H
home
บทความถอดเทปคำบรรยาย อาจารย์ มารค ตามไท / ณ ห้องประชุมปฏิบัติการชั้น 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / 200640
CP
MP
WB
ภาพประกอบโดย Joe Sorren และ Brad Weinman จากหนังสือ
Illustration-Thirty Three 1994 ดัดแปลงโดย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
contents
member
webboard
Website เพื่อการศึกษาผ่านระบบเครือข่ายฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นบริการทางการศึกษาเพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงความรู้ในระดับอุดมศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีอุปสรรคเกี่ยวกับคุณวุฒิ / สนใจศึกษาหัวข้อใด หรือสนใจส่งผลงานวิชาการเข้าร่วมกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาติดต่อที่ midnightuniv(at)yahoo.com
หากภาพและ
ตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาด font ลง

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิกที่ปุ่ม member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ปุ่ม contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
(midnightuniv(at)yahoo.com)

ช่วง สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

ไชยันต์ รัชชกูล : คือที่ผมเข้าใจ Postmodernism นี่ ต่างไปจากที่ฟังอาจารย์วันนี้นะครับ จึงมีความเห็นเป็นอย่างนี้. ประการแรกคือ ที่อาจารย์พูดถึงท่าทีที่มีต่อความเป็นจริง ซึ่งอาจารย์แบ่งออกมาเป็น 4 ประเภท เรากำลังแยกระหว่างความจริงที่เป็น T ตัวใหญ่(หมายถึง Truth) กับ t ตัวเล็ก (หมายถึง truth) หรือเปล่า ?

อย่างกับกรณีที่ 1 ก็มี ism เป็นจำนวนมาก ที่ไม่ได้เชื่อว่ามี T ตัวใหญ่ แต่กำลังหา t ตัวเล็กๆ. แต่ t ตัวเล็กๆมากมาย รวม t ตัวเล็กๆๆๆๆ ไปยาวเป็น infinity มันอาจจะเท่ากับ T ตัวใหญ่หรือเปล่า ? ไม่ทราบ. เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ทุก ism ที่ assume ว่าจะหา T ตัวใหญ่. ตามที่ผมเข้าใจในสังคมศาสตร์

ทีนี้ถ้าเราไม่แบ่งระหว่าง T ตัวใหญ่กับ t ตัวเล็ก, ปัญหาของท่าทีที่ 4 ซึ่งอาจารย์ว่ามันเข้าไปกับอันอื่นเหมือนกัน. อันที่ 4 ปฏิเสธแต่เพียง T ตัวใหญ่ แต่ยอมรับ t ตัวเล็กๆ. อันนี้เป็นปัญหาหนึ่ง.

พอ รอร์ตี พูดถึง Solidarity กับ Objectivity Stance กำลังจะแบ่งระหว่าง Solidarity แบบ t ตัวเล็ก กับ Objectivity Stance แบบ T ตัวใหญ่. ถ้าอย่างนั้นเราลองดู Solidarity แบบ t ตัวเล็กดู. ผมคิดว่ารอร์ตีกำลังเสนอเช่นนั้น

ทีนี้มันเป็นปัญหาใหญ่เลย พอเวลาย้ายจาก"ความจริง"มาเป็น"ความดี"นี่ คือพอเราพูดถึงความดี อันนี้ผมลองเปรียบเทียบดูนะครับ คือ มี G ตัวใหญ่(หมายถึง Good) กับ g ตัวเล็กๆ(หมายถึง good). คือถ้าเราไม่แบ่งแบบนี้ก็เลยกลายเป็นว่า ความดีก็ไม่มี g ตัวเล็กๆ. มีแต่ G ตัวใหญ่ๆ. ซึ่งอันนี้เป็นปัญหา... คงไม่ใช่ความคิดทั่วๆไปคือว่า เราจะมุ่งไปสู่ G ตัวใหญ่ๆเท่านั้น. คนเรามีต่างศาสนา ต่างความคิด ต่างความเชื่ออะไรทั้งหลาย ดังนั้น คนอาจจะclaim แต่เฉพาะการทำ g เล็กๆ.

ประเด็นสุดท้ายคือ เวลาเราพูดกันถึงเรื่อง ถ้าเราไม่แบ่งระหว่าง T ตัวใหญ่ หรือ t ตัวเล็ก, เราก็จะไม่แบ่งระหว่างชีวิตที่เป็นกายภาพ กับชีวิตที่ไม่ใช่กายภาพ. แล้วก็ท่าทีที่ 1 ในวิทยาศาสตร์ต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ทางการแพทย์ ก็ไม่ได้ claim อะไรไปมากกว่าเรื่องทางกายภาพ. ชีวิตคืออะไร ชีวิตคือเรื่องของกายภาพ ก็คือ t ตัวเล็ก. ปัญหาตามมาก็คือ ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ทำไม่ได้ ในเรื่องความหมายของชีวิต คือ อะไรคือความหมายของชีวิต ? อย่างเช่นที่เขาเถียงกันว่า อะไร หรือว่าเมื่อไหร่ที่เรียกว่าตาย. เช่นบางคนบอกว่า function ของสมองไม่ทำงานหรือหัวใจหยุดเต้นเรียกว่าตาย อันนี้แล้วแต่ว่าจะนิยามกัน. แต่ถ้าไม่ใช่ทางกายภาพ เขาบอกว่า วิญญานออกจากร่างถือว่าตาย. ซึ่งอันนี้ทางด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์บอกว่า ฉันไม่รู้. เพราะฉะนั้น นิยามความตายเอาเฉพาะเรื่องทางกายภาพ

ที่อาจารย์ว่ามานี่ มันน่าสนใจมาก ผมกำลังคิดว่า อย่างน้อยในทางสังคมศาสตร์ ตามที่ผมเข้าใจ... ต้องเปลี่ยน คือท่าทีอีกท่าทีคือท่าทีที่แยกกันเลย ระหว่าง t ตัวเล็กกับ T ตัวใหญ่. เท่าที่อาจารย์พูดมา เหมือนกับ assumption อันนี้ไม่ได้แยกกันอยู่

มารค ตามไท : คือ "ความจริง"ที่ผมพูดเวลาแยกท่าที ผมหมายถึงแต่ T ตัวใหญ่, ไม่เอา t ตัวเล็ก. แต่ t ตัวเล็ก หรือ T ตัวใหญ่ ไม่ได้หมายถึง scope ของความจริงนั้นนะ. ไม่ใช่ว่าถ้าเราหาความจริงแบบ Oxygen เป็น t ตัวเล็ก. และ T ตัวใหญ่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด.

เวลาผมใช้ T ตัวใหญ่ หมายถึงว่า ถ้ามีความจริงเกี่ยวกับ Oxygen ที่อยู่นอกจากประสบการณ์ที่เรามีในห้อง lab หรือสิ่งที่ปรากฏแก้ประสาทสัมผัสเรา นั่นคือ T ตัวใหญ่เกี่ยวกับ Oxygen. เพราะฉะนั้นสำหรับแพทย์ T ตัวใหญ่ แต่ตัวใหญ่เกี่ยวกับกายภาพ. คือมีความจริงเกี่ยวกับว่า ให้ยาอย่างไร แล้วกายภาพจะเป็นอย่างไร ? เพราะฉะนั้น มันเป็น T ตัวใหญ่ ในความหมายว่ามันอยู่นอกจากตัวเรา มันจริงอยู่อย่างนั้น. แต่ไม่ใช่ใหญ่ในแง่ของการคลุมทุกเรื่อง. ความสุขของชีวิต หรืออะไร ไม่ใช่. "ใหญ่"แค่ คือ หมายถึง "อยู่นอกตัวเรา".

สิ่งที่อาจารย์เรียกว่า t ตัวเล็ก, หลายอันสำหรับผมมันคือ T ตัวใหญ่. คือท่าทีที่ว่า"มันอยู่นอกตัวเรา" แล้วเราอยากจะเข้าถึง. ทีนี้เราค่อนข้างถึงแบบบางเรื่องเท่านั้นเอง เช่น เรื่องแพทย์, เรื่อง Oxygen, เรื่องอะไรอย่างนี้. ถ้าเข้าหลายเรื่อง คราวนี้คือ God's eyes view. คือพระเจ้ามองอย่างนี้ ในขณะใดขณะหนึ่งที่พระเจ้ามอง คือ t เล็กของอาจารย์ แต่มันคือท่าทีที่ 1 ในเรื่องนั้น. เป็นความจริงที่อยู่นอกคนที่อยากจะเข้าถึง.

เพราะฉะนั้น การแยกระหว่าง T ใหญ่ t เล็ก. ไม่แน่ใจว่าเหมือนกันหรือเปล่า. ถ้า t เล็กประเภทที่คล้ายๆอาจารย์กำลังพูดถึง อาจจะคืออีกแบบหนึ่ง คือ ไม่ได้มองภาพใหญ่ของสิ่งนั้น ภาพที่อยู่นอกตัวเอง เอาตัวเองเข้าไปเกี่ยวแล้วเรียกว่า t เช่น เวลาที่ผมพูดถึงพวก Pragmatist แล้วเรียกว่า"จริง". "จริง"คืออะไรก็ตามที่เชื่อแล้วมัน"ดี" ก็ใช้คำว่า"จริง"ได้ แต่ใช้คำว่า"จริง"ไม่ใช่ในความหมายท่าที่ 1. มันเป็น"จริง"ที่โยงกับจุดยืนของเราหรืออะไรอย่างนี้ แต่มันไม่ได้อยู่ตรงที่ scope ว่ามันเรื่องนิดเดียว หรือว่ามันเป็นเรื่องที่ครอบคลุมหลายเรื่อง หรือ comprehensive (So large in scope or content as to include much.)

ไชยันต์ รัชชกูล : การที่อาจารย์ยกจาก assumption เรื่อง 4 ท่าทีที่เป็นตัว T ตัวใหญ่ ซึ่งเราจะพิจารณาได้แบบเดียวกันในการเข้าหาความจริง ในการเข้าหาความดี. มันก็เลยมี assumption เดิม คือมี G ตัวใหญ่เหมือนกัน เหมือนกับว่ามี T ตัวใหญ่ ซึ่งอันนี้ยิ่งเป็นปัญหาใหญ่เลย

ในทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ สิ่งที่จะหา T ตัวใหญ่ซึ่งอาจารย์ยกตัวอย่าง Oxygen ขึ้นมา. อันนี้คือ มันมีอยู่แล้ว ไม่ได้เกี่ยวกับมนุษย์เองเป็นผู้ทำขึ้น แต่ว่าในทางสังคมศาสตร์ มันไม่ได้มีอยู่แต่เป็นเรื่องที่เราสร้าง. เรื่องสังคมศาสตร์เป็นเรื่อง Man Made เช่น รัฐธรรมนูญมาจากไหน ? อันนี้เรามาทำกันเอง ไม่ได้ถามพระเจ้า, หรือว่าถามเงียบๆ !

ผู้เข้าร่วมสนทนา : คือที่ ดร.ไขยันต์ พูดจะหมายความอย่างนี้หรือเปล่า คือว่า ถ้าในทางกายภาพแล้ว อย่างเช่น เรื่องแพทย์เรื่องอะไรนี้... ผมคิดว่าท่านจะพลาดไปที่ไปเปรียบเทียบ เรื่องการแพทย์กับเรื่องทางสังคมศาสตร์ แต่ตอนหลังฟังดู เหมือนจะยอมรับว่า เรื่องของแพทย์ก็ดี เรื่องของ Oxygen ก็ดี เรื่องของกายภาพอะไรพวกนั้น มันอาจจะมีความจริงที่เป็นปรนัยได้.

ส่วนความจริงทางสังคมศาสตร์ ดูเหมือนอาจารย์จะยืนยันว่า มันคงจะหาความจริงแบบปรนัยไม่ได้. คงจะเป็นลักษณะที่เรียกว่า relative เป็นความจริงสัมพัทธ์. ที่ท่านบอกว่าเป็น t ตัวเล็กๆๆๆ อะไรแบบนี้ คือแต่ละสังคมมันคงมีความจริงของมันเอง ซึ่งมีลักษณะเป็นเรื่องของ Social Construction เป็นลักษณะที่แต่ละสังคมเขาสร้างขึ้นมาเอง ซึ่งสังคมอเมริกันก็อาจจะสร้างความจริงหรือความดีอะไรของเขาแบบหนึ่ง ไทยก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ต่างยุคต่างสมัยก็เป็นอีกแบบหนึ่ง.

ส่วนทางวิทยาศาสตร์กายภาพหรืออะไรอื่น อาจจะพอหาความจริงที่เป็นปรนัยหรือ T ตัวใหญ่ได้. ไม่ทราบว่าจะเข้าใจผิดหรือเปล่า เพียงเพื่อจะ clear ประเด็นเท่านั้น... ความจริงสัมพัทธ์ คือ เราไม่สามารถจะหา centralize มันได้

ไขยันต์ รัชชกูล : คือผมกำลังเสนอว่า สิ่งที่เรากำลังศึกษาสังคมศาสตร์ เรากำลังศึกษาสิ่งที่มันเป็น man made เพราะฉะนั้น เราจะเข้าถึงก็ได้ที่จะมี objectivism ในความรู้ของเรา เกี่ยวกับ man made นี่ทำได้. ซึ่งมันอาจจะเปรียบเทียบกันไม่ได้กับสิ่งที่มันมีอยู่นอกเหนือ เช่น พระเจ้าสร้าง. เป็นอีกประเภทหนึ่งของการดำรงอยู่ ผมเข้าใจว่าอย่างนั้น

ที่ผมยกตัวอย่างเรื่องการแพทย์ ผมพยายามจะบอกว่า เพราะว่าเวลาอาจารย์ยกตัวอย่างต่างๆ ในกรณีสุดท้ายที่ว่า "เรากลัวความตาย" มันมาเจอกันตรงที่ว่า เราไม่สามารถที่จะให้คำจำกัดความของชีวิตได้. ทางการแพทย์พูดอย่างนี้นะครับ คือ ความรู้ของเราไม่สามารถที่จะบอกว่า"ชีวิตคืออะไรได้". เพราะว่า Ontology ไม่เหมือนกันในแต่ละวิชาที่จะหา

มารค ตามไท : คือสังเกตว่าหลายคนจะพูดคล้ายๆอย่างที่อาจารย์พูดเมื่อสักครู่นี้ว่า ความจริงของแต่ละสังคมอาจจะมีของมันเอง หรือ relative ในแง่นี้. แต่เสร็จแล้ว พอพูดถึงที่ที่เราอยากจะไป กลายเป็นมันเปิดกว้าง ไปที่ไหนก็ได้ เรามานั่งเลือกว่าไปไหนดี. ผมคิดว่า 2 อย่างนี้มันไม่ค่อยเข้ากัน ผมรู้สึกว่าเป็นการตั้งท่าทีที่ต่างกันใน 2 เรื่องคือ ถ้าทุกอย่างขึ้นอยู่กับที่เป็นอยู่ขณะนี้ แล้วมันต่างกัน มันก็อาจจะไปที่ที่ไม่ได้เหมือนกันจากจุดนี้

ไปในที่นี้คือ ไปโดย...ต้องใส่เงื่อนไขเพิ่มคือ ไปโดยราบรื่น. คือถ้าจะไปแบบทำให้ทุกอย่างพัง มันก็อาจจะได้ ก็เลยมีเงื่อนไขเพิ่มขึ้นอีกนิดหน่อย คือไปแบบราบรื่น. ผมคิดว่า มีความสัมพัทธ์อยู่ แต่ความคิดว่าทุกสังคมอาจจะในที่สุดไปที่เดียวกันได้ ไม่รู้นะ สำหรับผมรู้สึกว่ามันไม่เข้ากัน

อานันท์ กาญจนพันธุ์ : เท่าที่ฟังอาจารย์แล้ว ที่อาจารย์ได้ให้ 4 ท่าที กับของผมมันจะเข้ากันตรงไหน ? คือถ้าเผื่อเอาตาม range หรือภาพทั้งหมด ในเรื่องของการศึกษาหาความรู้ได้อย่างไร อะไรต่างๆ. พัฒนาการที่ผมแยกแยะตามที่ผมคิดนั้น มันมีอยู่ 3

อันแรกนี่ มันอาจจะตรงกับที่อาจารย์เสนอทั้ง 4 อันนี้ก็ได้คือ ในแง่ที่ว่า มนุษย์มันมีอะไรเหมือนกันหมด คือมี universal หรือ"สากล" หรือ Unity of Mankind เป็นลักษณะที่มองภาพมนุษย์มีอยู่ร่วมกันทั้งหมด ดังนั้น จึงมีอะไรที่เป็นสากล

แล้วก็ position ที่ 1 ของอาจารย์ก็คือว่า ความเป็นสากลนั้นอยู่นอกตัวเรา ดังนั้น มันก็มากำหนดหรือควบคุมอะไรต่างๆ. คือท่าทีแบบนี้ถ้าในภาษาปัจจุบันเขาใช้คำว่า existentialism หมายความว่า ยอมรับในสิ่งที่มันเป็นจริง. แต่ถ้าเป็น Postmodern มันปฏิเสธอันนี้แน่นอน คือ ปฏิเสธ existentialism.

ในทางสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา มันก็จะมี position ที่ 2... คือ อันนี้นี่มันมีบางคนเชื่อ Unity of Mankind แต่ตอนหลังไม่ค่อยเชื่อ หันเข้ามาหา cultural relativism คือลักษณะสัมพัทธ์ที่ว่า ต่างคนต่างก็มี logic ของตัวเอง มันไม่ได้มีอะไรเป็นสากลหรอก ต่างคนต่างก็มีวัฒนธรรมของตัวเอง จะเอาของคนนี้ไปวัดของคนนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในทางความเป็นจริง. อันนี้ก็เป็นอีก position หนึ่งของความคิดในทางสังคมศาสตร์

แต่ผมคิดว่า อันที่อาจจะเป็น Postmodern ที่คิด มันเป็นแบบที่ 3 นี้ แต่แบบที่ 3 นี้มันจะตรงกับของอาจารย์หรือเปล่า ก็ไม่แน่ใจ. มันคิดต่างกัน, 2 position แรกคือ Unity of Mankind หรือ cultural relativism ทั้ง 2 ตัวนี่ มันไม่ได้เห็นตัวมนุษย์ มนุษย์ไม่ได้สำคัญ ไอ้ที่สำคัญมันอยู่เหนือมนุษย์.

แต่ position ที่ 3 ของสังคมศาสตร์ ที่อาจจะเรียกได้ว่ามันใกล้ๆกับปรัชญา Postmodern นี่ ก็คือว่า "มันให้ความสำคัญกับตัวมนุษย์" คือ ไม่ใช่ความจริง, ไม่ใช่ความดี, ไม่ใช่อะไรอื่นที่พูดมา. ทั้งหมดมันคือ"ตัวมนุษย์".

ตัวมนุษย์นี้ทำไมจึงสำคัญ เพราะมันไม่ได้เกี่ยวข้องกับว่า มันมีความจริง ความดี หรืออะไรต่างๆที่ว่าไป ที่มนุษย์สำคัญก็เพราะว่ามันมี"ความคิด". มีความรู้สึกนึกคิด มันให้ความหมาย มันตีความ มันอธิบาย อะไรต่างๆ. ดังนั้น มันไม่ได้อยู่ที่อะไรที่มันเป็นสากล อยู่นอกเหนืออะไรต่างๆ. แต่มันอยู่ที่ว่า มนุษย์มันรู้จักคิด แล้วก็สร้างความคิด และมนุษย์ก็ไปเป็นทาสความคิดของมันเอง. อันนี้เป็นอีก position หนึ่งของแนวความคิดในทางสังคมศาสตร์

ดังนั้น ผมคิดว่ามันมีอยู่ด้วยกัน 3 อันนี้. คือคนไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจจะมีซ้อนๆกันอยู่ทั้ง 3 อันนี้ก็ได้ หรือเลือกอันใดอันหนึ่งก็ได้. แต่อันที่สามนี้มันกระเดียดไปในทางที่เป็น Postmodern มากที่สุด. แต่ผมคิดว่า position ที่ 4 ของอาจารย์มารคนะครับ มันเป็นพวก Postmodern สุดขั้ว. ใช่! แน่นอน, แต่ว่า Postmodern มันก็มี range ของมันอยู่ คือที่อาจารย์พยายามจะชี้ว่ามี T อะไรเยอะแยะนี้. แต่ผมคิดว่ามันมีลักษณะร่วมกันอยู่อันหนึ่งคือว่า มันให้ความสำคัญกับความคิดของคนในการที่จะตีความอะไรต่างๆ

การแยกแยะของผม ไม่รู้ว่ามันไปตรงอะไรกับของอาจารย์หรือเปล่า จึงอยากจะถามว่า ที่ผมแยกแยะอย่างนี้ มันเข้ากับ position อะไรของอาจารย์ตรงไหนหรือเปล่า ?

มารค ตามไท : คือทุก position ถ้ายิ่งพูดมาก เป็นท่าทีที่ 1 หมด. เพราะ position ที่ 1 คือ position ที่ว่า สามารถให้เหตุผลได้ คุยได้ ชี้แจงว่าอะไรสำคัญเป็นเพราะอะไร ? ถ้าเข้าแนวนี้มันจะค่อยๆถูกกลุ่มที่ 1 กลืน.

ท่าทีที่ 1 ซึ่งผมเสนอนี้มันหลากหลายมากในนั้น มันต่างกันเยอะ แต่มีเหมือนกันอย่างหนึ่ง คือ พอมองภาพไป สรุปเร็ว หรือพูดอะไรอย่างนี้คือท่าทีที่ 1 หมด. ผมถึงบอกว่าท่าทีที่ 4 อาจารย์พูดถูก เป็นท่าทีที่สุดขั้วไป. มีบางคนเขียน ที่ผมบอกว่ามีไม่ได้จริงๆ คนจะมาหยุดอันนี้จริงๆไม่ได้

อยากจะออกจาก 1 เท่าไหร่ ก็ยิ่งออกไม่ได้. ส่วนแบบที่ 2 คนที่มีท่าทีแบบนั้นเขาไม่พูดกัน เพราะกลุ้มใจ เพราะทำไม่ได้ อยากเข้าถึงแต่เข้าถึงไม่ได้. จริงๆแล้วมันคล้ายๆว่าน่าจะมีท่าทีแบบ 1 กับ 3 เท่านั้น. ท่าที่แบบที่ 3 คือพูด แต่ไม่สนใจว่า พูดขัดตัวองหรือเปล่า เพราะว่ามันไม่สำคัญไง. สิ่งที่เรียกว่า"จริง"มี แต่ไม่สำคัญ. พวกนี้มีเป้าหมายระยะสั้น และขอให้ไปถึง. มันเป็นวิธีการแก้ปัญหา คือ คราวนี้ใช้ได้ แต่คราวหน้าใช้ไม่ได้ก็ได้ ก็ลองไปเรื่อยๆ คือมันไม่มีอะไรตายตัว

อานันท์ กาญจนพันธุ์ : อาจารย์แน่ใจหรือว่า สิ่งที่ผมพูดมามันจะเข้ากับท่าทีที่ 1 ได้. เมื่อสักครู่ผมพูดไปยังพูดไม่หมดเพราะเรื่องมันเยอะ. Position ที่ 1 ถ้าเผื่ออาจารย์ตีความอย่างนั้นมันก็เข้าหมด แต่ผมคิดว่า position ที่ 1 มันหมายความว่ามีอะไรบางอย่างที่มันเป็นอย่างที่เรายอมรับ. ส่วน position ที่ 3 มันมีลักษณะแบบที่ไม่เชื่อว่ามีอะไรอยู่ตายตัวมาแต่แรก แล้วไม่เกี่ยวกับว่าจะเข้าไปหามันหรือไม่เข้าไปหามัน เพราะว่ามันจะจริงหรือไม่จริง เราไม่ได้สนใจมันอยู่แล้ว. มันเป็นเรื่องของ... ถ้าจะพูดอย่างรอร์ตีก็คือ เป็นเรื่องของ dialogue หรือเป็นเรื่องของปฏิสัมพันธ์ที่มันจะปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับบริบทที่มันเปลี่ยนแปลงไปต่างๆ

มารค ตามไท : เหตุที่ผมบอกว่าอาจจะเข้าเพราะว่า อาจารย์ไปพูดคำว่า"มนุษย์สำคัญ" เช่นคำพูดเหล่านี้ คือถ้าไม่พูด แต่คุยเฉยๆ ไม่เป็นไร. แต่ถ้ามาบอกว่ามนุษย์สำคัญเพราะคิดได้ แปลว่าต้องมีเหตุผลที่ว่าทำไมมนุษย์คิดได้ และต่างไปจากสิ่งมีชีวิตอย่างอื่น อันนี้มันเริ่มมีอะไรที่อยู่นอกเหนือฐานะของมนุษย์. ถ้าเชื่อว่ามีธรรมชาติของมนุษย์ อันนี้คือท่าทีที่ 1 แน่

อานันท์ กาญจนพันธุ์ : ที่ต้องพูดอย่างนี้มันเป็นด้านเดียว แต่การพูดอันนี้มันพูดขึ้นภายใต้การโต้แย้งอีกอันหนึ่ง ไม่ใช่หมายความว่า การพูดอันนี้ออกมาเป็น Absolute Truth. แต่ที่ต้องพูดเพราะพูดเพื่อที่จะแย้งกับอีกอันหนึ่งที่มี. คือเราไม่ได้พูดอะไรอันใดอันหนึ่งเป็นจุดเดียว แต่พูดในเชิงแย้งตลอด. ถ้าหากมีคนเสนอมาอย่างนี้ เราก็ต้องมีการแย้งมุมอย่างนี้ไปเรื่อยๆ. หมายความว่าเป็นลักษณะที่ไม่ได้ติดอยู่กับฐานะอันใดอันหนึ่งที่ตายตัว แต่เป็นลักษณะเชิงแย้ง เชิงวิพากษ์อะไรต่างๆ

มารค ตามไท : คือผมมองอย่างนี้ การเป็นผู้แสวงหาต้องอยู่ท่าทีที่ 1 ถึงแม้ว่าจะหาไม่พบก็ตาม. ถ้าแสวงหาอะไร แล้วรู้ข้อบกพร่องของวิธีที่เคยทำในอดีต แล้วลองมาเยอะแยะแล้วมันใช้ไม่ได้ แต่ยังหาต่อ สำหรับผมไปจัดอยู่ในท่าทีที่ 1 เพราะมีอะไรที่จะหา หรือเชื่อว่าเข้าถึงได้. แต่ถ้าไม่มีเป้าหมาย เพียงแต่อยู่ไปเฉยๆ แล้วก็มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน และมีเป้าหมายคือแสวงหาเล็กๆ ชั่วคราว และสิ่งนั้นเปลี่ยนได้ทุกวินาทีหรือทุกวัน แล้วแต่อันโน้นอันนี้ เป็นท่าทีที่ 3

คือผมไม่ค่อยทราบ อย่างที่เรียนไว้ตอนต้น บางทีผมไปพูดบางเรื่อง คนฟังก็รู้สึกว่า อ้าว! ไปเป็น Postmodernist ตั้งแต่เมื่อไหร่ ? ครั้งหนึ่ง ผมเคยไปอธิบายเรื่องความเข้าใจของผมเกี่ยวกับเรื่อง"สิทธิ" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่อง"สิทธิมนุษยชน" แล้วผมก็พยายามอธิบาย metaphysics ของสิทธิ. พอพูดเสร็จ คนฟังก็มาบอกผมว่าเป็น Postmodernist ผมก็ไม่รู้ตัวว่าเป็น. เพราะว่า ผมคิดว่ามันไม่มีสิ่งนี้ คนก็เลยคิดว่าจุดยืนอย่างนี้

ผู้เข้าร่วมสนทนา : ถ้าจะมองให้เป็นรูปธรรมอีกนิดหนึ่ง กำลังคิดว่า ถ้าคนในสังคมทั้งหมดซึ่งมีอยู่มี 4 ท่าทีทั้งหมด แล้วสมมุติว่า คนบางกลุ่มประมาณ 20 % เปิดเผยท่าทีของตนเองออกมาเป็นท่าทีที่ 1. แล้วถ้ามองว่ากลุ่มซึ่งมีท่าทีที่ 1 อยากจะปรับโฉมเรือลำที่อาจารย์พูดถึง อยากจะให้เรือนั้นมันอยู่ได้ และสามารถบรรทุกคนในสังคมให้มันอยู่ได้ตลอดรอดฝั่งจนถึงชั่วลูกชั่วหลาน. ก็มองว่า เรือนี้ถึงเวลาแล้วที่จะต้องเปลี่ยนโฉม แต่ว่าจะทำอย่างไรให้อีก 3 ท่าที ซึ่งมีอยู่ประมาณ 80 % นี่ เห็นคล้อยและยอมเปลี่ยนตาม จะช่วยกันเพื่อที่จะทำให้เรือนี้ไม่จม ผ่านกาลเวลาที่จะซ่อมปรับปรุงผ่านตรงนั้นไปได้.

อาจารย์คิดว่า กลุ่มท่าทีที่ 1 จะต้องทำอย่างไร เพื่อจะทำให้อีก 3 ท่าทีนี้เห็นด้วย. ซึ่งเมื่อสักครู่นี้ พออาจารย์อานันท์ พูดถึงว่า อาจารย์มองต่างออกไป. แต่อาจารย์มารคก็บอกว่า ถ้าพูดมากก็เป็นแบบที่ 1 หมด. ก็หมายความว่าใน 20 % ของท่าทีที่ 1 นี่ อาจจะประกอบไปด้วย ism ต่างๆมากมาย ซึ่งไม่ได้มองคล้อยตามกันไปหมด มีความเห็นที่แตกต่างหลากหลาย แล้วจะทำอย่างไรที่จะให้ 20 % ของท่าทีที่ 1 มีพลังที่จะสามารถ approach พวก 80 % ที่เหลือให้มาช่วยกันซ่อมเรือ มาปรับปรุงเรือให้มันอยู่ได้

มารค ตามไท : มันแปลกสำหรับคนที่มีท่าทีที่ 1 คือไม่ได้แปลว่าอยู่ท่าทีเดียวกันแล้วคุยกันง่าย เพราะว่าสิ่งที่ร่วมกันก็คือแค่ว่า"มีอะไร". แต่วิธีไปถึงมันต่าง ความขัดแย้งมันมักจะอยู่ในท่าทีที่ 1 นี้เยอะ เพราะว่าต่างก็เชื่อมั่นว่า"มี". มันก็เชื่อว่า อีกคนหนึ่งที่อยู่ท่าทีเดียวกัน แต่ว่าวิธีผิด ถึงแม้ว่าทั้งคู่จะเชื่อมั่นว่ากำลังหาความจริงอะไรอยู่. เพราะฉะนั้นในกลุ่มนี้ ถ้าดูในวงวิชาการเกือบทุกวง อยู่ในท่าทีอย่างนี้ ซึ่งส่วนใหญ่ขัดกัน. เพราะว่ามันมี และอยากจะออกนอกจุดยืนตัวเอง แล้วมันออกไม่ได้ เพราะมันกำลังยึดวิธีที่หนึ่งไง. แต่เชื่อว่ามี.

และคำถามนี้เป็นคำถามที่ดี แต่ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า ในสังคมมีท่าทีไหนอยู่กันอย่างสงบสุขได้ดีที่สุด. อย่างที่ผมบอก ท่าทีที่ 1 ตีกันพอสมควร เพราะความยึดมั่น. ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนใจได้ในแต่ละคน ขณะใดขณะหนึ่งกำลังยึดวิธีหนึ่ง ก็มี ism ต่างๆ. เพราะฉะนั้น ถ้าคำถามที่ว่า ถ้าเป้าหมายคืออยู่ร่วมกันยังไงให้อยู่กันอย่างเป็นสุข ควรจะมีท่าทีไหน ? สำหรับผมไม่ค่อยชัด. แต่ถึงแม้ว่า ใครมีความคิดว่าท่าทีอันนี้มันเข้ากันกับการอยู่ร่วมกันอย่างสันติดีที่สุด ก็ไม่ได้แก้ปัญหา เพราะผมว่ามันเปลี่ยนท่าทีไม่ได้

คือมันไม่มีวิธี หรือมีโครงการที่จะเปลี่ยนท่าทีคนในสังคม เช่น สังคมนี้อยู่กันอย่างสันติต้องท่าทีที่ ... ผมไม่กล้ายกตัวอย่าง เดี๋ยวจะหาว่าเชียร์อย่างนั้น สมมุติ 2,3,4 อะไรสักอย่าง. เสร็จแล้วเลยบอกว่า ดังนั้น ทำให้คนมีท่าทีอย่างนี้ ผมว่าในความคิดส่วนตัวทำไม่ได้. คนที่มีท่าทีอย่างไร มันเกิดจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเฉยๆ ตัวในที่นี้อาจจะคือชีวิตวิชาการ หลายคนซึ่งผ่านการวิพากษ์วิจารณ์จุดยืนของตัวเอง อย่างผมว่าตัวอย่างรอร์ตีนี่ดีที่สุด อยู่ดีๆวันหนึ่งตื่นขึ้นมาพบว่ามีอักท่าทีหนึ่ง โดยไม่ได้ตั้งใจเข้าสู่อันนั้น เลยไม่รู้ว่าในแง่ปฏิบัติจริงๆ มันจะไปมีเทคโนโลยีของท่าที คงทำได้ยาก

ผู้เข้าร่วมสนทนา : เรื่องของการไม่ยึดติดกับอะไรเลย... แล้วที่บอกว่า คนเรากลัวตาย ตายแล้วไม่รู้ว่าจะไปไหน ? ถ้าหากว่าเรายึดท่าทีที่ 4 นะคะ เราไม่ยึดติดอะไร มันจะไม่กลัว ไม่กลัวที่จะตาย เพราะว่าไม่มีตัวตน คิดว่าตายแล้วมันก็สูญ เหมือนกับขั้นนิพพาน อันนี้จะเป็นไปได้ไหมคะ

ผู้เข้าร่วมสนทนา : ท่าทีที่ 4 บอกว่า"ไม่มีความจริง" แล้วไม่มีอะไรที่มันอยู่นอกตัวเรา. ท่าทีที่ 4 เขาจะปฏิเสธ 1,2,3 ทั้งหมด. เรื่องของความว่างที่อาจารย์พูดถึง มันมี. ความว่างมันมี ทุกคนเข้าถึงได้ ถ้าคนเข้าไม่ถึงก็คือมันไม่มี แสดงว่ามีอยู่. เราไม่ปฏิเสธตรงนั้น แต่หลายคนอาจจะเข้าไม่ถึง เหมือนกับ"นิพพาน"อย่างนี้. หลายคนอาจจะมองว่า"นิพพาน"มันไกลเกินไป หลายคนเข้าไม่ถึง แต่ว่าจริงๆแล้ว "นิพพานมีอยู่" แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเข้าถึงได้ทุกคนหรือเข้าถึงความจริงตรงนั้น. อันนี้ถือว่าเป็นความจริงขั้นที่ 1 แล้วคนพยายามจะเข้าถึง. ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มี

ผู้เข้าร่วมสนทนา : ดิฉันไม่ค่อยแน่ใจว่า เราไม่สามารถเปลี่ยนท่าทีได้หรือคะ มันเป็นไปได้ไหมว่าในช่วงชีวิตของคนเรา บางครั้ง...หรือว่าส่วนใหญ่ ซึ่งเราคิดว่าคนส่วนใหญ่อยู่ในท่าทีที่ 1 แล้วส่วนใหญ่ในชีวิตของเราก็อยู่ในท่าทีที่ 1 คือมีความรู้สึกว่า มันมีอะไรอยู่ที่เราจะต้องแสวงหา ต้องสู้เพื่ออะไรบางอย่าง หรือทำเพื่ออะไรบางอย่าง แต่ว่าบางครั้งมันมีไหมที่เรารู้สึกเบื่อนะ ช่างหัวมัน มันจะมีหรือไม่มีนะ ไอ้ truth ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ตาม หรือว่า good เล็กหรือใหญ่ก็ตาม ก็ช่างมันเถอะ. ชั่วคราวนี่ เราอาจจะเปลี่ยนมาอยู่ท่าทีที่ 2 หรือ 3 หรืออะไรทำนองนี้ อาจจะเป็นไปได้หรือเปล่าคะ

มารค ตามไท : ที่ผมเสนอเมื่อกี๊ไม่ใช่ว่าคนเราเปลี่ยนไม่ได้. แต่เรามี mechanic ของการเปลี่ยนไม่ได้. เช่น ไปตั้งเป้าที่จะเปลี่ยน ทั้งตัวเองและทั้งคนอื่น ไม่ได้เป็นเรื่องการวางแผนการเปลี่ยนท่าที คือพอมันเกิด มันก็เกิด ด้วยอะไรไม่ทราบ แต่จะไปนั่งศึกษาวิธีทำให้คนเปลี่ยน ผมไม่แน่ใจว่าทำอย่างนี้ได้หรือเปล่า

อานันท์ กาญจนพันธุ์ : สิ่งที่อาจารย์พูดมาทั้งหมด 4 ท่าทีนั้น มันมีปัญหาสำหรับผม เพราะว่าทั้ง 4 positions ผมต้องปฏิเสธ รับไม่ได้ เพราะทั้งหมดนั้นมันคือวิธีคิดอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง. มันมาจากสมมุติฐานที่ว่า มันมีอะไรที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของมนุษย์. หมายถึงว่ามันเป็น independence หรือเป็นอิสระ, เราไม่สามารถจะไปควบคุมหรือจัดการให้มันเปลี่ยนไปตาม หรือไม่มีเครื่องมือใดๆที่จะไปเลือกได้ว่า จะเลือกท่าที 1,2,3,4 มันเลือกไม่ได้. แสดงว่าทั้ง 4 ท่าทีนี่ มันอยู่นอกเหนือการควบคุมของจิตสำนึกของมนุษย์.

Assumption อันนี้ที่อาจารย์วางนี่ ผมไม่เห็นด้วย ผมคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าแม้แต่การคิดท่าที มันก็มาจากความคิดของมนุษย์ทั้งหมด ดังนั้น ความคิดทั้ง 4 ท่าที ก็มาจากสมอง มาจากการสร้าง เป็น construct หนึ่งเท่านั้น. ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่ว่ามนุษย์จะควบคุมมันไม่ได้ เพียงแต่ว่า ... หมายความว่า มันอยู่ที่เรื่องของความสัมพันธ์เชิงอำนาจ

มารค ตามไท : คือสิ่งที่อาจารย์พูด มันสอดคล้องกับสิ่งที่ผมพูดตอนต้น คืออย่างนี้ คนที่มีท่าทีที่ 4 พูดอย่างวันนี้ไม่ได้. เหตุที่ผมเสนออย่างนี้ได้เพราะผมมีท่าทีที่ 1 ไง. ผมจึงบอกว่า การที่จะอธิบาย จริงๆบางครั้ง มีบางทัศนะ เช่น Postmodernism ผมคิดว่า คนข้างนอกอธิบายได้ อาจจะดีกว่า, เพราะ คนข้างในมันถูกจำกัดมากเกินไป. มันอธิบายไม่ได้ ประเด็นของผมคือว่า ไปยืนอะไรมากเกินไปไม่ได้. ถ้ามี Stance หนึ่งเกิดขึ้น หลังจากอื่นๆหายไป แล้วเรามาอธิบายสิ่งนั้น ทำไม่ได้. สิ่งเดียวที่ทำได้คือแสดงให้ดู. เพราะฉะนั้น พวก Postmodernism ที่ผมพอเข้าใจคือพวกแสดงให้ดู ไม่ใช่พวกอธิบาย. คือพวกอธิบายมันลำบาก พอพูดมากมันจะเข้าไปอยู่ในแบบท่าทีที่ 1

... ผมไม่แปลกใจสำหรับงานทางด้านสถาปัตยกรรม Postmodern สื่อสารได้ดีกว่างานทางด้านปรัชญาแนว Postmodernism. แล้วก็มันรวมไปถึง, ไม่ใช่แค่ทางด้านปรัชญา, ทางด้านวิชาการต่างๆที่เป็นลักษณะที่ในอดีต เป็นการหาความรู้ในเรื่องต่างๆนาๆ ทัศนะนี้มันเป็นฐานของสิ่งนี้ได้หรือไม่ ของวิชาการสาขาประเภทอย่างนี้ อันนี้เป็นคำถามที่ผมไม่ชัด. แต่พอออกมาแนวอื่น มันชัดขึ้นหน่อย นั่นคือ ในแนวทางด้านศิลปะ หรือทางด้านอะไรพวกนี้

ผู้เข้าร่วมสนทนา : ปรัชญา Postmodern เท่าที่ฟังมาแล้ว คำถามก็คือว่า มันพอจะเป็นทฤษฎีที่เป็นลูกหลานของปรัชญานี้ไหม ? ถ้ามีทฤษฎีที่มารองรับ ทฤษฎีเหล่านี้ไปอธิบายความไม่เป็นธรรมในสังคมได้อย่างไรบ้าง ?

มารค ตามไท : ทฤษฎีที่เป็นลูกหลานที่ตามมา ตามความเข้าใจของผม มีไม่ได้แน่. ผมคิดว่ามีไม่ได้ ก็เพราะ ถ้ามี มันกำลังเป็นอย่างอื่น. คือมันเป็นท่าทีหนึ่งที่ไม่มี, คือไม่คิดว่าไปหากฎเกณฑ์อะไรมากำหนดอะไร แล้วดังนั้นจะมีทฤษฎีเบื้องหลังได้อย่างไรที่จะมา defence ว่าอันนี้ถูกต้อง หรือเหมาะสมกับการจะพาสังคมไปให้รอด คือไม่รู้ว่ามันจะ defence บนพื้นฐานอะไรไม่รู้ทั้งสิ้น ถ้าไม่กลายเป็นอย่างอื่น ก็คือกลายเป็นสิ่งที่กำลังวิพากษ์วิจารณ์อยู่

ผู้เข้าร่วมสนทนา : ขออนุญาตถามคำถามแก้อาการงง ก่อนออกจากห้องสักนิดหนึ่งนะคะ คือฟังๆดูแล้ว ถ้าท้ายที่สุด ปรัชญา Postmodernism จะมีนัยะสำคัญอย่างไรในการศึกษาทางด้านสังคมศาสตร์คะ

อาจารย์ท่านหนึ่ง : ขออนุญาตตอบคำถามนี้ว่า ...อันที่จริงอาจจะเป็นคนสร้าง แล้วก็เลยอาจต้องรับผิดชอบแล้วกัน. คำว่า Postmodernism ตามที่อาจารย์มารค บรรยายให้เราฟังในวันนี้ ก็คือ ก็ไม่แน่ใจว่าจะใส่ ism ไปได้หรือเปล่า แต่คิดว่าน่าจะใส่ได้ เพราะว่ามันเป็นการปฏิเสธสภาวะอะไรต่างๆ. แต่ว่ามันมีอีกคำหนึ่งเวลาคนเขาใช้คำว่า Postmodernism ก็คือ Postmodernity หรืออะไรที่มาจากหลัง Social Economic Construction คือหลังยุคอุตสาหกรรม หรือหลังยุคปัจจุบันที่เราอยู่นี่. บางครั้งมีคนเรียกยุคที่เราอยู่ในปัจจุบันนี้ว่า เป็น Postmodernity หรือว่า Postmodernism แต่ว่าเราควรจะต้องแยกจากวิธีคิด หรือว่ามุมมองอีกอันหนึ่ง ซึ่งพยายามจะนำเสนอท่าทีในการมองโลกในอีกอย่างหรืออีกมุมมองหนึ่ง

อภิญญา เฟื่องฟูสกุล : ฟังอาจารย์มารค พูดแล้วเหมือนกับว่า พวกที่เชื่อถือตัวเองเป็น PM หรือ Postmodernism นี้เป็นเด็กเกเร เกะกะหรือว่าจะคอยขัดขาเขาไปอย่างนั้นหรือเปล่า. สมมุติว่า ถ้าหากว่าไม่มีป้ายแขวนคอของตัวเองว่าเป็น ism อะไรๆ เพียงแต่บอกว่าบางเขตของพวกเขา เป็นพวกที่ขี้สงสัยและกลัวถูกหรอก กลัวถูกหลอกให้ติดอยู่ในคุกของท่าทีที่ 1 ก็เพียงแต่อยากจะตั้งคำถาม แล้วก็รื้ออะไรก็ตามที่พวกท่าทีที่ 1 สถาปนาขึ้นมา เป็นสิ่งที่ตั้งมั่น. เพราะฉะนั้น เราจะบอกได้ไหมว่ามันมี contribution ของพวกขี้สงสัยนี้อยู่ เพื่อจะกันไม่ให้คนหลายๆคนถูกหลอก. อย่างนี้ได้ไหมคะอาจารย์

มารค ตามไท : ผมคิดว่า คนที่เรียกสิ่งนี้ว่า Postmodernism ส่วนมากคือคนที่ไม่ใช่ในกลุ่มนี้ คือคนอื่นเขียนหนังสืออะไรอย่างนี้. ผมว่ามันไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญที่หนังสือคู่มือของที่ Lyotard เขียน เขาเรียกว่า condition อย่างน้อยแปลเป็นภาษาอังกฤษนะครับ, Postmodern condition มันไม่ใช่กำลังสนับสนุนอีกวิธีหนึ่งที่จะเข้าสู่ความจริง ไม่ใช่ในแง่นั้น. ทีนี้ในแง่ contribution จริงอยู่ contribution อาจจะมาจากการวิพากษ์วิจารณ์อะไรอย่างนี้นะครับ แต่การวิพากษ์วิจารณ์ที่ดีที่สุดของท่าทีที่ 1 มาจากคนในท่าทีที่ 1 เอง. ไม่ใช่มาจากกลุ่มนี้.

กลุ่มนี้คือกลุ่มซึ่งไปติดตามคำวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ต่อท่าทีที่ 1 ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์กันเองส่วนใหญ่. ข้อวิพากษ์วิจารณ์มาจากคนในนั้นเอง แต่เสร็จแล้ว พอเห็นแล้ว ก็เลยเกิด condition หรือท่าทีนี้ขึ้นมา. ที่ผมอ่านข้อวิพากษ์วิจารณ์ ถึงแม้มีคนพยายามเขียนบ้างจากกลุ่มนี้ แต่มันก็ไม่หนักแน่นเท่ากับคนในกลุ่มที่ 1 วิพากษ์วิจารณ์กันเอง เพียงแต่จริงอยู่ บางครั้งมีคนไม่ค่อยยอมวิจารณ์ตัวเอง แต่ว่าอันนั้นไม่ใช่เป็นส่วนใหญ่

ผู้เข้าร่วมสนทนา : ผมอยากจะแสดงความประทับใจหรือความรู้สึกของผมต่อ Postmodernism ตามที่ฟังมา คือผมจะเปรียบเทียบว่า PM หรือ Postmodernism นี่ ก็ปฏิเสธ ism ทั้งหลายทั้งหมด ก็เท่ากับปฏิเสธทางเดินทั้งสิ้น ทีนี้ถ้าปฏิเสธทางเดินทั้งสิ้น แล้วคุณทำอะไร ? จะนั่งอยู่เฉยๆหรือจะอะไร. เพราะฉะนั้น ถ้ามองในแง่ของนักวิชาการ คุณจะทำอะไรดีล่ะ! ได้แต่วิจารณ์เส้นทางต่างๆแล้วคุณนั่งอยู่เฉยๆ หรือว่าคุณจะ... ถ้าคุณสร้างเส้นทางใหม่ คุณก็ไม่ใช่แนวนี้อีกต่อไป. เพราะฉะนั้นผมก็เลยยังงงๆอยู่ว่า ผลสุดท้ายแล้ว มันเหมือนกับว่าเราไปเที่ยวทำลายตึกรามบ้านช่อง หรืออะไรที่เขาสร้างขึ้นมาทั้งหมด แล้วคุณก็ไม่ได้สร้างอะไรทั้งสิ้น จึงไม่รู้ว่าจะนำเราไปสู่จุดไหนนะ PM.

