Introduction
Habermas is a relatively
young man for someone
who has attained a widespread international eminence. He is only in his middle
fifties, and still at the most creative stage of his career. He is the most
prominent latter-day decendant of what has come to be known as the Frankfurt
School of Social theory.
The
Return of Grand Theory In the Human Science
Jurgen Habermas By Anthony Giddens
สมเกียรติ ตั้งนโม : แปลและเรียบเรียง
(ความยาวประมาณ 11 หน้ากระดาษ A4)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ชุดความรู้ใฝ่หาได้ด้วยตนเอง บนระบบเครือข่าย
ยูรเกิน ฮาเบอร์มัส ถือเป็นแบบฉบับของนักคิดในขนบประเพณีเยอรมัน ที่เชื่อมประสานระหว่าง สิ่งที่ได้รับมาจากทฤษฎีทางปรัชญาและสังคมเยอรมัน กับ แนวคิดทางสังคมศาสตร์และปรัชญาของอังกฤษ-อเมริกัน. เขาเป็นหนึ่งในบรรดานักคิดคนสำคัญของแฟรงค์เฟริทสคูล งานเขียนของเขานั้นกว้างขวางมาก นับจากสิ่งที่เป็นนามธรรมมากที่สุด ไปจนกระทั่งถึงแนวคิดทฤษฎีที่เป็นรูปธรรม. ดังนั้น จึงค่อนข้างยาก ที่จะทำความเข้าใจโดยปราศจากภูมิหลังที่กว้างขวางพอๆกัน
Anthony Giddens ได้นำเสนอบทความชิ้นนี้ขึ้นมาโดยเก็บเอาสาระสำคัญที่ Habermas นำเสนออย่างกว้างขวางจนถึงปี 1985 มารวมไว้ด้วยกัน โดยใช้แนวคิดทฤษฎีของมาร์กซ์มาเป็นแกนเชื่อม แต่อย่างไรก็ตาม งานชิ้นนี้ก็ยังอาจสร้างความสับสนได้อยู่ดีในความรู้สึก ทั้งนี้เพราะ ความเชื่อมโยงดังกล่าว ไม่สามารถที่จะละลายแนวคิดทางปรัชญา ญานวิทยา ปรัชญาภาษา เข้ากับทฤษฎีทางสังคมการเมืองได้อย่างแนบสนิท ดังตัวอย่างหัวข้อสำคัญที่บรรจุอยู่ในโครงสร้างบทความขนาดไม่ยาวนักชิ้นนี้ เช่น Habermas กับ Marxism, Habermas และ ทฤษฎีการตีความ(hermeneutics), Habermas กับวิธีการทางด้านจิตวิเคราะห์, Habermas กับทฤษฎีความรู้, ทฤษฎีความจริงของ Habermas , Habermas กับแนวความคิดเรื่องเหตุผล, Habermas กับทุนนิยมตะวันตกสมัยใหม่.
ด้วยเหตุดังนั้น ผู้แปลและเรียบเรียง จึงได้จัดทำงานชิ้นนี้ขึ้นมาโดยแบ่งออกเป็น 2 เรื่องในชื่อเดียวกัน คือ ยูรเกิน ฮาเบอร์มัส คิดอะไร ? (ฉบับง่าย) และ (ฉบับสมบูรณ์) เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้อ่าน
สำหรับผู้อ่านที่ไม่ชอบเรื่องทางปรัชญา อภิปรัชญา ญานวิทยา รวมถึงปรัชญาภาษาสมัยใหม่ ขอแนะนำให้อ่านฉบับง่าย (หมายเลข 1) ซึ่งได้เก็บเอาสาระสำคัญไว้พอสมควร และได้เน้นในเรื่องปรัชญาสังคมการเมืองเอาไว้. ส่วนผู้ที่ต้องการค้นคว้างานทางปรัชญาโดยตรง ก็อาจจะฝ่าเข้าไปในความซับซ้อนนี้ได้ในฉบับสมบูรณ์ (หมายเลข 2)
แนะนำ Habermas
สำหรับหลายปีที่ผ่านมา มันมีอ่าวลึกด้านทฤษฎีทางสังคมระหว่างชาวเยอรมัน กับ แองโกล-แซกซันอยู่ระหว่างกลาง. กล่าวคือ บรรดานักคิดชาวเยอรมัน มักจะติดอกติดใจอยู่กับการสร้างระบบปรัชญาอันลึกลับและมีความสลับซับซ้อนที่น่ากลัวซึ่งมีคนเข้าใจกันเพียงไม่กี่คน. ดังที่ศาสตราจารย์ Skinner ได้ชี้แจงเอาไว้ในคำนำของเขา(อยู่ในหนังสือ The Return of Grand Theory in the Human Science) จวบจนกระทั่งบรรดานักคิดทางสังคมและนักปรัชญาทั้งหลาย เมื่อไม่นานมานี้ในโลกที่ใช้ภาษาอังกฤษเกิดความสงสัยอย่างมากต่อทฤษฎีอันยิ่งใหญ่ต่างๆ
แต่อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ บรรดานักคิดและนักปรัชญาทางสังคมดังกล่าวยอมรับมันได้มากขึ้น ทั้งนี้เป็นเพราะว่าส่วนหนึ่ง (ซึ่งค่อนข้างมาก) มันเนื่องมาจากผลของงานเขียนต่างๆของ Jurgen Habermas นั่นเอง. Habermas เป็นนักทฤษฎีคนหนึ่งที่ยิ่งใหญ่มาก ในแบบฉบับของขนบประเพณีเยอรมัน. เขาได้พยายามสร้างความเชื่อมโยงกันระหว่างแนวโน้มต่างๆในทาง"สังคมศาสตร์และปรัชญาของอังกฤษ-อเมริกัน" กับ "สิ่งเหล่านั้นที่ได้รับมาจากทฤษฎีทางปรัชญาและสังคมเยอรมัน". ด้วยเหตุนี้ ในหมู่ผู้ที่ได้รับอิทธิพลจากความคิดแบบแองโกลแซกซัน สามารถที่จะค้นพบความเชื่อมโยงดังกล่าวได้ในงานของ Habermas มากมาย ซึ่งเป็นที่รู้จักสำหรับพวกเขา และความช่วยเหลืออันนี้ ทำให้สิ่งที่เขากำลังพยายามทำให้สำเร็จ มันเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น ยิ่งกว่าคนอื่นๆที่เคยทำมา
โดยเปรียบเทียบ Habermas เป็นคนหนุ่มที่โดดเด่น(หมายเหตุ : ต้นฉบับนี้พิมพ์ขึ้นในปี 1985), สำหรับใครบางคนแล้ว, เขาได้บรรลุถึงความมีชื่อเสียงในระดับนานาชาติอย่างกว้างขวาง. เขามีอายุเพียง 50 กลางๆเท่านั้น และยังคงอยู่บนเวทีแห่งการสร้างสรรค์มากในสาขาอาชีพของตน. เขาคือผู้สืบสกุลหรือทายาทแห่งวันเวลาปัจจุบันที่เด่นสะดุดตาที่สุด ของ สิ่งที่ถูกรู้จักในฐานะกลุ่มทฤษฎีทางสังคมของแฟรงคเฟริทสคูล(the Frankfurt School of Social theory).
