H

เว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ทางเลือกเพื่อการศึกษาสำหรับสังคมไทย :

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ลำดับที่ 370 หัวเรื่อง
คดีสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม
พิเชษฐ เมาลานนท์ และคณะ
มหาวิทยาลัยนีกาตะ
ประเทศญี่ปุ่น



บริการเผยแพร่ เพื่อสาธารณประโยชน์
หากนักศึกษาหรือสมาชิก ประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้

บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน สามารถคัดลอกไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการได้ หากนำไปใช้ประโยชน์ กรุณาแจ้งให้ทราบที่

midnightuniv(at)yahoo.com
midnight2545(at)yahoo.com

100447
release date
R
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสงค์จะตรวจดูบทความอื่นๆของเว็ปไซค์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ท่านสามารถคลิกไปดูได้จากตรงนี้ ไปหน้าสารบัญ
Wisdom is the ability to use your experience and knowledge to make sensible decision and judgements

ขบวนการยุติธรรม - รัฐธรรมนูญ
คดีตัวอย่างและข้อกังขาเรื่อง
"สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม"
พิเชษฐ เมาลานนท์
รองศาสตราจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนีกาตะ ญี่ปุ่น


บทความนี้ ยาวประมาณ 19 หน้ากระดาษ A4
เผยแพร่ครั้งแรกบนเว็ปมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน วันที่ 10 เมษายน 2547


หมายเหตุ บทความชิ้นนี้ตัดตอนมาจาก "คดีสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม กับ ข้อกังขาว่าด้วย "ความเป็นธรรม" ในสังคมไทย"
เอกสารหลักประกอบการประชุม เวทีนโยบายสาธารณะเพื่อเอาชนะความยากจน ครั้งที่ ๗
๒๓ มกราคม ๒๕๔๗
คณะทำงาน โครงการก่อตั้งสถาบันส่งเสริมการปฏิรูประบบยุติธรรม และความเป็นธรรมทางสังคม (สปรย.)

ย่อคดีตัวอย่างเรื่อง "สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม"
--- ย่อคดีที่ ๑: คดีนายมงคล รักยิ่งประเสริฐ……(ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง)
--- ย่อคดีที่ ๒: คดีนายพล พะโย ………………(ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง)
--- ย่อคดีที่ ๓: คดีนายเท้ง เลาว้าง ………….....(ชาวเขาเผ่าม้ง)

ย่อคดีที่ ๑: คดีนายมงคล รักยิ่งประเสริฐ (ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง)
ศาลจังหวัดเชียงใหม่ (ความอาญา) คดีดำที่: ๕๗๓๖ / ๒๕๔๑ (วันฟ้อง: ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๑) คดีแดงที่: ๓๘๖๐ / ๒๕๔๔
(วันพิพากษา: ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๔) จำเลย: นายมงคล รักยิ่งประเสริฐ / ข้อหา: มีไม้หวงห้าม (สน) ไว้ในครอบครอง คำฟ้องระบุว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อ : ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๑

คำฟ้อง :
จำเลยกับพวกที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องอีก ๑ คน ได้ร่วมกันมีไม้สนแปรรูป ซึ่งเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก ตาม พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. ๒๕๓๐ ไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ เหตุเกิดที่ตำบลแม่วิน อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่

ประกาศกระทรวงเกษตร เรื่องเขตควบคุมแปรรูปไม้ และ พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้คัดสำเนาประกาศไว้ ณ สถานที่ราชการ และที่สาธารณะในท้องที่ซึ่งเกี่ยวข้อง และจำเลยได้ทราบโดยชอบแล้ว

คำให้การ:

- ภาษาไทยอ่านไม่ออก: จำเลยเป็นชาวเขาเผ่ากระเหรี่ยง มีความรู้ภาษาไทยเพียงแค่ฟัง หรือพูดได้เล็กน้อยเท่านั้น จำเลยไม่สามารถอ่านหรือเขียนภาษาไทยได้เลย
- ไม่รู้กฎหมาย: พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้ามนั้น ไม่เคยปรากฏว่าผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันในท้องที่ ได้ประชุมบอกกล่าวข้อกำหนดกฎหมายนี้เลย จำเลยจึงไม่ได้รับทราบข้อกำหนดนั้น

- จำเลยมีสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม: การตัดไม้สนครั้งนี้ กระทำโดยชอบ ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ เพราะนายปุนุ ขจุยแจ่มจิต (หลานชายของจำเลย) ได้ขอไปยังคณะกรรมการหมู่บ้าน และได้รับอนุญาตแล้ว เพื่อขอใช้ไม้ใน "ป่าชุมชน" ของหมู่บ้าน สำหรับการสร้างบ้านหลังใหม่ การร้องขอครั้งนี้มิได้ทำเป็นหนังสือ เพราะถือเป็นปฏิบัติเป็นประเพณีมาช้านานของคนในชุมชน และนายปุนุได้ตัดและเลื่อยไม้สนดังกล่าวนานเกือบ ๒ปี (เสร็จสิ้นกลางปี ๒๕๔๑) เพราะใช้เวลาว่างจากการทำนา ทำไร่ตามปกติ จึงเป็นการทำค่อยเป็นค่อยไป และเปิดเผยรู้เห็นกันในชุมชนโดยทั่วไป

คำพิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่:

- จำเลยมีความผิดตามกฎหมาย: จำเลยเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานมีไม้สนแปรรูปไว้ในครอบครอง ลงโทษจำคุกจำเลย ๘ เดือน ลดโทษให้ ๑ ใน ๔ คงจำคุก ๖ เดือน โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ ๒ ปี จำเลยไม่อุทธรณ์ เพราะพอใจที่ไม่ถูกจำคุก
- ข้อต่อสู้ของจำเลยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖: ศาลมิได้วินิจฉัย โดยมิได้ให้เหตุผล

 

ย่อคดีที่ ๒: คดีนายพล พะโย (ชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง)
ศาลจังหวัดเชียงใหม่ (ความอาญา) คดีดำที่ : ๑๔๘๔ / ๒๕๔๒ (วันฟ้อง: ๒ เมษายน ๒๕๔๒) คดีแดงที่: ๑๐๓๕ / ๒๕๔๖
(วันพิพากษา: ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๖) จำเลย: นายโพ หรือ พล พะโย / ข้อหา: ตัดฟันไม้หวงห้าม (สัก) คำฟ้องระบุว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อ : ๘ มีนาคม ๒๕๔๒

คำฟ้อง :
จำเลยได้เข้าไปทำไม้โดยการใช้ขวาน ๑ เล่ม ตัดฟันไม้สัก อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตาม พ. ร.บ.ป่าไม้ พ. ศ.๒๔๘๔ ในป่าเชียงดาว อันมี กฎกระทรวงกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ และมี พระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ

จำเลยได้มีไม้สักแปรรูป จำนวน ๑ แผ่น ปริมาตร ๐.๐๘ ลูกบาศก์เมตร ซึ่งไม้สักเป็นไม้ หวงห้าม ประเภท ก. ตาม พ. ร.บ.ป่าไม้ พ. ศ.๒๔๘๔ ไว้ในครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ตาม ประกาศกระทรวงเกษตร เหตุตามฟ้อง เกิดที่ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

กฎกระทรวง พระราชกฤษฎีกา และประกาศกระทรวงฯ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ปิดประกาศไว้ ณ สถานที่ราชการ และที่สาธารณสถานโดยเปิดเผยในท้องที่ที่เกิดเหตุแล้ว

พนักงานเจ้าหน้าที่ได้ปักหลักเขตและแสดงแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้ประชาชนเห็นว่า เป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งจำเลยได้ทราบแล้ว

คำให้การ:

- ไม่รู้กฎหมาย: กฎหมายและประกาศตามที่โจทก์อ้างนั้น จำเลยไม่เคยรับรู้และไม่เคยเห็นสำเนา เพราะถิ่นที่อยู่อาศัยของจำเลย อยู่ไกลจากตัวอำเภอเมืองเชียงดาวมาก ไม่มีพนักงานเจ้าหน้าที่ ปิดสำเนาไว้ในสถานที่ราชการ หรือที่สาธารณะในท้องถิ่นจำเลย
-
เสียภาษีมาตลอด: ทั้งยังมีการเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ในที่ดินที่เกิดเหตุมาตลอด

- ไม่ได้แปรรูปไม้: ไม้สักท่อนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยตัดฟัน เป็นไม้สักท่อนที่มีผู้อื่นตัดฟันทิ้งไว้และได้วางทิ้งไว้กับพื้นดินมาเป็นเวลานานกว่า ๗ ปี และมีรอยไฟไหม้ จึงไม่มีใครเอาไปใช้ประโยชน์ การกระทำของจำเลยที่เพียงใช้ขวานปัดเศษใบไม้ ใบหญ้า และเศษดินที่ปกคลุมไม้สักท่อนดังกล่าว เพื่อตรวจดูสภาพไม้ โดยใช้ขวานเพียงเล่มเดียว มิได้เข้าตามองค์ประกอบของความผิดว่าด้วยการแปรรูปไม้ และยังไม่อยู่ในขั้นตอนที่เรียกว่า "ทำไม้" ตาม พ. ร.บ.ป่าไม้

- จำเลยมีสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม: ชุมชนในพื้นที่นี้มี "คณะกรรมการป่าชุมชน" ซึ่งแต่งตั้งมาจากทุกหมู่บ้านในพื้นที่นั้น ๆ และมีวัฒนธรรมในการรักษาป่าโดยการใช้ทรัพยากรจากป่า ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการทุกครั้ง จำเลยมีความประสงค์จะใช้ประโยชน์จากไม้สักท่อนดังกล่าว เป็นการใช้ภายในครอบครัวตามความจำเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิตเท่านั้น จึงได้ขออนุญาตจากคณะกรรมการหมู่บ้านตามจารีตประเพณี ซึ่งก็ได้รับการเห็นชอบจากคณะกรรมการหมู่บ้านแล้ว จึงเข้าใจว่ามีสิทธิที่จะกระทำได้โดยชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ อีกทั้งในปี ๒๕๓๙ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ ได้ไปประกาศ ด้วยวาจา ให้ชาวบ้านทราบว่า พื้นที่ "ป่าชุมชน" ให้อยู่ภายใต้การดูแลของ "คณะกรรมการป่าชุมชน" แต่ทั้งนี้ การใช้ทรัพยากรจากป่าจะต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ เท่านั้น ทำให้จำเลยเชื่อด้วยความบริสุทธิ์ใจว่า จำเลยมีสิทธิในการอยู่อาศัยและทำกินใน "ป่าชุมชน" ได้ตามจารีตประเพณี

คำพิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่:

- จำเลยมีความผิดตามกฎหมาย: ทนายคนแรก ได้เข้ามาช่วยจำเลยว่าความตั้งแต่ถูกฟ้อง ด้วยคำแนะนำของ NGO กลุ่มหนึ่ง และได้ยกข้อต่อสู้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ แต่ต่อมา NGO กลุ่มนั้นได้ตัดสินใจเปลี่ยนทนาย ด้วยเหตุความคิดแตกต่างกัน เมื่อทนายคนหลังเข้ามาช่วย จำเลยได้ตกลงใจรับสารภาพ ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตามคำรับสารภาพ แต่ให้รอลงอาญาไว้

- ข้อต่อสู้ของจำเลยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖: ส่วนข้อต่อสู้ของจำเลยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ นั้น ได้ตกไป เพราะจำเลยตกลงใจรับสารภาพ

 

ย่อคดีที่ ๓: คดีนายเท้ง เลาว้าง (ชาวเขาเผ่าม้ง)
ศาลจังหวัดเชียงใหม่ (ความแพ่ง) คดีดำ: ๒๓๙ / ๒๕๔๓ (วันฟ้อง: ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓) คดีแดง: ๘๙๕ / ๒๕๔๔ (วันพิพากษา: ๑๖ สิงหาคม ๒๕๔๔) จำเลย: นายเท้ง เลาว้าง / ข้อหา: ยึดถือครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ คำฟ้องระบุว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อ: ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๑

คำฟ้อง:
จำเลยได้ใช้จอบ และขวาน เป็นเครื่องมือ ทำการบุกรุกเข้าไปก่อสร้าง แผ้วถาง ตัดฟันต้นไม้ เผา และยึดถือครอบครองที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ตาม พ. ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ เหตุเกิดที่ป่าแม่แจ่ม ในท้องที่ตำบลแม่นาจร อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

กฎกระทรวง และ แผนที่ท้ายกฎกระทรวง ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และพนักงานเจ้าหน้าที่ได้คัดสำเนาปิดไว้ ณ สถานที่ราชการ และสาธารณสถานที่เห็นได้ง่ายในจังหวัดเชียงใหม่ พนักงานเจ้าหน้าที่ได้จัดให้มี หลักเขต ป้าย เครื่องหมายแสดงแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ให้ประชาชนได้เห็นว่าเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งจำเลยได้ทราบแล้ว

พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ในฐานความผิดคือ ครอบครอง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติ

ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ตาม พ. ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ลงโทษจำคุก ๖ เดือน ปรับ ๑๕,๐๐๐ บาท จำเลยรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๓ เดือน ปรับ ๗,๕๐๐ บาท โทษจำคุกรอไว้ ๒ ปี และให้จำเลยและบริวาร ลูกจ้าง ออกจากป่าสงวนแห่งชาติ

การกระทำของจำเลยตามคำฟ้อง ก่อให้เกิดการขาดแคลนไม้ ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อม เมื่อคำนวณมูลค่าความเสียหายตามคำฟ้องแล้ว คิดเป็นเงิน ๑,๐๔๑,๗๕๘.๘๐ บาท

โจทก์ได้มอบหมายให้พนักงานอัยการทวงถาม แต่จำเลยยังคงเพิกเฉย ละเลย พนักงานอัยการจึงมา ฟ้องเป็นคดีแพ่ง ให้จำเลยต้องรับผิดชำระเงินค่าเสียหายตามฟ้อง รวมเป็นเงิน ๑,๐๔๑,๗๕๘.๘๐ บาท และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี คิดเป็นดอกเบี้ยจำนวน ๑๓๐,๒๑๙.๘๕ บาท รวมเงินต้นและดอกเบี้ย ๑,๑๗๑,๙๗๘.๖๕ บาท

คำให้การ:

- ไม่รู้กฎหมาย: จำเลยไม่เคยรู้หรือเห็นประกาศตามที่โจทก์กล่าวอ้าง และมิได้มีการปักกันแนวเขตที่อยู่อาศัย
- จำเลยมีสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม: พื้นที่เกิดเหตุเป็นชุมชนชาวเขาเผ่าม้ง ซึ่งตั้งหมู่บ้าน และมีจารีตประเพณีทำไร่หมุนเวียน ปลูกข้าว และข้าวโพด อยู่ในพื้นที่นี้มาประมาณ ๑๕๐ ปีก่อนประกาศกฎกระทรวงตามที่โจทก์กล่าวอ้าง กฎกระทรวงดังกล่าวจึงขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ อย่างชัดเจน

- จารีตประเพณีการทำไร่หมุนเวียน เป็นไปตามสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม: การทำเกษตรหมุนเวียนของจำเลย เป็นพืชยังชีพ ซึ่งเป็นจารีตประเพณีและวิถีชีวิตของชุมชนที่จำเลยอาศัยอยู่ และมิได้เป็นเหตุให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมดังที่โจทก์กล่าวอ้าง

- เจ้าหน้าที่รัฐใช้บังคับกฎหมายไม่เป็นธรรม: จำเลยเข้าทำกินในพื้นที่เกิดเหตุ มาแต่ปี ๒๕๓๙ และมีชาวบ้านได้ทำกินกันอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ตกลงให้พื้นที่ดังกล่าวกลับคืนสภาพป่า และให้ชาวบ้านปลูกไม้ป่า โดยใช้พันธุ์ไม้ที่ทางป่าไม้แจกให้ ในวันที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ไปที่เกิดเหตุ แจ้งให้จำเลยไปรับกล้าไม้ที่หน่วยป่าไม้เพื่อมาปลูกในที่เกิดเหตุ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา เมื่อจำเลยเข้าไปที่หน่วยป่าไม้ เจ้าหน้าที่กลับจับกุมและแจ้งข้อหาว่าบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ การกระทำของเจ้าหน้าที่ป่าไม้เป็นการกระทำที่ใช้เล่ห์เพทุบาย และเป็นการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมแก่จำเลย
(ดูหนังสือนี้ด้วย: รัตนาพร เศรษฐกุล, พิริยะ สีหะกุลัง, อุทิศ ชำนิบรรณาการ, สิทธิชุมชนท้องถิ่น - ชาวเขา, (ผู้ประสาน & หัวหน้าโครงการ: เสน่ห์ จามริก และชลธิรา สัตยาวัฒนา), นิติธรรม, ๒๕๔๖: ๓๒๘)

-จำเลยรับสารภาพเพราะอยู่ไกลศาล: การที่จำเลยรับสารภาพในคดีอาญานั้น เพราะจำเลยยากจน บ้านห่างไกลจากศาลในตัวเมือง การเดินทางยากลำบาก ทุนทรัพย์จึงไม่เพียงพอในการต่อสู้คดี และไม่ต้องการสร้างภาระให้แก่ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน

คำพิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่:

- ในคดีอาญา: ทนายจำเลยไม่ได้ต่อสู้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ และจำเลยยอมรับสารภาพในชั้นศาล

- ในคดีแพ่ง: ทนายจำเลยได้ต่อสู้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ แต่ศาลวินิจฉัยว่า ในการพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ศาลต้องถือข้อเท็จจริงที่จำเลยรับสารภาพในคดีอาญา ดังนั้น ในคดีแพ่งจึงต้องฟังว่าจำเลยทำผิดกฎหมายแพ่งด้วย และมีประเด็นเดียวว่า จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายเพียงใด ซึ่งศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหาย แต่ให้ลดลงเพราะโจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินส่วนไป และไม่มีประเด็นพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๔๖ รวมทั้ง ไม่มีประเด็นพิจารณาวิธีที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้บังคับกฎหมายไม่เป็นธรรม จำเลยไม่อุทธรณ์คำพิพากษาในคดีแพ่ง เพราะไม่มีเงินวางศาล แต่โจทก์ (อัยการ) อุทธรณ์ขอค่าเสียหายเต็มจำนวน ในท้ายที่สุด โจทก์ (อัยการ) ได้ถอนฟ้องไป เพราะเห็นว่า จำเลยไม่มีเงินชำระค่าเสียหายจริง

 

ข้อกังขา ๑: "สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม"
เห็นอย่างไรที่ศาลไทย ทั้งไม่แตะและไม่ให้เหตุผล

1. ศาลมีหน้าที่ใช้บังคับ และตีความกฎหมาย:
"สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดแจ้ง โดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครอง และ ผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐโดยตรง ในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และ การตีความกฎหมาย ทั้งปวง" (รัฐธรรมนูญไทย มาตรา ๒๗)

2. ศาลมีหน้าที่จะต้องวินิจฉัยอรรถคดี:
ศาลยุติธรรมมีหน้าที่ที่จะต้องวินิจฉัยอรรถคดี แม้ว่าจะไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะใช้บังคับได้ ทั้งนี้ ดังที่ได้บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่า "ไม่ว่ากรณีใด ๆ ห้ามมิให้ศาลที่รับฟ้องคดีไว้ ปฏิเสธไม่ยอมพิพากษาหรือมีคำสั่งชี้ขาดคดี โดยอ้างว่าไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ใช้บังคับแก่คดี หรือว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จะใช้บังคับนั้นเคลือบคลุมหรือไม่บริบูรณ์" (บัญญัติ สุชีวะ, ประธานศาลฎีกา, ผู้พิพากษา: ผู้บัญญัติกฎหมายหรือผู้ตีความ, จาก Website "Judge 48")

3. สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม (ตามรัฐธรรมนูญไทย มาตรา ๔๖): "บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมย่อมมีสิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่นและของชาติ และมีส่วนร่วมในการจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ"

- "สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม" ในการอนุรักษ์หรือฟื้นฟู
- "สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม" ในการร่วมบำรุงรักษา-ได้ประโยชน์ จากทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

"ภาระการพิสูจน์" ในศาลไทย: มาตรานี้ว่าด้วยสิทธิรวมหมู่ (Collective Rights) ซึ่งบุคคลผู้กล่าวอ้างว่ามีสิทธิตามมาตรานี้ มีภาระการพิสูจน์ให้ประจักษ์แก่ศาลว่า พวกตนมีคุณสมบัติ ๖ ข้อ ดังนี้

1. เป็นบุคคลซึ่งรวมกัน
2. เป็นชุมชน
3. อยู่ในท้องถิ่น
4. เป็นชุมชนดั้งเดิม
5. ชุมชนของพวกตน มีจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
6. แม้ยังไม่มีกฎหมายบัญญัติในเรื่องนี้ โดยเฉพาะเจาะจง แต่พวกตนก็มีสิทธิตามรัฐธรรมนูญ (Constitutional Right) มาตรา ๔๖ ซึ่งผูกพันศาลต้องปรับใช้รัฐธรรมนูญ มาตรานี้

4. สิทธิในการร่วมบำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ / ความหลากหลายทางชีวภาพ /
คุณภาพสิ่งแวดล้อม (ตามรัฐธรรมนูญไทย มาตรา ๕๖):
"สิทธิของบุคคลที่จะมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการบำรุงรักษาและการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และในการคุ้มครอง ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติและต่อเนื่อง ในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย สวัสดิภาพ หรือคุณภาพชีวิตของตน ย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ"

"ภาระการพิสูจน์" ในศาลไทย: มาตรานี้ว่าด้วยสิทธิของปัจเจกชน (Individual Rights) ซึ่งบุคคลผู้กล่าวอ้างว่ามีสิทธิตามมาตรานี้ มีภาระการพิสูจน์ให้ประจักษ์แก่ศาล เพียงข้อเดียวว่า ตนเองเป็นพลเมืองไทย (คือ เป็น "บุคคล" ตามกฎหมาย)

5. คำจำกัดความของ "ชุมชน" ในกฎหมายไทย:
"ชุมชน" หมายความถึง กลุ่มคนที่วิถีชีวิตเกี่ยวพันกัน และติดต่อสื่อสารกันเป็นปกติและต่อเนื่อง โดยเหตุที่อยู่ในถิ่นเดียวกัน หรือมีอาชีพเดียวกัน หรือกิจกรรมมีวัตถุประสงค์ร่วมกัน หรือมีวัฒนธรรมความเชื่อ หรือความสนใจร่วมกัน [พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พ.ศ.2543]

- กลุ่มคน
- วิถีชีวิตเกี่ยวพันกัน และ ติดต่อสื่อสารกันเป็นปกติและต่อเนื่อง
- โดยเหตุอยู่ถิ่นเดียวกัน หรือ อาชีพเดียวกัน หรือ กิจกรรมร่วมกัน หรือ วัฒนธรรม - ความเชื่อ - ความสนใจร่วมกัน

6. สสร. คิดอย่างไรในเรื่อง "ชุมชนท้องถิ่น":
(ข้อมูลประชุม สสร.: ผู้วิจัยขอขอบคุณ ผอ. อภิงค์ญฎา วงษานุทัศน์ และ จนท. ดวงดี แก้วมณี แห่งสำนักงานเลขานุการ คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา)

- "ชุมชนท้องถิ่น" มีมาก่อนการปกครองส่วนท้องถิ่น [พงษ์เทพ เทพกาญจนา] (ประชุม สสร. ครั้งที่ 1-4, 2540 : 12/3)
- "ชุมชนท้องถิ่น" มีมาก่อนองค์การปกครองท้องถิ่น ที่เป็นเรื่องของรัฐจัดลงไป [บวรศักดิ์ อุวรรณโณ] (ประชุม สสร. ครั้งที่ 10-12, 2540: 14/7)

- "ชุมชนท้องถิ่น" หมายถึง กลุ่มคนทั้งหมดที่รวมกันเป็นท้องถิ่น มีส่วนร่วมในการจัดการ [บวรศักดิ์ อุวรรณโณ] (ประชุม สสร. ครั้งที่ 10-12, 2540: 14/6) หมายถึง คนทุกคน หรือ อย่างน้อยที่สุดต้องเกินกึ่งหนึ่งของคนที่อยู่ในพื้นที่นั้น [บวรศักดิ์ อุวรรณโณ] (ประชุม สสร. ครั้งที่ 10-12, 2540 : 14/7)

- "ชุมชนท้องถิ่น" เป็น "คณะบุคคล" [บวรศักดิ์ อุวรรณโณ] (ประชุม สสร. ครั้งที่ 17 (เป็นพิเศษ), 2540: 66/1)
- บุคคลซึ่งมีถิ่นที่อยู่ โดยชอบด้วยกฎหมาย และ รวมตัวกันเป็นส่วนท้องถิ่นที่ได้มีการก่อตั้ง ในประวัติความเป็นมาอันยาวนาน [พนัส ทัศนียานนท์] (ประชุม สสร. ครั้งที่ 17 (เป็นพิเศษ), 2540: 29/2)

7. สสร. คิดอย่างไรในเรื่อง "ดั้งเดิม":

กรรมาธิการ หารือกับท่านพนัส ทัศนียานนท์ แล้ว มีการเติมถ้อยคำเล็กน้อย คือ เติมคำว่า "ดั้งเดิม" หลังคำว่า "ชุมชนท้องถิ่น" คำจะเป็นว่า "บุคคลซึ่งรวมกันเป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม"…. [สมคิด เลิศไพฑูรย์] (ประชุม สสร. ครั้งที่ 17 (เป็นพิเศษ), 2540: 34/1)

8. "อิริไอ-เค็น" (ตามกม.แพ่งญี่ปุ่น):

- มาตรา ๒๖๓ สิทธิใน "ทรัพย์สินชุมชน": ให้นำบทกฎหมายในหัวข้อกรรมสิทธิ์รวม มาปรับใช้โดยอนุโลม แก่ทรัพย์สินชุมชน (อิริไอ-เค็น) ที่มีลักษณะกรรมสิทธิ์รวม เว้นแต่วัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่น จะกำหนดเป็นอย่างอื่น

(แปลเป็นภาษาชาวบ้าน: ถ้าวัฒนธรรมท้องถิ่นใด ถือว่า "ทรัพย์สินชุมชน" ในท้องถิ่นนั้น เป็นเช่นดังกรรมสิทธิ์รวมตามกฎหมายแพ่ง ก็ให้ศาลนำกฎหมายแพ่งในเรื่อง "กรรมสิทธิ์รวม" มาปรับใช้ แต่ถ้าวัฒนธรรมท้องถิ่นใดต่างไปจากกฎหมายแพ่ง ก็ให้ศาลบังคับไปตามวัฒนธรรมในท้องถิ่น)

"ภาระการพิสูจน์" ในศาลญี่ปุ่น: ผู้กล่าวอ้างว่ามีสิทธิแห่งกฎหมายจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ตามมาตรานี้ ต้องพิสูจน์คุณสมบัติ ๓ ข้อ ดังนี้

1. เป็นชุมชน
2. ที่ยึดถือจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ในเรื่องทรัพย์สินชุมชน (อิริไอ-เค็น) ที่มีลักษณะกรรมสิทธิ์รวม
3. จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นนั้น ต่างกับบทกฎหมายแพ่งในเรื่อง "กรรมสิทธิ์รวม"

- มาตรา ๒๙๔ สิทธิใช้สอยร่วมกัน: ให้นำบทกฎหมายในหัวข้อภาระจำยอม มาปรับใช้โดยอนุโลม แก่ทรัพย์สินชุมชน (อิริไอ-เค็น) ที่ไม่มีลักษณะกรรมสิทธิ์รวม เว้นแต่วัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่น จะกำหนดเป็นอย่างอื่น

(แปลเป็นภาษาชาวบ้าน: ถ้าวัฒนธรรมท้องถิ่นใด ถือว่า "ทรัพย์สินชุมชน" ในท้องถิ่นเป็นเพียง "สิทธิใช้สอยร่วมกัน" (โดยไม่มีกรรมสิทธิ์ร่วม) ก็ให้ศาลนำกฎหมายแพ่งเรื่อง "ภาระจำยอม" มาปรับใช้ แต่ถ้าวัฒนธรรมท้องถิ่นใดต่างไปจาก "ภาระจำยอม" ก็ให้ศาลบังคับไปตามวัฒนธรรมในท้องถิ่น)

"ภาระการพิสูจน์" ในศาลญี่ปุ่น: ผู้กล่าวอ้างว่ามีสิทธิแห่งกฎหมายจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ตามมาตรานี้ ต้องพิสูจน์คุณสมบัติ ๓ ข้อ ดังนี้

1. เป็นชุมชน
2. ที่ยึดถือจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ในเรื่องทรัพย์สินชุมชน (อิริไอ-เค็น) ที่ไม่มีลักษณะกรรมสิทธิ์รวม
3. จารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นนั้น ต่างกับบทกฎหมายแพ่งในเรื่อง "ภาระจำยอม"

9. ความเห็นต่อการร่างกฎหมายในเมืองไทย:

- "ตามความรู้สึกของผู้สอน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของไทย สู้ประมวลกฎหมายแพ่งญี่ปุ่น ซึ่งได้ประกาศใช้ก่อนหน้าเราตั้งนมนานก็ไม่ได้" (หยุด แสงอุทัย, ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกฎหมายทั่วไป, พิมพ์ครั้งที่ ๑๑ ประกายพรึก, ๒๕๓๕: ๑๕๓)

- "ไทยก็ใช้ระบบกฎหมายผสมที่รับจากตะวันตก แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ไทย จะใช้ความพยายามรับส่วนดีที่สุดมาจากทุกระบบกฎหมายในโลก แต่ ณ วันนี้ นอกจากจะมีเพียงส่วนผสมที่เลวแล้ว มันยังมีความเป็นกฎหมายแพ่งล้าสมัยอีกด้วย" (Thailand also has an eclectic and adopted legal system. Whilst the Civil and Commercial Code sought to take the best from all legal systems, it represents today, not merely a bad amalgam, but also an old-fashioned civil law.) (David E. Allan, et al, Credit and Security: The Legal Problems of Development Financing, University of Queensland Press, 1974: 37)

 

หมายเหตุ
คดีสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม กับ ข้อกังขาว่าด้วย "ความเป็นธรรม" ในสังคมไทย
เอกสารหลักประกอบการประชุม เวทีนโยบายสาธารณะเพื่อเอาชนะความยากจน ครั้งที่ ๗ (๒๓ มกราคม ๒๕๔๗)
คณะทำงาน โครงการก่อตั้งสถาบันส่งเสริมการปฏิรูประบบยุติธรรม และความเป็นธรรมทางสังคม (สปรย.)

คดีสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม กับ ข้อกังขาว่าด้วย "ความเป็นธรรม" ในสังคมไทย
เอกสารหลักประกอบการประชุมเวทีนโยบายสาธารณะ เพื่อเอกชนะความยากจน ครั้งที่ ๗/๒๕๔๖
จัดทำโดย: คณะทำงานโครงการก่อตั้งสถาบันส่งเสริมการปฏิรูประบบยุติธรรมและความเป็นธรรมทางสังคม (สปรย.)
พลเดช ปิ่นประทีป / พิเชษฐ เมาลานนท์ /พีรพล ศรีสิงห์ / นิลุบล ชัยอิทธิพรวงศ์ / พรทิพย์ อภิสิทธิวาสนา

สนับสนุนโดย
- เครือข่ายทุทธศาสตร์เพื่อเอาชนะความยากจน
- สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
- สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
- มูลนิธิหมู่บ้าน
- สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย
- มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
- สถาบันพระปกเกล้า
- สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
- สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
- ฝ่ายชุมชนสัมพันธ์ DTAC
- คณะทำงานประชารัฐ สำนักงานคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านฯ
- สำนักงานโครงการถักทอเครือข่ายพลังชุมชน-พลังแผ่นดิน
- สำนักวิจัยกฎหมายไทยกับการพัฒนา (TLD-RI)

ผู้ให้ข้อมูลเรื่องคดี : พิริยะ สีหะกุลัง (ทนายความ)
ผู้รับผิดชอบย่อคดี & เสนอข้อมูล : พิเชษฐ เมาลานนท์ (อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนศึกษา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ)
& นิลุบล ชัยอิทธิพรวงศ์ (นักวิจัยทุน API ณ มหาวิทยาลัยนีกาตะ ญี่ปุ่น)

 

 
 

สารบัญข้อมูล : ส่งมาจากองค์กรต่างๆ

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา 1I สารบัญเนื้อหา 2 I ประวัติ ม.เที่ยงคืน

webboard(1) I webboard(2)

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม Microsoft-word)

 

H

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
หรือหน้าสารบัญ ซึ่งมีอยู่ 2 หน้า
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

เดือนเมษายน พศ.๒๕๔๗
บทความชิ้นนี้ตัดตอนมาจาก "คดีสิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม กับ ข้อกังขาว่าด้วย "ความเป็นธรรม" ในสังคมไทย"

จำเลยได้เข้าไปทำไม้โดยการใช้ขวาน ๑ เล่ม ตัดฟันไม้สัก อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตาม พ. ร.บ.ป่าไม้ พ. ศ.๒๔๘๔ ในป่าเชียงดาว อันมี กฎกระทรวงกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ และมี พระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ จำเลยได้มีไม้สักแปรรูป จำนวน ๑ แผ่น ปริมาตร ๐.๐๘ ลูกบาศก์เมตร

ภาพประกอบดัดแปลง ผลงานจิตรกรรมของ สมคิด วัฒนศิลป์ (สล่าเมืองแพร่)

ข้อหา: ยึดถือครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ คำฟ้องระบุว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อ: ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๑ พนักงานอัยการจึงมา ฟ้องเป็นคดีแพ่ง ให้จำเลยต้องรับผิดชำระเงินค่าเสียหายตามฟ้อง รวมเป็นเงิน ๑,๐๔๑,๗๕๘.๘๐ บาท และต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี

คำให้การของจำเลย จำเลยเข้าทำกินในพื้นที่เกิดเหตุ มาแต่ปี ๒๕๓๙ และมีชาวบ้านได้ทำกินกันอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ตกลงให้พื้นที่ดังกล่าวกลับคืนสภาพป่า และให้ชาวบ้านปลูกไม้ป่า โดยใช้พันธุ์ไม้ที่ทางป่าไม้แจกให้ ในวันที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้ไปที่เกิดเหตุ แจ้งให้จำเลยไปรับกล้าไม้ที่หน่วยป่าไม้เพื่อมาปลูกในที่เกิดเหตุ ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา เมื่อจำเลยเข้าไปที่หน่วยป่าไม้ เจ้าหน้าที่กลับจับกุมและแจ้งข้อหาว่าบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ การกระทำของเจ้าหน้าที่ป่าไม้เป็นการกระทำที่ใช้เล่ห์เพทุบาย

หัวข้อเกี่ยวเนื่อง
ภาพประกอบทั้งหมดของบทความชิ้นน นำมาจากงาน "ต๋ามฮีต โตยฮอย สล่าเมือง" นิทรรศการศิลปะ แสดง ณ หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ๙-๓๐ เมษายน ๒๕๔๗