กิจกรรมทางวิชาการครั้งนี้
จัดขึ้นเพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณศุภชัย เจริญวงศ์ (นักพัฒนาเอกชน)
ซึ่งได้ประสบอุบัติเหตุจนถึงแก่กรรม และต่อไปนี้ เป็นคำบรรยายโดยสรุป เกี่ยวกับหัวข้อเรื่อง
ความเป็นคนชายขอบ
กับปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย
สุริชัย หวันแก้ว : ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับ ศุภชัย หลายครั้ง และเห็นถึงการทำงานที่เสียสละของเขามาโดยตลอด นับตั้งแต่เหตุการณ์บ้านปางแดง ที่ผมได้มีโอกาสมาร่วมงานด้วย. แม้ว่าเขาจะอายุไม่มากตอนจากพวกเราไป แต่ก็ทำในสิ่งที่มีคุณประโยชน์มากมาย ทำให้ผมตระหนักว่า สิ่งที่สำคัญในชีวิตไม่ใช่พียงแค่สังขาร
เขาเคยพูดว่า คนชายอบนั้น ไม่ใช่แค่คนชายขอบ แต่คนเหล่านี้คือคนตกขอบ มีชีวิตที่อยู่กับการถูกทอดทิ้ง เอาเปรียบ และถูกเอาประโยชน์ ถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงทรัพยากร ฯลฯ. คนเหล่านี้อยู่นอกสายตา และไม่เคยถูกเล็งที่จะให้ได้รับการช่วยเหลือ
เรื่องของการพัฒนานั้น ได้มีการเล็งมาจากศูนย์กลางแล้วว่า จะให้ความช่วยเหลือกับคนกลุ่มใดบ้างในชนบท จึงทำให้มีผู้ที่ไม่ได้รับการเล็ง กลายเป็นกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆทั้งสิ้น ทำให้เกิดมีผู้ที่ได้รับประโยชน์กับผู้ที่ไม่ได้รับประโยชน์. และนอกจากนี้ การเล็งเป้าที่จะให้ความช่วยเหลือเช่นนี้ มันมีนัยะของความไร้บริบทด้วย กล่าวคือ... ความจริงแล้ว ปัญหาเรื่องของความทุกข์ยากทั้งปวงของคนชายขอบนั้น มันไม่เพียงมาแก้ปัญหากันตรงที่การช่วยเหลือเท่านั้น ปัญหาที่แท้จริงของคนชายขอบ หรือความทุกข์ของประชาชนที่ยากจน คือ ต้นสายปลายเหตุมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่ยุติธรรมมากกว่า
การที่จะพูดถึงเรื่อง" ความเป็นคนชายขอบกับปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย" ผมใคร่จะเริ่มต้นเรื่องนี้โดยมาพิจารณาถึงคำว่า"ชายขอบ". หากมาพิจารณากันดูถึงประเด็นนี้ เราอาจจะเกิดข้อสงสัยและคำถามขึ้นมาว่า "ชายขอบของอะไร ?" หากจะตอบคำถามหรือข้อคลางแคลงใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ อาจพิจารณาได้เป็นลำดับๆดังต่อไปนี้คือ (อ่านข้อความต่อ ที่พื้นสีเทา)
<คำบรรยายภาพประกอบ : ภาพของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับที่ทำกินในจังหวัดลำพูน กำลังฟังการอภิปรายเกี่ยวกับปัญหาที่ดิน
๑. ชายขอบของภูมิศาสตร์ ซึ่งในแง่นี้เราทุกคนต่างเห็นได้ชัดว่า ใครก็ตามที่อยู่ขอบริมของแผนที่ คนเหล่านั้นก็คือคนชายขอบ. แต่รายละเอียดของความเป็นชายขอบนั้นอาจมีเนื้อหาแตกต่างกัน เช่นบางคนอยู่ชายขอบ กลับเป็นการเอื้อต่อการลงทุนที่ข้ามไปลงทุนในชายแดนกับอีกประเทศหนึ่ง บางคนเป็นผู้ซึ่งมีอิทธิพลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่ตรงบริเวณนั้น เช่น มีโรงงานอุตสาหกรรม มีการร่วมลงทุนในทางธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจบ่อนการพนัน การฟอกเงินต่างๆ, ส่วนบางคน กลับถูกกีดกันในการเข้าถึงทรัพยากรในระดับพื้นฐานที่สุด เช่น ไม่มีที่ทำกิน ถูกเอาเปรียบขูดรีดแรงงาน และถูกใช้เป็นกันชนในเขตชายแดนที่มีปัญหาข้อพิพาท เป็นต้น
๒. ชายขอบของประวัติศาสตร์ สำหรับเรื่องนี้มันมีพลวัตรเปลี่ยนแปลงไปมา และสัมพันธ์กับสภาพภูมิศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างเช่น สมัยอาณาจักรสุโขทัย อยุธยาก็เป็นเพียงเมืองชายขอบ. มาถึงสมัยอยุธยา สุโขทัยก็เปลี่ยนแปลงความสำคัญของตัวเองไป และศูนย์กลางอย่างกรุงเทพฯก็จัดว่าเป็นดินแดนชายขอบของอาณาจักรอยุธยา เป็นต้น จะเห็นว่า หากมองจากแง่ของประวัติศาสตร์มันมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตร
๓. ชายขอบของความรู้ หากมามองกันที่ตัวของความรู้ ความรู้ใดที่ไม่สอดคล้องกับความรู้อื่นๆ ความรู้ใดที่ไม่ใช่กระแสหลัก ความรู้นั้นก็เป็นชายขอบ แม้แต่คนที่อยู่ที่ศูนย์กลางขอบเขตทางภูมิศาสตร์ หากมีความรู้ต่างไปจากสังคม ต่างไปจากความเชื่อ ความคิด ความเห็นของคนส่วนใหญ่ ความรู้นั้นก็เป็นชายขอบในท่ามกลางศูนย์กลางนั่นเอง ตัวอย่างในเรื่องนี้ที่จะขอยกขึ้นมาก็คือ ในสมัยเริ่มต้นการพัฒนาเมื่อประมาณ ๔๐ กว่าปีที่แล้ว จอมพลสฤษฎิ์ ได้มีจดหมายไปถึงเถระสมาคม ไม่ให้สอนเรื่องสันโดษ ทั้งนี้เข้าใจว่า หลักการดังกล่าวของพระพุทธศาสนา ไปขัดกับหลักของการพัฒนาประเทศ. อย่างนี้ ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของสันโดษก็คือ เป็นความรู้แบบชายขอบ
กระบวนการที่ทำให้เป็นคนชายขอบ
ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับคำถามข้างต้นต่อมาคือ
"ความเป็นชายขอบ" นั้น มันเป็นเองโดยธรรมชาติหรือว่ามันถูกกระทำให้เป็นชายขอบ.
ในที่นี้เชื่อว่า สาเหตุแห่งปัญหาของการเป็นคนชายขอบนั้น เกิดขึ้นมาจากการกระทำ
และมันเป็นการกระทำที่มีกระบวนการ ซึ่งทำให้เป็นคนชายขอบเกิดขึ้น ในที่นี้จะสรุปออกมาให้เห็น
๓ ข้อตามลำดับดังนี้ คือ
๑. ยุคของการกำเนิดรัฐชาติ นับจากการกำเนิดรัฐชาติเมื่อร้อยกว่าปีมานี้ มีการสถาปนาดินแดนแถบนี้ขึ้นเป็นประเทศสยาม และต่อมาก็ตั้งชื่อประเทศโดยอาศัยชนเผ่า"ไท"ที่มีอยู่กระจัดกระจายมาตั้งเป็นชื่อประเทศไทย จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดการนิยามและการแบ่งแยกเชื้อชาติขึ้นในดินแดนแถบนี้ ซึ่งมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ปะปนกัน. และด้วยเหตุนี้ จึงทำให้เกิดคนชายขอบขึ้นมานับแต่นั้น หมายถึงคนที่ไม่ใช่ไทย กลายเป็นคนชายขอบ
๒. ยุคของการพัฒนา ในยุคนี้ได้มีการนิยามศูนย์กลางของการพัฒนาซึ่งก็คือเขตบริเวณที่ลุ่มภาคกลางเป็นหลัก แล้วค่อยขยายออกไปตามลำดับทั้งในส่วนที่เป็นอาณาบริเวณ และในมิติของเวลา แต่ก็ได้ทอดทิ้งบางส่วนซึ่งไม่ได้รับการพัฒนามาโดยตลอดด้วย. จากการพัฒนาอันนี้ จึงได้ทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่าง พื้นที่ที่พัฒนาแล้ว และพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา ทำให้เกิดความเป็นชายขอบขึ้นมาอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเรื่องที่ซ้อนทับลงไปกับเรื่องของความเป็นไทยที่กล่าวมาในข้อต้น
๓. ยุคโลกาภิวัตน์ ในยุคนี้ซึ่งร่วมสมัยกันกับพวกเรา เป็นสมัยของการปรับตัวให้เข้ากับกระแสโลกาภิวัตน์ ใครก็ตามที่ปรับตัวเข้ากับกระแสโลกภิวัตน์นี้ได้ก็ไม่ใช่พวกชายขอบ ส่วนคนที่ปรับตัวไม่ได้ หรือพวกที่หลุดไปจากกระแสโลกาภิวัตน์ ก็กลายเป็นพวกชายขอบ อันนี้ให้พิจารณาถึงมิติต่างๆด้วย ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม การศึกษา วัฒนธรรม ฯลฯ
ในเวลาเดียวกันนั้น ยุคโลกาภิวัตน์เอง ก็เปิดพื้นที่ให้กับ"คนชายขอบ"ได้นิยามตนเองมากขึ้นด้วย เกิดการเรียกร้องในเรื่องของ"สิทธิมนุษยชน" และเกิดกระแสการพัฒนาของภาคประชาชนและชุมชนต่างๆ เกิดความคิดเกี่ยวกับชุมชนเข้มแข็งขึ้น ซึ่งชุมชนเข้มแข็งในที่นี้ หมายความถึง ความเข้มแข็งทางด้านสติและปัญญา ไม่ใช่เป็นเรื่องของการต่อยตีหรือการต่อสู้ในเรื่องอื่นๆกับรัฐ
เท่าที่เสนอมา ความจริงแล้วก็เป็น ๒ เรื่องใหญ่ๆ ซึ่งเรื่องแรก เป็นการตั้งคำถามและข้อสงสัยว่าคำว่าชายขอบนั้น นิยามหรือความหมายของมันคืออะไร. ส่วนเรื่องที่สอง ผมเชื่อว่า การเป็น"คนชายขอบ"นั้นเป็นเรื่องของการถูกทำให้เป็นเช่นนั้นอย่างมีกระบวนการ ซึ่งผมก็ได้ให้รายละเอียดว่ามันเป็นกระบวนการและขั้นตอนอย่างไรบ้าง.
มาร์ก ตามไท : สำหรับในหัวข้อเรื่อง "ความเป็นคนชายขอบกับปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย" นี้ จากการที่ผมได้ไปทำงานเกี่ยวพันกับเรื่องดังกล่าวมาระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ผมได้กลับมาตั้งคำถามกับตนเองว่า ทำไม การทำงานในภาคประชาชน หรือเกี่ยวพันกับคนชายขอบ จึงดำเนินไปอย่างเชื่องช้า หรือมีความก้าวหน้าน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาที่ผ่านมา การตั้งประเด็นขึ้นมาดังกล่าว ทำให้เกิดการขบคิดถึงปัญหาต่างๆว่า มันไปสัมพันธ์กับเรื่องของอะไรบ้าง ซึ่งผมจะขอลำดับให้ฟังดังนี้คือ
เท่าที่ผมสังเกตุเกี่ยวกับเรื่องปัญหา"คนชายขอบ"นี้ ทำให้ผมมองเห็นสังคมไทยใน ๓ ลักษณะซึ่งเกี่ยวพันกันกับเรื่องข้างต้นคือ...
๑. สังคมที่มีคนชายขอบ และผู้คนในสังคมรู้สึกไม่เดือดร้อน. กล่าวคือ สังคมไทยทนเห็นเรื่องความไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับคนชายขอบนี้ได้อย่างสบายโดยไม่รู้สึกทุกข์ร้อน ปัญหาของคนชายขอบเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรา เป็นปัญหาของ"คนอื่น" ซึ่งไม่ได้ทำให้เรามีส่วนร่วมในความรู้สึก ความเป็นกังวล หรือห่วงใยใดๆ. ซึ่งอันนี้ผมคิดว่าสังคมไทยปัจจุบัน ยังอยู่ในขั้นตอนนี้ส่วนใหญ่
๒. สังคมที่มีคนชายขอบ และผู้คนในสังคมบางคนไม่ปรารถนาจะให้มีคนชายขอบ. อันนี้หมายความว่า เริ่มมีผู้คนบางคนเห็นถึงปัญหาอันไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในสังคมเกิดขึ้น คนเหล่านี้รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ และเป็นทุกข์แทนคนที่ถูกเอาเปรียบ ถูกกีดกันออกจากทรัพยากร และถูกตักตวงผลประโยชน์ในรูปต่างๆ. ดังนั้น จึงเริ่มที่จะมาคิดแก้ปัญหาให้ปัญหาของคนชายขอบซึ่งต้องตกเป็นเบี้ยล่างทางสังคม ได้รับความเป็นธรรม ความเสมอภาค และความมีสิทธิในความเป็นมนุษย์มากขึ้น
๓. สังคมที่ไม่มีคนชายขอบ. อันนี้ก็คือ สังคมที่สามารถแก้ไขปัญหาคนชาขอบข้างต้นได้อย่างสมบูรณ์ ซึ่งก็ยังไม่มีสังคมใดไปถึงอุดมคติที่ว่านี้
เมื่อเห็นภาพของสังคมเกี่ยวข้องกับ"คนชายขอบ" ซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ ลักษณะนี้แล้ว เมื่อย้อนกลับมาตรวจตราดูถึงสังคมไทยเรา จะเห็นว่า เรายังอยู่ในสังคมลักษณะที่หนึ่งอยู่ ทั้งนี้เพราะ ไม่ใคร่มีใครตระหนักถึงปัญหาของคนชายขอบว่าเป็นปัญหา ไม่ใคร่มีใครรู้สึกว่า สิทธิของความเป็นคนของคนกลุ่มหนึ่งที่อยู่ห่างไกลกำลังถูกละเมิด กำลังถูกกีดกันออกจากการมีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากร และกำลังถูกเอารัดเอาเปรียบในทุกรูปแบบ.
แต่อย่างไรก็ตาม จากปัญหาของความไม่เป็นธรรมข้างต้น ที่คนกลุ่มหนึ่งได้ถูกคนอีกกลุ่มหนึ่งกระทำ ต่อปัญหานี้ เริ่มมีคนที่ให้ความสนใจมากขึ้น และพยายามที่จะเข้ามาแก้ไขให้ปัญหาต่างๆเหล่านี้บรรเทาเบาบางลง แต่เท่าที่ผ่านมา การดำเนินการหรือการปฏิบัติการเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ เป็นไปอย่างเชื่องช้า ซึ่งน่าจะมีสาเหตุบางประการที่เป็นอุปสรรค
ในที่นี้ เท่าที่ผมลองคิดู จากประสบการณ์ที่ตนได้มีโอกาสสัมผัส พบว่า อุปสรรคของการทำให้การปฏิบัติงานเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เป็นไปอย่างเชื่องช้าเพราะสาเหตุ ๓ ประการคือ
๑. กฎหมายไม่เอื้อต่อความเป็นคนชายขอบ. จะเห็นว่า กฎหมายไทยที่ออกมานั้น เป็นไปเพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มหนึ่ง ส่วนคนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้เสียประโยชน์ และเรื่องนี้เราสามารถพบเห็นได้กับประชาชนคนธรรมดาทั่วไป ไม่เฉพาะแต่เพียงกับคนชายขอบเท่านั้น
สาเหตุในประการต่อมาที่สัมพันธ์กันคือ โครงสร้างและกฎหมายไทย ไม่มีกลไกที่จะทำให้คนชายขอบต่อสู้ด้วยตัวของเขาเองได้ เช่น ขาดสิทธิขั้นพื้นฐานในการเป็นคนไทย ทั้งๆที่เกิดในประเทศไทย แต่ด้วยกลไกความบกพร่องบางอย่างของรัฐและราชการ รวมทั้งปัญหาที่สลับซับซ้อนอื่นๆ ทำให้คนเหล่านี้ไม่มีสิทธิในฐานะของพลเมืองไทย.
เมื่อขาดสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นนี้แล้ว ทำให้คนชายขอบ ไม่สามารถที่จะต่อสู้เรียกร้องด้วยตัวของพวกเขาเองได้ ในการทวงความเป็นธรรม ความเสมอภาค หรือสิทธิที่พึงได้รับอื่นๆ รวมไปถึงปกป้องทรัพยากรของตนเอง. การกระทำการเรียกร้องในสิ่งต่างๆเหล่านี้เพื่อให้ได้กลับคืนมา เพื่อความเป็นธรรม จึงต้องอาศัยกลไกอีกอันหนึ่งเข้ามาเสริม กล่าวคือ ต้องอาศัยองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ นักวิชาการ และนักกฎหมาย เช่น องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ชนเผ่า องค์กรเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน นักวิชาการทางชาติพันธุ์วรรณา นักวิชาการทางด้านกฎหมาย รวมไปถึงผู้ที่สนใจเกี่ยวกับกับปัญหาความไม่เสมอภาค และการเอารัดเอาเปรียบกันในสังคม
ในประเด็นต่อมาก็คือ เรื่องการอ้างความมั่นคงของชาติ ซึ่งส่วนราชการหลายๆหน่วย ได้ใช้เป็นข้ออ้างพื้นฐานที่สำคัญมาก. ที่กล่าวว่าสำคัญมาก็คือ การอ้างความมั่นคงนี้ มันสามารถที่จะไปละเมิดกฎหมายซึ่งให้การคุ้มครองหรือการประกันสิทธิต่างๆของคนชายขอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคสนาม ข้ออ้างเหล่านี้ได้รับการหยิบยกขึ้นมาอ้างด้วยความฉ้อฉล หลายอย่างเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ และเป็นเรื่องของการทุจริต. สิ่งเหล่านี้เป็นวิธีคิดของรัฐ และผู้ปฏิบัติการในภาคสนามก็ได้หยิบมาใช้ดังกล่าวข้างต้น
๒.การไม่มีคนออกมายืนยันความเชื่อของตนเอง อุปสรรคประการต่อมาที่ทำให้การแก้ปัญหาเกี่ยวกับความเป็นคนชายขอบ ก้าวหน้าไปเชื่องช้ามากก็คือ เนื่องมาจาก ผู้ใหญ่หลายคนในสังคมไทย ไม่ประกาศจุดยืนของตนเองให้ออกมาชัดเจน ว่าตนมีความคิด ความเชื่ออย่างไร ? อันนี้ก็เป็นปัญหาด้วยเช่นกัน เพราะผู้ใหญ่ต่างๆซึ่งมีบุคคลเคารพนับถือในสังคมนั้น เมื่อพูดอะไรออกมา จะทำให้มีคนฟัง มีคนเชื่อ และมีคนปฏิบัติตาม. แต่ผู้ใหญ่ในสังคมไทยที่มีบารมีเหล่านี้ ไม่กล้าออกมาแสดงความคิดเห็นตามที่ตนเองเชื่อ อ้างว่า อาจก่อให้เกิดความแตกแยกเพิ่มขึ้น.
อันนี้อยากขอยกตัวอย่างเช่น เรื่องของโทษการประหารชีวิตเป็นต้น ปรากฎว่าผลของการสำรวจทัศนคติของคนไทยเกี่ยวกับการคงไว้ให้มีโทษประหาร ผลการสำรวจออกมาว่า คนไทยประมาณ ๘๐% เห็นด้วยว่า ควรให้คงมีไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต. ผู้ใหญ่ที่ไม่เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ถูกต้องก็ไม่กล้าออกมาพูดแล้ว เพราะมติของคนไทยส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยกับเรื่องการใช้ความรุนแรงเหล่านี้ เป็นต้น จากการที่ผู้ใหญ่ไม่ออกมาพูดว่า ตนคิด ตนเชื่อเรื่องต่างๆว่าอย่างไร ทำให้เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งต่อการแก้ปัญหาคนชายขอบ.
เมื่อตอนที่คุณทักษิณเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น พระบาทสมเด็จได้ตรัสถึงเรื่องของคนจน ตรัสถึงเรื่องของชาวเขาที่ไม่ได้รับสัญชาติไทย ปรากฏว่าข้าราชการ และฝ่ายปฏิบัติการได้ขานรับกับสิ่งเหล่านี้อย่างรวดเร็วและทันควัน ทำให้หลายอย่างที่เคยติดขัด ได้รับความสะดวกมากขึ้น
๓. อุปสรรคเรื่องของภาษาที่สื่อไม่ตรงกัน ประการสุดท้ายที่ผมลองยกขึ้นมานี้ จะจริงหรือไม่จริง คงถกกเถียงกันได้ เพราะผมต้องการเสนอว่า "ภาษาเป็นอุปสรรคให้การดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องของคนชายขอบเป็นไปอย่างเชื่องช้า". อุปสรรคทางด้านภาษาที่กล่าวนี้ ไม่ใช่เรื่องของภาษาที่ต่างกัน แต่เป็นภาษาเดียวกันแต่เข้าใจไม่ตรงกัน
ขอยกตัวอย่างเรื่องคำว่า"ศักดิ์ศรี"เป็นต้น ผมคิดว่าคำๆนี้ เป็นคำที่มีปัญหามาก และเข้าใจไม่ตรงกัน. เมื่อไม่นานมานี้ มีเหตุการณ์ที่ประธาน อบต. เอาปืนไปยิงกรรมการ อบต.ของตนเองตายถึง ๖ ศพ เรื่องมีอยู่ว่า กำนันที่เป็นประธาน อบต.นั้น ได้ถูกคณะกรรมการ อบต.ซึ่งเป็นลูกน้องวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในที่สาธารณะ กำนันซึ่งเป็นประธาน อบต.รู้สึกไม่คุ้นเคยกับเรื่องเหล่านี้ ที่คนซึ่งเป็นลูกน้องมาวิพากษ์วิจารณ์เจ้านาย จึงได้พกปืนเข้ามาในที่ประชุม และเอาปืนออกมายิงคณะกรรมการ อบต. ดังที่ทราบกันอยู่แล้ว.
เมื่อมีคนไปถามถึงสาเหตุของเรื่องทั้งหมดนี้ว่า มันเกิดขึ้นได้อย่างไร? ลูกบ้านคนหนึ่งตอบสั้นๆว่า กำนันเขารู้สึกเสีย"ศักดิ์ศรี" ซึ่งเป็นคำอธิบายเหตุการณ์ทั้งหมดดังที่กล่าวมา. ปัญหาก็คือ คำว่า "ศักดิ์ศรี"นี้ที่ใช้ในหมู่ชาวบ้านและ อบต.กลุ่มนั้น มันมีความหมายเหมือนกับที่เราเข้าใจกันหรือไม่ ? คำว่า"ศักดิ์ศรี"ในที่นี้ มันแปลว่าอะไร ? เช่น แปลว่า"หน้าตา", หรือแปลว่า"ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ", หรือแปลว่า"เกียรติยศ"
อีกคำหนึ่งที่เป็นปัญหาของภาษาก็คือ คำว่า "เคารพ". คำนี้มันแปลว่าอะไร ถ้าเผื่อว่านายจ้างคนหนึ่งพูดกับเพื่อนของเขาว่า "ผมให้ความเคารพต่อคนขับรถของผมในการที่เขาขับรถพาผมไปไหนต่อไหน". จะเห็นว่า ความเคารพที่เราปกติคิดว่า หมายถึงการให้ความยำเกรง นับถือกับคนที่ใหญ่กว่าเรา แต่ในบางบริบทมันไม่เป็นเช่นนั้น
เท่าที่ผมเสนอมาข้างต้น จึงมีอยู่ ๒ ประเด็นหลักๆคือ หนึ่ง, ผมพยายามจะตอบคำถามที่ผมเฝ้าถามตัวเองว่า "ทำไมการทำงานภาคประชาชน และเรื่องของคนชายขอบ มันจึงดำเนินการไปอย่างเชื่องช้า. และประเด็นที่สอง, อะไรบ้างที่เป็นอุปสรรค ทำให้เรื่องที่หนึ่งมันช้า และผมก็ได้อธิบายดังที่ผมทำการวิเคราะห์มาข้างต้น ซึ่งหวังว่าคงให้ความกระจ่างได้พอสมควร
อานันท์ กาญจนพันธุ์ : ผมอยากจะเริ่มเรื่องของ" ความเป็นคนชายขอบกับปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย" ในอีกด้านหนึ่งที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่อง นั่นคือ เรื่องของ "การเปลี่ยนแปลงของสังคมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสาร" ซึ่งเรื่องนี้ หากเราพิจารณากันถึงการติดต่อสื่อสารกันในอดีต จะพบว่า เราติดต่อสื่อสารกันโดยตรง ระหว่างคนกับคน. แต่มาถึงปัจจุบัน เมื่อสังคมมีความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เราก็มีการติดต่อสื่อสารกันเพิ่มขึ้นในอีกหลายๆทาง. ทางหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนว่ามันจะมีความสำคัญยิ่งกว่าอย่างแรกเสียอีก นั่นคือ เรามีการสื่อสารกันผ่านสื่อ
และจากการที่เราติดต่อสื่อสารกันโดยผ่านสื่อนี้เอง ทำให้เรากลายเป็นคนที่ติดกับดักของสื่อ ที่พูดเช่นนี้หมายความว่า ในทุกวันนี้ "เราเชื่อสื่อมากกว่าเชื่อคน". สื่อพูดว่าอย่างไร เราก็เชื่ออย่างนั้น เราเป็นเพียงผู้รับสื่อและเชื่อตามสื่อ โดยไม่มีการคิดค้นเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมอะไรเลย. คนปัจจุบันจึงกลายเป็นผู้ที่ถูกครอบงำโดยสื่อ เชื่อในสิ่งที่สื่อมวชนเสนอ
อย่างเช่น สมัยก่อนตอนที่ผมเป็นเด็ก ได้ยินได้ฟังมาว่า "ชาวเขาเป็นผู้ตัดไม่ทำลายป่า" โดยเฉพาะพวกชาวม้งเป็นพวกที่ทำลายป่าตัวฉกาจ ซึ่งภาพนี้กลายเป็นความเชื่อไปโดยไม่รู้ตัว จนดูเหมือนว่ามันเป็นความจริงว่าอย่างนั้นโดยที่เราไม่สำนึก มันเป็นวาทกรรมที่สืบทอดกันต่อๆมา โดยที่เราเองก็ไม่เคยตั้งเป็นคำถามว่าจริงหรือไม่จริง ไม่เคยคิดที่จะแสวงหาคำตอบ. แต่เมื่อผมได้ศึกษาเรื่องนี้เกี่ยวกับชาวม้ง ปรากฎว่าเขามีวิธีการจัดการทรัพยากรของเขาอย่างเป็นระบบ ซึ่งทำให้เห็นว่า คำกล่าวข้างต้นไม่ได้เป็นความจริงแต่อย่างใด
คนปัจจุบันก็เช่นเดียวกัน รับรู้ข้อมูลอย่างผิวเผิน ผ่านสื่อที่มีมาถึงทุกๆบ้าน แล้วก็เชื่อว่านั่นเป็นความรู้ จริงๆ. แล้วทุกวันนี้ ถ้าจะพูดไป เราเป็นทาสของอวิชชา เป็นทาสของความไม่รู้อะไรเลย แล้วก็สร้างความคิดขึ้นมาในลักษณะที่เป็น stereo type ว่าคนพวกนั้นเป็นอย่างนั้น คนชายขอบเป็นอย่างนี้ คนชาวเขาเป็นอย่างโน้น ซึ่งมีลักษณะที่ตายตัว ไม่มีพลวัตรหรือความสลับซับซ้อน ทำให้เกิดการมองคนให้เป็น"คนอื่น".