มารค ตามไท : ขอพูดอีกครั้ง เพราะค่อนข้างสำคัญ. Postmodern thought ไม่เคยทำลายอะไรที่พวกนั้นไม่ได้ทำลายเองก่อน. ทุกอย่างที่อยู่บนพื้นฐานของงานของคนนี้ คือคนในวงการ. ถ้าไม่ใช่ Hume, Kuhn หรือใครก็ตาม เป็นคนในท่าทีที่ 1 หมด ทำลายกันเอง โดยเชื่อว่าการวิพากษ์วิจารณ์นี่มันอาจจะหาอย่างอื่นได้.

ผมไม่เคยอ่านผลของการวิเคราะห์ หรืออะไรของคนอีกกลุ่มที่หนักแน่น เท่ากับที่เขาวิพากษ์วิจารณ์กันเอง. และไม่แปลก เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าการวิพากษ์วิจารณ์ต้องอยู่บนพื้นฐานอะไรบางอย่างไง. ผมถึงมองคล้ายๆเป็นสิ่งที่เหลือหลังจากประทับใจในสิ่งที่คนอื่นวิพากษ์กันเอง ก็เลยไม่อยากกระโดดเข้าไปอยู่ด้วย หรือถอยออก หรืออะไร ? มันเป็นลักษณะนั้นมากกว่า.

แต่มันก็อาจจะมีวิธีการดำเนินชีวิตในสังคมแบบอื่นได้... อย่างแบบที่ 3 คือ มันอาจจะหลงมาตลอด คิดว่าความจริงสำคัญ อันที่จริง มันก็อาจจะเหมือนกับอิ่ม เราก็อยากจะอิ่มเวลาเรากิน แต่ว่าไม่ใช่"อิ่ม"สำคัญที่สุด. แล้วอันนี้มันก็ดูเหมือนกับ"อิ่ม". คือรู้"ความจริง", รู้ความจริงก็ดีเหมือนกัน แต่ไม่รู้ก็ไม่เป็นไร

ส่งท้าย

ก่อนจะจบ ขอประชาสัมพันธ์เอาไว้นิดหนึ่ง. เราจะมีการบรรยายพิเศษแบบนี้ อาจจะรู้เรื่องน้อยกว่านี้อีกก็ได้ อีก 4 ครั้งในภาคการศึกษานี้ คือ ศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2540 จะมีการบรรยายโดย อ.อู่ทอง โควินทะ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชื่อ "จริยธรรมแห่งความต่าง" (Ethics of Sexual Difference). พฤหัสที่ 31 กรกฎาคม 2540 เป็นหัวข้อเรื่อง "วรรณกรรมกับอุดมการณ์การวิเคราะห์" อ.นพพร ประชากุล กับ อ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์. ศุกร์ที่ 1 สิงหาคม 2540 หัวข้อเรื่อง "สามเหลี่ยมแห่งเวลา และประเด็นว่าด้วยเรื่องอาหาร" โดย อ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. และศุกร์ที่ 19 กันยายน 2540 เรื่อง "สุนทรีย์ของชาวบ้าน" โดย อ.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล. ขอเชิญมาร่วมเสวนากันตามรายการที่บอกนะครับ

วันนี้ในนามของภาควิชาสังคมวิทยา มานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ต้องขอขอบพระคุณ อ.มารค ตามไท ที่มาช่วยแสดงท่าทีหลายๆอย่างให้เราฟังเกี่ยวกับแง่มุม"ความจริง" แล้วขอขอบคุณทุกท่านที่ร่วมถามคำถามและแสดงทัศนะ
ขอบคุณครับ

 

กลับไปหน้าแรกของบทความนี้

กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

แสดงความคิดเห็นที่กระดานข่าว

 

พบกับบทความถอดเทปเรื่อง" 4 ท่าที่ที่มีต่อความจริง : รากฐานปรัชญาหลังสมัยใหม่"่ เพื่อนักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน ที่กำลังศึกษาปรัชญาหลังสมัยใหม่ในเชิงลึก

อาจารย์มารค ตามไท ได้พูดถึง รากฐานเกี่ยวกับความจริง 4 ประเภท ที่ผู้คนยึดถือ และนักคิดหลังสมัยใหม่ มองความจริงอย่างไร ?

สาระสำคัญในที่นี้ก็คือ การนำเสนอเรื่องดังกล่าว เป็นการนำเสนอในที่ประชุมของนักสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มช. ซึ่ง อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ และ อาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล ร่วมสนทนาด้วย

บันทึกเทปโดย"โครงการสนทนาปัญหาศิลปะ ปรัชญา และวิทยาาสตร์ " คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - มอบให้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อเป็นวิทยาทานสำหรับการศึกษาไทย

เกริ่นนำ

สำหรับรายการในวันนี้(20 มิถุนายน 2540) ถือว่าเป็นการจัดให้มีการบรรยายกันขึ้นมาเป็นครั้งแรกของภาควิชาสังคมวิทยา มานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันนี้เราได้รับเกียรติจาก อ.มารค ตามไท มาบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับ "พื้นฐานทางปรัชญาของ Postmodernism" อาจารย์เป็นที่รู้จักกันในแวดวงสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์, สอนปรัชญาอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ หลายคนคงไม่ทราบนะครับว่า อาจารย์เคยเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนปริ๊นสโรเยลที่เชียงใหม่มาก่อน

สิ่งที่เราสนใจในการจัดให้มีการบรรยายเช่นวันนี้ เราพยายามที่จะให้มีการพูดคุยกันข้ามสาขาวิชา พยายามที่จะให้เกิด dialogue ที่กว้างขวาง ไม่ใช่เป็นเรื่องของสาขาวิชาใดสาขาหนึ่งโดยเฉพาะ

ในบ้านเราเอง Postmodern มีคนพูดถึงกันเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางสังคมศาสตร์ หาคนเข้าใจจริงๆได้ไม่ค่อยมากนัก หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า เวลาพูดถึง Postmodern เรากำลังพูดถึงการละลาย field หรือละลาย disciplines ตามที่เคยมีมา. แต่สิ่งที่มีนัยะสำคัญกว่าการทำความเข้าใจ Postmodern ก็คือ เรื่องของการตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ทางสังคมที่มันเกิดขึ้น ... วันนี้เป็นโอกาสที่เราจะทำความเข้าใจกับพื้นฐานของแนวคิดแบบ Postmodern... เพื่อไม่ให้เสียเวลา ผมขอเรียนเชิญท่านอาจารย์ มารค ตามไท เลยครับ

มารค ตามไท (ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย)
1
go to
สี่ท่าทีที่มีต่อความจริง : รากฐานทางปรัชญาหลังสมัยใหม่ / ตอนที่ 2 ช่วงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น (หากภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาด font ลง)
ตอนที่ 2 ความยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4
B
back