H
His
011044
release date
Mid's history
บทความทางปรัชญาสังคมวิทยา ของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง" แนวความคิดเกี่ยวกับเรื่องตัวตน ระหว่างฉันที่เป็นประธาน และ ฉันที่เป็นกรรม" : 1 พ.ย.44
CP
MP
WB
contents P.
member P.
Webboard

หากภาพ และตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลงมา จะแก้ปัญหาได้

 

มี้ดเขียนว่า "เราเป็นปัจเจกบุคคล ที่เกิดในสัญชาติหนึ่งๆ อาศัยที่จุดพื้นที่ที่แน่นอน มีความสัมพันธ์ทางครอบครัว ที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละคน มีความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบหนึ่ง ๆ ทั้งหมดเหล่านี้เป็นตัวแทนสภาวการณ์หนึ่ง ๆ ที่ก่อให้เกิด 'me' แต่สิ่งเหล่านี้ จำเป็นต้องเกี่ยวพันกับการกระทำที่ต่อเนื่อง ของอินทรีย์ที่มีต่อ 'me'"

มนุษย์เกิดภายในโครงสร้างสังคมที่พวกเขาไม่ได้สร้าง พวกเขาอยู่ในระเบียบทางสถาบัน และทางสังคมที่พวกเขาไม่ได้สร้าง พวกเขาอยู่ในระเบียบทางสถาบัน และทางสังคมที่ตนไม่เคยกำหนด และพวกเขาถูกบังคับควบคุมโดยข้อจำกัดของภาษา กฎระเบียบ ธรรมเนียม และกฎหมาย ทั้งหมดเหล่านี้เป็นปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบของ 'me" แต่ "I" จะมีปฏิกิริยาต่อสถานการณ์ที่ก่อขึ้นก่อนหน้า
ในลักษณะเฉพาะเสมอ

ภาพประกอบเขียนโดย John Steuart Curry ศิลปินอเมริกัน

บทความนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานแปล ของ รศ.วารุณี ภูริสินสิทธิ์ ภาควิชาสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เฉพาะส่วนที่ตัดตอนมานี้ เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับ ปรัชญาสังคมวิทยา ว่าด้วยเรื่อง"ตัวตน" อันเป็นประเด็นที่ แนวคิดหลังสมัยใหม ่สนใจ

งานฉบับสมบูรณ์ ของ
บทความชิ้นนี้ชื่อ
"ยอร์จ เฮอร์เบริ์ต มี้ด พิมพ์ครั้งแรกโดย สนพ.
ม.ธรรมศาสตร์

ต้นฉบับเขียนโดย
ลิวอิส เอ.โคเซอร์
วารุณี ภูริสินสิทธิ์ : แปล
(ความยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4)

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิกที่ปุ่ม member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ปุ่ม contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
(midnightuniv(at)yahoo.com)

Free Remote Education for All / The Midnight University

จอห์น ดิวอี้ (John Dewey) ได้กล่าวถึง ยอร์จ เฮอร์เบิร์ต มี้ด (George Herbert Mead) ไว้ว่า เขาเป็นผู้ที่มี "ความคิดริเริ่มที่สุดทางปรัชญาในกลุ่มคนรุ่นล่าสุดของอเมริกา" ถึงแม้คำกล่าวนี้อาจจะเกินความจริงไปบ้าง แต่ดูเหมือนจะมีความเห็นพ้องต้องกันในหมู่นักศึกษาปรัชญาว่า มี้ดอยู่ในระดับแนวหน้าของตัวแทน
ลัทธิปฏิบัตินิยม (pragmatism) ของอเมริกา

มี้ดเป็นคนที่ถ่อมตัวมาก เขามีผลงานตีพิมพ์ค่อนข้างน้อย ดิวอี้ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า "ขณะที่ (เขา) เป็นนักคิดที่มีความคิดริเริ่ม เขาไม่รู้สึกเลยว่าตนเองเป็นผู้ริเริ่ม" นี่อาจจะเป็นคำอธิบายต่อข้อเท็จจริงที่ว่า ตลอดช่วงชีวิตมี้ดไม่ได้รับการยอมรับว่ามีความสำคัญระดับเดียวกับ วิลเลียม เจมส์ (William James) ผู้เป็นครูของเขา และจอห์น ดิวอี้ เพื่อนสนิทของเขา แต่จากการที่คำบรรยายของมี้ดจำนวนมากได้รับการตีพิมพ์ภายหลังจากที่เขาเสียชีวิตแล้ว รวมทั้งความสนใจในการวิพากษ์วิจารณ์งานของเขาที่มีอย่างต่อเนื่อง เป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า มี้ดอยู่ในฐานะเป็นแกนกลางในแนวความคิดทางปรัชญาโดยเขาได้เชื่อมเค้าโครงคร่าว ๆ จากความคิดของเจมส์และเพียร์ซ (Pierce) เข้ากับแนวคิดทางปรัชญาของดิวอี้, ไวท์เฮด (Whitehead),
แบรก์ซอง (Bergson) และซันทายานา (Santayana)

 

เนื้อหาที่จะกล่าวต่อไปนี้ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของงานที่ปรากฏภายหลังที่มี้ดเสียชีวิตแล้ว อันได้แก่ Mind, Self and Society รวมทั้งบางส่วนของบทความช่วงแรก ๆ ของเขาที่เกี่ยวกับจิตวิทยาสังคม. ในปัจจุบันส่วนใหญ่ของงานเหล่านี้สามารถหาอ่านได้ใน Selected Writing ของมี้ด นั่นคือสิ่งที่จะกล่าวถึงในที่นี้เป็นงานเพียงด้านเดียวของมี้ด คือสิ่งที่มี้ดอุทิศให้กับจิตวิทยาสังคม งานของเขาที่เกี่ยวกับปรัชญานอกเหนือไปจากนี้ ตัวอย่างเช่น ธรรมชาติของเวลา ในหนังสือ The Philosophy of the Present คำอธิบายของเขาเกี่ยวกับลัทธิปฏิบัตินิยม ใน Philosophy of the Act และความคิดทางประวัติศาสตร์ ใน Movements of Thought in the Nineteenth Century จะกล่าวถึงอย่างผิวเผินเท่านั้น

