ปาฐกถานำในหัวข้อ"ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท" เนื่องในการเปิดที่ทำการใหม่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน 2545 : 14.00 น.
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 196 เรื่อง"มหาวิทยาลัยตายแล้ว : ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท" โดย ศ.เสน่ห์ จามริก ให้เกียรติมาเป็นผู้นำองค์ปาฐก ในโอกาสเปิดที่ทำการใหม่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
release date
160745
ภาพประกอบดัดแปลงประกอบบทความ 1. ภาพชาวบ้านที่ลำพูน ในงานทอดผ้าป่าเพื่อช่วยเหลือผู้ถูกจับกรณีปัญหาที่ดินลำพูน 2. ภาพจากหนังสือ National Geographic ฉบับเดือนกันยายน 2001 หน้า 26 นับจากปก (ภาพเหล่านี้นำมาเผยแพร่กับบทความที่ไม่ได้มุ่งผลกำไร)

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า เรื่องของการ
ศึกษาไม่ว่าจะเป็นระดับใดก็ตาม โดยเฉพาะ
อย่างยิ่งอุดมศึกษานั้น เป็นส่วนหนึ่งของสังคม
จะเรียกว่า"อนุระบบ"ของสังคมใหญ่ก็ได้ ซึ่งต้องเข้า
ใจตรงนี้ก่อน เพราะฉะนั้น การพยายามที่จะปฏิรูปหรือแสวงหาทางเลือก ต้องเข้าใจว่าเราจะต้องสร้างสิ่งที่เป็นบริบทใหญ่ คือบริบทของสังคมใหญ่เพื่อที่ว่า เราจะได้มองแนวทางการศึกษาทางเลือกที่สามารถตอบสนองบริบทเช่นว่านั้น เพราะฉะนั้น ตรงนี้จะเห็นว่าเราต้องเข้าใจเสียก่อนถึง การศึกษาอุดมศึกษานั้น ไม่ได้ยืนอยู่โดดเดี่ยวในตัวของมันเอง แต่มันมีปัจจัยแวดล้อมที่จะต้องมีความเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน

H
home
R
relate
บทความของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

เพราะฉะนั้น การตั้งหัวข้อที่จะนำมาพูดในโอกาสนี้ คิดว่าเป็นเรื่องที่มีนัยสำคัญ ไม่เฉพาะเรื่องอุดมศึกษาที่เราพูดกันในความหมายที่เป็นเรื่อง"มหาวิทยาลัย" ผมพยายามหลีกเลี่ยงคำว่า"อุดมศึกษา"ในที่นี้ คงไม่จำเป็นจะต้องไปโยงกับเรื่องของคำว่า"มหาวิทยาลัย"ที่เรารู้จักกัน คืออยากจะเริ่มจากเรื่อง"ความเป็นไท"โดยเริ่มจากคำว่าอุดมศึกษาที่ผูกโยงอยู่กับ"โลกชีวิต" โดยยังไม่ต้องไปนึกถึงว่ารูปร่างหน้าตาหรือสถาบันของมันจะเป็นอย่างไร?

โดยเฉพาะลักษณะความเป็นไปของสถาบันอุดมศึกษาทุกวันนี้ อยากจะให้พวกเราลืมกันไปชั่วขณะ มิฉะนั้นแล้ว เวลาเราพูดถึง"อุดมศึกษาทางเลือก" เรามักจะไปผูกโยงกับการจะทำอย่างไรจึงจะไปแก้หลักสูตร ทำอย่างไรจึงจะไปแก้กระบวนการเรียนการสอน จะจัดการมันอย่างไร? ซึ่งกรอบที่มันเป็นอยู่ มันเป็นไปไม่ได้

ผมได้เคยพูดมาร่วม 20 ปีแล้วว่า "มหาวิทยาลัยได้ตายไปแล้ว" ตัวตึกตัวอาคารยังอยู่ และยิ่งนานวันจะขยายตัวใหญ่โตขึ้น แต่ว่ามันตายไปในเชิงของปัญญาความคิด ในเชิงของจิตวิญญานความเป็นอุดมศึกษาตามนัยะที่จะพูดถึงต่อไป

กลับมาถึงเรื่องที่ผมได้รับมอบให้พูดต่อจากคุณหมอประเวศ เมื่อเช้านี้ โดยอยากจะเริ่มต้นอย่างนี้ครับว่า เรื่องของจิตวิญญานของความเป็นอุดมศึกษา ด้วยการเริ่มตั้งคำถามว่า จิตวิญญานของความเป็นอุดมศึกษาคือ การที่จะรู้จักการตั้งคำถาม เพราะฉะนั้น การแสวงหาทางเลือกอุดมศึกษาที่เป็นไท ผมจึงจะเริ่มต้นด้วยคำถาม 3 อย่างไร ?

อย่างไรที่ 1 ก็คือว่า เราเข้าใจอุดมศึกษาอย่างไร ? ซึ่งผมจะใช้เวลาในเรื่องนี้เพื่อพูดถึงมันให้ชัดเจน มิฉะนั้นแล้ว เราก็จะตะเกียกตะกายหาทางเลือกโดยที่ไม่มีจุดของความเข้าใจที่ร่วมกันตามสมควร ผมเองไม่ใช่นักการศึกษา แต่จะพยายามเมื่อได้รับมอบให้มาพูดในวันนี้ จึงพยายามที่จะคิด และคิดว่า"อย่างไรที่ 1"ควรจะหาความชัดเจนอย่างไรบ้าง

อย่างไรที่ 2 ก็คือว่า สภาวะอุดมศึกษาไทย เป็นอย่างไรในสภาวปัจจุบัน? เราก็รู้ว่ามันเสื่อมโทรมแค่ไหน แต่ผมคิดว่า ความทรุดโทรมมันมีความหมายมากกว่าที่เราเข้าใจกัน ซึ่งจะพยายามหยิบยกประเด็นเพื่อชี้ให้เห็นถึงสมุฎฐานของความทรุดโทรมอันนี้ เพื่อที่ว่าเราจะได้มองทางเลือกที่เป็นโจทย์ซึ่งช่วยให้ความพยายามนั้นมีความชัดเจนขึ้น

อย่างไรที่ 3 ก็คือว่า อุดมศึกษาทางเลือก จะเป็นประเด็นที่เป็นวัตถุประสงค์ที่เราพูดกันในที่นี้ก็คือว่า "อุดมศึกษาทางเลือกที่เป็นไท" ควรเป็นอย่างไร ?

สิ่งที่ผมเสนอนี้ ไม่คิดว่าจะเป็นการนำเสนออย่างรอบด้าน เป็นแต่เพียงการกระตุ้น ตั้งเป็นโจทย์ขึ้นเพื่อให้เราได้ช่วยกันคิดหาความชัดเจน แล้วแสวงหาทางเลือกเพื่อให้มันมีความรอบด้านและลึกซึ้งขึ้นไปอีก

สำหรับ"อย่างไรที่ 1" เราเข้าใจอุดมศึกษาอย่างไร ?
ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจว่า เรื่องของการศึกษาไม่ว่าจะเป็นระดับใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุดมศึกษานั้น เป็นส่วนหนึ่งของสังคม จะเรียกว่า"อนุระบบ"ของสังคมใหญ่ก็ได้ ซึ่งต้องเข้าใจตรงนี้ก่อน เพราะฉะนั้น การพยายามที่จะปฏิรูปหรือแสวงหาทางเลือก ต้องเข้าใจว่าเราจะต้องสร้างสิ่งที่เป็นบริบทใหญ่ คือบริบทของสังคมใหญ่เพื่อที่ว่า บริบทอันนี้ผมใช้คำว่า"โลกชีวิต" ทั้งนี้เราจะได้มองแนวทางการศึกษาทางเลือกที่สามารถตอบสนองบริบทเช่นว่านั้น เพราะฉะนั้น ตรงนี้จะเห็นว่าเราต้องเข้าใจเสียก่อนถึง การศึกษาอุดมศึกษานั้น ไม่ได้ยืนอยู่โดดเดี่ยวในตัวของมันเอง แต่มันมีปัจจัยแวดล้อมที่จะต้องมีความเกี่ยวโยงซึ่งกันและกัน

ถ้าเราพูดถึงการปฏิรูปการศึกษาโดยขาดการตระหนักอันนี้ อย่างเช่นทุกวันนี้ที่พูดถึงการปฏิรูปการศึกษา ก็ปฏิรูปกันไป ปฏิรูปกลไก โดยไม่รู้ว่าเพื่อตอบสนองอะไร เพราะไม่ได้มองบริบทใหญ่อันนี้ ความจริงแล้วการปฏิรูประบบการศึกษาในขณะนี้ ทั้งในระดับก่อนอุดมศึกษา และระดับอุดมศึกษา มันเป็นระบบที่อิงอยู่กับระบบใหญ่คือระบบของทุนนิยม เพราะฉะนั้น ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงหรือแสวงหาทางเลือกตรงนี้ โดยไม่คำนึงถึงที่จะปรับเปลี่ยนระบบทุนนิยมซึ่งเป็นระบบใหญ่ มันก็ไร้ความหมาย นอกจากว่าปฏิรูปกันไปตามกลไกส่วนนั้นส่วนนี้ ก็เป็นเรื่องของการบริหารจัดการซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์อยู่ในทัศนวิสัยที่จะทำอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว คำถามแรกที่จะต้องถามตัวเองก็คือว่า ถ้าเราดูว่าอุดมศึกษาเป็นส่วนหนึ่งหรืออนุระบบของสังคมใหญ่ เราก็ต้องถามต่อไปว่า อุดมศึกษาอยู่ตรงไหน ? และเมื่ออยู่ตรงไหนโดยที่เราดูตัวระบบใหญ่มันเป็นอย่างนี้ การแสวงหาทางเลือก มันก็ต้องดูที่เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับตัวระบบใหญ่ ถ้าตัวระบบใหญ่เป็นระบบที่จำกัดให้การศึกษาเป็นอย่างนี้ มันก็ไม่มีทางที่จะปฏิรูปอะไรได้ เว้นเสียแต่ว่า เราจะต้องพยายามสร้างและพัฒนาตัวระบบใหญ่ หรือตัวระบบที่ผมเรียกว่า"โลกชีวิต"ขึ้นมาใหม่ อันนี้ไม่ใช่เรื่องสมมุติธรรม แต่ว่ามันมีข้อที่เป็นรูปธรรม ซึ่งผมจะพูดต่อไป

เพราะฉะนั้น การที่มันอิงซึ่งกันและกันตรงนี้ จะเห็นได้ว่าทางเลือกที่พูดถึงตรงนี้ มันจะไม่สามารถเป็นไปได้ภายใต้เงื่อนไขของระบบสังคมที่เป็นระบบใหญ่ซึ่งเป็นอยู่ขณะนี้ และทางเลือกจึงต้องประกอบไปด้วยเงื่อนไขที่จะต้องสร้างโลกชีวิตขึ้นมาใหม่ บนพื้นฐานอีกพื้นฐานหนึ่ง ซึ่งอยากจะให้ตระหนักเป็นเบื้องแรก ด้วยเหตุนี้ ภารกิจในการแสวงหาทางเลือกอุดมศึกษาที่เป็นไท จึงต้องหาตัวบริบทหรือตัวระบบ หรือตัวโลกชีวิตที่มันเป็นตัวที่จะทำให้ การศึกษาทางเลือกหรืออุดมศึกษาทางเลือก เป็นตัวที่ตอบสนองตัวระบบตรงนั้น

โดยเหตุนี้ เวลาที่เราพูดถึง"อุดมศึกษา" ณ ที่นี้ จึงต้องโยงไปถึงตัวทางเลือกอื่นๆด้วย ซึ่งเมื่อสักครู่ผมได้พูดว่า การศึกษาเปรียบเสมือนเป็นชุมทาง เป็นบทสรุปของทางเลือกอื่นๆ เพราะฉะนั้น ทางเลือกอุดมศึกษาที่เป็นไทก็จะต้อง ดูทางเลือกอื่นๆที่เป็นไทด้วยเช่นเดียวกัน แล้วทั้งหมดนี้ก็จะประกอบกันขึ้นมาเป็นตัวระบบชีวิตใหม่อย่างไร นั่นก็เป็นประเด็นสำคัญ

ข้างต้นเป็นประเด็นที่หนึ่งที่อยากจะย้ำว่า เราแสวงหาทางเลือกไม่ใช่เป็นการแสวงหาที่มองอุดมศึกษาอย่างโดดเดี่ยว แต่จะต้องโยงกับทางเลือกทุกๆส่วนที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ตั้งแต่การผลิต การบริโภค การแพทย์ สุขภาพ อนามัย เหล่านี้ทั้งหมด ต้องประมวลรวมเข้ามา

ประเด็นต่อไปก็คือว่า ถ้าเป็นอย่างนั้น "เราจะเข้าใจอุดมศึกษาอย่างไร ?"

ผมคิดว่าความเข้าใจอุดมศึกษานั้น น่าจะประกอบไปด้วย 2 ส่วนใหญ่ๆด้วยกัน ซึ่งจะเป็นเรื่องที่เราทำความชัดเจนกับความหมายของการสร้างอุดมศึกษา มันไม่ใช่เป็นการสร้างการศึกษาหรือเทคนิค หรือทักษะ แต่ว่าเมื่อเราพูดถึงอุดมศึกษาแล้ว เราต้องพูดถึงองค์ประกอบหรือลักษณะที่สำคัญของอุดมศึกษา ซึ่งผมคิดว่าประกอบไปด้วย 2 ส่วน อาจจะมีส่วนอื่นๆอีกแต่ว่า ที่ผมนึกออกแล้วคิดว่าเป็นประเด็นหลักและควรจะพูดกันในที่นี้คือ

ส่วนที่หนึ่ง เราคงหลีกเลี่ยงไม่ได้เวลาที่เราพูดถึงอุดมศึกษา ก็คือประเด็นเรื่องของ "ญานวิทยา" ผมคิดว่าตรงนี้เป็นประเด็นที่ทุกวันนี้ เราพูดถึงเรื่องของ"ภูมิปัญญา"อะไรต่างๆ แต่ถ้าเราจะประมวลสิ่งเหล่านี้ให้เกิดเป็นอุดมศึกษา เราคงต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับ"ญานวิทยา" ซึ่งก็คือ"ความรู้"

คำถามก็คือ "ความรู้อะไร และเพื่ออะไร และเป็นกระบวนการเรียนรู้อย่างไร ที่จะสนองตอบจุดมุ่งหมายที่เรากำลังพูดถึง"

ทีนี้เมื่อเราพูดถึงอุดมศึกษาแล้ว มันก็มีนัยะมากกว่าสิ่งเราพูดถึงบ่อยคือ"ภูมิปัญญาชาวบ้าน" เวลานี้เราพูดกันมากมายเหลือเกิน แต่จริงๆแล้ว ในการที่ชุมชนพื้นถิ่นเผชิญกับปัญหาการคุกคามในยุคโลกาภิวัตน์ คิดว่าภูมิปัญญาชาวบ้าน คงเป็นภูมิปัญญาที่จะต้องมีการปรับและพัฒนาให้ขึ้นสู่ความเป็นอุดมศึกษา เพราะว่าหัวใจสำคัญของความเป็นอุดมศึกษาก็คือ ความเป็นการเรียนรู้ที่สามารถข้ามวัฒนธรรมได้ ไม่ได้จำกัดตัวอยู่ในขอบข่ายอยู่ในโลกชีวิตหรือวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาเป็นระยะเวลาช้านาน

แต่ในขณะเดียวกัน เมื่ออุดมศึกษาเป็นสิ่งที่สามารถข้ามวัฒนธรรมได้ แต่ว่าการศึกษาทุกๆอย่าง ทุกระดับ จะต้องยอมรับว่า จะต้องตอบสนองบริบทของสังคมวัฒนธรรมที่มีอยู่อย่างหลากหลาย เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ประเด็นของ"ญานวิทยา"ตรงนี้ มันก็ยังมีอยู่ 2 ส่วนที่คาบเกี่ยวกัน คือ "ความเป็นสากล" และ"ความรู้ที่ข้ามวัฒนธรรม"ได้ ซึ่งจะเป็นการสร้างพลังให้กับวัฒนธรรมดั้งเดิม หรือที่เราเรียกว่า "วัฒนธรรมหรือการเรียนรู้แบบประเพณี" ในขณะเดียวกันหลักสำคัญอยู่ที่ "ความหลากหลายในทางประวัติศาสตร์และในทางวัฒนธรรม"

โลกชีวิตของคนเรา เป็นโลกชีวิตที่อยู่กับแต่ละบริบท โลกชีวิตเป็นโลกที่มีบริบททางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย แต่ก็สามารถที่จะมีการสื่อความคิด การเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ อย่างไรก็ตาม หลักใหญ่อยู่ที่ตัวความหลากหลาย เพราะฉะนั้น ความหมายของอุดมศึกษาในเชิง"ญานวิทยา"ตรงนี้ จะเห็นได้ว่า เป็นประเด็นปัญหาที่เราจะต้องพยายามที่จะทบทวน และแสวงหา"อัตลักษณ์"ในบริบทของชุมชน ของโลกชีวิต แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็น"อัตลักษณ์"ที่เปิด เพื่อการเรียนรู้ที่ข้ามวัฒนธรรมได้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างพลังของการเรียนรู้และพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้าที่จะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคสมัยใหม่

รวมความก็คือว่า สิ่งที่ผมเรียกว่า"โลกชีวิต"อันนี้ จะต้องเป็น"โลกชีวิตที่เป็นพื้นฐานของการสร้างอนุระบบทั้งหลาย เพื่อให้อนุระบบทั้งหลายรวมทั้งการศึกษาและอุดมศึกษา สามารถตอบสนองความต้องการและปัญหาของโลกชีวิตในบริบทที่หลากหลาย แต่ในขณะเดียวกัน เราต้องขยับไปอีกขั้นหนึ่งคือ จะต้องเป็นโลกชีวิตที่เปิด เพื่อแสวงหาการเรียนรู้ในระดับที่ข้ามวัฒนธรรมได้" อันนี้ก็เป็นประเด็นองค์ประกอบอันแรกที่อยากจะพูดถึง ในแง่ของความเป็นอุดมศึกษา

โดยสรุปก็คือว่า เราต้องเอาโลกชีวิตของเราเป็นตัวตั้ง ระบบการศึกษาและอุดมศึกษาในขณะนี้ประสบความล้มเหลวก็เพราะว่า มันเป็นระบบที่เอาโลกชีวิตต่างแดนมาเป็นตัวตั้ง เพราะฉะนั้น เราต้องแสวงหาอัตลักษณ์หรือความหมายเฉพาะของโลกชีวิตที่เรามี สืบทอดมทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่มีลักษณะเฉพาะ แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดที่จะเรียนรู้จากโลกภายนอกได้

คำว่า"โลกชีวิต"ตรงนี้ มีนัยะสำคัญซึ่งน่าจะเป็นหัวใจสำคัญที่ยึดโยงกับการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาหรือเรื่องอื่นใดก็ตาม รวมความก็คือ"โลกชีวิต"จะต้องเป็นพื้นฐานของการสร้างความคิด และหลักคิดในทางวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นในทางปรัชญาหรือวิทยาศาสตร์ธรรมชาติก็ตาม แต่ว่าเราสามารถเรียนรู้แลกเปลี่ยนข้ามวัฒนธรรมกันได้ อันนี้เป็นส่วนที่หนึ่ง

ส่วนที่สอง นอกจากประเด็นของ"ญานวิทยา"หรือการตั้งคำถามเกี่ยวกับความรู้ ว่ามันโยงกับโลกชีวิต โลกชีวิตต้องมาสัมพันธ์กับบริบท ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมอื่นๆ ขึ้นสู่ความเป็นสากล ความเป็นอุดมศึกษาอย่างไร นั่นเป็นประเด็นแรก แต่อีกประเด็นหนึ่งก็คือ อุดมศึกษาต้องมองในแง่เป็น"สถาบันทางสังคม"ด้วยในขณะเดียวกัน ผมคิดว่า การเป็นสถาบันจะทำให้การเรียนรู้นั้นเป็นการเรียนรู้ที่สามารถกระจายไปอย่างทั่วถึง ไม่ใช่เป็นการเรียนรู้ที่เก็บเอาไว้ที่ตระกูล ที่ชุมชนในวงแคบ

ผมคิดว่าจุดด้อยหรือจุดอ่อนของระบบการเรียนรู้ในประเพณี ซึ่งผมเคยจับเรื่องการศึกษาของไทยมาบ้าง พบว่าระบบการเรียนรู้ในสมัยก่อน ซึ่งกรมพระยาวชิรญานวโรรสในการปฏิรูปการศึกาาครั้งนั้น เคยทักรัชกาลที่ 5 บอกว่า การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงการศึกษาสมัยใหม่ อย่าลืมการศึกษาของตระกูล ซึ่งทำในครอบครัวและสืบทอดกันมา เพราะว่านั่นก็เป็นการศึกษาเหมือนกัน แต่จุดด้อยก็คือว่า มันเป็นการศึกษาที่ไม่สามารถทำให้เกิดการกระจายให้กลายเป็นสถาบันสังคมได้ ดังนั้น ตรงนี้ก็เป็นปมที่ต้องแก้ไขในเชิงของวัฒนธรรมการเรียนรู้ เพราะฉะนั้น รวมความก็คือว่า เอาสิ่งที่เรียนรู้ซึ่งเคยเก็บเอาไว้ตามตระกูลหรือตามชุมชนต่างๆ ให้เกิดการเรียนรู้ที่เรียกว่าอุดมศึกษา

ในความเข้าใจของผม "การศึกษาในระดับอุดมศึกษา" หมายความถึงระดับของการเรียนรู้ พัฒนาขีดความสามารถในเชิงของการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ ซึ่งจะต้องปรับไปตามความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆของโลกชีวิต เพราะเราก็รู้ว่า คำว่าโลกชีวิต มันไม่ได้หมายถึงโลกชีวิตที่อยู่กับที่ การศึกษาสมัยก่อนเป็นจุดอ่อนก็เพราะว่า เป็นการศึกษาที่มุ่งต่อโลกชีวิตที่ค่อนข้างอยู่คงที่ เพราะฉะนั้นตรงนี้ เราต้องปรับให้เป็นอุดมศึกษาให้ได้

ภูมิปัญญาที่เราพูดถึงต่างๆในทุกวันนี้ ยังเป็นภูมิปัญญาที่ยังขาดพลวัตในการที่จะพัฒนาขึ้นมาสู่การเป็นสถาบันทางสังคม นั่นก็คือว่า สามารถที่จะทำให้เกิดการคิดค้นอย่างกว้างขวาง เป็นอิสระเสรี เปิดไม่ใช่ปิด เพื่อตอบสนองปัญหาความต้องการทั้งสังคมได้ คือพูดง่ายๆ ต้องทำให้เกิด"เป็นสถาบันทางสังคมเป็นเบื้องแรก"

ประการที่สอง ความเป็นสถาบันทางสังคมนั้น จะต้องพยายามที่จะฟื้นรากฐานทางความคิดจากภายในของสังคม วัฒนธรรม หมายความว่าจะต้องฟื้นอัตลักษณ์ ความจำ สร้างรากฐานขึ้นมา ตรงนี้มีนัยะที่มีความสำคัญ ซึ่งขอยกตัวอย่างในงานวิจัยเรื่องสิทธิชุมชนที่เราทำกันมาปีครึ่ง-สองปีที่ผ่านมา ยกตัวอย่างเช่น

อย่าง"บ้านครัว"ที่กรุงเทพฯ จะเห็นว่าเป็นสถานการณ์ของชุมชนที่ค่อนข้างมีปัญหาเยอะ เพราะว่า ตั้งอยู่ในใจกลางของเมืองหลวง เพราะฉะนั้น เขาไม่ได้มีสภาพแวดล้อมที่สามารถจะมองไปยังทรัพยากร ภูมิปัญญา ในเชิงการผลิต การบริโภค ได้อย่างชุมชนในชนบท กระนั้นก็ตาม เมื่อถึงสถานการณ์ที่เขาต้องต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิของเขา ผมทราบมาว่าคนในชุมชนบ้านครัว ผู้นำทางปัญญาของเขาพยายามศึกษาประวัติศาสตร์ บรรพบุรุษเขาได้โยกย้ายมาอย่างไร เขามีความพยายามตั้งชุมชนของเขาขึ้นมาอย่างไร อะไรต่างๆเหล่านี้ เพราะฉะนั้น ชุมชนบ้านครัวปัจจุบันจะเป็นคนที่แก่กล้าในประวัติศาสตร์อย่างสูงทีเดียว

เพียงแค่นี้เป็นความพยายามที่จะสร้างรากฐาน ฟื้นรากฐานในทางความคิดจากภายในของสังคมและวัฒนธรรมของตนเอง โปรดอย่ากลัวไปว่า ถ้าเราพยายามที่จะแสวงหารากฐานทางความคิดจากภายในสังคมวัฒนธรรมของเราแล้ว จะทำให้เราเป็นคนโบราณล้าสมัย ตรงกันข้าม รากฐานทางความคิด ภูมิปัญญาทางความคิดในขณะนี้เริ่มมีความทันสมัยแล้วในโลกยุคปัจจุบัน

เพราะฉะนั้น แต่ก่อนนี้เรามีปม ซึ่งจะเรียกว่าปมด้อยก็ได้... ผมไปอ่านประวัติศาสตร์การศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการได้เขียนขึ้นมา เขาจะเรียกการศึกษาสมัยก่อนว่า"การศึกษาแผนโบราณ" ผมเคยทักเขาว่า คำๆนี้ไปปรากฏในประวัติศาสตร์เอกสารการศึกษา มันหมายความว่า พอเราพูดถึงการศึกษาสมัยก่อน โบราณ หมายความว่าเราทิ้งรากฐานทางความคิดไปหมด อันนี้ทำให้การเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยของเรา เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ขาดรากในทางภูมิปัญญา ทำให้ตัวเราเองถอนรากถอนโคนจากรากของเราเอง

อันนี้ก็เป็นความเป็นสถาบันประการที่สอง ประการที่หนึ่งคือการคิดค้น พยายามให้ภูมิปัญญานั้นสามารถกระจายให้เป็นการตอบสนองประโยชน์ของสังคมในวงกว้างขึ้น อันที่สองคือ พยายามที่จะฟื้น ทบทวนรากทางประวัติศาสตร์ ทางปัญญาของเรา

ประการที่สาม, ซึ่งสำคัญก็คือว่า ต้องสร้างอัตลักษณ์ในการเรียนรู้ขึ้น ซึ่งวัฒนธรรมการเรียนรู้ในปัจจุบันที่เรามีความก้าวหน้า เรียกว่าเป็นสากล ความจริงจะเห็นว่าการเรียนรู้ของคนในสมัยนี้ เป็นการเรียนรู้ที่ภาษาฝรั่งเขาเรียกว่า outside in หมายความว่า เอาตัวความต้องการของตลาดเป็นตัวกำหนดการเรียนรู้ของเรา คือเอาศักยภาพความต้องการของภายนอกมาครอบการเรียนรู้ของเรา เพราะฉะนั้น เราต้องกระเสือกกระสนเพื่อที่จะทำทุกอย่างตอบสนองความต้องการของตลาด นี่คือพิษสงของตลาด

