คำชี้แจง : บทความชิ้นนี้ แปลและเรียบเรียงขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนวิชาปรัชญาศิลป์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำหรับให้นักศึกษาอ่านเพิ่มเติมการบรรยายเรื่อง ศิลปะอีโรติค ในมุมมองสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา / ข้อความบางส่วน อาจไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด เนื่องจากต้องการแปลและเรียบเรียงให้ใกล้เคียงกับต้นฉบับ โดยไม่ต้องการเพิ่มเติมเนื้อหาส่วนตัวมากจนเกินไป
ความย่อของงานแปลชิ้นนี้
เรื่องศิลปะอีโรติค
ที่ตั้งชื่อว่า โป๊-เปลือย-ลามก-อนาจาร เป็นงานแปลและเรียบเรียงเพื่อปูพื้นฐานเกี่ยวกับความเข้าใจ
ถึงรูปคำศัพท์ ระหว่างคำว่า pornography (โป๊) และ obscenity (ลามก) เพื่อแยกแยะให้เห็นถึงความแตกต่างกันในสาระสำคัญของคำ
2 คำนี้ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน
ยิ่งไปกว่านั้น งานชิ้นนี้ยังจะพูดถึงความเป็นมาของภาพงานศิลปะและวรรณกรรมอีโรติค ในประวัติศาสตร์ - โดยเฉพาะงานทางด้านทัศนศิลป์ซึ่งจะเพียงย้อนกลับไปในยุคประวัติศาสตร์เท่านั้น จนกระทั่งถึงปัจจุบัน(โดยจะไม่พูดถึงงานอิโรติคก่อนประวัติศาสตร์ เช่น ภาพ venus ต่างๆที่สามารถค้นคว้า หรือหาอ่านได้ใน The encyclopedia of world art และหนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะเล่มอื่นๆ) ทั้งในโลกตะวันตกและตะวันออกอย่างสังเขป
นอกจากนี้ จะพูดถึงมิติทางสังคมวัฒนธรรมสมัยใหม่ที่มีมุมมองและท่าทีเกี่ยวกับเรื่องนี้ในแง่ลบ ซึ่งจะให้ภาพคร่าวๆถึงที่มาของสำนึกและความฝังใจดังกล่าว ซึ่งมีอยู่ในสังคมตะวันตก และได้ถ่ายทอดมายังโลกตะวันออกอย่างค่อยเป็นค่อยไป(ผ่านการแผ่ขยายของยุคล่าอาณานิคม) จนสิ่งเหล่านี้ได้ฝังอยู่ในใจของผู้คนโดยทั่วไป. ถัดจากนั้นจะมาดูกันถึงการแปรสำนึกข้างต้นมาสู่กระบวนการทางกฎหมาย ในการตรวจสอบและเซ็นเซอร์และพัฒนาการเกี่ยวกับความเข้าใจในเรื่องนี้ของสังคมร่วมสมัย
งานแปลและเรียบเรียงชิ้นนี้ จะเข้าไปสู่ความรู้เกี่ยวกับศิลปะอีโรติค เพื่อให้ทราบถึงความเป็นมา และการยกประเด็นศิลปะอีโรติคของตะวันออกและตะวันตกมาสำรวจในเชิงกว้าง เพื่อให้ทราบถึงที่มา และพัฒนาการของภาพงานศิลปะในเชิงทัศนศิลป์และวรรณกรรมอิโรติคที่ได้เปลี่ยนแปลงมาจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน
สุดท้าย จะเป็นภาคผนวก ซึ่งจะเป็นการเสริมความรู้เกี่ยวกับ เรื่องของผลงานศิลปะอันเนื่องด้วยเรื่องของกามสูตร และบทกวีความรัก อันโด่งดังไปทั่วโลก อันเป็นทัศนะและท่าทีเกี่ยวกับเรื่องทางเพศของอินเดีย ที่ครั้งหนึ่ง ชาวตะวันตกมองสิ่งเหล่านี้ด้วยสายตาที่ตำหนิ ปราศจากความเข้าใจว่า มีการตั้งคำถามเกิดขึ้นว่า ผลงานดังกล่าวไปเกี่ยวข้องกับเรื่องของศาสนาได้อย่างไร ?
สำคัญมากๆก็คือ ความย่อที่ชี้แจงมาข้างต้นนี้ นักศึกษา อาจจะมองภาพได้ไม่ชัดเท่าที่เสนอมาข้างต้น ทั้งนี้เพราะ ต้นฉบับซึ่งนำมาแปลและเรียบเรียงก็ไม่ได้ชัดเท่าที่สรุปมาข้างต้นจริงๆ จึงใคร่ให้นักศึกษาตระหนักและใช้วิจารณญานในการโยงประเด็นต่างๆเสริมเข้าไปด้วย
1. ประวัติความเป็นมาของเรื่องโป๊และเปลือย
คำว่า"โป๊"(Pornography) : ศัพท์คำนี้ ในปัจจุบัน ผู้คนส่วนใหญ่มีความเข้าใจกันว่าหมายถึง การนำเสนอเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เป็นไปในลักษณะกามวิสัย(erotic)ในสื่อประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะในหนังสือ สิ่งพิมพ์ ภาพถ่าย ภาพเขียน รูปปั้น ภาพยนตร์ หรืออื่นๆ. ถ้าจะพูดให้ชัดก็คือ สื่อเหล่านี้เป็นผลงานต่างๆที่ทำขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ต้องการกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวหรือความเร่าร้อนทางเพศนั่นเอง(cause sexual excitement).
คำว่า pornography (โป๊) มาจากศัพท์ภาษากรีกคือคำว่า Porni (prostitude - โสเภณี) บวกกับคำว่า Graphein (to write - เขียน) รวมแล้วหมายถึง "การเขียนเกี่ยวกับเรื่องราวของโสเภณี". จะเห็นได้ว่าแรกเริ่มนั้น ศัพท์คำนี้ก็ได้ถูกนิยามขึ้นมาให้หมายถึงผลงานศิลปะหรือวรรณกรรมใดๆก็ตาม ที่ได้วาดหรือบรรยายถึงชีวิตของบรรดาโสเภณีมานับตั้งแต่ต้น
อันที่จริง พวกเราต่างมีความรู้น้อยมากเกี่ยวกับต้นตอกำเนิดและรูปลักษณ์ต่างๆในช่วงแรกๆเกี่ยวกับเรื่องภาพโป๊หรือภาพเปลือย ทั้งนี้เพราะ ตามขนบธรรมเนียมแต่เดิม ภาพหรือผลงานดังกล่าว มันไม่ได้ถูกคิดว่าเป็นสิ่งซึ่งทรงคุณค่าในเชิงศิลปะแต่อย่างใด และเป็นสิ่งที่สมควรจะได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมา หรือมีค่าควรแก่การเก็บรักษาเอาไว้ ดังนั้น วัตถุพยานในเรื่องดังกล่าวจึงสูญหายไปเป็นจำนวนมาก
แต่อย่างไรก็ตาม หนึ่งในพยานหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนขึ้นมาครั้งแรก เกี่ยวกับเรื่องโป๊ในวัฒนธรรมตะวันตก สามารถถูกค้นพบได้ในเพลงที่มีเเนื้อร้องที่แฝงด้วยถ้อยคำที่ลามกอนาจาร(salacious song) ซึ่งแสดงกันในหมู่ของชนชาวกรีกโบราณในงานเฉลิมฉลองเพื่อเป็นเกียรติแก่เทพ Dionysus (เทพแห่งสุราเมรัย และความบันเทิง)
ส่วนหลักฐานที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เกี่ยวกับภาพเขียนที่เป็นภาพโป๊-เปลือยในวัฒนธรรมของชาวโรมัน ได้ถูกค้นพบในเมือง Pompeii, ซึ่งผลงานดังกล่าวเป็นงานจิตรกรรมที่เกี่ยวข้องกับกามวิสัยหรืออีโรติค ที่มีอายุอยู่ในราวคริสตศตวรรษที่ 1 ปกคลุมอยู่บนฝาผนังในอาคารต่างๆ เพื่อเป็นการสักการะบูชาต่อเทพ Bacchus ภาพที่ค้นพบส่วนใหญ่จะแสดงให้เห็นถึงงานปาร์ตี้อันสนุกสนาน และมีการร่วมประเวณีกันอย่างสับสนปนเป หรือที่เรียกกันว่าbacchanalian orgies.
