บทความทางด้านปรัชญาศิลปะของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง ผลงานศิลปะในยุคของการผลิตซ้ำเชิงกลไก / บทความใหม่เดือน พฤศจิกายน 2544
H
home
His
Walter Benjamin, born on July 15, 1892, studied philosophy in Freiburg, Munich, Berlin and Bern. Earning a degree with his Concept of Criticism in German Romanticism, he was not successful in his attempt to become a university professor.

ประวัติของ Walter Benjamin เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 1892 เขาได้ศึกษาปรัชญาใน Freiburg, Munich, Berlin และ Bern. และได้รับปริญญาด้วยการเสนอ แนวคิดเกี่ยวกับการ วิจารณ์ ลัทธิโรแมนติคเยอรมัน, เขาไม่ประสบความสำเร็จ ในการพยายามที่จะเข้ารับตำแหน่งศาสตราจารย์ ในมหาวิทยาลัย

ผลงาน Habilitationsschrift , On the Origins of the German Trauerspiel, ของเขาได้ถูกปฏิเสธโดยมหาวิทยาลัยแฟรงค์ เฟริท แต่ได้รับการประกาศว่าเป็นคัมภีร์คลาสสิค ที่ยิ่งใหญ่ แห่งศตวรรษที่ 20 ในฐานะงานวิจารณ์ทางวรรณคดี

 

midnight's history
ภาพประกอบจากหนังสือ The Photography Book : Walter Benjamin 1938 ถ่ายโดย Gisele Freund / C-type print
มนุษย์ผู้สร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ มักจะถูกลอกเลียนโดยมนุษย์ด้วยกันเสมอ
Contents Page
Member Page
Webboard
นักศึกษา สมาชิก
และผู้สนใจทุกท่าน
หากประสบปัญหา
ภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน
กรุณาลดขนาดของ font
ลงมา จะแก้ปัญหาได้
The Midnight University
Somkiat Tangnamo : Faculty of Fine Arts, Chiangmai University

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิกที่ปุ่ม member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ปุ่ม contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
(midnightuniv(at)yahoo.com)

อาจารย์สาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 50200
02.11.44

บทนำ ( PREFACE)
เมื่อตอนที่ Marx ได้ทำการวิพากษ์เกี่ยวกับแบบจำลองการผลิตของทุนนิยม แบบจำลองอันนั้นยังอยู่ในภาวะของความเป็นทารกอยู่. Marx ได้ใช้ความพยายามต่างๆของเขาทั้งหมดให้โน้มไปในทิศทางอันหนึ่งซึ่ง ให้คุณค่าเกี่ยวกับการคาดคะเนสูงมาก. เขาได้ย้อนกลับไปสู่เงื่อนไขต่างๆในขั้นพื้นฐาน ซึ่งอยู่ข้างใต้การผลิตแบบทุนนิยม และตลอดการนำเสนอของเขา ได้แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ได้รับการคาดหวังเกี่ยวกับทุนนิยมในอนาคต.

ผลก็คือว่า การคาดการณ์ถึงสิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่เพื่อตักตวงผลประโยชน์ให้กับชนชั้นกรรมาชีพด้วยความเข้มข้นเพิ่มขึ้น แต่เพื่อสร้างเงื่อนไขต่างๆซึ่งจะทำให้มันเป็นไปได้ที่จะล้มล้างทุนนิยมลงในท้ายที่สุด.

ความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างส่วนบน(superstructure)เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ซึ่งช้ายิ่งกว่าโครงสร้างส่วนล่าง, มันต้องใช้เวลามากกว่าครึ่งศตวรรษ เพื่อแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ในทุกๆพื้นที่ทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขต่างๆของการผลิต. ในทุกวันนี้เท่านั้นที่มันได้ถูกชี้ชัดลงไปได้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น. ดังนั้น การคาดคะเนที่แน่นอน จึงได้มาถึงจุดที่บรรจบกันกับถ้อยแถลงเหล่านี้ ....

พวกเขาได้ปัดแนวความคิดทางด้านศิลปะอันล้าสมัยมากมายทิ้งไป อย่างเช่น ความสามารถในการสร้างสรรค์และความเป็นอัจฉริยะ, คุณค่าชั่วนิรันดร์และความลึกลับ รวมทั้งแนวความคิดต่างๆที่ไม่อาจควบคุมได้ .... และได้นำไปสู่กระบวนการเกี่ยวกับข้อเท็จจริงหรือข้อมูลในความหมายใหม่. แนวความคิดต่างๆ ถูกนำเสนอเข้าสู่ทฤษฎีศิลปะที่ดำเนินต่อมา ซึ่งมันแตกต่างไปจากศัพท์แสงต่างๆที่เราคุ้นเคยในอดีตอันไร้ประโยชน์อย่างสมบูรณ์จำนวนมาก.... ในอีกด้านหนึ่ง มันเป็นประโยชน์สำหรับหลักการเกี่ยวกับการเรียกร้องการปฏิวัติในทางศิลปะ....

1.
โดยหลักการ ผลงานศิลปะชิ้นหนึ่งนั้น มักจะสามารถผลิตซ้ำขึ้นมาได้เสมอ. มนุษย์ผู้สร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ มักจะถูกลอกเลียนโดยมนุษย์ด้วยกัน เช่น รูปจำลองต่างๆที่ได้รับการทำขึ้นโดยนักเรียน นักศึกษา และศิลปินฝึกหัด ในการฝึกปฏิบัติงานฝีมือของพวกเขา โดยลอกเลียนผลงานศิลปะของปรมาจารย์ทั้งหลาย เพื่อศึกษาและแพร่กระจายผลงานต่างๆเหล่านี้ และในท้ายที่สุด ผลงานศิลปะได้รับการลอกเลียนโดยบุคคลที่สาม ซึ่งต้องการวิ่งไล่ตามความก้าวหน้าหรือความสำเร็จ(เช่นศิลปินคนอื่นๆ)

แต่อย่างไรก็ตาม การผลิตซ้ำเชิงกล(Mechanical reproduction) เกี่ยวกับผลงานศิลปะชิ้นหนึ่ง มันเป็นตัวแทนอะไรบางอย่างที่ใหม่. ตามประวัติศาสตร์ มันมีความก้าวหน้าในลักษณะเดินๆหยุดๆเป็นพักๆซึ่งไม่ค่อยจะต่อเนื่อง และในการก้าวกระโดดของมัน ก็ได้ทำให้เกิดช่องว่างขนาดใหญ่ และก็เป็นไปด้วยความเข้มข้นในอัตราเร่ง

ชนชาวกรีกรู้จักวิธีการผลิตซ้ำงานศิลปะในเชิงเทคนิคอยู่สองชนิด นั่นคือ (1)การหล่อ และ (2)การกดประทับ หรือการปั๊ม(stamping). ในสมัยโบราณ รูปหล่อบรอนส์, รูปงานที่ทำขึ้นจากดินเหนียวและนำไปเผาที่เรียกว่า terra cottas, และเหรียญต่างๆ คือผลงานทางศิลปะเพียงไม่กี่อย่างเท่านั้นที่พวกเขาสามารถทำซ้ำและผลิตได้ทีละมากๆ. ส่วนผลงานศิลปะประเภทอื่นๆต่างก็ทำขึ้นมาเพียงชิ้นเดียว และไม่สามารถที่จะผลิตซ้ำในเชิงกลใดๆได้

