"พลังงานและวิกฤต" โดย ชัชวาล ปุญปัน และ นิธิ เอียวศรีวงศ์
ณ สวนอัญญา
หลังโรงแรมเชียงใหม่ภูคำ ต.สุเทพ อ.เมือง
จ.เชียงใหม่
ในประเด็นถัดมาเรื่องของ"ความหมายของพลังงาน"
ก็คือ ผมพบว่า วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่ครอบงำโลกอยู่ในปัจจุบัน เป็นวิธีคิดแบบเพศชาย
และผมคิดว่าวิธีคิดเรื่องพลังงาน ก็เป็นวิธีคิดแบบเพศชายด้วย ก็คือว่า เราจัดการ
แทรก ชอนไชเข้าไป เพื่อรีดเค้นมันออกมา ผ่ามัน ตัดมัน บุกมันเข้าไป เป็น reductionism
วิธีคิดแบบนี้ เป็นวิธีคิดพลังงานแบบเพศชาย แต่ในขณะเดียวกัน เราสูญเสียในสิ่งที่เรียกว่า feeling ความรู้สึกที่เรามีต่อสิ่งแวดล้อม ความรู้สึกที่มีต่อสรรพสิ่ง ต่อสิ่งที่มีชีวิต
-พลังงานจากพลังงานปฐมภูมิที่มนุษย์ใช้โดยพึ่งพิงกับธรรมชาติโดยตรงได้เปลี่ยนมาเป็นพลังงานทุติยภูมิ ก็คือ"ไฟฟ้า" มันได้นำเอาลม เอาน้ำ เอาความร้อน เอาป่าไม้ ไปเป็นไฟฟ้า และในที่สุดเราก็เค้นเข้าไปถึงอะตอม เอานิวเครียส เอาสิ่งที่เราได้จากพลังงานเหล่านั้นมาผลิตเป็นความร้อน แล้วก็เอาไปทำเป็นไฟฟ้าอีกทีหนึ่ง ผมเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นการตัดต่อพันธุกรรมของพลังงาน คือหมายความว่า เราได้ตัดแต่งพันธุกรรมพลังงานมานานแล้ว นานกว่าพันธุกรรมทางชีวภาพที่กำลังเกิดขึ้น
release date
150345
หากประสบปัญหา
ภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน
กรุณาลดขนาด font ลงมา
จะแก้ปัญหาได้
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
"พลังงานกับงานที่มีพลัง"
วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2545 เวลา 14.00 น.
หัวข้อแรก "พลังงานและวิกฤต"
-เปลือยพลังงาน-วิกฤตของใคร-
นำเสนอโดย ชัชวาล ปุญปัน และ นิธิ เอียวศรีวงศ์
ณ สวนอัญญา ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
วารุณี ภูริสินสิทธิ์ : การเปิดชั้นเรียนของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนครั้งนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ"พลังงาน" เพราะเราเห็นว่า พลังงานเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ซึ่งไม่เพียงมีผลต่อตัวเราเอง และรอบตัวเราเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อสังคมโลกด้วย นอกจากนี้ยังมีผลต่ออนาคตของมนุษยชาติในแง่ที่ว่า การพยายามค้นหาพลังงานมาใช้ ได้ก่อให้เกิดการทำลายล้างสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ยิ่งกว่านั้น เรายังพบว่า พลังงานยังไปเกี่ยวเนื่องกับตัวอำนาจ ความสัมพันธ์ของคนในระดับต่างๆ และในบางครั้งยังมีการพูดกันว่า เรื่องพลังงานจะเป็นสาเหตุที่นำมาซึ่งความขัดแย้งในระดับโลก อันอาจนำมาซึ่งสงครามโลกและความพินาศมากมาย เพราะฉะนั้น การที่เราจะได้มีโอกาสพูดคุยกันถึงเรื่องของพลังงานในแง่มุมต่างๆซึ่งสัมพันธ์เชื่อมโยงกับมนุษย์ จะทำให้เราเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมปัจจุบัน และสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสังคมโลกในอนาคตด้วย
สำหรับวันนี้จะเป็นครั้งแรก ซึ่งเราจะมาพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันในเรื่อง"พลังงานและวิกฤต" ผู้ที่จะนำเสนอวันนี้จะเป็นสองท่านคือ อ.ชัชวาล ปุญปัน และอ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ คงจะใช้เวลาประมาณ 30-40 นาที หลังจากนั้นเราก็จะเปิดโอกาสให้เราพูดคุยกัน ขอเรียนเชิญ อ.ชัชวาล เลยค่ะ
ชัชวาล ปุญปัน : สวัสดีครับ ผมมีประเด็นที่จะพูดวันนี้อยู่ 3 ประเด็นด้วยกันคือ เรื่องแรกเป็นเรื่องของ"ความเป็นมาของพลังงาน", เรื่องต่อมา เป็นเรื่องของ"ความหมายของพลังงานที่เปลี่ยนไป", และเรื่องที่สามคือ"วิกฤตพลังงาน-วิกฤตของใคร"
ความเป็นมาของพลังงาน
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม พลังงานเป็นสิ่งที่มนุษย์ได้ใช้สิ่งเหล่านี้ในวิถีชีวิตประจำวันอยู่แล้วหลักๆ
3 อย่างคือ เราใช้"ความร้อน" ซึ่งได้มาจากดวงอาทิตย์, การเผาฟืน, เผาฟาง, หรือใช้มูลสัตว์.
ส่วนใน"การเดินทาง" เราก็ใช้กล้ามเนื้อของสัตว์, และกำลังของลมซึ่งทำให้เราไปทั่วทุกมุมโลกได้.
อย่างที่สาม"การทำงาน" ซึ่งขาดไม่ได้ เราก็ใช้สัตว์ ใช้ลม และก็ใช้น้ำเป็นหลัก
หลังจากการประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำโดย Thomas Newcomen และ James Watt เมื่อประมาณเกือบ 300 ปีมานี้ เราใช้ไม้ ใช้ถ่านหินเข้ามาช่วยเพื่อที่จะทำให้เกิดพลังงานใหม่ขึ้นมาอย่างมากมาย มนุษย์สร้างเครื่องจักรไอน้ำขึ้นมาใช้ในราวรัชกาลที่ 5 จากนั้นก็มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องแรกกำเนิดขึ้นมา พลังงานน้ำซึ่งเคยใช้ในการหมุน โม่ บด เมล็ดพันธุ์พืช กลายไปเป็นสิ่งที่โม่บดอีเล็คตรอนออกมา คือบดให้เกิดกระแสไฟฟ้า
เพราะฉะนั้น จากสิ่งเหล่านี้เอง ทำให้โลกของเราเกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานจากสิ่งที่เรียกว่า primary source หรือพลังงานชั้นปฐมภูมิ กลายเป็นพลังงานชั้นทุติยภูมิ คือเอาไฟฟ้าเป็นหลัก. ยิ่งกว่านั้นก็คือ ปลายคริสตศตวรรษที่ 19 เราก็พบวิธีการกลั่นน้ำมันจากน้ำมันดิบ มนุษย์ก็เอาสิ่งเหล่านี้มาใช้เป็นการกำเนิดพลังงานไฟฟ้าและเครื่องยนต์กลไกต่างๆ ไฟฟ้าเป็นแกนหลัก แล้วเราก็ไปหาสิ่งที่ไปทำ มาปั่นให้มันเกิดไฟฟ้าขึ้น เช่น จากไม้บ้าง จากถ่านหินบ้าง และในที่สุดก็มาจากน้ำมัน ซึ่งน้ำมันเป็นสิ่งที่เพิ่งกลั่นขึ้นมาได้เมื่อประมาณ 140 ปีมานี้เอง
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลได้มองหาพลังงานใหม่ที่เรียกว่า"พลังงานปรมาณูเพื่อสันติภาพ" เพราะว่าสร้างไฟฟ้าได้อีก เราจัดการมันลงไปในระดับอะตอม เพราะฉะนั้น ภายหลังเมื่อปี พ.ศ.2516 มันเกิดวิกฤตที่เรียกว่า"สงครามพลังงาน"ขึ้นมาเป็นครั้งแรก ทำให้มนุษยชาติรู้สึกเลยว่า พลังงานเป็นเรื่องที่สำคัญมหาศาล, ภายหลังสงครามอาหรับ-อิสราเอล ทำให้น้ำมันอาหรับหยุดผลิตลง ราคาน้ำมันจึงพุ่งขึ้น 3 เท่าภายในคืนเดียว
ในปี พ.ศ.2522 พระเจ้าชาห์ แห่งอิหร่าน ได้ถูกขับออกจากบัลลังค์โดยโคไมนี ราคาน้ำมันก็พุ่งขึ้นอีก หลังจาก 3 เดือนที่ชาห์แห่งอิหร่านได้ถูกขับออกนอกประเทศ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกาะทรีไมล์ไอส์แลนด์เกิดอุบัติเหตุขึ้น ส่งผลให้ order ที่สั่งให้สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถูกยกเลิกตั้งแต่ปี ค.ศ.1973 และหลังจากปี ค.ศ.1978 หรือในปี พ.ศ. 2521 เป็นต้นมาก็เลิกสร้างโรงไฟฟ้าประเภทนี้
ในปี พ.ศ.2431 ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 สังคมไทยได้มีการจำหน่ายไฟฟ้าผูกขาดโดยบริษัทไฟฟ้าสยามจำกัดขึ้นมาเป็นครั้งแรกในสังคมไทย อันนี้ก็คือเรื่องทั่วๆไปซึ่งเกี่ยวข้องกับพลังงาน แล้วก็เข้ามามีบทบาทในสังคมเรา
ความหมายที่เปลี่ยนไปของพลังงาน
ประเด็นที่สองก็คือ
"ความหมายที่เปลี่ยนไปของพลังงาน" พลังงานจากพลังงานปฐมภูมิที่มนุษย์ใช้โดยพึ่งพิงกับธรรมชาติโดยตรง
ได้เปลี่ยนมาเป็นพลังงานทุติยภูมิ ก็คือ"ไฟฟ้า" มันได้นำเอาลม เอาน้ำ เอาความร้อน
เอาป่าไม้ ไปเป็นไฟฟ้า และในที่สุดเราก็เค้นเข้าไปถึงอะตอม เอานิวเคลียส เอาสิ่งที่เราได้จากพลังงานเหล่านั้นมาผลิตเป็นความร้อน
แล้วก็เอาไปทำเป็นไฟฟ้าอีกทีหนึ่ง ผมเรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นการตัดต่อพันธุกรรมของพลังงาน
คือหมายความว่า เราได้ตัดแต่งพันธุกรรมพลังงานมานานแล้ว นานกว่าพันธุกรรมทางชีวภาพที่กำลังเกิดขึ้น
ที่พูดเช่นนั้นเพราะว่า พลังงานไฟฟ้ามันไม่สามารถบริโภคโดยตรงได้ ไม่สามารถกินกระแสไฟฟ้าได้ ไม่สามารถเอามาต้มยำได้ สิ่งเหล่านั้นมันทำให้เราอยู่ห่างออกไปจากธรรมชาติอย่างสิ้นเชิงเลยทีเดียว เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งซึ่งเปลี่ยนไปจากคำว่า energy มันเป็นเรื่องของ enemy คือเป็นเรื่องของศัตรูโดยตรง นั่นคือ มันไปบีบคั้นหรือมันไป force ธรรมชาติทุกๆอย่างเอาจากโลก มันเหมือนกับเราบีบโลก เพื่อคั้นมันออกมา เพื่อให้มันสร้าง second resource ให้เรา
แต่สิ่งที่น่าคิดอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อมาดูประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าในปัจจุบัน เราพบว่ามันไร้ประสิทธิภาพมาก แม้ว่ารูปแบบพลังงานที่ได้ออกมา เราจะใช้ไฟฟ้าได้สะดวก แต่ไร้ประสิทธิภาพที่สุด เพราะเหตุว่าการผลิตกระแสไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า ผ่านสายส่งและมาถึงสถานีย่อย ประสิทธิภาพเหลือเพียงแค่ 25% เท่านั้น คือผลิตขึ้นมา 100 จะใช้งานได้เพียง 25% เท่านั้น มันสูญเสียไปในเส้นทางและอื่นๆเป็นจำนวนมากมาย
เราพบว่าเกษตรกรรมโบราณ มีประสิทธิภาพสูงมากในด้านพลังงาน เพราะว่าผลผลิตได้ถึง 20 เท่าของพลังงานที่ใส่เข้าไป มันเทียบกันได้อย่างไร เช่น วัว ควาย นอกจากมันเป็นเหมือนเครื่องกำเนิดพลังงานให้เราแล้ว มันยังให้มูลสัตว์ มันยังกินอาหารธรรมชาติ ตายแล้วเป็นปุ๋ย มันเข้ากับธรรมชาติได้อีก แล้วมันหล่อเลี้ยงธรรมชาติ ในขณะที่เครื่องจักรกล ตัวมันเองเป็นมลพิษ มันรับประทานน้ำมันเป็นอาหาร เมื่อมันตาย มันเป็นของเสียทางมลภาวะ ที่สำคัญมันกินไม่ได้เพราะว่ามันเป็นสิ่งแปลกปลอม
ยิ่งไปกว่านั้น การขุดเจาะน้ำมันขึ้นมาใช้เมื่อราวต้นศตวรรษก่อน การดูดเอาน้ำมันขึ้นมาใช้ ต้องใช้ก๊าสธรรมชาติเป็นตัวฉีดมันขึ้นมา ในสมัยนั้น เรายังไม่มีความรู้พอว่าก๊าสธรรมชาติเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ เอามาสร้างเป็นพลังงานได้ เราก็ใช้ก๊าสธรรมชาติฉีดน้ำมันดิบขึ้นมา และพบว่า เป็นเวลานานนับทศวรรษที่ก๊าสธรรมชาติถูกใช้เป็นเครื่องมือในการฉีดน้ำมันดิบขึ้นมา
มูลค่าของก๊าสธรรมชาติที่สูญเสียไป มากกว่ามูลค่าของน้ำมันที่ผลิตได้เสียอีก อันนี้ก็คือสิ่งที่เราคิดว่าเราได้ประโยชน์จากมัน แต่ภายหลังเราพบว่า เราสูญเสียจากมันมากมาย
ความหมายของพลังงาน
ในประเด็นถัดมาเรื่องของ"ความหมายของพลังงาน"ก็คือว่า ผมพบว่า วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่ครอบงำโลกอยู่ในปัจจุบัน
เป็นวิธีคิดแบบเพศชาย และผมคิดว่าวิธีคิดเรื่องพลังงาน ก็เป็นวิธีคิดแบบเพศชายด้วย
ก็คือว่า เราจัดการ แทรก ชอนไชเข้าไป เพื่อรีดเค้นมันออกมา ผ่ามัน ตัดมัน บุกมันเข้าไป
เป็น reductionism วิธีคิดแบบนี้ เป็นวิธีคิดพลังงานแบบเพศชาย แต่ในขณะเดียวกัน
เราสูญเสียในสิ่งที่เรียกว่า feeling ความรู้สึกที่เรามีต่อสิ่งแวดล้อม ความรู้สึกที่มีต่อสรรพสิ่ง
ต่อสิ่งที่มีชีวิต
ในขณะที่มนุษย์ใช้พลังจากวัวควาย มันมีวัฒนธรรมมากมายมหาศาลที่เป็นเครื่องยืนยันว่า เรากับแหล่งพลังงานมันเป็นชีวิตร่วมกัน มันเป็นพลังชีวิต มันมีการหล่อเลี้ยง มันมีการทำงานร่วมกัน สิ่งเหล่านี้ได้สูญหายไปเลยเพราะเราอยู่ในระบบบริโภคที่เราไม่ต้องไปคำนึงถึงปฐมภูมิอีกแล้ว อันนี้ก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะเสนอไว้
วิกฤตพลังงาน-วิกฤตของใคร
ประเด็นสุดท้ายก็คือ "วิกฤตพลังงาน-วิกฤตของใคร" ผมคิดว่าเรื่องวิกฤตพลังงาน
มันไม่ใช่เป็นวิกฤตของคนส่วนใหญ่ในสังคม แต่มันเป็นวิกฤตของมนุษย์พลังงาน หรือที่เรียกว่า
มนุษย์อุตสาหกรรม ซึ่งไม่ใช่มนุษยชาติ เพราะว่าวิกฤตของมนุษย์พลังงานหรือมนุษย์อุตสาหกรรมนั้น
ไม่สามารถที่จะขาดเลือดพลังงานมาหล่อเลี้ยงได้ ไม่สามารถที่จะขาดไฟฟ้ามาหล่อเลี้ยงได้
เพราะฉะนั้นกลุ่มมาเฟียพลังงาน จึงทนไม่ได้ที่จะมีใครก็ตามมาคัดค้านว่า สิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญ
ไม่จำเป็น หรือพยายามที่จะปกป้องพลังงานปฐมภูมิไว้
สิ่งที่ปรากฏขึ้นเป็นปรากฏการณ์ก็คือว่า การตกใจอย่างคาดไม่ถึงของกลุ่มมาเฟียพลังงาน อันได้แก่กลุ่มหน่วยงานของรัฐที่ทำหน้าที่รีดเค้นพลังงาน เพื่อป้อนเข้าสู่บรรษัทอุตสาหกรรม ที่ตกใจก็เพราะเหตุว่า ไม่น่าเชื่อที่คนบ่อนอกและบ้านกรูดเขาจะลุกขึ้นมาสู้ คิดไม่ถึง เพราะว่ามันชินต่อการรีดเค้นไปเรื่อยๆ แผ่อำนาจอิทธิพลไปเรื่อยๆ จนนึกไม่ถึงว่าอยู่ดีๆจะมีใครสักกลุ่มหนึ่งดันลุกขึ้นมาสู้ นับตั้งแต่การวางท่อก๊าสที่เมืองกาญจนบุรี นับตั้งแต่การต่อต้านโรงไฟฟ้าที่บ้านกรูดและบ่อนอก จนกระทั่งถึงท่อก๊าสไทย-มาเลย์ที่จะนะ สงขลา กลุ่มมาเฟียพลังงานนึกไม่ถึง และทนไม่ได้
กรณีแบบนี้เราจะเห็นได้จากการวิเคราะห์ของ Noam Chomsky ที่วิเคราะห์เรื่องของอเมริกาว่า การที่อเมริกาไม่สามารถทนได้ต่อระบบสังคมคอมมิวนิสต์ โดยใช้คำว่าคอมมิวนิสต์เป็นมายาคติเข้าไปจัดการแทรกแซงทางการเมือง ไม่ใช่เพราะสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่ดีนะครับ แต่ทนไม่ได้ต่อตัวอย่างที่ดี คือในระบบอเมริกัน จะยอมให้กับตัวอย่างที่ดีซึ่งเกิดขึ้นนอกเหนือจากระบบของตนไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องแทรกแซง ไม่ว่าจะเป็นในคิวบา ในเกรนาดา ในนิคารากัว ในโคลัมเบีย หรือในที่ไหนก็ตาม คุณอย่ามีตัวอย่างที่ดีนะ ที่สังคมดันทะลึ่งพึ่งตนเองได้ขึ้นมา เขาจะจัดการทันที Noam Chomsky วิเคราะห์ไว้อย่างนี้
เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าวิธีคิดเกี่ยวกับพลังงานว่าวิกฤตของใคร กลุ่มท้องถิ่นของชุมชน พยายามที่จะสร้างตัวอย่างในการพึ่งตนเองขึ้นมาให้ได้ ดังนั้น กลุ่มบรรษัทข้ามชาติจึงทนไม่ได้ ผมเรียกปรากฏการณ์ของการทนไม่ได้ของกลุ่มมาเฟียอุตสาหกรรมว่าเป็น "ปิยสวัสดิ์เอฟเฟค" คือเป็นปิยสวัสดิ์เอฟเฟคที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ที่ว่า เอ๊! เป็นไปได้อย่างไรที่คุณจะมาคัดค้าน จะมาดื้อแพ่งอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้จึงเป็นปรากฏการณ์ที่ชี้ให้เห็นว่า มนุษยชาติยอมไม่ได้อีกต่อไป
สาเหตุที่เกิด" ปิยสวัสดิ์เอฟเฟค" มันหมายความหรือเป็นอย่างนี้ คือไม่ได้หมายความว่ามีบุคคลที่ชื่อนี้ คือคนที่ชื่อนี้จะมีอยู่หรือไม่ก็ตาม ก็จะมีคนอื่นที่คิดแบบปิยสวัสดิ์เอฟเฟคเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เพราะว่าเรามีการศึกษาและมีระบบเศรษฐกิจที่มันสร้างวิธีคิดแบบนี้ขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา มันพัดเราเข้าไปสู่ความเป็นมนุษย์อุตสาหกรรมมากกว่ามนุษย์ธรรมชาติอยู่ตลอดเวลา
วิธีคิดเกี่ยวกับพลังงานในสังคมไทยโบราณ
ประเด็นสุดท้ายที่ผมคิดว่าอยากจะนำเสนอในที่นี้ก็คือ ผมพยายามสืบค้นว่า วิธีคิดเกี่ยวกับพลังงานที่เรียกว่า
energy มีมาในสังคมไทยมาก่อนไหม? มีมาในล้านนาก่อนไหม? ปรากฏว่าไม่พบ ไม่พบวิธีคิดพลังงาน
แบบที่ว่าเราเอาพลังงานจากน้ำมัน เราเอาพลังงานไฟฟ้า หรือวิธีคิดแบบพลังงานศักย์-พลังงานจลย์
ผมไม่พบ แต่ในยุคหลังรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมากลับพบ จนกระทั่งจอมพลสฤษฎิ์ ย้ายกรมพลังงานออกมาจากสำนักนายกรัฐมนตรีมาจัดการเรื่องพลังงาน
มันมีมาในยุคหลัง แต่ก่อนหน้านั้น ผมสงสัยว่าเขาคิดอะไรเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน
เขาไม่ได้คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ไปสูบเอามา แล้วเอามาจัดการอะไรอย่างนี้
ผมขอยกตัวอย่างว่า เวลาที่คนโบราณชลอพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่จมอยู่ใต้น้ำขึ้นมาประดิษฐานบนบก เขาใช้พลังงานไหม? เขาใช้ครับ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เขาเรียกว่า"ศรัทธาพละ" คือ"พลังศรัทธา" กล่าวคือ มันมีมิติทางจิตวิญญานในการที่จะทำอะไรสักอย่างหนึ่ง มิได้เพื่อหวังประโยชน์ส่วนตัว แต่มันเป็นการหวังว่าโลกหน้าจะได้บรรลุนิพพาน วิธีคิดเรื่องพลังงานอย่างนี้ มันไม่ได้มีอยู่ในวิธีคิดวัฒนธรรมตะวันตกที่แทรกแซงเข้ามา มันเป็นวิธีคิดเกี่ยวกับพละ อันนี้เป็นคำเดิมในสังคมไทย เรามีอย่างอื่นที่มันไปเชื่อมโยงกับมิติทางนามธรรมอื่นๆอีกมาก
เพราะฉะนั้น อันนี้ก็คือสิ่งหนึ่งซึ่งผมคิดว่า คำว่า"พลังงาน" มันได้เปลี่ยนความหมายของพลังชีวิต หรือพลังธรรมชาติ ของสังคมโดยรวมไป ที่สำคัญก็คือว่า แม้ในปัจจุบันนี้ เวลาเราศึกษาเกี่ยวกับเรื่องพลังงานต่างๆ เรามองมันในสายวิทยาศาสตร์หรือวิศวกรรมศาสตร์ก็ตาม เรามองมันในฐานะที่เป็นสิ่งซึ่งมันรอเราอยู่ให้เราไปขุดค้นมันขึ้นมา ไปจัดการมัน แต่เราไม่เคยศึกษาฐานะที่มันเป็นอยู่โดยธรรมชาติเลย เช่น ก๊าสธรรมชาติที่อยู่ใต้พิภพ มันทำหน้าที่อะไรกับระบบนิเวศของมัน น้ำมันดิบที่อยู่ใต้พื้นพิภพ มันทำหน้าที่อะไรในระบบนิเวศของมัน
และด้วยหน้าที่อันนี้แหละ เราอาจจะพบว่ามันสำคัญเสียยิ่งกว่าเราดูดมันขึ้นมาใช้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เหมือนอย่างที่เราค้นพบในหลายๆเรื่องปัจจุบันว่า ในที่สุดแล้วเกิด CFC หรือโอโซนในชั้นบรรยากาศทำให้เกิด Green House effect หรืออะไรทำนองนี้เป็นต้น เรายังมุ่งมองอยู่ตลอดเวลาว่า สิ่งเหล่านี้รอวันที่เราจะไปขุดมันขึ้นมาจัดการ
เพราะฉะนั้น เทคโนโลยีอันใหม่ที่กำลังเกิดขึ้น เช่นที่เราพูดถึงเรื่องของ nano-technology(นาโนเทคโนโลยี) หรือ เทคโนโลยีในระดับ 10 ยกกำลังลบ 9 เมตร ซึ่งเล็กมากในระดับอะตอม มั่นใจได้เลยว่ามันจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า"nano-effect" คือผลกระทบในระดับนาโน และนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า"nano-crisis"(วิกฤตนาโน)ต่อไป
ผมก็ขอจบสิ่งที่นำเสนอในเรื่องวิกฤตพลังงานแต่เพียงเท่านี้
นิธิ เอียวศรีวงศ์ : หลังจาก อ.ชัชวาล แล้ว ผมรู้สึกว่า ไม่รู้จะพูดอะไรแล้ว พูดอย่างนี้ดูเหมือนว่า ถ้า อ.ชัชวาลพูดหลังผม ผมมีอะไรจะพูดแยะเหมือนกัน ความจริงแล้วก็ไม่มีเหมือนกัน อันที่จริงผมอยากจะเสริมอะไรบางเรื่องเท่านั้นเอง คือ
การโหมใช้พลังงานในศตวรรษที่
20
เมื่อคืนนี้ ผมพยายามที่จะเข้าไปใน internet เพื่อดูอะไรเกี่ยวกับเรื่องพลังงานทั้งหลาย
แล้วไปพบกราฟอันหนึ่งที่เขาชี้ให้เห็นว่า ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ที่เพิ่งผ่านมา
กราฟพลังงานที่มนุษย์เราใช้มาตั้งแต่โบราณ มันพุ่งสูงเป็นสิบเท่าตัวเลยก็ว่าได้ของช่วงเวลาก่อนหน้านี้ที่เพิ่งผ่านไป
แม้แต่เมื่อหลังเกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อคริสตศตวรรษที่ 19 แล้ว เราใช้พลังงานเพิ่มขึ้นมากก่อนหน้านี้มากมาย
แต่ว่ายิ่งมาถึงปลายศตวรรษที่ 20 เราใช้พลังงานมากเสียยิ่งกว่าตอนปฏิวัติอุตสาหกรรมแรกด้วยซ้ำไป
มากเป็นสิบเท่าตัวเลยก็ว่าได้
สิ่งหนึ่งซึ่งน่าตกใจก็คือว่า ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 กับการใช้พลังงานอย่างมโหฬารแบบนั้น มันเกิดขึ้นพร้อมๆกันกับการเปลี่ยนแปลงที่เราเรียกกันว่า"โลกาภิวัตน์"ด้วย หมายความว่า เรากำลังเผชิญอยู่กับภาวะความเปลี่ยนแปลงอันหนึ่งที่จะทำให้มีการใช้พลังงานสูงสืบต่อไปอีกเป็นเวลานานทีเดียว จนกระทั่งถึงจุดที่ อ.ชัชวาล เรียกว่า"วิกฤต" นั่นเป็นประเด็นที่หนึ่งซึ่งผมอยากจะเสริม
การรวมศูนย์พลังงาน
ประเด็นที่สองที่อยากจะเสริมก็คือเรื่องเกี่ยวกับที่ อ.ชัชวาล พูดถึงเรื่องการเปลี่ยนการใช้พลังงาน
จากพลังงานปฐมภูมิ เช่น ผ่าฟืนมาหุงข้าว หรืออะไรก็แล้วแต่ มาเป็นพลังงานทุติยภูมิ
คือแปลงความร้อนของฟืนให้กลายเป็นพลังไอน้ำ แล้วเอาไอน้ำไปผลักกังหัน แล้วกังหันก็ไปทำให้เกิดไฟฟ้าขึ้นมา
มันทำให้เกิดสิ่งต่างๆดังที่ อ.ชัชวาล พูดมาแล้ว แต่อีกอันหนึ่งที่ผมอยากจะย้ำในที่นี้ก็คือว่า
มันทำให้เกิดการรวมศูนย์การใช้พลังงาน หมายความว่า ถ้าเราต่างยังใช้ฟืนกันอยู่
เราทุกคนยังคงต้องไปหาฟืน หรืออย่างมากก็ไปซื้อฟืนที่ตลาดมาใช้
แต่ตอนนี้ เราใช้พลังงานโดยที่เราไม่รู้สึกตัวเลยคือว่า มันมีปล๊กให้เราเสียบอยู่ที่ข้างฝาผนังบ้าน แล้วเราเสียบเข้าไปโดยที่เราไม่รู้สึกตัวเลย แล้วถามว่า มันผลิดพลังงานที่ป้อนให้ที่ปลั๊กเรา มาจากไหน? ไม่รู้เหมือนกันว่ามาจากไหน รู้แต่ว่ามันมีสายอยู่ทั่วประเทศ แต่สถานที่ผลิตอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้ แล้วมันก่อให้เกิดอะไรขึ้น
คำตอบคือ มันก่อให้เกิดการรวมศูนย์พลังงานเพื่อประโยชน์ในทางการผลิตทางเศรษฐกิจ เพราะว่า เชื่อกันว่าถ้ามีการรวมศูนย์การผลิตแล้ว จะสามารถผลิตพลังงานขึ้นมาได้ในราคาที่ได้กำไรมากขึ้น และถ้าจะถามต่อไปว่า การรวมศูนย์พลังงานมันได้ก่อให้เกิดอะไรขึ้น
คำตอบก็คือ การรวมศูนย์ที่ว่านี้ เท่าที่ผมนึกออก มันก่อให้เกิดผลกระทบ 3-4-5 อย่างด้วยกันคือ อันที่หนึ่งเป็นสิ่งที่ อ.ชัชวาลพูดไปแล้วคือว่า ไม่มีใครมองเห็นว่าพลังงานที่เราใช้มันมาจากไหน เมื่อไม่เห็นว่ามันมาจากไหน เราจึงพร้อมที่จะผลักภาระความรับผิดชอบ ผลักภาระความสกปรก ผลักภาระของความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและอื่นๆให้กับคนอื่นๆได้โดยที่เราไม่รู้สึกอะไรเลย
เวลาที่เราเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องโรงไฟฟ้าที่บ่อนอกและบ้านกรูด จะมีคนจำนวนมากเลยรู้สึกว่า คนจำนวนน้อยจะต้องเสียสละให้กับคนส่วนใหญ่ เพราะว่าคนส่วนใหญ่อยากจะได้พลังงานสะอาดๆจากปลั๊กข้างฝา โดยไม่ได้นึกถึงคนอื่นๆ
อย่าคิดว่าภาพนี้เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองไทย แต่ว่ามันเกิดขึ้นทั้งโลก ในอเมริกา มีการผลักภาระของสิ่งต่างๆออกไปแยะมาก เช่นเป็นต้นว่า ในอเมริกาเวลานี้ผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลดลง คือมีไม่เกิน 25% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตในสหรัฐฯ แล้วก็กำลังจะลดลงไปกว่านี้ด้วย เพราะว่ามันไม่ได้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น แต่อเมริกาขายถ่านหินแก่โลกแยะมาก เพราะว่ามันไปผลิตพลังงานที่ไกลจากตัวเอง แล้วตัวก็ไม่เกี่ยวข้องอะไรด้วย และเหตุผลที่เขาไม่ผลิตโรงไฟฟ้าถ่านหินนอกจากมันสกปรกแล้วก็คือว่า เมื่อคิดค่าขนส่งบวกเข้าไปในการทำโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว ปรากฏว่ามันค่อนข้างแพง
แต่น่าสังเกตนะครับว่าประเทศด้อยพัฒนาอย่างเรา ประเทศที่กำลังพัฒนาอีกเป็นจำนวนมาก ซื้อถ่านหินจากคนอื่น ขนมาไกลกว่าที่อเมริกาขนด้วยซ้ำไป เพื่อมาผลิตไฟฟ้า แล้วก็สกปรกอยู่ในบ้านเรา โดยที่ทางเขาเองก็สามารถได้เงินจากของสกปรกที่ขายออกไปด้วย ที่จริงผมควรจะพูดด้วยว่า การเปิดเหมืองถ่านหินนั้นอันตรายเป็นอย่างมาก วิธีเปิดหน้าดินในอังกฤษ ห้ามเปิดหน้าดิน ต้องเปิดโดยวิธีการเจาะอย่างเดียว เขาห้ามมีการเปิดหน้าดิน ซึ่งเราจะไม่เข้าไปดูในรายละเอียด
ปัญหาก็คือว่า เมื่อไหร่ที่คุณรวมศูนย์การผลิตพลังงาน คนส่วนใหญ่จะมองไม่เห็นผลร้ายของการผลิตพลังงานในลักษณะนี้ และผลักภาระให้คนอื่นได้ตลอดเวลา ไม่ว่าพวกเราชาวบ้าน ไล่ไปจนถึงมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา
การรวมศูนย์อำนาจพลังงานคือสิ่งที่ตรงข้ามกับประชาธิปไตย
อันที่สองก็คือว่า มีการรวมศูนย์อำนาจโดยอัตโนมัติ อันนี้ผมวงเล็บไว้เลยว่า การรวมศูนย์อำนาจนั้นก็คือสิ่งที่มันตรงข้ามกับสิ่งเราเรียกว่าระบอบประชาธิปไตย
เพราะระบอบประชาธิปไตยก็คือ การกระจายให้ทุกๆคนมีโอกาส หรือมีส่วนในเรื่องการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ
ถูกไหม? เมื่อไหร่ที่มีการรวมศูนย์อำนาจก็จะมีการตัดสินใจที่อยู่กับคนจำนวนน้อย
แล้วเรานึกว่า การตัดสินใจด้านพลังงานเป็นเรื่องของการตัดสินใจด้านเทคนิค ซึ่งจริงๆไม่ใช่
จำนวนมากของการตัดสินใจด้านพลังงานไม่เกี่ยวกับด้านเทคนิคอะไรเลย แต่เกี่ยวกับเรื่องการเลือกที่จะให้ใครได้ ที่จะให้ใครเสีย
เช่นเป็นต้นว่า ถ้าเราอยากจะส่งเสริมอุตสาหกรรมส่งออกในประเทศเรา ซึ่งมีผู้ได้ประโยชน์รวมทั้งคนงานด้วยไม่เกิน 10 ล้านคน เราก็อาจจะให้สิทธิพิเศษแก่โรงงานอุตสาหกรรมในการใช้ไฟฟ้าในราคาที่ถูกกว่าชาวบ้าน อันนี้ก็คือการตัดสินใจเลือกที่จะให้คนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมส่งออกได้ แล้วประชาชนโดยทั่วๆไปเสีย ฟังดูเหมือนว่าเราไม่ได้เสีย แต่เสียครับ เพราะค่าไฟฟ้าคิดจากมวลรวมทั้งหมดของไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นว่าต้นทุนมันเท่าไหร่ ถ้าฝ่ายหนึ่งเสียน้อย อีกฝ่ายหนึ่งก็เสียมาก เพื่อที่จะให้มันคุ้มกับต้นทุนของการผลิต
นอกจากเรื่องของการคิดค่าไฟฟ้าและอื่นๆแล้ว การรวมศูนย์อำนาจเรื่องพลังงาน มันยังไปกระทบต่อการตัดสินใจเรื่องสำคัญของสังคมนั้นๆมากมายหลายอย่างเหลือเกิน ซึ่งผมจะไม่เข้าไปในรายละเอียด เพราะฉะนั้น ตัว centralization หรือตัวการ"รวมศูนย์"พลังงาน มันก่อให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจ ยกอำนาจให้แก่คนกลุ่มหนึ่ง แน่นอน นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง และกลุ่มที่ อ.ชัชวาล เรียกว่า"มาเฟียพลังงาน" ซึ่งผมขอเรียกว่า Energy Aristocracy คือกลุ่ม"ขุนนางพลังงาน"
ขุนนางพลังงาน
กลุ่มขุนนางพลังงานเหล่านี้ก็จะได้อำนาจค่อนข้างมาก นั่นคือเหตุผลที่ประเทศซึ่งเป็นประชาธิปไตยน้อยอย่างเช่นประเทศเรา
หรือแม้แต่ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากอย่างอเมริกาก็ตาม จึงค่อนข้างลังเลใจในการอุดหนุนการใช้พลังงานทางเลือก
เหตุผลก็เพราะว่า พลังงานทางเลือกซึ่งจะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแสงแดด ไม่ว่าจะเป็นลม
หรือไม่ว่าจะเป็น fuel cell ซึ่งทำขึ้นมาจากไฮโดรเจนก็ตามแต่ มันจะมีลักษณะรวมศูนย์ไม่ได้
เช่นเป็นต้นว่า โรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ แต่ละโรงมันจะผลิตได้ไม่เกินร้อยเมกาวัตต์
เพราะฉะนั้นคุณจะต้องมีโรงไฟฟ้ากระจายอยู่ในที่ต่างๆเต็มไปหมด
และถ้ากระจายแบบนั้น คนในชุมชน คนในท้องถิ่นก็จะเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจสร้าง ไม่สร้าง ปิดหรือเปิดโรงไฟฟ้า จะจ่ายไฟฟ้าเท่าไหร่ จะเก็บไฟฟ้าเอาไว้เท่าไหร่ คุณจะไปยกอำนาจอันนั้นให้กับพวกขุนนางพลังงานไม่ได้ การต่อต้านพลังงานทางเลือก ในส่วนหนึ่งลึกๆลงไปแล้วนั้น เป็นการต่อต้านหนทางของประชาธิปไตยด้วย คนเหล่านี้กลัวจะสูญเสียอำนาจ
การเมืองพลังงาน 5
ประเด็นต่อมาก็คือว่า พลังงานมันไม่ได้เป็นอย่างที่ผมพูดอย่างเดียว นโยบายทั้งหมด
มันก่อให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Energy Politics หรือ"การเมืองด้านพลังงาน"ที่จะเข้าไปกำหนด
เมื่อสักครู่นี้ผมได้พูดถึงการกำหนดว่ากลุ่มใดได้ กลุ่มใดเสีย นอกจากนั้นแล้วยังเข้าไปยุ่งในตัวการเมืองในระบบโดยตรง ทุกคนคงรู้เรื่องเกี่ยวกับบริษัท Enron ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้เป็นข่าวอื้อฉาวอยู่เมื่อไม่นานมานี้ ในเวลานี้ปรากฏว่าบริษัท Enron ได้จ่ายเงินสนับสนุนนักการเมืองทั้งสองพรรคใหญ่ ไปจนกระทั่งถึงรองประธานาธิบดี และอื่นๆเยอะแยะไปหมด
นอกจากนั้นแล้วมีการเสนอรายชื่อคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติให้แก่ประธานาธิบดีอเมริกันครบชุดเลย ท่านประธานาธิบดีก็ไม่ได้ตัดสินเลือกตามที่บริษัท Enron เสนอมาให้ครบชุดหรอก แต่อย่างน้อยก็เลือก 2 คนในรายชื่อที่บริษัท Enron เสนอ เข้ามานั่งอยู่ในคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา
ยิ่งกว่านั้นแล้วยังมีหลักฐานว่า ท่านรองประธานาธิบดีซึ่งเป็นผู้ดูแลนโยบายด้านพลังงาน ได้มีการพบปะกับผู้บริหารบริษัท Enron ถึง 6-7 ครั้ง โดยการให้บุคคลเหล่านี้เสนอนโยบายด้านพลังงานต่างๆนานา ฉะนั้นบริษัทพลังงานใหญ่ๆทั้งหลาย ซึ่งในเมืองไทยกำลังเริ่มเกิดขึ้น ไม่ได้เป็นบริษัทธุรกิจธรรมดาๆ แต่มันจะไปสัมพันธ์กับการวางนโยบายในทางการเมือง และจะเข้าไปแทรกแซงนโยบายเหล่านั้นอย่างค่อนข้างมากด้วย ผมคิดว่ากรณีของบริษัท Enron ยิ่งขุดเข้าไปมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเห็นการโยงใยในทางการเมืองระหว่างบริษัทธุรกิจแห่งนี้กับการเมืองอเมริกันมากขึ้นไปอีก อันนี้ทั้งหมดมันมาจากเรื่องการรวมศูนย์อำนาจพลังงาน
ความขัดแย้งระหว่างชาติในปัญหาด้านพลังงาน
ประเด็นต่อมาซึ่งอยากจะเสริมก็คือ เรื่องของความขัดแย้งระหว่างชาติที่ อ.วารุณี
เริ่มต้นเอาไว้นิดหน่อย ในปัจจุบันนี้ แหล่งพลังงานสำรองน้ำมันและแก๊สที่ใหญ่มากของโลก
และยังไม่ได้มีการถูก exploit หรือถูกนำมาใช้อย่างจริงจังเลย ใหญ่มหึมามาก อยู่ในตอนกลางของทวีปเอเชีย
แถวทิวเขาคอเคซัสที่แบ่งแยกระหว่างเอเชียและยุโรปออกจากกัน ก็จะมีรัฐแถวๆนั้นคือรัฐซึ่งเคยเป็นรัฐบริวารของโซเวียดมาก่อน
อย่างเช่น อาเซอร์ไบจัน, จอร์เจีย, เป็นต้น
ในรัฐแถวๆนั้น เวลานี้ทั้งยุโรปถ้าจะสังเกตให้ดีจะพบว่า ผู้นำยุโรปเดินทางไปเยี่ยมจอร์เจียบ่อยครั้งมาก ไปอาเซอร์ไบจันบ่อยครั้งมาก ทั้งหมดเหล่านี้โดยสรุปก็คือว่า มันมีมหาอำนาจที่กำลังมองไปที่จุดพลังงานแห่งนี้อยู่ 3-4 จุดด้วยกัน อันหนึ่งคือรัสเซีย ซึ่งไม่ได้มองที่พลังงาน แต่มองเพราะอยากจะรักษาปกป้องอิทธิพลของตัวเองซึ่งเคยมีมาในสมัยโซเวียดเอาไว้ มีสหภาพยุโรปที่พยายามจะต่อท่อไปเจาะน้ำมันตรงนั้น มีอเมริกาที่คิดว่า ถ้าต่อท่อข้ามมายังอลาสก้าได้ ก็จะสามารถใช้ในอเมริกาได้ มีจีนซึ่งคิดว่าอยู่ไม่ไกลจากแหล่งพลังงานมหึมาอันนั้นเหมือนกัน
เพราะฉะนั้น อย่างน้อยที่สุดมันมี 4-5 มหาอำนาจด้วยกันที่กำลังมุ่งไปในจุดเดียวกัน แล้วก็ก่อให้เกิดความขัดแย้งกันค่อนข้างมาก ถ้าดูจากสงครามอัฟกานิสถานในเวลานี้ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากจุดที่ผมกำลังพูดถึง ก็เป็นก้าวสำคัญที่อเมริการ่วมมือกับยุโรป ในการที่จะเข้าไปวางอิทธิพลของตัวเองเข้าไปไว้ในดินแดนที่อยู่รอบแหล่งพลังงานที่พูดถึง เพราะฉะนั้น ลึกลงไปในกรณีของอัฟกานิสถาน อาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของการแสวงหาพลังงานด้วย
ผมขอพอแค่นี้ดีกว่าครับ
อรรถจักร สัตยานุรักษ์ : ผมขอเพิ่มมิติในการมอง นอกจากเราจะมองทางด้านอื่นๆที่อาจารย์ทั้งสองท่านพูดแล้ว ผมคิดว่า เวลาที่เราใช้คำว่า"พลังงาน" สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมอุตสาหกรรม ทำให้เรารู้สึกว่า พลังงานเป็นเพียงพลังการผลิตที่มันเป็นกลางๆที่ทุกคนจะได้ประโยชน์ อย่างที่ อ.นิธิ พูดว่าเสียบปลั๊กแล้วได้ เอาเข้าจริงๆแล้ว ตัวพลังงาน หรือตัวสารที่จะนำไปสู่พลังงานขั้นที่สองทั้งหมด มันคือปัจจัยการผลิตอันหนึ่งซึ่งมันมีการผูกขาดสูงมากขึ้น และการผูกขาดนี้ไม่ว่าจะเป็นการผูกขาดในนามของชาติหรือในนามของกลุ่มทุน ล้วนแล้วแต่นำไปสู่ความขัดแย้งสูงมากขึ้น
ในกรณีของประเทศไทย สิ่งที่ต้องรื้อโครงความคิดก็คือว่า รื้อเรื่องโครงความคิดเรื่องพลังงานซึ่งมันเหมือนกับสิ่งที่เป็นกลางที่ทุกคนจะใช้ประโยชน์ร่วมกัน ผมคิดว่าตรงนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าหากเรารื้อได้ คนจำนวนหนึ่งในสังคมไทยก็จะเห็นว่า ตัวพลังงานนั้น การผลิตทั้งหมด รวมถึงกลุ่มขุนนางพลังงาน คนกลุ่มนี้เท่านั้นที่ได้รับผลประโยชน์ ซึ่งคนกลุ่มนี้ก็จะเชื่อมโยงกับบริษัทพลังงานทั้งหลาย ดังนั้น ถ้าหากเรารื้อโครงความคิดที่มองถึงพลังงานเป็นกลางๆได้ เราก็จะมองเห็นทางออกเพิ่มขึ้นกว่าเดิม
ช่วงสนทนาในชั้นเรียน
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน (คลิก)
คลิกไปยังหัวข้อเกี่ยวเนื่องเรื่องพลังงาน
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม