เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๔๗: มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ

2
0
0
4

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 373 หัวเรื่อง
การก่อการร้ายและความไม่สงบ
นิธิ เอียศรีวงศ์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บทความขนาดสั้น)

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com

R
relate topic
130447
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความวิชาการ ฟรีสำหรับทุกคน
เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เปิดขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้ โดยไม่มีเงื่อนไขทางการศึกษา วัฒนธรรม การเมืองและเศรษฐกิจใดๆมาเป็นอุปสรรค และยังมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตความรู้ขึ้นมาเพื่อพัฒนาประเทศ อย่างยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม
The Alternative University


การก่อการร้ายและความไม่สงบในภาคใต้
สังคม - สงคราม : ว่าด้วยเรื่องความรุนแรง
นิธิ เอียวศรีวงศ์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
(บทความนี้ยาวประมาณ 7 หน้ากระดาษ A4)

ผลงานทั้ง ๒ ชิ้นนี้ เคยตีพิมพ์แล้วในหนังสือพิมพ์มติชน
(ความยาวประมาณ 8 หน้ากระดาษ A4)
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ 13 เมษายน 2547

รวมบทความ ๒ เรื่อง :
๑ การก่อการร้ายที่ถูกทำให้เป็นสากล
๒. ตาต่อตาทำให้คนตาบอดเพิ่มขึ้น

เรื่องที่ 1. การก่อการร้ายที่ถูกทำให้เป็นสากล
การก่อการร้ายมีมานานแล้ว และการก่อการร้ายข้ามชาติก็มีมานานแล้ว แต่เหตุการณ์ 9/11 ในสหรัฐอเมริกาและหลังจากนั้น ทำให้มโนภาพของคนครึ่งโลกเกี่ยวกับการก่อการร้ายเปลี่ยนไป

การก่อการร้ายถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับมหาอำนาจ เป็นสงครามของคนเล็กๆ ไว้สู้กับคนใหญ่ๆ มีความโหดร้ายป่าเถื่อนและเป็นอันตรายต่อผู้คนที่ไม่ได้ทำการรบ (ซึ่งมักเรียกว่าคนบริสุทธิ์ที่ไม่เกี่ยวข้อง-innocent people) แต่สงครามที่ประกาศระหว่างรัฐก็ทำอย่างเดียวกัน (ตัวอย่างที่รู้จักกันดีในสงครามโลกครั้งที่สองคือ การถล่มลอนดอนโดยฝ่ายเยอรมัน และการถล่มมิวนิกโดยฝ่ายอังกฤษ แต่การฆ่าล้างผลาญพลเรือนก็ยังเป็นแบบปฏิบัติปกติที่เกิดขึ้นในทุกสงครามสืบมา รวมทั้งสงครามอิรักครั้งหลังสุดด้วย)

คนเล็กๆ ที่ใช้การก่อการร้ายเป็นเครื่องมือต่อสู้ อาจกระทำอันตรายต่อผู้คนและผลประโยชน์ของศัตรูนอกดินแดนของตนเอง และนอกดินแดนของศัตรูก็ได้ ทั้งบนบก, น่านน้ำ, และน่านฟ้า เราเรียกกันว่าก่อการร้ายข้ามชาติ นี่คือความเข้าใจของเราก่อน 9/11

เราอาจจับคู่ศัตรูของสงครามก่อการร้ายได้ เช่น มีอเมริกันฝ่ายหนึ่ง กับมีศัตรูนานาชนิดของอเมริกันอีกฝ่ายหนึ่ง, มียิวฝ่ายหนึ่ง กับปาเลสไตน์และพันธมิตรอีกฝ่ายหนึ่ง, มีรัฐบาลศรีลังกาฝ่ายหนึ่งกับมีพยัคฆ์ทมิฬอีกฝ่ายหนึ่ง, มีรัฐบาลอินโดนีเซียฝ่ายหนึ่งและมีผู้แบ่งแยกดินแดนชาวอาเจ๊ะห์อีกฝ่ายหนึ่ง ฯลฯฉะนั้น คนอื่นๆ ทั่วไปจึงไม่เกี่ยว นอกจากโชคร้ายไปอยู่ในที่เกิดเหตุ และแม้จะมีลักษณะข้ามชาติ แต่เราก็รู้ว่าสาเหตุแห่งความขัดแย้งเป็นเรื่องเฉพาะถิ่นเฉพาะภูมิภาค แปลว่าการแก้ปัญหาการก่อการร้ายนั้นๆ ก็อยู่ในท้องที่หรือภูมิภาคหนึ่งภูมิภาคใดเป็นสำคัญ

9/11 เปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ไปหมด เพราะตั้งแต่นั้นมาเราถูกทำให้มองการก่อการร้ายเป็น "สากล" ไม่ใช่แค่เพียงไร้พรมแดน แต่ไร้เป้าหมายที่เจาะจง จึงกระทบต่อทุกประเทศและทุกคนไปหมด จากนั้นเป็นต้นมา เราหาคู่ความขัดแย้งไม่ค่อยพบ หรือถึงพบก็ถูกผูกโยงให้ไปเกี่ยวกับศัตรูของสหรัฐไปหมด

อ้างกันว่า การระเบิดใหญ่บนเกาะบาหลีเป็นฝีมือของกลุ่มเจไอ (Jemaah Islamiyah-คำแปลที่เพื่อนมุสลิมให้มาก็คือ เชิญชวนเข้าสู่วิถีทางแห่งสันติหรืออิสลาม ฟังดูเป็นชื่อที่ไม่เข้ากับการเป็นกลุ่มก่อการร้ายเอาเลย) จากคำให้การของจำเลยในศาล ซึ่งล้วนเป็นคนเล็กๆ ที่มีเครือข่ายแคบๆ ในหมู่ญาติพี่น้องเท่านั้น ปรากฏว่าที่ลงมือระเบิดคลับก็เพราะเข้าใจผิดว่า ฝรั่งที่เป็นนักเที่ยวเหล่านั้นเป็นอเมริกัน สรุปก็คือเห็นอเมริกันเป็นศัตรูกับมุสลิม ฉะนั้นจึงเป็นศัตรูกับอเมริกัน

แต่เพราะการก่อการร้ายกลายเป็น "สากล" คนคลั่งศาสนาเพียงไม่กี่คนไม่อาจทำให้การก่อการร้ายกลายเป็น "สากล" ไปได้ เจไอจึงถูกดึงเข้ามาเกี่ยวกับกรณีนี้ แต่เจไอจะก่อการร้ายทำไม คำตอบซึ่งไม่ได้ริเริ่มในอินโดนีเซียเอง แต่ส่งทอดมาจากวอชิงตันก็คือ เจไอมีนโยบายจะเปลี่ยนรัฐให้กลายเป็นรัฐอิสลาม

เป้าหมายดังกล่าวนี้ มีนัยะในทางการเมืองของอินโดนีเซีย เพราะทำให้กลุ่มการเมืองอิสลามทั้งหมดซึ่งมีกำลังอยู่มากถูกระแวงมากขึ้น แม้ว่าหลายพรรคได้เคยประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่าไม่มีจุดประสงค์จะเปลี่ยนอินโดนีเซียเป็นรัฐอิสลามก็ตาม

ยิ่งไปกว่านี้ เจไอยังถูกจับไปเชื่อมโยงกับอัลเคด้าของนายโอซามา บิน ลาเดน เช่นกล่าวกันว่าได้รับเงินอุดหนุนผ่านธนาคารในภูมิภาคอุษาคเนย์หลายแห่ง มีการจับกุมและประกาศจับกุมบุคคลอีกหลายคนในประเทศอื่นๆ อีก คือมาเลเซีย, ไทย, และกัมพูชา โดยอ้างว่าล้วนสังกัดอยู่กับเจไอทั้งสิ้น (ซึ่งจำเลยในกัมพูชายืนยันว่าเขาสังกัดกลุ่ม Umm al Qura อันเป็นองค์กรที่ได้รับเงินอุดหนุนจากซาอุดีอาระเบีย)

แต่จนถึงบัดนี้ ยังไม่มีผลการไต่สวนอย่างเปิดเผยของผู้ถูกจับกุมสักคนเดียว (รวมทั้งนายฮัมบาลีที่สหรัฐยึดเอาตัวไปเกือบจะทันทีที่เจ้าหน้าที่ไทยจับกุมได้) เฉพาะจำเลยที่กัมพูชาเท่านั้นที่จะได้รับการพิจารณาคดีในศาลในเร็วๆ นี้ (แต่ก็ถูกคุมขังเกินกำหนด ก่อนถูกส่งฟ้อง)

ความเป็น "สากล" ของการก่อการร้ายกลุ่มเจไอยังถูกขยายโดยการให้ข่าวของสหรัฐว่า เจไอมีเป้าหมายจะสถาปนารัฐอิสลามขึ้นไม่เฉพาะแต่อินโดนีเซียเท่านั้น แต่รวมประเทศอื่นๆ ของอุษาคเนย์ไว้ด้วย นับว่าสอดคล้องกับความระแวงระหว่างรัฐบาลมาเลเซียที่มีต่อกลุ่มการเมืองอิสลามในประเทศ และความระแวงของรัฐบาลไทยต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนมุสลิมในภาคใต้

แต่กลุ่มเคลื่อนไหวของอิสลามในอินโดนีเซีย แม้กลุ่มที่ต้องการจะสถาปนารัฐอิสลาม เช่น ดารุล อิสลาม ก็ไม่เคยมีเป้าประสงค์จะรวมเอาดินแดนมุสลิมของประเทศอื่นไว้ด้วยเลย นอกจากนี้ หากมีสาธารณรัฐอิสลามเกิดขึ้นรวมเอาอินโดนีเซีย, มาเลเซีย, และบางส่วนของประเทศไทย จะเป็นภัยคุกคามผลประโยชน์ของสหรัฐได้อย่างไร ถ้าคิดถึงซาอุดีอาระเบียหรือปากีสถานเป็นแบบอย่างของรัฐอิสลาม

และถ้าไม่มีภัยคุกคามสหรัฐ อัลเคด้าจะสนใจสนับสนุนทำไม

นี่เป็นตัวอย่างของการทำขบวนการก่อการร้ายให้เป็นสากล นั่นก็คือทำให้ความเคลื่อนไหวทั้งหมดเชื่อมโยงเข้าหากันในระหว่างประเทศต่างๆ แล้วก็เชื่อมโยงกับอัลเคด้า และสงครามระหว่างสหรัฐกับอัลเคด้า ด้วยเหตุดังนั้นอุบัติการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นหรือภูมิภาคต่างๆ ทั้งโลก จึงถูกดึงออกไปพ้นบริบทภายในหรือบริบทของภูมิภาคนั้นเอง ไม่มีอุบัติการณ์ที่ถูกตราว่าเป็นการก่อการร้ายเกิดขึ้นที่ใดโดยอิสระได้ ทุกอุบัติการณ์ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของสงครามปราบการก่อการร้ายของสหรัฐ

เมื่อปัจจัยภายในท้องถิ่นที่เกิดการก่อการร้ายไม่สำคัญ ก็แปลว่าประเทศต่างๆ ที่เผชิญกับการก่อการร้ายไม่อาจแก้ไขปัญหานั้นได้ด้วยตัวเอง เพราะปัญหาถูกผูกโยงในลักษณะสากล โดยมีสหรัฐเป็นผู้นำในการต่อสู้กับผู้ก่อการร้ายสากลที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ฉะนั้นประเทศต่างๆ จึงได้แต่ประสานมาตรการของตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการใหญ่ที่สหรัฐเป็นผู้นำเท่านั้น

การก่อการร้ายที่ถูกทำให้เป็นสากลจึงขาดทั้งบริบทของท้องถิ่นที่เกิดเหตุ และขาดทั้งแนวทางของท้องถิ่นในการแก้ปัญหาเอง เหตุฉะนั้นไม่แต่เพียงการก่อการร้ายเท่านั้นที่ถูกทำให้เป็นสากล การต่อสู้กับการก่อการร้ายก็ถูกทำให้เป็นสากลเหมือนกัน

เหตุฉะนั้น เพื่อรักษาตัวให้รอดจากกระแสครอบงำของการก่อการร้ายที่ถูกทำให้เป็นสากลซึ่งเชี่ยวกรากในทุกวันนี้ ประเทศเล็กๆ อย่างไทยควรพยายามรักษาความเป็นท้องถิ่นของการก่อการร้ายซึ่งอาจเกิดขึ้นในประเทศเอาไว้ (localize terrorism) ซึ่งหมายถึงพยายามจะศึกษาเข้าใจปัจจัยภายในที่นำมาสู่การก่อการร้าย และหาหนทางอันเหมาะสมของตนเองที่จะขจัดภัยก่อการร้าย

แม้ว่า การก่อการร้ายอาจมีสายสัมพันธ์กับองค์กรที่มีลักษณะข้ามชาติ แต่ที่มาของการก่อการร้ายที่สำคัญที่สุดคือปัจจัยภายใน การที่ผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลชิงประกาศว่า เหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดในภาคใต้ตอนล่างของไทยระยะนี้ ไม่เกี่ยวกับการก่อการร้ายสากล จึงนับว่าถูกต้องอย่างยิ่ง ขอให้ยึดมั่นในแนวทางนี้ให้มั่นคงต่อไป

2 .ตาต่อตาทำให้คนตาบอดเพิ่มขึ้น
สถานการณ์ในภาคใต้น่าเป็นห่วง ถ้ายอมรับว่าสาเหตุไม่ได้มาจาก "โจรกระจอก" เพียงไม่กี่คน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการดำเนินงานทั้งหมด นับตั้งแต่การเผาโรงเรียนพร้อมกับปล้นค่ายทหาร เรื่อยลงมาถึงยิงถล่มโรงพัก ทำร้ายตำรวจ ทำร้ายพระภิกษุ และทำร้ายผู้คนรวมทั้งเด็กนักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลามด้วย... ทั้งหมดเหล่านี้ทำโดยมีการประสานงานเชื่อมโยงกัน เพื่อจุดมุ่งหมายทางการเมือง(ซึ่งคืออะไรก็ยังไม่รู้ชัด)

อำนาจรัฐไทยในดินแดนแถบนี้ถูกสั่นคลอนที่สุด นับตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา

รัฐบาลตอบสนองปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการกระทำสองอย่าง หนึ่งคือยืนยันอำนาจรัฐด้วยวิธีการที่นายกฯเรียกว่า "เชิงรุกอย่างเด็ดขาด" และสองเร่งรัดให้เกิด "การพัฒนา" ในดินแดนสาม-สี่จังหวัดภาคใต้อย่างรวดเร็วขึ้น

ทั้งสองอย่างนี้ ไม่ได้ผิดทั้งหมด แต่ส่วนที่ผิดอาจทำให้ปัญหายิ่งบานปลายและกินลึกขึ้นไปอีก การยืนยันอำนาจรัฐนั้นจำเป็นต้องทำ และถูกแล้วที่ควรถือเป็นมาตรการเร่งด่วนที่ต้องทำให้สำเร็จโดยเร็ว ก่อนที่ประชาชนจะหมดความเชื่อถืออำนาจรัฐไปโดยสิ้นเชิง

แต่การยืนยันอำนาจรัฐนั้น วิธีการ "เชิงรุกอย่างเด็ดขาด" อาจทำให้ความไว้วางใจระหว่างรัฐและประชาชนซึ่งเปราะบางอยู่แล้ว ยิ่งลดต่ำลงไปอีกก็ได้ ตรงกันข้าม วิธีการ "เชิงรับอย่างเด็ดขาด" ต่างหากที่จะสามารถรักษาอำนาจรัฐได้อย่างชัดเจนกว่า และเพิ่มความไว้วางใจระหว่างกันได้มากกว่า

อันที่จริง อำนาจรัฐนั้นไม่ได้มีไว้ให้เกรงกลัว แต่มีไว้เพื่อทำให้ชีวิตปกติสุขของผู้คนดำเนินไปได้ต่างหาก ฉะนั้นเพื่อยืนยันอำนาจรัฐในพื้นที่ จึงต้องทำให้ชีวิตปกติสุขของผู้คน - ทั้งพุทธและมุสลิม - ดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่นที่สุด

จำเป็นต้องทุ่มเทกำลังตำรวจทหารอีกสักเท่าไรก็ต้องทุ่มเทลงไป เพื่อให้ไม่ต้องปิดโรงเรียน นักเรียนอาจต้องรวมกลุ่มกันเดินทางไป-กลับระหว่างบ้านและโรงเรียน เพื่อสะดวกที่รัฐจะให้ความคุ้มครองอย่างเต็มที่ จำเป็นต้องสิ้นเปลืองกำลังคนและงบประมาณลงไปสักเท่าไรก็ตาม พระจะต้องสามารถบิณฑบาตได้อย่างปลอดภัย เท่าๆ กับที่โต๊ะครูและมัสยิดทั้งหลายสามารถประกอบศาสนกิจได้อย่างปลอดภัยเหมือนๆ กัน

การที่เด็กมุสลิมถูกทำร้ายเช่นกัน แสดงว่าชีวิตปกติสุขของผู้คนที่นับถือศาสนาอิสลามก็ถูกคุกคามไม่ต่างจากชาวพุทธ ตราบเท่าที่รัฐไม่เป็นฝ่ายคุกคามชีวิตปกติสุขของชาวมุสลิม ก็ไม่น่าจะเป็นการยากอะไรที่จะสร้างกองกำลังอาสาสมัครจากชาวบ้านเอง ในการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่ทุกฝ่าย

ถึงเวลาที่รัฐไทยต้องให้ความไว้วางใจชาวบ้านอย่างเต็มหัวใจ ถ้ารัฐไทยต้องการความไว้วางใจอย่างเต็มหัวใจจากชาวบ้านเหมือนกัน รัฐต้องเป็นฝ่ายเริ่มก่อน ไม่มีประโยชน์ที่นายกรัฐมนตรีจะตัดพ้อต่อว่าประชดประชันชาวบ้านที่ยังไม่ยอมให้ข้อมูลแก่ทางราชการ ตราบเท่าที่รัฐเองก็ระแวงชาวบ้านที่เป็นเชื้อสายมลายูเหล่านี้อยู่ในทีตลอดเวลา

ทหารตำรวจที่ถูกส่งไปปฏิบัติการในพื้นที่ต้องถูกสั่งและควบคุมอย่างเคร่งครัดว่า ภารกิจหลักคือการให้ความปลอดภัยเพื่อให้ชีวิตของผู้คนสามารถดำเนินไปได้อย่างปกติสุข เขาไม่ได้ถูกส่งไปรบกับอริราชศัตรู การวางมาตรการรักษาความปลอดภัยจะละเมิดสิทธิของผู้คนไม่ได้เป็นอันขาด แม้ว่าเขาควรป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่สักเพียงไรก็ตาม

บทเรียนของทหารอเมริกันในอิรักน่าจะเรียนรู้กันให้ดี เพราะยิ่งเพิ่มมาตรการรักษาความปลอดภัยที่ละเมิดสิทธิของผู้คนมากเท่าไร อเมริกันก็ยิ่งได้ศัตรูในอิรักเพิ่มขึ้นเท่านั้น แม้แต่ประชาชนที่เคยโห่ร้องต้อนรับกองทัพอเมริกันในวันก่อน วันนี้ก็อาจกลายเป็นระเบิดพลีชีพเพื่อขับไล่อเมริกันได้

อํานาจรัฐที่ผู้คนใฝ่หา ต้องเป็นอำนาจที่อำนวยเสรีภาพและความยุติธรรม ความเจ็บช้ำใดๆ ที่เคยเกิดขึ้นเพราะการกระทำของข้าราชการต้องได้รับการแก้ไขเยียวยาโดยรีบด่วน การกระทำใดๆ ที่เป็นการละเมิดสิทธิของประชาชน ไม่เป็นไปตามครรลองของกฎหมาย ต้องยุติให้เด็ดขาด

คำประกาศว่าจะเอาตัวผู้ผิดมาลงโทษให้ได้นั้นถูกต้องแล้ว แต่ต้องมองผู้ผิดให้กว้างกว่าผู้ก่อเหตุในครั้งนี้เพียงฝ่ายเดียว ผู้ที่ใช้อำนาจรัฐไปรังแกชาวบ้านก็ควรได้รับการลงโทษอย่างเด็ดขาดเช่นเดียวกัน คดีใดที่ประชาชนระแวงสงสัยว่าข้าราชการใช้อำนาจเถื่อนกับตน ควรเร่งรัดให้ชำระสะสางโดยเร็ว เรื่องนี้มีความสำคัญรีบด่วนเสียยิ่งกว่าการค้นหาปืนที่ถูกปล้นหรือจับคนร้ายที่ก่อเหตุเสียอีก

เพราะไม่ว่าปืนหรือกลุ่มคนร้ายที่ก่อเหตุนั้น หนีไม่รอดอย่างแน่นอน หากประชาชนในพื้นที่หันมาร่วมมือกับทางราชการ ความร่วมมืออย่างจริงใจไม่เคยเกิดขึ้นจากการใช้อำนาจและความรุนแรง การ "ไล่ล่า" อย่างเอาเป็นเอาตาย รังแต่จะทำให้เกิดการละเมิดสิทธิ และสร้างความบาดหมางระหว่างกันให้มากขึ้น (เช่นใช้สุนัขค้นหาในบ้านเรือนหรือในมัสยิด หรือร้ายไปกว่านั้น จับกุมคุมขังผู้คนด้วยเบาะแสที่ไม่ได้รับการ "กรอง" อย่างรอบคอบ)

อีกด้านหนึ่งของการตอบสนองของรัฐบาลคือการ "พัฒนา" ด้วยข้ออ้างว่าจะขจัดความยากจนซึ่งถูกถือว่าเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของปัญหา

แต่แนวทางการ "พัฒนา" ที่ผ่านมาในรัฐไทยคือการสร้างปัจจัยที่เอื้อให้ทุนนิยมเติบโตนั่นเอง กระบวนการนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการละเมิดสิทธิมนุษยชนหลายรูปแบบ ฉะนั้นจึงขาดความสมดุลเป็นอย่างยิ่ง ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมขึ้นอย่างมากมายในสังคม จึงเป็นธรรมดาที่มีความขัดแย้งในสังคมอย่างสูง

การนำเอาการพัฒนาในแนวทางนี้ลงสู่สาม-สี่จังหวัดในภาคใต้ ย่อมเกิดผลอย่างเดียวกัน ซ้ำความแตกต่างทางชาติพันธุ์และศาสนาของประชาชนในภาคใต้ จะยิ่งทำให้ความขัดแย้งกับรัฐและทุนยิ่งรุนแรงขึ้น

ถ้าคิดว่ามาเลเซียซึ่งเป็นประเทศมุสลิม ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเพื่อเอื้อให้เกิดทุนนิยมได้ ก็ไม่ควรลืมด้วยว่า ประชาชนมุสลิมในมาเลเซียอยู่ภายใต้สำนึกการคุกคามของประชาชนเชื้อสายจีนที่ไม่ใช่มุสลิม และมาเลเซียได้ถ่วงดุลความได้เปรียบทางเศรษฐ กิจของจีนหลายอย่าง เพื่อให้ผลของการพัฒนาตกอยู่ในมือของชาวมลายูมุสลิม

หากจะใช้มาเลเซียเป็นแบบอย่างของการพัฒนาในสาม-สี่จังหวัดภาคใต้ ก็ต้องนึกถึงการถ่วงดุลความได้เปรียบของทุนจากภายนอกให้ดีด้วย การ "พัฒนา" จึงไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูป ตัวทุนนิยมเองก็ใช่ว่าจะสอดคล้องกับโลกทรรศน์ของชาวมุสลิมนัก (ไม่เช่นนั้นคงไม่จำเป็นต้องตั้งธนาคารอิสลาม) ฉะนั้น แนวทางการพัฒนาจึงควรอยู่ในกำกับของประชาชนในท้องถิ่นมากเป็นพิเศษ

จะอยู่ในกำกับได้ ก็หมายถึงการกระจายอำนาจที่แท้จริง องค์กรท้องถิ่นต่างๆ ต้องได้รับมอบทั้งอำนาจและภารกิจจากส่วนกลางอีกหลายอย่าง การ "พัฒนา" กับการกระจายอำนาจเป็นเรื่องหนึ่งเรื่องเดียวกัน

อันที่จริงกระบวนการกระจายอำนาจถูกทำให้ชะงักงันมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว มีแต่การกระจายงบประมาณตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยส่วนกลางไม่ยอมกระจายอำนาจและภารกิจให้องค์กรท้องถิ่น รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้สร้างความก้าวหน้าอะไรในเรื่องกระจายอำนาจ

เพราะไม่ได้มอบหมายอำนาจและภารกิจอะไรให้แก่ท้องถิ่นเพิ่มขึ้น ตรงกันข้ามทิศทางของผู้ว่าฯซีอีโอกลับมีทีท่าว่าจะกระจุกอำนาจไว้ในมือส่วนกลางมากขึ้น ในขณะที่หัวหน้ารัฐบาลเริ่มบ่นว่าท้องถิ่นได้งบประมาณไปมากมายโดยไม่มีอะไรให้ทำ พัฒนาภายใต้การกระจุกอำนาจจึงยิ่งน่าห่วงว่าจะทำให้สถานการณ์ในภาคใต้เลวร้ายลงไปอีก

คำตอบของสถานการณ์ในภาคใต้คือวิธีการเชิงรับอย่างเด็ดขาด และกระจายอำนาจ ไม่ใช่ยุทธการทัวร์นรก

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
บทความเกี่ยวกับการทำความเข้าใจปัญหาลัทธิการก่อการร้ายสากล และการแก้ปัญหาควาไม่สงบภาคใต้ของไทย
เราอาจจับคู่ศัตรูของสงครามก่อการร้ายได้ เช่น มีรัฐบาลอินโดนีเซียฝ่ายหนึ่งและมีผู้แบ่งแยกดินแดนชาวอาเจ๊ะห์อีกฝ่ายหนึ่ง แต่เหตุการณ์ 9/11 เปลี่ยนสิ่งเหล่านี้ไปหมด เพราะตั้งแต่นั้นมาเราถูกทำให้มองการก่อการร้ายเป็น "สากล" ไม่ใช่แค่เพียงไร้พรมแดน แต่ไร้เป้าหมายที่เจาะจง จึงกระทบต่อทุกประเทศและทุกคนไปหมด จากนั้นเป็นต้นมา เราหาคู่ความขัดแย้งไม่ค่อยพบ
H