มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ


บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 441 หัวเรื่อง
ชาติ ชาติไทย เอกลักษณ์แห่งชาติ
ดร. เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาธรรมศาสตร์

 

R
relate topic
250847
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบเรื่องพิเศษบริการฟรีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
H
เรื่องของชาติ ชาติไทย เอกลักษณ์แห่งชาติ และความเป็นไทย ที่ควรได้รับการตรวจสอบ
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
คลิกไปหน้า homepage มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

เรื่องของความเป็นไทยที่ไม่ใช่สยาม
ชาติ-ชาตินิยม-เอกลักษณ์แห่งชาติ-ความเป็นไทย
ดร. เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4)

บทความ ๓ เรื่อง ซึ่งเคยตีพิมพ์แล้วในหน้าหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน
ประกอบด้วย ๑. อาการความเป็นไทยกำเริบ, ๒.
คำถามความเป็นไทย (ภาคต้น), ๓. คำถามความเป็นไทย (ภาคจบ)
นำมารวบรวมเพื่อการค้นคว้าทางวิชาการบนเว็ป ม.เที่ยงคืน วันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๔๗



เรื่องที่หนึ่ง "อาการความเป็นไทยกำเริบ"
แล้วลุงไมค์ที่รักของผมก็โดนตีเข้าจนได้, แหะๆๆ

ง่า...ผมหมายถึงข่าวผู้นำท้องถิ่น ประชาชน นักเรียน และนักศึกษาแห่งเครือข่ายชุมชนลูกพ่อขุนรามฯ 5,000 กว่าคน จัดชุมนุมหน้าพระบรมรูปอนุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เพื่อประท้วงคุณลุงไมเคิล ไรท ผู้มีนามกรไทยที่ท่านตั้งเองว่า "เมฆ มณีวาจา" นักวิชาการอิสระ ที่ปรึกษานิตยสารศิลปวัฒนธรรม และอาจารย์ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่บังอาจออกมาเสนอว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 ไม่ได้สร้างสมัยพ่อขุนรามคำแหงปกครองกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี หากสร้างขึ้นสดๆ ร้อนๆ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง (มติชนรายวัน, 13 ก.ค. 2547, น.14)

ผมนึกตะงิดๆ อยู่ในใจแล้วเจียวว่า ลองลุงไมค์ อาจารย์พิริยะ และนักประวัติศาสตร์ไทยสกุล "ข้าไม่เชื่อ" ทั้งหลายไปเขย่าเย้าแหย่เสาหลักความเป็นไทยเข้าบ่อยๆ ทีละเสาสองเสา อาทิ เดี๋ยวก็กังขาว่าคุณหญิงโมมีตัวตนตนจริงหรือเปล่า? เดี๋ยวก็ปุจฉาว่ากำหนดวันเฉลิมกองทัพไทยคลาดเคลื่อนจากวันกระทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรฯไปหรือไม่? หรือก่อสร้างอนุสรณ์ดอนเจดีย์ ผิดจากสถานที่กระทำยุทธหัตถีไกลแค่ไหน? ฯลฯ แบบนี้เดี๋ยวก็มีเรื่องจนได้

คล้ายๆ กับว่า ใจคอพ่อเจ้าประคุณทั้งหลายจะไม่เหลือเสาหลักความเป็นไทยไว้ให้ไพร่ฟ้าหน้าใสเอนหลังพิงสักต้นเลยหรือ? เล่นตั้งข้อสงสัยกันไปหมดแบบเนี้ย, แหม...มันน่าหยิกนัก และพออ่านคำตัดพ้อต่อว่าลุงไมค์และอาจารย์พิริยะ ของกลุ่มแกนนำเครือข่ายชุมชนลูกพ่อขุนรามฯ แล้ว ผมพลันนึกถึงคำตัดพ้อต่อว่าอาจารย์สายพิน แก้วงามประเสริฐ ของกลุ่มแกนนำลูกย่าโมชาวโคราช กรณีวิทยานิพนธ์ที่จัดพิมพ์เป็นหนังสือของท่าน เรื่อง การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุนารี (2538) ขึ้นมาทันที เพราะมันมีอะไรบางอย่างละม้ายคล้ายเหมือนกันราวฝาแฝดนะครับ ขอให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณาเปรียบเทียบเนื้อข่าวต่อไปนี้ดู :-

ข่าวประท้วงกรณีศิลาจารึกหลักที่ 1
กลุ่มแกนนำต่างๆ อาทิ นายมนู นายจำเจน จิตธร ส.ว.สุโขทัย นายสมศักดิ์ คำทองคง ประธานคณะทำงานองค์กรเครือข่ายชุมชนลูกพ่อขุนราม และหัวหน้าแกนนำองค์กรเครือข่ายชุมชนลูกพ่อขุนรามทั้ง 9 อำเภอของสุโขทัย ผลัดกันขึ้นกล่าวโจมตีผู้ที่คิดว่าหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 พ่อขุนราม เป็นของปลอมนั้น เป็นการสร้างความแตกแยกให้กับคนไทย แบ่งออกเป็นสองฝ่าย เพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง ขอเรียกร้องเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจับตามอง

"ขอฝากผ่านสื่อไปถาม ดร.พิริยะ ว่าเป็นคนไทยหรือเปล่า ที่อาศัยอยู่ในปัจจุบันไม่ใช่เพราะอานุภาพของพ่อขุนรามหรือที่เป็นผู้สร้างสุโขทัยเป็นราชาธานี จนมีประเทศไทยถึงทุกวันนี้ และที่ผ่านมา ดร.พิริยะได้เรียนหนังสือซึ่งก็เป็นตัวอักษรที่พ่อขุนรามประดิษฐ์ขึ้นมา จนมีงานเลี้ยงครอบครัวและมีหน้ามีตาในสังคมไทย ก็ไม่ใช่หนังสือของพ่อขุนรามหรอกหรือ การชุมนุมครั้งนี้เพื่อเตือนกลุ่มนักวิชาการ แต่หากยังออกมาวิพากษ์วิจารณ์ว่าหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 พ่อขุนรามฯปลอมอีก ก็จะเคลื่อนไหวครั้งใหญ่และคงจะไม่หยุดอยู่เท่านี้" แกนนำผู้หนึ่งกล่าว

ก่อนสลายการชุมนุม กลุ่มพลังมวลชนได้ร่วมประกอบพิธีเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งผู้ที่ออกมาระบุว่าศิลาจารึกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยมีพระครูวิจิตรธรรมนิเทศก์ ประธานศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนา จ.สุโขทัย เป็นผู้ทำพิธีสวดยับสาปแช่ง พร้อมทั้งนำแผ่นป้ายข้อความต่างๆ เผาพร้อมกับพริกและเกลือด้วย (มติชนรายวัน, 13 ก.ค. 2547, น.14)

ข่าวประท้วงกรณีย่าโม

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่ จ.นครราชสีมา ได้มีตัวแทนกลุ่มพลังต่างๆ ใน จ.นครราชสีมา มาร่วมประชุมกันที่โรงแรมศรีพัฒนา อ.เมือง จ.นครราชสีมา เพื่อแสดงความไม่พอใจ และกำหนดมาตรการในการเคลื่อนไหวต่อต้านหนังสือเล่มดังกล่าว(การเมืองในอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี) กันอย่างคับคั่งเต็มห้องประชุม เช่น อธิการบดีสถาบันราชภัฏนครราชสีมา หัวหน้าสำนักงานจังหวัดที่มีท่านผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรีเทศบาลนครราชสีมา สมาชิกสภาเทศบาล ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านนครราชสีมา.....

นายบวร รีวิไลลักษณ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครราชสีมากล่าวว่า..."ที่ผมอ้างอิงได้และทราบว่าเหลนของคุณย่ายังอยู่ ผมพูดในนามที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ผมว่าที่ทำวิทยานิพนธ์ผู้นี้ หมิ่นในหลวงรัชกาลที่ 3 ลงมาจนถึงรัชกาลที่ 5 ส่วนตัวนั้นผมเชื่อว่าหมิ่น ผมพร้อมที่จะต่อต้านทุกสิ่งทุกอย่างที่มาทำลายล้างความเชื่อถือ ฉะนั้นใครที่คิดไม่ดีกับย่าโม ผมว่าภัยพิบัติจะเกิดขึ้นกับเขาเอง ผมไม่ทราบว่าบุคคลที่ชื่อว่าสายพิน แก้วงามประเสริฐ เป็นคนลาวหรือเปล่า อาจจะเป็นคนลาวมาแล้วก็ทำลายความเชื่อถือ ผมไม่ได้ดูถูกผู้ทำวิทยานิพนธ์ แต่ถ้าเจอผมจะถามว่าเป็นคนลาวหรือเปล่า" (แนวหน้า, 24 ก.พ.2539, น.10)

นายชาติ กมลวัฒน์ สมาชิกเทศบาลนครราชสีมา ได้กล่าวว่า...เราคิดกันว่าจะทำการรวบรวมหนังสือทั้งหมด โดยเชิญกำนันผู้ใหญ่บ้าน 24 ตำบล 33 ชุมชน มาทำพิธีเผาร่วมกัน....ตนหารือกับกำนันผู้ใหญ่บ้านแล้ว ในการควบคุมพลังของชาวบ้านในการรวมตัวกันไปยังศาลากลางจังหวัด และกราบไหว้ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง...และสิ้นสุดที่อนุสาวรีย์(ย่าโม) เพื่อวางหรีดให้แก่ น.ส.สายพิน พร้อมเผาพริกและเกลือ กระทำพิธีสาปแช่ง... (แนวหน้า, 26 ก.พ. 2539, น.10)

มีแบบอย่างถ้อยคำและแบบแผนพิธีกรรมบางอย่างในสองกรณีนี้ที่ละม้ายเหมือนกันจนไม่น่าเป็นแค่เรื่องบังเอิญ และอาจจะสะท้อนลักษณะร่วมทางวจีกรรมและกายกรรมของอาการทางวัฒนธรรมที่กำเริบปะทุขึ้น เมื่อเอกลักษณ์ "ความเป็นไทย" ของคนไทยถูกกระทบกระแทก เสมือนมีใครไปกดปุ่ม "ความเป็นไทย" ที่มองไม่เห็นกลางหลังเข้า คนไทยก็จะสำแดงอาการแบบฉบับทำนองนั้นออกมา

อนึ่ง มีข้อน่าสังเกตบางประการเกี่ยวกับทีทรรศน์ของแกนนำเครือข่ายชุมชนลูกพ่อขุนรามและลูกย่าโมดังนี้ :-

1) ดูเหมือนในทรรศนะของแกนนำเครือข่ายชุมชนลูกพ่อขุนราม การที่คนไทยแตกแยก แบ่งออกเป็นสองฝ่าย เป็นภาวะที่ไม่พึงปรารถนาและไม่ปกติของสังคมไทย หรือพูดกลับกันก็คือ ในทรรศนะของท่าน ภาวะที่พึงปรารถนาและเป็นปกติของสังคมไทย คือการที่คนไทยกลมเกลียวเหนียวแน่นเป็นปึกแผ่นกัน รู้รักสามัคคีกันนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนภาวะกลมเกลียวเหนียวแน่นเป็นปึกแผ่นและรู้รักสามัคคีของคนไทยนั้นออกจะค่อนข้างเปราะบางมาก เพราะลำพังเพียงข้อพิพาทโต้แย้งในวงวิชาการเล็กๆ เรื่องศิลาจารึกหลักที่ 1 ก็รุนแรงพอจะปลุกปั่นให้คนไทยทั้งสังคมถึงแก่แตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันเองเสียแล้ว ดูท่ากาวใจความเป็นไทยที่เชื่อมร้อยคนไทยให้เป็นปึกแผ่นกันนั้น อาจจะไม่ค่อยเหนียวสนิทติดแน่นสักเท่าไหร่ในทางเป็นจริง

2) ทั้งแกนนำเครือข่ายชุมชนลูกพ่อขุนรามและแกนนำลูกย่าโม พูดเน้นย้ำเรื่องเชื้อชาติของคู่กรณีที่เป็นปัญหา(คุณสายพินและอาจารย์พิริยะ)ตลอดเวลา ว่าเป็นคนไทยหรือเปล่า? หรือในทางกลับกัน เป็นคนลาว-ซึ่งก็คือ "ไม่ไทย"-หรือเปล่า?

อย่างไรก็ตาม หากพินิจพิจารณาโดยละเอียดลออ ไม่หยาบง่าย สุกเอาเผากินทางแนวคิดวิเคราะห์ จะพบว่า ประเด็นที่เป็นข้อพิพาทบาดหมาง ทำให้เชื้อชาติของคู่กรณีถูกลำเลิกหยิบยกขึ้นมาตั้งข้อสงสัยนั้น ไม่ใช่เรื่องเชื้อชาติเลย หากเป็นเรื่องความคิดความเชื่อต่างหาก ข้อขัดแย้งตัวจริงไม่เกี่ยวกับยีนส์หรือดีเอ็นเอของคุณสายพินหรืออาจารย์พิริยะ หากเกี่ยวกับข้อสรุปของคุณสายพิน เรื่องตัวตนของย่าโมในประวัติศาสตร์ และข้อสันนิษฐานของอาจารย์พิริยะ เรื่องกำเนิดศิลาจารึกหลักที่ 1 ต่างหาก

น่าแปลกดีที่ภาษาการเมืองวัฒนธรรมของสังคมไทยมีลักษณะสองด้านที่แยกแย้งกันเอง นั่นคือ ฟังๆ ดูคล้ายกับจะพร่ำพูดเรื่องเชื้อชาติตลอดเวลา แต่เอาเข้าจริงมันกลับมิได้หมายถึงหรือมิได้เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติเลย หากเป็นเรื่องความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ วัฒนธรรมที่ "ผิดๆ" "แหกคอก" "นอกกรอบ นอกลู่ นอกทาง" "ทวนกระแส" เท่านั้นเอง

ในการเมืองวัฒนธรรมไทย ผู้ที่มีความคิดความเชื่อทำนองนี้ จะถูกตั้งข้อสงสัยและกล่าวหาอย่างแทบอัตโนมัติทันทีว่า = ไม่ใช่คนไทย แต่เป็นลาว หรือเจ๊ก หรือญวน หรือแขก หรือ ฯลฯลฯลฯ มิไยว่าเอาเข้าจริงเชื้อชาติหรือยีนส์หรือดีเอ็นเอของบุคคลผู้นั้นจะเป็นไทยหรือไม่ก็ตาม

เป็นแบบนี้มาตลอด ตั้งแต่พิริยะ ไกรฤกษ์, สายพิน แก้วงามประเสริฐ ย้อนกลับไปได้ถึงเหยื่อการสังหารโหด 6 ตุลาฯ, เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, เกรียงกมล เลาหไพโรจน์, สุธรรม แสงประทุม, เอ็นจีโอ, สมัชชาคนจน, นายแพทย์ประดิษฐ์ เจริญไทยทวี, ชัยวัฒน์ สถาอานันท์, อานันท์ ปันยารชุน, สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ป๋วย อึ๊งภากรณ์, ปรีดี พนมยงค์, รวม วงษ์พันธ์ และเปี๊ยะ โต หรือจูโซ่วลิ้ม

การที่แค่คิดต่างก็กลายเป็น "ไม่ไทย" แล้วเช่นนี้ ทำให้ด้านหลักโดยรวมแล้วบุคลิกลักษณะของอุดมการณ์รัฐไทยไม่ใช่เชื้อชาตินิยม(racism) อย่างที่หลงทึกทักกล่าวอ้างกันอย่างฉาบฉวยตื้นเขิน แต่เป็นอุดมการณ์ชาติพันธุ์ไทย(the ethno-ideoloty of Thainess) หรือการฉวยใช้คำเรียกทางเชื้อชาติหรือชาติพันธุ์มาเป็นป้ายยี่ห้อแขวนคอผู้เห็นต่าง เพื่อกล่าวหาโจมตีตราหน้าทำร้ายกันทางการเมืองต่างหาก โดยที่เอาเข้าจริงและพูดให้ถึงที่สุดแล้ว เป้าโจมตีจะมีเชื้อชาติไทยหรือไม่-ก็ไม่สำคัญ

3) กระบวนการวิพากษ์โจมตีจะเริ่มจากการ "นับญาติ" ก่อนนกรณีนี้คือนับญาติอาจารย์พิริยะกับภาษาไทยและชาติไทย ผ่านพ่อขุนรามคำแหง ในฐานะผู้ประดิษฐ์อักษรไทยและสร้างกรุงสุโขทัยขึ้น จนคนไทยมีภาษาไทยใช้และมีชาติไทยอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้ เพื่อนำไปสู่ข้อกล่าวหาโดยนัยว่า "เนรคุณ" ในบทสรุปท้ายสุด

ประการสุดท้ายนี้ ลุงไมค์ฟาดเคราะห์ไป ได้รับยกเว้น ไม่ถูกแกนนำเครือข่ายชุมชนลูกพ่อขุนรามฯนับญาติพาดพิงถึง อาจเพราะญาติโยมของลุงอันที่จริงก็ไม่ได้อยู่แถวนี้ แต่อยู่ที่อังกฤษ


เรื่องที่สอง "คำถามความเป็นไทย (ภาคต้น)"
วันนี้ผมมีเรื่องน่าสนใจมาเล่าให้ฟัง
หลังจากสอนเรื่อง "ชาติ-ชาตินิยม-เอกลักษณ์แห่งชาติ-ความเป็นไทย" ให้นักศึกษาปริญญาตรีวิชาการเมืองการปกครองไทยร่วมร้อยคนฟังไปได้พักใหญ่ ผมก็ตกลงใจจัดสอบย่อยฉุกเฉิน(quiz) พวกเขาครั้งหนึ่ง โดยออกข้อสอบให้สอดรับและล้อแนวคิด "ความเป็นไทย" ดังนี้

คำถาม เท่าที่ได้เรียนการเมืองเรื่องการสร้างชาติและเอกลักษณ์ของชาติหรือนัยหนึ่งการสร้าง "ความเป็นไทย" ในวิชานี้ที่ผ่านมา นักศึกษาคิดว่าตนเองเป็นคนไทยหรือไม่? ถ้าใช่, ในความหมายไหน? และถ้าไม่ใช่ในความหมายไหน? แล้วเอาเข้าจริง นักศึกษาอยากเป็นคนไทยหรือไม่? หรือไม่อยากเป็น? เพราะเหตุใด?

ผมให้เวลานักศึกษาเขียนคำตอบในชั้นประมาณ 20 นาที กำชับว่าไม่ต้องกังวลเรื่องเกรด เพราะไม่เก็บคะแนน ที่จัดสอบย่อยก็เพียงเพื่อวัดการเข้าชั้นของเขา ขอให้ส่งกระดาษคำตอบเป็นพอ ไม่ต้องลอกกัน

ปกติผมไม่ค่อยจริงจังกับการสอบย่อยทำนองนี้นัก แค่บันทึกว่าใครได้เข้าชั้นมาสอบเป็นสำคัญ บางทีก็ไม่ได้ตรวจเนื้อหาคำตอบครบถ้วนทั้งหมดด้วยซ้ำไป แต่มาคราวนี้ พออ่านคำตอบของพวกเขาไปไม่กี่ฉบับ ผมก็สะดุดใจความคร่ำเคร่งเอาจริงเอาจังในการขบคิดใคร่ครวญ และตั้งอกตั้งใจเรียบเรียงเขียนตอบของพวกเขาซึ่งสูงเกินคาดหมาย

เมื่อนักศึกษาเอาจริงเช่นนี้ ผมที่เป็นครูจะทำเล่นกระไรได้ จึงพลอยตั้งอกตั้งใจอ่านตรวจอย่างละเอียดถี่ถ้วนไปด้วยจนหมดทุกฉบับ ผมพบข้อน่าสังเกตบางอย่างเกี่ยวกับความคิดเรื่องชาติของนักศึกษาไทยรุ่นปัจจุบันซึ่งจะค่อยๆ ถ่ายทอดสู่ท่านผู้อ่านไปตามลำดับ

1) แรกสุดคือในจำนวนผู้เข้าสอบ 91 คน (โดดร่มขาดหายไปราว 11 คน) พอจะจำแนกคำตอบที่แต่ละคนให้แก่คำถามข้างต้นได้ดังนี้:-

ต่อคำถามที่ว่า "นักศึกษาคิดว่าตนเองเป็นคนไทยหรือไม่?"

- มีผู้ตอบว่าใช่, เขาหรือเธอเป็นคนไทย 56 คน, -มีผู้ตอบว่าไม่ใช่, เขาหรือเธอไม่ได้เป็นคนไทย 10 คน, -มีผู้ตอบอย่างกำกวม 24 คน, - ไม่ตอบ 1 คน

ส่วนต่อคำถามที่ว่า "นักศึกษาอยากเป็นคนไทยหรือไม่?"

-มีผู้ตอบว่าเขาหรือเธออยากเป็นคนไทย 66 คน, -มีผู้ตอบว่าเขาหรือเธอไม่อยากเป็นคนไทย 10 คน, -มีผู้ตอบอย่างกำกวม 11 คน, -ไม่ตอบ 4 คน

ภาพรวมของคำตอบดูจะเป็นไปตามคาดหมาย นักศึกษากว่าครึ่งชัดเจนว่าตนเป็นคนไทยและอยากเป็นคนไทย มีผู้ตอบว่าตนไม่ใช่คนไทยและไม่อยากเป็นคนไทยเพียงส่วนน้อยราว 10% แต่ที่น่าแปลกใจคือจำนวนผู้ตอบอย่างกำกวมซึ่งในกรณีคำถามแรกสูงถึง 24 คน คิดเป็นอัตราส่วนได้ราว 25% หรือหนึ่งในสี่ของทั้งหมดและหากรวมผู้ที่ตอบว่า [ไม่ใช่+กำกวม] และ [ไม่อยาก+กำกวม] เข้าด้วยกันแล้ว ก็จะสูงถึงราว 35% หรือหนึ่งในสามในคำถามแรก, และราว 20% หรือหนึ่งในห้าในคำถามหลัง

ตัวเลขร้อยละสองจำนวนหลังนี้บอกอะไรบางอย่างที่น่าคิดเกี่ยวกับเอกลักษณ์ไทยในหมู่คนหนุ่มสาวร่วมสมัย

2) ตรงข้ามกับภาพประทับใจที่เรามักได้จากข่าวคราว หรืองานวิจัยบางชิ้นเกี่ยวกับนิสิตนักศึกษาทุกวันนี้, พูดได้ว่ากลุ่มนักศึกษาที่เข้าสอบทั้ง 91 คนค่อนข้างเอาจริงเอาจังกับ "ชาติ" และ "เอกลักษณ์แห่งชาติ" ที่เข้ามาเชื่อมโยงสัมพันธ์กับตัวตนของเขามากกว่าที่คิด อย่างน้อยเท่าที่ผมประมวลจากคำตอบที่พวกเขาเขียนส่งมา

เหตุปัจจัยที่เป็นตัวแปรอาจได้แก่พื้นฐานคณะสาขาวิชาที่พวกเขาร่ำเรียน ซึ่งส่วนใหญ่สังกัดคณะรัฐศาสตร์และสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์, อีกอย่างหนึ่ง คำบรรยายที่เน้นย้ำวิเคราะห์วิจารณ์การเมืองเรื่อง "ชาติ-ชาตินิยม-เอกลักษณ์แห่งชาติ-ความเป็นไทย" ของผมอาจส่งอิทธิพลต่อพวกเขาบ้าง ไม่มากก็น้อย

3) สำหรับผู้ที่ยืนยันว่าตนเป็นไทยและอยากเป็นไทยสืบไปเบื้องหน้า-หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ผู้ที่กระจ่างชัดเรื่องเอกลักษณ์แห่งชาติ(national identity) ของตัว และรู้สึกชัดว่าปรารถนาจะฝากชีวิตร่วมกับโครงการชาติไทย(the Thai national project) ต่อไปในอนาคตนั้น - หลักหมาย "ความเป็นไทย" ที่พวกเขาส่วนใหญ่ที่สุดยึดมั่นและเชื่อมโยงเข้ากับตัวเองมี 2 ประการ คือ

3.1) พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน และ
3.2) ระบอบการปกครองเสรีประชาธิปไตย

สำหรับประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับ "ความเป็นไทย" ที่คำถามของผมตั้งใจจะล้อและล่อให้เขาคิดมีดังนี้:-

เรื่องแรกคือ สัญชาติ กับ เชื้อชาติหรือชาติพันธุ์(nationality versus race or ethnicity)

คำถามจงใจทิ้งให้กำกวมในประเด็นนี้ โดยถามไปกลางๆ ว่านักศึกษาเป็น "คนไทย" หรือไม่? ซึ่งผู้ตอบอาจตีความว่าถามเรื่องสัญชาติ ("คุณเป็นพลเมืองสัญชาติไทยหรือไม่? ขอดูบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ตหน่อย") หรือเชื้อชาติ ("คุณเป็นคนที่มีเผ่าพันธุ์เชื้อชาติไทยแท้ในสายเลือดหรือเปล่า? ไปให้คุณหมอพรทิพย์ตรวจยีนส์ดูซิ") ของตนทางใดทางหนึ่งก็ได้ทั้งสองทาง

