H

เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย :

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 364 หัวเรื่อง
ตุลาการศาสตร์: Judicial Science
พิเชษฐ เมาลานนท์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนีกาตะ ประเทศญี่ปุ่น

บริการเผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้

บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์ กรุณาแจ้งให้ทราบที่

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com

170347
release date
R
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆของเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
Wisdom is the ability to use your experience and knowledge to make sensible decision and judgements

บ้านเรา-บ้านเขา
(ข้อคิดจากญี่ปุ่น)
ตุลาการศาสตร์ : ไซบัง กักคึ (saiban gaku)
พิเชษฐ เมาลานนท์
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนีกาตะ, ประเทศญี่ปุ่น
(บทความนี้ยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4)

หมายเหตุ : เว็ปเพจนี้ เป็นการรวบรวมบทความ 2 เรื่อง เกี่ยวกับ"ตุลาการศาสตร์" ประกอบด้วย
1. อำนาจตุลาการ มีอิสระจากอำนาจบริหาร เสมอไปหรือไม่ (เคยตีพิมพ์ในไทยโพสต์ 2 มีนาคม 2547)
2. ทุกวันนี้ ผู้พิพากษาญี่ปุ่นยังตัดสินคดี โดยคำนึงถึง "ความรู้สึก" รัฐบาลอีกหรือไม่ (เคยตีพิมพ์ในไทยโพสต์ 9 มีนาคม 2547)
[ต้นฉบับบทความ 2 เรื่องนี้ ได้รับจากอาจารย์ พิเชษฐ เมาลานนท์]

บทความเรื่องที่หนึ่ง
"อำนาจตุลาการ มีอิสระจากอำนาจบริหาร เสมอไปหรือไม่"


เมื่อ ๕ ปีที่แล้ว ผู้เขียนเปลี่ยนอาชีพไปสอนกฎหมายที่ญี่ปุ่น เริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยกิวชิว ๓ ปี มหาวิทยาลัยโกเบครึ่งปี และขณะนี้อยู่ที่มหาวิทยาลัยนีกาตะ และอาจเป็นเพราะว่า ผู้เขียนมีบิดาเป็นผู้พิพากษาไทย และผู้เขียนได้สอนวิชา Legal Professions & Lawyers' Ethics ในเมืองไทยมาก่อน (เรียกกันว่า "หลักวิชาชีพนักกฎหมาย") มหาวิทยาลัยกิวชิว จึงกำหนดให้ไปสอนวิชาแปลก และไม่มีในเมืองไทย ในชื่อที่ว่า "ตุลาการศาสตร์" ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Saiban-gaku (ไซบัง-กักคึ) ที่ฝรั่งเรียกว่า Judicial Science

เมื่อลองค้นคว้าหาข้อมูลอินเตอร์เน็ต ผู้เขียนพบว่าฝรั่งใช้คำ Judicial Science ในความหมายที่กว้างขวาง คล้ายกับคำว่า "นิติศาสตร์" ในเมืองไทย ในขณะที่ญี่ปุ่นมุ่งศึกษาแคบกว่ามาก คือจำกัดอยู่เฉพาะเรื่องของ "ศาล" เช่นเรื่องการระงับข้อพิพาทในศาล-นอกศาล การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การจัดการศึกษากฎหมายในระดับเนติบัณฑิต วิธีการพิจารณาคดีที่มีประสิทธิภาพ-รวดเร็ว และความเป็นอิสระแห่งอำนาจตุลาการ (Judicial Independence) เป็นต้น

นับแต่นั้นมา ผู้เขียนจึงมุ่งศึกษา "ตุลาการศาสตร์" มากขึ้น และเริ่มงานวิจัยในหัวข้อนี้ โดยกำลังเปรียบเทียบบทบาทผู้พิพากษาไทยกับญี่ปุ่น ในประเด็นที่เห็นว่าสำคัญต่อความเป็นธรรม ในสังคมไทย

บทความในวันนี้ เริ่มต้นมาจากข้อกังขาง่ายๆแต่เพียงว่า: "ผู้พิพากษาตัดสินคดีความ ตามเนื้อผ้าแห่งคดี เสมอไปหรือไม่"

นี่เป็นคำถามง่ายๆ แต่ตอบได้ไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะการตอบที่ปราศจากอคติ ไม่มีประโยชน์ได้-เสีย และตอบจากผลงานวิจัยที่เป็นวิทยาศาสตร์ และเมื่อพิจารณาแล้ว เห็นชัดว่า คำถามนี้ค่อนข้างกว้าง เพราะอาจมีหลายสาเหตุ ที่ผู้พิพากษาอาจตัดสินคดี "ไม่ตรงไปตรงมา" (เช่น จากความเมตตาสงสาร จากความมีอคติ อวิชชา หูเบา หลงผิด ความเชื่อเรื่องความเป็นธรรมเฉพาะตัวของผู้พิพากษา ความคิดเห็นทางการเมือง ความแตกต่างทางชนชั้น ภูมิหลังทางศาสนาของตัวผู้พิพากษาเอง หรือแม้แต่การมีผลประโยชน์ตอบแทนจากผลแห่งคดี ฯลฯ) ในวันนี้ เราจึงขอจำกัดคำถามแต่เพียงว่า: "อำนาจตุลาการ มีอิสระจากอำนาจบริหาร เสมอไปหรือไม่"

นอกจากนี้ เราจะจำกัดการพิจารณาในวันนี้เพียงแต่เรื่อง "อิสระแห่งอำนาจตุลาการ" ของศาลญี่ปุ่น (จากอำนาจบริหาร) โดยจะใช้หนังสือของ J. Mark Ramseyer & Eric B. Rasmusen, Measuring Judicial Independence: The Political Economy of Judging in Japan, The University of Chicago Press, 2003 มาแนะนำแก่คนไทย

ทั้ง Ramseyer และ Rasmusen เป็นศาสตราจารย์อเมริกัน Ramseyer สอนกฎหมายญี่ปุ่นที่ฮาร์วาร์ด ส่วน Rasmusen สอนเศรษฐศาสตร์ที่อินเดียนา

"อิสระแห่งอำนาจตุลาการ" คืออะไร
เอกสารที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้มีอยู่มาก แต่ในที่นี้ขออ้างแหล่งเดียว คือจากเว็บไซด์ของ ADB หรือ Asian Development Bank

ADB บรรยายว่า "อิสระแห่งอำนาจตุลาการ" อาจนิยามได้หลายแนวทาง ทั้งในความหมายกว้างและแคบ แต่สรุปได้เป็น ๓ ข้อ ดังต่อไปนี้:

1. ไม่เลือกปฏิบัติ: กล่าวคือ ผลคำพิพากษาต้องไม่มาจากผลประโยชน์ส่วนตัวของตุลาการ และการแต่งตั้งตุลาการต้องไม่มาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้พิพากษามีความคิดทางการเมืองเช่นไร แต่มาจากข้อเท็จจริงที่ว่า ผู้พิพากษาผู้นั้นมีคุณสมบัติเหมาะสมหรือไม่

2. คำพิพากษาต้องได้รับการเคารพ: กล่าวคือ คู่ความในคดีต้องเต็มใจปฏิบัติตามคำตัดสินของตุลาการ และเจ้าหน้าที่ก็ต้องเต็มใจใช้อำนาจบังคับตามคำพิพากษา. ADB กล่าวว่า แม้ความหมายตามข้อ ๒ นี้จะไม่ใช่ "อิสระแห่งอำนาจตุลาการ" โดยตรง แต่ก็ส่อความหมายเช่นนั้นโดยปริยาย

3. ปลอดจากการถูกแทรกแซง: กล่าวคือ คู่กรณีในคดีหรือผู้อื่นที่มีประโยชน์ได้-เสียจากผลแห่งคดี จะแทรกแซงการตัดสินคดีของตุลาการไม่ได้ ซึ่งความหมายตามข้อ ๓ นี้ มีวัตถุประสงค์ทั้งเพื่อห้ามการบีบบังคับผู้พิพากษา และห้ามผู้พิพากษารับสินบนด้วย

ควรสังเกตว่า "อิสระแห่งอำนาจตุลาการ" (จากฝ่ายบริหาร) คือสิ่งที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า มีความสำคัญที่สุด ในบรรดาความหมายทั้ง ๓ ข้อข้างต้น

ฝ่ายบริหารคืออำนาจที่ "คุกคาม" ฝ่ายตุลาการ ได้มากที่สุด เพราะเหตุ ๒ ประการ:

1. มีประโยชน์ได้-เสียสูงสุด: กล่าวคือ รัฐบาลมักมีฐานะ เป็นผู้มีประโยชน์ได้-เสียสูงสุดจากผลแห่งคดีต่างๆ
2. มีอำนาจคุกคามสูงสุด: กล่าวคือ รัฐบาลคือผู้กุมอำนาจ ที่จะคุกคามผู้พิพากษา ได้มากกว่าบุคคลอื่นใดทั้งสิ้น

Ramseyer & Rasmusen (2003: 2) เขียนไว้ว่า: "It is not the capitalists but the politicians who could hurt judicial careers." (คนที่จะคุกคามเหล่าตุลาการนั้น หาใช่บรรดานายทุนหน้าไหนไม่ แต่นักการเมืองนั้นต่างหาก ที่จะคุกคามตุลาการ ได้จริงจัง)

ท่านลองนึกดูก็แล้วกัน จะมีนักการเมืองสักกี่คนในโลกนี้ ที่อยากเห็นตุลาการมีความเป็นอิสระ และตัดสินคดีมัดมือมัดเท้านักการเมืองเอง จนขยับเขยื้อนไม่ถนัด (Ramseyer & Rasmusen, 2003: 169)

เมื่อว่ากันตามตัวบทกฎหมายแล้ว รัฐธรรมนูญไทย-ญี่ปุ่น ก็มีข้อความไม่แตกต่างกันนัก:

- รัฐธรรมนูญไทย: ผู้พิพากษาและตุลาการมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
(มาตรา ๒๔๙ วรรค ๑)

- รัฐธรรมนูญญี่ปุ่น: ผู้พิพากษาทั้งปวงมีอิสระในการใช้วิจารณญาณของตน และจะถูกผูกพันก็แต่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเท่านั้น (มาตรา ๗๖ วรรค ๓) (All judges shall be independent in the exercise of their conscience and shall be bound only by this Constitution and the laws.)

แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนหลักการไว้สวยหรูเช่นนี้ แต่วิชา "ตุลาการศาสตร์" สมัยนี้ ก็ก้าวรุดหน้าไป จนทำให้พิสูจน์ได้ว่า ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ผู้พิพากษาก็มิได้มีอิสรภาพจากภาคการเมืองเสมอไป เช่นในกรณีญี่ปุ่น ที่แสดงให้เห็นได้ จากงานศึกษาของ Ramseyer & Rasmusen ดังต่อไปนี้

ผู้พิพากษาญี่ปุ่นมีอิสระจากฝ่ายบริหารเพียงใด งานศึกษาโดย Ramseyer & Rasmusen
จุดเด่นของ Ramseyer ไม่ใช่เพราะเขาเป็นอาจารย์อเมริกันที่สอนกฎหมายญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เด่นที่เน้นวิจัย Judicial Science ในหัวข้อ "ตุลาการศาสตร์" เรื่องญี่ปุ่น และเด่นที่ใช้วิชาเกิดใหม่ในอเมริกา ที่ชื่อว่า "Law and Economics" เป็นฐานในการวิเคราะห์ "ตุลาการศาสตร์" ญี่ปุ่น โดยร่วมมือกับ Rasmusen อาจารย์เศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยอินเดียนา เสมอมาด้วย

"กฎหมายกับเศรษฐศาสตร์" เป็นวิชาว่าด้วยการใช้เศรษฐศาสตร์วิเคราะห์กฎหมาย (ดูหนังสือไทยในเรื่องนี้โดย ศักดา ธนิตกุล, กฎหมายกับเศรษฐศาสตร์: ทรัพย์สิน สัญญา และละเมิด, โครงการตำราและสื่อการสอน, นิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ฯ, นิติธรรม, ๒๕๔๔)

เมื่อกล่าวถึงช่วงเวลา จะเห็นได้ว่า Ramseyer & Rasmusen ได้เลือกศึกษา "ตุลาการศาสตร์" ญี่ปุ่น ในช่วงตั้งแต่ทศวรรษ ๑๙๖๐ เป็นต้นมา

ขณะที่นักศึกษาในตะวันตกประท้วงสังคมอย่างรุนแรงเมื่อปี ๑๙๖๘ นั้น ญี่ปุ่นในทศวรรษ ๑๙๖๐ ก็เกิด "ซ้ายใหม่" ในการประท้วงทางการเมืองอย่างรุนแรง รูปแบบต่างๆ ระลอกแล้วระลอกเล่า ขนาดสู้กับตำรวจด้วยก้อนอิฐและระเบิด "โมโลตอฟ-ค็อกเทล" และบุกเข้ายึดมหาวิทยาลัยโตเกียว รวมไปถึงบุกเมืองหนึ่งด้วยม็อบจัดตั้ง จำนวนถึง ๘๐๐, ๐๐๐ คน

จากสภาพสังคมเช่นนั้น ญี่ปุ่นจึงมีนักศึกษาหัวก้าวหน้า เกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งในจำนวนนั้น หลายคนก็เก่งพอที่สอบผ่าน เป็นผู้พิพากษาได้ในเวลาต่อมา บรรดาผู้พิพากษาฝ่าย "ก้าวหน้า" นี้เอง ที่มักตัดสินคดีมัดมือมัดเท้านักการเมืองพรรครัฐบาล LDP จนขยับเขยื้อนไม่ถนัดอยู่เสมอ

Ramseyer & Rasmusen จึงตั้งคำถามวิจัย (Research Question) ว่า: "ตั้งแต่ปลายทศวรรษ ๑๙๖๐ จนถึงปี ๑๙๙๓ ซึ่งพรรค LDP ครองอำนาจรัฐบาลญี่ปุ่นตลอดมานั้น ผู้พิพากษาญี่ปุ่นถูกแต่งตั้ง เลื่อนขั้น และโยกย้าย เพราะตัดสินคดีตามความคิดทางการเมืองของตน หรือไม่"

กรุณาเข้าใจว่า งานวิจัยชิ้นนี้ของ Ramseyer & Rasmusen มีฐานคิด (Research Premise) ที่ตั้งไว้ว่า: การแต่งตั้ง เลื่อนขั้น และโยกย้ายตุลาการ ย่อมมีอิทธิพลต่อการตัดสินคดี ในงานวิชาชีพของตุลาการเสมอ

ต่อไป เราจะมาดูกันว่า อาจารย์อเมริกัน ๒ ท่านนี้ ใช้วิธีเช่นไร ในการตอบคำถาม

Ramseyer & Rasmusen ได้ใช้วิชาสถิติทางเศรษฐศาสตร์ (ซึ่งมีชื่อฟังเข้าใจยากว่า "Econometrics") วิเคราะห์ประวัติผู้พิพากษาหลายร้อยคน และพบว่า เป็นความจริง ตามข้อกล่าวหาของฝ่ายก้าวหน้าที่ว่า การเมืองในญี่ปุ่นได้เข้ามาแทรกแซงในวิชาชีพผู้พิพากษา ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ในคดีการเมืองที่พรรครัฐบาล LDP มีผลประโยชน์ได้-เสียนั้น Ramseyer & Rasmusen ค้นพบว่า ผู้พิพากษาญี่ปุ่น (โดยเฉพาะในช่วงนั้น) ต้องตัดสินคดีโดยคำนึงถึง "ความรู้สึก" ของคณะรัฐมนตรีเสมอ ผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีเป็นคุณกับรัฐบาล จะได้รับการแต่งตั้ง เลื่อนขั้น และโยกย้ายไปสู่สถานะที่ดีขึ้น แต่ผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีเป็นโทษกับรัฐบาล จะได้รับตำแหน่ง ที่แย่ลง

ตัวอย่างที่ชัดเจนในเรื่องนี้ ได้แก่กรณีของผู้พิพากษาฟุคุชิมะ ชิเกะโอะ (Fukushima Shigeo) แห่งศาลจังหวัดฮ็อกไกโด ผู้ตัดสินคดีในช่วงปีทศวรรษ ๑๙๖๐ ว่า กองกำลังป้องกันตนเอง ("SDF" หรือ Self-Defense Forces) ของญี่ปุ่นขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙ ที่ห้ามญี่ปุ่นมีกองทัพเพื่อการทำสงคราม. ก่อนหน้านั้น ศาลญี่ปุ่นต่างตัดสินคดีที่เกี่ยวกับ SDF โดยไม่วิเคราะห์เลยว่า SDF ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ก่อนหน้ามีคำตัดสิน ผู้พิพากษาฟุคุชิมะได้รับกระดาษโน๊ตจากนายฮิระกะ เค็นตะ (Hiraga Kenta) ผู้เป็นหัวหน้าศาลว่า เขาควรตัดสินคดีนี้ออกมาอย่างไร โดยไม่แตะรัฐธรรมนูญ ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้พิพากษาฟุคุชิมะไม่เพียงแต่มองข้ามคำชี้แนะจากหัวหน้าเท่านั้น แต่ยังให้เพื่อนผู้พิพากษา ได้ดูกระดาษโน๊ตนั้น ซึ่งต่อมา ก็หลุดลอดออกไปถึงมือผู้สื่อข่าว