ส่วนผลงานคลาสสิคเกี่ยวกับงานเขียนที่เป็นเรื่องโป๊-อนาจารเป็นผลงานของกวีชาวโรมันชื่อ
Ovid ในเรื่อง Ars amatoria (Art of Love), หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องซึ่งเกี่ยวเนื่องกับศิลปะของการจูงใจให้มีการร่วมเพศ(seduction),
ลักลอบเป็นชู้(intrigue), และการกระตุ้นปลุกปั่นให้เกิดความรู้สึกทางเพศ(sensual
arousal).
[หมายเหตุ : การที่ชาวโรมันส่งเสริมในสิ่งเหล่านี้
เป็นผลเนื่องมาจากความต้องการประการหนึ่งที่จะเพิ่มจำนวนประชากร]
พอมาถึงช่วงระหว่างยุคกลางของชาวยุโรป ซึ่งศาสนาคริสต์ได้ขึ้นมามีอำนาจ (แม้ว่าด้านหนึ่ง ศาสนาคริสต์จะไม่ไว้ใจในเรื่องของเรือนร่าง เพราะถือว่าร่างกายของมนุษย์ไม่ใช่ความบริสุทธิ์) เรื่องโป๊ ดูเหมือนว่าได้ถูกทำให้แพร่สะพัดและขยายออกไปอย่างกว้างขวาง แต่เป็นไปในลักษณะที่ชื่อเสียงไม่ค่อยดี ส่วนมากแล้วจะพบได้ในการแสดงออกที่เป็นปริศนา(riddles), เรื่องตลกโปกฮา, เรื่องตลกหยาบคาย(doggerel), หรือแม้กระทั่งบทประพันธ์ในลักษณะของการเสียดสีและเหน็บแนมต่างๆ(satirical verses).
ยกเว้นกรณีพิเศษที่เด่นชัดอันหนึ่งก็คือ the Decameron of Giovanni Boccaccio, บางส่วนของนิทานร้อยเรื่องของเขานั้น เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกามโลกีย์ที่แหกคอกออกไปจากธรรมชาติ. แต่ตามปกติแล้ว โครงเรื่องหรือแนวเรื่องสำคัญหลักอันหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องโป๊-เปลือยในสมัยกลาง จริงๆแล้ว ต้องการให้บรรดาพระทั้งหลายและสมาชิกทางศาสนา พร้อมด้วยผู้รับใช้ต่างๆของศาสนาจักรได้รับรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ ในฐานะที่เป็นการแสดงของมายาและการหลอกลวงต่างๆในตัวมนุษย์นั่นเอง
การประดิษฐ์ผลงาน สิ่งพิมพ์ที่มีแนวเรื่องดังกล่าว ได้เกิดขึ้นมาเช่นกัน มันเป็นผลงานที่พิมพ์ขึ้นเกี่ยวกับเรื่องโป๊ที่เต็มไปด้วยแรงปรารถนา. สิ่งเหล่านี้บ่อยครั้ง มักจะบรรจุไปด้วยปัจจัยหรือองค์ประกอบต่างๆเกี่ยวกับความขบขันและเรื่องรักๆใคร่ๆ และได้รับการเขียนขึ้นเพื่อให้ความบันเทิง ในเวลาเดียวกันนั้นก็ต้องการกระตุ้นปลุกเร้าทางเพศด้วย
ส่วนมากของผลงานเหล่านี้ สามารถย้อนกลับไปได้ถึงงานเขียนคลาสสิค ซึ่งได้ทำขึ้นมารับใช้ในฐานะที่เป็นเครื่องมือเยียวยา เพื่อรักษาผู้คนที่ประสบปัญหาในเรื่องความรัก หน้าที่สำคัญของมันก็คือ เป็นการฟื้นคืนความบันเทิงและมาทำหน้าที่คลายความเศร้าเสียใจของการแต่งงานที่หลอกลวงและการนอกใจ
หนังสือเรื่อง The Heptameron of Margaret of Angouleme ก็มีลักษณะในทำนองเดียวกันกับเรื่อง the Decameron ซึ่งได้ใช้กลวิธีการนำเสนอโดยกลุ่มคนที่มาเล่านิทานต่างๆให้ฟัง ในบางเรื่องของนิทานเหล่านี้เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวกับเรื่องลามกอนาจาร
ในยุโรปคริสตศตวรรษที่ 18 ปรากฏว่าผลงานวรรณกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับเนื้อหาแนวเรื่องโป๊เปลือยในยุค modern แรกๆ ซึ่งผลงานส่วนใหญ่ที่ได้รับการผลิตขึ้นมา ต่างก็ขาดแคลนในเรื่องคุณค่าเชิงวรรณกรรม และถูกคิดขึ้นมาเพียงกระตุ้นปลุกเร้าความตื่นเต้นทางเพศเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ก็ได้ทำให้เกิดธุรกิจเกี่ยวกับเรื่องนี้ตามมา ในช่วงนั้นได้มีการค้าขายและการแลกเปลี่ยนใต้ดินเล็กๆในผลงานภาพโป๊ต่างๆเหล่านี้เกิดขึ้น จนกระทั่งมันได้กลายเป็นพื้นฐานของการพิมพ์ที่แยกตัวออกไปต่างหาก จากธุรกิจหนังสือในประเทศอังกฤษ
ยุคคลาสสิคของช่วงนี้ได้มีการอ่านเรื่อง Fanny Hill; หรือ Memoirs of a Woman of Pleasure (1749) ของ John Cleland. ในช่วงประมาณเวลาใกล้ๆกัน ศิลปะกราฟิคที่เกี่ยวกับภาพอีโรติคหรือภาพกามวิสัยเริ่มมีการผลิตกันขึ้นมาอย่างกว้างขวางในกรุงปารีส, ซึ่งในท้ายที่สุด ก็ได้เผยแพร่ออกไปและเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวาง โดยเป็นที่รู้จักกันในนาม French postcards.
2. ภาพโป๊ในสมัยวิคตอเรียและสมัยใหม่
ในขณะที่เรื่องราวและภาพ"โป๊"เฟื่องฟูอยู่นั้น ในเวลาเดียวกัน ผลงานเหล่านี้ก็ได้รับการดูหมิ่นเกลียดชังด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยวิคตอเรียน เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ บางทีอาจจะเนื่องมาจากข้อห้ามต่างๆซึ่งมีอยู่ทั่วไปในจารีตดังกล่าว ซึ่งได้ตั้งข้อรังเกียจเกี่ยวกับหัวข้อทางเพศ ซึ่งถือกันว่าเป็นสิ่งชั่วร้ายที่ไม่ควรจะนำมาเปิดเผยในที่แจ้งกับผู้คนและสังคมในสมัยนั้น
ในปี ค.ศ.1834 ซึ่งมีการสำรวจกันในกรุงลอนดอน ปรากฏว่ามีร้านค้าเกี่ยวกับเรื่อง "โป๊"ถึง 57 ร้านเฉพาะเพียงถนน Holywell Streeet เพียงสายเดียวเท่านั้น. ผลงานที่เด่นชัดชิ้นหนึ่งของสมัยวิคตอเรียนที่เกี่ยวกับเรื่องโป๊-อนาจารก็คือหนังสือเล่มใหญ่และไม่ระบุชื่อคนเขียน อันเป็นอัตชีวประวัติของบุคคลนิรนาม เรื่อง My Secret Life (1890).
เนื้อหาของหนังสือเล่มดังกล่าว เป็นบันทึกเหตุการณ์ตามลำดับเวลาทางสังคมในช่วงหนึ่ง เกี่ยวกับสิ่งที่อยู่ข้างใต้ผิวหน้าของสังคม Puritanical (พวกที่เคร่งครัดในศาสนา) และการบรรยายถึงรายละเอียดถี่ยิบเกี่ยวกับชั่วชีวิตของสุภาพบุรุษชาวอังกฤษคนหนึ่ง ซึ่งได้ดำเนินชีวิตไปตามความพึงพอใจทางเพศ.
