"ระบอบทักษิณกับวัฒนธรรมการเมืองปฏิปักษ์ปฏิรูป"
โดย เกษียร เตชะพีระ
(ความยาวประมาณ 21 หน้ากระดาษ A4)

หมายเหตุ : ปาฐกถานำในเวทีสาธารณะเรื่อง "๒ ปีระบอบทักษิณกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย" จัดโดยคณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ณ ห้องนพรัตน์ โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน, ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ เวลา ๑๒.๐๐ - ๑๗.๐๐ น.

สวัสดีครับเพื่อนมิตรพี่น้ององค์กรสิทธิมนุษยชนและท่านผู้ห่วงใยสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยที่เคารพทุกท่าน ผมรับมาพูดวันนี้ด้วยความลังเลใจ เพราะ

๑) ในฐานะนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ผมสนใจ แต่ไม่ได้รอบรู้ลึกซึ้งเรื่องสิทธิมนุษยชนอะไร
๒) โดยทั่วไปในฐานะปัญญาชนสาธารณะหรือคอลัมนิสต์หนังสือพิมพ์ ผมก็เจียมตัวเจียมใจความรู้เฉพาะทาง ทรรศนะเฉพาะด้านของตน ไม่เคยคิดว่าจะปาฐกถานำอะไรใครได้ เคยแต่ร่วมอภิปรายกับท่านอื่น ๆ

แต่ยิ่งไปกว่านั้น เพราะเรื่องที่จะพูด หัวใจคือ หลักสิทธิเสรีภาพในวัฒนธรรมการเมืองประชาธิปไตย ซึ่งไม่ง่ายที่จะเสนอต่อสาธารณชนไทย เพราะ

๑) ไม่มีฐานรากเรื่องนี้ในวัฒนธรรมการเมืองไทยแต่เดิม และมันไม่เคยเป็นวัฒนธรรมการเมืองกระแสหลักของไทย จึงไม่ง่ายที่จะชี้ประเด็นให้เห็นความสำคัญและทำความเข้าใจ
๒) ต่อให้เข้าใจ ผมไม่แน่ใจจริง ๆ ว่าสังคมคนชั้นกลางไทยจะแคร์ หมายถึงแคร์สิทธิเสรีภาพอันเป็นรูปธรรมแห่งชีวิตการเมือง ยิ่งกว่าตัวเลขความเติบโตทางเศรษฐกิจ ยอดขายหรือยอดบัญชีเงินฝากในธนาคารอันเป็นนามธรรมแห่งชีวิตฟองสบู่-บริโภคนิยม

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาลักษณะพิเศษและความหนักหน่วงของสภาพการณ์ปัจจุบันซึ่งเราไม่ค่อยเคยประสบมาก่อนในประวัติการเมืองไทยสมัยใหม่ กล่าวคือ เรามีรัฐบาลที่ได้อำนาจมาโดยวิถีทางเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย แต่ใช้อำนาจและแสดงความมุ่งมาดที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางอำนาจกับพลเมืองแบบอำนาจนิยมหรืออ-เสรีนิยมยิ่งขึ้นทุกทีแล้ว ผมก็ขออนุญาตพูด เพียงหวังว่าความบกพร่องผิดพลาดใด ๆ ที่ย่อมจะมีในสิ่งที่พูดต่อไป จะเปิดประเด็นปูทางให้สังคมหันมาถก อภิปรายประเด็นอันสำคัญยิ่งนี้ จนบรรลุความถูกต้องรอบด้านสมบูรณ์ขึ้นในอนาคต

ผมขอพูดถึง"ระบอบทักษิณ"ในแง่มุมวัฒนธรรมการเมือง ข้อเสนอใจกลางของผมคือ: -

รัฐธรรมนูญปฏิรูปการเมืองกำลังเผชิญการท้าทายและกัดกร่อนบ่อนเบียนอย่างร้ายแรงจากวัฒนธรรมการเมืองปฏิปักษ์ปฏิรูปภายใต้ระบอบทักษิณ สังคมไทยต้องสร้างเสริมยกระดับความเข้าใจ และอารยธรรมที่รักสิทธิเสรีภาพและรักประชาธิปไตยให้กว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น จึงจะธำรงรักษาระบอบเสรีประชาธิปไตยและความเป็นธรรมทางสังคมไว้ได้

โดยแบ่งการนำเสนอเป็น ๓ หัวข้อใหญ่ดังนี้: -

๑) วิเคราะห์วิจารณ์รัฐธรรมนูญปฏิรูปการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๐
๒) วิเคราะห์วิจารณ์วัฒนธรรมการเมืองปฏิปักษ์ปฏิรูปภายใต้ระบอบทักษิณ
๓) สรุป: เพื่อการเมืองแห่งสิทธิเสรีภาพและความเอื้ออาทร

๑) วิเคราะห์วิจารณ์รัฐธรรมนูญปฏิรูปการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๐
รัฐบาลทักษิณเป็นรัฐบาลแรกที่ใช้รัฐธรรมนูญปฏิรูปการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๐ อย่างเต็มฉบับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ พยายามปฏิรูปการเมืองไทย ๓ ด้านใหญ่เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบอบการเมืองก่อนปฏิรูป อันได้แก่ ระบอบเลือกตั้งธิปไตยบนฐานรัฐราชการรวมศูนย์ (2) ซึ่ง "เปิดทุจริต ปิดประสิทธิภาพ และบั่นทอนภาวะผู้นำ" (3) โดยการปฏิรูปทั้ง ๓ ด้านควบคู่เป็น package เดียวกัน คะคานถ่วงดุลหนุนเสริมตรวจสอบกันและกัน ได้แก่ ปฏิรูปแบบเสรีนิยมด้วยการจำกัดอำนาจรัฐ, ปฏิรูปแบบประชาธิปไตยด้วยการกระจายอำนาจรัฐ และ ปฏิรูปแบบอำนาจนิยมด้วยการรวมศูนย์อำนาจรัฐ

1. ปฏิรูปแบบเสรีนิยม = จำกัดอำนาจรัฐ โดยรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในความสัมพันธ์กับรัฐมากขึ้น อาทิ สิทธิประการต่าง ๆ ของผู้ต้องหา, สิทธิต่าง ๆ ในการตรวจสอบอำนาจรัฐ เช่น สิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารราชการ, สิทธิยื่นคำร้องให้ไต่สวนนักการเมืองทุจริต, สิทธิเข้าชื่อกันไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคนเพื่อร้องขอให้ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง, สิทธิต่อต้านรัฐประหาร เป็นต้น เพื่อการนี้ ได้ตั้งองค์การมหาชนอิสระต่าง ๆ อาทิ ศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการการเลือกตั้ง, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, ศาลปกครอง, ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฯลฯ มาเป็นกลไกถ่วงดุล ตรวจสอบและควบคุมอำนาจรัฐ

2. ปฏิรูปแบบประชาธิปไตย = กระจายอำนาจรัฐ โดยกระจายอำนาจเหนือทรัพยากรและนโยบายสาธารณะมาให้ประชาชนมีส่วนร่วมใช้ร่วมกำหนดโดยตรงมากขึ้น เช่น มีการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก, ประชาพิจารณ์โครงการขนาดใหญ่ของรัฐ, การลงประชามติ, การปกครองท้องถิ่น, สิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น, สิทธิเข้าชื่อห้าหมื่นคนในการเสนอร่างกฎหมายโดยตรงต่อสภาฯ, การก่อตั้งสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ, คณะกรรมการกิจการวิทยุ กระจายเสียงและโทรทัศน์แห่งชาติ, องค์การอิสระตัวแทนผู้บริโภค เป็นต้น

3. ปฏิรูปแบบอำนาจนิยม = รวมศูนย์อำนาจรัฐ โดยรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ฝ่ายบริหาร ทั้งนี้เป็นไปตามโจทย์โครงสร้างการเมืองของหมอประเวศ วะสี และคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย (คพป.) ซึ่งสภาร่างรัฐธรรมนูญรับมา

ในนั้นมีโจทย์เรื่องประสิทธิภาพของระบบและภาวะผู้นำทางการเมืองด้วย กล่าวคือระบบเดิม "เปิดทุจริต ปิดประสิทธิภาพ และบั่นทอนภาวะผู้นำ", ระบบปฏิรูปจึงพยายาม "ปิดทุจริต เปิดประสิทธิภาพ และสร้างเสริมภาวะผู้นำ" โดยเพิ่มอำนาจและภาวะผู้นำให้หัวหน้าฝ่ายบริหารได้แก่นายกรัฐมนตรี, ทำให้ฝ่ายบริหารแยกต่างหากเป็นเอกเทศและมีอำนาจต่อรองเป็นอิสระจากฝ่ายนิติบัญญัติมากขึ้น, อำนาจบริหารมั่นคงขึ้น ท้าทาย ปรับเปลี่ยนและโค่นล้มยากขึ้นในความสัมพันธ์กับพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและกับวุฒิสภา พร้อมทั้งมีประสิทธิภาพและรวมศูนย์เด็ดขาดขึ้นเหนือกลไกระบบราชการและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคร่วมรัฐบาล เช่น

อำนาจของคณะรัฐมนตรีในการเปลี่ยนแปลงระบบบริหารราชการแผ่นดิน รวม โอน ยุบกระทรวง-ทบวง-กรม, การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อ, แยกคณะรัฐมนตรีจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในแง่ตัวบุคคลไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน, จำกัดเงื่อนไขการย้ายพรรคของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น

package การปฏิรูปการเมือง ๓ ด้านนี้วาดหวังขึ้นให้ทำงานไปด้วยกัน คัดง้างคะคานถ่วงดุลกัน ซึ่งก็คงจะดำเนินไปได้หากสังคมเศรษฐกิจไทยมีความเสรีหลากหลายและราบเรียบเสมอภาคกันทางอำนาจและฐานะเศรษฐกิจ ดังวิสัยทัศน์ของบรรดานักกฎหมายมหาชน ผู้เป็นแรงบันดาลใจและพลังผลักดันทางปัญญาเบื้องหลังรัฐธรรมนูญใหม่นี้