Habermas กับ Frankfurt School
แฟรงคเฟริทสคูล คือกลุ่มของบรรดานักปรัชญาที่มีความสัมพันธ์กับสถาบันวิจัยสังคมในแฟรงคเฟริท(the Institute of Social Research in Frankfurt) ก่อตั้งขึ้นมาครั้งแรกในช่วงปลายทศวรรษที่ 1920s. ในท่ามกลางคนเหล่านี้ รวมถึง Max Horkheimer, ซึ่งได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการบริหารอยู่หลายปีของสถาบันดังกล่าว และนักคิดที่ยอดเยี่ยมอีก เช่น Theodor Adorno, Walter Benjamin. แต่สมาชิกของกลุ่มซึ่งได้กลายเป็นที่รู้จักมากที่สุด - หรือชื่อเหม็นที่สุด, ตามความคิดเห็นอีกด้านหนึ่ง ก็คือ Herbert Marcuse, ผู้นำซ้ายใหม่ในช่วงปลายของทศวรรษที่ 1960s.
บรรดาสมาชิกของ แฟรงคเฟริทสคูล ต่างเป็นพวกที่นิยมมาร์กซิสท์ หรือนับตนเองในฐานะเช่นนั้น; แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขาก็ได้ไปไกลเกินกว่าบรรดาชาวมาร์กซิสท์ทั้งหลาย ที่เชื่อมั่นในแนวทางแบบจารีต หรือออร์ธอด็อกซ์. พวกเขาถือว่าลัทธิมาร์กซ์เป็นสิ่งที่ยืดหยุ่น เป็นการเข้าถึงการศึกษาทางด้านสังคมที่สำคัญ ไม่ใช่ด้วยวิธีการที่ตายตัวและไม่อาจล่วงละเมิดต่อชุดของคำสอนได้. พวกมันได้รับการปรับปรุงโดยการโยนสิ่งที่ไม่จำเป็นทิ้งไป ซึ่งสำหรับบรรดาชาวมาร์กซิสท์คนอื่นๆส่วนใหญ่ เห็นว่าเป็นสาระสำคัญต่อแนวทางลัทธิมาร์กซ์ ในฐานะที่เป็นเนื้อแท้ทางความคิด และแนวนำทางสู่การปฏิบัติในทางการเมือง.
บรรดานักคิดแฟรงเฟริทสคูลหลายคนถือว่า, ตัวอย่างเช่น ชนชั้นแรงงานทั้งหลายเริ่มรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนเข้าสู่สังคมทุนนิยม และไม่ได้เป็นพลังของการปฏิวัติอีกต่อไปแล้ว. ความคิดดังกล่าวดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรชัดเจนและจูงความสนใจเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซ์ได้มากเท่านี้ แต่สำหรับบรรดาชาวมาร์กซิสท์ในแบบจารีตจำนวนมาก ถือว่ามันเป็นแนวคิดของพวกนอกรีตที่ถึงกับทำให้ช็อคเลยทีเดียว จนกระทั่งบัดนี้.
แฟรงคเฟริทสคูล ได้ให้เหตุผลว่า ลัทธิทุนนิยมได้เปลี่ยนแปลงไปมาก นับแต่ยุคสมัยของมาร์กซ์เป็นต้นมา ซึ่งแนวคิดของมาร์กซ์จำนวนมากได้ถูกทิ้ง หรืออย่างน้อยที่สุดได้ถูกเปลี่ยนไปแล้วอย่างถึงราก. สิ่งเหล่านี้คือทัศนะต่างๆของ Habermas ด้วยเช่นกัน. เขาถือว่าตัวเองนั้นเป็นมาร์กซิสท์คนหนึ่ง, ถึงแม้ว่า บรรดาผู้กล่าวร้ายต่อเขาที่มาจากฝ่ายซ้ายจะอ้างว่า เขาได้แยกทางจากลัทธิมาร์กซ์ไปไกลมาก และได้สูญสิ้นความเกี่ยวข้องกับมันโดยสิ้นเชิง. Habermas อ้างว่า เขาผูกพันอยู่กับการรื้อฟื้นเกี่ยวกับลัทธิวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ ที่ได้ผลิตเรื่องราวอันหนึ่งของลัทธิมาร์กซ์ซึ่งสอดคล้องตรงประเด็นกับโลกทุกวันนี้: แม้จะไม่ต้องสงสัยเลยว่า เขาจะไม่พูดเช่นนั้น แต่เขากำลังพยายามที่จะเป็นมาร์กซิสท์คนหนึ่งขึ้นมาสำหรับวันเวลาของพวกเรา. ไอเดียต่างๆที่เขาเสนอได้เป็นที่ถกเถียงกันมากอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้, และไม่ได้ทำให้พวกมันง่ายที่จะสรุป แต่มันก็ไม่สามารถที่จะเกิดข้อกังขาขึ้นมาได้เกี่ยวกับการิเริ่มและความสำคัญเหล่านั้น.
แม้ว่าเขาจะมีความเชื่อมโยงโดยตรงกับ แฟรงคเฟริทสคูล แต่ก็ไม่อาจที่จะมอง Habermas เพียงในฐานะผู้ป้อนอาหารทางความคิดที่ถูกยอมรับเท่านั้น: เขาได้สร้างระบบคิดขึ้นมาอันหนึ่ง - อะไรก็ตาม หรือทุกๆอย่างที่ใครคนหนึ่งอาจจะคิดขึ้นมาได้ - ซึ่งค่อนข้างที่จะโดดเด่นมาก
ระบบอันนี้ได้เคลื่อนคล้อยอยู่ในหลายๆระดับ, และมีลักษณะเป็นขอบเขตความรู้หรือเนื้อหาที่กว้างขวาง อย่างที่เรียกกันว่า Encyclopaedic scope. แต่สำหรับในที่นี้ ข้าพเจ้าจะพยายามสเก็ตช์ภาพในแนวคิดหลักบางอย่าง, โดยให้ความเอาใจใส่ต่อสิ่งเหล่านี้อย่างใกล้ชิด โดยขจัดหรือกันเอาเรื่องอื่นๆออกไป ซึ่งจากการประเมินมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน, ไม่ต้องสงสัยเลยว่า มันจะได้รับการการพิจารณาว่ามีความสำคัญเท่าๆกัน.
Habermas กับ Marxism
ในศตวรรษที่สิบเก้า, มาร์กซ์เชื่อว่าทฤษฎีของเขาได้ตระเตรียมหรือเสนอวิธีการในการวิเคราะห์เกี่ยวกับสังคมทุนนิยม และวิธีการเปลี่ยนแปลงมันในเชิงปฏิบัติ โดยผ่านการปฏิวัติของชนชั้นกรรมาชีพ.