เมื่อผู้พิพากษาฟุคุชิมะตัดสินคดีออกมาเช่นนั้น รัฐบาลจึงยื่นอุทธรณ์ และชนะคดีชั้นอุทธรณ์ ในเวลาต่อมา ส่วนผู้พิพากษาฟุคุชิมะต้องถูกย้ายไปประจำการที่ศาลครอบครัวจังหวัดฮ็อกไกโด แม้จะไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่า เขาถูกย้ายเพราะตัดสินคดีเป็นโทษแก่รัฐบาล หรือเพราะเอากระดาษโน๊ตของหัวหน้าศาลไปให้เพื่อนผู้พิพากษา ได้ดูกัน

ข้อสังเกตส่งท้าย
ตัวอย่างเรื่องญี่ปุ่น ควรนำไปสู่การศึกษาวิจัยเรื่อง "อิสระแห่งอำนาจตุลาการ" (จากอำนาจบริหาร) ในเมืองไทยต่อไป แม้ว่า "ตุลาการศาสตร์" ของไทยคงจะซับซ้อนกว่าญี่ปุ่น เพราะไทยมีศาลมากกว่าญี่ปุ่น อยู่หลายประเภท โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ กับศาลปกครองนั้น ซึ่งน่าตั้งคำถามอย่างยิ่งว่า มีอิสระจากนักการเมือง อยู่เพียงใด

ขณะที่ "ตุลาการศาสตร์" กำลังแพร่หลายในชาติอื่น และจะเข้ามาในเมืองไทยอย่างแน่นอน ผู้เขียนขอแบ่งข้อสังเกตส่งท้ายเป็น ๒ ส่วน:

- ต่อนักวิชาการไทย: นักวิชาการควรตระหนักว่า เรื่องของสถาบันตุลาการ ไม่ควรใช้วิธีการกล่าวหากันลอยๆ แต่ต้องใช้วิธีวิจัยที่เหมาะสม และเก็บข้อมูลให้ครบถ้วนทุกฝ่าย แล้วค่อยสรุปคำตอบออกมา

- ต่อศาลไทย: ทั้งศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง ควรตระหนักว่า แม้ทุกวันนี้ นักวิชาการมักมีความเห็นต่างกับศาลอยู่เสมอ แต่ความจริงแล้ว: "พวกเรานักวิชาการ อยากเห็นตุลาการเป็นอิสระจากนักการเมือง เพราะตุลาการมีแนวโน้มที่จะมีความเห็นเช่นเดียวกับนักวิชาการ ยิ่งกว่านักการเมือง" (Ramseyer & Rasmusen, 2003: 169) ดังนั้น ศาลจึงควรเปิดใจกว้างรับฟังนักวิชาการให้มากขึ้น และควรใช้อำนาจที่มีอยู่ให้น้อยลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง "ละเมิดอำนาจศาล" หรือ "หมิ่นศาล" ก็ตามที

 

บทความเรื่องที่สอง
"ทุกวันนี้ ผู้พิพากษาญี่ปุ่นยังตัดสินคดี โดยคำนึงถึง "ความรู้สึก" รัฐบาลอีกหรือไม่"

"ผู้พิพากษาญี่ปุ่นมักตัดสินคดี โดยคำนึงถึง "ความรู้สึก" ของรัฐบาล" นี่คือข้อสรุปจากงานวิจัยในหนังสือโดย J. Mark Ramseyer & Eric B. Rasmusen, Measuring Judicial Independence: The Political Economy of Judging in Japan, The University of Chicago Press, 2003

Ramseyer & Rasmusen ได้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยตามหลักวิชา "ตุลาการศาสตร์" (Judicial Science หรือ Saiban-gaku "ไซบัง-กักคึ" ในภาษาญี่ปุ่น) และลงข้อสรุปว่า การเมืองญี่ปุ่นเข้าไปแทรกแซงวิชาชีพผู้พิพากษา ทั้งทางตรงและอ้อม

นั่นคือการใช้ข้อมูลเมื่อทศวรรษ ๑๙๖๐ ถึงปี ๑๙๙๓ แต่ทุกวันนี้ การเมืองญี่ปุ่นได้เปลี่ยนไปมาก เพราะพรรค LDP อ่อนแอลงจนไม่อาจครองเสียงข้างมากพรรคเดียวได้ต่อไป แต่ใช้วิธีรัฐบาลผสมที่ต้องพึ่งพาพรรค Komeito (โคเม-โต) เป็นอันมาก

ภายใต้สังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ คำถามจึงเกิดขึ้นว่า ข้อสรุปของ Ramseyer & Rasmusen ยังใช้ได้ต่อไปหรือไม่ ในทุกวันนี้

ในบทความวันนี้ เราจึงขอตั้งคำถามว่า: "ทุกวันนี้ ผู้พิพากษาญี่ปุ่นยังตัดสินคดี โดยคำนึงถึง "ความรู้สึก" ของรัฐบาลอีกหรือไม่" โดยจะใช้คดีใหม่ในเดือนกุมภาฯ ๒๐๐๔ มาพิจารณา

รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้คุมศาลเสมอไป
Ramseyer & Rasmusen ไม่ได้สรุปว่า "รัฐบาลญี่ปุ่นคุกคามศาล" ในลักษณะ "เหวี่ยงแห" เสมอไปในทุกกรณี เพราะนี่เป็นงานวิชาการ ไม่ใช่อคติ หรือเมามันสรรสร้างทฤษฎีขึ้นมาเอง แต่ตั้งอยู่บนฐานข้อมูลที่เป็นจริง และใช้วิธีการพิสูจน์ตามหลักวิชา "ตุลาการศาสตร์"

Ramseyer & Rasmusen (2003: 170) สรุปการศึกษาว่า "รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้คุกคามศาลเสมอไป" โดยแบ่งคดีที่รัฐบาลเป็นคู่ความ เป็น ๒ กรณี:

1. คดีที่ไม่มีผลกระเทือนทางการเมือง: นี่คือคดีที่รัฐบาลถูกฟ้องเพราะการปฏิบัติงานผิดพลาดของข้าราชการระดับกลาง-ล่าง ไม่ใช่ปัญหาในระดับคณะรัฐมนตรี ดังนั้น รัฐบาลจึงยินยอมโดยดุษฎี ให้ศาลตัดสินให้ฝ่ายรัฐแพ้คดี และไม่คุกคามผู้พิพากษา เพราะเสมือนกับการยืมมือศาล ลงโทษข้าราชการที่นอกลู่นอกทางไปในตัว ซึ่งส่งผลดีต่อภาพพจน์รัฐบาลว่าให้ความเคารพต่อความเป็นอิสระของศาลด้วย

2. คดีที่ผลกระเทือนทางการเมือง: นี่คือกรณีที่รัฐบาลเดือดร้อน แต่แทนที่จะคุกคามผู้พิพากษาตรงๆ ก็จะใช้วิธีต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง หรือคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจศาล เพื่อให้คดีพ้นจากผู้พิพากษาที่เป็นปัญหา แล้วจึงใช้อิทธิพลการเมืองคุกคามทางลับ ต่อการแต่งตั้ง เลื่อนขั้น และโยกย้ายผู้พิพากษานั้น เพื่อให้มั่นใจว่าผู้พิพากษาคนต่อไป จะไม่พิจารณาคดีเป็นโทษต่อรัฐบาลอีก

คดี "ผักหัวอ้า" คำพิพากษาศาลอุทธรณ์โอซากา / ๑๙ กพ. ๒๐๐๔
ข้อเท็จจริง: ในเดือน กค. ๑๙๙๖ ชาวบ้านกว่า ๙,๐๐๐ คนที่เมืองซะไค จังหวัดโอซากา ป่วยด้วยอาหารเป็นพิษ และเสียชีวิต ๓ คน ในเดือน สค. และ กย. กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นประกาศมั่นใจ ๙๕ % ว่า เพราะอาหารปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย "E. coli" (อี-โคไล หมายเลข 0-157) ที่ติดอยู่ใน "ผักหัวอ้า" โดยเฉพาะที่ส่งมาจากฟาร์มแห่งหนึ่งในบริเวณนั้น ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ทันทีว่า เป็นฟาร์มของนายมินะมิโนะ ฮะจิมุ (Minamino Hajimu) คนจึงเลิกซื้อผักหัวอ้าจากฟาร์มนี้ และรายได้ลดลงจำนวนมาก

คนญี่ปุ่นนิยม "ผักหัวอ้า" (Kaiware Daigon / ไควะเระ ไดกอง) โดยกินกับปลาดิบ และใส่ในซุปเต้าเจี้ยว "มิโซะชิรุ" เพราะเป็นผักก้านเล็กๆ แต่กลิ่นหอมคล้ายหัวไชเท้า ทุกวันนี้ มีคนญี่ปุ่นมาปลูกเป็นฟาร์มใหญ่ๆในเมืองไทยส่งไปญี่ปุ่น และมีขายที่ซุปเปอร์มาเก็ตทั่วไปในเมืองไทย

นายมินะมิโนะ (วัย ๖๖ ปี) แห่งเมืองฮะบิคิโนะ ในโอซากา จึงฟ้องรัฐบาลเป็นคดีต่อศาลจังหวัดโอซากา เรียกค่าเสียหาย ๕๒.๕ ล้านเยน (ราว ๑๙ ล้านบาท) ต่อสู้ว่าเชื้อแบคทีเรียไม่ได้มาจากเครื่องไม้เครื่องมือ หรือบ่อน้ำที่ฟาร์มเขา และการวิจัยของรัฐบาลไม่ต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ จึงระบุไม่ได้ชัด ๑๐๐% ว่า แบคทีเรีย มีที่มาจากแหล่งใด

ศาลจังหวัดโอซากาตัดสินเมื่อวันที่ ๑๕ มีค. ๒๐๐๒ ให้รัฐบาลแพ้คดี และให้จ่ายค่าเสียหาย ๖ ล้านเยน (ราว ๒.๒ ล้านบาท) แก่นายมินะมิโนะ โดยถือว่ากระทรวงสาธารณสุขออกประกาศโดยไม่ชอบ เพราะขณะที่ข้อพิสูจน์ยังไม่แจ้งชัด กลับทำให้มหาชนเข้าใจว่า แบคทีเรียมาจากฟาร์มมินะมิโนะ อย่างชัดเจน

รัฐบาลจึงอุทธรณ์ โดยต่อสู้ว่า กระทรวงสาธารณสุข มีประกาศเรื่องนี้ออกมาโดยชอบ เพราะสถานการณ์แวดล้อมขณะนั้น ทำให้เชื่อว่าแบคทีเรียมาจากฟาร์มมินะมิโนะ

คำตัดสินของศาลอุทธรณ์: นายนะคะตะ อะคิทะคะ (Nakata Akitaka) ผู้พิพากษาผู้รับผิดชอบคดี ได้พิพากษายืนให้รัฐบาลแพ้คดี เพราะการวิจัยของกระทรวงสาธารณสุขยังไม่ชัดและยังเชื่อถือไม่ได้ จึงไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วน เหตุนี้ แม้กระทรวงสาธารณสุขจะเร่งรีบประกาศเพื่อปกป้องมหาชน แต่ก็เป็นสิ่งไม่สมควร เพราะอาจเล็งเห็นได้ว่าจะก่อความเสียหายให้นายมินะมิโนะ

ข้อสังเกตส่งท้าย
ผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุขขณะนั้น ได้แก่นายคัน เนาโตะ (Kan Naoto) และปัจจุบัน คือหัวหน้าพรรค DPJ อันเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุด และมีแถลงการณ์ออกมาว่า การตัดสินใจประกาศในครั้งนั้น เป็นไปโดยชอบ เพราะถ้ารัฐบาลต้องวิจัยให้ได้ ๑๐๐ % จึงจะออกประกาศได้ รัฐบาลทุกวันนี้ คงไม่อาจประกาศใดๆได้ ไม่ว่าไข้หวัดนก โรควัวบ้า หรือโรคซาร์ ก็ตามที

นอกจากคดีนี้แล้ว ในเดือน ธค. ๑๙๙๖ สมาคมผักหัวอ้าแห่งญี่ปุ่น (Nippon Kaiware Kyokai) ได้ร่วมกับฟาร์ม ๑๘ แห่ง เป็นโจทก์ฟ้องรัฐบาล ซึ่งศาลจังหวัดโตเกียวตัดสินให้รัฐบาลชนะในเดือน พค. ๒๐๐๑ แต่ศาลอุทธรณ์โตเกียวพิพากษากลับ ให้รัฐบาลแพ้ในเดือน พค. ๒๐๐๓ สั่งให้รัฐบาลจ่ายค่าเสียหาย ๑๖.๙ ล้านเยน (ราว ๖ ล้านบาท) ขณะนี้ คดีเข้าสู่ขั้นฎีกาโดยรัฐบาล

เชื่อกันว่า คำตัดสินจากศาลอุทธรณ์ทั้ง ๒ คดีนี้ จะมีผลให้รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น ทั่วไปในญี่ปุ่น ต้องรอบคอบในการวิจัย และคิดคำนวณมากกว่านี้ว่า ผู้ประกอบการใดจะเสียหาย ถ้าทางการเร่งประกาศเรื่องแหล่งโรคติดเชื้อ

นี่เป็น "คดีที่ไม่มีผลกระเทือนทางการเมือง" (ตามคำอธิบายของ Ramseyer & Rasmusen) ซึ่งเราอาจตั้งข้อสังเกตว่านี่ อาจ เป็นสาเหตุที่ผู้พิพากษาญี่ปุ่นมีอิสระ และตัดสินคดีเป็นโทษแก่รัฐบาลได้ เพราะศาลอุทธรณ์ได้เดินแนวนี้มา ๒ คดีแล้ว

เราอาจตั้งข้อสังเกตได้ด้วยว่า พรรค LDP คงไม่เดือดร้อน (และคงยินดีที่ศาลตัดสินให้รัฐบาลแพ้) เพราะพรรค LDP ไม่ใช่รัฐบาลขณะเกิดเหตุ แต่เป็นความผิดพลาดของนายคัน เนาโตะ (Kan Naoto) หัวหน้าพรรคฝ่ายค้าน DPJ นั่นเอง

เหตุนี้ นายนะคะตะ อะคิทะคะ (Nakata Akitaka) ผู้พิพากษาผู้รับผิดชอบคดีนี้ จึงไม่มีเหตุผลใดๆที่ต้อง "เกรงใจ" พรรครัฐบาล LDP

 

บ้านเรา-บ้านเขา
โดย: พิเชษฐ เมาลานนท์ แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนีกาตะ (ญี่ปุ่น)
ทีมวิจัย: นิลุบล ชัยอิทธิทธิพรวงศ์ & พรทิพย์ อภิสิทธิวาสนา แห่ง "TLD-RI" สำนักวิจัยกฎหมายไทยกับการพัฒนา (ไทย)

หมายเหตุ: ผู้เขียนและทีมวิจัย เสนอบทความนี้ ในฐานะคณะทำงานโครงการก่อตั้ง "สปรย." (สถาบันส่งเสริมการปฏิรูประบบยุติธรรม & ความเป็นธรรมทางสังคม) ภายใต้การนำของ นพ. ประเวศ วะสี ซึ่งจัดประชุม "เวทีนโยบายสาธารณะเพื่อเอาชนะความยากจน" ทุก ๒ เดือน

 

 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
หรือหน้าสารบัญ ซึ่งมีอยู่ 2 หน้า
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

เดือนมีนาคม พศ.๒๕๔๗
รวมบทความเกี่ยวกับความรู้เรื่อง"ตุลาการศาสตร์"(Judicial Science) ๒ เรื่อง : เขียนโดย พิเชษฐ เมาลานนท์

"ผู้พิพากษาทั้งปวงมีอิสระในการใช้วิจารณญาณของตน และจะถูกผูกพันก็แต่ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเท่านั้น" (มาตรา ๗๖ วรรค ๓) (All judges shall be independent in the exercise of their conscience and shall be bound only by this Constitution and the laws.) แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนหลักการไว้สวยหรู แต่วิชา"ตุลาการศาสตร์"สมัยนี้ ก็ก้าวรุดหน้าไป จนทำให้พิสูจน์ได้ว่า ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ผู้พิพากษาก็มิได้มีอิสร-ภาพจากภาคการเมืองเสมอไป

Ramseyer & Rasmusen (2003: 2) เขียนไว้ว่า: "It is not the capitalists but the politicians who could hurt judicial careers." (คนที่จะคุกคามเหล่าตุลาการนั้น หาใช่บรรดานายทุนหน้าไหนไม่ แต่นักการเมืองนั้นต่างหาก ที่จะคุกคามตุลาการ ได้จริงจัง)

ภาพประกอบดัดแปลงผลงานวิชาการด้านนิติศาสตร์ เรื่อง"ตุลาการศาสตร์"
จุดเด่นของ Ramseyer ไม่ใช่เพราะเขาเป็นอาจารย์อเมริกันที่สอนกฎหมายญี่ปุ่นเท่านั้น แต่เด่นที่เน้นวิจัย Judicial Science ในหัวข้อ "ตุลาการศาสตร์" เรื่องญี่ปุ่น และเด่นที่ใช้วิชาเกิดใหม่ในอเมริกา ที่ชื่อว่า "Law and Economics" เป็นฐานในการวิเคราะห์ "ตุลาการศาสตร์" ญี่ปุ่น