ทว่าเมื่อวางการปฏิรูปการเมือง ๓ ด้านนี้ลงมาในบริบทสังคมเศรษฐกิจไทยที่มีทุนนิยมเส้นสายอุปถัมภ์ผูกขาด, โครงสร้างรัฐราชการรวมศูนย์, และเมืองกับชนบทมีช่องว่างแตกต่างมากทางอำนาจและรายได้ ผลของการปฏิรูปแนวกฎหมายมหาชนบนการละเลยความเป็นจริงทางเศรษฐกิจการเมืองไทยคือ การสร้างเงื่อนไขกฎกติกาทางการเมืองที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลกลุ่มทุนใหญ่ พรรคใหญ่, ทำให้พรรคการเมืองขนาดกลางและย่อย (หรือ SMP, small & medium-sized parties) ของนักเลือกตั้งล้มหายตายจาก ถูกยุบและควบรวมกิจการ

ในที่สุดก็นำไปสู่ รัฐบาลของชนชั้นนายทุนใหญ่โดยตรง, ไม่ใช่โดยอ้อมผ่านทหาร ข้าราชการ เทคโนแครตและนักเลือกตั้งดังที่เคยเป็น, ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใหม่ และเป็นรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยมาอีกด้วย

"กลุ่มอำนาจนำทางการเมืองใหม่"มุ่งมั่นควบคุม ครอบงำ กำราบ หว่านซื้อที่ตั้งและสถาบันอำนาจอื่นในสังคมไทย ไม่ว่ากองทัพ ตำรวจ ระบบราชการ สื่อมวลชน เอ็นจีโอ องค์กรประชาชน ปัญญาชน เทคโนแครต ฯลฯ ให้หมดสิ้น, ให้สยบใต้อำนาจ, ยอมรับแนวทางการนำเบ็ดเสร็จและเป็นเครื่องมือที่เชื่อง ๆ ว่านอนสอนง่ายทางนโยบายและอำนาจของตน

การปฏิรูปการเมือง ๓ ด้าน จึงถูกเปลี่ยนแก้ ลดทอนให้เหลือแต่ด้านอำนาจนิยมด้านเดียว รวมศูนย์ด้านเดียว, ด้านเสรีนิยม ถูกแทรกแซง ฉ้อฉล ทำให้อัมพาต ไม่ทำงาน, ด้านประชาธิปไตย ถูกแช่แข็ง ถ่วงช้า บิดเบน ไม่ปรากฏเป็นจริงไปเรื่อย ๆ ผลของมันคือระบบการเมืองทั้งระบบถูกทำให้ปิดต่อฝ่ายค้านและผู้เห็นต่างในทางปฏิบัติ และอยู่ภายใต้การนำแบบองค์เดียวของพรรคใหญ่ที่สุด ภายใต้อำนาจรวมศูนย์เด็ดขาดของท่านผู้นำพรรค

รัฐธรรมนูญปฏิรูปการเมืองกำลังเป็นหมัน พลเมืองไทยกำลังถูกงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราที่คุ้มครองสิทธิของตนเองในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะหมวด ๓ สิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย ในมาตรา ๒๖, ๒๗, ๕๙, ๖๐, ๗๕, ๗๖ ดังความเห็นวิจารณ์ของศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (4)

งดใช้รัฐธรรมนูญมาตรา ๔, ๓๐, ๓๑, ๓๒, ๓๓ เกี่ยวกับสิทธิของผู้ต้องหาในสภาพที่ผู้นำรัฐบาลส่งสัญญาณด้วยถ้อยคำที่ยังไม่ชัดขนาดนั้น แต่เป็นไปในทิศทางให้เจ้าหน้าที่ยิงทิ้งหรือเก็บผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติด ดังความเห็นวิจารณ์ของผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีกสองท่าน,(5) และงดใช้รัฐธรรมนูญมาตรา ๔๐ ว่าด้วยคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสาธารณะของชาติ ดังความเห็นวิจารณ์ของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(6) เป็นต้น ทั้งนี้โดยอานุภาพวัฒนธรรมการเมืองของระบอบทักษิณซึ่งมีลักษณะปฏิปักษ์ปฏิรูปหรือแก้การปฏิรูป (counter-reform political culture)

ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยชี้ให้เห็นอย่างมีพลังว่า เอาเข้าจริงเมื่อเทียบกันแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งวัฒนธรรมการเมืองที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรนี่แหละร้ายกาจนัก ยั่งยืนคงทนกว่ารัฐธรรมนูญจริงที่เป็นกระดาษสมุดไทยมากมายหลายเท่า เพราะมันหยั่งรากงอกงามอยู่ในระบบคิดวัฒนธรรมการเมืองไทยเรา ซึ่งมีลักษณะเด่น ๆ เป็นเผด็จการและศักดินามาแต่เดิม(7)

สิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้"ระบอบทักษิณ"คือการนำวัฒนธรรมการเมืองไทยแบบอำนาจนิยม-อุปถัมภ์มาปรับแปลงใช้ โดยเพิ่มเติมข้อถกเถียงหลักอ้างอิงแบบ "ประชาธิปไตยของเสียงข้างมาก" เข้าไป กล่าวคือเป็นวัฒนธรรมการเมือง (วัฒนธรรมแห่งการใช้อำนาจและความสัมพันธ์ทางอำนาจ) ระหว่างผู้ปกครองกับประชาชนแบบอำนาจนิยมหรือ อ-เสรีนิยมในนามประชาธิปไตยและในนามของเสียงข้างมาก

๒) วิเคราะห์วิจารณ์วัฒนธรรมการเมืองปฏิปักษ์ปฏิรูปภายใต้ระบอบทักษิณ
อะไรคือองค์ประกอบเด่น ๆ ของวัฒนธรรมการเมืองปฏิปักษ์ปฏิรูปภายใต้ระบอบทักษิณ? ผมขอแบ่งการนำเสนอเรื่องนี้ออกเป็น ๗ หัวข้อ กล่าวคือ: -

1. การสร้าง "เสียงข้างมาก" และ "ผลประโยชน์ส่วนรวม" เสมือนจริง (the manufacture of virtual majority & virtual public interest) ขึ้นมา โดยผ่านการเลือกหรี่กลบและ/หรือ ขยายเสียงสาธารณะบางเสียง (selective silencing & amplifying of the public voices) ซึ่งทำได้โดยการควบคุมครอบงำสื่อมวลชนอิเล็กทรอนิกส์ของรัฐ, เทกโอเว่อร์สื่ออิเล็กทรอนิกส์เสรีและทุ่มซื้อโฆษณาของสื่อสิ่งพิมพ์เอกชน เมื่อสื่อมวลชนถูกคุม ก็มีสื่อสำหรับส่งเสียงที่หนุน แต่ไม่มีสื่อสำหรับเสียงที่ค้านซึ่งจะถูกกลั่นกรองออกไป

ภายใต้ภาวะที่สาธารณชนไม่ได้ถูกปิดปาก แต่ถูกผู้คุมสื่อผูกขาดตัดตอนเสียงที่ตนจะแสดงมติส่งถึงสาธารณะ ความเห็นแย้งใดที่มีจึงปรากฏเป็นทรรศนะส่วนตัวไว้บ่นเงียบ ๆ ในบ้าน ในห้องนอน หรือในส้วม แต่ไม่มีสิทธิ์ร่วมส่วนอย่างเสรีในสื่อสาธารณะ ไม่มีส่วนร่วมในมติมหาชน (public opinion) เหมือนเสียงแย้งของตนถูกขจัดจากเวทีสาธารณะ (de-publicized) ให้กักบริเวณไว้ในพื้นที่ส่วนตัว และมีหุบเหวช่องว่างที่มิอาจก้าวข้ามได้ระหว่างสาธารณชนกับเสียงสะท้อนแทนทรรศนะของตน (ระหว่าง the public กับ "public voice" or "public representation")

อุปมาอุปไมยเหมือนท่านอยู่ในฝันร้าย เอ่ยปากร้องตะโกนสุดเสียง แต่ไม่มีใครได้ยิน เห็นแต่ปากท่านพะงาบ ๆ ทว่าดันได้ยินเสียงที่สามซึ่งท่านไม่ได้พูดเลยดังพากย์ทับแทน (dubbing) ตลอดเวลา, บุคคลในฝันร้ายนั้นฉันใด เสียงมหาชนในสังคมที่สื่อถูกผูกขาดตัดตอนก็ฉันนั้น

เมื่อสื่อสาธารณะ-เสียงสาธารณะถูกคุม ก็เป็นการง่ายที่จะเสกสรรปั้นแต่งเสียงส่วนน้อยบางเสียงให้กลายเป็น "เสียงข้างมาก" และ ผลประโยชน์เฉพาะบางกลุ่มบางบุคคลให้กลายเป็น "ผลประโยชน์ส่วนรวม" (majoritization of minority voice & interest) ระบบแทนตนเสียงสาธารณะหรือเสียงประชาชนในสังคมการเมืองไทยซึ่งบกพร่องอยู่แต่เดิมแล้ว โดยขีดจำกัดของประชาธิปไตยแบบตัวแทน (representative democracy) มาถูกซ้ำเติมให้หนักข้อขึ้นโดยระบอบสื่อมวลชนที่เลือกปฏิบัติ หรือเลือกสื่อเฉพาะบางเสียง บางผลประโยชน์ บางข้อเท็จจริง บางความจริงต่อสาธารณะตามอำนาจควบคุมของรัฐเจ้าของสถานีหรือเอกชนเจ้าของกิจการ

ช่องโหว่ข้อบกพร่องในโครงสร้างการแทนตนเสียงสาธารณะในสังคมไทย อันเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างชนิดหนึ่งนี้ เป็นฐานให้พฤติการณ์ ผลประโยชน์ขัดกันและมาตรฐานสองหน้า (conflict of interest & double standard) ทำได้ ทำง่ายและลุกลามขยายวงออกไป, ผลประโยชน์ขัดกันระหว่างฐานะเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ต้องรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม กับ ฐานะบุคคลเอกชนที่มีผลประโยชน์ส่วนตนส่วนครอบครัวส่วนกลุ่มส่วนบริษัท ไม่ถูกสื่อ ไม่ถูกแทนตนออกมาให้เห็นในสาธารณะ

การปราบปรามทุจริตประพฤติมิชอบที่เน้นเล่นงานฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แต่ละเลยพันธมิตรพรรคพวกการเมืองฝ่ายเดียวกัน ไม่ถูกสื่อ ไม่ถูกแทนตนให้สังคมตระหนักเท่าทัน, ภาพด้านเดียวที่ไม่แสดงความขัดกันของผลประโยชน์เพราะเห็นผลประโยชน์ด้านเดียว ไม่แสดงมาตรฐานสองหน้าเพราะเห็นพฤติกรรมด้านเดียวเหล่านี้ช่วยธำรงรักษาผลิตซ้ำพฤติการณ์ ผลประโยชน์ขัดกันและมาตรฐานสองหน้า ไปเรื่อย ๆ ในทางปฏิบัติ

2. ในนามของ "เสียงข้างมาก" เสมือนจริง (เพราะเสียงข้างมากตัวจริงถูกหรี่กลบเสียงและพากย์ทับแทน ได้แต่อ้าปากพะงาบ ๆ) และ "ผลประโยชน์ส่วนรวม" เสมือนจริง (เพราะผลประโยชน์ส่วนรวมถูกปิดช่องทางที่จะสื่อ), ย่อมง่ายที่จะเบียดผลักเสียงที่เห็นต่างและผลประโยชน์ของผู้ที่เห็นต่าง (dissenting voices & interest) ให้กลายเป็น "เสียงส่วนน้อย" และ "ผลประโยชน์ของคนข้างน้อย" ไป (minoritization of dissenting voices & interest) และแล้วผู้ถูกทำให้เป็น "คนส่วนน้อย" ดังกล่าวก็ถูกเอามาตั้งประจันกับ "เสียงข้างมาก" เสมือนจริง และ "ผลประโยชน์ส่วนรวม" เสมือนจริงที่ได้จัดตกแต่งไว้อย่างดีแล้วนั้น เพื่อให้ประชาชน-สาธารณชนพิจารณาเลือกข้าง

แน่นอนตามตรรกะของระบอบประชาธิปไตย เสียงข้างมากย่อมชนะ ผลประโยชน์ของส่วนรวมย่อมอยู่เหนือผลประโยชน์ของคนส่วนน้อย, ผู้ถูกทำให้เป็นคนส่วนน้อยจึงถูกเขี่ยปัดไปในนามของคนส่วนใหญ่ ด้วยฝีมือคนส่วนน้อยอีกกลุ่มหนึ่ง - โดยข้อต่างระหว่างคนส่วนน้อยสองกลุ่มนี้อยู่ตรงที่ "ฝ่ายหนึ่งมีอำนาจรัฐ อำนาจทุน และอำนาจสื่อ" แต่อีกฝ่ายไม่มีนั่นเอง

ภาพโดยรวมก็คือในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่อิสระจากรัฐและทุน คนส่วนน้อยผู้กุมอำนาจรัฐ อำนาจทุน และสามารถคืบเข้าผูกขาดอำนาจสื่อมวลชน กำลังเบียดขับผลักไสเสียงและผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยที่ไร้รัฐ ไร้ทุน ไร้สื่อไปทีละกลุ่ม ๆ ในนามของคนส่วนใหญ่ โดยที่คนส่วนใหญ่ทุกกลุ่มถูกทำให้ไม่แคร์ ถูกทำให้รู้สึกมั่นคงปลอดภัยว่าตนคงไม่ประสบชะตากรรมเหมือนคนส่วนน้อยพวกนั้น, โดยหาตระหนักไม่ว่าตนมีสิทธิ์กลายเป็นคนส่วนน้อยได้เสมอ เพราะเอาเข้าจริงพวกเขาก็ไม่ต่างจากคนส่วนน้อยเหล่านั้นคือไร้รัฐ ไร้ทุน ไร้สื่อในมือเหมือนกัน ขณะที่มีคนส่วนน้อยกลุ่มเดียวได้เป็นหรือเสมือนเป็นคนส่วนใหญ่ไปตลอดกาล

3. เมื่อทำให้เสียงและผลประโยชน์ของผู้เห็นต่างและฝ่ายค้านกลายเป็นเสียงและผลประโยชน์ของคนข้างน้อย ที่ตั้งประจันกับ "เสียงข้างมาก" และ "ผลประโยชน์ส่วนรวม" ก็ย่อมดูชอบธรรมที่จะบิดพลิ้ว ปัดปฏิเสธ กระทั่งบดขยี้ สิทธิและการพยายามใช้สิทธิของเสียงข้างน้อยและของบุคคล (minority & individual rights) ลงไปด้วยกำลังของรัฐ ในนามของ การปกครองโดยเสียงข้างมาก (majority rule) และ ผลประโยชน์ส่วนรวม (the public good or the general welfare)

โดยเฉพาะสิทธิที่จะเห็นต่างและสิทธิที่จะดื้อแพ่ง (the right to dissent & civil disobedience) ต่อนโยบายและการตัดสินใจของรัฐบาลที่ได้อำนาจมาจากการเลือกตั้งโดยเสียงข้างมาก, ภายใต้ฉายาเลวร้ายต่าง ๆ อาทิ "อภิสิทธิ์", "อนาธิปไตย", "พวกไม่เคารพกฎหมายหรือ กติกา", "พวกค้านยัน ค้านไม่รู้จบ" ฯลฯ การใช้สิทธิโดยชอบของบุคคลและกลุ่มเสียงข้างน้อยที่เห็นต่างอันเป็นธรรมเนียมของระบอบเสรีประชาธิปไตย ถูกทำลายความชอบธรรมลงไปภายใต้"ระบอบทักษิณ" จนกลายเป็นเรื่องของคนไม่ฟังเหตุฟังผล พวกม็อบ พวกเถื่อน ลูกดื้อที่พ่อต้องตีบ้างด้วยความหวังดี เพื่อลูกอื่นจะไม่เอาเยี่ยงอย่าง

สิทธิภายใต้"ระบอบทักษิณ"จึงกลายเป็นสิ่งที่ประชาชนมีตามรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ควรใช้โต้แย้งคัดค้านรัฐบาล หากควรเก็บเอาไว้โชว์ประชาคมโลกเฉย ๆ เพราะขืนใช้เมื่อใดก็จะกลายเป็นคนผิดปกติ พวกอภิสิทธิ์ พวกเล่นไม่เลิก พวกอนาธิปไตย พวกไม่เคารพกติกาประชาธิปไตย โดยอัตโนมัติ กลายเป็นว่าระบอบประชาธิปไตยที่ดีคือระบอบประชาธิปไตยที่มีสิทธิไว้เพื่อที่จะไม่ใช้หรือนัยหนึ่งปราศจากสิทธิในทางปฏิบัติ i.e. practically rightless democracy ยกเว้นตอนเลือกตั้งเท่านั้นเอง

4. ซ้ำร้าย "วัฒนธรรมการเมืองปฏิปักษ์ปฏิรูปของระบอบทักษิณ"ยังมีลักษณะบางด้านที่ย้อนยุค ทวนเข็มนาฬิกา หรือปฏิกิริยา ตรงที่หยิบยืมเอาวาทกรรมและวิธีการของชาตินิยมเผด็จการฝ่ายขวาต่อต้านคอมมิวนิสต์ในอดีตมาเวียนใช้ สืบทอดและพัฒนา ด้วยการประณามบุคคลและกลุ่มฝ่ายค้านอย่างไม่แสดงหลักฐานและไม่รับผิดชอบว่าไม่รักชาติ ว่ารับเงินต่างชาติ ว่าไม่หวังดีต่อชาติ, ปล่อยข่าว สร้างกระแสหวาดระแวง ไม่ไว้วางใจ จงเกลียดจงชังขึ้นในหมู่คนไทยด้วยกันที่มีความเห็นทางนโยบายการพัฒนาแตกต่างกัน, ทำให้คนไทยกลัวและเกลียดเอ็นจีโอเหมือนที่เคยกลัวและเกลียดคอมมิวนิสต์ ทั้งที่สงครามเย็นและสงครามอุดมการณ์ต่อต้านคอมมิวนิสต์จบสิ้นไปนานแล้ว, ปล่อยให้มีการแอบอ้างข่มขู่คุกคามกดดันผู้เห็นต่างและครอบครัวเยี่ยงเจ้าพ่อมาเฟียทางการเมือง

ผลของมันก็คือ ริบเอกลักษณ์เพื่อนร่วมชาติเพื่อนคนไทยไปจากผู้ที่เพียงเห็นต่างเห็นไม่ตรงกับรัฐบาล และสร้าง"ความเป็นอื่น"หรือ"ความไม่ใช่คนไทย"ยัดเยียดให้ไปพร้อมกัน ทำให้พวกเขาล่อแหลมต่อการตกเป็นเป้าละเมิดสิทธิตั้งแต่เล่นงานทำร้าย กระทั่งฆ่าฟันได้ฟรี (homo sacer)(8) จากใครก็ได้ที่เป็นคนไทยและรักชาติ และเชื่อรัฐบาลแล้วถูกทำให้เกลียดและกลัวเพื่อนคนไทยด้วยกัน เหมือนเมื่อครั้งการฆ่าหมู่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙

เป็นตลกร้ายที่น่าอนาถเสียนี่กระไร ที่ภายใต้การปกครองของพรรคที่ชื่อว่า"ไทยรักไทย" บรรยากาศของการที่ไทยกลัวไทย ไทยเกลียดไทย ไทยระแวงไทย ไทยไม่ไว้ใจไทย ถูกปลุกปั่นให้สูงถึงขนาดนี้!

5. นอกจากนี้ การที่ผู้นำรัฐบาลประกาศจะทำสงครามปราบปรามยาเสพติด ในลักษณะเดียวกับที่เคยทำสงครามปราบปรามคอมมิวนิสต์มาแต่ก่อน พร้อมทั้งพากันส่งสัญญาณด้วยถ้อยคำที่ยังไม่ชัดขนาดนั้น แต่ไปในทิศทางให้เจ้าหน้าที่ยิงทิ้งหรือเก็บผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาค้ายาเสพติดในบัญชีดำต่าง ๆ(9) ก็เท่ากับย้อนรอยรัฐในยุคสงครามเย็น กลับไปสู่การพยักเพยิดเปิดช่องชี้ทางให้ใช้การก่อการร้ายโดยรัฐ (state terrorism) ตอบโต้รับมือการก่อการร้ายของคอมมิวนิสต์ (communist terrorism) ตามตรรกะตาต่อตา ฟันต่อฟัน เหมือนที่เคยทำในอดีต อันเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิในร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สินของผู้ต้องหาและผู้ต้องสงสัยเหล่านั้นโดยตรง

ผู้นำรัฐบาลได้ถามกลับผู้ทักท้วงเรื่องนี้ทำนองว่าห่วงชีวิตคนค้ายามากกว่าชีวิตเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารหรือไร? คำตอบของอารยชนคงเป็นอื่นไปมิได้นอกจากว่าเราย่อมห่วงชีวิตของเจ้าหน้าที่ตำรวจทหาร แต่เราก็ควรห่วงชีวิตของผู้ต้องหาหรือต้องสงสัยว่าค้ายาเสพติดด้วย เพราะชีวิตทุกชีวิตมีค่าและพึงได้รับการปกป้องคุ้มครองตามกฎหมายในฐานะพลเมืองไทยและมนุษย์ แม้ฝ่ายหนึ่งจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐและอีกฝ่ายเป็นผู้ต้องหาหรือต้องสงสัยก็ตาม

อำนาจหน้าที่ของสองฝ่ายอาจแตกต่าง แต่สิทธิในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของพวกเขาแต่ละคน พึงได้การเคารพจากรัฐและสังคมเสมอเหมือนกัน, แน่นอน หากผู้ต้องหาหรือต้องสงสัยใช้อาวุธต่อสู้ทำร้ายเจ้าพนักงานระหว่างปฏิบัติหน้าที่ เจ้าหน้าที่รัฐย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะป้องกันตนเองด้วยกำลังตามควรแก่เหตุ, ยิ่งกว่านั้น เสียงข้างมากของสังคมย่อมสามารถออกกฎหมาย ระบุโทษผิดของอาชญากรรมอุกฉกรรจ์ อันเป็นภัยสังคมบางอย่างให้รุนแรงถึงขั้นริบทรัพย์อันได้มาโดยมิชอบ คุมขังร่างกายหรือกระทั่งเอาชีวิตผู้ก่ออาชญากรรมนั้น ๆ ก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องพิสูจน์ว่าพวกเขาผิดจริงตามกระบวนการยุติธรรมที่เปิดเผย โปร่งใส และให้โอกาสจำเลยต่อสู้คดีโต้แย้งข้อกล่าวหาอย่างเที่ยงธรรมจนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดเสียก่อน, ก่อนและจนกว่าจะถึงวาระนั้น จะสันนิษฐานหรือปฏิบัติต่อพวกเขาเสมือนผู้กระทำผิดมิได้ - อย่างน้อยนี่ก็เป็นหลักขั้นต่ำสุดที่อารยประเทศและสังคมไทยตกลงว่าผู้คนในสังกัดจะอยู่ร่วมและปฏิบัติต่อกันอย่างนี้ (10)

การยิงทิ้ง สั่งเก็บตามบัญชีดำ ศาลเตี้ย (หมายถึงตำรวจ อัยการ ศาล เพชฌฆาตรวมศูนย์ในบุคคลเดียว) อันเข้าข่ายการก่อการร้ายโดยรัฐ (state terrorism) ในที่สุดจะเป็นได้อย่างมากแค่มาตรการไฟไหม้ฟาง, มีประสิทธิภาพแค่กดเก็บอาการของปัญหายาเสพติดไว้ด้วยความกลัว, มันอาจเห็นผลฉาบฉวยทันใจ แต่พ้นสามเดือนข้างหน้าไปแล้ว ปัญหาก็จะโผล่กลับมาอีก เพราะรากเหง้าต้นเหตุทางสังคมเศรษฐกิจ จริยธรรม ชุมชนและครอบครัวยังไม่ได้แก้ไข

ในกระบวนการนั้น ศักดิ์ศรีเกียรติภูมิของเจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบผู้รักษากฎหมาย จะถูกสัญญาณชี้นำผิด ๆ ให้ลดตัวลงไปแปดเปื้อนมลทินวิธีการป่าเถื่อนของอาชญากรนอกกฎหมาย, ความเป็นนิติรัฐของรัฐไทยจะเสื่อมคลายกลายเป็นกองกำลังภายใต้หลัก "อำนาจที่เกิดจากปากกระบอกปืนเป็นธรรม"

หลักนิติธรรมในบ้านเมืองและชีวิตผู้คนซึ่งยังไม่ถูกพิสูจน์ผิดถึงที่สุด จะถูกบูชายัญแลกกับเส้นตายที่เกลื่อนกลาดไปด้วยความตายซึ่งอาจมีผู้บริสุทธิ์ปะปนอยู่ด้วย แต่เส้นตายนั้นจะไม่ใช่จุดจบของปัญหา, ถึงบัดนั้น เพื่อธำรงประสิทธิภาพแห่งความกลัวไว้ ก็อาจต้องส่งสัญญาณต่อให้เก็บไปเรื่อย ๆ ยิงทิ้งไปเรื่อย ๆ ตามบัญชีดำที่ยาวเหยียดขึ้นเรื่อย ๆ อีกหกหมื่นเจ็ดหมื่นศพจนประเทศไทยที่รักยิ่งของเรา และของลูกหลานเรากลายสภาพเป็นราชอาณาจักรแห่งความกลัว (the kingdom of fear) ภายใต้ระบอบแห่งความสยดสยอง (the reign of terror) ไป (11)

6. ทั้งหมดที่กล่าวมาส่งผลตอกย้ำวัฒนธรรมการเมืองเผด็จการที่ยืนนานในบ้านเมืองเราว่ารัฐธรรมนูญเป็นกระดาษชำระ ผู้กุมอำนาจรัฐ - บัดนี้ในนามเสียงข้างมาก - นึกจะฉีกเมื่อไหร่ก็ฉีก อยากจะเช็ดอะไรก็เช็ด โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องรับผิด (accountable) เพราะเอาเข้าจริงไม่มีกลไกกระบวนการใดที่ทรงประสิทธิภาพสำหรับปกป้องคุ้มครองสิทธิของพลเมืองตามรัฐธรรมนูญ และจำกัดอำนาจรัฐในทางปฏิบัติเลย

7. ท้ายสุด วัฒนธรรมการเมืองอำนาจนิยม-ปฏิปักษ์ปฏิรูปภายใต้ระบอบทักษิณ ก็ส่งผลให้การเมืองภาคประชาชน ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานอย่างหนึ่งของพื้นที่การเมืองเสรีประชาธิปไตยที่เปิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ กลายสภาพเป็นการเมืองประเด็นเดียว (single-issue politics) ทั้งหมด, การเมืองภาคประชาชนซึ่งมีลักษณะการจัดตั้งและวางกำลังเป็นเครือข่ายของกลุ่มก้อนที่กระจัดกระจายเป็นหย่อม ๆ ไม่อาจผนึกรวมตัวเหนียวแน่นเป็นแนวคลื่นอยู่แล้ว เพราะตั้งอยู่บนฐานทางสังคมของพันธมิตรระหว่างเกษตรกรบางส่วนกับคนชั้นกลางบางส่วน ซึ่งอยู่กันแยกย้ายกระจายตัวโดยธรรมชาติทางถิ่นที่อยู่และสังคมวิทยา ก็ยิ่งแยกกลุ่ม เกาะติดเฉพาะประเด็นและง่ายที่จะโดดเดี่ยวแบ่งแยกจากกันยิ่งขึ้น, ความเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายอาจช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้บ้าง แต่ก็ไม่ได้แก้ที่มูลฐานของปัญหา และไม่ง่ายที่จะขยายพันธมิตรแนวร่วมให้กว้างขวางออกไปนอกกลุ่มนอกถิ่น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายสวัสดิการสังคม-ประชานิยมของระบอบทักษิณ ได้ช่วยตอบสนองความเรียกร้องต้องการ และบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของประชาชนโดยรวมให้พอใจระดับหนึ่ง ทำให้เกิดโครงสร้างความรู้สึกใหม่ทางการเมืองในหมู่ประชาชน ไม่เว้นแม้คนชั้นล่างต่อการประท้วงเรียกร้องของประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ว่า "มึงเดือดร้อน เรียกร้องก็เรื่องของมึง กูไม่เกี่ยว ไม่ได้ไม่เสียอะไรด้วย" พร้อมจะเพิกเฉยต่อทุกข์ยากคับแค้นและการถูกละเมิดสิทธิ์ของประชาชนกลุ่มอื่นอย่างเย็นชา ไม่รู้สึกรู้สาหรือตระหนักว่าสิทธิ์ของผู้อื่นหรือคนกลุ่มน้อยที่ถูกละเมิดไปเป็นสิทธิ์ของตนด้วย เพราะขึ้นชื่อว่าสิทธิย่อมเป็นของทุกคนโดยเสมอภาคกัน (ต่างจากผลประโยชน์ซึ่งเป็นเฉพาะของบางคนบางกลุ่มโดยไม่เท่าเทียมกัน) เมื่อสิทธิ์ของคนหนึ่งถูกละเมิด ก็ไม่มีหลักประกันว่าสิทธิ์ของคนอื่นจะได้รับการเคารพ

แทนที่วัฒนธรรมการเมืองแห่งความสมานฉันท์ เห็นอกเห็นใจห่วงใย ประสานหนุนช่วยกันในหมู่ประชาชนผู้เดือดร้อนถูกละเมิดสิทธิ์, วัฒนธรรมการเมืองอำนาจนิยมของผู้ปกครองจึงกลับถูกขานรับเป็นลูกคู่จากวัฒนธรรมการเมืองต่างเมินเฉย ไม่แคร์ ตัวใครตัวมันของผู้ถูกปกครอง เหมือนต่างคนต่างทำคำมั่นสัญญาไว้ต่อกันว่า "กูไม่ช่วยมึง มึงก็ไม่ต้องช่วยกู ไม่มีใครต้องช่วยใคร" (the contract of mutual indifference)(12) แทนที่สำนึกแห่งความเป็นพลเมืองผู้มีสิทธิ์ และฉะนั้นจึงหวงสิทธิ์ของตนและช่วยปกป้องสิทธิ์ของคนอื่นเมื่อเขาถูกละเมิด เพราะเท่ากับเป็นการคุกคามสิทธิ์ของตนด้วยเช่นกันนั้น, คนทั้งหลายก็เสมือนพร้อมใจแปลงกลายเป็นไก่ ซี.พี.ที่ไร้สิทธิ์ในตัวเอง (self-ownership) หากเป็นสมบัติของเจ้าของเล้าโดยสัมบูรณ์

วันนี้อาจอิ่มหนำหายอยาก กระทั่งอาจอ้วนพีอิ่มหมีพีมันเพราะเจ้าของขุนเลี้ยงรักษา แต่วันพรุ่งไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเพราะไม่มีสิทธิ์เหนือชีวิต กระดูกเนื้อหนังและไข่ของตัวเอง เขานึกจะเลี้ยงก็เลี้ยง เขานึกจะขุนก็ขุน เขานึกจะฉีดยาเร่งหรือรักษาก็ฉีด เขานึกจะคัดทิ้งก็คัด เขานึกจะเชือดก็เชือดได้ตามอำเภอใจ(13)

๓) สรุป: เพื่อการเมืองแห่งสิทธิเสรีภาพและความเอื้ออาทร
ภัยคุกคามที่ระบอบเสรีประชาธิไตยไทยกำลังเผชิญอยู่ต่างจากอดีตที่ผ่านมา มันไม่ใช่ภัยเผด็จการจากภายนอก แต่เป็นปัญหาความเสียดุล โน้มเอียง เบี่ยงเบนทางวัฒนธรรมการเมืองที่อันตรายภายในระบอบเลือกตั้งประชาธิปไตยนั้นเอง ระหว่างการรวมศูนย์ผูกขาดอำนาจกับการจำกัดและกระจายอำนาจ, ระหว่างเสียงข้างมากกับเสียงข้างน้อย, ระหว่างผู้ปกครองกับพลเมือง, ระหว่างรัฐกับบุคคล, และระหว่างอำนาจกับสิทธิ ซึ่งซับซ้อนกว่าและจัดการแก้ไขยากกว่า

ในแง่หนึ่ง การเป็นเผด็จการเต็มรูปเสียอีก จะมองออก เข้าใจและจัดการง่ายขึ้น แต่การจำกัดลิดรอนสิทธิเสรีภาพและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ในนามของรัฐบาลเสียงข้างมากที่ได้รับเลือกตั้งมาแบบประชาธิปไตยนั้น ทำให้มาตรการอำนาจนิยม/อ-เสรีนิยมกลับดูชอบธรรม เกิดภาพสับสนคลุมเครือ สร้างความเข้าใจไขว้เขวซึ่งรับมือยากยิ่ง จนเกิดคำถามว่าหลักสิทธิเสรีภาพและระบอบรัฐธรรมนูญจะเอาตัวรอดจากระบอบประชาธิปไตยไทยดังที่เป็นอยู่ (actually existing Thai democracy) ได้หรือไม่?

เพื่อธำรงรักษาระบอบรัฐธรรมนูญไว้ท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมการเมืองอำนาจนิยม-ปฏิปักษ์ปฏิรูป,ฟื้นฟูสมดุลและผลักดันการปฏิรูปการเมืองในทิศทางเสรีนิยมและประชาธิปไตยต่อไป สังคมไทยคงต้องทำความเข้าใจหลักมูลฐานต่าง ๆ ของการใช้ชีวิตการเมืองอยู่ร่วมกันในระบอบเสรีประชาธิปไตย โดยเฉพาะ ในประเด็นความสัมพันธ์และดุลยภาพของหลักการเหล่านั้นให้มากขึ้น อาจกล่าวได้ว่าในประวัติการต่อสู้เพื่อเสรีประชาธิปไตยในสังคมไทยที่ผ่านมา ไม่เคยมีครั้งใดที่สถานการณ์เรียกร้องให้ต้องใช้สติปัญญา ความอดทนอดกลั้น ความเข้าอกเข้าใจเห็นอกเห็นใจ และอหิงสธรรมสูงขนาดนี้

โดยมิพักต้องให้ใครอ้างชื่อพรรคไทยรักไทยมาโทรศัพท์เตือนผ่านญาติผู้ใหญ่(14), เมื่อลูกสาวเรียน ป. ๒ ของผมได้อ่านบทความหนังสือพิมพ์ของผมและฟังผมอภิปรายบ้างพักหลังนี้ ความที่เธอได้รับการอบรมให้เคารพนับถือครูและผู้ใหญ่ หนูกลอยก็ถามผมอย่างไม่สบายใจว่า "ทำไมป่าป๊าไปว่านายกฯทักษิณเขาล่ะ?" แต่ครั้นหนูกลอยได้ฟังข่าวและคำให้สัมภาษณ์ทางวิทยุโทรทัศน์ของท่านนายกฯบ้างแล้ว เธอก็มารายงานผมว่า "นายกฯเขาว่าพวกนักวิชาการอย่างป่าป๊าแน่ะ" และดูจะเข้าอกเข้าใจป่าป๊ามากขึ้น

พรรคไทยรักไทยย่อมจะไม่เป็นพรรครัฐบาลไปตลอดกาล, ท่านนายกฯทักษิณก็คงจะไม่แบกรับภาระรับใช้ชาติอันหนักหน่วงในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และผมก็คงจะไม่ตั้งหน้าตั้งตาค้านยันทุกลมหายใจของท่านจนลมหายใจเฮือกสุดท้ายของผมเช่นกัน, ยังมีอย่างอื่นอีกในชีวิต และสักวันหนึ่งพรรคไทยรักไทย ท่านนายกฯ ผม พวกเราทุกคนก็จะจากโลกใบนี้และบ้านเมืองนี้ไป, อนาคตจะเป็นของคนรุ่นหลังที่จะรับช่วงดูแลและอยู่กับมันต่อ ผมหมายถึงคนอย่างคุณพานทองแท้และน้อง ๆ กับหนูกลอย(ลูกสาว)

มันจึงสำคัญว่าท่านนายกฯและพวกเราจะทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมการเมืองอะไรไว้ให้กับพวกเขา เพราะสิ่งที่เราทำในวันนี้จะเป็นของพวกเขาในวันหน้า, จำเป็นที่ท่านนายกฯและพวกเราควรจะถามตัวเองตั้งแต่วันนี้ว่า วิสัยทัศน์ทางการเมืองของเราในอนาคต post-us หรือภายหลังพวกเราจากไปแล้วคืออะไร? เราปรารถนาให้ลูกหลานของเรา - คุณพานทองแท้และน้อง ๆ รวมทั้งหนูกลอย - ดำรงความสัมพันธ์ทางอำนาจต่อกันอย่างไร ใช้อำนาจต่อกันอย่างไรในอนาคต? เพราะเราไม่รู้แน่ - มันเป็นธรรมชาติของอนาคตว่ามันเป็นสิ่งที่ทำนายไม่ได้แน่ - ว่าใครจะลงเอยเป็นผู้ปกครองหรือผู้ถูกปกครอง, เสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อย, เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหรือพลเมืองผู้มีสิทธิ, ตำรวจทหารหรือผู้ต้องหาผู้ต้องสงสัย?

ทำอย่างไรจึงจะวางหลักประกันได้ตั้งแต่วันนี้ว่าลูกหลานของพวกเราในวันข้างหน้า ไม่ว่าเขาจะตกอยู่ในฐานะการเมืองใด มีอำนาจหน้าที่เหลื่อมล้ำมากน้อยต่างกันอย่างไร ทุกคนจะมีหลักประกันอย่างเท่าเทียมในสิทธิเสรีภาพของร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สิน, และมีความเอื้ออาทรต่อกันในฐานะเพื่อนมิตร, เพื่อนมนุษย์และเพื่อนร่วมชาติ?

กรรมย่อมสนองผู้ประพฤติกรรม, ปลูกอะไรวันนี้ ลูกหลานของเราย่อมจะได้รับผลของมันในวันหน้า

ภาคผนวก
ทรรศนะบางประการเกี่ยวกับหลักมูลฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย(15)

๑) ผลประโยชน์
"เมื่อคนเราเท่ากัน อำนาจย่อมเกิดจากตัวเลข" ตรรกะแห่งความเสมอภาคของผู้คนพลเมืองอันเป็นฐานคติของระบอบประชาธิปไตยดังกล่าวนำไปสู่ หลักการปกครองโดยเสียงข้างมาก (majority rule) ในทางปฏิบัติ

หลักที่ว่านี้นับพลเมืองทุกคนเท่ากับหนึ่งเสียง, และไม่นับใครเลยมากกว่าหนึ่งเสียง (one man, one vote) มิไยว่าชาติตระกูลฐานะเพศชนชั้น เชื้อชาติ พอร์ตหุ้นของเขาหรือเธอจะเป็นเยี่ยงใดก็ตาม เพราะฉะนั้น เราจึงอนุมานสืบไปได้อีกว่า [ผลประโยชน์ของคนข้างมาก] ย่อมสำคัญกว่า [ผลประโยชน์ของคนข้างน้อย] ในระบอบประชาธิปไตย

ปัญหาอยู่ตรงในสังคมรัฐชาติสมัยใหม่ เสียงของคนข้างมากจะสำแดงออกมาให้ปรากฏได้ มีแต่ต้องผ่านสื่อมวลชน (mass media) คือเป็นเสียงที่ถูกสื่อมาอีกที (the mediated voice) เท่านั้น, จะให้คนมาก ๆ เป็นแสนเป็นล้านมาตะโกนปาว ๆ ด้วยเสียงตัวเองพรักพร้อมกัน มันทำไม่ได้ สื่อมวลชนจึงสำคัญและเป็นข้อต่อที่ขาดเสียมิได้เพื่อแสวงหาหรือสร้าง "เสียงข้างมาก" และ "ผลประโยชน์ของคนข้างมาก" ในสังคมปัจจุบันโดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตย

ยิ่งไปกว่านั้น สภาพความจริงดังกล่าวยังเป็นจุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตยที่อาจเปิดช่องให้เกิดการผูกขาดตัดตอนสื่อมวลชนเพื่อพากย์ทับ "เสียงข้างมาก" ขึ้นได้ หากใครสามารถกุมอำนาจทั้งสื่อรัฐและสื่อเอกชน ทั้งสื่ออิเล็กทรอนิกส์และสื่อสิ่งพิมพ์เบ็ดเสร็จ ในสภาพเช่นนั้น "ผลประโยชน์ของคนข้างมาก" ก็จะถูกบิดเบือนเฉไฉไปโดยคนข้างน้อยที่กุมสื่อ

ดังนั้น เงื่อนไขเบื้องต้นที่จะประกันให้เสียงข้างมากและผลประโยชน์ของคนข้างมากสำแดงออกได้อย่างเที่ยงตรงในระบอบประชาธิปไตยจึงได้แก่สื่อมวลชนที่เปิดกว้าง เสรีและเป็นกลาง, ไม่มีสื่อเช่นนี้ ก็จะมีแต่ประชาธิปไตยเสมือนจริง (virtual democracy) ที่ชักเชิดและพากย์ทับโดยคนกลุ่มน้อยเท่านั้น

๒) สิทธิ
"เมื่อคนเราเท่ากัน สิทธิย่อมสำคัญกว่าตัวเลข" ตรรกะแห่งความเสมอภาคของผู้คนพลเมืองอันเป็นฐานคติของระบอบเสรีนิยมดังกล่าวนำไปสู่ หลักการสิทธิของเสียงข้างน้อย (minority right) อันเป็นหลักอีกซีกส่วนหนึ่งของระบอบเสรีประชาธิปไตย ประกบคู่ถ่วงดุลกับหลักการปกครองโดยเสียงข้างมาก (majority rule)

เราอาจทำความเข้าใจเรื่องนี้โดยเริ่มจากข้อสังเกตว่า ขณะที่เรากล่าวโดยชอบได้ว่า [ผลประโยชน์ของคนข้างมาก] สำคัญกว่า [ผลประโยชน์ของคนข้างน้อย] ในระบอบประชาธิปไตย, แต่เราพูดไม่ได้ว่า [สิทธิของคนข้างมาก] สำคัญกว่า [สิทธิของคนข้างน้อย]

ทั้งนี้เพราะสิทธิต่างจากผลประโยชน์ กล่าวคือในขณะที่ธรรมชาติของผลประโยชน์ย่อมเป็นของบางคนบางกลุ่มโดยไม่เท่าเทียมกัน ทว่าธรรมชาติของสิทธิกลับไม่ได้เป็นของคนส่วนข้างมากหรือคนส่วนข้างน้อยโดด ๆ ต่างหากจากกัน, หากเป็นของทุกคนเท่ากัน

นั่นหมายความว่าหากปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิของบุคคลหนึ่งบุคคลใดเพียงคนเดียว สิทธิของคนอื่นทั้งหมดก็ย่อมไม่ปลอดภัยไปด้วย เพราะนั่นหมายถึงว่าหลักนิติธรรม (หรือหลักการปกครองด้วยกฎหมาย the rule of law ซึ่งแปลว่ารัฐบาลมีอำนาจจำกัดและอำนาจรัฐนั้นถูกจำกัดโดยสิทธิของพลเมือง) พลันมลายหายสูญกลับกลายเป็นรัฐบาลมีอำนาจไม่จำกัด ซึ่งเป็นอันตรายต่อคนทั้งหมด

ดังนั้นสิทธิจึงต้องพิทักษ์รักษาไว้เพราะมันเป็นหลักประกันขั้นต่ำของทุกคนที่เข้ามาร่วมในสังคม ต้องยืนยันสิทธิของบุคคลและคนส่วนน้อยเบื้องหน้าคนข้างมากและเสียงส่วนใหญ่ ว่ามันเป็นสิ่งที่ทำได้แม้เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย! และเป็นสิ่งที่ทำได้อยู่นั่นแหละแม้จะกระทบผลประโยชน์ส่วนรวมหรือคนข้างมากก็ตาม! อะไรที่น้อยกว่านี้มิใช่สิทธิ หากเป็นแค่ความเมตตาของคนส่วนใหญ่ที่เพิกถอนเรียกคืนได้ทุกเมื่อ

ทำไมสิทธิจึงสำคัญขนาดนั้น สำคัญกว่าผลประโยชน์ส่วนรวมเสียอีก? ก็เพราะมันเป็นหลักประกันขั้นมูลฐานของพวกเรา-ทุกคน-เท่ากัน ว่าจะไม่ถูกอำนาจเสียงข้างมากลากถูลู่ถูกังไปเสียผู้เสียคน สิ้นเนื้อประดาตัว

๓) หลักนิติธรรม
ในทางรัฐศาสตร์ หลักนิติธรรม (the rule of law) มิได้หมายถึงการบังคับใช้ตัวบทกฎหมายดังที่เป็นอยู่ด้วยกลไกอำนาจรัฐอย่างเข้มงวดกวดขันหรือผ่อนปรนแล้วแต่เมตตาธรรมของผู้ปกครอง(16) หากหมายถึง: -

๑) รัฐบาลที่มีอำนาจจำกัดและ
๒) อำนาจรัฐนั้นถูกจำกัดโดยสิทธิของพลเมือง
๓) โดยมีสถาบันตุลาการอิสระคอยกำกับดูแลปกป้องคุ้มครองเส้นแบ่งระหว่างอำนาจรัฐกับสิทธิพลเมือง ไม่ให้มีการล้ำเส้น
ตามความหมายหลังนี้ ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่เคารพสิทธิของเสียงข้างน้อย ก็เท่ากับละเมิดหลักนิติธรรมพื้นฐานและกลายเป็นทรราชของเสียงข้างมาก (tyranny of the majority) ไป

๔) ความยุติธรรม
ถึงจะอยู่ตรงข้ามคนละขั้ว แต่ฝ่ายขวากับฝ่ายซ้ายกลับเหมือนกันอยู่อย่าง คือต่างพยายามใช้อำนาจรัฐยัดเยียดแบบวิถีชีวิตที่ต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าประเสริฐสุดตามอุดมการณ์ของตนให้แก่สังคม ไม่ว่าจะเป็นระบอบ ฟัสซิสม์-นาซี และการพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมไม่สมดุล-ไม่เสมอภาค-ไม่เป็นธรรม-ไม่ยั่งยืนภายใต้ประชาธิปไตยพ่อปกครองลูกแบบไทย ๆ ของฝ่ายขวา หรือระบอบคอมมิวนิสต์ของฝ่ายซ้าย, ภายใต้คำขวัญ "เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย" ของจอมพลแปลก พิบูลสงคราม, "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว"ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือ "เชื่อพรรคเชื่อจัดตั้ง" ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยแล้วแต่กรณี

ต่างจากทั้งขวาและซ้าย, ระบอบเสรีประชาธิปไตยยึดหลักให้แต่ละบุคคลเลือกเอง, โดยเชื่อถือเหตุผล เสรีภาพและอำนาจที่จะเลือกของปัจเจกบุคคล ไม่ว่าเขาหรือเธอจะเลือกผิดหรือถูก และสิ่งที่เลือกนั้นเราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม, แต่ก็ยืนยันว่าพวกเขามีสิทธิเลือก, การที่ผู้อื่นจะไปเลือกแทน ตัดสินแทน ตอบแทนแล้วยัดเยียดคำตอบนั้นให้พวกเขาในทำนอง "คุณพ่อรู้ดี ลูก ๆ อย่าดื้อ" จะด้วยความหวังดีหรือเหตุอื่นใดก็ตาม เท่ากับดูหมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา

การให้บุคคลมีสิทธิเสรีภาพที่จะเลือกวิถีชีวิตแห่งตนอย่างสมัครใจ ก็คือนิยามแห่งความยุติธรรมแบบเสรีประชาธิปไตย!

ตามนัยนี้ ความไม่ยุติธรรมจึงเกิดขึ้น เมื่อมีการปฏิเสธสิทธิของคนอี่นที่จะเลือกทางชีวิตของเขาเอง โดยใช้อำนาจริบฐานทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอันเป็นเงื่อนไขรองรับการดำเนินชีวิต วัฒนธรรมและเศรษฐกิจชุมชนของเขา แล้วบังคับขับไสเคี่ยวเข็ญทุบตีให้เขาเปลี่ยนแปลง ปรับตัว พัฒนาตาม(17) หรือนัยหนึ่งยกเลิกวิถีชีวิตเดิมของเขา อาทิ ปิดแม่น้ำขวางปลาทั้งสายด้วยเขื่อน หรือสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือวางท่อก๊าซที่ก่อมลภาวะใส่ชายฝั่งทะเล เป็นต้น

หม่อมราชวงศ์อคิน รพีพัฒน์ ครูใหญ่วงการมานุษยวิทยาไทยผู้ใช้ชีวิตศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตสามัญชนในชนบทและสลัมเมือง ได้สื่อสะท้อนนัยแห่งความยุติธรรมแบบนี้ไว้เรียบง่ายกินใจในหนังสือรวมภาพลายเส้นและกาพย์กลอนสะท้อนปรัชญาชีวิตและสังคมของท่านว่า: -

 (ภาพคนกลายเป็นหุ่นถูกชักใย)      
     "ขอคุณอย่าคิดว่าฉันเป็นหุ่น   ที่ต้องหมุนตัวตามต้องการของเธอ 
     ขยุกขยักยกแข้งยกขาอยู่เสมอ   ดวงตาเหม่อลอยไร้วิญญาณ 
     ขอคุณจงคิดว่าฉันเป็นคน   มีตัวมีตนเนื้อเลือดหัวใจ 
     ทั้งรักทั้งเกลียดโกรธาหวั่นไหว   ขอให้ฉันทำได้ตามใจฉันเอง" (18) 

๕) ม็อบ
สิวเป็นเรื่องธรรมชาติของวัยรุ่นฉันใด (โฆษณาสบู่ล้างหน้า ดร. สมชาย) ม็อบก็เป็นปรากฏการณ์ปกติธรรมดาของระบอบเสรีประชาธิปไตยฉันนั้น กระทั่งอาจถือเป็นสัญญาณดีว่าสุขภาพของระบอบแข็งแรง ประชาชนตื่นตัวเข้าร่วมกิจกรรมการเมือง เป็นที่น่าภาคภูมิใจในฐานะอารยะประเทศประชาธิปไตยก็ว่าได้

"ม็อบ" หรือการเคลื่อนไหวชุมนุมประท้วงของชาวบ้านไม่ได้ทำเพื่อโค่นรัฐบาล, มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วโดยศักยภาพ, หากทำขึ้นเพียงเพื่อพยายามเปลี่ยนใจรัฐบาล ให้ปรับแก้นโยบายหรือมาตรการต่าง ๆ ใหม่, มองกว้างออกไป ม็อบพยายามเปลี่ยนทรรศนะของเสียงข้างมากในสังคม โดยกระตุ้นให้สังคมสงสัย วิจารณ์ ทบทวน ศึกษา เรียนรู้ หาทางเลือกใหม่อื่น ๆ เกี่ยวกับนโยบายหรือปัญหาสาธารณะหนึ่ง ๆ

ในความหมายนี้ ม็อบจึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้และฉลาดขึ้นในการตัดสินใจประเด็นปัญหาสาธารณะของสังคมเสรีประชาธิปไตย, การทำลายสิทธิของชาวบ้านที่จะเคลื่อนไหวประท้วงคัดค้าน ย่อมเท่ากับปิดโอกาสการกระตุ้นให้สังคมเรียนรู้ และส่งผลให้สังคมโง่ลงในที่สุด

อ้างอิง

(1) หมายเหตุ : ปาฐกถานำในเวทีสาธารณะเรื่อง "๒ ปีระบอบทักษิณกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย" จัดโดยคณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ณ ห้องนพรัตน์ โรงแรมรัตนโกสินทร์ ถนนราชดำเนิน, ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ เวลา ๑๒.๐๐ - ๑๗.๐๐ น.

(2) เกษียร เตชะพีระ, "ชำแหละระบอบเลือกตั้งธิปไตย: บทเรียนทางการเมืองจากวิกฤตเศรษฐกิจไทย," กระจกหลายด้านฉายประวัติศาสตร์: รวมบทความเนื่องในวาระครบรอบ ๖๐ ปีชาญวิทย์ เกษตรศิริ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๔๔), น. ๔๒-๕๔.

(3) เป็นข้อสรุปวิพากษ์ระบบการเมืองก่อนปฏิรูปที่กระชับจับใจของหมอประเวศ วะสี ใน "ปฏิรูปการเมือง-ปฏิรูปการจัดการ: ทางออกจากสภาวะวิกฤต," ผู้จัดการรายวัน, ๑๑ เม.ย. ๒๕๓๘, น. ๙.

(4) เสน่ห์ จามริก, "วิกฤตรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ คือวิบากกรรมของแผ่นดิน" ลงพิมพ์ในหัวเรื่อง "คำเตือนกก.สิทธิฯ ตีม็อบ-สะเทือนรธน.," ข่าวสด, ๑๓ ม.ค. ๒๕๔๖, น. ๑๐.

(5) Anucha Charoenpo, "Warning on 'secret killings'," Bangkok Post, 3 February 2003, p.1; มติชนราย วัน, ๓ ก.พ. ๒๕๔๖, น. ๑๕; ๔ ก.พ. ๒๕๔๖, น. ๑๔.

(6) "คปส.จี้ไอทีวีพิสูจน์ความเป็นกลาง," มติชนรายวัน, ๓ ก.พ. ๒๕๔๖, น.๕; Supawadee Susanpoolthong, "Groups lament govt meddling in media," Bangkok Post, 3 February 2003, p.3.

(7) นิธิ เอียวศรีวงศ์, "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย," ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์: ว่าด้วยวัฒนธรรม, รัฐและรูปการจิตสำนึก, สุพจน์ แจ้งเร็ว บก. (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, ๒๕๓๘), น. ๑๓๖-๗๑. ตีพิมพ์ครั้งแรกในศิลปวัฒนธรรม พ.ย. ๒๕๓๔

(8) เป็นคติในกฎหมายโรมันโบราณ หมายถึงผู้ที่ใครก็สามารถฆ่าทิ้งได้ฟรีโดยไม่มีโทษผิด และความตายของคนผู้นั้นไม่มีคุณค่าความหมายทางศรัทธาศาสนาใด ๆ เลย ดู Giorgio Agamben, Homo Sacer: Sovereign Power and Bare Life (1998).

(9) มีรายงานข่าวว่านายกรัฐมนตรี พันตำรวจโท ดอกเตอร์ ทักษิณ ชินวัตร ได้กล่าวในการเป็นประธานมอบนโยบายป้องกันและปราบปรามยาเสพติดที่หอประชุมสถาบันราชภัฏสวนดุสิตเมื่อ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ว่า: - "การยึดทรัพย์ได้ผลชะงัดมาก ยิงตายแล้วเราต้องยึดทรัพย์ด้วย เขาจะได้ไม่ทิ้งมรดกบาป การปราบยาเสพติดเราต้องเหี้ยมพอ เพราะคนค้ายาเสพติดเขาเหี้ยมต่อลูกต่อหลานเรา" (มติชนรายวัน, ๑๖ ม.ค. ๒๕๔๖)

(10) คุณ พิเชฐ โพธิวิจิตร ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดสตูล ได้เขียนบทความฟันธงหลักนิติธรรมของประมวลกฎหมายไทยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า: -

"ขอยืนยันอย่างหัวเด็ดตีนขาดว่า ตัวบทกฎหมายของประเทศไทยทั้งหลายทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พระราชบัญญัติหรือประกาศคณะปฏิวัตินับร้อยฉบับที่มีอยู่ในขณะนี้ ไม่มีกฎหมายฉบับใดเลยที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ว่าจะเป็นตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีอำนาจ "จับตาย" หรือ "ยิงทิ้ง" คนร้ายได้ เจ้าหน้าที่ของรัฐดังกล่าวมีอำนาจตามกฎหมายเพียงตรวจค้น จับกุมและควบคุมตัวเพื่อรอส่งศาลเท่านั้น เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจ "ฆ่า" คนร้าย ไม่ว่าคนร้ายนั้นจะเป็นอาชญากรกระทำผิดร้ายแรงเพียงใดก็ตาม ศาลยุติธรรมเท่านั้นที่มีอำนาจพิพากษาประหารชีวิตจำเลยได้ตามกฎหมาย

"สิทธิของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะยิงคนร้ายมีเท่ากับประชาชนธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้น นั่นคือสิทธิในการป้องกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๖๘ ซึ่งจะต้องเป็นการป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงถ้าให้กระทำพอสมควรแก่เหตุ....."
ดู พิเชฐ โพธิวิจิตร, "เอกซเรย์สงครามยาบ้า ยึดทรัพย์-ปลิดชีพ กม.ให้ทำได้แค่ไหน,?" มติชนรายวัน, ๙ ก.พ. ๒๕๔๖, น. ๒.

(11) ความเปรียบแรกเป็นของจรัล ดิษฐาภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ความเปรียบหลังเป็นของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.....หรือมิฉะนั้นเราก็อาจปรับเปลี่ยนระบบศาลสถิตยุติธรรมเสียโดยนำบรรทัดฐาน "ศาลเตี้ย" มาประกอบการพิจารณา ดังคำแนะนำที่ฟังแล้วหนาวเยือกใจของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองท่านหนึ่งว่า: - "รัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภา ออกกฎหมายพิเศษสิ ทำเหมือนสมัยจอมพลสฤษดิ์ กรณีไฟไหม้ ประหารเรียบร้อย ไม่มีก็ทำได้นี่ครับ กฎหมายพิเศษมีศาลเดียว ไม่ใช่ 3 ศาล (พวกค้ายา) จะได้ไม่ล้นคุก….สมมุติว่าเราตัดสินประหารชีวิตสัก 60,000 คน แผ่นดินจะสูงขึ้นไหม" (องคมนตรี พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์, มติชนรายวัน, ๖ ก.พ. ๒๕๔๖, น. ๔)

เมื่อเอ่ยถึงการประหารชีวิตกรณีไฟไหม้สมัยจอมพลสฤษดิ์ ปรากฎข้อมูลประวัติศาสตร์ว่าเพียงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๑ เดือนเดียว จอมพลสฤษดิ์ได้ใช้อำนาจคณะปฏิวัติสั่งประหารคนในข้อหาวางเพลิงโดยไม่ต้องขึ้นศาลถึง ๔ คนและส่งท้ายปี ๒๕๐๑ โดยสั่งประหารชีวิตอีกคนหนึ่งในข้อหาวางเพลิงเช่นกันเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม คุณประจวบ อัมพะเศวต ได้เล่าตัวอย่างกรณีเช่นนี้ครั้งหนึ่งไว้ในหนังสือพลิกแผ่นดิน: ประวัติการเมืองไทย ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕-๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สุขภาพใจ, ๒๕๔๓), น. ๔๖๓ ว่า:- "ในการสอบสวนตามวิธีการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในสมัยนั้น ผู้ต้องหารับสารภาพหมด เว้นแต่นายจำนงค์ แซ่ฉิ่น และนายซิวหยิ่น แซ่ฉิ่น สองคนพี่น้องที่ทหารเรือได้รับคำสั่งให้นำไปประหารที่บริเวณวัดอินทราราม (ใต้) ด้วยแบล็กมัน ๖ กระบอก ทั้งสองพี่น้องต่างตะโกนตลอดเวลา "ผมไม่ผิด ผมไม่ได้วางเพลิง" จนกระทั่งเสียงคำรามของแบล็กมันดังขึ้น เสียงปฏิเสธจึงเงียบไปพร้อมกับสิ้นชีวิต"

เรารู้แน่หรือว่าจำนงค์กับซิวหยิ่นไม่ได้เป็นผู้บริสุทธิ์ที่กำลังวอนขอความยุติธรรมหว่างลมหายใจเฮือกสุดท้ายของชีวิต? ในทางกลับกัน เรารู้แน่หรือว่าสองพี่น้องไม่ได้วางเพลิงจริงและแค่กำลังแสร้งร้องแก้ตัวก่อนตาย? คำตอบสุดท้ายคือเราไม่อาจรู้แน่ไม่ว่าทางใดทางหนึ่งทั้งสองทางและก็ไม่มีทางจะรื้อฟื้นคดีนี้ขึ้นมาสอบสวนใหม่อย่างรอบคอบและยุติธรรมได้ด้วย เพราะพวกเขาตายไปเสียแล้ว ตายไปโดยที่เราไม่รู้แน่ไง

(12) ดูการนำเสนอแนวคิดนี้พร้อมบทวิเคราะห์วิจารณ์ที่ทรงพลังใน Norman Geras, The Contract of Mutual Indifference: Political Philosophy after the Holocaust (London: Verso, 1998).

(13) ดูเรื่องสั้นที่สื่อชะตากรรมไก่ซี.พี.ได้สะท้านใจใน ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์, "ไก่ซี.พี.," ชาติ กอบจิตติและคณะ, บก.,สนามหลวง ๒๔ เรื่องสั้น (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์นักเขียน, ๒๕๔๐), น. ๗๙-๙๕.

(14) โปรดดู เกษียร เตชะพีระ, "หน้าของเตี่ย," มติชนรายวัน, ๗ ก.พ. ๒๕๔๖, น.๖.

(15) ทรรศนะเหล่านี้ประมวลเรียบเรียงจากเอกสารหนังสือหลายเล่มผ่านการวิเคราะห์ตีความคัดสรรของผู้เขียนเอง โดยเฉพาะ John Locke, Two Treatises of Government, edited by Peter Laslett (New York: New American Library, 1963); Ronald Dworkin, "Dialogue 13 Philosophy and Politics," in Bryan Magee, Men of Ideas: Some Creators of Contemporary Philosophy (Oxford: Oxford University Press, 1982), Pp. 209-28; Norberto Bobbio, Liberalism and Democracy, translated by Martin Ryle and Kate Soper (London: Verso, 1990); Jeremy Waldron, "Rights," The Blackwell Encyclopaedia of Political Thought, edited by David Miller et al (Oxford: Basil Blackwell Ltd., 1991), Pp. 443-46; Richard Falk, "Rights," The Oxford Companion to Politics of the World, edited by Joel Krieger (New York: Oxford University Press, 1993), Pp. 791-93.

(16) ดังคำให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในโอกาสงานเลี้ยงสังสันทน์ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ที่ทำเนียบรัฐบาล เย็นวันที่ ๒๗ ธ.ค. ๒๕๔๕ ดู "กฎหมายต้องศักดิ์ สิทธิ์," มติชนรายวัน, ๒๙ ธ.ค. ๒๕๔๕, น.๒.

(17) ความข้อนี้ดูจะเป็นหลักศรัทธาปสาทะประการหนึ่ง (an article of faith) ของนายกฯ ทักษิณ ดังที่ท่านได้เกริ่นนำและย้ำแล้วย้ำอีกระหว่างประชุมถ่ายทอดสดทางทีวีกับชาวบ้านปากมูน เกี่ยวกับปัญหาการเปิด/ปิดเขื่อนปากมูล ณ ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ว่า "ประเทศต้องพัฒนา คนก็ต้องพัฒนา คนก็ต้องเปลี่ยนแปลงปรับตัว ดูอย่างผมสิ..." เป็นต้น

(18) ม.ร.ว. อคิน รพีพัฒน์, ละครแห่งชีวิต (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สายธาร, ๒๕๔๕), น. ๓๖.

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เผยแพร่เพื่อความรู้ โดยไม่สงวนลิขสิทธิ์ เฉพาะการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการเท่านั้น
ภาพประกอบดัดแปลงเพื่อใช้ประกอบบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน 1. ภาพถ่ายชาวบ้าน จ.อุบลราชธานี 2. ผลงานจิตรกรรมโดย Grant Wood ชื่อภาพ American Gothic 3. ผลงานจิตรกรรมโดย Paul Cezanne ชื่อภาพ Mont Sainte-Victoire (050446)
H
home

ความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 256 เดือนเมษายน 2546 หัวเรื่อง "ระบอบทักษิณกับวัฒนธรรมการเมืองปฏิปักษ์ปฏิรูป" โดย ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หากประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาด font ลงมา

 

QUOTATION
วัฒนธรรมการเมืองต่างเมินเฉย ไม่แคร์ ตัวใครตัวมันของผู้ถูกปกครอง เหมือนต่างคนต่างทำคำมั่นสัญญาไว้ต่อกันว่า "กูไม่ช่วยมึง มึงก็ไม่ต้องช่วยกู ไม่มีใครต้องช่วยใคร" (the contract of mutual indifference) แทนที่สำนึกแห่งความเป็นพลเมืองผู้มีสิทธิ์ และฉะนั้นจึงหวงสิทธิ์ของตนและช่วยปกป้องสิทธิ์ของคนอื่นเมื่อเขาถูกละเมิด เพราะเท่ากับเป็นการคุกคามสิทธิ์ของตนด้วยเช่นกันนั้น, คนทั้งหลายก็เสมือนพร้อมใจแปลงกลายเป็นไก่ ซี.พี.ที่ไร้สิทธิ์ในตัวเอง (self-ownership) หากเป็นสมบัติของเจ้าของเล้าโดยสัมบูรณ์

วันนี้อาจอิ่มหนำหายอยาก กระทั่งอาจอ้วนพีอิ่มหมีพีมันเพราะเจ้าของขุนเลี้ยงรักษา แต่วันพรุ่งไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเพราะไม่มีสิทธิ์เหนือชีวิต กระดูกเนื้อหนังและไข่ของตัวเอง เขานึกจะเลี้ยงก็เลี้ยง เขานึกจะขุนก็ขุน เขานึกจะฉีดยาเร่งหรือรักษาก็ฉีด เขานึกจะคัดทิ้งก็คัด เขานึกจะเชือดก็เชือดได้ตามอำเภอใจ

release date
050446
R
random
R
relate
ปาฐกถานำในเวทีสาธารณะเรื่อง "๒ ปีระบอบทักษิณ กับ สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย" จัดโดยคณะทำงานปกป้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

"เมื่อคนเราเท่ากัน สิทธิย่อมสำคัญกว่าตัวเลข" ตรรกะแห่งความเสมอภาคของผู้คนพลเมืองอันเป็นฐานคติของระบอบเสรีนิยมดังกล่าวนำไปสู่ หลักการสิทธิของเสียงข้างน้อย (minority right) อันเป็นหลักอีกซีกส่วนหนึ่งของระบอบเสรีประชาธิปไตย ประกบคู่ถ่วงดุลกับหลักการปกครองโดยเสียงข้างมาก (majority rule)

เราอาจทำความเข้าใจเรื่องนี้โดยเริ่มจากข้อสังเกตว่า ขณะที่เรากล่าวโดยชอบได้ว่า [ผลประโยชน์ของคนข้างมาก] สำคัญกว่า [ผลประโยชน์ของคนข้างน้อย] ในระบอบประชาธิปไตย, แต่เราพูดไม่ได้ว่า [สิทธิของคนข้างมาก] สำคัญกว่า [สิทธิของคนข้างน้อย]

ทั้งนี้เพราะสิทธิต่างจากผลประโยชน์ กล่าวคือในขณะที่ธรรมชาติของผลประโยชน์ย่อมเป็นของบางคนบางกลุ่มโดยไม่เท่าเทียมกัน ทว่าธรรมชาติของสิทธิกลับไม่ได้เป็นของคนส่วนข้างมากหรือคนส่วนข้างน้อยโดด ๆ ต่างหากจากกัน, หากเป็นของทุกคนเท่ากัน

นั่นหมายความว่าหากปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิของบุคคลหนึ่งบุคคลใดเพียงคนเดียว สิทธิของคนอื่นทั้งหมดก็ย่อมไม่ปลอดภัยไปด้วย เพราะนั่นหมายถึงว่าหลักนิติธรรม (หรือหลักการปกครองด้วยกฎหมาย the rule of law ซึ่งแปลว่ารัฐบาลมีอำนาจจำกัดและอำนาจรัฐนั้นถูกจำกัดโดยสิทธิของพลเมือง) พลันมลายหายสูญกลับกลายเป็นรัฐบาลมีอำนาจไม่จำกัด ซึ่งเป็นอันตรายต่อคนทั้งหมด

ดังนั้นสิทธิจึงต้องพิทักษ์รักษาไว้เพราะมันเป็นหลักประกันขั้นต่ำของทุกคนที่เข้ามาร่วมในสังคม ต้องยืนยันสิทธิของบุคคลและคนส่วนน้อยเบื้องหน้าคนข้างมากและเสียงส่วนใหญ่ ว่ามันเป็นสิ่งที่ทำได้แม้เสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย! และเป็นสิ่งที่ทำได้อยู่นั่นแหละแม้จะกระทบผลประโยชน์ส่วนรวมหรือคนข้างมากก็ตาม! อะไรที่น้อยกว่านี้มิใช่สิทธิ หากเป็นแค่ความเมตตาของคนส่วนใหญ่ที่เพิกถอนเรียกคืนได้ทุกเมื่อ

ทำไมสิทธิจึงสำคัญขนาดนั้น สำคัญกว่าผลประโยชน์ส่วนรวมเสียอีก? ก็เพราะมันเป็นหลักประกันขั้นมูลฐานของพวกเรา-ทุกคน-เท่ากัน ว่าจะไม่ถูกอำนาจเสียงข้างมากลากถูลู่ถูกังไปเสียผู้เสียคน สิ้นเนื้อประดาตัว