มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

บทวิเคราะห์ภาพยนตร์ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 415 หัวเรื่อง
ภาพยนตร์เกี่ยวกับเด็ก-โรงเรียน
สมชาย บำรุงวงศ์
นักเขียนอิสระ
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

R
relate topic
300647
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
H
ภาพยนตร์ที่ได้ให้ภาพความสัมพันธ์เชิงอำนาจในโรงเรียน ครู และนักเรียนได้ชัดเจน
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


บางประเด็นเกี่ยวกับโรงเรียน
ภาพสะท้อนอำนาจนิยมในโรงเรียนผ่านภาพยนตร์เรื่อง KES
โดย : สมชาย บำรุงวงศ์
นักเขียนอิสระ - สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 7 หน้ากระดาษ A4)

 

เพื่อนผมเขาเห็นผมเขียนเกี่ยวกับเรื่องเด็กเรื่องโรงเรียน ได้เอื้อเฟื้อหนังมาให้ผมดูเรื่องหนึ่งชื่อ เคส เป็นหนังจากอังกฤษที่สร้างตั้งแต่ปีค.ศ. 1969 แม้จะผ่านมาตั้งสามสิบกว่าปีแล้ว แต่ประเด็นที่หนังนำเสนอยังดูทันสมัยไม่พ้นยุค อดไม่ได้ที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง

สถานที่ของเรื่องคือบาร์นสลีย์ เมืองอุตสาหกรรมในประเทศอังกฤษ เรื่องย่อมีว่า

เด็กชายคนหนึ่งชื่อบิลลี่ อยู่กับแม่ (พ่อแยกทางไปก่อนนานแล้ว) และพี่ชายที่วัยห่างกันมาก ในสภาพค่อนข้างอัตคัด ทั้งในบ้านยังหาความสงบสุขไม่ได้ บิลลี่ต้องทำงานหาเงินด้วยการส่งหนังสือพิมพ์ตามบ้านในตอนเช้า จากนั้นจึงไปโรงเรียน วันหยุดบิลลี่ชอบเที่ยวไปตามป่าละเมาะแถวบ้าน วันหนึ่งเขาได้ไปเจอเข้ากับรังเหยี่ยวชวาบนหลังคาสูงของบ้านหลังหนึ่ง การได้เห็นการบินร่อนอันสง่างามของมัน ทำให้บิลลี่นึกอยากเลี้ยงลูกเหยี่ยวไว้ฝึกบิน เขาเสาะหาตำราการฝึกเหยี่ยวมาอ่าน ก่อนจะปีนขึ้นไปขโมยลูกเหยี่ยวมาเลี้ยงและฝึก และทำได้สำเร็จ

บิลลี่ไม่ลงรอยกับจู๊ด พี่ชายที่ชอบข่มเหงเขาทั้งด้วยวาจาและกำลัง ทั้งสองเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมาตลอด โดยบิลลี่เป็นฝ่ายยอมลงให้ วันหนึ่งจู๊ดซึ่งชอบเล่นพนันแทงม้า ทิ้งเงินและฝากโพยให้บิลลี่ไปแทงแทน แต่บิลลี่ซึ่งเกลียดการพนันได้ไปสืบดูจนเชื่อได้ว่า ม้าที่จู๊ดสั่งให้แทงแทบไม่มีโอกาสชนะ และเขาก็เชื่อเช่นนั้น จึงยักยอกเงินของจู๊ดไว้ ซึ่งหากม้าที่จู๊ดสั่งแทงแพ้จริงๆ จู๊ดก็จะไม่สนใจเงินที่เสียไป

แต่เป็นโชคไม่ดีของบิลลี่ที่การณ์กลับเป็นตรงกันข้าม ม้าของจู๊ดถูกรางวัล จู๊ดเมื่อรู้ความจริงจึงเดือดดาลมาก เขาออกตามหาบิลลี่ แต่บิลลี่ก็ไหวตัวทัน จึงหลบหนีและไม่กลับเข้าบ้านในวันนั้น จนรุ่งเช้าจึงโผล่ไปที่บ้าน และได้รู้ว่าจู๊ดได้ฆ่าลูกเหยี่ยวที่เขารักและฝึกมากับมือเสียแล้วเป็นการทดแทน