แต่การเรียนรู้ที่แท้จริงอันเป็นหัวใจของการศึกษานั้น ที่เราเรียกว่าเป็นการศึกษาเพื่อให้มนุษย์พัฒนาตัวเองได้ หรือ human development หรือ self development นั้น จะต้องเป็นการศึกษาที inside out หมายความว่า ศึกษาให้รู้จักอัตลักษณ์ของตนเอง

รู้จักตัวเองในที่นี้ไม่ได้หมายความว่ารู้จักตัวเองในฐานะที่เป็นปัจเจก แต่รู้จักตนเองในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งในสภาพแวดล้อมของสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่เราได้สืบทอดกันมา เมื่อเรารู้จักตนเอง ผมใช้คำรวมๆว่า "อัตลักษณ์" จากนั้นเราจะได้เข้าใจถึงศักยภาพในการเรียนรู้ของเรา ศักยภาพในภูมิปัญญา ศักยภาพในการที่เราจะพัฒนาทักษะอะไรก็ตามที่เราจะเผชิญกับโลกภายนอก

ถ้าเราจะมีการปฏิรูปหรือแสวงหาอุดมศึกษาทางเลือกที่เป็นไท จะต้องเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ให้มี"อัตลักษณ์" จากโลกภายในไปสู่ภายนอก ถ้าเป็นอย่างนี้ได้ก็หมายความว่า คนที่เรียนรู้จะสามารถที่จะไม่ใช่ออกไปตอบสนองความต้องการของตลาด แล้วปล่อยให้ตกอยู่ภายใต้การกำกับของ, ที่คุณทักษิณ ชอบใช้คำว่า CEO คือหัวหน้าผู้บริหารต้องกำหนดไปเลยว่า คุณต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หมายความว่าเราถูกจัด ถูกปั้นให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ตามความต้องการของโลกภายนอก ผมคิดว่าอันนี้เป็นการฆ่าการศึกษาในตัวของมันเอง และขณะนี้การศึกษาในสังคมไทยอยู่ในสภาวะอย่างนั้น สภาวะของการเรียนรู้ที่ไม่รู้จักตัวเอง

เพราะฉะนั้น ทางเลือกอันนี้จึงต้องคำนึงถึงองค์ประกอบที่ผมพูดมาข้างต้น ทั้งในเชิงของญานวิทยา ทั้งในเชิงของความเป็นสถาบันสังคมด้วย อันนี้คือ"อย่างไรที่ 1" ซึ่งผมพยายามที่จะทำความเข้าใจกับพวกเรา

"อย่างไรที่ 2" ในขณะนี้สภาวะของอุดมศึกษาไทยเป็นอย่างไร ?
คำว่าเป็นอย่างไร เราจะมองเฉพาะภายในระบบของเราเองไม่ได้ เพราะว่าในร้อยหรือสองร้อยปีที่ผ่านมา สังคมไทยรวมทั้งสังคมอื่นในภูมิภาคเดียวกัน ต้องตกอยู่ภายใต้กระแสอำนาจการครอบครอง เพราะฉะนั้น การที่เราจะพูดถึงว่า สภาวะอุดมศึกษาเป็นอย่างไร? คงต้องคำนึงถึงกระแสที่เป็นไปในโลกภายนอกด้วย

ผมอยากสรุปตรงนี้ว่า ในกระแสการศึกษา การเรียนรู้ โดยเฉพาะอุดมศึกษาของโลกภายนอกนั้น เป็นกระแสของการเรียนรู้เพื่ออำนาจและการครอบครองเป็นใหญ่ ถ้าเราย้อนไปใน 400-500 ปีที่ผ่านมา ถ้าเรามองประวัติศาสตร์ดูให้ดี ตั้งแต่มีการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะสังคมตะวันตกเพื่อสลัดแอกของตนเองจากสังคมยุคกลางโดยมีศาสนาครอบงำ แล้วจากการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ ปรัชญาการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ที่ใช้คำของนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่ง เขาบอกว่า ความหมายของวิทยาศาสตร์นั้นก็คือ นอกเหนือไปจากการปลดปล่อยอิสรภาพ และเสรีภาพของคนให้พ้นจากแอกของสังคมแล้ว ยังเป็นการคิดค้นเพื่อข่มขืนธรรมชาติ อันนี้คือความหมายของวิทยาศาสตร์ของตะวันตก

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่า ความสำเร็จของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของตะวันตกทุกวันนี้ ก็เพื่อตรงนี้มาโดยตลอด โดยใช้ประโยชน์ของธรรมชาติ ข่มขืนอะไรก็ตามเพื่อตอบสนองระบบของทุนนิยม คือการแสวงหาผลกำไรสูงสุดอย่างที่เรารู้กัน เพราะฉะนั้นตรงนี้ วัฒนธรรมตะวันตกที่เรารับเข้ามา ตั้งแต่การปฏิวัติวิทยาศาสตร์ การปฏิวัติอุตสาหกรรม เรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้จะเห็นได้ว่า เป็นกระแสที่ทำให้เกิดกระแสความรู้หรือการเรียนรู้ หรือกระแสญานวิทยา หรือกระแสกระบวนทัศน์ เพื่ออำนาจและการครอบครองโลก ซึ่งเป็นบรรทัดฐานอย่างนี้

พอมาถึงสังคมไทย เราก็รู้อยู่ว่าชนชั้นนำไทยก็เหมือนกับประเทศอื่นๆ ชนชั้นนำไทยถือว่าตัวรอดพ้นจากการเป็นอาณานิคม แต่ในเชิงของปัญญาความคิด ในเชิงของการเรียนรู้ เราก็ไม่ได้ต่างอะไรไปจากสังคมอื่นๆที่ตกอยู่ภายใต้กระแสอาณานิคม นั่นก็คือ กระแสของชนชั้นนำ พยายามที่จะเดินนโยบายการเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัย ตรงนี้ การศึกษาทุกระดับรวมทั้งอุดมศึกษาเข้ามาตรงนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยและเป็นการศึกษาที่มีจุดประสงค์ชัดเจนมาก คือมีจุดประสงค์ต้องการคัดสรรคนให้ออกไปและขึ้นไปสู่ความเป็นชนชั้นนำของประเทศ เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าจิตวิญญานหรือกระบวนทัศน์การศึกษาไทยนั้น ก็คือจิตวิญญานที่เราได้สืบทอดมาจากตะวันตกนั่นเอง คือการสร้างชนชั้นนำ

สังคมตะวันตกถือว่า เขาเป็นชนชั้นนำของโลก เราก็สืบมรดกเป็นชนชั้นนำที่จะเข้ามาใช้อำนาจเหนือครอบครองสามัญชนทั้งหมด รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติด้วย ความหมายของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี หรือการบริหารจัดการทรพัยากร จะเห็นได้ว่า เราได้เริ่มมาตลอดโดยเอาทรัพยากรที่เคยเป็นของชุมชนมาก่อนมาเป็นของรัฐ แล้วจากมือของรัฐก็เอาไปสู่ภาคเอกชนเพื่อทำกำไร ผมคิดว่านี่เป็นประเด็นที่พวกเราซึ่งอยู่ภาคเหนือจะเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดีโดยไม่ต้องแจกแจงรายละเอียดไปมากกว่านี้

จะเห็นว่าวัฒนธรรมการเรียนรู้และการศึกษา โดยเฉพาะอุดมศึกษา ก็คือสิ่งที่เป็นเครื่องมือของการเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัยบนพื้นฐานของระบบอำนาจนิยมและการครอบครองทั้งคนและทรัพยากรธรรมชาติ เพราะฉะนั้น อุดมศึกษาไทยในขณะนี้ ไม่ว่าจะพยายามปรับปรุงหรือปฏิรูปกันมาอย่างไรก็ตาม หรือว่าในช่วง 20 ปีหลังนี้มีการใช้หลักสูตรใหม่ ที่เรียกว่าหลักสูตรพื้นฐาน ใช้คำว่า liberal art แต่ความจริงแล้ว มันก็อยู่ภายใต้กระแสของอำนาจนิยม และกระแสของการผลิตชนชั้นนำของประเทศมากกว่า ไม่ว่าจะคิด จะใช้ ดัดแปลงถ้อยคำหรือวลีในการปรับระบบการศึกษาของเราอย่างไรก็ตาม

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า การศึกษาขึ้นอยู่กับตัววัฒนธรรมชนชั้นนำของประเทศ แล้ววัฒนธรรมของชนชั้นนำคืออะไร ? ก็คือวัฒนธรรมของการพึ่งพาและลอกเลียน อันนี้คือสภาวะของอุดมศึกษาของไทยเรา เราพึ่งพามาโดยตลอด เราลอกเลียนมาโดยตลอด เพราะฉะนั้น การพึ่งพา การลอกเลียนจึงทำให้ชนชั้นนำของประเทศทำหน้าที่ เหมือนกับเป็น... เดี๋ยวนี้มีศัพท์ใหม่ในวารสารของมาเลเซียโดยกลุ่มนักวิชาการอิสระและพวก NGO ในวารสาร Search World Economic และ Search World Resurgence เขามีคำที่ผลิตขึ้นมาซึ่งคิดว่ามันค่อนข้างเข้าที เขาใช้คำว่าชนชั้นนำของประเทศโลกที่สามก็คือ พวก comprador intelligensia หมายความว่าเป็นชนชั้นนำหรือปัญญาชนที่เป็นนายหน้าของอำนาจตะวันตก อันนี้คือสิ่งที่กำหนดหลักสูตร การเรียนการสอนของตะวันตก การวิจัยในระบบอุดมศึกษาของไทย ซึ่งเป็นระบบที่พึ่งพา ลอกเลียน

และในประการสำคัญ ไม่ใช่เป็นการเรียนรู้หรือการศึกษาวิจัยที่ตอบสนองปัญหาและความต้องการของสังคมไทย แต่ตอบสนองปัญหาและความต้องการของโลกภายนอก เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าทุกๆครั้งที่เกิดเหตุการณ์ขัดแย้งอะไรต่างๆ เวลาที่ประเทศไทยต้องประสบกับความพ่ายแพ้ทางเศรษฐกิจ เราจะได้ยินนักวิชาการหรือชนชั้นนำทั้งในทางการเมือง และทางราชการประจำจะพูดบ่อยๆว่า เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงกระแสโลกได้ อันนี้คือวัฒนธรรมของการจำนนต่อกระแสของโลกภายนอก และเป็นความจำนนโดยสมัครใจด้วย โดยกระบวนทัศน์ และด้วยเหตุผลนี้ทำให้เรามาหาทางเลือกกัน

ทั้งหมดนี้ก็คือสภาวะของอุดมศึกษาไทย ที่ผมยกประเด็นตรงนี้ขึ้นมาเพื่อให้เราได้ลองคิดกันต่อไปว่า ปมจริงๆที่เราจะคิดกันได้กว้างขวางและลึกซึ้งมากกว่านี้คืออะไร เราจะได้หาทางเลือกที่เป็นคำตอบที่เป็นปัญหากันอยู่ในปัจจุบันอย่างแท้จริง

"อย่างไรที่ 3" ซึ่งเป็นประเด็นสุดท้าย เราคงต้องพูดกันมากหน่อย อุดมศึกษาทางเลือกที่เป็นไทควรจะเป็นอย่างไร ?
ก่อนอื่นทีเดียวถ้าย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นที่พูดมา อันแรกทีเดียว ผมคิดว่าเราจะต้องรวบรวมความคิด และตระหนัก สำนึกในความเป็นจริงของสิ่งที่ได้เรียกในตอนต้นว่า"โลกชีวิตที่เป็นไท" เราจะเห็นว่าสภาวะทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษา และสภาวะวัฒนธรรมของอำนาจนิยม และการพึ่งพิง ลอกเลียนมาโดยตลอด ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะมันเป็นการเรียนรู้ที่ตอบสนองโลกชีวิตของภายนอก ไม่ใช่โลกชีวิตของคนไทย หรือไม่ใช่โลกชีวิตของคนในย่านนี้

ด้วยเหตุนี้ เราต้องทบทวนให้ชัดเจนว่า โลกชีวิตของเราคืออะไร? ถ้าจะพูดรวมๆในขณะนี้เท่าที่ผมคิดได้ ก็คือ "โลกชีวิตของเราเป็นโลกชีวิตของสังคมฐานทรัพยากรเขตร้อน" อันนี้คือความเป็นจริงส่วนหนึ่งที่ผมมองเห็น ขอให้พวกเราช่วยกันมองหาสัจธรรม มองหาความเป็นจริงของโลกชีวิตของเราว่า เราอยู่บนพื้นฐานที่แท้จริงอะไร?

ไม่ได้หมายความว่าการแสวงหาพื้นฐานความเป็นจริงของโลกชีวิตเรานั้น เราจะปฏิเสธการรู้จักโลกภายนอก ไม่ใช่ครับ ผมได้พูดไว้ในตอนต้นแล้วว่า เราต้องพัฒนา ปฏิรูปภูมิปัญญาของเราขึ้นระดับความเป็นอุดมศึกษา คือการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมได้ ในขณะเดียวกันก็รักษาอัตลักษณ์ของเราเอง ดังนั้นที่ผมมองในขณะนี้ก็คือว่า ความเป็นจริงของโลกชีวิตที่เป็นของฐานทรัพยากรเขตร้อน แล้วนี่เป็นต้นทุนที่สำคัญอย่างยิ่ง

ในยุคอาณานิคม 100-200 ปีที่ผ่านมา ทั้งยุคอาณานิคม ยุคพัฒนาที่เราผ่านมาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เราล้วนแต่มองโลกชีวิตที่เราพยายามจะผลักดันตัวเองให้เหมือนกับโลกภายนอก เหมือนกับฝรั่ง แล้วเราก็ศึกษาวิจัยกันเพื่อเอาตัวเราเองไปตอบสนองโลกชีวิตอันนั้น ในขณะเดียวกันเมื่อเราทำอย่างนี้ เรามองข้ามโลกชีวิตที่เป็นความเป็นจริงของเรา มองข้ามศักยภาพของเรา ที่สำคัญมองข้ามต้นทุนชีวิตของเรา ก็คือฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาซึ่งเคยสืบทอดมาจากอดีต แต่ได้ถูกตัดทอนไปตั้งแต่ยุคที่เราเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงให้ทันสมัย ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือว่า โลกชีวิตของเรานั้นคืออะไรกันแน่

และในประการที่สอง ในโลกชีวิตอันนี้ เรามีอัตลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรมของไทยเราเองอย่างไร? และเป็นอัตลักษณ์ทางสังคมวัฒนธรรมที่จะร่วมกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคอย่างไร? ผมเอ่ยคำว่าภูมิภาคตรงนี้ก็เพราะว่า มันเป็นนัยะสำคัญของการสร้างอุดมศึกษาที่เป็นไท ที่จะสามารถเผชิญกับกระแสโลกในปัจจุบันได้ เราจะพูดเพียงในรอบรั้วประเทศไทยไม่ได้แล้ว ความขัดแย้งจะเป็นไทย-พม่า ชุมชน ชนกลุ่มน้อยอะไรต่างๆเหล่านี้ ถ้าเรามองในเชิงของการเมืองเรื่องอำนาจ... ถามว่า politics เป็นแบบแผน, อย่าลืมนะครับว่าเป็นแบบแผนการเมืองที่ฝรั่งสอนให้เราทำ เราจะต้องแสวงหาการเมืองในภูมิภาคที่เป็นอัตลักษณ์ของสังคมวัฒนธรรม และเป็นอัตลักษณ์ที่เคยสืบทอดมาในประวัติศาสตร์ เพราะว่าการเมืองกับการศึกษาแยกกันไม่ออก อันนี้เป็นก็เป็นประเด็นสำคัญที่อยากให้พวกเราช่วยกันมองให้เกิดความชัดเจนขึ้น

ทางเลือกประการที่สองซึ่งต้องคำนึงถึง, ผมจะไม่พูดถึงทางเลือกคืออะไร?, แต่จะพูดว่า องค์ประกอบในการคิดแสวงหาทางเลือกจะเป็นอย่างไร? นอกจากจะตระหนักและสำนึกในเรื่องของความเป็นจริงของโลกชีวิต อัตลักษณ์ในความสัมพันธ์ของภูมิภาคแล้ว ต้องคำนึงถึงโครงสร้างสัมพันธภาพอำนาจที่เป็นอยู่ในโลกปัจจุบัน เพราะว่าในขณะนี้ โครงสร้างสัมพันธภาพทางอำนาจนั้น คือการเมืองเรื่องอำนาจเริ่มมาจาก เราย่างเข้าสู่ยุคการสร้างรัฐชาติ ซึ่งเราได้ลอกเลียนมาจากตะวันตก เพราะว่าความเป็นรัฐชาติตรงนี้ เป็นที่มาของความขัดแย้งอย่างไม่มีที่สิ้นสุด รัฐชาติในยุโรปก็เช่นเดียวกัน จึงได้เกิดสงครามโลกถึง 2 ครั้ง ตอนนี้ก็เริ่มเป็นสหภาพยุโรป ตรงนี้โครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจตรงนี้ เราต้องพยายามปรับโครงสร้างเชิงอำนาจนี้ให้ได้ โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน

เมื่อสักครู่ผมได้พูดถึงความเป็นจริงในโลกชีวิตของคนไทย นั่นก็คือ เราอยู่ในสังคมฐานทรัพยากร และก็เป็นฐานทรัพยากรที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ พม่า ลาว เขมร เวลานี้ถ้าเราแบ่งรัฐชาติ เราบอกว่าเราไม่ตัดไม้ในเมืองไทย เราไปตัดไม้ในเขมร ในพม่า ก็คือเท่ากับตัดไม้ในเมืองไทยนั่นเอง นี่คือการขาดความสำนึกตรงนี้

เมื่อขาดความสำนึกอย่างนี้ การศึกษาและรวมทั้งการจัดการทรัพยากรจึงเป็นไปในลักษณะของทุนนิยมอุตสาหกรรรมมาโดยตลอด เพราะโจทย์เราผิด เราต้องเปลี่ยนโจทย์เสียใหม่ ข้อคำนึงถึงโครงสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจประการที่สอง ซึ่งสำคัญเป็นอย่างยิ่งก็คือว่า ในยุคนี้สมัยนี้ โดยเฉพาะช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา ตรงนี้เป็นยุคที่รัฐชาติเริ่มเสื่อมอำนาจ โดยตกอยู่ภายใต้กระแสข้ามโลก ทั้งมหาอำนาจ ทั้งบรรษัทข้ามชาติ กระแสความเคลื่อนไหวเงินทุน เทคโนโลยี ทั้งข่าวสารข้อมูล เทคโนโลยีชีวภาพ รัฐชาติในขณะนี้ไม่มีความหมาย ถ้าจะมีก็นิดเดียว นอกจากจะไม่สามารถคุ้มครองคนไทยด้วยกันเอง โดยเฉพาะชุมชนแล้ว รัฐชาติเองก็ยังทำหน้าที่เป็นนายหน้าของภายนอก

ตรงนี้คือสิ่งที่กระตุ้นให้ผมพูดในตอนแรกว่า ขณะนี้ภายใต้สภาวะที่เป็นอยู่ เราจึงได้ยินคำว่าทางเลือกมากมายเหลือเกิน เกษตรมาก่อนเพื่อนเลย คนชั้นกลางยังไม่รู้เรื่องหรอกครับ ยังไขว่คว้าหางานทำอะไรอยู่ คนชั้นกลางก็มาตกอยู่ภายใต้การคุกคามเช่นเดียวกัน ซึ่งจะพูดถึงต่อไปว่า จริงๆแล้วชุมชนท้องถิ่นจะโยงกับคนชั้นกลางอย่างไร? ถ้าเราจะมองเรื่องการศึกษา อย่ามองเฉพาะในรั้วบ้านเรา มันไม่เพียงพอในโลกปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่า รัฐชาตินอกจากไม่สามารถที่จะให้ความคุ้มครองได้แล้ว ในหลายๆกรณียังกระทำตนเป็นนายหน้าของกระแสข้ามชาติด้วย อันนี้ปฏิเสธไม่ได้ จะโดยบังคับหรือโดยจงใจก็ตาม หลายๆกรณีด้วยกัน ผมคิดว่ารัฐบาลที่แล้วๆมา เราตกเป็นหนี้เป็นสินและวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ และเรายอมจำนนต่อ IMF และ World Bank ผมคิดว่าบางทีเราก็ยอมจำนนไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะเราไม่รู้นัยความสำคัญของกระแสข้ามชาติ แล้วยังไปยึดถือเรื่องเกี่ยวกับอธิปไตยของชาติที่จะไปต้านกระแสดังกล่าว แต่มันต้านไม่ได้แล้ว

ตรงนี้เรื่องของประชาธิปไตยจึงมีความหมายมาก แต่ไม่ใช่ประชาธิปไตยในแบบของรัฐชาติที่เป็นอยู่ ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบที่มีการเลือกตั้ง แบบที่มีพรรคการเมือง มีสภาฯ มีคณะรัฐมนตรี อย่างนี้ไม่ใช่ ประชาธิปไตย ผมเรียกรวมๆว่า ประชาธิปไตยในรูปแบบปัจจุบันนี้ไม่ใช่คำตอบ ที่พูดตรงนี้เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า การศึกษา อุดมศึกษา การเมือง เศรษฐกิจ ประชาธิปไตยเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่นโดยเลี่ยงไม่ได้

ดังนั้น การที่เราจะคิดถึงเรื่องการศึกษาที่เป็นไทให้เป็นทางเลือกจริงๆต้องคิดเยอะเลย เราจะประมวลอย่างไรให้เป็นนโยบาย ให้เป็นยุทธศาสตร์ อันนี้ก็จะต้องเป็นการบ้านให้พวกเราคิดกันต่อไป

รวมความก็คือว่า ในฐานะที่เป็นสังคมฐานทรัพยากรที่ได้ถูกขูดรีดไปมากมายด้วยกระแสโลก กระแสรัฐชาติตรงนี้ การแสวงหาทางเลือกจึงเป็นเรื่องที่จริงจัง และมีความรุนแรงแน่นอน เพราะว่า กระแสทางเลือกไม่ใช่กระแสที่เป็นเกมทางปัญญา หรือเป็นเกมของนักวิชาการ แต่กระแสทางเลือกหมายความว่า กระแสเพื่อปกป้องคุ้มครองสิทธิในชีวิตของประชาชนในท้องถิ่น เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า ทางเลือกของอุดมศึกษานั่นก็คือทางเลือกของโลกชีวิตของชุมชนท้องถิ่นนั่นเอง

การปกป้องชีวิต จะเห็นได้ว่า ในชุมชนท้องถิ่นที่เป็นชุมชนฐานทรัพยากร เราไม่ได้เป็นชีวิตของปัจเจกบุคคลอย่างคนในเมือง ในสังคมอุตสาหกรรม มีคนสองประเภทเท่านั้น คือนายจ้างกับลูกจ้าง, นายทุนกับผู้ใช้แรงงานเท่านั้น เพราะฉะนั้น ความรู้วิชาการที่เราเรียน เราเรียนจากบริบทหนึ่งมาใช้กับอีกบริบทหนึ่งไม่ได้ แต่ว่าในสังคมไทย ซึ่งเป็นสังคมฐานทรัพยากร เรายังมีสิ่งที่ผมเรียกว่า free men หรือ"อิสระชน"คือในชุมชนท้องถิ่น ที่ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้อุ้งอำนาจของระบบอุตสาหกรรม เช่น สังคมในเมือง

การที่บุคคลในชนบทดิ้นรนที่จะไปทำงานในเมือง จะเห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่ผิดปกติมาก แสดงให้เห็นว่ากระบวนทัศน์ของการเรียนรู้ของชนชั้นนำมันแรงกล้ามาก ทำให้เราต้องวิ่งไป ไปผจญภัยแสวงหาอนาคตในเมือง ซึ่งไม่มีอนาคตเลย แต่เราไม่ได้มองอนาคตของเราอยู่ที่นี่ นี่คือโลกชีวิตที่เราต้องรวบรวม ซึ่งผมคิดว่าในการคิดเรื่องทางเลือกอุดมศึกษาที่เป็นไท คงต้องประมวล ช่วยให้ผู้คนทั้งหลายเข้าใจถึงโลกชีวิตและอนาคต ศักยภาพที่เขาสามารถต่อสู้เรียนรู้ด้วยตัวของตัวเองได้

เพราะฉะนั้น รวมความในทัศนะผม ผมคิดว่าทางเลือกอุดมศึกษาที่เป็นไทนั้นก็คือทางเลือกของชุมชนท้องถิ่นนั่นเอง เราไม่สามารถจะพูดถึงอุดมศึกษาตามนัยะของสากล หรือโลกตะวันตกที่เราเคยเรียนรู้มา เราไม่สามารถที่จะพูดถึงอุดมศึกษาตามนัยะของรัฐชาติ ผู้นำที่พึ่งพาลอกเลียนความรู้จากภายนอก ตรงนี้ อุดมศึกษาที่เป็นไทจึงมีความสำคัญและมีความหมาย

ผมได้พูดมาแต่ต้นแล้วว่า เราจะต้องเรียนรู้จาก inside out อย่างไร อันนี้คือเรื่องที่เราจะต้องคิดกันต่อไปว่าจะวางระบบการเรียนรู้อย่างไรบ้าง รวมความก็คือ ผมคิดว่าทางเลือกอันหนึ่งที่เห็นชัดเจนมากก็คือ สังคมฐานทรัพยากรชุมชนท้องถิ่นของเรา เพราะฉะนั้น การทบทวน ตระหนัก สำนึก ฟื้นรากทางปัญญา ความคิด ประวัติศาสตร์ อย่างชุมชนบ้านครัวได้ทำให้เราเห็น วิชาประวัติศาสตร์ตรงนี้สำคัญมาก ประวัติศาสตร์ทำให้คนเป็นทาสก็ได้ เป็นไทก็ได้ตรงนี้ อาจารย์นิธิคงรู้ดีว่าการเรียนประวัติศาสตร์ของเราทุกวันนี้เป็นอย่างไร?

สิ่งที่จะต้องเข้าใจ ซึ่งขอเน้นก็คือ สังคมไทยเป็นสังคมฐานทรัพยากรป่าเขตร้อน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สำคัญมาก ไม่เพียงความอยู่รอดของชุมชนท้องถิ่น ไม่ใช่เป็นต้นทุนสำหรับแก้ไขปัญหาความยากจน เราจะมองชนบทในเชิงลบอย่างนั้นไม่ได้ ต้องมองชนบทในเชิงบวกซึ่งเป็นต้นทุนที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า ทัดเทียมโลกภายนอกด้วย โดยเฉพาะพูดตามภาษาเศรษฐศาสตร์ เรามีข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบคือ ความหลากหลายทางชีวภาพ อาหารกับยา แต่ว่าอันนี้นักวิชาการอุดมศึกษาที่เป็นอยู่ในขณะนี้ เราหาทางเลือกให้ประเทศในลักษณะที่เป็นการเข้าไปสู่ลู่ทางเศรษฐกิจที่อยู่ในหลักของข้อเสียเปรียบเชิงเปรียบเทียบ ไม่ใช่ข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ เพราะฉะนั้น เราจึงมีปัญหามาโดยตลอด

จะเห็นได้ว่า เราต้องการประวัติศาสตร์ใหม่ ต้องการเศรษฐศาสตร์ใหม่ที่เป็นของชุมชน ต้องเผาตำราทิ้ง เพราะว่าตำราทั้งหลายล้วนแต่นีโอ-คลาสสิคทั้งนั้น ไม่สามารถให้คำตอบอะไรได้เลย นอกจากไม่ให้คำตอบแล้ว ยังทำให้เราหลงทิศหลงทางมาโดยตลอดด้วย ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการทบทวน สำนึกในโลกชีวิตของชุมชนท้องถิ่นที่เป็นชุมชนฐานทรัพยากรเขตร้อน

ฝรั่งบอกว่า ตอนนี้เราจะต้องคิดในเชิง knowledge base แล้วเราก็เอามาใช้กันเกลื่อนทั้งบ้าน ทั้งประเทศ ไปไหนก็ได้ยินว่า ต่อไปนี้สังคมไทยต้องเป็นสังคมฐานการเรียนรู้ แต่ไม่เคยตั้งคำถามว่าเราจะเรียนรู้อะไร คือถ้าเราตั้งคำถามลอยๆเราก็เรียนรู้อย่างเคย มันก็เป็นสังคมฐานของความเขลาอยู่ตลอด ดังนั้นตรงนี้ แม้คำว่า"สังคมฐานการเรียนรู้"ก็ต้องทบทวนแล้ว ว่าเราจะเรียนรู้อะไรที่เป็นต้นทุนชีวิต ที่เป็นศักยภาพในการพัฒนาตนเอง แล้วก็ในการพัฒนาที่จะเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการที่จะเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคสมัยใหม่ได้

ผมมีข้อเสนอว่า ในภูมิปัญญาและการเรียนรู้ของชุมชนท้องถิ่นในเวลานี้เป็นตัวตั้ง แต่ยังต้องมีการปฏิรูป อย่างน้อยที่สุดใน 5 ประเด็นด้วยกัน

ประเด็นแรก ต้องหนุนความเป็นอิสระในความคิด และการคิดค้น และต้องทำเป็นสังคมเปิด ต้องเป็นภูมิปัญญาที่เปิด จะเป็นภูมิปัญญาที่ปิดไม่ได้ และภูมิปัญญาในด้านสุขภาพ อาหาร ยา ต่างๆนั้น จะต้องประมวลให้เป็นองค์ความรู้ที่สามารถจะสร้างให้เกิดความเป็นสถาบันของสังคมให้ได้ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ผูกขาดในตระกูลหรือในกลุ่มต่างๆโดยเฉพาะ ตรงนี้จะทำให้เกิดความเป็นอิสระและเกิดความเติบโตได้

ประเด็นที่สอง ผมคิดว่าต้องปฏิรูปวัฒนธรรมการเรียนรู้ ในชนบทขณะนี้ตกอยู่ภายใต้อุ้งอิทธิพล กระบวนทัศน์ที่มักจะมองคนในเมืองเป็นสรณะ ต้องกลับมาทบทวนอัตลักษณ์ ภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของตัวเอง และเป็นการเรียนรู้จากภายในรากของตัวเอง เป็น inside out แล้วก็สามารถประสานการเรียนรู้จากภายนอก ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะจะต้องสามารถเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมได้ ในขณะที่รักษาเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของตนเอง

ตรงนี้ผมมองถึงความสำคัญของชนชั้นกลางในเมือง ทำไมจึงมองอย่างนั้น เพราะชนชั้นกลางในเมือง ความจริงโอกาสด้อยกว่าพวกชาวบ้าน เพราะชนชั้นกลางในเมืองไม่มีโอกาสมองเห็นธรรมชาติ มองเห็นต้นทุนชีวิต ไม่ได้มองเห็นศักยภาพ มองเห็นทางเดียวคือนายจ้าง ทุนจะเข้าประเทศไหม ? คนจะมาลงทุนไหม ? เขาจะถอนหุ้นไปจากเราหรือเปล่า ? ชีวิตมันหวั่นไหวอยู่กับตัวเลขบนหน้าจอทุกวัน

ในสภาวะอย่างนี้ ผมอยากจะให้พวกเราที่อยู่ในชนบทมองถึงศักยภาพความเป็นไปได้ เพราะว่าคนชั้นกลางในขณะนี้ก็ถึงทางตันเป็นจำนวนไม่น้อย ผมว่าไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง เพราะในยุคโลกาภิวัตน์นี้ การจ้างงานนั้นต้องเสี่ยงกับการที่จะถูกปลด ถูกอะไรสารพัด เนื่องจากกระแสโลกาภิวัตน์ของบรรษัทข้ามชาติทุกวันนี้ โดยการค้นพบทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ความต้องการคนจะลดน้อยลง และคนชั้นกลางจะถูกคุกคามมาก ถูกปลด ถูกตัดเงินเดือนอะไรสารพัด รวมไปถึงลดสวัสดิการ

ความเคว้งคว้างของชนชั้นกลางจึงเป็นจุดหนึ่งที่อยากจะให้พวกเรานึกถึง เพราะชนชั้นกลางมีวุฒิภาวะในเรื่องตลาด เรื่องการเผยแพร่ความรู้อะไรต่างๆพวกนี้ อันนี้ก็อยากจะให้คิดกันต่อไป ซึ่งเป็นศักยภาพที่น่าจะนำมาเชื่อมโยงกันได้ อันนี้เป็นแบบฝึกหัดเบื้องต้นในการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม ทำตรงนี้ให้แน่น แล้วข้ามวัฒนธรรมในระดับข้ามชาติก็เป็นอันดับต่อไปที่เราต้องคำนึง

ประเด็นที่สาม เราต้องสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่ให้เรา"รู้จักการตั้งคำถาม"มากกว่าที่จะ"ตอบคำถาม" เพราะในทุกวันนี้ เราบังคับให้นิสิต นักศึกษาให้ตอบคำถาม เพื่อให้ครูบาอาจารย์พอใจ การสอนให้ตั้งคำถาม หรือการฝึกให้ตั้งคำถามเป็นเรื่องที่ยากมาก ผมเคยทดลองอยู่ปีหนึ่ง เคยให้ตั้งคำถามและอธิบายเหตุผลว่าทำไมถึงตั้งคำถามแบบนั้น เกือบจลาจลเลย เพราะว่ารู้สึกปั่นป่วนไปหมดว่าอาจารย์จะมาไม้ไหนกันแน่

ตรงนี้ผม serious เลย เพราะการตั้งคำถามนั้นเป็นแหล่งกำเนิดของการเติบโตทางวิชาการ เพราะถ้าเราตามไปเรื่อยๆอย่างนี้ แน่นอน วิชาการ ความรู้มีวันที่จะหดหาย อันนี้ก็เป็น common sense ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่วิจิตรพิสดารอะไร

ประเด็นทสี่ เราต้องแยกแยะให้ได้ว่า เรากำลังเลือกกระบวนทัศน์เกี่ยวกับความรู้และการรู้แบบไหน? มีศาสตราจารย์คนหนึ่งที่ติดต่อกับอาจารย์นิธิ ที่มิชิแกน เขาเขียนหนังสือเล่มหนึ่งคือ Participatory mind พูดถึงทฤษฎีใหม่เกี่ยวกับญานวิทยา เขาชี้ให้เห็นว่า ความรู้ในโลกนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ "ความรู้เพื่ออำนาจและการครอบครอง" อันนี้ก็เป็นความรู้แบบตะวันตก เขาบอกว่าความรู้ของวัฒนธรรมตะวันตกเป็นความรู้ที่คลั่งอำนาจ เป็น power crazy แต่ความรู้อีกอย่างหนึ่งซึ่งเราต้องแสวงหาเรียนรู้ก็คือ "ความรู้เพื่อการปลดปล่อย" เราต้องเข้าใจว่า ความรู้ที่เราแสวงหาอุดมศึกษาทางเลือก ก็คือแสวงหาอุดมศึกษาทางเลือกเพื่อปลดปล่อยตัวเราเองออกจากแอกของอาณานิคมทางปัญญาตรงนี้

ประเด็นที่ห้า อุดมศึกษาในที่นี้ เราจะจำกัดแต่เฉพาะภายในชุมชนไม่ได้ เพราะคำว่าอุดมศึกษามันไม่ใช่เป็นเรื่องภูมิปัญญาที่เราจะว่ากันในชุมชน แล้วถ้าว่ากันภายในชุมชน กระแสโลกาภิวัตน์ในปัจจุบันที่รุนแรงขึ้นทุกวัน ผมว่าชุมชนต่างคนต่างอยู่ไม่อาจอยู่รอดได้ ผมไม่ใช่หมอดู แต่ค่อนข้างมีความกังวลว่า อยู่อย่างนี้อยู่รอดไม่ได้ รัฐชาติก็ไปแล้ว ขนาดคิดใหม่ทำใหม่ก็ไม่สามารถรอดพ้นได้ และเพื่อความอยู่รอดของผู้นำ อาจจะเอาชุมชนไปประเคนให้เขาก็ได้

ผมคิดว่าผู้นำในอดีตก็เคยทำ อาจารย์นิธิคงจะให้ความชัดเจนในที่นี้ได้ เราเสียสละประชาชนเพื่อความอยู่รอดของชนชั้นนำก็เคยมีในประวัติศาสตร์ เมื่อเป็นเช่นนี้ เวลาเราพูดถึงอุดมศึกษาทางเลือก ต้องนึกคิดในระดับเครือข่ายที่เป็นชุมชน ทุกภาคในเวลานี้อยู่ในชะตากรรมเดียวกันหมด ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคอีสาน ความพยายามเรื่องเครือข่าย ผมทราบว่า อ.นิธิ ก็เดินไปทั่วทุกภาค จะทำอย่างไรก็คงจะต้องฝากเป็นการบ้าน การบ้านเยอะนะครับเรื่องอุดมศึกษาที่เป็นไท เพราะถ้าเราพอใจอยู่แค่นี้เราไปไม่รอดเด็ดขาด

นอกจากเครือข่ายในภาค ในประเทศแล้ว ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นต้องเครือข่ายในระดับภูมิภาคอุษาคเนย์ ผมเผอิญจำเป็นต้องไปประชุมที่มนิลา 2 วันนี้ ก็ไปเจอพวกผู้แทนจากพม่า จากลาว และเขมร พวกนั้นกลุ่มหนึ่งพยายามที่จะตั้งเป็นกรรมการสิทธิ์ฯของอาเซี่ยน ผมคิดว่ามันไกลแสนไกล ผมจึงชวนพวกสองสามคนนี้ เราใน South East Asia Main-Land แค่นี้มาคุยกันหน่อยดีไหม ผมจะเสนอเรื่องเรามาศึกษาวิจัยเรื่องป่าเขตร้อนด้วยกัน

ผมคิดว่าเรื่องง่ายๆแบบนี้ เป็นการสร้างการฑูตในระดับของรากหญ้า เพราะอันนี้มีนัยะสำคัญมาก เป็นการผลิกกระแสความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากสิ่งที่ผมเรียกว่า power politic แบบรัฐชาติชนกัน มันเป็นการสร้างพื้นฐานได้หลายอย่าง นอกจากนั้นแล้วยังสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ และทีนี้อุดมศึกษาที่เป็นไทสามารถทำถึงระดับนี้ได้ ผมคิดว่าจะเป็นการผนึกกำลังซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่ง จะทำอย่างไรก็เป็นประเด็นที่จะฝากเป็นการบ้าน

นี่ก็เป็นทั้งหมด โจทย์ 3 อย่างไร? ซึ่งมีเรื่องเยอะที่เราจะคิดกันต่อ ผมหวังว่าพวกเราจะไม่นำเอาข้อคิดทั้งหลายไปเป็นภาระให้เกิดความหนักอกหนักใจ ผมกำลังพูดถึงความเป็นจริงของชีวิตจริงๆ ไม่ได้พูดอย่างเลื่อนลอย ผมเป็นคนชอบวิเคราะห์น้ำหนักความรุนแรงของกระแสโลกที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รัฐชาติก็ไม่ไหวแล้ว จะหวังอาเซี่ยน ต่างคนก็ต่างจะเอาหน้ากับมหาอำนาจด้วยกัน แล้วยิ่งมาตอนนี้ มายุคหลัง 11 กันยายน 2001 พวกเราคงจำได้ ตอนนี้กระแสโลกยิ่งมุทะลุดุดันขึ้นไปอีก การตีความอะไรก่อการร้ายไม่ก่อการร้าย จะทำให้สิทธิ การใช้สิทธิเสรีภาพของเราที่จะสร้างทางเลือกต่างๆยิ่งต้องเผชิญกับความยากลำบากยิ่งขึ้น ซึ่งอยากจะให้เราเข้าในสถานการณ์ตรงนี้ด้วย

เราคงจะมองเฉพาะในหมู่พวกเราเองคงไม่ได้ เราต้องมองถึงโลกภายนอกว่าขณะนี้ เรากำลังอยู่ในท่ามกลางของโลกแบบไหน และผมหวังว่าสิ่งที่พูดถึงภัยคุกคามต่างๆคงจะไม่ทำให้หดหู่และหมดกำลังใจ แต่หวังว่าเราคงจะประมวลพวกนี้เพื่อสร้างพลังความเข้มแข็ง เพื่อเราจะได้หาทางเลือกที่มันสอดคล้องและตอบสนองสถานการณ์ได้อย่างถ่องแท้ตามสมควร คงจะเอาไว้เพียงแค่นี้

สมเกียรติ ตั้งนโม : ผมอยากจะเรียนถามอาจารย์เกี่ยวกับเรื่องที่สอดคล้องกับสิ่งที่อาจารย์พูดในช่วงหลังๆ สำหรับเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านมาคือ ACD (Asian Conference dialogue) ที่นายกทักษิณ ได้เชิญผู้นำของเอเชียมาร่วมประชุมกันเพื่อแก้ปัญหาและแสวงหาความร่วมมือในช่วงเริ่มต้น อาจารย์มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อย่างไร

เสน่ห์ จามริก : ผมไม่ทราบว่าวาระเข้าพูดเรื่องอะไรกันบ้าง เพราะผมไม่ได้มีโอกาสที่จะตามเท่าไหร่ แต่ถ้าพูดเฉพาะ ACD เฉยๆผมเห็นด้วย แต่ที่สำคัญคือวาระคืออะไร? อย่างเช่น ถ้ามีวาระว่า เรามีทรัพยากรร่วมกัน เราจะช่วยกันปกปักรักษาอย่างไร จะช่วยกันพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างไร อันนี้ผมเห็นด้วย แต่ผมไม่รู้ว่าการรวมกำลังของเอเชีย โดยหลักการมันดี แต่อยู่ที่มันมีวาระอะไรที่พูดถึงกัน

อย่างไรก็ตาม เราควรจะฝากความหวังเอาไว้ที่ผู้นำน้อยๆหน่อย คราวที่แล้วที่ผมมามหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มีคนถามบอกว่า เรื่องโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคก็ดี กองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละล้านก็ดี เราจะเชื่อใจคุณทักษิณได้อย่างไร ผมคิดว่านั่นเป็นการตั้งคำถามที่ผิด คำถามที่ถูกก็คือว่า เราจะเอานโยบายอย่างนั้นซึ่งดูดีให้มาเป็นของเราได้อย่างไร ผมคิดว่าการเมืองมีด้านหัวด้านก้อยเสมอ

ในขณะนี้จุดอ่อนของเราก็คือว่า เรามองการเมืองเป็นด้านเดียว จะจริงใจหรือจะทำอะไรอยู่ที่อำนาจอย่างเดียว แต่เราเกือบจะไม่คิดว่าบทบาทของเราคืออะไร ? อย่างเช่น ถ้าผมเป็นผู้นำชุมชน ผมจะถามตัวเองว่า ในชุมชนเรา เรามีอะไรที่จะนำทุนเหล่านี้มาใช้เพื่อจะทำให้ชุมชนของเรามารวมกันและเข้มแข็งขึ้นมาได้ เช่นรู้ว่าดินมันเสื่อมโทรมลง ทำอย่างไรจะเอาทรัพยากร งบประมาณ หรือทุน มาฟื้นทรัพยากรเรา เป็นต้น อันนี้น่าจะต้องเป็นการบ้านของฝ่ายประชาชน

รัฐธรรมนูญได้พูดมากเรื่องการเมืองภาคประชาชน แต่เผอิญภาคประชาชนไม่ทำบทบาทเลย และไม่มีใครชี้แนะด้วยซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย มันจึงกลายเป็นเรื่องที่ว่า งบประมาณต่างๆเป็นหมื่นๆล้านก็เลยไม่เกิดมักเกิดผลอะไรที่จริงจังเท่าไหร่นัก ตรงนี้ผมอยากให้มองดูตัวเราด้วย

แล้วในโอกาสอย่างนี้ ทุกๆนโยบายที่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นระดับภายในประเทศหรือระดับต่างประเทศ ผมคิดว่าเราต้องตาม เพราะมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนี่ล่ะครับ เป็นเวทีที่จะกรองว่า สิ่งที่ผู้นำออกมา เราสามารถที่จะดึงเข้ามาใช้ประโยชน์และสร้างพลังเราได้อย่างไร? อันนี้หมายความว่า เราต้อง organize กันแล้วทางความคิด อันนี้จะเป็นเวทีได้อย่างดี ผมจึงเสนอว่าต่อไปที่นี่น่าจะเป็นเวที แล้วสามารถเผยแพร่ไปได้ทั่วประเทศ

ผู้เข้าร่วมฟัง(หญิง) : การเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม ถ้ามองดูโดยผิวเผินรู้สึกเป็นเรื่องที่เข้าใจไม่ยาก แต่ในระดับชาวบ้านเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก วิถีชีวิตของคนไทยปัจจุบัน ส่วนใหญ่ก็จะเกี่ยวข้องกับการกิน การดื่ม การอยู่ และการรับข้อมูลข่าวสารจากตะวันตก จึงรู้สึกเหมือนกับว่าเราจะสูญเสียอะไรบางอย่าง แล้วก็รับอะไรบางอย่าง

การที่เราจะบูรณาการทั้งของเราและของตะวันตกเข้าด้วยกัน เหมือนกับการแต่งชุดพื้นเมือง ซึ่งไม่ได้ตัดเป็นชุดพื้นเมืองเหมือนก่อน แต่เอาผ้าพื้นเมืองมาตัดในรูปแบบวัฒนธรรมตะวันตก ก็เลยมีความรู้สึกว่า การที่เราจะเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม อยากให้อาจารย์ขยายอีกนิดว่า มันมีความเป็นไปได้ขนาดไหน ในเมื่อเราอยู่ในกระแสของโลก เราต้านไม่ได้ เราต้องไปตามกระแสแล้วเราจะไปตามอย่างไร ในเมื่อชีวิตทุกวันเราต้องเคลื่อนไปตามกระแส ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตประจำวัน

เสน่ห์ จามริก : ผมต้องตั้งคำถามกลับไปว่าทำไมต้องเคลื่อนตามกระแส? คืออย่างนี้ ที่ผมพูดถึงการเรียนรู้วัฒนธรรม ผมไม่ได้หมายถึงการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมที่เป็นจุดมุ่งหมายในตัวของมันเอง ผมใช้คำว่า inside out หมายความว่า เราต้องรู้จักตัวเองให้ดีเสียก่อน ประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม ภูมิปัญญา และฐานชีวิตของเราอยู่กับอะไร การเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรมอันนี้เพื่อที่จะคัดสรร ผมไม่ได้บอกว่าไปลอกเลียน ผมวิจารณ์เรื่องการลอกเลียน การพึ่งพา อย่าไปเรียนรู้แบบที่พึ่งพิงแล้วก็ลอกเลียน แต่เราข้ามวัฒนธรรมเพื่อรู้จักคัดสรร การที่เราจะคัดเลือกมาได้เราต้องรู้ความต้องการของเราเอง เรื่องนี้เกี่ยวกับกระบวนทัศน์ ความนิยมอะไรต่างๆ เรามักจะนิยมโดยที่ไม่ได้คัดเลือก อะไรเต็มไปหมด ในขณะเดียวกันก็ทิ้งรากของตัวเอง แน่นอน ความอยู่รอดไปได้ แต่มันจะไปได้บนพื้นฐานของการทำลายของเก่า และที่สำคัญมันจะเป็นการเดินไปได้บนพื้นฐานของการทำลายฐานทรัพยากร

คิดว่าการพูดถึงอุดมศึกษาทางเลือกตรงนี้ ผมไม่เฉพาะพูดถึงคำว่า"คน" ผมใช้คำว่า ชุมชนท้องถิ่นไทยเป็นชุมชนฐานทรัพยากร คิดว่าบทบาทของชุมชนท้องถิ่น บทบาทของอุดมศึกษา ทางเลือกที่เป็นไทตรงนี้ ก็เป็นทางเลือกที่จะสงวนรักษาบูรณภาพของฐานทรัพยากรนี้ด้วย อันนี้สำคัญ มันไม่ใช่เป็นความอยู่รอดของคนเท่านั้น คือถ้าเราพูดเฉพาะความอยู่รอดของคน เราก็หางานทำ ซึ่งก็จะไปวันๆหนึ่งเท่านั้นเอง

การที่เราต้องเดินตามกระแสเดี๋ยวนี้ เราต้องถามว่าทำไมเราต้องเดิน เราเดินเพื่อที่จะให้เราเข้มแข็ง มิใช่เดินเพื่อให้เราเตลิดเปิดเปิงไป อันนี้เป็นคำถามที่ฟังดูมันก็เบื้องต้น แต่จริงๆแล้วมันเป็นปมที่เราจะต้องพูดย้ำกันบ่อยๆเหมือนกัน

ผู้เข้าร่วมฟัง(ชาย) : ฟังอาจารย์พูดวันนี้เกี่ยวกับอุดมศึกษาทางเลือก ทางเลือกของเราในที่นี้ ท้ายที่สุดอาจจะเจอข้อหาการก่อการร้าย เนื่องมาจากหลังวันที่ 11 กันยา เกิดการออกอาการสติแตกกันบ้างแล้วสำหรับฟังทางโน้น ผมขออาจารย์ช่วยอธิบายให้ชัดเจนอีกหน่อยว่า กรณีที่พวกเรามานั่งฟังในวันนี้ ขณะที่โลกเขากำหนดให้นั่งดูฟุตบอลโลกกันอยู่ พวกเราจะโดนข้อหาก่อการร้ายหรือเปล่าครับ?

เสน่ห์ จามริก : เราก็รู้อยู่ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และประชาชนในระดับรากหญ้าเกือบทั่วโลก กำลังดิ้นรนเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทุกแห่ง ในแคนาดาและอเมริกาเอง คนพื้นเมืองเขาเรียกร้องสิทธิของบรรพบุรุษ ทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกิดหมด ในลักษณะที่แตกต่างกันไป แต่ว่า ปัญหาอันเดียวกัน คือความหวงแหนในชีวิต ทรัพยากร ที่ดิน อะไรพวกนี้

ในขณะนี้ที่ผมกลัว โดยผลกระทบจากโลกาภิวัตน์เป็นผลกระทบที่ทำให้ระบบทุนนิยมต้องเข้ามาช่วงชิง ยื้อแย่งที่ทำกินคือตัวทรัพยากร มันหมายถึงเป็นการคุกคามต่อชีวิตคน คือทรัพยากรกับชีวิตมันไปด้วยกัน เพราะฉะนั้น เมื่อการใช้สิทธิเสรีภาพอันนี้ มันก็หมิ่นเหม่ที่จะถูกตีความว่า"ก่อการร้าย" แต่ว่าน่าเสียดาย อย่าง สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นมหาอำนาจก็พยายามที่จะกดดันให้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในแถบนี้ เราจะเห็นว่า ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทย ก็ถูกดึงไปสมทบแล้วที่จะไปร่วมปราบผู้ก่อการร้าย ผมกลัวจะลามไปถึงพวกบ่อนอก หินกรูด พวกท่อแก๊สไทย-มาเลเซีย ซึ่งมันแยกไม่ออก ผมเกรงว่าจะทำให้ปัญหาการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ การประท้วง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้การรับรองเต็มที่ แต่จะถูกกระแสข้ามชาติทำให้รัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพกลายเป็นหมันไป

ที่เป็นหมันไม่ใช่ว่าปัญหาจะจบไป ผมไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมไม่อยากทำนายตรงนี้ แต่ลองคิดกันดูก็แล้วกัน โดยสรุปสถานการณ์ บรรยากาศตอนนี้มันบีบบังคับให้การใช้สิทธิ์เสรีภาพ ซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อการแสวงหาทางเลือก มันทำให้พื้นที่ทางการเมืองจำกัดแคบลง และประการสำคัญครับ คนชั้นกลางในเมืองมักจะตระหนกตกตื่นง่ายๆกับเรื่องก่อการร้ายอย่างนี้ ก็จะพลอยเฮฮาไปด้วย ซึ่งจะทำให้ปัญหาในชนบทเป็นปัญหาที่ยากลำบากมากขึ้น แล้วความรุนแรงก็จะระบาดกว้างขวางออกไปอีก นี้เป็นความรู้สึกที่หนักใจของผม

เมื่อคุณ แมรี่ โรบินสัน ซึ่งเป็นข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนสหประชาชาติเคยมาเยี่ยมเรา ผมเคยถามว่า รู้สึกอย่างไรกับบรรยากาศ ท่าที ของรัฐบาลอเมริกันหลัง 11 กันยายน ผมมีความเป็นห่วงตรงนี้, คุณ แมรี่ โรบินสัน เห็นด้วยกับผม แล้วเธอก็แสดงอะไรออกไปด้วยคำพูด ทำให้สหรัฐฯค่อนข้างไม่พอใจกับข้าหลวงคนนี้ แล้วก็ไม่ต่ออายุให้ อย่างนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้น ปรากฎการณ์อย่างนี้ แสดงถึงบรรยากาศของโลก กระแสข้ามชาติที่เคยเป็นผู้ให้กำเนิดของประชาธิปไตย ให้กำเนิดสิทธิเสรีภาพ ให้กำเนิดสิทธิมนุษยชน จะกลายเป็นคนที่เข้ามากดขี่สิทธิเสรีภาพเสียเอง เพื่อความเป็นใหญ่ของตัวเอง ขณะนี้กระแสข้ามชาติคือกระแสของอำนาจ ความเป็นใหญ่ และการครอบครอง ดังนั้นจึงตีความทุกอย่างเข้ามาเพื่อที่จะให้ช่องทางที่เขาจะใช้อำนาจนั้นเป็นไปอย่างชอบธรรม โดยเฉพาะในสายตาของชนชั้นกลาง เพราะฉะนั้น ผมจึงนึกถึงคนชั้นกลางเอาไว้ บางทีถ้าเราเปิดช่องทาง เราจะได้พันธมิตรที่เป็นประโยชน์ทั้งในเชิงลบและในเชิงบวก

สมเกียรติ ตั้งนโม : ผมเข้าใจว่าสิ่งที่อาจารย์กำลังพูด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฐานทรัพยากรก็ดี ชุมชนก็ดี หรือทางเลือกอุดมศึกษาที่เป็นไทก็ดี คิดว่าเรายังไม่ได้ไปไกลเกินกว่า"คน"ที่เป็นศูนย์กลางอยู่ เพียงแต่ว่า จากการปรับตัวไปสู่ความเป็นโลกสมัยใหม่ของตะวันตกเมื่อ 3-4 ร้อยปีที่แล้ว ผมคิดว่าศาสตร์ต่างๆที่ไม่ได้พูดถึงคน หรือศาสตร์ในตัวมัน อย่างไรก็ตาม มันมีคนแฝงอยู่ แต่เป็นคนกลุ่มน้อยที่ได้ประโยชน์จากทรัพยากร สิ่งที่อาจารย์พูดผมคิดว่าเรายังไม่ได้ไปไกลเกินกว่า"คน"เช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าเราขยายภาพคนเป็นชุมชน แล้วมันใหญ่ขึ้น มีการศึกษาชนิดใดไหมที่ เรามองถึงสรรพชีวิตมากกว่าคนเป็นศูนย์กลาง แล้วทางเลือกแบบนั้นเป็นทางเลือกที่อาจารย์คิดอย่างไร

เสน่ห์ จามริก : ผมใช้คำว่า"โลกชีวิต" ถ้าจะพูดภาษาฝรั่งก็ Life World คำว่า"โลกชีวิต"มันไม่ใช่โลกชีวิตของคนๆ แต่หมายถึงคนที่อยู่ในวัฒนธรรม อยู่ในสภาพแวดล้อม อยู่ในระบบนิเวศ อยู่ในประวัติศาสตร์ โลกชีวิตเป็นอย่างนั้น

ผมอยากให้ตีบทนี้ให้แตกว่า โลกชีวิตในสังคมยุโรปคืออะไรนอกเหนือไปจากเรื่องคน เพราะว่า ถ้าคิดแค่เรื่องคน เราก็คิดแบบฝรั่ง เพราะฝรั่งคิด ไม่ได้คิดอะไรนอกจาก"คน"เป็นปัจเจก คนเป็นเพียงหน่วยอะตอมหนึ่งเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ผมจึงบอกว่า ความเป็นอิสระทางความคิด และถ้าเป็นทางเลือกต้องคิดอีกแบบหนึ่ง คิดแบบปัจเจกสุดโต่ง คิดแบบคนเป็นอะตอม แล้วไม่ใช่เป็นอะตอมที่อยู่ธรรมดา แต่เป็นอะตอมที่เข้ามาแก่งแย่งกันด้วย แบบทฤษฎีของพวกฮอปส์อะไรพวกนี้ เป็นอะตอมที่ไม่มั่นคง ฉันจะอยู่ได้ฉันต้องเป็นใหญ่เหนือคนอื่นอย่างนี้เป็นต้น เรียกว่า ในภาษาของฮอปส์ก็คือว่า เป็นสภาวะของโลกชีวิตที่ทุกคนทำสงครามกับทุกๆคน

อันนี้คิดว่า ต้นกำเนิดของความคิดโลกชีวิต โลกทัศน์ กระบวนทัศน์ของตะวันตกมาจากตรงนี้ นี่คือปมของมัน ซึ่งผมไม่มีเวลาที่จะพูดตรงนี้ แต่ว่าอันนี้คือที่มาของความคิดสิทธิมนุษยชนของตะวันตก แล้วพยายามบอกว่านี่เป็นสากล แล้วเรื่องสิทธิมนุษยชนก็เป็นเรื่องที่มีการเมืองด้วย เขาต้องบังคับให้เราต้องคิดอย่างนั้นด้วย เห็นไหมครับ มันมีความสลับซับซ้อนมากในเรื่อง Politic ของ human right เพราะฉะนั้น เราเองไม่ได้ปฏิเสธความคิดแบบสิทธิของปัจเจก แต่ว่าปัจเจกมันเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของสิ่งที่เราเรียกว่าสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุนี้เราจึงพูดเรื่อง"สิทธิชุมชน" ตรงนี้เราต้องชูประเด็นให้ชัดเจน

ผมขอเล่าต่ออีกนิดเพื่อประโยชน์ คือความจริงผมไม่ได้พูดถึงอุดมศึกษาทางเลือกอย่างที่นี่พูดถึงกัน แต่ความจริงนัยะเหมือนกัน คงจำกันได้เมื่อสัก 2 เดือนที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาพยายามกดดันให้ไทยลงนามในข้อตกลงว่าด้วยเงินวิจัยป่าเขตร้อน เพื่อแลกกับที่เราเป็นหนี้ไม่กี่ล้านเหรียญ แต่ข้อตกลงนี้จะเปิดให้นักวิจัยสหรัฐฯเข้ามาสำรวจป่าทั่วไปหมด แล้วจะทำ inventory เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพหมด พวกเราก็ค้านกันจากหลายๆส่วน จนรัฐบาลก็ถอยไป และยอมแก้ไขข้อตกลงจนกระทั่งสหรัฐฯยอมรับไม่ได้ ฑูตอเมริกันให้สัมภาษณ์ว่า พวกเราเข้าใจผิด แต่ผมว่าพวกเราเข้าใจถูกแน่นอน

อย่างไรก็ตามเมื่อเรื่องนี้ผ่านไป ผมก็มานั่งคิดดูว่า ถ้าปล่อยไปอย่างนี้ ป่าเขตร้อนก็จะเป็นเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา โดยที่คนไทยไม่ได้มีสำนึกว่ามันมีคุณค่าแค่ไหน ในขณะนี้เราจึงเคลื่อนไหวมาอีกระดับหนึ่ง ได้มีการประชุม 2-3 ครั้งแล้ว และ NGO ก็ได้เผยแพร่ออกไปทุกภูมิภาค ต่อจากแถลงการณ์ที่เราคัดค้านเรื่องข้อตกลงมาแล้ว เราได้ประชุมกันจนได้ปฏิญาออกมา เรื่องเรียกร้องให้สังคมไทยลงทุนวิจัยป่าเขตร้อนเอง

อันนี้คือความเคลื่อนไหวที่เป็นอยู่ ความจริงแล้ว ก็เป็นเรื่องอุดมศึกษากลายๆ การวิจัยป่าเขตร้อนอะไรต่างๆ และคิดว่าสำหรับผม ทำในสังคมไทยอย่างเดียวคงไม่พอ อย่างที่เล่าแล้วเมื่อสักครู่ ก็อยากจะเชิญชวนเพื่อนฝูงทางพม่าบ้าง เขมร ลาว มาร่วมกันตรงนี้ นี่ก็เรียกว่าเป็นการปูทางเอาไว้ก็แล้ว เพื่อให้เห็นถึงขอบเขต ซึ่งจะทำให้เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องการเมืองที่ไม่มีพรรค หรือเป็น non-partisan politic กำลังจะขอหมดประเวศเป็นพ่อสื่อ เชิญนายกก็ดี ประธานสภา ประธานศาลฎีกา อาจจะมีผู้นำฝ่ายค้านด้วยก็ได้ มาพูดกันเรื่องนี้ให้เป็นเรื่องการเมืองที่ไร้พรรค ไม่ใช่รัฐบาลนี้ทำแล้วรัฐบาลหน้าขึ้นมาโยเยต่างๆ ไม่ใช่อย่างนั้น

ความจริงที่ผมพูดทั้งหมด ผมควรจะสรุปว่า การแสวงหาทางเลือกอุดมศึกษาที่เป็นไท ขออย่าให้คิดเป็นเรื่องตัวแบบ ที่ผมพูดมันเป็นกระบวนการของการพัฒนา เริ่มแรกทีเดียวถ้าเรารวบรวมบรรดาทางเลือกทั้งหลายที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นเหล้าพื้นบ้าน การแพทย์พื้นบ้าน เกษตรทางเลือก ต้องรวมพวกนี้ เพราะผมได้พูดมาแล้วว่า การศึกษาโดยเฉพาะอุดมศึกษาคือบทสรุปของทางเลือกทั้งหมด ไม่ใช่เป็นทางเลือกที่แยกออกจากทางเลือกอื่นๆ เพราะฉะนั้น ทางเลือกอุดมศึกษาในที่นี้ คงจะช่วยอย่างมากที่จะประมวลทางเลือกเหล่านี้ให้เข้ามาอยู่ในกระแสของการเรียนรู้ทางเลือกร่วมกัน แล้วอันนี้คือหลักสูตร หลักสูตรที่ไม่ใช่เรียนรู้กันในหอคอยงาช้าง แต่เป็นหลักสูตรที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม คือเป็น social learning ไปด้วยในขณะเดียวกัน เป็น learning by doing ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้อุดมศึกษาทางเลือกเป็นกระบวนการที่ทำไปตามขั้นตอน

การจะวางขั้นตอนอย่างไร เนื้อหาสาระอย่างไร ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่เราจะต้องขบคิดกันต่อไป ผมไม่อยากให้ประเด็นที่ยกมาวันนี้จบแค่การพูดตรงนี้ แต่พูดแล้วอย่างจะให้เกิดกระบวนการที่จะเดินหน้าในขั้นต่อไป

สมโชติ อ๋องสกุล : ผมขออนุญาตพูดถึง"ความรู้เพื่อการปลดปล่อย"ที่ท่านอาจารย์ได้พูดถึง เอาเป็นว่าประมาณ 30 ปีหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา ผมคิดว่ากระบวนการพัฒนาเพื่อให้เกิดความรู้เพื่อการปลดปล่อย ซึ่งท่านอาจารย์ได้มีส่วนอย่างมาก รวมทั้งท่านอาจารย์ป๋วย ดำเนินสืบมาจนถึงปัจจุบัน ที่เป็นการพัฒนาที่สำคัญของความรู้เพื่อการปลดปล่อย แต่ขอสังเกตุที่พบก็คือว่า ท่ามกลางความเคลื่อนไหวเพื่อการปลดปล่อย การครอบงำก็กลับทับทวีสูงขึ้น เพราะฉะนั้น 3 ทศวรรษของ 14 ตุลา 16 แนวการครอบงำก็กลับรุนแรงมากขึ้น แม้ว่ามันจะมีมาเป็นระยะๆแต่ทุกครั้งนั้น มันสามารถที่จะทำให้ความรู้เพื่อการปลดปล่อยนั้นขาดช่วงไปอย่างน่าเสียดาย อันนี้เป็นข้อสังเกตประการที่หนึ่ง

กระแสการครอบงำที่รุนแรงมากขึ้นนั้น แม้จะเป็นระยะๆ แต่มันก็ส่งผลโดยเฉพาะชนชั้นกลาง ชนชั้นกลางซึ่งเป็นผลผลิตของการศึกษาเพื่ออำนาจ ได้มีส่วนอย่างมากที่ทำให้ระบบการศึกษาเพื่อการปลดปล่อยไม่สามารถประสบความสำเร็จ

ประการที่สอง ในท่ามกลางกระบวนการพัฒนานั้น ผมก็คิดว่ามีความหวัง ความหวังก็คือชุมชน ชุมชนที่ยังไม่อยู่ในกระแสของการครอบงำ และถูกปลดปล่อย อย่างน้อยที่สุดก็ปลดปล่อยตามภาวะของรัฐธรรมนูญที่ถือว่าเป็นการปลดปล่อย แต่ก็ยังมีความพยายามที่จะถูกกำกับด้วยอำนาจเป็นระยะเช่นกัน ซึ่งคิดว่าท่านอาจารย์ในฐานะประธานสิทธิมนุษยชนก็คงจะต้องทำงานหนักมากยิ่งขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปรากฎการณ์ที่ยังไม่สิ้นสุดไป

คำถามก็คือว่า ท่ามกลางการปลดปล่อยที่ชุมชนสามารถได้รับการปลดปล่อย พอปลดปล่อยแล้วมันจะเป็นอย่างไรในสังคม เพราะว่า มันเติบโต มันพร้อมที่จะแสดงศักยภาพของชุมชน คิดว่าทั้งในเมืองและในชนบท แต่ท่ามกลางเงื่อนไขของกฎหมาย เงื่อนไขอะไรก็ตาม ล้วนแต่เป็นภาวะที่ทำให้สิ่งซึ่งถูกปลดปล่อยเหล่านั้นบรรลุถึงได้

เสน่ห์ จามริก : ที่จริงข้อสองของคุณมันตอบข้อหนึ่งไปในตัว จริงๆถ้าเรามองดูให้ดีโดยไม่เอาเราเป็นตัวตั้ง กระแสสังคมมีการพัฒนา เราไม่ได้ขาดช่วงอย่างที่เข้าใจ ผมคิดว่า 14 ตุลา 16 และเหตุการณ์พฤษภา 35 นั้นเป็นช่วงบทบาทของชนชั้นกลาง การเรียกร้องสิทธิเสรีภาพอะไรต่างๆ แต่อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 เราตั้งสหภาพเพื่อเสรีภาพหลัง 14 ตุลา ในขณะที่ชนชั้นกลางเรียกร้องสิทธิในเมือง แต่ว่ากระแสชนบทมาเยอะเลย เพราะฉะนั้น ผู้นำชาวไร่ชาวนาจึงถูกยิงตายไปหลายคน อย่างที่เรารู้กันอยู่แล้ว อันนี้ไม่ได้ขาดตอนนะครับ

ถ้าผมมองปัญหาสิทธิมนุษยชนของเมืองไทย ผมมองดูเป็น 2 ช่วงใหญ่ๆ ความจริงมันมากกว่านั้น แต่พูดเพื่อความเข้าใจตรงนี้ก็แล้วกัน คือ

ช่วงแรก เป็นช่วงของการต่อต้านเผด็จการทหาร แต่ขณะเดียวกัน เผด็จการทหารในยุคของสฤษดิ์ ถนอม ประภาส นั้น มันไม่ใช่เผด็จการในสมัยจอมพล ป. มันเป็นสมัยของยุคพัฒนาด้วย เพราะฉะนั้น กระแสของยุคพัฒนาจึงเป็นกระแสทั้งริดรอนสิทธิเสรีภาพของชนชั้นกลาง ปัญญาชน แต่ในขณะเดียวกันยุคพัฒนาก็เข้ามาเบียดเบียนชาวบ้านมาก ความยากจน ความเสื่อมโทรมทรัพยากร อันนี้เยอะแยะไปหมด ฉะนั้นกระแสหลัง 14 ตุลาคม คนชั้นกลาง นิสิต นักศึกษา ปัญญาชนจึงเป็นหัวหอก แต่กระแสของชาวไร่ชาวนามันตามมา เป็นแต่เพียงว่ามันไม่ได้โดดเด่นเพราะว่า มันเป็นยุคที่เผด็จการทหารเป็นเป้าหลัก

ปัญหาความยุติธรรมทางเศรษฐกิจที่เราพูดถึงมากมาย ภาพมันไม่ค่อยชัดเจน มาถึงพฤษภาทมิฬ 35 มันก็เป็นเรื่องคนชั้นกลางล้วนๆชัดเจน อันนี้เหมือนกับชนชั้นกลางในรัสเซีย ที่โทรศัพท์มือถือสามารถที่จะเอาชนะพวกทหารได้ แต่มาในช่วงหลังยุคโลกาภิวัตน์ หลังการล่มสลายของจักรวรรดิ์คอมมิวนิสต์ กำแพงเบอร์ลินพังทลายลง โลกาภิวัตน์ได้สำแดงอิทธิพลออกมาโดยตรง บรรษัทข้ามชาติ การลงทุนต่างๆเข้ามาช่วงชิงหรือครอบครองทรัพยากร เพราะว่าขณะนี้ถ้าเรามองดูทั้ง ทุน เทคโนโลยี ตลาด ผมคิดว่าตะวันตก มหาอำนาจอุตสาหกรรมครอบงำหมดแล้ว แต่ว่าเวทีสำคัญต่อไปนี้ ไม่ใช่เวทีสินค้าตลาดสินค้าพวกอีเล็คทรอนิคอะไร ไม่ใช่! พวกนี้เป็นเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่เวทีสำคัญดังที่ผมเคยพูดหลายครั้ง ต่อไปนี้คือ"ฐานทรัพยากร"โดยตรง

โลกาภิวัตน์จะเข้ามาจาบจ้วงฐานทรัพยากรโดยตรง เพราะต่อไปนี้มันจะไม่ใช่เป็นการแข่งขันเรื่องการตลาดของผลิตภัณฑ์ฟุ่มเฟือยต่างๆ แต่มันจะเข้ามาช่วงชิงสิ่งที่เป็นต้นทุนชีวิตของคนในท้องถิ่น เพราะความหลากหลายทางชีวภาพเป็นต้นทุนที่เขาสามารถนำไปวิเคราะห์วิจัย แล้วก็ผูกขาดเป็นทรัพย์สินทางปัญญา เพราะฉะนั้น ระบบสิทธิทรัพยสินทางปัญญาจึงเป็นอีกระบบหนึ่งที่งอกขึ้นมา การช่วงชิงตรงนี้จึงเป็นการทำศึกโดยตรง ระหว่างกระแสข้ามชาติกับกระแสท้องถิ่น

ขณะนี้ปัญญาชนในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาบางส่วน เริ่มพูดถึงกระแสโลกาภิวัตน์จากข้างล่างแล้ว คู่ขนานกันไปกับกระแสโลกาภิวัตน์จากข้างบน เริ่มพูด Localization จากข้างล่าง และที่ผมพูดวันนี้คืออันนี้ เพราะฉะนั้น ผมจึงบอกว่า อุดมศึกษาทางเลือกนั้น จะจำกัดในชุมชนเดียวไม่ได้ เพราะสภาวการณ์มันเป็นระดับโลก แล้วก็อำนาจรัฐชาติก็ไม่สามารถให้การคุ้มครองได้

ตรงนี้จะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม ชุมชนท้องถิ่นจะต้องยืนขึ้นมา ความสำเร็จหรือความล้มเหลวก็อยู่ตรงนี้ แต่อย่างน้อยที่สุดผมก็มีเพื่อนๆนักวิชาการพวกตะวันตกที่มองเห็นว่า กระแสของท้องถิ่นที่เป็นระดับ ค่อนข้างไม่ใช่ในแต่ละประเทศ มันเกิดขึ้นทั่วโลก มันเป็น Global-localization ก็ได้ ซึ่งกำลังขึ้นมา

ผมได้กำลังใจจากนักเขียนคนหนึ่งจากออสเตรเลียสัก 15 ปีมาแล้ว เขาบอกว่า ในการเริ่มต้นสหัศวรรษใหม่ กาลเวลาของอดัม สมิทธิ์กำลังจะหมดลงไปแล้ว เพราะว่า อดัม สมิทธิ์เป็นที่มาของการผูกขาดศูนย์อำนาจระบบเศรษฐกิจโลก แต่ต่อไปนี้มันจะเป็นระบบเศรษฐกิจที่ค่อยๆคลี่คลายไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่า Multi-tear economy หมายความว่าจะไม่เป็นระบบเศรษฐกิจที่ไปรวมศูนย์เหมือนในยุคก่อน แต่จะเป็นยุคที่ค่อยๆคลี่คลายเป็นการกระจายหลายๆระดับมากขึ้น และระดับชุมชนท้องถิ่นจะเป็นระดับหนึ่งในเศรษฐกิจโลกในอนาคต แนวโน้มตรงนี้ พูดเพื่อให้กำลังใจว่า นี่ไม่ใช่ความเคลื่อนไหวเฉพาะในสังคมไทย แต่มันเกิดขึ้นมาทั่วโลกจนกระทั่งนักวิชาการบางส่วนก็เริ่มมองเห็น

ผู้เข้าร่วมฟัง(ชาย) : ผมคิดว่า Globalization กำลังจะหมด ศตวรรษใหม่ก็คือ Footballization ผมยังไม่ชัดเจนที่อาจารย์พูดถึงว่า รัฐชาติเป็นที่มาของความขัดแย้งไม่มีที่สิ้นสุด รัฐชาติไม่มีความหมาย แต่จากโลกของฟุตบอลผมคิดว่ารัฐชาติจะเข้มแข็งขึ้นมาอีกรอบหนึ่ง ออกอาการครับ คนไทยอยากจะเข้ารอบฟุตบอลโลก เด็กๆออกอาการคลั่งไคล้ไปหมด เดี๋ยวนี้เดินกันธรรมดาๆไม่ได้กันเสียหมดแล้ว ชาติอิตาลีแพ้ออกอาการ รัสเซียแพ้ออกอาการ คนไทยที่ไม่ได้เข้ารอบก็ออกอาการเช่นกัน นี่หมายถึงรัฐชาติเข้มแข็ง กระบวนการฟุตบอลทำให้รัฐชาติเข้มแข็งขึ้นมาอีกรอบหนึ่งหรือเปล่าครับ ?

เสน่ห์ จามริก : ผมอยากจะเล่าถึงเรื่องๆหนึ่ง คือเมื่อหลายปีก่อน องค์กรหนึ่งเขาได้จัดประชุมที่ซานฟรานซิสโก และมอบให้กอบาชอฟเป็นเจ้าภาพ กอบาชอฟก็รู้ว่าทางโลกตะวันตกเขานิยมชมชื่นว่าเป็นนักประชาธิปไตยอะไรทำนองนี้ เขาประชุมคน 500 คนทั่วโลก เป็นระดับหัวครีมเลย มีทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักสื่อสารมวลชน นักธุรกิจ รวมทั้งพวก Micro Soft ด้วย

เขาบอกว่าในความก้าวหน้าและการพัฒนาของทุนเทคโนโลยีทุกวันนี้ ต่อไปความต้องการกำลังคนที่จะใช้ในระบบเศรษฐกิจจริงๆในอนาคต มีเพียง 20% เท่านั้น การประชุมครั้งนั้นจึงเป็นข่าวอื้อฉาวไปทั่วโลกว่าสูตร 20-80 หมายความว่า คน 100 คน ความจำเป็นที่ต้องใช้คนจริงๆ 20 คนเท่านั้น ที่เหลือ 80 คนเอาไว้ไหนครับ? 80 ไปอยู่ในกลุ่มคนที่เรียกว่า social safety net หรือตาข่ายความปลอดภัยของสังคม

ผมเคยพูดกับ ดร.เมธี ครองแก้ว ในการประชุมครั้งหนึ่งว่า ตาข่ายความปลอดภัยของสังคมนี่ มันปลอดภัยสำหรับใคร ตาข่ายหมายความว่า เอาคน 80% นี้มาอยู่ในตาข่ายหมดเพื่อที่จะไม่ให้ไปเป็นอันตรายหรือคุกคามต่อคน 20% ใช่หรือเปล่า ดร.เมธี บอกว่า ฟังผมพูดดูเหมือนว่าจะมาผิดวิกเสียแล้ว คือไม่เข้าใจ

ในการประชุมคราวนั้นมีศัพท์อีกคำหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือศัพท์คำว่า tititainment คือหมายความว่า ขณะนี้ด้วยความเจริญทางทุนเทคโนโลยี และการตลาด มันทำให้คน 80% นอกเหนือไปจาก social safety net ที่ว่าแล้ว นี้ คนยังมีความบันเทิงในเรื่อง internet รายการทางโทรทัศน์เยอะแยะไปหมด ซึ่งเป็นเครื่องมือที่กล่อมให้คนว่านอนสอนง่าย ผมคิดว่าฟุตบอลก็เป็นส่วนหนึ่งอันนี้ ฟุตบอลก็เป็นส่วนหนึ่งของพาณิชย์หรือโลกธุรกิจ อย่านึกว่าเป็นเรื่องของโลกกีฬา

การตลาดคุณก็รู้ การตลาดจะใช้อะไรก็ตามที่ดึงเข้ามา จะเป็นชาตินิยม เขาใช้ได้ทั้งหมด เพราะฉะนั้นชาตินิยมที่พูดถึงในที่นี้ต้องคิดดูให้ดีว่า มันเป็นชาตินิยมที่ถูกกล่อมหรือว่าอะไร ผมอยากจะให้พวกเรา debate ตรงนี้ มันไม่ใช่ความหมายของชาตินิยมง่ายๆอย่างที่เราเข้าใจ แต่ว่ามันเป็น จะเรียกว่า commercialize nationalism ก็ได้ แล้วความรุนแรงของการกีฬาทุกวันนี้ ธุรกิจสร้างความรุนแรงมากเพราะว่า ทุกคนต่อสู้ด้วยชีวิตเพราะว่ามันเงินทั้งนั้น นอกจากชื่อเสียงแล้ว อันนี้เป็นประเด็นที่อาจจะได้คิดวิเคราะห์กันต่อไป

ที่ผมเล่าถึงการประชุมที่ซานฟรานซิสโกจะทำให้เห็นภาพคนที่เป็น elite ของโลกทุกวันนี้เขาคิดกันอย่างไร เพราะฉะนั้น ผมจึงพูดถึงคนชั้นกลาง คนชั้นกลางก็อยู่ในข่าย 80% นี้แหละ ฉะนั้นคนชั้นกลางถ้ารู้ตัวจะต้องหาทางดิ้นรนหาพันธมิตร และพันธมิตรของคนชั้นกลางก็คือชนบท

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม word)

 

นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลงมาจะแก้ปัญหาได้ / บทความเดือนกรกฎาคม 2545

"มหาวิทยาลัยตายแล้ว"
ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท

โดย เสน่ห์ จามริก
ณ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซอย รร.เชียงใหม่ภูคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
วันที่ 22 มิถุนายน 2545 เวลา 14.00 น. - 16.30 น. (บทความนี้ยาวประมาณ 19 หน้ากระดาษ A4)

เสน่ห์ : เรื่องของ "ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท" ไม่ทราบว่าใครตั้งชื่อนี้ แต่เป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่ง มีคำอยู่ 2 คำที่ทันสมัยอยู่มาก นั่นคือคำว่า"ทางเลือก" เพราะใน 10 ปีที่ผ่านมาคำว่า"ทางเลือก" เกือบจะทุกๆเรื่อง... ผมเองเมื่อก่อนตอนจับงานที่สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เราก็เริ่มพูดถึงทางเลือก แล้วผมก็ไปเติมเกษตรทางเลือก เดี๋ยวนี้ก็ แพทย์ทางเลือก การศึกษาทางเลือก มาวันนี้ก็อุดมศึกษาทางเลือก

ผมคิดว่า"ทางเลือก"ทั้งหมดที่เราได้ยินมา แต่ละส่วนนั้นเป็นเพียงส่วนที่เป็นองค์ประกอบของสิ่งที่ผมจะพูดต่อไปคือ "องค์ประกอบของโลกชีวิต" ซึ่งที่ผมจะพูดคือ ความหมายของคำว่า"โลกชีวิต"มันมีนัยสำคัญที่เกี่ยวข้องกับอุดมศึกษาที่ผมจะกล่าวต่อไป

อีกคำซึ่งผมคิดว่ามีนัยสำคัญมากคือ "ทางเลือกที่เป็นไท" คิดว่าในยุคสมัยนี้ การพูดถึง"ทางเลือกที่เป็นไทย"ไม่เพียงพอแล้ว เพราะจะต้องมองทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลกด้วย เนื่องจากตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างที่เราพูดกันบ่อยๆจนชินคือคำว่า"โลกาภิวัตน์"นั้น นัยสำคัญของคำว่า"โลกาภิวัตน์"ยังไม่ค่อยจะได้พูดถึงกันเท่าไหร่นัก ดังนั้นจึงอยากจะเกริ่นตรงนี้ว่า "ทางเลือกของอุดมศึกษา" เปรียบเสมือนเป็นบทสรุปหรือชุมทางของทางเลือกต่างๆที่เราพูดถึงกันโดยมาก ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแพทย์ หรืออะไรต่างๆพวกนี้ซึ่งสรุปแล้ว การศึกษาเป็นบทสรุปหรือชุมทางของทุกสิ่งทุกอย่าง