โครงการสัมนาทางวิชาการเรื่อง "ทางเลือกของการจัดการน้ำในภาคอีสาน"
วันที่ 26 - 27 - 28 เมษายน 2545
ณ สถาบันราชภัฏสกลนคร จังหวัดสกลนคร

หลักการและเหตุผล
น้ำเป็นทรัพยากรที่นับวันจะขาดแคลนมากขึ้น เพราะความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศ ฉะนั้นการจัดการน้ำจึงมีความสำคัญขึ้นตามลำดับ เพราะเพียงแต่การจัดหาน้ำให้มีพอใช้มากขึ้นเพียงอย่างเดียว ดังที่ราชการไทยได้พยายามทำตลอดมา ก็ได้บรรลุถึงขีดจำกัดทั้งในทางระบบนิเวศน์และทางสังคมแล้ว หากยังเพียรพยายามผลักดันการจัดการน้ำไปในด้านการจัดหาแต่ด้านเดียวเช่นนี้ จะก่อให้เกิดความทรุดโทรมต่อระบบนิเวศน์อย่างหนัก และก่อให้เกิดความตึงเครียดในสังคม ในขนาดที่อาจกลายเป็นความรุนแรงอย่างสืบเนื่องไม่สิ้นสุดได้

ดังนั้น จึงควรเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำให้เพิ่มพูนขึ้นในสังคม อันเป็นความรู้ที่หลากหลายมิติมากกว่าด้านเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว

เท่าที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เราให้ความสำคัญทางด้านเทคโนโลยสมัยใหม่แต่เพียงด้านเดียว การจัดการน้ำ และส่วนใหญ่ของเทคโนโลยีเหล่านี้มักเป็นเทคโนโลยีนำเข้า ที่เราต้องพึ่งพาผู้ผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านวิศวกรรม ทุน หรือฝีมือแรงงานสำหรับการบำรุงรักษา เช่น เขื่อน อ่างเก็บน้ำ และเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่

เป็นต้น ยิ่งการผลิตเชิงพาณิชย์ขยายตัวขึ้นมากเท่าไร น้ำก็ยิ่งไม่พอใช้ แล้วเราก็จะแก้ปัญหาด้วยการทุ่มเทคโนโลยีใหญ่ขึ้นๆ เรื่อยไป จนในปัจจุบัน ก็มีหลายโครงการที่ผันน้ำจากลุ่มน้ำหนึ่งไปยังอีกลุ่มน้ำหนึ่ง ซึ่งเป็นการเข้าไปแทรกแซงระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติอย่างขนานใหญ่ โดยที่เราไม่รู้เลยว่าจะก่อให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงอะไรได้บ้าง ทั้งนี้ ยังไม่พูดถึงความเดือดร้อนของคนอีกจำนวนมากที่จะต้องอพยพโยกย้ายและสิ้นเนื้อประดาตัว เพื่อเปิดทางให้แก่อภิมหาโครงการเหล่านี้

แท้ที่จริงแล้ว การจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพที่สุดไม่ได้มีคำตอบเดียวคือเทคโนโลยีสมัยใหม่เท่านั้น ทั้งนี้ ย่อมขึ้นกับสภาพทางนิเวศน์ในแต่ละลุ่มน้ำแต่ละท้องที่ ทั้งความพร้อมและวัฒนธรรมของชุมชนในท้องท ี่ซึ่งเป็นผู้ใช้และผู้จัดการ ก็มีความหลากหลายต่างกันไป ทำให้เกิดการจัดการน้ำหลายรูปแบบ

ในภาคอิสานเองนับแต่โบราณกาล ก็มีการจัดการน้ำหลายรูปแบบมานาน นับตั้งแต่ระบบเหมือง น้ำซ่าง กุด การใช้หลุก การเก็บน้ำในบ่อผิวดิน ฯลฯ เป็นต้น จนมาถึงสมัยปัจจุบัน การส่งน้ำด้วยคลองชลประทานของราชการ ก็ยังมีการใช้อย่างมีประสิทธิภาพไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าชาวบ้านได้เข้าไปมีส่วนในการจัดการมากน้อยเพียงใดอยู่ด้วย

แต่ความรู้เกี่ยวกับทางเลือกของการจัดการน้ำเหล่านี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก เมื่อพูดถึงการจัดการน้ำก็มักคิดว่าเป็นหน้าที่ของผู้เชี่ยวชาญที่เรียนจบด้านวิศวกรรมชลประทานเป็นผู้จัดการแต่ฝ่ายเดียว ทำให้การจัดการน้ำในประเทศไทยมีอยู่เพียงมิติเดียวคือมิติด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ และมักทำในลักษณะการสร้างที่เก็บ"ต้นทุนน้ำ"เอาไว้มากๆ ในที่หนึ่งที่ใด มากกว่าการกระจายการจัดการออกไปให้กว้างขวางและมีความหลากหลาย ครั้นเทคโนโลยีประเภทนี้ประสบอุปสรรคด้านระบบนิเวศและสังคมดังที่กล่าวแล้ว จึงหาทางออกไม่ได้ นอกจากทุ่มเทเทคโนโลยีให้ใหญ่ขึ้นไปอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

องค์กรร่วมจัดสัมมนาครั้งนี้เห็นว่า การสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับทางเลือกของการจัดการน้ำ มีความสำคัญและมีความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับสังคม จึงได้ร่วมกันจัดการสัมมนาครั้งนี้ขึ้นเพื่อสำรวจและ รวบรวมความรู้เกี่ยวกับทางเลือกของการจัดการน้ำ เท่าที่พอมีอยู่บ้างในเวลานี้ ชวนให้ผู้สนใจได้มาพบปะแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ และเป็นจุดเริ่มต้นที่จะกระตุ้นเตือนให้สังคมลงทุนสร้างความรู้ด้านนี้ออกมาให้มาก เพื่อให้ทางออกแก่สังคมในเรื่องของทรัพยากรน้ำ เพื่อเปิดทางเลือกที่หลากหลายแก่สังคมว่า นอกจากการใช้เทคโนโลยีขนาดใหญ่และการจัดการในเชิงธุรกิจดังข้อเสนอของเอดีบีแล้ว ยังมีทางเลือกของการจัดการน้ำอื่นๆ อะไรอีกบ้าง แต่ละแนวทางให้ผลดีผลเสียต่างกันอย่างไร

การจัดการน้ำนั้นมีอย่างน้อยสามมิติ ซึ่งสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอยู่เสมอ นั่นก็คือ

มิติที่หนึ่ง ทางด้านเทคโนโลยี นับตั้งแต่การเก็บน้ำใส่ตุ่มไปจนถึงการสร้างเขื่อนหรือการผันน้ำ
มิติที่สอง คือ ด้านนิเวศวิทยา เพราะการมีอยู่ของน้ำในแต่ละฤดูขึ้นอยู่กับการทำงานในระบบนิเวศอยู่มาก และ
มิติที่สาม คือ ด้านสังคมและวัฒนธรรม
ซึ่งกำหนดวิถีทางที่มนุษย์จะเข้าไปจัดการน้ำ และจัดการกันเองเพื่อเอื้อต่อวิถีทางจัดการน้ำที่ตัวเลือก

ประเด็นของการสัมมนาครั้งนี้จะนำเสนอข้อมูล ความรู้และระบบคิดที่เกี่ยวพันอยู่กับสามมิติดังกล่าวนี้ 00000000

องค์กรร่วมจัด

- สถาบันราชภัฏสกลนคร
- มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
- สำนักข่าวประชาธรรม
- เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( SEARIN)
- สมัชชาคนจน
- เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดสกลนคร
- กป.อพช.อิสาน

กำหนดการ

26 เมษายน 2545 ร่วมเดินเท้าทางไกลกับพี่น้องสมัชชาคนจน ระยะทาง 5 กิโลเมตร

27 เมษายน 2545

- 9.00 - 11.30 การดึงน้ำ : หลุก เหมือง เครื่องสูบน้ำขนาดเล็ก โดย สนั่น ชูสกุล, ไพจิตร ศิลารักษ์
- 12.00 - 14.30 การเก็บน้ำ : น้ำผิวดิน แหล่งน้ำขนาดเล็ก น้ำซ่าง บ่อน้ำตื้น เกษตรทางเลือก โดย สินี ช่วงฉ่ำ, แม่ปราณี โนนจันทร์ และอรุณ หวายคำ
- 14.30 - 16.30 พื้นที่ชุ่มน้ำ : กุด หลง ป่าบุ่งป่าทาม หนอง โดย หาญณรงค์ เยาวเลิศ, วิยุทธ์ จำรัสพันธุ์

28 เมษายน 2545

- 9.00 - 11.00 สังคมและวัฒนธรรมของการจัดการน้ำ โดย ศรีศักร วัลลิโภดม, บัณฑร อ่อนดำ, จุรินทร์ บุญมัธยัสถ์
- 11.00 - 12.30 ประมวลสรุป โดย ชยันต์ วรรธนะภูติ, นิธิ เอียวศรีวงศ์

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่

ไชยณรงค์ 0 - 53 - 278334 , 0 - 53 - 280712
สุชาดา 01 - 5685113
เหลาไท 0 - 42 - 743977 , 09 - 8414609

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม