มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

ผลงานเรื่องสั้นชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 408 หัวเรื่อง
ภาพอนาคตมหาวิทยาลัยไทย
โดย : สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์
บรรณาธิการ


R
relate topic
210647
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
H
บทความวิชาการเกี่ยวกับการให้ภาพอนาคตเศรษฐกิจและการปรับตัวของมหาวิทยาลัย
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


การปรับตัวของมหาวิทยาลัยไทย
อนาคตเศรษฐกิจกับการอุดมศึกษาไทย
สมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์ : บรรณาธิการ

หมายเหตุ :
บทความชิ้นนี้ ผู้เขียนไม่ได้ระบุชื่อลงในบทความ(กำลังสอบถามผ่านกระดานข่าวของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
สำหรับบนเว็ปเพจนี้ ได้ปรับชื่อจากบทความเดิม"ภาพอนาคตระบบเศรษฐกิจและแรงผลักดันต่อระบบอุดมศึกษาของไทย"
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4)

 

ภาพอนาคตระบบเศรษฐกิจและ
แรงผลักดันต่อระบบอุดมศึกษาของไทย

ภาพอนาคตระบบเศรษฐกิจ
แนวทางการพัฒนาระบบเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมา โน้มเอียงไปยังปรัชญาเศรษฐกิจเสรีนิยม ด้วยเส้นทางยุทธศาสตร์แบบเปิด กล่าวคือ เปิดโอกาสให้ทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศอย่างเสรี ด้วยมาตรการกีดกันและเงื่อนไขในการทำการค้าและการลงทุนที่ค่อนข้างต่ำ พร้อมกันนี้ก็มีกลุ่มทุนของไทยขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ

ยุทธศาสตร์การพัฒนาของรัฐบาลชุดปัจจุบัน จะส่งผลต่อลักษณะและแบบแผนการพัฒนาระบบเศรษฐกิจไทยต่อไปอีกในหลายปีข้างหน้า ลักษณะดังกล่าวคือ การดำเนินนโยบายคู่ขนาน (Dual Track) กล่าวคือ

ด้านหนึ่งใช้ประโยชน์จากเวทีเศรษฐกิจโลก และกลยุทธ์ส่งเสริมการส่งออก โดยมีพันธะสัญญาและข้อตกลงที่ชัดเจนกับ WTO และ AFTA
อีกด้านหนึ่ง มุ่งเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศ พร้อมๆ กับการปฏิรูประบบราชการ ปรับโครงสร้างการเงินการคลัง และดำเนินนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ให้สามารถแข่งขันกับทุนขนาดใหญ่ได้

การประชุมครั้งที่ 1/2545 ของคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ระบุว่า ควรมีการผลักดันปรับยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบเศรษฐกิจ เพื่อให้บรรลุความเป็น "ระบบเศรษฐกิจใหม่" ที่เน้นสมรรถนะสูง (Modern/ High Performance Economy-HPE) โดยมีเป้าหมายเพื่อ

i. เพิ่มส่วนแบ่งตลาดส่งออกของไทยให้อยู่ในระดับ 1.1% ของตลาดโลกในปี 2549
ii. กำหนดตำแหน่งสาขาเพื่อสร้างความเป็นเลิศในตลาดโลก เช่น เป็นหนึ่งในสิบประเทศท่องเที่ยวในโลก เป็นประเทศผู้นำการค้า หนึ่งในห้าของเอเซีย เป็นประเทศที่มีความน่าลงทุนอันดับหนึ่งของ ASEAN และเป็นผู้นำด้าน bio-technology
iii. เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (productivity) ในทุกภาคการผลิตและบริการ
iv. สามารถธำรงไว้ซึ่งมรดกของชาติ และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม (National heritage and cultural identity)

นอกจากนั้น คณะกรรมการฯ ยังมีความเห็นว่านอกเหนือไปจากปฏิรูประบบเศรษฐกิจแล้ว จะต้องปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปภาคเอกชน และที่สำคัญจะต้องปฏิรูปการเรียนรู้ควบคู่ไปด้วย

จะเห็นได้ว่ายุทธศาสตร์การพัฒนาระบบเศรษฐกิจใหม่ที่ผูกพันอย่างแน่นแฟ้นกับระบบเศรษฐกิจโลกและกระบวนการโลกานุวัตร มีภาคการผลิตและการบริการเป็นตัวนำ โดยเชื่อมโยงกับการพัฒนาปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ เช่น การท่องเที่ยว การลงทุน การต่างประเทศ และการคลัง

การพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจใหม่นี้มีภาครัฐ ซึ่งได้แก่ชนชั้นนำทางอำนาจ เทคโนเครต (technocrats) และกลุ่มทุนภาคธุรกิจเป็นตัวนำ ในขณะที่ภาคประชาชน โดยเฉพาะองค์กรพัฒนาเอกชน และนักคิดสายประชาสังคม เช่น วิบูลย์ เข็มเฉลิม ฉัตรทิพย์ นาถสุภา นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ ประเวศ วะสี ได้หันมาให้ความสนใจกับแนวทางการพึ่งตนเองและใช้แนวทางการพัฒนาที่อาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านและวัฒนธรรมชุมชน ทั้งนี้เป็นผลจากประสบการณ์ด้านลบจากกระบวนการโลกานุวัตร บทเรียนการพัฒนาและความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ผ่านมา

อาจสรุปได้ว่า แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจไทยมีสองลักษณะหรือสองด้านที่ดำเนินควบคู่กันไป

- ด้านหนึ่งเป็นแนวทางพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นความสัมพันธ์ ผสมผสานและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการโลกานุวัตร
- ในอีกด้านหนึ่งเน้นปรัชญาการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของระบบการประกอบการแบบเก่าและวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

การพัฒนาเศรษฐกิจแบบ "ทวิลักษณะ" เช่นกล่าวนี้ ส่งผลให้สังคมไทยเป็น "สังคม 2 ฐาน" (bi-furcated society)

- ฐานแรกได้แก่ฐานภาคธุรกิจ (corporation) ซึ่งกระจุกตัวอยู่ที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่
- ฐานที่สองคือ ฐานเศรษฐกิจในระดับกว้างที่ประกอบด้วยผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก รวมทั้งกลุ่มผู้ใช้แรงงานและกลุ่มวิชาชีพอื่นๆ ในสังคม

การต่อสู้ของแนวคิดหลักสองกระแสข้างต้นแสดงให้เห็นว่า แรงผลักดันทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อระบบอื่นๆ เป็นแรงผลักดันเชิงคู่ขนาน แบบแผนระบบเศรษฐกิจในปัจจุบันและภาพอนาคตระบบเศรษฐกิจในอีก 10-15 ปีข้างหน้า จะส่งผลต่ออาชีพการงานของแรงงานที่จบอุดมศึกษา ตลอดจนความรู้และทักษะที่จำเป็นและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในอนาคตอย่างไร เป็นคำถามสำคัญที่จะนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์อุดมศึกษาที่เหมาะสม

หากปล่อยให้อุดมศึกษากลายเป็นธุรกิจการศึกษา (marketization) ที่เน้นการแข่งขันและประสิทธิภาพ ก็เท่ากับว่าปล่อยให้กลไกตลาดเป็นปัจจัยหลักในการกำหนดบริการการศึกษา ผลที่เกิดขึ้นกับระบบอุดมศึกษาจะเป็นเช่นไร และจะเป็นลักษณะอุดมศึกษาที่พึงประสงค์หรือไม่

ในทางตรงข้าม หากสถาบันอุดมศึกษาไม่ต้องการถูกผลักดันจากกลไกตลาดแล้ว สถาบันอุดมศึกษาจะสามารถเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจและมีบทบาทเป็นผู้ชี้นำสังคมได้หรือไม่ อย่างไร

บทบาทของมหาวิทยาลัย
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ กล่าวไว้ว่า มหาวิทยาลัยไม่ได้มีฐานะเป็นเพียง "หน่วยผลิตบุคลากร" เท่านั้น หากทำหน้าที่เป็น "หน่วยผลิตความรู้" ด้วย (รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ 2544 : 316)1

ในประเทศตะวันตกที่ภาคอุตสาหกรรมเป็นกลจักรขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่สำคัญ มหาวิทยาลัยจำนวนมากทำหน้าที่รับใช้ภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม มีงานวิจัยและการศึกษาเน้นการสร้างสรรค์องค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงการผลิตในภาคอุตสาหกรรมให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และเน้นศักยภาพในการแข่งขัน ในสังคมเหล่านี้มหาวิทยาลัยมีฐานะเป็นองค์กรผลิตความรู้และบุคลากรที่สำคัญ ได้รับเงินอุดหนุนและบริจาคจากทั้งรัฐ ภาคเอกชน และประชาชน

บริบทของมหาวิทยาลัยในสังคมไทยนั้นแตกต่างไปจากมหาวิทยาลัยในสังคมตะวันตก โดยภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยไทยเป็นเพียงองค์กรที่ผลิตบุคลากรป้อนระบบราชการเท่านั้น ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น มหาวิทยาลัยก็เน้นการผลิตทรัพยากรมนุษย์และกำลังคนเพื่อตอบสนองความต้องการของระบบเศรษฐกิจด้วย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มหาวิทยาลัยไทยทำหน้าที่หลักเป็นเพียงหน่วยผลิตบุคลากรโดยอาศัยภูมิปัญญาความรู้จากสังคมตะวันตก มิได้ทำหน้าที่ผลิตองค์ความรู้ใหม่ และเสริมสร้างแนวคิดและวิทยาการที่ก้าวหน้า เพื่อรองรับการเติบโตตามวิถีทางของสังคมไทย

หากมหาวิทยาลัยต้องการผันตัวเองให้เป็นหน่วยผลิตความรู้ เพื่อสนองตอบความต้องการของสังคม มหาวิทยาลัยจะต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิชาการ ที่เอื้อต่อการพัฒนาการวิจัย สร้างบรรยากาศและกฎเกณฑ์ให้อาจารย์ต้องผลิตองค์ความรู้ใหม่ รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ จะต้องร่วมมือกันส่งเสริมทั้งในลักษณะเงินทุนวิจัยและแรงจูงใจในรูปแบบอื่นๆ เช่น รางวัล ตำแหน่ง และเงินทุนวิจัยที่เหมาะสมพอเพียง


คำถามคือ สถาบันอุดมศึกษาไทยจะทำหน้าที่เป็นทั้งหน่วยผลิตบุคลากรและหน่วยผลิตความรู้ในสาขาวิชาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมดุล และสอดคล้องต่อความต้องการและความจำเป็นของสังคมหรือไม่ อะไรเป็นปัจจัยผลักดันสำคัญที่ยังขาดหายไป

แรงผลักดันของระบบเศรษฐกิจต่อการงานอาชีพ

1. ลักษณะความรู้ และทักษะของผู้จบอุดมศึกษาที่ระบบเศรษฐกิจในอนาคตต้องการ
สังคมโลกปัจจุบันมีความโน้มเอียงไปเป็นสังคมฐานความรู้ (knowledge based-society) ความสามารถในการคิด วิเคราะห์ สร้างสรรค์ และจินตนาการของมนุษย์ มีราคาและคุณค่าสูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเครื่องจักร เพราะความรู้คือความสามารถที่จะก่อให้เกิดการกระทำ (knowledge is the capacity to act) (Stehr 2001: 80)2

ลักษณะเด่นของสังคมฐานความรู้คือการที่อาชีพ (professions) ส่วนใหญ่จะเกี่ยวพันกับการใช้วิชาความรู้ เหลืออาชีพที่ใช้ทักษะความรู้ขั้นต่ำ (low cognitive skills) อยู่น้อยมากและจะลดลงอย่างรวดเร็ว

สังคมฐานความรู้ต้องการแรงงานที่มีความรู้ (knowledge worker) และแรงงานเหล่านี้ต้องอาศัย
1) ระบบการศึกษาที่จะให้ใบผ่านทางสู่การทำงานในชั้นแรก และ
2) การศึกษาอบรมต่อเนื่องตลอดอายุการทำงานเพื่อให้ความรู้ที่มีทันสมัยอยู่เสมอ

ประเทศส่วนใหญ่มีความพร้อมในการให้การศึกษาแรงงานที่ประกอบวิชาชีพชั้นสูง แพทย์ ทนายความ แต่สำหรับความรู้ที่ใช้ทักษะด้านการจัดการ และความสามารถในการใช้เทคโนโลยี (knowledge technologists) นั้น ประเทศส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความต้องการด้านดังกล่าว (Drucker 2001: 9)3

ดังนั้น ใน 10-20 ปีข้างหน้า สถาบันอุดมศึกษาซึ่งทำหน้าที่หลักในการให้การศึกษาที่เป็นทางการ จะต้องจัดการศึกษาเพื่อ "ต่อยอด" ความรู้ และจัดโครงการฝึกอบรมต่อเนื่องสำหรับแรงงานวิชาชีพในสาขาต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ผลที่ตามมาก็คือ วุฒิบัตรและปริญญาบัตรจะมีความสำคัญมากขึ้น

การขยายตัวของตลาดแรงงาน ค่านิยมทางสังคม การที่ภาครัฐและเอกชนกำหนดโครงสร้างอัตราเงินเดือนตามวุฒิและประกาศนียบัตร ส่งผลให้มหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งกลายเป็น "หน่วยขายปริญญาบัตร" โครงการฝึกอบรมต่างๆ ตั้งขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการปริญญาบัตรและวุฒิบัตรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งมีสภาพคล้ายกับกำลังประกอบการธุรกิจอุดมศึกษา (commercialization of higher education) โดยทำให้การประสาทวุฒิบัตร ปริญญาบัตรซึ่งมหาวิทยาลัยมีอำนาจตามกฎหมายกลายเป็นสินค้า (commodity) อย่างหนึ่งในระบบตลาด (marketization) โดยอาจไม่ได้คำนึงถึง ความสามารถ คุณภาพและประสิทธิภาพของผลผลิต (บัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต)

หากปล่อยให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นโรงพิมพ์ปริญญาบัตร อะไรจะเป็นเครื่องรับรองคุณภาพมาตรฐานของบัณฑิต เมื่อไรที่การลงทุนเพื่อการศึกษาในสถาบันเหล่านี้ ไม่คุ้มทุนทั้งกับนักศึกษา นายจ้าง และสังคม

ลักษณะความรู้และทักษะของแรงงานและทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งเป็นที่ต้องการได้เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพเศรษฐกิจ สังคม งานวิจัย 2 ชิ้นสำคัญคือ "โครงการทักษะแรงงานไทยในอนาคตที่พึงประสงค์" และ "Multidimensional Citizenship: Educational Policy for the Twenty-first Century" มีข้อสรุปที่คล้ายคลึงกันว่าองค์กรต่างๆ มีแนวโน้มที่ต้องการทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณสมบัติ ดังนี้

1. สามารถมองปัญหาอย่างเป็นภาพรวม ในฐานะเป็นสมาชิกของประชาคมโลก
2. สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างสร้างสรรค์ และมีความรับผิดชอบและรู้บทบาท
ตนเองในสังคม
3. สามารถเข้าใจ ยอมรับและอดทนต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรม
4. สามารถคิดอย่างวิเคราะห์ถกเถียงและเป็นระบบ
5. เต็มใจแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี
6. เต็มใจเปลี่ยนวิถีชีวิตและนิสัยการอุปโภค บริโภคเพื่อรักษาสภาพแวดล้อม
7. มีสัมผัสรับรู้ไวต่อการคุกคามสิทธิมนุษยชน เช่น สิทธิสตรี ชนกลุ่มน้อย
8. เต็มใจและมีความสามารถเข้าร่วมทางการเมืองทั้งระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และระดับนานาชาติ
9. มีความรู้ทางภาษามากขึ้น โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ
10. มีความรู้ทางเทคนิคและเทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น