การที่เรามองคนอื่น ว่าเป็น"คนอื่น" ไม่ใช่"พวกเรา" เรื่องนี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะมันจะก่อให้เกิดภาวะของการเป็นคนชายขอบขึ้นมาได้ แม้แต่คนที่อยู๋ศูนย์กลาง หรือคนที่อยู่ใกล้ๆกับเรา ถ้าเราเห็นว่าเขาเป็นคนอื่นไปเสียแล้ว เขาก็กลายเป็นคนชายขอบ. ทำให้เราไม่สนใจพวกเขา ไม่รู้สึกอะไรที่คนเหล่านี้ได้ถูกกระทำย่ำยีต่างๆ หรือถูกขูดรีดเอาผลประโยชน์ไปอย่างไม่เป็นธรรม...
ในยุคที่เราเรียกกันว่า ยุคของสังคมข่าวสารข้อมูล หรือ Information Society นั้น คนไม่ได้ฟังกันตรงๆเหมือนกับในอดีต คนไม่ได้สื่อสารกันตัวต่อตัว หรือแม้ว่าจะมีการสื่อสารกันแบบนั้น เขาก็ไม่เชื่อ ไม่ฟัง แต่กลับไปฟังและไปเชื่อตามสื่อ. ดังนั้น ปัจจุบันเราจึงสื่อสารกันโดยผ่านสื่อ และเราก็เชื่อและฟังกันผ่านสื่อ สื่อว่าอย่างไรเราก็เชื่ออย่างนั้น ผมจึงคิดว่าเราจะต้องเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ คือเลิกเชื่อสื่อ หันมาแสวงหาความรู้กันจริงๆ แทนที่จะเป็นแต่เพียงผู้รับข้อมูลเท่านั้น
นอกจากนี้ สิ่งที่พบเห็นในปัจจุบันก็คือ สังคมเราเริ่มเปลี่ยนแปลงไปมาก ความจริงก็เปลี่ยนแปลงไปตามโลกตามยุคสมัย. ในสังคมช่วงหลังสมัยใหม่ หลายอย่างที่เคยถูกกดถูกบีบ ปัจจุบันก็ได้คลี่คลายขยายตัวกันขึ้นมาเป็นความหลากหลาย เราจะเห็นว่าสังคมเราปัจจุบันมีความหลากหลายมาก เช่น เรื่องของเชื้อชาติ เรื่องของความรู้ ซึ่งสมัยก่อนไม่ใช่ว่าจะไม่มี แต่มันไม่ได้รับการยอมรับหรือไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิ์. แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความเป็นจริงจะเป็นอย่างนั้น แต่ทว่ามันก็ยังต้องมีกลไกบางอย่างมาทำให้มันเกิดความสมบูรณ์และการยอมรับกันมากขึ้น
ด้วยเหตุของความหลากหลายข้างต้น เท่าที่ผมคิดและพิจารณาดู เห็นว่า เรายังไม่มีสถาบันอันใหม่ที่จะมาจัดความสัมพันธ์อันหลากหลายนี้เลย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ. ในสมัยก่อนนั้น เราก็มีความหลายหลายเช่นกัน ดังเช่นความหลากหลายในเรื่องของชนชาติที่กล่าวมาบ้างแล้ว และเราก็พยายามจัดความสัมพันธ์หรือลดความแตกต่างนี้ลงมาให้อยู่ในภาวะที่เรายอมรับกันได้ ซึ่งสะท้อนออกมาเป็นคำที่เราเคยได้ยินได้ฟังกันอยู่เสมอ อย่างเช่น "การเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร" เป็นต้น ซึ่งการเข้ามาพึ่งพิงนี้ ทำให้คนที่ได้ยินได้ฟังยอมรับสภาพความหลาหลายที่เข้ามาอิงแอบได้.
