มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ สถาบันราชภัฏสกลนคร และองค์กรพันธมิตร จัดสัมนาเรื่อง"ทางเลือกการจัดการน้ำในภาคอีสาน" ในช่วงเดือน เมษายน 2545 ที่ผ่านมา

บทความลำดับที่ 177 มาจากเรื่อง"ทางเลือกของการจัดการน้ำ" เขียนโดย นิธิ เอียวศรีวงศ์ และเรื่อง"ทางเลือกจัดการน้ำมีมากกว่า เขื่อน" เขียนโดย ชยันต์ วรรธนะภูติ

หมายเหตุ : ในที่นี้ได้นำเอาบทความทั้งสองเรื่องมารวมกัน เพื่อการค้นคว้า และเป็นหลักฐานการเริ่มต้นพิจารณา การจัดการน้ำที่เป็นรูปธรรมของชาวบ้านมาแต่อดีต


ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการนำไปใช้ ประโยชน์ทางวิชาการ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

 

ภาพประกอบดัดแปลง : จากบทความเรื่อง Fantastic Voyage ในหนังสือ Print ฉบับที่ LV:I และภาพกบ จากหนังสือ The
Macmillan Visual Dictionary หน้า 84
"ความรู้" ของการจัดน้ำของชาวบ้านไม่ใช่ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีล้วนๆ แต่เป็นความรู้ที่เชื่อมโยงอย่างน้อยสามด้านด้วยกันคือ ด้านเทคโนโลยี, ด้านระบบนิเวศ และด้านสังคม-วัฒนธรรม ความสำเร็จในการจัดการน้ำแบบชาวบ้านหมายถึงการสร้าง "ความรู้" ที่เชื่อมโยงสามด้านนี้เข้าด้วยกัน ไม่ได้หมายถึงวิศวกรรมศาสตร์อย่างเดียว หรือเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว ดังที่ใช้เป็น "ฐาน" ในการจัดการน้ำของราชการ (ตัดมาบางส่วนจากบทความ / นิธิ เอียวศรีวงศ์)
H
home
บริการข่าวสารความรู้ทางวิชาการฟรี โดย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อเป็นทางเลือกอุดมศึกษาไท บทความลำดับที่ 177 ประจำเดือน พฤษภาคม 2545

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

release date 100545 / บทความนี้ยาวประมาณ 6 หน้ากระดาษ A4
พวกเราในมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วาดหวังว่า การจัดสัมมนา "ทางเลือกการจัดการน้ำในภาคอีสาน"
ครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง "องค์ความรู้" ร่วมกันในสังคม ว่า ยังมีทางเลือกอะไรอีกบ้างที่เหมาะสมกว่าในการจัดการน้ำแบบรวมศูนย์ด้วยโครงการขนาดใหญ่
แต่เราก็รู้ว่าการสร้าง "ความรู้" ที่เป็นทางเลือกนั้น หมายถึงการสั่นคลอนโครงสร้างผลประโยชน์ที่
ครอบงำสังคมอยู่ จึงอาจไม่บรรลุความคาดหวังของเราได้อย่างง่ายๆ

ทางเลือกเหล่านี้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เป็นจริงของชาวบ้าน มากกว่าโครงการของรัฐซึ่งสอดคล้องแต่กับวิถีชีวิตชาวบ้านในความฝันหรือความโลภของนักการเมืองและข้าราชการ

เช่น ชาวบ้านผู้เข้าร่วมสัมมนาจากหลายท้องที่ในภาคอีสาน เล่าตรงกันว่า เขามีความรู้ในการหาแหล่งน้ำเพื่อขุดบ่อน้ำตื้น หรือในบางกรณีขุดน้ำซ่าง (น้ำบ่อไว้กิน) โดยการออกไปเดินหาในช่วงกลางคืน หากที่ใดมีไออุ่นจากพื้นดินก็หมายความว่าที่นั้นมีน้ำใต้ดิน พอจะขุดบ่อได้ ถ้าไออุ่นนั้น "แรง" ก็แปลว่าน้ำใต้ดินอยู่ตื้น บางคนกล่าวว่า ควรออกเดินหาน้ำตอนดึกเมื่ออากาศเย็นมากแล้ว บางคนบอกว่าหาหน้าหนาวได้ยิ่งดี แต่หลักการก็ตรงกัน คือน้ำคายความร้อนได้เร็วกว่าดิน ฉะนั้น ก็จะหมายทำเลที่มีน้ำได้ไม่ยาก

เทคนิคของชาวบ้านบางแห่งใช้กะลาแห้งครอบผืนดินไว้ แล้วตรวจดูในตอนเช้าว่าจุดใดมีไอน้ำเกาะด้านในของกะลามาก จุดนั้นก็มีน้ำมาก

หากจะขุดน้ำซ่าง ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ ชาวบ้านก็ร่วมแรงร่วมใจกันในการขุด หาไม้มากันข้างบ่อ อีกทั้งมีระเบียบกติกาตามประเพณีที่จะปฏิบัติต่อน้ำซ่าง เพื่อรักษาความสะอาดของน้ำเอาไว้ใช้บริโภคได้ เช่น ห้ามไม่ให้ใครโดดลงไปในบ่อ หรือทำทุราจารอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้น้ำซ่าง "สกปรก" ทั้งในเชิงกายภาพและเชิงพิธีกรรม หากใครละเมิดก็จะถูกปรับหรือถูกลงโทษอื่นๆ เพราะทุกคนในชุมชนจะต้องมาร่วมแรงกันในการ "ล้าง" บ่อ (คือวิดเอาน้ำออกจากบ่อให้แห้ง เพื่อเก็บน้ำสะอาดใหม่)

น้ำซ่างมีอยู่ทั่วไป ทั้งในเขตชุมชนและนอกเขต เช่น ตามเส้นทางเดินในป่า ทั้งที่เกิดจากการสร้างขึ้นของมนุษย์และในบางกรณีก็เกิดตามธรรมชาติ (แล้วมนุษย์ไปปรับปรุงพัฒนาขึ้น) ทั้งหมดล้วนเป็นสาธารณสมบัติสำหรับมนุษย์ใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งสิ้น

ชาวบ้านมีความรู้การขุดน้ำตื้นที่เหมาะกับภูมินิเวศของอีสานดีมาก เช่นชาวบ้านบอกว่าการขุดสระน้ำตื้นไม่ควรขุดให้ลึกด้วยความโลภว่าจะเก็บน้ำได้มากๆ อย่างที่ราชการเร่งระดมขุดอยู่ในเวลานี้ เพราะสระเหล่านี้จะเก็บน้ำไม่ได้ในหน้าแล้ง กลายเป็น "บ่อลม" หมด (ซึ่งเราก็เห็นกระจายอยู่ในภาคอีสานหลายแห่ง) นอกจากนี้ไม่ควรสร้างคันดินกั้นขอบสระโดยรอบอย่างที่ราชการทำ เพราะทำให้น้ำไม่ไหลเข้าในหน้าฝน ในขณะเดียวกันก็ไม่ให้ตะกอนขี้ตมไหลลงอุดยาพื้นสระด้วย ยิ่งทำให้เก็บน้ำไม่ได้ ชาวบ้านบางคนกล่าวว่าในแถบบ้านของเขา มีภาษิตมาแต่โบราณแล้วว่าบ่อน้ำตื้นจะยังไม่เก็บน้ำใน 3 ปีแรก เพราะต้องรอให้ขี้ตมได้อุดยาก้นบ่อเสียก่อน

น้ำในบ่อน้ำตื้นเหล่านี้ชาวบ้านนำมาใช้ทำการเกษตรขนาดเล็กๆ ในฤดูแล้ง เช่น ลงพริกไว้ขาย จะได้รายได้จำนวนหนึ่งไว้จุนเจือ แต่อย่าหวังรวยล้นด้วยการปลูกข้าวโพดฝักอ่อน เพราะมีน้ำไม่พอในหน้าแล้งที่จะทำได้ขนาดนั้น ชาวบ้านบอกว่าเพียงขายพริกได้ ก.ก.ละ 5 บาท เขาก็ได้กำไรแล้ว แต่บางปีที่พริกขาดแคลนเขาได้กำไรจากพริกที่อาศัยน้ำในสระน้ำตื้นเป็นอันมาก

ชาวบ้านในบางท้องที่โชคดีที่มีน้ำผุด บางแห่งชาวบ้านจัดตั้งองค์กรของชาวบ้านขึ้นจัดการระบบชลประทานน้ำผุดของตัวเอง โดยการร่วมกันขุดคลองส่งน้ำเป็นเครือข่ายซับซ้อน สร้างกฎกติกาดูแลการใช้น้ำกันอย่างเป็นธรรม

ชาวบ้านรู้ดีว่าน้ำผุดมีอยู่ได้เพราะความอุดมสมบูรณ์ของป่า จึงมีมาตรการรักษาและดูแลป่าให้อุดมสมบูรณ์ตลอดไปด้วย

มีสิ่งที่น่าสังเกตในเรื่อง "ความรู้" ของการจัดน้ำของชาวบ้านหลายอย่าง ซึ่งผมขอยกมากล่าวเฉพาะที่เด่นๆ บางอย่าง

1) "ความรู้" นี้ไม่ใช่ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีล้วนๆ แต่เป็นความรู้ที่เชื่อมโยงอย่างน้อยสามด้านด้วยกันคือด้านเทคโนโลยี, ด้านระบบนิเวศ และด้านสังคม-วัฒนธรรม ความสำเร็จในการจัดการน้ำแบบชาวบ้านหมายถึงการสร้าง "ความรู้" ที่เชื่อมโยงสามด้านนี้เข้าด้วยกัน ไม่ได้หมายถึงวิศวกรรมศาสตร์อย่างเดียว หรือเศรษฐศาสตร์อย่างเดียว ดังที่ใช้เป็น "ฐาน" ในการจัดการน้ำของราชการ

2) และเพราะ "ความรู้" นี้เชื่อมโยงไปรอบด้านเช่นนี้ การจัดการน้ำบางอย่างของชาวบ้านจึงเป็นเรื่องการเข้าไปใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เช่น การใช้ประโยชน์จากทาม (พื้นที่ริมน้ำที่น้ำท่วมถึงในฤดูน้ำ), จากป่า, จากแก่งในลำน้ำมูล, จากภู ฯลฯ เป็นต้น

ชาวบ้านพูดถึงการใช้ประโยชน์จากทามอย่างยั่งยืนไว้มาก ที่จริงทามเป็นพื้นที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในภาคอีสาน และนับเป็นที่ดินซึ่งมีปริมาณสูงมากในภาคอีสาน หากไม่ถูกเขื่อนทำลายทิ้งเสีย ชาวบ้านก็จะได้ประโยชน์จากทามอเนกประการ รวมทั้งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาในฤดูน้ำหลากอีกด้วย

ส่วนใหญ่ของพื้นที่ทามเป็นสาธารณสมบัติ ยกเว้นบางแห่งที่นายทุนเข้ามาจับจองและออกเอกสารสิทธิ์ ชาวบ้านที่อยู่ใกล้ทามของลุ่มน้ำสงครามสามารถต่อสู้ในชั้นศาลจนได้พื้นที่ทามกลับคืนมาจากนายทุนหลายพันไร่ พวกเขาจัดตั้งองค์กรของชาวบ้านขึ้นดูแลบริหารทามให้ยั่งยืนจนประสบความสำเร็จ

นี่ก็นับเป็น "ความรู้" ในการจัดการน้ำอย่างหนึ่ง และที่น่าสนใจก็คือ สามารถประยุกต์ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดใหม่ในสมัยนี้ได้ด้วย เพราะการดูแลจัดการทามในภาคอีสานส่วนใหญ่นั้น อาศัยฮีดคองที่ปฏิบัติกันมานานมากกว่าการจัดตั้งองค์กรเป็นรูปธรรมอย่างนี้

3) "ความรู้" การจัดการน้ำของชาวบ้านมีพื้นฐานอยู่ที่ท่าทีซึ่งมีต่อธรรมชาติ กล่าวคือ ยอมรับความแปรผันของธรรมชาติเป็นเรื่องปกติ ฤดูน้ำย่อมมีน้ำหลาก ฤดูแล้งก็ย่อมแล้งเป็นธรรมดา ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การไปเปลี่ยนให้แล้งกลายเป็นน้ำ หรือไปควบคุมมิให้น้ำหลากในหน้าน้ำ ชาวบ้านพูดถึงท่าทีเช่นนี้ตลอดเวลา ตรงกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ดร.ประสิทธิ์ คุณุรัตน์) ที่ชี้ว่า ความแล้งของอีสานทำให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นมากมาย เช่นไม้อีสานเนื้อแกร่งกว่าไม้จากภาคอื่น, ผลไม้ที่เอามาปลูกในอีสานมีรสแหลมกว่าแหล่งกำเนิดเดิม, มีแมงบางอย่างที่ชุกชุมในหน้าแล้งซึ่งชาวบ้านใช้เป็นอาหารได้ดี

ท่านสรุปว่า ปัญหาอยู่ที่จะใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากธรรมชาติอย่างไรต่างหาก ไม่ใช่อยู่ที่แล้งหรือน้ำท่วม

4) การใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างยั่งยืนนั้น "ความรู้" ของชาวบ้านบอกไว้ชัดเจนว่าต้องใช้อย่างพอดี ดังเช่นที่กล่าวแล้วว่าสระน้ำตื้นใช้ปลูกพืชบางอย่างในฤดูแล้งได้ แต่ถ้าคิดเอากำไรกันอย่างไม่อั้น ก็ไม่มีทางที่จะหาน้ำมาป้อนการผลิตได้เพียงพอ ทั้งนี้ มิได้หมายความว่าชาวบ้านไม่ยอมผลิตเชิงพาณิชย์ ชาวบ้านผลิตของไว้ขายจำนวนมาก แต่ต้องมีขีดจำกัดที่ความพอดี

มิฉะนั้น การผลิตเชิงพาณิชย์อย่างสุดโต่ง ดังที่อยู่ในจินตนาการของนักการเมืองและข้ารากชาร ก็จะทำให้ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะใช้ทรัพยากรในอีสานอย่างยั่งยืนได้

การจัดการนน้ำทั้งสามมิติ รวมทั้งส่วนที่เป็นท่าทีหรือทรรศนะเช่นนี้ จะนับว่าเป็น "ความรู้" ได้หรือไม่ ? ผมคิดว่าเป็น "ความรู้" อย่างปฏิเสธไม่ได้แน่นอน เพียงแต่ว่าเป็นความรู้ที่ไม่มีการประมวลและจัดให้เป็นระบบชนิดที่เรียกว่า "องค์ความรู้" ฉะนั้น จึงไม่อาจถ่ายทอดโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้รของโลกสมัยใหม่ (เช่นเอาไปสอนในห้องเรียน, เอาไปเขียนหนังสือ หรือขึ้นในเว็บไซต์ เป็นต้น) แต่ชาวบ้านถ่ายทอด "ความรู้" เหล่านี้โดยผ่านวิถีชีวิต แปลว่ายากแก่คนที่ไม่ได้อยู่ในวิถีชีวิตอย่างนั้นจะเรียนรู้ได้

หากถามว่า เราจะพัฒนา "ความรู้" เช่นนี้ขึ้นมาเป็น "องค์ความรู้" ได้หรือไม่ ผมก็คิดว่าได้อีกเหมือนกัน และน่าจะทำด้วย เพื่อใช้เป็นฐานสำหรับการสร้าง "ความรู้" ของสังคมปัจจุบันในการมองหาทางเลือกของการจัดการน้ำ ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดความยั่งยืนในระบบนิเวศ

แต่ "ความรู้" ทุกอย่างในโลกนี้ไม่เคยอยู่ลอยๆ "ความรู้" อย่างหนึ่งให้อำนาจแก่คนกลุ่มหนึ่ง "ความรู้" อีกอย่างหนึ่งให้อำนาจแก่คนอีกกลุ่มหนึ่ง (ที่ว่ากันว่าความรู้คืออำนาจนั้นจริง แต่ต้องถามต่อด้วยว่าอำนาจของใคร) "ความรู้" ที่เป็นทางเลือกของการจัดการน้ำของชาวบ้านย่อมคืนอำนาจการตัดสินใจในหลายด้านให้แก่ชาวบ้านด้วย นับตั้งแต่ใช้เทคโนโลยีที่ชาวบ้านอาจควบคุมได้ ไปจนถึงอำนาจในการจัดการไร่นาของตนเองโดยอิสระ ยิ่งไปกว่านี้ ทางเลือกของการจัดการน้ำ ทำให้ "ความรู้" ประเภทที่เบนทรัพยากรน้ำไปบำเรอคนกลุ่มเล็กๆ ในภาคเศรษฐกิจสมัยใหม่จะไร้ความชอบธรรมไปทันที อย่างน้อยก็ทำให้ผู้คนมองเห็นว่ามีทางเลือกในการจัดการน้ำมากกว่าหนึ่งทาง

พวกเราในมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วาดหวังว่า การจัดสัมมนา "ทางเลือกการจัดการน้ำในภาคอีสาน" ครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง "องค์ความรู้" ร่วมกันในสังคม ว่ายังมีทางเลือกอะไรอีกบ้างที่เหมาะสมกว่าในการจัดการน้ำแบบรวมศูนย์ด้วยโครงการขนาดใหญ่

แต่เราก็รู้ว่าการสร้าง "ความรู้" ที่เป็นทางเลือกนั้น หมายถึงการสั่นคลอนโครงสร้างผลประโยชน์ที่ครอบงำสังคมอยู่ จึงอาจไม่บรรลุความคาดหวังของเราได้อย่างง่ายๆ

 

ทางเลือกจัดการน้ำมีมากกว่า "เขื่อน" ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ

ภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรน้ำของชาวบ้านนั้นเป็นความรู้ในการจัดความสัมพันธ์ มาจากการปฏิบัติ ทดลองในชีวิตประจำวัน และสืบทอดความรู้เหล่านี้มานมนาน แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นได้ชัดว่า องค์ความรู้ที่เป็นฐานความคิดในการจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย เป็นความรู้ที่แคบและมีมิติเดียว ไม่เพียงพอที่จะอธิบายความสลับซับซ้อนของระบบนิเวศน์ของอีสาน ระบบความสัมพันธ์ทางสังคม และการจัดการที่หลากหลาย จึงไม่แปลกใจที่เราเห็นความล้มเหลวในการจัดการน้ำ และความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรมาโดยตลอด

ผมมีข้อสรุป 4 ประเด็นหลักเกี่ยวปัญหาการจัดการน้ำในอีสานที่ผ่านมา ดังนี้

1.มายาคติในการจัดการทรัพายากรน้ำภาคอีสาน และความคิดเชิงเดี่ยว
อีสานถูกบอกว่าเป็นพื้นที่แห้งแล้งที่สุดในประเทศ ถึงแม้ว่าจะเป็นบริเวณที่มีฝนตกเฉลี่ยไม่น้อยกว่าภาคอื่นๆ แต่ลักษณะของดินไม่สามารถเก็บน้ำไว้ได้ คนอีสานจึงมีภาพลักษณ์ของคนที่อยู่ในดินแดนแห้งแล้ง ไม่ว่าจะเป็นการเสนอในภาพยนตร์ นวนิยาย หรือรายงานของทางราชการต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของการพัฒนาที่ผ่านมา ที่บอกว่า โง่-จน-เจ็บ ชอบเล่นการพนัน ชอบไปงานบุญ แต่ของภาคอีสานต้องบอกว่า โง่-จน-เจ็บ และแห้งแล้งด้วย

ดังนั้น คำนิยามเหล่านี้จึงได้ถูกนำมาใช้เป็นฐานในการหาหลักคิดการจัดการที่เรียกว่า " หลักการเชิงเดี่ยว" หลักการดังกล่าวคือการใช้เทคโนโลยีกักเก็บน้ำโดยการสร้างเขื่อน สร้างฝายขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำ หรือว่าใช้ในการขุดคลอง รวมทั้งวิธีการต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยี ที่ต้องการควบคุมและปรับธรรมชาติ เป็นความอหังการของมนุษย์โดยที่ไม่รู้เท่าทันว่า ความจริงแล้วธรรมชาติมีความสลับซับซ้อน โดยเฉพาะในอีสานได้มีการสะสมภูมิปัญญามาหลายร้อยปีจนเป็นพันปีด้วยซ้ำไป ในการแก้ปัญหาความแล้ง

มายาคติเท่าที่ผมฟังจากหลายๆ ท่านโดยเฉพาะชาวบ้าน เป็นสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อให้รัฐมีความชอบธรรมในการเข้ามาจัดการน้ำ มีบทบาทในการช่วงชิงกรรมสิทธิ์ หรือการจัดการน้ำไปจากประชาชน คำถามจากพ่อใหญ่วิรัช ที่ตั้งคำถามว่า"แม่น้ำมูนเป็นของใคร?" ผมคิดว่าเป็นคำถามที่ลึกซึ้งมาก และก็สะท้อนปัญหาของการจัดการน้ำในปัจจุบันที่อยู่ในมือของรัฐบาล โดยที่ชาวบ้านขาดการมีส่วนร่วม ทำให้เราอดฉุกคิดไม่ได้ว่าสิทธิในการจัดการน้ำที่เคยมีอยู่นี่ ปัจจุบันมันไปอยู่ที่ไหน และจะมีทางออกไหนบ้าง

กรรมสิทธิ์หรือสิทธิในการจัดการน้ำนี้ในระดับต่างๆ ในระดับเล็กชุมชนไปจนถึงระดับภูมิภาค เราควรตั้งคำถามว่าสิทธิเหล่านี้จะอยู่ได้อย่างไร? หรือจะกลับคืนมาได้อย่างไร?

อีสานถูกมองว่าตกอยู่ในสภาพของการเผชิญความแห้งแล้ง ภาวะความขาดแคลนน้ำ ดินเค็ม แต่สภาพความเป็นจริง ลักษณะธรรมชาติของอีสานนั้นมีหลายแบบ มีทั้งน้ำมากและน้ำน้อย มีน้ำหลากมีน้ำเค็ม มีอิ่มและอด ชุมชนอีสานเป็นชุมชนเฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน เป็นชุมชนที่ต้องเผชิญกับความมี และไม่มีของสิ่งเหล่านี้

ดังนั้นประเด็นอยู่ที่ว่าที่ผ่านมา ชาวบ้านได้มีภูมิปัญญาในการจัดการกับ"ความมี"และ"ไม่มี" คือ มีมากและไม่มีอย่างไร ที่ผ่านมาชาวบ้านได้สั่งสมความรู้มาโดยตลอด รู้จักที่จะหาวิธีที่จะจัดการน้ำต่างๆ บทเรียนของการจัดการน้ำนำมาใช้ประโยชน์ อาศัยความรู้เฉพาะท้องที่เพื่อที่เข้าใจความหลากหลาย ไม่ว่าพื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ป่าบุ่งป่าทาม ต่างๆ และความรู้ที่มีทางเลือกหลากหลายโดยสังเกตง่ายๆ จากการใช้ภาษา

ในภาษาไทยมีห้วย หนอง คลอง บึง แต่ถ้าเป็นภาษาอีสานจะมี ห้วย กุด หนอง คลอง น้ำผุด น้ำซ่าง น้ำเที่ยง น้ำจั่น และอื่นๆอีก แหล่งน้ำเหล่านี้มันมีลักษณะเฉพาะ และมีน้ำมากน้ำน้อยไปตามฤดูกาล ไม่ใช่ว่ามีตลอดไป แต่สิ่งที่มหัศจรรย์น่าชื่นชมคือว่า ชาวบ้านได้เรียนรู้ที่จะเอาสิ่งเหล่านี้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ส่วนร่วมของชุมชน รู้ว่าพื้นที่แต่ละประเภทจะใช้ประโยชน์ทำอะไรได้บ้าง เป็นต้น

2.หลักการสำคัญของการจัดการทรัพยากรของคนอีสาน
หลักการสำคัญของการจัดการทรัพยากรของคนอีสาน ไม่ใช่" กักเก็บควบคุมน้ำ" แต่เป็นการ "ปรับตัวเข้ากับธรรมชาติ" ที่ผ่านมาชาวบ้านเรียนรู้เพื่อปรับตัวเข้าธรรมชาติ กับระบบนิเวศน์โดยการเฝ้าสังเกตธรรมชาติ ทดลองปฏิบัติ บางครั้งต้องไปเดินสังเกตดูว่าที่แห่งไหนมีไออุ่นขึ้นมาตามพื้นดินถึงจะรู้ว่านั้นเป็นบ่อน้ำ มีน้ำหรือไม่ แต่สิ่งเหล่านี้กลับไม่เป็นที่ยอมรับของราชการ

ระบบการจัดการของราชการเป็นระบบการรวมศูนย์การพัฒนา ทำให้ประชาชนขาดการมีส่วนร่วม ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ไม่ได้ตั้งบนหลักการควบคุมและบังคับธรรมชาติ เคารพต่อธรรมชาติกลับไม่ได้ถูกนำมาใช้ ดังนั้นสิ่งที่เป็นปัญหาคือแนวคิดแบบชาวบ้านกับรัฐกำลังเผชิญหน้ากัน

อย่างไรก็ตามความรู้ของชาวบ้านนั้นไม่ใช่ไม่ควบคุมธรรมชาติเลย ชาวบ้านควบคุมธรรมชาติเหมือนกันแต่อาศัยความรู้ในการควบคุม ปรับตัวหรือปรับวิธีการผลิต เลือกพืช เลือกวิธีการใช้ทรัพยากรโดยที่ไม่ไปเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดการเสียศูนย์ นี่เป็นหลักการหรือปรัชญา ไม่ใช่แค่เพียงว่าจะทำเหมืองฝายอย่างไร จะเอาน้ำผุดมาใช้อย่างไร เท่านั้น แต่จะต้องรู้จักวิธีควบคุมด้วยเช่นกัน แต่ไม่ใช่การควบคุมธรรมชาติเหมือนวิธีการของรัฐนั่นเอง

3.ทรัพยากรน้ำเกี่ยวโยงกับทรัพยากรอื่น ๆ ด้วย
ชาวบ้านพูดถึงการใช้ประโยชน์ทรัพยากรหลายด้านตามความหลากหลายของพื้นที่ ตามความผันแปรของธรรมชาติ ในช่วงที่มีน้ำหลากจะมีเครื่องมือหลากหลายในการจับปลา มีการขุดบ่อ สร้างแนวผนังกั้นน้ำ และอะไรต่างๆนานา หรือว่าอาศัยตะกอนจากน้ำท่วมทำให้เกิดปุ๋ยธรรมชาติ เมื่อน้ำในพื้นที่ริมน้ำที่เคยเป็นพื้นที่น้ำชุ่มช่วงฤดูน้ำหลากแห้งลง ก็ใช้เป็นพื้นที่การเกษตร เลี้ยงวัว แล้ววัวควายก็นำปุ๋ย นำความอุดมสมบูรณ์กลับมาให้พื้นที่อีก

และในพื้นที่เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นป่าบุ่งป่าทาม พื้นที่ริมตลิ่ง ก็จะประกอบด้วยพืชพันธุ์ต่างๆนานาชนิด ที่ใช้เป็นทั้งพืชสมุนไพร เป็นผักที่กินได้ เป็นหน่อไม้ หรือว่าไข่มดแดง คือมีทรัพยากรหลากหลายที่เลือกใช้ได้ตลอด ตามฤดูกาล ที่หมุนเวียนเปลี่ยนผ่าน แต่ความเข้าใจในความหลากหลายของทรัพยากรที่มีอยู่ แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่มีความรู้แค่ว่าจะใช้น้ำอย่างไร แต่จะรู้ว่าในแต่ละพื้นที่มีความหลากหลายของดิน ของไม้ ของปลา และพืชต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ได้ เป็นต้น

4. แต่ละลุ่มน้ำ มีความหลากหลายของแหล่งน้ำ
แหล่งน้ำในอีสานมีความหลากหลาย เรียกว่า ลำน้ำ ลำห้วย กุด น้ำผุด น้ำซ่าง ชาวอีสานรู้จักพัฒนารูปแบบของการใช้ทรัพยากรที่แตกต่างกัน มีการจัดองค์กรเพื่อใช้น้ำ และดูแลรักษาเพื่อให้เกิดความยุติธรรม และทำให้ทรัพยากรมีความยั่งยืน มีกฎเกณฑ์ที่ไม่ได้เขียนไว้ แต่เป็นที่ยึดถือปฏิบัติเพื่อควบคุม จึงถือเป็นกติกาการใช้น้ำ ถือเป็นจริยธรรมหรือเป็นระบบศีลธรรมในการใช้ทรัพยากรน้ำของชาวอีสาน ซึ่ง รวมถึงทรัพยากรด้านอื่นด้วยไม่ว่าจะเป็นที่ดิน หรือป่าไม้

จะเห็นได้ว่าหลักการจัดการทรัพยากรที่ตั้งอยู่บนองค์ความรู้ และความเข้าใจลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลาย การจัดองค์กรที่มีฐานจากการเอื้อเฟื้อ แบ่งปัน อุดหนุนเจือจาน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามไม่มีกิน เป็นระบบศีลธรรมที่เกื้อหนุนให้ชุมชนชาวอีสานเผชิญ แก้ปัญหาด้วยตัวของเขาเองได้โดยที่ไม่ทำลายทรัพยากร- ธรรมชาติ

ชาวบ้านหลายคนบอกว่าความคิดแบบพออยู่พอกิน ไม่ได้หมายความว่าไม่เข้าไปสู่สังคมตลาด แต่ไม่ต้องการเป็นหนี้สินเท่านั้นเอง ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ดังนั้นระบบศีลธรรมของชุมชนที่ไม่ต้องการเป็นหนี้สิน เฮ็ดอยู่พอกินเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน แต่ไม่ได้ปฏิเสธระบบตลาดเมื่อมีเหลือก็เอาไปขาย เช่นพี่น้องที่ปากมูน แม่น้ำสงคราม ก็ขายปลา แต่ไม่ได้มุ่งแสวงหากำไรสูงสุด แต่ต้องการเอาทรัพยากรที่หาได้ในน้ำมาแบ่งปันกัน

ประเด็นที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและนำมาสู่ความขัดแย้งที่ผ่านมา และทำให้เราต้องมานั่งคุยกัน เป็นเพราะภูมิปัญญาและหลักการอันเป็นระบบศีลธรรมชุมชนไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของวิธีคิดในการพัฒนาของชาติ ไม่ว่าจะเป็นระบบของราชการในระดับปฏิบัติหรือระดับนโยบาย หรือนักการเมือง

ระบบการพัฒนาที่เน้นการแก้ไขปัญหาแบบเชิงเดี่ยว และเน้นการสร้างที่อาศัยงบประมาณก้อนโตอาจจะทำให้เกิดมายาคติ โดยการมองว่า อะไรก็ตามที่มาจากชาวบ้านในพื้นที่"ไม่ทันสมัย ไม่สามารถแก้ปัญหาได้" ทุกอย่างต้องนำมาจาก"ต่างประเทศ" ทุกอย่างต้องมาจาก"เทคโนโลยี" ต้องมาจากราชการ เป็นต้น

หมายเหตุ เรียบเรียงจากเวที "ทางเลือกการจัดการน้ำอีสาน" ณ สถาบันราชภัฎ จ.สกลนคร
วันที่ 28 เมษายน 2545 โดย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน, สถาบันราชภัฏสกลนคร และประชาคม จ. สกลนคร

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด หรือ Ctrl + A
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V จะได้ข้อมูลมา ซึ่งยอหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ

 

 

 

ผมเพิ่งกลับจากการสัมมนาเรื่อง "ทางเลือกการจัดการน้ำในภาคอีสาน" อันเป็นการสัมมนาที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับองค์กรพันธมิตรจัดขึ้นที่สถาบันราชภัฏสกลนคร

นอกจากวิทยากรจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นอาจารย์และนักวิจัยในสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่นแล้ว วิทยากรส่วนใหญ่คือชาวบ้าน ว่ากันที่จริงแล้วผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นชาวบ้านอีกเช่นกัน ล้วนร่วมกันเป็นวิทยากรในทุกรายการ เพราะเราเปิดช่วงการสนทนาแลกเปลี่ยนไว้ยาวนาน เพื่อให้ผู้ฟังได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของตนได้เต็มที่

พวกเราทุกคนที่ได้เข้าร่วมการสัมมนารู้สึกว่าตัวได้รับ "ความรู้" มากมาย และมองเห็นว่ามีทางเลือกของการจัดการน้ำอีกหลายอย่าง มากกว่าหนทางจัดการน้ำแบบรวมศูนย์ด้วยโครงการขนาดใหญ่ซึ่งรัฐจัดทำอยู่เวลานี้