แต่การปฏิวัติไม่ได้บังเกิดขึ้น และก็จะไม่เป็นเช่นนั้น. Habermas ยอมรับในวิธีการที่ถูกคาดหมายโดยมาร์กซ์ และเขายังเห็นด้วยกับแฟรงคเฟริทสคูลด้วยว่า สหภาพโซเวียต อย่างดีที่สุด ก็เป็นเพียงลักษณะที่ผิดรูปผิดร่างไปของสังคมในแบบ"สังคมนิยม". พวกเราไม่สามารถที่จะใช้บรรดาประเทศทั้งหลายของยุโรปตะวันออกมาเป็นต้นแบบหรือหุ่นจำลองของรูปแบบอันพึงปรารถนาเกี่ยวกับสังคมได้ ว่าควรที่จะต้องเป็นอย่างนั้น หรือนำมันมาเป็นตัวชี้บ่งถึงทิศทางที่น่าจะเป็นไป ซึ่งบรรดาสังคมทุนนิยมทั้งหลายควรจะเคลื่อนเข้าไปหาในอนาคต.
สำหรับเหตุผลเหล่านี้ แนวความคิดของมาร์กซ์เกี่ยวกับเอกภาพของทฤษฎีและการปฏิบัติ มันไม่พอเพียงเสียแล้วในช่วงปลายของศตวรรษที่ยี่สิบ. มันจะต้องได้รับการคิดขึ้นมาใหม่อีกครั้งในแง่มุมพื้นฐานต่างๆอย่างหลากหลาย. สิ่งเหล่านี้เกี่ยวพันกับทั้งข้อจำกัดต่างทางปรัชญาเกี่ยวกับความคิดของมาร์กซ์ และ นวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ซึ่งต้องได้รับการสร้างขึ้นมาในคุณสมบัติที่มีลักษณะเฉพาะของธรรมชาติเกี่ยวกับลัทธิทุนนิยมสมัยใหม่
ในระดับของปรัชญา, Habermas มองว่า งานเขียนต่างๆของมาร์กซ์ยังบกพร่องอยู่ในหลายๆแง่มุม ซึ่งได้ถูกแบ่งออกเป็นส่วนๆโดยรูปแบบต่างๆของปรัชญาที่ไม่ใช่มาร์กซิสท์จำนวนมาก นับจากศตวรรษที่สิบเก้าผ่านมาถึงทุกวันนี้. ถึงแม้ว่ามันจะมีความคลุมเครือมากมายในงานของมาร์กซ์, ซึ่งส่วนใหญ่ เขาคิดถึงสิ่งที่ได้กระทำในฐานะที่เป็นวิทยาศาสตร์.
ตามความเห็นของ Habermas, อันนี้ไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น สำหรับเหตุผลต่างๆ ซึ่งเมื่อทำความเข้าใจแล้ว มันยินยอมให้เราพัฒนาแนวทางการวิพากษ์อันหนึ่งเกี่ยวกับความคิดเชิงปรัชญาสมัยใหม่เป็นจำนวนมากขึ้นมา, และเกี่ยวกับวัฒนธรรมที่กว้างไกลออกไปของสังคมด้วยเช่นกัน.
มันมีอยู่สองสิ่งที่ผิดพลาดเกี่ยวกับการถือว่า การศึกษาเกี่ยวกับชีวิตทางสังคมของมนุษย์เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ในลักษณะที่เท่าเทียมกับวิทยาศาสตร์ธรรมชาติต่างๆ. นั่นคือ มันได้สร้างทัศนะที่ผิดพลาดขึ้นมาเกี่ยวกับมนุษย์เหมือนกับว่าเป็น "มนุษย์เป็นผู้กระทำที่มีเหตุผล ซึ่งรู้ตัวเป็นอย่างดีเกี่ยวกับว่า ทำไมพวกเขาจึงกระทำอย่างที่พวกเขาทำ".
ข้อผิดพลาดอีกประการหนึ่งก็คือ มันได้ช่วยสนับสนุนต่อแนวโน้มอันหนึ่งซึ่ง Habermas มองว่าเป็นเรื่องทั่วๆไปในวัฒนธรรมทางสติปัญญาสมัยใหม่ซึ่งเชื่อถือกัน โดยการประเมินคุณค่าเกี่ยวกับบทบาทของวิทยาศาสตร์เอาไว้สูงเกินไป ในฐานะที่เป็นแหล่งความรู้ที่ใช้ได้หรือเหมาะสมเพียงชนิดเดียว ซึ่งพวกเราสามารถที่จะมีได้เกี่ยวกับโลกธรรมชาติและโลกทางสังคม. ประเด็นในข้อที่สองนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับ Habermas, และไปสัมพันธ์หรือเชื่อมโยงกับการวิเคราะห์ของเขาเกี่ยวกับอุดมคติวิทยา.
การปฏิบัติต่อการศึกษาทางด้าน"สังคม" เหมือนกับ "วิทยาศาสตร์"นั้น, Habermas กล่าวว่า, ได้น้อมนำให้มาร์กซ์และบรรดามาร์กซิสท์ทั้งหลายไปสู่สถานการณ์ที่มีลักษณะเฉพาะอันหนึ่ง ซึ่งยากลำบากขนาดที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกเลยทีเดียว. ถ้าหากว่าลัทธิทุนนิยมได้เปลี่ยนแปลงไป - ดั่งที่มาร์กซ์เขียนเอาไว้เอง- ตาม"กฎเหล็ก"(iron laws) ซึ่งมีลักษณะของลัทธินิยัตินิยม(หรือเป็นไปตามเหตุปัจจัย)เกี่ยวกับกฎเกณฑ์ของวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ, มันจะมีห้องหับที่ตรงไหน สำหรับปฏิกริยาที่มีต่อกันของมนุษย์เกี่ยวกับชะตากรรมของพวกเขา ? เพราะเหตุใดใครๆจึงยุ่งอยู่กับการจะเป็นมาร์กซิสท์ไปทำไม ถ้าเผื่อว่า พฤติกรรมของมนุษย์ได้ถูกควบคุมโดยกฎเกณฑ์ที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงหรือต้านทานได้, ซึ่งมันจะไม่มีอะไรที่พวกเราสามารถทำได้ เกี่ยวกับการสร้างประวัติศาสตร์ของเราเองขึ้นมาให้เป็นรูปเป็นร่าง โดยการเข้าไปแทรกแซงอย่างแข็งขันเกี่ยวกับมัน.
เมื่อเข้าใจในฐานะที่เป็นวิทยาศาสตร์อันหนึ่ง, ลัทธิมาร์กซ์จึงเมินเฉยต่อสิ่งซึ่ง Habermas เรียกว่า "การสะท้อนกับของตัวตน"(self-reflection) หรือ"ปฏิกริยาตีกลับโดยปราศจากสำนึก"(reflexivity)ของมนุษย์. นั่นก็คือ, มันไม่สามารถที่จะจัดการกับสิ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญในการนิยาม ซึ่งทำให้เราเป็นมนุษย์.
อันนี้เป็นข้อเท็จจริงที่ว่า เราคือสิ่งที่สามารถสะท้อนกลับได้กับประวัติศาสตร์ของเราเอง, ในฐานะปัจเจกและในฐานะสมาชิกของสังคมที่ใหญ่กว่า; และเกี่ยวกับการใช้การสะท้อนกลับอันนั้นได้อย่างถูกต้องเพื่อเปลี่ยนเส้นทางของประวัติศาสตร์. ความเข้าใจอย่างถ่องแท้อันนี้ ได้ถูกทำให้ขาดหายไปในทุกๆรูปแบบของปรัชญาและทฤษฎีทางสังคม - ปกติแล้วอ้างถึงในฐานะที่เป็นลัทธิปฏิฐานนิยม(ความรู้ได้มาจากประสาทสัมผัส-วิทยาศาสตร์) - ซึ่งพยายามที่จะขัดเกลาสังคมลงบนวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ.
Habermas กับทุนนิยมตะวันตกสมัยใหม่
โดยไม่เคยรังเกียจที่จะใช้ประโยชน์ทรัพยากรทางความรู้สติปัญาที่หลากหลายและกว้างขวาง, ณ จุดเชื่อมต่อนี้ Habermas ได้สร้างความดึงดูดใจต่องานเขียนต่างๆของ Max Weber. และเขาได้ทำเช่นนั้นด้วยสายตาที่วิพากษ์. Weber ได้วางจุดเน้นที่แข็งแรงอันหนึ่ง ลงไปบนสิ่งที่เขาเรียกว่า"การทำให้เป็นเหตุผลของวัฒนธรรม"(rationalization of culture), และได้ถูกขยายออกไปถึงศาสนาต่างๆของโลก, และเขาได้ค้นพบพัฒนาการในลัทธิทุนนิยมสมัยใหม่ของตะวันตก.
อย่างแน่วแน่ Weber ปฏิเสธที่จะแยกแยะการแสดงออกเกี่ยวกับการทำให้เป็นเหตุผล(rationalization) ที่มีกันอยู่หลายระดับออกจากกัน; กล่าวคือ เขาไม่รู้สึกว่า รูปแบบที่ถูกทำให้มีเหตุผลมากกว่าอันหนึ่งของชีวิตทางสังคม มันไม่มีอะไรที่น่ายกย่องสรรเสริญ ว่าเหนือกว่ารูปแบบที่ถูกทำให้มีเหตุผลน้อยกว่าแต่อย่างใด.
สำหรับ Habermas, แน่นอน อันนี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้. ที่ซึ่ง"การทำให้มีเหตุผล"(rationalization)หมายถึง การขยายออกไปเกี่ยวกับขบวนการและโอกาสต่างๆ สำหรับการถกเถียง(argumentation), พัฒนาการของมันมีลักษณะที่เบนเข้าหากันหรือมาบรรจบกันกับความเจริญเติบโตของความมีเหตุมีผล. Weber ไม่ได้บ่งชี้ให้ชัดเจนพอ ถึงหนทางที่ การทำให้เป็นเหตุผลของตะวันตกสมัยใหม่แตกต่างไปจากคุณลักษณะเฉพาะของอารยธรรมก่อนหน้านั้นอย่างไร ?
ความเป็นสมัยใหม่ - post-conventional (หลังขนบธรรมเนียม)
ตามความคิดของ Habermas, ตะวันตก, โดยลำพังแล้ว, ได้ถูกทำให้ปรากฏชัดขึ้นมา โดยความโดดเด่นของมันที่มีเหนือกว่าอารยธรรมที่มีมาก่อน. ตะวันตกได้ล่วงเข้าสู่"อาณาเขตต่างๆเกี่ยวกับการรับรู้แบบหลังขนบธรรมเนียม" (post-conventional cognitive domains). รูปแบบต่างๆของหลังขนบธรรมเนียมเกี่ยวกับแบบแผนสถาบัน(institutional order) คือสิ่งเหล่านั้น ซึ่งตัวของมันเอง จริงๆแล้วก็ไม่ได้เป็นอิสระจากการครอบงำของหลักเกณฑ์จารีตเกี่ยวกับความประพฤติ, แต่ได้ถูกนำมารวบรวมเข้าไว้ให้เป็นไปตามหลักการต่างๆที่ได้รับการยอมรับ. ส่วนต่างๆของสถาบันที่โดดเด่นมากที่สุด ที่ซึ่งกระบวนการอันนี้ได้เข้ามาอยู่แถวหน้าก็คือ วิทยาศาสตร์และกฎหมายนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้สำหรับ Habermas มันจึงเป็นความรู้สึกที่แท้จริงอันหนึ่งที่ว่า ตะวันตกคือสิ่งสุดยอด. ในการสนับสนุนทัศนะอันนั้น, เขายืนอยู่อย่างมีสำนึกในด้านตรงข้าม ไม่เพียงต่อลัทธิสัมพัทธนิยมเท่านั้น - ในความหมายใดก็ตามที่อาจถูกอ้างหรือให้เหตุผลในเทอมนั้น - แต่ยังอยู่ฝั่งตรงข้ามกับสกุลความคิดทางสังคม ซึ่งยึดถือว่าพัฒนาการของลัทธิทุนนิยมตะวันตก เป็นปรากฏการณ์ที่มีอันตรายหรือพิษภัยมาแต่ต้นเลยทีเดียว.
ไม่เลย, เขาไม่เคยมีความเห็นสอดคล้องคลุมๆเครือๆกับสังคมตะวันตก. ในทางตรงข้าม, ลัทธิทุนนิยมสมัยใหม่ดังที่เขาแสดงให้เห็น มันเป็นรูปแบบหนึ่งของสังคมที่ได้รับการฉีกหรือผ่าออกโดยความตึงเครียดและความขัดแย้งต่างๆ. ตามที่ปรากฎ Habermas ยังคงต้องการที่จะรักษาปัจจัยที่เป็นแก่นแท้ของความคิดแบบมาร์กซิสท์เอาไว้ที่ว่า ลัทธิทุนนิยมเป็นแบบฉบับอันหนึ่งของสังคม. ความเหนือกว่าของมัน ได้สนับสนุนความเป็นไปได้เกี่ยวกับการบรรลุถึงแบบฉบับที่สูงกว่าอันหนึ่งของแบบแผนทางสังคม. แต่การวิเคราะห์ของเขาเกี่ยวกับธรรมชาติของลัทธิทุนนิยมสมัยใหม่ และถนนสายใหญ่ของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมซึ่งมันน้อมนำไป แตกต่างอย่างถึงแก่นจากแนวความคิดแบบคลาสสิคของมาร์กซิสท์.
ทฤษฎีวิพากษ์ที่ทันสมัย, Habermas เสนอ, เกี่ยวพันกับการมองบทบาทที่กว้างขวางซึ่งวิทยาศาสตร์ได้แสดงในการพัฒนานับตั้งแต่ช่วงเวลาของมาร์กซ์ - ความหมายของวิทยาศาสตร์ในที่นี้คือ วิทยาศาสตร์ธรรมชาติ. พวกเราดำรงอยู่ในสังคมหนึ่งซึ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้หลอมละลายอยู่อย่างแยกกันไม่ออก, วิทยาศาสตร์ได้มาเรียงอยู่หน้าสุดท่ามกลางสิ่งที่มาร์กซ์เรียกว่าอำนาจการผลิต(force of production). แต่วิทยาศาสตร์ ในด้านหนึ่งนั้น มันยังแผ่ขยายไปสู่อาณาเขตทางการเมืองด้วย.
ในสังคมทุนนิยมทั้งหลาย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ถูกใส่บังเหียน หรือควบคุมให้พุ่งไปสู่เป้าของการสร้างความมั่นคงและความเติบโตทางเศรษฐกิจที่แผ่กว้างออกไป. ขอบเขตทางการเมือง โดยพื้นฐานแล้ว กลายมาลดทอนคำถามหนึ่งลง ที่ว่าใครสามารถที่จะทำให้เศรษฐกิจเคลื่อนตัวไปได้ดีที่สุด - สาระอันหนึ่งของการตัดสินในทางเทคนิค.
เราจะเห็นกันอีกครั้งว่า ลัทธิมาร์กซ์แบบเดิมๆ ไม่ได้ให้ทางเลือกในเชิงวิพากษ์แต่อย่างใดในประเด็นนี้. สำหรับเป้าหมายนำที่สำคัญของสหภาพโซเวียตในเวลานั้น ต้องการที่จะก้าวทัน และล้ำหน้าตะวันตกในเทอมต่างๆของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ. สิ่งที่ Habermas เรียกว่า "การเมืองที่มีการทำให้เป็นวิทยาศาสตร์"(scientisation of politics) ได้ดำเนินไปไกลในสังคมต่างๆของยุโรปตะวันออก เท่าๆกันกับในยุโรปตะวันตก.
ในทัศนะของ Habermas, ข้อเท็จจริงที่ว่า การเมืองได้กลายเป็นชนิดหนึ่งของเทคโนโลยีเหมือนกันกับเรื่องอื่นๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปลักษณ์ทางอุดมการณ์หลักต่างๆของลัทธทุนนิยมสมัยใหม่. สิ่งที่บรรดานักเขียนคนอื่นๆเห็นในฐานะจุดจบของอุดมการณ์ - การระบายออกของคุณค่าและอุดมคติทุกๆด้านในการเห็นด้วยหรือสนับสนุนรัฐบาลที่ยึดถือแนวทางที่เน้นการปฏิบัติ, เทคโนแครตแครทหรือผู้เชี่ยวชาญ(pragmatic, technocratic government) - Habermas ถือว่าเป็นแกนสำคัญของสิ่งที่อุดมการณ์เป็น. สำหรับการเมืองควรเกี่ยวพันกับการต่อสู้เหนือคุณค่าและอุดมคติเหล่านั้น ซึ่งสามารถทำให้ชีวิตเปี่ยมไปด้วยความหมายสำหรับเรา. การสะกดหรือควบคุมความหมายในปฏิฐานนิยม(ความเชื่อแบบวิทยาศาสตร์), ในปริมณฑลทางเทคนิคมากๆของทฤษฎีทางปรัชญาและสังคม, มันเป็นของคู่กันกับการสะกดควบคุมความหมายในปริมณฑลมากมายหลายหลากของชีวิตสมัยใหม่.
อันนี้เป็นใจกลางสาระสำคัญต่อการวิเคราะห์ของ Habermas เกี่ยวกับความตึงเครียดและความขัดแย้งซึ่งเกี่ยวข้องกับสังคมทุนนิยมในทุกวันนี้. Habermas ได้รักษาทัศนะของมาร์กซิสท์เอาไว้พอสมควรที่จะถือว่า ลัทธิทุนนิยมยังคงเป็นสังคมชนชั้นอันหนึ่ง, เป็นสังคมที่แบ่งแยกระหว่าง"ชนชั้นที่มีอิทธิพลครอบงำ" กับ ชนชั้นที่เป็นรอง"ออกจากกัน. แต่อย่างไรก็ตาม เขามีความเห็นว่า"ชนชั้นกรรมาชีพ" ไม่ได้เป็นกองหน้าของการปฏิวัติอีกต่อไปแล้ว, ความขัดแย้งทางชนชั้นมิได้เป็นต้นตอหลัก ของความตึงเครียดที่คุกคามเสถียรภาพของลัทธิทุนนิยมอีกต่อไป, หรือเป็นแหล่งที่มาที่เป็นไปได้มากที่สุดของการเปลี่ยนแปลงของสังคม.
ทัศนะของมาร์กซ์เกี่ยวกับความขัดแย้งทางชนชั้น, ในสายตาของ Habermas, เป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือใช้ได้กับลัทธิทุนนิยมในศตวรรษที่ 19. ในศตวรรษที่ 19 นั้น, ชีวิตทางเศรษฐกิจยังคงไม่มีลักษณะที่เป็นโครงสร้างมากขนาดนี้ และได้ถูกครอบงำโดยความผันแปรอย่างกว้างขวางของความเจริญรุ่งเรืองและถลำลึก; บรรดานายทุนและคนงานทั้งหลายเผชิญหน้ากันและกันในตลาด ในฐานะคู่ปรปักษ์ที่รุนแรงในเชิงศักยภาพ.
ปัจจุบัน เราอาศัยอยู่ในยุคของลัทธินิยมที่ถูกควบคุมโดยเทคโนโลยี. มันยังคงเป็นวัฏจักรต่างๆทางเศรษฐกิจ แต่มันได้รับการทำให้ลดน้อยลงอย่างถึงแก่น โดยการแทรกแซงของรัฐบาลในการดำเนินการทางเศรษฐกิจ. ความตึงเครียดที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยการแบ่งแยกทางชนชั้น ได้ถูกทำให้บรรเทาเบางบางลงอย่างสอดคล้องโดยการนำเสนอเกี่ยวกับ แบบหรือวิธีการต่างๆที่ทำให้ได้มาตรฐานของสินค้าราคาถูกทางด้านอุตสาหกรรม และการตัดสินชี้ขาด.
มาร์กซ์อาศัยอยู่และได้เขียนหนังสือขึ้นมาในช่วงเวลาของ"ทุนนิยมแบบเสรี"(liberal capitalism) - ซึ่งบทบาทของรัฐในชีวิตทางเศรษฐกิจได้ถูกจำกัด, และตลาดการแข่งขันถูกครอบงำ. ลัทธิทุนนิยมในทุกวันนี้เป็นทุนนิยมแบบจัดตั้ง(organized capitalism). เงื่อนไขหรือปัจจัยต่างๆอันหลากหลายได้ถูกนำเข้ามาเกี่ยวพันในการเปลี่ยนผ่านจากอันหนึ่งไปสู่อีกอีกอันหนึ่ง, โดยเฉพาะรวมถึงส่วนที่ถูกทำให้แผ่ขยายออกไปที่ได้รับการปฏิบัติโดยรัฐ ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีการวางกฎระเบียบ(regulating economic activity), และเสถียรภาพเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางชนชั้น ซึ่งเป็นผลลัพธ์เนื่องมาจากการมีอยู่ของวิธีการที่ทำให้มีมาตรฐานเกี่ยวกับการตัดสินทางด้านอุตสาหกรรม.
ตลาดการแข่งขันต่างๆถูกตัดราคาโดยการครอบงำที่เพิ่มขึ้นของบรรษัทขนาดใหญ่ต่างๆ, และโดยการประสานกันกับแผนการของรัฐที่ยินยอมให้กับเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์อย่างมากๆ. โดยอาศัยการประกันราคา, การให้ความช่วยเหลือ, งบดุลยและรูปแบบของการควบคุมเรื่องการเงิน, พร้อมด้วยการเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมโดยตรงในรูปต่างๆของการทำให้เป็นส่วนหรือเซคเตอร์ระดับชาติ, รัฐได้ช่วยสนับสนุนเงื่อนไขต่างๆสำหรับการสะสมความมั่นคงของทุน.