ในปัจจุบัน สถาบันที่จะมาช่วยประสานความสัมพันธ์ของความหลากหลายใหม่ๆที่เกิดขึ้น จึงมีความจำเป็นมากทีเดียว ไม่เช่นนั้นเราก็จะเห็นว่าเขาเป็น"คนอื่น" ทำให้เกิดการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ความเกลียดชัง หรือไม่ยินดียินร้ายในชะตากรรมของมนุษย์ด้วยกัน มองว่าเขาเป็นคนอื่น ซึ่งง่ายต่อการที่จะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง การเอารัดเอาเปรียบ และการขูดรีดโดยไม่ตัว. การยอมรับความแตกต่างหลากหลายจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะจะไม่ทำให้เกิดการแบ่งแยกการเป็นคนชายขอบ เป็นการยอมรับสิทธิของมนุษย์ด้วยกัน
สำหรับช่องทางในการแก้ปัญหาเรื่องของความเป็น"คนอื่น"นี้ เท่าที่ผมประมวลมามีดังนี้คือ
๑.การยอมรับในความรู้ที่หลากหลาย ให้ความสำคัญและยอมรับความรู้อันหลายหลาก. ความรู้นั้นมีอยู่อย่างมากมาย และแตกต่างกันมาก จึงไม่ควรมีความรู้ใดความรู้หนึ่งมาผูกขาดและอ้างว่าเป็นความรู้เพียงชนิดเดียวที่ถูกต้อง อย่างเช่นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มันเคยเป็นความรู้ที่อ้างว่าเป็นความรู้ที่แท้จริงเพียงชนิดเดียวที่ถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันจะเห็นได้ว่า เริ่มมีคนตั้งคำถามกับความรู้ชนิดนี้กันแล้วมากขึ้นเรื่อยๆ. หรืออย่างกฎหมาย ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องทั้งหมด
และเท่าที่ผมสังเกตุ โดยผ่านประสบการณ์ รู้สึกว่า ในภาวะที่เราสุขสบายนั้น เรามักจะไม่ยอมรับความหลากหลาย แต่เมื่อไรก็ตามที่เราเจ็บป่วย เรากลับยอมรับความหลากหลายได้ง่าย เช่น เราจะไปหาหมอหลายๆหมอ เพื่อรักษาอาการโรค หรือความเจ็บป่วยของเรา เพื่อให้มั่นใจว่า เราจะหายแน่ๆ
๒. ปัจจุบันเรากลัวความต่าง เราต่างเชื่อใน consensus หรือความเห็นของคนส่วนใหญ่ อย่างเช่น ที่อาจารย์มาร์ก ตามไท ได้พูดไปแล้ว ว่าผู้หลักผู้ใหญ่ของเราไม่ออกมาประกาศว่าตัวเองเชื่ออะไร เพราะไม่อยากจะไปขัดแย้งกับคนส่วนใหญ่. การที่เรากลัวความต่าง จึงทำให้เราต้องติดตันอยู่กับที่ ไม่ยอมรับความหลากหลายที่แตกต่างหรือผิดแผกไปจากเรา
อันที่จริง ความแตกต่างเป็นพลัง
ผมมีประสบการณ์จะเล่าให้ฟังเกี่ยวกับเรื่องซึ่งเกี่ยวข้องนี้คือ เมื่อตอนที่ผมไปออสเตรเลีย ได้ไปนอนที่บ้านเพื่อนคนหนึ่งที่เป็นนักมานุษยวิทยา. ในวันรุ่งขึ้น หลังจากที่ผมตื่นนอน เพื่อนของผมก็แต่งตัวพร้อมแล้วที่จะออกจากบ้าน และปล่อยให้ผมอยู่ที่บ้านของเขาคนเดียว ผมถามว่าเขาจะไปไหน? เขาบอกว่า เขาจะต้องรีบไปศาล เพื่อนั่งบัลลังค์คู่กับผู้พิพากษา
เรื่องนี้ก็คือว่า ในประเทศออสเตรเลีย ถ้าหากว่ามีคดีอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับชนเผ่าอะบอริจิ้น จะต้องมีนักมานุษยวิทยานั่งบัลลังค์คู่กับผู้พิพากษาอีกคนหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อคอยให้คำแนะนำหรือเพื่อให้คำปรึกษา นอกจากจะคอยให้ความรู้แล้วยังสามารถที่จะถกเถียงกับผู้พิพากษาได้ด้วย
ลักษณะแบบนี้ พอที่จะเรียกได้ในภาษาอังกฤษว่า Legal pluralism หรือภาษาไทยเรียกว่า"กฎหมายเชิงซ้อน". หมายความว่า จะต้องฟังกฎอื่นๆที่มีอยู่เกี่ยวกับการพิจารณาในเรื่องเดียวกัน กฎหมายว่าไปอย่างหนึ่ง กฎของชาวบ้านว่าไว้อีกอย่าง ทั้งสองอย่างนี้ต้องนำมาพิจารณาร่วมกัน ไม่ให้มีการผูกขาดอันใดอันหนึ่ง
ทั้งหมดนี้ก็คือสิ่งที่ผมเตรียมมา สำหรับร่วมเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง" ความเป็นคนชายขอบกับปัญหาสิทธิมนุษยชนในสังคมไทย" โดยเริ่มด้วยกันวิพากษ์วิจารณ์สังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปเชื่อ"สื่อ"มากกว่าเชื่อ"คน" ไม่แสวงหาความรู้กันเพิ่มขึ้น. และต่อมาได้โยงมาถึงสังคมหลังสมัยใหม่ที่ยอมรับในความหลากหลายมากขึ้น แต่สังคมไทยกลับไม่ยอมรับในสิ่งเหล่านี้ หรือไม่ได้สำนึกถึงเรื่องราวเหล่านี้ มองเรื่องของความหลากหลายไม่ออก กลับเห็นว่าเป็นเรื่องของ"คนอื่น". แล้วก็มาถึงประเด็นสุดท้ายที่ผมได้เสนอถึงช่องทางในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับ"ความเป็นคนอื่น" ดังที่ว่ามาข้างต้น.
กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com