวมตัวของมันเองขึ้นมารายรอบแนวคิดพหุนิยมเสรีอันนี้ได้อย่างไร, อุดมคติที่ปล่อยให้"ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไป"โดยปราศจากกล้ามเนื้อทางการเมืองที่มารัดดึง, มาคอยค้ำจุนหรือสนับสนุนต่อผู้คนเหล่านั้น, ซึ่งแตกต่างกันมากมายเหลือเกินจากพวกเราเอง และผู้คนที่มองว่าลัทธิเสรีนิยมตะวันตกโดยทั่วไป โดยเฉพาะชุมชนคนชั้นกลางแอตแลนติคเหนือ ล้วนเป็นคนที่อ่อนแอด้วยพยาธิวิทยาและมีความเข้าใจผิดในเรื่องเหล่านี้

ยกตัวอย่างเช่น ลองมาพิจารณากันถึงลัทธิมูลราก(fundamentalism)อันหลากหลายที่ยังคงปฏิบัติการอยู่ในโลกร่วมสมัย. ชุมชนคนชั้นกลางแอตแลนติคเหนือจะขานรับหรือโต้ตอบอย่างไร ถ้าเผื่อว่าสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆของพวกเขาถูกละเมิด

ดังเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นมาไม่นานนี้ เมื่ออญาตอล่าห์(ayatollah - ตำแหน่งผู้นำทางศาสนาชั้นสูงของอิหร่าน)คนหนึ่ง ได้ออก fatwah (ความเห็นทางกฎหมายหรือคำพิพากษาที่ตัดสินโดยผู้นำทางศานา) ต่อนักเขียนคนหนึ่งสำหรับการดูหมิ่นศาสนา และลงโทษโดยการประกาศให้ประหารชีวิตนักเขียนคนนั้น

ถ้าหากว่าชุมชนนั้นดำเนินรอยตามหลักการเสรีประชาธิปไตยของมันต่างๆ และยังคงยกย่อง"ความแตกต่าง", ชุมชนดังกล่าวจะสามารถคัดค้านการตัดสินประหารข้างต้นที่ประกาศออกมาได้อย่างไร ? พัฒนาการหรือฉากต่อไปของเหตุการณ์ดังกล่าว เรียกร้องต้องการข้อผูกพันขั้นพื้นฐานอันหนึ่งที่จะใช้บังคับกับกฎหมายบางอย่าง และสิทธิที่จะต่อสู้หรือทวนกระแสผู้คนเหล่านั้น ซึ่งค่อนข้างจะแตกต่าง เพื่อปฏิเสธคุณค่าของความแตกต่าง

ข้อบกพร่องประการที่สอง, โดยการเพ่งความเอาใจใส่และความสนใจของมันทั้งหมดลงไปบนประเด็นทางการเมืองระดับไมโคร(เล็ก), หรือบนเทอมสั้นๆ, และการเมืองที่เป็นประเด็นโดดๆ, ความสนใจเช่นนี้ทำให้โครงสร้างทางการเมืองขนาดใหญ่จริงๆ ที่ควบคุมความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันของเรากลับได้รับการมองข้ามหรือไม่ได้รับความเอาใจใส่ และถูกทอดทิ้งโดยไม่ได้มีการต่อสู้กับศัตรู ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ มันจะแปรไปสู่การสนับสนุนที่ซ่อนเร้นหรือเป็นการสมคบกันกับสภาพความเป็นจริงเกี่ยวกับปรากฎการณ์ที่เป็นอยู่

ในระหว่างช่วงเวลานั้น, แน่นอน, ผู้ที่ให้การสนับสนุนเรื่องของ"ความแตกต่าง"สามารถชี้ให้เห็นถึงการฉีกขาดที่เป็นมาในอดีตได้ โดยการขาดความอดทนอดกลั้น และการปราบปรามคนส่วนใหญ่ของประชากรโลกโดยคนกลุ่มน้อยเพียงกระจิดริดที่เป็นพวกคนขาว, ผู้ชาย, ชาวแอตแลนติคเหนือ, ผู้ได้รับการศึกษาที่ดี, และปัจเจกชนที่มีพลังทางเศรษฐกิจ

คนกลุ่มน้อยที่กล่าวมานี้ ค่อนข้างจะไม่ให้การยกย่องความแตกต่าง, และกลับสร้างระบอบการปกครองที่ได้ประกาศใช้โปรแกรมขนาดใหญ่เกี่ยวกับการทำให้เป็นอาณานิคมขึ้น, นอกจากนี้ยังมีการถอดถอนสิทธิในการเลือกตั้งทางการเมือง และมีการปราบปรามคนส่วนใหญ่อย่างเต็มที่

โลกหลังสมัยใหม่เกี่ยวกับ"ความแตกต่าง"และ"เอกลักษณ์"
โลกหลังสมัยใหม่เกี่ยวกับ"ความแตกต่าง"ได้เปิดให้กับความเป็นไปได้สำหรับคนที่ถูกกดขี่ เพื่อจะค้นพบที่ทางหรือเสียงๆหนึ่งซึ่งจะต่อสู้กับการกดขี่ที่มีต่อพวกเขาตลอดมาในอดีต ซึ่งในที่นี้ถือว่าเป็นอีกแง่มุมหนึ่งของลัทธิหลังสมัยใหม่ได้ก้าวมาอยู่ข้างหน้า - เทียบกันกับชาติ, ผู้คนและพรรคต่างๆ ที่ถูกประณามสำหรับความปรารถนาในการรวบอำนาจ, ซึ่งค่อนข้างเป็นอุดมคติมากเกินไปเกี่ยวกับตัวตนที่ประสานสอดคล้องและรวมตัวกัน, ดังเช่นที่ถูกให้คำมั่นสัญญาโดยทฤษฎีจิตวิเคราะห์, ซึ่งเป็นที่น่ากังขาและยังน่าสงสัย

อีกคำรบหนึ่ง, อันนี้คือปัญหาหนึ่งที่ริเริ่มเปิดประเด็นขึ้นมาโดย Kant, ผู้ซึ่งนำเสนออ่าวลึกหรือช่องว่างที่ปราศทางเชื่อมระหว่างตัวตนที่สามารถที่จะรู้(knowable self) กับตัวตนของการรู้(knowing self), ช่องว่างหรือเหวลึกอันนี้ มันจะสามารถผนึกรวมตัวกันได้ก็แต่เพียงโดยการพึ่งพาอาศัยความสามารถของเราที่จะใช้คำว่า"ฉัน"เท่านั้น

Nietzsche, ได้จับเอาแกนหลักทางไวยากรณ์อันนี้ของ Kantian subject (ตัวตนแบบค้านท์)มาโจมตี ด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ความเชื่อในเรื่องตัวตนที่ประสานสอดคล้องและรวมตัวกัน ในฐานะที่เป็นผลิตผลของศรัทธาที่ผิดที่ผิดทางในเชิงไวยากรณ์

ส่วน Freud ได้จ่ายความสนใจต่อความคิดหรือไอเดียอันนี้ โดยได้วาดภาพความขัดแย้งต่างๆระหว่างแง่มุมอันหลากหลายของตัวตน, และหาที่ตั้งส่วนต่างๆอันหลายหลากของบุคลิกภาพทางจิตวิทยาของพวกเรา, เขาได้เสนอถึงส่วนของจิตไร้สำนึกซึ่งยังคงเข้าไปไม่ถึงอยู่ตลอดมาของเรา

ในท้ายที่สุด การยกย่องในลัทธิหลังสมัยใหม่ ในฐานะที่เป็น"ตัวตนอันหลากหลาย"หรือ"ตัวตนแตกแยก", "ความแตกต่าง"หลังสมัยใหม่ ดูเหมือนว่าในด้านหนึ่งได้ให้ความศรัทธาใน"ความเป็นคนอื่น": นั่นคือ สำหรับความแตกต่างที่เสนอศักยภาพที่จะมีการปลดปล่อยออกมาให้เป็นอิสระ, และกระบวนการใดก็ตามที่กัดกร่อนเกี่ยวกับ"ตัวตน"จะต้องสิ้นสุดลง เพื่อว่าเอกลักษณ์บางอย่างมันจะได้สามารถมารับใช้พื้นฐานเกี่ยวกับ"การเมืองเรื่องเอกลักษณ์"นี้ได้

สภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกนั้นถูกรู้สึกอย่างรุนแรง และถกเถียงกันอย่างเร่าร้อนในหลายๆขอบเขต, ซึ่งที่โดดเด่นมากก็คือในลัทธิสตรีนิยม(feminism). ในด้านหนึ่งนั้น บรรดานักสตรีนิยมหลังสมัยใหม่ อย่าง Judith Butler ได้ให้เหตุผลว่า มันไม่มีแก่นแกนของเอกลักษณ์, ไม่มีตัวตนที่เป็นแก่นสาร, และไม่มีปริมณฑลอันเป็นสารัตถะของคำว่า"ผู้หญิง" ที่จะมาใช้เพื่อทำให้เกิดเอกภาพในเป้าประสงค์ต่างๆเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางการเมืองของมวลชน. ตัวตนและเพศได้รับการสำนึกหรือทำให้เป็นจริงได้เพียงในฐานะที่เป็นการกระทำเท่านั้นเอง

แต่อย่างไรก็ตาม คนอื่นๆได้ให้เหตุผลสำหรับการธำรงไว้ซึ่งปริมณฑลอันเป็นสารัตถะของ"ผู้หญิง", เพราะเมื่อปราศจากมันแล้ว, ลัทธิสตรีนิยมจะไปรับใช้วัตถุประสงค์ที่เป็นไปได้อะไรกันเล่า ? ถ้าเราปล่อยให้ความจริงแท้ของการกดขี่ผู้หญิงดำเนินต่อไป, ในเวลาเดียวกันเราก็จะเป็นคนที่ทอดทิ้งความรับผิดชอบของเราที่มีต่อผู้หญิงจริงๆไปพร้อมกัน, ซึ่งจะทำให้ลัทธิสตรีนิยมเป็นเพียงการเล่นสนุกในทางวิชาการอันหนึ่งเท่านั้น

ลำดับการเกี่ยวกับการถกเถียงกันในเรื่องการเมืองหลังสมัยใหม่
นอกจากความสัมพันธ์ทางด้านปัญหาของลัทธิสตรีนิยมกับทฤษฎีหลังสมัยใหม่แล้ว, ตัวชูโรงหลักในการถกเถียงเกี่ยวกับการเมืองหลังสมัยใหม่ที่เรียงลำดับมา มันเป็นอย่างไร ? เพื่อพัฒนาไปอย่างรวดเร็วเกี่ยวกับเงื่อนไขหรือสภาพการณ์หลังสมัยใหม่, บทความชิ้นนี้จะโฟกัสอย่างต่อเนื่องลงไปที่ฐานะตำแหน่งต่างๆ ที่ผูกพันกับเรื่องราวลัทธิหลังสมัยใหม่ของ Lyotard เนื่องจากมันเป็นงานชิ้นหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลมากที่สุด และแน่นอน เนื่องจากมีเรื่องราวต่างๆหลายอย่างมากที่ได้ถูกพูดถึงเกี่ยวกับเขียนชิ้นดังกล่าว- ซึ่งมากยิ่งกว่าจะสามารถสาธยายได้ภายในบทความชิ้นนี้

ดังที่บันทึกไปก่อนหน้านี้แล้ว ลัทธิหลังสมัยใหม่ได้มาถึงซึ่งยุคของสติปัญญาในโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษในช่วงต้นทศวรรษ 1980s. ผลงานรวมเล่มของ Hal Foster เรื่อง Postmodern Culture(1983) เป็นเครื่องหมายของการเปลี่ยนผ่านอันนี้ได้เป็นอย่างดี. ชื่อเรื่องเดิม The Anti-Aesthetic, และมีการตั้งชื่อใหม่ในปี ค.ศ.1985 ของงานรวมเล่มเกี่ยวกับบทความต่างๆโดยนักวิชาการรุ่นเฮฟวีเวทต่างๆ อย่างเช่น Jurgen Habermas, Edward Said, Fredric Jameson และ Jean Baudrillard, เป็นสัญญานที่ชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงของลัทธิหลังสมัยใหม่ไปจากโลกศิลปะเพื่อไปสู่ประเด็นต่างๆที่กว้างมากขึ้น

นักเขียนสองคนโดยเฉพาะในหนังสือเล่มนี้ ได้โจมตีอย่างทันควันมาแต่ต้นต่อดินแดนใหม่ของหลังสมัยใหม่ ซึ่งยังคงโฟกัสลงไปที่ข้อถกเถียงต่างๆเดิมๆ นับจากนั้นมาจนกระทั่งบัดนี้อย่างต่อเนื่อง

Jurgen Habermas
นักเขียนคนหนึ่งที่โจมตีเรื่องราวต่างๆเกี่ยวกับหลังสมัยใหม่อย่างชัดเจนก็คือ Jurgen Habermas ความเรียงของเขาเรื่อง "Modernity: an Unfinished Project" เป็นการส่งสัญญานถึงการปฏิเสธของปรัชญาเมธีผู้นี้เกี่ยวกับลัทธิหลังสมัยใหม่

ถ้าหากว่า, ตามความคิดของ Lyotard และบรรดานักปรัชญาฝรั่งเศสอื่นๆเมื่อไม่นานมานี้, (ซึ่ง Habermas ในเวลาต่อมา ได้เรียกกลุ่มนักปรัชญาเหล่านี้ว่า"นักอนุรักษ์นิยมรุ่นเยาว์"(young conservatives), ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับวาทกรรมหรือคำบรรยายต่างๆของยุคโมเดิร์น ที่ว่าถึงการปลดปล่อยให้เป็นอิสระและความก้าวหน้า(emancipation and progress)ที่ผลิดอกออกผลให้เห็น, อันนี้ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่กระทำเช่นนั้น, แต่เป็นไปได้ที่ว่า พวกเขายังไม่สุกงอมเพียงพอหรือยังไม่พัฒนาอย่างเต็มที่มากกว่า

การวินิจฉัยถึงปัญหาที่เผชิญในช่วงปลายของยุคโมเดิร์นเป็นสิ่งที่เขาเรียกว่า"การแตกออกเป็นชิ้นๆของโลกชีวิต"โดยวิวัฒนาการ ในช่วงระหว่างยุคสมัยใหม่ของความเป็นนามธรรมที่เพิ่มขึ้นอันหนึ่ง และการทำให้เป็นเรื่องความเชี่ยวชาญในขอบเขตพื้นที่ต่างๆของความรู้(วิทยาศาสตร์) ชีวิตในเชิงปฏิบัติ(การเมือง) และปฏิบัติการทางศิลปะ

Habermas เสนอให้มีการเพิ่มพลังหรือเสริมความเข้มแข็งขึ้นมาใหม่เกี่ยวกับโครงการของยุคสว่าง(the Enlightenment project)ซึ่งกำกับความก้าวหน้าทั้งหมดไปสู่ผลประโยชน์ในเชิงอุดมคติเกี่ยวกับชาติพันธุ์มนุษย์ในฐานะทั้งหมด. ด้วยเหตุนี้ บรรดาตัวแทนที่ทำหน้าที่อธิบายเกี่ยวกับปฏิบัติการอันสูงส่งเหล่านี้ ควรที่จะให้เหตุผลถึงความเป็นนามธรรมต่างๆของพวกเขาต่อโลกชีวิตดังกล่าว

ที่ตั้งใจจะให้มันมีความหมายซึ่ง Habermas เผชิญหน้าอยู่กับสิ่งที่บังเกิดขึ้นนี้ ได้ถูกค้นพบในหลักการต่างๆที่ควบคุมการปฏิบัติการเกี่ยวกับการสื่อสาร: นั่นคือ ในขอบเขตที่"ฉันได้พูดกับคุณ, และฉันจะยอมเงียบต่อคำพูดสวนกลับมาของคุณที่มีมาถึงฉัน" (หมายถึงว่าเป็นการสื่อสารทางเดียวของระบบสื่อสารปัจจุบัน)

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อคำพูดเข้ามาแทนที่และปรับปรุงการกระทำโดยตรง (ฉันจะไม่เพียงดำเนินต่อไปข้างหน้าเท่านั้น แต่จะเปลี่ยนแปลงโลกโดยไม่มีการถามด้วย), ฉันยังเห็นด้วยอย่างชัดแจ้งและยืนยันที่จะแสวงหาความเห็นพ้องกับคุณ มากกว่าที่จะหักหาญหรือข่มขี่ทัศนะต่างๆของคุณ

ในอีกด้านหนึ่ง เป้าหมายของการสื่อสารที่เป็นเหตุเป็นผลทั้งหมดต้องการที่จะบรรลุถึงความเห็นพ้องต้องกันในสิ่งที่ควรจะถูกกระทำ. โดยไม่ได้ตรวจสอบถึงกฎเกณฑ์ต่างๆที่แน่นอนเด็ดขาดในการปฏิบัติการเกี่ยวกับการสื่อสารทั้งหมด, นั่นคือ "ฉันจะริบสิทธิ์ในการสนทนากัน".

ลัทธิหลังสมัยใหม่, โดยการยืนยันว่าโครงการนี้เป็นจุดหมายปลายทางอันหนึ่ง, ซึ่งไม่ใช่เป็นการเล่นเกม. วาทกรรมหรือคำบรรยายต่างๆนั้นได้ถูกทำให้ไม่น่าเชื่อถือและแตกออกเป็นชิ้นๆ ซึ่งไม่มีเหตุผลใดๆที่จะทึกทักว่า พวกเขาต้องการให้เป็นเช่นนั้นเสมอไป. อันนี้เพียงทำให้เรางงงวยกับปัญหา ซึ่งเราต้องควบคุมความพยายามของเราให้น้อมนำไปสู่หนทางการปรับปรุงแก้ไข

ยิ่งไปกว่านั้น, หนังสือของ Lyotard เรื่อง The Postmodern Condition ปรากฎขึ้นมาในปี ค.ศ.1979 (ความเรียงของ Habermas ได้คลอดออกมาครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1981), ในความสัมพันธ์กับวาทกรรมหลัก(grand narrative) และเกี่ยวกับการสิ้นสุดของวาทกรรมหลัก หนังสือเรื่องดังกล่าวของ Lyotard ได้เผยให้เห็นถึงแกนกลางความขัดแย้งกันอันหนึ่งในเรื่องและคำอธิบายของเขาเกี่ยวกับลัทธิหลังสมัยใหม่ กล่าวคือ

ถ้ามันไม่มีความน่าไว้เนื้อเชื่อใจใดๆเกี่ยวกับวาทกรรมหลักอีกต่อไปแล้ว, หากเป็นเช่นนั้นจริง รากฐานอันใดล่ะที่น่าจะเป็นที่ยอมรับสำหรับเรื่องราวหรือคำอธิบายของตัว Lyotard เอง ? ถ้าเผื่อว่าเรายอมรับคำอธิบายนี้ ก็เป็นอันว่ามันเป็นความขัดแย้งกับความรู้สึกทั่วไป(paradox), ซึ่งอันนี้แสดงให้เห็นว่าน่าจะต้องมีอะไรผิดพลาดแน่เกี่ยวกับสถานภาพของวาทกรรมหลัก

มากยิ่งไปกว่านั้น, ในการนำเสนอ, Lyotard ตัวเขาเองจะต้องเชื่อว่า มันจะต้องมีอะไรบางอย่างที่สามารถเชื่อถือได้, ดังนั้น แม้แต่ตัวของ Lyotard เองก็ต้องเชื่อว่า คำอธิบายของเขาเป็นสิ่งที่มีข้อผิดพลาด

แน่นอน ในการวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ Habermas ได้ทำลายความน่าเชื่อถืออย่างมีประสิทธิภาพต่อการวิเคราะห์ที่ขยายความโดย Lyotard เกี่ยวกับว่า มันเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร ซึ่งสถานการณ์อันนี้ อันที่จริงได้บังเกิดขึ้น. [เราจะหวนกลับมาพูดถึงเรื่องนี้อีกครั้ง เกี่ยวกับรากเหง้าต่างๆของการวินิจฉัยของ Lyotard ในเรื่องเงื่อนไขเกี่ยวกับวาทกรรมหรือคำบรรยายภายใต้ลัทธิทุนนิยมแบบวิคตอเรีย(the condition of narrative under victorious capitalism)]. ถ้าเผื่อว่า Lyotard ไม่เชื่อในความล่มสลายของวาทกรรมหลัก, หากเป็นเช่นนั้นแล้วละก็ อย่างชัดเจน Habermas ก็คงจะทำเช่นนั้นอยู่ดี - แน่นอนที่ว่า มันจะเป็นอย่างเดียวกับที่ Lyotard พิจารณาเกี่ยวกับวาทกรรม

หลังสมัยใหม่, Habermas มีความรู้สึกที่เป็นอุดมคติเอามากๆอันหนึ่ง เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการสื่อสาร: อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ความสนใจในการกำหนดวาระต่างๆขึ้นมา เพื่อว่าความเห็นพ้องต้องกันจะต้องเป็นฝ่ายชนะ แม้จะด้วยการใช้วิธีการคุกคามหรือการบีบบังคับ, นั่นคือ, โดยปฏิบัติการด้วยอำนาจก็ตาม

ข้อเสนอแนะส่วนตัวของ Habermas สำหรับการเยียวยาการแบ่งแยกอันนี้ในชีวิตโลกที่เป็นอยู่ทุกวัน ซึ่งเราต่างดำรงชีวิตและปฏิบัติการอยู่ในท่ามกลางสิ่งที่ถูกแยกแบ่งโดยผลของพลังอำนาจ ซึ่งพวกเขายังคงซ่อนเร้นและเก็บงำอยู่: นั่นคือ จะ"ยอมรับ"มันหรือ"ยุติ"มันเสีย

หลังสมัยใหม่ อันนี้เป็นเพียงการเน้นถึงการผิดกฎของมติมหาชน ในฐานะที่เป็นผลลัพธ์เชิงอุดมคติอันหนึ่ง นับจากที่มันได้มีชัยชนะต่อการถูกสกัดกั้นทางความคิดที่เห็นต่างมาเป็นเวลานานพอสมควร. ทางออกต่อปัญหานี้ที่นำเสนอโดย Lyotard คือจะต้องไม่ใช่สกัดกั้น แต่จะต้อง"เน้น"และกระทั่ง"ทดลอง"ให้มีความเห็นต่างมากยิ่งขึ้น. มากกว่ายอมรับบรรทัดฐานหรือกฎเกณฑ์ต่างๆที่ถูกยัดเยียดจากข้างบนลงล่างโดยสถานการณ์หรือโครงการต่างๆ

การเปิดให้มีการทดลองมันจะเป็นการสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ๆจากข้างล่างขึ้นไปสู่ข้างบนแทน. อันนี้หากเรากวาดตาดูรอบๆ จะพบเสียงประสานที่มาสอดรับกับเรื่องนี้ โดยที่วิธีการทางด้านวิทยาศาสตร์ได้ใช้ภาษาเกี่ยวกับการทดลองเป็นเครื่องมือในการค้นหาและค้นพบสิ่งใหม่ๆ ซึ่งอันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความเข้าใจแง่มุมต่างๆของลัทธิหลังสมัยใหม่ แต่บ่อยครั้งเรามักจะมองข้ามเรื่องพวกนี้ไป

ขณะที่ Habermas, กำลังเดินตามรอยเท้าของแฟรงค์เฟริทสคูลและได้นั่งในตำแหน่งศาสตราจารย์ของสถาบันวิจัยสังคมอยู่นั้น, ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวได้สงวนเอาไว้ให้กับการผูกมัดกับโครงการมาร์กซิสท์ของบรรพบุรุษ พร้อมด้วยเรื่องราวของเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่โชติช่วงของ Kant, มันมีผู้ที่ยังตกค้างอยู่เป็นจำนวนมากเกี่ยวกับปฏิกริยาแบบมาร์กซิสท์ซึ่งส่งมาถึงลัทธิหลังสมัยใหม่

อันนี้สามารถที่จะลำดับได้จากนีโอคอมมิวนิสท์อย่าง Felix Guattari ที่บอกเลิกหรือไม่เห็นด้วยอย่างตรงไปตรงมากับลัทธิหลังสมัยใหม่ ในฐานะที่มันไม่มีปรัชญาอะไรเลย..., อันที่จริงมันคล้ายคลึงกับบางสิ่งบางอย่างที่ล่องลอยอยู่ในอากาศซึ่งมีกลิ่นหอม หรือไวรัสไข้หวัดใหญ่, จนไล่เรียงไปถึง Chantal Mouffe และ Ernesto Laclau ซึ่งเป็นการผสมผสานของลัทธิมาร์กซ์กับลัทธิหลังสมัยใหม่ที่เรียกกันว่า Post-Marxist

บางที ชาวมาร์กซิสท์จะเป็นพวกที่สูญเสียมากที่สุดเกี่ยวกับการสิ้นสุดลงของวาทกรรมหลักในเรื่องเกี่ยวกับแรงงานมนุษย์ที่จะได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ และหลังสมัยใหม่ก็ไม่ให้ความเอาใจใส่หรือมองข้ามปรากฏการณ์ทางการเมืองต่างๆไปมาก อย่างเช่น เรื่องทางเศรษฐกิจหรือการปฏิวัติ

Fredric Jameson
อย่างน้อยที่สุด มันเป็นสิ่งที่น่าสนใจ สำหรับการที่นักวิจารณ์และนักทฤษฎีมาร์กซิสท์ที่มีชื่อเสียงอย่าง Fredric Jameson ดูเหมือนว่ารู้สึกในเชิงบวกเกี่ยวกับมัน. ยิ่งไปกว่านั้นในเชิงที่ขัดแย้งกับทัศนคติของคนทั่วไป, เขาได้ให้การสนับสนุนต่อการรวบรวมงานของ Foster [Hal Foster เรื่อง Postmodern Culture(1983)] ซึ่งผลงานรวบรวมของ Foster นั้น เป็นงานที่ถือว่าได้ขยับให้ลัทธิหลังสมัยใหม่ได้เคลื่อนตัวจาก"สุนทรียศาสตร์"ไปสู่เรื่องของ"ปรัชญาและการเมือง", ภายใต้ขอบเขตที่พวกเขายังคงอยู่ในดินแดนของสุนทรียภาพอย่างเต็มที่

นอกจากนี้แล้วเรื่อง Postmodernism ของ Jameson, หรือ the Cultural Logic of Late Capitalism (ตรรกะทางวัฒนธรรมของลัทธิทุนนิยมตอนปลาย)(1991) ยังถือว่าเป็นหนึ่งในหนังสือขนาดใหญ่เกี่ยวกับลัทธิหลังสมัยใหม่ที่ได้มีการเขียนขึ้นมาในปริมณฑลนี้, พร้อมๆกันกับ Laclau และ Mouffe ที่เขียนเรื่อง Hegemony and Socialist Strategy (อิทธิพลครอบงำและยุทธศาสตร์นักสังคมนิยม)(1985), ซึ่งถือว่าเป็นงานทางด้านมาร์กซิสท์ที่ถูกอ้างอิงมากที่สุดที่กล่าวถึงลัทธิหลังสมัยใหม่

ชื่อเรื่องหนังสือ the Cultural Logic of Late Capitalism ของ Jameson ซึ่งอ้างถึงลัทธิหลังสมัยใหม่ในฐานะที่เป็นตรรกะทางวัฒนธรรมของลัทธิทุนนิยมตอนปลาย, มันเป็นการกล่าวซ้ำถึงความแตกต่างของแนวคิดมาร์กซ์ออร์ธอด็อกซ์ ระหว่าง"พื้นฐานทางเศรษฐกิจของสังคม" กับ "โครงสร้างส่วนบนทางวัฒนธรรม"(cultural superstructure) ที่สะท้อนถ่ายถึงเงื่อนไขต่างๆเกี่ยวกับพื้นฐานอันนี้

ศิลปะและปรัชญาดำรงอยู่ในท่ามกลางปรากฎการณ์ของโครงสร้างส่วนบนของสังคมหนึ่ง, ดังที่มาร์กซ์ได้วางมันในฐานะที่เกี่ยวเนื่องกับปรัชญา, "ไอเดียหรือความคิดต่างๆที่เป็นกฎเกณฑ์ในสังคมหนึ่ง แน่นอนมันก็คือไอเดียหรือความคิดของชนชั้นปกครองนั่นเอง". โดยการยืนยันดังกล่าว ลัทธิหลังสมัยใหม่มีรากเหง้าของมันอยู่ในปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรม, หรือ กล่าวอีกอย่างหนึ่ง มันได้ถูกติดตั้งอยู่ภายในขอบเขตโครงสร้างส่วนบนอันนี้

หนังสือของ Jameson เป็นการสนับสนุนต่อการถกเถียงที่มีมายาวนานเกี่ยวกับขอบเขตซึ่ง ศิลปะและปรัชญาต่างเป็นสิ่งซึ่งได้รับการพิจารณาในฐานะที่เป็นการแสดงออก หรือภาพที่ปรากฎเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโดยเบื้องต้นบนพื้นฐานของสังคม

โดยเหตุนี้ "การเมืองหลังสมัยใหม่"จึงกลายเป็นการเรียกกันผิดๆ, อันที่จริงน่าจะเรียกว่าการเมืองเกี่ยวกับวัฒนธรรมหลังสมัยใหม่(the politics of postmodern culture) และการเมืองเกี่ยวกับวัฒนธรรมหลังสมัยใหม่สามารถที่จะถูกเปิดเผยออกมาโดยผ่านการวิเคราะห์ในเชิงทฤษฎีเกี่ยวกับหลังสมัยใหม่, กล่าวคือ มันเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางด้านปรัชญาและวัฒนธรรม

มากกว่าจะเป็นการรับเอามาอย่างง่ายๆจากยุทธวิธีที่ใช้การได้ดีเกี่ยวกับการวิจารณ์การเมือง, Jameson ตกลงใจที่จะเสี่ยงโดยวิเคราะห์ว่า, ลัทธิหลังสมัยใหม่อาจจะเป็นสิ่งที่อ่อนไหวง่ายต่อการปฏิบัติการโดยทฤษฎีมาร์กซิสท์ และค้นหาที่ทางอันหนึ่งภายในความต่อเนื่องของหลักวิภาษวิธีมาร์กซิสท์

สวนกันกับ Lyotard, ต่อจากนั้น, Jameson ได้ให้เหตุผลว่า การตั้งข้อกังขาและไม่เชื่อถือในวาทกรรมหลัก(grand narrative) ซึ่งอันนี้ไม่ใช่ตำแหน่งสุดท้ายในลัทธิหลังสมัยใหม่ แต่มันค่อนข้างจะเป็นว่า ข้อกังขาหรือไม่เชื่อถือดังกล่าว "มันมีรากเหง้าอยู่ภายในปรากฎการณ์ทางเศรษฐกิจ"

หนึ่งในใจความสำคัญต่างๆซึ่ง Jameson มักจะหวนกลับไปเสมอก็คือ การหวนระลึกถึงอดีตที่แผ่ไปทั่วสำหรับความเชื่อมั่นในความอุดมสมบูรณ์ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของสังคมอเมริกันเหนือ(North American society)ในช่วงทศวรรษที่ 1950s ที่มีหลักฐานอยู่ในภาพยนตร์และวรรณกรรมร่วมสมัยในช่วงนั้นเป็นจำนวนมาก

มันเป็นการล่มสลายของยูโธเปียทางเศรษฐกิจภายใต้การบริหารจัดการหรือกฎเกณฑ์ของลัทธิทุนนิยมตอนปลาย ซึ่งนอนเนื่องอยู่ในรากฐานของความไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับวาทกรรมและการเร่งเร้าทางการเมืองส่วนใหญ่ และปลุกเร้าสิ่งที่ Danial Bell เรียกในปี 1960 ว่า "การสิ้นสุดของอุดมคติ"(the end of ideology)ขึ้นมา, ซึ่งอันนี้สามารถค้นพบได้จากการแสดงออกในทางปรัชญาและทฤษฎีร่วมสมัยเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น หลังสมัยใหม่ที่คุยโตเกี่ยวกับทฤษฎีต่างๆซึ่งแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จึงปรากฎผลออกมาเป็นการแสดงออกเกี่ยวกับสิ่งนี้, หรือการวิเคราะห์ต่างๆเกี่ยวกับการแสดงออกเหล่านี้นั่นเอง

แต่อย่างไรก็ตาม Jameson ไม่คิดว่าลัทธิมาร์กซ์สามารถที่จะอยู่รอดได้ ภายใต้การเปลี่ยนผ่านทางด้านวัฒนธรรมและเศรษฐกิจข้างต้น โดยไม่มีการปรับปรุงทฤษฎีของตัวเองเพื่อไปสู่โครงสร้างใหม่เกี่ยวกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ถูกทำให้เปลี่ยนแปลงไป โดยสิ่งที่บรรดานักสังคมนิยมทั้งหลาย อย่างเช่น Alain Tourraine ได้อ้างถึงในฐานะที่เป็นสังคมยุคหลังอุตสาหกรรม

ด้วยเหตุนี้ การวิเคราะห์เกี่ยวกับวัฒนธรรมหลังสมัยใหม่ จึงเป็นบทเรียนสำหรับลัทธิมาร์กซ์ เช่นเดียวกับการทำให้เป็นทฤษฎีการเมืองหลังสมัยใหม่. สำหรับสิ่งหนึ่ง การแบ่งแยกที่แน่นอนเกี่ยวกับ"พื้นฐาน"และ"โครงสร้างส่วนบน" จะต้องได้รับการดัดแปรงแก้ไขโดยคำนึงถึงเกี่ยวกับผลทางด้านวิภาษวิธีบนพื้นฐานของปรากฎการณ์ทางวัฒนธรรม

ท้ายที่สุด ไอเดียหรือความคิดที่เราสามารถบรรลุได้โดยตรงและไม่อาจเข้าไปไกล่เกลี่ยได้เลยเกี่ยวกับความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ โดยการเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงทฤษฎีและปรัชญาทั้งหมดโดยเหตุใดเหตุหนึ่ง ดูเหมือนว่ามันจะไม่อาจเป็นเช่นนั้นได้ ซึ่งอันนี้มันเป็นความจริงเท่าๆกันกับความเลวร้ายที่สุดของข้อเท็จจริงอันหนึ่งที่เราไม่อาจไม่พูดคำว่า"มาดาม"ในวงวิทยาศาสตร์ได้เช่นกัน

หนึ่งในจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องต่างๆในหนังสือของ Jameson ซึ่งเขาได้บันทึกเอาไว้อย่างเปิดเผยและรู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง, ก็คือ การขาดหายไปของการสนทนาต่างๆเกี่ยวกับนวนิยายไซเบอร์พั๊งค์(cyberpunk) ดังที่นักเขียนนวนิยายไซเบอร์พั๊งค์ Bruce Sterling บันทึกเอาไว้, การเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์ในโลกที่มีความชำนาญการทางด้านเทคโนโลยีทุกวันนี้ ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ

กล่าวคือ เนื่องจากอัตราการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นกว่าที่เคย,บรรดาผู้อ่านผลงานเหล่านั้น ตัวของพวกเขาเอง เติบโตขึ้นมาภายใต้โลกของนวนิยายวิทยาศาสตร์. มาถึงตอนนี้, การมองข้ามหรือไม่ให้ความเอาใจใส่สำหรับช่วงเวลาดังกล่าว นั่นคือปัญหาอันนี้ที่มีอยู่ต่อบรรดานักเขียนนวนิยายวิทยาศาสตร์และผู้อ่าน. อย่างไรก็ตาม นวนิยายไซเบอร์พั๊งค์ได้เผยให้เห็นความเกี่ยวพันกันอันหนึ่งกับปรากฎการณ์ที่แปลกประหลาดเฉพาะตัว เกี่ยวกับการวิ่งหนีพัฒนาการทางด้านเทคโนโลยี

แต่อย่างไรก็ตาม อันนี้คือหนึ่งในความเอาใจใส่ต่างๆที่ทำให้รายงานของ Lyotard มีชีวิตชีวาหรือเลื่อนไหลบนสภาพการณ์หลังสมัยใหม่. มันเป็นสิ่งสำคัญที่จะหมายเหตุหรือบันทึกลงไปว่า ขอบเขตที่เรื่องราวของ Lyotard นำเสนอ เป็นการยืดขยายเกี่ยวกับความคิดมาร์กซิสท์ที่เน้นในเรื่องของเครื่องมือการผลิต ไปสู่การวิเคราะห์ถึงความเปลี่ยนแปลงในสภาวะหรือสิ่งแวดล้อมอันนี้ ภายในสังคมหลังยุคอุตสาหกรรม หรือสังคมที่ทำให้เป็นคอมพิวเตอร์(computerized society)

เทคโนโลยีอันนั้น ส่วนใหญ่แล้วไม่ได้แสดงภาพให้เห็นในงานเขียนของ Jameson ซึ่งสาธิตให้ดูถึงความเป็นไปได้ที่ว่า การจำกัดเกี่ยวกับลัทธิหลังสมัยใหม่ให้เข้าไปสู่ขอบเขตทางด้านวัฒนธรรมและสุนทรียศาสตร์เป็นเรื่องที่โคลงเคลง, มันเป็นความไม่มั่นคงที่ได้รับการก่อตัวขึ้นมาโดยการยืนยันของเขา ซึ่ง"ลัทธิการทดลอง"ของ Lyotard เป็นการให้การสนับสนุนโดดๆเกี่ยวกับปฏิบัติการที่ก้าวหน้า หรือ avant-garde ซึ่งได้ถูกวางไว้บนหิ้งบูชาในสุนทรียภาพของลัทธิสมัยใหม่

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด เพื่อพัฒนาประเด็นดังกล่าว มันจำเป็นต้องหวนกลับไปถึงสิ่งที่ความเรียงชิ้นนี้ได้สัญญาเอาไว้มาตั้งแต่ต้น: นั่นคือ รากเหง้าต่างๆทางการเมืองเกี่ยวกับลัทธิหลังสมัยใหม่ของ Lyotard

Jean Francois Lyotard
บรรดานักปรัชญาฝรั่งเศสที่ได้ถูกนำเข้ามาสู่โลกที่ใช้ภาษาอังกฤษได้สร้างรูปที่ว่า สิ่งสร้างที่มีลักษณะผสมผสาน, ทฤษฎีหลังสมัยใหม่, ทั้งหมดได้รับการก่อรูปก่อร่างขึ้นมา(ระดับที่มากบ้างน้อยบ้าง) โดยประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ต่างๆทางการเมืองในทำนองเดียวกันเหล่านี้

เพื่อทำความเข้าใจว่าทำไมเป็นเช่นนั้น มันมีความจำเป็นที่จะต้องจำใส่ใจถึงบรรยากาศหรือแนวโน้มทางสังคมในด้านสติปัญญาเกี่ยวกับยุคหลังสงครามโลกในฝรั่งเศส. นั่นคือ ในช่วงระหว่างสงครามโลกสองครั้ง, ชื่อในหน้าสารบัญหนังสือของทุกๆคนอ่าน ถูกครอบงำโดยบุคคลที่อักษร H สามคน นั่นคือ Hegel, Husserl, และ Heidegger.

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง, Sartre, นักปรัชญาอัตถิภาวะนิยม(existentialist) คือการแสดงออกที่บรรลุถึงจุดสุดยอดของฝรั่งเศสเกี่ยวกับไตรบุคคลอันศักดิ์สิทธิ์นี้, และได้มีการเริ่มพยายามที่จะเคลื่อนไปสู่การปรับตัวหรือปรองดองกับลัทธิมาร์กซิสม์, ในท้ายที่สุดก็ได้ประกาศออกมาภายหลังว่า มันเป็นเส้นขอบฟ้าที่ไม่อาจหนีรอดไปได้ของความคิดทั้งหมดในคริสตศตวรรษที่ 20

อันนี้ได้สะท้อนถึงการก่อกำเนิดขึ้นของความโดดเด่นทางด้านสติปัญญาเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า"ปรมาจารย์แห่งความสงสัย"(masters of suspicion): มาร์กซ์, นิทเช่, และ ฟรอยด์.

เหตุผลหนึ่งสำหรับอันนี้ เป็นเรื่องการแสวงหาเกี่ยวกับจิตวิญญานทางวัฒนธรรม ซึ่งดำเนินรอยตามภาพที่น่ากลัวเกี่ยวกับการสมรู้ร่วมคิดกันของฝรั่งเศสกับนาซี ภายใต้ระบอบที่เรียกว่า the reviled Vichy regime, อันนี้เป็นการบรรยายที่ปารีสของ Alexandre Kojeve ในเรื่องปรัชญาของ Hegel

คำบรรยายของ Kojeve ซึ่งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำให้ชาวมาร์กซิสท์แฉลบไปสู่การอ่านเกี่ยวกับงานของ Hegel ซึ่งมีอิทธิพลที่ชัดเจนต่อบรรดานักคิดรุ่นดังกล่าวทั้งหมด ที่ได้กระตุ้นให้เกิดความวิงเวียนอย่างมากเกี่ยวกับการประกาศยกย่องในฐานะที่เป็นหลังสมัยใหม่. เพราะฉะนั้น ลัทธิมาร์กซ์จึงกลายเป็นวาทกรรมหรือคำบรรยายที่สวนทางกับความถูกต้องของคนอื่นทั้งหมดที่จะต้องถูกวัดหรือประเมิน

ผลที่ตามมา มันเป็นการล่มสลายของวาทกรรมนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ซึ่งเราจะต้องอธิบายเพื่อที่จะทำความเข้าใจในเนื้อหาใจความจากปารีส ที่ชุ่มโชกไปด้วยลัทธิมาร์กซ์ถึงการล่มสลายของมันในลัทธิหลังสมัยใหม่

เหตุการณ์เดือนพฤษภาคมในกรุงปารีสปี 1968 (The evenements (คำนี้เป็นภาษาฝรั่งเศส ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า event) เราได้พบเห็นว่าบรรดานักศึกษาและคนงานได้สร้างสิ่งกีดขวางบนท้องถนนต่างๆของยุคสมัยใหม่, พลังเศรษฐกิจของโลกที่หนึ่ง ในช่วงของวันเวลาดังกล่าวได้มาถึงขอบเขตอันหนึ่งที่รัฐบาลกำลังอยู่บนปากเหวหรือความจวนเจที่จะล้มคว่ำลง. เมื่อสหภาพ, พรรคการเมือง, ปัญญาชนทั้งหลาย และคนดีของฝ่ายซ้ายต่างๆได้พากับประณามการก่อจลาจลของประชาชนบนท้องถนนของกรุงปารีส เดือนพฤษภาคม ปี 1968

คำมั่นสัญญาของลัทธิมาร์กซ์เกี่ยวกับอนาคตของการปฏิวัติ ซึ่งจะมาชดเชยการตักตวกผลประโยชน์ของทุนนิยม และผลที่ตามมาด้วยเหตุผลข้างต้น ทำให้ความชอบธรรมของมันในท่ามกลางปัญญาชนฝ่ายซ้ายโดยทั่วไปมลายหายสูญไป

ยกตัวอย่างเช่น Lyotard ได้ถูกนินทาว่าร้ายและชิงชังโดยการประณามของพรรคคอมมิวนิสท์ฝรั่งเศส เกี่ยวกับการเข้าไปครองตำแหน่งที่ Nanterre campus ของ the University of Paris โดยกลุ่มของนักศึกษาหัวรุนแรงที่นำโดย Daniel Cohn-Bendit, ขบวนการ 22 มีนา (หมายเหตุ : ขบวนการ 22 มีนา เป็นขบวนการที่ก่อตัวขึ้นมาเพื่อเป็นการระลึกถึงการจับกุมบรรดาผู้นำนักศึกษาเกี่ยวกับองค์กรประท้วงการต่อต้านเวียดนาม)

Lyotard ได้ให้การสนับสนุนพวกเขาทำการต่อต้านพรรค, สหภาพ, และหนังสือพิมพ์, อำนาจของมหาวิทยาลัย, รัฐบาล และท้ายสุด ต่อต้านต่อการระงับความรุนแรงเกี่ยวกับการยึดครองของพวกเขา และ Nanterre ได้ถูกโหมกระหน่ำและระดมยิงโดยตำรวจปราบจลาจลฝรั่งเศสในช่วงต้นของเดือนพฤษภา 1968

บรรดานักศึกษาทั้งหลายได้โต้ตอบโดยลงไปบนท้องถนนหลายสาย ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทต่างๆซึ่งมีบรรดาคนงานทั้งหลายที่ไม่พอใจและปฏิเสธต่อนโยบายของรัฐบาล, เมื่อเป็นเช่นนี้ กาลก็ถึงแก่การสไตรค์หรือประท้วงที่สมบูรณ์ขึ้นมาของมวลชนโดยทั่วไป

ความล้มเหลวของพรรคและสหภาพที่จะสนับสนุนการปฏิวัติ, การสบคบคิดกันของพวกเขากับรัฐในการช่วยกันระงับปราบปรามในนามของการหวนคืนกลับไปสู่รัฐบาลของประชาชน ได้เป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการทรยศของฝ่ายซ้าย เกี่ยวกับคำมั่นสัญญาของการปฏิวัติ และบทบาทหน้าที่ของมันในฐานะที่เป็นอวัยวะอันหนึ่งของการควบคุมนักสถิติทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

มันเป็นด้วยเหตุผลอันนี้ที่ Lyotard ยังคงถือว่าเหตุการณ์เดือนพฤษภา 1968 เป็นขอบคมของใบมีดโกน ที่ตัดแยกอภิวาทกรรมหรือคำบรรยายอันยิ่งใหญ่ของมาร์กซิสท์ หรือที่เรียกว่าMarxist metanarrative ที่ฝ่อลีบห่อเหี่ยวนั้นออกจากความเป็นหลังสมัยใหม่(postmodernity)มาจนกระทั่งถึงทศวรรษที่ 1980s

นับจากนั้นมา หนึ่งในสโลแกนที่แต่งแต้มบนกำแพงผนังต่างๆของกรุงปารีสในช่วงระหว่าง the evenements (event) ก็คือ - สหาย, มนุษยชาติจะไม่มีความสุขเลย จนกว่านายทุนคนสุดท้ายจะถูกแขวนอยู่กับไส้พุงต่างๆของขุนนางคนท้ายสุด -

สถานการณ์นิยม (Situationism)
ทัศนะดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างกระฉับกระเฉงโดยกลุ่มที่เรียกว่า"สถานการณ์นิยมระหว่างประเทศ"(the Situationist International), ซึ่งหนังสือเล่มเล็กๆของกลุ่มที่ชื่อว่า "On the poverty of Student life"(บนความขัดสนของชีวิตนักศึกษา) ได้รับการเขียนขึ้นมาโดยความร่วมมือกับบรรดานักกิจกรรม Strasbourg ซึ่งเป็นนักศึกษาที่โกรธแค้นในบทบาทของมหาวิทยาลัย ในฐานะที่ทำหน้าที่ฝึกฝนและสร้างงผู้บริหารประเภทที่ชอบเรียกร้องความสนใจต่อสาธารณชน(spectacle)ขึ้นมา, และคนเหล่านี้ได้บีบบังคับรัฐให้ทำการจับกุม พยายามและตำหนิประณามบรรดานักศึกษาทั้งหลาย - และยอมรับการคุกคามต่อท่าทีความซ้ำซากของชีวิตประจำวันภายใต้แนวคิดลัทธิทุนนิยมโดย The SI. (French. Systeme International [d'Unites] - International System of Unite)

บรรดานักสถานการณ์นิยมทั้งหลาย ตัวของพวกเขาเองนั้น ได้มีบทบาทอย่างมากต่อเหตุการณ์ the evenements (event), ซึ่งได้วิจารณ์และแสดงความคิดเห็นว่า ยุทธวิธีต่างๆของพวกเขาได้ถูกทำให้เป็นผลราวกับว่าหยิบเอามาจากตำรา; กระทั่งการลงไปบนท้องถนน ก็เป็นยุทธวิธีอันหนึ่งที่บรรดานักสถานการณ์นิยมเรียกว่า"drifting" ซึ่งในความหมายหนึ่ง หมายถึง "การกระทำการใหม่กับสภาพแวดล้อมในเมืองเพื่อสร้างจินตนาการ: บนหินที่ปูลาด, หรือชายหาด!"

ไม่เพียงเป็นเรื่องของแก่นสารเกี่ยวกับคำศัพท์ต่างๆของสถานการณ์นิยม และการวิเคราะห์เพื่อค้นหาวิธีการของพวกเขา ที่นำไปสู่ตำรับตำราต่างๆของ Lyotard เท่านั้น นับจากช่วงปลายทศวรรษที่ 1960s และช่วงต้นของทศวรรษที่ 1970s แต่มันยังเป็นการเริ่มต้นจากพื้นฐานอันนี้ด้วย

ซึ่งบทสรุปต่างๆเกี่ยวกับสังคมหนึ่งของ Baudrillard ได้พูดถึงความปรารถนาที่ลอกเลียนกันมาได้ปรากฎตัวขึ้น มันเป็นการจับตาดู The Society of the Spectacle (สังคมเกี่ยวกับความน่าตื่นเต้น)ของ Guy Debord ด้วยข้อสรุปต่างๆของมันที่ผูกกับการจัดการและการผลิตความปรารถนาขึ้นมา โดยผ่านสิ่งที่ยังคงเป็นสื่อที่ดำเนินการโดยรัฐ

แต่อย่างไรก็ตาม ในทางตรงข้ามหรือในเชิงเปรียบเทียบ ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการวิเคราะห์ของ Debord ก็คือว่า, ภายใต้สังคมที่มีปรากฎการณ์ความน่าตื่นเต้น พวกเราทั้งหลายต่างยอมรับหรือนิ่งเฉยในฐานะผู้บริโภคที่ยอมจำนนต่อความน่าตื่นเต้นของตัวเราเอง เราทั้งหลายล้วนถูกแปลกแยกจากความเป็นอยู่

ถ้าหากว่าเราพวกเราต้องการหลุดรอดจากสิ่งเหล่านี้ เราทั้งหลายจะต้องล้มล้างความน่าตื่นเต้นและเครื่องไม้เครื่องมืออันนั้นทิ้งไปเสีย พวกเราจะต้องเป็นผู้ผลิตที่กระฉับกระเฉง เป็นฝ่ายกระทำ(active)เกี่ยวกับการปฏิวัติ

สำหรับ Baudrillard, มันเป็นการปฏิวัติอันหนึ่งต่อความน่าตื่นเต้นที่สามารถกระทำได้เพียงโดยการหยิบเอารูปแบบอีกอันหนึ่งของความน่าตื่นเต้นขึ้นมา, ซึ่งถ้าหากไม่ทำเช่นนั้น, มันก็ไม่อาจที่จะเกิดการปฏิวัติขึ้นมาได้ และจะไม่เป็นที่บันทึกจดจำของสังคมที่ชอบความน่าตื่นเต้นไปแล้ว

ความการปฏิวัติอย่างฉับพลัน ซึ่งบรรดานักสถานการณ์นิยมได้ก่อให้เกิดความปั่นป่วนขึ้นนี้, อันที่จริง ขณะเดียวกันนั้นมันได้พบกับการแสดงออกที่เสมอภาคกันในทันทีบนท้องถนนของกรุงปารีส ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้เกิดการปะทะกันโดยตรง ทั้งกับ"อุดมคติของมาร์กเซียนเกี่ยวกับการปฏิวัติ" ในฐานะที่เป็นพัฒนาการทางด้านองค์กรจากตัวของทุนนิยมเอง, และปะทะกับ"ลักษณะที่ผันแปรไปของ Trotskyite" (โดยหลักการเดิมของแนวคิดนี้ในเชิงทฤษฎี เห็นว่า สังคมนิยมควรจะมีการสถาปนาขึ้นทั่วโลก โดยการปฏิวัติอย่างต่อเนื่อง), ซึ่งบรรดาคนงานและกรรมกรทั้งหลายจะต้องได้รับการช่วยเหลือ เพื่อให้เห็นถึงความอับโชคและความทุกข์ยากที่พวกเขาต่างประสบ โดยบรรดาปัญญาชนและแนวหน้าทางการเมือง

ไม่ใช่ทั้งสงครามและการกดขี่ทางเศรษฐกิจที่ได้สร้างการปฏิวัติอันนี้ขึ้นมา แต่ความซ้ำซากจำเจของการถูกอุดปากอุดจมูกของสังคมที่มั่งคั่งร่ำรวยต่างหากที่ทำให้เกิดการปฏิวัติ

ความล้มเหลวต่างๆของโปรแกรมเหล่านี้ที่จะส่งผลต่อให้เกิดการปฏิวัติ, และการขยายตัวเพิ่มขึ้นของความเป็นขุนนางของลัทธิมาร์กซิสม์นานาชาติ, เช่นดั่งหลักฐาน the Fourth International, ก็เป็นการกระตุ้นเพียงพอแล้วให้มีการประเมินผลกันใหม่อีกครั้ง ในภาพกว้างเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซ์โดยกลุ่มต่างๆ อย่างเช่น Socialisme ou Barbarie (Socialism or Barbarism), ที่ซึ่งทั้ง Debord และ Lyotard เป็นส่วนหนึ่ง

ในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1956-1964, Lyotard ซึ่งเป็นครูสอนพิเศษในอัลจีเรียในช่วงนั้น ได้เสนองานวิเคราะห์เกี่ยวกับการต่อสู้ของประชาชนเพื่อการปลดปล่อยอัลจีเรียให้เป็นอิสระ และนอกจากนี้ งานชิ้นดังกล่าวยังได้บรรจุบทเรียนสำหรับลัทธิมาร์กซ์เอาไว้ด้วย. ข้อสรุปอันเป็นพื้นฐานของกลุ่มก็คือว่า ความเป็นขุนนางราชการของลัทธิคอมมิวนิสต์สากลได้เผยให้เห็นถึงขอบเขตอันนั้น ซึ่งมันได้กลับกลายเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของลัทธิทุนนิยมขุนนาง(bureaucratic capitalism)ไปแล้ว

ภายหลังจากที่กลุ่มดังกล่าวดำรงอยู่ต่อมา ตัวของมันเองเริ่มที่จะแข็งตัวขึ้นและดันทุรังมากขึ้น, Lyotard จึงได้ทิ้งกลุ่ม เพื่อไปร่วมมือกับกลุ่มใหม่ซึ่งเป็นกลุ่มพลังของคนงาน(Workers' Power), ซึ่งที่นั่นเขาได้ร่วมงานอยู่มาจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1966 และจุดประสงค์หลักของเขาก็คือ ต้องการที่จะขจัดสิ่งลวงตาหรือความเข้าใจผิดออกไป เขากลายเป็นคนที่กระฉับกระเฉงและเป็นพวกที่อยู่ฝ่ายกระทำในกลุ่มการเมืองของนักศึกษาที่ปรากฎตัวขึ้นมา และในท้ายที่สุด เขาได้เข้าร่วมกับขบวนการ 22 มีนา

แม้ว่าบ่อยครั้งมากพอที่จะเกิดมีความไม่ลงรอยกันเกิดขึ้นต่อกันและกัน, ระหว่างบรรดา Situationists(นักสถานการณ์นิยม), Socialisme ou Barbarie, และบรรดานักศึกษาที่โกรธแค้น ทั้งหมดมีขึ้นในส่วนที่เกี่ยวกับความเชื่อมั่นที่ว่า ลัทธิมาร์กซ์ไม่ได้เป็นพิมพ์เขียวต่อการปฏิวัติอีกต่อไป. กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ, ลัทธิมาร์กซ์ได้กลายเป็นสิ่งหนึ่งของอดีตไปเรียบร้อยแล้วนั่นเอง

สำหรับ Lyotard, ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ the evenements. อะไรคือเหตุที่กระตุ้นสนับสนุนเขาเรียกร้องตำแหน่งที่ชี้ขาดอันหนึ่งขึ้นมา, Vis-a-vis Marxism, (เผชิญหน้ากับลัทธิมาร์กซ์), สำหรับเหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้ ? แน่นอน ลัทธิมาร์กซ์ ได้มาถึงจุดจบแล้วใช่ไหม ? คำตอบก็คือ"ไม่"

ขณะที่การปฏิวัติได้เกิดขึ้นมาในเดือนพฤษภาคมปี 1968 มันได้แสดงให้เห็นถึงการไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ของลัทธิมาร์กซ์ ในฐานะโปรแกรมทางการเมืองอันหนึ่ง. การล่มสลายเกี่ยวกับวาทกรรมหลักของมาร์กซิสท์ ทำให้มีการสังเคราะห์ในขั้นสุดท้ายครั้งใหญ่ นั่นคือ การปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพได้ถือกำเนิดขึ้นมาภายนอกของตัวลัทธิทุนนิยมเอง

อย่างไรก็ตาม อันนี้ไม่ได้นำมาซึ่งการปฏิเสธเกี่ยวกับการวิเคราะห์ของมาร์กซิสท์, แต่เป็นเพียงการปรับปรุงใหม่อีกครั้งในส่วนของคำถามต่างๆ และการประเมินผลกันใหม่อีกรอบเกี่ยวกับเป้าหมายต่างๆของมัน

อย่างเช่นที่ Lyotard ได้เข้าไปพัวพันแล้วนับจากปี 1956 เป็นต้นมา. ด้วยเหตุนี้ ถ้าหากว่าพวกเรามาดูกันที่คำถามแกนหลักที่ถามในหนังสือเรื่อง The Postmodern Condition ที่ว่า

- ทุนนิยมที่อยู่ในสังคมหลังสมัยใหม่ มันมีรูปแบบอะไร ?
- วิธีการผลิตต่างๆในยุคลัทธิหลังสมัยใหม่มันแตกต่างไปจากการก่อตัวทางสังคมก่อนหน้านั้นอย่างไร ?
- การเมืองรูปแบบใดที่สามารถจะโต้ตอบต่อสถานการณ์ที่เป็นไปนี้ได้ ?

ดูเหมือนว่าความต่อเนื่องค่อนข้างมากอันนี้ได้รับการเผยหรือแสดงตัวออกมา ระหว่างการปรับพื้นฐานทางการเมืองเกี่ยวกับแนวคิดของ Lyotard บนอีกด้านหนึ่งของขอบใบมีดโกนของเหตุการณ์พฤษภา ปี 1968

ถ้าเป็นเช่นนั้น รูปแบบอะไรเล่า ที่ลัทธิทุนนิยมหลังสมัยใหม่ครอบครองอยู่ ?

วิวัฒนาการของลัทธิทุนนิยม"ทุนเทคโน"(techno-capital) และ การสิ้นสุดลงของวาทกรรมหลักของลัทธิมาร์กซ์
ดังที่บันทึกเอาไว้ตั้งแต่ต้น ปัจจุบัน แก่นสารสำคัญของสังคมต่างๆหลังสมัยใหม่ก็คือ พันธมิตรใหม่อันหนึ่งซึ่งเป็นการหลอมรวมระหว่าง"ลัทธิทุนนิยม"กับ"เทคโนโลยี". อันนี้นี่เองที่ได้ตระเตรียมเนื้อหาพื้นฐานให้กับข้ออ้างเหตุผลของ Lyotard ที่ว่า ลัทธิทุนนิยมได้ปรากฎตัวขึ้นในลักษณะที่มีชัยชนะต่อความขัดแย้งเกี่ยวกับวาทกรรมหรือคำบรรยายต่างๆ

กำไรไม่ได้ต้องการที่จะได้รับการยืนยันในเรื่องความถูกต้องชอบธรรม หรือการอ้างอิงถึงวาทกรรมหรือคำบรรยายหลักอีกต่อไปแล้ว เกี่ยวกับเรื่องการทำให้เกิดความก้าวหน้าในเรื่องเสรีภาพของปัจเจก เพราะสิ่งเหล่านี้ มันเป็นจริงขึ้นมาได้โดยผ่าน"ตลาด" นับแต่ที่มันได้รับการพิสูจน์ในทันทีโดยการมีส่วนร่วมในบรรทัดฐานแห่งความสำเร็จเพียงลำพังของมันกับเทคโนโลยี ซึ่งได้กลายมาเป็นวิถีเกี่ยวกับการผลิตความรู้, ข้อมูล, ข่าวสาร, และอำนาจ.

