บทความต้อนรับปีใหม่ เพื่อเป็นของขวัญแด่สมาชิก มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนทุกคน และบรรดาผู้สนใจเกี่ยวกับ การปฏิรูปการศึกษาไทย

เขียนโดย
อรศรี งามวิทยาพงศ์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
(ความยาวประมาณ 15 หน้ากระดาษ A4)

ภาพประกอบ ผลงานของ John Mattos
เทคนิค Airbrushed Ink

สวัสดีปีใหม่ นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน กับบทความเรื่อง"ปฏิรูปการศึกษา : มุมมองทางกระบวนทัศน์และบริบทสังคมไทย" โดย อรศรี งามวิทยาพงศ์
หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง ประเทศสหรัฐอเมริกาได้เป็นผู้นำทางแนวคิดที่สำคัญ ในการพัฒนามนุษย์และสังคมทุกด้าน เป็นต้นแบบของการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ฯลฯ วัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตแบบอเมริกันได้เป็นต้นแบบของสังคมที่พึงปรารถนา สำหรับประเทศอดีตอาณานิคมและประเทศเกิดใหม่หลังสงครามโลก แนวคิดการพัฒนาของโลกตะวันตกที่มีสหรัฐเป็นผู้นำนั้น อยู่ภายใต้กระบวนทัศน์หรือฐานคิดของวิทยาศาสตร์เชิงปริมาณ/วัตถุ ที่มองโลกแบบแยกส่วน ลดส่วน (reductionist) และแบบกลไก (mechanistic) ที่ให้ความสำคัญและยอมรับ"ความรู้"เฉพาะกับสิ่งที่ชั่ง ตวง วัด คำนวณได้ และทดลองได้ด้วยหลักการและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) เท่านั้น ความรู้อื่น ๆ ที่ชั่ง ตวง วัด คำนวณไม่ได้อย่างชัดเจนแม่นยำ หรือพิสูจน์ให้ประจักษ์ (Empirical) เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือ
THE MIDNIGHT UNIVERSITY
020145
release date
CP
MP
WB
Contents P.
Member P.
Webboard
The Reformation of Eucation from A Thai Perspective
กระบวนทัศน์และวิธีคิดแบบแยกส่วน ลดส่วน ได้ทำให้"การศึกษาเรียนรู้"ใน หลายทศวรรษที่ผ่านมา กลายเป็นเรื่องของนักวิชาการด้านศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ หรือเป็นเรื่องของโรงเรียน ครูอาจารย์ กระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัยฯ มาอย่างต่อเนื่องยาวนาน (เหมือนกับที่เรื่องสุขภาพเป็นเรื่องของแพทย์และโรงพยาบาล) การจัดการศึกษาภายใต้กระบวนทัศน์และวิธีคิดแบบดังกล่าวของรัฐ ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์และตกเป็นจำเลยจากวิกฤตการณ์ทางสังคมมากมาย อันสะท้อนถึงความล้มเหลวของการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนามนุษย์ (ปัญหาศีลธรรมเสื่อมถอย ยาเสพติด การขาดจิตสำนึกทางสังคม ฯลฯ) ซึ่งสังคมร่วมกันสรุปว่า เกิดจากความล้มเหลวของระบบการศึกษาในกระบวนทัศน์แบบแยกส่วน นำมาสู่การปฏิรูปการศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ด้วยเป้าหมายเพื่อสร้างการเรียนรู้แบบองค์รวม ที่จะทำให้"ผู้เรียนเก่ง-ดี-มีความสุข"

คำถามที่ผู้เขียนสนใจในการปฏิรูปการศึกษาที่ดำเนินการในปัจจุบัน คือ
๑.การปฏิรูปการศึกษาในปัจจุบันดำเนินการภายใต้กระบวนทัศน์แบบบูรณาการ (องค์รวม)
ตามที่ตั้งจุดประสงค์ไว้จริงหรือไม่ อย่างไร
๒.ในบริบทของสังคมไทยปัจจุบัน หากจะปฏิรูปการศึกษาเพื่อไปสู่การเรียนรู้ อย่างบูรณาการจริง
จะต้องปรับเปลี่ยนปัจจัยหรือเงื่อนไขอะไรอีกหรือไม่ อย่างไร

๑.กระบวนทัศน์การศึกษาไทย

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง ประเทศสหรัฐอเมริกาได้เป็นผู้นำทางแนวคิดที่สำคัญในการพัฒนามนุษย์และสังคมทุกด้าน เป็นต้นแบบของการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ฯลฯ วัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตแบบอเมริกันได้เป็นต้นแบบของสังคมที่พึงปรารถนาสำหรับประเทศอดีตอาณานิคมและประเทศเกิดใหม่หลังสงครามโลก แนวคิดการพัฒนาของโลกตะวันตกที่มีสหรัฐเป็นผู้นำนั้น อยู่ภายใต้กระบวนทัศน์หรือฐานคิดของวิทยาศาสตร์เชิงปริมาณ/วัตถุ ที่มองโลกแบบแยกส่วน ลดส่วน (reductionist) และแบบกลไก (mechanistic) ที่ให้ความสำคัญและยอมรับ"ความรู้"เฉพาะกับสิ่งที่ชั่ง ตวง วัด คำนวณได้ และทดลองได้ด้วยหลักการและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Method) เท่านั้น ความรู้อื่น ๆ ที่ชั่ง ตวง วัด คำนวณไม่ได้อย่างชัดเจนแม่นยำ หรือพิสูจน์ให้ประจักษ์ (Empirical) หรือเห็นแบบชัดเจน (Positivism ) ไม่ได้ เช่น ความเชื่อทางด้านศาสนา จิตวิญญาณ ความรู้สึกด้านจิตใจ อารมณ์ เป็นสิ่งที่ไม่น่าเชื่อถือ หากจะนับให้เป็นความรู้ จะต้องแสวงหาวิธีการชั่ง ตวง วัด คำนวณค่าออกมาจึงจะเชื่อถือได้ ดังนั้น ความรู้ดั้งเดิม ที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นซึ่งอธิบายด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในแบบที่กำหนดไม่ได้ แม้จะใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวันของชาวบ้านก็ไม่ได้รับการยอมรับว่าเป็น "ความรู้"

ในขณะที่ความรู้ในกระบวนทัศน์นี้ จะถูกแบ่งส่วนชัดเจน ให้ความสำคัญกับการ พัฒนาความชำนาญหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง (Expert , Specialist) เช่น เศรษฐศาสตร์ (จุลภาค มหภาค การเกษตร การคลัง ฯลฯ ) วิทยาศาสตร์ (ชีววิทยา ฟิสิกส์ เคมี ฯลฯ) กฎหมาย (มหาชน ระหว่างประเทศ ฯลฯ) แพทย์ศาสตร์ ( หัวใจ ทางเดินอาหาร กระดูก ผิวหนัง ฯลฯ) ทำ ให้การจัดการศึกษาเพื่อเรียนรู้ไปสู่ความรู้ในแนวคิดดังกล่าวมีลักษณะแยกส่วน ลงลึกแต่ขาด ความเชื่อมโยงกับสภาวะจริงของโลกที่เป็นองค์รวม เช่น มุ่งการเรียนรู้ไปที่การอาชีพ หรืออื่น ๆ ที่ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐ อาทิ นโยบายขยายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความมั่นคงแห่ง รัฐ การเข้าสู่โลกาภิวัตน์ ฯลฯ ผู้เรียนขาดโอกาสเรียนรู้ในส่วนที่ถูกกำหนดว่า"มิใช่ความรู้" หรือมิ ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตในสังคมทันสมัย เช่น การเรียนรู้ทางจิตวิญญาณ อุดมคติ ฯลฯ

กระบวนทัศน์ดังกล่าวได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ซึ่งเสนอว่า การศึกษาเรียนรู้เป็นเรื่องทางวัฒนธรรม คือเป็นเรื่องของวิถีชีวิต มิใช่เป็นเพียงเรื่องเฉพาะกิจ เฉพาะกาล เฉพาะใคร (ตนเอง ตลาดงาน รัฐ ฯลฯ) การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะสร้างการเรียนรู้โดยมีเป้าหมายเพื่อบูรณาการมนุษย์เข้าถึงสภาวะธรรมหรือสภาพอันเป็นธรรมดาของโลก คือช่วยให้มนุษย์ตระหนักรู้ถึงความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในโลก เห็นถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงภายในระบบชีวิตตนเอง (กาย จิต ปัญญา) และความสัมพันธ์ของระบบชีวิตตนเองกับระบบภายนอก (สังคม นิเวศ/ธรรมชาติ) กระทั่งมองเห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน(องค์รวมหรือบูรณาการ) แล้วดำเนินชีวิตในด้านต่าง ๆ ไปอย่างสอดคล้องเหมาะสม เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น โลก ทั้งในเวลาปัจจุบันและอนาคต

โดยนัยนี้ การศึกษาเรียนรู้ในกระบวนทัศน์ใหม่ จึงเป็นเรื่องของกระบวนการที่ เกี่ยวข้องกับเหตุปัจจัยมากมายในวิถีชีวิตของบุคคล สังคม และระบบนิเวศ การปฏิรูปการศึกษาในกระบวนทัศน์แบบองค์รวมอย่างแท้จริง จะต้องมิใช่เรื่องของความเก่ง -ดี -มีสุข ที่จำกัดอยู่ที่ระดับของปัจเจกบุคคล แม้ว่าความเก่งดีมีสุขจะหมายถึงการพัฒนาบุคคลอย่างบริบูรณ์ทุกด้านเป็นองค์รวม มิได้ละเลยการพัฒนาส่วนใดส่วนหนึ่งของมนุษย์ไปดังเช่นที่ผ่านมา ( เก่ง ไม่ดี มีทุกข์) แต่องค์รวมในระบบชีวิตของปัจเจกบุคคล ก็เป็นเพียงระบบย่อยที่สัมพันธ์เชื่อมโยงอยู่กับระบบใหญ่อีกมากมายหลายระบบ (ครอบครัว ชุมชน สังคม ระบบการเมือง เศรษฐกิจ ระบบนิเวศฯลฯ) เป็นทั้งผู้สร้าง พัฒนา ระบบอื่นให้เปลี่ยนแปลง ในทางกลับกันก็ถูกระบบอื่นส่งผลกระทบให้เปลี่ยนแปลงต่อเนื่องกลับไปกลับมา

ความเก่ง -ดี -มีสุข ของบุคคลจึงมิได้เกิดจากเหตุปัจจัยเฉพาะบุคคลล้วน ๆ หากเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงของระบบที่ใหญ่กว่าด้วย ดังนั้น บริบททางสังคมและธรรมชาติจึงมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของบุคคลโดยตรง ความเก่ง-ดี-มีสุข จึงไม่อาจเกิดขึ้นโดดๆจากการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ (ที่แม้จะยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้พ่อแม่และชุมชนมีส่วนร่วม ฯลฯ) หรือบริหารการศึกษาแบบใหม่ (แบ่งส่วนงานใหม่ เขตการศึกษาใหม่ ตั้งกระทรวงใหม่ กระจายอำนาจ ฯลฯ) หากจะต้องเชื่อมโยงไปสู่บริบทหรือระบบของปัจจัยอื่นให้สอดคล้องกลมกลืน มีสมดุล ไปด้วยกันทุกระบบ ทุกระดับ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการเรียนรู้เพื่อให้มนุษย์เข้าถึงความสัมพันธ์ระหว่าง"โลกมนุษย์"และ"โลกธรรมชาติ"ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตน

กระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษาจึงเป็นการเปลี่ยนโลกทัศน์ วิธีคิด ในการมอง ชีวิต-สังคม(โลกมนุษย์) และโลกธรรมชาติ ( ธรรม ) ด้วยความสัมพันธ์ชุดใหม่ ที่นำไปสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต-วัฒนธรรม ที่แตกต่างไปจากวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่เป็นวิกฤตการณ์ในปัจจุบันด้วยเป็นสำคัญ ด้วยกรอบความคิดดังกล่าว ผู้เขียนจึงไม่แน่ใจเท่าใดนัก ว่าการปฏิรูปการศึกษาที่รัฐจัดการอยู่ในปัจจุบัน จะเป็นการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์จากแยกส่วนมาสู่องค์รวม ในความหมายขององค์รวมที่เชื่อมโยงองค์ประกอบทุกระบบ ทุกระดับเป็นหนึ่งเดียวกัน

๒.ปัจจัยที่มีผลต่อการเรียนรู้ในบริบทของสังคมไทยปัจจุบัน

การเรียนรู้เกิดขึ้นในวิถีชีวิตตลอดเวลา ตราบเท่าที่เรายังปฏิสัมพันธ์กับสิ่งอื่นรอบ ตัว ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมหรือบริบทในทางการเมืองการปกครอง การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมในด้านต่าง ๆ จึงมีผลกระทบต่อคุณภาพการเรียนรู้ของคนในสังคมด้วยโดยตรง (แต่มิได้เห็นผลกันแบบชัดเจน) การปฏิรูปการศึกษาในกระบวนทัศน์แบบองค์รวม จึงต้องให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยในระบบใหญ่เหล่านี้ด้วย

ตัวอย่างที่ชัดเจนและใกล้ตัวมากที่สุด คือ การพัฒนาประเทศด้วยกระบวนทัศน์แบบแยกส่วน ที่เกิดขึ้นใหม่ตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในรอบสี่ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งก่อผลกระทบต่อการเรียนรู้ของคนไทยอย่างสำคัญยิ่ง จากการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

๒.๑ การเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองการปกครอง
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ( แผนพัฒนา ฯ) ได้รวมศูนย์กำหนดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจากส่วนกลาง ทั้งด้านนโยบาย การวางแผน และการดำเนินงาน โดยกลไกดำเนินการที่สำคัญที่สุดคือ ระบบราชการ ดังนั้น บทบาทหน้าที่และจำนวนของข้าราชการจึงแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวางมากที่สุดในยุคนี้ ที่สำคัญยิ่งคือ บทบาทของข้าราชการมิได้จำกัดอยู่เพียงด้านการปกครองอีกต่อไป หากขยายไปสู่งานพัฒนาทุกด้าน ในทุกระดับท้องถิ่น ในฐานะกลไกขับเคลื่อนการพัฒนา เช่น เกษตร สาธารณสุข ศึกษาธิการ ทั้งระดับตำบล -อำเภอ-จังหวัด ฯลฯ โดยรับนโยบายและแผนปฏิบัติการจากส่วนกลาง คือ กระทรวง กรม กอง จังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ลงมาเป็นลำดับ