ปรากฏว่า นักศึกษาจำนวนไม่น้อยคือราว 10 คนขึ้นไปตีความคำถามประเด็นนี้เป็นเรื่องเชื้อชาติ หรือถึงแม้จะตอบในเชิงสัญชาติ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะโยงคำตอบเรื่องสัญชาตินั้นเข้ากับลักษณะเชื้อชาติของตัวในทำนองยืนยันหรือเป็นข้อแม้เงื่อนไข เช่น:-

คุณ 4405520042 ฟันธงเปรี้ยงว่า: "ตามความคิดของข้าพเจ้าแล้วคิดว่าตนเองเป็นคนไทย ตามความหมายของเชื้อชาติและชาติพันธุ์ เพราะบรรพบุรุษของต้นตระกูลทุกคนเป็นไทยแท้หมด ไม่มีใครมีเชื้อสายอย่างอื่น"

หรือในทางกลับกัน คุณ 4503610497 ก็ลังเลว่า: "เป็นคำถามที่หาคำตอบได้ยากเพราะไม่ปรากฏคำนิยามที่แน่นอนว่าคนไทยมีลักษณะหรือคุณสมบัติอย่างไร โดยส่วนตัวถ้าเอาในแง่เชื้อชาติก็ไม่ใช่คนไทยแล้ว (เพราะมีเชื้อชาติจีนผสมอยู่ด้วย 25%)..."

และคุณ 4405611205 ก็ตอบ yes...but พร้อมกันไปว่า: "นักศึกษาคิดว่าตนเองเป็นคนไทยเพราะเกิดบนแผ่นดินไทย พูดภาษาไทย พ่อกับแม่ก็เป็นคนไทย ถึงแม้ว่าในสายเลือดจะไม่ใช่ไทย 100% ก็ตาม..."

ความชัดเจน (คนไทย = คนเชื้อชาติไทยแหงแก๋) หรือสับสนลังเล (คนไทย = คนสัญชาติไทยหรือเชื้อชาติไทยกันแน่หว่า?) ข้างต้นเป็นเรื่องน่าเห็นใจเพราะเหตุเกิดจากชื่อประเทศซึ่งมาเปลี่ยนอย่างเป็นทางการสมัยรัฐบาลหลวงพิบูลสงครามจาก "สยาม" แต่เดิมเป็น ---> "ประเทศไทย" เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2482 ทำให้ ชื่อของประเทศชาติ กับ ชื่อของชนเชื้อชาติหนึ่ง ซึ่งเข้าใจกันว่าเป็นส่วนข้างมากแต่ก็อาศัยอยู่ร่วมกับชนหลากหลายเชื้อชาตินานาเผ่าพันธุ์ในดินแดนประเทศเดียวกันนี้มาแต่โบราณกาล พ้องตรงกัน จนไม่มีชื่อทางการที่จะเรียกประเทศชาติ(nation) แยกต่างหากจากเชื้อชาติหนึ่ง(race) ซึ่งสังกัดประเทศนี้ร่วมกับเชื้อชาติอื่นๆ ได้เรียกคำว่า "ไทย" ทีไรก็ให้สับสนปนเปเหมารวมทั้ง [ประเทศชาติ-สัญชาติ-เชื้อชาติ] (nation-nationality-race) เละเทะเลอะเทอะอีนุงตุงนังกันหมดทุกทีไป

ทั้งนี้ เอาเข้าจริงก็เป็น เจตนาจงใจที่จะให้ปนเปเหมารวมชื่อประเทศชาติเข้ากับเชื้อชาติตั้งแต่ต้นนั่นแหละ ดังที่นายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงครามแถลงหลักเหตุผล ที่รัฐบาลเสนอร่างพระราชบัญญัติรัฐธรรมนูญขนานนามประเทศเพื่อแก้ชื่อประเทศจากสยามเป็นไทยต่อสภาผู้แทนราษฎรบางตอนว่า:-

"...ส่วนมากแล้วนามประเทศนั้น เขามักเรียกกันตามเชื้อชาติของชาติที่อยู่ในประเทศนั้น เพราะฉะนั้น ของเราก็เห็นว่าเป็นการขัดกันอยู่ เรามีเชื้อชาติเป็นชาติไทย แต่ชื่อประเทศของเราเป็นประเทศสยาม จึงมีนามเป็นสองอย่าง...

"...การใช้คำว่าประเทศสยามนั้น นอกจากจะไม่ตรงกับเชื้อชาติของเราแล้ว ในต่อไปภายหน้าคนชาวต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศของเราก็อาจที่จะถือเอาสิทธิประเทศของเราเป็นประเทศของเขาก็ได้...

"ถ้าหากว่าการอพยพของชาวต่างประเทศมากขึ้น ในต่อไปข้างหน้าตั้งพันปี เราก็อาจไม่เข้าใจว่าประเทศสยามนี้เป็นของไทยหรือของจีน หรือของคนอื่น"

"...การตั้งชื่อของประเทศ ถึงแม้ว่าจะเป็นคำๆ เดียวก็ตาม แต่ย่อมเป็นคำสิริมงคลและเป็นเชื้อชาติของเราต่อไปภายภาคหน้าและของลูกหลาน"
(อ้างจาก ประเสริฐ ปัทมสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517), 2517)

ผลสืบเนื่องโดยตรงของการเปลี่ยนและปะปนชื่อประเทศชาติเข้ากับเชื้อชาติครั้งนี้ก็คือ การสับสนปนเป ประวัติของเชื้อชาติ เข้ากับ ประวัติศาสตร์ของประเทศชาติ(history of the Thai race & national history) ดังที่จิตร ภูมิศักดิ์ วิพากษ์วิจารณ์ไว้ในบทความเรื่อง "ชนชาติ ภาษา และรัฐ" ที่นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม นำมาตีพิมพ์ในฉบับ 25:7 (1 พฤษภาคม 2547) บางตอนว่า:-

"เรื่องของชนในรัฐจึงเป็นของประชาชาติ ไม่ใช่ชนชาติ...

"ผู้ที่ไม่เข้าใจเรื่องรัฐกับชนชาติหรือเชื้อชาติ จึงมักจะเอียงกระเท่ไปศึกษาเรื่องราวของเชื้อชาติ, ศึกษาประวัติของเชื้อชาติ แทนการศึกษาประวัติศาสตร์แห่งสังคมในรัฐ...

"แทนที่เราจะเริ่มเรียนประวัติการณ์ของสังคมบนผืนแผ่นดินนี้ตั้งแต่สมัยหิน, เรากลับหันหลังให้เสียหมดสิ้น แล้วเดินทางออกนอกประเทศไปเรียนประวัติการณ์ของสังคมอื่น เป็นต้นว่าน่านเจ้ากันเป็นวรรคเป็นเวร? นี่เป็นประวัติของเชื้อชาติ ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ของสังคมซึ่งหล่อหลอมขึ้นที่นี่ พัฒนาขึ้นที่นี่ มีชนชาตินั้นผ่านเข้ามา แล้วก็ผ่านออกไป อยู่ที่นี่"

ดังสะท้อนผ่านการที่คุณ 4603611577 รำพึงถึง การไม่มีที่ทางของตนเองในประวัติของเชื้อชาติไทย ที่เธอได้รับการปลูกฝังอบรมให้รับเชื่อตามกันมาว่ามันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับ ประวัติศาสตร์ของประชาชาติ แห่งนี้ว่า:

"ข้าพเจ้าคิดว่าตนเองไม่ได้เป็นคนไทย เนื่องจากบรรพบุรุษของข้าพเจ้าไม่ได้มาจากเทือกเขาอัลไตและไม่มีความซาบซึ้งกับวีรกรรมและประวัติศาสตร์ของชนชาติไทย ข้าพเจ้าเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่บังเอิญมาเกิดอยู่ภายในพรมแดนของประเทศไทย หาได้เป็นคนไทยไม่..."

ผมควรจะเรียนให้ทราบด้วยว่าแม้จนชั้นหลานสาววัยสิบขวบของผม เธอก็ยังได้รับการอบรมบ่มสอนในโรงเรียนชั้นประถมฯว่าโคตรเหง้าศักราชของคนไทยมาจากเทือกเขาอัลไตอยู่เลย!

เรื่องที่สาม "คำถามความเป็นไทย" (ภาคจบ)
ความแปลกแยกจาก [คำนิยามคนไทย-ความเป็นไทยด้วยเชื้อชาติ] ที่นักศึกษารุ่นปัจจุบันหลายคนแสดงออกในคำตอบข้อสอบที่ถามว่าเขา/เธอคิดว่า ตนเองเป็นคนไทยหรือไม่? และอยากเป็นคนไทยหรือไม่? ดังเล่าสู่ท่านไปแล้ว ชวนให้หวนรำลึกถึงกรณีนักศึกษาธรรมศาสตร์รุ่นก่อนผู้หนึ่ง ซึ่งเคยเขียนจดหมายด้วยลายมือหวัดแกมบรรจง บรรยายความรู้สึกส่วนลึกทำนองเดียวกันให้อาจารย์ผู้สอนทราบ เพื่อขอคำชี้แนะช่วยเหลือ และอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปขุดค้นพบจดหมายฉบับนี้เข้าจากแฟ้มหนังสือราชการเก่าของมหาวิทยาลัย แล้วกรุณานำมาให้ผมดูว่า

คืนวันที่ 5 สิงหาคม 2507

กราบเรียน อาจารย์ที่เคารพ

ก่อนอื่นกระผมต้องขออภัยจากอาจารย์เป็นอย่างมาก ที่มีความจำเป็นต้องเขียนจดหมายมารบกวนเวลาของอาจารย์ เหตุที่กระผมจำต้องขอรบกวนอาจารย์ก็คือว่า จากชั่วโมงสอนของวันนี้ในลักษณะวิชาที่ว่าด้วยบุคคล บทที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนชื่อตัวบุคคล อาจารย์ได้กล่าวไว้ว่า ถ้าใครยังมีสัญชาติเป็นต่างด้าวอยู่ในขณะนี้ ก็ควรจะรีบดำเนินการขอแปลงเป็นสัญชาติไทยนั้น

คำแนะนำของอาจารย์นี้ทำให้กระผมรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เนื่องจากกระผมเป็นคนมีสัญชาติเป็นต่างด้าวและได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่อายุประมาณ 20 เดือน ความคิดที่จะขอแปลงสัญชาติของกระผมให้เป็นสัญชาติไทยนั้นมีมาหลายปีแล้ว หากแต่กระผมมองไม่เห็นทางจริงๆ ว่าจะหาผู้ให้ความช่วยเหลือแก่กระผมได้ เพราะกระผมไม่รู้จักใครเลย (ขณะนี้กระผมยังมีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด)

และเมื่อปลายปีพุทธศักราช 2505 กระผมก็ได้เคยขอความช่วยเหลือจาก อาจารย์ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ(ขณะนั้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาวิทยาลัย-ผู้เขียน) เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ ซึ่งท่านก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่กระผมเป็นอย่างดี โดยมีหนังสือให้กระผมถือไปถึงท่านผู้กำกับฯ ที่สันติบาล แต่ว่าผลที่สุด กระผมก็ยังไม่สามารถได้รับอนุญาตให้แปลงสัญชาติได้ โดยเหตุผลที่ทางสันติบาลอ้างว่า กระผมยังไม่มีอาชีพ เพราะฉะนั้นจึงขาดคุณสมบัติในการขอแปลงสัญชาติ

หลังจากกระผมขอแปลงสัญชาติไม่ได้แล้ว กระผมก็ไปขอโอนชื่อทะเบียนการค้าของบิดามาเป็นของกระผม ซึ่งขณะนี้กระผมก็มีอาชีพแล้ว เพราะฉะนั้นที่กระผมเขียนจดหมายมารบกวนอาจารย์ ก็ประสงค์ขอความเมตตาจากอาจารย์อีกครั้ง เพื่อที่จะได้แนะนำกระผมว่าควรจะทำประการ(ใด) ดีเกี่ยวกับเรื่องขอแปลงสัญชาติของกระผม ทุกวันนี้กระผมก็ยังกลุ้มใจอยู่กับเรื่องนี้ตลอดเวลา กระผมไม่สามารถที่จะเข้าร่วมสมาคมกับใครได้ ถ้าอาจารย์จะเมตตาเรียกกระผมเข้าพบอาจารย์ในเวลาว่างของอาจารย์ กระผมจะขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง แต่กระผมต้องขอร้องอาจารย์ว่า เวลาอาจารย์จะประกาศเรียกตัวกระผมในห้องเรียน โปรดขออย่าได้เรียกชื่อของกระผม ขอให้เรียกเป็นหมายเลขที่ที่นั่งเรียน หรือเลขทะเบียนนักศึกษา เพราะกระผมอายเพื่อนนักศึกษาในห้องเรียน เกรงว่าจะถูกหัวเราะ

ที่กระผมเขียนมารบกวนอาจารย์ในครั้งนี้ หวังว่าอาจารย์คงจะสงสารกระผมบ้าง

ขอแสดงความเคารพอย่างสูง

นายเจียวฮั้ว แซ่เล้า
เลขที่นั่งเรียน 95 เลขทะเบียน 15888/น.
นักศึกษาปีที่ 2

ผมคิดว่านี่เป็นความรุนแรงอย่างยิ่งชนิดหนึ่งที่คนเราทำต่อกันได้ มันอาจไม่ใช่ความรุนแรงเชิงกายภาพไม่มีริ้วรอยบาดแผลให้เห็น แต่มันก็เคี่ยวกรำทำร้ายจิตใจผู้คนได้อย่างสาหัสสากรรจ์ เพราะมันทำให้เราอายในสิ่งที่ตัวเองเป็น โดยสิ่งที่เป็นนั้น เราไม่ได้เลือก หากติดตัวมากับชาติกำเนิด มันจึงเป็นความอายที่ต้องอายโดยไม่มีทางเลือก-ไม่มีทางเลือกที่จะไม่อายได้ ไม่มีทางย้อนรอยไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ตนเป็นอยู่แล้วให้เป็นอื่นได้ราวถูกกระหน่ำซ้ำเติมอยู่ตลอดเวลาให้รู้สึกผิด(guilty) ที่มีบาปติดตัวตรงไม่ได้เป็น(เชื้อชาติ) ไทยมาแต่เกิดได้แต่กลัดกลุ้มกังวลดิ้นรนหาทางเปลี่ยนชื่อแปลงสัญชาติตลอดเวลาเพื่ออำพรางเชื้อชาติจริงที่ถูกทำให้รู้สึกว่าน่าอายของตน

มันเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างทางการเมืองวัฒนธรรมที่เป็นนามธรรม ซึ่งคนไทยทำต่อคนไทยด้วยกันมายาวนานยืดเยื้อเรื้อรัง จน 40 ปีให้หลัง กลุ่มอาการ "ความเป็นไทยบกพร่อง"(Thainess deficiency Syndrome) ก็ยังคงมีให้เห็นในหมู่คนไทยทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติใดก็ตาม

ก็แปลกดีที่เรารู้สึกอย่างนี้ เพราะเอาเข้าจริงมันไม่มีเหตุผลที่ฟังขึ้นใดๆ ให้เรารู้สึกอย่างนั้นเลย ในเมื่อแต่ไหนแต่ไรมาสังคมประเทศนี้บนผืนแผ่นดินนี้ก็มีลักษณะหลากเชื้อชาติหลายวัฒนธรรม ดังหนังสือราชการแต่โบราณก็มักเอ่ยอ้าง เรียกขานผู้คนใต้การปกครองตามชุมชนชาติพันธุ์ที่สังกัดเป็นธรรมเนียมว่า "ไทย จีน มอญ ลาว เขมร แขก ญวน พม่า ทวาย พราหมณ์ ฝรั่งพุทธเกต..."(ดู เกษียร เตชะพีระ, แลลอดลายมังกร(2537), น.97)

สังคมหลายเชื้อชาติมิเพียงเป็นเรื่องธรรมดา และไม่มีอะไรน่าอายบนแผ่นดินนี้ในอดีต หากยังเป็นที่ภาคภูมิใจ สำแดงเกียรติยศศักดิ์ศรี เปล่งบุญญาบารมีของเจ้าผู้ครองแผ่นดิน ที่มีชนนานาชาติหนีร้อนมาพึ่งพาอาศัยร่มพระบรมโพธิสมภารปกเกล้าคุ้มกระหม่อมด้วยซ้ำไป และเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินรวมทั้งพระราชวงศ์ ก็หาได้ตั้งแง่รังเกียจเดียดฉันท์ หากคบค้าสมาคมกระทั่งแต่งงานอยู่กินสืบเชื้อสายกับชนต่างชาติเหล่านั้นเป็นปกติธรรมดา

ดังปรากฏหลักฐานอ้างอิงว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เคยมีพระราชดำรัสว่า เจ้าสาวของปู่ทวดของพระองค์ เป็นลูกสาวคนสวยของครอบครัวคนจีนที่ร่ำรวยที่สุดครอบครัวหนึ่งในอยุธยา, พระมารดาของพระองค์ก็ทรงเป็นธิดาของพระขนิษฐาของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกกับเศรษฐีจีน, สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชมารดาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นพระธิดาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระสนมที่เป็น "จีนแท้" เป็นต้น (อ้างจาก เบเนดิคท์ อาร์, โอ จี. แอนเดอร์สัน, "ศึกษารัฐไทย : วิพากษ์ไทยศึกษา", ฟ้าเดียวกัน, 1:3 (ก.ค.-ก.ย.2546), หน้า 122 เชิงอรรถ 34)

ไม่ว่าไพร่ฟ้าข้าไทในประเทศนี้ จะแยกเลือดต้นตระกูลไทยแท้บริสุทธิ์ ที่ไม่ปนเจ๊ก ปนลาว ปนมอญ ปนเขมร ปนแขก ปนญวน ปนพม่า ปนทวาย ปนพราหมณ์ ปนฝรั่งพุทธเกต ออกมาได้อย่างไร?

ความหลากเชื้อชาติหลายวัฒนธรรม-อันเป็นธรรมชาติธรรมดาของสังคมประเทศนี้นี่แหละ ที่ถูกนโยบายสร้างรัฐชาติให้เป็นเอกภาพและสร้างวัฒนธรรมให้เป็นเอกพจน์ (บทสรุปกระชับชัดจากอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล) ของรัฐบาลชาตินิยมคับแคบในชั้นหลังรังเกียจเดียดฉันท์ ประกาศเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ผิดรัฐนิยมและ "ไม่เป็นไทย" จึงเลือกปฏิบัติกีดกันเชื้อชาติ-ภาษา-การตั้งชื่อบุคคลที่ไม่ไทย, ศาสนาที่ไม่พุทธ, การแต่งกายและธรรมเนียมประเพณีที่ไม่สากล(ตะวันตก) นิยม ฯลฯ

ผลก็คือมันไปขีดเส้นพรมแดนจำกัดพื้นที่ร่วมทางวัฒนธรรมของนิยามความเป็นไทยให้หดแคบลง, เบียดขับคนหลากเชื้อชาติหลายภาษา-วัฒนธรรมร่วมแผ่นดินให้กลายเป็นอื่น และกระเด็นตกไปอยู่ชายขอบ, หุ้นส่วนที่เขาถือกรรมสิทธิ์ในฐานะผู้ร่วมเป็นเจ้าของแผ่นดินโดยชอบกลับถูกริบคืนโดยพลการ เพียงเพราะเขาเป็นตัวของเขาเองที่ไม่เหมือน "คนไทย" ในจินตนาการอุดมคติของรัฐ

ดังนั้น จึงมีนักศึกษาของผมบางคนเขียนถึง "ความเป็นไทย" อย่างเปิดอกว่า

"...ถ้าการเป็นคนไทยต้องมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ดิฉันก็ไม่ใช่คนไทยเพราะดิฉันนับถือคริสต์, ถ้าการเป็นคนไทยต้องมีเชื้อไทยแท้ๆ ดิฉันก็ไม่ใช่อีกนั่นแหละเพราะดิฉันเป็นลูกคนจีน สิ่งเดียวที่บ่งบอกว่าฉันเป็นคนไทยก็คือ การมีที่เกิดร่วมกันกับคนอีกกลุ่มหนึ่งตามการแบ่งในแผนที่โลก ซึ่งการนี้แสดงออกโดยบัตรประชาชน เพราะถ้าไม่มีบัตรประชาชนหรือเอกสารอื่นใดที่ระบุว่าดิฉันเป็นคนไทย ดิฉันก็มักจะบอกว่าเป็นคนจีนเสมอ(เวลาอยู่ในต่างประเทศ)..."

และอีกคนหนึ่ง

"(คิดว่าตนเอง) ไม่ใช่(คนไทย) เนื่องด้วยโดยตัวเองนับถือศาสนาอิสลามแต่เท่าที่เรียนมา การเมืองการสร้างชาติไม่ค่อยคำนึงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะในเรื่องความแตกต่างทางศาสนา บางครั้งการสร้างชาติเป็นเรื่องที่มาทีหลัง และบางเรื่องขัดต่อหลักการทางศาสนาหรือวัฒนธรรมเดิมอยู่แล้ว อย่างเช่นศาสนาอิสลาม นั่นคือรูปแบบการดำเนินชีวิต และการสร้างชาตินั้นต้องการที่จะแทรกแซงทางด้านรูปแบบการดำเนินชีวิตของคน เพราะฉะนั้นอิทธิพลการต่อต้านจนรู้สึกว่าตนเองไม่ใช่คนไทยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและแสดงออกโดยการเป็นปฏิปักษ์ต่อความเป็นไทย "ผมมองว่าการสร้างชาติของไทยเป็นเพียงความต้องการสร้างชาติแบบชาตินิยม ที่แสดงออกด้านเชื้อชาติ ศาสนาพุทธ เพียงอย่างเดียว แต่ไม่ต้องการคนที่ต่างศาสนา เช่น อิสลาม ฮินดู โดยมองคนเหล่านี้เป็นคนแปลกๆ ที่ไม่ใช่คนไทย และฝั่งคนศาสนาอื่นก็เช่นกัน รู้สึกตนเองไม่ใช่เกี่ยวกับการสร้างชาติและเอกลักษณ์ของชาติ "เอาเข้าจริงแล้ว ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเป็นคนไทยดีหรือเปล่า แต่ก็รักแผ่นดินไทย อยากเป็นคนไทยที่นับถือวัฒนธรรมใดก็ได้ เพราะประเทศไทยสบายกว่าที่ไหนๆ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว"

 


สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 440 เรื่อง หนากว่า 5000 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




ขณะนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตบทความทั้งหมดบนเว็ปในรูปของซีดีรอมเพื่อจำหน่าย สนใจ สั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com

 

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณขาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

น่าแปลกดีที่ภาษาการเมืองวัฒนธรรมของสังคมไทยมีลักษณะสองด้านที่แยกแย้งกันเอง นั่นคือ ฟังๆ ดูคล้ายกับจะพร่ำพูดเรื่องเชื้อชาติตลอดเวลา แต่เอาเข้าจริงมันกลับมิได้หมายถึงหรือมิได้เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติเลย หากเป็นเรื่องความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ วัฒนธรรมที่ "ผิดๆ" "แหกคอก" "นอกกรอบ นอกลู่ นอกทาง" "ทวนกระแส" เท่านั้นเอง. ในการเมืองวัฒนธรรมไทย ผู้ที่มีความคิดความเชื่อแตกต่างจะถูกตั้งข้อสงสัยและกล่าวหาอย่างแทบอัตโนมัติทันทีว่า = ไม่ใช่คนไทย แต่เป็นลาว


ผมคิดว่านี่เป็นความรุนแรงอย่างยิ่งชนิดหนึ่งที่คนเราทำต่อกันได้ มันอาจไม่ใช่ความรุนแรงเชิงกายภาพไม่มีริ้วรอยบาดแผลให้เห็น แต่มันก็เคี่ยวกรำทำร้ายจิตใจผู้คนได้อย่างสาหัสสากรรจ์ เพราะมันทำให้เราอายในสิ่งที่ตัวเองเป็น โดยสิ่งที่เป็นนั้น เราไม่ได้เลือก หากติดตัวมากับชาติกำเนิด มันจึงเป็นความอายที่ต้องอายโดยไม่มีทางเลือก-ไม่มีทางเลือกที่จะไม่อายได้ ไม่มีทางย้อนรอยไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ตนเป็นอยู่แล้วให้เป็นอื่นได้ราวถูกกระหน่ำซ้ำเติมอยู่ตลอดเวลาให้รู้สึกผิด(guilty) ที่มีบาปติดตัวตรงไม่ได้เป็น(เชื้อชาติ) ไทยมาแต่เกิดได้แต่กลัดกลุ้มกังวลดิ้นรนหาทางเปลี่ยนชื่อแปลงสัญชาติตลอดเวลาเพื่ออำพรางเชื้อชาติจริงที่ถูกทำให้รู้สึกว่าน่าอายของตน มันเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างทางการเมืองวัฒนธรรมที่เป็นนามธรรม ซึ่งคนไทยทำต่อคนไทยด้วยกันมายาวนานยืดเยื้อเรื้อรัง