ตัวตนในสังคม

สำหรับมี้ด จิตวิทยาสังคมเป็นแขนงวิชาที่ "ศึกษากิจกรรมหรือพฤติกรรมของบุคคลที่เกิดขึ้นในกระบวนการทางสังคม พฤติกรรมของบุคคลจะสามารถเข้าใจได้เฉพาะในแง่ของพฤติกรรมของกลุ่มสังคมที่บุคคลนั้นเป็นสมาชิกอยู่ เนื่องจากการกระทำของปัจเจกบุคคลนั้นเกี่ยวข้องอยู่ในการกระทำทางสังคมที่กว้างขวางกว่า ซึ่งอยู่นอกเหนือตัวเขาและเกี่ยวพันกับสมาชิกคนอื่น ๆ ของกลุ่มนั้น

ขณะที่จิตวิทยาสังคมก่อนหน้านั้นศึกษาประสบการณ์ทางสังคมจากจุดยืนเชิงจิตวิทยาบุคคล มี้ดเสนอแนะว่า ประสบการณ์ของปัจเจกบุคคลต้องศึกษาจาก "จุดยืนของสังคมอย่างน้อยที่สุดจากจุดยืนในด้านการติดต่อสื่อสาร ในฐานะที่เป็นพื้นฐานสำคัญของระเบียบทางสังคม. จิตวิทยาสังคมของเขามีความคิดพื้นฐานอยู่ที่การศึกษาประสบการณ์จากจุดยืนของปัจเจกบุคคล เพราะฉะนั้นจึงแตกต่างจากลัทธิพฤติกรรมแนววัตสัน (Watsonian behaviorism) จิตวิทยาสังคมของมี้ดมุ่งที่จะ "ให้ความสนใจเป็นพิเศษในการตัดสินสิ่งที่เป็นเรื่องของประสบการณ์ดังกล่าว เพราะว่าปัจเจกบุคคลเองก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างทางสังคม ระเบียบทางสังคม"

มี้ดโต้แย้งว่า "ไม่มีตัวตน ไม่มีจิตสำนึกของตัวตน และไม่มีการติดต่อสื่อสารถ้าปราศจากสังคม ในทางกลับกันสังคมต้องถูกเข้าใจในฐานะที่เป็นโครงสร้างซึ่งเกิดขึ้นโดยผ่านทางกระบวนการที่ดำเนินไปของการกระทำทางสังคมในด้านการติดต่อสื่อสาร ผ่านการแลกเปลี่ยนระหว่างบุคคลต่าง ๆ ที่กระทำโดยคำนึงถึงกันและกัน"

มี้ดเห็นว่า อากัปกิริยา (gesture) เป็นกลไกสำคัญที่มีผลต่อการกระทำทางสังคม แต่เขาได้แบ่งแยกอากัปกิริยาที่ไม่มีนัยสำคัญ (nonsignificant gesture) (ที่ไม่รู้สึกตัว) ซึ่งพบได้ในสัตว์ และอากัปกิริยาที่มีนัยสำคัญ (singnificant) (ที่รู้สึกตัว) ซึ่งเป็นลักษณะของการติดต่อส่วนใหญ่ของมนุษย์ในระดับของสัตว์ อากัปกิริยาเป็นการตอบสนองอย่างทันทีทันควันต่อสิ่งเร้า การส่งเสียงขู่ของสุนัข A เป็นสิ่งเร้าให้สุนัข B มีปฏิกิริยาตอบโต้กลับโดยการเข้าไปปะทะหรือถอยกลับแล้วแต่กรณี

ในทางตรงข้ามในระดับการสื่อสารของมนุษย์ อากัปกิริยา "ที่มีนัยสำคัญ" เข้ามามีบทบาท อากัปกิริยาเหล่านี้ขึ้นอยู่กับ "การตื่นตัวของปัจเจกบุคคลเองในการตอบสนองต่อสิ่งที่เขาถูกกระตุ้นจากบุคคลอื่น การสวมบทบาทของคนอื่น แนวโน้มที่จะกระทำตามการกระทำของบุคคลอื่น" อากัปกิริยาที่มีนัยสำคัญมีพื้นฐานมาจากสัญลักษณ์ทางภาษา ซึ่งมีเนื้อหาที่เหมือนกันไม่มากก็น้อยสำหรับต่างบุคคล ดังนั้นจึงมีความหมายที่เหมือนกันในสิ่งเดียวกันสำหรับทุกคน

สัตว์ไม่นำตัวเองเข้าไปอยู่ในตำแหน่งของผู้อื่นโดยคาดการณ์ทางผลว่า "เขาจะทำแบบนั้นและฉันจะทำแบบนี้" เราพูดไม่ได้ว่าสัตว์ "คิด". ความคิดของมนุษย์เกิดขึ้นเมื่อมี "สัญลักษณ์ซึ่งโดยทั่วไปเป็นอากัปกิริยาทางเสียง ซึ่งกระตุ้นให้บุคคลตอบสนองต่อสิ่งที่เขาถูกกระตุ้นจากบุคคลอื่นและจากความคิดของการตอบสนองนั้น ทำให้เขาสามารถมีแนวทางในการปฏิบัติตัวในเวลาต่อมา" อากัปกิริยาที่มีนัยสำคัญเกี่ยวพันกับการใช้สัญลักษณ์ เงื่อนไขข้อแรกอยู่ที่ความสามารถของผู้เข้าร่วมแต่ละคน ในกระบวนการสื่อสาร ในการมองเห็นผลการกระทำของเขาเองจากจุดยืนของผู้อื่น ซึ่งหมายถึงการสวมบทบาทของผู้อื่นนั่นเอง

ในการกระทำระหว่างกัน (interaction) ที่ไม่ใช้สัญลักษณ์ของมนุษย์มีลักษณะเหมือนกับสัตว์ คือตอบสนองโดยตรงต่อกันและกัน ในการกระทำระหว่างกันโดยใช้สัญลักษณ์ซึ่งมนุษย์ใช้อากัปกิริยาที่มีนัยสำคัญ พวกเขาจะตีความทัศนคติของกันและกัน และจะมีการกระทำจากพื้นฐานของความหมายที่ได้จากการตีความนั้น ดังที่บลูเมอร์ (Blumer) กล่าวไว้ว่า

"การกระทำระหว่างกันเชิงสัญลักษณ์เกี่ยวข้องกับการตีความ (interpretation) หรือการตรวจสอบให้แน่ชัดถึงความหมายของการกระทำหรือข้อสังเกตต่าง ๆ ของคนอื่น ๆ และการนิยาม (definition) หรือการบ่งชี้ให้กับบุคคลอีกคนหนึ่งว่า เขาควรจะกระทำอย่างไร"

กระบวนการสื่อสารของมนุษย์เกี่ยวพันกับการปรับตัวอย่างรู้สำนึกอยู่อย่างสม่ำเสมอของผู้กระทำต่อพฤติกรรมของผู้อื่น เป็นการปรับแนวทางการกระทำเข้าด้วยกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าผ่านทางการให้นิยามและการให้นิยามใหม่ การตีความและการตีความใหม่

เช่นเดียวกับวิลเลียม เจมส์, มี้ดโต้แย้งว่า ต้องทำความเข้าใจจิตสำนึกในแง่ที่เป็นสายธารของความคิด ที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์แบบพลวัตระหว่างบุคคลและสภาพแวดล้อมของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาพแวดล้อมทางสังคม

มี้ดให้เหตุผลว่า "ปรากฏการณ์ทางความคิด" มิอาจลดทอนลงเป็นเพียง "การสะท้อนที่ถูกกำหนดโดยเงื่อนไขและกลไกทางกายภาพต่าง ๆ ซึ่งคล้ายคลึงกัน" ดังเช่นพวกพฤติกรรมศาสตร์ยึดถือ และปรากฏการณ์ทางความคิดก็ไม่สามารถเข้าใจได้ในแง่แนวความคิดแบบแบ่งแยกของตัวตนตามปรัชญาของเดส์การ์ตส์ ประสบการณ์ไม่ได้เป็นเรื่องส่วนตัวบุคคลก่อน แล้วจึงตามมาด้วยสังคม บุคคลแต่ละคนเกี่ยวพันอย่างต่อเนื่องไปตามลำดับของการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งเป็นการก่อรูปและกล่อมเกลาจิตของเขา จิตสำนึกไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่แล้ว มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาภายหลัง

การก่อเกิดตัวตน

ผลงานของมี้ดที่ได้รับผลสำเร็จมากที่สุดชิ้นหนึ่งคือ คำอธิบายเกี่ยวกับการกำเนิดของจิตสำนึกและตัวตน ผ่านทางความสามารถที่พัฒนาขึ้นอย่างช้าๆในวัยเด็ก, ในการสวมบทบาทของผู้อื่น และมองเห็นถึงผลการกระทำของตนเองจากจุดยืนของผู้อื่น

ในทรรศนะนี้การสื่อสารของมนุษย์เป็นไปได้เมื่อ "สิ่งที่สัญลักษณ์กระตุ้นให้เกิดขึ้นในตัวตนของคน ๆ หนึ่งคือสิ่งที่ถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้นในปัจเจกบุคคลอื่น ๆ นั่นเอง" เด็กที่เล็กมาก ๆ ยังไม่มีความสามารถในการใช้สัญลักษณ์ที่มีนัยสำคัญ เพราะฉะนั้นเมื่อพวกเขาเล่นด้วยกัน พฤติกรรมของพวกเขามีความคล้ายคลึงกับการเล่นของลูกสุนัข

อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กโตขึ้นพวกเขาจะค่อย ๆ เรียนรู้ในการสวมบทบาทของคนอื่น ๆ ผ่านทางการเล่น "เด็กเล่นเป็นแม่ เป็นครู เป็นตำรวจ นั่นก็คือการสวมบทบาทต่างๆ ที่แตกต่างกัน". เด็กที่กำลังเติบโตและสวมบทบาทเหล่านี้อย่างเล่น ๆ เป็นการสร้างความสามารถในการใส่ตนเองลงในที่ของผู้อื่นที่มีความสำคัญต่อเขา เมื่อเขาเติบโตขึ้นเขาจะไม่เพียงแต่สามารถสวมบทบาทเหล่านี้โดยการกระทำเท่านั้น แต่จะสามารถรับรู้บทบาทเหล่านั้นโดยรับเข้ามาอยู่ในจินตนาการของเขา ข้อสังเกตที่สำคัญในการพัฒนาการทางสังคมของเด็กเห็นได้จากการที่เขาแสดงรูปที่ดูอยู่ให้แก่ผู้ที่นั่งตรงข้าม เขาจะหันรูปภาพนั้นออกไปจากตัวเขาแทนที่จะทำอย่างที่เคยทำมา คือหันรูปภาพนั้นเข้าหาตนเอง โดยเชื่อว่าผู้ที่นั่งตรงข้ามสามารถจะเห็นได้ก็เฉพาะในสิ่งที่ตัวเขาเองมองเห็น

เด็กเล่นในระดับการสวมบทบาทง่าย ๆ เป็นระยะแรกของการเปลี่ยนอย่างช้า ๆ จากการ สื่อสารที่ไม่สลับซับซ้อนของอากัปกิริยา --การที่เด็กวิ่งหนีเมื่อถูกไล่-- ไปเป็นความสามารถขั้นวุฒิภาวะ คือการใช้สัญลักษณ์ที่มีนัยสำคัญในการกระทำระหว่างกันกับคนอื่น ๆ หลาย ๆ คน ถึงแม้ว่าเขาเรียนที่จะวางตนเองในตำแหน่งของคู่เล่นของเขาในจินตนาการ แต่ในความคิดเด็กยังไม่ได้เชื่อมโยงบทบาทของคนอื่นๆ นอกเหนือจากตัวเขาเข้าด้วยกัน ดังนั้นเขาจึงสามารถเข้าใจได้ถึงความสัมพันธ์ของแม่หรือพ่อที่มีต่อตัวเขาเอง แต่ยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่า แม่ของเขาเองไม่ใช่แม่ของพ่อของเขา

การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของการรับรู้จะเกิดขึ้นเมื่อเด็กสามารถเล่นได้ในเกมที่มีการจัดระเบียบที่ซับซ้อน เมื่อเขามีบทบาทของผู้เล่นคนอื่น ๆ ทั้งหมดอยู่ในความคิดและสามารถทำการประเมินเกี่ยวกับการตอบสนองที่อาจเกิดขึ้นได้ของคนอื่น ๆ ที่จะมีต่อกันและกันได้ เกมเช่นนั้นต้องสามารถแยกออกได้จากเกมธรรมดา เช่น การเล่นซ่อนหา ซึ่งเกี่ยวข้องกับบทบาทของผู้เล่นเพียงสองแบบ หรือหมากเก็บซึ่งผู้เล่นต่างคนต่างเล่น ดังนั้นผู้เล่นไม่ต้องคาดเดาการตอบสนองของคู่เล่น สำหรับเกมซ่อนหา "ทุกคนยกเว้นคนที่กำลังซ่อนเป็นคนที่กำลังล่า เด็กไม่จำเป็นต้องเป็นมากไปกว่าบุคคลที่ถูกล่าและคนล่า" แต่ในเกมซึ่งคนหลาย ๆ คนเล่นบทบาทที่แตกต่างกัน เช่น เกมเบสบอล "เด็กที่สวมบทบาทหนึ่งต้องพร้อมที่จะสวมบทบาทของคนอื่น ๆ ด้วย" เกมเช่นว่านี้ไม่เพียงแตกต่างจากเกมที่มีเพียงสองบทบาทเท่านั้น แต่ยังแตกต่างไปจากสิ่งที่มี้ดเรียกว่า "การเล่น" (play) รวมทั้งแตกต่างจากเกมที่ไม่มีการสวมบทบาทของกันและกัน เช่น หมากเก็บ

ความแตกต่างพื้นฐานระหว่างเกม [ที่ซับซ้อน] กับการเล่น คือ ในเกมเด็กต้องมีทัศนคติของคนอื่น ๆ ทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในเกมนั้น ทัศนคติของผู้เล่นคนอื่น ๆ ซึ่งผู้ร่วมเล่นคนนั้นรับไว้ มีการจัดระเบียบเป็นชุด และระเบียบนั้นเองเป็นตัวควบคุมการตอบสนองของเขา… การกระทำแต่ละครั้งของเขาจะถูกกำหนดโดยการรับรู้ของเขาถึงการกระทำของคนอื่น ๆ ที่กำลังเล่นในเกม สิ่งที่เขาทำถูกควบคุมโดยการที่เขาเป็นคนอื่น ๆ ทุกคนในทีม อย่างน้อยก็ตราบเท่าที่ทัศนคติของคนอื่น ๆ เหล่านั้นมีผลกระทบต่อการตอบสนองแต่ละครั้งของเขา ดังนั้น เราจึงได้ "คนอื่น" ซึ่งเป็นการจัดระเบียบทัศนคติของบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันในกระบวนการเดียวกัน

ความแตกต่างระหว่าง "การเล่น" และ "เกม" อยู่ที่จำนวนของผู้เล่นและการมีกฎหรือไม่มีกฎ การเล่นที่เล่นโดยเด็กเพียงคนเดียวจะไม่มีกฎใด ๆ ส่วนเกมทั้งหลายมีกฎอยู่ แต่จะแตกต่างกันในด้านจำนวนของผู้เล่น เกมที่เล่นสองคนต้องการเพียงการสวมบทบาทแบบง่าย เกมซึ่งเล่นหลาย ๆ คนจำต้องมีการสวมบทบาทของ "บุคคลอื่นทั่วไป" (generalized other) นั่นคือ ผู้เล่นแต่ละคนมีความคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้เล่นคนอื่น ๆ ทุกคนที่มีต่อกันและกัน และที่มีต่อเขาเองด้วยความช่วยเหลือของกฎที่ใช้บังคับในเกม เด็กได้พัฒนาความสามารถในการสวมบทบาทของผู้เล่นคนอื่น ๆ ทั้งหมด และกำหนดการตอบสนองของเขาเหล่านั้น "กฎเหล่านี้เป็นชุดของการตอบสนองซึ่งทัศนคติหนึ่ง ๆ เรียกร้อง" มี้ดเสนอว่า ระยะสุดท้ายของกระบวนการวุฒิภาวะของเด็กเกิดขึ้นเมื่อบุคคลสวมบทบาทของ "บุคคลอื่นทั่วไป" -ทัศนคติของชุมชนส่วนรวม

สำหรับมี้ด บุคคลที่มีวุฒิภาวะเต็มที่ไม่เพียงคำนึงถึงทัศนคติของบุคคลอื่น ๆ หรือ "บุคคลนัยสำคัญ" (significant others) ที่มีต่อเขาเองและที่มีต่อกันและกันเท่านั้น แต่เขาต้อง "รับรู้ทัศนคติของพวกเขาต่อขั้นตอนต่าง ๆ หรือแง่มุมต่าง ๆ ของกิจกรรมร่วมทางสังคม… ที่พวกเขาผูกพันอยู่ ในฐานะที่เป็นสมาชิกของสังคมที่มีการจัดระเบียบหรือกลุ่มสังคมหนึ่งๆ" ดังเช่น นาทานสัน (Natanson) อธิบายไว้ว่า

"[กฎต่าง ๆ ของเกม] …แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนจากการสวมบทบาทแบบง่าย ๆ ไปสู่การเข้าร่วมในบทบาทของระเบียบแบบพิเศษและเป็นมาตรฐาน จากกฎเหล่านี้ เด็กจะถูกนำเข้าสู่การบังคับควบคุมของสังคมและโครงสร้างที่ถูกขัดเกลาจนใกล้เคียงกับความเป็นจริงของผู้ใหญ่" "เฉพาะเมื่อเขาสามารถรับทัศนคติของกลุ่มสังคมที่มีการจัดระเบียบซึ่งเขาร่วมอยู่ ที่มีต่อกิจกรรมทางสังคมที่มีการจัดการและมีการร่วมมือกันหรือที่มีต่อทิศทางของกิจกรรมนั้น ๆ ที่กลุ่มทำอยู่เท่านั้น จึงถือได้ว่าเขาพัฒนาตัวตนที่สมบูรณ์แล้ว" ดังนั้นตัวตนที่มีวุฒิภาวะเกิดขึ้นเมื่อ "บุคคลอื่นทั่วไป" ถูกซึมซาบเข้าไปในบุคคลจนกระทั่ง "ชุมชนได้ทำการควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกแต่ละคนของชุมชน"

ดังนั้น ตามทรรศนะแนวมี้ดในเรื่องการเกิดขึ้นของความสามารถในการสวมบทบาท ตัวตนที่เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ผ่านทางการเข้าร่วมของมนุษย์ในขอบเขตที่กว้างขึ้นเรื่อย ๆ ต้องไม่ถูกมองว่าเป็นเพียงด้านร่างกายเท่านั้น แต่ตัวตนเป็นองค์ภาวะทางสังคม (social entity) ที่เกิดขึ้นในกระบวนการทางสังคมของพัฒนาการจากการสื่อสารด้วยอากัปกิริยาแบบง่ายไปสู่กระบวนการยึดถือ "บุคคลอื่นทั่วไป" ดิวอี้กล่าวถึงความคิดรวบยอดของมี้ดที่เกี่ยวกับ "ตัวตนที่มีจิตสำนึก" ว่า "สำหรับมี้ด ตัวตนที่มีจิตสำนึกเป็นโลกของธรรมชาติที่เริ่มแรกถูกนำไปสู่ความสัมพันธ์ทางสังคม และต่อมาได้สลายตัวไปสู่การก่อเกิดตัวตนใหม่ขึ้น ซึ่งนำไปสู่การสร้างโลกของธรรมชาติและสถาบันทางสังคมต่าง ๆ ขึ้นใหม่ในเวลาต่อมา"

ตามความคิดของมี้ด ธาตุแท้ของตัวตนคือลักษณะสะท้อนกลับ ตัวตนเป็นบุคคลขึ้นมาได้เพราะความสัมพันธ์ที่เขามีต่อคนอื่น ๆ จากความสามารถของบุคคลในการรับทัศนคติของคนอื่น ๆ เข้าไปยังจินตนาการของเขา ทำให้ตัวตนของเขากลายเป็นผู้ถูกกระทำจากการสะท้อนของตนเอง ตัวตนในสภาพทั้งผู้กระทำ (subject) และผู้ถูกกระทำ (object) เป็นส่วนสำคัญของการมีลักษณะเป็นสังคม (being social) ความเป็นปัจเจกที่บุคคลมีลักษณะจำเพาะของแต่ละตัวตนเป็นผลจากการผสมกลมกลืนในลักษณะจำเพาะ (ซึ่งไม่เคยเหมือนกันเลยในแต่ละคู่) ของทัศนคติของคนอื่น ๆ ที่ก่อรูปเป็น "บุคคลอื่นทั่วไป" ดังนั้น ถึงแม้ความเป็นปัจเจกบุคคลมีรากฐานจากความเป็นสังคม คนแต่ละคนก็มีส่วนเกื้อหนุนกระบวนการสังคม

ฉันที่เป็นประธาน (I) และฉันที่เป็นกรรม (me)

มี้ดพยายามอธิบายถึงทรรศนะของเขาเกี่ยวกับพื้นฐานทางสังคมของตัวตนและความเชื่อที่ควบคู่กันที่ว่า "ตัวตนไม่ได้ประกอบขึ้นด้วยเพียงการจัดระเบียบทัศนคติทางสังคม" โดยการแยกข้อแตกต่างระหว่าง "I" และ "me"

ทั้ง "I" และ "me" จำเป็นต้องสัมพันธ์กับประสบการณ์ทางสังคม แต่ "I" เป็น "การตอบสนองของอินทรีย์ที่มีต่อทัศนคติของคนอื่น ๆ ส่วน 'me' เป็นชุดของทัศนคติของคนอื่น ๆ ที่มีการจัดระเบียบซึ่งคน ๆ หนึ่งรับไว้

ทัศนคติของคนอื่น ๆ จะก่อให้เกิด 'me' ที่มีการจัดระเบียบและคนจะมีปฏิกิริยาต่อสิ่งนั้นแสดงออกมาเป็น 'I' ในฐานะที่เป็น "me" บุคคลจะตระหนักว่าตัวเขาเองเป็นผลของสิ่งที่เขาถือว่าเป็นการประเมินของคนอื่น "me" เป็นตัวตนที่รับรู้และเข้าใจตามทรรศนะของ "บุคคลนัยสำคัญ" และทรรศนะของชุมชนโดยส่วนรวม "me" สะท้อนให้เห็นถึงกฎหมายและจารีต ซึ่งก็คือกฎเกณฑ์ที่มีการจัดระเบียบ และความคาดหวังของชุมชน

ในทางตรงกันข้าม "I" เป็น "คำตอบซึ่งบุคคลตอบต่อทัศนคติที่ผู้อื่นมีต่อเขา เมื่อเขามีทัศนคติต่อคนอื่น ๆ …มันให้ความรู้สึกของอิสรภาพและการริเริ่ม" สิ่งที่ปรากฏในจิตสำนึกเป็นตัวตนในสภาพที่ถูกกระทำเสมอในฐานะของ "me" แต่ "me" ไม่สามารถรับรู้ได้ถ้าปราศจาก "I" ซึ่งเป็นผู้กระทำเพื่อที่ "me" จะได้เป็นผู้ถูกกระทำได้ "I" และ "me" ไม่ใช่สิ่งเดียวกันเพราะ "I" "เป็นสิ่งที่ไม่สามารถคิดคำนวณได้ทั้งหมด… และจะเป็นบางอย่างที่แตกต่างจากสิ่งที่สถานการณ์เรียกร้อง เสมอ"

มี้ดเขียนว่า "เราเป็นปัจเจกบุคคลที่เกิดในสัญชาติหนึ่งๆ อาศัยที่จุดพื้นที่ที่แน่นอน มีความสัมพันธ์ทางครอบครัวที่มีลักษณะเฉพาะของแต่ละคน มีความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบหนึ่ง ๆ ทั้งหมดเหล่านี้เป็นตัวแทนสภาวการณ์หนึ่ง ๆ ที่ก่อให้เกิด 'me' แต่สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องเกี่ยวพันกับการกระทำที่ต่อเนื่องของอินทรีย์ที่มีต่อ 'me' มนุษย์เกิดภายในโครงสร้างสังคมที่พวกเขาไม่ได้ก่อ พวกเขาอยู่ในระเบียบทางสถาบันและทางสังคมที่พวกเขาไม่ได้สร้าง พวกเขาอยู่ในระเบียบทางสถาบันและทางสังคมที่ตนไม่เคยกำหนด และพวกเขาถูกบังคับควบคุมโดยข้อจำกัดของภาษา กฎระเบียบ ธรรมเนียม และกฎหมาย ทั้งหมดเหล่านี้เป็นปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบของ 'me"

แต่ "I" จะมีปฏิกิริยาต่อสถานการณ์ที่ก่อขึ้นก่อนหน้าในลักษณะเฉพาะเสมอ "ดังเช่น มอนเนด (monad) ในจักรวาลแบบไลบ์นิช (Leibnizian) สะท้อนจักรวาลจากทรรศนะที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงสะท้อนแง่มุมหรือทัศนภาพที่แตกต่างกันของจักรวาลนั้น"

สำหรับมี้ด ความคิดเป็น"การรับปัจเจกบุคลเข้าไปอยู่ในกระบวนการทางสังคม" แต่ขณะเดียวกัน "บุคคล.. ก็มีปฏิกิริยาตอบโต้กลับต่อสังคมอย่างต่อเนื่อง" ตัวตนโดยส่วนรวมที่ปรากฏในประสบการณ์ทางสังคมเป็นองค์ประกอบของการสะท้อนที่ไม่เปลี่ยนแปลงของ "คนอื่นทั่วไป" ที่อยู่ใน "me" และการเป็นไปเองอย่างไม่สามารถคาดเดาได้ของ "I" นั่นคือเหตุผลที่ว่าตัวตนโดยส่วนรวมจึงเป็นตัวแบบเปิด "ถ้าตัวตนไม่มีมติหรือสภาพทั้งสองแล้วก็จะไม่สามารถมีความรับผิดชอบในจิตสำนึก และไม่มีความแปลกใหม่ในประสบการณ์ได้" มี้ดให้คุณค่าต่อความเป็นอิสระในเจตจำนง (autonomy) ของบุคคล แต่เขามองว่าความเป็นอิสระนั้นเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาโต้ตอบมากกว่าจากความพยายามแยกตัวเองจากผู้อื่น ผู้กระทำที่เป็นมนุษย์พัวพันอยู่ในโลกทางสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ตัวตนที่มีวุฒิภาวะจะแปรเปลี่ยนโลก แม้ในขณะที่เขาตอบสนองต่อมัน

ความคิดของมี้ดค่อนข้างคลุมเครือในเรื่องคำจำกัดความของการกระทำทางสังคม บางครั้งเขาเสนอเหมือนกับว่า การกระทำเหล่านี้จำเป็นต้องเกี่ยวกับความร่วมมือกันระหว่างผู้กระทำ แต่ในบางแห่งมี้ดก็กล่าวถึงการกระทำทางสังคมเมื่อพูดถึงการกระทำระหว่างกันที่มีการแข่งขัน และมีความขัดแย้ง

ครั้งหนึ่งเขาพูดอย่างเฉพาะเจาะจงว่า "ข้าพเจ้าปรารถนา… ที่จะจำกัดการกระทำทางสังคมให้อยู่ในกลุ่มการกระทำซึ่งเกี่ยวข้องกับการร่วมมือกันของคนมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป" แต่ในที่อื่น ๆ ตัวอย่างเช่น เขาพูดถึงการต่อสู้ในหมู่สัตว์ในฐานะที่เป็นการกระทำทางสังคม กล่าวโดยทั่วไปเหมือนกับว่าในความคิดของมี้ด การกระทำทางสังคมไม่ได้ถูกจำกัดให้อยู่เฉพาะที่ความร่วมมือกัน เพียงแต่การกระทำทางสังคมมีพื้นฐานอยู่บน "สิ่งหรือวัตถุที่เป็นจุดสนใจร่วมกันของบุคคลทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง"เสมอ

จากสูตรความคิดดังกล่าว ความขัดแย้งและการแข่งขันรวมทั้งพฤติกรรมการร่วมมือกันอาจจะมองได้ว่าเป็นการกระทำทางสังคมได้เท่า ๆ กัน ตราบเท่าที่การกระทำเหล่านั้นเกี่ยวข้องกับการกระทำของแต่ละคนที่คำนึงถึงกันและกัน. จากการอธิบายในแง่นี้เท่านั้นจึงจะทำให้การอธิบายของมี้ดในเรื่องธรรมชาติของการกระทำทางสังคมเชื่อมเข้าได้กับการเสนอซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่บ่อย ๆ ของเขา ถึงหน้าที่ที่สำคัญของความขัดแย้งทางสังคมต่าง ๆ สำหรับมี้ดซึ่งเช่นเดียวกับซิมเมล (Simmel) เชื่อว่า ความขัดแย้งและความร่วมมือกันมีสหสัมพันธ์ต่อกันและไม่มีสังคมใดจะดำรงอยู่ได้ถ้าปราศจากสองสิ่งนี้

สังคมมนุษย์ที่พัฒนาและมีการจัดระเบียบอย่างสูง คือสังคมซึ่งสมาชิกแต่ละคนสัมพันธ์กันอย่างหลากหลายในวิถีทางอันซับซ้อนที่แตกต่างกัน ซึ่งพวกเขาทั้งหลายมีผลประโยชน์ร่วมกันหลาย ๆ อย่าง… แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีความขัดแย้งไม่มากก็น้อยในผลประโยชน์อื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งอาจเป็นผลประโยชน์เฉพาะคน หรือผลประโยชน์ร่วมกันของคนในกลุ่มย่อยและมีขนาดจำกัด

มี้ดผู้วางแนวทาง

งานของมี้ดเต็มไปด้วยข้อเสนอแนะที่นำไปสู่สังคมวิทยาแห่งความรู้ (sociology of knowledge) เขาเป็นผู้ตระเตรียมพื้นฐานให้กับการพิจารณาถึงการเชื่อมโยงทางสังคมวิทยาในเชิงรูปธรรมระหว่างกระบวนการทางสังคมและกระบวนการทางความคิด ซึ่งเขาเน้นเช่นเดียวกับเพื่อนนักคิดปฏิบัตินิยมทั้งหลายถึงกระบวนการทางอินทรีย์ ที่ซึ่งการกระทำทางความคิดทุกอย่างถูกเชื่อมเข้ากับการกระทำของมนุษย์ และความสัมพันธ์ในเชิงการกระทำระหว่างกัน

ดังนั้นจึงเป็นการปฏิเสธการแบ่งแยกอย่างถึงรากถึงโคนระหว่างความคิดและการกระทำ ซึ่งปรากฏในปรัชญาคลาสสิกส่วนใหญ่ เมื่อมี้ดได้พัฒนาความคิดที่ว่า จิตสำนึกเป็นวิวาทะภายในซึ่งถูกดำเนินการโดยสื่อที่เป็นสาธารณะ นั่นคือ ประสบการณ์ส่วนตัวเป็นไปได้จากการใช้สัญลักษณ์ทางสังคมที่มีนัยสำคัญและถูกจัดระเบียบจากจุดยืนของ "บุคคลอื่นทั่วไป"

--มี้ดได้ปูทางสำหรับการค้นคว้าที่ละเอียดต่อไปในการเชื่อมลีลาความคิดแบบต่าง ๆ เข้ากับโครงสร้างทางสังคม มี้ดได้ให้การชี้แนะที่มีคุณค่าสำหรับการค้นคว้าในอนาคตในการเชื่อมวิวาทะรูปแบบต่าง ๆ ของปัจเจกบุคคลเข้ากับ "จักรวาลของวิวาทะ" (universe of discourse) ของยุคต่าง ๆ ทั้งหมด หรือของช่วงชั้นหรือกลุ่มคนเฉพาะภายในสังคมหนึ่ง ๆ ในการเน้นว่าธรรมชาติจริง ๆ ของความคิดผูกพันกับสถานการณ์ทางสังคมที่ทำให้ความคิดนั้นเกิดขึ้น ถือได้ว่ามี้ดได้สร้างเวทีสำหรับความพยายามศึกษาอย่างถ่องแท้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างนักคิดและผู้ฟังของเขา

ส่วนที่เกี่ยวกับสังคมวิทยาแห่งความรู้ มี้ดได้ปูทางไว้มากมายสำหรับการค้นคว้าอย่างมีระเบียบในด้านอื่น ๆ ของการศึกษาสังคมวิทยาในอนาคต แม้ว่าเป็นเพียงทางสมมุติฐานและตัวอย่างต่าง ๆ เท่านั้นก็ตาม แนวความคิดของมี้ดในเรื่องการสวมบทบาทคือ การรับทัศนคติของผู้อื่นที่มีต่อตนเอง การสวมบทบาทนี้ต้องไม่ไปสับสนกับสิ่งที่นักสังคมวิทยาสมัยใหม่เรียกว่า "การกระทำบทบาท" หรือการพยายามกระทำตามความคาดหวังซึ่งถูกกำหนดโดยตำแหน่งเฉพาะหนึ่ง ๆ

อย่างไรก็ตาม แทบจะไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าทฤษฎีบทบาทสมัยใหม่จาก ลินตัน (Linton) และพาร์สันส์ (Parsons) ถึง นิวโคมบ์ (Newcomb) และเมอร์ตัน (Merton) ได้ถูกทำให้สมบูรณ์โดยการยืมแนวความคิดของมี้ด ถึงแม้ว่าทฤษฎีกลุ่มอ้างอิงได้เสนอไปไกลกว่าความคิดของมี้ดในการพิจารณาไม่เพียงแต่กลุ่มต่าง ๆ ที่บุคคลเป็นสมาชิกอยู่ แต่พิจารณาถึงกลุ่มต่าง ๆ ที่บุคคลใฝ่ฝันหรือกลุ่มที่เขาถือว่าเป็นจุดอ้างอิงโดยไม่ได้ใฝ่ฝันที่จะเป็นสมาชิก แต่ทฤษฎีนี้ก็เป็นหนี้ต่อมี้ดอย่างมากในการย้ำว่าต้องพิจารณาปัจเจกบุคคลภายใต้แง่มุมของความสัมพันธ์ของพวกเขาที่มีต่อกลุ่มของ "บุคคลนัยสำคัญ"

ในแง่ทั่วไป ๆ งานของมี้ดได้นำไปสู่จุดจบอย่างน้อยก็ในสังคมวิทยาของสิ่งที่ซิมเมลครั้งหนึ่งเรียกว่า "ความผิดพลาดของการแบ่งแยก" (fallacy of separateness) ซึ่งพิจารณาบุคคลโดยปราศจากการอ้างอิงถึงการกระทำระหว่างกันซึ่งพวกเขาเกี่ยวข้องอย่างหลากหลาย สำหรับมี้ดไม่มีมอนเนดที่ปราศจากหน้าต่าง* เคยปรากฏอยู่ในโลกทางสังคม

[ไม่มีมอนเนดที่ปราศจากหน้าต่าง เป็นวลีที่พากพิงถึงความคิดของไลบ์นิซที่เชื่อว่า โลกประกอบด้วยมอนเนดจำนวนมากและหลากหลาย แต่ละมอนเนดมีความจริงและสมบูรณ์ในตัวเอง ไม่มีความสัมพันธ์ต่อกัน จึงเป็นเสมือนโลกปิดที่ไม่มีหน้าต่างติดต่อกับโลกภายนอก ในที่นี้หมายความว่า สำหรับมี้ด ไม่มีสิ่งมีชีวิตที่อยู่โดดเดี่ยว -ผู้แปล]

ถ้าจะใช้คำกล่าวของมาร์ติน บับเบอร์ (Martin Buber) ก็คือ ไม่เคยมีฉันที่ปราศจากเธอ ตนเองไม่สามารถรับรู้ถึงความเป็นตนเองได้ถ้าปราศจากผู้อื่น และตัวตนสามารถมองได้ดีที่สุดในแง่ที่เป็นจุดเชื่อมต่อที่ชัดเจนในสนามแห่งการกระทำระหว่างกันทางสังคม แนวคิดที่เกี่ยวกับการกระทำของมนุษย์นี้ปัจจุบันได้กลายเป็นลักษณะพื้นฐานสำคัญของการคิดที่ปรารถนาที่จะเรียกตนเองว่า สังคมวิทยา แม้ว่ามี้ดไม่ใช่ผู้เดียวที่ได้ตระเตรียมให้เกิดแนวความคิดนี้ แต่เขาเป็นคนหนึ่งที่เป็นแหล่งที่มาของความคิดหลัก ๆ อย่าง แน่นอน

อาจจะไม่จำเป็นเท่าใดนักที่ต้องพูดถึงสิ่งมี้ดเกื้อหนุนต่อระเบียบวิธีการวิจัยทางสังคมศาสตร์ ... มี้ดควรจะได้รับการยกย่องนับถือพอ ๆ กับคูลี่ย์ และพวกปฏิบัตินิยมคนอื่น ๆ ที่ได้ช่วยเน้นถึงความจำเป็น"ในการพิจารณาสถานการณ์จากทรรศนะของผู้กระทำเสมอ" สำหรับมี้ดเช่นเดียวกับเวเบอร์ (Weber) ที่เสนอว่า เมื่อนักสังคมวิทยาอ้างถึงความหมาย เขาหมายถึงความหมายเชิงอัตวิสัยที่ผู้กระทำให้ต่อการกระทำของพวกเขา

ขณะที่ทฤษฎีของคูลี่ย์หันเหทิศทางอย่างเสี่ยงต่ออันตรายเข้าไปใกล้กับอัตวิสัยนิยมและทรรศะที่เชื่อว่าบุคคลจะมีความรู้ได้เฉพาะที่เกี่ยวกับตัวตนเท่านั้น (solipsistic view) มี้ดยังคงยึดมั่นกับวัตถุวิสัยนิยมเชิงสังคม (social objectivism) อย่างเหนียวแน่น สำหรับมี้ดโลกของความสัมพันธ์ทางสังคมที่มีการจัดระเบียบนั้นแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนตามหลักฐานที่เป็นวัตถุวิสัยเช่นเดียวกับในโลกกายภาพ เขาไม่ได้พยายามสร้างโลกใหม่ผ่านการสำรวจความคิดภายในตนเอง เช่นที่คูลีย์พยายามทำ เขาถือเป็นข้อมูลพื้นฐานว่า "ชีวิตทางภววิสัยของสังคม" มีอยู่ ซึ่งเป็นภาระของนักวิทยาศาสตร์ที่ต้องศึกษา

มี้ดเสนอว่าสังคมไม่ใช่ปรากฏการณ์ทางความคิด แต่เป็น "สภาพทางภววิสัยของประสบการณ์" ความแตกต่างของนักคิดที่มีความคิดสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดนี้สามารถอธิบายได้จากสถานการณ์แห่งชีวิตที่แตกต่างกันของคนทั้งสอง และสภาพซึ่งจะปรากฏให้เห็นชัดเจนขึ้นในเนื้อหาต่อ ๆ ไป...

 

กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

 

 

R
Relate