midnight university
Globalization & Localization
papers for midnight's students
Globalization & thai culture
วิทยากรรับเชิญ : อานันท์ กาญจนพันธุ์
บทความก่อนการบรรยาย : อานันท์ กาญจนพันธุ์

บทนำ
ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่เปิดรับนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีมานานแล้ว นโยบายดังกล่าวจึงถือเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่เอื้อต่อการผนวกประเทศเข้าสู่ตลาดโลก.
ในช่วงทศวรรษระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๔๐ อาจกล่าวได้ว่า นโยบายเช่นนี้ก็ได้ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนในกรณีของกระบวนการกลายเป็นอุตสาหกรรม แต่ในอีกด้านหนึ่ง นโยบายเดียวกันนี้ก็ผูกพันสังคมไทยให้เข้าไปอยู่ในกระบวนการ
โลกาภิวัตน์ด้วยเช่นกัน ที่จริงแล้วกระบวนการโลกาภิวัตน์ ในฐานะที่เป็นแนวความคิดรวบยอดทางสังคมศาสตร์พึ่งจะพัฒนาขึ้นมาในวงวิชาการ
หลังปี พ.ศ. ๒๕๒๘ นี้เอง ซึ่งหมายถึงว่าโลกนั้นแคบลง พร้อมๆไปกับการตระหนักถึงการดำรงอยู่ร่วมกันในโลกเดียวกันมากขึ้น(Robertson 1992: 8) โดยพื้นฐานสาระสำคัญของกระบวนการโลกาภิวัตน์ก็คือ พลวัตของโลกเศรษฐกิจแบบทุนนิยม และการปฏิวัติทางด้านเทคโนโลยีของข้อมูลข่าวสารนั่นเอง
ในแง่นี้โลกาภิวัตน์ จึงได้ประมวลเอาแง่มุมทั้งด้านวัตถุและด้านวัฒนธรรมเข้าไว้ด้วยกัน และให้ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของทุนนิยมตะวันตก

อย่างไรก็ตาม แนวความคิดโลกาภิวัตน์ไม่ได้มีนัยครอบคลุมความทันสมัย แบบตะวันตกทั้งหมด อีกทั้งยังถือเป็นกระบวนการที่ลักลั่นขัดแย้งกันเองด้วย ซึ่งสร้างทั้งความไม่ต่อเนื่องและความแตกต่างไปพร้อมๆกัน (Robertson 1992: 29) หรืออีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของความทันสมัยและการกระจัดกระจายของวัฒนธรรม หรือกระแสโลกาภิวัตน์และกระแสท้องถิ่นนิยม ไม่ใช่มุมมอง ๒ ด้านที่ขัดแย้งกัน ของสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน หากเป็นแนวโน้ม ๒ ทางที่ประกอบกันขึ้นเป็นความเป็นจริงระดับโลก (Friedman1990)

การที่ประเทศไทยถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจโลก ก็ช่วยให้ได้ประโยชน์อยู่บ้างจากพลวัตของทุนนิยม และสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็ว พร้อมๆกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม. เบื้องหลังความมหัศจรรย์ทางด้านเศรษฐกิจเช่นนี้เองได้สะท้อนบทบาทของชนชั้นกลาง ที่กำลังก่อตัวขึ้นใหม่ในฐานะเป็นพลังที่มีบทบาทนำในสังคมไทย

ชนชั้นกลางของไทยนั้นถือเป็นกลุ่มของคนรวยใหม่ ซึ่งสร้างผลกระทบอย่างมากมายต่อชีวิตในสังคมเมือง เพราะเป็นกลุ่มชนที่หมกมุ่นอยู่กับลัทธิบริโภคนิยมอย่างไม่รู้จบ ยังผลให้เกิดกระบวนเปลี่ยนแปลงเกือบทุกสิ่งทุกอย่างให้กลายเป็นสินค้า ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมด้านวัตถุหรือด้านจิตวิญญาณก็ตาม (Thongchai 1995: 116-118; Hong 1996)

พลังของการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วนั้น ยังส่งเสริมให้เมืองหลักๆ ขยายตัว บนความสูญเสียของวิถีชีวิตในชนบท ดังปรากฏว่าศูนย์กลางของเมืองใหม่ๆจะเป็นแหล่งที่ชาวบ้านแห่กันหลั่งไหลเข้ามาอาศัยอยู่อย่างเบียดเสียดยัดเยียด แต่เมื่อผู้เข้ามาอยู่อาศัยใหม่ในเมืองเหล่านี้ขาดรากเหง้าในมหานคร จึงมักจะไม่มีทางเลือกอื่นๆมากนัก นอกจากต้องจมปลักอยู่กับวัฒนธรรมทุนนิยมที่นิยมวัตถุ เพราะตกอยู่ภายใต้สภาวะทางสังคม ที่เรียกได้ว่าเป็น"สังคมโทรทัศน์". ผู้คนส่วนใหญ่มักจะรู้สึกแปลกแยกจากธรรมชาติของงานและชีวิตในเมือง ซึ่งมีลักษณะที่ลดทอนความเป็นมนุษย์อย่างยิ่ง

แม้เศรษฐกิจของไทยจะเฟื่องฟูมากขึ้นในการเข้าสู่กระแสสากล ความไม่เท่าเทียมกันกลับยังคงมีให้เห็นอยู่อย่างดาษดื่นทั่วไปในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนชนบทที่ต้องเผชิญกับผลกระทบของกระบวนการทำให้กลายเป็นชายขอบ ชุมชนเหล่านี้ถูกปฏิเสธสิทธิในการควบคุมทรัพยากรของตนเองเพิ่มสูงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ที่ดิน น้ำ ป่าไม้. ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ การแย่งชิงทรัพยากรอย่างรุนแรงระหว่างรัฐกลุ่มนักธุรกิจและประชากรในชนบท. ซึ่งทรัพยากรเหล่านั้นถูกจัดการเกือบทั้งหมดให้เป็นไปตามความพึงพอใจของตลาดโลก

ขณะเดียวกันชาวบ้านในชนบทยังถูกกดดันอย่างลึกซึ้ง ให้ตกอยู่ในวังวนของลัทธิการค้า และบริโภคนิยมด้วยการเข้าร่วมอยู่ในกระแสเศรษฐกิจและสื่อระดับโลก ในทำนองเดียวกับคนในสังคมเมือง แต่ชาวบ้านในชนบท กลับถูกกีดกันออกจากการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการกำหนดชีวิตของตนเองมากขึ้นทุกที ขณะที่คนไทยทั่วไปยังคงตกอยู่ภายใต้พลังของกระแสโลกาภิวัตน์

ในบทนี้ผู้เขียนจะพยายามสรุปให้เห็นภาพรวมของพลวัตของความรู้ชาวบ้าน โดยการวิเคราะห์ถึงความซับซ้อนและความขัดแย้งที่ชนกลุ่มต่างๆในสังคมไทยกำลังเผชิญอยู่กับพลังของกระแสโลกาภิวัตน์ภายใต้สภาพการณ์ที่แตกต่างกัน และในการศึกษาครั้งนี้แทนที่จะดูวัฒนธรรมในแง่บูรณาการ ก็จะมุ่งเน้นไปที่พลวัตและความเปลี่ยนแปลงของพลังทางวัฒนธรรม พร้อมกับความลักลั่นขัดแย้งกัน ตลอดจนความรู้สึกนึกคิดของคนไทย ตามที่แสดงออกในความพยายามจะผลิตซ้ำความรู้ชาวบ้าน และการสร้างคุณค่า อัตลักษณ์ และอำนาจ โดยพยายามเชื่อมโยงการศึกษาครั้งนี้กับงานศึกษาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ของทั้งนักวิชาการไทยและชาวต่างชาติ

 

1.1 การเคารพนับถือพระสงฆ์ในสายวิปัสสนา
ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมาชนชั้นกลางของไทยได้พยายามตอบสนองอย่างหลากหลาย ต่อแรงกดดันอย่างหนักของเศรษฐกิจโลกและเครือข่ายการสื่อสาร. ในทศวรรษ ๒๕๑๐ ก็ได้พยายามฟื้นฟูความรู้ชาวบ้านรูปแบบต่างๆขึ้นมาใหม่อย่างชัดเจน โดยเฉพาะในสังคมเมืองและเขตชานเมือง ในแวดวงของพุทธศาสนาก็ปรากฏว่าเกิดความตื่นตัวครั้งใหญ่ในการเคารพนับถือพระสงฆ์ในสายวิปัสสนา ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระวัดป่าที่มีชื่อเสียงหลายรูป ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นอรหันต์ และยังเกิดความคลั่งไคร้ในเครื่องลางของขลังเพิ่มสูงมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากความนิยมผูกพันกับลัทธิของพระเครื่อง อันมีผลมาจากพัฒนาการของการแบ่งแยกออกเป็นลัทธินิกายต่างๆ ไปตามความนิยมในพระสงฆ์ที่เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ (Tambiah1984). ความตื่นตัวทางด้านศาสนาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ ที่มีความเคร่งและบารมีเป็นพิเศษเฉพาะตัวจากการบำเพ็ญเพียรด้วยความสามารถด้านสมาธิ ซึ่งถือเป็นกระแสส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ของสังคมไทยตลอดมาแต่มักจะเกิดขึ้นในชนบทเป็นหลัก
1.2 ลัทธิธรรมกาย และลัทธิสันติอโศก

ในทศวรรษ ๒๕๒๐ การฟื้นฟูพุทธศาสนาของไทยยังผลให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูป ทว่ากลายเป็นปรากฏการณ์เฉพาะของสังคมเมือง การเคลื่อนไหวเพื่อปฏิรูปพุทธศาสนาดังกล่าวสามารถดึงดูดกลุ่มคนให้เข้ามามีส่วนร่วมจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มคนหนุ่มสาวและกลุ่มผู้มีการศึกษาที่มาจากชนชั้นกลางในเมือง ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะปฏิเสธคำสอนและการปฏิบัติของศาสนาตามจารีตเดิม การเคลื่อนไหวใหม่ๆทางศาสนาเหล่านี้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในกรุงเทพฯเท่านั้น แต่ยังขยายตัวออกไปตามเมืองหลักหลายแห่งทั่วประเทศ(Zehner 1990: 411)

ในบรรดากลุ่มปฏิรูปทางศาสนาขนาดใหญ่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ที่มีบารมีนั้น มีอยู่สองลัทธินิกายทางพุทธศาสนาในเมืองที่เป็นที่รู้จักกันอย่างดี และมีงานศึกษาถึงอยู่บ่อยครั้ง คือ ลัทธิธรรมกาย และลัทธิสันติอโศก ซึ่งจะเลือกขึ้นมาอภิปรายในบทนี้ด้วย. ลัทธินิกายทั้งสองถือตนว่าเป็นฝ่ายปฏิรูป จึงยึดจุดยืนที่มีลักษณะท้าทายและวิพากษ์วิจารณ์มากกว่าคณะสงฆ์ โดยเฉพาะมหาเถรสมาคม ซึ่งเป็นองค์กรทางพุทธศาสนาที่มั่นคงอยู่แล้ว ด้วยการให้ความสำคัญกับจริยธรรมในแง่มุมทางโลก พร้อมๆกับคัดค้านการปฏิบัติตามพิธีกรรมด้านไสยศาสตร์ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของคุณค่า ขบวนการเคลื่อนไหวทั้งสองยังสนับสนุนให้บรรดาสาวกเข้าร่วม ในการบำเพ็ญเพียรอย่างเคร่งคัดในเรื่องทางโลก เพื่อจะสำเร็จเป้าหมายตามคำสั่งสอนด้วยการฝึกปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งผ่านการกระทำส่วนตัวและการปฏิบัติร่วมกัน (Taylor 1990: 151-152)

อย่างไรก็ตาม ลัทธิพิธีทั้งสองได้เลือกยุทธวิธี ที่ตรงกันข้ามอย่างหน้ามือเป็นหลังมือในการแสวงหาอัตลักษณ์ทางศาสนาของตน ลัทธิธรรมกายนั้นยึดถือการทำสมาธิเป็นหลักในการปฏิบัติทางศาสนาด้วยเหตุนี้ คำว่า "ธรรมกาย" ในตัวเองจึงหมายถึง แก่นแท้ในเชิงจิตวิญญาณที่จะคงอยู่ชั่วนิรันดร์ของพุทธะ ซึ่งเชื่อกันว่าสถิตย์อยู่ในตัวตนของแต่ละบุคคล แต่จะสามารถค้นพบได้ก็ด้วยการรู้แจ้งด้านสมาธิที่ถูกต้องเท่านั้น. ในแง่นี้ลัทธิธรรมกายจึงมุ่งให้สาวกของตนใช้วิธีการทำสมาธิ เพื่อช่วยให้เข้าถึงการรู้แจ้งนั้น (Zehner 1990:406-407) ขบวนการเคลื่อนไหวนี้จะมุ่งเน้นไปที่ สำนึกทางศีลธรรมและคำสั่งสอนของลัทธิ ในฐานะที่เป็นศาสนาของประสบการณ์ตรงของแต่ละคนและการปฏิบัติตามความเชื่อที่สอดคล้องกับค่านิยม ในเรื่องการรักความสะอาดของชนชั้นกลาง ความมีระเบียบวินัย และความทันสมัย (Zehner 1990: 424)

นอกจากนั้นลัทธินี้ยังแสดงถึงค่านิยมที่หนักแน่นของชนชั้นกลาง ผ่านทางสัญลักษณ์ต่างๆ ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงความก้าวหน้า ความบริสุทธิ์ และอำนาจทางจิตวิญญาณ(Zehner 1990: 403). อย่างไรก็ตาม ความคิดเรื่องความทันสมัยในลัทธิธรรมกายได้สะท้อนให้เห็นถึงการนิยามลัทธิการปฏิรูปแบบชนชั้นนำที่เป็นกระแสหลัก เพราะต้องอาศัย การศึกษา เทคโนโลยี การจัดการ และตลาด(Apinya 1993:198)

ลัทธิธรรมกายนั้นมักจะมุ่งสอนเกี่ยวกับทางรอดในด้านจิตใจและจริยธรรมที่อยู่ใกล้แค่เอื้อม โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะปรับประยุกต์เข้ากับตลาดทุนนิยม ด้วยการส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านวัตถุภายใต้ระบบที่ดำรงอยู่ โดยอาศัยยุทธศาสตร์ของการจัดการแบบทันสมัยที่ยืดหยุ่นและมุ่งมั่น พร้อมด้วยสำนึกในพลังของส่วนรวมที่มีอยู่ในแต่ละคนอย่างมาก. ที่จริงแล้ว ลัทธิธรรมกายได้ระบุเป้าหมายไว้อย่างชัดแจ้งว่า จะแสวงหาเงินตราด้วยการลงทุนอย่างเต็มที่ในธุรกิจหลายชนิด

ในข้อกำหนดพื้นฐานของการเข้าเป็นสมาชิกของลัทธิจะขึ้นอยู่กับความสามารถในการบริจาคให้กับวัดพระธรรมกายอย่างสม่ำเสมอ และการเข้าร่วมในโครงการทำสมาธิแบบนอกรีต ด้วยเหตุนี้เอง ลัทธิธรรมกายจึงได้รับการขนานนามว่า เป็นขบวนการเคลื่อนไหวทางศาสนากลุ่มแรกในประเทศไทยที่ใช้เงินจำนวนมหาศาล ในการรณรงค์อย่างเชี่ยวชาญและมีค่าใช้จ่ายสูง เพื่อเผยแพร่ความเชื่อของตน (Taylor 1990: 139-141). ตามนัยเช่นนี้ชี้ว่า ขบวนการเคลื่อนไหวของลัทธิธรรมกายนั้น มีลักษณะเสมือนหนึ่งเป็นพุทธศาสนาแบบที่มุ่งมั่นในการสอนให้อุทิศตนกับความเชื่อ(Keyes 1989: 135)

ในทางตรงกันข้าม ลัทธิสันติอโศกจะมีความใกล้ชิดกับพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมมากกว่า(Keyes 1989: 135) เพราะคัดค้านการฝึกสมาธิอย่างแข็งขัน โดยถือว่าเป็นแนวทางที่ไร้ประโยชน์สำหรับการแสวงหาทางปลดปล่อย แต่ก็เลือกที่จะละเลยเนื้อหามาตรฐานของพุทธศาสนาและมักจะทดแทนด้วยการโน้มนำให้สาวกพยายามประยุกต์ใช้"ศีลธรรมของการอดกลั้น" ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้เข้าถึงสติปัญญา ด้วยเหตุนี้ลัทธิสันติอโศกจึงเรียกร้องให้สาวกต้องทำงานอย่างขยันหมั่นเพียร พร้อมกับยึดทางสายกลาง และใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายบนพื้นฐานของศีลธรรม

นอกจากนั้นลัทธิสันติอโศกยังเน้นการเข้าถึงธรรมะ ด้วยแนวทางที่อาศัยปัญญาและการใคร่ครวญตรึกตรอง ผ่านการถกเถียงกันในกลุ่ม. ในทำนองเดียวกัน ลัทธิสันติอโศกยังต่อต้านจารีตของการสวดมนตร์ด้วยภาษาบาลี ซึ่งเห็นว่าไม่มีประโยชน์ เนื่องจากคนจำนวนน้อยเท่านั้นที่สามารถเข้าใจคำต่างๆได้ และยังแสดงถึงความไม่เชื่อถือในความเชื่อแบบชาวบ้าน ในแง่ของพลังที่จะผลักดันให้เกิดผลจากพิธีกรรมทั้งหลาย(Taylor 1990: 149-150)

ในขณะที่ลัทธิธรรมกายมุ่งในแนวทางด้านการตลาด ลัทธิสันติอโศกกลับตอบโต้ต่อความทันสมัยด้วยการต่อต้านความทันสมัย และยึดมั่นในคติธรรมของการต่อต้านลัทธิบริโภคนิยม ที่ไม่ให้ความสำคัญกับวัตถุในทางโลก ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากการที่ลัทธิสันติอโศก หันมาใช้เสื้อผ้าหม้อห้อมของชาวนาเป็นเครื่องแบบ ซึ่งแสดงนัยของชุมชนเกษตรกรรมแบบชาวพุทธในยุคก่อนความทันสมัย พร้อมกันนั้นขบวนการเคลื่อนไหวของสันติอโศก ยังเรียกร้องให้คำนึงถึงการพึ่งตนเองในด้านสิ่งแวดล้อม และจำกัดการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

ปฏิกิริยาเหล่านี้สะท้อนถึงการถวิลหาอดีต เพื่อสร้างภาพพจน์ใหม่ของอดีตและความปรารถนาที่จะหวนคืนกลับไปสู่ยุคทองของศาสนา ซึ่งวัดและพระสงฆ์ยังคงเป็นศูนย์กลางของชีวิตชุมชน(Apinya 1993: 199). ตามแนวทางในการกลับคืนสู่สามัญนั้น สาวกของลัทธิสันติอโศกถูกกำหนดให้ยึดมั่นต่อวินัยของตนเองอย่างเคร่งคัด ทั้งพระสงฆ์และฆราวาสจะยึดแบบแผนการบริโภคแบบมังสะวิรัติ และพยายามอธิบายอยู่เสมอถึงเรื่องความไร้ประโยชน์ในการถวายสิ่งของให้พระพุทธรูปและการทำบุญให้แก่ญาติผู้ล่วงลับ ดังนั้น แนวทางในการรณรงค์ต่อสาธารณะของลัทธิสันติอโศกจึงมุ่งตรงไปที่ประเด็นทางด้านศีลธรรม และการรักษาศีลห้าหรือศีลแปดเป็นหลัก (Taylor 1990: 150).

back to home
webboard

ในทศวรรษ ๒๕๒๐ ยังพบกรณีของความคึกคักอย่างชัดเจนในด้านลัทธิพิธีที่เกี่ยวข้องกับการนับถือผี จากการมีคนทรงเจ้าเข้าผีเกิดเพิ่มขึ้นในสังคมเมืองอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้หญิง. การหวนกลับคืนมาของลัทธิพิธีกรรมของคนทรงเจ้าจะพบเห็นได้มากตามใจกลางของเมืองใหญ่ อย่างเช่น เมืองเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นเมืองใหญ่อันดับสองของไทย ความเชื่อเช่นนี้ช่วยให้ผู้หญิง โดยเฉพาะคนจน มีเครื่องมือเชิงสัญลักษณ์ในรูปของคนทรงเจ้า สำหรับกอบกู้สถานภาพทางสังคมของตนกลับคืนมาจากสภาพที่เคยเสื่อมถอยลงไปบ้าง อันเป็นผลมาจากลัทธิพิธีไหว้ผีปู่ย่าได้ลดความสำคัญลงไปในระดับหมู่บ้าน ที่ครั้งหนึ่งเคยยกย่องผู้หญิงให้อยู่ในฐานะที่มีอำนาจเชิงพิธีกรรม

อย่างไรก็ดี ในบางพื้นที่ของตัวเมืองในเขตภาคเหนือ ลัทธิพิธีไหว้ผีปู่ย่ากำลังกลับมานิยมนับถือกันใหม่เมื่อไม่นานมานี้ พิธีไหว้ผีปู่ย่าที่รู้จักกันในท้องถิ่น เช่น การไหว้ผีมด และการไหว้ผีเม็ง จะมีกลุ่มลูกหลานช่วยกันจัดบ่อยครั้งมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการฟ้อนผี ซึ่งคนทรงที่เป็นผู้หญิงส่วนใหญ่จะเป็นผู้ฟ้อน. ในอดีตพิธีเช่นนี้จะจัดกันขึ้นมา เพื่อวัตถุประสงค์ของการสร้างเสริมความอยู่เย็นเป็นสุขของชีวิตและสุขภาพให้กับเครือญาติที่นับถือผีเดียวกัน แต่พิธีเดียวกันนี้ในปัจจุบัน ส่วนมากจัดขึ้นมาเพื่อแก้บน ที่เครือญาติบางคนไปบอกกล่าวไว้ เพื่อขอให้ผีปู่ย่าช่วยเหลือในเรื่องส่วนตัวต่างๆ เช่น ขอให้ประสบความสำเร็จในการลงทุน ขอให้ถูกหวย และขอให้ประสบความสำเร็จในด้านการศึกษา รวมทั้งการขอให้ช่วยรักษาโรค และการสะเดาะเคราะห์ภัยต่างๆ เป็นต้น (Tanabe 1991: 192-193).

การทรงเจ้าเข้าผีในรูปแบบทางพิธีกรรมสมัยใหม่นั้น บางครั้งต้องดัดแปลงไปจากเดิมอยู่บ้าง ความเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดส่วนใหญ่สามารถเห็นได้ ในความเชื่อเรื่องผีที่นำชื่อมาอ้างถึงในการเข้าทรงซึ่งมักจะไม่ใช่ความเชื่อในผีท้องถิ่นดั้งเดิมแล้ว แต่มักจะเป็นความเชื่อในผีวีรบุรุษของคนไทยภาคกลาง หรือแม้กระทั่งเทพเจ้าต่างๆ ของพุทธศาสนานิกายมหายาน โดยเฉพาะเจ้าแม่กวนอิม. แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดเห็นจะเป็น การเกี่ยวข้องกันระหว่างการทรงเจ้าและพุทธศาสนาที่เพิ่มมากขึ้น คนทรงผีหรือม้าขี่สมัยใหม่มักจะแสดงตนเป็นผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนาอย่างมาก ด้วยการเข้าร่วมสร้างบุญกุศลในพิธีกรรมทางพุทธศาสนาสำคัญๆ.

ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้บ่งชี้ว่า การเข้าทรงได้กลายเป็นช่องทางของการแข่งขันและโอกาสเพื่อความสำเร็จด้านวัตถุ เพราะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผนวกวิถีปฏิบัติแบบการแพทย์พื้นบ้านให้ตกเข้าไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ผู้หญิงสามารถเสริมสร้างสถานภาพทางเศรษฐกิจของตนให้เข้มแข็งขึ้น พร้อมๆกับท้าทายอำนาจของผู้ชายไปด้วย (Irvine 1984:318-322)

1.3 ลัทธิพิธีที่เกี่ยวข้องกับการนับถือผี

ในกรณีของกรุงเทพฯ ลัทธิพิธีของการนับถือผีในฐานะที่เป็นความรู้ชาวบ้านก็กำลังปรับเปลี่ยนทิศทางใหม่ ซึ่งแตกต่างไปบ้างจากจารีตของลัทธิพิธีการเข้าทรงที่พบได้ในศูนย์กลางของเมืองอื่นๆ . ในช่วงเร็วๆนี้เอง ได้เกิดการก่อตัวขึ้นมาของลัทธิพิธีที่แตกต่างกันอย่างน้อย ๒ กลุ่ม ในหมู่คนชั้นกลาง โดยเฉพาะคนชั้นกลางในภาคธุรกิจ ตั้งแต่เจ้าของกิจการร้านค้ารายย่อยไปจนถึงบริษัทลงทุนขนาดใหญ่. ลัทธิพิธีแรก คือ ลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร.๕. ส่วนลัทธิที่สองคือ ลัทธิพิธีเจ้าแม่กวนอิม.

สำหรับลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร.๕ นั้น, ตั้งขึ้นมาตามพระนามของพระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ ๕ ของกรุงเทพฯ ซึ่งพระองค์ทรงริเริ่มกระบวนการสร้างความทันสมัยในประเทศไทย เมื่อช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐ ลัทธิพิธีนี้เริ่มต้นขึ้นมาจากการนับถือวีรบุรุษโดยคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ จำนวนมากเข้าร่วมในพิธีบวงสรวงบูชา ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าของรัชกาลที่ ๕ ทุกๆ วันอังคาร ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติของพระองค์. พิธีกรรมดังกล่าวได้ค่อยๆเปลี่ยนแปลงบุคคลในประวัติศาสตร์ไปเป็นเทพของลัทธิพิธี ซึ่งไม่มีการจัดตั้งเป็นองค์กร แต่เปิดกว้างให้กับผู้เลื่อมใสศรัทธาทุกคน

ที่จริงแล้วการเข้าร่วมในลัทธิพิธีก็ง่ายๆ ส่วนการจัดพิธีบวงสรวงเซ่นไหว้นั้นไม่จำเป็นก็ได้ ทุกคนสามารถเข้าร่วมลัทธิพิธีนี้ได้ด้วยการติดเหรียญ หรือมีภาพถ่ายพระรูปของรัชกาลที่ ๕ ไว้ในครอบครองเท่านั้น โดยทั่วไปผู้ศรัทธาก็จะสวมหรือติดเหรียญดังกล่าวไว้เป็นเครื่องประดับ หรือติดภาพถ่ายของพระรูปไว้ในอาคารธุรกิจของตน ในปัจจุบันลัทธิพิธีนี้ได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวาง จนกลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมไม่เฉพาะแต่เพียงในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ได้กระจายออกไปสู่ตัวเมืองอื่นๆด้วย ดังนั้น พระรูปของรัชกาลที่ ๕ ในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัย อิสระภาพ และโอกาส ได้ก่อให้เกิดความเชื่อว่า จะช่วยให้ผู้นับถือมีโชคลาภทางธุรกิจ พร้อมๆกับช่วยปกปักษ์รักษาให้พ้นจากภัยอันตรายต่างๆ ในแง่นี้ ลัทธิพิธีดังกล่าวจึงมีลักษณะบางอย่างคล้ายคลึงกับลัทธิบูชาพระเครื่องในพุทธศาสนา(นิธิ ๒๕๓๖).

ขณะที่ลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร.๕ เปิดกว้างให้สำหรับทุกคน อีกลัทธิพิธีหนึ่งในสังคมเมืองก็คือลัทธิพิธีเจ้าแม่กวนอิมนั้น จะมีการจัดตั้งมากกว่า ในทำนองเดียวกันกับขบวนการปฏิรูปทางพุทธศาสนา แม้ว่าลัทธิพิธีทั้งสองจะเกี่ยวข้องกับเรื่องทางโลกเหมือนกัน แต่ลัทธิพิธีเจ้าแม่กวนอิมก็มุ่งในแง่ของการผลิตซ้ำทางศีลธรรมตามนัยทางศาสนามากกว่า เพราะความเชื่อในความเป็นเทพของเจ้าแม่กวนอิมนั้น มีรากฐานอยู่ในคติเกี่ยวกับพระโพธิสัตว์ของพุทธศาสนานิกายมหายาน ในแง่นี้ลัทธิพิธีจึงได้รวมเอาจริยธรรมทางศาสนาและศีลธรรมของพุทธศานานิกายมหายานเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งช่วยเสริมสถานภาพของลัทธินิกายให้สูงขึ้น

ในสายตาของคนชั้นกลางในสังคมเมือง เมื่อเปรียบเทียบกับลัทธิพิธีการนับถือผีแบบจารีตดั้งเดิม สมาชิกของลัทธิพิธีนี้จะร่วมกันรักษาศีลพื้นฐานบางอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ การยึดมั่นในศีลของการบริโภคแบบมังสะวิรัติ เพื่อระลึกถึงความศรัทธาต่อเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นเทพเจ้าแห่งความเมตตา. ลัทธิพิธีเจ้าแม่กวนอิมก็มีผู้คนนับถือศรัทธาอย่างกว้างขวาง ใกล้เคียงกับลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร.๕ เพราะต่างก็โยงใยเกี่ยวข้องกับการบันดาลให้เกิดความสำเร็จทางธุรกิจ และความอยู่เย็นเป็นสุขเช่นเดียวกัน

ในหลายๆกรณี ผู้คนจะติดทั้งรูปถ่ายของรัชกาลที่ ๕ และภาพพิมพ์ของเจ้าแม่กวนอิมไว้ด้วยกันในสถานที่ทำธุรกิจ. นอกจากนั้นยังปรากฏว่า มีการก่อสร้างรูปปั้นของเจ้าแม่กวนอิมขนาดมหึมาพร้อมทั้งศาลเจ้าขึ้นตามศูนย์กลางของเมืองต่างๆอย่างต่อเนื่อง. ปรากฏการณ์ทางสังคมดังกล่าวเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากความเรียบง่ายของลัทธิพิธี และจากการที่ผู้ศรัทธาสามารถสื่อสารกับเจ้าแม่กวนอิมได้โดยผ่านคนทรง ในทำนองเดียวกันกับลัทธิพิธีการนับถือผีแบบจารีตดั้งเดิม(นิธิ ๒๕๓๗)

1.4 ลัทธิพิธีเสด็จพ่อ ร.๕. และ ลัทธิพิธีเจ้าแม่กวนอิม.

นอกจากขบวนการปฏิรูปทางพุทธศาสนา และลัทธิพิธีที่เชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติแล้ว ก็ยังมีการฟื้นฟูลัทธิพิธีในแวดวงของหมอพื้นบ้านอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตสังคมเมืองของภาคเหนือ หมอพื้นบ้านเหล่านี้รู้จักกันทั่วไปในอีกชื่อหนึ่งว่า"หมอเมือง". พวกเขามักจะเป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็งพร้อมกับมีอำนาจบารมีทางศีลธรรม ซึ่งเกิดจากการมีประสบการณ์แก่กล้าด้านโหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ การรักษาด้วยยาสมุนไพร และการใช้เวทย์มนต์คาถาจัดการกับภูติผีต่างๆ

ในปัจจุบันหมอพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็นหมอยาสมุนไพร หรือหมอต่อกระดูก ล้วนกำลังสูญหายไปเรื่อยๆ เมื่อเปรียบเทียบกับหมอเมืองที่เชี่ยวชาญในด้านไสยศาสตร์และหมอผี กลับมีกิจกรรมคึกคักมากขึ้น และบางคนถึงกับกลายเป็นผู้นำของกลุ่มลัทธิพิธีหรือผู้วิเศษเสียด้วยซ้ำไป ปรากฏว่ามีหมอเมืองจำนวนมากได้กลายเป็นผู้วิเศษ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนผ่านตำแหน่งของตนเองภายในโครงสร้างของระบบศีลธรรมของภาคเหนือ ด้วยการแสดงว่าเป็นผู้อุทิศตนในพุทธศาสนา. ผลที่ตามมานั้นช่วยให้หมอเมืองสามารถจูงใจ ทั้งคนในชนบทและคนชั้นกลางในเมืองให้มาฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกศิษย์ลูกหา และผู้เลื่อมใสศรัทธากันมากมาย ซึ่งล้วนเป็นผู้คนที่เชื่อถือในการผสมผสานความเชื่อทางศาสนา แต่ก็ต้องการแยกตนออกจากความเชื่อในการนับถือผี เพื่อพยายามค้นหาอัตลักษณ์ทางศาสนาที่ดูมีเหตุมีผลมากขึ้น ให้เหมาะสมกับสถานภาพใหม่ทางสังคมของตนเอง

หมอพื้นบ้านจำนวนมากถึงกับเลิกรักษาเยียวยาชาวบ้านในท้องถิ่น ดังที่มักเคยทำบ้างเป็นครั้งคราวเมื่อในอดีต แต่กลับหันมาตั้งเป็นสถานที่รับรักษาพยาบาลเต็มเวลาแบบทางการขึ้นแทน เพื่อบริการให้แก่คนไข้จำนวนมากที่ส่วนใหญ่จะมาจากในเมือง ตามนัยนี้จะเห็นได้ว่า หมอเมืองกำลังปรับเปลี่ยนแนวปฏิบัติให้ต่างออกไปจากเดิมอย่างมาก แม้ว่าพวกเขาจะเป็นผู้วิเศษของลัทธิพิธีแบบหนึ่ง แต่ก็ได้ผสมผสานหลักการของความมีเหตุมีผลเพิ่มเข้าไปในการให้บริการ ตามทิศทางที่คล้ายคลึงกับสถานบริการรักษาพยาบาลสมัยใหม่

อ่านต่อ กรุณาคลิกไปหน้าถัดไป

กลับไปหน้าเริ่มต้น

 

1.5 การฟื้นฟูลัทธิพิธีในแวดวงของหมอพื้นบ้าน
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
ส่วนกลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