H
home
คณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ขอร่วมแสดงความยินดีในโอกาสที่ ศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้รับรางวัล"ศรีบูรพา" เมษายน ปีพุทธศักราช ๒๕๔๕
ภาพประกอบดัดแปลง จากนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 10 ฉบับที่ 516 วันที่ 22-28 เมษายน 2545 และภาพประกอบจากผลงานภาพเขียนของ Kathe Kollwitz ชื่อภาพ Mother with Dead Child เทคนิคภาพพิมพ์ Etching (แม่พิมพ์ผิวโลหะในกระบวนการพิมพ์ทางศิลปะภาพิมพ์)

ความสำคัญของนายนิธิ เอียวศรีวงศ์ คือ การใช้ปากกา และความเป็นนักเขียนและนักวิชาการ มาชี้ให้เห็นความสำคัญของสามัญชน โดยย้ำว่า สามัญชน คือผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่แท้จริงทั้งในประวัติศาสตร์ และในปัจจุบัน

ด้วยความเชื่อนี้ จึงได้ร่วมกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อตั้ง "สมัชชานักวิชา การเพื่อคนจน" และ "มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน" รวมทั้ง"สำนักข่าวประชาธรรม"

สุวัฒน์ วรดิลก

เพื่อสนับสนุนสามัญชน
หรือคนยากจนทั่วประเทศ
ซึ่งถูกโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมกันของสังคม ปิดกั้นทั้งโอกาสทางการศึกษา การรับรู้ข่าวสาร และการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและทางการเมืองเท่าเทียมกับอภิสิทธิ์ชน ผลงานเหล่านี้จึงเป็นการพิสูจน์ความเชื่อในข้อเขียนของท่านในการเสริมบทบาทของสามัญชนให้เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่แท้จริงในวันนี้ สำหรับประชาชนในวันข้างหน้าได้ศึกษา
220445
บทความลำดับที่ 174 ของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เดือน เมษายน 2545
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : ทางเลือกเพื่ออุดมศึกษาไท สำหรับทุกคนที่ต้องการศึกษาสำหรับชีวิต : กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
R
relate

คำประกาศเกียรติคุณ รางวัล" ศรีบูรพา"
ประจำปี 2545
แด่ ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์

นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ อายุ 62 ปี มีตำแหน่ง ศาสตราจารย์ระดับ 10 เมื่อเกษียณอายุราชการที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เริ่มเขียนหนังสือและบทความมาตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และมาเขียนอย่างจริงจังในปี พ.ศ. 2519 จนถึงปัจจุบันแล้วกว่า 2,000 ชิ้น และได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือหลายสิบเล่ม เช่น ปากไก่และใบเรือ (2527), กรุงแตก พระเจ้าตากและประวัติศาสตร์ไทย (2538), โขน, คาราบาว, น้ำเน่า, และหนังไทยว่าด้วยเพลง, ภาษา, และนานามหรสพ (2538), ชาติไทย-เมืองไทย, แบบเรียนและอนุสาวรีย์ (2538), ผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น, กางเกงใน(2539) ลัทธิเสด็จพ่อ ร.5(2545) ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่เด่นๆอีก เช่น ประวัติศาสตร์ รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา (2521) การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ (2522) สุนทรภู่ มหากวีกระฎุมพี (2524) และการเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี (2529)

ความสำคัญของนายนิธิ เอียวศรีวงศ์คือการใช้ปากกา และความเป็นนักเขียนและนักวิชาการมาชี้ให้เห็นความสำคัญของ "สามัญชน" โดยย้ำว่า "สามัญชน" คือผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่แท้จริง ทั้งในประวัติศาสตร์และในปัจจุบัน ด้วยความเชื่อนี้จึงได้ร่วมกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก่อตั้ง "สมัชชานักวิชาการเพื่อคนจน" และ"มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน" รวมทั้ง "สำนักข่าวประชาธรรม" เพื่อสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งและเป็นปากเสียงให้กับสามัญชนหรือคนยากคนจนทั่วประเทศ ซึ่งถูกโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมกันของสังคมปิดกั้นโอกาส ทั้งทางด้านการศึกษา การรับรู้ข่าวสาร และการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและทางการเมืองอย่างเท่าเทียมกับอภิสิทธิ์ชน ผลงานเหล่านี้จึงเป็นการพิสูจน์ความเชื่อในข้อเขียนของท่านในการเสริมบทบาทของ "สามัญชน" ให้เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่แท้จริงในวันนี้ สำหรับประชาชนในวันข้างหน้าได้ศึกษา

นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ดำเนินชีวิตอย่างเป็นแบบอย่างแก่ลูกศิษย์ลูกหา และบุคคลทั่วไปโดยการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย สมถะ มีความขยันในการทำงานอย่างมีสำนึกและมีความรับผิดชอบ มีจุดยืนที่ชัดเจนในการทำงานเพื่อความยั่งยืน และความเท่าเทียมของสังคมในสังคมที่ไร้ความเท่าเทียม ทั้งทางโอกาสและทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นสาเหตุที่แท้จริงของความเชื่อและความงมงายของคนจนในสังคม

กองทุน "ศรีบูรพา" พิจารณาแล้วเห็นว่าผลงานของ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นผู้มีเป้าหมาย และอุดมคติในการทำงาน การดำรงชีวิต มีบทบาท และผลงานที่มีความสร้างสรรค์ทรงคุณค่า และก่อให้เกิดผลสะเทือนในทางสร้างสรรค์ต่อสังคมในวงกว้างในด้านวัฒนธรม โดยเฉพาะการชี้ถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมของโครงสร้างทางสังคม การมองข้ามบทบาทของสามัญชนผู้ยากไร้ นอกจากนี้ ผลงานของท่านยังได้สร้างผลสะเทือนต่องวงการสื่อสารมวลชน ต่อวงการวรรณกรรม ต่อวงการวิขาการด้านประวัติศาสตร์ และต่อคนยากจน อย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 3 ทศวรรษมาจนปัจจุบัน บทบาทของท่านได้กลายเป็นแบบอย่างของนักวิชาการเพื่อคนจน

"กองทุนศรีบูรพา" จึงขอประกาศเกียรติคุณให้นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ เป็นผู้เหมาะสมในการรับรางวัล "ศรีบูรพา" ประจำปี 2545 นี้

สุวัฒน์ วรดิลก
ประธานคณะกรรมการกองทุน "ศรีบูรพา"

 

 

นิธิ เอียวศรีวงศ์
ผู้ได้รับรางวัล 'ศรีบูรพา' ประจำปี 2545


(จากหนังสือพิมพ์ข่าวสด 'นิธิ'ด็อกเตอร์เพื่อคนจน รางวัล'ศรีบูรพา'ล่าสุด คอลัมน์ สกู๊ปข่าวสด วันที่ 23 เม.ย.45)

แล้วกองทุนศรีบูรพาก็ประกาศให้'นิธิ เอียวศรีวงศ์' เป็นผู้ได้รับรางวัล 'ศรีบูรพา' ประจำปี 2545 ต่อจาก 'เสนีย์ เสาวพงศ์' 'อาจินต์ ปัญจพรรค์' 'คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง' 'เสถียร จันทิมาธร' 'สุจิตต์ วงษ์เทศ'

ย้อนกลับไปที่ปีพ.ศ. 2517 หลังจาก 'ศรีบูรพา' หรือกุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียนผู้มีเกียรติประวัติงดงาม ทั้งชีวิตส่วนตัวและผลงาน ถึงแก่กรรม 'สุวัฒน์ วรดิลก' และ 'ทองใบ ทองเปาด์' ร่วมกันเป็นหัวแรงก่อตั้งกองทุนศรีบูรพา เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ผู้วายชนม์

กระทั่ง พ.ศ. 2530 คณะกรรมการกองทุนฯ ดำเนินการคัดเลือกนักเขียนปีละ 'หนึ่ง' เพื่อรับรางวัล'ศรีบูรพา' โดยเริ่มต้น พ.ศ. 2531 จะมีบ้าง บางปีที่ว่างเว้น และปีนี้คือ 'ศาสตราจารย์ด็อกเตอร์นิธิ เอียวศรีวงศ์' นักวิชาการ, นักคิด, นักปราชญ์ เพื่อคนจนและผู้ด้อยโอกาสทั้งมวล

เจ้าของรางวัลศรีบูรพาคนล่าสุด แสดงทรรศนะ ภายหลังที่ทราบว่าได้รับรางวัล ว่า "โดยชื่อ เป็นรางวัลที่มีเกียรติยศมากของนักเขียน และเมื่อดูจากชื่อแล้ว ผมไม่น่าจะสามารถบรรลุมาตรฐานในชื่ออันนี้ได้ แต่เมื่อย้อนไปดูวัตถุประสงค์ เขาตั้งใจจะให้คนที่อยู่ในวงการหนังสือมานาน เพราะกำหนดว่าต้องอยู่ในวงการหนังสือถึง 3 ทศวรรษ ซึ่งหากนับการเขียนหนังสือแล้วอาจจะใช่ แต่โดยอาชีพแล้วเราไม่ใช่ ถ้าเปรียบเทียบกับคุณเสถียร จันทิมาธร หรือคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ"

'นิธิ เอียวศรีวงศ์' อายุ 62 ปี เป็นชาวกรุงเทพมหานคร จบการศึกษาชั้นมัธยมที่โรงเรียนอัญสัมชัญ ศรีราชา เป็นอักษรศาสตรบัณฑิต, อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้ดุษฎีบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ จากมิชิแกนยูนิเวอร์ซิตี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา

เป็นชาวกรุงเทพมหานคร ที่ย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่เชียงใหม่ ในฐานะอาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ ในคำประกาศเกียรติคุณผู้ได้รับรางวัลศรีบูรพาปีนี้ ระบุว่า

นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ เริ่มเขียนหนังสือและบทความมาตั้งแต่สมัยเป็นนิสิตในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเขียนจริงจังในปีพ.ศ. 2519 จนถึงปัจจุบันแล้วกว่า 2,000 ชิ้น และได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือหลายสิบเล่ม เช่น ปากไก่และใบเรือ พ.ศ. 2527 กรุงแตก พระเจ้าตาก และประวัติศาสตร์ไทย พ.ศ. 2538 โขน, คาราบาว, น้ำเน่า และหนังไทยว่าด้วยเพลง ภาษา และนานามหรสพ พ.ศ. 2538 ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียน และอนุสาวรีย์ พ.ศ. 2538 ผ้าขาวม้า, ผ้าซิ่น, กางเกงใน พ.ศ. 2539 ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีผลงานวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่เด่นๆ อีก เช่น ประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ในพระราชพงศาวดารอยุธยา พ.ศ. 2521 การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ พ.ศ. 2522 สุนทรภู่มหากวีกระฎุมพี พ.ศ. 2524 และการเมืองไทย สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ. 2529

ความสำคัญของนายนิธิ คือ การใช้ปากกาและความเป็นนักเขียนและนักวิชาการ มาชี้ให้เห็นความสำคัญของสามัญชน โดยย้ำว่า สามัญชนคือผู้สร้างประวัติศาสตร์ และปัจจุบันด้วยความเชื่อนี้ จึงร่วมกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก่อตั้งสมัชชานักวิชาการเพื่อคนจน และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน รวมทั้งสำนักข่าวประชาธรรม เพื่อสนับสนุนสร้างความเข้มแข็ง และเป็นปากเสียงให้กับสามัญชน หรือคนยากคนจนทั่วประเทศ ซึ่งถูกโครงสร้างที่ไม่เท่าเทียมกันของสังคม ปิดกั้นโอกาส ทั้งทางด้านการศึกษา การรับรู้ข่าวสาร และการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและทางการเมือง อย่างเท่าเทียมกับอภิสิทธิ์ชน

ผลงานเหล่านี้ จึงเป็นการพิสูจน์ความเชื่อ ในข้อเขียนของท่าน ในการเสริมบทบาทของสามัญชน ให้เป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่แท้จริงในวันนี้ สำหรับประชาชนในวันข้างหน้าได้ศึกษา

นอกจากนี้ นายนิธิได้ดำเนินชีวิตอย่างเป็นแบบอย่าง แก่ลูกศิษย์ลูกหาและบุคคลทั่วไป โดยการใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย สมถะ มีความขยันในการทำงาน อย่างมีสำนึกและความรับผิดชอบ มีจุดยืนที่ชัดเจนในการทำงานเพื่อความยั่งยืน และความเท่าเทียมของสังคม ในสังคมที่ไร้ความเท่าเทียมทั้งทางโอกาสและทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสาเหตุที่แท้จริงของความเชื่อและความงมงายของคนจนในสังคม

กองทุนศรีบูรพา พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลงานของนายนิธิเป็นผู้มีเป้าหมาย และอุดมคติในการทำงาน การดำรงชีวิต มีบทบาท และผลงานที่มีความสร้างสรรค์ทรงคุณค่า และก่อให้เกิดผลสะเทือนในทางสร้างสรรค์ต่อสังคมในวงกว้างในด้านวัฒนธรรม โดยเฉพาะการชี้ถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมของโครงสร้างทางสังคม การมองข้ามบทบาทของสามัญชนผู้ยากไร้

นอกจากนี้ ยังสร้างผลสะเทือนต่อวงการสื่อมวลชน วงการวรรณกรรม วงการวิชาการด้านประวัติศาสตร์ คนยากจน อย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ มาจนถึงปัจจุบัน บทบาทดังกล่าวกลายเป็นแบบอย่างของนักวิชาการเพื่อคนจน จึงขอประกาศเกียรติคุณให้นายนิธิเป็นผู้เหมาะสมในการรับรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2545

ดร.ธงชัย วิจิจจะกูล เขียน 'ชาติไทย, เมืองไทย และนิธิ เอียวศรีวงศ์' ในคำนำหนังสือ 'ชาติไทย, เมืองไทย, แบบเรียน และอนุสาวรีย์ ผลงานของ 'นิธิ เอียวศรีวงศ์' ตอนหนึ่งว่า "คุณสมบัติข้อสำคัญของนิธิที่ทำให้เขาเป็นนักคิดนักปราชญ์ที่ดีที่สุดในเวลานี้คือ ฐานความรู้และภูมิปัญญาเกี่ยวกับสังคมไทยที่ศึกษาสั่งสมมานานนับสิบปี จากนั้นนิธิยังมีความสามารถในการใช้ภาษาความเรียงที่กระชับชัดเจนมีรสชาติ รวมถึงความสามารถที่จะเล่นกับแนวคิดและทฤษฎีทางวิชาการจากตะวันตกทั้งเก่าและใหม่ และตามสมัยนิยม โดยไม่ลืมที่จะย่อยแนวคิดเหล่านั้นจนกลายเป็นของเขาเองในภาษาไทยเสียก่อน"

บทบาทของ 'นิธิ เอียวศรีวงศ์' กับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หลังการเกษียณอายุราชการนั้น ยืนเคียงข้างประชาชนผู้ด้อยโอกาส อย่างสม่ำเสมอ การนำขบวนนักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มอบปริญญาดุษฎีบัณฑิต ให้แก่นายเจริญ วัดอักษร และนางจินตนา แก้วขาว แกนนำชาวบ้านในการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าบ่อนอกและโรงไฟฟ้าหินกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นบทพิสูจน์ที่แจ่มชัด ว่า มองปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ด้วยปัญญาที่เข้าใจรากฐานปัญหา หาใช่ผลประโยชน์เคลือบแฝงที่บังตา

ดังถ้อยแถลงตอนหนึ่งว่า "ตอนที่ตัดสินใจจะให้สร้างโรงไฟฟ้า เท่ากับบอกชาวบ้านสามารถมีชีวิตรอดได้โดยอาศัยพึ่งพาโรงไฟฟ้า ไม่ได้ให้โอกาสชาวบ้านตัวเล็กๆ พัฒนาตัวเองด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ทำอย่างไรที่จะทำให้มีชีวิต มีอาหารที่มั่นคง ทำประมงต่อไปได้ แต่กลายเป็นว่าถ้าเป็นความประสงค์ของคนใหญ่คนโตแล้ว คนเล็กคนน้อยจะต้องคล้อยตาม"

เจ้าของรางวัลศรีบูรพาปีล่าสุดผู้นี้ คือ หัวแถวของกลุ่มนักวิชาการกว่า 500 คน ที่ร่วมกันลงชื่อเสนอความเห็นเรื่องโรงไฟฟ้า ต่อประชาชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของประเทศ ได้ร่วมกันพิจารณาว่าปัญหาเกิดจากอะไร มีวิธีการแก้ไขอย่างไร

ไม่แปลกที่ศาตราจารย์ผู้นี้ จะเดินเข้าไปในกลุ่มผู้ชุมนุมที่สันเขื่อนปากมูล หรือกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านการก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ไทย-พม่า ในป่ากาญจนบุรี เพราะเป็นการเดินเข้าไปรับรู้ปัญหา เพื่อนำกลับมาคิดหาทางแก้ไข ก่อนที่จะนำเสนอ เพื่อให้ปัญหานั้นถูกคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี

บทบาทอย่างนี้ คืออีกฝากฝั่งของนักวิชาการที่นั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง หรือกลายเป็นหนูอ้วนในถังข้าวสาร และบทบาทอย่างนี้ คือบทบาทของผู้ที่สมควรจะได้รับรางวัลที่ยิ่งใหญ่เช่นนี้

 

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม