มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ

Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com

ผลงานเรื่องสั้นชิ้นนี้ เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์ วันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๔๗ : ไม่สงวนสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ทางวิชาการ
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 401 หัวเรื่อง
ปรัชญาการจัดการความรู้
สมเกียรติ ตั้งนโม
สาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


R
relate topic
100647
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความบริการฟรีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
H
บทความวิชาการทางปรัชญาเชิงวิเคราะห์ เกี่ยวกับเรื่อง KM หรือ "การจัดการความรู้"
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ


ปรัชญาวิเคราะห์
การจัดการความรู้ มุมมองจากปรัชญา
สมเกียรติ ตั้งนโม
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หมายเหตุ :
ผลงานชิ้นนี้แปลและเรียบเรียงจากบทความเรื่อง
FROM PHILOSOPHY TO KNOWLEDGE
MANAGEMENT AND BACK AGAIN
Jeremy Aarons
Dr. Jeremy Aarons, School of Information Management and Systems, Monash University,
26 Sir John Monash Drive, Caulfield East, Victoria 3145, Australia.
Email: [email protected]
(บทความชิ้นนี้ยาวประมาณ 28 หน้ากระดาษ A4)

ข้อแนะนำสำหรับการอ่านงานทางปรัชญา หากอ่านแล้วไม่เข้าใจ อย่าฝืนใจอ่านจนจบ
นอกจากจะเสียเวลาแล้ว จะไม่ได้ประโยชน์อันใดอีกด้วย
ให้เก็บความเฉพาะส่วนที่รู้เรื่องเท่านั้น

 

ความนำ
1. จากปรัชญาถึงการจัดการความรู้
FROM PHILOSOPHY TO KNOWLEDGE MANAGEMENT
แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะอ่านบทนำเกี่ยวกับเรื่อง"การจัดการความรู้"(KM) โดยไม่กล่าวถึงปรัชญาเอาไว้บ้าง อันที่จริง เรื่องราวเกี่ยวกับ KM ตามตัวอักษรแล้ว ได้ถูกทำให้เกิดความฉงนโดยการอ้างอิงถึงบรรดานักปรัชญาและผลงานทางด้านปรัชญาต่างๆ กระนั้นก็ตาม เป็นที่น่าประหลาดใจว่า ทั้งๆที่มีการกล่าวถึงเกี่ยวกับทฤษฎีทางปรัชญาอย่างเหนียวแน่น แต่มันแทบจะไม่เห็นถึงความเชื่อมโยงกันในรายละเอียด ซึ่งได้รับการทำขึ้นมาระหว่าง"ทฤษฎีทางความรู้ในฐานะที่เป็นปรัชญา" กับ "ปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดการความรู้"เลย

ในบทความชิ้นนี้ ข้าพเจ้าจะทำการสำรวจถึงความสัมพันธ์กันระหว่าง"ปรัชญา"กับ"การจัดการความรู้" โดยจะมองไปที่ทฤษฎีทางปรัชญาซึ่งได้สนับสนุนต่อพัฒนาการของ KM และยิ่งถ้าเผื่อว่าเราเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับปรัชญาด้วยแล้ว ก็จะยิ่งทำให้เราสามารถนำมันไปประยุกต์ใช้กับโครงการต่างๆเกี่ยวกับ KM ให้เป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น

ในการทำเช่นนั้น แม้ว่าความสนใจจะมีให้กับเรื่องราวเกี่ยวกับ KM แต่ข้าพเจ้าจะชี้ไปถึงพื้นที่ทางปรัชญาบางพื้นที่ซึ่งเกี่ยวข้องเล็กๆน้อยๆกับ KM, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสนทนากันทางปรัชญาที่โดยขนบจารีตแล้ว เกี่ยวกับเรื่องญานวิทยา(ทฤษฎีความรู้) แต่อย่างไรก็ตาม มันค่อนข้างมีข้อจำกัดในประโยชน์ของมันเมื่อมาเกี่ยวข้องกับเรื่อง KM, เนื่องจากว่าญานวิทยาได้โฟกัสลงบนผลิตผลทางความรู้ของปัจเจกหรือความรู้ที่เป็นส่วนตัว มากกว่าการแบ่งปันและใช้ประโยชน์เกี่ยวกับความรู้ในบริบทร่วมกันของ KM

ถัดมา ข้าพเจ้าจะจำแนกแยกแยะวิธีการบางอย่าง ซึ่งปรัชญาสามารถถูกนำไปเกี่ยวโยงและสอดคล้องกับ KM, และจะมีการเน้นถึงพื้นที่ต่างๆเกี่ยวกับทฤษฎีทางปรัชญา ซึ่งดูเหมือนว่าจะมีความหวังหรืออนาคตมากที่สุด ในการใช้ประโยชน์ทางด้านการปฏิบัติกับเรื่องของ KM

ข้อเสนอแนะของข้าพเจ้าคือว่า ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในเชิงทฤษฎีที่มีความหวังหรืออนาคตอันนั้นสำหรับ KM มาจากผลงานเมื่อเร็วๆนี้ ทั้งในส่วนของปรัชญาวิทยาศาสตร์และในส่วนของของญานวิทยาทางสังคม(social epistemology)นั่นเอง

ก่อนที่จะกล่าวต่อไป ข้าพเจ้าต้องพูดถึงคำเตือนที่สำคัญอันหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับสิ่งที่ข้าพเจ้าได้พูดถึงในบทความชิ้นนี้ นั่นคือ ภูมิหลังของข้าพเจ้านั้น แรกเริ่มเดิมทีเป็นผู้ให้ความสนใจในเรื่องของปรัชญา และข้าพเจ้าเป็นคนที่ค่อนข้างใหม่ในสาขาวิชา"การจัดการความรู้" (knowledge management) ด้วยเหตุดังนั้น ข้าพเจ้าจึงใช้วิธีการศึกษาเรื่องของ KM ส่วนใหญ่จากทัศนียภาพของนักปรัชญาคนหนึ่ง โดยพยายามพุ่งเป้าไปที่การตีความสิ่งที่ KM เป็น, และมุ่งที่จะประเมินว่า KM ได้อิงอาศัยต่อการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในเชิงปรัชญาที่หลายหลากอย่างไร

เนื่องจาก การสนทนาของข้าพเจ้าเป็นจำนวนมากได้มีการโฟกัสลงไปที่ตำรับตำราเบื้องต้นต่างๆเกี่ยวกับการจัดการความรู้ และไม่ได้มีรายละเอียดมากมายนัก รวมถึงงานพิมพ์ต่างๆที่ไม่เฉพาะเจาะจง ด้วยเหตุนี้ การโฟกัสของข้าพเจ้าหลักๆจึงมาจากตำรับตำราที่นักศึกษาใช้ เช่นเดียวกับผลงานคำอธิบายทั้งหลายที่นำเสนอออกมาในช่วงแรกๆ เกี่ยวกับรากฐานในเชิงทฤษฎีของ KM. เนื้อหาจากแหล่งข้อมูลเหล่านี้ ควรที่จะมากพอสำหรับวัตถุประสงค์ข้างต้น เพราะว่าผลงานต่างๆดังที่กล่าว ประสงค์ที่จะนำเสนอถึงพื้นฐานที่เป็นรากเหง้าสำหรับ KM อันเป็นเค้าโครงทฤษฎีหรือหลักการที่จำเป็นของ KM นั่นเอง

วิธีการศึกษาเรื่องของ KM ในหนทางนี้นับว่าเป็นประโยชน์อย่างชัดเจนบางประการ เช่นเดียวกับที่มันอาจไม่เป็นประโยชน์มากมายนักเช่นกัน ในส่วนของประโยชน์หรือข้อได้เปรียบหลักคือว่า ข้าพเจ้ากำลังศึกษาเรื่องราวของ KM ด้วยจิตใจที่สดสะอาดและด้วยท่าทีในเชิงวิพากษ์ โดยไม่ต้องแบกรับภาระเกี่ยวกับแนวคิดที่มีมาก่อน ซึ่งคนอื่นๆต่างมีประสบการณ์ที่ช่ำชองและมากกว่าในสาขาวิชานี้ ดังที่พวกเขาครอบครองอยู่

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้ามาสู่ผลงานนี้ในฐานะที่เป็นนักปรัชญาคนหนึ่ง หมายความว่า ข้าพเจ้าได้วางตำแหน่งเอาไว้อย่างดี โดยเฉพาะในการที่จะทำการประเมินเกี่ยวกับความสมบูรณ์ของนิยามความหมายต่างๆและการศึกษาในเรื่อง KM, และความถูกต้องแม่นยำ รวมทั้งความเป็นประโยชน์เกี่ยวกับทฤษฎีทางปรัชญาที่หลากหลายซึ่งได้รับการพูดถึง

ส่วนข้อเสียเปรียบต่างๆคือว่า ความเข้าใจของตัวข้าพเจ้าเองเกี่ยวกับขอบเขต และรายละเอียดของผลงานที่กระทำขึ้นมาภายใต้ป้ายฉลาก"การจัดการความรู้" ซึ่งค่อนข้างมีข้อจำกัด และความลี้ลับบางอย่างนั้น รวมถึงความเกี่ยวข้องทั้งหลายในเรื่องดังกล่าว อาจทำให้ข้าพเจ้าละเลยรายละเอียดบางประการไปโดยไม่ทันสังเกต ด้วยเหตุดังนั้น ข้าพเจ้าจึงพยายามคงไว้ซึ่งคำเตือนต่างๆที่ตรงไปตรงมาในสิ่งที่ข้าพเจ้าพูด และพยายามที่จะโฟกัสมากเป็นพิเศษ ลงไปที่การใช้ทฤษฎีทางปรัชญาในเรื่องของ KM มากกว่าเรื่อง"การจัดการความรู้"โดยตัวของมันเอง

สำหรับความเข้าใจของข้าพเจ้าเกี่ยวกับเรื่องของ KM มาจากสองแหล่งด้วยกันคือ

แหล่งแรก มาจากตำราต่างๆอย่างหลากหลาย, รวมกระทั่งถึง website มากมาย และเอกสารจำนวนหนึ่งเกี่ยวกับการสนทนากันถึงเรื่องดังกล่าว ซึ่งได้นำเสนอแนวความคิดต่างๆที่เป็นรากฐานของ KM ต่อผู้รับรู้ทั่วๆไปส่วนใหญ่

แหล่งที่สอง มาจากโครงการต่างๆเกี่ยวกับเรื่อง KM โดยเฉพาะที่ได้รับการดำเนินการภายใต้โปรแกรมการวิจัยเกี่ยวกับเรื่องของ KM ที่ Monash University, School of Information Management & Systems. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าได้รับอิทธิพลอย่างมากที่สุดจากโครงการเกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศ[the Meteorological Forecasting project](Linger and Burstein, 2000)

แหล่งข้อมูลทั้งสองแหล่งได้ให้ภาพของ KM ในหนทางที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ ตำรับตำราต่างๆและคำอธิบายทั้งหลาย มีแนวโน้มที่เน้นถึง KM ในฐานะที่เป็นวาทกรรมของการปรับตัวทางธุรกิจ และมันได้รับการสร้างภาพขึ้นมา และสนทนากันถึงเรื่องราวนั้นในเนื้อหาเกี่ยวกับ KM เป็นส่วนใหญ่. ด้วยเหตุนี้ KM จึงถูกนิยามในฐานะที่เป็นกระบวนการอันหนึ่งซึ่งบริษัทใดบริษัทหนึ่ง ได้ให้คุณค่าแก่ทรัพยากรต่างๆทางด้านความรู้ และแสวงหาวิธีการเพื่อที่จะมาจัดการความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้กิจกรรมกระแสหลักต่างๆของบริษัท (Gordon and Smith, 1998)

ในทำนองเดียวกัน "KM ก็เป็นกระบวนการอันหนึ่ง ซึ่งองค์กรต่างๆได้สร้างคุณค่าขึ้นมาจากคุณสมบัติทางด้านพื้นฐานความรู้และสติปัญญา(intellectual and knowledge-based assets)" ตัวอย่างที่ยกมา ซึ่งคำอธิบายเกี่ยวกับ KM ได้พัฒนาขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมขององค์กรทั้งหลาย, และส่วนใหญ่ของผลงานถูกทำขึ้นภายใต้ป้ายฉลากของ KM นั้น ได้รับการขับเคลื่อนโดยการจัดการที่ผูกพันอยู่ในบริบททางด้านธุรกิจ ซึ่งการศึกษาดังกล่าวไม่ได้รู้สึกประหลาดใจต่อเรื่องนี้แต่อย่างใด

และยังไม่รู้สึกประหลาดใจด้วยว่า คำถามต่างๆในเชิงทฤษฎีส่วนใหญ่เกี่ยวกับธรรมชาติของ KM หรือผลงานของ KM มีแนวโน้มที่จะได้รับการมองในฐานะที่เป็นสิ่งที่อยู่รอบนอก วัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของ KM ไม่เกี่ยวข้องกับคำถามทางด้านแนวความคิดในระดับลึกใดๆ แต่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องพื้นๆของการขับดันและการสร้างเสริมความเจริญเติบโตของบริษัท ซึ่งประเด็นนี้ได้รับการพูดถึงอย่างชัดเจนในการสนทนาต่างๆของบทนำเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับเรื่อง KM แล้ว

ยกตัวอย่างเช่น website สำหรับ CIO magazine CIO.com ซึ่งกล่าวเอาไว้ว่า "วิธีการศึกษาในเชิงสร้างสรรค์อันหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องของ KM สามารถยังผลให้เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพ, ก่อให้เกิดผลผลิตที่สูงขึ้น และเพิ่มรายได้อย่างเป็นจริงเป็นจังให้กับภาคส่วนทางด้านธุรกิจ"

ในทางตรงข้ามกับอันนี้ โครงการ KM ต่างๆภายใต้โปรแกรมการวิจัยเกี่ยวกับ KM (the KM Research Program) ไม่ได้วางจุดเน้นลงบนเป้าหมายต่างๆของการปรับตัวทางด้านธุรกิจอย่างเดียวในเรื่องของความเจริญเติบโตของบริษัทและการแสวงหารายได้เพิ่มขึ้น แต่ได้ไปเน้นที่เป้าหมายต่างๆขององค์กรที่กว้างกว่าแทน ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของ โครงการ KM เกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศ

จุดมุ่งหมายของโครงการดังกล่าว ต้องการที่จะพัฒนาระบบ KM ที่จะไปช่วยเหลือหรือสนับสนุนภารกิจเกี่ยวกับการนำเสนอคำพยากรณ์ที่แม่นยำ มันบรรลุผลสัมฤทธิ์นี้อย่างมีประสิทธิภาพได้ โดยการบูรณาการทักษะซึ่งเป็นทรัพยากรทางความรู้ของนักพยากรณ์ เข้ากับ ระบบทางด้านเทคโนโลยีที่ได้สะสม ร่วมปัน และช่วยเหลือภารกิจที่ก่อเกิดผลผลิตของบรรดานักพยากรณ์ทั้งหลาย

ในที่นี้ ประสิทธิภาพของ KM ส่วนใหญ่ได้รับการเอาใจใส่โดยความสัมพันธ์กันระหว่าง การมีส่วนร่วมที่แตกต่างในกระบวนการเกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศ - นั่นคือ กลุ่มนักพยากรณ์ที่เป็นมนุษย์, เทคโนโลยีต่างๆ ที่ได้ช่วยเหลือการพยากรณ์ของพวกเขา, ระบบต่างๆที่พวกเขานำมาใช้เพื่อสะสมและเผยแพร่คำพยากรณ์, ผลิตผลนานาชนิดที่พวกเขาสร้างขึ้น, และบรรดาลูกค้าซึ่งเป็นผู้รับและเป็นผู้ใช้ประโยชน์เกี่ยวกับคำพยากรณ์เหล่านั้น ทั้งหมดนี้คือส่วนประกอบต่างๆของพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับระบบที่กว้างขวาง และไม่สามารถที่จะถูกเข้าใจหรือจัดการโดยปราศจากความเข้าใจอย่างละเอียดละออเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างทุกๆส่วนของระบบข้างต้นนั่นเอง

สิ่งนี้ได้แสดงให้เห็นว่า เดิมทีนั้น KM ได้ถูกนำไปพัวพันกับความรู้ ดังที่มันได้รับการก่อเกิด, แบ่งปัน, สะสมขึ้นมา, และใช้ประโยชน์ภายในสภาพแวดล้อมที่ร่วมมือกัน. KM ยังถูกนำไปเกี่ยวโยงกับแง่มุมอื่นๆทั้งหมดของความรู้ ภายในกรอบหรือโครงร่างขององค์กรด้วย: นั่นคือ ความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงของแต่ละปัจเจกบุคคลภายในองค์กร เช่นเดียวกับความรู้ในเชิงปฏิบัติของพวกเขา, ความรู้เงียบ(tacit knowledge - ความรู้โดยนัย หมายถึงความรู้ที่แต่ละคนมี แต่ไม่ได้ถ่ายทอด), และความรู้ทางด้านเทคโนโลยี

ด้วยเหตุดังนั้น ถ้าเรามองไปที่ทฤษฎีทางปรัชญาเพื่อจัดหาหรือตระเตรียมรากฐานอันหนึ่งสำหรับภารกิจต่างๆของ KM เราก็จะต้องค้นหาพื้นที่เหล่านั้นที่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาเหล่านี้ในเชิงปฏิบัติที่เป็นจริงได้ เช่นเดียวกับการตระเตรียมความเข้าใจอย่างถ่องแท้ในรูปแบบที่แตกต่างของความรู้ และความสัมพันธ์ต่างๆระหว่างความรู้ทั้งหลายเหล่านี้ ทฤษฎีทางปรัชญาจักต้องช่วยเราให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการที่อยู่ข้างใต้ด้วย ซึ่งมันสอดรับตรงประเด็นสำหรับเรื่อง KM

สำหรับช่วงตอนจบของบทความชิ้นนี้ ข้าพเจ้าจะสำรวจถึงพื้นที่บางพื้นที่ของปรัชญาเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งได้ให้ความเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งเกี่ยวกับกระบวนการต่างๆดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะถึงจุดนั้น ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะใช้เวลาสักเล็กน้อยเพื่อสำรวจถึงความสัมพันธ์ระหว่างปรัชญากับ KM โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับปรัชญาในเรื่องราวของ KM

2. KM กับการอิงอาศัยเรื่องของปรัชญา
KM AND THE APPEALS TO PHILOSOPHY
ความสัมพันธ์ระหว่างรากฐานเกี่ยวกับ"การจัดการความรู้" กับ "ทฤษฎีทางปรัชญา"เป็นเรื่องที่ใกล้ชิดกันโดยตรงอันหนึ่ง ผลงานต่างๆที่มีอิทธิพลและมีความสำคัญมากที่สุดในเรื่องของ KM ได้อิงอาศัยอย่างชัดเจนต่อบรรดานักปรัชญาและทฤษฎีต่างๆทางปรัชญาจำนวนหนึ่ง

จากการอ่านผลงานทั้งหลายเกี่ยวกับการสัมนา ส่วนหนึ่งของทฤษฎีบุกเบิกหรือนวัตกรรมในเรื่อง KM โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Sveiby, Nonaka และ Takeuchi, เป็นที่ชัดเจนว่า การประยุกต์ใช้ประโยชน์เกี่ยวกับความเข้าใจอย่างถ่องแท้ทางปรัชญา ได้วางรากฐานสำหรับผลงานในช่วงบุกเบิกของพวกเขาเป็นจำนวนมากในเรื่องการจัดการความรู้

K. E. Sveiby (1994, 1997, 2001) ได้กล่าวถึงผลงานจำนวนมากของบรรดานักปรัชญาในการพูดคุยของเขาเกี่ยวกับธรรมชาติของ KM โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนใหญ่ Sveiby ได้อาศัยผลงานของทั้ง Polanyi และ Wittgenstein โดยตรงในการอธิบายของเขา และการสืบค้นในเรื่องรากฐานเกี่ยวกับการจัดการความรู้

ไอเดียของ Polanyi เกี่ยวกับความรู้เงียบ(tacit knowledge)มีใจกลางอยู่ที่ความเข้าใจเกี่ยวกับ KM ของ Sveiby ด้วย - สำหรับ Sveiby โครงการเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรที่เป็น"ความรู้เงียบ"ของเราคือจุดมุ่งหมายหลักของ KM. Sveiby ยังกล่าวถึงวิธีการศึกษาของ Wittgenstein ในเรื่องความหมายและความรู้ ซึ่งเขามองว่า มันสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับวิธีการของ Polanyi แม้ว่าเขาจะไม่ได้ลงไปในรายละเอียดเกี่ยวกับว่า ไอเดียหรือความคิดต่างๆเหล่านี้ว่า มันสัมพันธ์เชื่อมโยงกับทัศนะของเขาในเรื่อง KM อย่างไร

Nonaka (1994), Nonaka and Takeuchi (1995) ได้พูดถึงทิวแถวที่กว้างขวางอันหนึ่งของบรรดานักปรัชญา และลำดับการของทัศนียภาพทางปรัชญาที่แตกต่างในงานที่ทรงอิทธิพลของพวกเขาเกี่ยวกับเรื่อง KM. บทที่ 2 ของ Nonaka and Takeuchi (1995) ได้รวมเอาการสนทนาที่ขยายกว้างออกไปอันหนึ่งเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ทางปรัชญา นับจาก Plato และ Aristotle ตลอดจนกระทั่งถึง Descartes และ Locke; Kant, Hegel และ Marx; Husserl, Heidigger, Sartre, Merleau-Ponty, Wittgenstein, James และ Dewey

พวกเขายังได้มีการพูดถึง Herbert Simon, Gregory Bateson ด้วย และยังให้ความสนใจเป็นการเฉพาะต่อไอเดียของ Polanyi เกี่ยวกับความรู้เงียบด้วยเช่นกัน พวกเขายังพูดถึงผลงานทางปรัชญาอีกจำนวนหนึ่งอย่างสั้นๆ อย่างเช่น แบบจำลองทางสติปัญญาต่างๆ ของ Johnson-Laird (1983), รวมทั้งเรื่องความรู้และการไหลของข้อมูลของ Fred Dretske (1981) เช่นเดียวกับทฤษฎีข้อมูลของ Shannon

ที่น่าสนใจคือว่า Nonaka และ Takeuchi ยอมรับข้อจำกัดบางอย่างเกี่ยวกับทฤษฎีทางปรัชญาเหล่านี้ ยกตัวอย่างเช่น พวกเขาสร้างประเด็นขึ้นมาว่า วิธีการศึกษาทางปรัชญาได้ถูกจำกัดมาแต่แรก เมื่อมันมาถึงการอธิบายเรื่องการสร้างความรู้ขององค์กรขึ้นมา - พวกเขาอ้างว่ามันขาดเสียซึ่งนวัตกรรมใหม่ๆ

ยังมีบุคคลทางปรัชญาที่สำคัญคนอื่นๆอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งได้รับการกล่าวถึงในเรื่องของ KM. อันนี้เป็นการเพิ่มเติมจากคนที่เราได้พูดถึงกันไปแล้ว ซึ่งมีรายชื่อผลงานต่างๆของบรรดานักคิดเหล่านี้ที่ได้มาช่วยเหลือสนับสนุน, แม้ว่าจะไม่ได้โดยตรงก็ตาม, ต่อความเข้าใจในปัจจุบันเกี่ยวกับการจัดการความรู้ เช่น

- Gilbert Ryle (1940-50s): The distinction between knowing that and knowing how.
- Michael Polanyi (1966): Tacit knowledge
- Ludwig Wittgenstein (1920s): Meaning is use
- Michel Foucault (1970s): Knowledge is power
- Thomas Kuhn (1970s): Paradigms
- Karl Popper (1960s): Three worlds
- Jean-Francois Lyotard (1984): The Postmodern Condition - data, information,knowledge.
- Jurgen Habermas (1984): The Theory of Communicate Action, Volume One: Reason and the Rationalization of Society
- Charles Saunders Peirce (1839-1914) and other American the pragmatists(James, Dewey, Rorty)

อย่างชัดแจ้ง สาขาความรู้เกี่ยวกับเรื่อง KM ได้เป็นหนี้บุญคุณอย่างลึกซึ้งต่อไอเดียหรือความคิดต่างๆของบรรดานักปรัชญาเป็นจำนวนมากเหล่านี้: นับจากการนิยามความหมาย, การทำให้เป็นหมวดหมู่, การแยกแยะเกี่ยวกับศัพท์คำว่า"ความรู้" ซึ่งได้รับมาโดยตรงจากผลงานของนักปรัชญามากมาย แน่นอน ทฤษฎีต่างๆทางปรัชญานั้น ดูเหมือนจะเป็นแกนกลางซึ่งเป็นรากฐานต่างๆของ KM - แต่ในหนทางใดล่ะที่พวกมันมีนัยสำคัญ และทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

แม้ว่าความกว้างขวางอันนี้ จะอิงอาศัยฐานรากทางปรัชญาและนักปรัชญาทั้งหลาย แต่ข้าพเจ้ารู้สึกว่า ความเชื่อมโยงกันจริงๆระหว่าง"ทฤษฎีทางปรัชญา" กับ "รายละเอียดในทางปฏิบัติของ KM" นั้น ค่อนข้างจะอ่อนแอมาก ปัญหาคือมันไม่ชัดเจนนักที่ว่า ความคิดทางปรัชญาต่างๆ จริงๆแล้ว ได้ช่วยเหลือหรือสนับสนุนอย่างไรต่อความเข้าใจในเชิงทฤษฎี และเกี่ยวกับความเกี่ยวโยงกับเรื่องของ KM

ยกตัวอย่างเช่น ในงานของ Nonaka and Takeuchi (1995) แม้ว่าจะได้มีการพูดถึงกันมากมายเกี่ยวกับบรรดานักปรัชญาและปรัชญาในช่วงบทต้นๆก็ตาม แต่เมื่อพวกเขาเคลื่อนต่อไปข้างหน้า สู่การสนทนาถึงรายละเอียดในเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องของ KM ดูเหมือนว่าพวกเขาจะทำการเชื่อมโยงย้อนกลับไปถึงความคิดต่างๆทางปรัชญา ซึ่งพวกเขาได้พูดถึงมาก่อนหน้านั้นน้อยมาก หรือแทบไม่ได้เชื่อมโยงถึงมันเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันอิงอาศัยไอเดียต่างๆทางปรัชญาที่ชัดเจนน้อยมาก

ในการสนทนาเชิงปฏิบัติของพวกเขาเกี่ยวกับ การที่ใครคนหนึ่งจะเกี่ยวข้องอย่างไรกับโครงการในการจัดการความรู้ เกือบจะพูดได้เลยว่า การสนทนากันทางปรัชญาซึ่งได้รับการนำเสนอออกมามากมาย ในความสนใจนี้เป็นเพียงเรื่องปลีกย่อยหรือเรื่องที่อยู่รอบนอก มากกว่าที่จะเป็นการตระเตรียมความเข้าใจอย่างถ่องแท้และลึกซึ้งในการสนทนาเกี่ยวกับเรื่องของ KM

ดังนั้นมันจึงไม่ชัดเจนว่า ไอเดียความคิดต่างๆทางปรัชญาได้ตระเตรียมอะไรที่มากกว่าเป็นบริบทหนึ่งในบทนำสำหรับการสนทนาเกี่ยวกับเรื่องของ KM ของพวกเขาเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันไม่เป็นการชัดเจนว่า การอิงอาศัยใดๆของพวกเขาเกี่ยวกับพื้นฐานทางปรัชญา ได้ดำรงอยู่เพื่อเป็นกรอบโครงร่าง KM ของพวกเขา

ด้วยเหตุดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่มีคุณค่าหรือประโยชน์ในการที่จะมองเข้าไปในรายละเอียดเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันที่แท้จริงระหว่าง"ปรัชญา"กับ"KM" - กล่าวคือ พยายามจ้องดูว่า แต่ละสาขาวิชาได้ให้นิยามความหมาย KM กันอย่างไร(how) ทำไม(why)แนวความคิดดังกล่าวจึงมีนัยสำคัญสำหรับแต่ละสาขาวิชา และอะไร(what)ที่แต่ละสาขาวิชาได้พูดถึงแนวความคิดนี้ เป็นต้น

ในที่นี้สมควรที่จะเน้นว่า การสนทนาของข้าพเจ้าจะโฟกัสลงไปที่ความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องของ KM กับ เรื่องของปรัชญาเป็นปฐม ดังที่มันได้รับการปฏิบัติกันภายในขนบประเพณีของการวิเคราะห์แบบตะวันตก(Western Analytic tradition) ด้วยเหตุนี้คำว่า"บรรดานักปรัชญา"ซึ่งข้าพเจ้าอ้างถึง ณ ที่นี้ ก็คือบุคคลเหล่านั้นที่ทำงานอยู่ภายใต้ขนบจารีตการวิเคราะห์แบบตะวันตกเกี่ยวกับปรัชญา และเมื่อไรก็ตามที่ข้าพเจ้าใช้คำว่า"ปรัชญา" โดยทั่วไปแล้วข้าพเจ้ากำลังอ้างถึงขนบประเพณีดังกล่าวนั่นเอง

ขนบจารีตนี้ได้ย้อนรอยกลับไปยังบรรดานักปรัชญากรีกโบราณ และได้ส่งทอดอิทธิพลอย่างลึกซึ้งให้กับเหล่านักปรัชญาทั้งหลาย อย่างเช่น Descartes; บรรดานักประสบการณ์นิยม เช่น Hume และ Locke และนักอุดมคตินิยมชาวเยอรมัน Kant; บรรดานักปรัชญาราวต้นคริสตศตวรรษที่ 20 อย่างเช่น Frege, Russell, และ Wittgenstein; และนักปรัชญาอเมริกันสมัยใหม่ อย่าง Quine, Davidson, Kripke, และ Rawls

ขนบจารีตอันนี้ตรงข้ามกับสิ่งที่มักได้รับการเรียกขานบ่อยๆว่า จารีตทางปรัชญาแบบ"ภาคพื้นทวีป"(continental tradition in philosophy) ที่เลื่อนไหลผ่านผลงานของบรรดานักคิด อย่างเช่น Neitzche, Hegel, Heidigger, Husserl, Derrida และ Levinas. อันนี้มีรากเดียวกันกับขนบจารีตแบบวิเคราะห์(analytic tradition) แต่ได้แยกตัวออกมาอย่างแหลมคมในเทอมต่างๆ ทั้งในส่วนของวิธีการและชนิดของคำถามต่างๆที่มันพยายามตอบ

บางคนได้ให้อัตลักษณ์ถึงความแตกต่างดังนี้คือ:
ขนบจารีตแบบวิเคราะห์(analytic tradition) เป็นงานที่แหลมคม แคบแต่ลึกซึ้ง มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ข้อถกเถียงเกิดความชัดเจนและมีความถูกต้องแม่นยำ
ในขณะที่ขนบจารีตแบบภาคพื้นทวีป(continental tradition) เป็นเรื่องกว้างๆ ไม่ลึกซึ้ง ค่อนข้างเอาใจใส่กับประเด็นปัญหาทางการเมือง วัฒนธรรม และรวมถึงสถานการณ์ของมนุษย์มากกว่าโดยทั่วๆไป

เหตุผลของข้าพเจ้าในการโฟกัสลงไปที่ขนบจารีตการวิเคราะห์แบบตะวันตก มากกว่าขนบจารีตแบบภาคพื้นทวีปมีอยู่สองประการ คือ

ประการแรก ส่วนใหญ่ของเรื่อง KM ที่จริงแล้ว ได้อิงอาศัยขนบจารีตอันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ใช้เรื่องราวเกี่ยวกับความรู้ของ Cartesian (มีรากมาจาก Desartes) และบรรดาผู้รับช่วงสืบทอดในหนทางดังกล่าว ด้วยเหตุดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสาขาวิชาเหล่านี้จึงชัดเจนว่าคู่ควรกับการวิเคราะห์

ประการที่สอง และเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ ข้าพเจ้าเชื่อว่า ขนบจารีตแบบวิเคราะห์สามารถนำเสนอความเข้าใจอย่างถ่องแท้และสำคัญให้กับเรื่องของ KM ได้ ซึ่งอาจขัดแย้งกับวิธีการศึกษาบางอย่างที่เห็นด้วยหรือรับรองในขนบจารีตแบบภาคพื้นทวีป ซึ่งน่าสนใจที่ว่า ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในทางปรัชญา ซึ่งเป็นประโยชน์มากที่สุดบางอย่างสำหรับเรื่องของ KM มาจากขนบจารีตแบบภาคพื้นทวีป เนื่องจากวิธีการศึกษานั้น มีแนวโน้มที่จะกวาดตามองอย่างกว้างๆไปที่ความเกี่ยวโยงกับเรื่องสังคม การเมือง และความเป็นจริงในเชิงปฏิบัติที่รายรอบแนวความคิดดังกล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้ารู้สึกว่า วิธีการศึกษาแบบภาคพื้นทวีปสามารถมีแนวโน้มที่เกี่ยวโยงกับคำถามต่างๆซึ่งค่อนข้างกว้างมากเกินไปสำหรับความเกี่ยวพันกับเรื่อง KM และในการกระทำเช่นนั้น ก็ได้สูญเสียความเชื่อมโยงที่สำคัญไประหว่าง"ความรู้"และ"ความจริง"

ในข้อพิจารณาดังกล่าว ช่วงตอนท้ายของส่วนนี้ข้าพเจ้าจะอภิปรายถึงวิธีการศึกษาเชิงวิเคราะห์ต่อคำถามทั้งหลายข้างต้น ซึ่งสามารถที่จะนำเสนอ KM ด้วยแนวทางที่สำคัญบางอย่าง

สิ่งหนึ่งซึ่งได้เข้ามาจู่โจมนักปรัชญาแนววิเคราะห์ เมื่อพวกเขาได้เผชิญหน้ากับเรื่องของ KM เป็นครั้งแรกก็คือ วิธีการที่ศัพท์คำว่า"ความรู้"(knowledge)ถูกใช้นั่นเอง เมื่อบรรดานักปรัชญาทั้งหลายพูดคุยเกี่ยวกับ"ความรู้" พวกเขามีแนวโน้มที่จะหมายถึงบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งแตกต่างไปเลยทีเดียวกับการที่นักเขียนเรื่อง KM อ้างอิงถึง"ความรู้"

โดยแบบแผนแล้ว บรรดานักปรัชญาทั้งหลายได้ให้นิยามความหมาย"ความรู้" ในฐานะที่เป็นเรื่องส่วนตัวอันหนึ่งโดยแก่น ซึ่งผูกพันกับข้อเท็จจริงที่เป็นจริงต่างๆ(true facts)เกี่ยวกับโลก: ความรู้เป็นความจริงของปัจเจก(an individual's true), และเป็นความเชื่อที่มีเหตุผล(justify belief) ความรู้ที่พัวพันมากไปกว่าความเชื่อในข้อเท็จจริงที่แน่นอนอันหนึ่งเกี่ยวกับโลกของใครบางคนคือ : รู้บางสิ่งอย่างแท้จริงซึ่งคุณจะต้องเชื่อมัน, คุณจะต้องมีหลักฐานหรือเหตุผลที่ดีในการเชื่อว่ามันเป็นความจริง และมันจะต้องเป็นจริงด้วย

ด้วยเหตุนี้ วิธีการศึกษาตามขนบจารีตในเรื่องญานวิทยา(epistemology) - ทฤษฎีเกี่ยวกับความรู้ - แรกเริ่มได้ถูกนำไปเกี่ยวพันกับ "ความรู้คืออะไร และมันสามารถได้รับการพิสูจน์อย่างไร มากกว่าไปสนใจว่าความรู้ได้ถูกสร้างขึ้นและถูกใช้กันอย่างไร?" วิธีการศึกษาอันนี้ที่จะนิยามความรู้ มันตรงข้ามอย่างชัดเจนกับการนิยามความหมายที่นำเสนอเป็นแบบแผนอยู่ในเรื่องราวของ KM ยกตัวอย่างเช่น

ในตำราเบื้องต้นเกี่ยวกับ"การจัดการความรู้"(knowledge management) Rumizen ได้ให้นิยามความหมายความรู้ในฐานะที่เป็น "ข้อมูล ในบริบทของการผลิตความเข้าใจที่สามารถทำการได้"(2002:6, 288) ในทำนองเดียวกัน Davenport & Prusak ได้ให้นิยามความรู้ว่า:

"ความรู้คือส่วนผสมที่เลื่อนไหลของประสบการณ์ที่ได้รับการวางโครงร่าง, เป็นคุณค่าต่างๆ, ข้อมูลในเชิงบริบท, และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ที่ชำนาญการ ซึ่งได้นำเสนอกรอบหรือโครงร่างอันหนึ่งขึ้นมา เพื่อการประเมินและการวบรวมประสบการณ์และข้อมูลใหม่ๆ. มันให้กำเนิดและถูกประยุกต์ใช้ในใจของบรรดาผู้รู้ทั้งหลาย ในองค์กรต่างๆ บ่อยครั้งมันได้รับการฝังตรึงไม่เพียงอยู่ในเอกสารต่างๆหรือในคลังความรู้เท่านั้น แต่ยังอยู่ในงานประจำ, กระบวนการ, การปฏิบัติ และบรรทัดฐานขององค์กรด้วย"(1998: 5)

นิยามความหมายที่เป็นทางการนี้เกี่ยวกับความรู้เป็นสิ่งที่โต้เถียงกันมากทีเดียว และเป็นหัวข้อหนึ่งของการถกเถียงอภิปรายกันอย่างกระฉับกระเฉงตลอดมา แต่อย่างไรก็ตาม บรรดานักปรัชญาทั้งหลายมีแนวโน้มในการเห็นด้วยว่า นิยามความหมายอันนี้มันถูกต้องเพียงหยาบๆ และการโต้เถียงส่วนใหญ่เป็นเรื่องรายละเอียดที่ลึกลงไปต่างๆเกี่ยวกับวิธีการนี้

นิยามความหมายข้างต้น ไม่ได้มองว่า"ความรู้เป็นเรื่องความจริงส่วนตัวโดยสาระ, หรือเป็นความเชื่อที่มีเหตุผล", แต่กลับมีความนึกคิดอันหนึ่งเกี่ยวกับ "ความรู้ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือในเชิงปฏิบัติอันหนึ่ง สำหรับประสบการณ์ต่างๆที่ได้รับการวางกรอบแทน เป็นการแบ่งปันความเข้าใจต่างๆและการช่วยเหลือ เกี่ยวกับภารกิจทั้งหลายในทางปฏิบัติ"

กล่าวให้ชัดก็คือ สำหรับ KM "ความรู้" คือบางสิ่งบางอย่างซึ่งแตกต่างไปจากความเข้าใจของปัจเจกชนเท่านั้น ในข้อเท็จจริงต่างๆเกี่ยวกับโลก - มันกลับกลายเป็นเครื่องมือในเชิงปฏิบัติที่เป็นจริงอันหนึ่ง สำหรับการจัดการอย่างชำนิชำนาญหรือควบคุมโลก. ในความหมายนี้มันคือสิ่งที่ Iivari เสนอเอาไว้เป็น"ข้อสรุป 4 ข้อเกี่ยวกับความรู้"ดังต่อไปนี้คือ:

- ความรู้เป็นเรื่องของชุมชน (Knowledge is communal)
- ความรู้เป็นกิจกรรมที่มีลักษณะเฉพาะ (Knowledge is activity-specific)
- ความรู้เป็นสิ่งที่ได้รับการเผยแพร่ (Knowledge is distributed)
- ความรู้เป็นประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม (Knowledge is cultural-historical)
(Iivari 2000: 261)

จากมุมมองหรือทัศนียภาพของญานวิทยาตามขนบจารีต วิธีการให้นิยามความหมายความรู้ลักษณะนี้ ฟังดูแล้วรู้สึกแปลกๆแน่ การศึกษาข้อสรุปเหล่านี้ในฐานะนักปรัชญาวิเคราะห์คนหนึ่ง เป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจความเชื่อมโยงกันระหว่างแนวความคิดเกี่ยวกับความรู้นี้ กับ แนวความคิดเกี่ยวกับความรู้ดังที่บรรดานักปรัชญาทั้งหลายได้นิยามมันขึ้นมาเป็นแบบแผน ถ้าเผื่อว่าความรู้ โดยแก่นหรือสาระแล้วเป็นเรื่องส่วนตัว ทำอย่างไรมันถึงสามารถเป็นของชุมชนหรือถูกเผยแพร่ได้?

ความแตกต่างกันข้างต้น สามารถได้รับการอธิบายได้ดีที่สุดโดยการทำความเข้าใจถึงวิธีการที่แตกต่าง ซึ่งทั้งสองสาขาวิชาได้ศึกษาถึงปัญหาดังกล่าวเกี่ยวกับการนิยามความรู้ และการทำความเข้าใจว่า ทำไมสาขาวิชาเหล่านี้จึงสนใจในแนวความคิดเกี่ยวกับความรู้ในประการแรก

ในทางตรงข้าม KM ไม่ค่อยสนใจที่จะโฟกัสลงไปที่ความรู้ที่มีเหตุผลพิสูจน์ได้มากนัก แต่มันกลับสนใจในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับความรู้แทน ทั้งนี้เพื่อที่จะไปเกี่ยวกับข้องกับภารกิจในเชิงปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งพัวพันอยู่กับกิจกรรมที่มีพื้นฐานอยู่บนเรื่องของความรู้(knowledge-based activity)

ตามลำดับ สาขาวิชาต่างๆที่เกี่ยวกับ"ปรัชญา"และ"KM" ได้ศึกษาคำถามเกี่ยวกับการนิยามความรู้ในหนทางที่แตกต่างกันมาแต่ต้น ความแตกต่างหลักๆของพวกมัน วางอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า บรรดานักปรัชญาทั้งหลาย เดิมทีเดียว ให้ความเอาใจใส่กับปัญหาเกี่ยวกับวิมตินิยม(scepticism - มีความสงสัย หรือกังขาคติ เป็นที่ตั้ง), ในทางตรงข้าม KM กลับจ้องมองไปที่ความรู้ในเทอมต่างๆของการปฏิบัติได้ต่างๆ

อันนี้คือความแตกต่างกันขั้นพื้นฐาน และมันได้น้อมนำไปสู่แนวความคิดที่ต่างกันเกี่ยวกับการให้นิยามความหมาย และความสำคัญของความรู้

แง่มุมส่วนตัวเกี่ยวกับความรู้ เป็นบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นมาจากวิธีการที่บรรดานักปรัชญาทั้งหลาย ได้ศึกษาถึงคำถามเกี่ยวกับสิ่งซึ่งได้ก่อร่างสร้างความรู้ที่แท้จริงขึ้นมา ข้อถกเถียงต่างๆร่วมสมัยในทางญานวิทยา โดยสาระแล้ว ได้ย้อนรอยกลับไปสู่ผลงานของ Rene Descartes และวิธีการของเขาเกี่ยวกับความสงสัย

ในผลงานเรื่อง Meditations on First Philosophy (1640) Descartes ได้ทำการสืบค้นเข้าไปสู่ธรรมชาติของความรู้ ในที่นี้ Descartes พยายามที่จะค้นหาหลักการที่เป็นรากฐานซึ่งความรู้ของเราพักพิงอยู่ โดยการพยายามที่จะพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงบางชนิด ซึ่งเราสามารถแน่ใจได้เกี่ยวกับมันจริงๆ ด้วยเหตุนี้เขาจึงให้การสนับสนุนสิ่งที่เราต้องการที่รื้อถอนทุกสิ่งลงมาอย่างสมบูรณ์ และเริ่มต้นใหม่อีกครั้งจากรากฐานต่างๆ (Descartes1996:12)

สำหรับ Descartes ความท้าทายที่แท้จริงในที่นี้คือ"วิมตินิยม"(ความสงสัย) - ถ้าหากว่ามันมีความเป็นไปได้ใดๆในข้อสงสัยเกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า"ความรู้"ว่ามันเป็นจริงหรือไม่ นั่นย่อมแสดงว่ามันไม่สามารถเป็นความรู้ที่แท้จริงได้. การสืบค้นของ Descartes พยายามที่จะเสาะหาสิ่งที่เป็นข้อเท็จจริงต่างๆเกี่ยวกับโลกภายนอก ซึ่งพ้นไปจาก"วิมตินิยม"หรือความสงสัย เพื่อที่จะค้นให้พบพื้นฐานเกี่ยวกับความรู้ของเราทั้งหมด

การดำเนินรอยตามระเบียบวิธีเช่นว่านี้ Descartes ได้มาถึงข้อเสนออันมีชื่อเสียงของเขา คือ "cogito ergo sum" - I think therefore I exist - (ฉันคิด ดังนั้นฉันจึงมีอยู่) ซึ่งเขาอ้างข้อเสนอดังกล่าว"ฉันจึงมีอยู่"ซึ่งพ้นไปจากข้อสงสัย

ญานวิทยาร่วมสมัยได้ดำเนินรอยตามขนบจารีต Cartesian นี้อย่างแข็งขัน, มีการโฟกัสเกี่ยวกับคำถามการให้เหตุผลเกี่ยวกับความรู้ในการเผชิญหน้ากับความสงสัย. เนื่องจากว่าคำถามอันนี้เกี่ยวกับการให้กำเนิดของความรู้ที่เป็นจริง และเกี่ยวกับการใช้และบริบทต่างๆของความรู้ ซึ่งไปผูกโยงรายรอบกับทฤษฎีต่างๆส่วนใหญ่ในญานวิทยา

ในทางที่ตรงข้ามกันอย่างชัดเจนกับอันนี้ KM ได้ถูกนำไปผูกโยงกับชนิดของคำถามต่างๆในเชิงปฏิบัติข้างต้น สำหรับความรู้ของ KM เป็นสิ่งที่ไกลห่างมากจากความแน่นอนส่วนตัวเกี่ยวกับโลก - มันเป็นเรื่องซึ่งไปเกี่ยวข้องกับความสามารถในทางปฏิบัติ เช่นเดียวกับความเข้าใจในเชิงแนวคิด และสิ่งสำคัญมากไปกว่านั้น KM ได้ถูกนำไปเกี่ยวโยงกับผลผลิต, การเก็บรักษา, และกระบวนการเกี่ยวกับความรู้ในกลุ่ม หรือในความหมายของการแบ่งปัน. ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่สอดคล้องตรงประเด็นเกี่ยวกับแนวความคิดเรื่องความรู้สำหรับ KM จึงแตกต่างไปมากทีเดียวจากความสอดคล้องตรงประเด็นของมันกับบรราดนักปรัชญาทั้งหลาย

ประเด็นที่ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะเน้นในที่นี้คือว่า ตราบเท่าที่ KM ยังถูกนำมาเกี่ยวข้อง มันมีข้อจำกัดต่างๆที่สำคัญในการศึกษาตามจารีตในทางญานวิทยา ญานวิทยาตามขนบจารีตจะเพ่งความสนใจลงไปที่คำถามต่างๆเกี่ยวกับความรู้ที่เป็นส่วนตัวหรือปัจเจก ด้วยประเด็นหลักที่ว่า เรารู้ถึงบางสิ่งบางอย่างได้อย่างไรในฐานะปัจเจก - ความไว้วางใจต่อข้อมูลประสาทสัมผัส, ประสบการณ์, และพยานหลักฐาน ฯลฯ เป็นอย่างไร

ฐานะดังที่กล่าว บรรดานักปรัชญาทั้งหลายได้กระทำภารกิจที่ดีเลิศอันหนึ่งเกี่ยวกับการให้นิยาม"ความรู้"ในความหมายนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ญานวิทยาแบบจารีตไม่ได้ถูกนำให้ไปเกี่ยวโยงกับผลิตผลและกระบวนการของความรู้ในกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง หรือในความหมายของการแบ่งปันความรู้ - จริงๆแล้ว มันไม่ได้ผูกพันกับการปฏิบัติการเกี่ยวกับผลผลิตทางความรู้และการใช้งาน

ประเด็นปัญหาหลักในญานวิทยาคือ สถานภาพของผลผลิตในขั้นสุดท้าย มากกว่ากระบวนการได้มาซึ่งความรู้ และสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากความรู้ได้ถูกได้มา แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยต่างๆที่ชัดเจน ซึ่งเกี่ยวข้องกับประโยชน์หรือความสนใจของ KM

ผลสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้คือว่า พ้นไปจากการวิเคราะห์มาแต่แรกเกี่ยวกับว่า ความรู้คืออะไร? การศึกษาตามขนบจารีตของญานวิทยา จริงๆแล้ว สามารถนำเสนอหนทางอันเป็นประโยชน์ต่อความเข้าใจเล็กน้อยมากสำหรับ KM. ด้วยเหตุนี้ เราจะต้องมองไปยังที่อื่นๆเพื่อค้นหาการช่วยเหลือหรือข้อสนับสนุนต่างๆอันเป็นประโยชน์จากปรัชญา

เราจะต้องอ่อนไหวต่อความหมายที่ต่างไปเกี่ยวกับคำว่า"ความรู้" ดังที่มันถูกใช้โดยบรรดานักปรัชญาทั้งหลาย และเข้าใจว่า KM ได้ประยุกต์ใช้แนวความคิดเกี่ยวกับความรู้ที่มีลักษณะเฉพาะเอามากๆ จริงๆแล้ว อันนี้ไม่ควรเป็นเรื่องที่ต้องรู้สึกประหลาดใจสำหรับผู้คนที่ทำงานกับ KM

ในส่วนตัวข้าพเจ้าคิดว่า อันที่จริง นี้คือประเด็นหนึ่งซึ่งบรรดานักทฤษฎี KM ส่วนใหญ่ต่างก็ทราบกันดีอยู่แล้ว กระนั้นก็ตามทั้งๆที่ทราบกันอยู่แล้ว แต่มันเป็นประเด็นหนึ่งที่ว่า บ่อยครั้งเรื่องนี้ได้รับการมองข้ามเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานแนะนำเบื้องต้น และสิ่งนี้สามารถที่จะก่อให้เกิดความสับสนที่รุนแรงขึ้นมาได้ สำหรับใครบางคนที่ทำความเข้าใจเรื่องของ KM เป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ตาม มันคือบทเรียนที่สำคัญมากอันหนึ่งสำหรับ KM ที่ควรได้รับการพูดถึงสำหรับการสนทนากันนี้: KM ไม่ควรที่จะละเลยความสำคัญเกี่ยวกับความเข้าใจอย่างถ่องแท้ทางปรัชญาในเรื่องธรรมชาติของความรู้. แม้ว่าสาขาวิชาที่ต่างกัน จะมีความสนใจโดยพื้นฐานที่แตกต่างกันในแนวความคิดเกี่ยวกับความรู้ก็ตาม แต่แนวความคิดทั้งหลายในแต่ละสาขาวิชา ยังคงมีส่วนสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกันมาก. วิธีการศึกษาที่ได้มาตรฐานในญานวิทยาอาจมีข้อจำกัดมากเกินไป และอาจคับแคบเกินไปสำหรับเรื่อง KM แต่มันไม่ถึงกับเป็นเรื่องที่ไม่ตรงประเด็นกันเลยทีเดียว

สำหรับรากฐานของมัน แนวความคิด KM เกี่ยวกับความรู้ อย่างน้อยที่สุด ควรที่จะเข้ากันได้กับการนิยามความหมายในทางญานวิทยา เพราะแม้ว่าความคิดในแต่ละสาขาวิชาจะสนใจแตกต่างกันในแนวคิดพื้นฐานของมันก็ตาม แต่มันก็ยังคงมีไอเดียหรือความคิดเดียวกันโดยสาระ

ประเด็นนี้ได้หวนกลับมาสู่การเน้นของข้าพเจ้า ในเรื่องขนบจารีตการวิเคราะห์แบบตะวันตก(Western Analytic tradition) มากกว่าขนบจารีตแบบภาคพื้นทวีป(Continental tradition). ในที่นี้ ความรู้สึกของข้าพเจ้าคือ แนวคิดเกี่ยวกับความรู้ของ KM ได้แยกออกห่างจากรากเหง้าต่างๆทางญานวิทยาไปแล้วเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องความรู้ และต้องได้รับการนำกลับมา มันเป็นประเด็นนี้ที่บทเรียนต่างๆควรได้รับการนำมาจากขนบจารีตปรัชญาวิเคราะห์: นั่นคือ ญานวิทยาในแบบจารีตเน้นว่า ความรู้ที่แท้จะต้องเป็นจริง

แม้ว่าการนิยามความหมายทางปรัชญาเกี่ยวกับความรู้ จะยืนยันถึงฐานะที่เป็นจริง, ความเชื่อที่พิสูจน์ได้หรือมีเหตุผล ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะไม่เป็นที่ถกเถียงกันอีกต่อไปแล้ว แต่ก็เป็นที่ชัดเจนตรงไปตรงมาว่า บางสิ่งบางอย่างไม่สามารถที่จะเป็นความรู้ได้ หากปราศจากสิ่งที่มันมีความเชื่อมโยงอย่างแข็งขันบางประการกับข้อเท็จจริงต่างๆที่เป็นจริงของโลก

คุณสามารถรู้อย่างแท้จริงถึงบางสิ่งบางอย่างได้อย่างไร โดยที่ความรู้นั้นไม่ได้เป็นจริงและถูกต้อง? คุณไม่สามารถรู้ได้ว่า คนที่แปลกแยกนั้นดำรงอยู่ท่ามกลางหมู่พวกเรา เพราะในข้อเท็จจริงแล้ว ไม่มีคนที่แปลกแยก แต่อย่างไรก็ตาม วิธีการที่"ความรู้"ได้ถูกนิยามโดย KM ปรากฏว่ามันได้สูญเสียความเชื่อมโยงโดยเฉพาะกับความคิดเกี่ยวกับความจริง ปัญหาคือว่า ตามการนิยามของ KM มันคล้ายกันมากกับแนวคิดเกี่ยวกับ"ความเชื่อ" - นิยามความหมายต่างๆเหล่านี้ ดูเหมือนว่าได้สูญเสียความความสำคัญของความมีเหตุมีผลและความจริงไป ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับความรู้

ตัวอย่างการนิยามความหมาย"ความรู้"ของ Rumizen: ความรู้คือ - "ข้อมูลในบริบทที่ผลิตความเข้าใจที่สามารถปฏิบัติการได้" - [Information in context to produce actionable understanding] (2002: 6, 288) มาถึงตรงนี้ ถ้าบางสิ่งบางอย่างไม่สามารถได้รับการเรียกว่า"ข้อมูล"(information) มันก็ไม่เป็นจริง

นิยามความหมายนี้ดูเหมือนว่าเป็นที่ยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมา อย่างน้อยที่สุดจากแง่คิดหรือทัศนะที่ว่า ความรู้จะต้องมีความเชื่อมโยงกันบางอย่างกับความจริง แต่บ่อยครั้ง เราใช้คำว่า"ข้อมูล"ในหนทางที่หลวมๆมาก ซึ่งรับรองความเป็นไปได้ที่ว่า ข้อมูลนั้นอาจผิดพลาดก็ได้ ดังนั้น มันจึงมีเหตุผลหรือเข้าใจได้ในการกล่าวว่า ใครบางคนอาจมีพื้นฐานความเชื่อ(ที่ผิดพลาด)อันหนึ่งเกี่ยวกับข้อมูลที่ผิดพลาด อย่างไรก็ตาม เรามีแนวโน้มที่จะคิดว่า ใครบางคนไม่สามารถมีความรู้ที่ผิดพลาดได้ - ในกรณีนี้ เราอาจจะกล่าวว่า ใครบางคนไม่สามารถรู้อะไรได้เลย ถ้าหากว่าสิ่งที่เขาคิดว่าเขารู้นั้นเป็นสิ่งที่ผิดพลาด

สำคัญยิ่งไปกว่านั้น มันดูเหมือนว่าจะเป็นไปได้สำหรับบางสิ่งจะพบกับนิยามความหมายนี้ โดยไม่เป็นความรู้ที่แท้จริง เมื่อมันอาจมีความเป็นไปได้สำหรับข้อมูลที่ผิดพลาด"ที่จะผลิตความเข้าใจที่สามารถปฏิบัติได้" - สิ่งที่คุณทำอาจเข้าท่า แต่นั่นอาจเป็นเรื่องๆหนึ่งของความโชคดีจริงๆเท่านั้น

ความกังวลใจต่างๆในชนิดเดียวกันกับการนิยามความหมายของ Davenport & Prusak ในเรื่องความรู้: นั่นคือ "ความรู้เป็นส่วนผสมที่เลื่อนไหลของกรอบประสบการณ์ คุณค่า ข้อมูลเชิงบริบท และความเข้าใจชำนิชำนาญที่ได้นำเสนอโครงร่างหรือเค้าโครงอันหนึ่งขึ้นมา สำหรับการประเมินผลและการรวบรวมประสบการณ์และข้อมูลใหม่ (1985: 5)

ดูเหมือนว่า นิยามความหมายอันนี้มันมีปัญหามากกว่าของ Rumizen เพราะการให้นิยามความรู้ในฐานะที่เป็น"กรอบประสบการณ์" ยินยอมให้ความเชื่อของมนุษย์เกือบทั้งหมดกลายเป็นรูปแบบอันหนึ่งของความรู้ได้ ไม่ว่ามันจะถูกต้องหรือเป็นความเชื่อที่เป็นจริงก็ตาม การดำเนินรอยตามนิยามความหมายนี้ ข้าพเจ้ารู้ว่า คนที่แปลกแยกที่ดำรงอยู่ท่ามกลางหมู่พวกเรา, Elvis ยังคงมีชีวิตอยู่, และโรคเอดส์ได้รับการส่งมาโดยพระผู้เป็นเจ้าเพื่อลงโทษคนนอกศาสนา หรือที่ว่า DNA ของมนุษย์ได้รับการสร้างขึ้นมาโดยมนุษย์ต่างดาวด้วยการโคลนนิ่ง

จริงๆแล้ว บางที KM อาจสนใจในแนวคิดอันหนึ่งของ"ความรู้"ที่ยอมให้คำอ้างที่ไม่แท้(เก๊)หรือไม่ต้องพิสูจน์เช่นสิ่งเหล่านี้เป็นความรู้ที่แท้จริง บางที KM ควรได้รับการนำไปเชื่อมโยงกับการจัดการรูปแบบของความเชื่อทั้งหมดในระบบความเชื่อทั้งมวล และไม่เพียงเชื่อมกับความเชื่อที่แท้จริงต่างๆเท่านั้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง บางที การจัดการความรู้(Knowledge management) ที่จริงแล้ว ควรได้รับการเรียกขานว่า "การจัดการความเชื่อ"(Belief Management)ใช่หรือไม่?

อย่างไรก็ตาม การกระทำเช่นนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะเป็นสิ่งที่ผิดพลาด. จุดสำคัญในที่นี้คือว่า KM ควรได้รับการนำไปผูกโยงกับความรู้ที่สัมพันธ์กันและใช้ประโยชน์ได้ ข้าพเจ้าเรียกร้องว่า แนวความคิดเกี่ยวกับความรู้ทั้งมวลอันนั้น จะต้องธำรงรักษาความเชื่อมโยงอันหนึ่งกับความจริง อันนี้เพราะว่าโดยพื้นฐานของมัน ความรู้จะต้องถูกวางอยู่บนคุณสมบัติและกระบวนการต่างๆบนโลกที่เป็นจริง แม้ว่าแนวความคิดของเราเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้ อาจได้รับการสร้างขึ้นในบางความหมายทางสังคม

สำหรับบางคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนเหล่านั้นที่มีพื้นฐานอยู่ในวิธีการศึกษาแบบภาคพื้นทวีปและการตีความเชิงวิพากษ์(hermeneutic approach)ในเรื่องความรู้ ความคิดต่างๆเหล่านี้ ดูเหมือนว่าจะชอบการโต้เถียงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเน้นของข้าพเจ้าบนเรื่องความจริง อาจดูเหมือนจะผิดที่ผิดทางไป โดยเฉพาะถ้าใครคนหนึ่งต้องการที่จะเน้นเรื่องความคิดเกี่ยวกับความรู้ในฐานะที่เป็นปฏิบัติการอันหนึ่งทางสังคม

ต่อคนเหล่านั้น ด้วยสถาบันต่างๆเหล่านี้ การโต้ตอบของข้าพเจ้าคือว่า แนวคิดทางสังคมเกี่ยวกับความรู้ ไม่เพียงเข้ากันได้กับไอเดียความรู้ในฐานะที่เป็นความจริงเท่านั้น แต่ยังเรียกร้องต้องการการวิเคราะห์โดยตลอดเกี่ยวกับผลิตผลของความรู้ในทางวิทยาศาสตร์ อันนี้คือประเด็นหนึ่ง ซึ่งถูกเน้นโดยบรรดานักปรัชญาทั้งหลายจำนวนมากเมื่อไม่นานมานี้ อย่างเช่น Hacking (1999) และ Kitcher (1993, 2001), ผู้ซึ่งได้ทำการสำรวจถึงความคิดต่างๆข้างต้น ที่ได้แสดงให้เห็นว่า มันสามารถประนีประนอมความคิดเกี่ยวกับความรู้ในฐานะที่เป็นปฏิบัติการทางสังคม กับ แนวความคิดเรื่องความรู้ในฐานะที่เป็นความจริง หรือความเชื่อที่มีเหตุผลพิสูจน์ได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Hacking ได้ให้เหตุผลว่า ลัทธิประกอบสร้างทางสังคม(social constructivism) ไม่ได้ขัดแย้งกับการอิงอาศัยความจริง และนั่น เราสามารถมีความเข้าใจทางสังคมอย่างอุดมสมบูรณ์เกี่ยวกับแนวคิดจำนวนมาก ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และทางด้านสังคม โดยมิได้สูญเสียแนวคิดที่สำคัญเกี่ยวกับคุณสมบัติและกระบวนการบนโลกที่เป็นจริงไปแต่อย่างใด

เหตุผลการอิงอาศัยต่อลัทธิสัจนิยมและความจริงนั้น เป็นสิ่งซึ่งเข้ากันได้กับแนวความคิดทางสังคมเกี่ยวกับความรู้ ที่ว่ามันไม่ได้ปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่า ปัจจัยต่างๆทางสังคมมีความเป็นจริง ตัวอย่างซึ่งดีที่สุดอันหนึ่งที่แสดงให้เห็นประเด็นนี้ได้อย่างสมบูรณ์ก็คือ การที่เราทั้งหลายพูดถึงเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจและการเงิน มันมีความหมายหรือนัยหนึ่งซึ่ง เงินเป็นสิ่งสร้างทางสังคมอย่างแน่นอน - แนวความคิดได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของมัน โดยผ่านขนบธรรมเนียมทางสังคมและความตกลงร่วมกัน แม้มันไม่ได้มีเงินอยู่ในธรรมชาติ กระนั้นก็ตาม เงินก็เป็นความจริงด้วย และรวมทั้งการพูดถึงของพวกเราทั้งหมดเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย, งบประมาณ, ตลาดการเงิน, ฯลฯ ก็เป็นจริงด้วยเช่นกัน

อันนี้ชัดเจนเกี่ยวกับแก่นแท้ที่เป็นจริง กับ แก่นแท้ของเรื่องที่เสกสรรค์ขึ้นมาอย่างบริสุทธิ์ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราพูดถึงอัตราของการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างเหรียญออสเตรเลีย กับเหรียญอเมริกัน เท่ากับ 0.67 ข้าพเจ้ากำลังสร้างข้ออ้างความเป็นจริงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของโลก แม้ว่าอันนี้จะเป็นการสร้างข้อเท็จจริงขึ้นมาทางสังคมก็ตาม

สิ่งสำคัญคือ ข้ออ้างอันนี้อาจถูกหรือผิด และคุณค่าที่แท้จริงของข้ออ้างนี้สามารถทำให้เกิดความแตกต่างในทางปฏิบัติที่มีนัยสำคัญขึ้นมาได้ - ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากว่าข้าพเจ้าเป็นพนักงานธนาคารที่ทำหน้าที่รับจ่ายเงิน มันเป็นเรื่องที่สำคัญเกี่ยวกับความจริงในความหมายนี้ที่ข้าพเจ้าปรารถนาจะเน้นย้ำ เพื่อความเข้าใจทางปรัชญาเกี่ยวกับความรู้สำหรับเรื่อง KM

การอิงอาศัยความจริงมิได้ปฏิเสธความสำคัญของวัฒนธรรม หรือการตีความ หรือความเข้าใจ ทั้งหมดที่มันเกี่ยวข้องเป็นการอิงอาศัยในระดับพื้นฐานต่อข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นความจริงบางอย่างเกี่ยวกับโลก ประเด็นทั้งหมดในที่นี้คือว่า มันไม่ต้องการมีข้อขัดแย้งใดๆระหว่างลัทธิการประกอบสร้างทางสังคม กับ ความรู้ในฐานะที่เป็นจริง - อันที่จริงแล้ว ความเชื่อมโยงอันหนึ่งกับความจริง ดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของคำอธิบายทางสังคมเกี่ยวกับความรู้ ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงแก้ต่างเรื่อง KM โดยการธำรงรักษาความเชื่อมโยงกันอันหนึ่งกับความรู้ที่แท้ และไม่เป็นเพียงแค่ความเชื่อเท่านั้น

3. ปรัชญาที่สอดคล้อง - ปรัชญาของวิทยาศาสตร์และญานวิทยาทางสังคม
RELEVANT PHILOSOPHY - PHILOSOPHY OF SCIENCE AND SOCIAL EPISTEMOLOGY
ข้าพเจ้าได้กล่าวไปแล้วว่า ญานวิทยาแบบขนบจารีตอาจมีข้อจำกัดในการนำไปใช้กับเรื่องของ KM เนื่องจากว่า มันได้ไปโฟกัสลงตรงที่ต้นตอกำเนิด และการแสดงเหตุผลข้อพิสูจน์เกี่ยวกับความรู้ส่วนบุคคล มากกว่าปฏิบัติการที่เป็นจริงของการใช้ความรู้, การแบ่งปันความรู้ และการแพร่กระจายความรู้

การที่ KM แรกทีเดียวเป็นเรื่องที่ผูกพันอยู่กับความรู้ ดังที่มันได้รับการก่อเกิด, แบ่งปัน, เก็บรักษา และใช้ประโยชน์ภายในสภาพแวดล้อมร่วมกันอันหนึ่งขึ้นมา ถ้าหากว่าเราจะมองไปที่ทฤษฎีทางปรัชญา เพื่อตระเตรียมรากฐานอันหนึ่งขึ้นสำหรับภารกิจต่างๆของ KM เราจะต้องค้นหาพื้นที่เหล่านั้นที่สามารถจะเกี่ยวโยงกับประเด็นปัญหาในเชิงปฏิบัติเหล่านี้ให้ได้ เช่นเดียวกับการตระเตรียมความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง ในรูปแบบที่แตกต่างของความรู้และความสัมพันธ์ระหว่างพวกมัน. ทฤษฎีทางปรัชญาอันนั้น จะต้องช่วยให้เราเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ข้างใต้กระบวนการที่ตรงประเด็นกับเรื่องของ KM ด้วย

ในที่นี้ ข้อเสนอแนะของข้าพเจ้าคือว่า สถานที่ให้ผลอย่างอุดมสมบูรณ์มากที่สุด เพื่อค้นหาความเข้าใจทางปรัชญาอย่างถ่องแท้และตรงประเด็นสำหรับ KM ก็คือ ในผลงานเมื่อไม่นานมานี้ ทั้งในด้านปรัชญาวิทยาศาสตร์ และการปรากฏตัวขึ้นมาของสาขาวิชาความรู้เกี่ยวกับญานวิทยาทางสังคม แม้ว่ามันยังคงมีข้อจำกัดอยู่ที่จะไปเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับทฤษฎีทางปรัชญาพวกนี้ก็ตาม

แต่พื้นที่ทั้งหลายเหล่านี้ ก็ได้ถูกนำมาผูกพันกับคำถามที่ตรงไปตรงมาทำนองเดียวกัน กับคำถามเหล่านั้น ซึ่งสนใจต่อเรื่องการจัดการความรู้ และด้วยเหตุนี้ มันจึงสามารถที่จะจัดหาความเข้าใจอย่างถ่องแท้ให้กับประเด็นปัญหาต่างๆข้างต้น ดังนั้น พวกมันจึงควรสามารถที่จะจัดหาเครื่องมือต่างๆในทางทฤษฎีบางอย่าง ซึ่งสามารถที่จะได้รับการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างคำอธิบายในทางทฤษฎีอันหนึ่งเกี่ยวกับงานความรู้ได้

มันเป็นขนบจารีตที่เข้มแข็งไปแล้วภายใน KM เกี่ยวกับการประยุกตใช้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งต่างๆจากปรัชญาวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานต่างๆของ Kuhn(1970) และ Popper (1959, 1972) ซึ่งเป็นที่น่าสนใจมากที่สุดต่อบรรดานักทฤษฎี KM จำนวนหนึ่ง. แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องกระบวนทัศน์(paradigm) โลกทัศน์อันหนึ่งโดยเฉพาะ ได้แสดงบทบาทที่สำคัญยิ่งในความเข้าใจที่ว่า ทำไมชุมชนหนึ่งของบรรดานักคิดทั้งหลาย -หรือคนงานความรู้(knowledge worker)- จึงต้องการแบ่งปันความเชื่อพื้นฐานบางอย่าง เพื่อที่จะทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ไอเดียต่างๆของ Kuhn เกี่ยวกับ การไม่มีมาตรฐานร่วมกัน(incommensurability - ไม่สามารถตัดสินหรือวัดได้โดยมาตรฐานเดียวกัน) กลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดต่อบรรดานักทฤษฎี KM เป็นจำนวนมาก. ความเข้าใจที่ลึกซึ้งของ Popper ในพื้นฐานเกี่ยวกับความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ยังช่วยทำให้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่อง KM ให้สมบูรณ์มากขึ้นด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม KM ได้ให้ความสนใจน้อยมากต่อพัฒนาการเมื่อไม่นานมานี้ ในเรื่องปรัชญาวิทยาศาสตร์ ซึ่งยึดถือวิธีการศึกษาที่แตกต่างไปมากทีเดียว ในเรื่องของการสำรวจค้นคว้าต่างๆ. แนวโน้มทางด้านปรัชญาวิทยาศาสตร์ไม่กี่ปีมานี้ได้เปลี่ยนแปลงจาก การพยายามพัฒนาคำอธิบายทั่วๆไปอันหนึ่งเกี่ยวกับว่า วิทยาศาสตร์คืออะไร (เช่นดังหลักฐานที่ปรากฎอยู่ในงานของ Popper และ Kuhn) ไปสู่การมองเข้าไปที่รายละเอียดอันประณีตของวิทยาศาสตร์อย่างใกล้มากๆ

รายละเอียดต่างๆอันประณีตเหล่านี้เกี่ยวโยงกับวิธีการที่สลับซับซ้อน ซึ่งบรรดานักทฤษฎีวิทยาศาสตร์ทั้งหลายได้พัฒนาขึ้นมา ในเทอมต่างๆที่เกี่ยวกับว่า ผลงานวิทยาศาสตร์, เหตุผล, การทดลอง, การทำงานร่วมกับผู้อื่น ฯลฯ เป็นอย่างไร

ด้วยเหตุนี้ Cartwright (1989a, 1989b) จึงเน้นถึงความสำคัญของสมรรถภาพเกี่ยวกับมูลเหตุในทางวิทยาศาสตร์ และ Dupre(1993) ได้สำรวจถึงความเกี่ยวพันทางด้านเมตตาฟิสิกส์(อภิปรัชญา)ของการแตกแยกเกี่ยวกับทัศนียภาพต่างๆ ซึ่งมีร่วมกันที่ข้ามขบวนแถวต่างๆของวิทยาศาสตร์

ผลงานในเชิงรายละเอียดของ Galison (1996, 1997) ได้มองไปที่บทบาททางด้านพลวัตของสังคมและการเมืองในชีวิตทางทฤษฎีของบรรดานักนิวเคลียรพิสิกส์. Hacking (1999) ก็ได้ทำการสำรวจประเด็นปัญหาต่างๆเหล่านี้ด้วยในรายละเอียดบางประการ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การประกอบสร้างทางสังคมเกี่ยวกับโลก มิได้นำมาซึ่งการสูญเสียความเชื่อมโยงกับอุดมคติต่างๆในทางญานวิทยาแบบจารีต อย่างเช่น ความถูกต้องและความจริง

ท้ายที่สุด Kitcher (1993) ได้พัฒนาแบบจำลองที่สลับซับซ้อนอันหนึ่ง เกี่ยวกับเหตุผลทางด้านวิทยาศาสตร์ในสภาพแวดล้อมร่วมกัน ที่ซึ่งปัจจัยๆทั้งหลายในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักวิจัยที่ต่างกัน ในการสร้างภาพรายละเอียดเกี่ยวกับผลผลิตทางความรู้ในบริบทของกลุ่ม

วิธีการศึกษาอันนี้ค่อนข้างที่จะตรงข้ามอย่างแหลมคม กับวิธีการศึกษาในเรื่องการจัดการความรู้. ปัจจุบัน ผลงานจำนวนมากเกี่ยวกับเรื่อง KM ได้รับข้อมูลและอิทธิพลจากการศึกษาต่างๆทางด้านปรัชญาและสังคมวิทยาวิทยาศาสตร์ อย่างเช่น ผลงานที่เขียนโดย Latour และ Woolgar (1986) และ Charlesworth et al. เหล่านั้น (1989)

อย่างไรก็ตาม ขณะที่สิ่งเหล่านี้เป็นคำอธิบายที่ดีเยี่ยมเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมต่างๆของงานทางความรู้ที่ทำร่วมกัน แต่พวกมันก็ได้รับการวางพื้นฐานอยู่บนปัญหาทางด้านอภิปรัชญาเกี่ยวกับลัทธิประกอบสร้างทางสังคม(social constructivism) ซึ่งล้มเหลวที่จะธำรงรักษาความเชื่อมโยงระหว่างความรู้และความจริงเอาไว้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเอาใจใส่ของข้าพเจ้าคือว่า วิธีการศึกษาต่างๆเหล่านี้มันนำเสนอรากฐานอภิปรัชญาที่อ่อนแออันหนึ่งให้กับการวิจัย และไม่ได้ให้คำอธิบายที่ชัดเจนเพียงพอเกี่ยวกับกระบวนการที่ทำงานอยู่ข้างใต้ในการสร้างความรู้ และสภาพแวดล้อมในการใช้ความรู้

ในที่นี้ วิธีการศึกษาทั้งหลายเกี่ยวกับการโฟกัสลงไปที่การทดลองของบรรดานักปรัชญาวิทยาศาสตร์ อย่างเช่น Gailson และ Kitcher สามารถให้การช่วยเหลือได้ ดังที่พวกเขาได้เน้นที่จะพิจารณาถึงปัจจัยต่างๆเกี่ยวกับกระบวนการรับรู้ที่ตรงประเด็นทั้งหมด รวมถึงพลวัตทั้งหลายทางสังคมและปัจจัยต่างๆร่วมกัน ในการวิเคราะห์ที่สมบูรณ์เกี่ยวกับการผลิตความรู้

พื้นที่ซึ่งมีอนาคตหรือความหวังอื่นๆเกี่ยวกับการสืบค้นทางปรัชญาคือ การปรากฎตัวขึ้นมาของสาขาวิชาเกี่ยวกับญานวิทยาทางสังคม(social epistemology). อันที่จริง อันนี้ค่อนข้างมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับวิธีการศึกษาในทางปรัชญาวิทยาศาสตร์ดังที่เพิ่งพูดถึง และผู้คนพวกเดียวกันเป็นจำนวนมาก ก็กำลังทำงานอยู่ในสาขาวิชาความรู้นี้ ผลงานที่มีนัยสำคัญส่วนใหญ่ในสาขานี้ได้รวมเอาผลงานของ Kitcher (2001), Longino (2001), Solomon (2001), Goldman (1999) and Turner (1994, 2002) เอาไว้ด้วย

ญานวิทยาทางสังคมคือการยืดขยายของญานวิทยาแบบจารีต ซึ่งได้ผนวกเอาความสัมพันธ์ระหว่าง"ปัจจัยทางสังคม"กับ"ปัจจัยทางเหตุผล"เข้าไปในการวิเคราะห์ เกี่ยวกับกระบวนการผลิตความรู้

ขณะที่ยังมีการถกเถียงกันอย่างมาก ภายใน"ญานวิทยาทางสังคม"เกี่ยวกับความสำคัญของความจริง และนัยสำคัญของสัมพัทธนิยม (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่าง Longino and Kitcher) เป็นที่ชัดเจนว่า วิธีการศึกษาเหล่านี้สามารถที่จะช่วยสนับสนุนทฤษฎีความรู้ร่วมกันได้ ซึ่งทำงานอยู่ในกรอบโครงร่างอภิปรัชญาสัจนิยมและพหุนิยม (ดังเค้าโครงในงานของ Cartwright 1999). อันนี้ยอมรับถึงมิติทางสังคมว่ามันมีนัยสำคัญในการผลิตความรู้ ขณะเดียวกันก็สงวนรักษาความคิดเกี่ยวกับความรู้ที่เชื่อมโยงอย่างลึกซึ้ง กับคุณสมบัติต่างๆที่แท้จริงและกระบวนการเอาไว้

ด้วยเหตุดังนั้น การประยุกต์ใช้ความเข้าใจที่ลึกซึ้งจากญานวิทยาทางสังคม จะทำให้เกิดความเป็นไปได้ ที่จะสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับงานความรู้ซึ่งได้รับการวางอยู่บนพื้นฐานความจริง และยังรวมเข้ากับความสนใจทางสังคม, การปฏิบัติ, และความจริงที่สอดคล้องซึ่งเป็นแกนกลางของภารกิจต่างๆเกี่ยวกับการจัดการความรู้ด้วย

จุดเริ่มต้นของการวิเคราะห์ จะต้องกำหนดแง่มุมต่างๆของความรู้อย่างแม่นยำ ซึ่งตรงประเด็นหรือสอดคล้องกับโครงการเกี่ยวกับการจัดการความรู้ และการให้คำอธิบายเกี่ยวกับปัจจัยต่างๆที่อยู่ข้างใต้ส่วนประกอบของความรู้เหล่านี้ อันนี้จะเกี่ยวข้องกับการประเมินกระบวนการรับรู้ที่เข้ากัน ปัจจัยทั้งหลายทางสังคมและปฏิบัติการที่เป็นจริง ซึ่งเกี่ยวพันอยู่ในโครงการต่างๆเกี่ยวกับ KM

สิ่งเหล่านี้จะพัฒนาไปสู่รากฐานทางด้านทฤษฎีสำหรับงานเชิงปฏิบัติที่กระทำในเรื่อง KM ซึ่งธำรงรักษาความเชื่อมโยงอันหนึ่งเอาไว้กับ กระบวนการและคุณสมบัติต่างๆของโลกที่เป็นจริง. รากฐานดังกล่าวจะหลีกเลี่ยงข้อสรุปที่เป็นปัญหาที่ว่า ความรู้ได้รับการประกอบสร้างในทางสังคมขึ้นมาอย่างบริสุทธิ์ และด้วยเหตุดังกล่าว จะเสนอการวิเคราะห์ที่ทรงพลังอันหนึ่งเกี่ยวกับงานด้านความรู้

แต่อย่างไรก็ตาม ในเทอมต่างๆเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของการจัดการความรู้ การศึกษาที่ยอมรับกันทั่วไปในปัจจุบันในปรัชญาวิทยาศาสตร์และญานวิทยาทางสังคม ยังคงเป็นสิ่งที่ขาดแคลนอยู่บ้าง. ดังที่สาขาวิชาเหล่านี้ยืนอยู่ พวกมันได้นำเสนอคำอธิบายในรายละเอียดเกี่ยวกับการผลิตความรู้ แต่มีคำอธิบายเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยเกี่ยวกับการใช้ความรู้, การแบ่งปันความรู้, และการกระจายความรู้ แง่มุมที่เป็นแก่นแกนเหล่านี้ทั้งหมด เกี่ยวข้องกับโครงการต่างๆของ"การจัดการความรู้"

ส่วนหนึ่งของปัญหาในที่นี้คือ บรรดานักปรัชญาทั้งหลาย ดูเหมือนว่าจะไม่ให้ความสนใจในชนิดต่างๆของคำถามซึ่งเป็นสาระสำคัญของ KM. นักปรัชญาทั้งหลายยังคงยึดติดอยู่กับกระบวนทัศน์แบบ Cartesian และยังคงถูกครอบงำด้วยความเข้าใจในต้นตอและความมีเหตุผลของความรู้ มากกว่าพลวัตต่างๆของความรู้ในฐานะที่เป็นกระบวนการอันหนึ่ง

อันที่จริงแล้วในที่นี้ เราสามารถที่จะเลี้ยวกลับและมองไปที่ KM เพื่อเสนอแรงบันดาลใจบางอย่างให้กับปรัชญา ความท้าทายดังกล่าวที่ถูกกำหนดขึ้นมาโดยโครงการต่างๆเกี่ยวกับ KM สามารถถูกนำมาใช้เพื่อแสดงให้เห็นว่า ประเด็นปัญหาเหล่านี้ จริงๆแล้ว มันมีนัยสำคัญอย่างไร ซึ่งต้องการได้รับการสืบสาวค้นคว้าลงไปในรายละเอียด

ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ที่ได้รับมาจากโครงการ KM ที่แพร่หลายอยู่ สามารถได้รับการย้อนกลับไปยังทฤษฎีทางปรัชญาได้ อันนี้จะเกี่ยวพันกับการขยายคำอธิบายต่างๆเกี่ยวกับการผลิตความรู้ร่วมกัน ดังที่ได้รับการจัดหามาโดยปรัชญา สู่คำอธิบายที่กว้างขวางเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ของความรู้ร่วมกัน

อันนี้คือที่ทางซึ่งมิติในเชิงปฏิบัติการของ KM สามารถที่จะช่วยทำให้ความเข้าใจทางปรัชญาเกี่ยวกับธรรมชาติของความรู้ให้รุ่มรวยและสมบูรณ์มากขึ้น และด้วยเหตุนี้ มันจะน้อมนำสู่การศึกษาในเรื่อง KM ซึ่งได้วางอยู่บนรากฐานทฤษฎีทางปรัชญาที่สมบูรณ์และสอดคล้อง ให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง
Cartwright, N. 1989a. Nature's Capacities and their Measurement. Oxford: Clarendon Press, .

Cartwright, N. 1989b. "Capacities and Abstractions." From Kitcher, P. and W. C. Salmon (eds.) Scientific Explanation, Minnesota Studies in the Philosophy of Science, Volume 13. pp. 349-356. Minnesota: University of Minnesota Press.

Cartwright, N. 1999. The Dappled World. Chicago: University of Chicago Press.

Charlesworth, M., Lyndsay Farrall, Terry Stokes, David Turnbull. 1989. Life among the scientists : an anthropological study of an Australian scientific community. Melbourne: Oxford University Press CIO.com 2002. "Knowledge Management" (May 2003) http://www.cio.com/summaries/enterprise/knowledge/

Davenport, T and Prusak, L. 1998. Working Knowledge: How organisations manage what they know. Boston, Mass.: Harvard Business School Press

Descartes, Rene. 1996. Meditations on First Philosophy, translated by John Cottingham. (originally published 1640) Cambridge: Cambridge University Press.

Dretske, F. 1981. Knowledge & the Flow of Information. Cambridge, Mass.: MIT Press.

Dupre J. 1993. The Disorder of Things: Metaphysical Foundations of the Disunity of Science. Cambridge, Mass.: Harvard University Press.

Friedman, M. 2001. Dynamics Of Reason. Stanford, Calif.: CSLI Publications

Galison, P. 1996. "Computer Simulations and the Trading Zone." From Galison, P. and D. Stump (eds.) 1996. The Disunity of Science: Boundaries, Contexts, and Power. pp. 118-157. Stanford: Stanford University Press.

Galison, P. 1997. Image and Logic. Chicago: University of Chicago Press.

Goldman, A. I. 1999. Knowledge in a Social World. Oxford: Clarendon Press.

Gordon, J.L. & Smith, C. 1998. "Research: Knowledge Management Guidelines" (May 2003) http://www.akri.org/research/km.htm

Hacking, I. 1983. Representing and Intervening. Cambridge: Cambridge University Press.

Hacking, I. 1999. The Social Construction of What? Cambridge, Mass.: Harvard University Press.

Hume, D. 1888. A Treatise of Human Nature. (1960 facsimile reprint, edited by L. A. Selby-Bigge.) Oxford: Oxford University Press.

Iivari, J. 2000. "Reflections on the Role of Knowledge Management in information Economy" In Burnstein & Linger (eds.) 2001. Knowledge Management for Information Communities. Australian Conference for Knowledge Management and Intelligent Decision Support, Melbourne, Australia, 2000.

Kitcher, P. 1993. The Advancement of Science. Oxford: Oxford University Press.

Kitcher, P. 2001. Science, Truth, and Democracy. Oxford: Oxford University Press.

Kuhn, T. 1970. The Structure of Scientific Revolutions. Chicago: University of Chicago Press.

Kuhn, T. 1977. The Essential Tension: Selected Studies in Scientific Tradition and Change. Chicago: University of Chicago Press.

Latour, B. and Woolgar, S. 1986. Laboratory Life; The Construction of Scientific Facts. Princeton, N.J.: Princeton University Press.

Linger and Burstein, 2000. "Implementing a knowledge Management System: The Case of Meteorological Forecasting" In Burnstein & Linger (eds.) 2001. Knowledge Management for Information Communities. Australian Conference for Knowledge Management and Intelligent Decision Support, Melbourne, Australia, 2000.

Longino, H. 2001. The Fate of Knowledge. Princeton, N.J.: Princeton Uni Press.

Lyotard, Jean-Fran็ois. 1984. The Postmodern Condition: A Report on Knowledge. Minneapolis: University of Minnesota Press.

Nonaka. 1994. "A Dynamical Theory of Organizational Knowledge Creation" Organization Science, Vol. 5, No. 1.

Nonaka and Nishiguchi (eds.) 2001. Knowledge emergence: Social, technical, and evolutionary dimension of knowledge creation. Oxford: Oxford University Press

Nonaka and Takeuchi. 1995. The knowledge creating company. Oxford: Oxford University Press

Polanyi, M. 1966. The Tacit Dimension. Gloucester, Mass.: Peter Smith (Reprinted 1983)

Popper, K. 1959. The Logic of Scientific Discovery. London: Hutchinson.

Popper, K. 1972. Objective Knowledge. Oxford: Oxford University Press.

Ruggles, R. L. (ed.) (1997) Knowledge Management Tools. Boston: Butterworth-Heinmann.

Rumizen, M. 2002. The Complete Idiot's Guide to Knowledge Management. Hemel Hempstead: Prentice Hall, 2001

Ryle, G. 1949. The Concept of Mind. Chicago: University of Chicago Press.

Solomon, M. 2001. Social Empiricism. Cambridge, Mass.: MIT Press.

Sveiby, K-E. 1994. Towards a Knowledge Perspective on Organisation. Doctoral Dissertation 1994 University of Stockholm S-106 91 Stockholm. http://www.sveiby.com/articles/Towards.htm

Sveiby, K. E. 1997. The New Organizational Wealth - Managing & Measuring Knowledge Based Assets. San Francisco. Berrett Koehler

Sveiby, K. E. 2001. "What is Knowledge Management" Accessed in May 2003 from http://www.sveiby.com
http://www.sveiby.com/articles/KnowledgeManagement.html

Turner, S. 1994. The Social Theory of Practices: Tradition, Tacit Knowledge and Presuppositions. Chicago: University of Chicago Press.

Turner, S. 2002. Brains/Practices/Relativism. Chicago: University of Chicago Press.


 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกำลังจัดทำบทความที่เผยแพร่บนเว็ปไซคทั้งหมด กว่า 400 เรื่อง หนากว่า 4500 หน้า
ในรูปของ CD-ROM เพื่อบริการให้กับสมาชิกและผู้สนใจทุกท่านในราคา 120 บาท(รวมค่าส่ง)
เพื่อสะดวกสำหรับสมาชิกในการค้นคว้า
สนใจสั่งซื้อได้ที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ
midnight2545(at)yahoo.com

 

สมเกียรติ ตั้งนโม และคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บรรณาธิการเว็ปไซค์ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
หากสมาชิก ผู้สนใจ และองค์กรใด ประสงค์จะสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้เพื่อเป็นวิทยาทานแก่ชุมชน
และสังคมไทยสามารถให้การสนับสนุนได้ที่บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ในนาม สมเกียรติ ตั้งนโม
หมายเลขบัญชี xxx-x-xxxxx-x ธนาคารกรุงไทยฯ สำนักงานถนนสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
หรือติดต่อมาที่ midnightuniv(at)yahoo.com หรือ midnight2545(at)yahoo.com




ผลงานต้นฉบับ เรื่อง FROM PHILOSOPHY TO KNOWLEDGE MANAGEMENT AND BACK AGAIN เขียนโดย Jeremy Aarons
เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com
midarticle(at)yahoo.com
บรรดานักปรัชญาทั้งหลายได้ให้นิยามความหมาย"ความรู้" ในฐานะที่เป็นเรื่องส่วนตัวอันหนึ่งโดยแก่น ซึ่งผูกพันกับข้อเท็จจริงที่เป็นจริงต่างๆ(true facts)เกี่ยวกับโลก: ความรู้เป็นความจริงของปัจเจก(an individual's true), และเป็นความเชื่อที่มีเหตุผล(justify belief) ความรู้ที่พัวพันมากไปกว่าความเชื่อในข้อเท็จจริงที่แน่นอนอันหนึ่งเกี่ยวกับโลกของใครบางคนคือ : รู้บางสิ่งอย่างแท้จริงซึ่งคุณจะต้องเชื่อมัน, คุณจะต้องมีหลักฐานหรือเหตุผลที่ดีในการเชื่อว่ามันเป็นความจริง

สิ่งนี้ได้แสดงให้เห็นว่า เดิมทีนั้น KM ได้ถูกนำไปพัวพันกับความรู้ ดังที่มันได้รับการก่อเกิด, แบ่งปัน, สะสมขึ้นมา, และใช้ประโยชน์ภายในสภาพแวดล้อมที่ร่วมมือกัน. KM ยังถูกนำไปเกี่ยวโยงกับแง่มุมอื่นๆทั้งหมดของความรู้ ภายในกรอบหรือโครงร่างขององค์กรด้วย: นั่นคือ ความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงของแต่ละบุคคลภายในองค์กร เช่นเดียวกับความรู้ในเชิงปฏิบัติของพวกเขา, ความรู้เงียบ(tacit knowledge - ความรู้โดยนัย หมายถึงความรู้ที่แต่ละคนมี แต่ไม่ได้ถ่ายทอด),
และความรู้ทางด้านเทคโนโลยี

ในที่นี้ ประสิทธิภาพของ KM ส่วนใหญ่ได้รับการเอาใจใส่โดยความสัมพันธ์กันระหว่าง การมีส่วนร่วมที่แตกต่างในกระบวนการเกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศ - นั่นคือ กลุ่มนักพยากรณ์ที่เป็นมนุษย์, เทคโนโลยีต่างๆ ที่ได้ช่วยเหลือการพยากรณ์ของพวกเขา, ระบบต่างๆที่พวกเขานำมาใช้เพื่อสะสมและเผยแพร่คำพยากรณ์, ผลิตผลนานาชนิดที่พวกเขาสร้างขึ้น, และบรรดาลูกค้าซึ่งเป็นผู้รับและเป็นผู้ใช้ประโยชน์เกี่ยวกับคำพยากรณ์เหล่านั้น ทั้งหมดนี้คือส่วนประกอบต่างๆของพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับระบบที่กว้างขวาง และไม่สามารถที่จะถูกเข้าใจหรือจัดการโดยปราศจากความเข้าใจอย่างละเอียดละออ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างทุกๆส่วนของระบบข้างต้นนั่นเอง