โปรยนำเรื่อง
"..เวลานี้สิ่งที่น่ากลัวมากๆ ไม่ใช่อำนาจรัฐ แต่เป็นอำนาจทุนและธุรกิจที่มันครอบงำเราหมด
เราขยับไม่ได้ และถ้าธรรมศาสตร์ที่เคยเป็นหัวหอกของการต่อสู้อำนาจเผด็จการทหาร
มาวันนี้ธรรมศาสตร์ต้องต่อสู้กับเผด็จการทุนและธุรกิจ เพราะจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์คือการต่อสู้กับเผด็จการ"
เนิ่นนานหลายเดือนที่เรื่องราววุ่นๆ ของชาว "ธรรมศาสตร์" เกี่ยวกับย้าย-ไม่ย้ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากท่าพระจันทร์ไปรังสิตเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการแตกต่างทางความคิด กระทั่งหมิ่นเหม่ที่จะสรุปได้ว่าแตกแยก
หนึ่งในเหตุผลที่ถูกหยิบยกเป็นข้อถกเถียงสำคัญคือเรื่อง
"จิตวิญญาณธรรมศาสตร์" แต่มันคืออะไร เป็นนามธรรมเลื่อนลอย หรือมันอยู่ที่ไหน
? ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์คนสำคัญจากมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ที่แม้ไม่เคยมีเลขทะเบียนนักศึกษาธรรมศาสตร์
ทว่า ได้อธิบาย "จิตวิญญาณธรรมศาสตร์" ในการแสดงปาฐกถาหัวข้อเดียวกัน เนื่องในวาระ
69 ปี การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2544 ณ หอประชุมเล็ก ธรรมศาสตร์ ได้อย่างที่ชาว
"ธรรมศาสตร์" มิอาจไม่ยอมรับ และไม่เพียงเป็นการยืนยันว่า เรื่องของ "ธรรมศาสตร์"
มิใช่เรื่องของชาวธรรมศาสตร์เท่านั้น แต่ยังตั้งคำถามลงไปที่กลางใจการจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของไทยได้อย่างตรงเป้าที่สุด
ดังมีถ้อยแถลงคำต่อคำ ดังนี้
เนื้อเรื่อง
ระยะเวลาประมาณสิบปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวทางการศึกษาอย่างรวดเร็วมาก มีการเปิดสาขาวิชาในสถาบันราชภัฏถึงระดับปริญญาตรีและกำลังขยายไปสู่ปริญญาโท
ยังมีเรื่องการผลักดันมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ มีเรื่องของความเห็นพ้องต้องกันหรือจะเรียกว่าฉันทามติของสังคมไทยซึ่งอาจจะเป็นครั้งแรกก็ว่าได้
ที่เห็นความสำคัญของการศึกษาด้วยการเรียกร้องและผลักดันให้มีการปฏิรูปการศึกษาและอย่างอื่นอีกมากมาย
จะเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจหรือเพื่อแก้อะไรก็ตามแต่ ฉะนั้นผมเห็นว่า เรื่องของธรรมศาสตร์นั้น เราไม่ควรจะติดอยู่เพียงเรื่องของจิตวัญญาณที่ศักดิ์สิทธิ์เพียงอย่างเดียว ผมคิดว่าเป็นช่วงที่เหมาะที่พวกเราทุกคนจะหันกลับมาทบทวนในด้านอุดมการณ์ของการอุดมศึกษาให้ดีๆ และในอุดมการณ์การศึกษาที่เราจะต้องทบทวนอย่างมากนั้น ผมคิดว่าตัวหลักการสำคัญมันอยู่ในสิ่งที่ผมอยากจะเรียกว่า "จิตวิญญาณของธรรมศาสตร์" ถึงแม้จะชื่อว่าธรรมศาสตร์ก็ตามแต่ แต่คิดว่ามันน่าจะใช้กับอุดมศึกษาของประเทศเราทั้งหมดได้
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยเดียวในประเทศไทยที่ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อผลิตคนไปป้อนระบบราชการหรือป้อนบริษัทธุรกิจเอกชน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยเดียวในประเทศไทยที่ไม่ได้สร้างขึ้นเพื่อตอบสนองต่อตลาดงานจ้าง คือคิดถึงสิ่งอื่น ไม่ได้คิดถึงตลาดเป็นหลัก
ในเรื่องนี้ ฯพณฯ รัฐบุรุษอาวุโส พูดชัดเจนไว้ในการก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ท่านบอกว่า มหาวิทยาลัยย่อมอุปมาประดุจบ่อน้ำ บำบัดความกระหายของราษฎร ผู้สมัครแสวงหาความรู้อันเป็นสิทธิและโอกาสที่เขาควรมีควรได้ตามหลักแห่งเสรีภาพในการศึกษา
ผมอยากจะย้ำว่า ท่านพูดถึงการแสวงหาความรู้ว่ามันเป็นสิทธิและโอกาสที่ควรมีควรได้ และเราลองย้อนนึกกลับไปที่การตั้งมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั้งหมดในประเทศไทย มีใครพูดถึงสิทธิ พูดถึงการแสวงหาความรู้ว่าเป็นสิทธิอันควรมีควรได้บ้าง แต่หลายมหาวิทยาลัยด้วยซ้ำไปในคำปรารภในการเปิดมหาวิทยาลัย พูดถึงการศึกษาตามอัตภาพ คือหมายความว่า อัตภาพของคุณควรมีการศึกษาเท่าไรก็เท่านั้น แต่ที่นี่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในประเทศไทยที่พูดถึงการศึกษา พูดถึงการแสวงหาความรู้ว่า เป็นสิทธิอันควรมีควรได้ พูดถึงเรื่องของการศึกษาว่ามีหลักการของเสรีภาพทางการศึกษา
ผมคิดว่าเราไม่พบอุดมคติแบบนี้ในจุดมุ่งหมายการก่อตั้งมหาวิทยาลัยของไทยที่ใดเลย ถามว่าหลักการอันนี้ยังใช้ได้อยู่หรือไม่ สำหรับผมเอง ผมคิดว่า ยังใช้ได้ และควรจะต้องใช้อย่างยิ่ง มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะประเทศไทยเดินเข้ามาอยู่ในทาง 2 แพร่งที่สำคัญ ถ้าคุณไม่ใช้สิ่งที่ผมเรียกว่าจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ มองการแสวงหาความรู้ว่าเป็นสิทธิ เป็นเสรีภาพที่ทุกคนควรมี แต่คิดว่าการศึกษาเป็นแต่เพียงการสร้างคนสร้างความรู้ไปตอบสนองธุรกิจและรัฐแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว ผมคิดว่าอนาคตประเทศไทยจะเดินไปอีกทาง
การเอาการศึกษาไปเชื่อมต่อกับตลาดนั้นผมว่ามันมีอันตราย เพราะการจัดการศึกษาโดยการเอาตลาดเป็นตัวนำ ถ้าตลาดมันไม่พัฒนา เช่น อุตสาหกรรมไทยเป็นอุตสาหกรรมสำหรับที่จะซื้อเทคโนโลยี ซื้อแม้กระทั่งวัตถุดิบ แล้วเอาแรงงานราคาถูกยัดลงไปในเครื่องจักรเพื่อผลิตออกไปขายถูกๆ ในตลาดอเมริกาหรือตลาดอะไรก็ตามแต่ ถ้าสภาพของตลาดมันเป็นอย่างนี้ ถามว่าเราต้องการมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพไปทำไม ไม่จำเป็นเลย
เราผลิตวิศวกรเพื่อสามารถไปอ่านคู่มือของเครื่องจักร รู้ว่าจะกดปุ่มตรงไหนได้ก็พอแล้วใช่ไหม เพราะตลาดงานจ้างไม่ต้องการความรู้ของวิศวกรมากไปกว่านี้ เหตุดังนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมา เราจึงมีวิศวกรแคทตาล็อก มีสถาปนิกก๊อปปี้ แม้แต่จิตรกรก็วาดก๊อกปี้เหมือนกัน คือไม่ต้องคิดไม่ต้องทำอะไร เพราะตัวตลาดจ้างงานมันไม่ต้องการความรู้มากไปกว่าแคตตาล็อคและก๊อปปี้
เพราะฉะนั้นการเอาการศึกษาไปผูกไว้กับตลาดการจ้างงานมันจึงอันตรายจริงๆ ไม่เท่านั้น ตัวตลาดงานก็ไม่มีโอกาสจะพัฒนาขึ้น จะมีแต่อาเสี่ยซื้อเครื่องจักรมาปั๊มของไปขายในราคาถูกๆเท่านั้นเอง ความสามารถที่จะพัฒนาตัวตลาดก็ไม่มี เพราะบัณฑิตที่ผลิตออกไปนั้น ผลิตเพียงเพื่อจะไปกดปุ่มเครื่องจักรที่เราเอามาจากเมืองนอก ฉะนั้น ตัวการศึกษาก็ตกต่ำลง ตัวงานในตลาดก็ไม่มีทางที่จะพัฒนาขึ้นได้
และบัดนี้ความสามารถในการแข่งขันอย่างที่ว่ามันหมดไปแล้ว ถึงได้เริ่มหันกลับมาบอกว่า เราไม่ต้องการวิศวกรแบบนี้ เราไม่ต้องการสถาปนิกแบบนี้ เราต้องการคนที่คิดเป็น เราต้องการอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา เพราะรู้อยู่ว่า ตลาดงานจ้างที่มีคุณภาพต่ำแบบนี้ ไม่สามารถไปแข่งขันกับใครในตลาดโลกได้แล้ว เพราะประเทศที่เขาสามารถมีแรงงานต่ำกว่าเรานั้นมีเยอะแยะไปในเอเชีย
แต่หลักการของธรรมศาสตร์นั้นตรงกันข้าม หลักการของจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ไม่ได้เอางานจ้างเป็นตัวตั้ง แต่เอาความกระหายใคร่รู้ของประชาชนเป็นตัวตั้ง เอาความกระหายใคร่รู้มาถือว่าเป็นสิทธิและเสรีภาพของคนที่สังคมที่เจริญแล้วต้องเคารพ มันจึงเป็นคนละเรื่องกันเลย มันจะมีความแตกต่างทางด้านการศึกษาอีกมาก ระหว่างมหาวิทยาลัยหรือการจัดการอุดมศึกษาที่เอาความกระหายใคร่รู้เป็นตัวตั้งแทนที่จะเอาตลาดงานเป็นตัวตั้ง เพราะในที่สุด ถ้าเปรียบกับประเทศอื่นๆในโลกนี้ที่พัฒนาทางด้านอุดมศึกษามาไกลกว่าเราก็จะพบว่า เขาไม่ได้ให้งานเป็นผู้สร้างบัณฑิต แต่เขาให้บัณฑิตเป็นผู้สร้างงาน
ผมอยากจะพูดด้วยว่า ตลอดเวลาหลายสิบปีหรืออาจจะเป็นศตวรรษแล้วก็ว่าได้ ชนชั้นนำไทยโดยส่วนใหญ่ ค่อนข้างกลัวคนมีความรู้มากๆ เพราะถ้าคนมีความรู้มากๆ อาจทำให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายในทางสังคมการเมืองขึ้นได้ ชนชั้นนำไทยจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้คนที่มีการศึกษามีพอๆ กับความสามารถจ้างงาน กลัวมากที่จะทำให้คนมีการศึกษามากกว่าตำแหน่งงาน แต่ความกลัวเหล่านี้ก็ไม่สามารถขจัดความปั่นป่วนวุ่นวายได้ ในขณะเดียวกัน ก็ก่อให้เกิดปัญหาการไม่พัฒนาในทุกๆด้านของประเทศสืบต่อมา
ถ้าเรายึดในจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์อย่างที่ท่านผู้ประศาสน์การได้แถลงเอาไว้ คือยึดในหลักสิทธิและเสรีภาพทางการศึกษาแล้ว การที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในเวลาต่อมากลายเป็นมหาวิทยาลัยที่ถูกเรียกโดยทั่วๆไปว่า มหาวิทยาลัย "ปิด" จะมีปัญหามาก เพราะเท่ากับปฏิเสธตัวจิตวิญญาณตั้งแต่ต้นเลย เพราะคุณปิดเมื่อไร ก็แสดงว่าคุณไม่รับคนอื่นๆ อีกจำนวนมากที่เขาอยากจะเรียนในมหาวิทยาลัย เขากระหายใคร่รู้ เป็นสิทธิอันควรมีควรได้ของเขาแต่เผอิญเขาสอบเข้าไม่ได้ หรืออะไรก็แล้วแต่ เขาก็หมดสิทธิเสรีภาพอันนั้นไป ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพอันนั้นไป
อย่างไรก็ตามแต่ ผมไม่ได้บอกว่าธรรมศาสตร์ต้องกลับไปเป็นตลาดวิชา ผมคิดไม่ทัน และไม่ทราบเหมือนกันว่า ควรจะกลับหรือไม่ควรกลับ แต่ผมอยากจะอธิบายตรงนี้ว่า คำว่ามหาวิทยาลัย "ปิดรับนักศึกษา" ซึ่งเป็นภาษาทางการ ไม่ได้แปลว่า ปิดประตูมหาวิทยาลัยให้คนส่วนน้อยในสังคมเท่านั้นที่มีโอกาสเรียนมหาวิทยาลัย เพราะเราสามารถจำกัดจำนวนนักศึกษาโดยการเปิดประตูมหาวิทยาลัยให้กว้างกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้ อย่างน้อยที่สุดเราสามารถเปิดประตูมหาวิทยาลัยได้ 2 ด้านด้วยกัน
ด้านที่หนึ่ง คือการรับนักศึกษาจำนวนที่จำกัดไว้ หรืออาจจะรับเท่าเดิม แบ่งประเภทของนักศึกษาให้สามารถรับนักศึกษาได้กว้างกว่าที่เป็นอยู่
อย่างที่สอง เราอาจจะเปิดประตูมหาวิทยาลัยสำหรับการสร้างกำลังความรู้และกำลังคนแก่ประชาชนก็ได้ และขอให้เรามาดูว่ามหาวิทยาลัย "ปิดรับ" ต่างๆ รวมทั้งธรรมศาสตร์ในระยะหลังด้วยนี้ เปิดประตู 2 ด้านนี้ให้กับสังคมไทยหรือไม่ ผมขอพูดถึงด้านแรกก่อน
ขอให้ย้อนกลับไปคิดเมื่อมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเปิดขึ้นในตอนแรกนั้น นอกจากตัวมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นลักษณะที่เรียกว่าตลาดวิชาแล้ว ขอให้สังเกตว่า คุณสมบัติของผู้มีสิทธิในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแห่งนี้ ประกอบด้วยคนหลายประเภทมาก คือไม่ใช่เฉพาะที่จบ ม.8 หรือมัธยมปลายตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการอย่างเดียว ยังเปิดให้กับข้าราชการทั้งหมด ตั้งแต่ชั้นเสมียน ซึ่งช่วงที่เปิดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขอให้เข้าใจก่อนว่า มีข้าราชการที่ไม่จบปริญญาตรี ผมเข้าใจว่าประมาณ 80-90% มากมายมหาศาลเลย คนทั้งหมดเหล่านี้ไม่จบแม้แต่ ม.8 ก็เยอะมาก คนพวกนี้มีสิทธิในการเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หมด ถ้าผู้บังคับบัญชายอม
นอกจากนั้นแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ ส.ส.เข้าเรียน ยังเปิดให้ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบล ซึ่งในช่วงหลัง 2475 จะเป็นผู้ไปเลือก ส.ส.อีกที ก็มีสิทธิที่จะเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเหมือนกัน
ทีนี้ถ้าเราจับหลักของสิทธิเสรีภาพทางการศึกษาได้ เราก็จะพบได้ว่า การประเมินว่าใครควรเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย เขาไม่ได้ปล่อยให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้กำหนดแต่เพียงผู้เดียว ยิ่งคิดถึงว่าการกระจายการศึกษาของไทยมีจำกัดแค่ไหน มหาวิทยาลัยยิ่งปฏิเสธไม่ได้ใหญ่ว่า ตัวเองต้องมีหน้าที่ในการประเมินคนอื่นๆ ที่ไม่ได้จบมัธยมปลายตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเข้าเรียนด้วย เปิดโอกาสให้ความรู้และประสบการณ์ที่เกิดในวิถีชีวิตจริงของคนเข้ามาอยู่ในมาตรฐานด้วย และนี่เป็นเรื่องสำคัญมาก
ลองคิดถึงผู้นำชาวบ้านที่สามารถสร้างกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เก็บเงินได้เป็นร้อยล้านบาท ดำเนินกิจการบริการประชาชนดีกว่าที่รัฐบาลใดก็แล้วแต่สามารถให้บริการในด้านสาธารณสุข แม้แต่ 30 บาทรักษาทุกโรค เพราะแม้แต่การเยี่ยมไข้ เขายังจ่ายเงินค่าเยี่ยมไข้ แต่เผอิญว่าผู้นำจบแค่ ม.3 จึงไม่มีสิทธิเข้าเรียนมหาวิทยาลัย นี่มันอะไรกันครับ ทำไมคนที่ทำสิ่งเหล่านั้นได้ไม่สามารถต่อยอดประสบการณ์และความรู้ของเขาไปให้ไกลมากขึ้นกว่าเดิม
เพราะอย่างนั้นผมอยากจะพูดว่า สิ่งที่เป็นจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ มันหายไปหมดในระบบอุดมศึกษาของเรา เพราะเรามองมันแคบมากว่า จะต้องเอาคนจบ ม.ปลาย มาฝึกอะไรบางอย่างเพื่อไปกดปุ่มในโรงงานเป็น ถ้าคิดแค่นี้เราจะมองไม่เห็นคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยเลย ตรงข้ามกับจิตวิญาณธรรมศาสตร์ที่มองเห็นคนส่วนใหญ่เป็นหลักก่อน เพราะฉะนั้น มหาวิทยาลัยปิดจึงหมายถึงมาตรฐานที่แคบลงเมื่อเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง โดยเลือกเฉพาะคนที่สามารถทำข้อสอบสอบเข้ามหาวิทยาลัย คนที่จบมัธยมปลายแล้วเอาคนที่เก่งที่สุดเข้ามา
ถามว่าคนที่เก่งที่สุดคือคนที่มีโอกาสในชีวิตดีที่สุดใช่ไหม อาจจะไม่ใช่ทุกคน แต่ส่วนใหญ่แล้วใช่ นี่คือความไม่เป็นธรรม และมหาวิทยาลัยก็รู้อยู่เต็มอกว่านี่คือความไม่เป็นธรรม แต่เราก็ทำสืบเนื่องตลอดมา คำถามว่าจิตวิญญาณธรรมศาสตร์อยู่ที่ไหน ? ผมจึงไม่ได้หมายถึงเฉพาะที่นี่ แต่ทั้งประเทศไทย จิตวิญญาณอันนั้นหายไปไหน ในแง่นี้ จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ คือการที่มหาวิทยาลัยเอื้อมมือออกไปสุดแขนเพื่อสัมผัสประชาชนให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่ใช่หดมือเข้ามาแล้วให้ประชาชนเอื้อมสุดแขนเพื่อสัมผัสกับมหาวิทยาลัย ซึ่งมันตรงกันข้ามกับที่เรารู้จักทุกมหาวิทยาลัยในทุกวันนี้
ในอีกด้านหนึ่งที่ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยสามารถเปิดประตูได้ คือการสร้างพลังความรู้ให้กับสังคม ผมอยากจะพูดสั้นๆ แต่เพียงว่า ถ้าเราเอาตลาดงานเป็นตัวกำหนดทิศทางการพัฒนาของอุดมศึกษาของเรา คำถามก็คือว่า คนที่ไม่มีเงินจะจ้าง สถาบันที่ไม่มีอะไรจะจ้าง จะมีใครผลิตความรู้และผลิตบัณฑิตไปป้อนมัน และสถาบันที่ว่านั้นเยอะมาก เช่น ประเทศชาติเป็นต้น
ประเทศชาตินั้นไม่เคยจ้างใครเลย ถามว่ามหาวิทยาลัยไหนในโลกนี้จะผลิตคนและความรู้ไปรับใช้ประเทศชาติ แต่แน่นอนบริษัทซีพีมีเงินจ้าง คุณก็ผลิตคนและความรู้ไปป้อนบริษัทซีพี แต่ประเทศชาติไม่มีเงินจ้าง มีสิ่งที่ไม่มีเงินจ้างอีกมากครับ ระบอบประชาธิปไตยก็ไม่มีเงินจ้างใคร ใครจะผลิตคนไปป้อนประชาธิปไตย ไปรับใช้ระบอบประชาธิปไตย สัจจะออมทรัพย์อีกมากมายที่ไม่เงินจ้าง หมู่บ้านก็ไม่มีเงินจ้าง สหภาพแรงงานเวลานี้ยังไม่มีเงินจ้าง ธนาคารข้าวไม่มีเงินจ้าง ถ้าคิดถึงการไม่มีเงินจ้างนั้นมีมากมาย ซึ่งผมคิดว่ามีถึง 80% ของสังคมไทยที่ไม่มีเงินจ้าง และไม่มีเงินซื้อความรู้ของมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยของเราทั้งหมดจะไม่ต้องตอบสนองสถาบันและกลุ่มคนเหล่านี้เลยหรือกระไร? ถ้าหากเราคิดจะเอาตลาดเป็นตัวตั้งอย่างเดียว เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่รู้จะมีมหาวิทยาลัยไปทำไม เพราะไม่สามารถไปตอบสนองใครได้เลย คำว่าตอบสนองในที่นี้ ผมอยากจะให้เราย้อนกลับไปดูหลักสูตรของธรรมศาสตร์ หลักสูตรของธรรมศาสตร์นั้นผมคิดว่าเป็นหลักสูตรที่ประหลาดมาก คือเริ่มต้นจากคำถามที่มาจากสังคมไทยเอง
ธรรมศาสตร์ในระยะแรกสุดเมื่อเป็นมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หรือ มธก. ถามว่า อะไรที่สังคมไทยขาด สังคมไทยขาดพลเมืองที่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตยอย่างมีประสิทธิภาพ เขาจึงสร้างหลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิต (มธบ.) ขึ้นมา ซึ่งในทัศนะของผม ถ้าดูหลักสูตรธรรมศาสตร์บัณฑิตแล้ว ไม่ใช่หลักสูตรที่ผลิตเฉพาะทนายความ อาจจะเป็นทนายความก็ได้ เป็นครูก็ได้ แต่เขาเรียนหลายอย่างมาก เรียนเศรษฐศาสตร์ เรียนอย่างอื่น ยิ่งถ้าเราดูหลักสูตร ตมธก. (เตรียม มธก.) เข้ามาผนวกกับตัวหลักสูตร มธบ. ยิ่งจะพบว่า เขาเรียนกว้างมาก เรียนวรรณคดี เรียนอะไรต่ออะไรร้อยแปด เพื่อผลิตพลเมืองที่มีประสิทธิภาพในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่มีใครจ้าง แต่เป็นสิ่งที่ต้องผลิต
โดยเริ่มต้นจากการตั้งคำถามจากสังคมไทยทั้งหมด แล้วพยายามสร้างความรู้และคนไปป้อน ไม่ใช่ไปถามว่าซีพีขาดอะไร บริษัทเชลล์ขาดอะไร แล้วก็ผลิตคนไปป้อนบริษัทเหล่านี้อย่างที่มหาวิทยาลัยทำหลังปี 2490 เป็นต้นมาจนถึงทุกวันนี้ นี่คือจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ จิตวิญญาณของความพยายามจะสร้างความรู้เพื่อเพิ่มพลังเพิ่มกำลังความรู้ให้กับประชาชน ซึ่งผมคิดว่าแทบจะไม่มีมหาวิทยาลัยแห่งใดเทียบได้เลย
เกือบทุกมหาวิทยาลัยมีเรื่องของการจัดการทรัพยากร จะเป็นมหาวิทยาลัยใดๆ ก็แล้วแต่ แต่ไม่มีมหาวิทยาลัยแห่งใดเลยที่ศึกษาเรื่องการจัดการทรัพยากรชาวบ้าน ฉะนั้นทุกครั้งที่รัฐคิดถึงเรื่องการจัดการทรัพยากร จะคิดอะไรที่ชาวบ้านทำไม่ได้เสมอ ความรู้ที่มหาวิทยาลัยจึงเป็นความรู้ที่จะผลักประชาชนออกไปจากการมีอำนาจโดยไม่ได้ตั้งใจนั่นเอง ซึ่งอย่างที่ผมพูดถึงหลักสูตร มธบ.นั้น กลับตรงกันข้าม เพราะผลิตความรู้ขึ้นมาเพื่อดึงประชาชนให้เข้ามามีอำนาจ นี่คือจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์
และถ้าธรรมศาสตร์จะย้ายไปอยู่รังสิต ผมคิดว่าความพร้อมหรือไม่พร้อมไม่ได้อยู่ที่ตัวตึก เพราะหลายที่ของมหาวิทยาลัย มุงหลังคาจากก็สอนได้ แต่ผมคิดว่า รังสิตนั้นเป็นดงของแรงงานไร้ฝีมือ ธรรมศาสตร์จะไปอยู่ที่รังสิต ความพร้อมไม่พร้อมพิสูจน์กันด้วย ธรรมศาสตร์พร้อมที่จะเป็นผู้นำในการสร้างความรู้สำหรับคนหรือแรงงานไร้ฝีมือเหล่านั้นหรือไม่ ? ความพร้อมของธรรมศาสตร์นั้นอยู่ตรงที่ว่า คุณกลับไปหาจิตวิญญาณอันเก่าได้ไหม กลับไปสร้างกำลังให้แก่ภาคประชาชนได้ไหม ?ผมคิดว่าตรงนี้อาจจะเป็นหัวใจสำคัญที่สุด
ผมไม่อยากเห็นธรรมศาสตร์ถูกจำกัดอยู่ที่ท่าพระจันทร์ และไม่ใช่เพียงแต่ว่า จิตวิญญาณธรรมศาสตร์ควรจะขยายไปที่รังสิตเท่านั้น แต่ผมเสนอว่า มันควรขยายไปสามย่าน ควรขยายไปเชียงใหม่ ควรขยายไปวังท่าพระ ควรขยายไปทั่วประเทศไทย แม้แต่นครนายก สมุทรปราการ เพราะทุกสถาบันหลักล้วนแต่เป็นของประชาชนทั้งนั้น
ประเด็นสุดท้ายที่ผมอยากจะพูดก็คือ ท่าพระจันทร์ ถามว่าจะใช้ท่าพระจันทร์ทำอะไรได้บ้าง ควรมีปริญญาตรีหรือไม่ มีอะไรหรือไม่ ผมไม่ทราบทั้งสิ้น แต่ที่แน่นอน ไม่มีมหาวิทยาลัยไหนในประเทศไทยที่เหมือนกับธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์
กล่าวคือมันอยู่กลางชุมชน กลางชุมชนที่ไปมาสะดวกด้วย มาทางไหนก็ได้หมด คนทุกชั้นวรรณะมาธรรมศาสตร์ได้หมด นอกจากนั้นแล้วตรงนี้มันมีประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนอยู่เต็มไปหมด นับตั้งแต่สมัยเสรีไทย มันมีเรื่องราวการต่อสู้เพื่อชาติบ้าง เพื่อประชาธิปไตยบ้าง เพื่อประชาชนบ้าง อยู่ตรงนี้แทบจะทุกหย่อมหญ้าของธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ฉะนั้นผมคิดว่า ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามแต่ ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ต้องเป็นศูนย์กลางความเคลื่อนไหวภาคประชาชนตลอดไป จริงๆแล้วผมอยากเห็นมหาวิทยาลัยแห่งนี้ตั้งงบประมาณสำหรับให้ประชาชนเคลื่อนไหวด้วยซ้ำไป เพราะการเคลื่อนไหวเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ และมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งสถาบันของการเรียนรู้
ผมอยากจะเห็นธรรมศาสตร์เป็นศูนย์กลางการเคลื่อนไหวของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการเมือง ศิลปวัฒนธรรม หรือเศรษฐกิจก็ตามแต่ ทำได้ไหมที่จะตั้งคล้ายๆ กับสังคีตศาลาสมัยก่อน แล้วมีงาน 104 ครั้ง ต่อปี ทุกเสาร์-อาทิตย์ ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลานี้คนที่อยากเล่นเพลงสติงที่ไม่เล่นตามแนวของแกรมมี่และอาร์เอส ถามว่าจะเล่นให้ใครฟังได้บ้าง ไม่มี เพราะไม่มีที่ให้เขาเล่น จะต้องคิดให้ได้ว่าธรรมศาสตร์ เปิด ใครอยากจะเล่นอะไรที่ไม่เหมือนกับตลาดเขา เล่นเลย ไม่เก็บเงิน และยังอาจจะให้เงินช่วยอีกด้วย เพราะมีงบประมาณแล้ว เราช่วยได้
เพราะเวลานี้สิ่งที่น่ากลัวมากๆ ไม่ใช่อำนาจรัฐ >แต่เป็นอำนาจทุนและธุรกิจที่มันครอบงำเราหมด เราขยับไม่ได้ และถ้าธรรมศาสตร์ที่เคยเป็นหัวหอกของการต่อสู้อำนาจเผด็จการทหาร มาวันนี้ธรรมศาสตร์ต้องต่อสู้กับเผด็จการทุนและธุรกิจ เพราะจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์คือการต่อสู้กับเผด็จการ
กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
(หมายเหตุ)
บทความนี้มาจาก ปาฐกถางาน "เดินประชาธิปไตย" เนื่องในวาระ 69 ปี
การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
24 มิถุนายน 2544 ณ หอประชุมเล็ก ธรรมศาสตร์