หนังสะท้อนปัญหาในครอบครัวและปัญหาครูกับนักเรียนผ่านบิลลี่ ซึ่งต้องเผชิญกับความเลวร้ายไปโดยลำพัง แม่ซึ่งควรปกป้องเขาจากพี่ชายแบบนั้น ก็ไม่อาจทำอะไรได้ ด้วยตัวเธอเองก็ยังต้องการผู้ชายสักคนมาดูแล พ้นจากประตูบ้าน ที่โรงเรียนบิลลี่ก็ต้องเจอกับครูพละจอมถ่อย กับครูฝ่ายปกครองที่บ้าอำนาจ-เจ้าระเบียบและดุราวกับหมาบ้า (ดูเป็นคนป่วยทางจิตมากกว่าเป็นครู) แบบที่เราหาดูได้ไม่ยากในชีวิตจริง ในสภาพที่บ้านก็ไม่อาจเป็นที่พักพิงได้ และโรงเรียนก็ไม่ใช่ที่ที่จะพึ่งได้ แต่กลับซ้ำเติมลงไปอีก

ชีวิตที่มีแต่ตกเป็นเบี้ยล่างเช่นนี้ บิลลี่จึงเป็นเด็กกร้าน เขี้ยว กะล่อนและขี้ขโมย เพื่อพาตัวเองให้อยู่รอดไปได้กับชีวิตที่กะพร่องกะแพร่งและขาดวิ่น และทางออกต่อความบีบคั้นกดดันนี้ บิลลี่เลือกการหาสัตว์มาเลี้ยงเป็นเพื่อน เป็นความสุขอย่างเดียวที่เขาพอจะหาได้ในสภาพชีวิตเช่นนี้

โดยสัดส่วนหนังให้น้ำหนักกับการสะท้อนสภาพในโรงเรียนอยู่มาก ทั้งยังทิ้งประเด็นให้ขบคิดตีความไว้มากมายเช่นประเด็นระบอบเผด็จการในโรงเรียน ที่ถ้าพ่อแม่ของเด็กคนใดนึกภาพไม่ออกว่าลูกหลานของตนอาจต้องเจอกับอะไรบ้างในโรงเรียน ฉากหลายฉากในหนังเรื่องนี้จะตีแผ่ออกมาให้เห็น อย่างยากที่จะปฏิเสธว่า "นี่มันเกินจริงมากไป"

มีฉากที่ให้อารมณ์สะเทือนใจแรงๆอยู่หลายฉาก แต่มีอยู่ฉากหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความมืดบอดและอคติอย่างถึงที่สุดของครูบางประเภทที่มีต่อเด็กนักเรียน คือฉากการทำโทษ

บิลลี่และเด็กอีกสองสามคนถูกครูฝ่ายปกครองเรียกมาทำโทษ โทษฐานที่บ้างพูดกัน บ้างงีบหลับขณะอยู่ในห้องประชุม นอกจากเด็กที่ถูกเรียกตัวมาทำโทษ มีเด็กคนหนึ่งซึ่งไม่เกี่ยวในกรณีนี้ ได้นำจดหมายที่ครูคนหนึ่งฝากมาให้ครูฝ่ายปกครองคนนี้ ระหว่างที่รอปะปนอยู่กับเด็กที่ถูกเรียกตัวอยู่ที่หน้าห้องพักครู เด็กคนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มที่จะถูกลงโทษ ได้ขอแกมบังคับให้เด็กคนนี้รับฝากบุหรี่ไว้ก่อน เพราะไม่งั้นเขาต้องเจอโทษซ้ำสอง บิลลี่เองแม้ไม่สูบบุหรี่แต่ก็ได้ช่วยบังคับเด็กคนนี้ด้วยกลายๆ ซึ่งก็ดูออกว่าทั้งฝ่ายบังคับและฝ่ายถูกบังคับ พอรู้กันว่านี่เป็นการช่วยๆกันมากกว่าเป็นการบังคับกันจริงๆ เพราะธุระของเด็กติ๋มๆเรียบร้อยคนนี้แค่มาส่งจดหมายให้ครูเท่านั้น

เมื่อครูฝ่ายปกครองเรียกเด็กเข้าไปในห้อง เด็กคนนี้ก็เดินตามปะปนเข้าไปพร้อมกัน เพียงเพื่อทำธุระที่รับมาให้เสร็จแล้วก็จะได้ออกไป แต่ครูฝ่ายปกครองที่ดุราวกับหมาบ้าคนนี้พอปะหน้าเด็กๆ ก็เปิดฉากรัวคำด่าทออย่างฉุนเฉียวไม่หยุดปาก จนไม่สังเกตเห็น ไม่ได้ยินว่ามีเด็กคนหนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวด้วยเลย ไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่ถูกเรียกตัวมา กำลังมีธุระจะบอก! ไม่วายที่เด็กคนนี้พยายามอ้าปากจะบอกอยู่หลายครั้ง แต่กลับถูกสำทับให้หุบปากเสียทุกครั้งไป

ก่อนถูกสำเร็จโทษทุกคนถูกค้นบุหรี่ในกระเป๋า เด็กคนนี้จึงโดนลงโทษไปโดยปริยาย ภาพที่เด็กคนนี้ยืนน้ำตาคลอรับหวายที่ฟาดลงบนฝ่ามือนั้นมันบอกอะไรมากมาย มากกว่าหวายที่ฟาดลงบนผิวเนื้อ น้ำตาที่คลอดวงตาคู่นั้นบอกมากกว่ารสเจ็บปวดที่เนื้อหนัง ซึ่งเราคงนึกได้เองว่าคืออะไร และสามารถนึกต่อไปได้อีก (ถึงลูกหลานของเรา) ว่า เหตุการณ์เลวร้ายทำนองนี้เกิดขึ้นได้แทบทุกวันไม่หยุดหย่อนกับเด็กๆของเรา ที่นี่นี่เอง ไม่ใช่ที่ดาวเคราะห์อื่นในนวนิยายเรื่องไหน

(ระหว่างที่ผมกำลังเขียนบทความนี้ เหตุการณ์หนึ่งซึ่งผมเพิ่งได้รับรู้มาจากเด็กๆได้ช่วยตอกย้ำกรณีนี้ลงไปอีก.... เด็กทั้งห้องถูกลงโทษ! ในวิชาว่ายน้ำ (จะด้วยสาเหตุไร้สาระ! อะไรก็ตามเถิด) ทุกคนถูกสั่งให้คว่ำหน้าเกาะขอบสระและใช้ขาตีน้ำ นานเท่าไหร่ไม่ทราบแน่ แต่ก็นานพอที่ทำให้เด็กปวดกล้ามเนื้อท้องและขาจนน้ำตาเล็ดกันถ้วนหน้า เด็กทุกคนโวยวายจะกลับบ้าน ไม่อยากเรียนในคาบต่อไปอีกแล้ว

"ทำไมไม่ไปบอกครูใหญ่" ผมลองเสนอ
เด็กๆเงียบ!
"หรือบอกครูประจำชั้น"
"ลุงก็ไปบอกสิ"
ผมเดาว่าเด็กๆคงคิดว่า ลุงคนนี้ไม่น่าพูดอะไรโง่ๆแบบนี้เลย

มันช่างพอดีกันกับฉากที่ผมกำลังจะพูดถึงต่อไป คือฉากชั่วโมงพละที่เด็กๆต้องออกไปฝึกเล่นฟุตบอลตามคำสั่งครู ทั้งๆที่ไม่มีใครอยากออกไปเล่น เพราะอากาศในตอนเช้าที่หนาวเย็น ครูพละที่ทั้งขี้โอ่-เจ้าเล่ห์และแพ้ไม่เป็น ทั้งชอบใช้กำลังข่มขู่เด็กๆตามอำเภอใจ ได้จัดการแบ่งนักเรียนออกเป็นสองฝ่าย ครูเองก็ร่วมเล่นด้วย (เพื่ออวดฝีเท้า) โดยเลือกแต่เด็กที่เล่นเก่งๆไว้กับทีมตัวเอง โดยให้บิลลี่เป็นผ็รักษาประตู แต่พอผลออกมาว่าทีมตัวเองแพ้ เพราะบิลลี่รับบอลพลาด ก็แกล้งขังบิลลี่ไว้ในห้องน้ำ แล้วเปิดน้ำเย็นใส่ ! ดูเหมือนว่าครูจะมีสิทธิพิเศษที่จะลงโทษ-ทำร้ายจิตใจเด็กๆได้ตามอำเภอใจ และแผลที่ปรากฏบนจิตใจนั้นมักไม่มีใครใส่ใจเสียด้วย

ไม่ทราบว่าเรื่องการแข่งขันที่ต้องมีแพ้มีชนะ เป็นธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ หรือมนุษย์เองเป็นผู้สร้างมันขึ้นมา (วัฒนธรรม) อย่างไรก็ตามไม่ว่าแหล่งกำเนิดของมันจะมาจากฝากไหน ข้อที่น่าคิดก็คือทัศนคติที่มีต่อคำว่าการแข่งขัน หากมนุษย์ถูกสาปให้ไม่อาจร้างไปจากการแข่งขันนี้ได้ พระเจ้าก็น่าจะเว้นที่ให้มนุษย์ได้เติมทัศนคติต่อสิ่งนี้ได้เองบ้างหรอกว่า แข่งขันไปเพื่ออะไร เพื่อความสนุกสนานหรืออย่างเอาเป็นเอาตาย

ผมไม่เชื่อว่าอะไรที่อยู่ตรงข้ามกับรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ความสนุกสนานจะส่งเสริมความเป็นมนุษย์ได้ และจะมีมนุษย์คนไหนอยากได้มัน กีฬาในนามของการแข่งขันอย่างที่เห็นๆกันในวงการทุกวันนี้ หาใช่มีแต่เสื่อมทรามลงทุกวันทั้งคนดูและคนเล่น? เกมฟุตบอลที่กำลังคลั่งกันอย่างจะเป็นจะตายกันทั้งโลกนั่นไง ทุกวันนี้ยังมีความหมายดีๆของคำว่ากีฬาเหลืออยู่สักกี่มากน้อย!

ไปสู่อีกประเด็นที่มีน้ำหนักไม่แพ้กันคือประเด็นของคำว่า "ความรู้"
เป็นที่เข้าใจกันว่า ที่ผู้ใหญ่ต้องผลักไสเด็กๆให้ไปโรงเรียนก็เพื่อไปเอา "ความรู้" ความรู้ที่ว่านี้สำคัญมากถึงขั้นเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ที่ถ้าใครไม่มีมันก็ไม่อาจมีชีวิตเช่นคนทั่วไปได้ หรือที่ดีกว่านั้นก็คือจะได้มีความสุขสบายยิ่งๆขึ้นไปกว่าคนอื่นๆ! อยู่ที่ว่าใครจะยกตัวขึ้นไปโดยอาศัย "ความรู้" ดังว่านี้

ไม่รู้เราเคยคิดกันบ้างไหมว่า ทำไมคำว่า "ความรู้" จึงถูกจำกัดอยู่แค่รายวิชาที่สอนกันในโรงเรียน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ อะไรๆเทือกนั้น ทำไมต้นทางของความรู้จึงต้องเริ่มจากวิชาพวกนี้แบบเดียว จะเป็นต้นทางอีกแบบเช่น การปั้นดิน การเลื่อยไม้ตอกไม้ แกะสลัก จับปลา เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ฯลฯ ตามแต่สภาพท้องถิ่นที่แตกต่างกันไปที่เด็กอาศัยอยู่ เช่นชนบทกับเมือง เป็นอะไรๆทำนองนี้บ้างไม่ได้หรือ? ทำไมเด็กๆต้องเริ่มก้าวแรกไปบนทางแห่งความรู้แบบเดียวกันหมด?

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ผมเห็นว่าหนังได้เสนอประเด็นนี้ออกมาในฉากหนึ่ง เป็นฉากในห้องเรียนที่ครูบอกให้นักเรียนเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นจริงเรื่องอะไรก็ได้ของแต่ละคนให้เพื่อนๆในชั้นฟัง

เมื่อเด็กสองสามคนเล่าเรื่องสั้นๆของตัวเองผ่านไป ก็ถึงคราวของบิลลี่ เพื่อนๆซึ่งรู้ว่าบิลลี่กำลังฝึกเหยี่ยวต่างสนับสนุน (บ้างก็เยาะๆ) ให้บิลลี่เล่าเรื่องนี้ บิลลี่ซี่งคงไม่คิดหรอกว่าการฝึกเหยี่ยวของเขาจะมีค่าน่าสนใจอะไรกับชั้นเรียนนี้ แต่บังเอิญว่าครูคนนี้ (ที่ดูเป็นครูมากกว่าครูอื่นๆในโรงเรียนนี้) เกิดสนใจ จึงบอกให้บิลลี่เล่าออกมา บิลลี่จึงเริ่มเล่าอยู่ที่โต๊ะของเขา บิลลี่พูดถึง "แพรหนัง" ที่ใช้หุ้มขาเหยี่ยว ซึ่งไม่มีใครเคยได้ยินมาก่อน ครูจึงบอกให้เขาออกมาเขียนที่กระดานดำให้ดู

บิลลี่ขณะอยู่หน้าชั้นเล่าทุกอย่างจากการปฏิบัติจริงของเขา แสดงวิธีจับชิ้นเนื้อเพื่อล่อให้ลูกเหยี่ยวบินมาโฉบ ราวกับว่ามี เคส (ชื่อที่เขาตั้งให้กับลูกเหยี่ยวตัวนั้น) อยู่กับเขาจริงๆในชั้นเรียน ระหว่างที่เล่า เพื่อนๆรวมทั้งครูต่างซักถามด้วยความสนใจ

เราสามารถนึกเปรียบเทียบได้ไม่ยากเลยว่า ภาพครูกับนักเรียนในห้องเรียนนั้นมักเป็นภาพของความอึดอัดน่าเบื่อเสมอ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการสอนหรือสิ่งที่ครูต้องสอนไปตามตำรา แต่เรื่องเล่าของบิลลี่ได้ขับไล่สิ่งเหล่านี้ออกไปได้หมด กระทั่งครูเองยังตื่นเต้นสนใจจนต้องขอไปดูบิลลี่ฝึกเหยี่ยวจริงๆ

มันทำให้ผมย้อนนึกไปถึง (ประสบการณ์เมื่อครั้งวัยเด็ก) เวลาที่ครูสอนวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์จากตำราอันแห้งแล้ง โดยที่ตัวผู้สอนเองไม่เคยแม้จะมีโอกาสได้จุ่มเท้าลงในแม่น้ำสักสาย หรือได้เห็นอิฐสักก้อนของเจดีย์ที่ตนพร่ำสอน มันเทียบกันไม่ได้เลยกับเรื่องเล่าของบิลลี่ ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้จริง ลงมือปฏิบัติจริง ไม่แต่ในเด็กรุ่นเดียวกับเขา กระทั่งผู้ใหญ่อีกหลายคนก็ยังไม่มีความรู้ในเรื่องนี้เลย

ฉากที่บิลลี่ยืนบรรยายการฝึกเหยี่ยวหน้าชั้นก็คือภาพของครู (ผู้รู้จริง) ดีๆนั่นเอง และสิ่งที่เขาบรรยายก็สมศักดิ์ศรีกับสิ่งที่เรียกว่า "ความรู้" อย่างแท้จริง ไม่ใช่ความรู้แบบเปลือกๆปลอมๆอันแห้งแล้ง แบบที่เด็กๆต้องกล้ำกลืนมันลงไปทุกๆวันในชั้นเรียน

ตลอดเวลาที่บิลลี่อ้างว้างอยู่ในโลก มีก็แต่ครูคนนี้ที่ไดรับรู้ความเป็นตัวตนของเขา ปัญหาความเป็นตัวตนของเด็ก (นี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญ) ที่ถูกระบบโรงเรียนทำให้กลายเป็นความไม่มีตัวตน มีอยู่ในทุกฉากในโรงเรียน นั่นคือเด็กๆจงหุบปาก อย่าได้สะเออะแม้แต่จะคิดโต้เถียงหรือแสดงเหตุผลใดๆ หน้าที่ของพวกเขามีเพียงทำไปตามคำสั่ง คำสั่งและคำสั่ง นี่คือความหมายของการทำลายตัวตน ทำให้มนุษย์ซึ่งมีตัวตนติดตัวมาตามธรรมชาติหมดความเป็นตัวตนไป กลายเป็นมนุษย์ที่ไม่มีตัวตน (หุ่นยนต์) นี่เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่บางประเภทชื่นชอบ (ที่ได้เป็นฝ่ายกระทำ) ถึงขั้นเสพติด ไม่ต่างกับพวกติดยาเสพย์ติดที่กำลังระบาดหนัก เพียงสิ่งเสพย์ติดนี้มีชื่อว่า "อำนาจเผด็จการ"