ก่อนเกิดแผนพัฒนาฯนั้น ระบบราชการในระดับท้องถิ่น จะมีบทบาทแบบหลวม ๆ และมุ่งที่การปกครอง เนื่องจากยังไม่มีการรวมศูนย์นโยบายการจัดการด้านอื่นอย่างชัดเจน ดังนั้น สาธารณกิจในระดับชุมชนยังดำเนินการโดยความร่วมมือของชุมชนเอง ในลักษณะพึ่งตนเองในระดับหนึ่ง มากน้อยขึ้นกับพื้นที่ใกล้หรือไกลศูนย์กลางการปกครอง อายุของชุมชนฯลฯ การพึ่งกันเองในสาธารณกิจดังกล่าว เป็นโอกาสอันสำคัญซึ่งทำให้บุคคลและสังคมระดับชุมชนได้ร่วมกันเรียนรู้ถึงความสำคัญของความเชื่อมโยงระดับบุคคลและชุมชน ไม่เกิดสภาวะ"ธุระไม่ใช่" หรือต่างคนต่างอยู่ บทบาทหน้าที่ของข้าราชการที่ขยายขอบเขตไปอย่างกว้างขวางและลงลึก ในฐานะของผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาแบบใหม่ตามแผนพัฒนา ฯ และเข้าไปบริหารสาธารณกิจทั้งหลายเกือบทุกด้าน ตั้งแต่การปกครอง การศึกษา สุขภาพอนามัย ศาสนา สาธารณูปโภค ฯลฯ ได้ทำให้ประชาชนในสังคมอยู่ในฐานะของ"ผู้รับ" หรืออยู่นอกโครงสร้างการจัดการ ระบบดังกล่าว มีผลให้ประชาชนถูกตัดขาดหรือถูกกันออกจากการเรียนรู้ในการจัดการชุมชนหรือสาธารณกิจด้วยตนเอง ไม่เห็นความสำคัญของการรวมกลุ่มอย่างมีเป้าหมายเพื่อส่วนรวม

การพัฒนาที่เกิดขึ้นมิได้เชื่อมต่อการเรียนรู้ของบุคคลต่อชุมชนไปสู่สังคมในระดับที่กว้างขึ้น(ประเทศ) มิหนำซ้ำยังทำลายการเรียนรู้ของบุคคลและสังคมระดับชุมชนด้วย ดังที่ปรากฏอยู่เสมอว่า เมื่อการพัฒนาของรัฐเข้าไปถึงชุมชน ความร่วมมือกันในสาธารณกิจ อันเป็นกิจกรรมสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ของบุคคลในเรื่องสังคมได้ถูกทำลายไป เนื่องจากรัฐมิให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน และไม่เข้าใจประเด็นการเรียนรู้ที่จะเกิดขึ้นในบริบทนี้ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ได้ก่อตัวกลายเป็นอุปสรรคสำคัญของการปฏิรูปการปกครอง การเมือง การศึกษา ที่มุ่งการมีส่วนร่วมของประชาชนและการกระจายอำนาจ แม้จะมีการปรับแผนในเวลาต่อมา ให้มุ่งพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมมากขึ้น แต่โครงสร้างอำนาจ วิธีคิดของระบบราชการและข้าราชการยังไม่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในระดับเกิดการเรียนรู้ เพราะขาดลักษณะหลากหลาย ไม่เชื่อมโยง และไม่มีพลวัต

ผลกระทบอีกด้านหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ โครงสร้างการบริหาร บทบาทและอำนาจที่เพิ่มมากขึ้นของระบบราชการ ทำให้หน่วยงานราชการและบุคลากรไม่เกิดการเรียนรู้แบบบูรณาการ ระบบราชการจึงเป็นองค์การที่ไม่เรียนรู้ (Non - Learning Organization) เนื่องจากระบบการบริหารมีลักษณะขึ้นต่อเบื้องบนหรือส่วนกลางมากกว่าประชาชน แรงจูงใจที่จะเรียนรู้ ปรับปรุงการทำงาน ให้มีความสอดคล้องกับพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลาย จึงไม่เกิดขึ้น ระบบ"พิมพ์เขียว"ของการพัฒนา ที่กำหนดจากส่วนกลาง มีผลให้ภารกิจมีลักษณะไม่หลากหลายไม่เชื่อมโยง ต่างคนต่างทำ (หน่วยงานใคร หน่วยงานมัน) กิจกรรมเปลี่ยนแปลงตามคำสั่ง มิใช่เปลี่ยนแปลงปรับปรุงตามการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น โครงสร้างการเมืองการปกครองดังกล่าว จึงทำลายการเรียนรู้ทางสังคมทั้งของประชาชน และของฝ่ายผู้ปฏิบัติงานคือข้าราชการเองด้วย โดยเฉพาะในยุคที่ปราศจากการตรวจสอบจากประชาชน คือในยุคเผด็จการ ดังนั้น หากการปฏิรูประบบราชการไม่เปลี่ยนแปลงวิธีคิดของบุคลากรในระบบแล้ว การเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ของข้าราชการจากผู้ปฏิบัติการมาเป็นผู้ประสานงานการพัฒนา ก็ไม่แน่ว่า ระบบราชการจะเอื้อไปสู่การเรียนรู้อย่างมีบูรณาการของผู้เกี่ยวข้องได้

๒.๒ การเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ
การพัฒนาแบบใหม่ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ จากระบบเศรษฐกิจชุมชนแบบพึ่งตนเองในระดับต่าง ๆ ในด้านการผลิต การบริโภค ที่ใช้ทรัพยากรท้องถิ่นและความสัมพันธ์ของชุมชนในการผลิต มาเป็นการผลิตสินค้าเฉพาะอย่าง เพื่อขาย แล้วนำรายได้ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากระบบธุรกิจ และซื้อบริการจากรัฐ เช่น การแพทย์ การศึกษา ความปลอดภัย (ตำรวจ) ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ได้ทำลายการเรียนรู้แบบบูรณาการของระบบชุมชนไปเกือบหมดสิ้น เพราะแต่เดิมนั้น ระบบเศรษฐกิจของชุมชนทั้งภาคการผลิต การบริโภค และการจัดการส่วนเกิน(surplus) ของการผลิต คือกิจกรรมสำคัญที่สร้างการเรียนรู้แบบมีบูรณาการแก่บุคคลในสังคมไทย เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับบุคคล และกิจกรรมอื่น ๆ ในครอบครัวและชุมชน ฐานการเรียนรู้และเนื้อหาการเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจมีความหลากหลาย มิใช่เพียงการผลิต-การขายเท่านั้น หากแต่บุคคลได้เรียนรู้เทคนิควิธีการผลิตและต้องปรับปรุงเทคนิคการผลิตด้วยตนเองจากการสังเกต สะสม แลกเปลี่ยนความรู้ เช่น ปรับปรุงคัดเลือกพันธุ์ การสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีพื้นบ้าน เช่น หุ่นไล่กา กังหันลม การปราบศัตรูพืชแบบธรรมชาติ ฯลฯ ต้องเรียนรู้การร่วมมือ การแบ่งปัน รวมทั้งเรียนรู้จากการสังเกตและทำงานโดยอาศัยธรรมชาติ บุคคลจึงได้เรียนรู้อิทธิพลของธรรมชาติที่มีเหนือมนุษย์ การเรียนรู้ดังกล่าวพัฒนาขึ้นเป็นภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่นที่มีความหลากหลายอันเป็นผลมาจากการเรียนรู้อย่างบูรณาการในระดับชุมชน

ในขณะที่การพัฒนาเศรษฐกิจแบบใหม่ที่มุ่งการผลิตเพื่อขาย มิได้พัฒนาขึ้นจากฐานการเรียนรู้เดิม มิหนำซ้ำยังทำลายการเรียนรู้แบบบูรณาการด้วย เนื่องจากระบบการผลิตอาศัยเทคโนโลยีจากภายนอก ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง เครื่องจักร เป็นการแก้ไขปัญหาแบบสำเร็จรูป บุคคลไม่ต้องเรียนรู้ สังเกต ฝึกฝน หรือคิดค้นอะไร นอกจากการใช้ตามคำแนะนำของผู้ผลิตหรือเกษตรอำเภอ การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ และลักษณะของเทคโนโลยีที่เลือกใช้ เช่น รถแทรกเตอร์ มอเตอร์สูบน้ำ เครื่องตัดหญ้า ฯลฯ มีผลให้การร่วมแรงหรือการพึ่งพากันลดน้อยลง เกิดระบบการผลิตที่ต่างคนต่างทำ ต่างรับผลซึ่งอยู่ในรูปของเงินเพียงอย่างเดียว ลดการแลกเปลี่ยนผลผลิต ซึ่งเคยเป็นกลไกเชื่อมโยงความสัมพันธ์และการเรียนรู้ ดังนั้น รูปแบบการผลิตแบบปัจเจกนี้ มีผลให้บุคคลไม่สัมพันธ์กับคนอื่น และมีเวลาให้แก่ส่วนรวมน้อยลง เพราะต่างก็ต้องปากกัดตีนถีบ การเรียนรู้ปัญหา ภารกิจของส่วนรวมจึงลดน้อยลงไปด้วย เกิดปัญหาภายในชุมชนเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ การผลิตที่เข้าไปจัดการกับธรรมชาติ โดยใช้เทคโนโลยีการเกษตรแบบต่าง ๆ ทำให้บุคคลไม่เรียนรู้ระบบนิเวศตามธรรมชาติ ไม่เข้าใจความเชื่อมโยงของอิทธิพลธรรมชาติที่มีต่อการทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน มีผลให้การเกษตรแผนใหม่ขูดรีดธรรมชาติ ทำลายคุณภาพดิน แหล่งน้ำ พันธุ์พืชพื้นเมือง ฯลฯ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ผลิต เกษตรกรรมในรอบ ๔ ทศวรรษที่ผ่านมาจึงทำลายความอุดมสมบูรณ์และสมดุลของธรรมชาติ อันมีผลต่อความยั่งยืนของระบบนิเวศทั้งหมด ในขณะที่แต่เดิมนั้น เกษตรกรรมคือแหล่งเรียนรู้ระบบธรรมชาติที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ ช่วยให้มนุษย์รู้ว่าจะต้องกินอยู่อย่างไรจึงไม่ทำลายธรรมชาติ

การพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนพัฒนา ฯ จึงมิได้ก่อผลทางเศรษฐกิจ แต่กลับนำไปสู่ความยากจน ล้มละลายจากหนี้สินดังที่ปรากฏอยู่ ไม่เพียงเท่านั้น มันยังได้ไปทำลายการเรียนรู้แบบบูรณาการที่เชื่อมโยงบุคคลไปสู่สังคม ธรรมชาติ กลายเป็นผู้บริโภคตามที่ธุรกิจผลิต กินอยู่ตามแรงกระตุ้นของการโฆษณา โดยขาดการเรียนรู้เพื่อพัฒนา กลไกการตลาดทำให้ระบบธุรกิจเติบโตและมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนไทยเกือบทุกด้าน และมีอำนาจเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วควบคู่มากับระบบราชการ ในลักษณะเอื้อผลประโยชน์กันและกัน กลายเป็นภาคี"ธุรกิจการเมือง" ในปัจจุบัน

๒.๓ การเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษา
เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบ"ทันสมัย" รวมทั้งการผลิตกำลังคนเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจตามแนวทางดังกล่าว จึงต้องมีการรวมศูนย์จัดการศึกษาให้ตอบสนองต่อแผนพัฒนาฯที่รัฐกำหนดขึ้น การขยายการศึกษาภาคบังคับ การจัดตั้งโรงเรียนประชาบาล โรงเรียนเทคนิค(เพื่ออุตสาหกรรม) มหาวิทยาลัยภูมิภาค จึงขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงแผนพัฒนา ฯ การที่นิยามของ"ความรู้"ถูกกำหนดขึ้นใหม่โดยรัฐ ตามเกณฑ์กำหนดของแนวคิดตะวันตก หลักสูตรการศึกษาที่จัดขึ้นตามคำนิยามนั้น จึงมีความคับแคบ ไม่เชื่อมโยง เพราะ"ความรู้"ถูกระบุให้มีอยู่เฉพาะในโรงเรียน สถานศึกษา และผู้เป็นครูอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ ทำให้แหล่งความรู้และเนื้อหาความรู้อื่น ๆ ที่มีอยู่เดิม มิใช่ความรู้อีกต่อไป การศึกษาที่รัฐจัดขึ้น จึงทำลายความหลากหลายของเนื้อหา ทำลายความเชื่อมโยงทุกระดับ แยกชีวิตออกมาสู่มิติเดียว คือการศึกษาให้มีความรู้ประกอบอาชีพ มิหนำซ้ำยังมุ่งที่อาชีพในตลาดงานจ้าง ( วิชาชีพ งานเทคนิค ฯลฯ) มิใช่งานเกษตรกรรม หัตถกรรมในฐานเก่าของสังคมไทย

ระบบการศึกษาในรอบ ๔ ทศวรรษ จึงไม่เกี่ยวข้องกับสังคม ไม่สนใจธรรมชาติ การศึกษาในระบบโรงเรียนที่บังคับเรียนของรัฐ จึงเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีบูรณาการ ไม่ปรับเข้ากับกระบวนเรียนรู้แบบบูรณาการที่มีอยู่เดิมในชุมชน ซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในวิถีชีวิตของผู้เรียน ผ่านกิจกรรมในชีวิตประจำวันอันหลากหลายมากมาย ผ่านหน้าที่ของการเป็นสมาชิกครอบครัว ชุมชน ศาสนิกชน ฯลฯ โดยมีแหล่งหรือฐานการเรียนรู้หลากหลาย เช่นเดียวกับเนื้อหา และมีพลวัตเปลี่ยนแปลงเป็นกระบวนการอยู่ตลอดเวลา เป็นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริง สังคมจริง มิได้จำกัดจุดมุ่งหมายการเรียนรู้เพื่อการอาชีพหรือเพื่อเรียนต่อยอดสูงขึ้นไปเพียงอย่างเดียว

การศึกษาในกระบวนทัศน์แบบแยกส่วน จึงไม่สามารถพัฒนาชีวิต สังคม ธรรมชาติ ได้ดังที่ถูกคาดหวัง ในทางตรงข้าม การศึกษาดังกล่าวได้สร้างการเรียนรู้แบบไม่บูรณาการ ซึ่งทำให้คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น( ยิ่งเรียนยิ่งเห็นแก่ตัว ) มีความเครียด ขาดความคิดสร้างสรรค์ แก้ไขปัญหาไม่เป็น ไม่สนใจการเมืองการปกครอง ขาดจิตสำนึกสาธารณะ ไม่อนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะการเรียนรู้ถูกแยกส่วน ไม่เห็นความเชื่อมโยงของชีวิต สังคม และธรรมชาติ

๒.๔ การเปลี่ยนแปลงค่านิยม
การพัฒนาความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามแผนพัฒนา ฯ จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นจะต้องมีการส่งเสริมค่านิยมแบบใหม่และล้มล้างค่านิยมเดิมที่เป็นอุปสรรค แผนพัฒนา ฯ มุ่งขยายอัตราการเจริญเติบโตของรายได้ประชาชาติและผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ คำขวัญสำคัญของยุคพัฒนาฯ คือ "งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข" โยงความสุขเข้ากับเงิน โดยแยกส่วนมุ่งที่ความสุขทางร่างกาย คือการบริโภควัตถุเพิ่มขึ้น หารายได้มากขึ้น เพื่อใช้จ่ายได้มากขึ้น

แต่เดิมนั้น แหล่งเรียนรู้ด้านค่านิยมของบุคคลมาจากฐานทางพระพุทธศาสนา โดยพระสงฆ์มีบทบาทสูงในการอบรมสั่งสอน ร่วมกับวิถีชีวิตที่พึ่งพาอาศัยกันในชุมชน เอื้อให้บุคคลได้เรียนรู้ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความสุขทางจิตใจจากการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สังคมให้คุณค่ากับความดีและคนดี พิจารณาได้จากผู้นำตามธรรมชาติในระบบชุมชน คือผู้มีความรู้และมีจริยธรรม ผู้นำตามธรรมชาติเหล่านี้ลดบทบาทไปจากการแต่งตั้งผู้นำทางการ (ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน) และการเติบโตของการเมืองท้องถิ่น และสภาพเศรษฐกิจที่ทำลายการรวมกลุ่มและความร่วมมือในสาธารณกิจของชุมชน

ค่านิยมใหม่ที่ถูกสร้างขึ้น ผ่านสื่อมวลชน ระบบการศึกษา การพัฒนาเศรษฐกิจ คือ ค่านิยมของวัฒนธรรมบริโภคนิยม ปัจเจกนิยม ที่มีค่านิยม-ความเชื่อในความสุขจากการบริโภควัตถุ โดยละเลยการพัฒนาจิตใจ บุคคลจึงแข่งขันกันสะสมและบริโภควัตถุ ความสำเร็จ อำนาจ บารมี ฯลฯ วัดด้วยวัตถุ วิถีชีวิตในค่านิยมแบบนี้ ทำให้บุคคลมุ่งการแข่งขันมากกว่าความร่วมมือ เห็นความสุขของตนเองมาก่อนคนอื่นและสังคม ไม่ได้เรียนรู้ความสุขทางด้านจิตใจจากการสัมพันธ์ร่วมมือและเกื้อกูลผู้อื่น

นอกจากนี้ ธรรมชาติยังถูกทำลายเพื่อนำมาตอบสนองการบริโภคทางวัตถุของมนุษย์อีกด้วย ระบบค่านิยมนี้ แยกบุคคลออกจากกัน เอาความสุขความพอใจของตนเองเป็นศูนย์กลาง ลักษณะดังกล่าวปิดกั้นการเรียนรู้ของบุคคลในทุกระดับ เนื่องจากการปฏิสัมพันธ์(Interactive) เป็นเงื่อนไขสำคัญของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบุคคล การเรียนรู้ที่ขาดบูรณาการธรรมชาติกับบุคคล ทำให้เกิดการบริโภคอย่างไม่เข้าใจขีดจำกัดของธรรมชาติ ไม่เข้าใจว่าพฤติกรรมในวิถีชีวิตของตนเอง คือรากเหง้าสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม และความไม่ยุติธรรมทางสังคม

๒.๕ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี
สัญลักษณ์สำคัญของความ"ทันสมัย"หรือ"ความก้าวหน้า" คือเทคโนโลยี และฐานสำคัญของการเพิ่มผลผลิตและอัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวม โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมใหม่คือเทคโนโลยี ดังนั้น การพัฒนาแบบใหม่จึงก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีทุกด้านของประเทศไทย ทั้งด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม บริการ และวิถีชีวิตแบบเมืองที่ขยายตัวไปทั่วประเทศ ก่อให้เกิดการใช้เทคโนโลยีเพื่อความสะดวก สบาย รวดเร็ว มากขึ้นทั้งในแนวกว้าง และในแนวลึก หมายถึงปริมาณการใช้ขยายตัวมากขึ้น และก้าวหน้าอย่างเท่าเทียมกับต่างประเทศ เช่น เทคโนโลยีทางการแพทย์ เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมหนัก เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ความบันเทิง ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีดังกล่าว นำเข้าจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่

การเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยีในการผลิตและการบริโภคนี้ มีผลกระทบต่อการเรียนรู้อย่างสำคัญของคนไทย และบ่มเพาะลักษณะนิสัยที่เป็นโทษต่อการพัฒนาชีวิตและสังคมไทยหลายประการ เนื่องจากการนำเข้าเทคโนโลยี เพื่อนำมาใช้มาเสพ จะไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งตรงข้ามกับผู้สร้างเทคโนโลยี ที่จะต้องอาศัยฐานความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อมาประยุกต์เป็นเทคโนโลยี (Know - How) และอาศัยความคิดสร้างสรรค์ในการประดิษฐ์คิดค้น พัฒนา ดังนั้นผู้สร้างเทคโนโลยีจึงได้พัฒนาการเรียนรู้ทั้งวิทยาศาสตร์ จินตนาการ การจัดการ ฯลฯ ในขณะที่ผู้เสพเทคโนโลยีอย่างเดียวจะไม่ได้เรียนรู้และพัฒนาในเรื่องดังกล่าว มิหนำซ้ำ วิถีชีวิตของการเสพเทคโนโลยี ยังทำลายการเรียนรู้ของบุคคล ก่อให้เกิดความมักง่าย ติดความสะดวก สบาย ไม่เป็นผู้สร้าง ไม่คิดค้นใฝ่รู้-แสวงหาเหตุผล นิยมของสำเร็จรูป ฯลฯ ลักษณะนิสัยดังกล่าวของบุคคลจากการเสพเทคโนโลยี คืออุปสรรคสำคัญอย่างยิ่งของการพัฒนาการเรียนรู้ของบุคคล ( สนใจอ่านรายละเอียดได้ใน พระธรรมปิฏก : คนไทยสู่ยุคไอที )

นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีอย่างฟุ่มเฟือยของสังคมไทยจากการพัฒนาแบบใหม่ ได้แยกมนุษย์ออกจากธรรมชาติ เกิดความเข้าใจผิดว่า มนุษย์สามารถจัดการและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้อย่างไร้ขีดจำกัด โดยอาศัยเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ รวมทั้งสามารถจะแก้ไขผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ภัยธรรมชาติ และปัญหาการดำรงชีวิตของมนุษย์ได้ด้วยมาตรการทางเทคโนโลยี เช่น การสร้างเขื่อนเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนพลังงาน การใช้เทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมเพื่อแก้ปัญหาศัตรูพืช ฯลฯ โดยไม่เข้าใจว่า ไม่มีเทคโนโลยีใดที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน หากยังแก้ปัญหาไม่ตรงสาเหตุ มิหนำซ้ำการใช้เทคโนโลยีบางประเภทเอง ยังเป็นตัวก่อวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมและสังคมได้ด้วย เช่น ปัญหาการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ปัญหาการขับไล่ชุมชนเพื่อผลิตไฟฟ้าจากเขื่อน ฯลฯ

ดังนั้น วิถีชีวิตที่มนุษย์แยกตนเองขาดออกจากธรรมชาติ(เมือง มหานคร อภิมหานคร) มีผลให้บุคคลขาดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติได้ง่าย เข้าใจผิดว่าธรรมชาติเป็นปัจจัยการบริโภคอย่างหนึ่งของมนุษย์ (ใช้เงินซื้อได้) นำไปสู่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร้ขีดจำกัด จนกระทั่งทำลายระบบนิเวศอย่างรุนแรง และอย่างมองไม่เห็นความเดือดร้อนทุกข์ยากของสรรพชีวิตอื่น

จากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่กล่าวมาเป็นลำดับ จะเห็นได้ว่า ปัจจัยด้านการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา ค่านิยม และเทคโนโลยี มีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของบุคคลเป็นอย่างยิ่ง ทั้งในทางที่จะเอื้อต่อการเรียนรู้อย่างมีบูรณาการ และที่เป็นอุปสรรค คือเป็นปัจจัยก่อให้เกิดการเรียนรู้แบบไม่มีบูรณาการได้ ทั้งนี้ขึ้นกับว่า ปัจจัยดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางของกระบวนทัศน์การพัฒนาแบบใด แบบบูรณาการหรือแบบแยกส่วน หากเป็นแบบบูรณาการย่อมเอื้อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีบูรณาการ ดังเช่นระบบการพัฒนาภายในชุมชนตามตัวอย่างที่กล่าวมา

ในทางตรงข้าม หากการพัฒนา มีลักษณะแยกส่วน มุ่งไปที่เรื่องใดเรื่องเดียว โดยละเลยความจริงว่า ปัจจัยทั้งหลายเชื่อมโยงเป็นองค์รวมเดียวกัน แล้วมุ่งการพัฒนาไปที่ส่วนใดส่วนเดียว เป้าหมายเดียว ดังเช่นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงแผนพัฒนา ฯ ที่มุ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การเพิ่มขึ้นของรายได้ประชาชาติ ความก้าวหน้าทางวัตถุ การบริโภค ฯลฯ ได้ทำลายการเรียนรู้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์คัดสรรของใหม่เพื่อเชื่อมโยงกับของเดิม เพราะการเรียนรู้ในแบบชุมชนเดิม มิได้หมายความว่า เป็นการเรียนรู้ที่สมบูรณ์เบ็ดเสร็จ ไม่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไป ตรงกันข้าม จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง (พลวัต) ตามสภาพความจริงของสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หมายความว่าการเรียนรู้แบบมีบูรณาการ ต้องปฏิสัมพันธ์กับกระแสการพัฒนาไปสู่ความทันสมัย กระแสโลกาภิวัตน์ หรือกระแสอื่น ๆ ได้ โดยเป็นฝ่ายกระทำในการปรับเปลี่ยน คือเลือกและเชื่อมโยงสิ่งที่เลือกเข้ากับวิถีชีวิตอย่างกลมกลืน มีสมดุล

อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของการพัฒนาในช่วงที่ผ่านมาแล้ว จะพบว่า การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางการเมืองของกลุ่มทหาร ทุนไทย ทุนข้ามชาติและการเมืองระหว่างประเทศในยุคสงครามเย็น เกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอมมิวนิสต์ การเปลี่ยนแปลงในแต่ละปัจจัยที่กล่าว จึงมีเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างกันไป และเกี่ยวข้องกับเรื่องของอำนาจ ผลประโยชน์ด้วย ทิศทางของการพัฒนาการเรียนรู้จึงสัมพันธ์กับเรื่องของอำนาจ-ผลประโยชน์

แต่กระนั้นก็ตาม อำนาจก็มิใช่ปัจจัยกำหนดการเรียนรู้ของบุคคลในสังคมแต่เพียงฝ่ายเดียว การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในสังคมที่เกิดขึ้นทั้งในระบบและนอกระบบรัฐ ก็เป็นปัจจัยก่อให้เกิดการเรียนรู้อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอำนาจของรัฐด้วย (จากเผด็จการเป็นประชาธิปไตย ฯลฯ ) ในกรณีของประเทศไทย การศึกษาที่ไม่มีบูรณาการจากการพัฒนาสมัยใหม่ ได้ก่อให้เกิดความพยายามของบุคคลบางส่วน ทั้งปัจเจกและกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์การศึกษาแบบแยกส่วนของรัฐ และพยายามนำเสนอกระบวนทัศน์ใหม่ที่แตกต่างจากกระแสหลัก กระแสรอบนอกเหล่านี้ ได้กลายเป็นกระแสซึ่งเป็นที่ยอมรับมากขึ้น เมื่อการพัฒนาของรัฐ ได้นำบุคคล สังคม และธรรมชาติ มาสู่วิกฤตการณ์อันร้ายแรงในที่สุด

๓.ข้อสังเกตกระบวนทัศน์การศึกษาแบบพุทธ

ปัญหาความเสื่อมถอยทางศีลธรรม ความรุนแรงและผิดปกติในพฤติกรรมของมนุษย์ ได้ทำให้คนจำนวนมากเห็นว่า จำเป็นจะต้องจัดการศึกษาด้วยฐานคิดหรือกระบวนทัศน์ทางศาสนา เพื่อฟื้นฟูจริยธรรม และช่วยมนุษย์ให้พัฒนาตนเอง เราจึงได้ยิน ได้อ่าน ถึงการนำหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนามาจัดการศึกษาอยู่อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่ายังมีหลักการและข้อปฏิบัติหลายประการที่ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะในระดับฐานคิดหรือกระบวนทัศน์ จึงขอตั้งไว้เป็นข้อคิดเห็นและข้อสังเกตบางประการเพื่อการพิจารณาและศึกษาต่อไป ดังนี้

๑. หลักธรรมคำสอนของพุทธศาสนา ตั้งอยู่บนฐานของความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งหรือ"รู้แจ้ง"ในความเป็นไปของกฎธรรมชาติ แล้วจึงกำหนดระเบียบชีวิต(ศีล วินัย) ให้สอดคล้องกับกฎธรรมชาตินั้น เพื่อมิให้ชีวิต-สังคมถูกบีบคั้น (ทุกข์) จากการฝืนกฎธรรมชาติ ศีลธรรมหรือข้อประพฤติปฏิบัติทั้งหลายในพุทธศาสนาจึงมีรากฐานอยู่บนปรมัตถ์สัจจะ(ความจริงสูงสุดของธรรมชาติ) และมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้มนุษย์เข้าถึงสัจธรรมดังกล่าวด้วย มิใช่เป็นเพียงข้อปฏิบัติเพื่อความดีแต่ประการเดียว หากมุ่งหมายทั้งความดี ความงาม(สุนทรียภาพ) และความจริง(สัจจธรรม) อย่างครบถ้วนบริบูรณ์ เชื่อมโยงเป็นเนื้อเดียวกัน โดยนัยนี้ ความดีจึงเกิดขึ้นได้หลายช่องทาง ผ่านการเรียนรู้เกี่ยวกับสุนทรียภาพอันทำให้จิตประณีต เกิดโพธิ ฉันทะในความดี หรือผ่านความตระหนักรู้ในความจริงก็ได้ การสอน"ความดี"ในพุทธศาสนา จึงต้องเชื่อมโยงไปถึงการสอนความเข้าใจในสัจธรรม เพื่อให้เป็นรากยึดทางศีลธรรม การศึกษาเพื่อพัฒนา"ความดี"ของผู้เรียน (เก่ง ดี มีสุข) จึงมิใช่การสอนศีลธรรมแบบคุณค่าลอย ๆ (ดี-ชั่ว) แล้วเสร็จ หากจะต้องสอนให้เห็นความเชื่อมโยงของความดีกับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย วิธีคิดแบบบูรณาการจึงจะเกิดขึ้นได้

๒. การพัฒนามนุษย์เป็น"กระบวนการ"ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเชื่อมโยงกับทุกองค์ประกอบตลอดเวลาในวิถีชีวิตประจำวัน กระบวนการจึงมีลักษณะองค์รวมในตัวเองด้วย มิได้เกิดขึ้นแบบกระบวนการเส้นตรง (Linear) ที่ส่งต่อเป็นทอด ๆ อย่างสายพาน การศึกษาเรียนรู้ของพุทธศาสนา จึงมิได้อยู่ในลักษณะฝึกศีลแล้วมาฝึกสมาธิต่อ เสร็จแล้วไปฝึกปัญญาในท้ายที่สุด หากแต่ศีล สมาธิ ปัญญา (สะอาด สว่าง สงบ) เป็นองค์รวมเดียวกัน ไม่ว่าจะเริ่มที่ส่วนใดก็จะเชื่อมโยงไปสู่ส่วนอื่นด้วยโดยตลอด เช่น การฝึกศีล(ควบคุมกาย วาจา) ให้สะอาดไม่เบียดเบียนผู้อื่น ช่วยเอื้อต่อการฝึกฝนสมาธิ-ปัญญา ( ความสะอาด เอื้อต่อการเกิดความสว่าง และสงบ) และมีผลในทางกลับกันโดยตลอดทุกปัจจัย โดยนัยนี้ การศึกษาเพื่อ "เก่ง ดี มีสุข"จะต้องเป็นกระบวนการแบบองค์รวม มิใช่ตามเรียงลำดับเช่นกัน

๓. การเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์ จะต้องเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ทั้งด้านทฤษฎี/แนวคิด การปฏิบัติ และการได้รับหรือเห็นผลจากการปฏิบัตินั้นปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ)อย่างครบถ้วนด้วย จนเกิด"ความประจักษ์แจ้ง"(ปัญญา) ในเหตุปัจจัย เกิดพลังที่จะนำไปสู่การพัฒนาเพื่อเปลี่ยนแปลงทางคุณภาพของความคิดและพฤติกรรม การศึกษาเรียนรู้จึงมิได้สิ้นสุดตรงที่การได้ทดลอง ได้เห็นของจริง ได้ปฏิบัติ หากจะต้องได้เรียนรู้ทั้งการคิด ลงมือทำ และได้รับได้เห็นประโยชน์ (ทั้งรูปธรรม นามธรรม : ความสุข ความซาบซึ้ง ความตระหนักรู้ ฯลฯ) ที่เกิดขึ้นด้วย การเรียนรู้จึงจะครบสมบูรณ์ สามารถจะพัฒนาต่อไปได้อีกอย่างต่อเนื่องเป็นวัฏ

๔. วิถีชีวิตของบุคคล กิจกรรม ปัญหา และปรากฎการณ์ของสังคมมนุษย์เกี่ยว ข้องอยู่กับเหตุปัจจัยอันซับซ้อนเป็นอันมาก ดังนั้นการศึกษาเรียนรู้ของมนุษย์จึงต้องช่วยให้บุคคลเข้าใจและมองเห็นถึงความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของเหตุปัจจัยต่าง ๆ ให้มากที่สุด มนุษย์จึงจะสามารถพัฒนาและแก้ไขปัญหาของตนเองอย่างได้ผลยั่งยืน คือเกิดสัมมาทิฎฐิมองเห็นความเป็นองค์รวมหรือบูรณาการของสรรพสิ่ง และบริหารจัดการกับสรรพสิ่งได้อย่างเป็นบูรณาการ ไม่ลดทอนหรือแยกส่วนของปัญหา-ปรากฏการณ์ออกมาจัดการอย่างไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของสรรพสิ่ง

ดังนั้น ความรู้หรือศาสตร์ของมนุษย์ แม้ในเรื่องที่อาจเห็นว่าเป็นเรื่องทางเทคนิค (know how) เช่น การบริหารองค์การ เทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ ก็เกี่ยวข้องกับกระบวนทัศน์หรือโลกทัศน์ในการมองโลกของมนุษย์ด้วย

๕. มนุษย์มีศักยภาพในการเรียนรู้ มีจินตนาการ อุดมคติ และสามารถเรียนรู้ได้เอง แต่คนส่วนใหญ่จะเรียนรู้ในช่วงเริ่มต้นโดยอาศัยกัลยาณมิตรหรือเรียนรู้จากภายนอก(ปรโตโฆษะ)ก่อน การเรียนรู้แบบมีปฏิสัมพันธ์ทั้งระหว่างบุคคล-บุคคล และระหว่างบุคคลกับสรรพสิ่งต่าง ๆ รอบตัว(ชุมชน - ธรรมชาติ) จะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาไปสู่การเรียนรู้ได้เอง มีศักยภาพและความสามารถที่จะคิดได้เองในที่สุด การทำในใจอย่างแยบคาย (โยนิโสมนสิการ/ปัญญา) คือ หยั่งรู้เหตุปัจจัยและความเชื่อมโยงของเหตุปัจจัย คือเป้าหมายของการพัฒนาการเรียนรู้ของมนุษย์

๖. การพัฒนาจริยธรรม จิตวิญญาณ เกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้แบบปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับสรรพชีวิต/สรรพสิ่งต่าง ๆ รอบตัว(วิถีชีวิต) จนกระทั่งตระหนักรู้ในใจว่า ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ธรรมชาติ ซึ่งมีระบบความสัมพันธ์เชื่อมโยงเกาะเกี่ยวอย่างพึ่งพาอาศัยกันและกัน การกระทำใด ๆ ของตนเองจึงมีผลกระทบต่อส่วนอื่น ๆ ด้วยเสมอ ความหยั่งรู้ดังกล่าว จะไปช่วยกำกับการกระทำและความรู้สึกนึกคิดของบุคคล ให้เกิดขึ้นด้วยความสุข ความพอใจ มีอิสระจากภายใน มิใช่ด้วยการถูกบังคับหรือบีบคั้นจากภายนอกให้จำยอมต้องกระทำหรือคิดตาม เพราะไม่มีทางเลือกหรือทางเลี่ยง การพัฒนาจริยธรรมจึงมิได้เกิดขึ้นจากการสอน แต่เกิดจากการดำเนินชีวิตอย่างเรียนรู้ความสัมพันธ์กับสรรพชีวิตอื่นเป็นสำคัญ

๗.มนุษย์มีความแตกต่างและความหลากหลายตามธรรมชาติทั้งทางร่างกาย วัฒนธรรม ประสบการณ์ สิ่งแวดล้อม ฯลฯ อันกำหนดให้ความสามารถ ความถนัดในการเรียนรู้แตกต่างกัน ดังนั้นวิธีการ ช่องทาง ช่วงเวลาของการเรียนรู้จึงไม่เหมือนกัน ไม่เท่ากัน กระบวนการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพ ความสามารถของมนุษย์จึงไม่อาจจัดในรูปแบบเดียว หรืออย่างตายตัว หากจะต้องมีความหลากหลาย ยืดหยุ่น เปิดโอกาสให้บุคคลได้แสดงศักยภาพอันหลากหลายของตนเองออกมา และความสามารถ(ความเก่ง)ของมนุษย์จะต้องไม่ถูกกำหนด แบ่งแยก จำกัด ด้วยค่านิยมทางสังคม ( เช่น "คนเก่ง" คือ ผู้มีความสามารถทางคณิตศาสตร์ แพทย์ ดร. ฯลฯ ) เนื่องจากค่านิยมดังกล่าวจะไปจำกัดการเรียนรู้ของบุคคลให้มีขอบเขตคับแคบ เลือกเรียนรู้เฉพาะบางสิ่งตามค่านิยม โดยไม่สนใจคุณค่า ความสามารถในด้านอื่น ๆ ซึ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนามนุษย์ในวิถีชีวิตจริง (ศิลปะ อุดมคติ ฯลฯ) และไม่ส่งเสริมให้มนุษย์เกิดความชื่นชมในศักยภาพของกันและกัน กระทบต่อการเรียนรู้แบบปฏิสัมพันธ์ เพราะมีผู้รู้และผู้ไม่รู้ เกิดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการเรียนรู้ขึ้น

๘.ตามกรอบความคิดที่กล่าวมา การจัดการศึกษาจะมีลักษณะสำคัญ คือ

(๑) ฐานการเรียนรู้หรือแหล่งการเรียนรู้ มีความหลากหลาย ไม่จำกัดเฉพาะเจาะจงเพียงแหล่งใดแหล่งเดียว เช่น ผู้เชี่ยวชาญ(Expert) โรงเรียน มหาวิทยาลัย ฯลฯ หากฐานการเรียนรู้มีอยู่รอบตัวในชีวิตประจำวันของบุคคล เช่น พ่อแม่ ผู้เฒ่า เพื่อน พี่น้อง นักการเมือง ดารา ฯลฯ ในสังคม ชุมชนชนบท สถาบันการเมือง สื่อมวลชน ฯลฯ และในธรรมชาติ เช่น แม่น้ำ ไร่นา ป่าเขา ทะเล ฯลฯ ที่ช่วยให้เข้าใจระบบนิเวศ แม้แต่ความรู้สึกนึกคิดภายในของบุคคล เช่น สภาวะอารมณ์รัก โกรธ เกลียด พอใจ กลัว ฯลฯ เมื่อสัมผัสกับสิ่งภายนอก ก็เป็นฐานการเรียนรู้ที่สำคัญให้มนุษย์ได้เข้าใจตนเองและผู้อื่นมากขึ้นได้ด้วย

(๒) เนื้อหาการเรียนรู้ จะต้องหลากหลายตามสภาพจริงของชีวิตมนุษย์ ที่มีความแตกต่างทางเพศ วัย เชื้อชาติ ฐานะ รูปลักษณ์ ฯลฯ เรียนรู้เนื้อหาเกี่ยวกับครอบครัว กลุ่มเพื่อน โรงเรียน การทำงาน การเป็นพลเมือง เป็นศาสนิกชน ชีวิตสังคมเมือง ชนบท ฯลฯ ที่มีทั้งเหมือนและต่างวัฒนธรรม และเรียนรู้ธรรมชาติ เข้าใจระบบและกฎเกณฑ์ของระบบนิเวศ การใช้ทรัพยากรธรรมชาติ การฟื้นฟูและอนุรักษ์ธรรมชาติ ฯลฯ

(๓) กระบวนการเรียนรู้ มีความหลากหลาย ครอบคลุมช่องทางรับรู้ของบุคคล คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ และขึ้นกับศักยภาพ ความถนัดของบุคคล ที่สำคัญที่สุดคือ กระบวนการต้องมุ่งที่จะเชื่อมโยงช่องทางการรับรู้ของบุคคลเข้ากับการเรียนรู้ทั้ง ๓ ระดับ (มนุษย์ สังคม ธรรมชาติ) ทำให้การเรียนรู้ปัจจัยภายนอกเชื่อมโยงเข้ากับปัจจัยภายในบุคคล ก่อตัวเป็นจิตสำนึก ที่มีอิทธิพลต่อความคิดและพฤติกรรมได้ ดังนั้นการเรียนรู้เนื้อหาที่หลากหลาย จากฐานการเรียนรู้ที่หลากหลาย ก็อาจจะยังไม่ก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีบูรณาการได้ จนกว่าจะเกิดกระบวนการเชื่อมโยงขึ้น (คำว่า"กระบวนการ"แสดงนัยถึงการเชื่อมโยง และการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของสิ่งนั้น ๆ )

บทสรุป

การปฏิรูปการศึกษาเพื่อสร้างการเรียนรู้อย่างใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิม เป็นสิ่งจำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อความอยู่รอดของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปดังกล่าว จะนำสังคมออกจากวิกฤตได้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่า มีการเปลี่ยนแปลงในระดับกระบวนทัศน์เกิดขึ้นด้วยหรือไม่ หรือเป็นเพียงการปรับเปลี่ยนวิธีการ การจัดการบางประการเท่านั้น และมีการเปลี่ยนแปลงทางบริบทของปัจจัยเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ในระดับสังคมด้วยหรือไม่ มากน้อยเพียงใด

 

บรรณานุกรม

1. คณะกรรมาธิการนานาชาติว่าด้วยการศึกษาในศตวรรษที่ ๒๑. การเรียนรู้ : ขุมทรัพย์ใน ตน. แปลจาก Learning : The Treasures Within. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ . ๒๕๓๙

2. คณะศึกษา"การศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์" ความฝันของแผ่นดิน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ ตะวันออก.๒๕๓๙

3. ชัยอนันต์ สมุทวณิช. ๑๐๐ ปี แห่งการปฏิรูประบบราชการ วิวัฒนาการของอำนาจรัฐ และอำนาจการเมือง. กรุงเทพมหานคร : สถาบันนโยบายศึกษา , ๒๕๔๑

4. ประเวศ วะสี. การพัฒนากระบวนการเรียนรู้แบบพุทธ. กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิสดศรี สฤษดิ์วงศ์ , ๒๕๔๒
---------------- ประชาคมตำบล :ยุทธศาสตร์เพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ศีลธรรมและสุขภาพ.กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์มติชน. ๒๕๔๑.

5. พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตโต) การพัฒนาที่ยั่งยืน.กรุงเทพฯ :สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๓๙.
----------------คนไทยสู่ยุคไอที. กรุงเทพ ฯ : บริษัทสหธรรมิก จำกัด ,๒๕๔๐
----------------พุทธธรรม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย. ๒๕๔๐
----------------มองสันติภาพผ่านภูมิหลังอารยธรรมโลกาภิวัตน์. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ธรรมสาร , ๒๕๔๒

6. พุทธทาส ภิกขุ . ธัมมิกสังคมนิยม. ไชยา. โรงพิมพ์ธรรมทาน. ๒๕๒๐

7. ฟริตจ๊อฟ คาปร้า .จุดเปลี่ยนแห่งยุคสมัย. ประชา หุตานุวัตรและคณะ แปลจาก The Turning Point. By Fritjof Capra กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง ,๒๕๓๙ .

8. วิบูลย์ เข็มเฉลิม. สายพานชีวิต : ปาฐกถาประจำปีมูลนิธิโกมลคีมทอง . กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มูลนิธิโกมลคีมทอง , ๒๕๒๙

9. ส.ศิวรักษ์.ลอกคราบวัฒนธรรมฝรั่ง.กรุงเทพฯ : สถาบันปรีดี พนมยงค์. ๒๕๓๐

10. เสน่ห์ จามริก. "บทวิเคราะห์ว่าด้วยการศึกษากับการวิจัยและพัฒนา" ใน การศึกษากับการ วิจัยเพื่ออนาคตของประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการวิจัย. (ส.ก.ว.) ๒๕๔๐ .

11. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. การปฏิรูปการเรียนรู้ตามแนวคิด ๕ ทฤษฎี. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์โอเดียสแควร์ , ๒๕๔๑

12. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (สกศ.) เอกสารจากการประชุมเรื่อง"แนวคิด และวิสัยทัศน์การปฏิรูปการเรียนรู้ ตามแนวคิดพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ. วันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๒ ณ โรงแรมเซ็นทรัลแกรนด์พลาซา กรุงเทพมหานคร

13. อุทัย ดุลยเกษม - อรศรี งามวิทยาพงศ์. ระบบการศึกษากับชุมชน : กรอบความคิดเพื่อ การวิจัย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการวิจัย. (ส.ก.ว.) ๒๕๔๐ .

14. Capra , Fritjof . The Web of Life. London : Flamingo , 1997

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม