เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยิน สมดุล และเป็นธรรม : ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2543 (ครบรอบ 3 ปี)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

R
relate topic
release date
290546
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 271 เดือนมิถุนายน 2546 หัวเรื่อง "โฉนดที่ดินชุมชน" โดย กฤษฎา บุญชัย
เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ครั้งแรก วันที่ 29 พฤษภาคม 2546
รัฐไทยไม่ได้รับเอาระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบปัจเจกจากตะวันตกมาใช้อย่างลอยๆ แต่เป็นเพราะโครงสร้างระบบเศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวพึ่งพาการส่งออกต่างประเทศมากขึ้น การเร่งรัดการผลิตข้าวและสินค้าเกษตรอื่นๆ เพื่อการสะสมความมั่งคั่งของชนชั้นนำ เพื่อให้เกิดการผลิตที่มีประสิทธิภาพ รัฐจึงดำเนินการปรับโครงสร้างฐานทรัพยากรในทุกๆ ด้าน เริ่มจากระบบการจัดการที่ดิน โดยรัฐเลือกเอาระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินปัจเจกจากแนวทางของประเทศออสเตรเลียมาใช้ (กฤษฎา บุญชัย : ตัดมาบางส่วนจากบทความ)
Free website by the Midnight University 2003 : wisdom and compassion
ภาพประกอบดัดแปลง เพื่อใช้ประกอบบทความทางวิชาการ บริการฟรี โดย คณาจารย์และสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
H
home

บทความวิชาบริการฟรี ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ในการนำไปใช้ประโยชนทางด้านวิชาการ

หากนักศึกษาและสมาชิกประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้

ไม่มีสิทธิที่ดินโดดๆ ไม่มีความเป็นเจ้าของที่ตายตัว กรรมสิทธิ์การถือครองแบบเบ็ดเสร็จที่เป็นของบุคคลหรือแม้แต่ชุมชนก็ไม่เคยเกิดขึ้น เพราะสังคมไทยสมัยก่อนไม่มีความคิดเรื่องเขตแดนกรรมสิทธิ์ ไม่เคยมีการรังวัดที่ดิน แม้แต่ความเป็นประเทศที่มีเขตแดนชัดเจนก็เพิ่งเกิดขึ้นมาได้ 100 กว่าปี สิทธิต่อที่ดินจึงเป็นเพียงแค่สิทธิการใช้ และเป็นส่วนหนึ่งของการผลิต
สำหรับโฉนดที่ดินชุมชน แม้ชาวบ้านจะคุ้นเคยกับระบบแดนกรรมสิทธิ์แต่ก็เป็นระบบปัจเจก การสถาปนาระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินชุมชน ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมเรื่องแดนกรรมสิทธิ์แบบใหม่ที่จะต้องเผชิญการต่อสู้ทางความคิดในชุมชนอีกมาก เนื่องจากชุมชนมีความหลากหลาย ซับซ้อน ระบบโฉนดที่ดินชุมชนจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ในชุมชนและระหว่างชุมชนหรือไม่ อย่างไรนั้น ยังเป็นสิ่งที่ต้องแสวงหา... ระบบโฉนดที่ดินมีลักษณะเปิดช่องให้เกิดการจัดการเชิงซ้อนหลายประเภท คำถามก็คือ ระบบการจัดการ และกลไกแบบใดจึงจะยืดหยุ่น และมีความสามารถเพียงพอในการจัดการกับความซับซ้อน นั่นเป็นสิ่งที่แต่ละชุมชนจะต้องพัฒนาระบบการจัดการที่เหมาะสมกับตนเองขึ้นมา ไม่สามารถใช้การจัดการแบบเดียวกันได้ (บทความทางวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ชุดฐานข้อมูลสิทธิชุมชน)

"โฉนดที่ดินชุมชน" ระบบกรรมสิทธิ์ร่วมเพื่อความมั่นคงทางสังคม
กฤษฎา บุญชัย : มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
(ความยาวของบทความ ประมาณ 7 หน้ากระดาษ A4)


บทนำ : ระบบสิทธิที่ดินในสมัยก่อน
ก่อนที่รัฐชาติสมัยใหม่ (ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5) จะสร้างระบบสิทธิและการจัดการที่ดินในรูปของเอกสารสิทธิ์รายบุคคลประเภทต่างๆ เช่น โฉนด นส.3, สค.1 และอื่นๆ รัฐสมัยก่อนหน้านั้นมีระบบสิทธิการจัดการและถือครองที่ดินที่แตกต่างออกไป สิทธิของประชาชนต่อที่ดินเกิดขึ้นจากการบุกเบิกแผ้วถาง และทำกินในพื้นที่ดังกล่าว ผู้ใด ชุมชนใดได้กระทำการก็มีสิทธิในการใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น แม้ชาวบ้านจะไม่ได้มีสิทธิเป็นเจ้าของอย่างเด็ดขาดในทางกฎหมาย เนื่องจากที่ดินทั้งหมดถือเป็นของกษัตริย์ แต่ดูเหมือนว่าในทางสังคม สิทธิการใช้ก็สะท้อนความเป็นเจ้าของโดยปริยาย ตราบเท่าที่ชาวบ้านยังใช้อยู่

สิทธิดังกล่าวเป็นแบบบุคคลเหมือนในปัจจุบันหรือไม่?
ในความเป็นจริงโครงสร้างสังคมไทย ที่ประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่หลากหลาย เป็นโครงสร้างการผลิตบนฐานชุมชน การทำนา ทำไร่ต้องอาศัยแรงงานชุมชน การจัดการน้ำ การสร้างเหมืองฝาย ก็อาศัยชุมชน ผลผลิตที่ได้ก็กระจายกันภายในชุมชนและระหว่างชุมชน ที่ดินที่ใช้ประโยชน์ก็มีการจัดสรรกันในครอบครัว เครือญาติ และชุมชน ดังนั้นสิทธิการใช้และจัดการที่ดินแต่ก่อน จึงเป็นสิทธิในระดับชุมชน ไม่มีสิทธิแบบบุคคล หรือปัจเจกโดดๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับครอบครัวหรือชุมชน

สิทธิในการใช้ประโยชน์และถือครองที่ดินของชาวบ้านและชุมชน จึงเป็นเพียงระบบการจัดการเพื่อตอบสนองกับความมั่นคงในระบบการผลิต การทำนา ทำไร่ ของครอบครัวและชุมชน ตอบสนองโครงสร้างทางสังคมของชุมชนที่มีการแบ่งปันที่ดินในครอบครัว เครือญาติ ชุมชน เพื่อกระชับความมั่นคงทางสังคม ตอบสนองความมั่นคงของระบบนิเวศ เพราะชาวบ้านจัดการที่ดินไปพร้อมกับจัดการป่าและน้ำ ระบบการจัดการที่ดินของชุมชนจึงมีเป้าประสงค์ที่หลากหลาย

ไม่มีสิทธิที่ดินโดดๆ ไม่มีความเป็นเจ้าของที่ตายตัว กรรมสิทธิ์การถือครองแบบเบ็ดเสร็จที่เป็นของบุคคลหรือแม้แต่ชุมชนก็ไม่เคยเกิดขึ้น เพราะสังคมไทยสมัยก่อนไม่มีความคิดเรื่องเขตแดนกรรมสิทธิ์ ไม่เคยมีการรังวัดที่ดิน แม้แต่ความเป็นประเทศที่มีเขตแดนชัดเจนก็เพิ่งเกิดขึ้นมาได้ 100 กว่าปี สิทธิต่อที่ดินจึงเป็นเพียงแค่สิทธิการใช้ และเป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิต ไม่มีความเป็นเจ้าของที่ไม่ได้ทำการผลิต ผู้อ้างสิทธิการใช้ประโยชน์ในที่ดินก็ไม่มีสิทธิปิดกั้นเพื่อนบ้านเข้าใช้ประโยชน์ที่แตกต่างออกไป

