people politics after non-acceptant vote
ข้อเสนอเพื่อปฏิบัติการทางการเมืองของภาคประชาชนหลังเลือกตั้ง

สมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ร่วมกับ สำนักข่าวประชาธรรม

ได้จัดให้ตัวแทน"มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เสนอ

ข้อเสนอเพื่อปฏิบัติการทางการเมือง
ของภาคประชาชนหลังการเลือกตั้ง

สืบเนื่องจากการไปใช้สิทธิ์"เลือกที่จะไม่เลือก"
โดยการกาบัตรลงในช่อง"ไม่ประสงค์จะลงคะแนน"


วันเสาร์ที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๔๔
เวลา ๑๐.๐๐ - ๑๒.๐๐ น.
ณ สมาคมนักข่าวหนังสือพิมพ์ แห่งประเทศไทย

 

ตามที่"มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน"ได้รณรงค์ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา ให้ประชาชนไปใช้สิทธิโดยไม่เลือกผู้ใดเป็นตัวแทน เพื่อส่งสัญญาณให้พรรคการเมืองและนักการเมือง พิถีพิถันในการเสนอบุคคลและนโยบายแก่ประชาชน ได้พิจารณาในการเลือกตั้งมากขึ้น นับเป็นปฏิบัติการทางการเมืองของภาคประชาชน เพื่อเพิ่มอำนาจของประชาชนเหนือหีบบัตรเลือกตั้ง

ปรากฏว่าในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต มีผู้ไม่ประสงค์จะลงคะแนนถึง ๓.๓๘% มากกว่าการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ. ๒๕๓๙ กว่าเท่าตัว "มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน"เห็นว่า การตอบสนองของประชาชนในครั้งนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานการเมืองภาคประชาชน ในส่วนที่อาจะเชื่อมต่อกับการเมืองในระบบต่อไป จึงใคร่เสนอประเด็นทางการเมือง ๓ ประเด็นเพื่อการพิจารณาร่วมกันขององค์กรพันธมิตร โดยมีจุดมุ่งหมายให้การเมืองในระบบปรับตัวเพื่อตอบสนองประโยชน์ของประชาชนได้อย่างแท้จริง และประชาชนมีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง โดยผ่านกระบวนการเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

๑. เนื่องจากปฏิบัติการทางการเมืองของภาคประชาชนในบางเรื่อง อาจเป็นผลให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ประกอบกับใกล้ครบกำหนด ๕ ปี ที่ดูเหมือนรัฐธรรมนูญจะเสนอให้ทบทวนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม. ๓๓๖ แต่กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจำกัดการพิจารณาให้อยู่เฉพาะรัฐสภาเท่านั้น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเห็นว่าอาจเปิดโอกาสให้นักการเมืองแก้รัฐธรรมนูญจนถอยหลังลงคลองได้อีก ฉนั้นจึงควรผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญเพียงเรื่องเดียวก่อน คือการแก้ถ้อยคำหรือข้อความในรัฐธรรมนูญ นอกจากจะผ่านกระบวนการของรัฐสภาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ก่อนจะนำขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อลงพระปรมาภิไธย จะต้องทำประชามติให้ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนโดยตรงด้วย หากข้อเสนอการแก้รัฐธรรมนูญใดผ่านความเห็นชอบด้วยประชามติแล้ว จึงสามารถกราบบังคมทูลให้ทรงพิจารณาลงพระปรมาภิไธยตามกระบวนการนิติบัญญัติตามปรกติได้

กล่าวโดยสรุปก็คือ การแก้รัฐธรรมนูญต้องผ่านประชามติ

๒. "มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน"เห็นว่า สิทธิการลงคะแนนไม่เลือกควรมีผลทางการเมืองด้วย มิใช่มีไว้เฉยๆ จึงใคร่เสนอว่าในเขตเลือกตั้งใดที่มีผู้ไม่ประสงค์จะลงคะแนน เท่ากับหรือมากกว่าคะแนนของผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง ให้ถือว่าไม่มีผู้ใดได้รับเลือกตั้งในเขตนั้น พรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องส่งผู้สมัครใหม่ทั้งหมด ยกเว้นพรรคที่ผู้สมัครของตนถูก กกต.ห้ามลงเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิเสนอผู้สมัครใหม่ในเขตนั้น

