สงครามระหว่างสหรัฐกับอิรัค
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน - เกี่ยวกับต่อต้านสงคราม

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 250 เดือนมีนาคม 2546 หัวเรื่อง การต่อต้านสงครามสหรัฐกับอิรัก

การประจันหน้ากับจักรวรรดิ์ โดย Noam Chomsky ปาฐกถาในเวทีสังคมโลก วันที่ 27 มกราคม 2546 ที่เมืองปอร์โต อัลเลเกร บราซิล

 

เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
วันพุธที่ 26 มีนาคม 2546
(ความยาวประมาณ 16 หน้ากระดาษ A4 )
release date 260346
R
การต่อต้านสงครามที่เกิดขึ้นนับเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ และได้เพิ่มสูงขึ้น จนกระทั่งนายดอนัลด์ รัมเฟลด์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเพิกเฉยต่อประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศส โดยหาว่าเป็นเพียง "ยุโรปเก่า" และไม่ให้ความใส่ใจต่อประเทศเหล่านั้น ทั้งนี้เพราะความดื้อดึงต่อต้านของประเทศทั้งสอง เขากล่าวให้ความมั่นใจต่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่า "คนจำนวนมากในประเทศอื่น ๆ ในยุโรปล้วนเข้าข้างสหรัฐอเมริกา" คนจำนวนมากซึ่งเขาหมายถึงว่าเป็น "ยุโรปใหม่" มีตัวแทนอย่างเช่น นายบูโรสโคนีแห่งประเทศอิตาลี ซึ่งกำลังมาเยือนทำเนียบขาว และกำลังสวดภาวนาว่าจะได้รับเชิญให้เป็นส่วนหนึ่งของผู้นำทั้งสามที่มีชื่อขึ้นต้นด้วยตัวอักษรบี คือ นายบุช นายแบลร์ และนายบูโรสโคนี โดยคิดไปว่าเขาจะรอดจากคุกไปได้
บทความนี้นำมาจากแฟ้มข้อมูล คณะทำงานวาระทางสังคม(Social Agenda Working Grup : Thailand) ศ.ดร.อมรา พงศาพิชญ์ ประธายคณะทำงานฯ

ผลของการคว่ำบาตรทำให้ "ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอิรักอยู่ในสภาพอดอยากขาดแคลนเป็นเวลาหลายปีแล้ว" ทั้งนี้ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก อิรักได้กลายเป็นประเทศอ่อนแอที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้ ทั้งค่าใช้จ่ายด้านเศรษฐกิจและการทหารของอิรักคิดเป็นเพียงเสี้ยวส่วนหนึ่งของงบประมาณของประเทศคูเวต ทั้ง ๆ ที่คูเวตมีจำนวนประชากรเพียงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับประชากรในอิรัก และอิรักก็จัดว่าเป็นประเทศค่อนข้างล้าหลังมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

การสำรวจประชามติหลายชิ้นชี้ว่า ประชาชนในสหรัฐให้การสนับสนุนต่อสงครามที่กำลังจะมีขึ้นมากกว่าในที่อื่น ๆ แต่ตัวเลขนั้นก็มีความผิดพลาดอยู่ เราจำเป็นต้องตระหนักว่ามีการโหมโฆษณาชวนเชื่ออย่างน่ากลัวว่า ถ้าเราไม่หยุดยั้งนายซัดดัมในวันนี้ เขาก็จะทำลายเราในวันรุ่งขึ้น ดังที่นางคอนโดลิซา ไรซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติประกาศเมื่อเดือนกันยายนว่า หลักฐานต่อไปที่ชี้ให้เห็นว่านายซัดดัมครอบครองอาวุธที่มีพลานุภาพทำลายล้างสูงอยู่อาจเป็น "เมฆหมอกที่ปกคลุมเหมือนเห็ดเหนือน่านฟ้ากรุงนิวยอร์ก"

เผชิญหน้ากับจักรวรรดิ
เวทีประชาสังคมโลก ปอร์โต อัลเลเกร บราซิล
โดย นอม ชอมสกี

แปลโดย : พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ และ วิภาพันธ์ ก่อเกียรติขจร

พวกเรากำลังประชุมกันในช่วงที่สำคัญของประวัติศาสตร์โลก ซึ่งมีความโดดเด่นในหลายประการ กล่าวคือเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างเลวร้าย แต่ก็ยังมีความหวังอย่างเต็มเปี่ยม

รัฐซึ่งทรงอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์ได้ก้าวออกมาประกาศอย่างชัดเจนและแข็งกร้าวว่า พวกเขาต้องการปกครองโลกด้วยกำลัง กล่าวคือการก้าวขึ้นเป็นมหาอำนาจสูงสุดแห่งโลก นอกเหนือจากการปฏิบัติตนตามเจตนารมณ์อันทรงเกียรติโดยทั่วไปอย่างเซื่อง ๆ ซึ่งส่งเสริมมาตรฐานการใช้กำลังเข้าบังคับคุกคาม (ซึ่งปราศจากคุณค่าอันใด) บรรดาผู้นำของประเทศนั้นยังมุ่งจะดำเนินการตาม "ความทะเยอทะยานแบบจักรวรรดินิยม" ซึ่งเป็นคำที่ใช้อธิบายถึงความต้องการของพวกเขาได้อย่างถูกต้องโดยนิตยสารชั้นนำ ที่ว่าด้วยการสถาปนานโยบายการต่างประเทศ ซึ่งเป็นการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสำคัญอย่างหนึ่ง พวกเขายังได้ประกาศว่าจะไม่ยอมรามือให้กับผู้ที่เข้ามาต่อกรแข่งขันทั้งในปัจจุบันหรือในอนาคต พวกเขาเชื่อมั่นอย่างเหลือเกินว่าวิถีทางแห่งความรุนแรงซึ่งพวกเขามีอยู่ในมือนั้น มีความวิเศษอย่างมาก และพวกเขาไม่ต้องไปสนใจต่อคำเย้ยหยันถากถางของผู้ที่จะเข้ามาขัดขวางเอาเสียเลย เหตุผลหลายประการชี้ให้เห็นว่าสงครามต่ออิรักนั้นเป็นเรื่องที่จงใจให้เกิดขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งก็เพื่อสอนให้โลกรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้าจักรวรรดิอันทรงอำนาจตัดสินใจจะตอบโต้กลับคืน แม้ว่าการใช้คำว่า "สงคราม" ไม่ใช่คำที่เหมาะสมนักเมื่อเทียบสรรพกำลังระหว่างทั้งสองฝ่าย

ลัทธิความเชื่อนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือมีแต่เฉพาะกับประเทศสหรัฐอเมริกา เพียงแต่ว่ายังไม่เคยมีรัฐใดประกาศความเชื่อเช่นนี้ด้วยความยะโสโอหังดังเช่นสหรัฐอเมริกาทำ หรืออย่างน้อยก็ไม่มีใครจำได้ว่าประเทศใดเคยทำเช่นนั้น

ข้าพเจ้าจะไม่พยายามตอบคำถามที่หยิบยกขึ้นในการประชุมครั้งนี้ กล่าวคือ เราจะเผชิญหน้ากับจักรวรรดิได้อย่างไร

เหตุผลก็เพราะพวกท่านเกือบทั้งหมดต่างทราบถึงคำตอบเป็นอย่างดีหรือดีกว่าที่ข้าพเจ้าทราบ ทั้งนี้โดยผ่านการดำเนินชีวิตและการทำงานของพวกท่านเอง วิธี "เผชิญหน้ากับจักรวรรดิ" ก็คือการสร้างโลกที่แตกต่างขึ้นมา โลกที่ไม่ได้มีพื้นฐานอยู่บนความรุนแรงและการใช้กำลังข่มเหงบังคับ และไม่ได้อยู่บนฐานของความเกลียดและความกลัว นี้เป็นเหตุให้เรามาอยู่ร่วมกันที่นี่ และเวทีประชาสังคมโลกช่วยให้ความหวังกับเราว่า สิ่งที่เราฝันไม่ได้เป็นเพียงความหวังลม ๆ แล้ง ๆ

เมื่อวานนี้ข้าพเจ้าได้รับเกียรติอย่างพิเศษให้ได้ชมผลงานอันน่าชื่นชม และให้กำลังใจว่า เราจะก้าวไปสู่เป้าหมายเหล่านี้ได้ ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมในการประชุมนานาชาติของกลุ่มชาวนาโลก (Via Campesina) ณ ชุมชนของขบวนการแรงงงานผู้ไร้ที่ดิน ซึ่งข้าพเจ้าคิดว่าเป็นขบวนการประชาชนที่สำคัญและน่าตื่นใจมากที่สุดในโลก ทั้งการทำงานอย่างสร้างสรรค์ในท้องถิ่นของขบวนการแรงงงานผู้ไร้ที่ดิน และการปฏิบัติการระดับนานาชาติของขบวนการชาวนาโลกและเวทีประชาสังคมโลก ซึ่งกอปรไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ ความสามัคคี และความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พวกเราต่างมีความหวังอย่างแท้จริงต่ออนาคตอันเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ

ประสบการณ์เมื่อเร็ว ๆ นี้ให้ภาพของโลกใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับข้าพเจ้าอย่างชัดเจน เมื่อความรุนแรงแบบจักรวรรดินิยมยังไม่ถูกควบคุมและทำลายไป เมื่อเดือนที่แล้วข้าพเจ้ามีโอกาสเดินทางไปภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศตุรกี และได้พบกับสภาพความโหดร้าย รุนแรง ซึ่งดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 เมื่อไม่กี่ชั่ว

โมงที่แล้วนี่เอง พวกเราต่างได้รับทราบว่าทหารได้ก่อการฆ่าฟันอย่างทารุณโหดร้ายขึ้นมาอีก ใกล้กับเมืองดิยาร์บาเกีย อันเป็นเมืองหลวงอย่างไม่เป็นทางการของเขตชาวเคิร์ด

ตลอดช่วงทศวรรษ 1990 ประชาชนเป็นจำนวนนับล้าน ๆ คนได้ถูกขับออกจากพื้นที่ชนบทที่ถูกทำลายไป ประชาชนนับหมื่น ๆ คนได้ถูกเข่นฆ่าสังหารด้วยการทรมานอย่างป่าเถื่อน พวกเขาพยายามเอาชีวิตรอดโดยอาศัยอยู่ตามถ้ำภายนอกกำแพงเมืองดิยาร์บาเกีย หรือไม่ก็พากันไปอาศัยในบ้านช่องที่มีสภาพเลวร้ายตามแหล่งเสื่อมโทรมในกรุงอิสตันบูล หรือที่ใดก็ตามที่พวกเขาสามารถอาศัยอยู่ได้ พวกเขาถูกห้ามไม่ให้อพยพคืนกลับสู่ถิ่นฐานของตนเอง แม้จะมีกฎหมายใหม่ซึ่งอนุญาตให้พวกเขากลับไปได้ก็ตาม ร้อยละ 80 ของอาวุธทำลายล้างเหล่านี้มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา เฉพาะในปี 1997 รัฐบาลนายคลินตันได้ส่งมอบอาวุธให้กับตุรกีมากกว่าจำนวนอาวุธทั้งหมดที่เคยส่งมอบ นับตั้งแต่ช่วงสงครามเย็นมาจนถึงยุคที่รัฐบาลรณรงค์ปราบปรามการก่อการร้ายดังที่เรียกกันว่า "การต่อต้านการก่อการร้าย" ซึ่งดำเนินการโดยผู้นำการก่อการร้ายเอง และผู้ที่ให้ความสนับสนุน ตุรกีได้กลายเป็นประเทศผู้นำในการรับมอบอาวุธจากสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะในช่วงที่การเข่นฆ่าสังหารดำเนินขึ้นสู่จุดสูงสุด (นอกเหนือจากสงครามระหว่างอิสราเอลและอียิปต์ ซึ่งเป็นสงครามในอีกรูปแบบหนึ่ง)

ในปี 1999 ประเทศตุรกีตกมาอยู่ในอันดับสองรองจากประเทศโคลัมเบีย เหตุผลก็เพราะว่าการก่อการร้ายในตุรกีที่หนุนหลังโดยสหรัฐอเมริกาได้ประสบความสำเร็จอย่างกว้างขวาง ในขณะที่การก่อการร้ายในโคลัมเบียยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ในช่วงทศวรรษ 1990 โคลัมเบียเป็นประเทศที่มีสถิติการละเมิดสิทธิมนุษยชนเลวร้ายที่สุดในบรรดาประเทศฝั่งโลกตะวันตก และจนถึงปัจจุบันยังคงเป็นประเทศผู้นำอันดับหนึ่งในการรับมอบอาวุธสงครามและการอบรมทางการทหารจากสหรัฐอเมริกา โคลัมเบียยังนำหน้าอีกหลายประเทศในโลกด้วยมาตรการต่าง ๆ อย่างเช่น การเข่นฆ่าสังหารผู้นำขบวนการแรงงาน มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้นำแรงงานที่ถูกสังหารทั่วโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอยู่ในประเทศโคลัมเบีย ประชาชนเกือบครึ่งล้านคนได้ถูกขับออกจากที่ดินของตนเองเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งนับเป็นสถิติใหม่ทีเดียว จำนวนประชากรทั้งหมดที่ถูกบังคับโยกย้ายประมาณกันว่าอยู่ที่ 2.7 ล้านคนจนถึงปัจจุบัน การสังหารโดยมีเป้าหมายทางการเมืองได้เพิ่มขึ้นเป็น 20 ศพต่อวันเทียบกับครึ่งหนึ่งของจำนวนนั้นเมื่อห้าปีก่อน

ข้าพเจ้าได้ไปเยือนเมืองเคาคาในตอนใต้ของโคลัมเบีย ซึ่งมีสถิติการละเมิดสิทธิมนุษยชนเลวร้ายที่สุดในประเทศในปี 2001 ซึ่งนับเป็นความสำเร็จอย่างน่าประหลาด ณ ที่นั้น ข้าพเจ้าได้รับฟังปากคำของชาวนาชาวไร่เป็นเวลาหลายชั่วโมง พวกเขาได้ถูกขับออกจากที่ดินของตนเองเพราะภัยของสงครามเคมี ซึ่งเรียกว่า "การรมควัน" อันเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ทำ "สงครามต่อต้านยาเสพติด" ที่นำโดยประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโครงการที่คนไม่มากนักให้ความสำคัญและเป็นเรื่องน่าอายหากจะอ้างว่ามีเจตนาเช่นนั้น ชีวิตและผืนดินของพวกเขาได้ถูกทำลาย เด็ก ๆ กำลังตายลงไป พวกเขาต่างทนทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บและอาการบาดเจ็บ เกษตรกรรมของชาวไร่ชาวนาเหล่านี้มีรากฐานอยู่บนภูมิปัญญาและประสบการณ์ดั้งเดิมซึ่งสั่งสมกันมาในชั่วหลายศตวรรษ ซึ่งโดยมากจะถ่ายทอดจากแม่ไปสู่ลูกสาว แม้ว่าภูมิปัญญาชาวบ้านเหล่านี้จะนับเป็นความสำเร็จอย่างสำคัญของมนุษยชาติ แต่ก็มีความเปราะบางและอาจถูกทำลายให้หมดไปได้ในชั่วคนรุ่นเดียว นอกจากนี้ยังมีการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมหาศาลในโลก ซึ่งคล้ายคลึงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างบราซิล ชาวแคมเปซิโนสซึ่งเป็นชนพื้นเมืองเชื้อสายอัฟริกันในโคลัมเบียถูกขับให้ไปอาศัยอยู่ร่วมกับชาวสลัมนับล้าน ๆ คน หรือไม่ก็อาศัยอยู่ตามค่ายผู้อพยพ เมื่อคนเหล่านี้ได้ถูกขับออกไปแล้ว บรรดาบรรษัทข้ามชาติต่างก็เข้ามายื้อแย่งกันขุดเอาถ่านหินและสกัดเอาน้ำมันรวมทั้งทรัพยากรอื่น ๆ ไปจากขุนเขาแถบนี้ พร้อมกับแปลงผืนดินส่วนที่เหลือสำหรับการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่ออุตสาหกรรมส่งออก โดยใช้เมล็ดพันธุ์ที่ผลิตขึ้นในห้องทดลอง ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ปราศจากคุณสมบัติและความหลากหลายตามธรรมชาติ

สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองเคาคาและทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศตุรกี แตกต่างอย่างมากกับการเฉลิมฉลองในการชุมนุมขบวนการชาวนาโลก ณ ชุมชนขบวนการแรงงงานผู้ไร้ที่ดิน แต่ทั้งประเทศตุรกีและโคลัมเบียต่างก็มีผลงานอันน่าชื่นชมและให้ความหวังในหลายประการ ดังเราจะเห็นได้จากความกล้าหาญและความเสียสละของประชาชนในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและเสรีภาพ ในการเผชิญหน้ากับจักรวรรดินิยมที่มุ่งเข่นฆ่าและทำลาย

สิ่งเหล่านี้เป็นสัญลักษณ์ของอนาคต หาก "ความทะเยอทะยานแบบจักรวรรดินิยม" ยังคงดำเนินต่อไปอย่างที่เป็นมา ทั้งยังเพิ่มความรุนแรงมากยิ่งขึ้นตามยุทธศาสตร์ใหญ่ที่มุ่งควบคุมโลกด้วยการใช้กำลัง ขบวนการเหล่านี้จะเติบโตขึ้น และในบรรดาแม่แบบที่จะหยุดยั้งอาชญากรรมเหล่านี้ได้ เห็นจะได้แก่ขบวนการที่ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงแล้วอย่างเช่น ขบวนการแรงงงานผู้ไร้ที่ดิน ขบวนการชาวนาโลก และเวทีประชาสังคมโลก

ณ เวทีประชาสังคมโลก เราได้หยิบยกประเด็นและปัญหาอันหลากหลายเพื่อการอภิปรายอย่างเข้มข้น แต่ข้าพเจ้าคิดว่าเราสามารถแยกแยะประเด็นปัญหาเหล่านี้ออกเป็นสองส่วนที่สำคัญ ส่วนแรกได้แก่ ความยุติธรรมของโลกและชีวิตภายหลังยุคทุนนิยม หรือพูดอย่างง่าย ๆ คือการมีชีวิตรอดอยู่ ทั้งนี้เพราะจะไม่มีความชัดเจนเลยว่าเผ่าพันธุ์มนุษย์จะดำรงสืบเนื่องต่อไปได้อีกนานเพียงใดภายใต้สถาบันทุนนิยมระดับชาติอย่างที่เป็นอยู่นี้ ประเด็นหลักที่สองเกี่ยวข้องกับสงครามและสันติภาพ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามต่อประเทศอิรักซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันแม้ว่าจะโดดเดี่ยว จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ

ขอให้เริ่มจากข่าวดีบางประการเกี่ยวกับประเด็นหลักทั้งสองนี้ ดังที่ท่านทราบอยู่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันนี้กำลังมีการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกอยู่ในกรุงดาวอส ในขณะที่ในกรุงปอร์โต อัลเลเกร บรรยากาศการชุมนุมของเราเต็มไปด้วยความหวัง ความเข้มแข็ง และความน่าตื่นใจ ในกรุงดาวอส หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์รายงานว่า "บรรยากาศได้มืดครึ้มลง" สำหรับ "นักเต้นและนักดื่ม" มันไม่ได้เป็น "ช่วงเวลาสำหรับการสังสรรค์ของโลก" อีกต่อไป อันที่จริงประเทศผู้ก่อตั้งเวทีเศรษฐกิจโลกต่างยอมรับถึงความพ่ายแพ้ เขาได้กล่าวว่า "พลังของบรรษัทได้สูญหายไปหมดสิ้น" ถ้าเช่นนั้นเราก็ได้รับชัยชนะแล้ว เราไม่จำเป็นต้องมัวแต่ปะติดปะต่อชิ้นส่วนที่ถูกทำลายขึ้นมาอีก ไม่จำเป็นเลยที่มัวแต่พูดถึงวิสัยทัศน์ของอนาคตที่มีความยุติธรรมและความเป็นมนุษย์ หากเราต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อสร้างสรรค์โลกใบใหม่ขึ้นมา

แน่นอนว่าเราต้องไม่หลงไปกับคำสรรเสริญเยินยอเหล่านั้น เพราะยังมีอุปสรรคบางอย่างอยู่ในภายภาคหน้า

ประเด็นหลักในการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกคือ "การสร้างความไว้วางใจ" ซึ่งก็มีเหตุผลที่ทำให้พวกเขาประชุมกันในหัวข้อนั้น "เจ้าจักรวาล" ซึ่งเป็นคำที่พวกเขามักใช้เรียกตนเองในช่วงแห่งวันวารที่รุ่งเรือง พวกเขารู้ว่าตนเองกำลังเผชิญกับปัญหาที่ร้ายแรง เมื่อเร็ว ๆ นี้พวกเขาได้เผยผลการสำรวจที่แสดงให้เห็นว่า ความไว้วางใจในบรรดาผู้นำประเทศเหล่านี้ได้ลดลงอย่างมากมาย เฉพาะผู้นำขององค์กรพัฒนาเอกชนเท่านั้นที่ได้รับความไว้วางใจจากเสียงส่วนใหญ่อย่างชัดเจน ตามมาด้วยองค์การสหประชาชาติและผู้นำด้านจิตวิญญาณและศาสนา จากนั้นจึงตามมาด้วยผู้นำในยุโรปตะวันตกและผู้กำหนดนโยบายด้านเศรษฐกิจ รองลงไปคือผู้บริหารของบรรษัท และที่ต่ำลงไปกว่านั้นก็คือผู้นำของสหรัฐอเมริกาซึ่งได้รับความไว้วางใจเพียงประมาณร้อยละ 25 ซึ่งนั่นหมายถึงว่าพวกเขาแทบไม่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนในโลกเลย แต่กระนั้นเมื่อมีการถามคนทั่วไปว่าเชื่อมั่นในตัวผู้นำที่มีอำนาจหรือไม่ พวกเขามักจะตอบว่า "ใช่" ด้วยความเคยชิน

สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ผลสำรวจประชามติในประเทศแคนาดาพบว่า มากกว่าหนึ่งในสามของประชากรที่นั่นเห็นว่าสหรัฐอเมริกาเป็นภัยร้ายแรงที่สุดต่อสันติภาพของโลก สหรัฐอเมริกาเป็นภัยร้ายแรงมากกว่าเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับประเทศอิรักและเกาหลีเหนือและมากกว่ากลุ่มอัลกออิดะห์มากมายนัก ผลการสำรวจประชามติอย่างไม่เคร่งครัดโดยนิตยสารไทม์ชี้ให้เห็นว่า มากกว่าร้อยละ 80 ของผู้ตอบแบบสอบถามในยุโรปเห็นว่า สหรัฐอเมริกาเป็นภัยร้ายแรงที่สุดต่อสันติภาพของโลก เมื่อเทียบกว่าไม่ถึงร้อยละ 10 ที่คิดว่าอิรักหรือเกาหลีเหนือเป็นภัยต่อสันติภาพของโลก แม้ว่าอาจมีความผิดพลาดบางอย่างเกี่ยวกับตัวเลขเหล่านี้ แต่มันก็นับเป็นเรื่องน่าตื่นใจอย่างยิ่ง

ผู้นำของบรรษัทที่จ่ายเงินสามหมื่นเหรียญสหรัฐเพื่อเข้าร่วมการประชุมอันมืดมนที่กรุงดาวอส มีเหตุผลสำคัญที่เลือกจะประชุมในหัวข้อ "การสร้างความไว้วางใจ"

สงครามที่กำลังจะเกิดขึ้นต่ออิรักส่งผลให้เกิดพัฒนาการที่น่าสนใจและสำคัญอย่างเห็นได้ชัด การต่อต้านสงครามที่เกิดขึ้นนับเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ การต่อต้านสงครามในยุโรปได้เพิ่มสูงขึ้นจนกระทั่งนายดอนัลด์ รัมเฟลด์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเพิกเฉยต่อประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศส โดยหาว่าเป็นเพียง "ยุโรปเก่า" และไม่ให้ความใส่ใจต่อประเทศเหล่านั้น ทั้งนี้เพราะความดื้อดึงต่อต้านของประเทศทั้งสอง เขากล่าวให้ความมั่นใจต่อผู้สื่อข่าวต่างประเทศว่า "คนจำนวนมากในประเทศอื่น ๆ ในยุโรปล้วนเข้าข้างสหรัฐอเมริกา" คนจำนวนมากซึ่งเขาหมายถึงว่าเป็น "ยุโรปใหม่" มีตัวแทนอย่างเช่น นายบูโรสโคนีแห่งประเทศอิตาลี ซึ่งกำลังมาเยือนทำเนียบขาว และกำลังสวดภาวนาว่าจะได้รับเชิญให้เป็นส่วนหนึ่งของผู้นำทั้งสามที่มีชื่อขึ้นต้นด้วยตัวอักษรบี คือ นายบุช นายแบลร์ และนายบูโรสโคนี โดยคิดไปว่าเขาจะรอดจากคุกไปได้ ทำเนียบขาวบอกเราว่าประเทศอิตาลีได้เข้าร่วมกับเราแล้ว และพวกเขาไม่เห็นว่าการที่ร้อยละ 80 ของประชาชนในอิตาลีต่อต้านสงครามจะเป็นปัญหาเลย (ทั้งนี้ตามผลสำรวจประชามติล่าสุด) ซึ่งนั่นก็หมายถึงว่าประชาชนในอิตาลีเองก็เป็นส่วนหนึ่งของ "ยุโรปเก่า" และจะต้องถูกโยนทิ้งถังขยะประวัติศาสตร์ไปพร้อมกับประเทศฝรั่งเศสและเยอรมนีและประเทศอื่น ๆ ที่ไม่รู้จักตนเอง

สเปญมักได้รับเชิดชูว่าเป็นสมาชิกที่สำคัญอีกประเทศหนึ่งของยุโรปใหม่ หากร้อยละ 75 ของประชากรที่นั่นต่อต้านสงครามอย่างชัดเจนตามผลการสำรวจประชามติของกัลลัปโพลล์ ตามความเห็นของนักวิเคราะห์นโยบายต่างประเทศชั้นนำของนิตยสารนิวส์วีค ประเทศในยุโรปใหม่ส่วนอื่น ๆ โดยเฉพาะอดีตประเทศคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นความหวังของยุโรป ต่างมีท่าทีในลักษณะเดียวกัน และแสดงท่าที (อย่างค่อนข้างเปิดเผย) ที่จะปฏิบัติการเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของสหรัฐอเมริกา และเพื่อทำลายระบบตลาดแบบสังคมนิยมและระบบรัฐสวัสดิการที่พวกเขาเกลียดชัง เขารายงานต่อไปว่า ในประเทศเชคโกสโลวาเกีย สองในสามของประชากรที่นั่นต่อต้านการเข้าร่วมสงคราม ส่วนในประเทศโปแลนด์ เพียงหนึ่งในสี่ของประชาชนที่นั่นสนับสนุนสงครามหากผู้ตรวจการขององค์การสหประชาชาติ "สามารถพิสูจน์ได้ว่าอิรักครอบครองอาวุธที่มีพลานุภาพทำลายล้างสูง" สื่อมวลชนของโปแลนด์รายงานว่า ร้อยละ 37 ของประชาชนที่เห็นด้วยกับการทำสงครามยังเป็นตัวเลขที่น้อยไปสำหรับประเทศซึ่งเป็นหัวใจของ "ยุโรปใหม่"

ประเทศยุโรปใหม่ได้เผยท่าทีของตนเองออกมาในจดหมายเปิดผนึกที่ส่งไปตีพิมพ์ในนิตยสารวอลสตรีทเจอร์นัล โดยประกอบด้วยประเทศอิตาลี สเปญ โปแลนด์ และเชคโกสโลวาเกีย ซึ่งผู้ที่เห็นด้วยกับสงครามคือผู้นำประเทศแต่ไม่ใช่ประชาชน ส่วนประเทศที่ต่อต้านสงครามได้แก่ เดนมาร์ก (ซึ่งสัดส่วนของประชาชนที่มีความเห็นต่อต้านสงครามมีมากพอ ๆ กับประเทศเยอรมนี จึงเรียกได้ว่าเป็น "ยุโรปเก่า") โปรตุเกส (ร้อยละ 53 ของประชากรต่อต้านสงครามไม่ว่าด้วยเงื่อนไขใด ๆ ร้อยละ 96 ต่อต้านสงครามที่นำโดยสหรัฐและพันธมิตรเพียงลำพัง) ประเทศอังกฤษ (ร้อยละ 40 ของประชากรต่อต้านสงครามไม่ว่าด้วยเงื่อนไขใด ๆ ร้อยละ 90 ต่อต้านสงครามที่นำโดยสหรัฐและพันธมิตรเพียงลำพัง) และฮังการี (ไม่สามารถหาตัวเลขได้)

กล่าวโดยสรุป "ยุโรปใหม่" ที่น่าตื่นใจประกอบด้วยผู้นำประเทศที่พร้อมจะฝืนประชามติของประชาชน

ยุโรปเก่าได้แสดงท่าทีขัดเคืองต่อคำประกาศของนายรัมเฟลด์ที่ว่าพวกเขาเป็นประเทศ "เจ้าปัญหา" หาใช่ประเทศพัฒนาแล้วไม่ ปฏิกิริยาของพวกเขาได้รับการอธิบายโดยนักวิจารณ์ที่มีความคิดลึกซึ้งของสหรัฐอเมริกา เพียงแต่เราสำรวจข่าวที่เผยแพร่โดยสื่อมวลชนระดับชาติ เราจะเห็นได้ว่าบรรดา "พันธมิตรยุโรปผู้เบื่อโลก" ไม่ได้ชื่นชมกับ "ความชอบธรรมทางศีลธรรม" ของท่านประธานาธิบดีเอาเลย หลักฐานที่เขาอ้างเพื่อยืนยัน "ความชอบธรรมทางศีลธรรม" ก็คือการที่ "บรรดาที่ปรึกษาของเขาต่างระบุว่า ความกระตือรือร้นที่จะเผยแพร่ศีลธรรม" มาจากบุคคลสามัญชนผู้ที่มุ่งทุ่มเทกำจัดความชั่วร้ายให้หมดไปจากโลก เนื่องจากนั่นเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือและเป็นกลางมากที่สุดเท่าที่เราจะจินตนการได้ จึงไม่มีความเหมาะสมแม้แต่น้อยที่เราจะแสดงความสงสัยต่อคำกล่าวอ้างเช่นนั้น ไม่ต้องไปพูดถึงการแสดงปฏิกิริยาที่เรามักมีต่อการแสดงของคนอื่นที่เหมือน ๆ กัน พวกเรามักได้รับการบอกเล่าว่า ชาวยุโรปผู้มองโลกในแง่ร้ายตีความความบริสุทธิ์ใจของท่านประธานาธิบดีบุชผิดไป โดยมองว่าเป็น "ความไร้เดียงสาทางศีลธรรม" โดยไม่ได้คิดเลยว่าอันที่จริงผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลอเมริกันต่างมีบทบาทในการสร้างภาพลักษณ์เพื่อหาความชอบธรรมในโลก พวกเขายังบอกเราต่อไปอีกว่า มีความแตกต่างอย่างสำคัญระหว่างประเทศในยุโรปผู้เบื่อโลกกับ "กลุ่มประเทศโลกใหม่ที่เต็มไปด้วยอุดมคติและมุ่งยุติความป่าเถื่อนไร้มนุษยธรรม" และบรรดาผู้นำของเราต่างก็ประกาศว่าสิ่งเหล่านี้เป็นแรงจูงใจสำคัญของประเทศโลกใหม่ที่เต็มไปด้วยอุดมคติ แล้วเราจะไปพิสูจน์อะไรกับสิ่งที่เขาพูดอีกล่ะ

พวกเขามักโทษว่าการไม่พูดถึงความเห็นของสาธารณชนในประเทศยุโรปใหม่ เป็นปัญหาทางการตลาดเท่านั้น โดยพวกเขาอ้างว่าสินค้าที่พวกเขากำลังขายให้นั้นเป็นสิ่งถูกต้องและทรงเกียรติ เมื่อพิจารณาจากต้นตอที่มาของสินค้า ความปรารถนาของผู้นำในประเทศยุโรปใหม่ที่เลือกสนับสนุนรัฐบาลอเมริกันมากกว่าประชาชนของตนเอง "ทำให้แนวโน้มการโดดเดี่ยวชาวเยอรมันและฝรั่งเศสชัดเจนยิ่งขึ้น" ทั้งนี้เพราะประเทศทั้งสองสะท้อนถึงความถดถอยด้านประชาธิปไตย และพวกเขากำลังแสดงให้เห็นว่าทั้งประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศสต่างไม่สามารถ "พูดได้ว่าพวกเขากำลังพูดเพื่อชาวยุโรปทั้งหมด" ในขณะที่พวกเขากำลังพูดเพื่อประชาชนของทั้งยุโรปใหม่และเก่า ผู้ซึ่งแสดง "แรงต่อต้านอย่างเข้มแข็ง" ต่อนโยบายของประเทศยุโรปใหม่ ทั้งนี้ตามข้อสังเกตของนักวิจารณ์กลุ่มเดียวกัน

คำประกาศอย่างเป็นทางการและปฏิกิริยาต่อคำประกาศนั้นชี้ให้เราเห็นอะไรบางอย่าง กล่าวคือมันชี้ให้เราเห็นถึงความดูถูกดูแคลนต่อระบอบประชาธิปไตยที่ค่อนข้างยึดติดระบบ โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่รู้สึกว่าตนเองกำลังปกครองโลกด้วยความชอบธรรม

ยังมีตัวอย่างอื่นอีกมากมาย อย่างเช่น ความกล้าหาญของนายกรัฐมนตรีเกอร์ฮาร์ด ชโรเดอร์ ที่แสดงจุดยืนตามประชามติที่เป็นเสียงส่วนใหญ่อย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว กลับถูกมองว่าเป็นความล้มเหลวของผู้นำที่น่าตกใจอย่างหนึ่ง และกลายเป็นปัญหาที่ประเทศเยอรมนีต้องแก้ไขเพื่อจะได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของโลกยุคใหม่ ปัญหาทั้งปวงจึงอยู่ที่ประเทศเยอรมนี หาได้อยู่ที่บรรดาผู้นำของประเทศประชาธิปไตยแบบอเมริกันไม่ ปัญหาของประเทศเยอรมนีได้แก่ "รัฐบาลดำรงอยู่ในท่ามกลางความกลัวที่มีต่อผู้มีสิทธิออกเสียง และเป็นเหตุให้ประเทศนั้นดำเนินการผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า" ทั้งนี้ตามความเห็นของโฆษกของพรรค Christian Social Union ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายขวาที่เข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของประชาธิปไตย

กรณีของประเทศตุรกียิ่งเป็นที่น่าสนใจกว่ามาก ทั้งนี้เพราะตลอดทั้งภูมิภาค ตุรกีเป็นประเทศที่มีความเห็นต่อต้านสงครามรุนแรงที่สุด กล่าวคือประมาณร้อยละ 90 ของประชากรต่อต้านสงครามตามผลการสำรวจประชามติเมื่อเร็ว ๆ นี้ และจนถึงปัจจุบันรัฐบาลตุรกีได้ให้ความสำคัญกับความเห็นของประชาชนที่เลือกตั้งพวกเขาเข้ามา และพวกเขาไม่ได้ยอมตามแรงกดดันและคำข่มขู่ของรัฐบาลอเมริกัน ที่มุ่งแสดงอำนาจเพื่อให้ประเทศนี้เชื่อฟังตนเอง การที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งลังเลจะปฏิบัติตามคำสั่งของประเทศที่เหนือกว่า แสดงให้เห็นว่าผู้นำของประเทศนี้ไม่ใช่นักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สำหรับผู้ที่อาจไม่มีสติปัญญามากพอจะทำความเข้าใจต่อความซับซ้อนตรงนี้ได้ นายมอร์ตัน อับรามโมวิตช์ อดีตเอกอัครราชทูตประจำตุรกี ซึ่งปัจจุบันเป็นรัฐบุรุษอาวุโสและนักวิจารณ์ผู้มีชื่อเสียงได้ให้คำอธิบายไว้ เขาอธิบายว่าเมื่อสิบปีที่แล้ว ตุรกีอยู่ใต้การปกครองของนายตูรกุส โอซาล ซึ่งเป็นนักประชาธิปไตยที่แท้จริง และ "กล้าพอที่จะฝืนความเห็นของประชาชนของตนเองที่ต้องการหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมสงครามอ่าวเปอร์เซีย" แต่ประชาธิปไตยได้เสื่อมลงในประเทศตุรกี เป็นเหตุให้ผู้นำในชุดปัจจุบัน "กำลังทำตามความเห็นของประชาชน" ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพวกเขาไม่มี "ความน่าเชื่อถือในฐานะนักประชาธิปไตย" อีกต่อไป เขาบอกว่า "เป็นที่น่าเสียใจสำหรับสหรัฐอเมริกาที่ไม่มีคนอย่างนายโอซาลอยู่ในปัจจุบัน" นี้เป็นเหตุให้อาจมีความจำเป็นต้องสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้นในตุรกี ด้วยการใช้นโยบายด้านเศรษฐกิจเข้ามาบีบคอและใช้มาตรการบังคับอย่างอื่น ๆ ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าเสียใจ แต่ก็เป็นสิ่งซึ่งบรรดาสื่อมวลชนระดับนำของเราเรียกว่าเป็น "ความใฝ่ฝันต่อระบอบประชาธิปไตย"

บราซิลกำลังเผชิญหน้ากับการแสดงออก ซึ่งทัศนะที่แท้จริงต่อประชาธิปไตยของบรรดาประเทศที่เป็นเจ้าจักรวาล ในการเลือกตั้งที่เสรีมากที่สุดของประเทศในซีกโลกนี้ ประชาชนส่วนใหญ่เทคะแนนเสียงให้กับนโยบายที่ต่อต้านระบบการเงินและนักลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งเข้ามาผ่านกองทุนการเงินระหว่างประเทศและกระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกา ในอดีตปรากฏการณ์เช่นนี้มักเป็นสัญญาณว่า กำลังจะมีการทำรัฐประหารโดยทหารเพื่อสถาปนาระบอบความมั่นคงแห่งชาติที่เข่นฆ่าสังหารประชาชน ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในประเทศบราซิลเมื่อ 40 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันมาตรการเหล่านี้ไม่ได้ผล ประชาชนทั้งในโลกฝ่ายใต้และฝ่ายเหนือได้เปลี่ยนแปลงไป และพวกเขาไม่ยอมอดทนกับการกระทำเช่นนั้นอย่างง่าย ๆ อีกต่อไป ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีวิธีการง่ายกว่านั้นที่จะทำลายเจตนารมณ์ของประชาชน โดยเฉพาะการใช้กลไกของลัทธิเสรีนิยมใหม่ อย่างเช่น การควบคุมทางเศรษฐกิจ กระแสเงินทุนข้ามชาติ การโจมตีทำลายค่าของเงินตรา การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และกลไกอื่น ๆ ที่ได้รับการออกแบบอย่างดีเพื่อลดทางเลือกของประชาชนลง พวกเขาหวังว่ากลไกเหล่านี้อาจจะบีบให้รัฐบาลต้องปฏิบัติตามมติของสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์นานาชาติเรียกว่าเป็น "สภาจำลอง" ของนักลงทุนและผู้ให้เงินกู้ยืม ซึ่งเป็นผู้ที่ทำการตัดสินใจอย่างแท้จริง และคอยบีบบังคับประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยที่น่ารำคาญและไร้สาระตามหลักการประชาธิปไตยที่เป็นใหญ่อยู่ในตอนนี้

เมื่อก่อนที่ข้าพเจ้าจะมาจากสนามบิน ข้าพเจ้าได้รับคำถามข้อหนึ่งในบรรดาคำถามหลายข้อจากสื่อมวลชนว่า เหตุใดจึงมีการประท้วงต่อต้านสงครามน้อยในสหรัฐอเมริกา คำถามอย่างนั้นตั้งขึ้นมาตามอคติบางอย่าง อันที่จริงการประท้วงในสหรัฐอเมริกาก็เช่นเดียวกับที่อื่น คือได้เกิดขึ้นมากถึงระดับที่ไม่เคยเป็นมาก่อนประวัติศาสตร์ เราไม่ได้มีแค่การเดินขบวน การเปิดชั้นเรียนพิเศษเพื่อถกปัญหาที่เผ็ดร้อน และการจัดกิจกรรมสาธารณะอื่น ๆ หากเรายังมีกิจกรรมที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอย่างเช่น เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สภาแห่งเมืองชิคาโกได้มีมติที่คะแนนเสียง 46 ต่อ 1 เพื่อต่อต้านสงคราม ซึ่งยังไม่รวมอีก 50 เมืองและตำบลที่มีมติแบบเดียวกัน ในภาคส่วนอื่น ๆ ก็มีการแสดงท่าทีอย่างนี้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง องค์กรที่ได้รับความเชื่อถืออย่างมาก และเป็นเหตุให้ที่ประชุมเวทีเศรษฐกิจโลกผิดหวังกับสิ่งที่เกิดขึ้น กล่าวคือ องค์กรพัฒนาเอกชน และองค์กรและบุคคลด้านศาสนา ยกเว้นเพียงจำนวนน้อย ได้ออกมาคัดค้านสงคราม เมื่อหลายเดือนก่อนมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศได้มีมติต่อต้านสงครามอย่างเข้มแข็ง นั่นคือ มหาวิทยาลัยเท็กซัส ซึ่งอยู่ข้าง ๆ ไร่ของนายจอร์จ บุช นั่นเอง ข้าพเจ้ายังกล่าวถึงตัวอย่างได้มากกว่านี้อีก

ถ้าเช่นนั้นแล้วทำไมผู้นำประเทศทั้งหลายต่างลงความเห็นอย่างกว้างขวางว่า จารีตของการแสดงความต่อต้านและการประท้วงได้ตายไปเสียแล้วเล่า โดยทั่วไป เรามักจะเปรียบเทียบสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับการประท้วงในช่วงสงครามเวียดนาม ซึ่งให้แง่คิดหลายประการ เราเพิ่งจะผ่านวาระครบรอบ 40 ปีของการที่รัฐบาลนายเคนเนดีประกาศต่อสาธารณะว่ากำลังส่งกำลังทหารอากาศไปถล่มประเทศเวียดนามใต้ ทั้งเป็นช่วงที่พวกเขากำลังเตรียมแผนการโยกย้ายประชาชนนับล้าน ๆ คนเข้าสู่ค่ายกักกัน และการใช้สงครามเคมีเพื่อทำลายพืชผลทั้งหลาย ในตอนนั้นรัฐบาลสหรัฐอเมริกาไม่มีเงื่อนไขมากพอที่สนับสนุนปฏิบัติการด้านการทหาร นอกจากการอ้างตามโวหารของเจ้าหน้าที่ที่ว่า เป็นการป้องกันตัวจาก "ความก้าวร้าวรุนแรงภายใน" ของเวียดนามใต้ และ "การมุ่งทำร้ายจากภายใน" (ประธานาธิบดีเคนเนดีและนายอัทลาย สตีเฟนสัน ทูตประจำองค์การสหประชาชาติในขณะนั้น) ตอนนั้นเรายังไม่มีการประท้วงอย่างชัดเจน และการประท้วงก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นจนถึงจุดที่สำคัญจนอีกหลายปีต่อมา เราปล่อยให้ทหารสหรัฐอเมริกาจำนวนหลายแสนคนเข้าร่วมกับทหารในท้องถิ่นเพื่อเข้ายึดพื้นที่ที่มีประชากรอย่างหนาแน่น ซึ่งกำลังถูกทำลายลงด้วยอาวุธระเบิดและความป่าเถื่อนโหดร้ายที่แพร่กระจายไปยังส่วนที่เหลือของอินโดจีน การประท้วงในหมู่ปัญญาชนชั้นนำมักจำกัดอยู่ที่ "เหตุผลอย่างเป็นรูปธรรม" อย่างเช่น การบอกว่าสงครามเป็น "ความผิดพลาด" ที่มีต้นทุนแพงเกินไปสำหรับสหรัฐอเมริกา ในทางตรงกันข้าม พอถึงช่วงปลายทศวรรษ 1960 ประชาชนส่วนใหญ่ได้ออกมาต่อต้านสงครามโดยกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ "ผิดและไร้ศีลธรรมจนถึงขั้นพื้นฐาน" และไม่ได้เป็นเพียง "ความผิดพลาด" และจำนวนผู้ประท้วงก็ยังมีอยู่อย่างคงที่จนถึงปัจจุบัน

สภาพการณ์ในปัจจุบันต่างไปอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงทศวรรษ 1960 การประท้วงขนานใหญ่โดยมวลชนที่มุ่งมั่นและเป็นระเบียบเกิดขึ้นทั่วสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะมีการประกาศสงครามอย่างเป็นทางการเสียอีก ซึ่งสะท้อนถึงความไม่ปรารถนาที่จะเห็นความก้าวร้าวรุนแรงและความทารุณโหดร้ายเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงหลายประการ และอันที่จริงก็เกิดขึ้นทั่วโลกด้วย นี้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นฐานที่ทำให้เกิดการชุมนุมที่ปอร์โต อัลเลเกร และเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลที่ทำให้การประชุมที่ดาวอสมืดมน

ผู้นำทางการเมืองต่างตระหนักดีถึงพัฒนาการเหล่านี้ เมื่อรัฐบาลใหม่เข้าสู่อำนาจพวกเขาก็จะได้รับรายงานสถานการณ์โลกซึ่งจัดเตรียมโดยหน่วยข่าวกรอง ซึ่งเป็นรายงานลับและมักเป็นสิ่งที่เราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อผ่านไปหลายปีแล้ว แต่เมื่อรัฐบาลนายบุชคนที่หนึ่งได้เข้าสู่อำนาจในปี 1989 รายงานเช่นนั้นได้รั่วออกมาบางส่วน ซึ่งเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับ "กรณีที่สหรัฐอเมริกาเผชิญหน้ากับศัตรูที่อ่อนแอลงมาก" ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสู้รบโดยตรง นักวิเคราะห์ฝ่ายข่าวกรองให้ความเห็นว่าในท่ามกลางความขัดแย้งที่มีต่อ "ศัตรูที่อ่อนแอลงมาก" สหรัฐอเมริกาต้องพยายามเอาชนะ "อย่างเด็ดขาดและอย่างรวดเร็ว" ไม่เช่นนั้นแรงสนับสนุนจากประชาชนจะลดน้อยถอยลงไป มันไม่เหมือนกับในช่วงทศวรรษ 1960 แล้วซึ่งประชาชนในตอนนั้นอดทนต่อสงครามที่ฆ่าฟันและทำลายล้าง ซึ่งเกิดขึ้นเป็นเวลาหลายปีกว่าที่จะมีการประท้วงเกิดขึ้น สถานการณ์นั้นไม่เป็นจริงอีกต่อไป ขบวนการประชาชนในช่วง 40 ปีที่ผ่านมาได้ทำให้เกิดความตื่นตัวอย่างสำคัญในหมู่ประชาชน จนถึงในปัจจุบันวิธีการเดียวที่จะโจมตีศัตรูที่อ่อนแอลงมากได้ก็คือ การโหมโฆษณาชวนเชื่อว่าประเทศศัตรูของเรากำลังสังหารล้างเผ่าพันธุ์ประชาชน หรือไม่ก็อ้างว่าประเทศเหล่านั้นเป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของเรา จากนั้นเราก็จะได้มีโอกาสฉลองชัยชนะอันยิ่งใหญ่เหนือศัตรูผู้แข็งแกร่ง และจะได้พากันสรรเสริญผู้นำวีรบุรุษผู้กล้าหาญที่ออกมากอบกู้สถานการณ์ได้ทันการณ์

แต่สิ่งนี้ไม่ใช่สภาพการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในอิรัก

การสำรวจประชามติหลายชิ้นชี้ว่า ประชาชนในสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนต่อสงครามที่กำลังจะมีขึ้นมากกว่าในที่อื่น ๆ แต่ตัวเลขนั้นก็มีความผิดพลาดอยู่ เราจำเป็นต้องตระหนักว่าไม่ใช่เฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่มีความเกลียดชังและความกลัวต่อนายซัดดัม ฮุสเซ็น หากมีการโหมโฆษณาชวนเชื่ออย่างน่ากลัวว่า ถ้าเราไม่หยุดยั้งนายซัดดัมในวันนี้ เขาก็จะทำลายเราในวันรุ่งขึ้น ดังที่นางคอนโดลิซา ไรซ์ ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติประกาศเมื่อเดือนกันยายนว่า หลักฐานต่อไปที่ชี้ให้เห็นว่านายซัดดัมครอบครองอาวุธที่มีพลานุภาพทำลายล้างสูงอยู่อาจเป็น "เมฆหมอกที่ปกคลุมเหมือนเห็ดเหนือน่านฟ้ากรุงนิวยอร์ก" แต่ทั้งนี้พี่น้องของเราในประเทศอิรักต่างดูจะไม่กังวลกับเรื่องนี้มากนัก ไม่เหมือนกับความเกลียดชังที่พวกเขามีต่อทรราชที่มุ่งฆ่าฟัน บางทีอาจเป็นเพราะพวกเขารู้อยู่แล้วว่าผลของการคว่ำบาตรทำให้ "ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในสภาพอดอยากขาดแคลนเป็นเวลาหลายปีแล้ว" ทั้งนี้ตามรายงานขององค์การอนามัยโลก อิรักได้กลายเป็นประเทศอ่อนแอที่สุดประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้ ทั้งค่าใช้จ่ายด้านเศรษฐกิจและการทหารของอิรักคิดเป็นเพียงเสี้ยวส่วนหนึ่งของงบประมาณของประเทศคูเวต ทั้ง ๆ ที่คูเวตมีจำนวนประชากรเพียงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับประชากรในอิรัก และอิรักก็จัดว่าเป็นประเทศค่อนข้างล้าหลังมากเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

แต่สหรัฐอเมริกานั้นต่างออกไป เมื่อรัฐสภามีมติเมื่อเดือนตุลาคมที่แล้วให้ประธานาธิบดีสามารถประกาศสงคราม รัฐสภามุ่งหวังที่จะ "ปกป้องความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาจากภัยคุกคามอย่างต่อเนื่องจากประเทศอิรัก" พวกเราคงกลัวจนตัวสั่นทีเดียวกับภัยคุกคามอันน่าสยดสยองนี้ ส่วนประเทศเพื่อนบ้านกลับพยายามจะผนวกให้อิรักกลับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของภูมิภาคนั้นอีกครั้ง ซึ่งรวมทั้งประเทศที่เคยโดนนายซัดดัมโจมตีมาแล้วด้วย ในสมัยที่เขายังเป็นเพื่อนและพันธมิตรของผู้กุมอำนาจในรัฐบาลอเมริกันในขณะนี้ ซึ่งล้วนเป็นผู้ให้ความอุดหนุนกับเขาอย่างเต็มที่รวมทั้งให้ทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อพัฒนาอาวุธที่มีพลานุภาพทำลายล้างสูง ในช่วงเวลาซึ่งนายซัดดัมเป็นภัยคุกคามมากเสียยิ่งกว่าในปัจจุบันและเป็นช่วงที่เขาได้ก่ออาชญากรรมอันสาหัสที่สุด

วิธีการแสวงหาแรงสนับสนุนเพื่อก่อสงครามในสหรัฐอเมริกาเน้นไปที่ "ปัจจัยแห่งความกลัว" นี้ ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ส่วนที่เหลือเน้นไปที่การชี้ให้เห็นถึงหนทางแห่งความรุนแรงอันเป็นเรื่องปกติธรรมดา และทำให้เห็นว่าความรุนแรงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป

ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ แรงต่อต้านสงครามที่จะเกิดขึ้นปรากฏอยู่ทั่วไปแม้ในสถาบันกระแสหลัก นิตยสารด้านนโยบายต่างประเทศที่สำคัญสองฉบับปัจจุบันเสนอบทความต่อต้านสงครามโดยนักวิชาการด้านนโยบายต่างประเทศชั้นนำ ส่วนสถาบันศิลปและวิทยาศาสตร์แห่งอเมริกาอันทรงเกียรติได้เผยแพร่บทความชิ้นยาวว่าด้วยสงคราม โดยเริ่มจากชี้ให้เห็นถึงเหตุผลที่สนับสนุนท่าทีของรัฐบาลนายบุชในปัจจุบัน จากนั้นก็นำเสนอเหตุผลเพื่อหักล้างเป็นประเด็น ๆ ไป นักวิเคราะห์ผู้มีชื่อเสียงท่านหนึ่งที่ถูกอ้างถึงในบทความชิ้นนั้นได้แก่สมาชิกอาวุโสของ Carnegie Endowment for International Peace ผู้ซึ่งเตือนว่าสหรัฐอเมริกากำลังเป็น "ภัยคุกคามต่อตนเองและต่อโลก" ภายใต้ภาวะผู้นำที่เป็นอยู่ ซึ่งเราไม่เคยเห็นปรากฏการณ์เช่นนี้มาก่อน

เราพึงตระหนักว่า ข้อวิจารณ์เหล่านี้มักเป็นไปอย่างคับแคบ โดยมักสนใจเฉพาะกับภัยคุกคามที่มีต่อสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร ข้อเขียนเหล่านี้ไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนชาวอิรัก กล่าวคือสัญญาณเตือนจากองค์การสหประชาชาติและองค์กรด้านมนุษยธรรมต่าง ๆ ที่ประมาณว่าคนจำนวนนับล้านคนในประเทศนั้นจะตกอยู่ในภาวะอันตรายร้ายแรง และแทบจะไม่สามารถเหลือรอดไปได้ภายหลังสงครามอันโหดร้ายซึ่งมุ่งทำลายโครงสร้างพื้นฐาน เทียบได้กับการทำสงครามชีวภาพ ทั้งการคว่ำบาตรเป็นเวลานับทศวรรษได้พร่าชีวิตประชาชนไปเป็นจำนวนนับแสน ๆ คน ปิดทางไม่ให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ประเทศ ในขณะเดียวกันกลับเพิ่มความเข้มแข็งให้กับทรราชผู้เลวร้ายที่ปกครองประเทศอิรักอยู่ สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งคือ ข้อวิจารณ์เหล่านี้แทบไม่ได้ให้ความสำคัญกับโวหารของรัฐบาลอเมริกันที่อ้างว่าทำสงครามเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยและเสรีภาพในอิรักเลย ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเพราะนักวิชาการเหล่านี้รู้ดีอยู่ว่าโวหารเหล่านี้เป็นไปเพื่อเอาใจปัญญาชนและนักเขียนบทบรรณาธิการ ผู้ซึ่งมักไม่สังเกตว่าแรงผลักดันให้ทำสงครามนั้นมักดำเนินควบคู่ไปกับความเกลียดชังต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างมากมาย ทั้งพวกเขามีแนวโน้มที่จะลืมนึกถึงพื้นเพเบื้องหลังของผู้นำที่ส่งเสริมสงครามครั้งนี้ เป็นเหตุไม่ให้มีการนำเหตุการณ์ครั้งหลังเช่นนั้นขึ้นสู่การพิจารณาในที่ประชุมขององค์การสหประชาชาติ

อย่างไรก็ตาม ภัยคุกคามที่ทำให้นักวิชาการกระแสหลักสนใจมีความเป็นไปได้จริงอยู่มาก พวกเขาย่อมไม่ประหลาดใจเลยที่เจ้าหน้าที่หน่วยสืบสวนกลางแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อเดือนตุลาคมที่แล้วว่า พวกเขาไม่มีหลักฐานที่ชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างอิรักกับการก่อการร้ายแบบอัลกออิดะห์ หากพวกเขาบอกว่าการโจมตีประเทศอิรักอาจทำให้ภัยคุกคามของการก่อการร้ายต่อโลกตะวันตกเพิ่มมากขึ้นในหลายด้าน กล่าวคือจะเป็นการสนับสนุนผู้ก่อการร้ายรุ่นใหม่ ๆ ที่มุ่งจะแก้แค้น ทั้งยังกระตุ้นให้ประเทศอิรักดำเนินการก่อการร้ายซึ่งได้กระทำอยู่แล้วเพิ่มขึ้น ซึ่งล้วนเป็นแนวโน้มที่นักวิเคราะห์ของสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญอย่างจริงจัง คณะทำงานระดับสูงของสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพิ่งจะเปิดเผยรายงานชิ้นหนึ่งที่เตือนว่า ภัยของการก่อการร้ายที่จะเกิดขึ้นอาจเลวร้ายยิ่งกว่าเหตุการณ์วันที่ 11 กันยายน ซึ่งอาจรวมไปถึงการใช้อาวุธที่มีพลานุภาพทำลายล้างสูงเพื่อทำลายเป้าหมายในสหรัฐเอง ซึ่งเป็นอันตรายที่ "มีความเร่งด่วนมากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มที่สหรัฐอเมริกาเตรียมทำสงครามกับอิรัก" พวกเขาได้ให้ตัวอย่างหลายประการ แทบจะเรียกได้ว่าเป็นคู่มือทำกับข้าวสำหรับนักก่อการร้ายเลยก็ว่าได้ ทั้งนี้นี่ไม่ใช่รายงานฉบับแรกในทำนองนี้ รายงานที่คล้ายคลึงกันก็ได้รับการตีพิมพ์โดยนักวิเคราะห์ด้านยุทธศาสตร์คนสำคัญนานก่อนเกิดเหตุการณ์ 11 กันยายนเสียอีก

เรายังทราบกันดีอยู่ว่า การโจมตีอิรักไม่เพียงจะทำให้เกิดการก่อการร้ายเพิ่มมากขึ้น แต่ยังส่งเสริมให้มีการครอบครองอาวุธที่มีพลานุภาพทำลายล้างสูงต่อไป ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ก็คือ ประเทศที่เป็นเป้าหมายของสหรัฐอเมริกาตระหนักดีว่าพวกเขาไม่มีทางเลือกอื่นที่จะปกป้องตนเองจากประเทศที่มีอำนาจมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งกำลังดำเนินการตาม "ความทะเยอทะยานแบบจักรวรรดินิยมของอเมริกา" ซึ่งทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสหรัฐอเมริกาและต่อโลก ทั้งนี้ผู้เขียนบทความได้กล่าวเตือนไว้ในนิตยสารกระแสหลักชั้นนำชื่อ Foreign Affairs เหยี่ยวคนสำคัญ ("เหยี่ยว" หมายถึงผู้ที่มักสนับสนุนนโยบายที่แข็งกร้าวอย่างการใช้กำลังทหาร - ผู้แปล) ก็ได้เตือนไว้ว่า สงครามในประเทศอิรักจะทำให้เกิด "หายนภัยเนื่องจากจะส่งเสริมให้มีการครอบครองอาวุธที่มีพลานุภาพทำลายล้างสูงต่อไปครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์" พวกเขารู้ว่า ถ้าอิรักมีอาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพ ผู้เผด็จการที่นั่นก็จะเก็บรักษามันไว้อย่างดี พวกเขายังเข้าใจอีกว่า อิรักอาจเลือกใช้อาวุธที่มีพลานุภาพทำลายล้างสูงเป็นหนทางสุดท้ายถ้าถูกโจมตี ซึ่งจะทำให้เกิดไฟเผาผลาญมากมายทันที โอกาสที่อาวุธเหล่านี้จะหลุดมือไปสู่ผู้นำอย่างอุสมา บินลาดินแทบจะไม่มีเลย ทั้งนี้เพราะนั่นจะทำให้เกิดภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อนายซัดดัม ฮุสเซ็นเอง ไม่ต้องไปคิดถึงปฏิกิริยาของโลกที่จะเกิดขึ้นถ้ามีใครแพ่งพรายว่าอิรักจะส่งมอบอาวุธไปเช่นนั้น แต่เมื่อถูกโจมตีและสังคมล่มสลายลง ซึ่งรวมทั้งระบบควบคุมเก็บรักษาอาวุธที่มีพลานุภาพทำลายล้างสูงได้หมดสภาพไป นักวิชาการด้านการก่อการร้ายชี้ว่า ในสถานการณ์เช่นนั้น มีโอกาสว่าอาวุธเหล่านี้จะตกไปอยู่ในการครอบครองของเอกชน และถูกขายไปให้กับ "ตลาดอาวุธร้ายแรงที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ยากที่จะหาผู้ซื้อได้" ซึ่งนั่นจะเป็น "สภาพของฝันร้ายอย่างแท้จริงดังเช่นที่พวกเหยี่ยวได้เตือนไว้"

ตั้งแต่ก่อนที่รัฐบาลนายบุชจะเริ่มลั่นกลองรบต่อประเทศอิรัก ได้มีเสียงเตือนมากมายว่าการทำสงครามครั้งนี้จะส่งเสริมให้การครอบครองอาวุธที่มีพลานุภาพทำลายล้างสูงดำเนินสืบเนื่องไป รวมทั้งการก่อการร้ายที่จะเกิดขึ้นต่อไป ทั้งนี้เพื่อป้องกันตนเอง ในปัจจุบัน รัฐบาลอเมริกันกำลังสอนบทเรียนที่อันตรายและน่าอัปลักษณ์อย่างยิ่งให้กับโลก กล่าวคือ ถ้าคุณต้องการปกป้องตนเองจากเรา คุณก็ควรจะเลียนแบบเกาหลีเหนือและเอากำลังทหารของคุณออกมาข่มขู่คนอื่น ซึ่งรวมทั้งการแสดงอาวุธที่มีพลานุภาพทำลายล้างสูงที่คุณครอบครองอยู่ ไม่เช่นนั้นเราก็จะกำจัดคุณเพื่อที่จะดำเนินการตาม "นโยบายหลัก" อันใหม่ ซึ่งนอกจากจะสร้างความสยดสยองให้กับเหยื่อดั้งเดิมรวมทั้งประเทศ "ยุโรปเก่า" แล้ว ยังสร้างความสยดสยองในหัวใจของผู้กำหนดนโยบายด้านต่างประเทศระดับสูงของสหรัฐอเมริกา ผู้ซึ่งตระหนักดีอยู่ว่า "ความมุ่งมั่นของสหรัฐอเมริกาที่สนับสนุนการเผชิญหน้าด้านการทหารเพื่อสถานะที่ได้เปรียบของตนเอง จะทำให้โลกทั้งโลกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัยมากขึ้น ส่วนสหรัฐอเมริกาเองก็มีความมั่นคงน้อยลง" นี่ก็เป็นการอ้างถึงคำพูดของนักวิชาการชั้นนำในนิตยสารกระแสหลักอีกครั้ง

เห็นได้ชัดเจนว่า การเพิ่มขึ้นของภัยสงครามและการครอบครองอาวุธที่มีพลานุภาพทำลายล้างสูงไม่ได้อยู่ในความสนใจของผู้กำหนดนโยบายในกรุงวอชิงตันเลย เมื่อพิจารณาถึงลำดับความสำคัญที่พวกเขาจัดวาง ซึ่งพวกเราสามารถค้นหาเหตุผลที่จะทำความเข้าใจเรื่องนี้ได้ไม่ยาก แม้มันจะไม่ใช่เหตุผลที่น่าฟังนักก็ตาม

สภาพของภัยคุกคามได้รับการเน้นย้ำอย่างสำคัญในการประชุมสุดยอดเมื่อเดือนตุลาคมที่แล้ว ณ กรุงฮาวานาในโอกาสครบรอบ 40 ปีของวิกฤตนิวเคลียร์คิวบา ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมคนสำคัญจากรัสเซีย สหรัฐอเมริกา และคิวบา ผู้กำหนดนโยบายรู้ดีอยู่ในตอนนั้นว่า พวกเขากำลังกุมชะตากรรมของโลกไว้ แต่ข้อมูลใหม่ที่ได้รับการเผยแพร่ในที่ประชุมสุดยอดที่ฮาวานานับเป็นเรื่องน่าตื่นใจอย่างยิ่ง เราได้รู้จากที่ประชุมครั้งนั้นว่า โลกของเราได้รับการช่วยเหลือให้รอดชีวิตจากภัยสงครามนิวเคลียร์โดยกัปตันเรือนดำน้ำชาวรัสเซียคนหนึ่งคือนายวาซิลี อาร์คีพอฟ ผู้ยับยั้งคำสั่งยิงจรวดนิวเคลียร์ในขณะที่เรือดำน้ำของรัสเซียถูกโจมตีโดยเรือรบของสหรัฐอเมริกา ใกล้กับเส้นพรมแดนที่กำหนดโดยนายเคนเนดี ถ้านายอาร์คีพอฟเห็นด้วยกับการยิงจรวด สงครามนิวเคลียร์ก็อาจจะเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และอาจจะ "ทำลายซีกโลกเหนือไปทั้งหมด" ดังที่นายไอเซ็น ฮาว เคยกล่าวเตือนไว้

ข้อมูลที่เปิดเผยอย่างน่าสะพึงกลัวนั้นนับว่ามีความเหมาะสมกับภาวะปัจจุบัน ทั้งนี้เพราะสาเหตุหลักของวิกฤตการณ์นิวเคลียร์ครั้งนั้นอยู่ที่การใช้การก่อการร้ายนานาชาติที่มุ่ง "ให้มีการเปลี่ยนระบอบรัฐบาล" ซึ่งเป็นแนวคิดที่กล่าวถึงอย่างมากตามข่าวทั่วไปในปัจจุบัน การโจมตีตอบโต้ผู้ก่อการร้ายของสหรัฐอเมริกาต่อคิวบา ภายหลังนายคาสโตรขึ้นสู่อำนาจไม่นานนัก ได้รับการขยายผลอย่างรวดเร็วโดยนายเคนเนดี อันเป็นเหตุทำให้เกิดความกลัวว่าจะเกิดการรุกรานประเทศดังที่นายโรเบิร์ต แม็คนามานาก็ยอมรับ นายเคนเนดีได้ใช้สงครามต่อต้านการก่อการร้ายทันทีภายหลังจากวิกฤตนิวเคลียร์ผ่านพ้นไป กล่าวคือ การโจมตีผู้ก่อการร้ายเพื่อต่อต้านคิวบา ซึ่งมีฐานที่มั่นในสหรัฐอเมริกา และปฏิบัติการนี้ได้เพิ่มขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วงปลายทศวรรษ 1970 และดำเนินสืบเนื่องไปอีก 20 ปีต่อมา เราไม่จำเป็นต้องพิจารณาถึงพฤติกรรมของผู้มีส่วนร่วมในวิกฤตนิวเคลียร์ครั้งนั้น แต่ข้อมูลชิ้นใหม่นี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงภัยอันเลวร้ายและไม่อาจคาดได้เนื่องมาจากการโจมตีต่อ "ศัตรูที่อ่อนแอกว่ามาก" โดยมุ่งที่จะ "เปลี่ยนแปลงระบอบรัฐบาล" และทำให้เป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอด ซึ่งไม่ใช่เรื่องเกินเลยไปที่จะกล่าวเช่นนั้น

เมื่อพูดถึงชะตากรรมของประชาชนในอิรัก ไม่มีใครที่จะทำนายได้อย่างมั่นใจแม้แต่พวกหน่วยสืบสวนกลาง แม้แต่นายดอนัลด์ รัมเฟลด์ หรือแม้แต่ผู้ที่อ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอิรัก ก็ไม่มีใครทำนายได้ โอกาสที่จะเกิดขึ้นเป็นไปได้ตั้งแต่สภาพอันน่าสพึงกลัวที่องค์กรด้านมนุษยธรรมเตรียมให้ความช่วยเหลือ ไปจนถึงสภาพที่น่าอิ่มใจราวกับเทพนิยายที่ถูกสร้างภาพขึ้นมาโดยคณะประชาสัมพันธ์และคณะประสานเสียงของนายบุช ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น นี้เป็นเหตุผลหนึ่งในหลายประการที่ทำให้มนุษย์ผู้มีสติสัมปชัญญะไม่เคยคิดจะหาประโยชน์จากภัยคุกคามหรือความรุนแรง ทั้งในชีวิตส่วนตัวหรือกับกิจการระหว่างประเทศ เว้นแต่จะมีเหตุผลอย่างสำคัญมากจริง ๆ และในสถานการณ์ปัจจุบันเราก็เห็นได้ว่าไม่มีเหตุผลใดที่มีมากพอที่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง และเป็นเหตุให้มีการต่อต้านแผนการทำสงครามของรัฐบาลอเมริกันและอังกฤษมากมายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ช่วงเวลาของการรณรงค์สงครามที่นำโดยรัฐบาลอเมริกันและอังกฤษมีความชัดเจนโปร่งใสอย่างยิ่ง จนกลายเป็นประเด็นการอภิปราย และบางครั้งก็ทำให้เกิดคำเย้ยหยันขึ้นแม้ในหมู่นักวิจารณ์กระแสหลัก การรณรงค์ดังกล่าวเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านั้น นายซัดดัมเป็นคนที่น่าเกลียดชัง แต่ก็ยังไม่ได้เป็นภัยคุกคามอย่าฉกรรจ์ต่อความอยู่รอดของสหรัฐอเมริกา พวกเขาได้กล่าวถึง "เมฆหมอกที่ปกคลุมเหมือนเห็ด" ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน นับจากนั้นมา ความกลัวที่ว่านายซัดดัมจะโจมตีสหรัฐอเมริกาก็ได้แพร่กระจายไปถึงร้อยละ 60 ถึง 70 ของประชากรอเมริกัน หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ข่าวการเมืองของสำนักข่าว UPI ตั้งข้อสังเกตว่า "ความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องทำสงครามต่อต้านอิรักที่นายบุชได้ประกาศเมื่อเดือนตุลาคม ไม่ได้มีลางปรากฏมาก่อนเลยในคำพูดของเขาเมื่อสองเดือนก่อนหน้านั้น" ซึ่งทำให้เราได้ข้อสรุปอย่างชัดเจนว่า เดือนกันยายนเป็นจุดเริ่มต้นของการรณรงค์ทางการเมืองเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งช่วงกลางวาระของสภา (Mid-term election) เขากล่าวต่อไปว่า รัฐบาลอเมริกันกำลัง "รณรงค์เพื่อจะรักษาและเพิ่มอำนาจของตนที่มีต่อนโยบายที่เสี่ยงภัยในการต่างประเทศ เพื่อยุทธศาสตร์ที่นำหน้าด้วยการทหารอย่างใหม่ และเพื่อความกระหายที่จะสร้างโอกาสทางการเมืองเพื่อให้มีการเผชิญหน้ากับอิรักอย่างสะดวกโยธิน" แต่เมื่อพิจารณาถึงประเด็นปัญหาในประเทศ ดูเหมือนว่านายบุชและพรรคพวกของเขากำลังสูญเสียความนิยมไป ซึ่งก็เป็นเรื่องปรกติเพราะสิ่งที่พวกเขากำลังทำเป็นการล่วงเกินต่อความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ พวกเขามักบอกว่า "ระวังนะ แม้ว่าจะยังไม่มีการก่อการร้ายใหม่ ๆ เกิดขึ้นหรือไม่มีสัญญาณว่าจะมีภัยคุกคามใดเกิดขึ้น นับตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนเป็นต้นมา แต่วาระที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชาติก็ถือเป็นวาระสำคัญที่สุด" ทั้งนี้เพราะเราไม่เพียงแต่ต้องระวังพวกอัลกออิดะห์เท่านั้น แต่ยังมีกำลังทหารที่น่าสะพรึงกลัวอย่างอิรักอีก

นักวิจารณ์อีกหลายก็ตั้งข้อสังเกตในทำนองเดียวกัน ซึ่งช่วยลดปัญหาให้เรามาก เพราะเราเพียงแต่อ้างถึงแนวคิดที่นำเสนอโดยกระแสหลักโดยไม่จำเป็นต้องไปนำเสนอการวิเคราะห์ใหม่ ๆ ที่จะทำให้เกิดการถกเถียงกัน สมาชิกอาวุโสของสถาบัน Carnegie Endowment for International Peace ที่ข้าพเจ้าอ้างถึงได้เขียนไว้ว่า นายบุชและพรรคพวกกำลังดำเนินการตาม "ยุทธศาสตร์สมัยใหม่แบบคลาสสิคที่นิยมใช้กันในหมู่นักคณาธิปไตยฝ่ายขวาที่กำลังอยู่ในอันตราย ทั้งนี้เพื่อแปรความไม่พอใจของมวลชนให้กลายเป็นความรู้สึกรักชาติ" สำทับด้วยความกลัวว่าศัตรูจะโจมตีทำร้ายเรา ยุทธศาสตร์นี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดถ้า "นักชาตินิยมอย่างถอนรากถอนโคน" ที่กำหนดนโยบายในกรุงวอชิงตันมุ่งหวังที่จะหาแรงสนับสนุนให้กับแผนการที่พวกเขาประกาศว่าจะ "ใช้ความก้าวหน้าด้านการทหารเพื่อครอบงำโลกอย่างเบ็ดเสร็จ" พร้อม ๆ กับการหักล้างความเชื่อของคนส่วนใหญ่ในประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ว่านั้นทำงานได้ผลอยู่บ้างสำหรับการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พวกเขาได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งฤดูใบไม้ผลิปี 2002 เพียงเล็กน้อย แต่ก็มากพอที่จะทำให้ฝ่ายบริหารเป็นเสียงข้างมากในสภา บทวิเคราะห์การเลือกตั้งชี้ให้เห็นว่าผู้ลงคะแนนเสียงยังคงต่อต้านนโยบายด้านสังคมและเศรษฐกิจของรัฐบาลนายบุช แต่ก็จำเป็นต้องลดความสำคัญของประเด็นเหล่านั้นลงไป และเลือกที่จะลงคะแนนเสียงเพื่อประเด็นด้านความมั่นคงแทน ซึ่งก็เป็นเหตุให้ผู้นำที่ยังอยู่ในอำนาจได้รับแรงสนับสนุนมากเป็นธรรมดา เพราะพวกเขาเป็นผู้นำที่สร้างภาพว่าตัวเองเป็นโคบาลผู้กล้าหาญที่กำลังขี่ม้ามาช่วยชีวิตพวกเราในเวลาอันทันท่วงที

ดังที่ประวัติศาสตร์ได้ชี้ให้เราเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องยากเย็นนักที่ผู้นำซึ่งปราศจากศีลธรรมจะสร้างความตระหนกตกใจให้กับสาธารณชน อันส่งผลให้เกิดผลลัพธ์ที่ไม่น่าพึงพอใจมากนัก นี้เป็นวิธีการทั่วไปที่มักใช้กันเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากนโยบายการลดภาษีให้คนรวย และมาตรการอื่น ๆ ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่และลูกหลานเราในอนาคต เมื่อเริ่มมีการรณรงค์เลือกตั้งประธานาธิบดี นักยุทธศาสตร์ของพรรครีพับริกันย่อมไม่ต้องการให้ประชาชนตั้งคำถามเกี่ยวกับปัญหาเรื่องเงินบำนาญ งาน บริการด้านสุขภาพ และประเด็นอื่น ๆ ในทำนองนั้น พวกเขาเพียงแต่ต้องการให้ประชาชนแซ่ซ้องสรรเสริญผู้นำอันเป็นวีรบุรุษที่ช่วยเหลือประชาชนอเมริกันให้รอดพ้นจากภัยคุกคามของศัตรูผู้มีอำนาจสูง และกรีฑาทัพต่อไปเพื่อเผชิญหน้ากับประเทศมหาอำนาจอื่นที่มุ่งทำลายล้างเรา ซึ่งอาจจะเป็นประเทศอิหร่าน หรืออาจเป็นความขัดแย้งในประเทศแถบเทือกเขาแอนดีส พวกเขายังมีทางเลือกอีกมากมายตราบใดที่เป้าหมายเหล่านั้นเป็นประเทศที่ไม่สามารถป้องกันตนเองได้

แนวคิดที่ผู้นำทางการเมืองในปัจจุบันใช้ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ พวกเขาได้ลอกแนวคิดหลายอย่างมาจากรัฐบาลในยุคของนายเรแกน พวกเขากำลังเล่นตามบทแบบเดิมที่เราคุ้นเคย กล่าวคือการผลักให้ประเทศเข้าไปสู่ภาวะขาดดุลมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นเหตุผลให้รัฐบาลสามารถลดโครงการด้านสังคมลง การประกาศ "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" (ดังที่พวกเขาทำในปี 1981) และหยิบยกภัยร้ายแต่ละอันขึ้นมาเพื่อทำให้ประชาชนเกิดความกลัวและสยบยอม ในช่วงทศวรรษ 1980 พวกเขาใช้นักฆ่าชาวลิเบียที่ปฏิบัติการตามท้องถนนเพื่อสังหารผู้นำของเรา และในตอนนั้นกองทหารของนิการากัวก็เดินทางมาเหลือเวลาอีกเพียงสองวันก็จะถึงรัฐเท็กซัส นายเรแกนได้อ้างเหตุจากภัยคุกคามต่อความอยู่รอดเหล่านั้น เพื่อประกาศภาวะฉุกเฉิน หรือในกรณีที่พวกรัสเซียเตรียมใช้ฐานทัพอากาศในเกรนาดาเพื่อทิ้งระเบิดใส่เรา (ถ้าพวกนั้นสามารถหาประเทศนี้ในแผนที่ได้พบ) ส่วนผู้ก่อการร้ายชาวอาหรับก็มุ่งสังหารชาวอเมริกันในทุกแห่งหน ในขณะที่นายกัดดาฟีวางแผนที่จะ "กำจัดอเมริกาให้พ้นไปจากโลก" เป็นเหตุให้นายเรแกนกรีดร้องเสียงดังได้ หรือกรณีที่ผู้ค้ายาเสพติดเชื้อสายสเปญมุ่งทำลายเยาวชนของเราและกรณีอื่น ๆ

ในขณะเดียวกัน ผู้นำทางการเมืองของเราก็สามารถดำเนินการตามนโยบายในประเทศที่ส่งผลลัพธ์อันเลวร้ายด้านเศรษฐกิจ หากทำให้เกิดความร่ำรวยมากขึ้นในกลุ่มคนจำนวนน้อย ในขณะที่คนส่วนใหญ่ต้องรับผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งก็เป็นบทที่กำลังได้รับการแสดงตามแบบเดิมอีกครั้ง แต่เพราะสาธารณะชนรู้ทันถึงแผนการณ์นี้ พวกเขาจึงต้องกลับไปใช้ "ยุทธศาสตร์สมัยใหม่แบบคลาสสิคที่นิยมใช้กันในหมู่นักคณาธิปไตยฝ่ายขวาที่กำลังอยู่ในอันตราย" ถ้าหากพวกเขาหวังจะดำเนินการตามโครงการภายในประเทศและต่างประเทศที่ต้องการต่อไป หรือไม่ก็ทำให้ยุทธศาสตร์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายกระแสหลักเพี่อที่จะทำให้ยากแก่การทำลาย แม้ว่าพวกเขาจะสูญเสียอำนาจไปแล้วก็ตาม

แน่นอนว่า มีประเด็นที่ซับซ้อนมากกว่าปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศที่ผลักดันให้เกิดสงคราม ความโหดร้ายของการก่อการร้ายวันที่ 11 กันยายน สร้างโอกาสและปูทางไปสู่การดำเนินการตามแผนการที่มีมาแต่เดิมเพื่อที่จะควบคุมแหล่งน้ำมันมหาศาลในประเทศอิรัก ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในอ่าวเปอร์เซีย ดังที่กระทรวงการต่างประเทศได้อธิบายไว้ในปี 1945 ว่าเป็น "แหล่งของอำนาจในเชิงยุทธศาสตร์อันมหาศาล และเป็นรางวัลด้านวัตถุอันยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก" หน่วยสืบราชการลับของสหรัฐอเมริกาทำนายว่า แหล่งน้ำมันเหล่านี้จะทวีความสำคัญขึ้นไปอีกในอนาคตอันใกล้ พวกเขาไม่เคยมีปัญหาในการเข้าถึงแหล่งน้ำมันเหล่านี้ บทวิเคราะห์ของหน่วยสืบราชการลับยังคาดการณ์ต่อไปว่า สหรัฐอเมริกาจะพึ่งพามากขึ้นกับแหล่งน้ำมันจากโลกซีกตะวันตกและอัฟริกาตะวันตกที่มีความมั่นคงมากกว่า ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเด็นสำคัญคือการควบคุมเหนือ "รางวัลด้านวัตถุ" ซึ่งจะนำความมั่งคั่งร่ำรวยมาสู่สหรัฐอเมริกาในหลายด้านรวมทั้งประเทศอังกฤษเองด้วย และ "แหล่งอำนาจในเชิงยุทธศาสตร์อันมหาศาลนี้" จะทำให้เกิดความได้เปรียบในการ "ครอบงำโลกอย่างเบ็ดเสร็จ" ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ประกาศกันอย่างเปิดเผยในปัจจุบัน และสร้างความตระหนกให้กับคนส่วนใหญ่ในโลกรวมทั้งพวก "ยุโรปเก่า" และฝ่ายอนุรักษ์นิยมในสหรัฐอเมริกา

ข้าพเจ้าคิดว่าเมื่อพิจารณาถึงโลกตามความเป็นจริง เราจะพบภาพที่ซับซ้อน สับสน แต่ก็มีเหตุผลหลายประการที่เราควรมีกำลังใจต่อไป ทั้งนี้เพราะหนทางข้างหน้ายังยาวไกลและยากลำบากนัก

*แสดงต่อที่ชุมนุมเวทีประชาสังคมโลก 27 มกราคม 2546 เมืองปอร์โต อัลเลเกร บราซิล

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

 

 

การแสดงปาฐกถาเรื่อง การประจันหน้ากับจักรวรรดิ : เวทีสังคมโลก ที่ ปอร์โต อัลเลเกร ประเทศ บราซิล : โดย นอม ชอมสกี้ : วันที่ 27 มกราคม 2546