รัฐได้เข้าไปแทรกแซงในการดำเนินไปทางเศรษฐกิจ, เมื่อเชื่อมประสานกับการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, หมายความว่า ทฤษฎีของมาร์กซ์เกี่ยวกับมูลค่าส่วนเกินจึงไม่อาจนำมาใช้ได้ในเงื่อนไขปัจจุบัน. มาร์กซ์ได้วางแกนเกี่ยวกับการวิเคราะห์ของเขาในเรื่องลัทธิทุนนิยมลงบนทฤษฎีที่ว่า พลังงานแรงงานเท่านั้นที่สร้างมูลค่า, และผลกำไรอันนั้นที่ได้มาจากส่วนเกินของมูลค่า บรรดานายทุนทั้งหลายสามารถยื้อแย่งจากบรรดาคนงานไปได้. แต่รัฐสมัยใหม่ได้มาควบคุมในด้านการศึกษา, วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, รัฐได้สอดแทรกอิทธิพลอันใหม่เข้าไป, ทำให้มันเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อมูลค่าของสินค้า ในหนทางที่ไม่สามารถถูกนำมาวิเคราะห์ได้อย่างเหมาะสมไปตามทฤษฎีบท หรือหลักเกณฑ์ต่างๆของลัทธิมาร์กซ์แบบคลาสสิค.
ในยุคของมาร์กซ์, Habermas ยอมรับว่า การขัดแย้งทางชนชั้นเป็นต้นตอหลักที่สำคัญของความตึงเครียดทางสังคม และมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคม. แต่ตลอดช่วงเวลาหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา, ผลของความยุ่งยากที่ตามมาเกี่ยวกับการแบ่งแยกทางชนชั้นกลายเป็นสิ่งที่เพลาลงไป และไม่รุนแรงเท่าไรนัก. มันได้มีบางสิ่งเกิดขึ้นในประเทศต่างๆทางตะวันตก ซึ่งเขาเรียกว่า"การประนีประนอมทางชนชั้น"(a class compromise), อันหมายถึงการรวมกันอันหนึ่งระหว่างขบวนการเคลื่อนไหวทางด้านแรงงาน, ธุรกิจขนาดใหญ่ และรัฐบาล. บรรดาผู้นำสหภาพแรงงานและผู้นำทางธุรกิจมีแนวโน้มที่จะเจรจากันในเรื่องค่าจ้างมากขึ้น และเจรจาเกี่ยวกับเงื่อนไขสัญญาต่างๆกันโดยตรง ค่อนข้างมากกว่าปล่อยมันไปในลักษณะที่เปิดให้เป็นการตัดสินใจหรือกำหนดโดยตลาด. มันไม่มีสิ่งใดที่เหมือนกับตลาดแรงงานที่แข่งขันกันอย่างเต็มที่, ,มากไปกว่าตลาดของการแข่งขันกันด้านสินค้า.
แรงงานจัดตั้ง, ในรูปของพรรคสังคมนิยมต่างๆ, ได้มามีบทบาทสำคัญในรัฐสมัยใหม่ด้วย. บางส่วนเป็นผลเนื่องมาจาก, ลัทธิทุนนิยมจัดตั้งที่อาจเรียกอย่างเหมาะสมกว่าว่า "ลัทธิทุนนิยมสวัสดิการ"(welfare capitalism). ขอบเขตอันหนึ่งของแผนการด้านสวัสดิการ จะปกป้องคนเล็กคนน้อยจากความไม่แน่นอนของตลาด ดูแลความเจ็บป่วย และพิทักษ์ผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรม, การจ่ายเงินให้กับผู้ที่ไม่ได้รับการจ้างงาน และอื่นๆ.
ด้วยเหตุนี้ ขอบเขตความสัมพันธ์ทางชนชั้นจึงไม่ปะทะกันอย่างแหลมคมดังที่มันเกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19; ดังนั้นขบวนการแรงงานในทุกวันนี้ไม่ใช่ตัวแทนหลักของการเปลี่ยนแปลงทางสังคม. ในการมาสู่ข้อสรุปอันนี้, ทัศนะต่างๆของ Habermas ได้คล้องจองกับบรรดานักคิดที่สังกัดอยู่กับสกุลแฟรงค์เฟริท, ที่พูดถึงมาแล้วอย่างสั้นๆในช่วงต้น.
แต่อย่างไรก็ตาม, ไอเดียต่างๆของ Habermas ในที่นี้ได้บิดผันไปในลักษณะที่น่าสนใจอันหนึ่ง. ความตึงเครียดต่างๆซึ่งเกี่ยวกันกับการแบ่งแยกทางชนชั้นไม่ได้หายไปเฉยๆ, เขาเสนอ, มันได้รับการแทนที่ในส่วนอื่น, และได้ปรากฏขึ้นมาใหม่อีกครั้งในรูปโฉมภายนอกที่แตกต่าง ซึ่งได้สร้างรูปแบบใหม่ๆของขบวนการที่เป็นไปในทางตรงข้ามขึ้นมา.
สังคมทุนนิยมทั้งหลายยังคงมีส่วนรับผิดชอบต่อวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่ความขัดแย้งต่างๆในระดับเศรษฐกิจโดยตรงมันมีความสำคัญน้อยลงกว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสถาบันต่างๆ. เพราะว่าในทุกวันนี้ การดำเนินการทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่แล้วได้รับการจัดการหรือหล่อเลี้ยงโดยรัฐบาล, ในการร่วมมือกับบรรษัทขนาดใหญ่ต่างๆ. โดยเหตุนี้ วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจจึงมีมีแนวโน้มหรือศักยภาพที่จะเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองได้อย่างรวดเร็ว.
ในทัศนะของ Habermas สิ่งเหล่านี้กำลังคุกคามต่อระบบมากยิ่งกว่าปัญหาต่างๆทางเศรษฐกิจเสียอีก เพราะว่า บทบาทของเทคโนแครททางการเมืองสมัยใหม่ ไม่สามารถที่จะสร้างความจงรักภักดีที่ลึกซึ้งหรือเหนียวแน่นต่อระเบียบแบบแผนทางการเมืองขึ้นมาได้.
การเมืองกลายเป็นเรื่องของการยึดถือทางด้านการปฏิบัติส่วนใหญ่, มวลชนซึ่งเป็นประชากรรู้สึกว่า ไม่มีคำมั่นสัญญาหรือความผูกพันที่แท้จริงต่อระบบการเมือง และพรักพร้อมจะกลายเป็นสิ่งแปลกแยกจากมัน ถ้าหากว่าระบบอันนั้นล้มเหลวที่จะธำรงรักษาข้อสรุปแคบๆของมันเอาไว้ได้ - ยกตัวอย่างเช่น คำแนะนำเกี่ยวกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน.