ระบบกรรมสิทธิ์ปัจเจก กับการทำให้ที่ดินเป็นสินค้า
รัฐไทยไม่ได้รับเอาระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบปัจเจกจากตะวันตกมาใช้อย่างลอยๆ แต่เป็นเพราะโครงสร้างระบบเศรษฐกิจไทยเริ่มปรับตัวพึ่งพาการส่งออกต่างประเทศมากขึ้น การเร่งรัดการผลิตข้าวและสินค้าเกษตรอื่นๆ เพื่อการสะสมความมั่งคั่งของชนชั้นนำ เพื่อให้เกิดการผลิตที่มีประสิทธิภาพ รัฐจึงดำเนินการปรับโครงสร้างฐานทรัพยากรในทุกๆ ด้าน เริ่มจากระบบการจัดการที่ดิน โดยรัฐเลือกเอาระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินปัจเจกจากแนวทางของประเทศออสเตรเลียมาใช้

แนวคิดระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินปัจเจกเป็นรากฐานของระบบทุนนิยม ที่มุ่งให้เอกชนมีสิทธิ์ครอบครองที่ดินอย่างเบ็ดเสร็จเพื่อใช้เป็นปัจจัยการผลิต เพราะหากระบบการถือครองที่ดินไม่ชัดเจน อำนาจการตัดสินใจในการใช้ที่ดินไม่เป็นอิสระจากระบบสังคมที่มีเป้าหมายการใช้ที่ดินแบบอื่นๆด้วย จะทำให้กระบวนการผลิต การสั่งสมทุนดำเนินไปได้ไม่ราบรื่นนัก และที่สำคัญประสิทธิภาพสูงสุดจากที่ดินจะเกิดขึ้นได้เมื่อที่ดินมีฐานะเป็นสินค้าประเภททุน ที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยน หมุนเวียนในระบบตลาดได้ รัฐโดยชนชั้นนำจึงเลือกเอาระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินมาใช้เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ และความมั่นคงของชนชั้นนำเอง ในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่ประเทศเจ้าอาณานิคมเข้ามาเปลี่ยนดุลอำนาจทางการเมืองในสังคมไทย

กรรมสิทธิ์ที่ดินปัจเจกเกิดขึ้นในเขตเมืองและกระจายสู่ชนบท
จุดเริ่มต้นระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินปัจเจกเกิดขึ้นในเขตเมืองและกระจายออกสู่ชนบท โดยชนชั้นนำต่างพากันจับจองที่ดินเพื่ออ้างสิทธิในที่ดินตามระบบกฎหมายใหม่ ขณะที่ชุมชนซึ่งมีฐานการผลิตแบบชุมชน ไม่ใช่ปัจเจก และไม่ได้มีฐานคิดเรื่องการสะสมความมั่งคั่ง จึงไม่สนใจระบบกรรมสิทธิ์แบบใหม่ ทำให้ชนชั้นนำต่างพากันครอบครองที่ดินจำนวนมหาศาล แม้ที่ดินเหล่านั้นชุมชนจะใช้ประโยชน์อยู่ก็ตาม

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจได้กระจายตัวไปสู่ระดับล่างมากขึ้น การผลิตเชิงพาณิชย์กลายเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตในชุมชน ระบบเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการใช้ที่ดินตลอดฤดูกาล ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากเริ่มปรับเปลี่ยนแนวคิด โดยยอมรับระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบปัจเจกเพื่อใช้อ้างสิทธิ์ครอบครองปัจจัยการผลิต ในสถานการณ์ดังกล่าว เราจึงเห็นการเปลี่ยนสภาพระบบสิทธิการจัดการร่วมของชุมชนในพื้นที่ต่างๆ ไปสู่ระบบกรรมสิทธิ์ปัจเจกมากยิ่งขึ้น

กระบวนการสูญเสียที่ดินของชาวนา กรรมสิทธิ์ และผลกระทบต่อระบบนิเวศ
อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจที่ผูกขาดอำนาจที่ชนชั้นนำ รัฐส่งเสริมการผลิตเชิงพาณิชย์แก่ชาวนา เพราะต้องการสร้างความเติบโตให้แก่ภาคเมืองและอุตสาหกรรม ราคาสินค้าเกษตรจึงถูกกำหนดให้ต่ำขณะมูลค่าสินค้าอุตสาหกรรมถูกกำหนดให้สูง โครงสร้างเศรษฐกิจที่บิดเบือนดังกล่าว ทำให้ชาวนาประสบปัญหาหนี้สิน ขายที่ดินให้แก่ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและเมือง

กระบวนการสูญเสียที่ดินของชาวนา จึงมาจากปัญหาโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยมีระบบกรรมสิทธิ์ปัจเจกเป็นเครื่องมือ เพราะการตัดสินใจขายที่ดินเป็นเรื่องของเจ้าของที่ดินกับผู้ซื้อ ชุมชนไม่มีอำนาจมาควบคุมกำกับได้ หรือการเปลี่ยนรูปแบบการใช้ที่ดินจากการทำนา ทำไร่ ไปทำธุรกิจอย่างอื่นซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนโดยรวม เช่น บริษัทเอกชนปลูกยูคาลิปตัสในพื้นที่ของตน แต่ไปส่งผลกระทบต่อทรัพยากรของชุมชนก็เกิดขึ้นได้ เพราะระบบกรรมสิทธิ์เอกชนให้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่จะทำอะไรต่อที่ดินก็ได้ และระบบตลาดก็ทำให้เป้าประสงค์การจัดการที่ดินถูกลดทอนเหลือเพียงการเป็นปัจจัยการผลิต และเป็นสินค้าเมื่อยามจำเป็นเท่านั้น หลักคิดการจัดการเพื่อสังคมวัฒนธรรม นิเวศ และเศรษฐกิจจึงกำลังสูญหายไป

ระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินชุมชน      การปรับประยุกต์เพื่อฟื้นอำนาจของชุมชน 
           1. ปัญหาการสูญเสียที่ดินของชาวนาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เบือดเบือน
           2. ระบบกรรมสิทธิ์ปัจเจกที่ทำให้ชุมชนไร้อำนาจในการควบคุมกำกับการจัดการที่ดินเพื่อความมั่นคงของชุมชน      

โจทย์ทั้ง 2 ข้อข้างต้น กลายเป็นปัญหาใหญ่ของชาวนาชาวไร่ว่าจะมีแนวทางอย่างไรที่ฟื้นอำนาจของชุมชนเข้ามาจัดการระบบเศรษฐกิจของตน ทั้งด้านการผลิต การแลกเปลี่ยน การจัดการทรัพยากร และการจัดการที่ดินเพื่อถ่วงดุลกับระบบตลาด และกรรมสิทธิ์ที่ดินแบบปัจเจก

ขบวนการสิทธิชุมชนจึงเกิดขึ้น เริ่มต้นจากการจัดการป่าชุมชน เพื่อสร้างอำนาจชุมชนในการใช้ประโยชน์ ดูแลรักษา และจัดการป่า ทั้งนี้เพราะระบบสิทธิร่วมในการจัดการป่ายังคงมีพลังและไม่สูญสลายไปมากเท่ากับระบบที่ดิน จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว ชุมชนจำนวนหนึ่งได้พัฒนายกระดับมาสู่การจัดการที่ดินร่วมกันโดยชุมชน

