H

เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย :

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 362 หัวเรื่อง
วิพากษ์การประกันคุณภาพการศึกษา
จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์
นิสิตปริญญาเอก คณะคุรุศาสตร์
จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย

(บทความนี้ยาวประมาณ 12 หน้า)
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้

บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์ กรุณาแจ้งให้ทราบที่

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com

140347
release date
R
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆของเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
Wisdom is the ability to use your experience and knowledge to make sensible decision and judgements

วิพากษ์การประกันคุณภาพการศึกษา
มาตรฐานการศึกษากับ "ความเป็นอื่น" ?

จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์
นิสิตปริญญาเอก คณะคุรุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย

(บทความนี้ ยาวประมาณ 12 หน้ากระดาษ A4)

 

ผลพวงของโลกาภิวัฒน์ได้ช่วยพัดพากระแสความคิดเรื่อง "คุณภาพ" (Quality) และเรื่อง "มาตรฐาน" (Standard) ให้กระจายไปทั่วทุกหัวระแหง ตั้งแต่มุมโลกตะวันตกสู่โลกตะวันออก หรือแม้แต่ภาคการผลิต/กิจการต่างๆ ตั้งแต่ภาคอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ ภาคบริการ จนไปถึงแวดวงการศึกษา (Education) ซึ่งต่างก็หันมาเน้นเรื่องดังกล่าว และถือเป็นดัชนีชี้วัดความสำเร็จของประเทศ

ในทำนองเดียวกันนั่นได้ทำให้คำว่า "คุณภาพและมาตรฐานการศึกษา" กลายเป็นวาทกรรมหลักของการพัฒนาทั้งนัยแห่งการปฏิรูปการศึกษา การสร้างคน/พัฒนาชาติ ซึ่งประเทศไทยเองก็ถือว่านี่เป็นโจทย์สำคัญที่จะทำให้ชาติไทยยิ่งใหญ่ได้ไม่น้อยหน้าชาติอื่นเช่น

ด้วยเหตุนี้ ระบบประกันคุณภาพและประเมิน "มาตรฐานการศึกษา" และสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ที่กำเนิดจากความในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ.2542 ก็ได้ถูกยกขึ้นให้เป็นนัยยะสำคัญทั้งในเชิงของ "วิสัยและเป้าหมาย" กับ "วิถีและปลายทาง" การพัฒนา

ฉะนั้น เราจึงเห็นได้ว่า ในปี 2456-2547 ที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เริ่มตะลุยประเมินมาตรฐานสถานศึกษารอบแรกนั้น จึงนับเป็นช่วงเป็นปีที่ สมศ. ประสบความสำเร็จมากพอที่จะสามารถโอ้อวดได้ไม่อายใคร ทั้งในแง่ของการสร้างทีมประเมินคุณภาพภายนอกก็ดี หรือในแง่การประเมินสถานศึกษาก็ดี ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยสามารถสร้างทีมประเมินภายนอกขึ้นมาได้กว่า 2 พันคน เพื่อลงไปประเมินโรงเรียนได้ถึงกว่า 3 หมื่นแห่ง และภายในปี 2547 คาดว่าการประเมินสถานศึกษาทั้งหมดก็คงเสร็จสิ้นเรียบร้อย ซึ่งหลังจากนั้นสมศ. ก็คง "ถอดบทเรียน" เป็นนัยยะต่อการพัฒนาประเทศต่อไป

อย่างไรก็ตาม ดูเผินๆ สมศ.ก็น่าจะเป็นปราการหน้าของการจัดการปัญหาการศึกษาที่มีมาช้านาน แม้แต่งานสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) หรือสภาการศึกษาเอง ก็ได้รายงานผลการจัดการศึกษาและผลการปฏิรูปการศึกษานับแต่มีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ว่า หนึ่งในเรื่องที่น่ายกย่องว่าสำเร็จระดับสูงคือเรื่องการประเมินมาตรฐานภายนอกนี่เอง

แต่กระนั้นเมื่อเอาเข้าจริง ก็ยังคงพบคำถามสำคัญที่ยังไม่มีใครตอบคือ
กระบวนการประเมินคุณภาพทั้งหมดนั้น เป็นคุณภาพบนความหมายของใครและเพื่อใคร มาตรฐานที่ว่านั้น เป็นมาตรฐานของใคร วัดและพัฒนาใคร เพื่อใคร และใครกันที่คือ "ความเป็นอื่น"

ขุดรากฐานคิดปฏิรูปการศึกษาไทย : คติรัฐในการพัฒนา
ถ้าย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์การศึกษาไทยตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ที่ประเทศต้องการหลอมรวมความเป็นปึกแผ่นด้วยอำนาจส่วนกลางเพื่อความมั่นคงประเทศ การศึกษาเองก็ถูกจัดระเบียบมาโดยนับตั้งแต่บ้าน วัด วัง เพื่อให้ตอบสนองความต้องการดังกล่าว ได้นำไปสู่การกำเนิดโรงเรียน ครู โรงเรียนฝึกหัดครู/ผู้เรียน ก่อเกิดการใช้/กระจายงบประมาณจากส่วนกลางเข้าไปจัดการศึกษาอย่างเป็นระบบ ซึ่งนั่นได้เข้ามาแทนที่ภูมิปัญญาในครัวเรือน ภูมิปัญญาช่าง ภูมิปัญญาท้องถิ่น(1)

ตรงจุดหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ที่แม้จะเข้าใจได้ในการจัดระบียบการศึกษาเพื่อให้ประเทศดูมีความทันสมัย และเพื่อสร้างผู้คนให้มีความรู้ "วิชาหนังสือ" เพื่อรองรับโครงสร้างงานและระบบราชการยุคใหม่ที่ต้องการคนรู้วิชาหนังสือมากขึ้น(2) แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การปฏิรูปการศึกษาเมื่อร้อยปีที่แล้วที่อาศัยการศึกษาเป็นเกราะต้านทานประเทศมหาอำนาจนั้น แม้เรื่อง "ความเป็นอื่น" จะไม่ถูกกล่าวไว้ แต่ถึงมิใช่ก็ใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ซึ่งมีผลต่อเปลี่ยนคุณค่าของการศึกษาให้กับสิ่งที่เคยเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของชุมชน และสิ่งที่เป็นความรู้ในวิถีชีวิตของชาวบ้าน

ไม่ว่าจะเป็นความรู้เรื่องการทำมาหากิน หรือความรู้เรื่องการดำรงตนในสังคม ต่างได้กลายเป็นความด้อยค่าและเสื่อมศักดิ์ศรีไป ภายใต้วาทกรรมของ "ความทันสมัย" (modernization) และ "ความศิวิไลท์" (civilization)(3)

ที่สำคัญแม้จะมีการเปลี่ยนระบบการปกครองไปสู่ระบบประชาธิปไตยก็ตามที วิธีคิดเกี่ยวกับการจัดระเบียบการศึกษาก็ยังไม่หนีไปจากวิธีคิดแบบที่ "ยึดผู้นำเป็นหลัก เน้นสิทธิศักดิ์โดยรัฐเป็นฐาน" อยู่ดี ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมครึ่งหลังศตวรรษที่ผ่านมา การศึกษาก็ยังคงผลิตซ้ำ (Reproduction) ระบบความรู้ความคิดจากรัฐภายใต้วาทกรรมของ "ผู้ใหญ่ลี"(4) และ "โครงการการศึกษาแห่งชาติ"(5)

สิ่งที่ตามมาก็คือกระบวนการสร้าง "ความเป็นอื่น" ที่เกิดขึ้น เพื่อเปลี่ยนแปลงความเป็น "เขา" (ที่รัฐเห็น) มาให้เป็น "เรา" (ที่รัฐกำหนด) โดยผ่านขบวนการจัดการของรัฐที่เชื่อเป็นนักเป็นหนาว่า

1) การพัฒนา (Development) คือความก้าวหน้า (Progress) เป็นเรื่องเกี่ยวกับเทคนิค (A Technical Matter) ซึ่งต้องดำเนินการโดย "ผู้เชี่ยวชาญ" (Experts) ด้านต่างๆ เพื่อนำเอาแนวคิดทางเทคนิคเข้ามาใช้ในการวางแผนพัฒนาให้เกิดความสำเร็จ โดยถือว่า ความก้าวหน้า (หรือการพัฒนา) นั้น คือ ความเจริญเติบโต (Growth) ซึ่งวัดกันได้ที่ถาวรวัตถุ โดยเฉพาะเทคโนโลยีด้านต่างๆ

2) ตะวันตกคือตัวแบบของการพัฒนา ประเทศพัฒนาแล้วเช่นสหรัฐอเมริกาเป็นตัวแบบของการพัฒนาที่พึงประสงค์สูงสุด เป็นตัวแบบที่ประเทศอื่นจะต้องกวดตามให้ทัน (American/Ideal Standard)

3) การพัฒนาต้องเน้นวิธีคิดแบบ Missing-Factor Approach เป็นการหาว่าสิ่งที่ประเทศไทยไม่มีหรือขาดไปคืออะไร จึงเป็นเหตุให้ด้อยพัฒนาเมื่อ 40 ปีที่แล้ว จนมาถึงปัจจุบันคือการพยายามหาว่า ปัจจัยอะไรที่หายไป ทำให้ประเทศกวดไม่ทันกระแสแข่งขันของโลกาภิวัฒน์ ในขณะเดียวกันก็คิดแบบ Single Factor Approach คือเชื่อว่ามีปัจจัยเดี่ยวที่เป็นกุญแจหลักสำคัญที่สุด ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาไปสู่ภาวะทันสมัยได้เหมือนประเทศพัฒนาแล้ว หรือในปัจจุบันคือปัจจัยหลักซึ่งจะทำให้เราสามารถวิ่งโลดได้บนลู่ของการกวดไล่ตามกระแสโลกาภิวัฒน์(6)

ผลแห่งความเชื่อข้างต้นที่ฝังแน่นในใจรัฐมากกว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมานั้น ไม่เพียงแต่สร้างความเป็นอื่นให้แก่ระบบการเรียนรู้ของภาคประชาชนด้วยแล้ว ยังกลับยิ่งตอกย้ำมายาคติที่ว่า "รัฐเป็นเอก ราษฎร์เป็นรอง" ได้เหนียวแน่นสนิทใจ

มาตรฐานการศึกษาในโลกาภิวัฒน์ : อุดมคติของการศึกษาเปี่ยมคุณภาพ
"กระแสแห่งคุณภาพ" ที่ได้แพร่กระจายไปวงการศึกษาทั่วโลก อันเนื่องมาจากแรงกดดันของสาธารชนที่มุ่งหวังที่จะเห็นการศึกษาของบุตรหลานของตน เปี่ยมไปด้วยคุณภาพและเป็นเครื่องเตรียมเยาวชนเหล่านี้ให้พร้อมที่จะประกอบหน้าที่การงาน และใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคงผาสุขในโลกปัจจุบัน ได้นำไปสู่การก่อเกิดกลยุทธ์การประกันคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาที่หลากหลาย