2. วิถีการผลิตสินค้าและบริการในอนาคต ที่มีผลต่อชีวิตการงานของผู้จบอุดมศึกษา
ประเทศไทยประสบปัญหาการขาดดุลการค้าติดต่อกันมานานนับ 40 ปี สาเหตุสำคัญคือโครงสร้างและวิถีการผลิตสินค้าและการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีการพึ่งพิงการนำเข้าสูง (import dependency) ตัวอย่างเช่น การเติบโตของอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ ในด้านหนึ่งช่วยลดการนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป แต่อีกด้านหนึ่งกลับทำให้เกิดการนำเข้าตัวถัง อะไหล่ และอุปกรณ์ประกอบรถยนต์อื่นๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้น หรือการขยายตัวของอุตสาหกรรมสิ่งทอ ส่งผลให้มีการนำเข้าใยสังเคราะห์ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้น การปรับยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้ามาเป็นการผลิตเพื่อส่งออก จึงไม่เป็นการแก้ปัญหาการพึ่งพิงการนำเข้า แต่ยิ่งส่งผลให้ต้องพึ่งพิงการนำเข้ามากขึ้น ดังที่ รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ได้สรุปว่า "ยิ่งมีการส่งออกมากเพียงใด ก็จะยิ่งมีการนำเข้ามากเพียงนั้น....ยิ่งภาคอุตสาหกรรมและภาคการส่งออกเติบใหญ่มากเพียงใด การขาดดุลการค้าจะยิ่งมีมากเพียงนั้น..." (รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ 2536: 38-43)

การจะลดปัญหาการขาดดุลการค้าได้ก็โดยการลดการพึ่งพิงการนำเข้า ซึ่งหมายความว่าประเทศไทยต้องหันมาพัฒนาการผลิตวัตถุดิบให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการอุตสาหกรรม และที่สำคัญต้องแสวงหาแนวทางเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ (domestic value added)

จากการวิจัยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (เอกสารประกอบที่ 3.1 ความก้าวหน้าของการดำเนินงาน) ได้ข้อสรุปว่า ในการแข่งขันสินค้าด้านอาหาร ประเทศไทยควรมียุทธศาสตร์ 7 ข้อ คือ

1. สร้างความปลอดภัยของผู้บริโภคและความปลอดภัยทางชีวภาพสินค้า
2. เน้นการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตต่อหน่วย
3. กระจายและพัฒนาผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ รวมทั้งการสร้างยี่ห้อสินค้า (brand name)
4. พัฒนาสินค้าใหม่ เช่น สมุนไพร อุตสาหกรรมจากป่าไม้ และอาหารไทย
5. เพิ่มมูลค่าสินค้าในระดับฟาร์ม และกลุ่มผู้ผลิต
6. การพัฒนาที่เน้นชุมชนและอุตสาหกรรมขนาดย่อม โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือเสริม
7. การวิจัยพัฒนา และการคุ้มครองงานวิจัย

การแข่งขันภาคอุตสาหกรรมก็มีเป้าหมายคล้ายเรื่องอาหาร กล่าวคือ มุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าในห่วงโซ่การผลิต (value chain) พร้อมๆ กับสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ที่มีการศึกษาและสร้างบุคลากร (technopreneur) ที่จำเป็นต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เพราะเท่าที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรุ่นเก่าๆ ส่วนใหญ่มีการศึกษาไม่สูงนัก จึงขาดทักษะและความรู้ที่จะพัฒนากิจการให้ทันสมัย เพื่อสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขัน (competitive advantage) ส่งผลให้ภาคธุรกิจไทยไม่เข้มแข็งเท่าที่ควร

มหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นหน่วยผลิตบุคลากร สามารถมีบทบาทโดยตรงในการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ให้มีความรู้ที่สัมพันธ์กับยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ อันจะส่งผลให้เกิดการปรับโครงสร้าง และสร้างความเชื่อมโยงอุตสาหกรรมทั้งระบบ และทำให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างครบวงจร

ในฐานะที่เป็นหน่วยผลิตองค์ความรู้ใหม่ มหาวิทยาลัยควรพยายามส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาภูมิปัญญาไทยให้สามารถเพิ่มมูลค่าเพิ่มและต่อยอดเข้าสู่ตลาดโลก สร้างระบบการศึกษาและฝึกอบรมเฉพาะทาง สนับสนุน R&D ทางด้านเทคโนโลยีของสถาบันอุดมศึกษาท้องถิ่น เช่น สถาบันราชภัฏ หรือวิทยาลัยราชมงคล และการอาชีวศึกษาให้มีการสร้างแรงงานที่มีทักษะมากขึ้น

อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยจะให้ความสำคัญกับภารกิจนี้ได้มากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นกับความสามารถในการรับมือกับภารกิจด้านอื่นๆ ด้วย ปัจจุบันมหาวิทยาลัยทั่วโลกประสบปัญหาขาดเงินสนับสนุนจากรัฐและต้องอาศัยค่าลงทะเบียนจากนักศึกษามากขึ้น เมื่อนักศึกษาเป็นผู้แบกภาระค่าเล่าเรียนที่สูงขึ้น มหาวิทยาลัยก็ต้องหันมาเอาใจใส่ความต้องการของนักศึกษามากขึ้น

ในขณะที่รัฐบาลต้องการให้ใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินไปในสาขาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ (applied science) และวิจัยประยุกต์ (applied research) เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแข่งขันกับนานาประเทศ แต่นักศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในสาขาบริหารธุรกิจ ศิลปศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยวิทยา เนื่องจากเป็นวิชาที่เรียนง่าย จบไว และยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน

สภาพแวดล้อมและเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปดังกล่าว ทำให้มหาวิทยาลัยหลายแห่งของรัฐที่มุ่งเน้นการวิจัยจะต้องปรับตัวให้เหมาะสม และสอดคลองกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป บางแห่งอาจต้องยุติบทบาทการเป็นศูนย์กลางแห่งการริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่

ในฐานะที่เป็นสถาบันผลิตบุคลากรและเป็นแหล่งรับเงินทุนวิจัยที่สำคัญ มหาวิทยาลัยจะช่วยเสริมสร้างความพร้อมของงานวิจัยและพัฒนา (research and development-R&D) พัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อช่วยลดการพึ่งพิงการนำเข้า และก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มของสินค้าในประเทศ ภายใต้แรงกดดันด้านการเงินและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ได้เพียงใด

มหาวิทยาลัยบางแห่งอาจต้องทบทวนบทบาทตนเองว่ามีเงินทุนวิจัย บุคลากร และศักยภาพในด้านอื่นๆ เพียงพอที่จะพัฒนาความสามารถในด้านนี้หรือไม่ หากพบว่าไม่มีความสามารถเพียงพอแล้ว มหาวิทยาลัยดังกล่าวจะผันตัวเองไปมุ่งพัฒนาด้านใดได้บ้าง

3. ทิศทางในอนาคตของระบบโลกานุวัตร และผลที่มีต่อการเป็นเจ้าของกิจการของภาคเอกชน และลักษณะทางเศรษฐกิจของภาครัฐ
ผลของกระบวนการโลกานุวัตรที่มีต่อลักษณะทางเศรษฐกิจสำคัญ 2 ประการ คือ ก่อให้เกิดการเคลื่อนย้ายทุนและแรงงานอย่างไร้พรมแดน

"…บัดนี้ทุนไทยมิได้มีไว้เพื่อพัฒนาประเทศไทย หากแต่มีไว้เพื่อพัฒนาโลก" และ "การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะมิใช่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อการพัฒนาประเทศไทยอีกต่อไป หากแต่จะกลายเป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อพัฒนาโลก" (รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ 2538: 134)4

ปัจจุบันนักวิชาชีพและนักบริหารต่างต้องทำธุรกิจกับบริษัทต่างประเทศมากขึ้น ทักษะในการใช้ภาษาสากลมีความสำคัญ และความสามารถในการรู้เท่าทันโลก และการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมที่แตกต่างก็ไม่สำคัญยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ทักษะเหล่านี้มีความสำคัญในการสร้างเครือข่ายธุรกิจระดับโลก และแสวงหาตำแหน่งและจุดยืนให้ภาคธุรกิจไทยในระบบธุรกิจโลก