พัฒนาการต่อมาหลังจากสมัยวิคตอเรียนเกี่ยวกับเรื่อง"โป๊" และช่วงหลังๆ ซึ่งได้มีการคิดประดิษฐ์ภาพเคลื่อนไหวขึ้นมา ได้เป็นการส่งเสริมสนับสนุนอย่างมาก ต่อการแพร่ขยายเกี่ยวกับเนื้อหาเรื่องราวต่างๆในด้านนี้. เรื่อง"โป๊"ในคริสตศตวรรษที่ 20 เป็นสิ่งซึ่งไม่เคยมีแบบอย่างที่เป็นเช่นนี้มาก่อนเกี่ยวกับสื่อที่ใช้ และผลงานเป็นจำนวนมากมายได้มีการผลิตขึ้น นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา
งานเขียนหรืองานวรรณกรรมที่เกี่ยวกับเรื่อง"โป๊" มาถึงสมัยนี้ได้รับการแทนที่โดยภาพตัวแทนทางสายตาอย่างเปิดเผย เกี่ยวกับพฤติกรรมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของกามตัณหา หรืออีโรติค ซึ่งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ขาดเสียซึ่งคุณค่าทางศิลปะหรือคุณค่าทางสังคมโดยประการทั้งปวง
เรื่องหรือภาพ"โป๊" ถือเป็นเป้าอันหนึ่งที่ถูกโจมตีมานับตั้งแต่อดีต มันได้ตกเป็นเป้าหมายอันยืนยงมายาวนาน ที่จะต้องได้รับการลงโทษทางศีลธรรมและทางกฎหมาย (มูลเหตุประการหนึ่ง เป็นความเชื่อที่แฝงมาจากนัยะทางศาสนาคริสตซึ่งไม่เชื่อและไว้วางใจเกี่ยวกับเรือนร่าง - ร่างกายของมนุษย์เป็นสิ่งสกปรก หมักหมม ที่ไม่บริสุทธิ์ -) ว่า เป็นต้นตอหรือสาเหตุหลักที่จะน้อมนำไปสู่ความเสื่อทรามและความชั่วร้ายของเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ และอาจเป็นมูลเหตุที่นำไปสู่การก่ออาชญากรรมทางเพศได้
ในบางครั้ง ผลงานชิ้นสำคัญต่างๆทางศิลปะที่เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวหรือแม้แต่ มันจะมีนัยะที่สำคัญทางศาสนาก็ตาม ก็อาจถูกห้ามโดยรัฐหรืออำนาจศาลไม่ให้เผยแพร่ได้ ทั้งนี้เพราะผลงานเหล่านี้ ถูกพิจารณาว่า เป็นเรื่อง"โป๊"(ลามกอนาจาร)ภายใต้สมมุติฐานต่างๆที่จะนำไปสู่ความเสื่อมทรามของมนุษย์. แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงปัจจุบันสมมุติฐานต่างๆเหล่านั้น กลับได้รับการท้าทายบนพื้นฐานทางกฎหมายและวิทยาศาสตร์
อย่างไรก็ตาม, การผลิต การเผยแพร่ หรือการครอบครองเกี่ยวกับวัสดุที่เกี่ยวกับเรื่อง"โป๊" บางทีอาจจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ในหลายๆประเทศ ภายใต้บทบัญญัติที่เกี่ยวกับเรื่อง "ความลามกและอนาจาร"(obscenity).
3. สื่อลามก-อนาจาร และข้อพิจารณาทางกฎหมาย
ศัพท์คำว่า"ลามก-อนาจาร"(obscenity) โดยทั่วไปแล้ว หมายถึงการล่วงละเมิดหรือกระทำผิดต่อความรู้สึกของสาธารณชน ในเรื่องของความบังควรกับธรรมเนียมปฏิบัติ. ความสำคัญทางสังคมของมันวางอยู่ในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการตรวจสอบ(censorship)และข้อบัญญัติทางกฎหมาย. ผลงานใดก็ตาม ที่ได้รับการระบุว่าลามก-อนาจาร โดยทั่วไปแล้วจะถูกกำจัดหรือปราบปรามเพื่อไม่ให้มีการกระทำที่ส่อไปในทางนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งพิมพ์หรือโฆษณาที่มีการเปิดเผยทางเพศที่กระทำออกมาอย่างโจ่งแจ้ง หรือมีเนื้อหาสาระหยาบคาย
"ความลามก-อนาจาร"นั้น ก็เหมือนกับ"ความงาม" กล่าวคือมันอยู่ในสายตาของผู้ดู ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นได้ด้วยพยานหลักฐานต่างๆ โดยไม่อาจหลบเลี่ยงได้ และ"ความลามก-อนาจาร"นี้ยังเป็นเรื่องที่ไปเกี่ยวข้องกับความรู้สึกพึงพอใจด้วย แต่ไม่นับเป็นความพอใจอย่างเดียวกับ"ความงาม".
ในช่วงแรกของการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ประเทศในยุโรปส่วนมากถือว่า สื่อลามก-อนาจารเป็นอาชญากรรม และอาชญากรรมเกี่ยวกับการผลิตหรือการเผยแพร่วัสดุที่เป็นสื่อลามก-อนาจารที่เกี่ยวเนื่องกับธรรมชาติทางเพศ นับเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างพบเห็นได้ทั่วไปอันหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศอังกฤษ เมื่อเริ่มก้าวเข้าสู่ความเป็นสมัยใหม่ สื่อลามก-อนาจารจะถูกปราบปรามโดยพวก Puritan (นิกายศาสนาที่เคร่งครัดเน้นความบริสุทธิ์) การแสดงลามกหรืออนาจาร ตามโรงละครต่างๆในช่วงครึ่งแรกของคริสตศตวรรษที่ 17 จะถูกห้ามและกำจัด เพราะเหตุว่า การกระทำใดๆก็ตามที่ประพฤติออกมาหรือส่อไปในทางนั้น จะถือเป็นการกระทำที่เป็นการต่อต้านศาสนา หรือการกระทำที่เป็นภัยต่อความสงบเลยทีเดียว
แต่อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ.1727 ได้มีการฟ้องร้องอันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องลามก-อนาจารขึ้นมาในศาลเรื่องหนึ่ง และมีการระบุว่า เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนา แต่เป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องทางโลก(ฆราวาส) เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับสื่อสิ่งพิมพ์และการพิมพ์เผยแพร่ในเรื่องลามก-อนาจาร. หลังจากนั้นเป็นต้นมา เรื่องลามก-อนาจารจึงกลายเป็นที่ยอมรับในฐานะที่เป็นการกระทำผิดที่ฟ้องร้องกันโดยกฎหมายจารีตประเพณีของอังกฤษ
ข้อห้ามเกี่ยวกับเนื้อหาทางเพศ กลายมาเป็นบทบัญญัติในสหราชอาณาจักรขึ้นมาเป็นครั้งแรก ด้วยพระราชบัญญัติที่เรียกว่า Obscene Publications Act (พระราชบัญญัติการพิมพ์และการโฆษณาเกี่ยวกับสื่อลามก-อนาจาร)ในช่วงปี ค.ศ.1857. อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติฉบับนี้ มิได้มีการบรรจุนิยามความหมายเกี่ยวกับความลามก-อนาจารเอาไว้อย่างชัดเจน
สำหรับนิยามของความลามก-อนาจาร จริงๆแล้ว เกิดขึ้นตามมาราวปี ค.ศ.1868 ใน Regina v. Hickin, ซึ่งเป็นการตรวจสอบเกี่ยวกับสื่อลามก-อนาจารต่างๆ โดยได้ระบุลงไปว่า "เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสื่อมทรามและความชั่วร้ายต่อจิตใจของผู้คน ซึ่งเปิดรับต่ออิทธิพลต่างๆอันไม่ถูกต้องทางศีลธรรม"(deprave and corrupt those whose minds are open to such immoral influences).
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ ข้อพิจารณาข้างต้นนี้จะทำหน้าที่เป็นหลักการหรือเครื่องมือในการตรวจสอบสื่อต่างๆ โดยแยกเอาส่วนที่มีพฤติการอันส่อเจตนาไปในทางนั้น ออกมาจากบริบทของเรื่องราวทั้งหมด เช่น นำเอาข้อพิจารณาข้างต้นมาใช้ตัดสินตอนๆหนึ่งของผลงานที่ดึงออกมาจากเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งหมด
ทัศนะอันนี้มีมาก่อนการออกกฎหมายต่อต้านสื่อลามก-อนาจารในประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นขึ้นด้วย the Comstock Law (กฎหมายเกี่ยวกับระเบียบอันเคร่งครัด)ในปี ค.ศ.1873, ซึ่งได้มีการขยายความเพิ่มเติมในปี ค.ศ.1895 ในพระราชบัญญัติ Mail Act ที่สาระสำคัญก็คือ รูปแบบการฟ้องร้องของมันนั้น หากกระทำผิดจริงจะต้องมีการเสียค่าปรับและการจำคุกบุคคลคนนั้น ที่มีการส่งหรือรับ"สิ่งลามก-อนาจาร" อันกระตุ้นกำหนัด หรือ"สิ่งพิมพ์โฆษณาที่เป็นเรื่องลามก-อนาจาร"
อย่างไรก็ตาม ความผันผวนเกี่ยวกับนิยามความหมายต่างๆได้เกิดขึ้นตามมาอีก ซึ่งได้แสดงออกมาให้เห็นในกรณีต่างๆที่เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกา. จวบจนกระทั่งช่วงมาถึงกลางคริสตศตวรรษที่ 20 นิยามเกี่ยวกับความลามก-อนาจารของสหราชอาณาจักร ใน Regina v. Hickin จึงค่อยได้รับการนำมาประยุกต์ใช้.
ในปี ค.ศ.1934 ใน U.S.v. One Book Entitled "Ulysses", ศาลอุทธรณ์ซึ่งเปิดการพิจารณาในตำบลหนึ่ง ๆ เฉพาะเวลาที่มีผู้พิพากษาเดินทางไปฟัง(a New York circuit court of appeals) ถือว่าบรรทัดฐานเกี่ยวกับเรื่องลามก-อนาจาร มิใช่เนื้อหาที่แยกออกมาโดดๆ อย่างเช่น พิจารณาเพียงแค่ตอนใดตอนหนึ่งในหนังสือ แต่ควรจะเป็น"การพิมพ์โฆษณาอันหนึ่งที่ถูกหยิบมาพิจารณาพร้อมกันทั้งหมด ที่มีผลกระทบหรือส่อไปในทางกระตุ้นตัณหา"(libidinous effect - มีผลกระทบในเชิงก่อให้เกิดราคจริต)
ในปี ค.ศ.1957, ใน Roth v. U.S., ศาลสูงของสหรัฐได้มีการลดหย่อนพื้นฐานการนิยามความหมายอันนี้ลงเกี่ยวกับสิ่งลามก-อนาจาร. แต่อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ.1966 ศาลสูงสหรัฐฯ ได้วินิจฉัยชี้ขาดเกี่ยวกับหนังสือเรื่อง Fanny Hill (ของ John Cleland - (1749))โดยประกาศออกมาว่า ผลงานชิ้นใดก็ตาม ที่จะถูกถือว่าเป็นงานลามก-อนาจารก็ต่อเมื่อ ผลงานชิ้นนั้น "โดยที่สุดแล้ว มันปราศจากคุณค่าทางสังคมใดๆที่มาชดเชยกันได้อย่างคุ้มค่า"(utterly without redeeming social value) จะถือว่าผลงานนั้น เป็นสื่อลามก-อนาจาร
ใน Miller v. California(1973) ศาลได้ละทิ้งข้อวินิจฉัยชี้ขาดในปี 1966 และได้ประกาศว่า มันจะไม่มีการต่อสู้เพื่อปกป้องผลงานชิ้นหนึ่งชิ้นใดที่มี"คุณค่าทางสังคมที่มาชดเชยได้บางอย่าง" และเพราะฉะนั้น รัฐอาจห้ามการตีพิมพ์หรือขายเกี่ยวกับผลงานต่างๆ "ซึ่งแสดงถึงพฤติกรรมทางเพศในหนทางที่ก่อให้เกิดความไม่พอใจหรือมีการล่วงละเมิดอย่างชัดแจ้ง และการตีพิมพ์ผลงานนั้น เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว มันไม่ได้มีความจริงจังทางวรรณกรรม, ทางศิลปะ, คุณค่าทางการเมือง หรือทางด้านวิทยาศาสตร์ใดๆ". จะเห็นว่า แนวโน้มนี้ได้มาเน้นที่คุณค่าทางศิลปะ การเมือง และวิทยาศาสตร์ โดยตัดเรื่องการชดเชยลงไป
ปัจจุบัน ยังมีประเทศต่างๆอีกมากมายที่ได้มีการรับเอาการออกกฏหมายการสั่งห้ามวัสดุลามก-อนาจารมาใช้ ดังเช่น พื้นฐานกฎหมายควบคุมซึ่งผ่านมาทางกฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรม. แต่ในหลายๆประเทศกลับมีวิธีปฏิบัติที่ต่างออกไป กล่าวคือมีการตระเตรียมกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการจัดการโดยขนบธรรมเนียมต่างๆ การบริการทางไปรษณีย์ กรรมการท้องถิ่นหรือกรรมการแห่งชาติ สำหรับการออกใบอนุญาตเกี่ยวกับภาพยนตร์หรือการแสดงบนเวทีต่างๆ
เท่าที่สำรวจ ในทศวรรษที่ 1990s มากกว่า 50 ประเทศได้มีการรวมตัวกันเพื่อทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างชาติสำหรับการควบคุมเกี่ยวกับการพิมพ์และการโฆษณาเผยแพร่สื่อลามก-อนาจาร. ที่น่าสนใจ การประชุมอันนี้กระทำขึ้นโดยปราศจากการให้นิยามใดๆเกี่ยวกับสื่อลามก-อนาจารออกมาอย่างชัดเจน ทั้งนี้เพราะมันเป็นที่ตกลงกันว่า การตีความเกี่ยวกับสื่อลามกนั้น มันเรื่องที่เกี่ยวข้องกับขนบประเพณี วัฒนธรรม และศาสนา ซึ่งมีความลักลั่นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ด้วยเหตุนี้ การให้นิยามจึงความผิดแผกกันไปในแต่ละประเทศ เช่นที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ในโลกอาหรับ กับโลกตะวันตก.
3. ศิลปะอีโรติกา (งานศิลปะกามวิสัย)
Erotica art สำหรับคำว่า Erotica เป็นชื่อเรียก ซึ่งใช้เรียกขานผลงานทางด้านศิลปะ งานเขียน หรือภาพถ่าย หรือการแสดงต่างๆ - ที่ได้จำลองเรื่องทางเพศออกมาอย่างแจ่มแจ้ง แต่ในเวลาเดียวกัน มันได้ครอบครองหรือคงไว้ซึ่งคุณค่ามากพอที่จะหนีรอดไปจากการตำหนิหรือประณามว่า เป็นภาพโป๊(pornography)หรืออนาจาร(obscenity)ไปได้
สำหรับคำว่า Erotica เดิมทีมาจากคำว่า Eros อันเป็นชื่อเทพเจ้าของกรีกที่เกี่ยวข้องกับความต้องการ-ความปรารถนาในเรื่องความรักที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องทางเพศ เทพองค์เดียวกันนี้ชาวโรมันทั้งหลายเรียกว่า Cupid
ในส่วนของคำว่า Erotica จริงๆแล้ว ได้รับการประดิษฐ์ขึ้นมาในช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 ทั้งนี้มันได้รับการคิดศัพท์คำนี้ขึ้นมาโดยบรรดาคนขายหนังสือและสิ่งพิมพ์ต่างๆ ผู้ซึ่งต้องการที่ปรับให้งานวรรณกรรมที่ส่อไปในเรื่องทางเพศเป็นที่น่าเคารพมากขึ้น เนื่องจากความลามก-อนาจารของมันดังกล่าว อาจจะถูกตำรวจจับกุมนั่นเอง
และจวบจนกระทั่งในคริสตศตวรรษที่ 20 มานี้นี่เอง บรรดาศิลปินหลายคนได้สร้างงาน Erotica ของพวกเขาขึ้นมาอย่างประหม่าขวยเขิน แม้มันจะเป็นแนวคิดที่ได้ถูกนำมาใช้เพื่อจำแนกสิ่งที่มีคุณค่าซึ่งตกทอดมาของอดีต. ผลงานต่างๆที่มีคุณค่าเชิงศิลปะ, เชิงสังคม, หรือประวัติศาสตร์ในแนวนี้ล้วนเรียกกันว่า ภาพ Erotica แต่ถ้าปราศจากซึ่งคุณค่าดังกล่าวแล้วก็จะเป็น"ภาพโป๊"(pornography)ธรรมดาทั่วไปเท่านั้น
ความแตกต่างนั้น บ่อยครั้งเป็นเรื่องของรสนิยม และรสนิยมต่างๆก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา. บรรดานวนิยายสมัยใหม่เป็นจำนวนมาก, รวมทั้งเรื่อง ULYSSES ของ James Joyce (1922), เรื่อง LADY CHATTERLEY'S LOVER ของ D.H. Lawrence (1928), และเรื่อง LOLITA ของ Vladimir Nabokov (1955) ถือกันว่าเป็นเรื่องโป๊ทั้งสิ้น เมื่อแรกที่นวนิยายเหล่านี้ปรากฏขึ้นมา. แต่ต่อมาภายหลังกลับพบว่า นวนิยายเหล่านี้ต่างก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคุณค่าเชิงศิลปะและสังคม ซึ่งอยู่ในข่ายของงานศิลปะที่เรียกว่าอีโรติค
มีอยู่หลายต่อหลายกรณีมาก ที่ความตั้งใจของศิลปินได้ถูกนำมาใช้ในฐานะที่เป็นบรรทัดฐานเบื้องต้น. ถ้าหากว่าผลงานอันนั้นถูกตั้งใจเพียงเพื่อปลุกเร้าความสนใจหรือความพึงพอใจทางเพศอย่างเดียว โดยไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องอื่นเลย ผลงานนั้นก็ไม่มีคุณค่าอะไร และสมควรที่จะละทิ้งไปได้ในฐานะที่เป็นเรื่องเหลวไหลหรือไร้สาระ แต่ถ้าหากว่า ศิลปินมุ่งที่ต้องการจะสำรวจในเรื่องทางเพศอย่างจริงจัง (ซึ่งอาจไปเกี่ยวพันกับเรื่องทางจิตวิทยาหรือสังคมวิทยา ที่อาจไม่จำเป็นต้องชัดเจนเหมือนงานทางวิชาการ) ผลงานชิ้นดังกล่าวสมควรที่จะได้รับการเรียกขานว่า erotica. แต่อย่างไรก็ตาม สาระอันนั้นมันยังค่อนข้างจะคลุมเครืออยู่
ในช่วงปี 1989-1990 มีงานนิทรรศการของ
Robert Mapplethorpe ในประเด็นที่เกี่ยวกับ homoerotic photographs (ภาพถ่ายเกี่ยวกับโฮโมอีโรติค
หรือเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศกับเพศเดียวกัน) งานนิทรรศการครั้งนี้ได้ก่อให้เกิดการปะทุทางอารมณ์และความเกรียวกราวของสาธารณชนมาก
และนอกจากนี้ มันยังได้นำไปสู่ความขัดแย้ง การทะเลาะกัน และความหัวเสียเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว
ที่ต่อเนื่องยาวนานต่อมาพอสมควร
[หมายเหตุ :ความรังเกียจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่มีต่อเพศเดียวกัน
หากสืบย้อนกลับไป จะไปเกี่ยวพันถึงแนวคิดในการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในช่วงต้น
ที่ต้องอาศัยแรงงานเป็นจำนวนมากเพื่อมาทำงานกับเครื่องจักร และความเชื่อที่ถูกประนามในศาสนาคริสต์]
4. ภาพอีโรติคในวัฒนธรรมตะวันออก
วัฒนธรรมที่ไม่ใช่ตะวันตกอันหลายหลาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัฒนธรรมตะวันออก นับแต่โบราณเป็นต้นมา ต่างครอบครองหรือเป็นเจ้าของขนบประเพณีโบราณต่างๆบางอย่างที่เกี่ยวกับศิลปะอีโรติคอันนี้เอาไว้ ซึ่งยังคงเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ที่โต้เถียงกันในตะวันตก
ในคริสตศตวรรษที่ 20 ชาวตะวันตกได้มีการตีพิมพ์ภาพ erotica art โดยทำขึ้นมาในรูปของหนังสือที่มีราคาแพง. ภาพสลักหินแบบเหมือนจริงที่มีคุณค่าอย่างสูงในรัฐ Orissa ในอินเดียตะวันออก, งานเหล่านี้นับอายุย้อนกลับไปถึง อย่างน้อยก็คริสตศตวรรษที่ 1 เลยทีเดียว. งานภาพสลักเหล่านี้ถูกทำให้สัมพันธ์กับลัทธิบูชาพระกฤษณะ(Krishna) ซึ่งยังได้ให้กำเนิดขนบประเพณีต่างๆของจิตรกรรมแบบอีโรติคด้วย(ดูภาพประกอบที่ 1), รวมทั้งกวีนิพนธ์, และการร่ายรำ.
กามสูตร(KAMA-SUTRA)[อ่านเพิ่มเติมในภาคผนวก], คัมภีร์สันสกฤตเกี่ยวกับเรื่องความรักได้รับการเขียนขึ้นมาในระหว่างคริสตศตวรรษที่ 4-7, ได้กลายเป็นเรื่อง erotic ของคนขายหนังสือเมื่อ Sir Richard Burton ได้แปลมันไปสู่ภาษาอังกฤษในปี ค.ศ.1883
สำหรับขนบประเพณีต่างๆเกี่ยวกับอีโรติคของจีน และญี่ปุ่นก็มีความเก่าแก่มานานแล้วเช่นกัน แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องทางโลกมากกว่าเป็นเรื่องทางศาสนาหรือความศักดิ์สิทธิ์(secular rather than sacred). ในญี่ปุ่นสมัยเอโดะ(ราวคริสตศตวรรษที่ 17-19) เราจะได้พบเห็นความเจริญและความเฟื่องฟูอันหนึ่งของกวีนิพนธ์อีโรติค รวมทั้งนวนิยายทำนองเดียวกันนี้ และงานจิตรกรรมในเนื้อหาดังกล่าว. สำหรับเรื่องที่แต่งขึ้นเกี่ยวกับอีโรติคของจีนและงานทางด้านทัศนศิลป์ นับย้อนกลับไปถึงคริสตศตวรรษที่ 16 และก่อนหน้านั้น. นอกจากนี้ยังมีภาพอีโรติคเป็นจำนวนมากในกวีนิพนธ์อิสลามิกในช่วงยุคกลางด้วยเช่นกัน.
และเมื่อมองในสายตาที่เป็นไปในด้านตรงข้ามเชิงผกผัน จะพบว่าว่า ในคริสตศตวรรษที่ 20 บรรดาผู้จำหน่ายจ่ายแจกเรื่อง erotica ของตะวันออกไปสู่ตะวันตกได้บ่มเพาะความเป็น puritanical (เกี่ยวกับความเคร่งครัดในทางศาสนาอย่างบริสุทธิ์)อย่างมีนัยสำคัญขึ้นมาด้วย
5. ภาพอีโรติคในวัฒนธรรมตะวันตก
วัฒนธรรมกรีกโบราณได้สร้างงานปั้นที่เป็นภาพเปลือย(nude)ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก, แม้ว่าในจำนวนนั้นเพียงเล็กน้อยจะเป็นภาพจำลองกิจกรรมทางเพศที่ตรงไปตรงมาก็ตาม. อย่างไรก็ตาม งานจิตรกรรมอีโรติคบนแจกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับจากศตวรรษที่ 5-4 ก่อนคริสตกาล ได้ให้ภาพเกี่ยวกับการกระทำทางเพศอย่างชัดแจ้งออกมา ทั้งภาพเกี่ยวกับ homosexual (การมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน) และ Heterosexual (การมีเพศสัมพันธ์ต่างเพศกัน).
มีเรื่องที่ฟังดูอาจรู้สึกประหลาดใจเกี่ยวกับงานศิลปะอีโรติคของกรีกข้างต้นนี้ ซึ่งใคร่จะกล่าวก็คือ แม้แต่เมื่อไม่นานมานี้ ถ้วยโถโอชามและแจกันดังกล่าว - แต่เดิมหรือตามปกติเป็นสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านสำหรับชนชาวกรีกมาในสมัยโบราณ แต่เมื่อข้ามผ่านมาสู่ยุคสมัยใหม่ของเรา ซึ่งได้รับการบ่มเพาะมาอย่างประหลาดผ่านความเชื่อทางศาสนาของตะวันตก มันได้ก่อให้เกิดความอึดอัดใจแก่บรรดาภัณฑารักษ์สมัยใหม่ทั้งหลายเป็นจำนวนมาก ผู้ซึ่งเกรงว่า การนำเอาผลงานแจกันกรีกเหล่านี้ออกแสดงในนิทรรศการ บางทีมันอาจจะไปกระตุ้นอารมณ์ทางเพศของบรรดาผู้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ทั้งหลาย แต่อย่างไรก็ตาม ในสายตาของชนชาวกรีกโบราณ สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนว่าจะเป็นตัวแทนหรือภาพแทน ที่ไม่มีอะไรเกินเลยมากไปกว่าฉากต่างๆของชีวิตประจำวันเท่านั้น
ในหัสนาฏกรรมทั้งหลายของชนชาวกรีก(Greek comediies), อย่างเช่น เรื่อง Aristophanes' Lysistrata (411 BC), ได้ใช้ภาษาที่เกี่ยวกับเรื่องเพศอย่างตรงไปตรงมา หรือแบบขวานผ่าซากส่วนใหญ่ ทั้งนี้ก็เพื่อวัตถุประสงค์ที่เป็นไปในทำนองเสียดสีและล้อเลียนนั่นเอง
วัฒนธรรมของชาวโรมัน อย่างที่ทราบและรู้กัน มันมีลักษณะที่ละม้ายคล้ายคลึงกับศิลปะกรีก(ทั้งนี้เพราะ โรมันได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปะมาจากอารยธรรมที่ตนได้ชัยชนะมานั่นเอง) และเป็นศิลปะของการเปิดเผย แต่ส่วนใหญ่ของศิลปะเหล่านี้ได้ถูกทำลายลงไปโดยกาลเวลา และโดยอำนาจต่างๆของคริสเตียนสมัยที่เรืองอำนาจต่อมาอย่างใดอย่างหนึ่งในคริสตศตวรรษที่ 4
อย่างไรก็ตาม จากการที่เมือง Pompeii และ Herculaneum ได้ถูกฝังกลบโดยเถ้าถ่านของการระเบิดของภูเขาไฟ Vesuvius ใน ค.ศ. 79 กองเถ้าถ่านเหล่านั้นได้ทำหน้าที่เสมือนแคปซูลเวลาที่นำพาเอาศิลปะของพวกเขาข้ามผ่านห้วงเวลามาอย่างปลอดภัยโดยไม่บุบสลายจนถึงทุกวันนี้ และได้มาเปิดเผยให้เห็นถึงงานศิลปะของพวกเขาอีกครั้งในยุคของเรา ด้วยการขุดค้นทางโบราณคดีสมัยใหม่ ซึ่งเริ่มต้นขึ้นมาในคริสตศตวรรษที่ 18 แต่พวกเราส่วนใหญ่กลับรู้สึกตั้งข้อรังเกียจกับสิ่งที่ตนได้พบเห็น
บรรดานักขุดค้นได้พบภาพจิตรกรรมฝาผนังที่โรงโสเภณีต่างๆและห้องที่ใช้ในการประกอบพิธีสมรส ตามพยานหลักฐานที่พบ ทำให้มีการสันนิษฐานว่า ภาพเหล่านี้ตั้งใจที่จะทำขึ้นเพื่อสนองตอบต่อแรงดลใจแก่ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่เหล่านั้น นอกจากนี้ จากการขุดค้นยังได้พบศิลปะที่เกี่ยวกับองคชาติเป็นจำนวนมาก(phallic art) รวมทั้งเครื่องรางและตุ้มหูต่างๆที่จำลองเป็นรูปขององคชาติด้วย
อย่างไม่ต้องสงสัย วัตถุพยานข้างต้น มันได้ก่อให้เกิดอาการช๊อคในสิ่งที่พบเห็นซึ่งเกิดกับผู้สังเกตุการณ์ทั้งหลาย ทั้งนี้เพราะ การขาดเสียซึ่งความเข้าใจในมโนคติที่มีอยู่ในประวัติศาสตร์ที่ข้ามยุคมาหลายๆสมัยนั่นเอง. วัตถุประสงค์ดั้งเดิมของชนชาวโรมัน ดูเหมือนว่า พวกเขาได้กระทำสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อที่จะสร้างความมั่นใจในเรื่องความอุดมสมบูรณ์
สำหรับชนชาวโรมัน ก็เหมือนกับกับชาวกรีก กล่าวคือ การเปลือยกายนั้น ในตัวของมันเองไม่ใช่เป็นเรื่องอีโรติคหรือเรื่องของกามโลกีย์แต่อย่างใด แต่มันคือวิถีชีวิตตามปกติของพวกเขา ซึ่งไม่เกี่ยวพับเรื่องของการมักมากในกามคุณอย่างที่เราเข้าใจกันเอาเอง
อารยธรรมของชาวโรมันยังได้ผลิตวรรณคดีจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องของอีโรติคขึ้นมาด้วย ซึ่งได้เหลือรอดหลุดมาจากการตรวจสอบและการเซ็นเซอร์ของชาวคริสเตียน บทเพลงต่างๆของ Catullus และบทกวีต่างๆในศิลปะเกี่ยวกับความรักของ Ovid (ทั้งคู่มีอายุอยู่ในราวศตวรรษที่ 1 ก่อนคริสตศักราช) บ่อยครั้ง มันได้สะท้อนถ่ายเรื่องราวทางเพศอย่างแจ่มแจ้ง
ในเรื่อง Satyricon ของ Petronius นักเสียดสีเยาะเย้ยชาวโรมัน (ถึงแก่กรรมเมื่อปี ค.ศ.66) (หมายเหตุ : Satyr เป็นเทพที่อยู่ในป่าในปกรณัมของกรีกโบราณมีลักษณะต่างๆของม้าหรือแพะที่หลงรักความสำราญอย่าง Dionysian) และบทกวีที่สั้นกระทัดรัดและมีความเฉียบแหลมต่างๆของ Martial (มีอายุอยู่ในราว คริสตศตวรรษที่ 1), รวมกระทั่งถึงงานประพันธ์ประเภทเสียดสีประชดประชันต่างๆของ Juvenal (คริสตศตวรรษที่ 1-2), ได้แสดงออกให้เห็นถึงความประพฤติอันเกินเลยทางเพศของสังคมชาวโรมัน ซึ่งได้รับการพรรณาออกมาอย่างยิ่งใหญ่และอย่างเปิดเผย
แม้ว่านักอ่านสมัยใหม่จะพบว่าผลงานต่างๆเหล่านั้นเป็นเรื่องของกามโลกีย์ โดยไม่น่าจะมีอะไรมากเกินไปกว่านั้น แต่อันที่จริงแล้ว บรรดานักประพันธ์ที่กล่าวนามมานี้ มุ่งหมายให้มันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในยุคสมัยของตน
สำหรับศาสนาคริสต์ เนื่องด้วยความไม่ไว้วางใจในเรือนร่างของมนุษย์ จึงไม่ได้สร้างงานศิลปะอีโรติคขึ้นมา และซ้ำร้ายไปกว่านั้น กลับเป็นผู้ทำลายภาพผลงานศิลปะอิโรติคเหล่านั้นที่เหลือรอดมาถึงยุคสมัยของตนที่รุ่งเรืองด้วย. แต่อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่จะสิ้นสุดของยุคกลาง, บทกวีที่เรียกว่า troubadour (บทกวีที่มีลักษณะบรรยายความรู้สึกอันเร่าร้อนอันหนึ่งในเชิงการเกี้ยวพาราสี - คริสตศตวรรษที่ 13-14), ความรักทางโลกได้หวนกลับมาสู่วรรณคดีอีกครั้ง แต่ผลงานเหล่านั้นเป็นเพียงเรื่องกามโลกีย์ในรูปของความบังเอิญเท่านั้น
หลังจากสมัยกลาง อารยธรรมตะวันตกได้ก้าวมาสู่ยุคของการฟื้นฟู หรือยุคเรอเนสซองค์. ยุคดังกล่าวถือเป็นการฟื้นคืนอดีตใหม่อีกครั้ง จากการได้หวนกลับไปเรียนรู้เรื่องราวโบราณในสมัยกรีกและโรมัน เรอเนสซองค์ยินยอมให้มีการเลียนแบบผลงานคลาสสิคของกรีกและโรมันขึ้น ซึ่งการกระทำดังกล่าวได้แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง บรรดาช่างหรือศิลปินในยุคนี้ได้มีการจำลองแบบผลงานต่างๆ ที่มีลักษณะคลาสสิคของอู่อารยธรรมของตน อย่างเช่น งานจิตรกรรมมากมายเกี่ยวกับภาพเปลือยของ Titian และ Rubens พร้อมกับผลงานประติมากรรมโดย Bernini และคนอื่นๆอีกมากมาย, ที่ได้เข้ายึดกุมคุณภาพผลงานศิลปะในลักษณะของอีโรติค อย่างแจ่มชัด
ในขณะเดียวกันกับที่กล่าวข้างต้น ก็ได้เกิดแรงต้านขึ้นมาเช่นกัน มีการหวนกลับไปสู่สำนึกของศาสนาในเวลาต่อมา และได้ขยายผลไปสู่ความเคร่งครัดของขนบจารีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดขึ้นในยุควิคตอเรียน และสำนึกดังกล่าวได้ส่งผลมาเป็นความฝังใจที่ยังหลงเหลือในยุคปัจจุบัน
แม้กระทั่งคริสตศตวรรษที่ 20 ความตั้งใจทั้งหลายทางศิลปะชั้นสูง ยังคงรู้สึกว่าต้องปิดบังหรือซ่อนเร้นการมีอยู่ของงานศิลปะที่มีปัจจัยต่างๆอันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องเพศเอาไว้อย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ ผลงานต่างๆที่เกี่ยวกับงานเขียนที่ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องราวกามโลกีย์อย่างแจ่มแจ้ง จึงได้ถูกลดตำแหน่งความสำคัญลงมาอยู่ต่ำสุด และหิ้งหนังสือก็ถูกปิดไม่ยอมเปิดรับให้มีเนื้อที่สำหรับงานวรรณกรรมเหล่านี้ ผลงานอีโรติคได้ลดระดับลงไปเป็นเรื่องโป๊-เปลือย-ลามก-และอนาจารใต้ดิน.
อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งหลังของคริสตศตวรรษที่ 20 ข้อจำกัดทั้งหลายที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องกันมา ก็ค่อยๆพังทลายลง. อย่างค่อยเป็นค่อยไป อุตสาหกรรมเกี่ยวกับเรื่องราวที่สัมพันธ์กับอีโรติคได้ผลิหน่อออกผล และพัฒนาขึ้นในรูปแบบต่างๆทางศิลปะอย่างหลากหลาย ซึ่งในที่นี้ต้องการจะกล่าวถึงบรรดาศิลปินในแนวอีโรติคที่มีนับเป็นจำนวนร้อยเพียงไม่กี่คนเท่านั้น:
อย่างเช่น Anais Nin, Henry Miller, และ Pauline Reage (The Story of O, 1954; Eng. trans.,1970) ได้เขียนเรื่องราวในลักษณะที่เป็นแนวอีโรติคอย่างเข้มข้นขึ้น; ส่วน Pablo Picasso ได้วาดภาพลายเส้น และเขียนภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับภาพเปลือยต่างๆ(ดูภาพประกอบที่ 2), ขณะที่ Georgia O' Keeffe ได้ให้ภาพที่แสดงเป็นนัยๆเกี่ยวกับอีโรติคกับงานจิตรกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับดอกลิลลี่(ดูภาพประกอบที่ 3) และรูปกระโหลกศีรษะที่มลักษณะส่อนัยไปทางนั้น;
ผู้กำกับภาพยนตร์ Bernardo Bertolucci มีแนวโน้มมุ่งไปยังเรื่องโป๊-เปลือยในงานภาพยนตร์ของเขาใน Last Tango in Paris(1972); Martha Graham ได้ดำเนินอาชีพอันยาวนานมาเป็นทศวรรษๆเกี่ยวกับศิลปะของการร่ายรำเชิงสัญลักษณ์ในลักษณะที่เจือปนกับอารมณ์ความรู้สึกแบบอีโรติค; และแม้แต่ผลงานทางด้านดนตรี, Bolero ของ Maurice Ravel เป็นดนตรีฮิตและนิยมกันมากในเชิงอีโรติค และต้องแสดงความขอบคุณต่อภาพยนตร์เรื่อง "10" ในปี ค.ศ.1979 ของ Blake Edwards ที่นำเอาดนตรีนี้มาใช้
กับสิ่งเหล่านี้ จะต้องได้รับการผนวกเพิ่มเติมอีกเป็นทิวแถวกับสิ่งที่ต่อเนื่องมามากมาย เกี่ยวกับผลงานต่างๆที่ไปสัมพันธ์กับเรื่องทางเพศ นำหน้ามาโดย The Joy of Sex (1972), กับเรื่อง Gay (gay - รักร่วมเพศระหว่างเพศชายด้วยกัน) และการส่งเสริมเรื่องราวของบรรดาผู้นิยมเลสเบียน(lesbian - รักร่วมเพศระหว่างหญิงด้วยกัน) และผลที่ติดตามมาก็คือ ความสนุกสนานได้เพิ่มทวีความรู้สึกมากยิ่งขึ้น
พร้อมด้วยบรรดานิตยสารต่างๆที่จำหน่ายกันอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชน อย่างเช่น Playboy, Playgirl, Penthouse, Honcho, และ อื่นๆอีกจำนวนนับไม่ถ้วน. เคเบิลทีวีก็ได้มีส่วนในการนำเสนอเรื่องราวอีโรติคผ่านสื่อชนิดนี้ด้วย. ในขณะเดียวกัน ความเกรงกลัวเกี่ยวโรคเอดส์ได้ทำให้เกิดการเบ่งบานขึ้นมาอันหนึ่งเช่นกัน นั่นคือ sex phone ซึ่งเป็นการสนทนาและการทำสุ่มเสียงที่สื่อในทางอีโรติคผ่านทางคู่สายโทรศัพท์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ต่างๆ.
บรรดานักสังเกตุการณ์บางคนยังคงถือว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้ทั้งหมดเป็นเรื่องโป๊(pornography)ต่อไป การโต้เถียงกันเกี่ยวกับเรื่องนี้จะไม่หยุดลงง่ายๆ แต่ความนิยมซึ่งเป็นปรากฏการณ์ของมันได้เสนอว่า สาธารณชนโดยทั่วไป ปัจจุบัน เพลิดเพลินหรือสนุกสนานกับมันในฐานะที่เป็นเรื่องอีโรติคและไม่ได้ตั้งใจที่จะเลิกลาจากสิ่งเหล่านี้
ภาคผนวก
1.
กามสูตร
Kama sutra "กามสูตร"คือ ปกรณัมโบราณของอินเดีย เป็นเรื่องของเทพเจ้าแห่งความรัก
(กามเทพ)
ความเป็นมาแต่เดิมนั้น ในสมัยพระเวท กามเทพเป็นเทพที่ได้ทำให้ความปรารถนาแห่งจักรวาล หรือแรงกระตุ้นแห่งการสร้างสรรค์กลายเป็นบุคคลาธิษฐานขึ้นมา และได้รับการเรียกขานว่า"ปฐมเหตุแห่งการกำเนิดของความวุ่นวายสับสนในยุคเริ่มแรก"(the first-born of the primeval chaos) ซึ่งได้ทำให้เกิดความเป็นไปได้ของการสร้างสรรค์ภายหลังต่อมาทั้งหมด
ในยุคต่อมา กามเทพได้รับการวาดขึ้นในฐานะที่เป็นบุรุษรูปงาม ที่อยู่ร่วมกับเทพธิดาที่เต็มไปด้วยความงดงามหลายองค์ พระองค์เป็นผู้แผงศรที่ทำขึ้นจากเกษรดอกไม้(flower-arrows)เพื่อดลให้เกิดความรักขึ้น คันศรของพระองค์นั้นทำด้วยลำอ้อย(sugarcane) ส่วนสายของคันศรเรียงร้อยขึ้นมาจากตัวผึ้ง
ครั้งหนึ่งพระองค์(กามเทพ)ทรงถูกควบคุมโดยเทพเจ้าองค์หนึ่ง เพื่อให้ไปกระตุ้นกำหนัดขององค์พระศิวะที่มีต่อพระนางปารวาตี(Shiva)(Parvati) พระองค์ได้ไปรบกวนการทำสมาธิของเทพเจ้าอันยิ่งใหญ่บนยอดบรรพต. การกระทำครั้งนี้ ได้ก่อให้เกิดการพิโรธขึ้นมา ด้วยเหตุนี้ องค์พระศิวะจึงได้เผาพระองค์(กามเทพ)จนกลายเป็นจุลด้วยพระเพลิงแห่งดวงพระเนตรที่สาม. ด้วยเหตุนี้พระองค์จึงกลายเป็นอนัตตา(ananga)(Sanskrit:"the Bodiless"-ไม่มีตัวตน). แต่ในบางเรื่องกล่าวว่า องค์พระศิวะ ในไม่ช้า ได้ทรงประทานอภัยและฟื้นคืนชีวิตให้กับองค์กามเทพ ภายหลังจากการขอร้องของพระมเหสีของพระองค์, คือพระนางราตี(Rati)
สำหรับศัพท์คำว่า Kama (กาม ในภาษาสันสกฤต) ยังหมายถึงการดำเนินชีวิตอันเหมาะสมของผู้ชาย ในบทบาทของเขาในฐานะที่เป็นผู้ครองเรือนหรือพ่อบ้าน ซึ่งเกี่ยวพันกับความพึงพอใจและความรัก
[หมายเหตุ : วิถีการดำเนินชีวิตของฮินดูแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอน ได้แก่ พรหมจรรย์(วัยอันบริสุทธิ์) คฤหัสถ์(วัยครองเรือน-หนุ่มสาว / เป็นวัยที่มีความข้องเกี่ยวกับกาม) วนปรัส(วัยปลดเกษียณหรือวางมือจากการงานอาชีพ ออกไปอยู่ป่า) สันยาสี(การแสวงหาความสงบ)]
ส่วนคำว่า Kama-sutra เป็นชื่อของคัมภีร์คลาสสิคเล่มหนึ่ง ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องกามวิสัยต่างๆ(erotics) และรูปแบบอื่นๆเกี่ยวกับความพึงพอใจในการมีเพศสัมพันธ์ของมนุษย์. The Kama-sutra (กามสูตร), เชื่อกันว่าเป็นงานของปราชญ์ วาสยะยานะ (Vatsyayana).
ภาคผนวก 2.
กวีนิพนธ์เกี่ยวกับความรัก
Love Poetry / ประสบการณ์ทั้งหมดในเรื่องกามวิสัย(erotic experience) นับจากขั้นตอนพัฒนาการในช่วงแรกของความรัก ไปสู่ช่วงหลังต่อมาของการบรรลุผลสำเร็จ ได้ถูกนำเสนออย่างฉลาดหลักแหลมในกวีนพนธ์แบบลำนำเกี่ยวกับการขับกล่อม. แต่ในท่ามกลางของเรื่องราวต่างๆอันมากมายนั้น ที่มา มาจากแรงดลใจในเรื่องของความรัก บรรดากวีทั้งหลายได้รับการกระตุ้นไปสู่การคร่ำครวญหวลไห้ของคู่รักที่แยกจากกันไป. ส่วนใหญ่แล้ว เป็นความทุกข์ระทมของผู้หญิงที่ได้รับการพรรณาถึง แต่ความเศร้าโศกของผู้ชายก็ได้ถูกนำมาพรรณาด้วยเช่นเดียวกัน - อย่างเช่นใน Maghaduta ของ Kalidasa เป็นตัวอย่าง
ลำนับขับกล่อมในเรื่องความรักประกอบด้วยร้อยกรองโดดๆ ซึ่งจำนวนมากของลำนำเหล่านี้ เป็นการแสวงหาและการนำเสนอห้วงอารมณ์ความรู้สึกที่เกี่ยวกับ shrngara (ความรักทางกาย). ในขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับกามวิสัยอย่างสุดขั้ว แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องหยาบช้าลามก หรือแทบจะไม่เป็นเช่นนั้นเลย
ทั้งนี้เพราะ บรรทัดฐานของวรรณคดีสันสกฤต ได้มีการห้ามปรามเกี่ยวกับการแสดงออกที่หยาบโลน(coarse expression)สำหรับบทกวี หรือละครที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ; อย่างไรก็ตาม แม้จะมีข้อห้ามเช่นนั้น แต่ทางออกสำหรับความเป็นไปได้ที่จะแสดงออกในเรื่องราวของความรักก็มีหนทางที่เป็นไปได้ต่างๆอย่างมากมาย
สำหรับนักอ่านสมัยใหม่,การพาดพิงถึงเรื่องของอวัยะวะเพศอย่างตรงๆทื่อๆแทบจะไม่พบเห็นเลยในวรรณกรรมสันสกฤตเหล่านี้ และที่ใดก็ตามที่มีการพาดพิงถึงสิ่งเหล่านั้นขึ้นมา มันก็ค่อนข้างที่จะได้รับการนำเสนอออกมาอย่างคลุมเครือและอำพรางอย่างละเมียดละมัยถึงที่สุด. ส่วนต่างๆของร่างกายที่มีความหมายต่างๆทางเพศซึ่งปิดบังน้อยกว่า อย่างเช่น หน้าอกและสะโพก จะได้รับการพูดถึงและอธิบายอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา - และตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏ ส่วนต่างๆเหล่านี้จะได้รับบรรยายถึงในลักษณะของการยกย่องสรรเสริญ
ในการพาดพิงถึงเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ ชาวอินเดียจะอาศัยศาสตร์ทางด้านการใช้ภาษา หรือถ้อยคำเกี่ยวกับ The Kama-sutra ของ Vatsyayana ซึ่งก็เท่ากับการไปปลุกเร้าคัมภีร์เล่มนี้ให้ตื่นขึ้นมาบ่อยๆ ประหนึ่งว่า เป็นคัมภีร์โบราณอันศักดิ์สิทธิ์ของผู้คงแก่เรียนของอินเดีย และเป็นไปได้ที่ว่า มันจะทำหน้าที่ปกป้องต่อความรู้สึกอันหนึ่งของความอัปยศหรือความน่าละอายที่จะพูดถึงเรื่องราวเพศสัมพันธ์ในโลกที่ตั้งข้อรังเกียจกับเรื่องเหล่านี้
ในส่วนของโลกตะวันตก ศัพท์ภาษาลาตินได้ถูกนำเอามาใช้และพึ่งพาเช่นกัน เมื่อจะกล่าวถึงสิ่งเหล่านี้ และการกระทำใดๆก็ตามที่เป็นเรื่องในทำนองดังกล่าว แต่จะเป็นคำที่สั้นและกระทัดรัดกว่า และเป็นคำที่ใช้พูดจากันมากกว่า.
บรรณานุกรม :
- Walter Kendrick
เรื่อง Erotica 1993 Grolier Electronic Publishing, Inc.
- The Encyclopedia Americana (International Edition)
- The Encyclopedia Britanica
- The Encyclopedia of World Art
ภาพประกอบที่ 1.
ต้นฉบับจากหนังสือ Classic India "Kama Sutra": First Published 1993
by Rupa & Co.
ภาพประกอบที่ 2.
Pablo Picasso. Les Demoiselles d' Avignon 1907. Oil on Canvas
ภาพประกอบที่ 3.
Georgia O'Keeffe, Black Iris III. 1926. Oil on Canvas
กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com