บิลลี่พูดระบายความอัดอั้นกับครูคนนี้ว่า......ผมอาจไม่ดีในบางครั้งแต่ไม่ได้เลวถึงขนาดนั้น ผมงีบหลับในห้องประชุมแป๊บเดียวก็โดนซะแล้ว ผมเปล่าทำอะไรผิดซักหน่อย ผมต้องตื่นแต่หกโมงเช้า ต้องส่งหนังสือพิมพ์ เสร็จแล้วรีบไปดูนก แล้วไปโรงเรียน ถ้าเป็นครูก็เพลียใช่ไหม ไม่น่าโดนตีเพราะเรื่องนี้ แถมยังพูดอะไรไม่ได้ด้วย พวกครูน่ะไม่ค่อยใส่ใจใยดีอะไรเรานักหรอก พวกเขาไม่ใส่ใจเรา เราก็ไม่ใส่ใจพวกเขาเหมือนกัน เห็นเอาแต่จ้องมองนาฬิกาของตัวเองว่าอีกนานไหมกว่าจะหมดคาบเรียน

และพูดถึงการเลี้ยงสัตว์ของเขาว่า.....ลูกหมาจิ้งจอกก็เคยเลี้ยง นกขุนทอง นกตะขาบ อีกา พอได้ที่ก็ปล่อยไป....
เหยี่ยวมันไม่ใช่สัตว์เลี้ยงซักหน่อย เหยี่ยวไม่มีทางเชื่องหรอก มันมีกิริยามารยาท มันดุร้ายป่าเถื่อนแต่มันก็ไม่ได้ไปสร้างความรำคาญให้ใคร ไม่สร้างความรำคาญให้ผมเหมือนกัน มันดีเยี่ยมตรงจุดนี้แหละ ผมอยากให้มันมีลักษณะของตัวเอง แล้วก็ฝึกให้บินได้แค่นั้น ใครอยากเลี้ยงนกแก้วก็เลี้ยงกันไป ไม่มีอะไรจะเทียบกับมันได้หรอก การที่มันปล่อยให้ผมดูแลมันเป็นประโยชน์กับผมแท้ๆ

ได้ดูหนังดีๆที่แม้เป็นเรื่องหนักๆเครียดๆ ทั้งยังจบลงแบบไม่มีความสุข แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่ไม่ใช่ความจริง (ช่างตรงกับเรื่องจริงที่ผมพบมาในวัยเด็ก) อดขอบคุณไม่ได้ทั้งทีมสร้างและผู้นำหนังเรื่องนี้ออกเผยแพร่ ทั้งที่ไม่ใช่หนังที่อยู่ในแนวที่ตลาดจะนิยม แต่งานศิลปะแบบนี้ แบบที่ไม่โกหกต่อความเป็นจริง ให้เกียรติต่อความเป็นจริงและให้เกียรติคนดูเช่นนี้มิใช่หรือ ที่เราควรสนับสนุน

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 400 เรื่อง หนากว่า 4500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนที่ไหนในโลกที่ลอกแบบมาจากยุคอุตสาหกรรม เด็กๆยังคงอยู่ชายขอบของอำนาจ และไร้ตัวตนเสมอ ในสายตาของครู
เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com

มันทำให้ผมย้อนนึกไปถึง (ประสบการณ์เมื่อครั้งวัยเด็ก) เวลาที่ครูสอนวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์จากตำราอันแห้งแล้ง โดยที่ตัวผู้สอนเองไม่เคยแม้จะมีโอกาสได้จุ่มเท้าลงในแม่น้ำสักสาย หรือได้เห็นอิฐสักก้อนของเจดีย์ที่ตนพร่ำสอน มันเทียบกันไม่ได้เลยกับเรื่องเล่าของบิลลี่ ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้จริง ลงมือปฏิบัติจริง ไม่แต่ในเด็กรุ่นเดียวกับเขา กระทั่งผู้ใหญ่อีกหลายคนก็ยังไม่มีความรู้ในเรื่องนี้เลย - บิลลี่ขณะอยู่หน้าชั้นเล่าทุกอย่างจากการปฏิบัติจริงของเขา แสดงวิธีจับชิ้นเนื้อเพื่อล่อให้ลูกเหยี่ยวบินมาโฉบ