ด้วยเหตุนี้ วิธีการผลิตที่ได้ให้ความมั่นคงเกี่ยวกับอำนาจในสังคมหลังสมัยใหม่ต่างๆก็คือ"ข้อมูลข่าวสาร" มากกว่า "อุตสาหกรรม"

ทุกๆครั้งที่เครื่องคอมพิวเตอร์ได้ถ่ายเทข้อมูลจำนวนมหาศาลออกมาจากข้อมูลที่ใส่เข้าไปเพียงเล็กน้อย ทุกๆโอกาสที่เวลาและแรงงานได้ถูกประหยัด โดยเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆของเทคโนโลยี ลัทธิทุนนิยมก็จะชนะขึ้นมาทันทีอีกครั้ง

เราไม่สามารถถกเถียงกับลัทธิทุนนิยมได้ นับจากการที่ภายในของตัวมันนั้น มันมิได้ต้องการบทบาทอะไรที่เหลือทิ้งไว้สำหรับปฏิบัติการทางวาทกรรม. และลัทธิทุนนิยมก็ไม่ได้ต้องการการโฆษณาชวนเชื่อใดๆ: การกระทำของทุนปราศจากซึ่งความซื่อสัตย์หรือความจงรักภักดีใดๆ, ซึ่งอันนี้เกี่ยวพันกับกับกฎข้อหนึ่งของมันในเรื่องประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง(meximizing efficiency)

แน่ทีเดียว เงื่อนไขหรือสภาพการณ์หลังสมัยใหม่ เป็นผลลัพธ์อันเนื่องมาจากโครงสร้างสังคมใหม่ๆเหล่านี้. ดังนั้น รูปแบบอะไรเล่า ที่การเมืองหลังสมัยใหม่ควรจะครอบครองเอาไว้ ?

สำหรับการสนับสนุนของ Lyotard เกี่ยวกับ"การทดลอง" ที่กล่าวมาแล้วก่อนหน้านี้ จะต้องถูกนำไปประยุกต์ใช้กับบริบทขององค์กรของสังคมต่างๆหลังสมัยใหม่ที่สำคัญๆ. สถานการณ์ดังกล่าวเรียกร้องต้องการการทดลองไม่เพียงระดับของสุนทรียภาพเท่านั้น, แต่มันยังเรียกร้องต้องการว่า สื่อของทุนเทคโน(techno-capital) ที่ซึ่งความรู้, อำนาจ และข้อมูล จะต้องได้รับการกักตุนเอาไว้ด้วย, ซึ่งมันเป็นเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ในตัวมันเองของการทดลองอย่างถึงราก

เพราะฉะนั้น อันนี้คือประวัติศาสตร์ของเงื่อนไขหรือสภาพการณ์ของหลังสมัยใหม่: ซึ่งในด้านหนึ่งนั้น มันคือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวิวัฒนาการของลัทธิทุนนิยมที่เคลื่อนไปสู่"ทุนเทคโน"(techno-capital), ส่วนในอีกด้านหนึ่งนั้น มันคือประวัติศาสตร์ของการสิ้นสุดลงของวาทกรรมหลักของลัทธิมาร์กซ์ และการขานรับของฝ่ายซ้ายอันว่างเปล่า โดยการบรรลุผลอันสมบูรณ์มากที่สุดของคลังความรู้ต่างๆที่สำคัญ

สรุป

การค้าเสรีในอัตลักษณ์เชิงทฤษฎีของลัทธิหลังสมัยใหม่ในโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษ กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ได้บูชายัญหรือทำการสังเวยประวัติศาสตร์ทางการเมืองของปรัชญาฝรั่งเศสเกี่ยวกับลัทธิหลังสมัยใหม่ ให้กับความสะดวกง่ายดายในลักษณะที่ขัดๆเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆชนิดหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว สืบทอดมาจากข้อสรุปต่างๆที่เสนอออกมาในงานต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ความเร่งรีบสำหรับความใหม่ โดยการจ่ายหรือสูญเสียความตราตรึงทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงบางสิ่งเกี่ยวกับการทดลองอันหนึ่งในรูปแบบต่างๆของความรู้และการกระทำทางการเมืองไป, และการรุกล้ำต่างๆที่สร้างขึ้นมาโดยลัทธิหลังสมัยใหม่เข้าสู่ขอบเขตพื้นที่ต่างๆ อย่างเช่น กฎหมาย, ทฤษฎีทางการเมือง, และลัทธิสตรีนิยม, แน่นอน มันเป็นการแสดงให้เห็นถึงเสาหลักต่างๆของการทดลองอันนี้

นั่นคือ ถ้าหากว่าทฤษฎีถูกถือว่าเป็นเครื่องมืออันหนึ่งที่ได้รับการรวบรวมขึ้นมาอันไม่เกี่ยวข้องอะไรกับความหมายทางวิชาการบางอย่างในเชิงประวัติศาสตร์ของมัน แต่เป็นไปตามความต้องการเกี่ยวกับภารกิจแค่เอื้อม หากเป็นเช่นนั้นแล้วละก็ การถอดถอนมันจากห้องใต้ดินที่ปราศจากเชื้อของการถกเถียงกันทางวิชาการ ก็อาจจะยังประโยชน์ในเชิงปฏิบัติที่เป็นจริง

แน่นอน การเมินเฉยต่อประวัติศาสตร์ ดังที่บ่อยครั้งมันได้รับการตั้งข้อสังเกต, และถูกประณามในเรื่องการละเลยที่จะกระทำซ้ำๆ, แต่ในธรรมชาติของการทดลองนั้น มันเป็นเรื่องที่ไม่อาจรู้ได้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นมา. นอกจากนี้ ถ้าเผื่อว่าเครื่องมือต่างๆของอดีต - ลัทธิมาร์กซ์, โครงการของยุคสว่าง(the Enlightenment project), แนวคิดตลาดเสรี และอื่นๆ - ได้รับการพยายามและพานพบกับความต้องการ, หากเป็นเช่นนั้นละก็ การทดลองก็จะเป็นที่เรียกร้องต้องการ

ดังที่ Lyotard กล่าว, "หลัง"ของ"ลัทธิหลังสมัยใหม่"ไม่ต้องการสัญญานที่ว่ามันได้มาถึง ณ จุดจบ, แต่มันเป็นการได้มา ณ จุดเริ่มต้นของความเป็นสมัยใหม่. แล้วอะไรคือความเป็นสมัยใหม่อันใหม่ ที่เริ่มปรากฎตัวขึ้นมาจากการเมืองหลังสมัยใหม่อันนี้ ???

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 243 หัวเรื่อง การเมืองในยุคหลังสมัยใหม่ - บทความแปลและเรียบเรียงสำหรับสมาชิกและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

แน่นอน ความหวังต่างๆเกี่ยวกับการจัดการเรื่องราวที่มีอยู่อย่างมากมายในยุคสมัยของเรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ"ลัทธิเผ่าพันธุ์แต่ละท้องถิ่น"(racism), ความน่าหวาดหวั่นเกี่ยวกับความสลับซับซ้อน ซึ่งมากับอุตสาหกรรมบันเทิงที่รุนแรงแบบทหาร, แรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่เด่นชัด, คอนโซลคาวบอย(console-cowboy)ที่ใช้ในการขจัดเป้าหมาย ด้วยอาวุธทำร้ายล้างอันรุนแรงและเกินความจำเป็นของสงครามอ่าวเปอร์เชีย(Gulf War), ทั้งหมดที่ผ่านมาดูเหมือนว่า มันไม่ได้มีการนำเสนอทางเลือกใหม่ใดๆขึ้นมาเลย" (บางส่วนจากบทความ)

เพราะฉะนั้น อันนี้คือประวัติศาสตร์ของเงื่อนไขหรือสภาพการณ์ของหลังสมัยใหม่: ซึ่งในด้านหนึ่งนั้น มันคือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับวิวัฒนาการของลัทธิทุนนิยมที่เคลื่อนไปสู่"ทุนเทคโน"
(techno-capital), ส่วนในอีกด้านหนึ่งนั้น มันคือประวัติศาสตร์ของการสิ้นสุดลงของวาทกรรมหลักของลัทธิมาร์กซ์

QUOTATION

การเปิดให้มีการทดลองมันจะเป็นการสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ๆจากข้างล่างขึ้นไปสู่ข้างบนแทน. อันนี้หากเรากวาดตาดูรอบๆ จะพบเสียงประสานที่มาสอดรับกับเรื่องนี้ โดยที่วิธีการทางด้านวิทยาศาสตร์ได้ใช้ภาษาเกี่ยวกับการทดลองเป็นเครื่องมือในการค้นหาและค้นพบสิ่งใหม่ๆ ซึ่งอันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความเข้าใจแง่มุมต่างๆของลัทธิหลังสมัยใหม่ แต่บ่อยครั้งเรามักจะมองข้ามเรื่องพวกนี้ไป

ดังที่ Lyotard กล่าว, "หลัง"ของ"ลัทธิหลังสมัยใหม่"ไม่ต้องการสัญญานที่ว่ามันได้มาถึง ณ จุดจบ, แต่มันเป็นการได้มา ณ จุดเริ่มต้นของความเป็นสมัยใหม่. แล้วอะไรคือความเป็นสมัยใหม่อันใหม่ ที่เริ่มปรากฎตัวขึ้นมาจากการเมืองหลังสมัยใหม่อันนี้ ???
(บางส่วนจากบทความ)

H