การเปิดพื้นที่ประเด็นทางสังคมวัฒนธรรมสมัยใหม่ โดยนักคิด แฟรงค์เฟริทสคูล : ข้อมูลดิบงานวิจัยบทที่ 4 ว่าด้วย"การเปิดพื้นที่และมุมมองเนื้อหาหลังสมัยใหม่
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ : มหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน สมดุล และเป็นธรรม
1
2
3
4
ภาพประกอบดัดแปลง เพื่อใช้ประกอบบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ภาพหมายเลข 1,2,4 ภาพถ่าย Portrait ของ Walter Benjamin. ภาพที่ 3 ภาพถ่าย portrait ของ Theodor Adorno
QUOTATION
release date 051245

ภาพยนตร์ไม่ต้องหลอกลวงอีกต่อ
ไปว่าเป็นศิลปะ ความจริงก็คือ พวก
มันเป็นเพียงธุรกิจที่ถูกสร้างขึ้นมาใน
อุดม การณ์อันหนึ่ง เพื่อให้เหตุผลของความเป็นขยะ และความเหลวไหลที่พวกนั้นผลิตขึ้นมาอย่างรอบคอบ. พวกนั้นเรียกตัวเองว่าอุตสาหกรรม;...

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมวัฒนธรรม ยังทำให้ประชาธิปไตยสูญสิ้นไป ก้าวย่างจากโทรศัพท์ไปสู่วิทยุได้จำแนกความแตกต่างทางด้านบทบาทอย่างชัดเจน. อันแรกยังคงยินยอมให้คนที่เห็นด้วยได้แสดงบทบาทเกี่ยวกับตัวเขา, และมีเสรีภาพที่จะสื่อสาร. ส่วนอันหลังเป็นเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่สูญสิ้นไป: นั่นคือ มันได้แปรเปลี่ยนผู้มีส่วนร่วมทั้งหมดไปสู่การเป็นผู้ฟัง

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 226 เรื่อง "วิพากษ์อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ศิลปะหรือเพียงแค่น้ำเมา" เรียบเรียงโดย
สมเกียรติ ตั้งนโม
(บทความนี้ยาวประมาณ 24 หน้ากระดาษ A4)

 

 

บทความชิ้นนี้เป็นงานวิพากษ์ภาพยนตร์และสื่อต่างๆ ของ Adorno และ Benjamin ในฐานะตัวแทนความคิดของกลุ่มแฟรงค์เฟริทสคูลรุ่นแรกที่มองบริบทวัฒนธรรม
R
relate
กลางวันคือการเริ่มต้นเดินทางไปสู่ความมืด ส่วนกลางคืนคือจุดเริ่มต้นไปสู่ความสว่าง- เที่ยงวันคือจุดที่สว่างสุดแต่จะมืดลง เที่ยงคืนคือจุดที่มืดสุดแต่จะสว่างขึ้น

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

วิพากษ์อุตสาหกรรมภาพยนตร์ :
ศิลปะหรือเพียงเหล้าดองสมองทุน

เรียบเรียงโดย : สมเกียรติ ตั้งนโม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หมายเหตุ : บทความที่ท่านกำลังจะอ่านต่อไปนี้ เรียบเรียงขึ้นมาจากบทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 120 "วัฒนธรรมในยุคอุตสาหกรรม" (ตอนที่ 2 : ยุคสว่างในฐานะ ที่เป็นยุคหลอกลวงมวลชน) เขียนโดย Theodor Adorno, และบทความลำดับที่ 135 "ผลงานศิลปะในยุคของการผลิตซ้ำด้วยกลไก" เขียนโดย Walter Benjamin

บทนำ : ภาพยนตร์ วิทยุ และโทรทัศน์ จัดเป็นสื่อสารมวลชนที่มีอิทธิพลมากที่สุดในสังคมหลังสมัยใหม่ อันที่จริง สื่อต่างๆเหล่านี้เริ่มมีบทบาทดังกล่าวมากขึ้นตามลำดับในยุคสมัยใหม่ นับจากช่วงที่สื่อเหล่านี้ได้ถือกำเนิดและพัฒนาขึ้นมา และพวกมันได้แทรกตัวเข้าไปในพื้นที่ทางวัฒนธรรมของสังคมจนครอบงำพื้นที่ดังกล่าวไว้ได้อย่างสมบูรณ์

งานเขียนชิ้นนี้ ได้เก็บเอาประเด็นเรื่องของภาพยนตร์ วิทยุ (รวมทั้งโทรทัศน์บ้างเล็กน้อย - ที่กล่าวเช่นนี้เพราะ ในช่วงที่บทความสองเรื่องดังกล่าวได้รับการเขียนขึ้นมา พัฒนาการด้านสื่อโทรทัศน์เพียงมีบทบาทในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น)มานำเสนออย่างค่อนข้างละเอียด โดยเฉพาะได้หยิบเอาแง่มุมเกี่ยวกับงานเขียนของ Adorno และ Benjamin เกี่ยวกับเรื่องภาพยนตร์มาเป็นข้อมูลหลัก โดย Adorno และ Benjamin ได้พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้อย่างยืดยาวในความเรียงของเขาเกี่ยวกับ"อุตสาหกรรมวัฒนธรรม" และ "ผลงานศิลปะในยุคของการผลิตซ้ำด้วยกลไก"

โดยภาพรวม Adorno กล่าวว่า ในยุคของเขา เห็นได้ชัดว่า ภาพยนตร์และวิทยุไม่ต้องเสแสร้งอีกต่อไปแล้วว่าเป็นศิลปะ และเขายังได้บอกกับเราว่าอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ได้ทำให้ประชาธิปไตยในหมู่พวกเราสูญสิ้นไป มันลดทอนงานศิลปะให้เหลือเพียงงานพาณิชยศิลป์เท่านั้น ที่สำคัญแนวคิดทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ได้ใช้อุตสาหกรรมวัฒนธรรมการครอบงำความคิดของเราอย่างไร

นอกจากนี้วัฒนธรรมอุตสาหกรรมยังทำให้ประสบการณ์อันหลากหลายของแต่ละบุคคลถูกปล้นชิงเอาไป. รสนิยม คุณค่า และกฎเกณฑ์ทางศิลปะของพวกเราที่มีอยู่ทุกวันนี้ อันที่จริงเราไม่เคยมี เพราะพวกมันได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยทีมงานผู้ผลิต มันทำให้ประสบการณ์และอิสรภาพของเราแต่ละคนหดหายไป

และเขายังบอกต่อไปว่า ไม่มีทางที่จะมีอิสระชนคนใดที่ตั้งใจจะทำงานทางด้านนี้คิดกบฎต่ออุตสาหกรรมวัฒนธรรมจะขึ้นมาผงาดได้ นอกจากนี้ เขายังได้พูดถึงว่า ใครคือกลุ่มผู้บริโภคอุตสาหกรรมวัฒนธรรม ใครเป็นผู้ครอบครองอุตสาหกรรมทางด้านนี้ พร้อมทั้งกล่าวถึงการทำงานและการพักผ่อนภายใต้อุตสาหกรรมวัฒนธรรมด้วย

ในส่วนของ Benjamin ได้มาตอกย้ำถึงการครอบงำของวัฒนธรรมที่กล่าวถึงข้างต้น โดยเขาได้ลงไปในรายละเอียดในเชิงวิเคราะห์เปรียบเทียบ เช่น เขาได้เปรียบเทียบระหว่างนักแสดงละครเวทีกับนักแสดงภาพยนตร์ เปรียบเทียบความต่างระหว่างนักถ่ายทำภาพยนตร์กับจิตรกร รวมถึงการดูภาพยนตร์กับการดูผลงานทางจิตรกรรม

Benjamin ได้พูดถึงว่า การอยู่ต่อหน้าภาพยนตร์ มันจะไม่ปล่อยให้ผู้ดูมีโอกาสไตร่ตรอง ทั้งนี้เพราะภาพที่ต่อเนื่องกันของภาพยนตร์ มันชวนให้เราติดตามอย่างกระชั้นชิดและเป็นไปอย่างฉับพลัน ยากที่จะปล่อยใจไปใคร่ครวญถึงตอนหนึ่งตอนใดได้ ซึ่งอันนี้ต่างไปจากการชื่นชมผลงานศิลปะทางด้านอื่นๆ อย่างเช่น การชื่นชมกับผลงานทางด้านจิตรกรรม หรือการอ่านผลงานวรรณกรรม (ศิลปะทั้งสองอย่างหลัง ผู้ดูและผู้อ่านมีโอกาสอยู่กับตัวเอง นิ่งคิดได้นาน และเป็นไปอย่างไม่รีบร้อน)

ทั้ง Adorno และ Benjamin ต่างเป็นนิโอ-มาร์กซิสท์ที่สังกัดอยู่กับกลุ่มแฟรงค์เฟริทสคูล นักคิดกลุ่มนี้ได้ใช้วิธีการศึกษาของพวกเขาที่เรียกว่า Critical Theory ในการศึกษาถึงปัญหาสังคมในยุคสมัยใหม่. ตามประวัติแล้ว Theodor Adorno เป็นคนที่มีความสนใจทางด้านดนตรี นอกไปจากเรื่องของปรัชญา จิตวิทยา และสังคมวิทยา

ส่วน Walter Benjamin เป็นนักอักษรศาสตร์และนักสุนทรียศาสตร์โดยตรง เขาได้รับการศึกษาทางปรัชญา ได้ทำงานในฐานะนักแปลและนักวิจารณ์วรรณกรรมคนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันได้รับการถือว่า เป็นนักวิจารณ์ที่มีความสำคัญมากที่สุดคนหนึ่งในช่วงครึ่งแรกของคริสตศตวรรษที่ 20

สำหรับขั้นตอนการนำเสนอบทความชิ้นนี้ จะแบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 หัวข้อใหญ่คือ
1. แนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่ทางวัฒนธรรม-ภาพยนตร์ ของ Adorno (โดยแยกเป็นหัวข้อย่อย 21 หัวข้อ)
2. แนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่ทางศิลปะและสุนทรียศาสตร์ ของ Benjamin (โดยแยกเป็นหัวข้อย่อย 11 หัวข้อ)

เริ่มเรื่อง
1. แนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่ทางวัฒนธรรม-ภาพยนตร์ ของ Adorno
ประวัติสังเขปของ Theodor Adorno, เขาเป็นนักปรัชญา, นักวิจารณ์, และนักทฤษฎี ผู้ซึ่งได้ให้กำเนิดผลงานมากมายในด้านต่างๆเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรม. ความสนใจของเขาเรียงลำดับจากปรัชญาคลาสสิค, จิตวิทยา, ดนตรี ไปจนกระทั่งถึงเรื่องของสังคมวิทยา. เขาเขียนเรื่องต่างๆอย่างค่อนข้างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นหัวข้อที่เกี่ยวกับเรื่องของบีโธเฟน, การต่อต้านยิว, และรวมไปถึงเรื่องการวิจารณ์ภาพยนตร์

ในช่วงระหว่างปลายทศวรรษที่ 1930 ในขณะที่ถูกเนรเทศจากนาซีเยอรมันนี Adorno ได้ไปพำนักอยู่ยังอเมริกาในปี ค.ศ.1934 อะดอร์โนได้กลายเป็นบุคคลซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดคนหนึ่งของขบวนการนีโอมาร์กซิสท์

สิ่งหนึ่งซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกก็คือ ต้องเข้าใจลัทธิมาร์กซ์ซึ่งเผยให้เห็นถึงลัทธิทุนนิยม และคำประกาศของคอมมิวนิสท์เสียก่อน และก่อนที่จะมาทำความเข้าใจสิ่งเหล่านั้น ซึ่ง Adorno ได้กระทำการภายใต้อุดมการณ์ของมาร์กซ์. นับจากเริ่มต้น เราจะต้องเข้าใจว่าลัทธิมาร์กซ์ ไม่ใช่อุดมการณ์ที่ตายตัว แต่มันเป็นวิถีทางที่นำไปสู่เป้าหมายอันหนึ่ง

สิ่งซึ่งปัญญาชนชาวยิวทั้งหลายในคริสตศตวรรษที่ 19 ปรารถนา คือการโค่นล้มลัทธิทุนนิยมของชนชั้นกลาง (ซึ่งโลดแล่นโดยคนที่ไม่ใช่ยิว) และเข้าแทนที่มันโดยรูปแบบของโคเชอ(kosher form - ในที่นี้หมายถึง ตามกฎเกณฑ์หรือหลักการของยิวเกี่ยวกับการปกครอง ซึ่งดำเนินการโดยชาวยิว). สถานภาพทางสังคมของชนชาวยิวเท่าที่เป็นมา จะเป็นพวกที่ถือกำเนิดขึ้นมากับชนชั้นกลาง ซึ่งทำงานด้านช่างฝีมือ, เป็นพ่อค้า, และเจ้าของธุรกิจต่างๆ

ตามที่ปรากฎ, มาร์กซ์ได้พัฒนาอุดมการณ์อันหนึ่งขึ้นมา ซึ่งโจมตีเรื่องของชนชั้นโดยตรง โดยที่ชาวยิวทุกคนในยุโรปตะวันตกสังกัดอยู่กับแนวคิดนี้อย่างสำคัญ. ในความเป็นจริง ลัทธิมาร์กซ์ ได้รับการออกแบบขึ้นมาอย่างระมัดระวังในฐานะที่เป็นอาวุธอันหนึ่ง ที่ได้ถูกนำมาใช้ต่อสู้กับพวกกอย(Goy - หมายถึงคนที่ไม่ใช่ยิว) ที่เป็นชนชั้นกลาง

ในการต่อสู้กันทางชนชั้นของสังคมต่างๆทางด้านอุตสาหกรรม, มาร์กซ์ได้มองเห็นจุดอ่อนในด้านหนึ่งของอารยธรรมตะวันตก และเขาได้โจมตีลงไปตรงจุดนั้น

ขบวนการเคลื่อนไหวของปัญญาชนชาวยิวทุกๆขบวนการ (รวมทั้ง แฟรงค์เฟริทสคูล) รู้สึกถูกหลอกหลอนหรือครอบงำโดยความเข้มแข็งของสังคมเทคโนโลยี-อุตสาหกรรมของเรานี้ - กระนั้นก็ตาม ไม่มีใครในหมู่พวกเขาปรารถนาที่จะทำลายเครื่องมือต่างๆของสังคมดังกล่าว. เป้าหมายอันหนึ่งที่ขับเคลื่อนพวกเขาก็คือ การทำลายล้างพวก"กอย"ที่เป็นชนชั้นกลาง โดยมวลชนที่ถูกทำให้โกรธแค้น

1.1 เทคโนโลยี, ลัทธิทุนนิยม, และแรงงาน
เทคโนโลยี, ลัทธิทุนนิยม, และแรงงาน เป็นเพียงเครื่องมือในสงครามนี้เท่านั้น, พวกมันไม่ใช่ผู้ต่อสู้แต่อย่างใด. "มาร์กซ์" ตัวเขาเองมองลัทธิทุนนิยมในฐานะที่เป็นส่วนที่สมบูรณ์เกี่ยวกับแผนการของเขา (มันไม่อาจจะเป็นจริงไปได้ที่การปฏิวัติคอมมิวนิสท์จะมีขึ้นมาโดยปราศจากการก่อตัวขึ้นมาของทุนนิยมมาก่อนหน้านั้น) - เปรียบเทียบกันกับ"สวรรค์ของคนงาน"(worker's paradise) ซึ่งจะไม่ถูกทำลายลง และการถ่ายโอนระบบเทคโนโลยี-อุตสาหกรรมมาสู่ชนชั้นกรรมาชีพ. แต่คำถามก็คือ จะทำอย่างไรเพื่อให้บรรลุถึงผลอันสมบูรณ์อันนี้ได้ !