งานศิลปะภาพพิมพ์แบบแกะไม้ ถือว่าเป็นการผลิตซ้ำในเชิงกลเป็นอันดับแรกสุด อันนี้นับว่ามีมานานมาก ก่อนที่ต้นฉบับประเภทหนังสือจะเป็นสิ่งที่ทำซ้ำขึ้นมาได้โดยกระบวนการพิมพ์. ความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ด้วยการพิมพ์, การผลิตซ้ำเชิงกลเกี่ยวกับงานเขียน, ได้ทำให้เกิดวรรณกรรมอันเป็นเรื่องราวที่คุ้นเคยทั่วไปในหมู่ประชาชน. แต่อย่างไรก็ตาม ภายใต้ปรากฏการณ์ดังกล่าว ซึ่งพวกเราที่อยู่กัน ณ ที่นี้ กำลังทำการสำรวจจากมุมมองหรือทัศนียภาพของประวัติศาสตร์โลก การพิมพ์เป็นเพียงกรณีที่พิเศษกรณีหนึ่งเท่านั้น แต่ค่อนข้างมีความสำคัญโดยเฉพาะ

ในช่วงยุคกลาง งานพิมพ์แบบล่องลึกหรือที่เรียกว่า engraving และงานพิมพ์ที่ทำขึ้นมาจากการแกะลงไปบนแม่พิมพ์ผิวโลหะได้ถูกผนวกเข้ามาในกระบวนการพิมพ์เพิ่มเติมจากที่เรารู้จักกันอยู่แล้ว คือภาพพิมพ์แกะไม้(woodcut). และในช่วงเริ่มต้นคริสตศวรรษที่ 19 แม่พิมพ์หิน หรือ lithography ก็ได้ปรากฏตัวขึ้นมา

ด้วยกระบวนการภาพพิมพ์หิน เทคนิคของการผลิตซ้ำก็ได้มาถึงก้าวย่างใหม่ที่สำคัญ. กระบวนการที่ตรงไปตรงมามากๆของแม่พิมพ์หินอันนี้ ได้ถูกทำให้แตกต่างโดดเด่นโดยการวาดเส้นตามรอยการออกแบบบนแผ่นหิน มากกว่าที่จะต้องแกะมันลงไปบนบล็อคแม่พิมพ์ที่ทำขึ้นมาจากไม้หรือโลหะผิวทองแดง (การทำแม่พิมพ์ etching ส่วนใหญ่จะทำบนโลหะทองแดงแผ่นเรียบ) และด้วยกรรมวิธีเช่นนี้ มันยินยอมให้งานประเภทกราฟิคได้แนะนำตัวเองสู่ท้องตลาดเป็นครั้งแรก ซึ่งไม่เพียงจะทำได้ทีละมากๆเท่านั้น แต่มันยังเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปได้ทุกวันอีกด้วย

ภาพพิมพ์หินทำให้ศิลปะกราฟิคได้เสนอภาพชีวิตประจำวัน และมันเริ่มรักษาฝีก้าวด้วยการพิมพ์ให้สม่ำเสมอ. แต่เพียงไม่กี่ทศวรรษเท่านั้นหลังจากได้มีการประดิษฐ์คิดค้นเทคนิคนี้ขึ้นมา ภาพพิมพ์หินก็ถูกแซงหน้าโดยภาพถ่าย. สำหรับครั้งแรกในกระบวนการเกี่ยวกับการผลิตซ้ำขึ้นมาเป็นภาพ, ภาพถ่ายได้มาปลดปล่อยหน้าที่ต่างๆทางศิลปะที่สำคัญที่สุดให้หลุดลอยเป็นอิสระ ซึ่งต่อจากนี้ไป ได้พัฒนาไปโดยการใช้สายตามองผ่านเลนส์เพียงเท่านั้น

เมื่อสายตาทำหน้าที่รับรู้สิ่งต่างๆได้อย่างรวดเร็วเกินกว่ามือสามารถจะวาดมันออกมาได้, กระบวนการผลิตซ้ำภาพจึงถูกเร่งด้วยอัตราความเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้มันสามารถเพิ่มและรักษาฝีก้าวได้ด้วยความฉับไว. และจากพัฒนาการขึ้นมาเป็นภาพถ่ายดังกล่าวได้ไม่นาน ขั้นตอนการดำเนินการต่อมาก็ได้มาถึงการพัฒนาภาพยนตร์. นักสร้างภาพยนตร์ได้ทำการถ่ายภาพฉากๆหนึ่งในสตูดิโอ พร้อมทั้งจับเอาคำพูดของนักแสดงมาได้ด้วยการบันทึกเสียง เทียบเท่ากับภาพพิมพ์หินแสดงนัยะได้อย่างดีในภาพประกอบบนหนังสือพิมพ์ การทำเช่นนั้น ได้เป็นนิมิตหมายของภาพยนตร์เสียง

การผลิตซ้ำด้วยเทคนิคดังกล่าวเกี่ยวกับเรื่องเสียงได้รับการแก้ปัญหาหรือจัดทำขึ้นในช่วงสิ้นสุดของศตวรรษที่ 19 (แต่ยังไม่สมบูรณ์). ความพยายามที่มาบรรจบกันเหล่านี้ทำให้สามารถทำนายได้ถึงสถานการณ์อันหนึ่ง ซึ่ง Paul Valery ได้ชี้ลงไปในประโยคดังต่อไปนี้:...

"เทียบเท่ากับ น้ำ, แก๊ส, และไฟฟ้า ที่ถูกนำเข้ามาในบ้านของพวกเราจากที่ๆห่างไกล เพื่อสนองความพึงพอใจของเราด้วยการใช้ความพยายามที่น้อยที่สุด, ดังนั้นเราจึงได้รับการจ่ายแจกด้วยภาพที่มองเห็น หรือภาพที่มีเสียง, ซึ่งมันจะปรากฎและไม่ปรากฎแก่เรา โดยการเคลื่อนไหวง่ายๆของมือเพียงเท่านั้น, แทบจะไม่มีอะไรมากเกินไปกว่านั้น".

รายรอบปี 1900 การผลิตซ้ำในเชิงเทคนิคได้มาถึงมาตรฐานอันหนึ่ง ซึ่งไม่เพียงยินยอมให้มีการผลิตซ้ำผลงานศิลปะที่แพร่หลายทั้งหมดเท่านั้น แต่มันยังเป็นมูลเหตุของความเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งมากในผลกระทบที่มีต่อสาธารณชน นอกจากนี้ มันยังได้ไปจับจองพื้นที่หนึ่งของตัวเองท่ามกลางกระบวนการต่างๆทางด้านศิลปะ. สำหรับการศึกษาเกี่ยวกับมาตรฐานอันนี้ ไม่ได้มีอะไรเกินไปกว่าการเผยถึงธรรมชาติเกี่ยวกับการสะท้อนกลับที่การปรากฎตัวที่แตกต่างกันทั้งสองนี้ - นั่นคือ การผลิตซ้ำผลงานศิลปะ และ ศิลปะของภาพยนตร์ - ที่มีต่อศิลปะในรูปแบบประเพณีของมัน

2.
แม้แต่ผลงานศิลปะที่ผลิตซ้ำได้อย่างสมบูรณ์มากที่สุด ก็ยังขาดเสียซึ้งปัจจัยหรือแก่นแท้อันหนึ่งไป นั่นคือ การมีอยู่ของมันในประวัติศาสตร์ เกี่ยวกับช่วงเวลาและสถานที่, การดำรงอยู่ที่ลักษณะเฉพาะของผลงานศิลปะชิ้นนั้นๆ ณ สถานที่ที่มันก่อเกิดและเป็นอยู่.

การดำรงอยู่ที่มีลักษณะเฉพาะอันนี้ของผลงานศิลปะได้มากำหนดประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รับผลกระทบมาตลอดช่วงเวลาในการดำรงอยู่ของมัน. อันนี้รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงต่างๆซึ่งได้ประสบกับเงื่อนไขทางกายภาพนับเป็นปีๆ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงอันหลากหลายในความเป็นเจ้าของตัวผลงาน. การสืบเสาะหรือตามรอยดังกล่าว สามารถได้รับการเผยออกมาได้โดยการวิเคราะห์ทางเคมีหรือกรรมวิธีอื่นๆ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยในการจะผลิตซ้ำหรือจำลองสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา ส่วนการเปลี่ยนแปลงความเป็นเจ้าของก็มีผลกระทบต่อขนบประเพณี ซึ่งจะต้องได้รับการสืบเสาะจากสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับต้นตอ

การมีอยู่ของความเป็นต้นฉบับ(original)เป็นเงื่อนไขที่ต้องมีมาก่อนสำหรับแนวความคิดเกี่ยวกับความจริงแท้(authenticity). การวิเคราะห์ทางเคมีเกี่ยวกับรอยเกรอะหรือคราบสนิมของบรอนส์สามารถที่จะมาช่วยบอกสิ่งนี้ได้ ดังที่มันเคยพิสูจน์ว่า ต้นฉบับลายมือเขียนชิ้นหนึ่งของยุคกลาง มีเทือกเถาเหล่ากอมาจากเอกสารสำคัญของคริสตศตวรรษที่ 15 (that a given manuscript of the Middle Ages stems from an archive of the fifteenth century)(แสดงให้เห็นว่า เป็นเอกสารที่ทำขึ้นใหม่). ปริมณฑลทั้งหมดของ"ความแท้จริง"มันอยู่ภายนอกเรื่องทางเทคนิค - และ, แน่นอน, ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับเทคนิคเท่านั้น หรือเรื่องความสามารถในการผลิตซ้ำ

การเผชิญหน้ากับ"การผลิตซ้ำที่ทำขึ้นด้วยมือ" ซึ่งปกติแล้ว ได้รับการประทับตราในฐานะที่เป็น"การปลอมแปลง"อันหนึ่ง เมื่อพิจารณาจากมุมนี้ ต้นฉบับเดิมจึงธำรงรักษาอำนาจ"ความแท้จริง"ของมันทั้งหมดเอาไว้. แต่อย่างไรก็ตาม ผลอันนี้ไม่ได้เป็นอย่างเดียวกันเมื่อเราเผชิญหน้ากับ"การผลิตซ้ำทางเทคนิค". ขอให้เรามาดูเหตุผลสองประการต่อไปนี้

ประการแรก คือ กระบวน"การผลิตซ้ำทางเทคนิค"เป็นสิ่งที่อิสระไม่ขึ้นอยู่กับต้นฉบับเช่นเดียวกับ"การผลิตซ้ำด้วยมือ". ยกตัวอย่างเช่น ในภาพถ่าย, กระบวนการผลิตซ้ำ สามารถทำให้ลักษณะรูปร่างหน้าตาเหล่านั้นของต้นฉบับปรากฏขึ้นมาได้ และด้วยสายตาอันเปลือยเปล่าผู้ดูไม่สามารถล่วงรู้ได้เลย เว้นแต่จะมองดูหรือตรวจสอบมันผ่านเลนส์, ซึ่งเป็นสิ่งที่ปรับได้และเลือกมุมได้ตามต้องการ. และการผลิตซ้ำในด้านภาพถ่าย ด้วยการช่วยเหลือของกระบวนการบางอย่าง อย่างเช่น การขยายภาพหรือการทำให้เป็นภาพช้า, สามารถที่จะจับภาพความเคลื่อนไหวที่หลุดรอดไปจากภาพที่เห็นด้วยตาตามธรรมชาติได้

ประการที่สอง, "การผลิตซ้ำในทางเทคนิค" สามารถที่จะทำสำเนาเกี่ยวกับต้นฉบับให้เข้าไปสู่สถานการณ์ต่างๆซึ่งไม่อาจเข้าถึงได้โดยตัวต้นฉบับเอง. ยิ่งไปว่านั้น มันสามารถทำให้ต้นฉบับเดิมได้ไปพานพบกับผู้ดู ซึ่งดำรงอยู่ในรูปแบบของภาพถ่าย หรือการบันทึกเป็นภาพยนตร์. โบสถ์หลังใหญ่ที่เรียกว่า cathedral ได้ทิ้งที่เกิดเหตุของมันเอาไว้ ซึ่งถูกรับรู้ได้ในสตูดิโอของผู้รักงานศิลปะ โบสถ์หลังดังกล่าวได้ถูกนำมาประกอบกับเสียงประสานของเพลงสวด และการดำเนินการเหล่านี้กระทำในห้องประชุม หรือสถานที่โล่งแจ้ง หรือทำให้ก้องกังวานขึ้นได้ในห้องที่เตรียมไว้สำหรับความบันเทิง

สถานการณ์ต่างๆที่การผลิตซ้ำเชิงกลนำมาให้กับเราก็คือ การได้ชมภาพหรือผลงานจำลองต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่อาจสัมผัสหรือแตะต้องกับผลงานศิลปะที่แท้จริงๆได้ อันนี้ทำให้คุณสมบัติหรือคุณภาพเกี่ยวกับการมีอยู่ของมันถูกลดค่าลงไป. เรื่องดังกล่าวเข้าใจว่า ไม่เพียงสำหรับผลงานศิลปะเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงภาพทิวทัศน์ภาพหนึ่งซึ่งเราดูมันจากภาพยนตร์ด้วย

ในกรณีของ"วัตถุทางศิลปะ" ใจกลางที่อ่อนไหวมากที่สุดของมันก็คือ "ความแท้จริง"ของมัน ซึ่งถูกแทรกแซง(โดยการผลิตซ้ำ). "ความจริงแท้"ดังกล่าวของสิ่งๆหนึ่ง เป็นแก่นหรือสาระสำคัญของทั้งหมดที่ส่งผ่านจากการเริ่มต้นเป็นต้นมา ค่อยๆเรียงลำดับอย่างต่อเนื่องมาพร้อมกับเหตุการณ์และพยานหลักฐานต่างๆที่มันได้ประสบในประวัติศาสตร์. เมื่อหลักฐานทางประวัติศาสตร์พักพิงอยู่บนความจริงแท้เช่นนี้ การผลิตซ้ำจึงเป็นอันตรายสำหรับมัน เพราะไม่มีความต่อเนื่องโดยแก่นสารใดๆ. สิ่งที่เป็นอันตรายจริงๆเมื่อหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้รับผลกระทบก็คือ ความจริงแท้ของวัตถุชิ้นนั้น

ใครบางคนอาจวิเคราะห์ถึงธาตุแท้ที่ถูกทำลายหรือขจัดออกไปในอีกแง่หนึ่ง นั่นคือเรื่องของ"รัศมี" หรือที่เรียกกันว่า"aura" ในงานศิลปะ, และกล่าวต่อไปว่า : รัศมี(aura)ของผลงานศิลปะอันนั้น มันเหี่ยวแห้งร่วงโรยไปในยุคของการผลิตซ้ำเชิงกล. อันนี้คือลักษณะของอาการโรคอันหนึ่ง นัยสำคัญของมันได้ชี้ไปยังสิ่งที่อยู่เหนืออาณาเขตของศิลปะ

ส่วนอีกคนอาจวางหลักเกณฑ์ทั่วไปโดยการกล่าวว่า : เทคนิคของการผลิตซ้ำ ได้ปลดเปลื้องหรือถอดถอนวัตถุที่ผลิตซ้ำขึ้นมาจากขอบเขตของจารีตประเพณี. โดยการผลิตซ้ำจำนวนมาก จะเป็นตัวแทนสำเนามากมายสำหรับการดำรงอยู่ของผลงานศิลปะที่มีอยู่หนึ่งเดียว. นอกจากนี้ยังยินยอมให้การผลิตซ้ำได้พบกับผู้ดูหรือผู้ฟังในสถานการณ์ที่เป็นการเฉพาะของตัวคนๆนั้น, และมันจะมีผลย้อนไปกระตุ้นวัตถุที่ได้รับการจำลองนั้นอีกครั้ง

กระบวนการนี้ได้นำไปสู่การแตกสลายของขนบประเพณีอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งถือว่าเป็นวิกฤตการณ์ร่วมสมัย.... กระบวนดังกล่าวได้ไปเชื่อมโยงกันกับความเคลื่อนไหวต่างๆของมวลชนร่วมสมัยอย่างใกล้ชิด สำหรับในที่นี้ ตัวแทนที่ทรงอำนาจมากที่สุดของมันก็คือ"ภาพยนตร์". นัยสำคัญทางสังคมของมัน, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรูปที่เป็นไปในเชิงบวกมากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อโดยปราศจากลักษณะการทำลายของมัน และแง่มุมของการระบายถ่ายออก(cathertic aspect), นั่นคือ, การชำระล้างเกี่ยวกับคุณค่าตามจารีตของมรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าว. ปรากฎการณ์อันนี้มันชัดแจ้งมากที่สุดในภาพยนตร์ประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ต่างๆ ซึ่งอันนี้มันได้ขยายออกไปสู่ตำแหน่งใหม่ๆอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ในปี ค.ศ.1927 Abel Gance ได้แสดงออกต่อเรื่องนี้อย่างเร่าร้อนว่า :

"Shakespeare, Rembrandt, Beethoven จะสร้างเป็นภาพยนตร์, ตำนานเก่าแก่ทั้งหมด, ปกรณัมโบราณทั้งปวง และเรื่องราวอันลึกลับดำมืดในอดีต, ผู้ก่อตั้งศาสนาทั้งมวล, และศาสนาจริงๆ... กำลังรอคอยการฟื้นคืนชีพเพื่อเปิดเผยตัวของตัวเองขึ้นมาใหม่, และวีรบุรุษทั้งหลายกำลังเบียดเสียดกันและรอกันอยู่ที่ปากประตู". อย่างที่พอจะสันนิษฐานได้ เขากำลังพูดจาในลักษณะประชดประชัน และแสดงท่าทีเชิญชวนต่อการทำลายล้างที่จะตามมา

3.
ตลอดเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์, ผัสสะการรับรู้ของมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงไปตามวิธีการดำรงอยู่ของมนุษย์. วิธีที่ผัสสะการรับรู้ของมนุษย์ได้รับการสั่งสม, สื่อที่ได้ทำขึ้นมา, ถูกกำหนดไม่เพียงโดยธรรมชาติเท่านั้น แต่โดยสภาพการณ์ทางประวัติศาสตร์ด้วย. ศตวรรษที่ห้า ด้วยการเปลี่ยนแปลงไปมากเกี่ยวกับจำนวนประชากร เราได้เห็นถึงการก่อกำเนิดของอุตสาหกรรมศิลป์ของโรมันและ the Vienna Genesis, และได้ก่อให้เกิดการพัฒนาซึ่งไม่เพียงเรื่องของศิลปะที่แตกต่างไปจากโบราณเท่านั้น แต่ยังพัฒนาการรับรู้อย่างใหม่ขึ้นมาด้วย

ผู้ทรงความรู้แห่ง Viennese school, Riegl and Wickhoff, ผู้ซึ่งต่อต้านความสำคัญหรืออิทธิพลเกี่ยวกับขนบจารีตแบบคลาสสิค ได้วางข้อสรุปของพวกเขาที่เกี่ยวพันกับองค์ระบบของการรับรู้ ณ เวลานั้น. แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อความเข้าใจ, ผู้ทรงความรู้เหล่านี้ได้จำกัดตัวเองที่จะแสดงให้เห็นเครื่องหมายที่สำคัญและเป็นทางการ ซึ่งแสดงคุณลักษณะเฉพาะของการรับรู้ในช่วงปลายสมัยโรมัน. พวกเขาไม่ได้พยายามที่จะ(และบางที อาจจะมองไม่เห็น)แสดงให้เห็นการแปรเปลี่ยนทางสังคม ที่ได้รับการแสดงออกโดยการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกี่ยวกับการรับรู้

แนวความคิดเกี่ยวกับรัศมี(aura) ซึ่งเสนอเอาไว้ข้างต้นโดยการอ้างอิงถึงวัตถุทางประวัติศาสตร์ อาจได้รับการให้ภาพที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์ ด้วยการอ้างอิงถึงรัศมี(aura)ของธรรมชาติ. พวกเรานิยามรัศมี(aura)ของอย่างหลังในฐานะที่เป็นปรากฎการณ์อันหนึ่งที่ชี้เฉพาะเกี่ยวกับระยะห่าง(distance)อันหนึ่ง, อย่างไรก็ตาม มันอาจจะใกล้ก็ได้ เช่น

ถ้าหากว่า ขณะที่กำลังพักผ่อนในบ่ายวันหนึ่งของฤดูร้อน คุณติดตามสายตาของคุณไปยังทิวแถวของภูเขาที่เรียงรายตามเส้นแนวนอนอยู่ข้างหน้า หรือ กิ่งก้านของต้นไม้ที่ทอดเงาของมันลงบนร่างกายของคุณ คุณจะมีประสบการณ์กับรัศมี(aura)ของเทือกเขาเหล่านั้น, หรือกับกิ่งไม้อันนั้น.

ภาพอันนี้มันง่ายมากที่จะทำให้เราเข้าใจถึงพื้นฐานทางสังคม เกี่ยวกับความเสื่อมถอยในเรื่องของ"รัศมี"(aura). มันวางอยู่บนสถานการณ์สองอย่าง ซึ่งทั้งคู่ได้ถูกทำให้เกี่ยวข้องกับนัยสำคัญที่เพิ่มขึ้นของผู้คนในชีวิตร่วมสมัย กล่าวคือ ความปรารถนาของผู้คนร่วมสมัยที่จะนำเอาสิ่งต่างๆเข้ามาใกล้ในเรื่องของระยะ(spatially) และอย่างเป็นมนุษย์(humanly), ซึ่งนั่นเป็นแรงกระตุ้นของมนุษย์ และพร้อมกันนั้นพวกเขาก็โค้งคำนับให้กับการเอาชนะความมีลักษณะเฉพาะของความจริงทุกๆอย่างโดยการยอมรับการจำลองหรือการผลิตซ้ำเกี่ยวกับมัน. (มนุษย์เปลี่ยนแปลงการรับรู้ที่สัมผัสโดยตรงจากธรรมชาติ[ที่มีระยะห่าง] มาสู่ผลงานศิลปะ[ใกล้เข้ามา]ที่ทำขึ้นโดยมนุษย์)

ทุกๆวัน แรงกระตุ้นดังกล่าวได้เจริญเติบโตและแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น เพื่อจะไปให้ถึงความเป็นวัตถุอันหนึ่งให้ใกล้มากที่สุด เพื่อที่จะผลิตซ้ำให้ได้เหมือนกันกับวัตถุที่ได้รับการจำลองทุกประการ. อย่างไม่ผิดเพี้ยน, การผลิตซ้ำดังที่เห็นกันอยู่ในหน้านิตยสารและภาพยนตร์ มันแตกต่างไปจากภาพที่ถูกเห็นกันโดยสายตาที่เปล่าเปลือย. ความมีลักษณะเฉพาะหนึ่งเดียวและความคงทนของต้นฉบับ มันถูกทำให้เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับภาพที่ทำขึ้น และความสามารถในการผลิตซ้ำในต้นฉบับ.

การเฝ้ามองวัตถุชิ้นหนึ่งจากเปลือกนอก, การทำลายรัศมี(aura)ของมัน, เป็นเครื่องหมายของการรับรู้อันหนึ่ง ผัสสะของมันเกี่ยวกับความเสมอภาคกันของสิ่งต่างๆได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับหนึ่ง ซึ่งมันดึงหรือสกัดมาจากวัตถุที่มีลักษณะเฉพาะชิ้นเดียวด้วยอาศัยการผลิตซ้ำหรือการจำลองแบบ. ดังนั้นจึงถูกแสดงให้ประจักษ์ในขอบเขตของการรับรู้ สิ่งที่อยู่ในปริมณฑลทางทฤษฎีที่น่าสังเกตในความสำคัญที่เพิ่มขึ้นในเชิงสถิติ. "การปรับตัวเกี่ยวกับความจริงไปสู่ผู้คน" และ"การปรับตัวของผู้คนไปสู่ความจริง" เป็นกระบวนการอันหนึ่งของขอบเขตที่ไร้ขีดจำกัด, ซึ่งคล้ายกับความคิดมากเท่าๆกันกับการรับรู้

4.
การมีลักษณะเฉพาะหนึ่งเดียวของผลงานศิลปะ เป็นสิ่งที่ไม่อาจแบ่งแยกได้จากการฝังตรึงของมันอยู่ในสายใยของขนบประเพณี. ขนบประเพณีอันนี้โดยตัวมันเองเป็นสิ่งที่มีชีวิตและเปลี่ยนแปลงไปได้อยู่ตลอดเวลาและเป็นไปอย่างสุดๆ. รูปปั้นโบราณชิ้นหนึ่งที่เป็นภาพของวีนัส, เป็นตัวอย่าง, มันยืนอยู่ในบริบทของขนบจารีตที่แตกต่างไปสำหรับชนชาวกรีก, ผู้ซึ่งทำมันขึ้นมาเพื่อเป็นวัตถุสำหรับอการเคารพบูชา, ยิ่งกว่าโดยพวกพระหรือบาทหลวงในยุคกลาง, ผู้ซึ่งมองดูรูปปั้นชิ้นนี้ในฐานะที่เป็นรูปของความอัปมงคล(เพราะภาพวีนัสส่วนใหญ่เป็นภาพเปลือย และเป็นเทพแห่งความรักทางเพศ - sexual love). แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งคู่ต่างๆก็เผชิญหน้ากับความมีลักษณะเฉพาะเพียงหนึ่งเดียวของมันเท่าๆกัน. นั่นคือ, รัศมี(aura).

ในลักษณะที่เป็นต้นฉบับเดิม(originally) การบูรณาการทางด้านบริบทของศิลปะในขนบประเพณี ได้พบพานกับการแสดงออกของมันในลัทธิความเชื่อ(cult). พวกเราทราบว่าผลงานศิลปะในยุคเริ่มต้นบังเกิดขึ้นมาเพื่อรับใช้พิธีกรรมอันหนึ่ง - แรกทีเดียวก็รับใช้พิธีกรรมทางไสยเวทย์(magical), ต่อจากนั้นก็รับใช้ศาสนา. มันเป็นเรื่องสำคัญที่ว่า การดำรงอยู่ของผลงานศิลปะ โดยการอ้างอิงถึงรัศมี(aura)ของมัน ไม่เคยเลยที่จะแยกห่างอย่างสิ้นเชิงออกจากหน้าที่ในทางพิธีกรรมดังกล่าวนี้

กล่าวอีกอย่างหนึ่ง, คุณค่าที่มีลักษณะเฉพาะของผลงานศิลปะที่จริงแท้(authentic)ในอดีต มีพื้นฐานของมันอยู่ในพิธีกรรม, ตำแหน่งแหล่งที่เกี่ยวกับต้นฉบับเดิมของมันใช้ในเชิงคุณค่าประเภทนี้. อย่างไรก็ตาม พื้นฐานเกี่ยวกับพิธีกรรมดังกล่าว เมื่อผ่านระยะเวลามายาวนาน, ยังคงเป็นที่ยอมรับในฐานะที่เป็นพิธีกรรมทางโลก เท่ๆกันกับในรูปแบบต่างๆที่หยาบคายที่สุดของลัทธิความเชื่อเกี่ยวกับความงาม

ลัทธิความเชื่อทางโลกเกี่ยวกับความงาม(secular cult of beauty), ได้พัฒนาขึ้นมาในช่วงระหว่างสมัยเรอเนสซองค์ และแพร่หลายอยู่ประมาณสามศตวรรษ, ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พื้นฐานเกี่ยวกับพิธีกรรมที่เสื่อมถอยของมัน และวิกฤตอันลึกซึ้งแรกสุดที่บังเกิดขึ้นกับสิ่งเหล่านี้

และต่อมา ด้วยการมาถึงเกี่ยวกับวิธีการที่เรียกว่าเป็นการปฏิวัติจริงๆครั้งแรกของ"การผลิตซ้ำ" นั่นคือ "ภาพถ่าย", พร้อมกันกับการถือกำเนิดขึ้นมาของลัทธิสังคมนิยม ศิลปะได้เริ่มตระหนักหรือรู้สึกถึงวิกฤตที่คืบคลานเข้าใกล้ ซึ่งกลายเป็นพยานหลักฐานในหนึ่งศตวรรษต่อมา

ณ เวลานั้น, ศิลปะที่เคยเป็นมาในอดีตซึ่งเคยฟูมฟักอยู่กับลัทธิความเชื่อศาสนา(อาจเรียกว่าเทววิทยาศิลปะ)ได้แสดงปฏิกริยาตอบโต้กับคำสอนเกี่ยวกับ l'art pour l'art (ศิลปะเพื่อศิลปะ). แต่อย่างไรก็ตาม การตอบโต้กันนั้นได้ก่อให้เกิดสิ่งที่อาจได้รับการเรียกว่า เทววิทยาในเชิงนิเสธ(negative theology)อันหนึ่งเช่นเดียวกัน ในรูปความคิดเกี่ยวกับศิลปะ"บริสุทธิ์"("pure" art), ซึ่งไม่เพียงปฏิเสธบทบาทหน้าที่ในทางสังคมของศิลปะเท่านั้น แต่มันยังรวมไปถึงการปฏิเสธการจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ใดๆโดยสาระและเรื่องราวด้วย

การวิเคราะห์เกี่ยวกับศิลปะในยุคของการผลิตซ้ำเชิงกล จะต้องมีความยุติธรรมต่อความสัมพันธ์ต่างๆเหล่านี้ เพื่อว่าจะได้นำเราไปสู่ความเข้าใจที่สำคัญทั้งหมดอย่างแท้จริง : สำหรับอันดับแรกสุดในประวัติศาสตร์โลก, การผลิตซ้ำเชิงกลได้ปลดเปลื้องผลงานศิลปะจากการพึ่งพาคล้ายกาฝากของพิธีกรรมให้เป็นอิสระ. ในระดับที่ใหญ่กว่าที่เคยเป็นมาอันหนึ่ง ผลงานศิลปะที่มีการผลิตซ้ำกลายเป็นผลงานศิลปะที่ถูกออกแบบเพื่อสามารถผลิตซ้ำหรือจำลองได้. จากฟิล์มเนกาทีฟเป็นตัวอย่าง เราสามารถที่จะพิมพ์ภาพออกมาได้จำนวนนับไม่ถ้วน ; การที่จะถามถึงภาพถ่ายที่ได้รับการพิมพ์ออกมาว่าเป็น"ของแท้"(authentic)หรือไม่ ถือว่าเป็นเรื่องที่ไร้สาระ

ในทันทีทันใด บรรทัดฐานเกี่ยวกับ"ความเป็นของแท้"ก็สิ้นสุดความเหมาะสมลงในการผลิตงานศิลปะ, หน้าที่ทั้งหมดของศิลปะได้ถูกพลิกผัน. แทนที่จะได้รับการวางอยู่บนพื้นฐานทางพิธีกรรม, มันเริ่มถูกนำไปวางอยู่บนพื้นฐานการปฏิบัติการอีกอันหนึ่ง - นั่นคือ เรื่องของการเมือง

5.
ผลงานศิลปะได้รับการยอมรับและให้คุณค่าบนระนาบที่แตกต่างกัน ซึ่งมีอยู่สองขั้วที่เด่นขึ้นมา;

โดยขั้วแรก, การเน้นหนักอยู่บนคุณค่าลัทธิความเชื่อ(cult value)
ส่วนอีกขั้ว เน้นคุณค่าการแสดงออก(exhibition value)ของผลงาน.

การผลิตงานทางศิลปะเริ่มต้นขึ้นด้วยการเป็นวัตถุของพิธีกรรมซึ่งกำหนดให้มันทำหน้าที่รับใช้ลัทธิความเชื่อต่างๆ. เราอาจสันนิษฐานว่า นั่นคือสาระสำคัญของการมีอยู่ของมัน, แต่แรกสุดนั้น มันไม่ได้มีอยู่เพื่อการมอง.

กวางเอลค์(elk)ได้รับการวาดขึ้นมาโดยมนุษย์ยุคหินบนผนังถ้ำของพวกเขา ภาพดังกล่าวเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์เกี่ยวกับพิธีกรรมทางไสยเวทย์. เขาได้ทำให้กวางเอลค์เผยตัวออกมาต่อหน้าเพื่อนๆของเขา, แต่ในหลักสำคัญมันถูกหมายถึงเรื่องของจิตวิญญานต่างๆ และเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม.

ทุกวันนี้ คุณค่าในลัทธิความเชื่อดูเหมือนว่ายังจะเรียกร้องให้ผลงานศิลปะคงไว้ซึ่งความซ่อนเร้นและเกี่ยวพันกับจิตวิญญนอยู่. รูปสลักเกี่ยวกับพระผู้เป็นเจ้าบางชิ้นเป็นสิ่งที่หาได้ไม่ยากนักเพียงไปหาดูได้ตามห้องใต้ถุนของโบสถ์หรือวิหารเท่านั้น รูปพระแม่ Madonna ต่างๆยังคงถูกคลุมเอาไว้เกือบตลอดทั้งปี ประติมากรรมบางชิ้นในโบสถ์คริสต์สมัยกลางเป็นสิ่งที่ไม่อาจพบเห็นกันแล้วต่อสายตาของผู้ดูในระดับพื้นดิน.

ด้วยการปลดปล่อยให้เป็นอิสระของปฏิบัติการต่างๆทางศิลปะอันหลากหลายจากพิธีกรรม มันได้นำไปสู่โอกาสที่เพิ่มขึ้นสำหรับการแสดงออกหรือการเผยตัวเกี่ยวกับผลผลิตต่างๆ. มันง่ายมากที่จะแสดงรูปคนครึ่งตัว(portrait bust - หมายถึงภาพคนตั้งแต่หน้าอกขึ้นไป) ซึ่งสามารถถูกส่งไปยังที่นั่นที่นี่ได้ ยิ่งกว่าที่จะแสดงรูปปั้นของพระผู้เป็นเจ้า ณ สถานที่ที่กำหนดภายในตัวอาคารของศาสนสถานหรือวัด. อย่างเดียวกันนี้ งานจิตรกรรมก็ได้เข้ายึดครองโอกาสดังกล่าว ซึ่งตรงข้ามกับภาพโมเสคหรือภาพเฟรสโกที่มีมาก่อนหน้านั้นซึ่งทำขึ้นมาเพื่อรับใช้ศาสนา.

สำหรับทุกวันนี้, โดยการเน้นอย่างเบ็ดเสร็จลงในคุณค่าการแสดงออก(exhibition value) ผลงานศิลปะได้กลายเป็นการสร้างสรรค์อย่างหนึ่ง โดยทำหน้าที่และแสดงถึงบทบาทอันใหม่ที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ท่ามกลางสิ่งที่พวกเราสำนึกเกี่ยวกับมัน นั่นคือ หน้าที่ในเชิงศิลปะ. ทุกวันนี้ภาพถ่ายและภาพยนตร์เป็นตัวอย่างที่พรักพร้อมที่จะมารับใช้หรือให้บริการมากที่สุดเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่อย่างใหม่อันนี้

6.
ในภาพถ่าย คุณค่าการแสดงออก(exhibition value)เริ่มต้นเข้ามาแทนที่คุณค่าลัทธิความเชื่อ(cult value)ตลอดทั้งสาย. แต่คุณค่าลัทธิความเชื่อก็ไม่ได้ให้ที่ทางของมันอันนั้นอย่างง่ายๆโดยปราศจากการต่อต้าน. มันได้ถอนตัวเข้าไปสู่การลดทอนจนถึงที่สุดอัหนึ่ง เป็นการขุดสนามเพลาะเพื่อป้องกันตัวเอง นั่นคือ มันยังคงหลงเหลือที่ทางในการทำหน้าที่ให้กำลังใจกับมนุษย์นั่นเอง

ไม่ใช่ความบังเอิญที่ว่า ภาพถ่ายรูปคน(portrait)เป็นจุดโฟกัสหรือความสนใจของภาพถ่ายในยุคแรกๆ. ลัทธิความเชื่อเกี่ยวกับความทรงจำของคนอันเป็นที่รัก, ผู้ที่จากไปหรือตายไป, เป็นตัวอย่างของวิธีการนำเสนอการปฏิเสธอย่างสุดท้ายสำหรับคุณค่าลัทธิความเชื่อ(cult value)ของภาพ. รัศมี(aura)ได้ไหลออกจากภาพถ่ายในช่วงต้นๆ ในการแสดงออกชั่วประเดี๋ยวเดียวเกี่ยวกับใบหน้าของมนุษย์ อันนี้คือสิ่งซึ่งมาสร้างความหดหู่ใจ ซึ่งถือว่าเป็นความงามอันหาที่เปรียบมิได้. แต่ขณะที่ผู้คนถอนตัวออกมาจากภาพถ่ายเช่นนั้น, คุณค่าการแสดงออก(exhibition value) ได้แสดงให้เห็นความเหนือกว่าของมันที่มีต่อคุณค่าทางพิธีกรรม(ritual value)ขึ้นมาเป็นครั้งแรก.

เพื่อที่จะปักหมุด หรือเจาะจงลงไปถึงก้าวย่างใหม่อันนี้ที่ได้มาสถาปนานัยสำคัญดังกล่าว จำเป็นต้องพูดถึง Atget, ผู้ซึ่งราวๆปี 1900, เขาได้ถ่ายภาพเกี่ยวกับถนนสายต่างๆของปารีสซึ่งไร้ผู้คนเอาไว้. ภาพที่เขาถ่ายได้รับการกล่าวถึงอย่างเป็นธรรมว่า เขาถ่ายภาพสิ่งเหล่านั้นคล้ายฉากของอาชญากรรม. ฉากของอาชญากรรมฉากหนึ่ง, ที่ร้างซึ่งผู้คน. นั่นคือ มันได้รับการถ่ายภาพเพื่อวัตถุประสงค์เกี่ยวกับพยานหลักฐานเพื่อการพิสูจน์ในทางรูปคดี.

โดย Atget, ภาพถ่ายได้กลายเป็นพยานหลักฐานมาตรฐานสำหรับเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในอดีต(historical occurrences), และได้เข้ายึดครองนัยสำคัญทางการเมืองที่ซ่อนเร้นอันหนึ่ง. พวกเขาเรียกร้องต้องการวิธีการเข้าใกล้ที่มีลักษณะเฉพาะพิเศษ การพิจารณาใคร่ครวญที่เป็นอิสระ ไม่ยึดติด. พวกมันกระตุ้นปลุกเร้าผู้ดู ซึ่งบรรดาผู้ดูทั้งหลายรู้สึกถูกท้าทายโดยภาพเหล่านั้นในหนทางใหม่ๆ.

ในช่วงเวลาเดียวกันนิตยสารภาพเริ่มปักป้ายต่างๆ จะถูกหรือจะผิดไม่สำคัญ สำหรับครั้งแรก คำอธิบายต่างๆใต้ภาพกลายเป็นภาระผูกพันขึ้นมา. และเป็นที่ชัดเจนว่า มันมีคุณลักษณะเฉพาะรวมๆที่แตกต่างไปจากชื่อของผลงานจิตรกรรมชิ้นหนึ่ง. การชี้นำหรือทิศทางซึ่งคำอธิบายภาพต่างๆได้ให้กับคนที่ดูภาพในนิตยสารที่มีภาพประกอบ ในไม่ช้า ได้กลายเป็นอะไรที่ชัดเจน และค่อนข้างจะเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจเลี่ยงได้ โดยเฉพาะในภาพยนตร์เงียบในช่วงต้นๆ ต้องมีการอธิบายภาพ และความหมายของภาพโดดๆแต่ละภาพ ปรากฎว่าได้รับการกำหนดโดยความต่อเนื่องของภาพก่อนหน้านั้นทั้งหมด.

7.
การโต้เถียงกันในคริสตศตวรรษที่สิบเก้าเกี่ยวกับคุณค่าทางศิลปะของงานจิตรกรรมกับภาพถ่าย ในทุกวันนี้ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยตรงประเด็นนักและออกจะสับสน เช่น ภาพถ่ายเป็นศิลปะหรือไม่ ภาพถ่ายมีคุณค่าทางศิลปะหรือไม่ ? ประเด็นที่สำคัญจริงๆก็คือ ยุคของการผลิตซ้ำเชิงกลของภาพถ่ายได้แยกศิลปะออกจากรากฐานของมันในเรื่องของลัทธิความเชื่อ(cult) ผลของการเปลี่ยนแปลงในบทบาทหน้าที่ของศิลปะเช่นนี้ อยู่นอกเหนือทัศนียภาพหรือมุมมองของของผู้คนในศตวรรษนั้น ซึ่งเป็นเช่นนี้อยู่นาน แม้ในศตวรรษที่ยี่สิบมันก็ยังหลบเลี่ยงหรือหลุดรอดไปจากสายตาของผู้คน

ในช่วงแรกๆ ความคิดที่ไร้ประโยชน์และต้องสูญเสียเวลาไปมากได้ถูกอุทิศให้กับคำถามที่ว่า ภาพถ่ายใช่ศิลปะประเภทหนึ่งหรือไม่ ? และต่อมา บรรดานักทฤษฎีทางภาพยนตร์ก็ตั้งคำถามที่ค่อนข้างจะป่วยการหรือไม่ได้มีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเกี่ยวกับภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน หากจะกล่าวในที่นี้ ความยุ่งยากต่างๆซึ่งภาพถ่ายทำให้เกิดขึ้นกับสนุทรียศาสตร์แบบจารีต เป็นเพียงของเล่นของบรรดาพวกเด็กๆ เมื่อเปรียบเทียบกับสิ่งเหล่านั้นที่ถูกยกขึ้นมาโดยภาพยนตร์.

ด้วยการขาดความอ่อนไหวและคุณลักษณะที่มีพลังของทฤษฎีต่างๆของภาพยนตร์ในช่วงแรกๆ. Abel Gance, เป็นตัวอย่าง, ได้เปรียบเทียบภาพยนตร์กับอักษรอียิปต์โบราณ(hieroglyphs)ดังนี้ :

"ในที่นี้, ถือว่าเป็นการถดถอยที่น่าสังเกต, เราได้ย้อนกลับไปสู่ระดับของการแสดงออกของชนชาวอียิปต์... นั่นคือภาษารูปภาพ(pictorial language) อันนี้ได้สะท้อนว่ามันยังไม่สุกงอมหรือสมบูรณ์เพียงพอ เพราะว่าตาของพวกเรายังไม่ได้ปรับไปสู่เรื่องราวเหล่านั้น. จนกระทั่งบัดนี้ มันยังไม่เป็นที่ใส่ใจมากพอ, ไม่เป็นลัทธิความเชื่อพอเกี่ยวกับสิ่งที่มันแสดงออก".

หรือในคำพูดของ S~verin-Mars ที่ว่า: "นั่นคือสิ่งที่ศิลปะยินยอมให้กับความฝันที่ค่อนข้างเป็นกวี และค่อนข้างจริงในเวลาเดียวกัน! การเข้าไปใกล้กับรูปแบบหรือวิธีการอันนี้ ภาพยนตร์ อาจเป็นตัวแทนวิธีการที่ไม่เหมาะที่จะนำมาเปรียบเทียบกับการแสดงออก. เพียงบุคคลที่มีสติปัญญาสูงมากเท่านั้น และในช่วงขณะที่สมบูรณ์ที่สุดและลี้ลับที่สุดเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของพวกเขา, จึงควรจะได้รับการยินยอมให้เข้าไปสู่สภาพแวดล้อมของมัน".

ส่วน Alexandre Arnoux สรุปจินตนาการอันเพ้อฝันของเขาเกี่ยวกับภาพยนตร์เงียบด้วยคำถามที่ว่า: "โดยไม่มีคำอธิบายอย่างหยาบๆใดๆเลย เรากำลังสรุปความถึงนิยามความหมายของคำสวดมนต์ใช่ไหม ?"

มันเป็นการนำเสนอเพื่อจะบ่งชี้ความปรารถนาของพวกเขาที่จัดชั้นภาพยนตร์ลงในท่ามกลางศิลปะ ซึ่งได้ไปบีบบังคับให้บรรดานักทฤษฎีทั้งหลายอ่านปัจจัยหรือองค์ประกอบของพิธีกรรมเหล่านี้ ในลักษณะที่ขาดเสียซึ่งสิ่งที่น่าประทับใจอันหนึ่งเกี่ยวกับความสุขุมรอบคอบ. กระนั้นก็ตาม เมื่อการคาดการณ์เหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์ขึ้นมา, ภาพยนตร์ต่างๆ เหมือนอย่าง L'Opinion publique และ The Gold Rush ก็ปรากฎออกมาแล้ว.

แต่อย่างไรก็ตาม อันนี้ไม่ได้เก็บกักให้ Abel Gance พ้นไปจากการอ้างอิงถึงอักษรอียิปต์โบราณ สำหรับวัตถุประสงค์ต่างๆของการเปรียบเทียบ, และ S~verin-Mars พ้นจากการพูดถึงภาพยนตร์ดังที่ใครสักคนอาจกล่าวถึงงานจิตรกรรมต่างๆที่เขียนขึ้นมาโดย Fra Angelico. ในเชิงคุณลักษณะเฉพาะ แม้กระทั่งทุกวันนี้ บรรดานักประพันธ์ปฏิกริยาแบบสุดๆได้ให้ภาพยนตร์มีนัยสำคัญในเชิงบริบทที่คล้ายคลึงกัน - นั่นคือ ถ้าไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์โต้งๆอันหนึ่ง, อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่เหนือธรรมชาติ.

การแสดงข้อคิดเห็นหรือการวิจารณ์ภาพยนตร์ของ Max Reinhardt ในเรื่อง A Midsummer Night's Dream, Werfel กล่าวว่า "อย่างไม่ต้องสงสัย มันเป็นการจำลองภาพที่ปราศจากเชื้อโรคเกี่ยวกับโลกภายนอกด้วยภาพของถนนหนทางสายต่างๆ, การตกแต่งภายในของอาคารสิ่งก่อสร้าง, สถานีรถไฟ, ภัตตาคาร, รถยนต์, และหาดทรายชายทะเล ซึ่งจนกระทั่งปัจจุบันนี้มันยังเป็นอุปสรรคขัดขวางการยกระดับภาพยนตร์ขึ้นไปสู่อาณาจักรของศิลปะ. ภาพยนตร์ยังไม่สำนึกหรือเข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงของตัวเอง ความเป็นไปได้ที่แท้จริงของตัวมัน... สิ่งเหล่านี้ประกอบอยู่ในความสามารถเฉพาะทางที่จะแสดงออกมาโดยวิธีการที่เป็นธรรมชาติ และด้วยการโน้มน้าวชั้นเลิศทั้งหมดที่เป็นดุจทวยเทพ, น่าพิศวง, เหนือธรรมชาติ"

 

คลิกไปอ่านหน้าต่อไป

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

THE WORK OF ART
IN THE AGE OF MECHANICAL REPRODUCTION

"ปัจจุบัน ผลงานศิลปะทางด้านวิจิตรศิลป์ต่างๆของเราได้รับการพัฒนาขึ้นมามาก, แบบฉบับของงานศิลปและกรรมวิธีต่างๆที่ทำกันขึ้น หากจะพูดไปแล้วในปัจจุบันมันค่อนข้างที่จะแตกต่างไปจากอดีตอย่างเห็นได้ชัด โดยที่พลังอำนาจของมนุษย์เกี่ยวกับการกระทำต่างๆในงานศิลปะของอดีตที่ผ่านมา ไม่ใคร่มีความสลักสำคัญเท่าใดนักเมื่อเปรียบเทียบกับของพวกเราในทุกวันนี้

แต่ ความเจริญงอกงามอย่างเหลือเชื่อเกี่ยวกับเทคนิคต่างๆของพวกเรา ความสามารถในการปรับตัวและความเที่ยงตรงแม่นยำที่พวกเราได้รับ ไอเดียและอุปนิสัยต่างๆที่พวกเราสร้างสรรค์ขึ้น ได้สร้างความแน่นอนอันหนึ่งขึ้นมา และได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้ง ซึ่งว่าไปแล้วมันกำลังคืบคลานและคุกคามเข้าไปในงานฝีมือโบราณในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความงาม

ในงานศิลปกรรมทั้งหมด ส่วนที่ปรากฏกับสายตาคือองค์ประกอบทางกายภาพอันหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถที่จะพิจารณาหรือกระทำกับมันอย่างที่เคยเป็นมาในอดีต และไม่อาจที่จะไม่ถูกกระทบกระเทือนโดยความรู้และพลังอำนาจเกี่ยวกับความเป็นสมัยใหม่ของพวกเราได้อีกแล้ว สำหรับ 20 ปีหลังมานี้ ไม่มีที่ว่างและไม่มีเวลาสำหรับสิ่งที่เก่าแก่คร่ำครึอีกต่อไป พวกเราจะต้องวาดหวังและนึกถึงนวัตกรรมอันยิ่งใหญ่ เพื่อแปรเปลี่ยนเทคนิคทั้งหมดของศิลปกรรมต่างๆ ดังนั้น จึงส่งผลกระทบต่อการประดิษฐ์คิดค้นทางศิลปะในตัวมันเอง และบางที กระทั่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างน่าประหลาดในความนึกคิดอย่างมากของเราเกี่ยวกับศิลปะด้วย"
Paul Va1ery, PIECES SUR L'ART,
Le Conquete de l'ubiquite

(บทความนี้ยาวประมาณ 20 หน้ากระดาษ A4)