มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรมสำหรับสังคมไทย
บทความมหาวิทยาเที่ยงคืนชิ้นนี้เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันพฤหัสที่ 4 เมษายน 2546
R
relate
release date
030446

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 255 เดือนเมษายน 2546
หัวเรื่อง "องค์การมหาชน"ตาม"กฎหมายองค์การมหาชน" โดย

สุรพล นิติไกรพจน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ถอดเทปส่งมาเผยแพร่บนเว็ป มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนโดย วรพจน์ พิทักษ์

ภาคที่ 2
แนวการจัดตั้งโรงพยาบาลมหาชน
และ พรบ.องค์การมหาชน พ.ศ.2542

บรรยายโดย : สุรพล นิติไกรพจน์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ถอดเทปโดย : วรพจน์ พิทักษ์ (ความยาวประมาณ 30 หน้ากระดาษ A4)

ผมได้รับมอบหมายให้พูดในเรื่อง"องค์การมหาชน"ตาม"กฎหมายองค์การมหาชน" เข้าใจว่าหัวข้อที่น่าเบื่ออย่างนี้ก็คงจะพูดกันแล้วคงไม่ได้อะไรมากนัก จึงจะขออนุญาตพูดเรื่องที่ท่านทั้งหลายให้ความสนใจอยู่บ้าง

เท่าที่ท่านทั้งหลายได้ฟังจากท่านอาจารย์สมศักดิ์ไปเมื่อครู่แล้วนั้น คงได้เห็นภาพว่าข้างหน้านั้น โรงพยาบาลจะเปลี่ยนแปลงไปมาก ระบบบริการจัดการทางสาธารณสุขจะเปลี่ยนแปลงเยอะมาก ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ มันเปลี่ยนไปถึงราก เปลี่ยนไปถึงฐานที่มา เปลี่ยนไปถึงวิธีการจัดการ เปลี่ยนไปถึงเรื่องคน เปลี่ยนไปถึงระบบงบประมาณ แล้วผมอยากจะเรียนต่อไปว่ามันไม่ได้เปลี่ยนเฉพาะในระบบสาธารณสุขเท่านั้น มันมีอะไรเปลี่ยนมากมายที่มากไปกว่านั้น. 4-5 ปีมานี้สังคมไทยเปลี่ยนเยอะมากครับ เปลี่ยนทุกเรื่อง

ถ้าเราจะจำกัดว่า เราจะไม่พูดเรื่องการเมือง เอาแต่เฉพาะเรื่องในระบบราชการประจำนี้ว่า ในระบบราชการนี้มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไปมากเหลือเกิน ท่านเคยได้ยินได้ฟัง "แผนปฏิรูประบบบริหารภาครัฐ" หรือ "แผนปฏิรูประบบราชการ" ที่พูดกันมาในช่วง 3-4 ปีหลังมานี้ ถ้าท่านได้ยินได้ฟังในเรื่องเหล่านั้น ท่านจะเห็นอะไรบางอย่างใกล้ๆตัวของพวกเราทั้งหลาย ท่านจะเห็นบทบาทที่ลดลงของกระทรวงมหาดไทย ของผู้ว่าราชการจังหวัด และของอำเภอ

ท่านจะเห็นบทบาทที่เพิ่มขึ้นของ อบจ. อบต. ท่านจะเห็นเม็ดเงินที่มามากขึ้น ข้างหน้านี้ท่านจะเห็นหน่วยราชการหลายหน่วย ค่อยๆหายไป. รพช.นั้นจะเป็นหน่วยงานที่หายไปเร็วที่สุด กำลังจะหายไปแล้วอีกไม่นานสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทก็กำลังจะพ้นไปจากการเป็นกรม เพราะไม่มีอะไรให้ทำ

กรมการพัฒนาชุมชนก็อาจจะต้องตามไป กรมการบินพาณิชย์ กรมการประกันภัย กรมทรัพย์สินทางปัญญา องค์กรเหล่านี้กำลังจะหายไปจากระบบราชการ หลายหน่วยงานกำลังย้ายที่ใหม่ หลายหน่วยงานกำลังไปอยู่กับคนใหม่ กรมการประกันภัยกำลังจะไปอยู่กับกระทรวงการคลัง เป็นสำนักงานประกันภัย กรมการบินพาณิชย์ อาจจะแยกเป็นหน่วยงานบริหารสนามบินกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ. ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดขึ้นกับระบบราชการทั้งระบบ ใกล้ตัวเข้ามาหน่อยคือ"มหาวิทยาลัย"ก็กำลังจะหายไปจากระบบราชการ

ทั้งหมดเกิดขึ้นในระยะเวลา 3-4 ปีนี้ มันจะแล้วเปลี่ยนเร็วมาก เพราะฉะนั้นเป็นเหตุผลคำอธิบายง่ายๆว่า เมื่อทั้งหมดก็เปลี่ยนกันอย่างนั้นแล้ว แล้วทำไมระบบสาธารณสุขจะไม่เปลี่ยน? ที่เปลี่ยนไปนี้นั้น มีความมุ่งหมาย มันมีแผน มีทิศทางของมันอยู่ชัดเจน แต่โดยเวลาที่มีอยู่นี้เราคงไม่ได้ไปพูดกันเรื่องนั้น คงจะลงมาดูกันว่าแล้วในระบบสาธารณสุขมีอะไรที่เปลี่ยนบ้าง

ผมขอทบทวนที่ อ.สมศักดิ์ได้พูดไปแล้วเมื่อครู่นี้สักนิดเดียวว่า ระบบสาธารณสุขนี้เปลี่ยนเยอะมาก ทั้งมีการเปลี่ยนแปลงจากภายในของระบบสาธารณสุข ทั้งมีการเปลี่ยนจากภายนอกของการเปลี่ยนระบบราชการซึ่ง กระทรวงสาธารณสุขอยู่ตรงนั้น

การเปลี่ยนภายในคือ การพยายามตั้งคณะกรรมการปฏิรูประบบสุขภาพ การจะเขียนกฎหมายหลักที่ต่อไปนี้จะบอกสิทธิของใครต่อใคร บอกการจัดโครงสร้าง วางแนวทางในเรื่องการบริหารจัดการทางสาธารณสุข วางระบบการป้องกัน(Preventive) มากกว่าการรักษา(Curative)อันนั้นจะไปเขียนกฏหมาย

ข้างในก็เปลี่ยนครับ HA(Hospital Accreditation) และ AH.(Autonomous Hospital) ทั้งหลายที่ได้ยินได้ฟังอยู่ในระบบในขณะนี้ โรงพยาบาลที่มีมาตรฐาน(HA.) หรือ เรื่องโรงพยาบาลอิสระ(AH.)ทั้งหลายก็เปลี่ยน

นอกจากนั้น กระทรวงสาธารณสุขเองนั้น ระบบบริหารจัดการงบประมาณในบางแห่งก็กำลังจะเปลี่ยน แม้แต่ในขณะนี้ที่ยังไม่ได้เปลี่ยนออกไปจากระบบราชการ ก็จะให้งบประมาณในลักษณะของ Block Grant.(งบอุดหนุนทั่วไปเป็นก้อน) ก็จะมีการบริหารที่เป็นอิสระคล่องตัวมากขึ้น

แต่อันหนึ่งที่เปลี่ยน และก็เป็นการเปลี่ยนที่รวดเร็ว และอาจจะมีผลไปถึง"การแตะต้องโครงสร้างของระบบการให้บริการสาธารณสุข" ถ้าไม่พูดถึงเรื่องการไปอยู่กับท้องถิ่นซึ่งก็ยังคงต้องใช้เวลา ยังจะต้องมีการจัดการทำแผนกระจายอำนาจ ต้องมีการถ่ายโอน ต้องมีการเตรียมการอีกตามสมควร

แต่อันหนึ่งที่ไม่ใช่เรื่องความเปลี่ยนแปลงอันนี้ที่กำลังจะเกิดขึ้น แล้วใกล้ตัวมาก ที่ใกล้ตัวเพราะว่า ท่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้วก็มานั่งอยู่ในที่นี้แล้วก็ได้บอกกับผมว่า เดือนนี้แหละที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว"จะประกาศอิสระภาพ" คือจะออกไปเป็นอะไรอย่างอื่นที่ไม่ใช่เป็นหน่วยราชการอีกต่อไป แล้วกระทรวงสาธารณสุขก็บอกเอาไว้ชัดเจนว่า ในระยะแรกก็หมายความว่า อาจจะไม่ใช่เดือนนี้ ปีนี้ ไม่ใช่รัฐบาลนี้ก็ได้ เพราะรัฐบาลหน้าก็คือ อีกใน 3-4 เดือนข้างหน้านี้เท่านั้น ภายในช่วงต่อไป โรงพยาบาลอีก 7 แห่งก็จะเดินตามบ้านแพ้วไป และหนึ่งในนั้นก็คือมีโรงพยาบาลขอนแก่นนี้รวมอยู่ด้วย ซึ่งมันคงไม่เร็วนัก แต่มันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มันเริ่มต้นแล้ว อะไรที่มันเริ่มต้นแล้วนั้นมันหยุดไม่ค่อยได้ อะไรที่เป็นแผนและที่คิดกันอยู่นั้น มันก็อาจจะมีปัญหาว่า "ตกลงคนใหม่เขาอาจจะเปลี่ยนแผนก็ได้

แต่ในอะไรที่มันเริ่มต้นนั้น บ้านแพ้วเริ่มต้นแน่นอนแล้ว ภายในเดือนนี้(สิงหาคม 2543) กฤษฎีกาจัดตั้งโรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็นหน่วยงานที่เรียกว่า"องค์การมหาชน" ก็จะประกาศใช้ นั่นคือความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น เป็นความเปลี่ยนแปลงหลักอันหนึ่งในแง่กระบวนการบริหารจัดการทางสาธารณสุข เพราะมันไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างวิธีบริหารโรงพยาบาลซึ่งเป็นฐานกำลังสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข

ผมจะใช้เวลาสักประมาณครึ่งชั่วโมงคุยให้ท่านทั้งหลายฟังใน 3 ประเด็นใหญ่ๆที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงคือ

1) ทำไมต้องเปลี่ยน?
2) เปลี่ยนไปเป็นอะไร? ดีกว่าเดิมหรือไม่
3) แล้วที่บอกว่าจะเปลี่ยนไปเป็นอย่างนั้นๆ มันมีลักษณะอย่างไร? มันมีสภาพอย่างไร? มันมีวิธีทำงานอย่างไร? ผมจะลองเล่าไล่ลำดับอย่างนี้ไปนะครับ เริ่มต้นที่

1) ทำไมต้องเปลี่ยน?

ผมเข้าใจว่าก่อนหน้านี้ 2-3 ปี เราอาจจะไม่เคยตั้งคำถามว่า "ทำไมโรงพยาบาลต้องเป็นราชการ?" เราไม่เคยตั้งคำถามเพราะว่าเราก็รู้สึกมาโดยตลอดว่า โรงพยาบาลมันก็เป็นราชการ มันก็เป็นของหลวงนี่ ของหลวงก็คือเป็นราชการ" ก็หลวงใช้เงินตั้ง คนก็คือหลวงเป็นผู้จ่ายเงินเดือนให้ มันก็ต้องทำแบบราชการ เราไม่เคยตั้งคำถามนี้เลยนะครับ

ถึงเมื่อ 2-3 ปีมานี้เริ่มมีการตั้งคำถามกันว่า "เอ๊ะ ทำไมโรงพยาบาลมันต้องเป็นราชการ ? เอาล่ะ ยอมรับกันล่ะว่ามันเป็นของหลวงมันก็คือต้องเป็นของราชการ อันนั้นชัดแน่ แต่ว่าเป็นของหลวง แล้วต้องเป็นของราชการด้วยหรือ ? ของหลวงมีตั้งหลายแบบที่ไม่จำเป็นต้องเป็นราชการ

ธนาคารแห่งประเทศไทยก็เป็นของหลวงแต่เขาไม่เห็นเป็นราชการเลย ระบบให้บริการสาธารณะต่างๆก็เป็นของหลวง ก็เห็นเขาก็ไม่ต้องเป็นราชการ... ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ มันมีของหลวงอยู่ตั้งหลายแบบนะแต่ทำไมตัวโรงพยาบาลนี้มันถึงต้องเป็น"ราชการ?"

ก็เดิมมันมาจากงบประมาณ หลวงเป็นคนตั้งขึ้นมันก็เป็นราชการ มันก็เป็นเหมือนของหลวงอื่นๆ แต่คำถามที่เริ่มถามกันก็คือ มันไม่ได้ถามด้วยตัวของมันเองนะว่าทำไมมันต้องเป็นราชการ? มันเป็นของหลวงนั้นก็โอเคล่ะ แต่ว่ามันทำไมมันต้องเป็นราชการ?

คำถามนี้มันไม่ได้ถาม"ทำไม?" เพราะว่า"ทำไม?" แต่ถามเพราะว่ามันรู้สึกว่าการเป็นราชการ การเป็นของหลวงแบบเป็นราชการนี้มันมีปัญหาในการบริหารจัดการ มันมีปัญหาที่เกิดขึ้นกับงานของโรงพยาบาลในหลายประการด้วยกัน. ปัญหาที่เห็นๆอันหนึ่งรู้ๆกันหมดก็คือ มีปัญหาเรื่องความคล่องตัวในเชิงงบประมาณ เขาให้งบฯมานั้นต้องไปใช้อย่างที่เขาบอก แล้วให้เท่าไรก็ต้องเท่านั้น แล้วให้เท่าไรนั้นแล้วจะได้หรือเปล่านี่ยังไม่รู้นะ เพราะว่าไม่ได้ให้กับโรงพยาบาลโดยตรง แต่ว่าเขาให้กับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งแล้วแต่ว่าสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะโอนงวดมาให้ จะกำหนดรายการมาให้

แล้วที่ให้มานั้น ให้เป็นค่าก่อสร้างตึกนี้อย่าเอาไปซื้อยานะ "ห้าม" ถ้าจะเอาเงินไปซื้อยาจะต้องกลับไปถามที่กระทรวงฯก่อน. แล้วการที่จะใช้เงินไปซื้ออะไรนั้น จะต้องบอกล่วงหน้าก่อนเกือบๆ 2ปี เพราะว่าจะต้อง"ทำงบประมาณของกระทรวงฯ" นั่นคือปัญหาในระบบของราชการเอง. งบประมาณมีปัญหา

"การบริหารก็มีปัญหา" ผู้บริหารโรงพยาบาลทำไมต้องมาจากกระทรวงสาธารณสุข? แล้วทำไมต้องย้าย ทำไมหมอดีๆ หมอเก่งๆที่เราอยากจะให้อยู่ที่นี่ทำไมต้องถูกย้าย ตัวหมอเองก็บอกว่า ถ้าไม่ย้ายก็ไม่มีความก้าวหน้าในชีวิตราชการ เพราะว่าซีมันสูงขึ้นไปอยู่โรงพยาบาลใหญ่เลื่อนตำแหน่ง ถึงแม้จะรักที่นี่ ชอบที่นี่ ทำงานที่นี่ แต่ก็ต้องไป เพราะระบบบริหารราชการมันเป็นอย่างนั้น

เวลาไม่มีคน ขาดหมอเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ขาดตำแหน่งบางตำแหน่ง หมอลาออก ถ้าถามว่าจะหาคนมาทำงานแทนนั้นใช้เวลาเท่าไร บางที 3-6 เดือนกว่าจะขอคนที่มีคุณวุฒิตรงตามตำแหน่ง กว่าจะตรงตามที่โรงพยาบาลมีได้ต้องไปถามส่วนกลาง ต้องไปถามผู้อำนวยการกองการเจ้าหน้าที่ของสำนักงานปลัดฯเสียก่อน ว่าจะมีใครบ้างไหมที่อยากจะมาทำงานที่นี่ มีตำแหน่งว่าง มีอัตราบรรจุให้ไหม แล้วก็รอไปอีก 3 เดือน 6 เดือนถึงจะมีคนใหม่มาแทน เพราะเริ่มต้นก็ต้องบอกก่อนว่ามันว่าง ว่างแล้วจะทำอย่างไรกระทรวงฯถึงจะส่งคนมาให้

ถามว่า "มันเสียเวลากับระบบบริหารงานบุคคลไหม?" ก็ค่อนข้างเสียเวลาอยู่พอสมควร ระบบงบประมาณ, ระบบบริหารบุคคล, ความเป็นอิสระในการบริหาร, อันนี้ก็ดูเหมือนมีน้อย หลายเรื่องต้องไปถามอะไรจากกระทรวงฯซึ่งอยู่ที่ส่วนกลาง กระทรวงฯก็ไม่ค่อยจะรู้หรอก ก็แล้วแต่มีใครสักคนที่มาตัดสินใจ ก็ตัดสินใจมา ถามว่า"ตรงไหม" อยากจะเป็นอย่างนั้นไหม คำตอบคือ บางทีมันก็อาจจะไม่ค่อยเป็นอย่างที่มันควรจะเป็น แต่ว่ามันมีระบบตัดสินใจ แล้วมันมีคนบางคนตัดสินใจอยู่ที่ส่วนกลาง ก็ต้องทำตามนั้น อยู่กับระบบราชการดูเหมือนจะมีปัญหาบางประการซึ่งก็เป็นปัญหาที่ดูเหมือนพวกเราส่วนใหญ่จะเคยชิน

ราชการมันก็ต้องเป็นอย่างนี้แหละ คือ มันช้า นายก็เยอะ ระเบียบข้อบังคับก็มาก งบประมาณก็ไม่ค่อยสะดวกไม่ค่อยจะคล่องตัว แต่บังเอิญว่าที่ผ่านมามันไม่ค่อยมีใครตั้งคำถามว่า "แล้วทำไมคุณเป็นราชการล่ะ" เพราะดูเหมือนว่ามันไม่มีทางออกทางอื่น ระบบราชการมีปัญหาในตัวของมันเองกับงานบางประเภท งานบางอย่าง

ปัญหาทำนองนี้พูดกันมานานมากกับงานบางประเภทก็คือ "งานของมหาวิทยาลัย" มหาวิทยาลัยตั้งคำถามมาโดยตลอดว่า ทำไมต้องให้มหาวิทยาลัยเป็นกรมด้วย และ ทำไมต้องให้มหาวิทยาลัยไปขออนุญาตปลัดทบวงฯ เวลาจะเปิดหลักสูตรอะไรต่ออะไร จะรับนักศึกษาต้องรายงาน ทำไมพิจารณาตำแหน่งว่า ใครจะเป็นศาสตราจารย์ได้นั้นแล้วทบวงฯจะไปรู้อะไรกับมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นที่ของนักวิชาการ ทำไมต้องไปถามทบวงฯ

มหาวิทยาลัยถามคำถามนี้มานานครับ พบปัญหาของระบบราชการอย่างนี้มานานก่อนที่หน่วยงานทางสาธารณสุขจะพบเสียด้วยซ้ำไป แล้วถามกันมานานจนกระทั่งรัฐบาลบอกว่า "เออ ก็จริงมันไม่เห็นจะต้องเป็นราชการ" มันก็เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐนั่นแหละแต่ไม่เห็นต้องเป็นราชการ มันก็ถึงเกิดแนวความคิดว่า "ถ้าอย่างนั้นก็ไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับฯ" ซึ่งก็คือ "องค์การมหาชนแบบหนึ่งนั่นเอง"

ปัญหาอย่างนี้มันเป็นปัญหาเฉพาะสำหรับงานบางประเภท ไม่ใช่ปัญหาของงานทุกประเภทที่เป็นราชการ ไม่ใช่งานราชการทุกอย่างจะมาแยกตัวออก จะมาบอกว่าไม่ต้องมีนายก็ได้ ขอเงินเยอะๆแล้วมาบริหารเอง0 แต่มันขึ้นอยู่กับภารกิจที่ทำครับ งานตำรวจนี่ไม่มีทางที่จะหนีไปได้ ต้องเป็นงานราชการนี้แหละ ต้องมีนาย ต้องมีสายบังคับบัญชา ต้องมีอำนาจอะไรบางอย่าง

แต่งานมหาวิทยาลัยมีคำถาม และคนก็บอกว่า เออ มันจริง มันไม่เห็นต้องเป็นราชการเลย ถ้าการเป็นราชการของมันนั้นมันทำให้เกิดปัญหาในการทำภารกิจ แล้วต่อมา ก็มีคนตั้งคำถามว่า "โรงพยาบาลนี้มันต้องเป็นราชการหรือ" มันต้องการอำนาจในแบบของตำรวจหรือเปล่า"

ตำรวจมีอำนาจบางอย่างที่มากับราชการ ก็คืออำนาจในการที่จะสั่งใคร ให้ทำอะไรก็ได้ ออกไปจากที่นี่ถ้าท่านจะเลี้ยวขวา แต่หากตำรวจเขาบอกให้เลี้ยวไปทางซ้ายท่านต้องเลี้ยวซ้ายนะครับ มีอำนาจตาม พรบ.จราจร ถ้าท่านไม่ทำท่านก็มีสิทธิได้ใบสั่งเป็นอำนาจที่เขาให้มา อันนี้เป็นงานที่ราชการมีอยู่ และก็ให้กับข้าราชการ

ผมถามว่าเวลาที่ท่านทำงานในโรงพยาบาลนั้น ท่านต้องการอำนาจแบบนี้หรือไม่ เวลาที่ท่านจ่ายยา แล้วท่านบอกว่ายาเม็ดนี้ถ้าไม่กินภายในเวลาที่กำหนดไว้ จะถูกจำคุกไม่เกิน 1 เดือนปรับไม่เกิน 2 พันบาทตามที่ พรบ.จราจรบอกเอาไว้ ก็ไม่ต้อง ธรรมชาติงานบางอย่างมันไม่เหมือนกัน มันไม่จำเป็นที่จะต้องไปใช้ความเป็นราชการ แล้วพอไปเป็นราชการนั้นแล้วมันมีปัญหาอะไรบางอย่าง

ผมเคยไปพูดที่ รพ.ที่เชียงใหม่ ผมตั้งคำถามว่า ในที่นี้มีใครที่เป็นข้าราชการอยู่แล้วเคยมีเครื่องแบบชุดขาวของราชการไหม คำตอบคือ "ไม่มีเลย" ชุดขาวของพยาบาลนี่ท่านคงมีกันหลายคน แต่ชุดขาวที่เป็นเครื่องแบบปรกติขาวของราชการนั้นไม่เคยได้ใช้ เพราะจริงๆแล้วท่านไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องแบบ เพราะเครื่องแบบเป็นสัญญลักษณ์ของอำนาจอะไรบางอย่าง

แต่ว่า ตำรวจนั้นต้องใช้ เพราะถ้าไปยืนอยู่สี่แยกแล้วเที่ยวโบกมือถ้าไม่แต่งเครื่องแบบตำรวจนั้นถูกชนตายไปแล้ว คนเขารู้ว่าเป็นตำรวจ ต้องระมัดระวัง คนเหล่านี้เขามีอำนาจตามกฎหมายในการจัดการจราจร ทหารต้องการอันนั้น ฝ่ายปกครองต้องการอันนั้น ป่าไม้ต้องการอันนั้น แต่คำถามก็คือ งานโรงพยาบาลต้องการอำนาจอย่างนั้นหรือเปล่า คำตอบก็คือดูเหมือนไม่ต้องการ ร้อยวันพันปีไม่เคยไปใช้อำนาจสั่งใคร เพราะงานเป็นการให้บริการทางสาธารณสุขเท่านั้น

เมื่อเริ่มตั้งคำถามอย่างนี้มันก็เริ่มหาคำตอบว่า เอ๊ะ! ถ้าอย่างนั้น ถ้าการเป็นราชการของโรงพยาบาลของรัฐ ดังนั้นแล้วมันทำให้เกิดอุปสรรคบางอย่าง ทำไมเราจะไม่แก้อุปสรรคนั้นก็คือ มาสู่ประเด็นคำถามที่สอง

2) เปลี่ยนไปเป็นอะไร ?

มาถึงประเด็นที่สองนี้ ถ้าเห็นว่า มันจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแล้ว มันจะเปลี่ยนเป็นอะไร โรงพยาบาลนั้นยังเป็นโรงพยาบาลของรัฐอยู่ครับ เป็นโรงโรงพยาบาลของรัฐแน่นอน แต่ว่า ถ้าจะเปลี่ยนรูปแบบวิธีบริหารจัดการ ไม่ให้มันติดอยู่กับระบบราชการนั้นมันจะเปลี่ยนเป็นอะไรได้บ้าง? แน่ล่ะ ที่มันเป็นอยู่เดิมนั้นมันเป็นองค์กรของรัฐดั้งเดิม ก็คือเป็นในรูปของราชการ เป็นมาแต่อ้อนแต่ออกเริ่มตั้งกระทรวงสาธารณสุขก็เป็นกระทรวงหนึ่งในระบบราชการ เมื่อมีหน่วยงานกระทรวงสาธารณสุขไปตั้งให้บริการ ก็เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยราชการด้วย

"ราชการ" เป็นองค์กรของรัฐในรูปแบบแรกๆที่มีขึ้นเพื่อจะให้บริการทั้งหลาย เริ่มต้นมีงานทหาร งานตำรวจ อะไรทั้งหลาย ก็ทำในระบบราชการนี่แหละก็มีส่วนราชการต่างๆมากมาย ทุกวันนี้เรามีกรมอยู่ 150 กว่ากรม มีกระทรวงอยู่ 15 กระทรวง เป็นราชการทั้งนั้น แล้วโรงพยาบาลก็เป็นส่วนหนึ่งของกระทรวง ของกรมเหล่านี้

ถามว่า เอาล่ะ ถ้ารูปแบบแรกคือ "ส่วนราชการ"นี้เราคิดว่าอยู่ตรงนี้ อยู่ร่วมกับกรมตำรวจ อยู่ร่วมกับกระทรวงกลาโหม อยู่ร่วมกับกรมการปกครอง อยู่ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย แล้วใช้วิธีบริหารจัดการแบบเดียวกันทั้งหมด "มันไม่น่าจะไปได้สำหรับภารกิจของโรงพยาบาล"

คำถามก็เกิดขึ้นว่า "มีองค์กรของรัฐรูปแบบอื่นบ้างไหม ที่จะเป็นตัวเลือก?" ก็มีคนตอบเหมือนกันว่า "มี" ถ้าไม่ต้องการราชการล่ะก็ "มีองค์กรของรัฐรูปแบบที่สองที่รัฐสร้างขึ้นมา แล้วมีมาแล้วตั้งเยอะแยะ ซึ่งก็คือ "รัฐวิสาหกิจ" เอาไหม?

พอบอกว่า "โรงพยาบาลเป็นรัฐวิสาหกิจนั้นมันนึกอะไรต่อมาได้เยอะแยะเลย" ก็คือตั้งแต่ ต้องเลี้ยงตัวเองได้ ก็ต้องเก็บค่ารักษาพยาบาลแพงๆ แล้วอย่ามาบอกนะครับว่าไม่มีเงิน? ถ้าไม่มีเงินเชิญไปรักษาโรงพยาบาลอื่น อันนี้ "ดูจะไปไม่ได้กับภารกิจของโรงพยาบาล" ซึ่งมีรัฐธรรมนูญ มีกฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่เอาไว้ชัดว่า "เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องให้บริการในเรื่องเหล่านี้" โดยถ้าหากว่าประชาชนไม่มีรายได้ ไม่มีเงินที่จะจ่ายได้ก็ต้องให้บริการฟรี มีระบบสังคมสงเคราะห์ มีอะไรต่างๆ มีระบบผู้มีรายได้น้อย มีระบบของบัตรประกันสุขภาพที่จะต้องทำตามนโยบายของรัฐในเรื่องการให้บริการ

เพราะฉะนั้น พอมีคนมาเสนอบอกว่า ก็เมื่อไม่อยากเป็นส่วนราชการ ก็เป็นโรงพยาบาลของรัฐในรูปแบบของรัฐวิสาหกิจซิ เอาให้เหมือนการประปา ให้เหมือนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตซิเอาอย่างนั้นไหม คำตอบมันมีอยู่ในตัวครับว่า "ไม่น่าจะสอดคล้องกับรูปแบบของโรงพยาบาล ซึ่งจะต้องให้บริการสาธารณะ และหลายกรณีก็เป็นการให้บริการโดยไม่คิดมูลค่าด้วย" ก็มีคนถามต่อไปว่า "มีอะไรอย่างอื่นอีกไหม"

ถ้าอยู่เป็นราชการ เป็นองค์การของรัฐในรูปแบบแรก(ราชการ)นั้นแล้วไม่ดี ก็มีคนเสนอว่าให้เป็นรูปแบบที่สอง(รัฐวิสาหกิจ)ก็รู้สึกว่ามัน ไม่ใช่ ? ประเด็นต่อมาก็คือว่า ถ้ารูปแบบที่หนึ่ง(ราชการ)ก็ไม่เอา ? รูปแบบที่สอง(รัฐวิสาหกิจ)ก็ไม่เอา มีรูปแบบอะไรอย่างอื่นที่เป็นโรงพยาบาลของรัฐอยู่ แล้วก็ไม่บริหารแบบราชการ ? ไม่บริหารแบบรัฐวิสาหกิจ?

เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 ขึ้นในปีที่แล้วนี่เอง มันก็เป็นการเสนอแนวทางใหม่ บอกว่า ถ้าใครคิดว่างานของตัวเองนั้นไม่ค่อยเหมาะที่จะเป็นราชการ ไม่ค่อยเหมาะที่จะเป็น รัฐวิสาหกิจ เพราะมันมีอะไรบางอย่างที่ทำให้เก็บเงินไม่ได้เต็มที่ ต้องให้บริการฟรี ต้องดูแลคนไข้ ก็มาเป็นองค์กรของรัฐรูปแบบที่ 3 นี่เสีย ก็คือ "เป็นองค์การมหาชน" นั่นเป็นทางออกที่มีการเสนอขึ้นมา แล้วก็ตราพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 ขึ้น

พระราชบัญญัติฉบับนี้เขียนขึ้นเป็นกฎหมาย โดยวางหลักเกณฑ์เอาไว้ง่ายๆว่า ต่อไปนี้ให้สร้างระบบองค์การมหาชนขึ้นมาในการบริหารจัดการประเทศ เดิมเรามีระบบราชการอยู่แล้ว มี พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มี พรบ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม มี พรบ.ข้าราชการพลเรือนวางระบบราชการเอาไว้แล้ว และก็มีกฎหมายที่วางระบบรัฐวิสาหกิจเอาไว้แล้ว

พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานของกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ กฎหมายเหล่านี้วางระบบองค์กรของรัฐประเภทที่ 2 คือรัฐวิสาหกิจเอาไว้แล้ว แต่ว่าในขณะนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 เป็นต้นมา พรบ.องค์การมหาชน 2542ได้ประกาศว่า ต่อไปนี้จะมีระบบองค์กรของรัฐประเภทที่ 3 เกิดขึ้น แล้วก็วางระบบกัน บอกว่า องค์กรของรัฐประเภทที่ 3 ที่เรียกว่าองค์การมหาชนนี้มันจะต้องเป็นอย่างไร? ตั้งอย่างไร? งบประมาณทำอย่างไร? คนเป็นอย่างไร ? ระบบบัญชีเป็นอย่างไร? ระบบการควบคุมเป็นอย่างไร? เป็นอีกระบบหนึ่งแยกต่างหากไปจากระบบราชการ แยกต่างหากไปจากระบบรัฐวิสาหกิจ เรียกว่า "องค์การมหาชน"

เพราะฉะนั้น กฎหมายองค์การมหาชนเป็นกฎหมายที่วางระบบว่า ต่อไปนี้ถ้ารัฐบาลอยากจะไปตั้งอะไรที่เป็นองค์การมหาชนก็ตั้งได้ และที่ตั้งขึ้นมานั้นจะมีสิทธิ หน้าที่ ต่างๆดังต่อไปนี้

กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ตั้งองค์การมหาชนนะครับ กฎหมายฉบับนี้บอกว่า "ต่อไปนี้ระบบองค์การมหาชนเป็นอย่างนี้ ความสัมพันธ์เป็นอย่างนี้ ผู้ปฏิบัติงานเป็นอย่างนี้" แล้วในข้างหน้าถ้ารัฐบาลจะตั้งองค์การมหาชน ก็ให้ออกพระราชกฤษฎีกา ซึ่งเป็นกฎหมายของฝ่ายบริหาร ครม.ประชุมแล้วเสนอได้เลยไม่ต้องเข้าสภาฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาให้ตั้งองค์การมหาชนขึ้นมาเป็นแห่งๆ

พร้อมๆกันครับกับการที่คณะรัฐมนตรียอมรับหลักการว่าต่อไปนี้ งานของรัฐมันมีธรรมชาติหลากหลาย อย่าเอาทุกอย่างไปกองรวมเป็นราชการหมด แล้วที่ไม่ใช่ราชการนั้นก็ไม่จำเป็นต้องเป็นรัฐวิสาหกิจด้วย ให้เป็นองค์การมหาชนได้ พร้อมๆกับการที่ ครม.เห็นชอบในแนวทางนี้ ครม.ก็มีมติชัดเจนว่า

ต่อไปนี้หน่วยงานของรัฐบางหน่วยงานที่เป็นอยู่แล้ว ทั้งที่เป็นราชการ ทั้งที่เป็นรัฐวิสาหกิจ เดิมมันเป็นสองอันนี้เท่านั้น มันหนีไปเป็นอย่างอื่นไม่ได้เพราะมันไม่มีระบบที่สาม ก็บอกว่า ต่อไปนี้ หน่วยงานของรัฐทั้งที่เป็นราชการ ทั้งที่เป็นรัฐวิสาหกิจให้เตรียมตัวปรับเปลี่ยนไปเป็นองค์การมหาชนเสีย เพราะ ครม.ดูแล้วนั้นว่า งานแต่ละแห่งที่ ครม. จะได้ระบุในต่อไปนั้น งานแต่ละแห่งของมันนั้นดูแล้วไม่เห็นควรจะเป็นราชการ ไม่เคยต้องใช้อำนาจบังคับ ไม่เคยต้องไปออกระเบียบสั่งการใคร ไม่เคยต้องไปแต่งเครื่องแบบไปทำงานที่ไหน งานทำอยู่กับงานเนื้องานของตัวเองแท้ๆ ซึ่งบางแห่งนั้นเกือบจะเรียกว่าไม่เคยเจอประชาชนด้วยซ้ำ ถามว่าทำไมต้องเป็นราชการด้วย ถ้าหากว่า ระบบราชการมันเป็นปัญหากับการทำงาน

ครม.ก็บอกมาด้วยครับ ครม.ก็มีมติออกมาว่า ต่อไปนี้

(1) มหาวิทยาลัยของรัฐทั้งหมดที่เป็นกรม ปัจจุบันนี้(สค.2543)มีอยู่ทั้งหมด 19แห่ง ครม.ก็บอกว่า ภายในปี 2545 มหาวิทยาลัยที่เป็นกรม และก็เป็นส่วนราชการอยู่ในขณะนี้ให้เปลี่ยนไปเป็นองค์การมหาชนทั้งหมด ก็คือ เปลี่ยนโดยการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ซึ่งก็เป็นรูปแบบหนึ่งขององค์การมหาชน

แต่ ครม.ก็เห็นใจว่า มหาวิทยาลัยนั้นเคยมี พรบ.เป็นของตัวเองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าจะเปลี่ยนอาจจะไม่ต้องใช้ พรบ.ขององค์การมหาชนนี้ก็ได้ ให้ไปออก พรบ.ของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ให้เปลี่ยนไปเป็นองค์การมหาชนแทน ธรรมชาติของมันนั้นก็คือ เป็นองค์การมหาชนครับ แต่จะเรียกมันว่า "มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ" แล้ว

ครม.ก็บอกต่อไปอีกว่า มันยังมีหน่วยงานของรัฐบางหน่วยซึ่งมันมีข้อมูล มาตั้งนานแล้วว่ามันอาจจะมีปัญหาตอนที่มันเป็นราชการ มันไม่ค่อยสะดวก ไม่คล่องตัว ติดขัดกับระบบราชการ ก็ให้ไปเป็นองค์การมหาชนเสีย ซึ่งมีอีกเยอะแยะครับ ครม.มีมติเมื่อ 28 กรกฎาคม 2541 บอกว่า

(2) สถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ของกรมประชาสัมพันธ์นั้น เป็นราชการแล้วไม่คล่องตัว จัดซื้อจัดจ้างก็ยากเหลือเกิน จ่ายเงินเดือนผู้ประกาศก็จ่ายแบบราชการ อัตราตำแหน่งในเรื่องการบริหารบุคคลก็มีไม่พอ บรรจุคนเข้าเป็นผู้ประกาศเขาอยู่ 3-4 เดือนก็ย้ายไปอยู่ที่อื่น เพราะเงินเดือนสูงกว่า มีตำแหน่งประจำ ไม่คล่องตัว จ้างผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์แล้วเงินเดือน 6360 บาท เท่ากับปริญญาตรีราชการ ไม่ค่อยเหมาะ ถ้างั้นทำไมไม่ให้เป็นรัฐวิสาหกิจในรูปแบบที่สอง

ครม.ก็บอกว่า "ไม่ต้องการ" เพราะว่ามีสถานีโทรทัศน์ช่อง 9 แล้วที่เป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะว่า ช่อง11 นี้ตั้งใจไว้ว่าจะให้เป็นแบบไม่มีโฆษณา จะเป็นโทรทัศน์เพื่อการศึกษา จะเป็นโทรทัศน์เพื่อวัฒนธรรม ห้ามโฆษณา เมื่อห้ามโฆษณาอย่างนี้มันก็หารายได้ไม่ได้ มันก็เป็นรัฐวิสาหกิจไม่ได้ ครม.ก็บอกว่าอย่าไปเป็นรัฐวิสาหกิจนะ เพราะถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจเมื่อไรนั้นมันจะต้องมีโฆษณา มันก็คือเป็นเหมือนช่อง 9 เพราะฉะนั้น ครม.บอกว่า ช่อง11 นี้เป็นราชการแล้วมีปัญหา ไม่คล่องตัว ก็คือให้เตรียมตัวขยับไปเป็นองค์การมหาชนเสีย แล้วใน มติ ครม.เดียวกันก็บอกต่อไปอีกว่า

(3) สภาวิจัยแห่งชาติ ซึ่งเป็นกรมอยู่ในกระทรวงวิทยาศาสตร์ หน่วยงานที่บริหารจัดการงานวิจัยนี้นั้น มันไม่เห็นจะต้องไปใช้อำนาจบังคับกับใคร ไม่เห็นจะต้องไปจับคนเหมือนตำรวจ เหมือนทหาร เหมือนป่าไม้ เหมือนนายอำเภอ แต่ทำไมมันจะต้องมาติดกับระบบงบประมาณแบบราชการด้วย เพราะฉะนั้น ครม.บอกว่าสภาวิจัยแห่งชาติให้เตรียมตัวปรับเปลี่ยนไปเป็นองค์การมหาชนเสีย แล้ว ครม.ก็บอกต่อไปอีกเยอะแยะครับ

(4) กรมวิทยาศาสตร์บริการ ยกออกไปเป็นองค์การมหาชน แล้ว ครม.ก็มีมติเห็นชอบไปในอีกหลายแห่งครับ

(5) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่จะทำหน้าที่ประเมินโรงเรียน 4 หมื่นแห่งทั่วประเทศ ประเมินมหาวิทยาลัยทั้งหมด เป็นการประเมินภายนอกนะครับ (External Audit) เหมือนกับที่เรารู้จักสถาบัน มู๊ดดี้ หรือว่า Standard and Poor ที่ทำหน้าที่ประเมินสถาบันการเงิน จะมีหน่วยงานอย่างนี้มารับรองมาตรฐาน และประเมินโรงเรียนของรัฐและเอกชนทั้งหมด กฎหมายบังคับเลยว่าภายใน 6 ปีต้องไปประเมินให้ครบทั้ง 4 หมื่นกว่าแห่งนี้ อันนี้ตั้งแล้วนะครับ สำนักงานรับรองมาตรฐานประเมินคุณภาพการศึกษา

(6) สำนักงานปฏิรูปการศึกษา ครม.บอกว่าจะต้องมีหน่วยงานขึ้นมาหน่วยหนึ่งมาทำหน้าที่ในการยุบกระทรวงศึกษาฯ กับ ยุบทบวงมหาวิทยาลัยเอามารวมกัน จัดระบบบริหารการศึกษาใหม่ งานเหล่านี้ไม่ควรทำในระบบราชการ ครม.ก็ตั้งสำนักงานปฏิรูปการศึกษาขึ้นมาเป็นองค์การมหาชน ตั้งแล้ว และทำงานแล้ว

(7) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ซึ่งเดิมเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเขาก็บอกว่าเขามีปัญหาเพราะชื่อมันก็บอกนะครับว่าทำอะไร ? จัดให้มีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ให้ประชาชน เผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ งานอย่างนี้หาเงินไม่ได้หรอกครับ มีค่าธรรมเนียมนิดหน่อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับเงินลงทุน เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่าย ครม.ก็บอกว่าอย่างนี้ให้เปลี่ยนไปเป็นองค์การมหาชนเสียอย่าไปเป็นรัฐวิสาหกิจ และที่สำคัญ ครม.บอกว่า

(8) โรงพยาบาลของรัฐที่มีความพร้อม ให้เปลี่ยนเป็นองค์การมหาชน และกระทรวง สาธารณสุขก็กำหนดครับ ก็มาสำรวจตรวจตาดูความพร้อมแล้วก็บอกว่า โรงพยาบาลของรัฐ 7 แห่งที่มีความพร้อมที่จะเป็นองค์การมหาชนระยะแรก ให้เตรียมตัวเปลี่ยนสถานภาพเป็นองค์การมหาชน เป็นองค์กรของรัฐรูปแบบที่สาม ก็คือ รพ.บ้านแพ้ว(สมุทรสาคร) รพ.นครพิงค์(เชียงใหม่) รพ.ขอนแก่น รพ.ยะลา รพ.หาดใหญ่ รพ.สตูล รพ.สระบุรี นี่คือที่มาของความเปลี่ยนแปลง

กระทรวงสาธารณสุขก็เริ่มทำงานร่วมกับสำนักงานกรรมการปฏิรูประบบราชการ กับสำนักงบประมาณ กับใครต่อใคร เพื่อเตรียมตัว แล้วก็มีหน่วยงานหลายหน่วยงานออกไปตั้งเป็นองค์การมหาชนแล้วในขณะนี้ ขณะนี้ถ้านับจนกระทั่งถึงสิ้นเดือนกันยายน 2543 นี้ผมคิดว่า จะมีองค์การมหาชนเกิดขึ้นแล้วรวมทั้งสิ้น 6 แห่งด้วยกัน ตอนนี้ทำงานอยู่แล้วหลายแห่ง แต่ว่าสิ้นเดือนกันยายน 2543 จะครบ 6 แห่ง ซึ่งจะมี รพ.บ้านแพ้วเป็น 1ใน 6 ที่จะครบถ้วนในเดือนกันยายนนี้

เพราะฉะนั้น 7 แห่งที่เป็นโรงพยาบาลก็กำลังเริ่มต้นอันนี้ ที่เหลือก็กำลังทำการศึกษา กำลังเตรียมทำอะไรๆอยู่ นั่นเอง อันนี้คือสิ่งใหม่ที่กำลังเปลี่ยนแปลง ทางเลือกใหม่ที่เกิดขึ้น หลังจากที่เราพบว่าโรงพยาบาลต้องเปลี่ยน อยู่กับระบบราชการอาจจะไม่คล่องตัว แล้วเปลี่ยนเป็นอะไร? ซึ่งก็มีทางเลือก 3 ทางที่ว่านี้ ทางเลือกใหม่ก็คือว่า ถ้าไม่เป็นส่วนราชการแบบที่ทำอยู่เดิม ก็คงไม่เหมาะที่จะเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่น่าจะเป็นองค์กรของรัฐรูปแบบที่ 3 ก็คือ "องค์การมหาชน"

3) ที่เปลี่ยนไปนั้นมันคืออะไร?

มาถึงประเด็นที่สามที่ผมบอกว่า จะเป็น"องค์การมหาชน"นี้นั้นมันต่างไปจากเดิมอย่างไร? มันดีกว่าอย่างไรบ้าง? มันจะมีปัญหาอะไร? ผมอยากจะเรียนท่านทั้งหลายว่า โรงพยาบาลองค์การมหาชนซึ่ง โรงพยาบาลกำลังจะเดินไปสู่อันนั้นมันคืออะไรบ้างใน 4 ประเด็นดังนี้

3.1 เมื่อโรงพยาบาลเป็นองค์การมหาชน โรงพยาบาลจะเป็นนิติบุคคลเอกเทศ ไม่อยู่ในสายการบังคับบัญชาของกระทรวงอีกต่อไป สำหรับคนในกระทรวงสาธารณสุขอาจจะต้องยกตัวอย่างว่า เหมือนกับ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หรือใกล้ตัวท่านเข้ามาอีกนิดก็คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี อันนี้คือองค์การมหาชนในรูปแบบหนึ่ง คือจะเป็นนิติบุคคล และเป็นนิติบุคคลเอกเทศ ไม่อยู่ในสายการบังคับบัญชา

การเป็นนิติบุคคลนี้สำคัญนะครับในทางกฎหมาย เพราะว่าทุกวันนี้ที่เป็นนิติบุคคลอยู่ก็คือ "สำนักงานปลัดกระทรวงฯ" ก็คือ กรมต่างๆเท่านั้น ส่วน รพ.ขอนแก่น, รพ.ศรีนครินทร์ ฯลฯ ไม่ได้เป็นนิติบุคคลทั้งนั้น แต่เป็นส่วนหนึ่งของนิติบุคคล เพราะฉะนั้น ก็ต้องถือว่า "ไม่ใช่คน" แต่เป็นส่วนหนึ่งของคนเท่านั้น เพราะฉะนั้น จะทำอะไรก็ต้องไปถามคน ก็คือ ถามอธิบดีเท่านั้น จะเซ็นต์สัญญาอะไรกับใครก็ต้องให้อธิบดีเซ็นต์ หรือ มิฉะนั้น อธิบดีมอบมา หรือให้ผู้ว่าฯมอบมา จะรับงบประมาณ สำนักงบประมาณเขาบอกว่าเขาไม่รู้จักใครที่ไม่ใช่คน ใครจะมาของบประมาณเขาจะต้องเป็นคน คือต้องเป็นนิติบุคคล

โรงพยาบาลถ้าไปของบประมาณเองนั้นสำนักงบประมาณจะไม่ให้ เพราะบอกว่าไม่ใช่คน จะให้แต่กับคนในทางกฎหมายก็คือนิติบุคคลเท่านั้น ซึ่งก็คือ กระทรวงฯ ทบวง กรมเท่านั้น เพราะฉะนั้น รวบรวมกันมา ผ่านสำนักงานปลัดฯมาเขาจะจัดสรรให้ เพราะตามกฎหมายสำนักงบประมาณเขาจะไม่รู้จักคนอื่น นอกจากนิติบุคคล

แต่ต่อไปนี้โรงพยาบาลจะเป็นนิติบุคคลเอง เพราะฉะนั้น สำนักงบประมาณเขาจะเริ่มรู้จัก เพราะว่ามันเข้าตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย "เป็นนิติบุคคลเอกเทศ" ก็คือจะรับงบประมาณเองได้ มีทรัพย์สินเป็นของตนเอง ในทุกวันนี้ทรัพย์สินของโรงพยาบาลทุกแห่งไม่ได้เป็นของตัวเองนะครับ รถ Ambulance ก็เป็นของสำนักงานปลัดฯ ไม่เชื่อก็ลองไปดูทะเบียนนะครับ / ที่ดินก็คือเช่ากับกรมธนารักษ์ในนามสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข / ส่วนคนถ้าถามว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของที่ไหน? ก็คือท่านเป็นเจ้าที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งสิ้น ไม่มีใครเป็นเจ้าหน้าที่ รพ.หรอกครับ เป็นเจ้าหน้าที่ เป็นข้าราชการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งสิ้น

เพราะฉะนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะย้ายท่านไปไหนเป็นเรื่องของเขานะครับ เพราะท่านเป็นลูกน้องเขา ท่านไม่ได้เป็นลูกน้องโรงพยาบาล เพียงแต่ว่าเขามอบให้ท่านมาทำงานที่ โรงพยาบาลชั่วคราวเท่านั้นเอง

แต่ต่อไปนี้เมื่อโรงพยาบาลเป็นนิติบุคคล ก็จะมีสิทธิหน้าที่ มีงบประมาณ มีคน มีทรัพย์สินเป็นของตนเอง ไปทำสัญญากับใครก็ได้ จะไปฟ้องร้องใครก็ฟ้องฯได้ในนามตัวเอง ไม่ต้องให้สำนักงานปลัดฯมอบอำนาจให้ แล้วก็เป็นนิติบุคคลที่ไม่ต้องมีผู้บังคับบัญชาที่เป็นกระทรวง

เมื่อเป็นนิติบุคคล องค์กรนี้ก็จะเป็น "องค์กรอิสระ" บริหารจัดการเอง "ไม่มีนาย" "ไม่ต้องฟังคำสั่งของอธิบดี หรือปลัดกระทรวง" มีเฉพาะ "คนที่ทำหน้าที่กำกับดูแลเท่านั้นก็คือ รมต.สาธารณสุขจะกำกับดูแล ไม่ได้ผ่านปลัด ไม่ได้ผ่านอธิบดี แต่จะตรงไปเลยที่รัฐมนตรี แล้วรัฐมนตรีจะมีอำนาจเฉพาะบางเรื่องเท่านั้น เฉพาะที่กฎหมายเขียนให้ เช่น ให้รัฐมนตรีสั่งการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้โรงพยาบาลรายงาน รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง หรือมีอำนาจเรียกใครไปชี้แจงได้ แต่รัฐมนตรีไม่มีอำนาจสั่งอย่างอื่น เพราะเขาเป็นนิติบุคคล เขาอิสระในตัวของเขาเอง นั่นเป็นลักษณะประการแรกของการเป็นองค์การมหาชน ก็คือ "ความ เป็นนิติบุคคลเอกเทศ และไม่อยู่ในสายการบังคับบัญชาเดิม"

3.2 โรงพยาบาลที่เป็นองค์การมหาชน และ องค์การมหาชนอื่นๆนั้น มันจะมีความเป็นอิสระในเชิงงบประมาณ จะรับงบประมาณในลักษณะของเงินอุดหนุนทั่วไปที่ให้เป็นก้อน ต่อไปนี้เมื่อสำนักงบประมาณรู้จักท่านแล้วนั้น เขาก็จะให้เงินท่าน กฎหมายองค์การมหาชนบังคับว่า จะต้องให้ในลักษณะเป็นเงินอุดหนุนเป็นก้อนเท่านั้น ไม่ต้องมาบอกแล้วว่าอันนี้นะเป็นหมวดสามร้อย อันนี้เป็นหมวดหกร้อย แล้วก็ไม่ต้องมาบอกว่าห้ามโอนข้ามหมวด ถ้าจะโอนข้ามหมวดฯต้องมาขออนุมัติก่อน อันนี้ไม่ต้อง

แล้วที่สำคัญก็คือ เมื่อให้มาเป็นก้อนนั้นมันก็เป็นเงินของโรงพยาบาล แล้วถ้ามันเหลือมันก็สามารถเก็บเอาไว้ที่โรงพยาบาลได้ จริงๆแล้วทุกวันนี้ที่เวลาพวกเราพูดกันว่าที่นั่นที่นี่ได้งบฯเท่าไรนั้น ความจริงแล้วเป็นตัวเลขตอนต้นปีเท่านั้น ไปถึงตอนสิ้นปีงบประมาณท่านไปดูเถอะครับว่าตัวเลขที่เขาให้มานั้นไม่ได้ตามนั้นหรอก ถ้าบอกว่าปีนี้โรงพยาบาลได้มา 150 ล้าน เอาเข้าจริงตอนสิ้นปีท่านใช้ได้จริงแค ่120 ล้านเท่านั้น ที่เหลือก็คือ ก่อหนี้ไม่ทัน อนุมัติการเงินไม่ได้ ทำสัญญาไม่ทัน เงินตก ใช้เงินไม่ครบ

สำนักงบประมาณยืนยันครับว่า ตัวเลขโดยเฉลี่ยของส่วนราชการนั้น ต้นปีบอกได้ร้อยล้าน สิ้นปีใช้ได้เจ็ดสิบล้านก็เก่งแล้ว ที่เหลือสามสิบล้านถึงวันที่ 30 กันยายนของทุกปีนั้น สำนักงานงบประมาณริบคืนหมด เพราะฉะนั้น ตัวเลขต้นปี กับ ตัวเลขปลายปีไม่เหมือนกัน แต่เรามักจะพอใจในตัวเลขต้นปี แต่โดยข้อเท็จจริงมันเป็นตัวเลขปลายปีเท่านั้น

แต่องค์การมหาชนพอให้เป็นก้อนก็คือ ไปทำงานให้ได้ตามเป้าหมาย ถ้าคุณทำงานได้แล้วคุณยังมีเงินเหลืออีก นั่นคือ "เก่ง" และก็เก็บเงินที่เหลืออันนั้นเอาไว้ได้ ไม่ต้องคืน นั่นคือระบบงบประมาณในลักษณะเงินอุดหนุนเป็นก้อน ซึ่งเป็นระบบเดียวกันกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหลาย อบต. อบจ. เทศบาลก็อยู่ในลักษณะอย่างนี้ ถ้าเป็นเงินอุดหนุนทั่วไป ส่วน "เฉพาะกิจ" นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่นี่คือ "เงินอุดหนุนทั่วไป" เพราะฉะนั้นระบบงบประมาณของโรงพยาบาลที่เป็นองค์การมหาชน ก็จะมีความเป็นอิสระค่อนข้างสูง

3.3 นอกจากในเรื่องสถานะการเป็นนิติบุคคล นอกจากในเรื่องระบบงบประมาณที่เป็นอิสระแล้ว "ระบบบริหารของโรงพยาบาลก็จะเป็นอิสระ และเบ็ดเสร็จเด็ดขาดสิ้นสุดที่โรงพยาบาล" ระบบองค์การมหาชนจะเป็นระบบบริหารที่ไม่ได้อยู่กับ ผู้บังคับบัญชาเพียงคนเดียวเหมือนระบบราชการอีกต่อไป ราชการนั้นมีผู้อำนวยการโรงพยาบาล มีผู้อำนวยการสำนักฯ มีอธิบดี มีปลัดฯ เหล่านี้คือ "เป็นตำแหน่งคนเดียวทั้งนั้น" ? ถ้าถามกระทรวงสาธารณสุขว่า "เอาอย่างไร" ก็ต้องบอกว่า "ถามท่านปลัดฯ" ? "ท่านปลัดฯตัดสินใจ" หรือถ้าถามเรื่องนโยบาย ก็คือ "ต้องถามท่านรัฐมนตรี ท่านรัฐมนตรีตัดสินใจเอง"

แต่รูปแบบองค์การมหาชนนั้น "เป็นรูปแบบการบริหารในลักษณะของคณะกรรมการ" กฎหมายบังคับไว้ว่าองค์การมหาชนทุกแห่ง จะต้องบริหารในรูปของคณะกรรมการที่เรียกว่า "คณะกรรมการบริหารองค์การมหาชน" กฎหมายบังคับเหมือนกันอีกว่า มีไม่เกิน 11 คน และ มี ผู้อำนวยการคนหนึ่งซึ่งจะทำหน้าที่เป็น "เลขานุการของคณะกรรมการ"

ผู้อำนวยการเป็นกรรมการบริหารโรงพยาบาลด้วย แต่ก็เป็นเลขานุการ รับมตินโยบายไปปฏิบัติ การตัดสินใจทุกอย่างขององค์การมหาชนนั้นจะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดสิ้นสุดที่คณะกรรมการบริหาร ตรงนี้เองที่ผมบอกว่า เป็นอิสระ และไม่ต้องขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุข ไม่ต้องไปถามท่านอธิบดีแล้ว ไม่ต้องไปถามท่านปลัดฯแล้ว ถ้าเป็นองค์การมหาชนแล้วนั้นก็คือ "แล้วแต่บอร์ด"

บอร์ดตัดสินใจเองครับว่าจะรับพนักงานเพิ่มขึ้นกี่คน? จะรับคนๆนี้เข้ามาในตำแหน่งไหน? และที่สำคัญก็คือ จะให้เงินเดือนใครเท่าไร จะขึ้นเงินเดือนใครหรือไม่ อันนี้เป็นอำนาจของ กรรมการบริหาร

งานที่เป็นงานของ กพ. งานที่เป็นอำนาจของกรมบัญชีกลาง เป็นของสำนักงบประมาณ เป็นของกระทรวงการคลัง เป็นของคณะกรรมการเงินเดือนแห่งชาติ เป็นของใครต่อใครสารพัดนั้น "มันรวมเอาไว้ในอำนาจของคณะกรรมการบริหาร" แล้วก็จบตรงนั้น

เพราะว่ากฎหมายตั้งใจจะให้คณะกรรมการบริหารทั้งหมดไม่เกิน 11 คนนี้รับผิดชอบวางระเบียบ กำหนดบัญชีเงินเดือน ขึ้นเงินเดือน ทุกอย่างสารพัด รวมทั้งการประเมินประสิทธิภาพคนทำงานด้วย แต่ไม่ได้ว่า ทุกอย่างเบ็ดเสร็จอย่างที่ผมพูดมานี้จริงๆเท่าไร ? เพราะว่า ในกฎหมายเองก็เขียนเอาไว้ว่า ในบางเรื่องที่มันสำคัญๆนั้น เช่น บอกว่าเมื่อเป็นนิติบุคคลแล้วเดี๋ยวก็จะไปกู้เงินใครต่อใครได้เต็มที่ นั่นรัฐบาลก็เป็นห่วงเหมือนกัน ก็บอกว่า "เฉพาะบางเรื่องที่มันอาจจะกระทบกระเป๋าของรัฐบาล และก็ห้ามอิสระเต็มที่นะ" ให้มาถามก่อนเช่น จะไปกู้เงิน ต้องมาขออนุญาติ ครม.ก่อน หรือเช่น จะไปทำสัญญาเข้าหุ้นกับชาวบ้านเขาทำอะไรก็ตาม ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ก่อน

และที่สำคัญก็คือ "กำหนดค่าตอบแทนกรรมการนั้น ห้ามทำเอง" ต้องถาม ครม.ก่อน เพราะถ้าไม่เช่นนั้น กรรมการก็จะมาบอกว่า กรรมการ 11 คนนี้จะมีรถประจำตำแหน่งกันคนละคัน มีเงินเดือนเท่ากับผู้อำนวยการ ก็เป็นคนกำหนดเองหมด กฎหมายบอกว่า "บางเรื่องนะ" บางเรื่องที่มันสำคัญเช่น กู้เงิน ร่วมทุน ฯลฯ และก็เรื่องที่มันเกี่ยวข้องกับส่วนได้เสียของกรรมการเอง เช่น จะจ่ายค่าตอบแทนกรรมการอย่างไร อันนั้นต้องไปถาม ครม.ก่อน แต่นอกเหนือจากนั้น ในเรื่องของบริหารปกติ ให้บริหารกันเองเบ็ดเสร็จเด็ดขาดจบตรงนั้น

และที่สำคัญก็คือ ในกฎหมายองค์การมหาชนนั้น ไม่ได้บังคับว่า ทั้ง 11 คนนี้มาจากไหน? ให้ไปเขียนเอาในกฎหมายจัดตั้งองค์การมหาชนของแต่ละแห่งเอาเอง เพราะฉะนั้นบ้านแพ้วเขียนได้ครับ บอกว่า ให้มีกรรมการโดยตำแหน่ง 3 คนก็คือมีปลัดฯ มีผู้ว่าฯ มีสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร มีกรรมการที่มาจากผู้แทนของคนในบ้านแพ้วที่ชาวบ้านเลือกกันมาอีก 3 คน มาจากชุมชน มาจากองค์กรเอกชน มาจากการลงมติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ห้ามไม่ให้เป็นนักการเมือง และก็บอกว่า ให้กรรมการทั้ง6คนนี้ (กรรมการโดยตำแหน่ง 3 คน และมีกรรมการที่มาจากผู้แทนของคนในบ้านแพ้ว 3 คน) ที่เลือกมานี้มาเป็นผู้ที่มาเลือก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 3คน ที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด ก็คือ เป็นคนบ้านแพ้ว อยู่ที่บ้านแพ้วมาแล้วไม่น้อยกว่ากี่ปี มีอายุไม่น้อยกว่าเท่าไร? ก็ว่าไป

เพราะฉะนั้น โครงสร้างของการบริหารมันจะไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่ในระบบราชการอีกต่อไป แล้วถามว่า "มันจะเป็นยังไง" ตอบว่า "ก็แล้วแต่" แล้วแต่องค์การมหาชนแต่ละแห่งจะไปกำหนด มันมีตัวอย่างของบ้านแพ้วว่าเขากำหนดอย่างนี้ ก็คือเขาต้องการ 3-3-3 และมีผู้อำนวยการ 1 คนเป็นเลขาฯ และ ประธานอีก 1คนที่ ครม.เป็นคนตั้ง ก็คือได้ครบ 11คน ไม่ได้บังคับว่า เป็นอิสระแล้วกรรมการตัดสินใจเองหมด ใครอย่ามายุ่งนะ แต่ขอปลัดกระทรวงเป็นประธาน และมีอธิบดีจากทุกกรมมานั่งเป็นคณะกรรมการ ถ้าอย่างนี้ก็จบ บอกไปคิดเองแล้วกัน แต่ให้ความเป็นอิสระกับกรรมการบริหารในแง่นี้

3.4 ระบบบุคลากร ตรงนี้ก็จะเป็นอะไรที่เป็นความเปลี่ยนแปลงค่อนข้างมาก เพราะว่าต่อไปนี้เมื่อสร้างระบบใหม่อีกระบบหนึ่งต่างหากแยกไปจากราชการ แยกไปจากรัฐวิสาหกิจแล้วนั้น เดิมเรามีข้าราชการในส่วนราชการ เดิมเราก็มีพนักงานในรัฐวิสาหกิจ เพราะฉะนั้น เมื่อมันมีระบบที่สามก็คือองค์การมหาชน ใน พรบ.เขาเขียนไว้ชัดว่า "เราจะมี เจ้าหน้าที่ในองค์การมหาชน" เป็นบุคลากรในภาครัฐสายพันธุ์ใหม่ที่เพิ่งสร้างขึ้น

ตามกฎหมาย คือต่อไปนี้เรียกได้ว่าคุณหมอวิฑิต(ผอก.รพ.บ้านแพ้ว)นี้เป็นบุคลากรสายพันธุ์ใหม่ คือ จะเป็นเจ้าหน้าที่องค์การมหาชน จะไม่เป็นข้าราชการในส่วนราชการอีกแล้ว ถามว่า เอ๊ะ! มันเป็นยังไง เหมือนลูกจ้างในบริษัทหรือไม?ขอตอบว่า "ไม่ใช่" เพราะยังคงเป็นบุคลากรในภาครัฐ ยังเป็นเจ้าหน้าที่ในภาครัฐ ออกบัตรประจำตัวออกมาก็เป็นบัตรประจำตัวทำนองเดียวกับข้าราชการ เป็นบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่จะระบุว่าบัตรประจำตัวนั้นท่านเป็นข้าราชการในในกระทรวงสาธารณสุข หรือ เป็นเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลบ้านแพ้วที่เป็นองค์การมหาชน หรือ เป็นพนักงานองค์การโทรศัพท์ที่เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ รูปแบบของบัตรคือเป็นแบบเดียวกัน

มีคนห่วงว่า แล้วประกันตัวผู้ต้องหาได้หรือไม่? คำตอบคือ "ได้" เพราะเป็นบุคลากรในภาครัฐเหมือนกันมีสิทธิหน้าที่เหมือนบุคลากรในภาครัฐทั้งหลาย คือ ทะเลาะกันเมื่อไรก็มีระบบการวินิจฉัยข้อพิพาท ถูกไล่ออก ถูกลงโทษทางวินัยก็มีกระบวนการอุทธรณ์ร้องทุกข์ ไม่พอใจก็ไปฟ้องศาลปกครองได้เหมือนกับที่ระบบราชการปัจจุบันเป็นอย่0 สามารถได้เครื่องราชฯเหมือนราชการในสิทธิตรงนี้แต่ลำดับขั้นแต่ระยะเวลาในการเลื่อนสายขึ้นมา อาจจะแตกต่างกัน ได้เท่าๆกับพนักงานรัฐวิสาหกิจสำหรับเจ้าหน้าที่องค์การมหาชน ราชการได้เร็วที่สุดก็คือ 3 ปีเลื่อนชั้นที ถ้าเงินเดือนถึงถ้าตำแหน่งถึง แต่ในรัฐวิสาหกิจ 5 ปีเลื่อนที องค์การมหาชนก็จะใช้เกณฑ์เดียวกันนี้คือ 5 ปีเลื่อนทีช้ากว่าราชการ แต่ว่าก็ได้เครื่องราชฯเหมือนกัน

มีเครื่องแบบมั๊ย หลายคนข้องใจโดยเฉพาะกับองค์การมหาชนที่อาจจะคุ้นเคยกับการมีเครื่องแบบมาก่อน ก็บอกว่า "มี" เนื่องจากทุกอย่างมันอิสระ มันอยู่ที่คณะกรรมการองค์การมหาชน เพราะฉะนั้น องค์การมหาชนก็เป็นคนกำหนดเครื่องแบบเอง จะให้แต่งเครื่องแบบชุดขาวอย่างราชการก็ได้ แต่ต้องมีเครื่องหมายต่างนะครับ จะไปใช้ตราครุฑ จะไปใช้ตรากระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ ต้องใช้ตราของตัวเอง เป็นอำนาจของกรรมการบริหารองค์การมหาชนที่จะกำหนดเครื่องแบบการแต่งกายของตัวเอง และการกำหนดนั้นเป็นการกำหนดโดยกฎหมาย อาศัยอำนาจตามกฤษฎีกาจัดตั้งที่ให้อำนาจคณะกรรมการมาอีกทีมันมีระบบบริหารจัดการตรงนี้

แต่ประเด็นที่สำคัญซึ่งก็ตรงกับราชการในระยะหลังก็คือ ข้างหน้าเจ้าหน้าทีองค์การมหาชนจะไม่มีระบบบำนาญ มันก็จะมีบำเหน็จเหมือนราชการปัจจุบัน มีกองทุนบำเหน็จเข้ามา กองทุนองค์การมหาชนก็จะไปพึ่งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ออกไปก็มีบำเหน็จให้

ใน 4 ประการนี้คือประเด็นหลักๆที่จะเป็นความเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างไปจากเดิม และในประการที่ 4 สุดท้ายอันนี้ อันหนึ่งซึ่งต้องพูดให้ชัดว่า ที่มันจะต่างไปนั้น องค์การมหาชนแต่ละแห่ง บุคลากรเป็นขององค์การมหาชนนั้นๆ ไม่ใช่เป็นของสำนักงานปลัดกระทรวง เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้ท่านเป็นหมออยู่โรงพยาบาลขอนแก่น ท่านบอกว่าจะย้ายไปอยู่ที่ จ.นครศรีธรรมราช ก็ย้ายได้ เพราะว่า ที่ จ.นครศรีธรรมราชก็คือเป็นของสำนักงานปลัดกระทรวงเหมือนกัน

แต่ข้างหน้านั้น ถ้าสมมุติว่า ท่านเป็นบุคลากรของเจ้าหน้าที่องค์การมหาชน รพ.ขอนแก่น เพราะฉะนั้น ถ้าท่านจะขอย้ายไปที่ รพ.ที่จ.นครศรีธรรมราช ท่านก็ต้องไปถามที่จ.นครศรีธรรมราชนะครับว่า จะรับท่านหรือไม่? เขาจะรับท่านได้ในระบบใดและอย่างไร? ถ้าเป็นองค์การมหาชนเหมือนกันก็จะง่ายเพราะมีวิธีเทียบเงินเดือน อะไรต่ออะไรที่เหมือนกัน แต่ว่าถ้าไม่ใช่แล้วนั้น ท่านต้องไปเข้าระบบใหม่ที่ รพ.จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งก็อาจจะเป็นการสมัครเป็นข้าราชการเข้าไปใหม่ก็ได้ ถ้าท่านประสงค์จะไปจริงๆ เพราะฉะนั้นต้องคิดให้ดี

อย่างคุณหมอวิฑิต ท่านมาเป็น ผู้อำนวยการ รพ.บ้านแพ้วแล้วนั้น ตำแหน่งสูงสุดก็คือตำแหน่งนี้เท่านั้นนะครับ อย่าไปคิดว่าเดี๋ยวเติบโตขึ้นจะไปเป็นผู้ช่วยฯปลัดฯ จะไปเป็นผู้อำนวยการสำนักงานปลัดฯ หรือไปเป็นปลัดกระทรวงฯ หมดแล้วนะครับอนาคต อยู่ที่โรงพยาบาลบ้านแพ้วนี้เท่านั้น ตำแหน่งสูงสุดของ รพ.นี้ก็คือ ตำแหน่งผู้อำนวยการ รพ.บ้านแพ้ว บุคลากรก็เหมือนกัน มันก็คล้ายๆกับธนาคารแห่งประเทศไทยครับ ถ้าท่านเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ต่อให้เป็นระดับ ผู้ว่าการฯท่านก็อย่าไปหวังว่าจะได้เป็นปลัดกระทรวงการคลังนะครับ เพราะมันคนละเรื่อง

แต่ถ้าธนาคารแห่งประเทศไทยเขามาตั้งสาขาที่ขอนแก่น ท่านก็คือมีสิทธิย้ายมาที่ ขอนแก่นได้ เพราะเป็นหน่วยงานเดียวกัน อันนี้จะทำให้บุคลากรอยู่กับองค์กรนั้นๆ เป็นคนขององค์กรนั้นๆ ไม่ใช่เป็นของของระบบอะไรที่ใหญ่กว่านั้น แล้วก็โยกย้ายสับเปลี่ยนบุคลากรได้ และถ้าเมื่อมันมีองค์การมหาชนเกิดขึ้นมากมาย ในที่สุดองค์การมหาชนก็คงมีระบบการแลกเปลี่ยน การโอนย้ายอะไรต่างๆได้ ทำนองเดียวกับระบบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นอยู่ในเวลานี้

แต่ในระยะต้นๆถ้าท่านจะย้ายท่านก็ต้องย้ายอยู่ใน 7 แห่งนี้ ถ้าคุณหมอวิฑิตอยู่ที่บ้านแพ้ว 8 ปีแล้ว เบื่อแล้ว อาจจะย้ายมาเป็นผู้อำนวยการ รพ.ขอนแก่นที่เป็นโรงพยาบาลองค์การมหาชนก็ได้ ถ้าตอนนั้น รพ.ขอนแก่นเป็นองค์การมหาชนแล้วนะครับ แต่ถ้า รพ.ขอนแก่นยังอยู่กับกระทรวงฯ คุณหมอวิฑิตก็คงต้องอยู่ที่บ้านแพ้วต่อไป

4 ประการนี้ก็คือ

1) ความเป็นนิติบุคคลที่ไม่มีสายการบังคับบัญชา
2) ระบบงบประมาณที่เป็นอิสระ
3) ระบบบริหาร ที่บริหารในรูปคณะบุคคลและไม่มีนายต่อไปอีก และ
4) ระบบบุคลากรที่เป็นของตนเอง อันนั้นเป็นธรรมชาติหลักๆขององค์การมหาชน

ผมมีประเด็นที่อยากจะเลยไปอีกนิดว่า "ฟังดูมันเหมือนจะดี" แต่ว่ามันก็มีข้อไม่ดีของมันอยู่บางประการ เพราะว่า ถ้ารัฐจะใจดีขนาดนั้นคือ คุณไปบริหารเอง มีคณะกรรมการเลือกตัดสินใจเอาเอง จ่ายเงินเดือนเอง เอางบฯไปเป็นก้อน เหลือไม่ต้องคืน แล้วก็ยังคุ้มครองคนเพราะคนยังเป็นคนในภาครัฐ มีสิทธิไม่ด้อยไปกว่าที่กำหนดในกฎหมายแรงงาน มีกลไกการประกันสิทธิให้ ข้อเสียของระบบองค์การมหาชน ก็ต้องถามต่อไปอีกว่า เงินที่เอาให้ไปทำนี้เป็นเงินของใคร คำตอบคือ "เป็นเงินของรัฐ" คือ เป็นงบประมาณ เพียงแต่ให้ในรูปของเงินอุดหนุนเท่านั้น

เพราะฉะนั้นในกฏหมายองค์การมหาชนเองมันสร้างกลไกในการตรวจสอบควบคุมเอาไว้ บอกว่าถ้ามันเพิ่มขึ้น เงินเดือนเพิ่ม สวัสดิการดีขึ้น คล่องตัวนั้น มันก็ต้องแลกด้วยอะไรบางอย่าง ได้พวกนี้ขึ้นมาก็จะเสียอะไรไปบางอย่าง และข้อเสียอันนี้ระบบราชการไม่ค่อยมี หรือ มีก็มีไม่ชัด ก็คือ "ระบบการควบคุมตรวจสอบประสิทธิภาพ"

ระบบราชการไม่มีการควบคุมตรวจสอบประสิทธิภาพอย่างชัดเจนเลย ถามว่ารู้ได้อย่างไรว่าตำรวจเมืองขอนแก่นทำงานได้ดีขึ้น ดูจากอะไร? ตอบไม่ได้หรอก เพราะงานของตำรวจนั้นเป็นร้อยเรื่อง มันอาจจะดีบางเรื่องเท่านั้น เราก็พยายามจะบอกกันนะครับว่าถ้าเปรียบเทียบบางเรื่องแล้วมันดูดีขึ้น ก็เห็นว่ามีการแจกรางวัลมีอะไรกันอยู่ แต่ว่าจริงๆแล้วมันไม่ได้เป็นการวัดอย่างแท้จริงสักเท่าไร

เพราะว่า ราชการทำงานเยอะมาก เพราะฉะนั้น ใช้งบประมาณได้ครบ 100% นั่นคือ "เก่ง" ไม่ถูกร้องเรียนนั่นคือ"ใช้ได้" เพราะมันบอกไม่ได้เหมือนกันว่างาน ราชการ งานกรมการปกครอง งานนายอำเภอนี้จะต้องทำอะไร พูดลำบาก เพราะว่า งานของกระทรวงมหาดไทยเขาเขียนอำนาจหน้าที่ของเขาไว้ว่า งานของเขาก็คือ งานบำบัดทุกข์บำรุงสุข ? ก็คือ "ทุกเรื่อง" เพราะมันอยู่ในข่ายของการบำบัดทุกข์บำรุงสุขทั้งนั้น แล้วจะประเมินอย่างไรถ้างานมันกว้างขนาดนั้น

แต่องค์การมหาชนไม่ใช่อย่างนั้น ก็คือพอเป็นองค์การมหาชนนั้น ตอนจะต้องจะต้องเขียนให้ชัดนะครับว่า "จะให้ทำอะไร".? แล้วก็จะมีการตรวจสอบประเมินประสิทธิภาพการทำงานด้วย อันที่รัฐบอกว่า ยอมเอาเงินไปเป็นก้อนเหลือไม่ต้องคืน ไปขึ้นเงินเดือนเองเลย บริหารเองไม่ต้องมาถามอธิบดีหรือว่าปลัดฯแล้ว แต่บนความต้องการบางอย่างครับ บอกว่าวิธีการบริหารจัดการแบบนี้นั้นมันจะดีขึ้นกว่าเมื่อก่อน เพราะฉะนั้น "ขอวัดว่าดีขึ้นจริงหรือเปล่า" กฎหมายองค์การมหาชนบังคับเอาไว้ครับว่า

"ระบบองค์การมหาชนจะต้องคู่ไปกับระบบการตรวจสอบประเมินประสิทธิภาพ" ตามหลักเกณฑ์ที่ ครม.เป็นผู้กำหนด ซึ่ง ครม.กำลังพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์นี้ออกมา แนวที่มันชัดเจนก็คือว่า ทุกสิ้นปีจะต้องมีการประเมินกันว่า องค์การมหาชนนั้นมันทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ ? อย่ามาสั่ง อย่าให้ต้องมาขออนุญาต ไม่ไปถามใครก่อนสั่ง ให้ทำไปเลยได้เองทั้งหมด ไปคอยดูตอนสิ้นปีก็แล้วกัน

เอาเงินให้เยอะๆให้ความคล่องตัวแล้วมาคอยดูซิว่าตอนสิ้นปีเขาทำได้ไหม? ก็ว่ามาว่า คุณหมอวิฑิตสัญญาอะไร ข้อที่ 1 ต่อไปนี้ระยะเวลาในการที่คนไข้มารอตรวจที่ แผนก OPD.นั้น ที่เคยรอกันเป็นชั่วโมงนั้นใช้เวลาเฉลี่ยจะต้องไม่เกิน 10 นาทีจะต้องได้พบแพทย์ ข้อที่ 2 นอนโรงพยาบาลจะต้องมีระยะเวลาเฉลี่ยลดลง ข้อที่ 3 แพทย์แต่ละคนจะต้องตรวจมากขึ้นเท่าไร? คุณหมอวิฑิตจะต้องมาให้สัญญากับ รมต.สาธารณสุข ซึ่งก็ทำโดยผ่านกระทรวงและก็ตกลงกันเอาไว้แล้วสิ้นปีมาดูกันว่าทำได้ตามนั้นหรือไม่ ถ้าไม่ได้องค์กรนั้นก็จะถูกลงโทษ องค์กรนะครับ ระบบประเมินมันก็คือตรงนั้น

ปล่อยให้หมอไปทำอะไรเต็มที่หมอคิดว่าจะทำอะไรได้ดีตรงนั้นบ้างบอกมา โอเคเอาเงินไป แล้วอีก 1ปีผมจะไปดูหมอ ไปดูซิว่าทำได้ตามนี้หรือไม่ ถ้าทำได้ยอดมาก ปีหน้าเพิ่มเงินให้ จ้างผู้อำนวยการต่อ ครบวาระการทำงานของบอร์ดแล้วต่ออายุของกรรมการบริหารไปได้อีก แต่ถ้าไม่ได้ ปีแรกอาจจะเตือน เพราะตอนที่สัญญากันไว้บอกว่าอย่างนั้นอย่างนี้เป็นข้อๆอันนั้น อธิบายได้มั๊ย อธิบายได้ครับ เกิดวิกฤติเศรษฐกิจทั่วประเทศ คนย้ายออกจากเขตนี้ทั้งหมด จำนวนผู้ป่วยก็เลยลดลง ผู้รับบริการก็ลดลง อธิบายได้ ปีหน้าก็มากำหนดเป้ากันใหม่

แต่ถ้าอธิบายไม่ได้ปีหน้าก็ต้องถามละครับว่า ในสัญญาใหม่นี้เขาว่าอย่างไร? ถ้าปีที่สองยังไม่ได้อีกมันก็คงจะต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ถ้าไม่เปลี่ยนคุณหมอวิฑิต ก็ต้องเปลี่ยนกรรมการบริหารโรงพยาบาล เอาคนที่แน่ใจมาทำ นั่นคือระบบประเมินประสิทธิภาพองค์กรที่เขียนเอาไว้ใน พรบ.องค์การมหาชน

แต่ว่าเมื่อองค์กรมันถูกประเมินอย่างนี้แล้วนั้น สัญญาว่าจะทำ1 2 3 4 ให้ได้ มันก็ต้องไปวางมาตรการภายใน มีการเรียกประชุมหัวหน้าฝ่ายทุกฝ่ายว่า ใครต้องไปทำอะไรบ้างต้องทำให้ได้ตามนี้นะ ก่อนที่ผมซึ่งเป็นผู้อำนวยการจะถูกเขาไล่ออก ผมไล่คุณออกก่อน ถ้าคุณไม่ทำตามอันนั้น มันก็ตรงไปตรงมา เพราะองค์กรมันถูกประเมิน และผู้บริหารก็ต้องถูกประเมิน ผู้บริหารก็จะต้องวางมาตรการให้ผู้คนในองค์กรรับไปตามอำนาจหน้าที่ ว่าใครทำได้ทำไม่ได้ ตรงนั้นจะมีกลไกการประเมิน อันนี้ที่ตามมา และคนในมหาวิทยาลัยจำนวนมารู้สึกว่า เอ๊ะ! จะเป็นธรรมไหม จะมีการกลั่นแกล้งไหม? มันจะไล่เราออกไหมเมื่อเป็นองค์การมหาชนไปสักสองสามปีแล้ว มาหาเรื่องเราเพราะเคยทะเลาะกับคณบดี เพราะเคยทะเลาะอธิการบดีมาหรือเปล่า ก็ไม่ค่อยจะอยากออกไปเป็นองค์การมหาชนเพราะเกรงว่าตรงนี้จะมีปัญหา

แต่สิ่งนี้มันจะมาคู่กัน มันไม่มีอะไรฟรีในโลกนี้ เมื่อได้ความเป็นอิสระ เมื่อได้ค่าตอบแทนสูงขึ้น ได้งบประมาณเป็นก้อน รัฐก็จะขอครับว่า ในเชิงนโยบายรัฐต้องการบริการสาธารณสุขที่ดีขึ้น บริการสาธารณสุขที่ดีขึ้นนั้นก็ได้แก่ 1 2 3 4 5 ทำ นั่นเองที่มันจะตามมากับระบบองค์การมหาชน ก็คือองค์การมหาชนนั้นจะอยู่ภายใต้ระบบการตรวจสอบควบคุมประเมินประสิทธิภาพ ซึ่งธรรมชาติของมันเป็นการตรวจสอบภายหลัง ไม่ใช่ต้องมาขออนุญาตก่อนทำนะครับ ทำให้เสร็จเลยแล้วสิ้นปีมาดูกัน

คำถามหนึ่งซึ่งมีคนถามเสมอๆก็คือ แล้วถ้าประเมินแล้วมันแย่ ตกลงจะมีการต้องปิดโรงพยาบาล แล้วบอกให้พนักงานไปหางานใหม่หรือเปล่า? ถ้าองค์กรทำงานแย่ บริหารผิดพลาดมันไม่สามารถตอบสนองนโยบายของรัฐบาลได้นั้น คำตอบก็คือ มันขึ้นอยู่กับว่าบริการอันนั้นมันจำเป็นต้องมีอยู่ต่อไปหรือไม่?

ถ้ารัฐบอกว่าที่บ้านแพ้วมันต้องมีโรงพยาบาลของรัฐแน่ๆ แต่จะเป็นโรงพยาบาลของรัฐในระบบราชการ หรือ จะเป็นโรงพยาบาลของรัฐในระบบองค์การมหาชน ก็ต้องมี เพราะมันมีอยู่แห่งเดียว "มันก็ต้องมีต่อ" แต่มีต่อนั้นอาจจะมีโรงพยาบาลบ้านแพ้วโดยที่ไม่มีคุณหมอวิฑิตได้ ตัวอย่างอย่างนี้เคยเกิดขึ้นครับ

ธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นองค์การมหาชนแห่งหนึ่ง เกิดขึ้นมานานแล้วโดยมีกฎหมายเฉพาะ เมื่อปี 2540-2541 บริหารขาดทุน 7-8 แสนล้าน คนถามว่าอันนี้จะยุบธนาคารแห่งประเทศไทยอันนี้ไหม จะด้วยการ Defense ค่าเงินบาท จะด้วยการดำเนินนโยบายในเรื่องกองทุนเพื่อการฟื้นฟูผิดพลาด หรือจะด้วยอะไรก็ตามที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้นั้น ก็มีคนถามว่าจะยุบองค์การมหาชนแห่งนี้ไหม

คำตอบมันปรากฎด้วยการกระทำครับว่า รัฐบาลไม่ได้ยุบครับ รัฐบาลไม่ได้ไปแตะต้องพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยอันนี้เลย แต่รัฐบาลเปลี่ยนผู้ว่าการฯไปถึง 3 คนติดต่อกัน ด้วยการปลดคนเก่าออก แล้วก็ตั้งคนใหม่? แล้วก็กำลังสอบสวนว่าที่ทำผิดนั้นมีความผิดทางอาญาด้วยหรือไม่? หรือว่าผิดเพราะว่าสุดวิสัย ตรงนี้เป็นคำตอบอีกเหมือนกันที่คนมีความรู้สึกว่า เอ๊ะ ถ้าเปลี่ยนออกไปแล้วที่มันไม่ใช่ราชการนั้นมันจะมั่นคงหรือเปล่า? จะมีมาไล่เราออกไหม

เหมือนราชการครับ ถ้ามันยังจำเป็นต้องทำงานอย่างนั้นอยู่มันก็ต้องมีองค์กรอย่างนั้น คนที่รับผิดชอบเป็นใครก็มาว่ากัน ในกรณีธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นก็ชัดเจนว่าคนที่รับผิดชอบก็คือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐบาลก็ใช้อำนาจตรงนั้นจัดการ แต่องค์กรนั้นรัฐบาลบอกว่าจำเป็นต้องมีคนดูแลนโยบายการเงิน จำเป็นจะต้องมีคนรักษาเสถียรภาพในทางราคา จำเป็นจะต้องมีคนเป็นนายธนาคารให้กับทางธนาคารให้กับรัฐบาล องค์กรนั้นก็ต้องอยู่ และมีคนทำงานต่อ "แต่ขอเปลี่ยนหัว"

นั่นเป็นคำถามหนึ่งที่ผมได้รับอยู่เสมอๆ ก็ขออนุญาตเรียนต่อไปด้วยในเชิงความมั่นคงขององค์กร เพราะที่มันเปลี่ยนนั้น มันไม่ได้เปลี่ยนเป็นองค์กรเอกชน ไม่ได้เปลี่ยนไปอยู่ในภาคอื่น มันยังอยู่ในภาครัฐ มันยังคงเป็น Public Sector เพียงแต่เปลี่ยนวิธีบริหารจัดการเท่านั้น

ในการที่ยังคงเป็นองค์กรในภาครัฐ แต่เป็นองค์กรภาครัฐในรูปแบบที่ 3 นี้นั้น ความเป็นองค์กรในภาครัฐมันทำให้ได้อะไรเยอะแยะ โรงพยาบาลที่เป็นองค์การมหาชนนั้นเมื่ออยู่ใน Public Sector อยู่ในภาครัฐมันก็คือได้รับการยกเว้นภาษีตามประมวลรัษฎากร มันก็ได้รับความคุ้มครองในแง่ของทรัพย์สิน ไม่อยู่ในข่ายของการบังคับคดี ใครมาครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ มีสิทธิใช้ที่ดินของกรมธนารักษ์ เหมือนกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ แต่เมื่อไรก็ตามที่ท่านเป็นเอกชนนั้น ภาษีก็ต้องเสีย ทุกอย่างก็ต้องจ่าย เช่าที่ดินราชพัสดุสร้างโรงพยาบาลก็ต้องจ่ายค่าเช่า ถูกยึดทรัพย์เมื่อไรก็ได้ แต่ความเป็น Public Sector คือเป็นหน่วยงานภาครัฐขององค์การมหาชนนั้น มันรับรองในสิ่งเหล่านั้น ถ้าข้าราชการได้อะไร องค์การมหาชนนั้นก็ได้ด้วย แล้วมันจะเปลี่ยนแปลงเฉพาะระบบบริหารภายในเท่านั้น

โดยธรรมชาติที่แท้จริงมันยังคงเป็นหน่วยงานในภาครัฐอยู่เสมอ ผมก็ได้ใช้เวลามาครึ่งชั่วโมงพอดีครับ ขอบคุณครับ (จบภาคที่2)

ภาคที่ 3 ตอบคำถาม

ถาม : ผู้อำนวยการโรงพยาบาลองค์การมหาชนเชื่อได้อย่างไรว่า จะได้คนดีมีคุณภาพ?

สมศักดิ์ ชุณหรัสมิ์ - ตอบ : เรื่อง ผอก.มีคุณภาพ? อันนี้นั้น ผมเองบังเอิญไม่ได้แนะนำตัวเองว่าเคยเป็น ผอก. สวรส. (สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข)ที่เป็นองค์การมหาชนอย่างที่ อ.สุรพลได้พูดไปแล้ว เพราะฉะนั้นผมเองก็ผ่านระบบบริหารมา เรียนตรงๆว่าที่ผมเป็น ผอก.สวรส.ไปได้ 2 ปีครึ่งนั้น ผมก็ได้เกิดข้อสรุปว่า อ้อ…ราชการ กับ เอกชน มันต่างกันตรงความพยายามที่จะหาคนที่คิดว่าต้องมาทำงานให้ได้มีคุณภาพ

พูดง่ายๆคือ ระบบเอกชนเขาเน้นเรื่องการหาคนที่มีคุณภาพ แล้วให้คนที่มีคุณภาพนั้น ตัดสินใจ ไม่มีกฎระเบียบอะไรมากมายมาผูกมัด เพราะฉะนั้น องค์กรที่เป็นลักษณะองค์การมหาชนก็ใช้ Concept คล้ายๆกันก็คือ ระเบียบนั้นมีระดับหนึ่ง แต่สำคัญคือ "เลือกคนให้ดี" เพราะฉะนั้นผมคิดว่าสำคัญแน่ๆ

แล้วถามว่าทำยังไงให้ ผอก.มีคุณภาพ? ตอบง่ายๆว่า"อยู่ที่กรรมการ" อยู่ที่กรรมการนี้ก็จะมีอยู่ 2-3 อย่างเหมือนอย่างท ี่อ.สุรพลได้พูดไปแล้ว ซึ่งผมจะขออนุญาตสรุปอย่างเร็วๆว่า

1) "ตอนเลือก" ซึ่งข้อดีของการมีระบบคณะกรรมการก็คือ "มีระบบคัดเลือก" ไม่ใช่เป็นเรื่องของใครคนใดคนหนึ่งที่จะมาแต่งตั้ง ถ้าใครบอกว่า ก็เดี๋ยวกรรมการก็จะมีการฮั๊วกัน อย่างนั้นก็คงจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาได้ เข้าใจว่าตรงนั้นก็คงจะเป็นตัวชี้ขาดส่วนหนึ่ง ที่ สวรส.ก็มีการเปิดเลือก พวกเราก็คงจะเห็นแล้วว่ามีการเปิดรับสมัครทั่วไป ที่ของ สกว.ก็จะคล้ายๆกัน หน่วยงานพวกนี้ก็จะมีการเปิดรับสมัครทั่วไปอยู่พอสมควร มีการคัดเลือก มีการให้มั่นใจในผู้ที่จะเข้ามา

2) "มีการติดตามประเมิน" ผอก.ไม่ได้พ้นจากการถูกติดตามประเมิน ในการประเมินนี้ก็จะประเมินทั้งตัวผลงานองค์กร และทั้งตัวของ ผอก.เองโดยตรงด้วย

3) "ผอก.ต้องมีการรายงานกับบอร์ด , มีการประชุมบอร์ด" บอร์ดนี้ไม่ได้ประชุมกันปีละครั้งนะครับ แล้วประชุมทีนั้น ผอก.ก็จะต้องรายงานว่าได้ทำอะไรไปบ้าง และบอร์ดก็มีสิทธิที่จะตั้งคำถามกับ ผอก.ตลอดเวลา ที่ผมเป็น ผอก. สวรส. นั้น บอร์ดตั้งคำถามบ่อยเหมือนกัน

4) สุดท้ายก็ต้องตอบว่า แน่นอนที่สุดก็คือว่า"บอร์ดก็ต้องมีคุณภาพ" เพราะฉะนั้น เรื่องบอร์ดมีคุณภาพอย่างที่ผมพูดไปแล้วเมื่อครู่นี้ก็คงเป็นเรื่องสำคัญครับ

ถาม : ถ้ามีระบบระเบียบมากขึ้น, มีความเข้มงวดในเรื่องการรับบริการของ รพ. คาดว่าจะต้องถูกฟ้องร้องมากขึ้นจะกระทบวัฒนธรรม? ทำให้มีการค้าความมากขึ้น? มีแพทย์พานิชย์มากขึ้นมันจะถูกต้องหรือ?

สมศักดิ์ ชุณหรัสมิ์ - ตอบ : ในประเด็นเรื่องการฟ้องร้องอันนี้ บังเอิญตอนที่ผมทำวิจัยเรื่ององค์การมหาชนกับโรงพยาบาลนั้น ตอนช่วงที่ ADB เขาเข้ามาสนับสนุนในเรื่องวิชาการนั้น ก็มีนักกฎหมายเขาไปค้นมาว่า ก็อย่างที่ อ.สุรพลพูด องค์การมหาชนเป็นหน่วยงานของรัฐ โดยลักษณะหน่วยงานของรัฐนั้น เขามีสิ่งที่เรียกว่า "กฤษฎีกาว่าด้วยการรับผิดทางแพ่งของหน่วยงานของรัฐ" เพราะฉะนั้น ที่หลายคนกลัวว่า โรงพยาบาลองค์การมหาชนนี้จะคือเป็นโรงพยาบาลเอกชน และก็จะถูกคนฟ้องร้องได้ง่าย ซึ่งตรงนั้นมันก็เป็นไปได้ อันนี้อยู่ที่ชาวบ้าน

แต่ถ้าว่ากันโดยกฎหมายก็คือว่า บุคลากรที่อยู่ภายในนี้ก็ยังถูกคุ้มครองในฐานะที่เป็นพนักงานของรัฐ แปลว่า คนที่จะฟ้องร้องนั้นเขาต้องฟ้องร้อง"รัฐ" เขาไม่ได้ฟ้องปัจเจก แต่ปัจเจกก็คงมีสิทธิถูกไล่เบี้ยไปเรื่อย แต่ว่าโดยหลักการก็คือว่า โรงพยาบาลแห่งนั้นเป็นเรื่องของรัฐ ถ้าแพ้ความ รัฐ ก็คงจัดการและไปไล่เบี้ยต่ออีกที ผมเข้าใจว่าสถานะอย่างนี้ทำให้ความรู้สึกอยากฟ้อง หรือ ไม่อยากฟ้องของชาวบ้านคงจะเป็นแบบหนึ่ง แต่สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญกว่านั้นก็คือ

ผมเข้าใจว่าโรงพยาบาลองค์การมหาชนนี้มันไม่ใช่โรงพยาบาลที่จะมานั่งทำในเรื่องของ กำไร-ขาดทุน ไม่ใช่โรงพยาบาลที่จะมานั่งทำในเรื่องของการไล่เบี้ยในเรื่องค่าใช้จ่ายอย่างถี่ยิบเหมือน รพ.เอกชน เมื่อเป็นอย่างนั้นความสัมพันธ์ระหว่างคนไข้กับโรงพยาบาลนั้น คงไม่เลวร้าย อันนี้ก็แล้วแต่สมมุติฐานของพวกเรานะ แต่ว่าโดยสมมุติฐานของผมก็คือว่า เวลาโรงพยาบาลที่ถูกฟ้องนั้นส่วนหนึ่งก็คือว่า "เพราะชาวบ้านเขารู้สึกว่ามันไม่คุ้ม" ถ้าชาวบ้านรู้สึกว่า รพ.ไปเอาเปรียบเขาจนกระทั่งเขาไม่คุ้มนั้นก็คือเป็นเรื่องของการบริหารองค์กร ผมเข้าใจว่า บอร์ดคงจะเป็นตัวคุมนโยบายตรงนี้ได้ดีที่จะไม่ทำให้ ผอก.ต้องเกร็งจนเกินไปนัก

ถาม : ระบบต่างๆที่ยังไม่พร้อม เช่นการบริหารงานบุคคล, การเงิน- การคลัง, หากเกิดเสียหายใครจะรับผิดชอบ?

สมศักดิ์ ชุณหรัสมิ์ - ตอบ : สำหรับประเด็นนี้ก็ตรงไปตรงมาอย่างที่ท่าน อ.สรุพล ได้พูดไปแล้ว ระบบเสียหายนั้นกรรมการก็ต้องดูแล คนที่เอาระเบียบไปใช้ไม่ดี คนที่เอาระเบียบไปใช้นี้ก็คือ ผอก.ก็ต้องดูแล แต่ผมเองอย่างที่เรียนแล้วก็คือว่า ระบบพร้อมหรือไม่พร้อมนั้น พวกนี้มันเป็นคำถามเชิง transition ทั้งนั้น ระบบมันก็ต้องพัฒนาไป

ข้อดีของระบบองค์การมหาชนนี้ก็อย่างท ี่อ.สุรพลได้พูดไปแล้วก็คือ มันเป็น Step อยู่ในตัวของมันเอง ในแง่ที่ว่ามันปรับเปลี่ยนได้ เพราะฉะนั้น"ระเบียบไม่มี" ผมยกตัวอย่างอีกเหมือนกันว่า ตอนที่ผมอยู่ สวรส. นั้น บอร์ดจะบอกเลยว่า"ออกระเรียบให้น้อยๆ" จะได้ไม่ต้องไปรัดกันมาก แล้วหลายอย่างมันจะถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นระดับขั้น แน่นอนว่า "ตามประเมินคนทำตามระเบียบนี้สำคัญกว่า" เพราะฉะนั้น สำหรับคำว่า "ระบบไม่พร้อม" นี้ พวกเราเคยชินกับ "ระบบ" ที่มันรัดเสียจนกระทั่งแน่หนา แต่ความจริงแล้ว "การมีระบบ แต่ขาดการติดตามนั้น แย่กว่าการมีระบบน้อยๆแต่สามารถติดตามได้เยอะๆ" และนี้คือสิ่งที่ผมได้ข้อสรุปมาจากการที่ได้เคยไปทำงานที่ สวรส. ภายใต้ความคล่องตัวพอสมควรที่ว่าก็ฝากไว้เท่านี้ครับ

รวบรวมคำถามเป็นข้อๆ

1) ถ้าโรงพยาบาลเข้าสู่องค์การมหาชนแล้วการรักษาพยาบาลจะแพงไหม?
2) โรงพยาบาลมีอิสระในการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ ใครจะเป็นคนกำกับให้คนจนได้กินยาที่มีมูลค่าและคุณภาพเท่าคนรวย?
3) ข้อกังวลของคนจน หากโรงพยาบาลเข้าสู่ระบบองค์การมหาชน การเข้าถึงจะดีขึ้นจริงหรือเปล่า มีความเท่าเทียมจริงไหม?
4) ถ้าโรงพยาบาลเข้าสู่องค์การมหาชน ควรจะต้องจำกัดเพดานกำไรแต่ละปี เพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควรกับชาวบ้านได้หรือไม่?
5) โรงพยาบาลองค์การมหาชน ถ้าตั้งอยู่ชายแดน การรับผิดชอบให้การบริการเพื่อนบ้านชาวต่างชาติเดิมที่รัฐให้การสนับสนุนงบฯ จากนี้ใครจะรับผิดชอบ?
6) เนื่องจากเดิมองค์กรอยู่ได้ด้วยงบประมาณ ถ้ามีเงินอุดหนุนจากการบริการไม่หวังกำไร ถ้าขาดทุนจะทำอย่างไร? ถ้าบริหารเพื่อให้ได้กำไรจะกระทบกับประชาชนหรือไม่?
7) โรงพยาบาลเป็นองค์การมหาชน การใช้บริการจะได้รับความเป็นธรรมในค่ารักษาพยาบาลหรือไม่?…
8) วันนี้ทำไมอาจารย์สุรพลแสดงให้เห็นเหรียญแตเพียงด้านเดียว…ธนาคารชาติ กับ โรงพยาบาลแตกต่างกันมากในลักษณะขององค์กร นำมาอุปมาอุปมัยด้วยกันไม่ได?

สุรพล นิติไกรพจน์ - ตอบ : เอาเรื่องเงินก่อนนะครับ กรณีบ้านแพ้วนั้นเข้าใจว่าบ้านแพ้วยุติกันแล้วว่า 1 ตุลาคม 2543 นี้ที่จะเป็นองค์การมหาชน บ้านแพ้วจะเก็บค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยนอกนั้น การตรวจรักษาแต่ละครั้งจะเก็บ "40 บาท" คือ "เก็บ 40 บาททุกเรื่อง" รวมทุกรายการ

และสำหรับการ Admit ทุกครั้งจะเก็บ 100 บาท จะกี่วันก็ตาม เดี๋ยวอันนี้รอถามกับคุณหมอวิฑิตเองก็แล้วกันครับว่า ได้ หรือไม่ได้ เข้าใจว่าเกณฑ์นี้ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐานของโรงพยาบาลในปัจจุบัน( สิงหาคม.พศ. 2543 ก่อนมีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค 1 ป)ตามอัตราค่ารักษาพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข คุณหมอวิฑิตขออันนี้ โดยการของบประมาณของรัฐเพิ่มขึ้นเพื่อจะทำให้ดูว่า"มันทำได้" แล้ว"รัฐ"โดยกระทรวงสาธารณสุขก็ยินยอมให้ดูว่า ตกลงจะไปได้หรือไม? ของบประมาณเพิ่มขึ้นในอัตราหลายสิบเปอร์เซ็นต์นะครับ แต่ว่า ฐานคงไม่เยอะเข้าใจว่าบ้านแพ้วจะได้ในปีนี้ 64 ล้านเท่านั้นเอง เป็นโรงพยาบาลเล็กๆโรงพยาบาลหนึ่ง

แต่ว่าคุณหมอวิฑิต จะประกาศสัญญาประชาคมว่า "ต่อไปนี้ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2543, 40 บาทสำหรับผู้ป่วยนอก และ 100 บาทสำหรับผู้ป่วยที่ Admit ทุกรายที่ไม่ใช่เตียงพิเศษจะอยู่กี่คืนก็ตาม ซึ่งอันนี้รวมค่า Doctor Free, รวมค่าอะไรทุกอย่างแล้ว รวมค่ายา, รวมค่าอาหารด้วย" นั่นเป็นคำตอบอันหนึ่ง แต่คำตอบที่ผมต้องการจะตอบประเด็นนี้นั้น "ระบบองค์การมหาชนไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของกำไร" เพราะคิดว่า "มันเป็นระบบของรัฐ หลายเรื่องให้ฟรี"

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส) ที่คุณหมอสมศักดิ์เคยเป็นผู้อำนวยการนั้น ใช้เงินมาตลอด ใช้เงินมาเป็นพันๆล้านแล้ว ไม่เคยมีเงินกลับไปให้รัฐสักบาทเดียว แต่เขาบอกว่า"ดี", "ทำงานดี" โดยเหตุผลว่า มีงานวิจัยที่มีคุณภาพออกมาเยอะแยะ นั่นคือสิ่งที่รัฐต้องการ ก็ที่เก็บภาษีมาก็คือจะมาทำเรื่องพวกนี้นั่นแหละ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนงานวิจัย (สกว.) ใช้จ่ายเงินไปหลายพันล้านบาทแล้วนะครับในขณะนี้ ไม่เคยหารายได้เข้ารัฐเลยแม้แต่บาทเดียว ก็ไม่เคยมีใครไปตำหนิว่าทำไมไม่ได้? เพราะ เขาตั้งใจจะไปเป็นหน่วยงานที่ไปจ้างทำวิจัย ไปบริหารงานวิจัย ภารกิจของเขาไม่ใช่ภารกิจในเชิงการเงิน แต่ถ้าองค์กรนั้นๆเขามีการจัดเก็บเงิน ปัจจัยในเรื่องการเงินก็จะถูกนำมาพิจารณาในการประเมินคุณภาพด้วย

บอกว่าทำไม? คุณหมอวิฑิตมีจำนวนคนไข้ 1 แสนรายในปีนี้ ทำไมถ้าเมื่อเอามาคูณกับ 40 บาทแล้วมันต้องเป็น 4 ล้านใช่ไหม? แล้วทำไมคุณหมอวิฑิตเก็บได้เพียง 2 ล้านบาท? อธิบายซิ? นี่คือตัวประเมินประสิทธิภาพ. ถ้าคุณหมอวิฑิตอธิบายแล้วบอกว่า ไม่มีบัตรประกัน, เป็นผู้มีรายได้น้อย, นักสังคมสงเคาะห์เขามาดูแล้วเขาบอกว่า ยกให้…ไม่มีจริงๆ อธิบายไป… ก็จบ. โอเคตรวจสอบประเมินกันได้ แต่ไม่ใช่ไปตรวจสอบว่า คุณหมอวิฑิตต้องหาให้ได้ 20 ล้านอย่างนั้นนะ เปล่า ไม่ใช่อย่างนั้น แต่ไปตรวจสอบเพราะว่ามันเป็นปัจจัยหนึ่งในการบริหารเท่านั้น

เหมือนกับเรื่องของ การศึกษาครับ โรงเรียน กับ โรงพยาบาล มีความคล้ายกันในแง่นี้คือ ไม่มีใครเขาไปถามหรอกครับว่าทำไมโรงเรียนเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ตอนนี้มีโรงเรียนออกไปเป็นองค์การมหาชนแล้ว 1 แห่ง พร้อมๆกับโรงพยาบาลบ้านแพ้วนี้ก็คือ โรงเรียนวิทยาศาสตร์มหิดลวิทยานุสรณ์ ที่ ศาลายา กฤษฎีกาเพิ่งจะประกาศเมื่อปลายเดือนสิงหาคม จะบริหารแบบองค์การมหาชน แล้วก็ไม่ได้คิดเลยว่าจะไปหาเงิน ไม่ได้คิดเลยว่าจะเป็นโรงเรียนราษฎรไปเก็บแป๊ะเจี๊ยะสูงๆ

เขาตั้งใจจะส่งเสริมคนที่มีความรู้ความสามารถทางวิทยาศาสตร์ รัฐจะอุดหนุนเงินให้เต็มที่ เพราะฉะนั้นจ่ายอยู่แล้ว โรงเรียนทุกวันนี้ก็จ่ายอยู่แล้ว ไม่มีใครไปถามหรอกครับว่า ทำไมโรงเรียนไม่ช่วยรัฐหารายได้บ้าง เพราะวัตถุประสงค์ของการดำเนินงานมันคือการให้บริการประชาชน เพราะฉะนั้นคำถามของโรงพยาบาลก็ต้องเปลี่ยน

เพราะว่า ถ้าหากว่าจะหารายได้ แล้วเอาเกณฑ์ในเรื่องการหารายได้เยอะๆนั้นมาประเมินนั้น จะเป็น "โรงพยาบาลที่เป็นรัฐวิสาหกิจ" ไม่ใช่"โรงพยาบาลที่เป็นองค์การมหาชน" ต่างกันชัดเจน ในกฎหมายจัดตั้งองค์การมหาชนเขียนไว้ชัดเจนเลยครับว่า "องค์การมหาชนไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรเป็นหลัก" ไม่มีวัตถุประสงค์อันนั้น ซึ่งยืนยันความต่างจากรัฐวิสาหกิจชัดเจน

ที่ท่านสงสัยว่าทำไมผมให้ข้อมูลด้านเดียวในการยกตัวอย่างของกรณีธนาคารชาติ กับ โรงพยาบาลที่แตกต่างกันที่ท่านถามมานั้น เอาตัวอย่างโรงพยาบาลด้วยกันก็ได้ครับ. ถามว่า "ข้างหน้านี้อีก 2 ปีข้างหน้าเขาจะยุบโรงพยาบาลบ้านแพ้วไหม? เป็นไปไดไหม? ถ้า รพ.บ้านแพ้วบริหารแย่ล้มเหลว" คำตอบก็คือ "เป็นไปได้" ถ้ารัฐบาลบอกว่า"ไม่จำเป็นต้องมีโรงพยาบาลในอำเภอบ้านแพ้วอีกต่อไปแล้ว" แล้วรัฐบาลก็จะยุบ แต่ไม่ได้เกี่ยวพันกับการที่โรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็นส่วนราชการ หรือว่า เป็นองค์การมหาชน

ณ วันนี้ที่ถึงแม้ว่าเป็นส่วนราชการอยู่ถ้าเขาบอกว่า คนในอำเภอบ้านแพ้วเขาย้ายออกไปหมดแล้ว คนในอำเภอบ้านแพ้วย้ายถิ่นไปทำงานที่อื่น เหลือคนอยู่ที่ในอำเภอแค่หมื่นคนเท่านั้น อย่างนั้นสถานีอนามัยก็รับไหว ก็ยุบ รพ.บ้านแพ้วเสียเถิด มันก็ยุบได้นะครับ ณ วันนี้ที่เป็นส่วนราชการอยู่นี้นะครับ เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยได้ทำกันเท่านั้นเอง โรงเรียนกระทรวงศึกษาฯก็ยุบไปรวมกันตั้งหลายแห่ง เวลานักเรียนมีจำนวนไม่พอ ไม่มีความจำเป็นแล้ว

แต่ไม่ใช่เพราะว่า เมื่อเป็นโรงพยาบาลองค์การมหาชนแล้วจะถูกยุบ โอกาสในการจะถูกยุบมีเท่ากัน ท่านทราบหรือไม่ครับว่า กฎหมายข้าราชการพลเรือนเขียนมานานหลายสิบปีแล้วว่า วันใดวันหนึ่งที่ท่านเป็นข้าราชการทั้งหลายอยู่นี้นั้น ถ้าส่วนราชการเขาบอกว่าเขาให้ยุบตำแหน่งของท่านนี้ ตำแหน่งเลขที่เท่าไร? สังกัดอะไรที่ท่านครองอยู่นี้ ถ้าเขาบอกว่าตำแหน่งนี้ไม่จำเป็นต้องมีแล้วนั้น แล้วเขายุบ ท่านต้องออกจากราชการไปรับบำเหน็จทันทีนะครับ เถียงอะไรไม่ได้ทั้งนั้น ฟ้องศาลไหนก็ไม่ได้ทั้งนั้น เป็นอำนาจที่มีอยู่ตามกฎหมาย

เพราะฉะนั้น ที่บอกว่า ข้าราชการมั่นคงนั้นเป็นข้อเท็จจริง แต่ในทางกฎหมายนั้น ความมั่นคงไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากการเป็นเจ้าหน้าที่องค์การมหาชน เพียงแต่ที่เรารู้สึกว่ามันมั่นคงเพราะว่า "มันไม่เห็นมีใครทำ" แต่ว่าตามกฎหมายนั้น สมมุติว่า วันพรุ่งนี้ท่านกลับไปท่านไปเจอมติหนังสือแจ้งมติ อกพ.กระทรวงฯแจ้งมาว่า ตำแหน่งของท่านถูกยุบแล้ว ท่านก็ต้องกลับบ้านนะครับ จะฟ้องศาลไหน? จะไปบอกว่า ท่านเป็นข้าราชการมาตั้ง 20 ปีแล้วทำไมมาทำกันอย่างน ก็เขาบอกว่าตำแหน่งของท่านนี้ไม่จำเป็นแล้ว "เลิก" ก็ต้องเลิกนะครับ มันมีโอกาสเป็นได้ทั้งนั้น

แต่ไม่ใช่เพราะมันเป็นองค์การมหาชนแล้วจะถูกยุบได้ ทั้งราชการ ทั้งองค์การมหาชนนั้นอยู่บนพื้นฐานเดียวกัน เพราะจริงๆแล้ว เป็นองค์กรของรัฐทั้งค เพียงแต "วิธีการบริหารที่ต่างกันเท่านั้น"

คำถามในแง่ความมั่นคง ถามในแง่ของกฎหมายว่ามันจะถูกล้มไหม? ตัวบุคคลจะถูกเลิกจ้างไหม? คำตอบคือ "เหมือนกันหมด" ที่จะมี"ต่าง"ก็คือ ในแง่ตัวบุคคลในองค์การมหาชนที่จะมี "ระบบประเมิน" ซึ่งในระบบราชการ "ไม่มี" อันนี้คือ"ความต่าง" แต่ในเรื่องอื่นไม่ได้ต่างกันเลย

ผมขอไปที่คำถามอีกกลุ่มหนึ่งที่เกี่ยวกับกรรมการบริหาร ที่ถามมาว่า

1) คณะกรรมการ และ ผู้อำนวยการ ทำไมไม่มาจากการเลือกตั้ง?
2) ถ้ากรรมการมีคนที่มาจากปลัดฯ หรืออธิบดีโดยตำแหน่ง แล้วถ้ามีการประเมินหน่วยงานนั้นว่าทำงานไม่มีประสิทธิภาพ จะมีการเปลี่ยนกรรมการที่มาโดยตำแหน่งดังกล่าวหรือไม่?

คำถามที่ 2 นี้น่าสนใจ ก็ถ้าเอาปลัดกระทรวงฯเป็นกรรมการบริหาร แล้วถ้าโรงพยาบาลทำงานไม่ดีแล้วจะเปลี่ยนตัวปลัดฯหรือไม่? โดยหลักคือ "ไม่เปลี่ยน" กรรมการโดยตำแหน่งซึ่งจะมีอยู่น้อยนี้จะเป็นผู้มาดูแลแทนหน่วยงานในแง่ของการประสานการทำงาน ที่จะเปลี่ยนได้ก็คือ "กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ" เพราะจริงๆแล้วเขาเปลี่ยนอยู่โดยธรรมชาติอยู่แล้วนะครับ นี่อีกสองอาทิตย์ก็จะเปลี่ยนปลัดกระทรวงฯอีกแล้ว เพราะฉะนั้นจะมีการเปลี่ยนในทุกๆวันที่ 30 กันยายนของทุกปี หรือ โดยปลัดฯเกษียนอายุ หรือ อธิบดีเกษียนอายุราชการ เพราะฉะนั้นไม่ต้องไปเปลี่ยนคน

ในคำถามที่ถามว่า "ทำไมไม่มาจากการเลือกตั้ง"? เพราะมันเป็นองค์กรของรัฐที่ทำงานบางอย่างภายใต้นโยบายของรัฐบาล รัฐบาลมอบนโยบายให้โรงพยาบาลบ้านแพ้วไปทำอะไรบางอย่างในเขตอำเภอบ้านแพ้วตรงนั้น มันอยู่ภายใต้ตรงนั้นครับ ระบบการเลือกตั้งนั้น เราเลือกตั้งคนไปปกครองประเทศเท่านั้น โรงพยาบาลเป็นกลไกหนึ่งของกระบวนการปกครองประเทศของรัฐบาล เราคุมรัฐบาลโดยผ่านตรงนั้น โดยผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีในอีก 2-3 เดือนข้างหน้านี้อยู่แล้ว เราคุมให้ดีก็แล้วกัน แต่ว่าเราไม่ได้คุมครับ เรามาลงมติกันว่า ย้ายผู้อำนวยการ รพ.ขอนแก่นเลยดีไหม?โดยอาศัยมติของพยาบาล คำตอบก็คือ"ไม่ใช่"

คนที่จะตัดสินใจรับผิดชอบในการทำงานของ โรงพยาบาลขอนแก่นก็คือ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะรับผิดชอบต่อคณะรัฐมนตรี ถ้าคุณไม่พอใจคุณก็ไปบอกรัฐมนตรีครับ แล้วรัฐมนตรีเขาจะดูแลเอง ไม่อย่างนั้นแล้ว เลือก สส.มา, เลือกรัฐบาลมาแล้วก็ไม่ต้องทำอะไร เพราะทุกตำแหน่งนั้นชาวบ้านย้ายได้เองหมด ก็ไม่มีเครื่องมืออะไรในการบริหาร แล้วจะให้เขารับผิดชอบได้อย่างไร เพราะเรามีระบบความรับผิดชอบอันนั้นอยู่ว่า ฝ่ายบริหารรับผิดชอบต่อสภาฯ, สภาฯรับผิดชอบต่อประชาชน เพราะฉะนั้น ฝ่ายบริหารก็ต้องมีเครื่องมือ

โรงพยาบาลก็ดี, มหาวิทยาลัยก็ดี, เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการจัดทำ หรือ การให้บริการสาธารณะของรัฐบาลเท่านั้นเอง … มีคำถามว่า"โรงพยาบาลศรีนครินทร์( รพ.ของคณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น)นั้น เป็นโรงพยาบาลองค์การมหาชนได้หรือไม? อันนี้ความจริงก็คือ "ได้" ผมเข้าใจว่าขณะนี้ก็ได้มีการศึกษากันอยู่ที่เชียงใหม่ มีคนกำลังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกอยู่ในเรื่องโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่จะแยกเป็นองค์การมหาชน

ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยมีความแตกต่างจากโรงพยาบาลอื่นๆเพราะว่า โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนั้นเขาไปขึ้นกับคณะ, ไปขึ้นกับมหาวิทยาลัย เขามีการกำหนดหลักเกณฑ์ต่างๆโดยมหาวิทยาลัยซึ่งก็เปลี่ยนยาก แต่เมื่อมหาวิทยาลัยเองนั้นจะออกนอกระบบแล้วนั้น มันก็เป็นไปได้อยู่ในตัวของมันเองว่า ถ้าองค์กรไหนใหญ่พอ, และประสิทธิภาพในเชิงบริหารมันมี ถ้าเผื่อว่าจะเปลี่ยนสถานภาพก็สามารถเปลี่ยนได้ ผมคิดว่าในอนาคตก็คงต้องเป็นไปในรูปแบบนั้น

คำถามต่อไปคือ "กรรมการ 11 คนในโรงพยาบาลองค์การมหาชนนั้น ถ้ามีตัวแทนจากชาวบ้านเข้ามา ถ้าชาวบ้านเขาเตรียมความพร้อมไม่พอจะเสี่ยง จะมีนักการเมืองมาหาผลประโยชน์ได้จะทำอย่างไร?" …

อันนี้เดี๋ยวคุณหมอวิฑิตจะตอบคำถามนี้ได้ครับ เพราะว่าท่านตัดสินใจเองว่าท่านจะใช้โครงสร้างอย่างนี้ ก็คงมีคำตอบว่า นักการเมืองว่ายังไง? แล้วในคนท้องถิ่นว่ายังไง? คำถามต่อไปคือ "จะมีหลักประกันอะไรในเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล?" นักการเมืองจะมาอยู่ในบอร์ดกรรมการได้หรือไม่" อันนี้อยู่ที่เขียนครับว่าเขียนว่าอย่างไร? ถ้าเขียนห้ามก็มาไม่ได้…แต่ก็อาจจะมีร่างทรงมาได้ ก็ไปเขียนกระบวนการคัดเลือกให้ดีว่าท่านมีกระบวนการคัดเลือกอย่างไร?

สำหรับที่บ้านแพ้วเขาจะเขียนกระบวนการคัดเลือกและวิธีการว่าให้แน่ใจได้อย่างไร… คำถามต่อไปครับ "ปัจจุบันมี พรบ.กระจายอำนาจออกมาแล้ว ถ้าโรงพยาบาลชุมชนต้องการออกมาเป็น องค์การมหาชนจะได้หรือไม่?" อันนี้ความจริงก็เป็นทิศทางของกระทรวงสาธารณสุขกำลังทดลองอยู่ว่า รพ.ของรัฐทั้ง 7 แห่งในโครงการนำร่ององค์การมหาชนอยู่นี้นั้น ลองบริหารดู ผมเข้าใจว่า รพ.บ้านแพ้วก็มีสถานะเป็น รพ.ชุมชนอยู่แล้วนะครับที่เป็น 1 ใน 7 ของโครงการนำร่องโรงพยาบาลองค์การมหาชนอยู่นี้ เพราะฉะนั้น ก็พยายามที่จะทดลองดู ถ้าได้… ผมคิดว่าในระดับต่อไปก็คงจะขยายออกไปเพราะเป็นวิธีหนึ่งในการบริหารแบบมีประสิทธิภาพ

คำถามต่อไป "ถ้ามีความบกพร่อง และผิดพลาดจะลงโทษอย่างไร? มั่นใจได้หรือไม่ว่าจะมีความเป็นธรรม, ชาวบ้านจะตรวจสอบลงโทษได้หรือไม่?" อันนี้ในชาวบ้านนั้น ถ้าชาวบ้านมาร่วมเป็นบอร์ดด้วยนั้น องค์กรนั้นๆก็จะรับผิดชอบต่อชุมชน ต่อสังคมมากขึ้น ในความเห็นของผม

แล้วถามว่า ระบบ กบข.จะมีได้หรือไม่? อันนี้ระบบ กบข.จะมี แต่ว่าจะเป็นระบบกองทุนเอกเทศ ที่เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแทน แต่จะไม่เป็นกองทุนใหญ่กองทุนเดียวสำหรับคนล้านกว่าคนเหมือน กบข, แต่ว่าก็จะเป็นกองทุนขนาดเล็กที่อาจจะมีจำนวนคนน้อยกว่านั้น แต่ก็จะมีธรรมชาติ จะมีวิธีการอย่างเดียวกัน

คำถามต่อไป "เป็นไปได้หรือไม่ถ้า รพ.ขอนแก่น เป็นองค์การมหาชนแล้วจะมาอยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น?" นั่นเป็นอีกทางหนึ่ง ความจริงแล้ว รูปแบบขององค์การมหาชนนั้น เป็นรูปแบบหนึ่งของการกระจายอำนาจเหมือนกัน มีวิธีการบริหารจัดการเฉพาะ เพราะฉะนั้น การกระจายอำนาจรูปแบบนี้ซึ่งเราเรียกว่า "การกระจายอำนาจตามกิจการ" มันแตกต่างไปจากการกระจายอำนาจในลักษณะพื้นที่ เหมือนอย่างที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เขาทำ เพราะฉะนั้น ถ้าเลือกรูปแบบการกระจายอำนาจในรูปแบบ "การกระจายอำนาจตามกิจการ"นี้แล้วนั้น มันก็ไม่อยู่ในกรอบของการที่จะต้องโอนให้กับท้องถิ่น

เพราะว่า ราชการส่วนกลางไม่ได้บริหารจัดการมันอีกต่อไปแล้ว มันไม่ใช่งานของรัฐ เดี๋ยวจะขออนุญาตให้ท่านอ.สมศักดิ์ตอบคำถามเพิ่มเติมอีกเป็นรอบสุดท้ายนะครับ

สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ - ตอบคำถามช่วงสุดท้าย : ผมมีคำถามเพิ่มเติมอยู่อีกจำนวนหนึ่งครับ ผมจะเริ่มต้นด้วยคำถามกลุ่มแรกว่า

1) ถ้าโรงพยาบาลขอนแก่น ออกเป็น รพ.องค์การมหาชนแล้ว รพ.ชุมชน, รพ.ใกล้เคียงไม่ออกด้วยจะมีปัญหาหรือไม่?"
2) ระบบการส่งต่อผู้ป่วยกับโรงพยาบาลชุมชน กับ รพ.ศูนย์ที่ออกนอกระบบจะมีปัญหาอย่างไร?"
3) ศูนย์บริการสาธารณสุขของเทศบาลจะมีการดำเนินงานที่สัมพันธ์กับ โรงพยาบาลที่เป็นองค์การมหาชนอย่างไร?"

ความจริงคำถามเหล่านี้นั้น ถ้าพูดกันตรงๆก็คือตอบว่า โรงพยาบาลองค์การมหาชนนั้นโดยทางหลักการแล้วก็คือ ไม่ควรจะมีพฤติกรรม ต่างจากโรงพยาบาลหลวงเดิมเลยในแง่ความสัมพันธ์กับคนอื่น… ถ้ามันเคยแย่อย่างไร มันก็อาจจะยังคงแย่อยู่อย่างนั้น…!! มีโอกาสจะดีขึ้น มันไม่ควรจะแย่ลงถ้าผู้บริหารและคณะกรรมการเข้าใจดีว่า "นี่เป็นการบริหารกิจการของรัฐ"

ที่ผมคิดว่าที่ท่านอาจารย์สุรพล และ ผมเองก็ได้ย้ำอยู่หลายครั้งแล้วว่า "เขาไม่ได้ให้คุณเป็นองค์การมหาชนเพื่อทำกำไร" เพราะฉะนั้น อย่าไปกังวลมากกับเรื่องขาดทุน-กำไร ทั้งๆที่เคยรับนั้น รับแล้วได้เงินบ้าง ไม่ได้เงินบ้างอย่างที่ว่านั้นก็ไม่น่าจะมีปัญหา อันนั้นก็เป็นส่วนหนึ่ง เรื่องโรงพยาบาลที่บอกว่า "เป็นพวง" อันนั้นวัตถุประสงค์ไม่ได้เพื่อแก้ตรงนี้ เพราะตรงนี้มันแก้ปัญหาได้ด้วยในหลายวิธี

เราอยากให้มีความรู้สึกว่าโรงพยาบาลใหญ่ กับ โรงพยาบาลเล็กนั้นอยากจะเห็นว่ามันสั่งกันได้ จะได้ช่วยกันทำงาน แต่ว่าการช่วยกันเฉยๆด้วยความเสน่ห์หา อย่างในที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้นั้นมันเป็นเรื่องธรรมดาใช่ไหม? พูดง่ายๆก็คือว่า จริงๆแล้ว มันสามารถจะช่วยกันได้อยู่เหมือนเดิม เพราะว่า เรื่องกำไรขาดทุนนั้นมันเป็นเรื่องของหลวงในภาพรวม แต่ที่เราเสนอให้โรงพยาบาลออกไปเป็นพวง หรือที่เรียกว่า โรงพยาบาลองค์การมหาชนออกไปเป็นพวงนั้น เพราะเราคิดว่ามันจะได้ถ่ายเททรัพยากรกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องใช้วิธีการขอร้อง เช่น พยาบาลทำงาน รพ.อำเภอก็ได้ ทำงาน รพ.ใหญ่ก็ได้ อันนั้นผมไม่ลงในรายละเอียดนะครับ

แต่ว่านี่เป็นประเด็นในภาพใหญ่ ถ้าถามว่า แล้วมันจะแข่งกันไหม? ถ้าในทางหลักการกระจายอำนาจแล้วนั้น สมมุติว่ามีการกระจายอำนาจแล้วนั้นแล้วในพื้นที่นั้นๆมี รพ. 3 ประเภทคือ

(1) หน่วยงานองค์กรท้องถิ่น
(2) หน่วยงานองค์การมหาชน
(3) หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข
อันนี้ก็แน่นอนว่าต้องหาวิธีจัดการไม่ให้แข่งกัน

ในทางทฤษฎีสามารถทำได้คือ จัดระบบการเงิน และการงบประมาณให้ดี แต่ในทางปฏิบัติขึ้นอยู่กับความสามารถของการจัดการระบบนั้น ผมจะไม่พูด แต่ว่าอนาคตเกิดได้ ข้อเสนอที่เราอยากเห็นก็คือว่า เราอยากจะเห็นท้องถิ่นนั้นดูแลทั้ง 3 ส่วนได้ ฉะนั้นจึงมีระบบอย่างที่ อ.สุรพลพูดเอาไว้แล้วก็คือว่า ถ้าเป็นองค์การมหาชนอยู่ก็อาจจะไปขึ้นกับท้องถิ่น เป็นองค์การมหาชนภายใต้ท้องถิ่น จะได้กำกับได้ดีขึ้น ประสานงบประมาณ ประสานเรื่องนโยบายกันได้ดีขึ้น และหน่วยงาน (รพ. )ของกระทรวงสาธารณสุขก็น่าจะมีน้อยลง

อีกประเด็นหนึ่งก็คือในเรื่องของ "สาธารณสุขจังหวัด"… ก็ถามว่าแล้ว"สาธารณสุขจังหวัด" จะหายไปไหน…? คำตอบคือ "ไม่หายไปไหน" อันนี้ผมเรียนไปแล้ว ถ้ากระจายอำนาจแล้วสถานบริการไปเป็นท้องถิ่นแล้ว หรือ ไปเป็นองค์การมหาชนแล้วนั้น สาธารณสุขจังหวัดจะมีหน้าที่ในการกำกับดูแลกฎหมายและนโยบาย ให้การสนับสนุนทางวิชาการซึ่งผมย้ำแล้วว่า "ต่อไปสาธารณสุขจังหวัดจะแสดงบทบาทผ่านการใช้ความรู้และข้อมูล" ไม่ใช่แสดงบทบาทผ่านการใช้เงิน

หลายคนอาจจะหงุดหงิดอึดอัด เพราะว่า การใช้เงินนั้นมันง่าย ลงโทษด้วยการไม่ให้เงิน… แกล้งด้วยการไม่ให้เงินมันง่ายกว่า แต่ใช้ความรู้ใช้วิชาการไม่รู้จะใช้ยังไง? สำหรับผมๆคิดว่าเป็นสิ่งท้าทายระบบ ทั้งสาธารณสุขจังหวัด และสาธารณสุขอำเภอเลยนะครับ ผมขอพูดเอาไว้เลย ทั้งสาธารณสุขจังหวัด และสาธารณสุขอำเภอนี้จะมีบทบาทแบบใหม่ ต้องทำงานแบบใหม ในเชิงปริมาณจำนวนคนนั้นผมคิดว่าดีไม่ดีอาจจะต้องมีเพิ่มมากขึ้นเสียด้วยซ้ำไป ผมไม่อยากพูดเพราะว่าปัจจุบันจะขึ้นอยู่กับวิธีการใช้คนมากกว่า

คำถามในกลุ่มที่ 2 คือ "เป็นคำถามว่าด้วยเรื่องคน" มีการถามว่าคนจะมีคุณธรรมหรือไม่? คนจะมีคุณภาพหรือไม่? และ "การจะไปเป็นองค์การมหาชนนี้ให้เวลาหน่อยดีไหม?"

ผมอยากจะสรุปอย่างนี้ครับว่า อย่างที่ อ.สุรพลได้พูดไปหลายครั้งแล้ว สิ่งที่น่าจะให้ความสนใจมากในส่วนที่ อ.สรุพลพูดเอาไว้ว่าเป็น "ข้อเสีย" คือตรงที่บอกว่า "พวกเราจะต้องถูกประเมิน"…ผมคิดว่ามองได้หลายมุมก็คือ สำหรับระบบในภาพใหญ่นั้นมันดี แล้วถามว่าแล้วมันจะมีคุณธรรมไหม?ผมขอพูดใน 2 อย่างก็คือ

(1) คงต้องมีระบบประเมินซึ่งอันนั้นแน่ๆ และระบบประเมินนี้ผมขอยกตัวอย่าง สวรส.ก็แล้วกันว่า ต้องออกแบบให้มีเพื่อให้มั่นใจได้ว่ามันมีสิ่งที่ผมจะเรียกว่า "การมีส่วนร่วม"(Participation) ไม่ใช่ว่า "หัวหน้าเพียงคนเดียว" แล้วแถมยังเป็น "หัวหน้าตามลำดับชั้นเป็นคนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย"…แบบระบบ กพ.ปัจจุบันอย่างนั้น เวลาพวกเราประเมินพวกเราก็คงจะรู้นะครับ ถ้าหลายคนมาช่วยกันดูก็ตกลงกันแล้วมีกระบวนการตัวนั้นผมว่าอันหนึ่ง

(2) ก็คือว่า ไม่ว่าจะมีกรรมการประเมินรายบุคคลอย่างไร ภาพรวมต้องมีการประเมินด้วย เพราะฉะนั้นผมอยากจะย้ำเสมอเลยว่า ผมเข้าใจว่าระบบคุณธรรมก็ดี, ประสิทธิภาพก็ดี, การแสดงบทบาทให้ตรงตามหน้าที่ก็ดี เกิดจากการออกแบบกระบวนการประเมินเป็นลำดับชั้น ตรงนี้ภาพรวมจะต้องมีคนทำอยู่แล้ว คือ ประเมินองค์การมหาชนเป็นรายแห่ง กพ.ต้องทำ, รัฐบาลต้องทำ แต่ภายในนั้น ผมคิดว่า กรรมการจะต้อง design ตรงนั้นออกมาให้ได้

แล้วอย่าไปกังวลเลยครับว่ามันจะมีกี่คนมาจัดการประเมินเรา ผมอยากจะพูดอยู่เรื่อยบอกว่า พวกเรากังวลเรื่อง subjectivity ว่า "ชอบ-ไม่ชอบ" ผมจะบอกว่า ถ้ามันมีกลุ่มคน อันนี้ผมจะเรียกว่า "Group Subjectivity" คือถ้าหลายคนออกความเห็น แล้วคานกันไป คานกันมานั้น ก็อาจจะทำให้ได้ภาพรวมที่ดีพอสมควร

(3) คำถามในประเด็นเล็กๆที่ถามกันว่า "แทนที่จะออกนอกระบบเป็นพวงนั้น ให้มีองค์กรเรียกว่าองค์กรจัดการสุขภาพจังหวัด แล้วให้สาธารณสุขจังหวัดเป็นคนที่จัดการได้หรือไม่?" คือพูดง่ายๆว่า ในอนาคตให้สาธารณสุขจังหวัดเป็นคนที่ดูแลระบบได้ไหม? ผมตอบง่ายๆว่า "ถ้าสาธารณสุขจังหวัดหมายถึงกระทรวงสาธารณสุข" นั่นคือ "คงจะไม่ได้"…!!

เพราะว่า เขาจะให้กระจายอำนาจ อันนี้คงตรงไปตรงมา เพราะฉะนั้นองค์กรที่เรียกว่า "องค์กรจัดการสุขภาพจังหวัด" อันนี้นั้น ผมคิดว่าควรมีอย่างที่ผมพูดไปเมื่อตอนต้นว่าเป็น "กรรมการสุขภาพจังหวัด"อะไรที่ว่าไปแล้วนั้น ซึ่งจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ แต่ว่าต้องเป็นองค์กรที่ "ท้องถิ่นเป็นหลัก"… ท้องถิ่น(ท้องถิ่นในที่นี้ไม่ได้แปลว่าหมายถึงองค์กรปกครองท้องถิ่นอันได้แก่ อบต. อบจ. หรือ เทศบาล เท่านั้น ; ผู้ถอดเทป) เป็นเป็นหลักในแง่การดูแลจัดการเรื่องทรัพยากร กับดูแลเรื่องระบบบริการ… … ผมขอสั้นๆเร็วๆแต่เพียงเท่านี้ครับ

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

 

ภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน 1. ภาพถ่ายชาวบ้านที่ จ. อุบลราชธานี 2. ภาพงานจิตรกรรม ชื่อภาพ Pinocchio ผลงานของ Jim Dine เทคนิค สีถ่าน, สีน้ำมัน และสีอีนาเมล บนพื้นไม้ (นำมาจากห้องสมุด
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) หากประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาด font ลงมา จะแก้ปัญหาได้
แนวทางการจัดตั้งโรงพยาบาลของรัฐในรูปแบบ "องค์การมหาชน" ภาคที่ 2 "แนวการจัดตั้งโรงพยาบาลมหาชน และ พรบ. องค์การมหาชน : สุรพล นิติไกรพจน์
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ เฉพาะในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ หากนำไปอ้างอิงหรือพิมพ์ซ้ำ กรุณาแจ้งให้ทราบด้วย ทาง e-mial

 

ผมเคยไปพูดที่ รพ.ที่เชียงใหม่ ผมตั้งคำถามว่า ในที่นี้มีใครที่เป็นข้าราชการอยู่แล้วเคยมีเครื่องแบบชุดขาวของราชการไหม คำตอบคือ "ไม่มีเลย" ชุดขาวของพยาบาลนี่ท่านคงมีกันหลายคน แต่ชุดขาวที่เป็นเครื่องแบบปรกติขาวของราชการนั้นไม่เคยได้ใช้ เพราะจริงๆแล้วท่านไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องแบบ เพราะเครื่องแบบเป็นสัญญลักษณ์ของอำนาจอะไรบางอย่าง

แต่ว่า ตำรวจนั้นต้องใช้ เพราะถ้าไปยืนอยู่สี่แยกแล้วเที่ยวโบกมือถ้าไม่แต่งเครื่องแบบตำรวจนั้นถูกชนตายไปแล้ว คนเขารู้ว่าเป็นตำรวจ ต้องระมัดระวัง คนเหล่านี้เขามีอำนาจตามกฎหมายในการจัดการจราจร ทหารต้องการอันนั้น ฝ่ายปกครองต้องการอันนั้น...

เมื่อมีการตราพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 ขึ้น มันก็เป็นการเสนอแนวทางใหม่ บอกว่า ถ้าใครคิดว่างานของตัวเองนั้นไม่ค่อยเหมาะที่จะเป็นราชการ ไม่ค่อยเหมาะที่จะเป็นรัฐวิสาหกิจ เพราะมันมีอะไรบางอย่างที่ทำให้เก็บเงินไม่ได้เต็มที่ ต้องให้บริการฟรี ต้องดูแลคนไข้ ก็มาเป็นองค์กรของรัฐรูปแบบที่ 3 นี่เสีย ก็คือ "เป็นองค์การมหาชน" นั่นเป็นทางออกที่มีการเสนอขึ้นมา แล้วก็ตราพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ.2542 ขึ้น

ลักษณะที่สำคัญขององค์การมหาชน มีอยู่ 4 ประการ
1) ความเป็นนิติบุคคลที่ไม่มีสายการบังคับบัญชา
2) ระบบงบประมาณที่เป็นอิสระ
3) ระบบบริหาร ที่บริหารในรูปคณะบุคคลและไม่มีนายต่อไปอีก และ
4) ระบบบุคลากรที่เป็นของตนเอง อันนั้นเป็นธรรมชาติหลักๆขององค์การมหาชน

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมันมีลักษณะที่เป็นอิสระคล่องตัว มันก็มีเงื่อนไขบางอย่างเพิ่มเติม นั่นคือกลไกในการตรวจสอบควบคุม... เงินเดือนเพิ่ม สวัสดิการดีขึ้น คล่องตัวนั้น มันก็ต้องแลกด้วยอะไรบางอย่าง ได้พวกนี้ขึ้นมาก็จะเสียอะไรไปบางอย่าง และข้อเสียอันนี้ระบบราชการไม่ค่อยมี หรือ มีก็มีไม่ชัด ก็คือ "ระบบการควบคุมตรวจสอบประสิทธิภาพ"

 

คลิกไปอ่านภาคที่ 1
H