ปีแห่งอาณาจักรไรค์ที่สาม (the Third Reich - หมายถึงเผด็จการนาซีภายใต้การนำของฮิตเลอร์) และสงครามในยุโรป ทำให้บรรดาผู้เป็นสานุศิษย์ของ"แฟรงค์เฟริทสคูล" มีแรงกระตุ้นใหม่ที่จะถือเอาปัจจัยทั้งหมดของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเข้ามาในการต่อสู้ของพวกเขาต่อไปกับพวก"กอย". ก่อนหน้านี้ มาร์กซ์ได้นำเอาความช่วยเหลือทางด้านความคิดเกี่ยวกับการต่อสู้ทางชนชั้นมาจากปัญญาชนทั้งหลาย ยกตัวอย่างเช่น Robespeirre (ผู้นำฝ่ายซ้ายและสถาปนิกชาวฝรั่งเศส 1758-1794)ในช่วงระหว่างการปฏิวัติฝรั่งเศส. แต่บรรดานีโอ-มาร์กซิสท์(ในที่นี้หมายถึงพวกแฟรงค์เฟริทสคูล) เข้าใจอย่างรวดเร็วว่า มาถึงตอนนี้ พลังอำนาจอันมหาศาลของการโฆษณาชวนเชื่อมันมีอิทธิพลอันยิ่งใหญ่ เมื่อมันได้แสดงให้เห็นผลปรากฎ ตามมาด้วยความพ่ายแพ้ของเยอรมัน

บรรดา"มาร์กซิสท์"ก่อนหน้านั้น ไว้วางใจในการรวมตัวกันของแรงงาน ในฐานะที่เป็นอาวุธยุทธภัณฑ์ของพวกเขาเกือบจะโดดๆ, แต่สำหรับ"แฟรงค์เฟริทสคูล" ตระหนักว่า แนวคิดความสมบูรณ์แบบของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเป็นเป้าหมายที่สำคัญอันหนึ่ง

อะดอร์โนรู้ถึงพลังอำนาจอันยิ่งใหญ่ของสื่อมวลชนอย่างรวดเร็ว ในฐานะที่เป็นอำนาจการรวมตัวกันอย่างเป็นระบบอันหนึ่ง (-ซึ่งไม่ใช่ช่วงระหว่างชั่วโมงการทำงาน แต่เป็นช่วงของชั่วโมงพักผ่อนหรือเวลาว่าง-) ซึ่งในที่นี้อยากจะประดิษฐ์คำขึ้นมาเรียกมันว่า "organized leisure" หรือ "การรวมตัวกันในช่วงเวลาว่าง"

อะดอร์โนหยิบเอาหน้ากากอันหนึ่งเกี่ยวกับการต่อสู้กับเผด็จการฟาสซิสม์ขึ้นมา ซึ่งเหมือนกันมากกับที่แสดงออกในภูมิบ่งชี้ของเขา Authoritarian Personality (บุคลิกภาพเผด็จการ). แต่เขาไม่ได้กำลังต่อสู้กับลัทธิฟาสซิสม์ เมื่อตอนที่ความเรียงเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์ขึ้นมาในช่วงปี ค.ศ.1947 - ทั้งนี้เพราะ ไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับพวกเผด็จการฟาสซิสท์ที่ไหนเลย ซึ่งเข้าใกล้ศูนย์อำนาจในอเมริกา. ดังรายละเอียดในเรื่อง An Empire of Their Own ของ Neal Gabler และเรื่อง The View from Sunset Boulevard ของ Ben Stein, คนยิวไม่ใช่ส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมโฆษณาและความบันเทิงในสหรัฐอเมริกา - พวกเขาเป็นเพียงผู้ก่อตั้งมันขึ้นมาเท่านั้น

1.2 ศาสนาที่ตั้งมั่นได้สูญเสียพื้นที่ของตนเองไปแล้วเมื่อก้าวมาสู่ยุคใหม่
ทฤษฎีทางสังคมวิทยาได้เผยให้เห็นว่า ศาสนาที่ตั้งมั่นได้สูญเสียพื้นที่ของตนเองไปแล้วเมื่อก้าวมาสู่ยุคใหม่ มันเป็นการสลายตัวไปของส่วนที่เหลือสุดท้ายของลัทธิก่อนทุนนิยม พร้อมกันนั้นมันได้ให้ภาพถึงความแตกต่างกันทางเทคโนโลยีและสังคม. พัฒนาการของยุคสว่าง, เหตุผล, วิทยาศาสตร์, ภาพของการมีผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ, สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะน้อมนำไปสู่ความสับสนทางวัฒนธรรม และเกิดขึ้นอยู่ทุกๆวัน. โดยเฉพาะในด้านวัฒนธรรม ตอนนี้ดังที่เราได้พบเห็นกัน มันได้ประทับร่องรอยในลักษณะเดียวกันนี้ลงบนทุกๆพื้นที่

ภาพยนตร์ วิทยุ โทรทัศน์ และนิตยสาร ได้สร้างระบบอันหนึ่งขึ้นมา ซึ่งมีลักษณะเป็นแบบเดียวกันทั้งหมดในทุกๆส่วน. แม้กระทั่งกิจกรรมต่างๆทางสุนทรีย์เกี่ยวกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง(หมายถึงทั้งโลกเสรีและโลกของเผด็จการ) ต่างก็มีลักษณะที่เหมือนกันในการเชื่อฟังต่อแบบแผนอันนี้ด้วยศรัทธาอันแรงกล้าของพวกเขา ต่อจังหวะจะโคนของ"อุตสาหกรรมวัฒนธรรม" ที่ระบบทุนนิยมได้พัฒนาขึ้นมาอย่างมากและมีความแข็งแกร่งประดุจเหล็ก

สิ่งก่อสร้างต่างๆที่มีการจัดการในลักษณะอุตสาหกรรม และศูนย์กลางแสดงนิทรรศการทั้งหลายในประเทศต่างๆ แม้ในประเทศเผด็จการทั้งหลาย ต่างก็คล้ายคลึงกันมากกับประเทศประชาธิปไตยในทุกๆที่

1.3 ภาพยนตร์และวิทยุไม่ต้องหลอกลวงอีกต่อไปว่าเป็นศิลปะ
ความจริงก็คือ ภาพยนตร์และวิทยุ, พวกมันเป็นเพียงธุรกิจที่ถูกสร้างขึ้นมาภายใต้อุดมการณ์อันหนึ่ง เพื่อให้เหตุผลของความเป็นขยะและความเหลวไหลที่บรรดาผู้ผลิตได้สรรสร้างขึ้นมาอย่างรอบคอบ. พวกนั้นเรียกตัวของพวกของเขาเองว่าอุตสาหกรรม; และเมื่อรายได้ของผู้กำกับได้รับการตีพิมพ์ออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณชน ข้อสงสัยหรือความคลางแคลงใจใดๆ เกี่ยวกับประโยชน์ทางสังคมของผลผลิตที่เสร็จสมบูรณ์ดังกล่าว ก็จะถูกขจัดออกไปจนหมดสิ้น

1.4 พื้นฐานพลังอำนาจทางเทคโนโลยีอยู่ที่บุคคล
ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ วงการเกี่ยวกับการจัดการเพื่อสนอง(หรือยัดเยียด)ความต้องการดังกล่าวได้พัฒนาขึ้น ทำให้เอกภาพของระบบได้เจริญงอกงามและแข็งแรงมากขึ้นกว่าที่เคย. ไม่มีคำกล่าวใดที่ได้รับการสร้างขึ้นมาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่า พื้นฐานพลังอำนาจทางเทคโนโลยีที่ได้มาของสังคม คือพลังอำนาจของบุคคลเหล่านั้น ซึ่งการยึดครองทางเศรษฐกิจเหนือสังคมของคนเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่มากที่สุด

1.5 อุตสาหกรรมวัฒนธรรมทำให้ประชาธิปไตยสูญสิ้นไป
ก้าวย่างจากโทรศัพท์ไปสู่วิทยุได้จำแนกความแตกต่างทางด้านบทบาทอย่างชัดเจน. อันแรกยังคงยินยอมให้คนที่เห็นด้วยได้แสดงบทบาทเกี่ยวกับตัวเขา, และมีเสรีภาพที่จะสื่อสาร. ส่วนอันหลังเป็นเรื่องเกี่ยวกับประชาธิปไตยที่ต้องสูญสิ้นไป: นั่นคือ มันได้แปรเปลี่ยนผู้มีส่วนร่วมทั้งหมดไปสู่การเป็นผู้ฟัง และบังคับพวกเขาในลักษณะเผด็จการด้วยรายการหรือโปรแกรมกระจายเสียง ซึ่งทั้งหมดและทุกส่วนก็เป็นอย่างเดียวกันนี้

ไม่มีเครื่องจักรของการตอบโต้ใดๆได้รับการประดิษฐขึ้น, และผู้กระจายเสียงในฐานะปัจเจกชนหรือเป็นส่วนตัว เช่น การมีสถานีวิทยุของตนเองที่จะกระจายข่าว ถูกปฏิเสธเสรีภาพอันนี้ทั้งหมด. ผู้คนต่างถูกจำกัดให้อยู่ในฝ่ายตั้งรับ ไม่ได้รับการยอมรับลงสู่สนามของ"มือสมัครเล่น", และต้องยอมอยู่ใต้อำนาจบัญชาขององค์กรจากเบื้องบน

ร่องรอยใดก็ตามของการการกระจายเสียงอย่างเป็นทางการจากสาธารณชน(หรือปัจเจกชนที่เป็นอิสระ) จะถูกควบคุมและดูดเสียง หรือสร้างสัญญานรบกวนโดยนักสอดแนมที่มีความเชี่ยวชาญ

1.6 อุตสาหกรรมวัฒนธรรมได้ลดทอนศิลปะลงมาเป็นงานพาณิชย์ศิลป์
สำหรับในส่วนนี้ Adorno ได้ให้ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมดังนี้คือ ถ้าหากว่ามูฟเม้นท์หนึ่งจากบทเพลงซิมโฟนีของบีโธเฟน ได้ถูกปรับหรือดัดแปลงอย่างหยาบๆเพื่อเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ในลักษณะเดียวกัน ดุจเดียวกับนวนิยายของตอลสตอยได้รับการบิดเบือนไปในการเขียนขึ้นเป็นบทภาพยนตร์ หากว่าเป็นเช่นนั้นแล้วละก็ มันก็จะถูกทำขึ้นเพื่อความพึงพอใจซึ่งอ้างว่าเป็นความปรารถนาของสาธารณชน. การกระทำด้วยการดัดแปลงหรือบิดเบือนดังกล่าวข้างต้นนี้ มันไม่มีอะไรมากเกินไปกว่าเสียงที่ดังและความสับสน ซึ่งไม่มีสาระ และเป็นไปอย่างว่างเปล่า

1.7 การครอบงำทางเศรษฐกิจผ่านอุตสาหกรรมวัฒนธรรม
ในที่นี้ Adorno ถือว่าเป็นคนแรกๆที่ได้ชี้ให้เห็นมาก่อนใครถึงการที่สื่อต่างๆ ตกอยู่ภายใต้การครอบงำของเศรษฐกิจ โดยเขาได้ให้ข้อมูลที่ชัดเจนดังนี้...