ตั้งแต่การจัดอันดับสถานศึกษา (ranking) การใช้ดัชนีบ่งชี้การดำเนินงาน (performance indicators) ไปจนถึงการประกันคุณภาพเชิงธุรกิจ เช่น ระบบมาตรฐาน ISO 9000 ระบบ Total Quality Management (TQM) หรือระบบคุณภาพ Malcolm Baldrige Award ที่ต่างก็มีดัชนีหรือกรรมวิธีที่จะวัด/ประเมิน/ตัดสินว่าอะไร "ดี-ด้อย" อันเป็นนัยต่อการสร้างความ "เป็นอื่น/ไม่เป็นอื่น" ไปพร้อมๆ กัน

แม้ในเจตนาดีของแนวคิดดังกล่าวจะเน้น "ความรับผิดชอบต่อการศึกษา" (ทั้งที่ดี/ด้อย) ที่สามารถ "ตรวจสอบได้" หรือที่เรียกให้หรูว่า "Accountability" ภายใต้วิธีคิดแบบ positivism ที่เชื่อว่า ทุกอย่างต้องประจักษ์ สามารถจัดการและควบคุมได้เสมอ (can management /can control)

ยิ่งเมื่อมอง "ระบบประกันคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาไทย" ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 ที่ว่า "มาตรฐานคือข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ คุณภาพที่พึงประสงค์ ที่ต้องการให้เกิดในสถานศึกษาทุกแห่ง" และเป็นตัวตรวจสอบและประกันคุณภาพการศึกษาที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการยกระดับคุณภาพ(9) ที่มิอาจแยกออกจากกันได้

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542 ในมาตรา 4 และหมวด 6 ดังนี้(10)

- "คุณภาพ" เป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์. คุณภาพมีสองระดับ คือ คุณภาพขั้นต่ำ หรือ คุณภาพพื้นฐานที่ต้องเป็น (must be quality) กับคุณภาพระดับพัฒนา ซึ่งเป็นการพัฒนาคุณภาพ ต่อจากคุณภาพขั้นต่ำ คุณภาพระดับนี้เรียกว่าคุณภาพคาดหวัง (expected quality).

- "สถานศึกษา" หมายถึง สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียน ศูนย์การเรียน วิทยาลัย สถาบัน มหาวิทยาลัย หน่วยงานทางการศึกษา หรือหน่ายงานอื่นของรัฐหรือของเอกชน ที่ทีอำนาจหน้าที่หรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา.(11)

- "มาตรฐานการศึกษา" หมายความว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะคุณภาพที่พึงประสงค์ และมาตรฐานที่ต้องการให้เกิดขึ้นในสถานศึกษาทุกแห่ง เพื่อใช้เป็นหลักในการเทียบเคียงสำหรับการส่งเสริมและกำกับดูแล การตรวจสอบ การประเมินผล และการประกันคุณภาพการศึกษา

- "การประกันคุณภาพภายใน" หมายความว่า การประเมินผลและการติดตาม ตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา จากภายในโดยบุคลากรของสถานศึกษานั้นเอง หรือ โดยหน่วยงานต้นสังกัดที่มีหน้าที่กำกับดูแลสถานศึกษานั้น

- "การประกันคุณภาพภายนอก" หมายความว่า การประเมินผลและการติดตาม ตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา จากภายนอก โดยสำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษา หรือบุคคล หรือหน่วยงานภายนอกที่สำนักงานดังกล่าวรับรอง เพื่อเป็นการประกันคุณภาพและให้มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา

อย่างไรก็ตาม ถ้าดูตามนี้ ก็อาจกล่าวได้ว่า ยังไม่ทันที่จะเริ่มเดินตามเจตนารมณ์อันดีการปฏิรูปการศึกษาเลย ก็ดันมีชุดวาทกรรรมใหม่จากรัฐที่เป็นนัยยะแห่งสร้างความเป็นอื่นที่ดูจะ "สลับซับซ้อน" มากขึ้น ซึ่งถ้าสังเกตให้ดีก็อาจคิดได้ไกลไปด้วยว่า ระบบมาตรฐานนี้อาจจะยิ่งทำ "ความรู้พื้นบ้าน" ในวิถีชุมชนกลายเป็นอื่นสมบูรณ์แบบ และแถมไปด้วยอาจจะทำให้เรื่อง "ความรู้สากล" ในระบบโรงเรียนถูกตั้งข้อสงสัยไปด้วยว่า

ความรู้สากลที่มีในโรงเรียนหรือโรงสอนหนังสือเหล่านี้มีมาตรฐานพอหรือไม่ หรือถ้ามีคุณภาพมาตรฐานไม่พอเพียงมันจะถูกจัดการเช่นไรให้เกิดการพัฒนา

กฎแห่งการประกันคุณภาพมาตรฐานชาติ : ขบวนการตรวจการวิสัยเดี่ยว อคติโดยสุจริต ?
ด้วยความที่โรงเรียนกลายเป็นแหล่งการศึกษาหลักมากว่าศตวรรษ และประชาชนก็จำนนต่อการเดินเข้าโรงเรียน-เรียนหนังสือ-ทำการบ้าน-สอบ เหมือนโรงงาน เราจึงได้เห็นภาพความเคลื่อนไหวของการประเมินคุณภาพมาตรฐานสถานศึกษาที่สร้างความตื่นตัว/ตื่นตูมทั้งเด็ก ครู ผู้บริหาร ตลอดจนทุกสิ่งทุกอย่างที่โรงเรียนทำ และต้องทำเพื่อรับการประเมินมาตรฐานจนหนึ่งเสมือนว่า นั่นคือวิถีทางของการพัฒนาที่รัฐ/ตัวแทนรัฐที่สวมศักดิ์เป็นผู้ตรวจการ

