เผยแพร่ครั้งแรกวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๔๗: มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ

2
0
0
4

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 379 หัวเรื่อง
สื่อกระแสหลัก-สื่อทางเลือก
นิธิ เอียวศรีวงศ์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สำนักข่าวประชาธรรม

เผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์

หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบ
ปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง
จะแก้ปัญหาได้

midnightuniv(at)yahoo.com

R
relate topic
300447
release date
ผลงานภาพประกอบดัดแปลง ใช้ประกอบบทความวิชาการ ฟรีสำหรับทุกคน
เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เปิดขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โดยไม่มีเงื่อนไขทางการศึกษา วัฒนธรรม การเมืองและเศรษฐกิจใดๆมาเป็นอุปสรรค และยังมีวัตถุประสงค์ที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการผลิตความรู้ขึ้นมาเพื่อพัฒนาประเทศ อย่างยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม
The Alternative University


ปาฐกถาประชาธรรมประจำปี 2547
ผ่าทางตันสื่อไทย สู่สื่อทางเลือก
ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ประธานกรรมการบริหารสำนักข่าวประชาธรรม

(บทความนี้ยาวประมาณ 6 หน้ากระดาษ A4)

หมายเหตุ : ถอดความจาก เวทีประชุมประชาธรรมประจำปี 2547 "ผ่าทางตันสื่อไทยสู่สื่อทางเลือก"
24 เมษายน 2547 ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จัดโดย สำนักข่าวประชาธรรม ร่วมกับคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บทความถอดเทปชิ้นนี้ ได้รับมาจากสำนักข่าวประชาธรรม และได้ทำการปรับปรุงใหม่ให้เหมาะสมกับนักศึกษา
สมาชิก และผู้สนใจข้อมูลของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนแล้ว
(กองบรรณาธิการ)

 

ความนำ
ปัญหาของสื่อที่เราพบอยู่ทุกวันนี้ที่เรียกว่าทางตันคิดว่ามีมานานแล้ว คือปัญหาของสื่อที่ถูกครอบงำโดยกลุ่มทุน ถือเป็นปรากกฎการณ์สากลที่เกิดขึ้นทั่วไปในโลก จริงๆ ทุนแทรกแซงสื่อมานานแล้ว แต่ลักษณะการแทรกแซงถึงขนาดที่เรียกว่าครอบงำ เป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในระยะ 20 ที่ผ่านมาทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย ทั้งหมดเหล่านี้ผมคิดว่าปัจจุบันวิธีหากำไรของทุนคือทำอะไรที่มากกว่าการขายสินค้าและบริการตามปกติ กล่าวคือ

สมัยหนึ่ง พ่อค้าจะแจ้งให้ทราบว่าตนจะขายสินค้าอะไร ขายบริการอะไร มีอะไรไปยั่วยวนให้เราไปซื้อสินค้าเหล่านั้น แต่ว่าในปัจจุบันวิธีการทำงานของทุน คือทุนเข้ามากำหนดวิถีชีวิตของเรา วิธีคิดของเรา กำหนดระบบคุณค่าของเรา เป็นคนบอกให้เรารู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว

และด้วยเหตุดังนั้นทำให้ต้องเข้ามาควบคุมการรับรู้ของเราค่อนข้างมาก เช่น โทรศัพท์มือถือ เป็นสินค้าที่ทำให้เรารู้สึกว่าถ้าคุณไม่เปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนระบบคุณค่าของคุณ ก็ยากในการที่คนอยากจะไปซื้อมันมา เพราะว่าถึงไม่ใช้ ชีวิตคุณก็เดินไปได้ปกติสุข เพียงแต่ผู้ขายมือถือต้องเปลี่ยนให้เรารู้สึกว่า เมื่อเราไม่มีโทรศัพท์มือถือ เราไม่สามารถเปิดตัวเองเข้าไปในโลกกว้าง

โลกที่ว่านั้นก็ทั้งสนุก ทั้งมีความรู้ ทั้งได้กำไร มีอารยธรรมพร้อมแล้ว ถ้าเราไม่มีประตูของโทรศัพท์มือถือที่จะเปิดเข้าไปโลกของอารยธรรม เราก็เป็นแค่คนป่าเถื่อน นั่นคือผู้ขายมือถือเปลี่ยนวิธีคิด ระบบคุณค่าเราอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้ ทุนจึงจำเป็นจะต้องเข้ามาแทรกแซง 2 อย่างด้วยกันคือ
หนึ่ง, คือการเข้ามาครอบงำการเมือง และ
สอง, ครอบงำสื่อ

สองเรื่องนี้ที่จริงแล้วเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะว่าระบบการเมืองของรัฐชาติก็ตาม โลกาภิวัฒน์ก็ตาม มันไม่สามารถดำเนินการไปได้โดยไม่มีสื่อ ฉะนั้นถ้าต้องการเข้ามาครอบงำการเมืองจึงต้องเข้ามาครอบงำสื่อไปพร้อม ๆ กัน ในเมืองไทยกับอิตาลีเราจะเห็นเรื่องนี้ค่อนข้างชัด เพราะว่าตัวเถ้าแก่มาเป็นนักการเมืองเอง แต่ว่าในที่อื่นๆ ตัวเถ้าแก่ไม่ได้มาคุมการเมือง มาคุมแค่สื่อโดยตรง

แต่คงจำได้รัฐมนตรีสำคัญๆ ของสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช คือคนที่เคยร่วมธุรกิจกันมาก่อน หรือมิฉะนั้นเป็นที่ปรึกษา เป็นประธานบริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่บางแห่งของอเมริกันเองที่ให้ทุนการสนับสนุนเลือกตั้งประธานาธิบดี เวลาที่มีการประมูลที่จะรับงบประมาณฟื้นฟูประเทศอิรักหลังสงคราม ก็ปรากฏว่าบริษัทเหล่านี้ที่ตัวประธานาธิบดีเองเคยเป็นที่ปรึกษา เคยเป็นประธานบริหารสามารถที่จะรับงานประมูลที่เป็นงบประมาณของรัฐจำนวนหลายพันล้านเหรียญเหล่านี้ไปได้ แล้วไปจ่ายแจกแก่ผู้รับเหมาอื่น

ปรากฏว่าทั้งหนังสือพิมพ์และวิทยุอเมริกาก็นำเรื่องนี้มาแฉโพย แต่ไม่มีการติดตามเรื่องนี้อีก จนปัจจุบันบริษัทเหล่านี้ก็สามารถทำงานในประเทศอิรักได้โดยปกติ แสดงให้เห็นว่าอเมริกาเองก็ถูกครอบงำโดยทุนอยู่ไม่น้อยเช่นกัน

ถ้าเรามองการเมืองไทยก็เหมือนกัน กล่าวคือว่ามันมีเรื่องอื้อฉาวหลายเรื่องเกิดขึ้น แต่สื่อนำเสนอเรื่องนี้ได้ไม่นานเท่าไหร่ เช่นกรณีการขายหุ้น ปตท. การขายหุ้นการท่าอากาศยาน และจะพบว่าถึงสื่อถึงจะนำเสนอเรื่องนี้อย่างไรก็ตามแต่ก็จะไม่นำไปสู่อะไร เพราะในที่สุดแล้วสื่อเองก็จะเป็นผู้ทำให้กระแสเหล่านี้เงียบหายไปเอง

ผมเชื่อว่าทุกสังคมในโลกมองเห็นปัญหาอันเดียวกัน คือปัญหาความบกพร่อง ความไร้ประสิทธิภาพที่เกิดจากสื่อกระแสหลัก ดังนั้นจะเห็นความพยายามในหลายสังคมในการแก้ปัญหา ในการสร้างสื่อทางเลือกมากมาย และเกิดเครือข่ายของสื่อทางเลือกขึ้นมา

พวกเราที่ทำงานสำนักข่าวประชาธรรมจะได้รับการติดต่อจากคนที่ทำสื่อทางเลือกประเภทเดียวกันเหล่านี้อยู่บ่อยๆ ติดต่อเพื่อสร้างเครือข่ายความเป็นมิตร บอกให้รู้ว่าเขาทำอะไรกันอยู่เหล่านี้

เมื่อเร็วๆนี้ผู้หญิงคาทอลิก ชาวฟิลิปปินส์ เธอก็รู้สึกคล้ายๆเราว่า ชาวโมโรหรือพวกมุสลิมที่อยู่ทางใต้ของฟิลิปปินส์ไม่เคยได้รับโอกาสจากสื่อกระแสหลักในการนำเสนอเรื่องราวของพวกเธอ รวมทั้งความเดือดร้อนของพวกเธอมาเผยแพร่ให้คนฟิลิปปินส์รู้

คนฟิลิปปินส์ก็รู้แต่เพียงว่าไอ้คนโมโรไปไล่ฆ่ามันเหอะ เพราะมันเป็นตัวระเบิด จับคนไปเรียกค่าไถ่อยู่ตลอดเวลา ฟังดูคล้ายประเทศไทย เธอเลยไปตั้งสำนักงานอยู่ในมินดาเนา ทางใต้เพื่อจะเสนอข่าวคราวให้คนในเกาะทางเหนือที่เป็นคาทอลิกได้รับทราบว่าเพื่อนร่วมชาติเขามีชะตากรรมอย่างไร

แต่แน่นอนไม่ประสบความสำเร็จนักหรอก เพราะว่าสื่อกระแสหลักก็ไม่ได้หยิบเอาสิ่งที่เธอรายงานเข้ามาเสนอมากอย่างเพียงพอ เธอก็ติดต่อมากับประชาธรรมและอื่นๆ เพื่อเรียนรู้ร่วมกัน

การที่ทุกสังคมมองเห็นปัญหาของสื่อกระแสหลักและพยายามสร้างสื่อทางเลือกขึ้นมาในแง่หนึ่ง อย่างน้อยที่สุด การที่เกิดสื่อทางเลือกทั่วไปหมดในโลก แล้วเกิดความพยายามในการสร้างเครือข่าย ความพยายามที่จะสัมพันธ์กันช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การกระทำอันนี้เป็นพลังในตัวมันเอง ด้วยการจับมือกันไปในโลกที่กว้างขวาง

ทุนควบคุมสื่ออย่างไร
หันกลับมาดูการเข้าไปคุมสื่อของทุนดูว่ามีวิธีการทำอย่างไร
เนื่องจากการทำสื่อในปัจจุบันมีเงื่อนไขธุรกิจในการทำสื่อใช้ทุนมาก เพราะฉะนั้นต้องลดต้นทุนลงหรือไม่ขยายงาน เปิดให้ทุนเข้ามาได้โดยผ่านตลาดหลักทรัพย์ เช่น สื่อค่ายเพลงใช้ทรัพยากรที่ตนเองมีอยู่เข้าไปใช้ในสื่อโทรทัศน์ที่ตนเองเป็นเจ้าของได้ หรือมิฉะนั้นเปิดให้ทุนเข้ามาโดยผ่านตลาดหลักทรัพย์และผ่านการโฆษณา ซึ่งเป็นแหล่งรายได้สำคัญเหนืออื่นใดของสื่อกระแสหลัก รวมทั้งการโฆษณาของรัฐวิสาหกิจที่มีทุนในการทำโฆษณามาก

การกระจุกตัวของสื่อในช่วง 10 ปี ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ เข้าไปอยู่ในมือของกลุ่มตระกูลธุรกิจจำนวนไม่กี่ตระกูล อันนี้น้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งเป็นลักษณะธรรมดาของพัฒนาการของทุนทั้งหลายคือ มันมีการกระจุกตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นทุนก็จะกลายเป็นเจ้าของใช้อำนาจต่อรองได้สูงมาก เพราะสื่อต้องพึ่งทุนมาก เช่น กรณีที่มีการเปลี่ยน บ.ก. บางกอกโพสต์ เนื่องจากมีการต่อรองผลประโยชน์เพื่อเอาใจรัฐบาลหรือไม่ อันนี้จะเห็นว่ามันสามารถเข้ามาแทรกสื่อกระแสหลักได้ง่ายมาก ๆ

ส่วนการโฆษณาก็รู้ๆกันอยู่ บริษัทมือถือบางแห่งเสนอสัญญาโฆษณาต่อกัน 5 ปีกับสื่อ การเสนอสัญญาต่อกัน 5 ปีหมายความว่า ถ้าสื่อรู้ว่าจะมีรายได้ที่แน่นอนในการทำธุรกิจ สื่อจะผูกรายได้อันนี้กับการขยายงานและการดำเนินงานต่างๆได้มากพอสมควร เพราะฉะนั้นสัญญาโฆษณาที่มีต่อกัน 5 ปี ถ้าสื่อถูกถอนกลางคัน คนถูกจ้างมาแล้ว พังหมด อำนาจต่อรองของสื่อหายไปแน่ๆ เพราะว่ารายได้ของสื่อเอาไปผูกกับเค้าแล้ว ทั้งหมดผมว่ายากมากที่สื่อกระแสหลักจะไปต่อรองกับทุน

อันที่จริงสื่อสารมวลชนไม่ใช่เรื่องธุรกิจล้วนๆ คือมันต้องมีสมดุลระหว่างธุรกิจกับสังคมอยู่ด้วย คือไม่เหมือนธุรกิจทำกำไรทั่วๆ ไป ยังไงคุณค่าอยู่ที่สื่อมวลชนทำอะไรให้กับสังคม ลึกๆ ผู้ซื้อก็คิดว่ามันมีประโยชน์ และถึงแม้หนังสือพิมพ์ที่เลวอย่างไร มันก็ต้องทำห้เห็นว่ามันมีประโยชน์ให้แก่ผู้ซื้อด้วย ทำอย่างไรให้เกิดความสมดุลระหว่างธุรกิจกับสังคม นั้นไม่ง่าย คนทำสื่ออาจจะขาดสติหรือลืมตัวไปว่าตัวเองมีหน้าที่ต้องรักษาสมดุล เช่น สำนักพิมพ์ถูกกำหนดจากฝ่ายโฆษณา นั่นก็แปลว่ามุ่งหากำไรมากกว่าผลประโยชน์ของสังคม

ปัจจุบันทุนเข้ามากุมอำนาจทางการเมือง และแทรกแซงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญกันหมดแล้ว สังคมไทยกำลังจะมาถึงทางตัน โดยส่วนตัวผมไม่เชื่อว่ามีทางตันในโลกนี้ ความจริงแล้วยังมีหนทางที่จะลดเลี้ยวไปได้ เพราะช่องโหว่ที่สำคัญของอำนาจทุน เขาประเมินความชอบธรรมทางสังคมต่ำเกินไป

ความชอบธรรมทางสังคมถึงแม้ไม่มีองค์กรอะไรตราไว้ในรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่มันเป็นสำนึกบางอย่างที่มีพลังเหนือกว่าศาลรัฐธรรมนูญ กกต. หรือองค์กรอิสระอื่น ๆ ความไม่ชอบมาพากลบางอย่างที่สื่อรายงานแล้วเงียบหายไป เช่น การขายหุ้น ปตท. และอื่นๆ อีกหลายอย่าง การฆ่าตัดตอนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แล้วดูเหมือนไม่มีใครทำอะไรเขาได้ ระยะสั้นอาจจะไม่สั่นคลอน แต่น่าสังเกตว่ามันสั่งสมในระยะยาวจนทำให้อำนาจชอบธรรมที่คนยอมรับนั้นลดลงเรื่อย ๆ ทั้งหมดนี้คือการสะสมความไม่ชอบธรรมที่ดำเนินมาหลายปี แล้วตราบที่ยังจับประเด็นไม่ได้ ยังคิดว่าตัวคุมสื่อ ผมคิดว่ามันไม่แก้ปัญหา นี่คือช่องโหว่ ช่องโหว่นี้สื่ออย่างเดียวอาจจะทำอะไรไม่ได้ แม้ว่าคุณจะควบคุมสื่ออยู่

ในขณะเดียวกันความชอบธรรมทางสังคมมันมีลักษณะโลกาภิวัฒน์ ไม่ใช่เฉพาะคนไทยเห็นหรือไม่เห็นเพียงพวกเดียว แต่เป็นความชอบธรรมที่โลกข้างนอกจะมีส่วนร่วมในการตัดสินด้วย เช่น นโยบายต่อพม่าของรัฐบาล การฆ่าตัดตอน จะสรุปง่าย ๆ แค่ว่าขยายดาวเทียมเท่านั้น แต่คำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมในพม่านั้น มีการตั้งคำถามในโลกตั้งแต่กรุงวอชิงตันดีซี. และในประเทศ การตั้งคำถามความไม่ชอบธรรมมันถูกระดมยิงทั้งจากภายในและจากต่างประเทศมากมาย

การอุ้มคนในภาคใต้ นโยบายสิ่งแวดล้อม หรือการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญต่อกรณีซุกหุ้น ยากมากที่คุณจะรักษาความชอบธรรมทางสังคมด้วยการคุมสื่อในประเทศแต่เพียงอย่างเดียว เพราะฉะนั้นการคุมสื่อจึงไร้ความความหมายมากขึ้นเพราะไม่สามารถคุมข้อมูลที่กระจายและขัดแย้งกันเองได้ ส่วนหนึ่งระบบราชการมันไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันและจะสะสมไปเรื่อยๆ

กรณีความไม่สงบในภาคใต้ คือระบบราชการเราแยกออกเป็นกรมกองต่างๆ และทำงานค่อนข้างอิสระจากกัน ไม่มีรัฐบาลไหนทำให้ราชการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันส่วนหนึ่งนะ แต่อีกส่วนมันมาจากการที่ธุรกิจมันบังคับให้ข้อมูลและความเห็นของสื่อไม่สามารถที่จะลงรอยกันได้ด้วย ยกตัวอย่าง

กรณีความไม่สงบในภาคใต้ ทุกทฤษฎีที่รัฐเสนอนับแต่วันปล้นปืน 4 มกราคม 2547 ถูกพิสูจน์ในเวลาอันรวดเร็วว่าไม่จริง สื่อที่คุณคุมได้มันจึงไม่ได้ผล ขณะที่คุณต้องเปลี่ยนทฤษฎีอยู่ตลอดเวลา สื่อก็ต้องตอบสนองความไม่แน่ใจของประชาชน โดยการรายงานนอกแถวอยู่ด้วย

สื่อต้องรายงานข่าวที่เห็นประโยชน์ของประเทศชาติด้วย ดังนั้นจะเห็นว่าสื่อไม่อาจทำตามที่รัฐบาลเสนอได้ มันจำเป็นต้องแตกแถว เพราะไม่เช่นนั้นสื่อนั้นก็ขาดความชอบธรรม ขายไม่ออก และในกรณีความไม่แน่ใจของสังคมในข่าวเหล่านั้น ในขณะเดียวกันก็มีการเสนอข่าวจากแหล่งอื่น มันมีการจัดสัมนาทางวิชาการ มีการเสนอผลงานวิจัยชาวบ้าน

เรื่องปอเนาะ รัฐบาลพูดว่าปอเนาะเป็นแหล่งซ่องสุมผู้คน อะไรกันแน่ ปอเนาะในมุมมองจุดยืนชาวบ้าน คือมันยากมากที่จะทำให้ข่าวสารเป็นกระแสเดียว โดยธรรมชาติเองมันมีลักษณะแตกแยกเสมอ และแม้คุณจะคุมสื่อกระแสหลักได้ แล้วสื่อกระแสหลักทำธุรกิจมันจึงต้องตอบสนองความแตกแยกของข่าวสารด้วย มันไม่สามารถยืนอย่างเก่าได้ตลอด

ข่าวที่ค่อนข้างขัดเจน คือ ข่าวการอุ้มคุณสมชาย นีละไพจิตร แรก ๆ รัฐบาล รองนายกฯ ชวลิต ยงใจยุทธให้ข่าวว่าไม่เกี่ยวกับการถูกอุ้ม แต่ต่อมาข่าวก็ค่อย ๆ ถูกเปิดเผยว่าคนมีสีเป็นคนอุ้มจริง และคนอุ้มยังสามารถบอกชื่อย่ออีกด้วย

น่าสนใจว่าสื่อแรกที่เปิดเผยคือ ไอทีวีซึ่งอยู่ในเครือบริษัท ชินกรุ๊ป ในทัศนะของผม ไอทีวีเพิ่งปรับผังรายการหลังการตัดสินอณุญาโตตุลาการ มีกระแสสังคมไม่พอใจสูง ไอทีวีต้องพิสูจน์ตนเองให้เห็นถึงคุณค่าให้เห็นในเชิงสื่อมวลชนที่ยุติธรรม มีประสิทธิภาพให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และข่าวนี้เป็นชิ้นโบแดง ไอทีวีต้องผลิตงานชิ้นโบแดงในช่วงวิกฤติ ดังนั้นจะเห็นว่าเหตุผลทางธุรกิจ ทำให้การกุมสื่อมันไร้ประสิทธิภาพได้ ไม่อาจครอบงำคุณค่าทางสังคมได้

สื่อทางเลือกมีมากขึ้น เช่น อินเตอร์เน็ต การผลิตสื่อกระดาษมันง่ายขึ้น ราคาถูกลง ในขณะเดียวกันมีตลาดหนังสือกระแสทางเลือกเพิ่มขึ้น เพราะมันมีสำนึกภยันตรายของสื่อกระแสหลักต่างๆมาก กรณีวิทยุชุมชนได้รับการตอบสนองจากคนทั่วไปอย่างกระตือรือร้น คนไม่พอใจวิทยุกระแสหลัก และมากยิ่งไปกว่านั้นสื่อกระแสหลักทั้งหมด มันยังไม่เพียงพอในด้านการให้ข้อมูลข่าวสาร จำเป็นต้องมีสื่อทางเลือกอื่นๆผสมอยู่ด้วย จึงตอบสนองค่อนข้างรวดเร็ว ฉะนั้น ตลาดของหนังสือทางเลือก วิทยุชุมชนจึงขยายตัว ซึ่งได้สร้างผลกระทบต่อกันขึ้นพร้อมๆ กันไป

นอกจากนี้เราไม่ควรมองสื่อทางเลือก และสื่อกระแสหลักเป็นสองขั้วที่แยกจากกัน จริงๆ แล้วทั้งสองอย่างมีอิทธิพลกระทบต่อกันตลอดเวลา เราไม่สามารถทำสื่อทางเลือกโดยไม่มองทิศทางสื่อกระแสหลัก เช่นเดียวกับสื่อกระแสหลักก็ไม่ดูสื่อทางเลือก พยายามผลักดันไม่ได้เหมือนกัน ทั้งสองอย่างนี้ ต้องมองดูในลักษณะที่ทำงานควบคู่กันไป มันดุลกันเอง อย่ามองแยกขั้วออกจากกันอย่างเด็ดขาด

 สื่อทางเลือกคืออะไรบ้าง      
     หมายถึงสองอย่าง
     หนึ่ง, รูปแบบที่ไม่ธรรมดาตามความเคยชิน      
     สอง, เนื้อหาและการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงในสังคมไทย ได้แก่ 

1. การพบปะพูดคุยตกลงกันในเวทีต่าง ๆ อันที่จริงสังคมไทยส่งข่าวสารผ่านปากต่อปาก สิ่งที่พบในสังคมไทยคือไม่มีการพัฒนาสถาบันเก่า ๆ ไปในรูปแบบอื่นให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต เช่น ศาลาในชุมชน การประชุมในเวทีศาสนา

สิ่งเหล่านี้เดิมทีเป็นที่ชุมนุม และอบรมภายในชุมชน สังคม หรือผับในอังกฤษ เข้าโบสถ์คริตส์ อิสลาม การประชุมพิธีกรรมทางศาสนาเป็นที่ตกลงอะไรกันในชุมชนสูงมาก เอาประเด็นมาคุย แลกเปลี่ยนข่าวสารพูดคุยแสดงความคิดเห็น แต่การฟังเทศน์ในเมืองไทย ปัจจุบันพระพูดคนเดียว คนอื่นๆไม่มีโอกาสพูดคุย สมาคมผู้ปกครองในประเทศไทย ก็ไม่ได้มีบทบาทที่จะทำให้ผู้ปกครองเข้าไปมีส่วนร่วมในระบบการศึกษาเลย นอกจากจัดงานสังสรรค์ สถาบันทางวิชาการของมหาวิทยาลัยนอกระบบ จัดงานสัมมนาก็เก็บเงิน เป็นต้น. ดังนั้นเมืองไทยน่าจะมีการพัฒนาสถาบัน องค์กรต่างๆ อันเป็นสถานที่รวมตัวกัน ให้คนแลกเปลี่ยนกันที่กำลังจะหายไป ทำอย่างไรให้กลับมาสื่อสารแก่คนในสังคม

2. การละเล่น การแสดงพื้นบ้าน ครั้งหนึ่งเป็นเวทีพูดคุยแหล่งข้อมูลข่าวสารที่สำคัญที่สุด เช่นหนังตะลุงที่ยาวนานที่สุด ซึ่งปัจจุบันก็ตายไปบ้าง

3. ละครเวที แต่ยังมีกลุ่มเป้าหมายน้อย เมื่อช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา และ 6 ตุลา มีการเล่นละครในหมู่บ้าน หลังจากนั้นก็มีละครมะขามป้อมที่ทำงานกับเด็ก ถือเป็นสื่อทางเลือกใหม่ๆ ได้เช่นกัน

4. หนังสือเล่ม สื่อทางเลือกทั้งทำในเชิงธุรกิจ และทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่มักไม่ค่อยถึงคนอ่าน การทำเชิงธุรกิจ คือทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้กว้างมากขึ้น

5. จุลสาร เช่น จุลสารชุมชนคนรักป่าซึ่งอยู่รอดได้ด้วยระบบสมาชิก กลุ่มคนอ่าน มีจุดประสงค์ทำงานกับคนชั้นกลางโดยเฉพาะ ต้องคิดวิธีการที่จะอยู่รอดได้และหาวิธีการอื่นๆ

6. นิตยสารคนรุ่นใหม่ เช่น ฟ้าเดียวกัน นิตยสารวัยรุ่น, อะเดย์, ไทยโพสต์, หรือของคุณชัชรินทร์ ไชยวัตน์สมัยหนึ่ง มันไม่ได้มองด้วยเหตุผลทางธุรกิจล้วนๆ

เป้าหมายของสื่อทางเลือก
เป้าหมายของเราคือการสร้างสมดุล แรงถ่วงระหว่างสื่อทางเลือกและสื่อกระแสหลัก

1.สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างสื่อทางเลือก และสร้างความสัมพันธ์กับสื่อกระแสหลักด้วย อย่าเป็นอริต่อกัน หนุนในจุดที่ร่วมกันได้ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์กับกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม เช่น นักธุรกิจบางกลุ่ม กลุ่มสนใจเรื่องป่า สิ่งแวดล้อม สลัมให้มาเชื่อมโยงกันด้วย

2. ควรใช้วิธีทางธุรกิจเข้ามาด้วย เพื่อมองตลาดหรือกลุ่มเป้าหมายให้ชัด เช่น การพิมพ์เอกสารแจก ไม่เลือกเป้าเป็นการเสียเงินเปล่า

3. ต้องร่วมต่อสู้ประเด็นสิทธิเสรีภาพของสื่ออย่างจริงจัง เพราะไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทยที่สื่อจะถูกบังคับควบคุมเท่ากับปัจจุบันนี้ ยกเว้นช่วง 14 ตุลาคม อย่าคิดว่าสิทธิเสรีภาพของสื่อได้มาเรียบร้อยแล้ว ประเด็นนี้สื่อกระแสหลักค่อนข้างเห็นความสำคัญ เรากับเขาสามารถร่วมมือกันได้ในประเด็นนี้

4. ต้องสร้างผู้สื่อข่าว ทำอย่างไรจะให้สื่อกระแสหลักเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ค่อยได้พูด ได้มีโอกาสพูดมากขึ้น (ไม่ใช่นักวิชาการ) เกิดพันธมิตรและสีสัน อันนี้จะทำให้เกิดความรู้มากขึ้น เช่น นิตยสารของเอ็มพาวเวอร์ นิตยสารของผู้หญิงขายบริการ เป็นการให้กลุ่มผู้หญิงที่ไม่ได้พูดได้พูด ผมคิดว่าในตัววัตถุดิบ ถ้าเขาทำเชิงธุรกิจผมเชื่อว่าขายได้ และดีด้วย ดังนั้นจะเห็นว่าสื่อทางเลือกจะมีตลาดของตัวเองเยอะมาก มีโอกาสอยู่รอดทางธุรกิจได้ ไม่ใช่ทำเอารวย

5. เลือกสื่อให้ดี คือหมายความว่าเราจะสื่อกับใคร สารอะไร วิธีการอะไร เราถนัดอะไร สื่ออะไรจึงจะมีค่าคุ้มที่สุด

สำนักข่าวประชาธรรม Prachadarma news net (PNN)
77/1ม.5 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
Email : [email protected]
โทร.01-568-5670

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆที่เผยแพร่บนเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ

สมัยหนึ่ง พ่อค้าจะแจ้งให้ทราบว่าตนจะขายสินค้าอะไร ขายบริการอะไร มีอะไรมายั่วยวนให้เราไปซื้อสินค้าเหล่านั้น แต่ว่าในปัจจุบันวิธีการทำงานของทุน คือทุนเข้ามากำหนดวิถีชีวิตของเรา วิธีคิดของเรา กำหนดระบบคุณค่าของเรา เป็นคนบอกให้เรารู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว และด้วยเหตุดังนั้นทำให้ต้องเข้ามาควบคุมสื่อ เพื่อกำหนดการรับรู้ของเราค่อนข้างมาก

ปาฐกถาประชาธรรมประจำปี 47 โดย สำนักข่าวประชาธรรม ร่วมกับคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
H

ต้องร่วมต่อสู้ประเด็นสิทธิเสรีภาพของสื่ออย่างจริงจัง เพราะไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของไทยที่สื่อจะถูกบังคับควบคุมเท่ากับปัจจุบันนี้ ยกเว้นช่วง 14 ตุลาคม อย่าคิดว่าสิทธิเสรีภาพของสื่อได้มาเรียบร้อยแล้ว ประเด็นนี้สื่อกระแสหลักค่อนข้างเห็นความสำคัญ เรากับเขาสามารถร่วมมือกันได้ในประเด็นนี้ ... ทำอย่างไรจะให้สื่อกระแสหลักเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ค่อยได้พูด ได้มีโอกาสพูดมากขึ้น เกิดพันธมิตรและสีสัน อันนี้จะทำให้เกิดความรู้มากขึ้น เช่น นิตยสารของเอ็มพาวเวอร์ นิตยสารของผู้หญิงขายบริการ เป็นการให้กลุ่มผู้หญิงที่ไม่ได้พูดได้พูด

เมื่อเร็วๆนี้ผู้หญิงคาทอลิก ชาวฟิลิปปินส์ เธอก็รู้สึกคล้ายๆเราว่า ชาวโมโรหรือพวกมุสลิมที่อยู่ทางใต้ของฟิลิปปินส์ไม่เคยได้รับโอกาสจากสื่อกระแสหลักในการนำเสนอเรื่องราวของพวกเธอ รวมทั้งความเดือดร้อนของพวกเธอมาเผยแพร่ให้คนฟิลิปปินส์รู้ คนฟิลิปปินส์ก็รู้แต่เพียงว่าไอ้คนโมโรไปไล่ฆ่ามันเหอะ เพราะมันเป็นตัวระเบิด จับคนไปเรียกค่าไถ่อยู่ตลอดเวลา ฟังดูคล้ายประเทศไทย เธอเลยไปตั้งสำนักงานอยู่ในมินดาเนา

ความชอบธรรมทางสังคมถึงแม้ไม่มีองค์กรอะไรตราไว้ในรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่มันเป็นสำนึกบางอย่างที่มีพลังเหนือกว่าศาลรัฐธรรมนูญ กกต. หรือองค์กรอิสระอื่น ๆ ความไม่ชอบมาพากลบางอย่างที่สื่อรายงานแล้วเงียบหายไป เช่น การขายหุ้น ปตท. และอื่นๆ อีกหลายอย่าง การฆ่าตัดตอนที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แล้วดูเหมือนไม่มีใครทำอะไรเขาได้ ระยะสั้นอาจจะไม่สั่นคลอน แต่น่าสังเกตว่ามันสั่งสมในระยะยาวจนทำให้อำนาจชอบธรรมที่คนยอมรับนั้นลดลงเรื่อย ๆ