อีกประการหนึ่งได้มีความเห็นพ้องต้องกัน(หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นการตกลงใจร่วมกัน)เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่การบริหารทั้งหมดที่ว่า มันไม่ใช่เป็นการผลิตเพื่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง, (เพราะ ตัวมันเองต้องตกอยู่ภายใต้การควบคุมของการโฆษณา ของทุนที่สนับสนุน และอื่นๆ ฯลฯ) เหนือสิ่งอื่นใด การบริหารจัดการเหล่านี้ คือความมั่นคงในตัวของมันเอง

ในยุคสมัยของเรา แนวโน้มทางสังคมที่เป็นไปในเชิงวัตถุวิสัย อันที่จริง มันคือการจุติใหม่ของวัตถุประสงค์ในเชิงอัตวิสัยอันซ่อนเร้นของบรรดาผู้อำนวยการบริษัทต่างๆ. ในบรรดาผู้นำที่อยู่แถวหน้าสุดในท่ามกลางคนเหล่านี้ คืออุตสาหกรรมประเภทเหล็ก, ปิโตรเลียม, ไฟฟ้า, และเคมีภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งมีอำนาจมากที่สุด

บรรดาผู้นำอุตสาหกรรมเหล่านี้ เป็นที่พึ่งพาของธุรกิจสื่อสารมวลชนทั่วๆไป อย่างเช่น การพึ่งพาอาศัยของบริษัทกระจายเสียงที่มีอิทธิพลมากที่สุดต่ออุตสาหกรรมไฟฟ้า, หรืออุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่ต้องพึ่งพาธนาคารต่างๆ เป็นตัวอย่างคุณลักษณะพิเศษของปริมณฑลดังกล่าว

แต่ละสาขาของมันมีการผสมผสานคลุกเคล้ากันในเชิงเศรษฐกิจ ทั้งหมดมีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิด แม้ว่าในภาพที่ออกมาจะมีการแบ่งเขตกันระหว่างบริษัทต่างๆก็ตาม. เอกภาพที่โหดเหี้ยมไร้ความเมตตาในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเหล่านี้ มันยังเป็นพยานหลักฐานของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในทางการเมืองด้วย

1.8 เรื่องของคุณภาพวัฒนธรรมและคุณภาพของสินค้า
เรื่องของคุณภาพวัฒนธรรม ได้ถูกวางบนความสอดคล้องกับคุณภาพของสินค้าและผลิตภัณฑ์ Adorno ได้ชี้ให้เห็นว่า พื้นฐานที่แตกต่างกันดังภาพที่ปรากฏ อย่างเช่น บริษัทภาพยนตร์ A และ B, หรือเรื่องราวในนิตยสารในราคาที่แตกต่างกัน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเนื้อหาเรื่องราวที่แยกเป็นหมวดหมู่เท่าใดนัก หรือขึ้นอยู่กับองค์กร และป้ายฉลากผู้บริโภค. คำถามคือมันขึ้นอยู่กับอะไร ? คำตอบในที่นี้ก็คือ ขึ้นอยู่กับคุณภาพ(ที่สร้างขึ้น) ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ได้รับการตระเตรียมขึ้นมาทั้งหมด

ความแตกต่างในเรื่องคุณภาพได้ถูกเน้นและยืดขยายออกไป. สาธารณชนจะได้รับการยัดเยียดรายการบันเทิงหรือสินค้ามาให้ ด้วยการแบ่งลำดับชั้นสูง-ต่ำของผลิตภัณฑ์ ในลักษณะที่ผลิตขึ้นมาเป็นจำนวนมากซึ่งมีคุณภาพอันหลากหลาย, และทุกคนจะต้องประพฤติตัว (ราวกับว่าเป็นไปเองอย่างนั้น) ซึ่งสอดคล้องกับระดับที่เป็นความตั้งใจและมีลักษณะเป็นดัชนี โดยเลือกประเภทของผลิตภัณฑ์มวลรวมซึ่งผลิตขึ้นมาสำหรับแบบฉบับของตัวตน

บรรดาผู้บริโภคจะปรากฎเป็นสถิติในแผนผังการวิจัยของบริษัทต่างๆ, และได้ถูกแบ่งแยกโดยกลุ่มรายได้เป็นประเภทสีเขียว สีแดง และสีน้ำเงิน ตามลำดับ และเทคนนิคดังกล่าว จะถูกนำมาใช้เพื่อวางแผนการโฆษณาสำหรับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่ม ลักษณะของการทำให้เป็นแบบแผนขึ้นมาเช่นนี้ ขั้นตอนที่สร้างขึ้นมาดังกล่าว สามารถได้รับการมองเห็นได้เป็นผลผลิตที่แตกต่างกันในเชิงจักรกล แต่ในท้ายที่สุด มันได้พิสูจน์ว่าทั้งหมดมันเหมือนกันนั่นเอง

1.9 ความแตกต่างในเชิงคุณภาพอันหลอกลวง
ความแตกต่างกันนั้นระหว่างบริษัทรถยนต์ Chrysler และ General Motors โดยพื้นฐานแล้วเป็นมายาภาพ ซึ่งอาจสร้างความประทับใจแก่บรรดาพวกวัยรุ่นและคนหนุ่มสาวทุกคนด้วยความสนใจที่แหลมคมในความหลากหลายและความต่าง. สิ่งที่บรรดาเชี่ยวชาญทั้งหลายพูดคุยกันเกี่ยวกับจุดดีหรือเลวของรถยนต์ในแต่ละยี่ห้อ จริงๆแล้ว มันเป็นเพียงลักษณะภายนอกของการแข่งขันที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง และเป็นแค่ทางเลือกเท่านั้น. ลักษณะอย่างเดียวกันนี้ สามารถนำไปใช้ได้กับบริษัทภาพยนตร์ Warner Brothers และ Metro Goldwyn Mayer ได้ด้วย

สำหรับรถยนต์ต่างๆ มันมีความแตกต่างกันเกี่ยวกับเรื่องของกระบอกสูบ, สมรรถนะของพละกำลัง, รายละเอียดต่างๆของอุปกรณ์ที่มีลิขสิทธิ์; และสำหรับภาพยนตร์ ก็มีเรื่องของดาราภาพยนตร์จำนวนมาก, การใช้เทคนิคพิเศษเกินความจำเป็น, แรงงาน, และอุปกรณ์หรือเครื่องมือต่างๆ, และการนำเสนอซึ่งเกี่ยวกับหลักการในเชิงจิตวิทยาที่ทันสมัยที่สุด

บรรทัดฐานของบริษัทภาพยนตร์ Universal เกี่ยวกับคุณภาพที่ดีเป็นเรื่องในเชิงปริมาณอย่างค่อนข้างจะเด่นชัด, ทั้งนี้เพราะมันไปเกี่ยวกับการลงทุนอย่างห้าวหาญนั่นเอง. งบประมาณที่แปรผันในอุตสาหกรรมวัฒนธรรม มิได้แบกรับความสัมพันธ์(ซึ่งถ้าจะมี ก็มีแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น) ต่อคุณค่าต่างๆของข้อเท็จจริง, หรือต่อความหมายเกี่ยวกับตัวของผลผลิตเองแต่อย่างใด

แม้กระทั่งเทคนิคของสื่อต่างๆ ซึ่งมีกำเนิดที่ต่างกัน ก็ถูกบีบบังคับให้เข้าไปสู่การมีลักษณะหลอมละลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างไม่มีการผ่อนปรน

1.10 การสังเคราะห์ศิลปะหลากหลายประเภท ให้เป็นหนึ่งเดียว
การนำเอาศิลปะหลายๆแขนงมาหลอมรวมกันเป็นหนึ่งเดียว การทำเช่นนี้ Adorno มองว่าทำให้คุณภาพเชิงสุนทรีย์เสื่อมทรามลง : เขากล่าวว่า "โทรทัศน์" มีจุดมุ่งหมายที่จะสังเคราะห์หรือรวมเอา"วิทยุ"และ"ภาพยนตร์"เข้ามารวมอยู่ด้วยกัน, และการหลอมรวมนี้ได้ถูกยกหรืออุ้มชูไว้ด้วยผลประโยชน์ จากการที่คนส่วนใหญ่ให้การต้อนรับกับไอเดียอันนี้

แต่ผลที่ตามมาของ มันค่อนข้างใหญ่โตมากและมีแนวโน้มที่จะทำให้คุณภาพเชิงสุนทรีย์เสื่อมทรามลงอย่างรุนแรง ซึ่งจากภาพที่ปรากฎทำให้คาดการณ์ได้ว่า สำหรับวันพรุ่งนี้ ผลผลิตอุตสาหกรรมวัฒนธรรมดังกล่าว สามารถที่จะเปิดเผยตัวมันเองออกมาอย่างผู้มีชัยชนะ และบรรลุถึงความฝันแบบ Wagnerian เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า "Gesamtkunstwerk" หรือ "การหลอมละลายศิลปกรรมทั้งหมดเป็นงานชิ้นเดียว"

ความเป็นพันธมิตรกันระหว่าง "คำพูด", "ภาพที่ปรากฏ", และ"ดนตรี", เป็นความสมบูรณ์ทั้งหมดมากยิ่งกว่าความลงตัวใดๆที่มีมาในอดีต. ทั้งนี้เพราะปัจจัยเกี่ยวกับความรู้สึกสัมผัส, คำพูด, เสียงดนตรี, และภาพที่เห็น, ทั้งหมดมันได้สะท้อนถ่ายออกมาอย่างน่าพอใจบนผิวหน้าของความจริงทางสังคม ซึ่งอยู่ในหลักการของการทำให้ปรากฏเป็นรูปร่างขึ้นมาในกระบวนการทางเทคนิคอย่างเดียวกัน

ความเป็นเอกภาพ ซึ่งได้กลายมาเป็นเนื้อหาที่มีลักษณะเด่นของมัน. กระบวนการอันนี้ได้ผสมองค์ประกอบทั้งหมดของการผลิต จากนวนิยาย(ทำให้เป็นรูปร่างปรากฏแก่ตาโดยภาพยนตร์) จนกระทั่งถึงเสียงประกอบภาพยนตร์ในท้ายที่สุด. มันคือชัยชนะของทุนที่ลงไป, ชื่อเรื่องของมันในฐานะผู้เป็นนายที่แท้จริง ได้ถูกสลักเสลาลึกลงในหัวใจของผู้คน มันคือเนื้อหาที่มีความหมายของภาพยนตร์ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นพล๊อตเรื่องอะไรก็ตามที่ทีมงานผู้ผลิตได้ทำการเลือกสรร

1.11 ประสบการณ์อันหลากหลายของแต่ละคนถูกปล้นเอาไป
Adorno ได้ชี้ให้เห็นว่า, มนุษย์ในช่วงเวลาพักผ่อนต้องยอมรับสิ่งที่ผู้ทำการผลิตวัฒนธรรมทำให้กับเขา. อันนี้ดูเหมือนจะขัดกับแนวความคิดของค้านท์เลยทีเดียว นั่นคือ ลัทธิความเชื่อของค้านท์ยังคงคาดหวังเรื่องของปัจเจกภาวะ, ผู้ซึ่งได้รับการคิดว่าเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ต่างๆอันหลากหลายในทางความรู้สึกส่วนตัว

แต่อุตสาหกรรมวัฒนธรรมได้ปล้นชิงปัจเจกภาพหรือประสบการณ์ความรู้สึกอันหลากหลายนี้ไป เพราะการบริการที่สำคัญที่สุดของผู้ผลิตวัฒนธรรมซึ่งเตรียมไว้ให้กับผู้บริโภคก็คือ กระทำไปตามผังรายการสำเร็จรูปที่วางไว้ให้กับผู้คนทั้งหลายแล้วเท่านั้น

ค้านท์กล่าวว่า มันเป็นจักรกลที่ลึกลับในวิญญานของมนุษย์ ซึ่งเตรียมขึ้นมาในหนทาง ซึ่งเหมาะสมกับผู้คนแต่ละคน. แต่ทุกวันนี้ความลึกลับของวิญญานดังกล่าวได้ถูกถอดระหัสออกมาแล้วอย่างเปล่าเปลือย

สิ่งที่ปรากฎออกมาทั้งหมดในการนำเสนอ จะมีการวางแผนโดยคนที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งทำหน้าที่ตระเตรียมหรือจัดหาข้อมูลเกี่ยวกับประสบการณ์เอาไว้ให้กับทุกๆคน และปฏิบัติการอันนี้ พวกเราส่วนใหญ่ไม่อาจหนีรอดมันไปได้ สิ่งเหล่านี้ถูกกระทำโดยผ่านกระบวนการตัวแทนทางด้านพาณิชย์ เพื่อว่า พวกเขาจะได้ให้ความประทับใจเทียมแก่เราในลักษณะที่เหมือนๆกัน. ไม่มีอะไรเหลือทิ้งไว้สำหรับผู้บริโภคเพื่อเป็นการแยกแยะ ซึ่งบรรดาผู้ผลิตวัฒนธรรมตั้งใจจะกระทำมันเพื่อผู้บริโภค

1.12 รสนิยม คุณค่า และกฎเกณฑ์ศิลปะ ถูกสร้างโดยทีมงานผู้ผลิต
รสนิยม คุณค่า และกฎเกณฑ์ศิลปะ ได้ถูกสร้างขึ้นอย่างชำนิชำนาญโดยทีมงานผู้ผลิต Adorno ได้ให้ความเห็นว่า รสนิยม คุณค่า สิ่งต่างๆเหล่านี้ได้รับมาจากความสำนึก: นั่นคือสำหรับ Malebranche และ Berkeley, มันเป็นความสำนึกของพระผู้เป็นเจ้า

แต่ในศิลปะมวลชนดังที่กล่าว มันมาจากความสำนึกของทีมงานผู้ผลิต. ไม่ใช่เพียงแค่ เพลงฮิต, ดารา, และละครวิทยุ... ไม่ใช่สิ่งเหล่านี้หรอกที่ได้หวนกลับมาอีกครั้ง และแบบแผนก็แข็งทื่อไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง, แต่มันเป็นเรื่องของ"เนื้อหา" โดยเฉพาะความบันเทิงในตัวมันเอง ที่รับมาจากมัน. ดังนั้นสิ่งที่ปรากฏออกมา มันจึงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลยนอกจากรายละเอียดที่เป็นองค์ประกอบ

รายละเอียดต่างๆมีการสลับปรับเปลี่ยนไป. ช่วงเวลาสั้นๆที่ตามมาซึ่งดูมีประสิทธิผลในเพลงฮิตเพลงหนึ่ง, ความตกต่ำลงเพียงชั่วประเดี๋ยวของพระเอกจากความสง่างาม (ซึ่งผู้คนให้การยอมรับในฐานะความสนุกสนานที่ดี), ปฏิบัติการที่เป็นไปอย่างหยาบๆ ซึ่งผู้คนได้รับจากดาราฝ่ายชาย, การท้าทายแบบห้าวๆเกี่ยวกับหญิงผู้มั่งคั่งที่แย่งชิงมา, คือ, มันจะเหมือนรายละเอียดอื่นๆทั้งหมด, สำนวนซ้ำซากๆน่าเบื่อที่นักประพันธ์ชอบใช้(cliches)ที่มีลักษณะสำเร็จรูปได้รับการสอดเข้ามาในทุกๆที่; พวกเขาไม่เคยทำสิ่งใดเลยมากไปกว่าเพื่อบรรลุเป้าหมาย โดยกระจายมันลงในแปลนที่วางเอาไว้แล้วทั้งหมด

สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดเป็นเรื่องของ raison d'etre หรือ"เหตุผลของการดำรงอยู่" ซึ่งจะต้องยืนยันโดยการมีอยู่ของส่วนต่างๆที่เป็นองค์ประกอบของมัน. ทันทีที่ภาพยนตร์เริ่มต้นขึ้น มันก็ชัดเจนเลยทีเดียวว่ามันจะจบลงอย่างไร และใครจะเป็นผู้ที่ได้รับรางวัล, ใครจะถูกลงโทษ หรือใครจะถูกลืมเลือน? ในดนตรีประเภทไลท์มิวสิค, เมื่อหูที่ได้รับการฝึกมาได้ยินเสียงโน๊ตตัวแรกของเพลงยอดนิยมดังกล่าว ก็สามารถคาดเดาถึงสิ่งที่จะตามมา และความรู้สึกที่ไพเราะมากเกินไปเหล่านั้น เมื่อมันบรรเลงขึ้น

ถัวเฉลี่ยของความยาวในงานเขียนประเภทเรื่องสั้น ก็ต้องถูกยึดถือเอาไว้อย่างตายตัวหรือแข็งทื่อ. แม้กระทั่งแก๊กต่างๆ, ผลที่ปรากฎ, และเรื่องตลกก็ถูกคิดคำนวณเอาไว้อย่างดีเช่นเดียวกัน ดังที่พวกมันได้ถูกวางแผนเอาไว้แล้วในลักษณะสำเร็จรูป. สิ่งเหล่านี้คือความรับผิดชอบของผู้เชี่ยวชาญพิเศษ และลำดับการแคบๆของมันที่ทำให้ง่ายสำหรับการที่จะถูกแบ่งสรรหน้าที่กันไปในสำนักงาน

1.13 ภาพยนตร์กับการหดหายของประสบการณ์และอิสรภาพ
Adorno ได้กล่าวอย่างห้าวหาญว่า โลกทั้งใบได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยผ่านฟิลเตอร์หรือแว่นกรองของวัฒนธรรมในยุคอุสาหกรรม. ประสบการณ์เก่าๆของคนที่ไปดูภาพยนตร์, ภาพยนตร์ซึ่งครั้งหนึ่ง มันเคยเป็นส่วนที่ทำหน้าที่ยืดขยายโลกภายนอกให้ยาวออกไป ปรากฏว่าหน้าที่เหล่านี้มันค่อยๆหดสั้นลง ผู้ดูภาพยนตร์ต้องสูญเสียมันไป (เพราะภาพยนตร์มุ่งที่จะจำลองโลกของการรับรู้ในชีวิตประจำวันขึ้นมา) ด้วยเหตุนี้ มาถึงปัจจุบัน, ภาพยนตร์คือประสบการณ์หรือเส้นทางที่ผู้ผลิตได้น้อมนำเราไป โดยไม่ให้เรามีอิสระแต่อย่างใด

ชีวิตจริงกำลังกลายเป็นสิ่งซึ่งไม่อาจแยกแยะได้จากภาพยนตร์. ภาพยนตร์เสียงไปไกลมากจากมายาการของละคร, ไม่เหลือที่ว่างใดๆสำหรับจินตนาการสำหรับเราอีกแล้ว หรือมีช่องว่างให้กับการสะท้อนกลับหรือการใช้ความครุ่นคิดของผู้ดู. พวกเราในฐานะผู้ดู จะไม่สามารถที่จะตอบโต้กับโครงสร้างของภาพยนตร์ได้อีกแล้ว แม้แต่การเถลไถลออกจากรายละเอียดที่แน่นอนของมัน โดยปราศจากการสูญเสียสายใยที่โยงอยู่กับเรื่องราว; ดังนั้น ภาพยนตร์จึงบีบบังคับผู้ดู[หรือเหยื่อ]ให้ขนานไปกับความเป็นจริงของมันโดยตรง โดยไม่มีอิสรภาพใดๆเหลืออยู่

ภาพยนตร์สมัยใหม่ได้รับการออกแบบขึ้นมาให้มีความฉับไว. พลังอำนาจของการสังเกตของผู้ดู, และประสบการณ์ที่ถูกต้อง เป็นสิ่งที่พวกเขาต้องเรียกร้องกับตัวเองอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ เพื่อที่จะเข้าใจความหมายที่มันสื่อออกมาทั้งหมด. ด้วยเหตุนี้ ความคิดที่ประคองไว้หรือเหลือเอาไว้สำหรับสิ่งอื่น มันจึงเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าจะไม่ให้พลาดจากความรีบเร่งของข้อเท็จจริงต่างๆที่ประดังกันเข้ามาอย่างพรวดพราด. ความพยายามดังกล่าวของผู้ดู ต้องการให้ผู้ดูตอบโต้ไปในลักษณะกึ่งอัตโนมัติ, และจะไม่มีพื้นที่ใดถูกทิ้งเอาไว้สำหรับจินตนาการ

1.14 การสร้างแม่แบบตัวละคร ดนตรี มีความพิถีพิถันทุกขั้นตอน
การสร้างแม่แบบตัวละคร ดนตรี และการเตรียมงานของทีมงานผู้ผลิตมืออาชีพ มีความพิถีพิถันทุกขั้นตอน Adorno ชี้ว่า ภาพยนตร์เสียงทุกเรื่อง และรายการกระจายเสียงทางวิทยุโทรทัศน์ทุกรายการ เรื่องราวหรืออิทธิพลต่างๆของสังคมจะได้รับการสรุปให้เป็นแบบที่ตายตัวและจะถูกกระทำในลักษณะที่เหมือนๆกันหมด

อุตสาหกรรมวัฒนธรรม จะมีแบบต่างๆของมนุษย์เป็นแม่พิมพ์ในฐานะที่เป็นหุ่นจำลองอันหนึ่ง ซึ่งจะถูกทำซ้ำอย่างไม่ผิดพลาดในทุกๆผลผลิต. ตัวแทนหรือหุ่นจำลองทั้งหมดเหล่านี้, นับจากบุคคลชั้นสูง ไล่ลงมาถึงคนชั้นต่ำ, หรือหญิงผู้สูงศักดิ์ไล่เลียงลงมาถึงหญิงโสเภณี, ได้มีการเอาใจใส่อย่างดี ซึ่งการจำลองแบบง่ายๆเกี่ยวกับภาวะทางจิตวิทยาจะไม่ถูกทำให้แตกต่างกันเลย หรือยืดขยายออกไปในหนทางใดๆให้เกิดความซับซ้อน

บรรดานักประวัติศาสตร์ศิลป์และผู้คอยเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม ผู้ซึ่งคร่ำบ่นเกี่ยวกับการสิ้นสูญในพลังศิลปะพื้นฐานของตะวันตกต่างก็ผิดพลาด ทั้งนี้เพราะแบบฉบับที่ตายตัวทั่วไปของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเมื่อตอนเริ่มต้น, ที่เป็นไปตามแนวทางการผลิตซ้ำของเครื่องจักร, พอเวลาผ่านไป มันล้ำหน้าเกินไปกว่าความแข็งทื่อและกระแสทั่วๆไปของสไตล์. ไม่มี Palestrina (คีตกวีอิตาเลี่ยน 1525-1594) คนใดที่จะบริสุทธิ์เกินไปกว่านี้ ในการขจัดทุกสิ่งที่ไม่ได้มีการเตรียมการเอาไว้ออกไป และตัดเอาสิ่งที่ขาดความประสานกันทั้งหลายทิ้งไป ได้มากยิ่งกว่าผู้เรียบเรียงเพลงแจ๊ส ซึ่งเขาจะทำลายทุกสิ่งที่มายับยั้งพัฒนาการต่างๆ ซึ่งไม่สอดคล้องกับภาษาเฉพาะของมันออกไป

เมื่อจะทำให้ Mozart น่าสนใจหรือมีชีวิตชีวามากขึ้น เขาจะเปลี่ยนคีตกวีผู้นี้ไป ซึ่งไม่เพียงความจริงจังของ Mozart ที่มากเกินความจำเป็นหรือยากไปเท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนวิธีการที่ Mozart ประสานท่วงทำนองดนตรีไปในทิศทางที่แตกต่างด้วย บางทีเป็นไปในทางที่ง่ายกว่าที่เคยชินกันอยู่ในปัจจุบันเสียอีก

ไม่มี"ผู้สร้างสรรค์ในสมัยกลางคนใด" สามารถตรวจสอบหรือพินิจพิเคราะห์ถึงเนื้อหาเรื่องราวต่างๆ สำหรับภาพเขียนสีบนกระจกหน้าต่างโบสถ์และประติมากรรมประกอบสถาปัตยกรรมด้วยความสงสัยละเอียดละออ มากเกินไปกว่าลำดับชั้นในแนวดิ่งของสตูดิโอต่างๆของ"อุตสาหกรรมวัฒนธรรม" ซึ่งพวกเขาจะตรวจตราผลงานชิ้นหนึ่งที่ทำขึ้นโดย Balzac หรือ Hugo ก่อนยืนยันความพอใจเกี่ยวกับมันในท้ายที่สุด

ไม่มีนักเทววิทยาในสมัยกลางคนใด ที่จะมากำหนดระดับของการทนทุกข์ทรมานที่ประสบโดยนักบุญต่างๆอันเนื่องมาจากการรับใช้ศาสนาและความศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า ที่มีความพิถีพิถันมากเกินไปกว่าบรรดาผู้ผลิตเกี่ยวกับมหากาพย์กำมะลอ ซึ่งมีการคาดคำนวณความเจ็บปวดที่พระเอกจะต้องประสบ, หรือจุดที่แน่นอน ซึ่งขอบล่างของกระโปรงของนางเอกจะถูกเปิดขึ้นมา ทุกสิ่งทุกอย่างได้เคลื่อนคล้อยลงมาจนกระทั่งถึงรายละเอียดสุดท้าย ซึ่งได้ทำให้เป็นรูปเป็นร่างในท้ายที่สุด

เหมือนกับคู่ของมัน, นั่นคือ"ศิลปะแนวหน้า"(avant-garde art), อุตสาหกรรมบันเทิงกำหนดภาษาของตัวมันเองขึ้น, เรื่อยลงมาถึงโครงสร้างลำดับคำและศัพท์แสง, โดยการค้นคว้าเกี่ยวกับคำต่างๆที่ให้ผลสูงสุดอย่างพิถีพิถัน นับจากคำสรรเสริญเยินยอจนถึงคำด่าหรือสาปแช่ง. ทั้งนี้เนื่องมาจากความกดดันที่มีอยู่อย่างสม่ำเสมอที่จะต้องสร้างเอฟเฟคใหม่ๆต่างๆขึ้นมานั่นเอง (ซึ่งจะต้องสอดคล้องกันกับแบบแผนเดิมๆ) มารับใช้ในฐานะที่เป็นกฎเกณฑ์อีกข้อหนึ่งเพื่อเพิ่มพลังอำนาจของมันอยู่ตลอดเวลา

และด้วยเหตุนี้ รายละเอียดทุกอย่างจะได้รับการประทับตราอย่างมั่นคงด้วยความลงตัว ที่จะไม่มีอะไรสามารถปรากฏขึ้นมา ซึ่งไม่ได้ถูกทำเครื่องหมายเอาไว้นับตั้งแต่เกิด, หรือไม่พานพบกับการรับรองมาแต่แต่แรกเห็น

1.15 การครอบงำของอุตสาหกรรมวัฒนธรรมโดยมืออาชีพ
การครอบงำของอุตสาหกรรมวัฒนธรรม โดยการบริหารจัดการของมืออาชีพต่อวิถีชีวิตของผู้คน สำหรับในเรื่องนี้ Adorno กล่าวว่า หากจะพูดถึงวัฒนธรรมคราใด ก็มักจะตรงกันข้ามกับวัฒนธรรมเสมอ. วัฒนธรรม ได้ถูกนำเข้าไปสู่โลกของการบริหารจัดการ และแน่นอน มันได้ถูกทำให้เป็นอุตสาหกรรม, ผลที่ตามมา, มันได้หลอมรวมเข้ากับชีวิต ซึ่งสอดคล้องอย่างสนิทแนบกับความเป็นอยู่

วัฒนธรรมเช่นว่านี้ได้เข้ามาครอบครองผัสสะหรือประสาทสัมผัสของมนุษย์ นับจากเวลาที่พวกเขาเลิกงานในช่วงเย็นจากโรงงานอุตสาหกรรม จนกระทั่งไปถึงช่วงที่นาฬิกาบอกเวลาให้เข้างานอีกครั้งในเช้าวันรุ่งขึ้น ด้วยสาระที่น่าประทับใจ ที่ตัวของพวกเขาเองต้องประคองหรือรักษาไว้ตลอดทั้งวัน การซึมซับอันนี้ได้ให้ความพอใจมาทดแทนอย่างหลอกๆหรือจอมปลอมเกี่ยวกับแนวคิดทางวัฒนธรรม

และด้วยเหตุนี้ อุตสาหกรรมวัฒนธรรม, หรือวัฒนธรรมสมัยใหม่จึงมีลักษณะผูกขาดคล้ายกับการผูกขาดในทางเศรษฐกิจ พร้อมกับแบบฉบับต่างๆที่สอดคล้องกับการบริหารจัดการ. และหากจะมีบางส่วนของปริมณฑลของมันที่จะนำเสนอในสิ่งที่แตกต่าง อันเป็นแนวทางของใครคนหนึ่งขึ้นมาในวงการบันเทิง เขาก็จะต้องกระทำในสิ่งเหล่านั้นด้วยความยืดหยุ่นอย่างเหมาะสม

1.16 การคิดกบฎต่ออุตสาหกรรมวัฒนธรรม
การคิดกบฎต่ออุตสาหกรรมวัฒนธรรม คือทางเลือกที่นำไปสู่ความตาย Adorno เตือนเอาไว้ว่า ใครก็ตามที่ต่อต้าน สามารถจะทำได้ก็เพียงแค่อยู่รอดโดยการไปด้วยกันกับมันเท่านั้น. เมื่อตราหรือยี่ห้อเฉพาะของเขาที่เบี่ยงเบนไปจากบรรทัดฐานได้ถูกบันทึกโดยอุตสาหกรรม, เขาก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของมันเช่นเดียวกับนักปฏิรูปที่ดินที่กระทำกับลัทธิทุนนิยม. ความขัดแย้งจริงๆของผู้ซึ่งมีไอเดียใหม่ๆในวงการธุรกิจคือเครื่องหมายการค้าเท่านั้น. ในส่วนของสุ้มเสียงของสาธารณชน ที่ประณามหรือขัดแย้งกับสังคมสมัยใหม่ ไม่ค่อยจะดังพอจะได้ยิน และถ้าหากพวกเขาทำเช่นนั้น ในไม่ช้าก็จะถูกไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอม

แน่นอน มันมีห้องที่อยู่บนสุดสำหรับทุกๆคน ที่จะแสดงให้เห็นความเหนือกว่าของเขาโดยการมีความคิดริเริ่มที่ได้รับการวางแผนมาอย่างดี. ในอุตสาหกรรมวัฒนธรรม มีแนวโน้มที่จะหยิบยื่นโอกาสอย่างเต็มที่ให้กับคนเก่งของมันให้ได้เหลือรอดอยู่ได้. เพื่อที่จะทำสิ่งดังกล่าว

สำหรับความมีประสิทธิภาพทุกวันนี้ มันยังคงเป็นบทบาทหน้าที่ของตลาด, ซึ่งอันที่จริงแล้วได้ถูกควบคุมอย่างชำนิชำนาญ. แต่อย่างไรก็ตาม หากว่ายังมีใครบางคนที่ดันทุรังโดยไม่ประนีประนอม มันก็เป็นอิสรภาพสำหรับคนโง่ที่จะอดตายเช่นกัน หากว่าเขาคิดจะเลือกหนทางนั้น

1.17 นักวรรณกรรมและนักดนตรีบางคนที่ยังต่อสู้กับอำนาจธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ในยุคของ Adorno เขายังเห็นถึงนักวรรณกรรมและนักดนตรีบางคนที่ยังต่อสู้กับอำนาจธุรกิจ ซึ่งอันนี้โดยทั่วไปแล้ว ศิลปะในตลาดตัวของมันเอง ซึ่งเคยเป็นเรื่องของคุณภาพอันไม่เกี่ยวกับประโยชน์ใช้สอย กลับถูกพบว่ามันได้เปลี่ยนไปสู่อำนาจการซื้อ แม้ว่าจะมีสำนักพิมพ์บางแห่ง ทั้งทางด้านวรรณกรรมและดนตรีที่มีหน้ามีตา จะสามารถช่วยเหลือบรรดานักประพันธ์ทั้งหลาย ผู้ที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับวิถีทางของการทำกำไร และยังเคารพในวิชาชีพ จะสามารถอยู่รอดได้ก็ตาม แต่นั่นก็นับว่าเป็นส่วนที่น้อยมาก. สิ่งที่มาพันธนาการศิลปินอย่างสมบูรณ์ก็คือ แรงกดดันที่มักจะผลักให้พวกเขาดำเนินชีวิตไปสอดคล้องกับเรื่องของธุรกิจ ในฐานะที่เป็นผู้เชี่ยวชาญทางสุนทรียภาพคนหนึ่ง

1.18 ใครคือกลุ่มผู้บริโภคอุตสาหกรรมวัฒนธรรม
Adorno ได้บอกกับเรามานานหลายทศวรรษแล้วว่า บรรดาผู้บริโภคสื่อวัฒนธรรมทั้งหลายส่วนใหญ่ในทุกวันนี้คือพวกคนงาน, ชาวนา และชนชั้นกลางระดับล่าง. ผลผลิตของนายทุนค่อนข้างที่จำกัดหรือตีวงในคนกลุ่มเหล่านี้, ร่างกายและวิญญาน, ซึ่งคนกลุ่มต่างๆเหล่านี้ต้องตกเป็นเหยื่อที่ไม่อาจช่วยตัวเองได้ต่อสิ่งซึ่งถูกนำมาให้แก่พวกเขา. ดังธรรมชาติที่ว่า กฎเกณฑ์ดังกล่าวมักจะนำเอาความมีศีลธรรมมายัดเยียดให้กับพวกเขา ซึ่งเป็นไปอย่างเอาจริงเอาจังมากกว่ากระทำกับบรรดาตัวของผู้ปกครองเอง

ผู้คนทั้งหลายต่างๆก็ถูกวัฒนธรรมแบบนี้ลวงหลอก ทุกวันนี้ พวกเขาได้ถูกทำให้เกิดความรู้สึกประทับใจกับมายาคติของความสำเร็จ ยิ่งไปกว่าความสำเร็จจริงๆ. พวกเขายืนยันบนอุดมการณ์ที่แท้ซึ่งทำให้พวกเขาเป็นทาสอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ความรักอันผิดที่ผิดทางของผู้คนธรรมดาทั่วๆไปสำหรับความผิดพลาดซึ่งกระทำกับพวกเขา มันมีอำนาจบังคับที่ยิ่งใหญ่เกินกว่าความหลักแหลมของผู้มีอำนาจทั้งหลาย. มันแข็งแกร่งมากยิ่งกว่าความเข้มงวดใดในสำนักงานของ Hays (นักกฎหมายและนักการเมืองชาวอเมริกัน 1879-1954), เทียบเท่าช่วงเวลาอันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ที่มันลุกโชนขึ้นเป็นไฟด้วยอำนาจกดขี่ที่ยิ่งใหญ่ กับผู้ซึ่งเป็นศัตรูของมัน สิ่งเหล่านี้มันเป็นสิ่งที่น่าหวาดหวั่นยิ่งกว่าบัลลังก์ศาลใดๆ

1.19 อุตสาหกรรมวัฒนธรรมยอมแบกรับความไร้ยางอาย เพื่อผลกำไรสูงสุด
Adorno ยังได้ชี้ให้เห็นสัจธรรมอันหนึ่ง ที่ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงของการมุ่งกำไรสูงสุดอย่างปราศจากความอาย และมันยังเป็นการสะกัดตัดทอนความแปลกใหม่ในวงการศิลปะด้วย เขากล่าวว่า...

อะไรที่นับว่าเป็นการสูญเสียต่อความมั่งคั่ง ซึ่งไม่สามารถที่จะใช้หาประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ คำตอบก็คือ ข้อตกลงหรือสัญญาที่มีกับดารานักแสดงคนหนึ่งที่กำลังตกต่ำ อันนี้ถือว่าเป็นค่าเสียหายและความสิ้นเปลืองที่ถูกต้องตามกฎหมายสำหรับระบบนี้. อุตสาหกรรมวัฒนธรรมในด้านหนึ่ง จะมีปรับตัวของมันเองตลอดเวลาให้มีความลงรอยกันกับบรรดาผู้ซื้อ และยอมเป็นผู้ที่ไร้ยางอายของตนเองในฐานะผู้ผลิต ซึ่งจะทำหน้าที่สนองความต้องการไปทั่ว. ผลลัพธ์ก็คือการผลิตซ้ำที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

ความไม่เปลี่ยนแปลง การผลิตซ้ำ เพื่อบรรลุถึงความสำเร็จอย่างเดิม สิ่งเหล่านี้ทำให้เรื่องราวใหม่ๆหรือสิ่งใหม่ๆมีช่องทางอยู่น้อยมากที่จะเล็ดลอดเข้าไปได้ เพราะเรื่องราวหรือสิ่งใหม่ๆเป็นสิ่งที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ เมื่อมั่นยังไม่ได้มีการพิสูจน์หรือทดลอง แน่นอน มันย่อมตกอยู่ในฐานะที่เป็นความเสี่ยงหนึ่ง. การกระทำเช่นนี้เปรียบเสมือนเครื่องจักรที่ผลิตสินค้าที่หมุนรอบบนจุดๆเดียว

บรรดาผู้สร้างภาพยนตร์ จะสงสัยและคลางแคลงใจต่อต้นฉบับต่างๆ ซึ่งไม่ได้มีการประกันความมั่นใจให้กับพวกเขา เช่น ในฐานะที่เป็นหนังสือขายดี. แม้กระนั้นก็ตาม ด้วยเหตุผลเดียวกัน พวกเขาก็ไม่เคยเลยที่จะหยุดพูดคุยกันถึงเรื่องไอเดียต่างๆ, ความแปลกใหม่, และความน่าประหลาดใจ, ของสิ่งซึ่งทึกทักกันเอาเอง แต่ไม่เคยมีอยู่จริง

จังหวะความเคลื่อนไหวและพลวัตต่างๆได้มารับใช้แนวโน้มอันนี้ ไม่มีสิ่งใดที่ยังคงความเก่าอยู่ได้ ทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้มันเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา. สำหรับชัยชนะที่เป็นสากลเกี่ยวกับจังหวะของผลผลิตทางด้านเครื่องจักร และการทำซ้ำเท่านั้น ที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และจะไม่มีอะไรที่ไม่เหมาะสมสามารถหลุดรอดออกมาได้. การเพิ่มเติมอะไรเข้าไปสู่การประดิษฐ์คิดค้นทางวัฒนธรรมที่พิสูจน์ว่าดีแล้ว มันจะต้องเป็นอะไรที่มีความแน่นอนและความมั่นคง ซึ่งไม่ต้องไปสุ่มเสี่ยงกับการคาดเดาที่ออกจะเป็นต้นทุนซึ่งมากเกินไป

1.20 การทำงานและการพักผ่อนภายใต้อุตสาหกรรมวัฒนธรรม
ลัทธิทุนนิยมที่เน้นในเรื่องของการแข่งขัน การทำงานแข่งกับเวลา การผลิตที่มีประสิทธิภาพ ได้ผลักให้ผู้คนตกอยู่ในภาวะของความตึงเครียดในยุคสมัยของเรา มันเป็นช่วงเวลาของการทำงานที่ทอดยาวในแต่ละวัน ด้วยเหตุนี้หลังจากเลิกงาน เพื่อเป็นการผ่อนคลายจากความตึงเครียด ความอภิรมย์ต่างๆจึงเป็นสิ่งที่คนเราแสวงหาเพื่อปลีกตัวจากภาวะอันนั้น และหนีรอดไปจากกระบวนการกลไกของการทำงาน เพื่อฟื้นฟูความแข็งแกร่งที่จะสามารถจัดการกับมันได้อีกครั้งในวันรุ่งขึ้น แต่ในเวลาเดียวกันนั้น การพักผ่อนหย่อนใจและความสุขของคนๆหนึ่ง, ได้มากำหนดการสร้างสินค้าต่างๆเพื่อความอภิรมย์ด้วย

1.21 บทสรุปเรื่องการสิ้นสุดของอุตสาหกรรมวัฒนธรรม
Adorno เห็นว่า เราจะไม่สูญเสียอะไรไปเลยหากว่าอุตสาหกรรมวัฒนธรรมต้องสิ้นสุดลง เว้นแต่คนโง่เท่านั้นที่รู้สึกเช่นนั้น. อุตสาหกรรมวัฒนธรรมได้ทำหน้าที่เบี่ยงเบนจิตใจของผู้คนไป ซึ่งมันได้โอ้อวดเกี่ยวกับสิ่งดังกล่าวออกมาด้วยเสียงอันดัง คำถามจึงเกิดขึ้นมาว่า หากมันเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ถ้าวันใดวันหนึ่งสถานีวิทยุโทรทัศน์ส่วนใหญ่และโรงภาพยนตร์จำนวนมากได้ถูกปิดลง, บรรดาผู้บริโภคทั้งหลาย จะสูญเสียอะไรในชีวิตไปหรือไม่ ? คำตอบก็คือ เป็นไปได้มากที่จะไม่ได้สูญเสียอะไรไปมากมายนัก

การเดินข้ามถนนเข้าไปยังโรงภาพยนตร์ในทุกวันนี้ มันไม่ใช่การเข้าไปสู่โลกของความฝันอีกต่อไปแล้ว ทั้งนี้เพราะสถานการณ์เหล่านี้มันไม่ได้ทำให้ต้องมีพันธะผูกพัน หรือจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากมันนั่นเอง ดังนั้นจึงไม่มีแรงกระตุ้นที่ยิ่งใหญ่ใดๆให้ทำอย่างนั้นอีกต่อไป

การปิดตัวหรือยุติลงเช่นนั้น จะไม่ก่อให้เกิดปฏิกริยาตามมาที่รุนแรง เช่น ความพินาศย่อยยับของเครื่องจักร. ความไม่สมหวังจะไม่ถูกทำให้รู้สึกมากมายนักโดยผู้ที่คลั่งไคล้ เท่ากับโดยผู้ที่บกพร่องทางสติปัญญาหรือพวกคนโง่, ผู้ซึ่งจะเป็นผู้ที่ได้รับความทุกข์สำหรับทุกสิ่งทุกอย่างอยู่แล้วที่ต้องยุติ หรือถูกทำลายลง ไม่ว่ากรณีใดๆ โดยไม่จำเพาะต้องไปเกี่ยวพันกับสิ่งเหล่านี้เท่านั้น

2. แนวคิดเกี่ยวกับพื้นที่ทางศิลปะและสุนทรียศาสตร์ของ Benjamin
Waiter Benjamin เป็นนักอักษรศาสตร์และนักสุนทรียศาสตร์โดยตรง เขาได้รับการศึกษาทางปรัชญาในเบอร์ลิน Freiburg im Breisgau, ในมิวนิค และเบอร์ ได้ทำงานในฐานะนักแปลและนักวิจารณ์วรรณกรรมคนหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันถูกถือว่าเป็นนักวิจารณ์ที่มีความสำคัญมากที่สุดคนหนึ่งในช่วงครึ่งแรกของคริสตศตวรรษที่ 20 ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้เห็นงานที่เขาเขียนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของศิลปะและสุนทรียศาสตร์โดยตรงอยู่หลายชิ้น

ในเรื่อง The Work of Art in the Age of Mechanical Reproduction (1935) เขาได้ให้ข้อสังเกตเกี่ยวกับศิลปะและสุนทรียศาสตร์เอาไว้อย่างหลากหลายดังนี้

2.1 ความแท้จริงและรัศมี(aura)ในงานศิลปะ
Benjamin กล่าวว่า ในกรณีของ"วัตถุทางศิลปะ" ใจกลางที่อ่อนไหวมากที่สุดของมันก็คือ "ความแท้จริง"ของมัน ซึ่งถูกแทรกแซง(โดยการผลิตซ้ำ). "ความแท้จริง"ดังกล่าวของสิ่งๆหนึ่ง เป็นแก่นหรือสาระสำคัญของทั้งหมดที่ส่งผ่านจากการเริ่มต้นเป็นต้นมา ค่อยๆเรียงลำดับอย่างต่อเนื่องมาพร้อมกับเหตุการณ์และพยานหลักฐานต่างๆที่มันได้ประสบในประวัติศาสตร์

เมื่อหลักฐานทางประวัติศาสตร์พักพิงอยู่บนความจริงแท้เช่นนี้ การผลิตซ้ำจึงเป็นอันตรายสำหรับมัน เพราะไม่มีความต่อเนื่องโดยแก่นสารใดๆ. สิ่งที่เป็นอันตรายจริงๆเมื่อหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้รับผลกระทบก็คือ ความจริงแท้ของวัตถุชิ้นนั้น

ใครบางคนอาจวิเคราะห์ถึงธาตุแท้ที่ถูกทำลายหรือขจัดออกไปในอีกแง่หนึ่ง นั่นคือเรื่องของ"รัศมี" หรือที่เรียกกันว่า"aura" ในงานศิลปะ, และกล่าวต่อไปว่า : รัศมี(aura)ของผลงานศิลปะอันนั้น มันเหี่ยวแห้งร่วงโรยไปในยุคของการผลิตซ้ำเชิงกล อันนี้คือลักษณะของอาการโรคอันหนึ่ง นัยะสำคัญของมันได้ชี้ไปยังสิ่งที่อยู่เหนืออาณาเขตของศิลปะ

2.2 คุณค่าทางศิลปะที่เปลี่ยนไปบนเส้นทางประวัติศาสตร์ และศิลปะบริสุทธิ์ที่ปฏิเสธหน้าที่ของมันในทางสังคม
ต่อเรื่องของคุณค่าและเรื่องราวประวัติศาสตร์นี้ Benjamin สรุปว่าผลงานศิลปะได้รับการยอมรับและให้คุณค่าบนระนาบที่แตกต่างกัน ซึ่งมีอยู่สองขั้วที่เด่นขึ้นมา;

โดยขั้วแรก, การเน้นหนักอยู่บนคุณค่าลัทธิความเชื่อ(cult value)
ส่วนอีกขั้ว เน้นคุณค่าการแสดงออก(exhibition value)ของผลงาน

การผลิตงานทางศิลปะเริ่มต้นขึ้นด้วยการเป็นวัตถุของพิธีกรรมซึ่งกำหนดให้มันทำหน้าที่รับใช้ลัทธิความเชื่อต่างๆ เราอาจสันนิษฐานว่า นั่นคือสาระสำคัญของการมีอยู่ของมัน, ดังนั้นโดยแรกสุดแล้ว ศิลปะแต่แรกสุดนั้น มันไม่ได้มีอยู่เพื่อการมอง

พวกเราทราบว่าผลงานศิลปะในยุคเริ่มต้นบังเกิดขึ้นมาเพื่อรับใช้พิธีกรรมอันหนึ่ง - แรกทีเดียวก็รับใช้พิธีกรรมทางไสยเวทย์(magical), ต่อจากนั้นก็รับใช้ศาสนา. มันเป็นเรื่องสำคัญที่ว่า การดำรงอยู่ของผลงานศิลปะ โดยการอ้างอิงถึงรัศมี(aura)ของมัน ไม่เคยเลยที่จะแยกห่างอย่างสิ้นเชิงออกจากหน้าที่ในทางพิธีกรรมดังกล่าวนี้

กล่าวอีกอย่างหนึ่ง, คุณค่าที่มีลักษณะเฉพาะของผลงานศิลปะที่จริงแท้(authentic)ในอดีต มีพื้นฐานของมันอยู่ในพิธีกรรม, ตำแหน่งแหล่งที่เกี่ยวกับต้นฉบับเดิมของมันใช้ในเชิงคุณค่าประเภทนี้. อย่างไรก็ตาม พื้นฐานเกี่ยวกับพิธีกรรมดังกล่าว เมื่อผ่านระยะเวลามายาวนาน, ยังคงเป็นที่ยอมรับในฐานะที่เป็นพิธีกรรมทางโลก เท่ๆกันกับในรูปแบบต่างๆที่หยาบคายที่สุดของลัทธิความเชื่อเกี่ยวกับความงาม

ลัทธิความเชื่อทางโลกเกี่ยวกับความงาม(secular cult of beauty), ได้พัฒนาขึ้นมาในช่วงระหว่างสมัยเรอเนสซองค์ และแพร่หลายอยู่ประมาณสามศตวรรษ, ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า พื้นฐานเกี่ยวกับพิธีกรรมที่เสื่อมถอยของมัน และวิกฤตอันลึกซึ้งแรกสุดที่บังเกิดขึ้นกับสิ่งเหล่านี้

และต่อมา ด้วยการมาถึงเกี่ยวกับวิธีการที่เรียกว่าเป็นการปฏิวัติจริงๆครั้งแรกของ"การผลิตซ้ำ" นั่นคือ "ภาพถ่าย", พร้อมกันกับการถือกำเนิดขึ้นมาของลัทธิสังคมนิยม ศิลปะได้เริ่มตระหนักหรือรู้สึกถึงวิกฤตที่คืบคลานเข้าใกล้ ซึ่งกลายเป็นพยานหลักฐานในหนึ่งศตวรรษต่อมา

ณ เวลานั้น, ศิลปะที่เคยเป็นมาในอดีตซึ่งเคยฟูมฟักอยู่กับลัทธิความเชื่อศาสนา(อาจเรียกว่าเทววิทยาศิลปะ)ได้แสดงปฏิกริยาตอบโต้กับคำสอนเกี่ยวกับ l'art pour l'art (ศิลปะเพื่อศิลปะ). แต่อย่างไรก็ตาม การตอบโต้กันนั้นได้ก่อให้เกิดสิ่งที่อาจได้รับการเรียกว่า เทววิทยาในเชิงนิเสธ(negative theology)อันหนึ่งเช่นเดียวกัน ในรูปความคิดเกี่ยวกับศิลปะ"บริสุทธิ์"("pure" art), ซึ่งไม่เพียงปฏิเสธบทบาทหน้าที่ในทางสังคมของศิลปะเท่านั้น แต่มันยังรวมไปถึงการปฏิเสธการจัดแบ่งเป็นหมวดหมู่ใดๆโดยสาระและเรื่องราวด้วย

ภาพยนตร์ได้ทำให้คุณค่าพิธีกรรมความเชื่อ(cult value)ถอยห่างออกไปทุกทีจนไปแอบอยู่เบื้องหลัง [เช่นเดียวกับภาพถ่าย มันเชิดชูการดูหรือการแสดงออก(exhibition value)] ซึ่งในเวลาเดียวกันก็วางสาธารณชนลงในตำแหน่งของนักวิจารณ์ด้วย แต่โดยข้อเท็จจริง ณ โรงภาพยนตร์ ตำแหน่งอันนี้ไม่เป็นที่สนใจสักเท่าใด. เพราะ แม้ว่าสาธารณชนจะเป็นผู้ตรวจสอบ เป็นผู้ดูที่คอยวิพากษ์วิจารณ์ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ก็เป็นคนที่ไม่มีความคิดที่แหลมคมแต่อย่างใด

2.3 การเปรียบเทียบนักแสดงละครบนเวที กับนักแสดงบนจอภาพยนตร์
ในหนังสือเล่มเดียวกัน Benjamin ได้ให้ภาพเปรียบเทียบระหว่างนักแสดงที่เสนอตัวต่อสาธารณชนดังนี้. นาฎกรรมหรือการแสดงทางศิลปะ(artistic performance)ของนักแสดงบนเวที ได้ถูกนำเสนอโดยปราศจากคำถามหรือข้อสงสัยสู่สาธารณชนโดยตัวนักแสดงที่เป็นบุคคล แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับนักแสดงบนจอภาพยนตร์ จะถูกนำเสนอโดยผ่านกล้อง โดยจะมีผลตามมาคือ

กล้องที่นำเสนอการแสดงของนักแสดงภาพยนตร์ ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงการแสดงในฐานะที่เป็นภาพรวมๆทั้งหมด. ด้วยการถูกนำเสนอโดยผู้ถ่ายทำ, กล้องจะทำการเปลี่ยนตำแหน่งของตัวนักแสดงอย่างต่อเนื่อง ด้วยการพิจารณาถึงการแสดง. ลำดับต่อเนื่องของมุมมองในตำแหน่งต่างๆซึ่งผู้ตัดต่อประพันธ์ขึ้นจากเนื้อหาเรื่องราว ซึ่งช่วยให้เขาสร้างภาพยนตร์ที่สมบูรณ์ขึ้นมา. มันประกอบด้วยปัจจัยบางอย่างของการเคลื่อนไหว ซึ่งอยู่ในความจริงเหล่านั้นของกล้องบันทึกภาพ, อันนี้มิได้พูดถึงมุมกล้องพิเศษ เช่น ภาพระยะใกล้ หรืออะไรต่างๆ ฯลฯ แต่อย่างใด

จากเหตุผลหรือข้อเท็จจริงอันนี้, การแสดงของนักแสดงจึงถูกควบคุมโดยการทดสอบภาพชุดหนึ่ง. อันนี้คือผลที่ตามมาเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ว่า การแสดงของนักแสดงได้ถูกนำเสนอโดยเครื่องมือหรือวิธีการของกล้องบันทึกภาพ

นักแสดงภาพยนตร์ยังขาดเสียซึ่งโอกาสบางอย่างของนักแสดงบนเวทีมี นั่นคือ โอกาสที่นักแสดงสามารถที่จะปรับตัวกับผู้ดูในช่วงระหว่างที่กำลังนำเสนอ, ทั้งนี้เพราะ นักแสดงภาพยนตร์ไม่ได้เสนอการแสดงของเขาต่อหน้าผู้ดูในฐานะบุคคล. อันนี้ทำให้ผู้ชมอยู่ในตำแหน่งของนักวิจารณ์คนหนึ่ง, โดยไม่มีประสบการณ์เชื่อมโยงในลักษณะบุคคลใดๆกับตัวนักแสดงภาพยนตร์เลย. การเข้าถึงหรือเข้าอกเข้าใจของผู้ชมต่อตัวนักแสดงภาพยนตร์ จริงๆแล้วเป็นการรู้สึกเข้าใจโดยผ่านกล้อง. ผลที่ตามมา ผู้ดูอยู่ในตำแหน่งของกล้องบันทึกภาพนั่นเอง ซึ่งได้ผ่านการทดสอบแล้ว. อันนี้ไม่ใช่การเข้าถึงคุณค่าที่แท้จริงที่แสดงออก

2.4 รัศมีที่หดหายไปสำหรับนักแสดงภาพยนตร์
ในกรณีนี้ Benjamin ได้เสริมต่อในสิ่งที่ขาดหายไปของนักแสดงภาพยนตร์ โดยกล่าวว่า... สำหรับรัศมี(aura)ได้ไปผูกกับการมีอยู่ของนักแสดง และรัศมีนั้นมันไม่สามารถที่จะจำลองขึ้นมาได้. รัศมี(aura)บนเวที มันกระจายออกมาจาก Macbeth ซึ่งอันนี้ไม่สามารถที่จะแยกผู้ดูทั้งหลายจากตัวนักแสดงได้. แต่อย่างไรก็ตาม ช็อทหรือภาพโดดๆในสตูดิโอนั้น กล้องบันทึกภาพได้เข้ามาแทนที่สาธารณชน. ผลที่ตามมา รัศมี(aura)ซึ่งหุ้มห่อนักแสดงเอาไว้ มันได้อันตรธานหายไปหมด

ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ควรจะมีนักเขียนบทละครอย่าง Pirandello ซึ่งได้อธิบายถึงลักษณะเฉพาะบางอย่างของภาพยนตร์ และได้สะท้อนให้เห็นผลกระทบที่สำคัญและวิกฤตดังกล่าวโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งเราเห็นเมื่อไปดูละคร. การศึกษาอย่างละเอียดได้พิสูจน์ว่า อันที่จริงมันไม่ได้มีความขัดแย้งที่ใหญ่เกินไปกว่าละครเวทีกับงานศิลปะชิ้นหนึ่งที่ต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่เกี่ยวกับเรื่องนี้

บรรดาผู้เชี่ยวชาญยอมรับกันมานมนานแล้วว่า, ในภาพยนตร์ "อิทธิพลเกี่ยวกับเรื่องของการแสดงนั้น จะถือว่าเป็นความยิ่งใหญ่หรือความสามารถล้วนๆของนักแสดง ดูไม่ค่อยถูกต้องนักและไม่เป็นความจริงสักเท่าใด….

ในปี ค.ศ.1932 Rudolf Arnheim มองเห็นแนวโน้มดังกล่าว ในการปฏิบัติการของนักแสดงภาพยนตร์ในฐานะที่เป็นตัวสนับสนุนเวที ซึ่งได้รับการเลือกสรรสำหรับลักษณะเฉพาะอันนี้. การแสดงที่มาประกอบกันขึ้นเป็นตอนๆหนึ่ง สามารถที่จะแทรกการแสดงที่ได้รับการถ่ายทำมาดีที่สุดลงไป"ในระหว่าง"ตอนให้มีความเหมาะสมที่สุดได้". ด้วยไอเดียอันนี้ บางสิ่งบางอย่างได้ถูกนำมาเชื่อมโยงปะติดปะต่อเข้าเป็นเหตุการณ์ในลักษณะต่อเนื่องกัน. การสร้างสรรค์เกี่ยวกับงานภาพยนตร์ ทั้งหมดไม่ได้เป็นงานชิ้นเดียว แต่มันได้ถูกประพันธ์หรือสร้างขึ้นจากการแสดงที่แยกๆออกจากกันจำนวนมาก จากนั้นได้นำมาเรียงร้อยเข้าด้วยกัน

นอกจากนั้นยังมีข้อพิจารณาบางอย่างผนวกเข้าไปด้วย อย่างเช่น ต้นทุนของสตูดิโอ, คุณสมบัติตามที่ต้องการของเพื่อนนักแสดง, d~cor (การตกแต่ง), ฯลฯ ที่ร่วมกันอยู่ในฉาก เป็นต้น., นั่นคือความจำเป็นพื้นฐานต่างๆของกระบวนการผลิต ซึ่งมีทั้งอุปกรณ์ เครื่องมือ และตัวประกอบอื่นๆ ที่มาแบ่งเบาและแยกผลงานของนักแสดง ประกอบกันเข้าไปในฉากหรือบทที่เตรียมไว้ชุดหนึ่ง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดแสดงและการติดตั้งสิ่งเหล่านี้ เพื่อต้องการที่จะนำเสนอเกี่ยวกับเหตุการณ์ๆหนึ่งบนจอภาพยนตร์ ที่ปรากฏออกมาพร้อมกันเป็นฉากที่รวดเร็วและเป็นหน่วยเดียว มีลำดับการที่ต่อเนื่องไหลเลื่อนเคลื่อนไปอันหนึ่งของการถ่ายทำที่แยกๆกัน ซึ่งอาจใช้เวลาหลายชั่วโมงที่สตูดิโอ แต่ปรากฏผลออกมาเป็นภาพยนตร์เพียงไม่กี่วินาที

แต่อย่างไรก็ตาม ในการแก้ปัญหานั้น... ภาพยนตร์ตอบสนองต่อการหดตัวของรัศมี(aura) ด้วยการสร้างสิ่งเทียมขึ้นมาเกี่ยวกับบุคลิกภาพของนักแสดงภายนอกสตูดิโอ. ลัทธิบูชาหรือความคลั่งไคล้ในดาราภาพยนตร์, ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูโดยเงินทุนของอุตสาหกรรมภาพยนตร์, มันปกปักรักษาไม่เพียงรัศมีในลักษณะที่พิเศษของตัวบุคคลเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการสะกดหรือครอบงำเกี่ยวกับบุคลิกภาพด้วย", มันเป็นการสะกดหรือครอบงำแบบเก๊ๆของสินค้าชิ้นหนึ่ง. เงินทุนของบรรดาผู้สร้างภาพยนตร์ที่ได้มาจัดการเรื่องแฟชั่น เรื่องการโฆษณา ในฐานะที่เป็นกฎอันหนึ่ง

2.5 นักแสดงภาพยนตร์ไม่ต่างจากสินค้าที่ผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม
Benjamin แสดงความคิดเห็นว่า... ความรู้สึกประหลาดๆ ไม่เคยชิน ที่ครอบคลุมนักแสดงเมื่ออยู่ต่อหน้ากล้องบันทึกภาพ, ดังที่ Pirandello ได้อธิบายนั้น โดยพื้นฐานแล้ว เป็นชนิดเดียวกันกับความห่างเหินที่รู้สึกเมื่อภาพของคนผู้นั้นปรากฏในกระจกเงานั่นเอง. แต่ปัจจุบันนี้ ภาพที่ถูกสะท้อนกลายเป็นสิ่งแยกขาดจากกันได้, สามารถเคลื่อนย้ายออกไปได้. และที่ไหนกันล่ะที่มันได้ถูกเคลื่อนย้ายออกไป ? คำตอบคือ ไปอยู่ต่อหน้าผู้ดูหรือสาธารณชนนั่นเอง

ไม่เคยเลยสักชั่วขณะที่นักแสดงภาพยนตร์จะหยุดสำนึกเกี่ยวกับข้อเท็จจริงอันนี้ ขณะที่อยู่ต่อหน้ากล้องบันทึกภาพ เขารู้ว่า ในที่สุดแล้วเขาจะเผชิญหน้ากับสาธารณชน, อันเป็นผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้สร้างตลาดขึ้นมา. ตลาดอันนี้, ที่ซึ่งผู้ดูไม่ได้ให้เพียงแรงงานของเขาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตัวตนของเขาเองทั้งหมด, หัวใจและวิญญาน, นอกเหนือจากแค่ไปดูเท่านั้น

ในช่วงระหว่างที่มีการถ่ายทำ นักแสดงได้มีการติดต่อกับผู้ดูเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เช่นดังกับสินค้าที่ได้รับการผลิตขึ้นในโรงงาน. อันนี้ ตามความคิดของ Pirandello อาจไปเสริมสร้างความกังวลใจใหม่ๆ ที่กล้องบันทึกภาพได้จับภาพนักแสดงเอาไว้ตรงหน้าโดยไม่มีผู้คนที่ปฏิสัมพันธ์กับเขาจริงๆ

2.6 นักถ่ายทำภาพยนตร์(cameraman) แตกต่างจากจิตรกรอย่างไร
สำหรับกรณีนี้ Benjamin ได้ชี้ให้เห็นความต่างระหว่าง นักถ่ายทำภาพยนตร์ผู้สร้างภาพให้ปรากฎขึ้นมาบนจอ กับจิตรกรผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้ปรากฎขึ้นมาบนผืนผ้าใบ และยังให้ภาพอุปมาอุปมัยไปถึงนักไสยเวทย์ กับศัลยแพทย์ดังนี้...

ช่างกล้อง(cameraman)เมื่อเปรียบเทียบกับจิตรกรแล้วแตกต่างกันอย่างไร ? เพื่อจะตอบปัญหานี้ เราต้องหันไปพึ่งพาอาศัยต่อการอุปมาอุปมัยที่คล้ายคลึงกันอันหนึ่งกับเรื่องของศัลยแพทย์ กับนักไสยเวทย์

ศัลยแพทย์เป็นตัวแทนในขั้วที่ตรงข้ามกันกับนักไสยเวทย์. นักไสยเวทย์จะรักษาคนป่วยด้วยการวางมือลงไป; ส่วนศัลยแพทย์จะผ่าลงไปในร่างกายของคนป่วย. นักไสยเวทย์จะธำรงรักษาระยะห่างทางธรรมชาติระหว่างผู้ป่วยกับตัวของเขา แม้ว่าเขาจะลดมันลงด้วยความแผ่วเบาอย่างที่สุดโดยการวางมือลงไป, แต่ก็เพิ่มพลังมันอย่างมากโดยคุณสมบัติเกี่ยวกับอำนาจที่มีในมือของเขา

ศัลยแพทย์จะทำในสิ่งที่กลับกันเลยทีเดียว; เขาจะลดระยะห่างดังกล่าวอย่างมากระหว่างตัวเขาเองกับคนป่วย โดยกการผ่าเข้าไปในร่างกายของคนป่วย และเพิ่มมากขึ้นทีละน้อยด้วยความระมัดระวังและคอยเตือนตัวเองว่า มือของเขาได้เคลื่อนเข้าไปในท่ามกลางอวัยวะของคนป่วยคนนั้น

โดยสรุป ในทางตรงข้ามกับนักไสยเวทย์ ซึ่งซ่อนเร้นตัวเองอยู่ในฐานะนักปฏิบัติการทางการแพทย์ - ศัลยแพทย์ ณ ช่วงขณะที่แน่นอน จะละเว้นการเผชิญหน้ากับผู้ป่วยตัวต่อตัว; ยิ่งไปกว่านั้น ในทางตรงข้าม โดยผ่านการผ่าตัด เขาได้แทรกเข้าไปในร่างของผู้ป่วยเลยทีเดียว

นักไสยเวทย์และแพทย์ผ่าตัด เปรียบเทียบกับ จิตรกรและช่างกล้อง(cameraman). จิตรกรจะรักษาระยะห่างทางธรรมชาติจากความเป็นจริงเอาไว้, ในขณะที่ช่างกล้องจะเจาะทะลุลึกลงไปในข่ายใยของธรรมชาติ. มันมีความแตกต่างกันอย่างมากระหว่างภาพที่พวกเขาผลิตออกมา. สำหรับภาพที่จิตรกรวาดขึ้น รูปที่ปรากฏกับสายตาจะเป็นทั้งหมด ส่วนของช่างกล้องจะประกอบด้วยชิ้นส่วนเล็กๆน้อยๆอันหลากหลาย ซึ่งถูกนำมาผสมรวมกันภายใต้กฎเกณฑ์ใหม่อันหนึ่ง

ด้วยเหตุนี้, สำหรับผู้คนร่วมสมัย การเป็นตัวแทนของความจริงโดยภาพยนตร์เป็นสิ่งที่มีนัยะสำคัญมากอย่างไม่อาจเปรียบเทียบได้กับงานจิตรกรรม, เมื่อเป็นเช่นนี้, แน่นอน เนื่องมาจากการซึมแทรกอย่างสมบูรณ์ของความจริงด้วยเครื่องมือทางกลไก ด้วยเหตุดังนั้น โดยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ แง่มุมของความเป็นจริงจึงได้รับการปลดปล่อยออกมาให้เป็นอิสระ. และนั่นคือสิ่งหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามจากผลงานศิลปะชิ้นหนึ่ง

2.7 การเปรียบเทียบระหว่างการดูภาพยนตร์กับการชื่นชมงานจิตรกรรม
ด้วยความสอดคล้องต้องกันกับหัวข้อข้างต้น, Benjamin ได้เสริมต่อให้เห็นภาพชัดที่แตกต่างระหว่างการดูภาพยนตร์และงานจิตรกรรมดังนี้...

โดยการจ้องมองไปยังจอภาพยนตร์, ท่าทีวิพากษ์วิจารณ์และการเต็มใจรับของสาธารณชนเกิดขึ้นพร้อมๆกัน. เหตุผลที่ชัดเจนสำหรับอันนี้ก็คือว่า ปฏิกริยาต่างๆของปัจเจกชนได้รับการตัดสินล่วงหน้าแล้วโดยการขานรับของมวลชนผู้ดู ซึ่งมวลชนเหล่านั้นจวนเจียนจะทำให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว และอันนี้จึงไม่มีที่ใดที่จะได้รับการเปล่งเสียงได้มากไปกว่าในโรงภาพยนตร์

อีกครั้ง การเปรียบเทียบกับงานทางด้านจิตรกรรมจะทำให้เห็นภาพชัด. งานจิตรกรรมชิ้นหนึ่งมักจะมีโอกาสอันดีเลิศที่จะถูกจ้องดูโดยคนเพียงคนเดียวหรือโดยคนเพียงไม่กี่คน. การพิจารณาใคร่ครวญแบบพร้อมๆกันเกี่ยวกับงานจิตรกรรมหลายๆชิ้นโดยสาธารณชนจำนวนมาก อย่างเช่นที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาในคริสตศวรรษที่สิบเก้า ถือว่าเป็นเครื่องบ่งชี้ในช่วงแรกของวิกฤตการณ์ของงานจิตรกรรม

โดยจริงๆแล้ว งานจิตรกรรมไม่อยู่ในฐานะตำแหน่งที่จะเสนอวัตถุชิ้นหนึ่งสำหรับประสบการณ์ของคนจำนวนมากพร้อมๆกัน ดังที่มันเป็นไปได้สำหรับงานทางด้านสถาปัตยกรรมมาโดยตลอด หรือสำหรับสำหรับบทกวีมหากาพย์ที่ขับขานในอดีต

ในโบสถ์และวัดวาอารามสมัยกลาง และ ณ ราชสำนักต่างๆอันหรูหราเท่าๆกับตอนปลายคริสตศตวรรษที่สิบแปด, การต้อนรับโดยกลุ่มคนเกี่ยวกับงานจิตรกรรมทั้งหลายยังไม่ได้เกิดขึ้นมาในช่วงนั้น แต่โดยลักษณะที่เป็นไปอย่างช้าๆและสูงขึ้นโดยลำดับ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวที่เกิดขึ้น เป็นการแสดงออกอันหนึ่งของความขัดแย้งกันโดยเฉพาะ ซึ่งงานจิตรกรรมได้ถูกนำไปเกี่ยวพัน

ถึงแม้ว่างานจิตรกรรมจะเริ่มถูกนำออกแสดงในรูปของนิทรรศการต่อสาธารณชนตามแกลลอรี่แสดงภาพ และห้องแสดงนิทรรศการศิลปะทั้งหลาย, แต่ก็ไม่มีที่ทางสำหรับมวลชนที่จะมารวมตัวกันในการต้อนรับการแสดงเหล่านั้นกันอย่างดาษดื่น

เมื่อหันมาพิจารณาเกี่ยวกับภาพยนตร์ สาธารณชนต่างมีโอกาสขานรับต่อภาพยนตร์ที่ผิดแผกไป มันเป็นไปในลักษณะล้ำหน้าและสร้างความประหลาดใจ ซึ่งแน่นอนเป็นการขานรับหรือโต้ตอบกับภาพยนตร์ในลักษณะท่าทีหรือปฏิกริยาคล้ายคลึงกับงานศิลปะในลัทธิเหนือจริง (surrealism) นั่นคือ ก่อให้เกิดความตื่นเต้นและความรู้สึกประหลาดใจ

2.8 เทคนิคและวิธีการทางภาพยนตร์ทำให้เรามองเห็นโลกที่แตกต่าง
สำหรับประเด็นนี้ ภาพยนตร์ไม่ใช่แต่จะมีข้อเสียของมันดังที่ยกมาเท่านั้น Benjamin ยังชี้ให้เห็นความดีบางอย่างซึ่งภาพยนตร์ได้เสนอให้กับเราอย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในอดีต กล่าวคือ เขาได้ให้ภาพดังต่อไปนี้...

ร้านเหล้าเล็กๆ และถนนสายหลักต่างๆของเรา, ที่ทำงานและห้องหับที่มีการตกแต่งประดับประดา, สถานีรถไฟและโรงงานของพวกเรา ปรากฏว่ามันได้มากักขังเราคล้ายอยู่ในคุกอย่างสิ้นหวัง. ต่อเมื่อภาพยนตร์ได้พัฒนาขึ้น และระเบิดโลกแห่งคุก(prison-world)อันนี้ทิ้งไป แยกมันออกเป็นชิ้นๆโดยไดนาไมท์หรือดินระเบิดออกเป็นสิบส่วนในชั่ววินาที ดังนั้นตอนนี้ ในใจกลางของความพินาศที่แผ่กระจายไปทั่วและซากปรักหักพัง, พวกเรากำลังท่องไปอย่างสงบและด้วยความรู้สึกประหลาดใจ

ด้วยการเข้าไปใกล้ของกล้องถ่ายภาพยนตร์ด้วยการ close-up, พื้นที่ว่างได้ขยายออก; ด้วยการทำภาพช้าหรือภาพ slow motion, ช่วงเวลาได้ถูกยืดให้ยาวออกไปอย่างรวดเร็ว. ภาพขยายของการบันทึก ไม่เพียงปฏิบัติการได้อย่างแม่นยำกว่าการมองเห็นด้วยตาเปล่าในกรณีต่างๆ, แม้ว่าจะไม่คมชัด แต่มันได้เผยให้เห็นโครงสร้างใหม่ทั้งหมดของเรื่องราว. ดังนั้น, เช่นเดียวกัน, ภาพช้าจึงไม่เพียงนำเสนอคุณสมบัติของความเคลื่อนไหวที่คุ้นเคยเท่านั้น แต่มันยังเผยให้เห็นสิ่งซึ่งไม่เป็นที่รู้จักเลย ที่ซึ่งไกลห่างจากการมองเห็น คล้ายกับมาหน่วงเหนี่ยวการเคลื่อนไหวอันรวดเร็วเอาไว้, มันให้ผลเกี่ยวกับการลื่นไหลอย่างยอดเยี่ยม, ล่องลอย, และมีลักษณะเป็นความเคลื่อนไหวที่เหนือธรรมชาติ

โดยพยานหลักฐาน ธรรมชาติที่แตกต่างอันหนึ่งได้เผยตัวของมันเองออกมาต่อหน้ากล้องยิ่งกว่าเปิดเผยตัวมันออกมาผ่านดวงตาอันเปลือยเปล่า เพราะพื้นที่ว่างที่ถูกเจาะทะลุเข้าไปอย่างไร้สำนึก ถูกแทนด้วยพื้นที่ว่างอันหนึ่งที่ได้รับการสำรวจอย่างมีสำนึกโดยมนุษย์. แม้ว่าใครคนหนึ่งจะมีความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวิธีที่ผู้คนเดิน, แต่เขาไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับท่าทางของบุคคลในช่วงระหว่างเศษเสี้ยวของวินาทีของการก้าวเท้าหนึ่งออกไป

การกระทำเช่น การคว้าไฟแช็ค หรือการหยิบช้อนจากจานอาหารขึ้นมาเป็นงานประจำที่คุ้นเคย, กระนั้นก็ตาม เราเกือบจะไม่รู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆเลยในช่วงระหว่างที่มือเอื้อมไปยังวัตถุเหล่านั้น, ไม่ต้องกล่าวเลยว่า นี่มันได้แปรเปลี่ยนอารมณ์ความรู้สึกของเราไปเช่นไร

กล้องบันทึกภาพได้นำเสนอแง่มุมการมองที่ไร้สำนึกกับเรา ดังที่วิธีการทางจิตวิเคราะห์กระทำกับแรงกระตุ้นอันไร้สำนึกของเรานั่นเอง

2.9 การอยู่ต่อหน้าภาพยนตร์ จะไม่ปล่อยให้ผู้ดูได้มีโอกาสไตร่ตรอง
สำหรับเรื่องนี้ Benjamin ได้ยกเอาความรู้สึกของ Duhamel มาประกอบดังนี้...

งานจิตรกรรมมันเชื้อเชิญผู้ดูให้ครุ่นคิดพิจารณา; เมื่ออยู่ต่อหน้างานจิตรกรรม ผู้ดูสามารถละทิ้งตัวของเขาเองไปสู่ความสัมพันธ์ต่างๆของเขากับงานศิลปะ. เมื่ออยู่ต่อหน้าจอภาพยนตร์เขาไม่สามารถที่จะทำเช่นนั้นได้. พอดวงตาของเขาจับจ้องมองไปที่ฉาก มันก็ถูกเปลี่ยนไปแล้ว. มันไม่สามารถที่จะถูกไข่วคว้าหรือยึดกุมอะไรเอาไว้ได้

Duhamel, ผู้ซึ่งไม่ชอบภาพยนตร์ และไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับนัยะสำคัญของมัน, แม้กระทั่งบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับโครงสร้างของมัน ได้บันทึกสภาวการณ์อันนี้เอาไว้ดังต่อไปนี้: "ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะคิดคำนึงถึงสิ่งข้าพเจ้าต้องการจะคิด. ความคิดต่างๆของข้าพเจ้าได้ถูกแทนที่โดยภาพที่เคลื่อนไหว"

กระบวนการของผู้ดูเกี่ยวกับความสัมพันธ์เชื่อมโยงในการดูภาพต่างๆเหล่านี้ อันที่จริงได้ถูกขัดจังหวะโดยความต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลัน. อันนี้ได้ก่อให้เกิดผลของอาการช็อคเกี่ยวกับภาพยตร์ ซึ่งก็เหมือนอาการช็อคอื่นๆทั้งหมด ที่ควรจะได้รับการบรรเทาลงมาโดยการเพิ่มเติมจิตใจให้หนักแน่นมากขึ้น. โดยอาศัยโครงสร้างทางเทคนิคของมัน ภาพยนตร์มีผลต่อการช็อคทางกายภาพด้วยสิ่งที่มาห่อหุ้มต่างๆอย่างที่ลัทธิ Dada มี และอย่างที่มันเป็น

2.10 การวิจารณ์ภาพยนตร์
Benjamin เห็นว่าภาพยนตร์เป็นความบันเทิงอันน่าเวทนาของคนที่ตกเป็นทาส อีกครั้งที่ Benjamin ได้ยกเอาข้อคิดเห็นของ Duhamel มานำเสนอในงานของเขาดังนี้... Duhamel เรียกภาพยนตร์ว่า "ความบันเทิงสำหรับพวกที่ตกเป็นทาส(a pastime for helots), การพักผ่อนหย่อนใจของคนที่ไร้การศึกษา, คนที่น่าเวทนา, คนที่เหนื่อยหน่าย อ่อนเพลีย ซึ่งถูกกัดกินโดยความกังวลใจของเขาในภาพที่ปรากฎ ซึ่งไม่ต้องการการใส่ใจจริงจัง และไม่ได้คาดหวังเรื่องสติปัญญา มันไม่ได้เติมเชื้อไฟใดๆให้กับหัวใจของผู้คน และไม่ได้ปลุกเร้าความหวังใดๆขึ้นมา นอกจากเรื่องไร้สาระ ซึ่งสักวันหนึ่งจะได้เป็นดาราที่ลอสแองเจลิส"

อย่างชัดเจน, อันนี้เป็นพื้นฐานที่อยู่ข้างใต้สุดของความน่าเศร้าอย่างเดียวกันนับแต่อดีต ที่มวลชนพยายามแสวงหาสิ่งที่ให้ความพักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งในทางตรงข้ามกับที่ศิลปะเรียกร้องการให้ความเอาใจใส่อย่างจริงจังจากผู้ดู

คนที่มองด้วยความเอาใจใส่ต่อหน้าผลงานศิลปะชิ้นหนึ่ง เขาได้ถูกดูดซับหรือกลืนกินเข้าไปในผลงานศิลปะชิ้นนั้น. เขาได้ล่วงเข้าไปในผลงานดังกล่าว ดังที่ตำนานเก่าแก่เคยเล่าเอาไว้ถึงจิตรกรชาวจีนทั้งหลาย เมื่อตอนที่พวกเขามองดูงานจิตรกรรมของตนเองที่ได้ทำจนสำเร็จเสร็จสิ้นแล้ว

2.11 สุนทรียศาสตร์ของลัทธิดาดาในทัศนะของ Benjamin
ดังที่กล่าวไว้แล้วตั้งแต่ต้นถึงประวัติของ Benjamin ว่า เขาเป็นนักวิจารณ์ทางด้านศิลปะของศตวรรษที่ 20 ที่สำคัญคนหนึ่ง และเขายังมีผลงานมากมายเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ลัทธิศิลปะที่เกิดขึ้นมาในยุโรปในช่วงเวลานั้นทุกๆลัทธิ จึงไม่อาจหลุดรอดไปจากความคิดเห็นและการวิจารณ์ของเขาได้ ดังเช่นลัทธิดาดาที่โด่งดัง และเป็นต้นแบบให้กับศิลปะสมัยใหม่อีกหลายทศวรรษต่อมา...

dadaists ศิลปินกลุ่มนี้มีการยึดติดน้อยมากกับคุณค่าการขายเกี่ยวกับผลงานของพวกเขา และยังไม่ผูกพันกับความมีประโยชน์ในการมีใจจดจ่อกับการครุ่นคิดเมื่อพิจารณางานศิลปะ การลดความสำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับวัสดุของศิลปินกลุ่มนี้ อย่างน้อย ไม่ใช่วิธีการของพวกเขาที่นำไปสู่ความไร้ประโยชน์หรือคุณค่าแต่อย่างใด

บทกวีต่างๆของพวกเขาคือ"สลัดคำพูด"(word salad)ที่บรรจุคำลามกต่างๆ และผลผลิตของภาษาเลวๆทั้งหมดเท่าที่จะจินตนาการได้ลงไป. ความจริงอย่างเดียวกันนี้มีอยู่ในงานจิตรกรรมของพวกเขา ซึ่งพวกเขากลัดไว้ที่กระดุมและที่ฉลากต่างๆ. สิ่งที่ศิลปินตั้งใจและยอมรับคือการทำลายโดยไม่ปรานีกับรัศมี(aura)เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ของพวกเขา, ซึ่งพวกเขาติดป้ายในฐานะที่เป็นการผลิตซ้ำหรือจำลองขึ้นมาใหม่ด้วยวิธีการที่แท้จริงของการผลิต

ต่อหน้างานจิตรกรรมชิ้นหนึ่งของ Arp (Jean Arp 1887-1966 ศิลปินและนักกวีชาวฝรั่งเศส) หรือต่อหน้าบทกวีของ August Stramm มันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้เวลาสำหรับการพินิจพิจารณา และการประเมินคุณค่า ดังที่ใครคนหนึ่งจะทำเช่นนั้นต่อหน้างานจิตรกรรบนผืนผ้าใบของ Derain (Andre Derain 1881-1945 จิตรกรชาวฝรั่งเศส) หรือบทกวีของ Rilke (Rainer Maria Rilke 1875-1926 นักกวีชาวเยอรมัน)

ในการถือกำเนิดขึ้นมาของสังคมชนชั้นกลาง, การพินิจพิจารณากลายเป็นสกุลหนึ่งสำหรับพฤติกรรมที่เก็บตัวและไม่สังคมกับใคร(asocial behavior); มันได้รับการต่อต้านโดยความต้องการหย่อนใจ หรือภาวะจิตใจวอกแวก ในฐานะที่เป็นความผันแปรไปอันหนึ่งของความประพฤติทางสังคมที่เปลี่ยนแปลง

อันที่จริง กิจกรรมต่างๆแบบ Dadaistic ได้มารับรองหรือยืนยันถึงภาวะจิตใจวอกแวกที่ค่อนข้างรุนแรง โดยการสร้างผลงานต่างๆเกี่ยวกับศิลปะอันเป็นศูนย์กลางของความอัปยศฉาวโฉ่. ความต้องการของศิลปินกลุ่มนี้ แรกสุดเลยนั้น ต้องการที่จะสร้างและสะท้อนความเจ็บแค้นต่อสาธารณชน

จากการปรากฏตัวที่จูงใจ หรือโครงสร้างที่โน้มน้าวใจของเสียง ผลงานศิลปะของศิลปิน dadaists ได้กลายมาเป็นเครื่องมืออันหนึ่งของลักษณะการเคลื่อนไหวแบบกระสุนปืน. มันเจาะเข้าไปในตัวผู้ดูคล้ายกับลูกกระสุน มันเกิดขึ้นกับเขา ด้วยเหตุนี้มันจึงเข้ายึดครองคุณสมบัติที่สัมผัสแตะต้องได้. มันได้ไปสนับสนุนความต้องการอันหนึ่งสำหรับภาพยนตร์ ปัจจัยหรือองค์ประกอบของความบันเทิงของสิ่งซึ่งเป็นที่สัมผัสจับต้องได้มาแต่แรก ที่ได้รับการวางอยู่บนความเปลี่ยนแปลงต่างๆของสถานที่และโฟกัส ที่เข้าโจมตีผู้ดูเป็นระยะๆ. อันนี้ยอมให้เราเปรียบเทียบจอภาพยนตร์ที่ใช้นำเสนอภาพยนตร์ออกมา กับผืนผ้าใบของงานจิตรกรรม

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ
(กรณีตัวหนังสือสีจาง ให้เปลี่ยนสีเป็นสีเข้มในโปรแกรม word)

 

 

วิพากษ์อุตสาหกรรมภาพยนตร์ :
ศิลปะหรือเพียงเหล้าดองสมองทุน

เรียบเรียงโดย : สมเกียรติ ตั้งนโม
คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

หมายเหตุ : บทความที่ท่านกำลังจะอ่านต่อไปนี้ เรียบเรียงขึ้นมาจากบทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 120 "วัฒนธรรมในยุคอุตสาหกรรม" (ตอนที่ 2 : ยุคสว่างในฐานะ ที่เป็นยุคหลอกลวงมวลชน) เขียนโดย Theodor Adorno, และบทความลำดับที่ 135 "ผลงานศิลปะในยุคของการผลิตซ้ำด้วยกลไก" เขียนโดย Walter Benjamin

บทนำ : ภาพยนตร์ วิทยุ และโทรทัศน์ จัดเป็นสื่อสารมวลชนที่มีอิทธิพลมากที่สุดในสังคมหลังสมัยใหม่ อันที่จริง สื่อต่างๆเหล่านี้เริ่มมีบทบาทดังกล่าวมากขึ้นตามลำดับในยุคสมัยใหม่ นับจากช่วงที่สื่อเหล่านี้ได้ถือกำเนิดและพัฒนาขึ้นมา และพวกมันได้แทรกตัวเข้าไปในพื้นที่ทางวัฒนธรรมของสังคมจนครอบงำพื้นที่ดังกล่าวไว้ได้อย่างสมบูรณ์

งานเขียนชิ้นนี้ ได้เก็บเอาประเด็นเรื่องของภาพยนตร์ วิทยุ (รวมทั้งโทรทัศน์บ้างเล็กน้อย - ที่กล่าวเช่นนี้เพราะ ในช่วงที่บทความสองเรื่องดังกล่าวได้รับการเขียนขึ้นมา พัฒนาการด้านสื่อโทรทัศน์เพียงมีบทบาทในขั้นเริ่มต้นเท่านั้น)มานำเสนออย่างค่อนข้างละเอียด โดยเฉพาะได้หยิบเอาแง่มุมเกี่ยวกับงานเขียนของ Adorno และ Benjamin เกี่ยวกับเรื่องภาพยนตร์มาเป็นข้อมูลหลัก โดย Adorno และ Benjamin ได้พูดถึงเรื่องนี้เอาไว้อย่างยืดยาวในความเรียงของเขาเกี่ยวกับ"อุตสาหกรรมวัฒนธรรม" และ "ผลงานศิลปะในยุคของการผลิตซ้ำด้วยกลไก"