ในทำนองเดียวกัน เพื่อให้โรงเรียนหรือแม้แต่สถาบันอุดมได้รับการรับรองว่าจัดการศึกษาได้ดีจริง โรงเรียนจึงต้องมีระบบประกันคุณภาพภายใน ที่เข้มตามเกณฑ์มาตรฐานการเรียนรู้ระดับชาติ (หลักสูตร) /มาตรฐานทบวง ควบคู่กับกระบวนการเตรียมการรองรับการประกันคุณภาพภายนอก ที่จะมีขบวนทัพของผู้ประเมินภายนอกจำนวนหนึ่งมาติดตาม ตรวจวัดและประเมินคุณภาพมาตรฐานสถานศึกษานั้นๆ ภายใต้เกณฑ์มาตรฐานที่สมศ.กำหนดจากการประมวลองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง(12)

สาระสำคัญบางประการเกี่ยวกับการประเมินและรับรองมาตรฐานสถานศึกษา โดยสมศ.(13)

1. สถานศึกษาจะเตรียมตัวรับการประเมินคุณภาพภายนอกได้อย่างไร
ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 48 ให้สถานศึกษาดำเนินการประกันคุณภาพภายใน โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง สถานศึกษาจึงต้องดำเนินการประกันคุณภาพภายในตนเอง และจัดทำรายงานการประเมินตนเองหรือรายงานประจำปีที่มีการศึกษาและวิเคราะห์ตนเอง (SSR/Self-Study Report, SAR/Self-Assessment Report) เสนอมายัง สมศ. เพื่อผู้ประเมินภายนอกไปประเมินสถานศึกษาจากรายงานการประเมินตนเอง/รายงานประจำปีของสถานศึกษาเป็นสำคัญ และใช้วิธีการอื่นๆ อีกเช่นกัน การสัมภาษณ์ผู้บริหาร ครูอาจารย์ นักศึกษา การเยี่ยมชมสถานที่ การสังเกตการเรียนการสอน ตลอดจนการสัมภาษณ์บุคคลอื่น เช่น นักศึกษาเก่า นายจ้างของนักศึกษา เป็นต้น

2. ใช้มาตรฐานและตัวบ่งชี้ใดในการประเมิน
สมศ.มีฐานคติในการประชุมที่คำนึงถึงเอกลักษณ์และธรรมชาติของสถานศึกษา จึงใช้รูปแบบกัลยาณมิตรประเมิน (Amicable assessment model) ผู้ประเมินภายนอกจะต้องมีความเข้าใจสถานศึกษาที่ขอรับการประเมิน และมีเจตคติที่ดีต่อสถาบัน ที่สำคัญจะต้องกำหนดประเด็นและออกแบบประเมินให้สอดคล้องกับเอกลักษณ์ และพันธกิจของสถานศึกษาที่ขอรับการประเมิน โดยประเมินด้วย

1) มาตรฐานการประเมินภายนอก สมศ.
2) มาตรฐานของการประกันคุณภาพภายในที่สถานศึกษาได้ดำเนินการอยู่แล้ว

จึงขอให้สถานศึกษาส่งรายงานการประเมินตนเองมายัง สมศ. และขอให้เพิ่มข้อมูลตามตัวบ่งชี้ที่ยังไม่มีอยู่ในรายงานการประเมินเท่าที่จะทำได้ โดยอาจจะจัดทำเป็นเอกสารเพิ่มเติม หรือเอกสารภาคผนวก

3. ตัดสินผลการประเมินอย่างไร
การประเมินในรอบแรกจะเป็นการประเมินเพื่อยืนยันสภาพจริง ยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์ตัดสินใจ จะพิจารณาผลการประเมินด้วยมิติ 3 มิติว่าสถานศึกษาได้มีการดำเนินงานในแต่ละมาตรฐานอย่างไร ประกอบด้วย

Awareness มีความตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาการศึกษาให้ได้มาตรฐาน มีความเข้าใจในสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น และมีจิตใจที่อยากพัฒนาให้ดีขึ้น
Attempt มีความพยายามที่จะทำให้ความตระหนักนั้นเป็นความจริง โดยมีร่องรอยความพยายามในการปรับปรุงแก้ไข พัฒนาคุณภาพการดำเนินงานของสถาบันให้ดีขึ้น
Achievement บรรลุผลสัมฤทธ์จากความพยายามที่ได้ดำเนินการมา และเกิดผลตามสภาพจริงในแต่ละมาตรฐานและตัวบ่งชี้

ประการที่สำคัญผู้ประเมินภายนอกจะช่วยเสนอแนวทางในการพัฒนาของแต่ละมาตรฐาน เพื่อให้สถานศึกษาได้นำคำเสนอแนะไปปรับใช้ในการพัฒนาสถานศึกษาต่อไป ดังนั้น สมศ. จะยังไม่ตัดสินผลการประเมินว่าสถานศึกษาผ่าน - ไม่ผ่านการประเมิน และยังไม่รับรองว่าสถานศึกษาผ่านการประเมินเหมือนกับระบบการประกันคุณภาพอื่นๆ เช่น ระบบ ISO แต่ สมศ. จะรับรองรายงานผลการประเมินภายนอก และรับรองว่าสถานศึกษาได้รับการประเมินภายนอกจาก สมศ.

มาตรฐานที่ว่านั้นมีด้วยกันใน 3 ลักษณะ คือ
1) มาตรฐานอุดมศึกษาแห่งชาติ (ทบวงมหาวิทยาลัย จัดทำ )

2) มาตรฐานการศึกษาแห่งชาติระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน)

3) มาตรฐานการศึกษาเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอก โดยมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีตั้งแต่ด้านผู้เรียน ด้านกระบวนการ ด้านปัจจัย รวมใช้ในรอบแรก 14 มาตรฐาน 53 ตัวบ่งชี้ ส่วนมาตรฐานอุดมศึกษามี 8 มาตรฐาน 30 ตัวบ่งชี้(14)

ฉะนั้นสถานศึกษาที่จะได้รับการ "ประทับตรา" รับรองว่า มีคุณภาพหรือไม่มีคุณภาพก็ต้องผ่านกระบวนการแห่งการประกันและประเมินดังกล่าวตามตัวบ่งชี้ต่างๆ ซึ่งน่าสังเกตว่า ตกลงแล้วนั่นคือ เกณฑ์ชี้วัดมาตรฐานใคร เพื่อใคร

ทั้งนี้ แม้ สมศ.จะย้ำจุดยืนที่ว่า จุดมุ่งหมายของการประเมินคุณภาพภายนอกโดย สมศ. นั้น ก็มิไม่ได้มุ่งเน้นในการตัดสินในเรื่องการให้คุณให้โทษ หรือการจัดอันดับสถานศึกษาแต่อย่างใด แต่เพื่อให้สถานศึกษาทุกแห่งรู้ตัวเองและปรับปรุงตัวเอง เพื่อให้กระบวนการการศึกษาทั้งหมดของประเทศไทยสามารถยกระดับให้สูงขึ้นได้(15)

แต่ในความเป็นจริงนั้นเล่า ข้อมูลจากสนามโรงเรียนและคำบอกเล่า ล้วนแต่เต็มไปด้วยภารกิจแห่งการวิเคราะห์ จัดทำรายงาน SSR / SAR ที่ทำให้ครูไม่เป็นอันสอน ผู้บริหารไม่เป็นอันนอน คือมุ่งแต่หมกมุ่นกับระดมกำลัง เขียนกระดาษ วาดเรื่องเล่าข้อเท็จ/จริง ให้มีคุณภาพมาตรฐาน(16) เพื่อให้ผ่านการตรวจเยี่ยมและรับป้ายประกาศ แม้นั่นจะเป็นเพียงภาพมายา

จากจุดนั้นจนถึงจุดนี้จึงเห็นได้ชัดว่า การศึกษาไทยจะเป็นอะไรเสียมิได้นอกจากจัดระเบียบคุณภาพมาตรฐานตามที่รัฐกำหนด(17)

ท้ายที่สุด ตัวบ่งชี้ที่วัดประเมินสถานศึกษาก็ดูไม่ต่างจากกระบวนการตราประทับ (labeling) ที่สำคัญคือไม่อาจปฏิเสธว่ามันได้ส่งผลให้ "สถานศึกษา" ที่ถูกประเมินกำลังกลายเป็น "ความเป็นอื่น" ที่เสมือนว่าไม่อาจยอมให้สถานศึกษานั้นแตกต่างกันได้ไม่ว่าจะในบริบทใดๆ ก็ตาม

มาตรฐานการศึกษาเพื่อการประเมินภายนอก (สมศ.)(18)

ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 14 มาตรฐานการศึกษา (ระยะแรก)
มาตรฐานด้านผู้เรียน
1) มาตรฐานที่ 1 เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์
2) มาตรฐานที่ 4 มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรอง และมีวิสัยทัศน์
3) มาตรฐานที่ 5 เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร
4) มาตรฐานที่ 6 ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง รักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
5) มาตรฐานที่ 9 ผู้เรียนมีทักษะในการทำงาน รักการทำงาน สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ และมีเจตคติที่ดีต่ออาชีพสุจริต

6) มาตรฐานที่ 10 ผู้เรียนมีสุขนิสัย สุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดี
7) มาตรฐานที่ 12 ผู้เรียนมีสุนทรียภาพและลักษณะนิสัยด้านศิลปะ ดนตรี และกีฬา มาตรฐานด้านกระบวนการ
8) มาตรฐานที่ 13 สถานศึกษามีการจัดองค์กร/โครงสร้างและการบริหารงานอย่างเป็นระบบ ครบวงจร ให้บรรลุเป้าหมายการศึกษา
9) มาตรฐานที่ 14 สถานศึกษาส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือกับชุมชนในการพัฒนาการศึกษา
10) มาตรฐานที่ 18 สถานศึกษามีการจัดกิจกรรมและการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

11) มาตรฐานที่ 20 ผู้บริหารมีภาวะผู้นำและมีความสามารถในการบริหารจัดการ
12) มาตรฐานที่ 22 ครูมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
13) มาตรฐานที่ 24 ครูมีคุณวุฒิ/ความรู้ ความสามารถตรงกับงานที่รับผิดชอบ และมีครูเพียงพอ
14) มาตรฐานที่ 25 สถานศึกษามีหลักสูตรที่เหมาะสมกับผู้เรียนและท้องถิ่น มีสื่อการเรียนการสอนที่เอื้อต่อการเรียนรู้

ระดับอุดมศึกษา 8 มาตรฐานการศึกษา
1) มาตรฐานที่ 1 ด้านคุณภาพบัณฑิต บัณฑิตมีคุณภาพ คิดเป็น ทำเป็น มีความสามารถเรียนรู้ และพัฒนาตนเองได้ รวมทั้งสามารถประกอบอาชีพและอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

2) มาตรฐานที่ 2 ด้านการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การเรียนรู้ที่จัดตามความสนใจของผู้เรียน การพัฒนาผู้เรียนตามความสามารถและตามความถนัด การฝึกปฏิบัติ การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เป็นต้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ

3) มาตรฐานที่ 3 ด้านการสนับสนุนการเรียน การระดมทรัยากร ทั้งด้านบุคลากร งบประมาณ อาคารสถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งความร่วมมือจากแหล่งต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกสถาบันอุดมศึกษาในการสนับสนุนการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

4) มาตรฐานที่ 4 ด้านการวิจัยและงานสร้างสรรค์ ผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง และงานสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพสามารถเผยแพร่ได้ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้หลากหลาย ทันสมัย สามารถนำไปพัฒนาสังคมและประเทศได้

5) มาตรฐานที่ 5 ด้านการบริการทางวิชาการ การให้บริการทางวิชาการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน สังคม เพื่อให้สังคมไทยเป็นสังคมแห่งภูมิปัญญา และมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต

6) มาตรฐานที่ 6 การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทยและการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาที่มีการบูรณาการตามความเหมาะสม

7) มาตรฐานที่ 7 ด้านการบริหารจัดการ ระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ประหยัด คล่องตัว โปร่งใส และตรวจสอบได้ เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกของความรับผิดชอบต่อสังคม

8) มาตรฐานที่ 8 ด้านระบบการประกันคุณภาพภายใน ระบบประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาและสามารถรองรับการประกันคุณภาพภายนอกได้

หลากการศึกษา หลายบริบท : พหุคติกับนัยแห่ง "ความต่างที่ไร้ความเหมือน"
อย่างที่กล่าวว่า มากกว่าครึ่งศตวรรษที่ความรู้ในวิถีชีวิตท้องถิ่นที่เกี่ยวพันกับ "ระบบความรู้ท้องถิ่น" "ระบบความเชื่อและคุณค่า" "ระบบการจัดการทรัพยากร" และ "ระบบการจัดการเครือข่ายทางสังคม"(19) ได้ถูกละไว้ จนแทบจะหลงลืมคุณค่าที่มีต่อสังคม ทั้งๆ ที่ในสภาพแห่งความเป็นจริงท้องถิ่นและสังคมมีอะไรหลากหลายสลับซับซ้อน แต่ดูเหมือนกลายเป็นสิ่งไม่สำคัญเท่ากับวิธีคิดเชิงเดี่ยวที่เชื่อมาตรฐานหนึ่งเดียวสากล (Standardization) ซึ่งไม่ยอมเปิดทางให้กับความต่าง ไม่ว่าจะในระบบการศึกษา ความรู้ภูมิปัญญา บริบทสังคมและวัฒนธรรม ฉะนั้นจึงไม่แปลกที่จะเห็นขบวนการจัดระเบียบ "ความด้อยรู้" ควบคู่กับจัดระบบ "ความรู้มาตรฐาน" ที่ยังคงถือรัฐ/ตัวแทนรัฐเป็นศูนย์กลางกำกับจัดการซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ที่ซ้ำร้ายภายใต้บริบทที่รัฐเป็นผู้กุมอำนาจในการขับเคลื่อนการพัฒนาในทุกด้านของประเทศ ชุมชนท้องถิ่นย่อมไม่มีพลังในการต่อกรหรือยืนหยัดหรือสร้างวาทกรรมขึ้นมาต่อสู้อำนาจรัฐเพื่อปกป้องสิ่งที่เคยเป็นภูมิปัญญาและความชาญฉลาดของตนเอง แต่จำต้องจำนนให้กับสิ่งที่รัฐหยิบยื่นให้ รวมถึงมรดกของการศึกษาที่รัฐยกให้

ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ดูเหมือนไม่ว่าจะเป็นชุมชนก็ดีหรือมวลชนก็ตาม จำต้องยอมรับกับชะตากรรมดังกล่าว "ย้อมตน" ให้เป็นตามอย่างรัฐจัดให้เพื่อจะได้ไม่ต้องถูกมองว่าด้อยค่าหรือเป็นอื่นจากรัฐ แม้ว่าความเป็นจริงนั้นแฝงไปด้วยอคติภาพและม่านแห่งมายาที่กลืนกินชุมชน

สิ่งที่เห็นในปัจจุบัน จึงเป็นเพียงซากที่มีลมหายใจแผ่วๆ ของภูมิปัญญาท้องถิ่น แม้ยังไม่ตายแต่ก็ยังไม่แข็งแรงพอที่จะทดแทนวาทกรรมเกี่ยวกับการจัดการศึกษาของรัฐได้ สิ่งที่เห็นมีเพียงการความพยายามเคลื่อนไหวในนามของกลุ่ม "การศึกษาทางเลือก" ซึ่งจากงานวิจัยของสกว.พบว่ามีกว่าสองร้อยฐานทั่วประเทศในรูปแบบและคุณค่าต่างๆ กัน(20) ซึ่งก็ยังไม่เป็นกระแสที่แรงพอที่จะสร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเองได้มากนัก และที่สำคัญกว่านั้นก็ยังไม่เข้มแข็งพอที่จะช่วงชิงวาทกรรมการจัดการศึกษามาจากภาครัฐได้(21)

มากกว่านั้นมันนำไปสู่ "ความเป็นอื่นเหนืออื่น" ที่ชุมชนหมดสิทธิ์แสดงคุณภาพและมาตรฐานของตนเอง และเฉกเช่นสถานศึกษาที่แทบสูญสิ้นอำนาจอย่างสิ้นเชิง ที่น่ากลัวสุดคือมันกำลังจะทำลายความหลากหลายอัตลักษณ์และตัวตนทางวัฒนธรรม ตลอดจนวิถีทางสังคม วัฒนธรรม และการศึกษา ซึ่งทำให้ที่เหลือคือ "ชายขอบ"

ทั้งๆ ที่กระแสความคิดในยุคหลังสมัยใหม่ได้เปิดมิติของการพัฒนาที่ไม่เน้น "ความเหมือน" แต่เชื่อในความต่าง สลับซับซ้อนที่ไม่อาจหาความเหมือนได้ และมโนทัศน์ที่ถือ "ความเป็นอื่น" เป็นความงามที่ความแตกต่าง (Difference) เป็นความหลากหลาย (Diversity) ตลอดจนการเน้นคุณค่าและศักดิ์ศรีในมนุษย์ไม่ว่าจะอยู่ชายขอบหรือไม่ก็ตาม(22) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรถูกชูให้เด่นเพื่อเรียนรู้ และควรไปแทนที่วิถีทรรศ์เชิงเดี่ยวที่เคยถมทับท้องถิ่นจนแทบ "ไร้ที่อยู่ ไม่มีที่ยืน" หรือมากกว่าจะสร้าง "ความแยกแตก" (fragmented) ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น

เพื่อสุดท้ายแล้วการปฏิรูปและประกันคุณภาพมาตรฐาน จะได้ไม่ไร้คำตอบว่า ทำไปทำไม และเพื่ออะไร

บทสรุป
จากที่กล่าวมานั้น เราคงได้เห็นแล้วว่า ข้อเท็จจริงของ พ.ศ.นี้คือ การศึกษาและมาตรฐานการศึกษาที่ถูกนิยามภายใต้วาทกรรมภาครัฐ ที่เน้นเนื้อหาและองค์ความรู้สมัยใหม่อยู่นั่นเอง แม้จะมีความพยายามเชิดชูภูมิปัญญาท้องถิ่นในรอบหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ดูจะเป็นวาทกรรมแก้เกี้ยวที่ไม่อาจส่งผลต่อวิธีคิด วิธีการเรียนการสอน ตลอดจนวิธีคิดเรื่องคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาได้มากพอ

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ กรรมวิธีประเมินคุณภาพของ สมศ. อันประกอบด้วยมาตรฐานและตัวบ่งชี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับครูและปัจจัยเชิงกระบวนการ และการบริหารจัดการในโรงเรียน จึงเป็นเพียงการตอกย้ำความเป็นอื่นที่สะสมมาร่วมร้อยปี ให้ไม่จางหายไป

ชุมชนและภูมิปัญญาที่ถูกยกย่องเชิดชูในรอบปี มีส่วนน้อยมากในการเข้ามาร่วมให้นิยามและมิติของคำว่าคุณภาพ รวมทั้งมีส่วนน้อยมากในการประเมินคุณภาพนี่เอง เนื่องจากความเป็นชาวบ้านไม่ถูกมองว่ามีคุณค่าที่มีศักดิ์ศรีพอ เท่ากับกรรมการที่มีคุณวุฒิปริญญาโทหรือปริญญาเอก

กระบวนการทำงานของ สมศ. ในมุมมองทางสังคมวิทยาและการพัฒนาในการสร้างความเข้มแข็งชุมชน และลดความเป็นอื่นระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน จึงนับว่า "หลงทิศและผิดทาง" โดยสิ้นเชิง ตั้งแต่วิธีคิดเรื่องคุณภาพที่คับแคบอยู่ในกรอบการศึกษาสมัยใหม่เท่านั้น รวมไปถึงวิธีคิดเรื่องตัวบ่งชี้ต่างๆ ที่ตามมา ตลอดจนกระบวนการประเมินเองที่ชาวบ้านและภูมิปัญญาท้องถิ่นถูกตัดคุณสมบัติไปโดยกฏเกณฑ์และจารีตทางวิชาการสมัยใหม่

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ ยากที่จะได้เห็นโรงเรียนที่ได้รับการยกย่องเรื่องการทำให้เด็ก "หุงข้าว" หรือ "กรีดยาง" ได้ มากกว่าอ่านออกเขียนได้และสอบได้คะแนนดีๆ

ยากที่จะเห็นได้ว่า โรงเรียนจะถูกยกย่องว่าสามารถนำชาวบ้านร่วมสอนหนังสือให้เด็กๆ มากกว่าการมีครูคุณวุฒิสูงๆ และเราคงยากที่จะเห็นเช่นกันถึงโรงเรียนที่จะได้รับการยกย่องจากการเข้าไปผนึกแน่นกับการเข้าอยู่ในระบบเครือญาติชุมชน มากกว่าโรงเรียนที่มีระบบการรายงานผลตามตัวบ่งชี้ที่ทันสมัยต่อหน่วยงานบังคับบัญชา

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ตราบใดที่กระบวนทัศน์ของหน่วยงานกลางยังไม่จำนนอย่างจริงใจให้กับ "ศักดิ์ศรีและคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น" ตราบนั้นกระบวนการประเมินคุณภาพและรับรองมาตรฐานการศึกษาของชาติก็จะเป็นเพียงคมมีดอีกคมหนึ่งที่สับลงไปบนบาดแผลที่เกิดจาก "ความเป็นอื่น" ระหว่างความเป็น "รัฐ" กับ "ความเป็นประชาชน"

คำถามที่ย้อนกลับมา ก็คงอยู่ที่ว่า เราจะเชื่อ จะยอม และจะจำนนอย่างที่กล่าวไปทั้งหมดนั้นจริงๆ หรือ

เชิงอรรถ

(1) เอกสารหลักพื้นฐานประวัตศาสตร์การศึกษาไทย, มปป.
(2) กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. แนวพระราชดำริเก้ารัชกาล. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ครุสภา, 2546
(3) วาทกรรมภาครัฐกับความเป็นอื่นของการศึกษา http://www.swu.ac.th
(4) ../thaifreeman/articles/quatation.html
(5) สิปนนท์ เกตุทัต. ทศวรรษการศึกษาไทย http://www.onec.go.th

(6) ../thaifreeman/articles/quatation.html
(7) อมรวิชช์ นาครทรรพ และ สังวรณ์ งัดกระโทก. จับชีพจรการศึกษาโลก : บทวิเคราะห์กระแสความเคลื่อนไหวทางการศึกษาของนานาประเทศในรอบปี 2540-2541. ศูนย์วิจัยนโยบายการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2541
(8) อมรวิชช์ นาครทรรพ. คุณภาพและการประกันคุณภาพในวิถีทรรศน์การปฏิรูปอุดมศึกษาไทย. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. กรุงเทพฯ : พริกหวานกราฟฟิค, 2543
(9) สมศ.รวมบทความการบรรยายพิเศษในรอบ 1 ปี สมศ.11 ธันวาคม 2544
(10) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพ.ศ.2542. กรุงเทพฯ : พริกหวานกราฟฟิค, 2543
(10) สมศ.รวมบทความการบรรยายพิเศษในรอบ 1 ปี สมศ.11 ธันวาคม 2544

(11)http://arc.rint.ac.th/be/seven.html
(12) http://www.office.cmri.ac.th/qa/Mean_Qa.html
(13) http://www.bangkokbizews.com
(14) สมศ.รวมบทความการบรรยายพิเศษในรอบ 1 ปี สมศ.11 ธันวาคม 2544
(15) สมศ.รวมบทความการบรรยายพิเศษในรอบ 1 ปี สมศ.11 ธันวาคม 2544

(16) อมรวิชช์ นาครทรรพ. ปมปฏิรูปการศึกษา. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. 2547
(17) โรล็องด์ บาร์ตส์. (วรรณพิมล อังคศิริสรรพ แปล) มายาคติ สรรนิพนธ์จาก Mythologies. กรุงเทพฯ : คบไฟ, 2544
(18) สมศ. เอกสารตัวบ่งชี้มาตรฐานเพื่อการประกันคุณภาพภายนอก www.onesqa.or.th
(19) ศีลาภรณ์ บัวสาย. การบรรยาย "ทิศทางการวิจัยนโยบายการศึกษา ในงานพัฒนศึกษา/มิติการพัฒนาประเทศ" ห้องประชุมนานาชาติ 2 (407) อาคาร 3 คณะครุศาศตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 5 มกราคม 2547 (บันทึกการบรรยาย)
(20) อมรวิชช์ นาครทรรพ. สรุปงานวิจัยด้านการศึกษากับชุมชน. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.),2546

(21) อมรวิชช์ นาครทรรพ. บรรยายบทเรียนเกี่ยวกับวิจัยด้านการศึกษากับชุมชน. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.),2547
(22) นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ จาก Vassos Argyrou. Anthropology and the Will to Meaning. Pluto Press, London. 2002.

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
หรือหน้าสารบัญ ซึ่งมีอยู่ 2 หน้า
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

เดือนมีนาคม พศ.๒๕๔๗
บทความวิชาการว่าด้วยบทวิพากษ์มาตรฐานการศึกษา จากสมาชิกมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน - เผยแพร่ครั้งแรก 14 มี.ค. 47

ผลที่เกิดขึ้นก็คือ กรรมวิธีประเมินคุณภาพของ สมศ. อันประกอบด้วยมาตรฐานและตัวบ่งชี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับครูและปัจจัยเชิงกระบวนการ และการบริหารจัดการในโรงเรียน จึงเป็นเพียงการตอกย้ำความเป็นอื่นที่สะสมมาร่วมร้อยปี ให้ไม่จางหายไป ชุมชนและภูมิปัญญาที่ถูกยกย่องเชิดชูในรอบปี มีส่วนน้อยมากในการเข้ามาร่วมให้นิยามและมิติของคำว่าคุณภาพ รวมทั้งมีส่วนน้อยมากในการประเมินคุณภาพนี่เอง เนื่องจากความเป็นชาวบ้านไม่ถูกมองว่ามีคุณค่าที่มีศักดิ์ศรีพอ เท่ากับกรรมการที่มีคุณวุฒิปริญญา

ภายใต้บริบทที่รัฐเป็นผู้กุมอำนาจในการขับเคลื่อนการพัฒนาในทุกด้านของประเทศ ชุมชนท้องถิ่นย่อมไม่มีพลังในการต่อกรหรือยืนหยัดหรือสร้างวาทกรรมขึ้นมาต่อสู้อำนาจรัฐเพื่อปกป้องสิ่งที่เคยเป็นภูมิปัญญาและความชาญฉลาดของตนเอง แต่จำต้องจำนนให้กับสิ่งที่รัฐหยิบยื่นให้ รวมถึงมรดกของการศึกษาที่รัฐยกให้

ภาพประกอบดัดแปลง เพื่อใช้ประกอบบทความวิชาการเกี่ยวกับเรื่องการศึกษา
วิธีคิดเกี่ยวกับการจัดระเบียบการศึกษาก็ยังไม่หนีไปจากวิธีคิดแบบที่ "ยึดผู้นำเป็นหลัก เน้นสิทธิศักดิ์โดยรัฐเป็นฐาน" อยู่ดี ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมครึ่งหลังศตวรรษที่ผ่านมา การศึกษาก็ยังคงผลิตซ้ำระบบความรู้ความคิดจากรัฐภายใต้วาทกรรมของ "ผู้ใหญ่ลี"(4) และ "โครงการการศึกษาแห่งชาติ"(5)