นอกจากนี้ จำนวนของผู้ไม่ประสงค์จะลงคะแนนควรมีผลในทางใดทางหนึ่ง ในการพิจารณานำงบประมาณไปอุดหนุนพรรคการเมืองด้วย

๓. "มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน"เห็นว่า ควรร่วมมือในการเพิ่มขีดความสามารถของประชาชน ที่จะตรวจสอบพรรคการเมืองโดยมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงควรตั้งกลุ่ม "จับตา" พรรคการเมืองและนักการเมืองในประเด็นที่ประชาชนเห็นว่ามีความสำคัญ "มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน"คิดว่าการกระจายการถือครองที่ดินและการปฏิรูปที่ดิน มีความสำคัญแก่สังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง ฉนั้นมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะ "จับตา" พฤติกรรมของพรรคการเมืองและนักการเมืองต่อประเด็นต่างๆ เช่น ใครตั้งกระทู้, เสนอกฎหมายหรือสนับสนุน-คัดค้านกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง ใครเข้าร่วมกับประชาชนในการผลักดันในเรื่องนี้บ้าง ใครให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าอะไร ฯลฯ เป็นต้น และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ เสนอต่อสาธารณชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ได้รับทราบทุกปีเป็นอย่างน้อย

"มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน"ใคร่เรียกร้ององค์กรพันธมิตร เช่น กลุ่มผู้หญิง, กลุ่มแรงงาน, กลุ่มเกษตรกรรายย่อย สมัชชาคนจน ฯลฯ ได้หาประเด็นที่ท่านเห็นว่ามีความสำคัญ และคอย"จับตา"พรรคการเมืองและนักการเมืองในประเด็นนั้นๆด้วย เพื่อที่ว่าเมื่อถึงเวลาเลือกตั้ง ประชาชนจะมีข้อมูลเกี่ยวกับท่าทีของพรรคการเมือง และนักการเมืองที่เสนอตัวเข้ามาต่อประเด็นเหล่านี้อย่างชัดเจน

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
๒๔ มีนาคม ๒๕๔๔

website มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ../midnightuniv
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

 

 

content
member
back to home

สรุปการประชุม วันเสาร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2544
ณ สมาคมผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ แห่งประเทศไทย
ผู้ดำเนินรายการ นิธิ เอียวศรีวงศ์
ผู้ร่วมเสวนา เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และองค์กรพันธมิตร

นิธิ เอียวศรีวงศ์ เหตุในการจัดประชุมครั้งนี้ ตามที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้รณรงค์ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา ให้ประชาชนไปใช้สิทธิโดยไปกาบัตรลงในช่องที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกผู้ใดและพรรคใดเป็นตัวแทนในรัฐสภาฯ เพื่อส่งสัญญาณให้พรรคการเมืองและนักการเมืองให้มีความพิถีพิถันในการเสนอบุคคลและนโยบายแก่ประชาชน นับเป็นปฏิบัติการทางการเมืองของภาคประชาชน และการเพิ่มอำนาจของประชาชนเหนือหีบบัตรเลือกตั้ง

ปรากฏว่าในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต มีผู้ไม่ประสงค์จะลงคะแนนถึง ๓.๓๘% มากกว่าการเลือกตั้งทั่วไปใน พ.ศ. ๒๕๓๙ กว่าเท่าตัว มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเห็นว่าการตอบสนองของประชาชนในครั้งนี้ น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานการเมืองภาคประชาชน ในส่วนที่อาจะเชื่อมต่อกับการเมืองในระบบต่อไป จึงใคร่เสนอประเด็นทางการเมือง ๓ ประเด็นเพื่อการพิจารณาร่วมกันขององค์กรพันธมิตร

๑. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการทบทวนในมาตรา ๓๓๖ นี้ เป็นการเปิดโอกาสให้มีการเสนอให้แก้ใขรัฐธรรมนูญ ล้วนเป็นข้อเสนอเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองทั้งสิ้น หาได้มีการเสนอเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิของประชาชนแต่อย่างใด
ข้อเสนอของเราจึง ควรผลักดันให้แก้รัฐธรรมนูญเพียงเรื่องเดียวก่อน คือการแก้ถ้อยคำหรือข้อความในรัฐธรรมนูญนอกจากผ่านกระบวนการของรัฐสภาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ก่อนจะนำขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อลงพระปรมาภิไธย จะต้องทำประชามติให้ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนโดยตรงด้วย หากข้อเสนอการแก้รัฐธรรมนูญใดผ่านความเห็นชอบด้วยประชามติแล้ว จึงสามารถกราบบังคมทูลให้ทรงพิจารณาลงพระปรมาภิไธยตามกระบวนการนิติบัญญัติตามปรกติได้ กล่าวโดยสรุปก็คือ การแก้รัฐธรรมนูญต้องผ่านประชามติ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจนกระทั่งสูญเสียเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญไป

๒. การเลือกที่จะไม่เลือก มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเห็นว่า สิทธิการลงคะแนนไม่เลือกควรมีผลทางการเมืองด้วย มิใช่มีไว้เฉยๆ จึงใคร่เสนอให้มีการแก้ไขกฎหมาย ว่าในเขตเลือกตั้งใดที่มีผู้ไม่ประสงค์จะลงคะแนน "เท่ากับหรือมากกว่า" คะแนนของผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง ให้ถือว่าไม่มีผู้ใดได้รับเลือกตั้งในเขตนั้น พรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องส่งผู้สมัครใหม่ทั้งหมด ยกเว้นพรรคที่ผู้สมัครของตนถูก กกต.ห้ามลงเลือกตั้ง ไม่มีสิทธิเสนอผู้สมัครใหม่ในเขตนั้น
นอกจากนี้ จำนวนของผู้ไม่ประสงค์จะลงคะแนน ควรมีผลในทางใดทางหนึ่งในการพิจารณานำงบประมาณไปอุดหนุนพรรคการเมืองด้วย

๓. การติดตามการทำงานของนักการเมืองและพรรคการเมือง มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเห็นว่า ควรร่วมมือในการเพิ่มขีดความสามารถของประชาชนที่จะตรวจสอบพรรคการเมืองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้นจึงควรตั้งกลุ่ม "จับตา" พรรคการเมืองและนักการเมืองในประเด็นที่ประชาชนเห็นว่ามีความสำคัญ
ในส่วนของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเองคิดว่า"การกระจายการถือครองที่ดินและการปฏิรูปที่ดิน" มีความสำคัญแก่สังคมไทยเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้นมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะ "จับตา" พฤติกรรมของพรรคการเมืองและนักการเมืองต่อประเด็นต่างๆ เช่น ใครตั้งกระทู้, ใครเสนอกฎหมาย หรือสนับสนุนหรือคัดค้านกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง ใครเข้าร่วมกับประชาชนในการผลักดันในเรื่องนี้บ้าง ใครให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าอะไร ฯลฯ เป็นต้น และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะรวบรวมข้อมูลเหล่านี้เสนอต่อสาธารณชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ได้รับทราบทุกปีเป็นอย่างน้อย

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนใคร่เรียกร้ององค์กรพันธมิตร เช่น กลุ่มผู้หญิง, กลุ่มแรงงาน, กลุ่มเกษตรกรรายย่อย ฯลฯ ได้หาประเด็นที่ท่านเห็นว่ามีความสำคัญ และคอย"จับตา"พรรคการเมืองและนักการเมืองในประเด็นนั้นๆด้วย เพื่อที่ว่าเมื่อถึงเวลาเลือกตั้ง ประชาชนจะมีข้อมูลเกี่ยวกับท่าทีของพรรคการเมืองและนักการเมืองที่เสนอตัวเข้ามาเป็นตัวแทนประชาชน ต่อประเด็นเหล่านี้อย่างชัดเจน

มงคล บางประภา (Bangkok Post) จากที่อาจารย์นิธิเสนอมาในข้อที่สอง, การแก้ไขช่องไม่เลือกให้มีผลทางการเมือง ควรต้องมีแก้กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ให้มีผลในเชิงปฏิบัติ ดูตามรัฐธรรมนูญมาตรา 112 แล้ว เห็นว่าแก้กฎหมายลูกได้
ส่วนเรื่องการกำหนดงบประมาณในการอุดหนุนพรรคการเมือง ควรให้มีการคำนึงถึงการได้รับเลือกตั้งด้วย ทั้งนี้เพราะในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีพรรคการเมือง ๒-๓ พรรค ที่มีคนไปลงคะแนนน้อยกว่าสมาชิกของพรรคฯ. แสดงให้เห็นว่า, แม้แต่สมาชิกของพรรคการเมืองนั้น ยังไม่เลือกพรรคการเมืองที่ตนเองสังกัด

ในเรื่องการจับตานักการเมืองและพรรคการเมืองนั้น ผมเห็นว่าทำเท่านี้อาจจะไม่พอ น่าจะให้การจับตาดังกล่าว หมายรวมไปถึงข้าราชการที่มีอำนาจในการตัดสินใจด้วย ทั้งนี้เพื่อให้มันมีผลจริงจังต่อการปฏิบัติที่ส่งกระทบถึงประชาชน

เสกสรรค์ ประเสริฐกุล (ป X ป). จากแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนที่เสนอมานั้น ผมเห็นด้วย. และมีความเห็นเพิ่มเติมต่อการแสดงเจตนารมณ์ของประชาชนในการเลือกตั้ง คือ อยากฉายภาพกว้างสำหรับระบบการเลือกตั้งว่า อันที่จริงมันเป็นระบบที่เก่าแก่ของโลกตะวันตก แต่ระบบประชาธิปไตยยังเป็นระบบที่ควรใช้อยู่ อย่างไรก็ตามระบบการใช้อำนาจโดยตรงของประชาชนจะดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางด้านนิติบัญญัติ
ส่วนสำหรับเหตุที่คนไปลงคะแนนไม่เลือก มันมีนัยอยู่หลายประการ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะไม่พอใจตัวคนก็ได้ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าปฏิเสธระบบประชาธิปไตยแบบเลือกตั้ง. กับนัยที่สอง เป็นการต้องการเสนอให้มีการปรับปรุงระบบประชาธิปไตยของประชาชนให้มีการคัดเลือกคน ตลอดจนถึงการปกครองท้องถิ่นที่ และให้ประชาชนมีอำนาจปกครองตนเองมากขึ้น
แต่เท่าที่ผ่านมา การสนองตอบความต้องการของประชาชนมีน้อยมาก ดังนั้น การผลักดันให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและเข้าสู่เวทีการเมืองได้โดยตรง จึงเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งอันนี้ไม่ได้แยกออกจากการเมืองในระบบประชาธิปไตย และจากประสบการณ์ การไปพบปะกับผู้เดือดร้อน พบว่าประชาชนไม่สามารถเข้าถึง พบปะกับนักการเมืองในท้องถิ่นของเขาได้ ดังนั้น ประชาชนจึงควร "เข้าสู่เวทีการเมือง" ได้ด้วยตัวเอง
ปัจจุบัน เรื่องของการแบ่งอำนาจการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ อาจไม่เพียงพอ มาถึงตอนนี้ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วม แต่ก็ขึ้นอยู่กับประชาชนเองว่าจะเข้ามาตรวจสอบหรือไม่ ดังนั้น การทำประชามติมีความจำเป็น หรือหากเป็นเรื่องของท้องถิ่นก็จำเป็นต้องมีการจัดทำประชาพิจารณ์
ดังนั้น องค์กรประชาชนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเกษตรกร ผู้หญิง เด็ก แรงงาน ฯลฯ ควรเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง. ภาคการเมืองเองก็ควรยอมรับ เป็นการปรับปรุงประชาธิปไตยสำหรับปีสหัสวรรษใหม่นี้ เป็นประชาธิปไตยอย่างมีส่วนร่วมมากขึ้นไปพร้อมๆกับประชาธิปไตยแบบตัวแทน

วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ (ตัวแทนสมัชชาคนจน) สำหรับการเลือกตั้งนั้น เห็นว่าไม่ค่อยสำคัญในความคิดเห็นของตัวเอง แต่ที่สำคัญคือความเป็นอยู่ของชนชั้นล่าง
การเลือกตั้งและโครงสร้างทางการเมืองที่ผ่านมานั้น เป็นเรื่องของการช่วงชิง เป็นเรื่องของการเข้าไปสร้างระบบอุปถัมภ์ขึ้นมา ดังนั้น การที่ชนชั้นล่างจะไปใช้สิทธิเสรีภาพของตนอย่างอิสระ ชนชั้นล่างกลับต้องไปใช้สิทธิเพื่อตอบแทนระบบอุปถัมภ์และต้องไปเพราะหน้าที่ ดังนั้น การเมืองจึงไม่ได้ช่วยให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ขณะที่การผลักดันในประเด็นชีวิตความเป็นอยู่ อำนาจทางเศรษฐกิจ อำนาจในการจัดการทรัพยากร ที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เขาใช้และถือครองอยู่ เรื่องสิทธิชุมชนในการเข้าถึงและจัดการทรัพยากรจึงมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่อย่างมาก. ดังนั้นในข้อเสนอข้อ ๓ ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จึงเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง คือเรื่องของ"การปฏิรูปที่ดิน"
ในส่วนต่อมา"แนวคิดนิเวศวิทยา" ตัวเองเห็นว่า นั่นเป็นจุดเชื่อมระหว่างชนชั้นกลางและชนชั้นล่างเข้าด้วยกัน. ปัจจุบันชนชั้นกลางที่ตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศมีมากขึ้น และชนชั้นล่างที่จำเป็นต้องอยู่กับและใช้ทรัพยากร และถูกกระทบโดยตรงเนื่องจากการถูกแย่งทรัพยากรก็มีมากขึ้นตามลำดับ เช่น ในสุราษฎร์ เจ้าหน้าที่อุทยานถูกจับตัวไม่ให้เข้าไปในเขตอุทยานฯ มีความรุนแรงเกิดขึ้น จากการแย่งชิงทรัพยากร. รวมถึงปัญหาที่ดินทำกินของชาวบ้านที่ จ. ลำพูน ที่หากไม่เข้ามาจัดการ อาจเกิดกลียุคขึ้นได้
นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องสื่อก็มีความสำคัญ เพราะเท่าที่ผ่านมา การสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับการต่อสู้ของชาวบ้าน ถูกนำเสนออย่างไม่เข้าใจ ทำให้สังคมขาดความเข้าใจและรับรู้ถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงไม่เข้ามาสนับสนุน

สุภิญญา กลางณรงค์ (องค์กรติดตามม.๔๐) ในส่วนของ vote no vote ยังไม่ค่อยได้ติดตาม ส่วนใหญ่เป็นการรณรงค์เพื่อวาระประชาชน การเมืองภาคประชาชนอยู่ แต่เห็นด้วยกับข้อเสนอของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนทั้ง ๓ ข้อ และในส่วนขององค์กรที่ตนเองทำงาน การตรวจสอบกลไกอำนาจรัฐ ของ"องค์กรติดตามรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับมาตราที่ ๔๐" ยังคงติดตามต่อสู้เพื่อสิทธิในการเข้าถึงและการใช้สื่อของประชาชนอยู่ ถึงแม้กลุ่มธุรกิจทุนเกี่ยวกับด้านสื่อ ในที่สุดแล้วจะชนะ แต่ก็ต้องเหนื่อยมากขึ้น
กลับมาที่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตอนนี้กำลังกังวลใจอยู่ เช่นใน มาตรา ๔๐ อาจจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรานี้ จนทำให้ต้องสูญเสียเจตนารมณ์ที่มีมาแต่เดิมในรัฐธรรมนูญไป. ซึ่งอันนี้อยากจะให้ประชาชนช่วยกันจับตาดูนักการเมืองและพรรคการเมืองต่อประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในข้อนี้ด้วย
การเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชนในการตรวจสอบ ที่มุ่งหวังกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลย์ คิดว่าเป็นเรื่องที่ควรทำที่สุดในตอนนี้ เพราะแม้ในรัฐธรรมนูญจะเปิดให้มีช่องทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสรรคลื่นความถี่ แต่ก็ยาก ทำได้แค่การตรวจสอบ

อ.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ (สื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช) จากคณะทำงานมาตรา ๔๐ เห็นด้วยกับข้อเสนอทั้งสามข้อที่อาจารย์นิธิเสนอมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องผ่านประชามติของประชาชน ...จนกระทั่งถึงการปฏิรูปที่ดิน
สิ่งที่อยากจะเพิ่มเติมในที่นี้ก็คือ เรื่องหลักการเกี่ยวกับสื่อที่เป็นอิสระ อันนี้มีความสำคัญต่อภาคประชาชนที่จะได้รับข้อมูลที่เป็นกลาง การเฝ้าติดตามที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเสนอจะจับตาในเรื่องเกี่ยวกับการกระจายการถือครองและการปฏิรูปที่ดิน มีความเห็นว่า การปฏิรูปสื่อก็สำคัญ. ในการทำงานสื่อด้านต่างๆ การทำงานสื่อเพื่อภาคประชาชน การทำงานสื่อเพื่อสาธารณะ ล้วนเป็นเรื่องที่ต้องตรวจสอบกัน
ตัวอย่างเช่น การมีข่าวว่าจะเปลี่ยนตัวอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ สำหรับคนปัจจุบัน,ต้องการผลักดันให้ช่อง 11 เป็นองค์กรมหาชนอิสระ แต่มีแนวโน้มจะถูกย้าย แล้วนำอีกคนมานั่งแทนซึ่งจะทำให้สื่อของกรมประชาสัมพันธ์กลับไปเป็นสื่อของรัฐเหมือนเดิม.
ส่วนในเรื่องของการปฏิรูปสื่อ ควรให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วม โดยการจัดให้มีสัดส่วนจากภาคประชาชนในคณะกรรมการจัดสรรคลื่นความถี่ หรือรวมไปถึง การจัดแปรรูปสถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑
คณะติดตามมาตรา ๔๐ ต้องการเสนอในการจับตา ในเรื่องสิทธิของประชาชนในคลื่น ๒๐% ต้องทำให้เกิดผลขึ้นมาอย่างแท้จริง และการจับตาสิทธิในคลื่นความถี่ของภาครัฐ ที่ต้องทำเพื่อสาธารณะ ไม่ใช่ทำเพื่อรัฐบาลเท่านั้น เช่น ประเด็นของกรมประชาสัมพันธ์ที่รัฐพยายามกดดันให้เป็นกระบอกเสียงของรัฐบาล แทนที่จะเป็นสื่อของสาธารณชน
ทั้งหมดนี้ที่ทำไป ก็เพื่อทำให้การสื่อสารของภาคประชาชนเกิดขึ้นจริง ซึ่งจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างกว้างขวางมากขึ้น

ไชยพันธุ์ ประภาสะวัต (ตัวแทนสมัชชาคนจน) เห็นด้วยกับข้อเสนอของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนทุกข้อ และมีความเห็นเพิ่มเติมคือ
ประเด็นแรก ภาคประชาชนต้องเตรียมตัวไว้ด้วย พรรคการเมืองและนักการเมือง อันที่จริงต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ในหลายๆเรื่องที่เป็นกระทบผลประโยชน์ของตนและพรรคตน
ประเด็นสอง การแก้กฎหมายเลือกตั้ง กรณี Vote no Vote, ในส่วนของการไปลงคะแนนของประชาชนในช่องไม่ประสงค์จะเลือกพรรคใด หรือระบบบัญชีรายชื่อ. สมมุติว่ามีผู้ไม่เลือกพรรคการเมืองนั้นๆมากถึง 5% ก็ให้ตัดทิ้งส่วนพรรคการเมืองนั้นๆ ๕% ไปเลย
ประเด็นสาม สำคัญมากก็คือ, การเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชน หากไม่ทำอะไรเลยตอนนี้ จะไม่ก่อให้เกิดผลทางการเมืองในทางที่ดีขึ้น ประชาชนก็จะลำบากต่อไป ฉะนั้นต้องรีบทำ ไม่งั้นจะเกิดวิกฤติ ทั้งเรื่องน้ำและที่ดิน เหตุที่ขาดที่ดินทำกิน ต้องมีการจัดการปฏิรูปที่ดิน การจัดระบบภาษีที่ดินแบบก้าวหน้า

นิธิ เท่าที่ฟังหลายๆท่านแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมกันมา ทั้งหมดเป็นการเสนอให้การเมืองภาคประชาชนมาเสริมเชื่อมกันได้กับการเมืองในระบบตัวแทน ทำให้การเมืองทั้งสองภาคมีความสัมพันธ์กัน
นอกจากนี้ เราจะทำอย่างไรให้การเมืองภาคประชาชนเข้ามามีผลสำคัญต่อการเมืองระบบตัวแทนที่เป็นจริง จึงเสนอให้มีการจับตาร่วมกันในประเด็นที่ตนเองติดตามอยู่
เห็นด้วยกับคุณมงคลว่าการจับตาแต่นักการเมืองเท่านั้นไม่พอ อาจต้องจับตาที่ข้าราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น เช่นอธิบดีกรมที่ดิน เคยทำอะไร ?

กลุ่มสยามประชา การปฏิเสธการเมืองระบบตัวแทน แล้วออกมาเป็นข้อเสนอของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนในวันนี้ เห็นว่า ต้องมีเครื่องมือ ทำให้บรรลุผลสำเร็จ เพราะภาคประชาชนอ่อนล้า. เราจะทำอย่างไรให้ภาคประชาสังคม การเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนมีความเข้มแข็ง.
ที่กลุ่มสยามประชาเคยคิดมานานนั้น เป็นเรื่องภาษีมรดก และเรื่องที่ดินซึ่งมีการถือครองกระจุกตัว ๗๐% อยู่ที่คนกลุ่มน้อย อยากระดมผู้ที่เห็นด้วยให้ลงชื่อเสนอกฎหมาย การจัดเก็บภาษีมรดก และการปฏิรูปที่ดิน. และเมื่อร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่สภาฯ แล้วประชาชนต้องมีส่วนในการพิจารณาถึงประเด็นเหล่านี้ด้วย พร้อมทั้งให้เราช่วยกันจับตาดู

นิธิ ขอกลุ่มสยามประชาว่าให้จับตาประเด็นนี้ได้เลยครับเกี่ยวกับภาษีมรดก และเรื่องที่ดิน

กลุ่มสยามประชา เป็นกลุ่มกิจกรรมที่เคยทำกิจกรรมที่ ม.ขอนแก่น ยินดีที่จะร่วมจับตาประเด็นภาษีมรดกและที่ดิน

เสกสรรค์ ในระยะหลังองค์กรภาคประชาชนจะกระจายตัวกันออกไป แต่ละองค์กรก็สนใจแต่ประเด็นของตัวเอง ดังนั้นภาคประชาชนต้องมีการรวมกัน เช่น อาจมีการรวมตัวกันเพื่อนำเสนอประเด็นสำคัญทางการเมืองหลักๆสัก 5 ประเด็น ที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม แล้วก็เคลื่อนไหวร่วมกัน เช่น มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจับตาเรื่องที่ดิน ทำไงให้การจับตาเรื่องที่ดินเป็นที่สนใจร่วมกันและคอยตามดูอย่างใกล้ชิด และให้สังคมเฝ้าตรวจสอบด้วย

สมัชชานักวิชาการเพื่อคนจน เสนอให้เพิ่มประเด็นข้อสี่ นั่นคือ ขณะนี้ปัญหาสำคัญของสังคมไทยคือ ความอยุติธรรมของสังคมและความไม่เสมอภาคซึ่งเกิดขึ้นทั่วไป จึงเรียกร้องให้รัฐบาล นักการเมือง และพรรคการเมือง แสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติการทางการเมืองที่ทำให้เกิดความเสมอภาคและความยุติธรรม เป็นประเด็นเร่งด่วนเฉพาะหน้า ซึ่ง ได้แก่ ปัญหาเรื่องที่ดิน(1) สื่อ(2) ภาษีมรดก(3)
และข้อเสนอที่ห้า ต้องการให้การเสนอรายชื่อห้าหมื่นชื่อของประชาชน ต้องง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการเสนอให้ ส่วนราชการอำนวยความสะดวกให้ในการจัดรวบรวมรายชื่อนั้น

วนิดา เมื่อเราพูดถึงประชามติ เราต้องระวังไม่ให้เหมือนการทำประชาพิจารณ์ที่บิดเบือนและข้อมูลกระจายไม่พอ

มงคล ผมได้มาทบทวนดูถึงสิ่งที่เป็นข้อเสนอของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและมีความคิดเห็นว่า ข้อเสนอในประเด็นแรกเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องผ่านประชามติ ในนข้อแรกนี้ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยาก. ส่วนข้อเสนอในประเด็นที่สองและสาม ยังพอทำได้. ทั้งนี้เพราะ ข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญคนที่แก้คือคนที่อยู่ในสภา เขาจะแก้ให้เราหรือไม่

ประสงค์ รัตนวิสุทธิ์ (อุปนายกสมาคมนักข่าวฯ) ตอนนี้เหมือนกับรัฐบาลกำลังจ่ายเงินตามเช็คล่วงหน้าที่ออกไป (การดำเนินตามนโยบายที่ได้ให้ไว้กับประชาชน)ซึ่งเราได้เห็นกันอยู่. ส่วนเรื่องที่กำลังรู้สึกอยู่ขณะนี้คือ เสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ, สำหรับพรรคไทยรักไทยแล้ว เป็นเรื่องที่ง่ายมากและสามารถเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญได้เลย. เท่าที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าพรรคไทยรักไทยกำลังมีท่าทีอึดอัดกับบรรดาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ หากมีการเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญได้ตามใจชอบจะมีการแก้ไขในประเด็นหลักๆเหล่านี้ รวมทั้งเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองเก่าๆ ซึ่งจะไม่เกี่ยวข้องอะไรกับประโยชน์ของประชาชนเลย การต้องเตรียมประเด็นรับมือกับการแก้รัฐธรรมนูญ เช่นประเด็นบิ๊กจ๊อด ที่บอกว่าตอนนี้เป็นกระแส แต่เราสามารถเสนอให้มีการเข้มงวดได้ และกำหนดกระแสภาคประชาชนให้ชนะการต่อสู้ในเวทีการเมืองได้
ส่วนเรื่องการปฏิรูปที่ดิน มีนักการเมืองหลายคนมีที่ดินเป็นจำนวนมาก เมื่อต้องไปกระทบกับผลประโยชน์ของคนเหล่านี้เข้าจริงๆ จะเป็นปัญหามาก ซึ่งพวกนี้คงไม่ยอมอะไรง่ายๆ วิธีการของเขาอาจมีการถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ. ดังนั้นในส่วนของเรา ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้ภาคการเมืองซื้อเวลาไปเรื่อยๆ และรอให้ภาคประชาชนอ่อนล้าลง.

กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

 

สรุปการประชุมการเมืองภาคประชาชนเหนือหีบบัตรเลือกตั้ง ร่วมกันกับองค์กรพันธมิตร