ชุมชนบ้านซำผักหนาม จังหวัดขอนแก่น เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจที่ชุมชนซึ่งเคยถูกรัฐอพยพออกจากเขตป่า แล้วหวนกลับมาปักหลักที่เดิม โดยมีการจัดสรรที่ดินกันใหม่ในชุมชน ระบบกรรมสิทธิ์แบบปัจเจกแม้ยังคงอยู่ แต่เกิดขึ้นโดยข้อตกลงร่วม แม้ปัจเจกมีอิสระในการตัดสินใจการผลิตในที่ดิน แต่ก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อความอยู่รอดร่วมกันของชุมชน โดยทั้งนี้ทั้งนั้น ชุมชนบ้านซำผักหนามไม่ได้คิดว่าระบบสิทธิจัดการที่ดินร่วมกันของชุมชนจะมีความยั่งยืนได้ หากปราศจากระบบการผลิตที่ยั่งยืนร่วมกัน ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนจึงเป็นแนวทางที่ชุมชนซำผักหนามเลือกใช้ไปพร้อมกับระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินร่วมกันของชุมชน

ไม่เพียงแต่ชุมชนบ้านป่าที่เอาระบบสิทธิการจัดการร่วมตามประเพณีเดิมมาใช้ ชุมชนแออัดในเมืองหลายที่ที่ต้องไปอาศัยที่ดินของรัฐและเอกชนเพื่ออยู่อาศัย ก็คิดถึงระบบการจัดการที่ดินร่วมกันของชุมชน เมื่อมีการก่อตั้งถิ่นฐานบ้านช่อง ชุมชนสลัมก็จะดำเนินการกำหนดแปลง และแบ่งสรรที่ดินร่วมกัน

การต่อสู้ทางความคิดของชุมชนเองระหว่างสิทธิปัจเจกต่อการครอบครองปัจจัยการผลิตที่ดินเพื่อเป้าหมายเศรษฐกิจรายบุคคล กับสิทธิร่วมของชุมชนเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม นิเวศร่วมกันของชุมชนกำลังเป็นปมปัญหาสำคัญ ว่าพลังทางความคิดด้านใดจะมีอำนาจเหนือกว่า

ในด้านหนึ่ง ชาวนาชาวไร่และชุมชนแออัดในเมือง ได้เรียนรู้ว่าการมีสิทธิการถือครองที่ดินอย่างมั่นคงเป็นปัจจัยสำคัญสำคัญต่อความอยู่รอดทุกด้าน และสิทธิกรรมสิทธิ์ที่ดินปัจเจก เช่น โฉนดที่ดิน นส.3 และอื่นๆ เป็นลู่ทางการสร้างรายได้ เศรษฐกิจของตนเอง แต่ในอีกด้านหนึ่งชาวบ้านในชนบทและเมืองก็เรียนรู้เช่นกันว่า ลำพังปัจเจกชนที่ไร้อำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม ยากที่จะถือครองที่ดินในมือเอาไว้ ที่ดินที่หวังเป็นปัจจัยการผลิต ก็เป็นเพียงสินค้าราคาถูกไม่ต่างจากสินค้าเกษตรที่ชาวบ้านก็ไร้อำนาจในการถือครอง กำกับ ระบบการจัดการที่ดินร่วมของชุมชนน่าจะช่วยสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมให้แก่สมาชิกในชุมชนได้หรือไม่

แนวคิดเรื่องโฉนดที่ดินชุมชนจึงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ชาวบ้านลำพูนที่เผชิญปัญหาการสูญเสียที่ดินจากกลไกตลาด และพยายามเข้าไปเอาที่ดินคืนมา ก็กำลังเผชิญปัญหาว่าจะรักษาที่ดินเอาไว้ได้อย่างไร ในเมื่อยังใช้ระบบกรรมสิทธิ์ปัจเจก และทำการผลิตเชิงพาณิชย์เช่นเดิม จนบางชุมชนเริ่มหันมาคิดเรื่องระบบ "โฉนดที่ดินชุมชน" เช่นเดียวกับที่บ้านซำผักหนามเคยดำเนินการ แต่เริ่มก้าวไกลไปกว่านั้น โดยการสร้างเอกสารสิทธิ์ของชุมชน แม้จะดูเหมือนเป็นเอกสาร "เถื่อน" ในสายตาของรัฐ แต่ก็มีนัยของการต่อสู้เพื่อฟื้นอำนาจของชุมชนในการควบคุมจัดการที่ดินคืนมา

โฉนดที่ดินชุมชนและการจัดการที่ดินร่วม
จากการริเริ่มทำโฉนดที่ดินชุมชน ของชาวบ้านไร่ดง จ.ลำพูน เห็นได้ว่าโฉนดที่ดินชุมชน เป็นข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมโดยอาศัยหลักการระบบสิทธิการจัดการร่วมของชุมชน ที่เคยมีอยู่ตามประเพณีมาปรับประยุกต์ ผสมผสานกับเรื่องแนวคิดเขตแดนกรรมสิทธิ์ของแนวคิดสมัยใหม่ แต่เขตแดนดังกล่าวมิใช่เฉพาะของขอบเขตที่ดินปัจเจกเท่านั้น แต่มีขอบเขตอำนาจของชุมชนซ้อนทับ กำกับไว้ด้วย

ข้อเสนอระบบโฉนดที่ดิน มีเป้าหมายเพื่อการแก้ไขปัญหาการสูญเสียที่ดินของชาวนา และปัญหาการใช้ที่ดินที่ผิดพลาดที่ไม่ตอบสนองความต้องการของชุมชน เพราะการซื้อขายที่ดินรายบุคคลจะทำไม่ได้หากไม่ได้รับการยินยอมของชุมชน ขณะเดียวกันชุมชนก็จะต้องมีระบบการสนับสนุนสมาชิกที่มีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้เอง หลักการพื้นฐานของระบบโฉนดที่ดินชุมชนคือ การสร้างระบบถ่วงดุลและสนับสนุนระหว่างสิทธิปัจเจกและสิทธิชุมชนต่อการจัดการที่ดินในชุมชน

รูปแบบของโฉนดชุมชนอาจจะมีลักษณะคล้ายกับโฉนดที่ดินทั่วไป ที่มีการกำหนดขนาดและมีแผนที่แสดงขอบเขต โดยมีการกำหนดเขตแดนกรรมสิทธิ์รวมของชุมชนทั้งหมดว่ามีพื้นที่เท่าไร ภายในโฉนดยังจำแนกรายละเอียดเป็นขอบเขตกรรมสิทธิ์พื้นที่ของสมาชิกรายบุคคล และขอบเขตกรรมสิทธิ์ที่ดินสาธารณะหรือที่ส่วนรวมชุมชน แต่ชุมชนที่อื่นก็สามารถพัฒนารูปแบบที่หลากหลายต่างกันออกไปได้

สิ่งสำคัญก็คือ กระบวนการออกแบบและจัดทำโฉนดชุมชนทั้งการกำหนดขอบเขต การจัดสรรพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ของสมาชิก จะต้องผ่านการกำหนดร่วมกันไม่เพียงแต่ภายในชุมชน แต่ควรจะต้องหารือร่วมกับชุมชนใกล้เคียงด้วย เพื่อมิให้เกิดการอ้างสิทธิ์ซ้อนทับกันจนเกิดเป็นปัญหาข้อพิพาทตามมา

สิ่งที่จะต้องดำเนินการควบคู่กับระบบโฉนดก็คือ แผนการจัดการและกลไกการจัดการที่ดินของชุมชน ซึ่งในแผนการจัดการจะมีการจำแนกสิทธิการใช้ จัดการ ถือครองที่ดินแบบปัจเจกของสมาชิกในชุมชนอยู่ แต่สร้างเงื่อนไขมากำกับว่า ขอบเขตพื้นที่ถือครอง ลักษณะการใช้ประโยชน์ การจัดสรรที่ดิน จะต้องผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วย เพื่อมิให้ปัจเจกชนอ้างสิทธิอย่างเกินเลยไปละเมิดการดำรงอยู่ของชุมชน เช่น

ควบคุมผูกขาดที่ดินในชุมชนขณะที่มีเพื่อนบ้านไร้ที่ทำกินมากมาย ทำการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อนิเวศ และสังคมของชุมชน การปิดกั้นมิให้เพื่อนบ้านเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินของตนซึ่งแม้ตนจะไม่ใช้ก็ตาม การขายที่ดินโดยให้บุคคลภายนอกซึ่งส่งผลต่อโครงสร้างชุมชน ในทางกลับกันชุมชนก็ไม่สามารถไปยึดที่ดินของสมาชิกได้ ไม่สามารถไปบังคับให้สมาชิกต้องทำการผลิต หรือกระทำการใดๆ ตามที่ชุมชนกำหนด ตราบเท่าที่การผลิตนั้นไม่ไปละเมิดชุมชน

ระบบโฉนดและการจัดการที่ดินของชุมชนประสบสำเร็จได้นั้นขึ้นอยู่กับกลไกการกำหนดกติกา การติดตามตรวจสอบ และการสนับสนุนของชุมชน หากสมาชิกในชุมชนทั้งหญิง ชาย ผู้เฒ่า คนจน และอื่นๆ ตลอดจนชุมชนเพื่อนบ้านมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎเกณฑ์กติกา การจัดสรรที่ดิน การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างแท้จริง ก็จะทำให้ระบบการจัดการที่ดินของชุมชนสามารถตอบสนองเป้าหมายที่หลากหลายของสมาชิกได้

แต่หากระบบกลไกการตัดสินใจมีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งในชุมชนและระหว่างชุมชน และมีผลให้ระบบการจัดการที่ดินล้มเหลวได้ในที่สุด เพราะในความเป็นจริง สมาชิกในชุมชนมีความแตกต่างกันทั้งด้านความต้องการ ผลประโยชน์ ลักษณะการใช้ที่ดิน ระบบกรรมสิทธิ์และแผนการจัดการจึงต้องมีความโปร่งใส มีส่วนร่วมและยืดหยุ่นเพียงพอ ขณะเดียวกันกลไกของชุมชนจะต้องมีระบบสนับสนุนสมาชิกในชุมชนที่เป็นจริง เพราะสมาชิกที่ยากจนมีกำลังลงทุนการผลิตต่ำ หรือประสบปัญหาหนี้สินเป็นทุนเดิม กลไกการจัดการจัดการร่วมของชุมชนจะต้องมีระบบการสนับสนุนที่ชัดเจน ในทางกลับกันชุมชนก็จะต้องมีการสนับสนุนกลไก หรือคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นให้ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งที่ควบคู่ไปกับระบบกรรมสิทธิ์และการจัดการที่ดินก็คือ ระบบการผลิต หากระบบการผลิตของสมาชิกในชุมชนยังขึ้นต่อระบบตลาดเป็นหลัก ปัญหาความล้มเหลวในทางเศรษฐกิจก็อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และหากปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น ก็อาจทำให้ระบบการจัดการและกลไกของชุมชนไม่สามารถจัดการได้ ตัวอย่างเห็นได้จากปัญหาความล้มเหลวของระบบเหมืองฝายที่เผชิญกับการขยายตัวพืชพาณิชย์ ระบบสิทธิที่ดินร่วมของชุมชนจะยั่งยืนได้จึงต้องคำนึงถึงการพัฒนาระบบเศรษฐกิจพึ่งตนเอง ทั้งด้านการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า การทำเกษตรยั่งยืน การทำกลุ่มออมทรัพย์ และการพัฒนาระบบตลาดท้องถิ่น

สิ่งที่ต้องแสวงหาต่อการพัฒนาระบบโฉนดที่ดินชุมชน
การขีดวงพื้นที่ป่าชุมชนบ้านใครบ้านบ้านมันในบางพื้นที่ โดยกีดกันไม่ให้เพื่อนบ้านใช้ประโยชน์ได้เคยสร้างปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนที่เคยใช้ป่าร่วมกัน เพราะชาวบ้านไม่เคยมีหลักคิดเรื่องแดนกรรมสิทธิ์ต่อป่ามาก่อน

สำหรับโฉนดที่ดินชุมชน แม้ชาวบ้านจะคุ้นเคยกับระบบแดนกรรมสิทธิ์แต่ก็เป็นระบบปัจเจก การสถาปนาระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินชุมชน ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมเรื่องแดนกรรมสิทธิ์แบบใหม่ที่จะต้องเผชิญการต่อสู้ทางความคิดในชุมชนอีกมาก เนื่องจากชุมชนมีความหลากหลาย ซับซ้อน ระบบโฉนดที่ดินชุมชนจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ในชุมชนและระหว่างชุมชนหรือไม่ อย่างไรนั้น ยังเป็นสิ่งที่ต้องแสวงหา

หากระบบโฉนดที่ดินชุมชน นำมาสู่การกีดกันสิทธิบางอย่างของสมาชิกในชุมชนและระหว่างชุมชนที่เคยมี ปัญหาความขัดแย้งก็จะเกิดขึ้นและอาจจะบานปลายยิ่งกว่าปัญหาป่าชุมชน แต่หากระบบโฉนดที่ดินมีลักษณะเปิดช่องให้เกิดการจัดการเชิงซ้อนหลายประเภท คำถามก็คือ ระบบการจัดการ และกลไกแบบใดจึงจะยืดหยุ่น และมีความสามารถเพียงพอในการจัดการกับความซับซ้อน นั่นเป็นสิ่งที่แต่ละชุมชนจะต้องพัฒนาระบบการจัดการที่เหมาะสมกับตนเองขึ้นมา ไม่สามารถใช้การจัดการแบบเดียวกันได้

สถานะทางกฎหมายของระบบโฉนดที่ดินชุมชนก็เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้สิทธิของชุมชนได้รับการรับรองตามกฎหมาย ซึ่งจะส่งผลต่ออำนาจการบังคับใช้ของชุมชน มิเช่นนั้นแล้วพลังของชุมชนยังยากที่จะต้านทานระบบตลาดได้ ซึ่งการผลักดันให้มีกฎหมายรองรับโฉนดที่ดินชุมชนก็มีความเป็นไปได้ เพราะนักวิชาการ และรัฐเริ่มหันมาพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวมากขึ้น แต่จะประสบความสำเร็จได้อย่างไรนั้น ก็ต้องอาศัยฐานการผลักดันที่เข้มแข็งและหลากหลายของขบวนการประชาชน

หากระบบโฉนดที่ดินชุมชนมีความลงตัว มีตัวแบบที่ประสบความสำเร็จอย่างหลากหลาย จะเป็นแนวทางสำคัญของการปฏิรูปนโยบายกฎหมายที่ดิน และการปรับฐานคิดต่อการจัดการที่ดินครั้งสำคัญ เป้าหมายการจัดการที่ดินจะไม่ใช่การทำที่ดินให้เป็นสินค้า เพื่อสร้างประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจให้แก่กลุ่มทุน แต่จะตอบสนองกับความหลากหลายทางเศรษฐกิจ สังคม นิเวศ ของชุมชน

และเมื่อประสานกับการผลักดันนโยบายด้านอื่นๆ เช่น นโยบายด้านภาษีอัตราก้าวหน้า การกระจายการถือครองที่ดิน การพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน การจัดการทรัพยากรอย่างเป็นองค์รวมโดยชุมชน และเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเอง ขบวนการเคลื่อนไหวทางนโยบายดังกล่าวน่าจะนำไปสู่การจัดความสัมพันธ์ใหม่กับระบบตลาด และโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีดุลภาพยิ่งขึ้น

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

ก่อนรัฐชาติสมัยใหม่ สิทธิของประชาชนต่อที่ดินเกิดจากการบุกเบิกแผ้วถาง และทำกินในพื้นที่ดังกล่าว ผู้ใด ชุมชนใดได้กระทำการก็มีสิทธิในการใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้น