ในปัจจุบัน รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) และเจ้าของกิจการเหล่านี้เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ควรได้รับการส่งเสริมให้ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี และวิทยาการการจัดการการบริหารสมัยใหม่ด้วย ดังนั้นมหาวิทยาลัยจึงมีภารกิจในการเสริมสร้างทักษะทุกด้านให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งยังเสียเปรียบธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจต่างชาติอยู่มาก

นอกจากนั้นยังเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ประเทศไทยยังขาดผู้มีความรู้ ความเข้าใจในระบบเศรษฐกิจและธุรกิจโลก และผลกระทบที่มีต่อส่วนต่างๆ ของสังคม อีกทั้งยังขาดผู้ที่มีความสามารถในการกำหนดนโยบาย วางยุทธศาสตร์เชิงรุกและรับในระดับนานาชาติ แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจเปิดกว้างและกำลังจะเปิดกว้างยิ่งขึ้นอีกจากข้อตกลง WTO

นักเศรษฐศาสตร์ นักวิชาการส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาจากประเทศตะวันตก และนำแนวคิด หลักการ และปรัชญาเศรษฐศาสตร์ตะวันตกมาผลิตซ้ำและเผยแพร่ในสังคมไทยโดยขาดความสนใจที่จะปรับให้สอดคล้องกับสภาพสังคม มหาวิทยาลัยไทยจึงไม่สามารถผลิตบุคลากรที่สามารถนำภูมิปัญญาไทย และองค์ความรู้พื้นบ้าน มาช่วยพัฒนาระบบเศรษฐกิจไทยได้ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นการสะท้อนให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาไทยยังคงความเป็น "หน่วยผลิตบุคลากร" มากกว่าพัฒนาตัวเองไปเป็น "หน่วยผลิตความรู้ใหม่" และสร้างสรรค์บุคลากรที่สามารถพัฒนาความรู้ได้ด้วยตนเอง

มหาวิทยาลัยไทยมีศักยภาพจะช่วยรัฐไทยให้แข่งขันในโลกโลกานุวัตรและช่วยชุมชนไทยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือไม่ มหาวิทยาลัยจะต้องพัฒนาตัวเองอย่างไรจึงจะช่วยพัฒนารัฐและชุมชนไทยได้


4. ความสัมพันธ์ระหว่างระบบการศึกษา กับการสร้างความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ
ความสัมพันธ์ระหว่างระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจ และระบบอื่นๆ ในสังคมแสดงได้ตามภาพข้างล่างนี้

ระบบอุดมศึกษาจะมีบทบาทอย่างไร ในการช่วยแปรเปลี่ยนความสามารถทางการแข่งขันเชิงเปรียบเทียบของประเทศ (comparative advantages) ไปเป็นความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ (competitive advantages) ประเทศไทยจะต้องปรับเปลี่ยนจากการอาศัยข้อได้เปรียบด้านการมีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ หรือมี และสามารถอาศัยทรัพยากรธรรมชาติที่ประเทศอื่นไม่มี หรือขาดแคลน ไปเป็นการมีการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูง

เงื่อนไขสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ ต้องอาศัยปัจจัยการผลิต (ทรัพยากรมนุษย์) ที่มีคุณภาพสูง มหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็นหน่วยผลิตป้อนทรัพยากรมนุษย์ให้กับสังคมและระบบเศรษฐกิจธุรกิจ ก็ต้องมีคุณภาพและประสิทธิภาพสูง ดังนั้นมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง ซึ่งเป็นส่วนย่อยของระบบอุดมศึกษาทั้งระบบ ก็จะต้องมีการพัฒนาและปรับปรุง ทั้งนี้จะต้องเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจมากขึ้น และเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจเอกชนใกล้ชิด ประสานสัมพันธ์กันให้ดีขึ้นด้วย

ภาคเอกชนจะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนามหาวิทยาลัยไม่ใช่เพียงแต่คอยรับบัณฑิต และบ่นวิจารณ์ว่าบัณฑิตไม่มีคุณภาพ ความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างภาคเอกชนกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เป็นความสัมพันธ์ที่ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญยิ่ง ในการให้ความสนับสนุนและส่งเสริมมหาวิทยาลัยในหลายๆ วิถีทาง และในหลายขั้นตอนของกระบวนการการผลิตบัณฑิต การสนับสนุนส่งเสริมการวิจัย และพัฒนาทั้งองค์ความรู้ และเพื่อการประยุกต์ใช้

นอกจากนั้น ภาครัฐก็ยังเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ของกระบวนการสร้างคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ด้วย จุดสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในระดับมหาวิทยาลัยจึงมิได้อยู่ที่ความสัมพันธ์เชิงโครงสร้าง (รัฐกับมหาวิทยาลัย), ควรมีความสัมพันธ์เชิงการกำกับควบคุมหรือมีอิสระมากน้อยเพียงใด หากอยู่ที่ การเชื่อมโยงนโยบายและยุทธศาสตร์ของการพัฒนาฝึกอบรมทรัพยากรมนุษย์ ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน และระบบการศึกษาทั้งระบบ

และเนื่องจากการศึกษาขั้นอุดมศึกษาเป็นขั้นตอนของการที่ทรัพยากรมนุษย์กำลังจะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ-ธุรกิจ ที่ใกล้ที่สุด ดังนั้นการประสานความเชื่อมโยงและการมีความสัมพันธ์ที่ดีใกล้ชิดต่อกัน ระหว่างสามระบบคือภาครัฐ-ภาคอุดมศึกษา-ภาคเอกชน จึงต้องมีความชัดเจนด้านนโยบายและยุทธศาสตร์ในสภาพแวดล้อมทางสังคมของประเทศที่มี เช่นประเทศไทย ก็จะต้องมีนโยบายและยุทธศาสตร์อุดมศึกษาที่ไม่เน้นแต่การสร้างความแข็งแกร่ง และความสามารถทางการแข่งขันให้ภาคธุรกิจเอกชนขนาดใหญ่ แต่จะต้องคำนึงถึงภาคประชาชนที่เป็นส่วนใหญ่ของสังคม ที่ยังมีระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่ด้อยกว่า และมีข้อจำกัดทางโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง ที่ทำให้ภาคประชาชนต้องอยู่ในสภาพที่เสียเปรียบมาเป็นเวลานานอีกด้วย

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 400 เรื่อง หนากว่า 4500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




ต่อไปข้างหน้า มหาวิทยาลัยไทยต้องมีการปรับตัวให้มากไปกว่าการเป็นสถาบันที่ผลิตผลิตบุคลากร ไปผลิตความรู้มากขึ้น นี้เป็นเพราะเหตุใด?
เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
การขยายตัวของตลาดแรงงาน ค่านิยมทางสังคม การที่ภาครัฐและเอกชนกำหนดโครงสร้างอัตราเงินเดือนตามวุฒิและประกาศนียบัตร ส่งผลให้มหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งกลายเป็น "หน่วยขายปริญญาบัตร" โครงการฝึกอบรมต่างๆ ตั้งขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการปริญญาบัตรและวุฒิบัตรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งมีสภาพคล้ายกับกำลังประกอบการธุรกิจการอุดมศึกษา (commercialization of higher education) โดยทำให้การประสาทวุฒิบัตร ปริญญาบัตรเป็นกลายสินค้า
การพัฒนาตามแนวทางเศรษฐกิจใหม่นี้มีภาครัฐ ซึ่งได้แก่ชนชั้นนำทางอำนาจ เทคโนเครต (technocrats) และกลุ่มทุนภาคธุรกิจเป็นตัวนำ ในขณะที่ภาคประชาชน โดยเฉพาะองค์กรพัฒนาเอกชน และนักคิดสายประชาสังคม เช่น วิบูลย์ เข็มเฉลิม ฉัตรทิพย์ นาถสุภา นิธิ เอียวศรีวงศ์ และ ประเวศ วะสี ได้หันมาให้ความสนใจกับแนวทางการพึ่งตนเองและใช้แนวทางการพัฒนาที่อาศัยภูมิปัญญาชาวบ้านและวัฒนธรรมชุมชน ทั้งนี้เป็นผลจากประสบการณ์ด้านลบจากกระบวนการโลกานุวัตร บทเรียนการพัฒนาและความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