มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

ผลงานวิชาการชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ


บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 433 หัวเรื่อง
สถานการณ์ภาคใตในสายตานิธิ ๑
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

 

R
relate topic
060847
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบเรื่องพิเศษบริการฟรีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
H
รวมบทความเกี่ยวกับสถานการณ์ภาคใต้ของไทยในสายตาของนิธิ เอียวศรีวงศ์
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

ประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ร่วมสมัย
มองสถานการณ์ภาคใต้ผ่านสายตาของนิธิ (๑)
นิธิ เอียวศรีวงศ์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


หมายเหตุ : ผลงานวิชาการชิ้นนี้ประกอบด้วยบทความ 4 เรื่อง
1. มาซุกยาวี, 2. Negeri Siam Ini Adalah Gelanggang Seperjuangan
ประเทศไทยนี่แหละคือเวทีการต่อสู้ร่วมกัน, 3. ปอเนาะ,
4. กรือเซะ
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 15 หน้ากระดาษ A4)


รวมบทความเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ร่วมสมัยในภาคใต้ของไทย
นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียน, คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนรวบรวม

1. มาซุกยาวี
ผมไม่ทราบหรอกครับว่า ใครเป็นคนทำให้เข้าใจว่า สถานการณ์ความขัดแย้งในภาคใต้ตอนล่างปัจจุบันนี้เป็นความขัดแย้งทางศาสนา...ระหว่างฝ่ายที่ต่อต้านรัฐไทย หรือฝ่ายรัฐไทยเอง อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าส่วนใหญ่ของชาวมลายูมุสลิมไม่ได้คิดอย่างนั้น แม้แต่คนที่ไม่ชอบสภาพที่ตนเผชิญอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐไทย ก็ไม่ได้รู้สึกเป็นอริกับชาวพุทธที่อยู่ร่วมแผ่นดินกับตนมาเป็นเวลานาน

ไม่แต่เพียงเพราะเขาเคยอยู่กันมานานหลายชั่วโคตรเท่านั้น แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมานั้น ทั้งสองฝ่ายต่างมีความสัมพันธ์กันทั้งด้านกว้างและด้านลึกด้วย ลองไปเปิดสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ของสถาบันทักษิณคดีศึกษาดูเถิดครับ (สมัย อาจารย์สุธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นผู้อำนวยการ) จะเห็นศัพท์, พิธีกรรม, ศิลปะ หรือแม้แต่ความเชื่อทางไสยศาสตร์ที่มีร่วมกันเป็นอันมาก มีทั้งจากฝ่ายไทยไหลเข้าไปหามลายู และมีทั้งจากฝ่ายมลายูไหลเข้าหาไทย

ลึกลงไปถึงที่สุดแล้ว เขาเป็นญาติกันด้วย มีชาวมลายูมุสลิมจำนวนไม่น้อยที่มีเครือญาติ (โดยเฉพาะทางสายแม่) เป็นชาวไทยพุทธ ซึ่งในทางกลับกันก็ย่อมมีไทยพุทธที่มีเครือญาติเป็นมลายูมุสลิม แม้แต่ในสามจังหวัดที่เคยเป็นปัตตานีมาก่อน ก็มีหมู่บ้านชาวพุทธอยู่แทรกๆ กับหมู่บ้านมุสลิม แม้ว่ามีจำนวนน้อยกว่ากันมาก แต่ก็มีอยู่และตั้งสืบเนื่องกันมานานอย่างสงบสุข หมู่บ้านมุสลิมบางแห่งมีชาวพุทธเข้าไปอยู่แทรกในหมู่บ้านเลยทีเดียว

เขาก็อยู่กันมาได้โดยไม่ถือเรื่องความต่างทางศาสนาเป็นเรื่องใหญ่ ต่างฝ่ายต่างรู้กันว่าอีกฝ่ายหนึ่งทำอะไรได้หรือทำอะไรไม่ได้ งานบุญของทั้งสองฝ่ายมีแขกต่างศาสนาได้รับเชิญมาร่วมงานอยู่เป็นปกติ ฉะนั้น จึงไม่ประหลาดอะไรที่แม้ในท่ามกลางสถานการณ์ความรุนแรงในปัจจุบัน ชาวมลายูมุสลิมส่วนใหญ่จึงไม่ได้นึกไปถึงความขัดแย้งทางศาสนากับเพื่อนบ้านในท้องถิ่น

ผู้นำทางศาสนาอิสลามในพื้นที่ออกมาประณามการทำร้ายพระภิกษุ ชาวบ้านเล่าให้ผมฟังว่า ในบางตำบลของจังหวัดนราธิวาส (ซึ่งตามข่าวหนังสือพิมพ์ว่าพระหนีออกมาจนวัดร้างไปหลายแห่ง) ชาวมลายูมุสลิมต้องจัดเวรยามไปเฝ้าวัด เพราะกลัวว่าจะมี "คนร้าย" (ซึ่งคือใครก็ไม่ทราบ-บางคนว่าพวกแยกดินแดน แต่บางคนว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐเอง) ไปแอบระเบิดหรือเผาวัด อันจะนำความเดือดร้อนอย่างหนักมาแก่ชาวบ้านในตำบล เพราะเมื่อถูกบ้านเมืองเพ่งเล็งว่าอาจมีส่วนรู้เห็นกับ "โจรแยกดินแดน" แล้ว ก็จะถูกรังควาญอย่างหนักจากหน่วยนั้น หน่วยนี้ หน่วยโน้น และหน่วยนู้น

แถมยังมีพระภิกษุอยู่รูปหนึ่งที่นราธิวาส มีชาวมลายูมุสลิมพากันมา "ขึ้น" อยู่ด้วยมากกว่าชาวพุทธเสียอีก ที่เรียกว่า "ขึ้น" ก็คือมาให้การอุปัฏฐาก เพราะท่านเป็นคนดีมีเมตตาสูง จึงได้รับการเคารพจากชาวบ้าน โดยไม่เกี่ยวกับการนุ่งเหลืองห่มเหลืองแต่อย่างไร... ผมคิดว่าก็เหมือนกับที่หลวงพ่อบางรูปได้รับความเคารพจากชาวบ้านพุทธมาก ในขณะที่บางรูปถูกชาวบ้านพุทธก่นด่ามาก โดยไม่เกี่ยวกับผ้าเหลืองเหมือนกัน

ในการประชุมร่วมกับชาวบ้าน, ผู้นำท้องถิ่น และนักวิชาการซึ่ง ม.เที่ยงคืนและคณะทำงานวาระทางสังคม คณะรัฐศาสตร์, จุฬาฯ จัดขึ้นที่หาดใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้ บุคคลที่ได้รับยกย่อมเป็นปราชญ์ของอิสลามท่านหนึ่งเล่าให้ผมฟังว่า

สมัยที่ท่านเป็นเด็ก เมื่อหมู่บ้านของท่านถูกหมูป่ารบกวนมากเข้า ก็เป็นประเพณีปฏิบัติที่จะไปเชิญให้ชาวพุทธในหมู่บ้านใกล้เคียงไปล่าหมูป่าไว้บริโภค ผมถามท่านว่าเหตุใดชาวมลายูมุสลิมจึงไม่ยิงหมูป่าเอง โดยไม่ต้องนำมาบริโภคก็ได้ ท่านตอบว่าก็รู้อยู่ว่าพวกพุทธล่าหมูป่าแล้วสามารถเอาไปกินได้ จะไปล่ามันทิ้งทำไม ยิ่งกว่านั้นพวกชาวพุทธที่ไปล่าหมูป่าเหล่านั้น ก็เป็นญาติทางสายแม่ของท่านเอง

คนกินหมูกับคนไม่กินหมูจึงอยู่ร่วมกันได้ ไม่ใช่แค่ร่วมกันเฉยๆ แต่ร่วมกันอย่างเอื้อเฟื้อต่อกันด้วย ซ้ำครั้งใดที่พวกกินหมูล่าหมูยังไม่ได้ ก็ยังได้รับอนุญาตให้ค้างอ้างแรมที่บ้านของคนไม่กินหมูด้วย เพื่อจะได้ล่าต่อให้ได้

เรื่องที่ผมเล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดที่เกิดขึ้นได้เฉพาะในสังคมไทย ตรงกันข้ามเลยครับ ความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างศาสนาในอดีตในเกือบทุกสังคม มักเป็นไปอย่างราบรื่นทั้งนั้น เมื่อไหร่ที่เกิดความขัดแย้งจนกลายเป็น "สงครามศาสนา" เสียอีก กลับเป็นข้อยกเว้น และไม่มี "สงครามศาสนา" ครั้งใดในประวัติศาสตร์ ที่สามารถอธิบายได้ด้วยศาสนาล้วนๆ แต่มีความขัดแย้งทางผลประโยชน์เศรษฐกิจหรือการเมืองของคนบางกลุ่มมาผลักดันอยู่เบื้องหลัง หรือเป็นสาเหตุทั้งสิ้น

เบื้องหลังสงครามครูเสด คือการแย่งผลประโยชน์กันอย่างซับซ้อนของสถาบันสันตะปาปา, กษัตริย์, ขุนนาง, การเมืองระหว่างแว่นแคว้นต่างๆ, การเมืองภายในของแว่นแคว้นต่างๆ, ผลประโยชน์ทางการค้าของเมืองท่าในอิตาลีกับเอเชีย ฯลฯ ทั้งหมดเหล่านี้ถูกชูขึ้นมาเป็นรูปไม้กางเขน

ยิ่งศาสนาอิสลามด้วยแล้ว ตรงกันข้ามกับมโนภาพที่ฝรั่งยัดเยียดให้โลกในปัจจุบัน ประวัติศาสตร์อิสลามแสดงให้เห็นขันติธรรมทางศาสนามากกว่าความแข็งกร้าว ไม่ลดหย่อนผ่อนปรนให้แก่คนต่างศาสนา อย่าลืมนะครับว่าอิสลามถือกำเนิดในดินแดนเล็กนิดเดียวคือคาบสมุทรอาหรับ แต่แผ่ขยายไปทั่วตะวันออกกลางจนถึงอินเดียและอุษาคเนย์ด้านตะวันออก ก็ดินแดนแถบนี้เป็นแหล่งกำเนิดของศาสนานานาชนิดก่อนอิสลามทั้งนั้น เขาจะตั้งจักรวรรดิใหญ่โต และตั้งมั่นในศรัทธาของเขามาอย่างยืนนานได้ถึงปัจจุบัน ก็ต้องตอบสนองต่อความแตกต่างทางศาสนาเหล่านี้ได้อย่างสร้างสรรค์

มีคนต่างศาสนาอยู่ร่วมกับมุสลิมทั่วโลกตลอดมา และก็อยู่อย่างราบรื่นเสียด้วย (ราบรื่นกว่าคนต่างศาสนาในยุโรป จนมาเมื่อไม่นานมานี้เอง) ไม่ว่าในอินเดียหรือในตะวันออกกลาง อำมาตย์ที่เก่งๆ มีชื่อเสียงของพระเจ้าฮารูน อัล ราษจิต แห่งนิทราชาคริตนั้นเป็นยิวครับ และทั้งยิวและคริสเตียนต่างก็เคยได้รับตำแหน่งสูงๆ ในจักรวรรดิของกาหลิบมาแล้วทั้งนั้น นิคมพ่อค้ายิวเจริญรุ่งเรืองอยู่เป็นเวลานานภายใต้อำนาจของอิสลาม

อย่างไรก็ตาม ขันติธรรมทางศาสนาของทุกศาสนาเสื่อมถอยลงอย่างหนักหลังการขยายตัวของลัทธิล่าเมืองขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 นี้เอง ส่วนหนึ่งเป็นนโยบายของจักรวรรดินิยมที่จะ "แบ่งแยกแล้วปกครอง" เช่นในกรณีอินเดีย ระหว่างฮินดู, มุสลิม และซิกข์ แต่ในบางกรณีอาจเกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ

ถึงจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ต้นกำเนิดที่แท้จริงมาจากแนวคิดของฝรั่งในการสร้าง "พรมแดน" ให้แก่ศาสนา

ที่เรียกว่า "พรมแดน" ไม่ได้หมายถึงนิยามที่ชัดเจนเคร่งครัดเกี่ยวกับหลักศาสนาเท่านั้น นั่นก็ใช่อย่างหนึ่ง แต่ที่ออกจะมีอิทธิพลต่อสำนึกของผู้คนมากกว่าคือการสร้างสิ่งที่แวดล้อมศาสนาในช่วงหนึ่ง ขึ้นมาให้เป็นสัญลักษณ์ที่แน่นอนตายตัวของศาสนาหนึ่งๆ นับตั้งแต่ภาษา (ละติน, บาลี, สันสกฤต, อาหรับ ฯลฯ), เครื่องแต่งกาย, แบบแผนของสถาปัตยกรรม, พิธีกรรม, ธง, การลงทะเบียนที่อำเภอ, รูปเคารพ ฯลฯ

ความจำเป็นที่จะต้องขีดเส้นของศาสนาให้ชัดเกิดกับฝรั่งในช่วงที่มีการแตกนิกายในคริสต์ศาสนา เป็นโปรเตสแตนต์และนิกายเดิมคือโรมันคาทอลิก เพราะทะเลาะกันจนกลายเป็นสงครามยืดเยื้อและแผ่ขยายไปแทบจะทุกส่วนของยุโรปตะวันตก (แต่ก็มีเหตุผลทางการเมืองและเศรษฐกิจอยู่เบื้องหลังดังที่กล่าวแล้วอยู่นั่นเอง) ต้องคาดคั้นเอาให้แน่ว่าเป็นคาทอลิกหรือโปรเตสแตนต์กันแน่

ฉะนั้น "ศาสนา" ของฝรั่งยุโรปตะวันตกหลังจากนั้น จึงกลายเป้นระบบความเชื่อที่มีพรมแดนชัดเจน แล้วเอาระบบความเชื่อนี้ไปสร้างพรมแดนในวิถีชีวิตเข้าไปด้วย ศาสนากลายเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญมากของตัวตนแต่ละคน เข้าไปกำหนดความสัมพันธ์ของเขากับคนอื่น ใครทะเล่อทะล่าข้ามพรมแดนออกไปก็อาจสูญเสียตัวตนของเขาไปได้

ฝรั่งเข้ามามีอำนาจในเอเชีย แล้วก็ยัดเยียดแนวคิดอย่างนี้ให้คนเอเชีย (ทั้งเจตนาและไม่เจตนา) ศาสนาของเอเชียซึ่งไม่เคยมีพรมแดนชัดเจนอย่างนี้ก็เกิดพรมแดนขึ้น ที่ไม่เจตนานั้น ยกตัวอย่างกรณีของไทยจะเห็นได้ชัดดีครับ

เวลาฝรั่งบรรยายพุทธศาสนาของไทยว่ามีไสยศาสตร์และการนับถือเทวดาฮินดูเจือปน ปัญญาชนไทยก็รีบชี้แจงว่าเลอะเทอะแล้วละ พุทธที่แท้ต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ต่างหาก พุทธศาสนาในเมืองไทยก็เริ่มจะมีพรมแดนขึ้นมาชัดเจน เพราะมีมือมาคอยชี้ว่านี่ใช่พุทธนี่ไม่ใช่ เป็นเพียงมรดกตกทอดมาจากอดีต พราหมณ์ที่อยู่ในราชสำนักไทยมาหลายศตวรรษโดยไม่มีปัญหาชักจะวิตกว่าแล้วกูเป็นอะไรกันนี่หว่า ในที่สุดก็ตัดสินใจว่าเป็นพุทธแล้วกัน ความเป็นพราหมณ์กลายเป็นเหมือนช่างเทคนิค

พรมแดนที่ชัดเจนของศาสนาจึงเป็นหนึ่งในมรดกของลัทธิ "บุรพทิศนิยม" ของฝรั่ง คือสร้างมุมมองตะวันออกจากฉายาและผลประโยชน์ของตะวันตก

แต่สำนึกอย่างแรงกล้าว่าตัวถือศาสนาอะไรกันแน่ เพราะเกิดพรมแดนที่ชัดเจนของศาสนานี่แหละครับที่ทำให้เกิดการฆ่าฟันกันนองเลือดตามดินแดนต่างๆ หลายแห่ง นับตั้งแต่ตะวันออกกลางมาจนถึงอินเดีย และอินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ ที่เคยอยู่ร่วมกันมาอย่างสงบก็อยู่ไม่ได้จนต้องแยกประเทศกันอย่างอินเดียและปากีสถาน เหยียบเท้ากันที ก็ต้องยกขบวนไปเผาบ้านเรือนกันและกัน เป็นต้น

เฉพาะในเมืองไทย ผมรู้สึกเสมอว่าความใจแคบทางศาสนานั้นพบได้กับคนที่ "มีการศึกษา" มากกว่าคนที่ "ไม่มีการศึกษา" ทั้งนี้เพราะ "การศึกษา" ของเราคือการเรียนความรู้ฝรั่ง ฉะนั้น คนที่ได้รับการศึกษามากจึงได้รับอคติของ "บุรพทิศนิยม" แบบฝรั่งมาก เช่น กลุ่มคนที่มักจะวิเคราะห์สถานการณ์ในภาคใต้ปัจจุบันในเชิงความแตกต่างทางศาสนา-จะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม-มากและบ่อยที่สุด คือนักวิชาการ

ในขณะที่ผมไม่ได้ระแคะระคายกับความแตกต่างทางศาสนาจากชาวบ้านมลายูมุสลิมเอาเลย ในสมัยก่อนเมื่อชาวพุทธไปได้เมียมุสลิมจึงต้องเปลี่ยนศาสนา สำนวนภาษามลายูพูดว่า "มาซุก ยาวี" หรือที่ไทยเรียกว่า "เข้าแขก" คือเข้าไปสู่วิถีวัฒนธรรมมลายู ไม่ใช่เปลี่ยนศาสนาเป็นอิสลาม


2. Negeri Siam Ini Adalah Gelanggang Seperjuangan
ประเทศไทยนี่แหละคือเวทีการต่อสู้ร่วมกัน

ผู้นำทางศาสนาและผู้นำชาวบ้านบอกแก่ผมในการประชุมร่วมกันที่หาดใหญ่ว่า คนที่คิดแยกดินแดนนั้นมีไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์ในบรรดาประชากรมลายูมุสลิมทั้งหมด เอกสารราชการและคำสัมภาษณ์ของผู้ใหญ่ในบ้านเมืองสอดคล้องกัน แม้ไม่ได้ให้ตัวเลขเปอร์เซ็นต์ที่แน่นอน

ถ้ากระนั้น ผมคิดว่าชะตากรรมของประชากรมลายูมุสลิมในภาคใต้ ได้ถูกคนไม่ถึง 1% นี้ไฮแจ๊กไปเสียแล้ว

เพราะกระแส "แยกดินแดน" ซึ่งประกอบขึ้นด้วยคนจำนวนน้อย ได้ปิดปากท่านมิให้ลุกขึ้นต่อรอง, ต่อสู้, หรือต้านทาน ผลักดันอะไรในวิถีทางอื่นๆ เพราะจะถูกเจ้าหน้าที่บ้านเมืองระแวงสงสัยว่ามีส่วนร่วมกับกระแส "แยกดินแดน" และเมื่อถูกระแวงสงสัยจากฝ่ายบ้านเมืองเสียแล้ว ก็จะหาความสงบสุขในชีวิตได้ยาก

ผมใช้คำว่า "ชะตากรรม" เพราะผมเชื่อว่า ส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรียกว่าชะตากรรมนั้น เราทุกคนมีสิทธิและควรมีส่วนในการกำหนดให้แก่ตนเองด้วย เช่นเดียวกับประชาชนในที่อื่นๆ ทั่วไป ท่านกำลังเผชิญกับปัญหาหลายอย่างในชีวิต นับตั้งแต่การฉ้อฉลอำนาจของข้าราชการในท้องถิ่น, การรุกเข้ามาของทุนจากภายนอก, ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และความล่มสลายของกลไกทางสังคมที่เคยมีมาแต่เดิม เพราะไม่อาจตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่ถาโถมเข้ามา

ถ้าส่วนใหญ่ในหมู่พวกท่านไม่อาจลุกขึ้นมาต่อรอง, ต่อสู้ หรือต้านทาน ผลักดันอะไรได้ ก็ต้องปล่อยให้ชะตากรรมของตนอยู่ในความควบคุมดูแลของรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว

จากประสบการณ์ของประชาชนไทยในที่อื่นๆ แม้แต่ในหมู่ประชาชนที่รัฐไม่มีอคติทางชาติพันธุ์และศาสนา รัฐก็ไม่ใช่สถาบันที่น่าไว้วางใจให้เป็นผู้กำหนดชะตากรรมของผู้คนทุกกลุ่มแต่ฝ่ายเดียว เพราะรัฐใดๆ ก็ตามไม่เคยเป็นกลางระหว่างผลประโยชน์ของคนทุกกลุ่มในสังคมจริงสักแห่งเดียว คนแต่ละกลุ่มจะสามารถต่อรอง, ต่อสู้ และผลักดันผลประโยชน์ของตนเองได้ ก็ต้องไต่เต้าขึ้นไปในโครงสร้างอำนาจที่จะทำให้เสียงของตนดังพอที่รัฐจะต้องรับฟัง

ในทางตรงกันข้าม กลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อแยกดินแดนก็หาได้น่าไว้วางใจไปกว่ากันไม่ นอกจากพวกเขาไม่เคยบอกอย่างชัดเจนว่าเขากำหนดชะตากรรมของผู้คนในรัฐอิสระนั้นไว้อย่างไรแล้ว การใช้ความรุนแรง(แม้เพื่อตอบโต้กับความรุนแรงที่รัฐใช้) ก็ไม่น่าจะเป็นความหวังที่พึ่งได้สำหรับชีวิตในรัฐอิสระใหม่ที่เขาสัญญา เพราะความรุนแรงมีตรรกะของมันเอง ซึ่งจะนำไปสู่ความวุ่นวายปั่นป่วนอย่างยากจะจบลงได้ แม้เมื่อเขาประสบความสำเร็จในการแยกตัวออกเป็นรัฐอิสระแล้วก็ตาม (และมองเห็นได้ชัดจากความเป็นจริงของการเมืองไทยและการเมืองระหว่างประเทศว่า วิธีการที่กลุ่มนี้ใช้อยู่จะไม่มีทางนำไปสู่การแยกดินแดนได้เลย)

ประชาชนมลายูมุสลิมส่วนใหญ่จึงต้องมายืนในจุดที่ไม่มีทางเลือกสำหรับตัวเอง ด้านหนึ่งรัฐจะใช้อำนาจทุกทางของตัวเข้ามากำหนดชะตากรรมของผู้คนแต่ฝ่ายเดียว อีกด้านหนึ่งกลุ่มแยกดินแดนซึ่งเป็นคนจำนวนน้อยจะแย่งอำนาจจากรัฐไปกำหนดชะตากรรมของผู้คนฝ่ายเดียวเสียเองอีกเหมือนกัน

ทั้งสองฝ่ายไม่เคยสนใจจะถามประชาชนเลย อยากได้ชีวิตอย่างไร ยังไม่พูดถึงสร้างช่องทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของตนเองโดยอิสระเสรี และตลอดไป

ไม่ว่าท่านจะชอบหรือไม่ก็ตาม แต่ความจริงมีว่า เวทีการต่อสู้เพื่อกำหนดชะตากรรมของชีวิตของตนเองนั้นอยู่ในประเทศไทย และตราบเท่าที่ไม่ลุกขึ้นมายืนบนเวทีนี้ จะมีคนอื่นเข้าไปใช้อำนาจและความรุนแรงกำหนดชะตากรรมของพวกท่านไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

จะด้วยอุปสรรคอย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ในสาม-สี่จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ไม่ได้เคยพยายามขึ้นมาต่อรอง, ต่อสู้ และต้านทาน ผลักดันบนเวทีประเทศไทย อันที่จริงผมควรกล่าวด้วยว่า ประชาชนเล็กๆ ในที่อื่นๆ ทั่วประเทศไทย ก็ถูกกีดกันมิให้ลุกขึ้นมาบนเวทีสาธารณะนี้อย่างสะดวกทั้งนั้น กล่าวอีกนัยยะหนึ่งก็คือ ไม่มีที่ไหนในเมืองไทยที่ปราศจากอุปสรรคสำหรับประชาชน ในการขึ้นไปสู้บนเวทีสาธารณะอย่างเท่าเทียมกับอภิสิทธิ์ชนเพียงไม่กี่กลุ่มของสังคม

ด้วยเหตุผลความต่างทางชาติพันธุ์และศาสนา(เช่นเดียวกับกะเหรี่ยง,ม้ง,เย้า และชาวเขาทั่วไป) ประชาชนมลายูมุสลิมอาจต้องเผชิญอุปสรรคมากกว่าประชาชนชาวอีสาน แต่อุปสรรคอะไรก็ต้องใช้ปัญญาและความร่วมมือในการก้าวข้ามไปให้จงได้ทั้งนั้น เพราะทางเลือกเดียวที่เป็นจริงสำหรับท่าน ก็คือลุกขึ้นมาต่อรอง ต่อสู้ หรือต้านทาน ผลักดัน บนเวทีประเทศไทยร่วมกับประชาชนอีกมากมายในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

แม้กฎระเบียบกติกาบนเวทีนี้อาจไม่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายนัก แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีบัญญัติของกฎหมายและรัฐธรรมนูญหลายประการ ที่ประชาชนอาจใช้เป็นช่องทางในการต่อสู้บนเวทีนี้ได้ ผมอยากพูดว่าเป็นช่องทางที่เปิดกว้างให้แก่ประชาชนกว่าจะหาได้ในเวทีของรัฐอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย ฉะนั้นประชาชนมลายูมุสลิมจะต้องเรียนรู้ และใช้ประโยชน์จากช่องทางนี้ โดยอาศัยประสบการณ์ของขบวนการประชาชนในที่อื่นๆ

เช่น ช่องทางที่จะสร้างสื่อเชื่อมโยงกันระหว่างประชาชนในท้องที่ต่างๆ ของสาม-สี่จังหวัดภาคใต้ เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายขึ้นในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันก็มีช่องทางที่จะผลักดันประเด็นของฝ่ายประชาชนมลายูมุสลิมผ่านสื่ออื่นๆ เข้ามาเป็นญัตติสาธารณะของสังคมไทย โดยไม่ปล่อยให้ฝ่ายรัฐหรือฝ่ายผู้แยกดินแดน เป็นผู้สร้างและเผยแพร่ญัตติแต่ผู้เดียว

อย่างน้อย สิ่งที่ง่ายที่สุดคือ น่าจะมีวิทยุชุมชนกระจายไปตามชุมชนต่างๆ ให้กว้าง จะออกอากาศในภาษามลายูก็ได้ หรือถ่ายทอดคำสอนของโต๊ะครูที่ท่านนับถือออกไปถึงบ้านเรือนประชาชนก็ได้ นำข่าวคราวของประเทศไทยและของโลกมาบอกเล่าแก่พี่น้องตามมุมมองของท่านเอง

ตาม พ.ร.บ.การศึกษา ท่านมีสิทธิจะจัดการศึกษาให้แก่บุตรหลานและชุมชนของท่านเอง รัฐธรรมนูญก็รับรองสิทธิอันนี้ของท่านในบางมาตรา ฉะนั้นแทนที่จะปล่อยให้ระบบการศึกษาตามวัฒนธรรมมลายูมุสลิมถูกกล่าวหาประหนึ่งว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ท่านสามารถโยงระบบการศึกษาของท่านให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. เช่น ปอเนาะ และตาดีกาคือศูนย์การเรียนรู้ซึ่ง พ.ร.บ.รับรองให้สามารถเปิดดำเนินการได้อยู่แล้ว

ส่วนการจะแปลงปอเนาะให้เป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในกำกับของรัฐหรือไม่ น่าจะเป็นทางเลือกของท่านเอง ไม่ใช่เป็นทางเดียวที่จะต้องเดินตามคำสั่งของรัฐ หากรัฐมีนโยบายที่จะแปลงปอเนาะให้มาอยู่ในกำกับให้ได้ ก็เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องทำให้มีข้อได้เปรียบแก่โรงเรียนที่จะทำเช่นนั้นอย่างเป็นที่ประจักษ์แจ้งเอง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือเข้ามาแข่งขันกันอย่างเสรีและเป็นธรรมอย่างที่รัฐชอบพูดนั่นแหละ

ประชาชนในหลายพื้นที่ แม้ในภาคใต้ด้วยกันเอง ประสบความสำเร็จในการรวมตัวกันเพื่อปกป้องทรัพยากรในท้องถิ่น เช่น ชาวประมงที่อ่าวสิเกา จังหวัดตรัง รวมตัวกันปกป้องทรัพยากรชายฝั่งจากการทำลายของเรืออวนลากอวนรุนของนายทุน ไม่ใช่ด้วยวิธีรุนแรงผิดกฎหมาย แต่โดยอาศัยกฎหมายซึ่งเจ้าหน้าที่หลีกเลี่ยงไม่ยอมบังคับใช้ เมื่อประชาชนรวมตัวกันได้ ก็เริ่มมีอำนาจที่จะเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาคมากขึ้น ประชาชนมลายูมุสลิมก็เผชิญกับการบุกรุกช่วงชิงทรัพยากรจากรัฐและทุนอย่างหนักเหมือนประชาชนในพื้นที่อื่น ท่านสามารถรวมตัวกันปกป้องทรัพยากรของท่านได้เช่นเดียวกัน

บนเวทีประเทศไทย มีประชาชนระดับล่างอย่างท่าน เคลื่อนไหวโดยสันติ เพื่อมีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมชีวิตของตนเองอยู่มากมาย คนเหล่านี้พร้อมจะยื่นมือออกไปจับมือกับประชาชนเล็กๆ ทั่วไป ไม่เลือกผิวพรรณ, ศาสนา และเชื้อชาติ(ดูงานศพของคุณเจริญ วัดอักษร เป็นตัวอย่าง) ฉะนั้นหากประชาชนมลายูมุสลิมพร้อมจะก้าวขึ้นมาบนเวทีประเทศไทย ท่านจะไม่โดดเดี่ยว และท่านจะได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์, ยุทธวิธี และการหนุนช่วยจากประชาชนในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศไทย

ท่านไม่จำเป็นต้องเป็นเหยื่อของรัฐและกลุ่มผู้แยกดินแดนอีกต่อไป มีอะไรที่เราทุกคนจะได้เรียนรู้ และเสริมสร้างพลังของเราเองอีกมากมายบนเวทีแห่งนี้ ขอแต่ให้ก้าวขึ้นมา

3. ปอเนาะ
อันที่จริง การเรียกปอเนาะว่าโรงเรียนปอเนาะทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปคนละเรื่อง อย่างเดียวกับที่เกิดในการเรียกการศึกษาของวัดว่าโรงเรียนวัด เพราะปอเนาะและวัดเป็นระบบการศึกษาอีกอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่การศึกษาระบบโรงเรียน อันเป็นระบบการศึกษาที่เกิดขึ้นเพื่อรับใช้การผลิตในระบบอุตสาหกรรม

ในทุกวันนี้ เรามองเห็นความบกพร่องในระบบโรงเรียนหลายอย่าง และในทุกสังคมไทยได้พยายามปฏิรูประบบโรงเรียนเพื่อแก้ไขความบกพร่องนั้น น่าประหลาดที่ว่าหลายอย่างที่เป็นเป้าหมายของการปฏิรูประบบโรงเรียนนั้น กลับไปตรงกับการจัดการศึกษาระบบปอเนาะและวัด

น่าเสียดายที่การศึกษาระบบวัดของไทยถูกทำลายไปจนไม่เหลือซาก อันเป็นผลมาจากการปฏิรูปศาสนาและการสร้างระบบการศึกษามวลชนนับตั้งแต่ ร.๕ เป็นต้นมา และนี่คงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้คนไทยทั่วไปไม่เข้าใจการศึกษาระบบปอเนาะ หรือพยายามอธิบายระบบการศึกษาแบบนี้อย่างผิดฝาผิดตัว ด้วยการถือการศึกษาระบบโรงเรียนเป็นเกณฑ์สำหรับเทียบ

เช่น เมื่อไม่รู้จะเทียบการศึกษาในปอเนาะเท่ากับมาตรฐานอะไรในระบบโรงเรียน ก็มักจะเทียบกับโรงเรียนประถมหรืออย่างเก่งก็มัธยมต้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว โต๊ะปาเก (ผู้เรียนในปอเนาะ) ล้วนจบชั้นประถมศึกษามาแล้ว บางรายอาจจบปริญญาตรีแล้วด้วยซ้ำ เพราะปอเนาะ "สอนศาสนา" จากความรู้ขั้นพื้นฐานไปจนกระดับสูง ชนิดที่ผู้จบการศึกษาแล้วอาจกลายเป็นอุลามะ (ผู้รู้ทางศาสนา) ได้เลย ขึ้นอยู่กับว่าโต๊ะบาบอ (โต๊ะครูผู้ดำเนินกิจการปอเนาะ) จะมีความรู้สูงมากเท่าไร

ผมใส่เครื่องหมายคำพูดลงไว้กับวลีว่า "สอนศาสนา" ก็เพราะ ถ้าคิดถึงการศึกษาระบบโรงเรียน ศาสนาก็เป็นเพียงวิชาหนึ่งเท่านั้น แต่ถ้าคิดแบบปอเนาะหรือวัด ศาสนาเป็นทุกวิชา ความรู้ใดๆ ก็ตามย่อมมีขึ้นหรือถูกใช้เพื่อเป้าหมายบั้นปลายทางศาสนาทั้งสิ้น เช่น ดำรงชุมชนมุสลิมให้มีสันติสุข หรือถ้าเป็นวัดก็จะทำให้มองเห็นพระไตรลักษณ์ได้แจ่มชัดขึ้น

โดยอุดมคติแล้ว ความรู้ทางศาสนาสำหรับมุสลิมไม่ได้มีไว้ไปสอบสนามหลวง แต่มีเพื่อนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เขาเชื่อว่าความรู้ทางศาสนานี้เป็นพื้นฐานให้ไปทำอะไรก็ดีทั้งนั้น นับตั้งแต่ตั้งหลักปักฐานมีครอบครัว ไปจนถึงประกอบอาชีพการงานเลี้ยงชีพ หรือช่วยเหลือสังคมและเป็นผู้นำไปในทางดีให้แก่สังคม... สังเกตนะครับว่าดีทั้งนั้น ไม่ได้แปลว่าได้ทั้งนั้น

ฉะนั้น เวลาไปบอกชาวมุสลิมว่า เพราะไม่ยอมเรียนแพทย์, เรียนวิศวะ เลยทำให้ไม่รวย เขาก็คงงง เพราะเป้าหมายการศึกษาของเขาคือความดี ไม่ใช่ความรวย นี่แหละครับที่ผมบอกว่าผิดฝาผิดตัว เพราะเป็นระบบการศึกษาที่แตกต่างกันตั้งแต่ระดับรากฐานไปจนถึงเป้าหมายปลายทางเลย

อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ปอเนาะ มาจากคำว่า pondok แปลว่า กระท่อม ซึ่งเป็นคำบรรยายปอเนาะที่เหมาะเหม็งมากที่สุด ไม่ใช่ในแง่สถาปัตยกรรมหรือโครงสร้างของสถานที่นะครับ เพราะปัจจุบันก็เปลี่ยนรูปโฉมจากกระท่อมไปมากแล้ว แต่ที่สำคัญก็คือ กระท่อมให้ความหมายว่าปอเนาะเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ โดยมีโต๊ะบาบอหรือโต๊ะครูที่เป็นผู้สร้างเป็นศูนย์กลาง

แล้วเขาก็เป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้จริงๆ เสียด้วย ในขณะที่มหาวิทยาลัยซึ่งอยากทำตัวเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้เหมือนกัน ทำได้แค่กายภาพเท่านั้น (มีตึกคณะต่างๆ, มีตึกอธิการ, แล้วก็มีหอพักนักศึกษา และบ้านพักอาจารย์ ซึ่งทั้งหมดนี้แทบไม่มีความสัมพันธ์อะไรกันเลย จนแยกกันอยู่คนละพื้นที่ก็ได้ เพียงแต่ไม่มีโอกาสสร้างรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น)

ปอเนาะเริ่มขึ้นจากโต๊ะครูผู้มีความรู้เปิดบ้านสอน หากเป็นผู้มีความรู้ลูกศิษย์ลูกหาก็เพิ่มมากขึ้น จนต้องสร้าง "บาลาเซาะห์" หรือ ศาลาโถงใหญ่ไว้หน้าเรือน เพื่อใช้สอนและประกอบศาสนกิจบางอย่าง ส่วนลูกศิษย์ลูกหาซึ่งมักเดินทางมาจากที่ไกลๆ ก็จะมาสร้างกระท่อมอยู่แวดล้อมโต๊ะครู เมื่อสำเร็จการศึกษาไปแล้วก็ยกกระท่อมนั้นเป็นสมบัติของปอเนาะ เพื่อศิษย์รุ่นหลังจะได้ใช้ต่อไป

ปอเนาะจะแบ่งบริเวณระหว่างศิษย์หญิงชาย บางครั้งมีบริเวณพิเศษสำหรับโต๊ะปาเกที่มีครอบครัวแล้ว

การเรียนปอเนาะไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน การสอนศาสนาไม่ใช่การหารายได้ โต๊ะครูอาจมีเรือกสวนไร่นาของตนเอง พอยังชีพได้ หากไม่มีใครรวยขึ้นมาจากการทำปอเนาะ ส่วนศิษย์ต้องรับผิดชอบการอยู่กินของตนเอง รายที่ทางบ้านไม่มีเงินส่งเสีย ก็อาจหารายได้อื่นๆ จุนเจือตัวเองไปด้วย เช่นรับจ้างกรีดยาง เป็นต้น

รายได้เล็กน้อยอีกหนทางหนึ่งของโต๊ะครูก็คือ อาจได้รับส่วนแบ่งซากาต (หรือเงินบริจาคแก่ชุมชนตามข้อบังคับทางศาสนาทุกปี) เพราะถือว่าเป็นผู้ที่ทำงานอุทิศตนให้แก่ศาสนาโดยไม่มีรายได้เป็นชิ้นเป็นอัน (เปรียบเทียบกับการตักบาตรและการทำบุญที่วัดของชาวบ้าน)

นี่ไงครับ ภาษี "ศึกษาพลี" ซึ่งรัฐบาลสยามพยายามจะตั้งขึ้นในรัชกาลที่ ๖ แล้วล้มเหลวสืบมาจนถึงทุกวันนี้

ในขณะที่เรากำลังพูดถึงการเปิดโอกาสการศึกษาแก่ทุกคน ปอเนาะเป็นอีกระบบหนึ่งที่เปิดโอกาสให้คนอยากเรียนได้เรียนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นลูกนายกฯ หรือลูกโจร

สิ่งที่สอนกันในปอเนาะนั้นสรุปเหลือเพียงสองอย่าง คือ ภาษามลายูและอาหรับ เพื่อจะได้สามารถอ่านตำรับตำราได้เอง และวิชาที่เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม ซึ่งประกอบด้วยฟิกฮ์และตะเซาอุฟ วิชาแรกว่าด้วยกฎหมาย บทบัญญัติ และการดำเนินชีวิตตามครรลองของศาสนา อันเป็นจริยวัตรของชาวมุสลิม ส่วนวิชาที่สองเกี่ยวกับหลักการพัฒนาจิตใจ

ถ้าถามว่าแคบไปไหม ? คำตอบก็คือ แคบไปเมื่อเทียบกับหลักสูตรในระบบโรงเรียนปัจจุบัน แต่สิ่งที่ปอเนาะสอนนั้นไม่ได้ออกมาจากปากโต๊ะครูเพียงอย่างเดียว หากวิถีดำเนินชีวิตในปอเนาะทั้งหมดก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญมากของหลักสูตร

การอยู่ร่วมกันอย่างสันติและเกื้อกูลกันของโต๊ะปาเก, การปฏิบัติต่อโต๊ะครูและมามา (ภรรยาของโต๊ะครู), การเข้าไปมีส่วนร่วมในพิธีกรรมและกิจกรรมของชุมชนที่ปอเนาะตั้งอยู่, การทำมาหากิน, การครองเรือน (ในกรณีที่โต๊ะปาเกมีครอบครัวแล้ว), การมีวินัยทั้งในทางกาย, วาจา, ใจ ตามระเบียบของปอเนาะ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนมีส่วนสร้าง "บัณฑิต" ที่แท้จริงออกมาจากปอเนาะ

เป็นการศึกษาที่สำคัญกว่าวิชาชีพมากนัก เพราะเอาเข้าจริง วิชาชีพต่างๆ ที่เรายกย่องนั้น หากตั้งใจอยากรู้จริงก็เรียนได้ไม่ยากสักวิชา แต่การสร้างบุคลิกภาพที่มีศาสนธรรมเป็นพื้นฐานต่างหากที่ยากกว่าและสำคัญกว่า ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า เมื่อจบปอเนาะแล้ว อยากเรียนรู้อะไรอีกในสังคมไทย เราได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะตอบสนองความอยากรู้อยากเห็นของผู้คนมากแค่ไหน เช่น มีห้องสมุด, หอศิลป์, พิพิธภัณฑ์, หนังดีๆ, รายการทีวีดีๆ ฯลฯ ให้เขาได้เรียนรู้บ้างไหม

การศึกษาในปอเนาะจึงไม่ใช่การศึกษาที่ล้าหลัง ถ้าจะมีอะไรล้าหลังก็คือการจัดการด้านการเรียนรู้ของสังคมไทยปัจจุบันมากกว่า กล่าวคือ ไม่มีแหล่งเรียนรู้อะไรอีกเลยนอกจากห้องเรียน

นอกจากนี้แล้ว โต๊ะปาเกและโต๊ะบาบอจะมีความสัมพันธ์กันอยู่เสมอ ทุกคืนวันพฤหัสฯ จะมีการประชุมโดยบาบอจะสรุปสิ่งที่เรียนกันมาตลอดสัปดาห์ให้ฟัง พร้อมทั้งชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของการเรียนแต่ละคน ในขณะเดียวกันก็จะขอความเห็นจากโต๊ะปาเกในเรื่องที่เกี่ยวกับส่วนรวมด้วย เท่ากับศิษย์มีส่วนร่วมในการบริหารสถาบันไปพร้อมกันด้วย อันเป็นสิ่งที่การปฏิรูปการศึกษาพูดถึง แต่ไม่มีสถาบันใดทำได้จริงสักแห่ง นับตั้งแต่อนุบาลยันมหาวิทยาลัย

อีกด้านหนึ่งของการศึกษาระบบปอเนาะก็คือ มีการศึกษาต่อเนื่องในระบบ โดยเฉพาะคนที่ต้องการเป็นอุลามะที่รู้ศาสนาลึกซึ้ง เพราะเขาจะย้ายปอเนาะไปหาโต๊ะครูที่เก่งในทางที่เขาสนใจไปได้เรื่อยๆ ไม่ต่างจาก "สำนัก" ของระบบการศึกษาในวัดต่างๆ เมื่อสมัยโบราณ ศิษย์สามารถเสาะหาอาจารย์ดีๆ ได้เรื่อยไปจนกว่าจะพอใจ ส่วนใหญ่อาจารย์เก่าก็เป็นผู้ฝากฝังให้ไปหาครูดีคนใหม่นั่นเอง

ในส่วนคนที่พอใจจะเรียนรู้ศาสนาเท่าที่จะดำเนินชีวิตเป็นมุสลิมที่ดี ก็อาจออกไปทำมาหากินเมื่อมีความรู้พอสมควรแล้ว พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การ "สำเร็จการศึกษา" เป็นสิ่งที่ผู้เรียนต้องมีส่วนอย่างสำคัญในการประเมิน เพราะชีวิตแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทำไมต้องใช้ปริญญาบัตรใบเดียวกันล่ะ

และเช่นเดียวกับ ระบบการศึกษาของวัดในสมัยโบราณ แต่ละสำนักมีเครือข่ายออกไปได้กว้างไกล เช่นปอเนาะภูมี (อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี) เป็นปอเนาะที่มีชื่อเสียงมาก เพราะผู้ก่อตั้งคือโต๊ะครูวันอะห์หมัด เป็นวันอิดริส เป็นนักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียง ฉะนั้น ท่านจึงมีศิษย์ที่โด่งดังและกลายเป็นโต๊ะครูมหาศาล (มีศิษย์มาก) ทั้งในปัตตานี ข้ามไปหลายรัฐของมาเลเซีย, พม่า, กัมพูชา, และขึ้นมากรุงเทพฯ, นนทบุรี และปทุมธานี

ตามประวัติ ตัวท่านเองเมื่อไปศึกษาที่เมกกะ ก็ได้เป็นศิษย์ของโต๊ะครูชาวปัตตานีผู้มีชื่อเสียงที่นั่นอยู่หลายปี แสดงว่าเครือข่ายของวิชาความรู้ด้านอิสลามของปัตตานีนั้น มีลักษณะโลกาภิวัตน์มาก่อนการศึกษาไทยในระบบโรงเรียนเสียอีก

ผมคิดว่า เมื่อไรที่เราพูดถึงปอเนาะ เรากำลังพูดถึงระบบการศึกษาอีกชนิดหนึ่งซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงจากการศึกษาระบบโรงเรียนที่เราเคยชิน และถูกหลอกให้เชื่อว่าดีที่สุด ฉะนั้น จึงไม่ควรพยายามดึงให้ปอเนาะ "เข้าระบบ" เพราะที่จริงเขามี "ระบบ" ของเขาอยู่แล้ว และหลายเรื่องด้วยกันก็ดีกว่า "ระบบ" ของเราด้วย

อันที่จริงถ้าว่าตามรัฐธรรมนูญแล้ว ปอเนาะเป็นระบบวัฒนธรรมท้องถิ่นซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองให้ดำรงอยู่ได้สืบไป จึงอาจถือได้ว่าเป็นการศึกษาทางเลือกอย่างหนึ่ง ถ้าพูดกันด้วย พ.ร.บ.การศึกษา ปอเนาะคือศูนย์การเรียนรู้ ถึงกระนั้นผมก็ไม่อยากอ้างกฎหมาย เท่ากับอยากให้เราคิดอย่างไม่ยึดติดอยู่กับการศึกษาระบบโรงเรียนเป็นหลักเพียงอย่างเดียว

"การศึกษาในระบบ" ไม่น่าจะหมายความว่า มีอยู่ในระบบเดียวโด่เด่ แต่น่าจะหมายความว่าระบบการศึกษาซึ่งอาจมีหลายระบบตั้งอยู่คู่เคียงกัน แต่มีช่องทางที่อาจถ่ายโอนระหว่างกันได้ตลอดไป ไม่ใช่ถ่ายโอนเฉพาะนักเรียนนะครับ แต่ถ่ายโอนข้อดีของแต่ละระบบเข้าหากันได้ด้วย

การเข้าใจวัฒนธรรมของมุสลิมมลายูในภาคใต้นั้นดีแน่ แต่ผมคิดว่าไม่เพียงพอ นอกจากเข้าใจแล้วต้องนอบน้อมถ่อมตัวด้วย อย่านึกแต่เพียงว่าจะไปเปลี่ยนเขาให้เหมือนเราด้วยวิธีละมุนละม่อมเท่านั้น แต่ทุกครั้งที่จะไปทำอะไรกับปอเนาะ ควรนึกถามตัวเองเสมอว่า "มึงแน่มาจากไหน ในเมื่อระบบการศึกษาของมึงที่ลอกฝรั่งมายังไปไม่ถึงไหน สู้ฝรั่งก็ไม่ได้ สู้ประเทศอื่นที่ลอกฝรั่งมาด้วยกันก็ไม่ได้" แล้วเรามีดีอะไรที่จะไปชี้นิ้วสั่งปอเนาะให้ทำโน่นทำนี่

ถ้านอบน้อมถ่อมตนเสียอย่าง เราจะได้เรียนรู้อะไรจากปอเนาะอีกมาก และสามารถนำมาปรับใช้กับการปฏิรูประบบโรงเรียนของเราได้มากเช่นกัน

(อาศัยข้อมูลจากรายงาน "โครงการศึกษาการศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรม กรณีศึกษาบ้านดาโต๊ะและบ้านภูมี ในโครงการสร้างนักวิจัยท้องถิ่นของท่านอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม น่าเสียดายที่ในเอกสารไม่ได้ระบุชื่อนักวิจัยท้องถิ่นไว้)

4. กรือเซะ
กรือเซะกำลังดัง และจะดังต่อไปอีกนานเท่าไรผมก็ไม่รู้ ขึ้นอยู่กับว่าอะไรเกิดขึ้นจริงๆ ที่กรือเซะในวันที่ 28 เมษายน

กรือเซะเป็นมัสยิดเก่าแก่ของปัตตานี มีมาตั้งแต่สมัยที่ปัตตานียังเป็นรัฐอิสระ ทำการค้าระหว่างประเทศกว้างขวางจนปรากฏทั้งชื่อเสียงและเรื่องราวในจดหมายเหตุต่างชาติทั่วไป นับตั้งแต่จีน, ญี่ปุ่น, โปรตุเกส, ฮอลันดา, อังกฤษ, ฝรั่งเศส ว่ากันว่ากรือเซะเป็นมัสยิดที่ก่ออิฐถือปูนแห่งแรกของอุษาคเนย์ด้วย

เพียงเท่านี้กรือเซะก็ไม่ใช่ "โบราณสถาน" ธรรมดาๆ เสียแล้ว ผมคิดว่าถ้าเทียบกับทางพุทธของชาวไทย ก็พอๆ กับพระปฐมเจดีย์ ซึ่งเมื่อตอนที่ไปบูรณะสร้างกันขึ้นใหม่นั้น เชื่อกันว่าเป็นพระสถูปเจดีย์องค์แรกในแผ่นดินไทย เป็นประจักษ์พยานถึงก้าวแรกของพระพุทธศาสนาในภูมิภาคนี้

กรือเซะอาจไม่ถึงขนาดนั้น เพราะตอนที่สร้างกรือเซะนั้น อิสลามได้ลงหลักปักฐานในอุษาคเนย์นานมาแล้ว หรือแม้ในปัตตานีเอง ก็น่าจะมีประชาชนนับถือศาสนาอิสลามมาก่อนที่สุลต่านอิสมาแอล ชาห์ หันมารับนับถือ พระองค์ทรงสร้างมัสยิดกรือเซะขึ้นเนื่องในโอกาสนั้น และด้วยเหตุที่กรือเซะทั้งเก่าแก่ ทั้งเป็นประจักษ์พยานการตั้งมั่นของอิสลามอย่างเป็นทางการในปัตตานี และทั้งแสดงความรุ่งเรืองของปัตตานีในอดีต จึงไม่แปลกที่ชาวมุสลิมในท้องถิ่นจะมีความรู้สึกผูกพันกับกรือเซะมากเป็นพิเศษกว่ามัสยิดทั่วๆ ไป

แต่น่าเสียดายที่ประวัติของกรือเซะที่ถูกนำมาเล่าให้คนนอก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวฟังนั้น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับศาสนาอิสลามหรือความรุ่งเรืองของปัตตานีในอดีตสักเท่าไร เพราะเขาเอานิทานหรือตำนานอันหนึ่งซึ่งเป็นตำนานที่คนเชื้อสายจีนในปัตตานีเล่าสืบกันมาเป็นตัวเล่าเรื่องกรือเซะแทน

นิทานหรือตำนานเรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งผมขอเท้าความแต่ย่อๆ ตามความจำอันเลอะเลือนของผมว่า พี่ชายของเจ้าแม่เดินทางมาค้าขายและตั้งภูมิลำเนาที่ปัตตานี (มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานและทำการค้าของจีนในปัตตานี จนจีนเป็นกลุ่มพ่อค้าใหญ่ของเมือง ทั้งจีน ญี่ปุ่น และฝรั่ง ต่างเล่าไว้ตรงกัน) ได้ดิบได้ดีร่ำรวยขึ้น ดูเหมือนได้แต่งงานกับพระธิดาหรือสตรีสูงศักดิ์ จึงทำให้หันมานับถืออิสลาม

น้องสาวอยู่เมืองจีน เห็นพี่ชายเงียบหายไปนานจึงลงเรือมาตาม ก็พบว่าพี่ชายกลายเป็นมุสลิมไปแล้ว ขอร้องให้กลับบ้านก็ไม่กลับ เพราะยังสร้างมัสยิดกรือเซะไม่เสร็จ ในที่สุดน้องสาวจึงฆ่าตัวตาย กลายเป็นเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว (แน่นอนสิครับ เป็นเจ้าแม่ของจีนอพยพและลูกหลานซึ่งต้องการนิทานหรือตำนานอะไรมายืนยันอัตลักษณ์ของตัว ซึ่งย่อมถูกกระทบกระเทือนด้วยวัฒนธรรมพื้นบ้านเป็นธรรมดา)

ก่อนตาย เจ้าแม่ก็สาปแช่งไม่ให้มัสยิดแห่งนี้สร้างได้สำเร็จ ฉะนั้น จึงเกิดฟ้าผ่าทำลายลง มาในภายหลังสุลต่านแห่งปัตตานีองค์อื่นพยายามสร้างต่อก็ไม่สำเร็จอีก เพราะถูกฟ้าผ่า ฉะนั้น กรือเซะจึงเป็นมัสยิดที่ถูกทิ้งร้างโดยสร้างไม่เสร็จตลอดมา เพราะต้องคำสาปจากเจ้าแม่

แต่ในหลักฐานของต่างชาติและมลายูท้องถิ่น มัสยิดใหญ่หรือกรือเซะ (อันมีชื่อว่าปินตูกรือบังนี้) สร้างเสร็จและใช้เป็นมัสยิดตามปกติด้วย ถ้าผมจำไม่ผิด แต่ก่อนนี้มีร่องรอยเศษกระเบื้องหลังคาตกอยู่ทั่วไปด้วยซ้ำ

ฉะนั้น เรื่องกรือเซะในนิทานหรือตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จึงต้องเกิดขึ้นเมื่อกรือเซะถูกทิ้งร้างไปแล้ว (คือเมื่อเมืองปัตตานีถูกกองทัพไทยโจมตียึดครอง และย้ายไปอยู่ที่เมืองปัตตานีทุกวันนี้ ผู้คนร่วงโรยไปไม่มีกำลังบำรุงมัสยิดใหญ่ขนาดนั้นจนปรักหักพังไปเอง แต่หลักฐานท้องถิ่นกล่าวว่าถูกกองทัพไทยปล้นสะดมและทำลาย)

แม้เป็นตำนานที่เกิดภายหลังกรือเซะนาน แต่กลับถูกนำมาเล่าเป็นประวัติของกรือเซะไปเสียฉิบ

ผมไม่ทราบว่า เมื่อก่อนที่การท่องเที่ยวจะเฟื่องฟูในปัตตานี (ที่จริงปัตตานีตอนนั้นอยู่นอกแผนที่ของนักท่องเที่ยวทั้งไทย, ฝรั่ง, เจ๊กสิงคโปร์ และมาเลเซีย) ชาวมุสลิมในท้องถิ่นรู้สึกอย่างไรกับนิทานหรือตำนานกรือเซะที่ปรากฏในเรื่องเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว อาจไม่รู้เรื่องเลยก็ได้ เพราะไม่ได้ถูกเล่าบ่อยนัก

ยิ่งกว่านั้น เศรษฐกิจปัตตานีในตอนนั้นยังเป็นเศรษฐกิจชนบทขนานแท้และดั้งเดิม กล่าวคือ มีนายทุนเชื้อสายจีนอยู่ในเมือง สัมพันธ์กับคนท้องถิ่นต่างๆ เช่น รับซื้อยางส่งไปขายหาดใหญ่ เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่ของคนปัตตานีทำเศรษฐกิจพอยังชีพ อยู่ชายทะเลก็ทำประมงชายฝั่ง อยู่บนบกก็ทำนาหรือทำสวนผสมกับยางพารา ถึงอยู่ใกล้กันระหว่างคนต่างเชื้อชาติศาสนา แต่ก็ไกลกันเพราะมีเส้นแบ่งที่ทำให้ต่างคนต่างอยู่ได้

ฉะนั้น เมื่อตอนผมไปเที่ยวปัตตานีครั้งแรก และอุตส่าห์ดั้นด้นไปกรือเซะ ผมจึงพบว่าเป็นโบราณสถานอันหนึ่ง มีเสาและผนังบางส่วนเหลืออยู่ ซึ่งเท่าที่ดูด้วยสายตาของนักท่องเที่ยวก็ไม่เห็นชาวบ้านแถบนั้นให้ความสำคัญเป็นพิเศษ (เตือนไว้ด้วยนะครับว่า นักท่องเที่ยวมองเข้าไปไม่เห็นหัวใจเจ้าของพื้นที่หรอกครับ) ผมจำได้ว่าไม่ได้พบชาวมุสลิมจากที่ไกลๆ ซึ่งเดินทางมา "จาริกแสวงบุญ" ที่นี่สักคน (ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว อิสลามไม่ได้สนับสนุนให้ทำ ยกเว้นการไปฮัจย์ แต่เป็นวิถีปฏิบัติที่มุสลิมในอุษาคเนย์และอินเดียทำอยู่มาก) แต่อาจจะเป็นเพราะผมไปถึงตอนบ่ายแดดจัด ไม่ใช่เวลาและทำละหมาดก็ได้

ผมสวมรองเท้าเดินขึ้นไปดูโน่นดูนี่แบบนักท่องเที่ยวทั่วไป ซึ่งควรอยู่บ้านอ่านหนังสือ จะได้ความรู้มากกว่า ชาวบ้านไม่ได้สนใจสิ่งเหล่านี้ เพราะเขาคงเคยเห็นบ่อยจนชินไปแล้ว แต่ครั้งสุดท้ายที่ผมไปเที่ยวกรือเซะ (ซึ่งก็นานมากแล้ว) สถานการณ์เปลี่ยนไปหมด แม้โบราณสถานเหมือนเดิมทุกอย่าง คือยังไม่มีการสร้างเติมเสริมต่อ

เริ่มจากบนพื้นที่เคยเป็นมัสยิดนั่นสะอาดขึ้น เหมือนมีคนมาถากถางวัชพืชและปัดกวาด นอกจากนี้ชาวบ้านบางคนจ้องมองดูพวกเราอยู่โดยเราไม่รู้ตัว ครั้นเมื่อผมย่างเท้าจะขึ้นไปบนลานกลางแจ้งนั้น ชายหนุ่มคนหนึ่งก็เดินมาสะกิดผมแล้วบอกให้ถอดรองเท้าเสีย เพราะเป็นศาสนสถาน ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่กำลังมีความขัดแย้งระหว่างกรมศิลปากรกับชาวมุสลิม (จะหมายถึงใครบ้างผมก็ไม่ทราบ-ชาวบ้าน, กรรมการมุสลิมประจำจังหวัด, กรรมการกลาง, ผู้นำทางศาสนา, ฯลฯ ไม่ทราบว่าใคร ?) เพราะเขาต้องการฟื้นฟูกรือเซะให้กลับมาเป็นมัสยิดใหม่ โดยการสร้างเสริมเติมต่อให้ใช้การได้

คิดจากจุดยืนของชาวมุสลิมบ้างนะครับ นิทานหรือตำนานลิ้มกอเหนี่ยวบอกว่าผี (เจ๊ก) ใหญ่กว่าศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า แม้จะสร้างศาสนสถานเพื่อประกอบศาสนกิจตามพระบัญชา ผียังบันดาลให้ฟ้าผ่าจนสร้างไม่สำเร็จ ฉะนั้น ก็ต้องพิสูจน์ว่าความเฮี้ยนในตำนานนั้นไม่จริง ทั้งนี้ยังไม่นับสัญลักษณ์อันน่าภาคภูมิใจที่กรือเซะมีต่อชาวมุสลิมตามประวัติศาสตร์อีกด้วย

กรมศิลปากรไม่ยอมรับ อ้างว่าเป็น "โบราณสถาน" ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2478 ฉะนั้น จะไปสร้างเสริมเติมต่อและเอาไปใช้ไม่ได้ ผมเข้าใจว่าความขัดแย้งนี้ไม่เคยลงเอย แต่ในที่สุดชาวมุสลิมก็สร้างหลังคาง่ายๆ ขึ้นคลุม "โบราณสถาน" ของกรมศิลปากร แล้วใช้เป็นมัสยิดสืบมา อย่างที่เราเห็นในภาพข่าว ซึ่งผมยอมรับว่าไม่น่าดูเท่าไร

แต่ในขณะเดียวกัน ผมก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไม "โบราณสถาน" ที่ขึ้นทะเบียนแล้วจึงใช้ไม่ได้ ก็วิหารพระพุทธชินราชก็เป็น "โบราณสถาน" ที่ขึ้นทะเบียนแล้วเหมือนกัน ก็เห็นทั้งพระทั้งฆราวาสใช้กันอยู่หนาแน่น ซ้ำร้ายทั้งกรมศิลปากรไม่ค่อยระวัง ปล่อยให้มีการปรุงแต่งบางส่วนจนทำให้แสงเข้าสู่ภายในอาคารมากเกินไปด้วย

ถ้าชาวมุสลลิมอยากใช้กรือเซะเป็นมัสยิด ก็ต้องปรับปรุงให้ใช้การได้เป็นธรรมดา จะบอกว่าให้ไปสร้างมัสยิดใหม่ที่อื่น ก็เหมือนบอกพวกเราชาวพุทธว่า ยกพระปฐมเจดีย์ไปวางไว้ที่อื่น ก็วางได้เหมือนกันนะครับ แต่มันไม่เหมือนกันทั้งความรู้สึก, ทั้งศรัทธาปสาทะ จะบอกว่าชาวพุทธหาเรื่องคงไม่ได้

ผมจึงเห็นว่าความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมและกรมศิลป์นั้น ไม่มีความจำเป็นเลย กรมศิลป์มีทั้งความสามารถ และกำลังทุน (ถ้าชี้แจงให้รัฐบาลเข้าใจ) ที่จะอุดหนุนให้สร้างเสริมเติมต่อกรือเซะอย่างถูกหลักวิชาการด้วยซ้ำ จนได้มัสยิดที่สง่างามและรักษาโบราณสถานไปได้พร้อมกัน

ฉะนั้น เมื่อมีเหตุจำเป็นต้องบุรณะกรือเซะในครั้งนี้ ผมจึงอยากเห็นการริเริ่มไปในทิศทางดังกล่าว นั้นก็คือ อย่าทำเพียงให้ชาวมุสลิมได้มัสยิดทึมๆ อย่างเก่าอีกเลย แต่กรมศิลปากร (แน่นอน โดยการอุดหนุนของรัฐบาล) ควรศึกษารูปแบบเดิมของกรือเซะจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ผมควรกล่าวด้วยว่ามีอยู่พอสมควรทีเดียว ทั้งภาพลายเส้นและคำบรรยายที่ชาวต่างชาติได้เขียนไว้ในหลายภาษา หากติดตามศึกษาให้ถ้วนถี่ก็จะสามารถสร้างกรือเซะกลับมาใหม่ให้สวยงาม และตรงตามความเป็นจริงด้วย

กรมศิลปากรรู้อยู่แล้วว่า จะใช้วิธีก่อสร้างอย่างไรจึงจะสามารถแยกสิ่งที่มีอยู่เดิมกับสิ่งที่เสริมใหม่เข้าไปได้ อีกทั้งรู้ว่าจะต้องตรวจสอบฐานรากและเสริมส่วนรับน้ำหนักอย่างไร จึงสร้างได้โดยของเก่าที่เหลืออยู่ไม่พังลงมาด้วย ผมคิดว่ากรือเซะน่าจะเป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ไม่ว่าจะนับถือศาสนาอะไร เพราะนี่เป็นการแสดงความรุ่งเรืองทางการค้าในอดีตของ "แผ่นดินเกิด" ของเรา ซึ่งมีความหลากหลายอันเราต้องยอมรับ

ผมควรกล่าวด้วยว่า ศาสนาอิสลามนั้นอาจแพร่มาถึงปัตตานีก่อนเมืองปะไซบนฝั่งสุมาตราก็ได้ ถึงไม่ก่อนก็ไม่ได้มาจากสายเดียวกัน นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าเป็นอิสลามจากสายเหนือคือจากจีน ไม่ได้ขยายมาจากมะละกาเหมือนอิสลามในรัฐมลายูทั่วไป

เพียงแค่นี้ผมก็เห็นว่าน่าภาคภูมิใจสำหรับคนไทยแล้ว เพราะประจักษ์พยานหนึ่งของความหลากหลายกระแสของอิสลามในอุษาคเนย์นั้น พึงดูได้จากมัสยิดกรือเซะซึ่งได้ซ่อมปรุงจนเหมือนเดิมโดยฝีมือรัฐบาลไทย หากแขกเมืองของเราลงไปทางใต้ กรือเซะก็เป็นอีกทีหนึ่งซึ่งเราอาจนำไปอวดของดีของเราได้ ถ้าเขาเป็นมุสลิมเขาก็อาจร่วมละหมาดกับชาวบ้านที่กรือเซะได้ด้วย ถ้าความทรงจำของเขาเกี่ยวกับประเทศไทยเป็นไปในทางดี เขาคงไม่ลืมว่าเขาได้ละหมาดในมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย

ถ้าเชื่อผม อย่าลืมคุยกับชาวบ้านและชาวมุสลิมในท้องถิ่นด้วย ถึงเขาจะเป็นเจ้าของกรือเซะร่วมกับคนไทยคนอื่นก็จริง แต่เขานั่นแหละที่จะเป็นผู้รักษากรือเซะอันยิ่งใหญ่ไว้สืบไปในแผ่นดินนี้ ฉะนั้น ต้องฟังเขาพร้อมๆ กันไปกับฟังผู้เชี่ยวชาญของกรม หากขัดแย้งกันก็สามารถโต้แย้งถกเถียงกันได้โดยเปิดเผยและเท่าเทียมกัน


สนใจบทความเรื่องนี้ ตอนที่สอง คลิก

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 400 เรื่อง หนากว่า 4500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




ขณะนี้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ผลิตบทความทั้งหมดบนเว็ปในรูปของซีดีรอมเพื่อจำหน่าย สนใจ สั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com

 

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณขาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

จากประสบการณ์ของประชาชนไทยในที่อื่นๆ แม้แต่ในหมู่ประชาชนที่รัฐไม่มีอคติทางชาติพันธุ์และศาสนา รัฐก็ไม่ใช่สถาบันที่น่าไว้วางใจให้เป็นผู้กำหนดชะตากรรมของผู้คนทุกกลุ่มแต่ฝ่ายเดียว เพราะรัฐใดๆ ก็ตามไม่เคยเป็นกลางระหว่างผลประโยชน์ของคนทุกกลุ่มในสังคมจริงสักแห่งเดียว คนแต่ละกลุ่มจะสามารถต่อรอง, ต่อสู้ และผลักดันผลประโยชน์ของตนเองได้ ก็ต้องไต่เต้าขึ้นไปในโครงสร้างอำนาจที่จะทำให้เสียงของตนดังพอที่รัฐจะต้องรับฟัง


โดยอุดมคติแล้ว ความรู้ทางศาสนาสำหรับมุสลิมไม่ได้มีไว้ไปสอบสนามหลวง แต่มีเพื่อนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เขาเชื่อว่าความรู้ทางศาสนานี้เป็นพื้นฐานให้ไปทำอะไรก็ดีทั้งนั้น นับตั้งแต่ตั้งหลักปักฐานมีครอบครัว ไปจนถึงประกอบอาชีพการงานเลี้ยงชีพ หรือช่วยเหลือสังคมและเป็นผู้นำไปในทางดีให้แก่สังคม... สังเกตนะครับว่าดีทั้งนั้น ไม่ได้แปลว่าได้ทั้งนั้น
ฉะนั้น เวลาไปบอกชาวมุสลิมว่า เพราะไม่ยอมเรียนแพทย์, เรียนวิศวะ เลยทำให้ไม่รวย เขาก็คงงง เพราะเป้าหมายการศึกษาของเขาคือความดี ไม่ใช่ความรวย นี่แหละครับที่ผมบอกว่าผิดฝาผิดตัว เพราะเป็นระบบการศึกษาที่แตกต่างกันตั้งแต่ระดับรากฐานไปจนถึงเป้าหมายปลายทางเลยทีเดียว