บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 184 เรื่อง "นิเวศการเมืองของทรัพยากรชีวิภาพในสังคมไทย" เขียนโดย กฤษฎา บุญชัย (ความบาวประมาณ 21 หน้ากระดาษ A4)
"ความหลากหลายทางชีวภาพ" ซึ่งเป็นศัพท์นิเวศวิทยาพื้นๆ ได้กลายเป็นข้อถกเถียงในทางการเมืองอย่างร้อนแรงในสังคมไทย ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา เมื่อกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ ได้เปิดประเด็นถึงปัญหาที่อาจตามมา หากประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
release date
H
home
290545
ขบวนการประชาชนได้เสนอหลักการสิทธิชุมชนต่อการจัดการทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ในฐานะเป็นยุทธศาสตร์ปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างทุนข้ามชาติ รัฐ และประชาชนเสียใหม่ โดยให้ชุมชนมีอำนาจในการควบคุมจัดการทรัพยากรยิ่งขึ้น ตลอดจนสามารถควบคุมรัฐให้ทำหน้าที่ปกป้องการรุกของทุนข้ามชาติ

ขบวนการสิทธิชุมชนจึงเปรียบเสมือนกระบวนการสร้างความหมายของ "ชาติ" แบบใหม่ ที่ประชาชนเป็นผู้มีสิทธิอำนาจ และร่วมประโยชน์ และ "ชาติ" ในความหมายดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับกระบวนการร่วมมือระดับโลกทั้งในด้านการอนุรักษ์ การแลกเปลี่ยนทรัพยากร หากกระบวนร่วมมือดังกล่าวมีฐานะเป็นโลกาภิวัตน์ของประชาชน ที่ประชาชนเรียนรู้ แลกเปลี่ยน ร่วมมือจัดการทรัพยากรร่วมกัน ไม่ใช่โลกาภิวัตน์ของรัฐและกลุ่มทุนที่มาในรูปการอนุรักษ์หรือการค้า ซึ่งไม่ได้เสริมสร้างอำนาจชุมชนแต่อย่างใด
บทความ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนลิขสิทธิ์
ในการนำไปใช้ ประโยชน์ทางวิชาการ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร
ภาพดัดแปลงประกอบบทความ ผลงานของ Fernando Botero ฃื่อภาพ Dinner with Ingres and Piero della Francesca เขียนขึ้นปี 1972 เทคนิค ดินสอถ่านบนผ้าใบ / ส่วนภาพประกอบฉากหลัง เป็นภาพทางการแพทย์ จากบทความเรื่อง Fantastic Voyage อยู่ในหนังสือ Print ฉบับที่ LV:I (หนังสือเกี่ยวกับภาพพิมพ์)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน บริการข่าวสาร ความรู้ทางไกล ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ท เพื่อให้ทุกคนที่ต้องการ อุดมศึกษา สามารถเข้าถึงได้โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

อีกแง่หนึ่งโลกาภิวัตน์ด้านการค้าเสรีที่ปรากฏในอนุสัญญาฯ ไม่ว่าการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเสรี การรับรองทรัพย์สินทางปัญญา จะก่อให้เกิดการแข่งขัน แลกเปลี่ยนผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ ในทางตรงข้ามสิทธิอธิปไตย และกระแสชาตินิยมที่ไม่มีโลกาภิวัตน์สิ่งแวดล้อมมากำกับ จะเป็นตัวขัดขวาง หรือเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ทรัพยากรชีวภาพเสื่อมโทรมลง และไม่ก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรชีวภาพให้ได้ประโยชน์สูงสุดในเชิงเศรษฐกิจ

ข้อถกเถียงต่อโลกาภิวัตน์ทรัพยากรชีวภาพดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ประเด็นเรื่องสิทธิอธิปไตยกับโลกาภิวัตน์การค้าเสรีที่มาในรูปสิ่งแวดล้อมได้กลายเป็นประเด็นหลักที่ทำให้ประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ แม้จะล่วงเลยมาเกือบ 10 ปีแล้วก็ตาม จากอนุสัญญาฯ เชื่อมโยงมาสู่ข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญา องค์กรการค้าโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่อนุสัญญาฯ รับรองว่าจะเป็นเครื่องมือการผูกขาดของบรรษัทข้ามชาติ หรือประเทศซีกโลกใต้จะใช้เงื่อนไขเฉพาะบางด้านเป็นเครื่องมือปกป้องสิทธิชุมชนต่อทรัพยากรพันธุ์พืชและความรู้ท้องถิ่นได้หรือไม่

การพัฒนาเชิงโครงสร้างเพื่อการปกป้องสิทธิชุมชน และสิทธิอธิปไตยเริ่มขึ้น จากการเคลื่อนไหวของประชาชน จนทำให้มีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช และกฎหมายคุ้มครองภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย ออกมา เพื่อต้องการสร้างระบบทรัพย์สินทางปัญญาของชุมชน แต่รูปการณ์ปัญหาก็เปลี่ยนไปซับซ้อนขึ้น บรรษัทข้ามชาติรุกเข้ามาอย่างรวดเร็ว พันธุ์พืชตัดต่อยีนจำนวนมาก ทั้งฝ้ายบีที ข้าวโพดบีที ถั่วเหลืองแปลงพันธุ์ และอื่นๆ ต่างเจาะแนวรับสิทธิอธิปไตยประเทศโดยที่กฎหมาย และกลไกต่างๆ ของรัฐไม่สามารถทำอะไรได้

กรณีข้าวหอมมะลิ ที่นักวิชาการอเมริกันได้เอาไปโดยพลการจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ เพื่อไปพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ และมีแนวโน้มไปสู่การจดสิทธิบัตร ได้เผยโฉมหน้าของโลกาภิวัตน์ทรัพยากรชีวภาพออกมาโจ่งแจ้ง หลักการเรื่องการเข้าถึงทรัพยากรโดยผ่านความเห็นชอบยินยอมในอนุสัญญาฯ ถูกเมินเฉย หลักการเรื่องผลประโยชน์ร่วมที่คุ้มครองสิทธิชุมชนต่อพันธุกรรมไม่เป็นจริงแต่อย่างใด กรณีดังกล่าวทำให้สังคมไทยตื่นตัวทั้งกระแสชาตินิยม หรือชุมชนนิยม แต่สุดท้ายรัฐก็ไม่ได้มีท่าทีกระตือรือร้นอย่างใด ดูเหมือนว่า รัฐปัจจุบันได้ให้ความหมายของผลโยชน์ของ "ชาติ" ต่างไปจากที่ประชาชนนิยามอย่างมาก

ปรากฏการณ์ปัญหาโลกาภิวัตน์ทรัพยากรชีวภาพในสังคมไทย ได้นำไปสู่การตั้งคำถามสำคัญต่อการเมืองของทรัพยากรในยุคโลกาภิวัตน์เป็นอย่างดี ทั้งแง่มุมการกระจุกตัว หรือผูกขาดความรู้ และการกำหนดทิศทางนโยบายทรัพยากรชีวภาพเฉพาะในหมู่นักวิทยาศาสตร์ของรัฐ และปิดกั้นบทบาทความรู้ท้องถิ่นต่อการให้ความหมาย และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพไม่ให้มีสถานะเท่าเทียม ทำให้รัฐในส่วนวิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมมองไม่เห็นผลกระทบของการเมืองด้านโลกาภิวัตน์สิ่งแวดล้อมที่มีต่อชุมชน

ผสานไปกับวิธีคิดโลกาภิวัตน์การค้าเสรีที่มองเห็นสิทธิอธิปไตยของประเทศเป็นเรื่องที่ต้องถูกลดทอน และเปิดเสรีให้แก่บรรษัทข้ามชาติ การเชื่อมต่อของโลกาภิวัตน์ทั้งแง่สิ่งแวดล้อมและการค้าเสรี โดยมีบรรษัทข้ามชาติ กลุ่มเทคโนแครตในประเทศ ผ่านข้อตกลงระหว่างประเทศต่างๆ ในการครอบครองจัดการทรัพยากร ได้ส่งผลต่อสิทธิชุมชนและสิทธิอธิปไตยของประเทศอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ในอีกด้านหนึ่ง บทเรียนขบวนการต่อต้านโลกาภิวัตน์ทรัพยากรชีวภาพ ซึ่งรัฐในอีกด้านหนึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการด้วย ได้สะท้อนแง่มุมปัญหาทางยุทธศาสตร์ไว้หลายประการ. สิทธิอธิปไตยและผลประโยชน์ของชาติในรูปแบบชาตินิยม ได้ถูกรัฐหยิบใช้เพื่อสร้างอำนาจการต่อรอง ดังเช่น กระทรวงสาธารณสุขกับบทบาทการผลักดันกฎหมายภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย ซึ่งผลประโยชน์"ชาติ"ดังกล่าว หาได้นับรวมชุมชนท้องถิ่นและภาคประชาสังคมไว้อย่างแท้จริงไม่ ขณะเดียวกับที่ขบวนการประชาชนพยายามจะสร้างหรือนิยามผลประโยชน์ของชุมชนให้เป็นผลประโยชน์ชาติ ก็พยายามต่อต้านคัดค้านโลกาภิวัตน์เพื่อพิทักษ์สิทธิชุมชน. "ชาติ"แบบรัฐกับของประชาชนที่แม้ดูเหมือนจะมีเป้าหมายคล้ายกัน แต่กลับแตกต่างและขัดแย้งกันไม่น้อย

บทเรียนที่น่าสนใจอีกประการคือ การผลักดันกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช(3) เพื่อรับรองสิทธิชุมชนให้มีสถานะเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีคิดใหม่ที่ไม่ได้อยู่ในรากฐานความรู้ของท้องถิ่นมาก่อน นวัตกรรมนี้จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวิธีคิดต่อความรู้ท้องถิ่นจากทรัพยากรสาธารณะ มาเป็นสมบัติหรือสินค้าร่วมของชุมชนหรือไม่ อีกทั้งการที่กฎหมายเหล่านี้ถูกผลักดันอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันสถานการณ์ ทำให้การรับรู้ และตื่นตัวของประชาชน ชุมชนท้องถิ่นมีจำกัด ขณะที่โครงสร้างการจัดการทรัพยากรชีวภาพยังคงผูกขาดอยู่แต่รัฐภายใต้กระบวนทัศน์การค้าเสรี จึงไม่ได้สนใจรับรองสิทธิชุมชนอย่างจริงจัง นี่จะเป็นเหตุผลหรือไม่ที่ทำให้แม้มีกฎหมายต่างๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิชุมชน แต่ก็ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติมากนัก

บทความชิ้นนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะเจาะลึกถึงวิธีคิดของฝ่ายต่างๆ และโครงสร้างอำนาจต่อการจัดการทรัพยากร ตลอดจนวิเคราะห์ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนต่อทิศทางการจัดการทรัพยากรชีวภาพ โดยศึกษาจากข้อถกเถียงสำคัญๆ ได้แก่ การให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ระบบทรัพย์สินทางปัญญากับองค์กรการค้าโลก และพันธุ์พืชตัดต่อยีน

โลกาภิวัตน์กับชาตินิยม ข้อถกเถียงจากอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
แนวคิดหลักของกลุ่มสิ่งแวดล้อมนิยมระดับโลก ที่ผลิตขึ้นมาอย่างทรงพลังก็คือ ธรรมชาติ ระบบนิเวศ ไม่มีเขตแดนประเทศ การทำลายระบบนิเวศจึงส่งผลกระทบต่อกัน การแก้ไขจึงต้องกระทำร่วมกัน โดยไม่ควรเอาข้ออ้างเรื่องความเป็นชาติ หรือสิทธิอธิปไตยของชาติมาขัดขวาง จนถึงขั้นบัญญัติว่าทรัพยากรธรรมชาติเป็น "มรดกโลก" (Heritage of Mankind) หรือกล่าวอีกแง่หนึ่งว่า การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ก็เป็นโลกาภิวัตน์เช่นกัน ทั้งในแง่การครอบโลก หรือการคล้อยตามโลก

อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนชุดวาทกรรมต่างๆ ที่ผลิตโดยองค์กรสิ่งแวดล้อมสหประชาชาติ องค์กรเอกชน นักวิทยาศาสตร์ ที่มาพร้อมกับอนุสัญญาฯ ก็เริ่มต้นด้วยหลักการดังกล่าวเช่นกัน โดยเริ่มชี้ปัญหาความเสื่อมโทรมระบบนิเวศแบบตื่นตระหนก อันเป็นวิธีการหลักที่ขบวนการสิ่งแวดล้อมนิยมใช้ เช่น

ในปี 2538 นักวิทยาศาสตร์พบว่าสิ่งมีชีวิตสูญพันธุ์ไปจากโลกนี้ 3 สปีชีส์ต่อชั่วโมง หากเป็นเช่นนี้ ราวสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 จะมีการสูญพันธุ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20-50 ของสิ่งมีชีวิตทั้งหมด ในจำนวนนี้จะมีการสูญเสียจากป่าเขตร้อนชื้นมากที่สุด (วิสุทธ์ ใบไม้, 2538, น.25)

แต่การลดลงแบบน่าตื่นตระหนกดังกล่าว หาใช่เกิดกับทุกพื้นที่ทุกประเทศ เพราะพื้นที่อันเป็นแหล่งความหลากหลากทางชีวภาพส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เขตร้อนชื้น อันเป็นที่ตั้งของประเทศซีกโลกใต้ โลกาภิวัตน์ทรัพยากรชีวภาพที่ก้าวข้ามพรมแดนประเทศ จึงไม่ใช่ข้อเรียกร้องให้ทุกประเทศต้องกระทำเท่าเทียมกัน ดังเช่นข้อตกลงทางการค้า แต่เป็นข้อเรียกร้องให้ "โลก" เข้ามาจัดการทรัพยากรชีวภาพในประเทศซีกโลกใต้ เพื่อการอนุรักษ์ การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และการแบ่งปันคนอื่นอย่างยุติธรรม ตามวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ

แต่เมื่อกล่าวถึงสาเหตุให้ชีวภาพลดลง 3 สปีชีส์ต่อชั่วโมง เนื้อหาสาระอนุสัญญาฯ อาจจะกล่าวไว้หลายด้าน แต่ที่น่าสนใจคือ กระทรวงวิทยาศาสตร์ ในฐานะผู้ผลักดันให้ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ เลือกให้เหตุผลอย่างไร กระทรวงวิทย์ฯ ระบุถึงปรากฏการณ์ตัดไม้ทำลายป่า เนื่องจากนโยบายเกษตรส่งออก การเพิ่มขึ้นของประชากร การบุกแผ้วถางป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย การบุกป่าชายเลนทำนากุ้ง (สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, 2538) ปรากฏการณ์เหล่านี้ทำให้รัฐไทยไม่สามารถดำเนินการแก้ไขเพียงลำพัง เพราะขาดการสนับสนุนด้านงบประมาณ เทคโนโลยี และอนุสัญญาฯ ยังจะเป็นกรอบให้หน่วยงานต่างๆ ผลักดันกฎหมาย และสร้างแผนงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ (คำบรรยายของศุภวิทย์ เปี่ยมพงศ์สานต์ ในการสัมมนาอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพกับความพร้อมของประเทศไทย, มหาวิทยาลัยมหิดล, 2538)

ต่อเหตุผลดังกล่าวได้สะท้อนถึงการมองปัญหาความเสื่อมโทรมทรัพยากรชีวภาพเป็นเรื่องกิจกรรม โครงการ ที่มีภาพประชาชนเป็นผู้บุกทำลายส่วนมาก โดยมีนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นตัวผลักดัน แต่ไม่ได้ตั้งคำถามถึงระบบโครงสร้างอำนาจต่อการควบคุมจัดการทรัพยากร อันเป็นประเด็นหลักที่ขบวนการประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ ขณะเดียวกัน เหตุผลดังกล่าวยังสะท้อนถึงความอ่อนแอและขัดแย้งกันในระบบรัฐ ที่ไม่สร้างนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเป็นเอกภาพได้ จึงต้องหยิบยืมอนุสัญญาฯ ซึ่งเป็นอำนาจจากโลกาภิวัตน์มากดทับหรือปรับเปลี่ยนให้รัฐสามารถสร้างเอกภาพ และความสามารถขึ้นมา

ดังนั้นวาทกรรมโลกาภิวัตน์ทรัพยากรชีวภาพจากอนุสัญญาฯ จึงถูกรัฐตลอดจนนักวิชาการรัฐหยิบยกมาอ้างครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาข้ามพรมแดน จึงควรถูกแก้ไขโดยความร่วมมือระหว่างประเทศ ด้วยมาตรฐานเดียวกัน วิธีการเดียวกัน ไม่บังควรที่จะหยิบยกเรื่องสิทธิอธิปไตย หรือกระบวนการแย่งชิงทรัพยากรข้ามชาติมาลบเลือนหลักการดังกล่าว (จักก์ แสงชัย, 2543) แม้โลกาภิวัตน์ทรัพยากรชีวภาพ จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอำนาจต่อการจัดการทรัพยากรของประเทศก็ตาม

กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชาวบ้าน และนักวิชาการอิสระ ดังเช่น เครือข่ายสิทธิภูมิปัญญาไทย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ซึ่งเป็นองค์กรเคลื่อนไหวต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่ต่อต้านเขื่อนน้ำโจน เขื่อนปากมูล ผลักดันให้ยกเลิกการสัมปทานไม้ทั่วประเทศ ยกเลิกการปลูกยูคาฯ ในอีสาน ต่อต้านเรืออวนลาก อวนรุนที่ทำลายทรัพยากรชายฝั่ง โดยมุ่งสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นให้มีสิทธิในการจัดการทรัพยากร ป่าชุมชน การจัดการลุ่มน้ำ การจัดการทรัพยากรชายฝั่ง และการทำการเกษตรปลอดสารเคมี

องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าว เป็นกลุ่มองค์กรที่เคลื่อนไหวต่อสู้ในระดับนโยบาย โดยพุ่งเป้าไปที่การกระจายอำนาจการจัดการทรัพยากรสู่ชุมชนท้องถิ่น อันจะเป็นการสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านนิเวศ ทรัพยากร สังคม เศรษฐกิจของชุมชน. ขบวนการประชาชนเหล่านี้ ได้ลุกขึ้นมาตั้งคำถามต่อการเมืองเบื้องหลังของโลกาภิวัตน์สิ่งแวดล้อม ที่มากับอนุสัญญาฯ ว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับโลกาภวัตน์ด้านการค้าเสรีที่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศ และวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของประชาชนหรือไม่

ขณะที่รัฐมองปัญหาความเสื่อมโทรมทรัพยากรชีวภาพว่า มาจากกิจกรรมการพัฒนา โดยมีประชาชนเป็นผู้บุกเบิก ไม่ว่าจะเป็นการบุกรุกป่า ไร่เลื่อนลอย กลไกรัฐที่มีอยู่ก็ขาดเอกภาพ จึงต้องดึงอำนาจโลกาภิวัตน์สิ่งแวดล้อมมาถ่วงดุลกับโลกาภิวัตน์การค้าเสรี โดยสร้างความร่วมมือกับ "โลก"

แต่สิ่งที่ขบวนการประชาชนด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมตั้งคำถามก็คือ ตัวระบบโครงสร้างการควบคุม ผูกขาดการจัดการทรัพยากรของรัฐต่างหากคือตัวปัญหา แทนที่รัฐจะกระจายอำนาจและสร้างความร่วมมือกับชุมชน รัฐกลับเลือกสร้างความร่วมมือกับโลกาภิวัตน์ที่มีประเทศอุตสาหกรรมและทุนข้ามชาติกำกับอยู่ โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านงบประมาณ เทคโนโลยี และการออกกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนหวังว่าจะทำให้รัฐแข็งขึ้น แม้สิ่งเหล่านี้อาจจะต้องแลกกับสิทธิอธิปไตยในบางด้าน ก็คือ การเปิดรับกระบวนการขุดค้นแสวงหาทรัพย์สมบัติชีวภาพ (Green Gold) จากนานาประเทศ แม้อนุสัญญาฯ จะกำหนดว่าขึ้นอยู่กับการแจ้งล่วงหน้า การเห็นพ้องต้องกัน หรืออะไรก็ตาม

ขบวนการประชาชนได้หยิบยกหลักการเรื่องสิทธิอธิปไตย และความเป็น "ชาติ" โดยมีสิทธิชุมชนเป็นรากฐานขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของรัฐต่อโลกาภิวัตน์สิ่งแวดล้อม โดยอาศัยบทเรียนที่ผ่านมา เช่น บทบาทธนาคารโลกที่มาสนับสนุนการพัฒนาและการจัดการสิ่งแวดล้อมแบบผิดทิศผิดทาง ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพโดยตรง ได้แก่ การจัดตั้งเขตกันชนรอบป่าอนุรักษ์ ที่ห้วยขาแข้ง และทุ่งใหญ่นเรศวร ทำให้ต้องย้ายชุมชนออกจากป่า และต่อมาก็เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าป่าถูกทำลายลงไปอีกเพราะไม่มีชุมชนป้องกัน หรือบทบาทของประเทศฟินแลนด์ต่อการวางแผนแม่บทป่าไม้ บทบาทของ FAO และ IUCN ที่ผ่านมาที่สร้างอคติแก่ไร่หมุนเวียนของเกษตรพื้นบ้านว่าเป็นตัวทำลายป่า (ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, 2541)

บทบาทองค์กรข้ามชาติเหล่านี้มักจะมุ่งสนับสนุนความเข้มแข็งของรัฐ แต่ทำลายความชอบธรรมและความสามารถท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรลงไป ทำให้ทรัพยากรเสื่อมโทรมในที่สุด เมื่อมาถึงอนุสัญญาฯ ที่หลักการอนุรักษ์ก็หาได้แตกต่างไปจากเดิม แต่เพิ่มเรื่องการเข้าถึงทรัพยากร และการแบ่งปันผลประโยชน์ ทำให้การเมืองของโลกาภิวัตน์ทรัพยากรชีวภาพยิ่งซับซ้อนขึ้น

ความซับซ้อนที่มากับมิติอนุรักษ์ คือ วิธีคิดแบบขุดค้นหาทรัพย์สมบัติ เริ่มต้นจากที่นักวิทยาศาสตร์ประมาณการว่าสิ่งมีชีวิตทั่วโลก(แต่ส่วนใหญ่อยู่ในประเทศเขตร้อนชื้น) มีมากถึง 10-15 ล้านชนิด นักวิทยาศาสตร์ค้นพบเพียง 1.5 ล้านชนิด หรือเพียงร้อยละ 10 ของทั้งหมดเท่านั้น แม้เพียงเท่านี้ก็เป็นแรงบันดาลใจให้บรรษัทข้ามชาติเสาะแสวงหาทรัพยากรชีวภาพจนสามารถนำไปผลิตยาที่มาจาสมุนไพรได้ถึงร้อยละ 40 ของยาทั้งหมด (วิสุทธ์ ใบไม้, อ้างแล้ว) ยังมีทรัพยากรชีวภาพอีกมากกว่า 10 ล้านชนิดที่ยังค้นไม่พบ แต่ผู้ที่น่าจะรู้ก็คือ ชนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น ในประเทศเขตร้อนชื้นทั้งหลาย

ดังนั้น แนวคิดเรื่องทรัพยากรเป็นมรดกโลก ที่นอกเหนือความต้องการอนุรักษ์ร่วมกันแล้ว ยังหมายถึง การมุ่งลดสิทธิอธิปไตย อำนาจรัฐของประเทศเขตร้อนชื้น ให้ประเทศอุตสาหกรรมเข้าถึงได้ โดยเปลี่ยนบทบาทรัฐประเทศนั้นๆ ให้เป็นกลไกมุ่งเสาะแสวงหาทรัพยากรชีวภาพที่ชุมชนรู้จัก ดังกรณีประเทศคอสตาริกา ที่สร้างสถาบัน Inbio เพื่อใช้รวบรวม แลกเปลี่ยน ซื้อขายทรัพยากรชีวภาพกับบริษัท Merck (ราเจส โนเอล, 2541)

ด้วยเหตุนี้เอง โลกาภิวัตน์ด้านทรัพยากรชีวภาพจากบทบัญญัติอนุสัญญาฯ ก็ขับเคลื่อนด้วยวิธีคิดโลกาภิวัตน์การค้าเสรีนั่นเอง คือมุ่งลดอำนาจรัฐ (Deregulation) หรือสิทธิอธิปไตยลง การเปิดเสรี (Liberlization) ให้ประเทศต่างๆ เข้าถึงแบ่งปันผลประโยชน์ และการแปรรูปทรัพยากรให้เป็นกรรมสิทธิ์เอกชน (Privatization) คือการรับรองความชอบธรรมและสนับสนุนระบบทรัพย์สินทางปัญญาต่อทรัพยากรชีวภาพ

ขบวนการปกป้องทรัพยากรชีวภาพจึงเกิดขึ้นด้วยเหตุผลในการต่อต้านกระบวนการโลกาภิวัตน์การค้าเสรี ที่มาในรูปของอนุสัญญาฯ ด้านการอนุรักษ์ โดยได้ชูเรื่องสิทธิชุมชน สิทธิเกษตรกรต่อการเข้าถึง จัดการทรัพยากรชีวภาพ ในฐานะเป็นยุทธศาสตร์ต่อสู้กับโลกาภิวัตน์ และการรวมศูนย์อำนาจรัฐไปพร้อมกัน

แม้จะมีข้อยืนยันว่าอนุสัญญาฯ ก็รับรองสิทธิอธิปไตยของแต่ละประเทศไว้ในมาตรา 3 แต่จักรกฤษณ์ ควรพจน์ นักกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ก็ได้วิจารณ์ไว้อย่างน่าสนใจว่า อนุสัญญาฯ แยกสิทธิต่อทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ ป่า ทะเล กับสิทธิต่อทรัพยากรชีวภาพ เช่น พันธุ์พืช สิ่งมีชีวิต ที่แม้จะอยู่ใน ดิน น้ำ ป่า ทะเลนั้นออกจากกัน โดยกำหนดให้รัฐให้มีสิทธิเหนือทรัพยากรธรรมชาติซึ่งยังไม่ทราบคุณประโยชน์ แต่มิได้กำหนดให้รัฐมีสิทธิอธิปไตยเหนือวัตถุทางชีวภาพและทรัพยากรพันธุกรรมที่ได้มีการรวบรวมไปแล้ว เช่น ในธนาคารเชื้อพันธุ์ หรือมีที่มีการศึกษาหาผลประโยชน์แล้ว รัฐแต่ประเทศไม่มีสิทธิตามกำหมายที่จะอ้างสิทธิหรือเรียกร้องให้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ (จักรกฤษณ์ ควรพจน์, 2541, น.135)

เมื่อเชื่อมโยงกับที่ RAFI ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนระหว่างประเทศได้สำรวจไว้ว่า 2 ใน 3 ของสต็อกยาประเทศพัฒนาแล้ว ประมาณ 35,000 ชนิด ได้มาจากประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งนับเป็นมูลค่าสูงถึง 47 พันล้านดอลล่าร์ในปี 2000 นี่ยังไม่นับเชื้อพันธุ์ด้านการเกษตรและอื่นๆ อีก สิ่งเหล่านี้อยู่นอกเหนือสิทธิอธิปไตยของประเทศเจ้าของพันธุ์ที่อนุสัญญาฯ จะคุ้มครองไว้ได้ (ราเจส โนเอล, 2541)

ในประเด็นเรื่องการคุ้มครองสิทธิเกษตรกรและสิทธิชุมชนก็เช่นกัน แม้จะมีการกำหนดเอาไว้ในอนุสัญญามาตรา 8 (j) ก็ตาม ต่อประเด็นดังกล่าว จักรกฤษณ์ ควรพจน์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า อนุสัญญาระบุเพียงว่า รัฐจักเคารพสิทธิชุมชน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับกฎหมายของรัฐว่าจะรับรองสิทธิดังกล่าวหรือไม่ สถานะสิทธิชุมชนในอนุสัญญาฯ จึงคลุมเครือ เป็นสิทธิอันดับรองที่ไม่มีหลักประกันอะไร อีกทั้งการบัญญัติในลักษณะดังกล่าวเป็นการกำหนดหน้าที่ในทางลบของรัฐ คือ แค่เคารพ (มากน้อยแค่ไหน หรือจะไม่เคารพก็ได้ ขึ้นอยู่กับกฎหมายภายในจะกำหนด) แต่ไม่ได้กำหนดหน้าที่เชิงบวกในด้านการส่งเสริมสิทธิชุมชนให้เกิดการพัฒนาและดำรงรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น

มองอย่างรอบด้านแล้ว อนุสัญญาฯ จึงไม่ได้เป็นบทบัญญัติที่ให้การรับรองสิทธิชุมชน แต่กลับจะทำให้รัฐอาศัยอนุสัญญาฯ ในการอ้างความชอบธรรมจำกัดสิทธิชุมชน และยังอาจเป็นช่องทางให้ประเทศที่ก้าวหน้าทางเทคโนโลยอาศัยอนุสัญญาฯ เป็นเครื่องมือเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของชุมชนท้องถิ่นได้ (จักรกฤษณ์ ควรพจน์ และคณะ, 2541, น.54)

ดังนั้นเท่ากับว่าอนุสัญญาฯ ให้สิทธิปัจเจกที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพ รวบรวมเอาไว้แล้ว โดยมีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเครื่องมือเป็นอันดับหนึ่ง เหนือกว่าสิทธิอธิปไตยของรัฐ. สิทธิอธิปไตยของรัฐได้รับการรับรองเพียงแต่การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ แต่ไม่อาจเอื้อมที่จะไปอ้างสิทธิต่อทรัพยากรพันธุกรรมของตนที่เก็บไว้ในธนาคารเชื้อพันธุ์ และที่จดสิทธิบัตรไปแล้วแม้ว่าจะชอบธรรมหรือไม่ก็ตาม ซึ่งอันนี้ยิ่งไม่ต้องกล่าวถึงสิทธิชุมชนที่ขึ้นอยู่กับความปราณีของรัฐว่าจะออกกฎหมายมารับรอง คุ้มครอง หรือส่งเสริมหรือไม่. สิทธิชุมชนตามแบบอนุสัญญาฯ จึงเอาไปใช้ต่อรองกับสิทธิรัฐ สิทธิปัจเจกของกลุ่มทุนไม่ได้เลย

เหตุผลดังกล่าว จึงทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนชูประเด็นเรื่องสิทธิอธิปไตยของรัฐ โดยมีสิทธิชุมชนเป็นแกนกลาง หรือเป็นสิทธิอธิปไตยแบบใหม่ที่ชุมชนกำกับได้ ไม่ใช่สิทธิที่รัฐจะใช้รวบอำนาจหรือละเมิดสิทธิชุมชน โดยมุ่งเน้นปรับโครงสร้างภายใน จัดความสัมพันธ์ระหว่างโลกาภิวัตน์ รัฐ และประชาชนเสียใหม่ ให้รัฐทำหน้าที่กลไกของชุมชนในการปกป้องสิทธิชุมชนจากประเทศอุตสาหกรรมและบรรษัทข้ามชาติ แทนที่จะเป็นกลไกของบรรษัทข้ามชาติมาตักตวงทรัพยากรของชุมชน ขณะที่เดียวกันก็เน้นให้รัฐรับรองและสนับสนุนสิทธิชุมชน ซึ่งรัฐจะต้องไม่แย่งชิง ผูกขาดทรัพยากรมาที่รัฐด้วยเช่นกัน ดังเช่น การผูกขาดสิทธิจัดการป่า ที่ดิน น้ำ ดังที่ผ่านมา

แนวทางการรณรงค์เรื่องสิทธิอธิปไตย สิทธิชุมชนของขบวนการประชาชน กลับเป็นแรงกระตุ้นให้ฝ่ายรัฐในส่วนอนุรักษ์นิยมกระโดดเข้าร่วมรณรงค์โดยชูความเป็น "ชาติ" หรือสิทธิอธิปไตย อันหมายถึงการคงรักษาอำนาจ ผลประโยชน์ของรัฐไว้อย่างเข้มแข็ง ดังเช่น บทบาทของสถาบันการแพทย์แผนไทย ที่ชูประเด็นเรื่องชาตินิยม ปกป้องสิทธิอธิปไตยไม่ให้ต่างชาติมาแย่งชิงสมุนไพรและภูมิปัญญาไทย ผลประโยชน์ของ "ชาติ" ในทัศนะสถาบันแพทย์แผนไทย และกลุ่มที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นชาติที่มีรัฐเป็นศูนย์กลาง แม้จะมีที่มีทางให้กับประชาชนบ้างก็ตาม

ความแตกต่างของการนิยามความเป็น "ชาติ" เห็นได้อย่างชัดเจนจากการบัญญัติกฎหมายคุ้มครองภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย กับกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช อันเป็นกฎหมาย 2 ฉบับที่ถูกผลักดันขึ้นเพื่อปกป้องกระบวนการแย่งชิงทรัพยากรข้ามชาติ ในส่วนกฎหมายคุ้มครองภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย ที่สถาบันการแพทย์แผนไทยเป็นหัวหอก โดยมีองค์กรพัฒนาเอกชนร่วมสนับสนุน กระบวนการจัดทำกฎหมายฉบับดังกล่าว เริ่มต้นด้วยการคุ้มครองสิทธิเกษตร สิทธิชุมชนต่อทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญา ที่แม้แต่รัฐก็ไม่ควรล่วงละเมิด แต่เมื่อพัฒนาไปได้ระดับหนึ่ง สถาบันการแพทย์แผนไทยก็เปลี่ยนหลักการจากสิทธิชุมชนมาเป็นสิทธิของรัฐ บทบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชนถูกลดทอน แต่เพิ่มอำนาจการผูกขาดแก่รัฐยิ่งขึ้น จนท้ายที่สุดองค์กรพัฒนาเอกชนจึงแยกทางจากสถาบันการแพทย์แผนไทย

ขณะที่กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช อันเป็นกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่เริ่มต้นด้วยหลักการสิทธิเกษตรกร และสิทธิชุมชนต่อทรัพยากรชีวภาพเช่นเดียวกัน องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรชาวบ้านได้เคลื่อนไหวผลักดันผ่านเวทีเจรจาสมัชชาคนจนกับรัฐ จนสามารถยกร่างกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิชุมชนได้สำเร็จ แต่ด้วยความที่รัฐยังคงเพิกเฉยต่อการคุ้มครองสิทธิเกษตรกร และสิทธิชุมชน อีกทั้งเกษตรกรโดยส่วนใหญ่ยังไม่ตื่นตัว ผลักดันเคลื่อนไหว ทำให้กฎหมายดังกล่าวยังไม่มีผลในทางปฏิบัติมากนัก

แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่ารัฐในส่วนกระทรวงวิทย์ และหน่วยงานอื่นๆ ที่สนับสนุนอนุสัญญาฯ จะไม่อาศัยความเป็น "ชาตินิยม" มาเป็นตัวรับรองความชอบธรรมในการให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ดังที่ผ่ายกระทรวงวิทย์ ได้หยิบยกเหตุผลเรื่อง หน้าตา ศักดิ์ศรีของประเทศชาติในเวทีโลก กับการให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ซึ่งหน้าตา หรือศักดิ์ศรีดังกล่าวเป็นของรัฐที่พึงสงวนรักษา ดังคำโอดครวญทีว่า "ตัวแทนประเทศไทยที่เข้าร่วมประชุมอาจรู้สึกกระอักกระอ่วนได้ บางครั้งประเทศภาคีสมาชิกก็ออกจะดูแคลนผู้แทนไทยในบางครั้ง" (จักก์ แสงชัย, 2543 หน้า 79)

ข้อถกเถียงเรื่องอนุสัญญาฯ จึงคลี่ความคิดเรื่อง โลกาภิวัตน์ ชาติ และประชาชนของฝ่ายต่างๆ ออกมาชัดเจน รัฐในส่วนกระทรวงวิทย์ และกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ มองโลกาภิวัตน์เป็นนัยความร่วมมือระหว่างรัฐ หรือการเอาอำนาจของ "โลก" มาเสริมความเป็น "ชาติ" ที่รัฐจะได้ประโยชน์ทั้งในแง่หน้าตา ศักดิ์ศรี งบประมาณ เทคโนโลยี

ขณะที่รัฐในส่วนกระทรวงสาธารณสุข ให้ความหมายโลกาภิวัตน์ เป็นเรื่องการสูญเสียอำนาจของรัฐ อนุสัญญาฯ ไม่สามารถเสริมความเข้มแข็งแก่สถาบันการแพทย์แผนไทยได้ แต่กลับเป็นตัวเปิดช่องให้บรรษัทข้ามชาติเข้ามาทำลาย "ชาติ" ที่สถาบันการแพทย์แผนไทยปกป้องก็ยังเป็น "ชาติ" ของรัฐ

แต่ขบวนการประชาชนที่ผลักดันสิทธิชุมชนก็สร้างความหมายของโลกาภิวัตน์ และชาติอีกนัยหนึ่ง โลกาภิวัตน์ของรัฐและบรรษัทข้ามชาติ ไม่ว่าจะมาในรูปของการอนุรักษ์หรือการค้าเสรี หากดำเนินไปตามตรรกะของระบบการค้าเสรี เป็นสาเหตุของความเสื่อมโทรมทรัพยากรและความล่มสลายของชุมชน "ชาติ" ที่ขบวนการประชาชนอยากเห็นคือ "ชาติ" เป็นมีพื้นที่ของประชาชน ชุมชนมีสิทธิและอำนาจต่อฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีรัฐที่ประชาชนควบคุมได้ ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ไม่ให้ประเทศอุตสาหกรรมหรือบรรษัทข้ามชาติเข้าแย่งชิงทรัพยากร. สิทธิอธิปไตยในแบบขบวนการประชาชน จึงไม่ให้สิทธิอธิปไตยที่รัฐผูกขาด แต่เป็นสิทธิอธิปไตยของประชาชนที่ปกป้องจากบรรษัทข้ามชาติ ในขณะเดียวกันขบวนการประชาชนก็ได้สร้างความเป็นโลกาภิวัตน์ภาคประชาชนด้วยเช่นกัน ด้วยการเชื่อมต่อกับขบวนการชาวนา องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการในประเทศต่างๆ เพื่อผลักดันการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรของประชาชนในซีกโลกใต้

ข้อถกเถียงและการเคลื่อนไหวต่อเรื่องอนุสัญญาฯ ของฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐปีกสมาทานโลกาภิวัตน์หรือส่วนต้านโลกาภิวัตน์ หรือขบวนการประชาชนที่ต้านโลกาภิวัตน์ของทุนข้ามชาติ แต่สร้างโลกาภิวัตน์ของประชาชน ก็ได้สะท้อนถึงความพยายามที่แต่ละฝ่ายจะเข้าไปมีพื้นที่ ตีความ สร้างความหมาย จากอนุสัญญาฯ ในฐานะเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจโลกาภิวัตน์สิ่งแวดล้อมที่จะสร้างความชอบธรรมอำนาจให้แก่ตน แต่สิ่งที่รัฐชาติไม่ว่าจะส่วนไหน หรือขบวนการประชาชนพยายามดิ้นรน ก็เป็นเพียงกระแสรอง หรือเป็น "ติ่ง" หนี่ง ในกระบวนการทางอำนาจของประเทศมหาอำนาจ สถาบันระหว่างประเทศ ทุนข้ามชาติที่มีอำนาจกำกับควบคุมความเป็นไปของอนุสัญญาฯ หรือกระบวนการทางเศรษฐกิจ การเมืองด้านทรัพยากรชีวภาพ ที่ไปไกลเกินกว่าข้อตกลงทางการของอนุสัญญาฯ ที่เปรียบเสมือนพิธีกรรมสร้างความร่วมมือกว้างๆ จะสามารถจัดการอะไรได้(4)

โจรกรรมทรัพยากรชีวภาพ และทรัพย์สินทางปัญญา
อนุสัญญาฯ เพียงแต่ระบุว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยีชีวภาพ ต้องไม่ฝ่าฝืนกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา แต่ข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา เป็นข้อตกลงภายใต้เวทีเจรจาองค์กรการค้าโลก ด้วยเหตุที่รัฐไทยมิได้มองโลกาภิวัตน์ด้านทรัพยากรชีวภาพ ว่ามีนัยทางการเมืองของการแย่งชิงทรัพยากรของประเทศมหาอำนาจต่อการละเมิดสิทธิเกษตรกร และสิทธิชุมชน ทำให้หน่วยงานรัฐ ตลอดจนนักวิชาการรัฐ ดังเช่น จักก์ แสงชัย มองว่าประเด็นทั้ง 2 ไม่มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรง (จักก์ แสงชัย, อ้างแล้ว)

แต่ในภาคปฏิบัติการทั้ง 2 เรื่องเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิดทั้งในระดับโลก และระดับพื้นที่ ในระดับโลก อนุสัญญาฯ เกิดขึ้นจากการเจรจาต่อรองทั้งฝ่ายประเทศซีกโลกเหนือ ซีกโลกใต้ ซึ่งมีทั้งรัฐ นักวิชาการ กลุ่มบรรษัทข้ามชาติ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรประชาชน ผลประโยชน์ร่วมของประเทศซีกโลกเหนือ. บรรษัทข้ามชาติทำให้สามารถผลักดันเรื่องการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ และทรัพย์สินทางปัญญาไว้ในอนุสัญญาฯได้ ขบวนการดังกล่าวยังได้มีบทบาทในการผลักดันให้เกิดข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาในส่วนของสิ่งมีชีวิตไว้ในเวทีเจรจาองค์กรการค้าโลก

ในระดับพื้นที่ เขตป่าอนุรักษ์ที่รัฐเร่งประกาศเพื่อขยายอำนาจควบคุมพื้นที่ ตามแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่ (In-situ) ดังเช่น กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกที่สนับสนุนการจัดทำเขตป่ากันชนรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง หรือการสร้างธนาคารพันธุกรรม (Ex-situ) ทั้ง 2 ระบบนี้ เป็นแหล่งวัตถุดิบอันอุดมสมบูรณ์ที่สถาบันวิชาการโดยการสนับสนุนของบรรษัทข้ามชาติได้เข้ามาวิจัยพัฒนาได้สะดวก

การที่รัฐหรือนักวิชาการรัฐมองไม่เห็นความเชื่อมโยงของขบวนการแย่งชิงทรัพยากรที่อยู่เบื้องหลังข้อตกลงด้านทรัพยากรชีวภาพและการค้า ทำให้วิเคราะห์ยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวของประชาชนผิดพลาด โดยนึกว่าองค์กรพัฒนาเอกชนยึดติดกับตัวอนุสัญญาฯ หรือใช้อนุสัญญาเพื่อสร้างอำนาจให้ตนเอง (จักก์ แสงชัย, อ้างแล้ว) จึงเลยวิจารณ์ต่อไปว่า เมื่อองค์กรประชาชนผลักดันกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช และกฎหมายคุ้มครองภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยได้แล้วจึงเลิกสนใจว่ารัฐจะให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ หรือไม่ ทั้งที่ฝ่ายองค์กรพัฒนาเอกชนให้น้ำหนักของขบวนการแย่งชิงทรัพยากรที่อยู่เบื้องหลังมากกว่า ไม่ว่าจะปรากฏออกในรูปข้อตกลงใดๆ

และแล้วภาพอุดมคติในอนุสัญญาฯ ที่รัฐเฝ้าเพียรป่าวประกาศว่า อนุสัญญาฯ จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถควบคุมโจรสลัดชีวภาพได้ก็ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง บริษัทอเมริกันเอาพันธุ์ข้าวบัสมาติของประเทศอินเดียไปปรับปรุงและจดสิทธิบัตร เช่นเดียวกับที่เกิดในประเทศไทยที่นักวิจัยอเมริกาก็เอาพันธุ์ข้าวหอมมะลิจากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ไปปรับปรุงพันธุ์และเตรียมจะจดสิทธิบัตร ทั้ง 2 กรณีไม่มีการอ้างถึงอนุสัญญาฯ ใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายโจรกรรมหรือฝ่ายถูกโจรกรรม ทั้งที่ประเทศอินเดียก็ให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ แล้วก็ตาม ฝ่ายโจรกรรมมิได้ใช้หลักแจ้งก่อนล่วงหน้า และได้รับการยินยอมร่วมกันและแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน ขณะที่ฝ่ายถูกโจรกรรมทั้งอินเดียและไทยก็ไม่สามารถเอาข้อตกลงอนุสัญญาฯ ไปฟ้องศาลโลก หรือบังคับให้คู่กรณีปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ได้ เพราะไม่ได้มีฐานะเป็นกฎหมาย

ฐานะทางกฎหมายที่แท้จริงกลับอยู่ที่ ข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา องค์กรการค้าโลก ที่ประเทศสมาชิกจะต้องไปบัญญัติเป็นกฎหมายของตนเอง ซึ่งหากมีการละเมิดจะมีการใช้มาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจ หรือนำสู่การพิจารณาของศาลโลกได้ ซึ่งในข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญา ก็ได้ระบุถึงทรัพย์สินทางปัญญาต่อสิ่งมีชีวิตไว้ในมาตรา 27.3 (b) และกำหนดประเทศสมาชิกสามารถไปออกกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เหมาะสมกับประเทศของตนเองได้ ซึ่งองค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการก็ใช้เป็นข้ออ้างในการออกกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชที่รับรองสิทธิเกษตรกร สิทธิชุมชนต่อพันธุ์พืชท้องถิ่น พร้อมไปกับการรับรองสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชแบบใหม่ด้วย

กรณีการโจรกรรมข้าวหอมมะลิ(5) ถือเป็นการขัดทั้งอนุสัญญาฯ และกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช แต่กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชมีฐานะในการนำไปฟ้องร้องในศาลโลกมากกว่าอนุสัญญาฯ ต่อกรณีดังกล่าวกระทรวงพาณิชย์ โดยการกดดันของฝ่ายประชาชนก็ได้ยื่นฟ้องนักวิจัยอเมริกาต่อศาลโลก

ด้วยเหตุที่ข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ยังเปิดช่องให้ประเทศต่างๆ ออกกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาลักษณะเฉพาะได้ อันเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพของประเทศมหาอำนาจและบรร ษัทข้ามชาติได้ แรงผลักดันให้แก้ไขข้อตกลงดังกล่าวให้เป็นมาตรฐานเดียวคือใช้ระบบสิทธิบัตร ซึ่งไม่คุ้มครองสิทธิเกษตรและชุมชนและพันธุ์พืชดั้งเดิมจึงได้เกิดขึ้น ปี 2543 สภายุโรปได้มีข้อตกลงรับหลักการระบบสิทธิบัตรพันธุ์พืชและสิ่งมีชีวิต ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็กดดันให้การเจรจาองค์กรการค้าโลกรอบใหม่ที่ประเทศการ์ตาในเดือนพฤศจิกายน 2544 ให้มีการแก้ไขข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญาในส่วนสิ่งมีชีวิตให้ใช้ระบบสิทธิบัตร แต่ก็ยังไม่ทันพิจารณา (วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ, 2544)

สิ่งที่น่าพิจารณาก็คือ ข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญา เป็นการสร้างระบบกรรมสิทธิ์ต่อปัญญาให้มีสถานะเป็นสินค้า มีผู้ทรงสิทธิ์ และวัตถุประสงค์แห่งสิทธิเป็นไปเพื่อการค้า แม้ข้อตกลงจะเปิดช่องให้แต่ละประเทศออกกฎหมายที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง แต่อย่างไรก็ต้องเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชก็กำเนิดขึ้นภายใต้วิธีคิดดังกล่าว คือ ทำให้ภูมิปัญญาของชุมชน มีสถานะเป็นทรัพย์สินที่ชุมชนเป็นผู้ทรงสิทธิ์ และใช้ในบริบททางการค้า

แต่วิธีคิดของชุมชนท้องถิ่น ภูมิปัญญามิใช่ทรัพย์สิน สิ่งของ ที่ใครเป็นเจ้าของครอบครอง ผูกขาดได้ เพราะความรู้เกิดจากประสบการณ์ การแลกเปลี่ยนทั้งในชุมชนและระหว่างชุมชนเพื่อแสวงหาทางแก้ปัญหาในชีวิต จึงไม่มีใครอ้างเป็นเจ้าของภูมิปัญญา หรือหวงกันการแลกเปลี่ยนความรู้ ดังนั้นการทำให้ภูมิปัญญาเป็นทรัพย์สินแบบหนึ่ง แม้จะเป็นทรัพย์สินร่วมของชุมชน แต่มันห่างไกลจากวิถีชีวิตของชาวบ้าน ตลอดจนให้ชุมชนจะต้องไปจดทะเบียนกับรัฐให้เป็นเจ้าของภูมิปัญญา จึงจะได้รับการยอมรับในทางกฎหมาย จึงเป็นการขัดกับวิธีคิด วัฒนธรรมของชุมชน นี่จึงอาจเป็นผลให้กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชไม่ได้รับการขานรับจากชุมชนท้องถิ่นเท่าใดนัก หากเทียบกับกฎหมายป่าชุมชนที่พัฒนาจากวิธีคิด วัฒนธรรมการจัดการทรัพยากรของชาวบ้านเอง กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชแม้จะบัญญัติใช้แล้ว แต่ไม่มีแรงขับเคลื่อนทางสังคมให้นำกฎหมายไปปฏิบัติเท่าใดนัก

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ในฐานะหัวหอกผู้ผลักดันกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชก็ได้ยอมรับว่า สิทธิชุมชนต่อทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาจะต้องก้าวไปให้พ้นจากวิธีคิดแบบทรัพย์สินที่มีอยู่ ซึ่งกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแสวงหาระบบสิทธิชุมชนที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม และสามารถปกป้องการแย่งชิงทรัพยากรและภูมิปัญญาจากกระบวนการโลกาภิวัตน์ด้วย (วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ, 2544)

ขณะที่นักกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจักรกฤษณ์ ควรพจน์ ได้ให้ความเห็นว่า ภูมิปัญญาเป็นทรัพย์สินร่วมของชุมชน ดังนั้นการกำหนดหน่วยที่ถือสิทธิเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก อาจเกิดความขัดแย้ง จึงเสนอว่าอย่าให้ชุมชนใดชุมชนหนึ่งมีสิทธิแต่ผู้เดียว แต่ให้เป็นมรดกร่วมกัน แบ่งปันกัน โดยให้รัฐทำหน้าที่ปกป้องสิทธิแทนชุมชน มีกฎหมายมารับรองสิทธิภูมิปัญญาที่เป็นทรัพย์สินร่วม แต่ทั้งนี้ไม่ได้เป็นการให้เอาภูมิปัญญาไปผลิตสินค้าออกขาย หรือให้ภูมิปัญญาเป็นสินค้าโดยตัวมันเอง กฎหมายจะทำหน้าที่ให้รัฐมาคุ้มครองสิทธิชุมชนให้ แต่เจ้าของสิทธิหรือชุมชนเองจะเอาความรู้ของเขาไปทำอะไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง (คำอภิปรายจักรกฤษณ์ ควรพจน์ ในเวทีเปิดศักราชสิทธิชุมชน, 2544)

พืชแปลงพันธุ์ กับแนวรุกใหม่ของบรรษัทข้ามชาติ
ขณะที่ข้อถกเถียงเรื่องสิทธิอธิปไตย และทรัพย์สินทางปัญญายังไม่สามารถยุติได้ พืชแปลงพันธุ์ (GMOs) ที่ผลิตโดยบรรษัทข้ามชาติ เช่น มอนซานโต้ ก็ได้บุกทะลุทะลวง กฎหมาย และอธิปไตยของไทยไปจนถึงชุมชนได้อย่างไม่ทันตั้งตัว ฝ้ายบีทีที่มอนซานโต้นำเข้ามาทดลองร่วมกับกรมวิชาการเกษตรในปี 2543 ก็ได้แพร่กระจายไปสู่ชนบททั้งอีสาน เพชรบุรี และที่อื่นๆ อย่างรวดเร็ว ตามมาด้วยข้าวโพด ถั่วเหลือง และอื่นๆ ที่นำเข้ามาในรูปของอาหารสัตว์

พืช GMOs จะปลอดภัยหรือไม่ เป็นข้อถกเถียงที่ทั่วโลกยังหาข้อยุติไม่ได้ แต่ท่าทีของรัฐและฝ่ายประชาชนต่อ GMOs ต่างหากกลับเป็นสิ่งที่น่าสนใจ ฝ่ายรัฐ นักวิทยาศาสตร์มีท่าทีขานรับพืช GMOs อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) กรมวิชาการเกษตร และอื่นๆ ทั้งนี้เพราะพืช GMOs เข้ามาภายใต้ระบบคิดเดิมของรัฐและนักวิทยาศาสตร์ที่มองไม่เห็นการเมืองข้ามชาติ และการเมืองภาคประชาชน

GMOs ตอบสนองวิธีคิดเรื่องการจัดการเกษตรในเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งเกิดขึ้นจากการปฏิวัติเขียวที่ผ่านมา นั่นคือ การสร้างระบบปลูกพืชขนาดใหญ่ ใช้ทุนและเทคโนโลยีชั้นสูง ผลิตและจัดการโดยบริษัทเอกชน โดยมีเป้าหมายการผลิตให้ได้สูงที่สุด เมื่อการใช้สารเคมีนำไปสู่ความล้มเหลวของเกษตรกรรมทั้งขนาดใหญ่และเล็ก พืช GMOs จึงเข้ามาแทนที่ จนถูกเรียกขานว่าเป็น "การปฏิวัติเขียวครั้งที่ 2"

ดังนั้นวาทกรรมที่กลุ่มสนับสนุน GMOs ผลิตขึ้นมารองรับความชอบธรรมจึงไม่ต่างจากการปฏิวัติเขียวครั้งแรก ก็คือ "ประชากรเพิ่มขึ้น ผู้คนอดอยาก อาหารไม่เพียงพอ จึงต้องแสวงหาวิธีการเพิ่มผลผลิต หลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากแมลง โรคพืช" และ GMOs จะเป็นคำตอบของเป้าหมายดังกล่าว

GMOs ในทัศนะของรัฐจึงเป็นสัญลักษณ์ของระบบโลกาภิวัตน์ การค้าเสรีที่จะเข้ามาแก้ปัญหาภายในประเทศ แก้ปัญหาโรคพืช แมลง ที่เป็นตัวรบกวนการสร้างผลิตผลของเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐมองว่าเป็นผลประโยชน์ต่อ "ชาติ" โดยรวม ซึ่งไม่ต่างจากวิธีมองเรื่องอนุสัญญาฯ หรือข้อตกลงการค้าเสรี อีกทั้งมันยังเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่นักวิทยาศาสตร์เฝ้ารอการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยี โดยที่ตนเองมีส่วนร่วมรอรับเทคโนโลยีดังกล่าว จึงไม่แปลกใจที่รัฐมีแนวโน้มจะสนับสนุนพืช GMOs

ในส่วนของขบวนการประชาชนต่อต้าน GMOs นั้น GMOs ก็มีความหมายมากกว่าพันธุ์พืชประหลาดชนิดหนึ่ง กลุ่มผู้บริโภคจะตื่นตัวต่อผลกระทบ GMOs ในด้านสุขภาพ. เกษตรกร ชุมชนท้องถิ่น และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเป็นห่วงในแง่การคุกคามระบบนิเวศ พันธุ์พืชท้องถิ่น และต่ออำนาจของชุมชนในการควบคุมจัดการระบบการผลิต ดังนั้นไม่ว่าพืช GMOs จะปลอดภัยหรือไม่ จะมีวิตามิน แร่ธาตุ หรือต้านศัตรูพืชขนาดไหน แต่เมื่อพันธุ์พืชดังกล่าวถูกควบคุมโดยบริษัท มีสิทธิบัตรรับรองผูกขาด และต้องใช้ปัจจัยการผลิตจากบริษัทผู้ผลิต อันทำให้บริษัทเข้าควบคุมการผลิตของเกษตรกรยิ่งขึ้น โดยที่เกษตรกร ชุมชนไม่สามารถเข้าไปพัฒนา จัดการมันได้ หรือพึ่งตนเองได้

ด้วยเหตุผลความสัมพันธ์ทางอำนาจในเชิงครอบงำจากบรรษัทข้ามชาตินี่เอง ทำให้ประชาชนทั่วโลกต่อต้านพืช GMOs เนื่องจากมันได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของโลกาภิวัตน์ที่เข้าคุกคามรัฐ ล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชน ภายใต้สถานการณ์ที่ประชาชนสิ้นหวังต่อรัฐว่าจะสามารถดูแลปกป้องประชาชน ในเรื่องสุขภาพ ความมั่นคงอาหาร การจัดการทรัพยากร และอื่นๆ ดังนั้นวาทกรรมของ GMOs ในฐานะอำนาจคุกคามจากโลกาภิวัตน์จึงไปไกลเกินไปกว่าที่จะอธิบายว่ามันมีความปลอดภัยหรือไม่ ทำลายพืชพื้นเมืองจริงหรือเปล่า

บทสรุปต่อนิเวศการเมืองทรัพยากรชีวภาพในสังคมไทย
"ความหลากหลายทางชีวภาพ" ศัพท์แสงทางวิชาการ ได้กลายเป็นวาทกรรมหลักของทิศทางด้านการอนุรักษ์ และการค้าด้านทรัพยากรทั้งในระดับโลก และสังคมไทย ข้อถกเถียงดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างโลกาภิวัตน์ ทุนข้ามชาติ รัฐ ประชาสังคม และชุมชนในแต่ละประเทศ

สังคมไทย ภายใต้ทิศทางการเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อส่งออก และผนวกตนเองเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบทุนนิยมโลก รัฐได้ควบคุมผูกขาดการจัดการทรัพยากรทั้งดิน น้ำ ป่า และพันธุ์พืชมาช้านาน โดยยึดแย่งทรัพยากรไปจากท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ทุนเอกชนเข้าแสวงประโยชน์อย่างเสรี ผลประโยชน์ที่ได้จากการบริโภคทรัพยากรเหล่านี้ตกอยู่กับรัฐ กลุ่มทุน และประเทศอุตสาหกรรม แต่ได้ทิ้งให้ทรัพยากรชีวภาพเสื่อมโทรมลง สร้างผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่นที่ต้องพึ่งพาฐานทรัพยากร ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวระดับท้องถิ่นผลักดันแนวคิดสิทธิชุมชนต่อการจัดการทรัพยากร เพื่อถ่วงดุลอำนาจกับรัฐ

เมื่อรัฐได้ผลักดันให้ประเทศผนวกเข้าสู่ระบบโลกาภิวัตน์ ที่ให้อำนาจแก่ "โลก" อันมีนัยถึงระบบทุนนิยมโลก โดยมีประเทศอุตสาหกรรม องค์กรข้ามชาติทั้งด้านการพัฒนาและการอนุรักษ์เข้ามาควบคุมจัดการมากขึ้น ชนชั้นนำ เทคโนแครตของสังคมไทยต่างคาดหวังว่า โลกาภิวัตน์จะมาช่วยเสริมอำนาจ ช่วยสร้าง "ชาติ" ของรัฐให้เข้มแข็งขึ้น แต่อำนาจโลกาภิวัตน์ดังกล่าวกำลังกดทับ ปิดกั้นชุมชนในการเข้าถึงทรัพยากร ตลอดจนทำลายฐานทรัพยากรที่ชุมชนพึ่งพา

แรงผลักและแรงต้านต่ออนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนถึงข้อถกเถียงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และพืชแปลงพันธุ์ ได้เป็นการสะท้อนถึงความพยายามในการจัดความสัมพันธ์อำนาจของแต่ละฝ่าย ระหว่างทุนข้ามชาติ รัฐ และประชาชน ฝ่ายรัฐที่ภาคทุนมีบทบาทกำกับนั้นมุ่งเปิดทางให้อำนาจโลกาภิวัตน์เข้ามาผนวกกับรัฐในการจัดการทรัพยากร แต่อีกด้านหนึ่งรัฐก็ยังมีความหวาดระแวงต่อโลกาภิวัตน์ที่จะลดอำนาจรัฐลง ภาวะขัดแย้งลักลั่นระหว่างกระทรวงวิทย์กับสถาบันการแพทย์แผนไทยเป็นบทสะท้อนได้อย่างดี

ขณะที่ฝ่ายประชาชน ที่ถูกรัฐร่วมมือกับทุนแย่งชิงทรัพยากรของชุมชนมาโดยตลอด ก็ได้ตั้งคำถามต่อโลกาภิวัตน์ทรัพยากรชีวภาพนี้ แนวคิด"มรดกโลก"ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นวาทกรรมของทุนข้ามชาติในการควบคุมจัดการทรัพยากร เพราะทรัพยากรชีวภาพกระจุกตัวอยู่ที่ประเทศซีกโลกใต้ ไม่ได้มีอยู่ทั่วโลก ข้อตกลงเรื่องการอนุรักษ์ในอนุสัญญาฯ มีแต่สนับสนุนอำนาจรัฐต่อการควบคุมจัดการทรัพยากร โดยไม่มีหลักการที่หนักแน่นในการส่งเสริมสิทธิชุมชนอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างไร การผนวกเรื่องการเข้าถึงทรัพยากร การแบ่งปันผลประโยชน์ และทรัพย์สินทางปัญญา โดยถูกฝ่ายประชาชนปอกเปลือกว่า โลกาภิวัตน์ก็คือการค้าเสรีนั่นเอง

กระบวนการโจรกรรมทางชีวภาพ ระบบทรัพย์สินทางปัญญา จากข้อตกลงองค์กรการค้าโลก และพันธุ์พืช GMOs เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนต่อการขยายอำนาจของทุนข้ามชาติเข้าครอบงำ และมีแนวโน้มที่รัฐจะกลายเป็นกลไกของโลกาภิวัตน์การค้าเสรีในการแสวงประโยชน์ แย่งชิงทรัพยากรจากชุมชน กรณีข้าวบัสมาติของอินเดีย ข้าวหอมมะลิของไทย เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าแท้ที่จริงแล้ว หลักการอันสวยหรูเรื่องการตกลงร่วม แบ่งปันผลประโยชน์ร่วม ไม่ว่าจะปรากฏในข้อตกลงไหนๆ เป็นเพียงวาทกรรมอันล่องลอยที่ปราศจากความหมายใดๆ หากปราศจากกฎหมายภายในของประเทศต่างๆ ที่ออกมารองรับสิทธิของชุมชน และขบวนการเคลื่อนไหวของชุมชนเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง

ขบวนการประชาชนได้เสนอหลักการสิทธิชุมชนต่อการจัดการทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น ในฐานะเป็นยุทธศาสตร์ปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างทุนข้ามชาติ รัฐ และประชาชนเสียใหม่ โดยให้ชุมชนมีอำนาจในการควบคุมจัดการทรัพยากรยิ่งขึ้น ตลอดจนสามารถควบคุมรัฐให้ทำหน้าที่ปกป้องการรุกของทุนข้ามชาติ

ขบวนการสิทธิชุมชนจึงเปรียบเสมือนกระบวนการสร้างความหมายของ "ชาติ" แบบใหม่ ที่ประชาชนเป็นผู้มีสิทธิอำนาจ และร่วมประโยชน์ และ "ชาติ" ในความหมายดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับกระบวนการร่วมมือระดับโลกทั้งในด้านการอนุรักษ์ การแลกเปลี่ยนทรัพยากร หากกระบวนร่วมมือดังกล่าวมีฐานะเป็นโลกาภิวัตน์ของประชาชน ที่ประชาชนเรียนรู้ แลกเปลี่ยน ร่วมมือจัดการทรัพยากรร่วมกัน ไม่ใช่โลกาภิวัตน์ของรัฐและกลุ่มทุนที่มาในรูปการอนุรักษ์หรือการค้า ซึ่งไม่ได้เสริมสร้างอำนาจชุมชนแต่อย่างใด

สิทธิชุมชนต่อการจัดการทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นนัยสำคัญของการต่อสู้ในแนวทางนิเวศการเมือง (Political Ecology) ที่มองความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างอำนาจของฝ่ายต่างๆ ต่อการควบคุมกำกับระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งในวาทกรรม การสร้างความรู้ การเข้าถึงทรัพยากร และผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งนิเวศการเมืองต่อทรัพยากรชีวภาพก็ได้ชี้ให้เห็นถึง อำนาจของโลกาภิวัตน์จากกลุ่มทุนข้ามชาติ ศูนย์กลางอำนาจที่ผลิตความรู้ และจัดการทรัพยากรชีวภาพในแนวทางการค้าเสรี เพื่อถ่ายโอน หรือดึงดูดทรัพยากรไปสู่มือของทุนข้ามชาติในนามของการอนุรักษ์ หรือการค้าก็ตาม ขณะเดียวกับที่รัฐก็ทั้งพยายามอาศัยอำนาจโลกาภิวัตน์และทั้งต่อต้านโลกาภิวัตน์เพื่อคงอำนาจในการจัดการทรัพยากรชีวภาพ

สภาวการณ์ดังกล่าวจึงทำให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิชุมชน ในฐานะยุทธศาสตร์การนิยามความเป็นโลกาภิวัตน์ ความเป็นชาติ สิทธิอธิปไตย หรือการจัดสรรความสัมพันธ์อำนาจเสียใหม่ให้ชุมชนมีพลังอำนาจในการถ่วงดุลกับโลกาภิวัตน์และรัฐได้

นิเวศการเมืองก็ได้เชื่อมซ้อนกับแนววิเคราะห์นิเวศวิทยาแนวลึก (Deep Ecology) ที่มองมิติความสัมพันธ์ระหว่างวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นกับระบบนิเวศ ระบบคิดเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น ชาติพันธุ์นิเวศ (Ethnoecology) อันสะท้อนถึงโลกทัศน์ที่มีต่อธรรมชาติ สิ่งเหนือธรรมชาติ ชุมชน สังคม ในแง่มุมของการอยู่ร่วมกันของท้องถิ่น ด้วยการแบ่งปัน ความเป็นธรรม ซึ่งเราจะไม่สามารถจะเปลี่ยนภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นระบบวัฒนธรรมนี้ให้เป็นสินค้าเพื่อขายได้อย่างง่ายๆ เหมือนระบบทรัพย์สินทางปัญญาแบบตะวันตก

ขบวนการทางสังคมเพื่อทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่นของประชาชน ไม่สามารถเข้าใจได้ด้วยวิธีคิดแบบรัฐหรือเทคโนแครตที่ใช้ทฤษฎีนิเวศแนวตื้น (Shallow Ecology) ที่เชื่อมั่นในอำนาจรัฐ ระบบตลาด ผู้เชี่ยวชาญ และเทคโนโลยี ในทิศทางของทุนนิยมเสรี ดังที่กระทรวงวิทย์ และจักก์ แสงชัย ใช้มองความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลกอย่างโรแมนติก โดยยกอำนาจโลกาภิวัตน์ขึ้นมาในแง่งดงาม มุ่งสลายสิทธิอธิปไตยของประเทศ เพิกเฉยการกระจายอำนาจและรับรองสิทธิชุมชน ถือได้ว่าเป็นวิธีคิดที่สร้างปัญหาต่อความพยายามฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง

การคลี่คลายความขัดแย้งแย่งชิงทรัพยากรชีวภาพ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทบทวนวิธีมองต่อโลกาภิวัตน์ อำนาจรัฐ ระบบตลาด และความมั่นคงของทรัพยากรและชุมชนเสียใหม่ ต้องปรับโครงสร้างทรัพยากรทั้งระบบ ให้กระจายอำนาจการจัดการสู่ประชาชน สนับสนุนสิทธิชุมชน ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายทั้งด้านการอนุรักษ์ การพัฒนา และการค้าที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรชีวภาพ โดยรัฐมุ่งสร้างกลไกที่สนับสนุนชุมชนท้องถิ่นอย่างจริงจังในการพัฒนาศักยภาพในการจัดการทรัพยากรชีวภาพทั้งในมิติวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม สร้างระบบ กลไกปกป้องการรุกของโลกาภิวัตน์ด้านทรัพยากรชีวภาพที่สัมพันธ์กับโลกาภิวัตน์การค้าเสรี ตลอดจนประสานความร่วมมือกับขบวนการประชาชนและรัฐในประเทศต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาคที่มีฐานทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรมร่วมกัน เพื่อพัฒนาศักยภาพต่อการจัดการทรัพยากรชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน และขยายไปสู่ประเทศซีกโลกใต้และเหนือให้เกิดความเข้มแข็งขึ้น หากเริ่มต้นทิศทางดังกล่าวได้ จะให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ หรือไม่ ทรัพย์สินทางปัญญาแบบชุมชนควรเป็นอย่างไร จะเอาพืช GMOs มาเพื่ออะไร คงจะไม่เป็นประเด็นของสังคมเรา

เชิงอรรถ

(1) อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศ ที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากการประชุมเวทีสิ่งแวดล้อมโลก ปี 2535 ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล แต่กระบวนการยกร่างข้อตกลงจนมาเป็นอนุสัญญามีมาตั้งแต่ปี 2527 โดยมีสหพันธ์นานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) และกองทุนโลกเพื่อธรรมชาติเป็นผู้ดำเนินการ ในการประชุมเวทีสิ่งแวดล้อมโลกมีฝ่ายต่างๆ ทั่วโลกทั้งรัฐบาล สถาบันระหว่างประเทศ นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรประชาชน บรรษัทข้ามชาติไม่ต่ำกว่า 30,000 คน โดยกระบวนการที่ให้บรรลุข้อตกลงอนุสัญญาฯ เมื่อตัวแทนประเทศสมาชิกได้ร่วมลงนามแล้ว จะต้องกลับไปขอความเห็นชอบจากประเทศตนเอง หรือที่เรียกว่า "ให้สัตยาบัน" ในส่วนประเทศไทยนับตั้งแต่ลงนามในปี 2535 จนครบรอบ 10 ปี ตัวแทนรัฐบาลที่ลงนามยังไม่สามารถผลักดันให้รัฐสภาไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ได้ เพราะเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อความเหมาะสมทั้งในหมู่ราชการ และองค์กรประชาชน

(2) พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 และ พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542

(3) จุดอ่อนของพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชมีสองประการคือ ประการแรกเป็นการประนีประนอมการรับรองสิทธิของบริษัทเมล็ดพันธุ์กับการรับรองสิทธิของเกษตรกรรายย่อยและชุมชน ประการที่สองการรับรองสิทธิของชุมชนมีลักษณะที่ดูเหมือนเป็นการพยายามทำให้ทรัพยากรชีวภาพของชุมชน เป็นทรัพย์สินทางปัญญารูปแบบหนึ่งภายใต้กรอบระบบคิดเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของตะวันตก

(4) ดังเช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่แม้ปัจจุบันก็ยังไม่ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ โดยให้เหตุผลว่าจะเสียประโยชน์ทางการค้าได้ในหลักเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ และการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี แต่ด้วยเหตุที่สหรัฐ ทั้งในส่วนรัฐและบรรษัทเอกชน ก็เป็นผู้กุมทรัพยากรพันธุกรรมไว้มากที่สุด ทั้งในธนาคารเชื้อพันธุ์ การจดสิทธิบัตรพันธุกรรม ดังนั้นในทางเศรษฐกิจ การเมืองต่อการควบคุมจัดการทรัพยากรชีวภาพของโลก อเมริกาก็สามารถควบคุมจัดการ ตลอดจนรุกรานได้ เช่น กรณีข้าวบัสมาติของอินเดีย และข้าวหอมมะลิของไทย

(5) กรณีข้าวหอมมะลิถือว่าเป็นการละเมิดต่ออนุสัญญา สัญญาการโอนย้ายพันธุกรรมของสถาบันวิจัยระหว่างประเทศ และรวมทั้งกฏหมายภายใน(พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช) กระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมการให้สำนักงานทนายความฟ้องร้องต่อนักวิจัยโดยอาศัยกฏหมายภายในของสหรัฐ และพยายามผลักดันให้มีการขยายข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา(TRIPs)ให้ครอบคลุมชื่อของพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ด้วย

 

เอกสารอ้างอิง

โครงการสิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล (2544) "เปิดศักราชสิทธิชุมชน" เอกสารสรุป เวทีวิชาการสาธารณะ "เปิดศักราชสิทธิชุมชน" ครั้งที่ 1 วันที่ 2 มีนาคม 2544 ศูนย์ มานุษยวิทยาสิรินธร

จักก์ แสงชัย (2543) "อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพกับประเทศไทย", สิ่งแวดล้อม: วิกฤติ และการจัดการ, วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 26 ฉบับที่ 1 มกราคม-เมษายน 2543

จักรกฤษณ์ ควรพจน์ และคณะ (2544) "โครงการวิจัยสิทธิมนุษยชนกับเทคโนโลยีชีวภาพ" โครงการวิจัยสิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล โดยศาตราจารย์เสน่ห์ จามริก และ คณะ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, มิถุนายน.

ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี (2541) "วาทกรรมชาวเขา", สังคมศาสตร์กับคนชายขอบ, วาร สารทางวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ปีที่ 11 ฉบับที่ 1 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2541) ISSN 0125-4138.

มหาวิทยาลัยมหิดล (2538) "อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพกับความพร้อมของ ประเทศไทย, เอกสารสรุปการสัมมนาระหว่างวันที่ 16-17 ตุลาคม 2538, มหาวิทยาลัยมหิดล

ราเจส โนเอล (2541) "โจรสลัดทางชีวภาพ: การปล้นสะดมโลกที่สามโดยประเทศ อุตสาหกรรม", สารัตถะแห่งสิทธิชุมชน: หลักการและความเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิชุมชนในทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น, เครือข่ายสิทธิภูมิปัญญาไทย, กรุงเทพฯ

วิสุทธ์ ใบไม้ (2538) "สถานภาพความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย" รายงาน การศึกษาเสนอต่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, กรุงเทพฯ

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ และคณะ(2544) "โครงการวิจัยสิทธิชุมชนและสิทธิเกษตรกรในทรัพยากรชีว ภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น" โครงการวิจัยสิทธิมนุษยชนไทยในสถานการณ์สากล โดยศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก และคณะ, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, สิงหาคม.

สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (2538) "นโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์และใช้ ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน พ.ศ.2541-2545" กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม, กรุงเทพฯ

สำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (2538) "อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ: คิด ในระดับโลกและทำในระดับประเทศ" กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม

 

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด หรือ Ctrl + A
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งยอหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ

 

 

นิเวศการเมืองของทรัพยากรชีวภาพในสังคมไทย

กฤษฎา บุญชัย
โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ

บทนำ
"ความหลากหลายทางชีวภาพ" ซึ่งเป็นศัพท์นิเวศวิทยาพื้นๆ ได้กลายเป็นข้อถกเถียงในทางการเมืองอย่างร้อนแรงในสังคมไทย ตั้งแต่ปี 2536 เป็นต้นมา เมื่อกลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ ได้เปิดประเด็นถึงปัญหาที่อาจตามมา หากประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ(1) อย่างผลีผลาม โดยประชาชน ชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรไม่ได้ตื่นตัวและมีส่วนร่วมตัดสินใจ ไม่ได้มีกฎหมายคุ้มครองสิทธิชุมชนต่อทรัพยากรชีวภาพและภูปัญญาเสียก่อน เพราะจะเป็นการเปิดโอกาสให้แก่บรรษัทข้ามชาติเข้ามาตักตวงทรัพยากรชีวภาพและภูมิปัญญาของประชาชนอย่างเสรี และใช้ระบบกฏหมายทรัพย์สินทางปัญญาเป็นตัวให้ความชอบธรรมของต่อบรรษัทในการครอบครอง ผูกขาด โดยที่ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรและภูมิปัญญาของตนได้ต่อไป รัฐเองก็ไม่สามารถคุ้มครองสิทธิประชาชน และผลประโยชน์ของประเทศ ซึ่งเท่ากับว่าประเทศไทยกำลังสูญเสียสิทธิอธิปไตยในการกำกับควบคุมทรัพยากร ชุมชนก็สูญเสียสิทธิต่อฐานทรัพยากรเช่นกัน

ประเด็นดังกล่าวได้รับการตอบโต้จากรัฐ และนักวิทยาศาสตร์ของรัฐ ที่เห็นว่าอนุสัญญาฯ ต่างหากจะเป็นเครื่องมือสร้างหลักประกันที่มั่นคงของการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โลกาภิวัตน์ด้านสิ่งแวดล้อมจากอนุสัญญาฯ และจะก่อให้เกิดความร่วมมือในด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร แลกเปลี่ยนทรัพยากรชีวภาพ เทคโนโลยี และเงินทุนในการจัดการ