ในสถานการณ์ต่างๆเช่นนั้น, ซึ่ง Habermas เชื่อว่า มันได้แผ่ขยายกว้างออกไปมากขึ้นๆ ระบบการเมืองได้เผชิญหน้ากับสิ่งที่เขาเรียกว่า "วิกฤตการณ์เกี่ยวกับความเชื่อฟังตามทางกฎหมาย"(crises of Legitimation). กล่าวคือ, เนื่องจากข้อจำกัดของมัน, บทบาทของเทคโนแครท, ระเบียบแบบแผนทางการเมืองจึงขาดเสียซึ่งอำนาจอันชอบธรรมทางกฎหมาย ซึ่งมันเป็นที่ต้องการของรัฐบาล.
มากไปกว่าความขัดแย้งกันทางเศรษฐกิจ, แนวโน้มในเรื่องวิกฤตความเชื่อฟังตามกฎหมาย สำหรับ Habermas เป็นความขัดแย้งที่นอนเนื่องหรือฝังอยู่ลึกที่สุดในลัทธิทุนนิยมสมัยใหม่. เทียบกันระหว่างการแบ่งแยกทางชนชั้น กับ เสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดขบวนการด้านแรงงานในศตวรรษที่ 19, ดังนั้น ความขัดแย้งที่ปรากฏตัวขึ้นมานี้ จึงมีแนวโน้มที่จะคลอด หรือให้กำเนิดขบวนการทางสังคมใหม่ๆขึ้นมาในศตวรรษที่ 20.
สิ่งเหล่านี้คือขบวนการต่างๆซึ่งพยายามที่จะแทรกกลับเข้าไปสู่ชีวิตทางการเมือง คุณค่าต่างๆที่มันได้สูญหายไป - ยกตัวอย่างเช่น เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับโลกธรรมชาติ, และมนุษย์ในฐานะปัจเจก กับ คนอีกคนหนึ่ง. ความสัมพันธ์อันนั้นเกี่ยวพันถึงคุณค่าต่างๆทางด้านศีลธรรมโดยพื้นฐาน, และมันคือข้อจำกัดต่างๆต่อระดับดังกล่าว ซึ่งมันถูกทำให้เป็นรองลงมาสู่กฎเกณฑ์หรือข้อบังคับของเทคโนแครท. ณ ข้อจำกัดอันนั้น, ขบวนการต่างๆในด้านตรงข้ามได้เกิดขึ้นมาซึ่งได้ทำการตีกลับ
เพื่อฟื้นคืนคุณค่าต่างๆที่สูญเสียไป หรือเพื่อเปลี่ยนแปลงการดำรงอยู่อันหนึ่ง. ขบวนการฟื้นฟูทางด้านนิเวศวิทยาและศาสนาได้รับการนำเสนอโดย Habermas ดังตัวอย่างต่างๆ, เช่นที่ปรากฎอยู่ในบางส่วนของขบวนการเคลื่อนไหวของบรรดานักเรียกร้องสิทธิสตรีทั้งหลาย.
สรุปงานเขียนของ Habermas
อันที่จริง ขอบเขตงานเขียนต่างๆของ Habermas เป็นสิ่งที่ไม่ธรรมดาเลย, มันเรียงลำดับมาจากปัญหาซึ่งเป็นนามธรรมมากที่สุดทางด้านปรัชญา จนมาถึงการวิเคราะห์ที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับประเด็นปัญหาสังคมและการเมือง. มันเกินเลยไปกว่าคำถามที่พยายามจะประเมินได้ทั้งหมดเกี่ยวกับงานเขียนเหล่านี้ในลักษณะสั้นกระทัดรัด เช่นเดียวกับที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้.
ไม่ต้องสงสัยเลยว่า Habermas ได้เปลี่ยนแปลงภูมิหลังทางด้านสติปัญญาจากแนวทางในอาชีพของเขาไปทั้งหมด, และอันนี้ได้ทำให้บรรดาผู้วิจารณ์งานของเขาทั้งหลายต้องประสบกับความยุ่งยากค่อนข้างมาก.
นับตั้งแต่ที่งานของเขาได้เขียนออกมาอย่างกว้างขวาง, บ่อยครั้ง Habermas จึงกระทำในลักษณะเพียงแค่อธิบายในแบบคร่าวๆและเป็นไปในลักษณะยั่วยุ ในประเด็นที่ผู้อ่าน ที่เป็นไปได้ว่าจะต้องการความมั่นใจอีกครั้งเกี่ยวกับความมีเหตุมีผลเกี่ยวกับสิ่งที่เขาได้พูด.
ขอให้ข้าพเจ้าสรุปอย่างสั้นๆอีกครั้งถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Habermas กับ Marxism, ซึ่งข้าพเจ้าได้ใช้เป็นแกนหลักในการรวบรวมเกี่ยวกับความเรียงชิ้นนี้. ไอเดียของ Habermas โดยหลักฐานแล้ว ยืนอยู่ ณ จุดที่ห่างไกลออกไปอย่างถึงแก่นจากลัทธิมาร์กซ์ในรูปแบบดั้งเดิมของมัน. มันไกลแค่ไหนที่เขาประสบผลสำเร็จในการรวบรวมทฤษฎีและวิธีการปฏิบัติขึ้นมาใหม่ ในหนทางที่สอดคล้องกับข้อเรียกร้องต่างๆเกี่ยวกับยุคสมัยของเรา ? และอันที่จริงแล้ว เรายังต้องการมาร์กซ์สำหรับยุคสมัยของเราอยู่อีกหรือไม่ ? บางที ลัทธิมาร์กซ์ได้ถูกลืมไปแล้วทั้งหมด, ในฐานะที่เป็นทฤษฎีหนึ่งซึ่งในทุกวันนี้เป็นเรื่องที่โบร่ำโบราณมากใช่ไหม ?
สำหรับคำถามข้างต้น, มันดูเหมือนว่ามีข้อสงสัยค่อนข้างมากในแบบแผนอันนี้. ความเกี่ยวพันกันต่างๆในเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับงานเขียนต่างๆของ Habermas ตามข้อเท็จจริง ไม่ได้ง่ายเลยที่จะเข้าใจ - ถึงแม้จะเป็นไปได้ว่าพวกมันจะเกี่ยวพันกับการสนับสนุนในลักษณะที่มีการปรับให้เข้ากับขบวนการทางสังคมต่างๆ ซึ่งข้าพเจ้าเพิ่งจะอ้างถึง. แต่ดูเหมือนว่ามันค่อนข้างเป็นที่น่าสงสัยหรือไม่ ที่ขบวนการต่างๆอันนั้นจะสามารถจะเล่นกับบทบาทประวัติศาสตร์โลกที่มาร์กซ์จ้องมองไปที่ชนชั้นกรรมาชีพ.
ยิ่งไปกว่านั้น, Habermas ไม่เคยบอกให้เรารู้เลย - หรืออย่างน้อย จนกระทั่งเดี๋ยวนี้ที่จะทำให้เรารู้ - ว่า ทัศนะของเขาสัมพันธ์กับแนวความคิดแบบจารีตของลัทธิสังคมนิยม. แม้ว่ามันจะเป็นที่ชัดเจนว่า บรรดาสังคมยุโรปตะวันออก ไม่ได้ถูกถือว่าเป็นแบบอย่างสำหรับสังคมอื่นๆที่จะดำเนินรอยตาม, มันไม่ปรากฏว่า Habermas ปรารถนาที่จะธำรงรักษาทัศนะเกี่ยวกับสังคมนิยมเอาไว้ ซึ่งเปรียบเทียบกับที่ได้รับการยึดถือโดยมาร์กซ์.
ทฤษฎีวิพากษ์ดังที่ Habermas ได้ร่างภาพ แน่นอน มันได้ขาดความโยงใยโดยตรงกับสิ่งที่มาร์กซ์เห็น ในระหว่าง"การเกิดขึ้นมาของชนชั้นกรรมาชีพ" และ "ความสิ้นสุดซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ของลัทธิทุนนิยม". ในงานต่างๆของ Habermas มันเป็นที่ชัดเจนว่า อำนาจทางสังคมจะไม่สามารถโค่นล้มลัทธิทุนนิยมลงไปได้, และจะไม่มีสังคมแบบไหนเลยที่จะเข้ามาแทนที่มัน.
แต่อย่างไรก็ตาม ในความคิดเห็นของข้าพเจ้า มันจะเป็นการผิดพลาดที่มองว่า อันนี้คือข้อบกพร่องทั้งหมดในสิ่งที่ Habermas พูด. ตรงกันข้าม, มันควรได้รับการพิจาณาในฐานะสัญญานเกี่ยวกับความล้มเหลวของมาร์กซ์และในลัทธิมาร์กซ์. สำหรับมาร์กซ์ สิ่งที่เรียกว่า "การรวมกันของทฤษฎีและปฏิบัติ"ได้ถูกหนุนค้ำโดยการรับรองทางประวัติศาสตร์พอสมควรทีเดียว. ชัยชนะของชนชั้นกรรมาชีพ, ในอีกคำพูดหนึ่งนั้น, ได้ถูกอนุมานว่าเป็นการบรรลุถึงจุดสุดยอดอย่างสำคัญของการปัดกวาดประวัติศาสตร์โลกทั้งมวล, ซึ่งได้เตรียมลู่ทางไปสู่สังคมนิยม.
ถ้าหากว่ามาร์กซ์มุ่งหมายที่จะสร้างความเชื่อมั่นในลักษณะดันทุรังหรือไม่มีข้อพิสูน์ในแนวทางที่แท้จริงของประวัติศาสตร์, สิ่งสุดท้ายที่พวกเราต้องการก็คือมาร์กซ์สำหรับยุคสมัยของเรา ในรูปของลัทธิสตาลิน, ภาคหนึ่งของคำสอนนี้ ที่ได้สร้างผลกระทบที่น่ากลัวมากในศตวรรษที่ 20 มาแล้ว.
งานของ Habermas, ได้ให้ข้อมูล โดยการปกป้องอย่างถึงรากเกี่ยวกับอิสรภาพของมนุษย์, และเป็นความพยายามอันหนึ่งที่จะเผชิญหน้ากับความยุ่งเหยิงของโลกสมัยใหม่อย่างซื่อสัตย์
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
งานเขียนต่างๆของ
Habermas ไม่ใช่หนังสืออ่านง่าย และจะเป็นการดีที่สุดด้วยการเริ่มต้นจากการพูดคุยหรือข้อมูลขั้นที่สอง(หมายถึงไม่ใช่งานต้นฉบับ
แต่เป็นงานเขียนอธิบายโดยคนอื่น)อันหลากหลายเกี่ยวกับงานของเขาซึ่งปัจจุบันมีอยู่จำนวนหนึ่ง.
หนึ่งในงานที่เข้าใจง่ายและเป็นไปอย่างถูกต้องมากที่สุดจะหาอ่านได้ใน Introduction to Critical Theory : Horkheimer to Harbermas (London) ในภาคที่สองของ Held (1980). หนังสือเล่มนี้ได้บรรจุเรื่องราวทั่วไปที่เป็นประโยชน์มากที่สุดเกี่ยวกับงานก่อนๆของ Habermas ในฐานะนักคิดแฟรงค์เฟริทสคูล. งานอีกชิ้นหนึ่งที่ค่อนข้างยากมาก, แต่เป็นการพูดถึงได้น่าสนใจและให้ความสว่างได้ดีปรากฎอยู่ใน Marxism and Totality (Cambridge), Jay, M.(1984) [บทที่ 9].
ส่วนเรื่องราวที่ทำความเข้าใจได้มากที่สุดเกี่ยวกับไอเดียของ Habermas มีอยู่ในงานเรื่อง The Critical Theory of Jurgen Habermas ของ McChathy, T.(1984). ส่วนหนังสือต่างๆของ Habermas เอง, ซึ่งน่าจะสำคัญที่สุดคือ Knowledge and Human Interests (1971), Legitimation Crisis (1973) และ The Theory of Communicative action (2 vols., Vol. I (1984), Vol.II).
ผลงานต่างๆเหล่านี้ควรได้รับการอ่านตามลำดับที่ให้รายชื่อหนังสือไว้ เพื่อทำความเข้าใจความก้าวหน้าเกี่ยวกับความคิดหรือทัศนะต่างๆของ Habermas. ส่วนงานเขียนที่ในเชิงวิพากษ์สำคัญขนาดใหญ่มากๆเกี่ยวกับ Habermas มีอยู่หลายหลาก และผู้อ่านควรจะหยิบมันขึ้นมาด้วยความเอาใจใส่. มีการวิเคราะห์วิจารณ์มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงต้น, ซึ่งได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับขอบเขตงานของ Habermas เอาไว้ไม่ค่อยดีนัก.
งานเขียนหลักๆบางชิ้นของ Habermas ยังคงไม่ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ, และอันนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงความสมบูรณ์และถูกต้องเพียงครึ่งๆกลางๆ, หากจะโจมตีและวิพากษ์วิจารณ์ต่อสิ่งที่เขานำเสนอ. การวิจารณ์เกี่ยวกับ Habermas ที่ง่ายๆ เข้าใจได้มาก และทะลุทะลวง คือ งานเหล่านั้นของ Thompson and Held (1982), ในเรื่อง Habermas: Critical debates (London).
ในท่ามกลางงานเขียนที่ดีที่สุดดังที่กล่าวไว้แล้ว ยังมีอีกหลายเล่ม เช่น Habermas 's Consensus Theory In Truth ของ Hesse, M. (1979); Paul Ricoeur "Hermenuetics and the Critique of Ideology", เรื่อง Hermeneutics and the Human Science ของ Ricoeur (1981); และ On Tools and Language: Habermas on Work and Interaction, New German Critique 6, 82-100.
ส่วนงานของ Geuss (1981) ในเรื่อง The Idea of the Critical Theory (Cambridge) น่าสนใจ แต่การตีความของผู้เขียนเกี่ยวกับทัศนะต่างๆ เป็นการวิจารณ์ที่มองมันในลักษณะที่ต้องคำถามเอาไว้มากๆ.
แปลจาก : บทที่ 7 "Jurgen Habermas" by Anthony Giddens
กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com