เรื่องที่ 1 "วัฒนธรรมการอ่าน"
บริษัทผลิตสื่อระหว่างประเทศแห่งหนึ่ง จ้างให้สำรวจสิ่งที่เด็กและวัยรุ่นในเอเซียชอบหรือไม่ชอบในนครใหญ่ 29 นครใน 14 ประเทศของเอเชีย-แปซิฟิก พบว่าวัยรุ่นของกรุงเทพฯ นั้นมีชีวิตอยู่ท่ามกลางสื่อทีเดียว ชอบเล่นอินเตอร์เน็ต, ชอบมีมือถือ, ชอบดูทีวี, ชอบฟังวิทยุ, ชอบดูกีฬา, ชอบอ่านการ์ตูน, ชอบเล่นเกมทางจอ, ชอบงานศิลปะ ส่วนใหญ่ ชอบใช้เวลาอยู่คนเดียวมากกว่าสุงสิงกับใคร
เมื่อถามว่าอะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต วัยรุ่นกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าการศึกษาและคะแนนสอบคือสิ่งสำคัญสูงสุดในชีวิต แต่เขากลับอ่านหนังสือน้อยมาก แม้แต่หนังสือพิมพ์และนิตยสารก็อ่านน้อยมาก
ข้อนี้ตรงกับการสำรวจของยูเนสโกซึ่งพบว่า คนไทยบริโภคกระดาษเพียง 13.1 ตันต่อปีต่อ 1,000 คนเท่านั้น เมื่อเปรียบเทียบกับคนสิงคโปร์หรือฮ่องกงแล้ว พวกนั้นว่าเข้าไปถึง 98 ตันต่อปีต่อ 1,000 คน
ก็รู้ๆ กันอยู่นะครับว่า เมื่อเปรียบเทียบคนในสังคมอื่นๆ อีกหลายสังคม (โดยเฉพาะนอกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) คนไทยอ่านหนังสือน้อย แม้แต่ในหมู่วัยรุ่นที่ให้ความสำคัญแก่การศึกษาไว้สูงสุดก็ตาม
อย่างไรก็ตาม เราอาจเถียงว่า ไม่ควรติดอยู่แค่รูปแบบของสื่อที่ส่งสารถึงผู้รับ วัยรุ่นไทยอาจไม่ได้อ่านหนังสือมาก แต่เขาก็รับสารจากแหล่งอื่นๆ เช่น อินเตอร์เน็ต, การ์ตูน, หนัง, ทีวี และการสนทนากันในร้านไก่ทอดก็ได้ ก็จริงหรอกครับที่สื่อในรูปแบบอะไรก็สามารถส่งสารได้ทั้งนั้น แต่สื่อแต่ละชนิดนั้นมีข้อจำกัด หรือไวยากรณ์ในตัวของมันเอง มันจึงสามารถสื่อสารบางชนิดได้ดี และบางชนิดได้ไม่ดีหรือไม่ได้เอาเลย
ผมขอยกตัวอย่างสุดโต่งของสื่อสองอย่างคือ ระหว่างข้อเขียนกับคำสนทนา
เวลาเราคุยกัน มีการสื่อความหมายที่ไม่ใช้คำพูดมากมาย อาจจะเกินครึ่งของสารที่สื่อกันก็ได้ เช่น "สบายดีหรือ" ไม่ได้มีความหมายอะไรเลย แต่ความหมายที่แท้จริงที่ไม่ได้เปล่งออกมาเป็นคำพูดก็คือ "ความสัมพันธ์ระหว่างเรายังปกติราบรื่นดีนะ ไม่ห่างขึ้นและไม่ชิดขึ้นทั้งสองอย่าง ฉันจึงใคร่แสดงระดับความสัมพันธ์เดิมระหว่างเราไว้ให้ปรากฏแก่เธอ"
นอกจากนี้ เพราะต่างรู้จักกัน จึงเว้นสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างรู้อยู่แล้วเอาไว้โดยไม่ต้องอ้างถึงเป็นคำพูดได้อีกมากมาย ไม่รู้เรื่องก็ซักถามเพิ่มเติมได้ ฯลฯ เป็นต้น
ทั้งหมดนี้ใช้ไม่ได้เลยในข้อเขียน ซึ่งส่งสารไปโดยไม่รู้ว่าอ้ายหมอไหนที่จะเป็นคนรับสาร จะต้องคิดเรียงลำดับความให้เข้าใจได้ เพราะหมอนั่นถามผู้เขียนเพิ่มเติมไม่ได้ ถ้าอยากสร้างอารมณ์ก็ตีหน้าบูดเบี้ยวไม่ได้ ต้องเลือกใช้คำและความอย่างไรให้ผู้อ่านเกิดอารมณ์ร่วม จะต้องแสดงเหตุผลหรือลำดับความคิดที่ผู้อ่านติดตามได้ และเห็นคล้อยตามได้ ฯลฯ
สารที่จะส่งผ่านข้อเขียนกับที่จะส่งผ่านการคุยกันจึงต่างกันอย่างมาก เพราะตัวสื่อบังคับให้ต่าง ตัวอย่างที่ผมยกนี้สุดโต่งเกินไปนะครับ เพราะในชีวิตจริงเรามีข้อเขียนที่มีลักษณะเป็นการสนทนาอยู่มากมาย เช่น จดหมายส่วนตัว เป็นต้น
แต่ผมคิดว่าสื่อข้อเขียน ถ้าใช้มันไปจนสุดความสามารถของมันแล้ว มันนำสารที่มีลักษณะเฉพาะบางอย่างซึ่งสื่อชนิดอื่นไม่สามารถส่งผ่านได้ เช่น สื่อข้อเขียนย่อมแสดงตรรกะได้ชัดเจนที่สุด และซับซ้อนที่สุด เหตุดังนั้น สื่อข้อเขียนจึงสามารถนำไปสู่ความคิดทางนามธรรมซับซ้อนได้มาก เช่น เป็นความคิดที่ไม่เกี่ยวกับตัวบุคคล, ไม่เกี่ยวกับประสบการณ์ของผู้รับสาร และไม่เกี่ยวกับกรณีเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯลฯ การรับสารจากสื่อข้อเขียนจึงต้องใช้จินตนาการให้กว้างขึ้น เดี๋ยวต้องลองนึกจากมุมนี้ เดี๋ยวก็ต้องลองนึกจากมุมโน้น ไม่หยุดนิ่งอยู่ที่บุคคลใดหรือมุมใดมุมหนึ่งเพียงจุดเดียว
เขาเรียกการรับสารอย่างนี้ว่าการอ่านครับ อ่านในภาษาไทยนั้นแปลว่าถอดรหัสที่เป็นตัวยึกยือออกมาเป็นภาษาก็ได้ และแปลว่าตีความจนเข้าถึงแก่นของความหมายก็ได้ (เช่น อ่านเกมออก)
สารที่ได้มาจากการอ่าน และสารที่ได้จากการฟังจึงไม่เหมือนกันครับ
ในแง่นี้แหละครับที่ผมออกจะสงสัยว่า การอ่านนั้นไม่ได้มีอยู่ในวัฒนธรรมไทยมาแต่เดิมแล้ว ผมไม่ได้หมายความถึงการถอดรหัสยึกยือซึ่งว่ากันว่าพ่อขุนรามคำแหงประดิษฐ์ขึ้นนะครับ อันนั้นคนไทยอ่านออกมานมนานเต็มทีแล้ว แต่ผมหมายถึงการอ่านแบบตีความจนเข้าถึงแก่นของความหมาย หรือการพัฒนาสื่อตัวหนังสือไปจนถึงสุดแดนความสามารถของมัน ก็อาจยังไม่ได้ทำในวัฒนธรรมไทย
ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า แต่เราก็มีงานเขียนมาเก่าแก่แล้วจะอ่านหนังสือไม่แตกได้อย่างไร ขอให้สังเกตเถิดครับว่า งานเขียนโบราณของเราจำนวนมากนั้นมีไว้อ่านดังๆ เช่น ใช้ขับหรือใช้สวดหรือใช้ประกอบบทนาฏศิลป์ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มีไว้ฟังครับ ไม่ได้มีไว้อ่าน
เนื้อความจึงมีลักษณะเป็นการ "เล่า" ไม่ใช่การวิเคราะห์หรือการเสนอความคิดนามธรรมที่สลับซับซ้อน
ในวรรณกรรมโบราณของไทยนั้น ถ้าไม่ "เล่า" ก็จะเล่นเสียงสัมผัสสระ สัมผัสอักษรกันนัวเนีย ซึ่งจะได้รสชาติก็ต้อง "ฟัง" ไม่ใช่ "อ่าน" แม้แต่ภาษาความเรียงรุ่นแรกๆ ก็ยังเป็นการ "เล่า" มากกว่าฟังอยู่นั่นเอง เช่น ที่เราอาจพบในพระราชพงศาวดาร, ตำนานและสามก๊ก เป็นต้น ล้วน "เล่า" ทั้งนั้น
(จนถึงทุกวันนี้ หนังสือไทยที่ขายดีๆ ก็ยังพยายามลอกเลียนสื่อประเภทฟัง เช่น ทำข้อเขียนให้เหมือนมีคนมานั่งคุยกับผู้อ่าน เป็นต้น)
ข้อนี้ ไม่ใช่จุดด้อยในวรรณกรรมไทยหรอกนะครับ วรรณกรรมชาติอื่นๆ รวมทั้งฝรั่ง ก็เคยเป็นอย่างนี้มาก่อน จนเข้ามาถึงยุคใหม่แล้ว วรรณกรรมตัวเขียนจึงสร้างกันขึ้นเพื่ออ่านมากกว่าฟัง
ผมคิดว่า เป็นไปได้ที่ส่วนใหญ่ของคนไทยก็ยังอยู่ในวัฒนธรรมการฟังมากกว่าการอ่าน และที่คนไทยอ่านหนังสือน้อยก็เพราะ เราไม่คุ้นกับการรับสารผ่านสื่อประเภทนี้นั่นเอง
ตามการสำรวจเขาบอกว่า แม้แต่อินเตอร์เน็ตที่วัยรุ่นไทยชอบท่องเล่นนั้น ก็นิยมเข้าไปในห้องสนทนาเพื่อคุยกับสมาชิกที่ไม่เคยเห็นหน้าในห้องนั้นมากกว่าอย่างอื่น... ตกเป็นอันรับสื่อผ่านการพูดคุยหรือ "ฟัง" นั่นเอง
สังคมในเอเชียที่มีสถิติการอ่านสูง ล้วนเป็นสังคมที่มีภูมิหลังทางวัฒนธรรมจีนทั้งนั้น เพราะจีนเป็นวัฒนธรรมที่มีประเพณีการอ่านมาแข็งแกร่งยาวนานที่สุด
ผมไม่ต้องการให้เข้าใจว่า การรับข้อมูลจากการอ่านนี้ เหนือกว่ารับผ่านสื่ออื่นๆ
สื่อทุกอย่างย่อมมีข้อดีข้อเสียในตัวเอง ตลาดซึ่งเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนข่าวสารข้อมูลที่สำคัญในสมัยหนึ่งนั้น ทำให้คนได้ข่าวสารข้อมูลกว้างขวางมาก รวมทั้งได้ท่าทีและความเห็นที่พึงมีต่อข่าวมาพร้อมเสร็จสรรพ เหมือนหนังสือพิมพ์ไทยทุกวันนี้เป๊ะเลย แต่ข่าวและความเห็นนั้นก็มีมาหลายกระแส บางเรื่องก็ต้องซุบซิบเล่ากันซึ่งยิ่งทำให้น่าเชื่อถือ
คนแต่ก่อนจึงอาจมีความเป็นอิสระในการเลือกรับข่าวดีกว่าคนปัจจุบันที่ได้ดูแต่ทีวีช่องรัฐบาลก็เป็นได้
ข่าวสารข้อมูลที่ได้จากการฟังก็ไม่เสียหายอะไรหรอกครับ เพียงแต่เมื่อเป็นสื่อประเภทเดียว ก็ทำให้จำกัดประเภทของข่าวสารไปด้วยในตัวอย่างที่บอกแล้ว ฉะนั้น ข่าวสารที่ได้จากการอ่านจึงมีความสำคัญและมีประโยชน์แน่ๆ
แต่จะให้คนอ่านหนังสือมากขึ้น เพียงยั่วยุกันให้เข้มข้นขึ้นคงไม่สำเร็จ เพราะคนไม่อ่านหนังสือก็เพราะไม่มีวัฒนธรรมการอ่านที่เข้มแข็งมาก่อน จะทำให้คนไทยรักการอ่านมากขึ้นจึงต้องคิดไปถึงการเปลี่ยนกระบวนการรับข่าวสารในวัฒนธรรมไทยด้วย
เช่น เปลี่ยนจากคำอธิบายบนกระดานดำเป็นบทต่างๆ ในหนังสือแทน เป็นต้น หนังสือไม่ใช่อ่านประกอบ แต่กระดานดำต่างหากที่เป็นตัวประกอบ
เรื่องที่ 2 "คนจน กับ ทางออกของสังคมไทย"
วิธีคิดของทุนนิยมเสรีทำให้เรามักมองความยากจนจากแง่ของปัจเจกบุคคล คือมีคนจำนวนหนึ่งยากจน นั่นก็คือมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนที่รัฐต่างๆ กำหนดขึ้น และอาจนำไปสู่ข้อสรุปว่า ในสังคมไหนๆ ก็มี คนรวยคนจนเป็นธรรมดา
แต่ความยากจนที่ปรากฏโดยทั่วไปทั้งโลกในเวลานี้ไม่อาจเข้าใจได้จากมุมมองของปัจเจกบุคคล เพราะ ความยากจนของโลกปัจจุบันเป็นผลพวงมาจากนโยบายพัฒนา ซึ่งมหาอำนาจใช้องค์กรด้านการเงินและ การค้าระหว่างประเทศเป็นเครื่องมือผลักดัน
ความยากจนในแง่นี้หมายถึงความไร้สมรรถภาพของผู้คนที่จะเข้าถึงทรัพยากรอันจำเป็นในการดำรงชีวิต เพราะตัวนโยบายพัฒนาได้แย่งเอาทรัพยากรที่เขาใช้อยู่ไปให้คนอื่นใช้ เช่นเอาแหล่งจับปลาไปทำเขื่อน ไฟฟ้า หรือทำลายทรัพยากรชายฝั่งเพื่อสังเวยนายทุนเลี้ยงกุ้งหรือนายทุนเรือปลากะตัก เป็นต้น
ในที่สุดคนเหล่านี้ก็พึ่งตนเองไม่ได้ และไร้อำนาจทั้งในตลาดและในการเมือง
อย่านึกว่าปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนระดับล่างเท่านั้น คนชั้นกลางอาจเป็นกลุ่มแรกๆ ที่สะสมทรัพ ยากรใหม่ให้ตนเองได้สำเร็จ คือการศึกษา จึงทำให้ได้รับผลกำไรจากนโยบายพัฒนาในสัดส่วนที่สูง
แต่ในปัจจุบัน ประตูสู่การศึกษากำลังมีราคาแพงมากขึ้น และการศึกษาในระดับที่คนชั้นกลางทั่วไป สามารถเข้าถึงได้ก็กำลังมีมูลค่าเพิ่มน้อยลงทุกที ปริญญานอกกลายเป็นความจำเป็นมากขึ้น แม้กระทั่งมหา วิทยาลัยของรัฐบางแห่งหันไปร่วมมือผลิตปริญญาตรีกับต่างประเทศ โดยยอมเป็นเหมือน Junior Collage ให้มหาวิทยาลัยอเมริกัน
ความสามารถในการพึ่งตนเองได้ทางการศึกษาของไทยซึ่งมีน้อยอยู่แล้ว ยิ่งลดน้อยถอยลง ในขณะเดียว กัน การศึกษาในฐานะทรัพยากรของคนชั้นกลางก็กำลังกลายเป็นทรัพยากรที่ใช้ไม่ได้มากขึ้น นั่นก็คือ ความยากจนตามความหมายดังที่กล่าวข้างต้นกำลังกลายเป็นสมบัติของคนชั้นกลางจำนวนมากขึ้น แม้ว่า รายได้ที่เป็นตัวเงินอาจไม่ได้ลดลงก็ตาม
กล่าวโดยสรุป ความยากจนที่ปรากฏในสังคมไทยและทั่วโลกเวลานี้ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างไม่ใช่ ปัญหาของปัจเจก
และเมื่อวิเคราะห์ความยากจนเชิงโครงสร้างแล้ว ก็พบว่ามีที่มาจากหลายทางด้วยกัน นับตั้งแต่ในทาง วัฒนธรรมไทยปัจจุบันซึ่งสอนให้รังเกียจคนจน (เพราะเมื่อมองคนจนในเชิงปัจเจก ก็จะเห็นแต่ความบก พร่องของเขา) และด้วยเหตุดังนั้นจึงไม่พร้อมจะให้สิทธิเสมอภาคแก่คนจน เช่นไม่ยอมรับอำนาจที่เท่า เทียมกันในทางสติปัญญา ในเชิงเทคโนโลยี ในเชิงการต่อรองในตลาด และในทางการเมือง (ปิดถนนเลว ร้ายแต่การวอล์กเอาต์หรือไม่ยอมเปิดเผยสัญญาเป็นหน้าที่และความชอบธรรม)
นโยบายพัฒนาที่มุ่งแต่จะสร้างความมั่งคั่งให้แก่คนจำนวนน้อย โดยการที่รัฐแย่งชิงเอาทรัพยากรจากคน ส่วนใหญ่ไปบำเรอผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยตลอดเวลา ก็เป็นสาเหตุที่สำคัญของความยากจนในเมือง ไทย ยิ่งคนจนไร้อำนาจก็ยิ่งทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายพัฒนาได้เลย ดังเช่นทีมผู้ยกตัวอย่าง จากการศึกษามูลค่าน้ำในเขื่อนที่สร้างอ่างเก็บน้ำบางแห่งว่า น้ำหนึ่งลูกบาศก์เมตรจะมีราคาต้นทุนตั้งแต่ 40-20 กว่าบาท ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาไปใช้ในการผลิตอะไรให้กำไร
แต่ที่สามารถทำได้ก็เพราะผลักภาระต้นทุนส่วนใหญ่ไปให้ประชาชนโดยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยต่าง หาก
กระแสบริโภคนิยมที่ครอบงำสังคมอย่างกว้างขวาง ก็มีส่วนทำให้ทรัพยากรร่อยหรอลงอย่างรวดเร็ว และ ทรัพยากรของคนอ่อนแอถูกแย่งเอาไปอย่างชอบธรรม ในขณะเดียวกันก็ทำให้ "ประชาสังคม" ของคนชั้น กลางซึ่งเป็นผู้บริโภคที่ฟูมฟายมีส่วนทำร้ายคนจนอยู่ไม่น้อย จนไม่อาจเป็นที่หวังได้ว่า ประชาสังคมที่เข้ม แข็งเพียงอย่างเดียวจะแก้ปัญหาความยากจนได้
ความเฉยเมยของสื่อต่อชะตากรรมของคนจนดูจะเป็นตัวอย่างอันดีของ "ประชาสังคมเข้มแข็ง" แม้ว่าสื่อจะ พัฒนาไปมากในทุกทาง รวมทั้งการมีหลักประกันของเสรีภาพที่มั่นคงขึ้น แต่สื่อก็ยิ่งละเลยที่จะรายงาน ความเป็นไปในภาคประชาชนมากขึ้น
ความยากจนมีมูลเหตุมาจากการตัดสินใจ โดยเฉพาะการตัดสินใจที่กระทบถึงการจัดการทรัพยากร ใน ขณะที่คนจนไร้อำนาจที่จะเข้าไปร่วมในการตัดสินใจ ฉะนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความยากจนเป็นผลผลิต ของการเมือง ตราบเท่าที่คนจนยังไร้อำนาจก็เป็นไปไม่ได้ที่จะขจัดความยากจนไปจากประเทศไทย
นโยบายโอนอ่อนต่อแรงกดดันของมหาอำนาจโลกาภิวัตน์ ยิ่งทำให้ทรัพยากรที่จำเป็นในการดำรงชีวิตถูก ดึงเข้าไปสู่ตลาดมากขึ้น เช่นเงื่อนไขเงินกู้ ADB ที่กำหนดให้เก็บค่าน้ำแก่เกษตรกรผู้ใช้น้ำ ทำให้น้ำเป็น สินค้าซึ่งอาจมีนายทุนมาลงทุน "พัฒนา" ลุ่มน้ำทั้งลุ่มน้ำเพื่อทำกำไรได้ในอนาคต
ทั้งนี้ไม่ต่างจากการนำเอาที่ดินเข้าสู่ตลาดเต็มที่ ซึ่งดำเนินมาก่อนหน้านี้นานแล้ว และเป็นผลให้ที่ดินหลุด จากมือเกษตรกรไปเป็นอันมาก ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสัญญาณว่าคนจนจะเข้าไปถึงแม้แต่ทรัพยากรระดับพื้น ฐานในการดำรงชีวิต
ทางออกของสังคมไทยจากความอยากจนนั้นมีหลายประเด็นด้วยกัน แต่ประเด็นหนึ่งที่เห็นพ้อง ต้องกันหลายฝ่ายคือความรู้
ทั้งนี้ไม่ได้หมายความเพียงการกระจายโอกาสการศึกษาให้ทั่วถึงเท่านั้น แต่มีการชี้ให้เห็นว่า แท้ที่จริง แล้วส่วนหนึ่งของอำนาจที่ใช้ในการแย่งชิงทรัพยากรจากผู้คนจนเขากลายเป็นคนจนนั้น คือการสร้าง ความรู้ด้วยการบิดเบือน ดังเช่นกรณีผลกระทบทางเศรษฐกิจของเขื่อนปากมูลนี้ ก็มีสถาบันวิจัยมีชื่อแห่ง หนึ่งออกมารับรองว่า เขื่อนปากมูลทำให้คุณภาพชีวิตของผู้คนในท้องถิ่นดีขึ้น
ทั้งนี้สถาบันวิจัยดังกล่าวอาศัยข้อมูล จปฐ. ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีคุณค่าจำกัดมาก และการสำรวจในช่วงเวลาที่ ชาวบ้านบางกลุ่มเพิ่งได้รับเงินค่าชดเชยไป อาศัยการนับทรัพย์สมบัติที่จับต้องได้ เช่นมอเตอร์ไซค์, ตุ่ม น้ำ ฯลฯ เพื่อวัดคุณภาพชีวิตของผู้คนโดยไม่ต้องคำนึงถึงความมั่นคงในชีวิต ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งหายไปพร้อมกับแหล่งประมงขนาดใหญ่ของปากมูล
ความรู้ที่ถูกสร้างขึ้นเหล่านี้แหละ ที่ทำให้การแย่งชิงทรัพยากรจากประชาชนกลายเป็นการพัฒนา ความ หายนะของผู้คน กลายเป็นคุณภาพชีวิต การประท้วงต่อต้านของประชาชนกลายเป็นความวุ่นวายและความ เห็นแก่ตัว รายงาน FJA กลายเป็นเครื่องประดับที่ต้องทำขึ้นตามกฎหมายเท่านั้น ฯลฯ
ฉะนั้นจึงต้องสร้างความรู้ที่ถูกต้องและเป็นจริงขึ้นถ่วงดุลกับความรู้บิดเบือนเหล่านั้น จะต้องมี การสร้างเครือข่ายของนักวิชาการและชาวบ้านและสื่อเพื่อสร้างและขยายความรู้ที่ถูกต้องเหล่านี้แก่ สังคมในวงกว้าง
ชาวบ้านจะรอแต่สื่อหลักซึ่งถูกผลประโยชน์ทางธุรกิจชี้นำอย่างหนักเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ คนจนและพันธ มิตรต้องคิดถึงการสร้างสื่อทางเลือกให้มากขึ้น นับตั้งแต่การรื้อฟื้นสื่อพื้นบ้านซึ่งชาวบ้านมีความรอบรู้อยู่ แล้ว ไปจนถึงการใช้สื่ออย่างใหม่ที่รัฐและธุรกิจคุมได้ยาก เช่นอินเตอร์เน็ตหรือเทปใต้ดิน เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ทางการเมือง คือการขยายพันธมิตรทั้งทางแนวนอน คือสร้างเครือข่ายให้กว้างขวางในหมู่ชาว บ้านทั่วประเทศ และองค์กรประชาชนจากชนชั้นอื่น และทางแนวตั้งเพื่อจะทำให้เกิดความเข้าใจและการ หนุนช่วยจากคนในสังคมให้กว้างขวางขึ้น
ทุกครั้งที่รัฐสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน ทางด่วน ถนน นิคมอุตสาหกรรม โรงเผาขยะ ฯลฯ รัฐมักอ้างว่าประชาชนในท้องถิ่นควรเสียสละเพื่อชาติ
แต่ชาติคือใคร ถ้าไม่ใช่คนเล็กคนน้อยในท้องถิ่นซึ่งถูกเบียดขับให้พลัดที่นา คาที่อยู่ หรือสังเวยชีวิตปกติ สุขของตัวไปให้แก่การเบนทรัพยากรให้แก่คนจำนวนน้อยได้ใช้ เมื่อรวมคนเหล่านี้ซึ่งมีอยู่ทั่วไปตั้งแต่ ในป่า ในท้องนา ไปจนถึงกลางกรุงเทพฯแล้ว
นี่คือคนส่วนใหญ่และนี่คือชาติ
ที่ผ่านมา เราถูกทำให้คิดว่าคนคือจุดสะดุดหรือส่วนปลีกย่อยของชาติ ความคิดเช่นนี้เป็นอุปสรรคที่จะเข้า ใจและสร้างนโยบายอันเอื้อต่อคนจนได้
ตรงกันข้าม เราควรเข้าใจว่า แท้จริงแล้วคนจนนั่นแหละคือชาติ การขจัดความยากจนคือการขจัดศัตรูที่ แท้จริงของชาติ และมีความสำคัญกว่าการสร้างความมั่งคั่งของชาติ
ซึ่งจะกระจุกตัวอยู่กับคนจำนวนน้อยเท่านั้น (จากการสัมมนา "คนจนกับทางออกของสังคมไทย" ซึ่งจัดโดยมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและเครือข่ายแม่น้ำเอเชียอาคเนย์ ร่วมกับสมัชชาคนจน ที่หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 1 ระหว่าง 20-21 เมษายน 2543)
เรื่องที่ 3 "รัฐธรรมนูญผู้โดดเดี่ยว"
รัฐธรรมนูญวางเป้าหมายในระบบการเมืองไว้สองอย่างคือ ประชาธิปไตยและประสิทธิภาพในด้านหนึ่งก็ประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมั่นคง พร้อมกับจัดตั้งองค์กรและกลไกการตรวจสอบอำนาจรัฐอย่างรัดกุม ในอีกด้านหนึ่งก็ให้อำนาจนักการเมืองฝ่ายบริหารในการปรับเปลี่ยนระบบบริหารเพื่อความคล่องตัว และไม่ติดขัดอยู่กับการตอแยของฝ่ายค้านจนเกินไป เช่น ให้อำนาจในการปรับเปลี่ยนระบบราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม ได้ด้วยการออกพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น หรือการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลทั้งคณะ ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้ามาด้วย เป็นต้น
แต่คนจำนวนมากในเมืองไทย เคยเชื่อกันมาอย่างแน่นแฟ้นว่า ประชาธิปไตยกับประสิทธิภาพเป็นสองอย่างที่ไปกันไม่ค่อยราบรื่นนัก หรืออาจขัดแย้งกันด้วยซ้ำ นั่นคือเหตุผลที่มีคนพอใจสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หรือพอใจใครก็ตามที่สามารถทำให้เชื่อว่าจะสร้างประสิทธิผลในการปกครองของตัวได้ ไม่ว่าบุคคลผู้นั้นจะได้อำนาจมาจากคมหอกคมดาบหรือจากการซื้อ ส.ส. ก็ไม่เป็นที่รังเกียจ
รัฐธรรมนูญ 2540 จึงตั้งอยู่บนฐานคิดที่ค่อนข้างใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญประกาศว่าประชาธิปไตยและประสิทธิภาพเป็นของคู่กัน นอกจากประชาธิปไตยไม่ขัดแย้งกับประสิทธิภาพแล้ว ยังเป็นหนทางหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของการสร้างประสิทธิภาพในการบริหาร เพราะการบริหารจะถูกตรวจสอบทั้งจากในระบบและนอกระบบอย่างกว้างขวาง ในขณะที่ทุกคนมีสิทธิเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ จึงทำให้การบริหารนั้นละเมิดสิทธิของคนอื่นได้ยาก
แต่สาวกของแนวคิดอย่างนี้จะมีมากน้อยเท่าไรในสังคมไทยก็ไม่แน่ชัดนัก
รัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของสถาบันสำคัญๆ ออกมาได้ในช่วงเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยเผชิญมา ข้ออ้างใดๆ ที่สนับสนุนระบบการเมืองแบบเก่าฟังไม่ขึ้นอีกต่อไปแล้วสำหรับคนชั้นกลาง ถ้ามันดีจริงทุกอย่างจะพังลงอย่างที่เห็นเช่นนั้นได้อย่างไร
คนชั้นกลางในเมืองจึงเฮโลมาร่วมโบกธงเขียวอย่างหนักแน่น จนกระทั่งนักการเมืองที่เกาะกินระบบการเมืองเก่าตลอดมาต้องจำยอม คนชั้นกลางในเมืองมองรัฐธรรมนูญที่ประสิทธิภาพ
แต่ธงเขียวในชนบทคงไม่ได้มาจากประสิทธิภาพเท่าไรนัก อย่างน้อยก็ไม่ใช่ประสิทธิภาพของรัฐบาลกลาง หลังจากถูกแย่งชิงเอาทรัพยากรไปบำเรอภาคเมืองอย่างลำเอียงตลอดมา คนในชนบทไม่ศรัทธาประสิทธิภาพของระบบรวมศูนย์ใดๆ อีกแล้ว ยิ่งมีประสิทธิภาพมากยิ่งน่ากลัวกว่าด้วยซ้ำ แต่รัฐธรรมนูญใหม่สัญญาว่าจะกระจายอำนาจ หรืออย่างน้อยก็เปิดช่องทางให้เคลื่อนไหวเพื่อการกระจายอำนาจและทรัพยากรได้ถนัดถนี่มากขึ้น ฉะนั้นจึงร่วมผลักดันรัฐธรรมนูญอย่างแข็งขันไม่แพ้หรืออาจจะมากกว่าคนในเมืองด้วยซ้ำ
ถ้าคนในชนบทคาดหวังประสิทธิภาพจากรัฐธรรมนูญ เขาไม่ได้คาดหวังประสิทธิภาพของรัฐเท่ากับประสิทธิภาพของตัวเขาเอง ที่จะมีโอกาสดูแลจัดการทรัพยากรท้องถิ่นด้วยตัวเองต่างหาก
ไม่แต่เพียงความคาดหวังด้านประสิทธิภาพของรัฐธรรมนูญจะต่างกัน คนชนบทให้ความสำคัญต่อมิติประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญมากกว่ามิติประสิทธิภาพ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้พูดถึงสิทธิชุมชนที่จะดูแลอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่น พูดถึงอำนาจของประชาชนที่จะคะคานกับอำนาจรัฐที่ถูกใช้อย่างฉ้อฉล เช่น การฟ้องศาลปกครอง หรือการทำประชาพิจารณ์ต่างหาก ที่ทำให้คนในชนบทคิดว่าจะสามารถปกป้องตนเองจาก "รัฐที่มีประสิทธิภาพ" ได้
คนในชนบทจึงพากันโบกธงเขียวเพื่อกดดันนักการเมืองให้ต้องผ่านร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ใช่เพื่อรัฐที่มีประสิทธิภาพเท่ากับรัฐที่เป็นประชาธิปไตย
คนชั้นกลางในเมืองและคนในชนบทจับมือเพื่อผลักดันรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน แต่ทั้งสองฝ่ายมองดาวคนละดวง แม้รัฐธรรมนูญจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างท่วมท้น แต่แนวคิดสำคัญของรัฐธรรมนูญที่ว่าประชาธิปไตยและประสิทธิภาพเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน กลับเป็นแนวคิดที่ไม่มีฝ่ายใดศรัทธาจริงเลย
ผ่านเวลาไปสี่ปี ผ่านรัฐบาลมาสามรัฐบาล ฝ่ายหนึ่งก็ยังร่ำร้องหาประสิทธิภาพ อีกฝ่ายหนึ่งก็ยังร่ำร้องหาประชาธิปไตย "ความเป็นจริงใหม่" ที่รัฐธรรมนูญสร้างขึ้นประจักษ์เต็มตาดูเหมือนจะทำให้เห็นว่าไม่มีฝ่ายใดบรรลุเป้าประสงค์ที่ตัวคาดหวังจากรัฐธรรมนูญสักฝ่ายเดียว
องค์กรที่เกิดใหม่ตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ให้ความหวัง ไม่ว่าทางด้านประชาธิปไตยหรือด้านประสิทธิภาพ วุฒิสภาจากการเลือกตั้งหรือ? ฮ่ะ! คุณกำลังพูดถึงสายไหนครับ? และเพราะวุฒิสภาจากการเลือกตั้งเป็นปมเงื่อนสำคัญเนื่องจากมีอำนาจแต่งตั้งองค์กรอิสระอีกหลายอย่าง ฉะนั้นถ้าถามถึงองค์กรอิสระเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็น กกต., ป.ป.ช., ศาลรัฐธรรมนูญ, กสช.และ กทช.ซึ่งจะเกิดในอนาคต ฯลฯ องค์กรอิสระเหล่านี้จึงไม่รอดพ้นจากคำถามเดิม คุณกำลังพูดถึงสายไหนครับ?
คนชั้นกลางในเมืองรอให้รัฐธรรมนูญส่งมอบประสิทธิภาพมาเกือบสี่ปี แต่ก็ยังรู้สึกตัวว่ารอเก้อ เพราะเศรษฐกิจยังคงไม่ฟื้นตัวอยู่นั่นเอง ในขณะที่คนในชนบทรอให้รัฐธรรมนูญส่งมอบประชาธิปไตยมาเกือบสี่ปี แต่ก็รู้สึกตัวว่ารอเก้อเหมือนกัน เพราะคนในชนบทยังไม่ได้เข้าใกล้การจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นด้วยตัวเองมากขึ้นแต่อย่างใด เคยไร้อำนาจในการควบคุมการใช้อำนาจรัฐอย่างไรก็ยังไร้อำนาจอย่างนั้น
พรรค ทรท.ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างท่วมท้น เพราะ ทรท.ทำให้คนชั้นกลางในเมืองเชื่อโดยผ่านนักธุรกิจดังๆ ว่า ทรท.นี่แหละที่จะส่งมอบประสิทธิภาพให้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทรท.ทำให้คนในชนบทเชื่อโดยผ่านอดีตเอ็นจีโอและอดีตนักศึกษาฝ่ายซ้ายว่า ทรท.นี่แหละที่จะมอบประชาธิปไตยให้แก่ชาวบ้านในพริบตา
ความคาดหวังของคนทั้งสองฝ่ายเปลี่ยนจากรัฐธรรมนูญมาเป็นคุณทักษิณ ชินวัตร เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ให้คำตอบ คุณทักษิณนี่แหละที่จะให้คำตอบแทนรัฐธรรมนูญ ประชาชนโดยเฉพาะคนชั้นกลางในเมือง จึงทิ้งธงเขียว แล้วชูธงเหลืองขึ้นแทนเพื่อรักษาคำตอบของตนเอาไว้
เมื่อปราศจากธงเขียวที่มุ่งจะหลอมรวมประชาธิปไตยกับประสิทธิภาพเข้าด้วยกัน ประชาธิปไตยกับประสิทธิภาพก็เริ่มจะกลับเป็นปรปักษ์กันตามแนวคิดที่มีมานานในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง นับวันรัฐบาล ทรท.จะเลือกทั้งสองอย่างยากขึ้น จะเลือกประสิทธิภาพก็ต้องเมินต่อประชาธิปไตย จะเลือกประชาธิปไตยก็ต้องเมินต่อประสิทธิภาพ
รัฐบาล ทรท.จะเลือกอะไร?
ค่อนข้างจะชัดเจนว่า รัฐบาล ทรท.เลือกฝ่ายประสิทธิภาพ ยิ่งในระยะท้ายก็ยิ่งเห็นการเลือกของ ทรท.ชัดเจนขึ้น
นับตั้งแต่แรก โครงการของรัฐบาลที่เข้าไปช่วยเหลือชนบท ไม่ว่าจะเป็นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค, กองทุนหมู่บ้าน, ธนาคารคนจน, หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งผลิตภัณฑ์ ล้วนเป็นโครงการในลักษณะสังคมสงเคราะห์ทั้งสิ้น โครงการสังคมสงเคราะห์ก็คือโครงการที่อำนาจอยู่ที่ผู้ให้ ทรท.ยังไม่ได้ทำอะไรสักอย่างเดียวที่จะเพิ่มสิทธิและอำนาจของชาวบ้านในชนบทในการเข้าไปดูแลจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น
สินค้าประชาธิปไตยยังไม่ได้ส่งไปยังหมู่บ้านด้วยประการทั้งปวง จริงอยู่ในการต่อสู้กับการใช้อำนาจรัฐของข้าราชการ ชาวบ้านสามารถเข้าถึงเส้นสายของ ทรท.ได้สะดวกขึ้น แต่การต่อสู้ด้วยเส้นสายก็หมายความว่าอำนาจที่แท้จริงก็ยังอยู่ที่เดิมนั่นเอง ชาวบ้านเป็นแต่ผู้ร้องขอ
ยิ่งกว่านี้ โครงการสังคมสงเคราะห์เหล่านี้ รัฐบาลก็ย้ำเสมอว่ามีส่วนสำคัญในการกู้วิกฤตเศรษฐกิจ เช่น สร้างกำลังซื้อให้แก่คนในระดับล่าง เพื่อสร้างตลาดภายในที่เข้มแข็งขึ้นมาช่วยประทังการส่งออกที่หดตัวลง
ตรงกันข้ามกับโครงการสังคมสงเคราะห์ โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของ ทรท.ที่ทำในภาคเมือง เน้นประสิทธิภาพเหนือประชาธิปไตยอย่างเห็นได้ชัด กฎหมายทีเอเอ็มซียังอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ เพราะถูกร้องค้านว่าละเมิดสิทธิที่รัฐธรรมนูญให้หลักประกันอย่างชัดแจ้ง และในท้ายที่สุดเมื่อไม่นานมานี้คณะกรรมการของบรรษัทก็ลงมติไปแล้วที่จะเพิ่มภาระความเสี่ยงต่อหนี้เสียของธนาคารให้แก่เงินสาธารณะ ด้วยการประเมินราคาหลักทรัพย์ตามการประเมินของธนาคาร ทั้งๆ ที่ก็รู้ดีกันอยู่แล้วว่า หนี้เสียของธนาคารจำนวนมากเกิดจากการประเมินมูลค่าหลักทรัพย์อย่างไม่สุจริต
แต่ทั้งนี้ก็ช่วยพยุงราคาหุ้นของสถาบันการเงินในตลาดหลักทรัพย์เอาไว้
มติ ครม.อนุมัติให้เลี้ยงกุ้งในแหล่งน้ำจืดรอความเห็นชอบของหน่วยงานราชการซึ่งไม่ได้กินเหล็กกินไหลมาจากไหนเท่านั้นก็จะผ่านฉลุย นายกรัฐมนตรีชี้แจงว่า แม้จะเอื้อต่อธุรกิจเอกชนบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะจะทำให้รัฐเก็บภาษีจากธุรกิจเหล่านั้นได้เพิ่มขึ้น ทั้งยังทำเงินเข้าประเทศเป็นแสนล้านบาท ส่วนมูลค่าของความเสียหายที่จะเกิดกับคนเล็กคนน้อยและแผ่นดินจะเป็นเท่าไร ไม่ต้องคำนึงถึง ประสิทธิภาพย่อมมาก่อนอะไรทั้งสิ้น
ผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง กำลังจะมีอำนาจเท่าพระราชาน้อยๆ ในจังหวัดของตัวเอง ไม่มีใครในที่ประชุมสัมมนาถามถึงความชอบธรรมของอำนาจอันล้นฟ้านั้น ก็จะเอาประสิทธิภาพไม่ใช่หรือ จะมัวถามถึงความชอบธรรมอยู่ได้อย่างไร
ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเสนอให้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญให้หลักประกันเพื่อปราบยาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การดักฟังโทรศัพท์ และการค้นเคหสถานโดยไม่มีหมายศาล อีกทั้งยังควรออกกฎหมายพิเศษยกเว้นโทษด้วยประการทั้งปวงให้แก่เจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงานด้วย ชัดเจนว่าประสิทธิภาพย่อมมาก่อนประชาธิปไตย
และแน่นอนว่า ข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญออกจากปากทั้งของคนและไดโนเสาร์ ทรท.อย่างพรั่งพรู เดี๋ยวข้อนั้น เดี๋ยวข้อนี้ ล้วนเป็นข้อเสนอเพื่อลดการตรวจสอบในนามของการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งสิ้น แต่เราไม่เคยได้ยินข้อเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มมิติประชาธิปไตยเลย เช่น ไม่มีใครตะขิดตะขวงใจว่า ในระบอบประชาธิปไตยผลของประชามติไม่ผูกมัดฝ่ายบริหารได้อย่างไร เป็นต้น
คำถามที่น่าจับตาดูให้ดีก็คือ เมื่อประชาธิปไตยกับประสิทธิภาพแยกทางกันเดินในสังคมไทยอีกครั้งหนึ่งเช่นนี้ จะเป็นผลให้คนชั้นกลางและคนในชนบทแยกทางกันเดินด้วยหรือไม่? และถ้าแยกทางกันเดิน จะมีผลต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างไร?
เรื่องที่ 4 "เบี้ยกุดชุม"
ผมเคยถามนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงท่านหนึ่งว่า ทำไมเศรษฐศาสตร์ต้องวางเป้าหมายของเศรษฐกิจ ไว้ที่ความเติบโต ในเมื่อโลกมีทรัพยากรจำกัด สักวันหนึ่งก็ย่อมไม่เพียงพอสำหรับหล่อเลี้ยงเป้าหมายนั้น ต่อไปได้
ท่านตอบแบบนักวิชาการเป๊ะว่า สมัยหนึ่งเป้าหมายทางเศรษฐกิจของเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่ความเติบโต แต่ เป็นเสถียรภาพ คือไม่หดลงและไม่โตขึ้นต่างหาก
แต่ต่อมานักเศรษฐศาสตร์ก็มาพบว่า เป้าหมายนี้ไม่เคยเกิดขึ้นจริงเลย คือเมื่อวัดในแต่ละปีแล้ว ก็ไม่พบ เศรษฐกิจของใครอยู่นิ่งๆ อย่างนั้นสักแห่งเดียว เขาจึงเบนเป้าหมายทางเศรษฐกิจมาสู่ความเติบโตแทน
สรุปก็คือ เป้าหมายไม่ได้ตามใจชอบของนักเศรษฐศาสตร์ แต่เกิดขึ้นจากประจักษ์พยานซึ่งมีอยู่ จริง
ส่วนเรื่องทรัพยากรนั้นท่านบอกว่าไม่ต้องห่วง เพราะทรัพยากรมีเหลือเฟือ อ้ายนี่หมดก็เอาอ้ายโน่นมาใช้ แทนได้ เช่น น้ำมันหมดโลก ก็ยังมีพลังงานในรูปอื่นๆ เช่น ดวงอาทิตย์, นิวเคลียร์, ลม ฯลฯ ไว้ให้ใช้ได้ ไม่สิ้นสุด ท่านบอกว่าประจักษ์พยานอีกล่ะครับที่บ่งบอกไว้ในประวัติศาสตร์ว่า มนุษย์สามารถพัฒนาเทค โนโลยีขึ้นมาตักตวงทรัพยากรไปได้อีกนาน
ใครๆ ก็คงเดาได้ว่า นักเศรษฐศาสตร์ท่านนั้นเป็นนักเศรษฐศาสตร์ในสายที่ยึดมั่นในญาณวิทยาสำนัก ประจักษ์นิยม ... ซึ่งอาจสรุปได้ว่า อย่าคิดเอง มันมีตัวเลขข้อมูลจริงกำกับการคิดของเราทุกเรื่อง (ว่ากันตาม ฐานของความเชื่อทางญาณวิทยาของสำนักนี้)
ผมไม่มีความรู้และความฉลาดพอจะไปเถียงท่านได้ แต่กระนั้นก็รู้สักทะแม่งๆ กับคำอธิบายของ ท่าน ได้แต่หวังว่าสักวันคงหาคำอธิบายใหม่ที่น่าพอใจกว่ามาให้แก่ตนเองได้กระมัง
จนกระทั่งได้ข่าวเรื่องเบี้ยกุดชุม จึงทำให้ต้องลงมือค้นหาความรู้เกี่ยวกับ "เงินตรา" หรือธนบัตรเท่าที่สติ ปัญญาอันจำกัดจะค้นหาได้ เลยได้ไปพบคำตอบเกี่ยวกับเหตุผลที่ทำไมต้องวางเป้าหมายทางเศรษฐกิจไว้ ที่ความเติบโต อันเป็นคำตอบที่ผมพอใจมากกว่า
คนที่ปั๊มเงินตราออกมานั้นชื่อธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารกลาง แต่เขาไม่ได้ปั๊มเงินตราออกมาตามมูลค่า ของสินค้าและบริการซึ่งมีอยู่จริงหรอกครับ เขาปั๊มออกมาตามคำขอกู้ที่เขาไว้วางใจว่าจะใช้หนี้เขาได้ต่าง หาก เช่น รัฐบาลขอกู้จากธนาคารกลาง เป็นต้น หรือธนาคารพาณิชย์ให้คนกู้มากกว่าจำนวนทรัพย์ที่เขามี อยู่จริง
เงินตราจึงเป็นกระดาษที่ไม่ได้มีมูลค่าจริงอยู่เลย แต่ที่เราใช้มันเป็นตัวกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนได้ก็ เพราะเราต่างเชื่อหรือไว้วางใจมันต่างหาก ไม่ได้ต่างจากเบี้ยกุดชุมตรงไหนเลย คือเริ่มต้นคนรับเบี้ยกุด ชุมต้องเชื่อก่อนว่า มันมีมูลค่าจริงตามที่ระบุเอาไว้ คือเอาไปแลกสินค้าและบริการอื่นได้ในอนาคต ภาษา ฝรั่งเรียกเงินตราอย่างนี้ว่า fiat money (ตามความหมายอย่างหลวมๆ)
ธนาคารไม่ได้ปั๊มเงินตราเล่น แต่ปั๊มขึ้นมาเพื่อทำกำไรที่เรียกว่าดอกเบี้ย คราวนี้ลองคิดดูสิครับว่าถ้ารัฐ บาลยืมเงินตราธนาคารกลาง (คือให้ธนาคารกลางปั๊มเงินตราออกมา) 1 ล้านบาท ก็จะเกิดธนบัตรขึ้น 1 ล้าน บาท ซึ่งกระจายกันไป
อย่างไรก็ตาม ในที่สุดรัฐก็จะเก็บภาษีจากประชาชนเอามาคืนธนาคารได้ 1 ล้านบาท แต่ธนาคารไม่ได้ต้อง การเงินตราคืนแค่นั้น หากต้องการ 1 ล้าน 1 แสนบาท คือรวมดอกเบี้ยอีก 1 แสนบาทลงไปด้วย ถามว่าธน บัตร 1 แสนบาทนี้ไปหามาได้จากไหน ?
คำตอบถึงที่สุดก็คือ ต้องมีการยืมเงินตรา (หรือปั๊มเงินตรา) จำนวนใหม่เพื่อให้มีธนบัตรเหลือ เกิน 1 ล้านบาท สำหรับใช้ดอกอีก 1 แสนบาทสิครับ พูดง่ายๆ ก็คือสร้างหนี้รายใหม่เพื่อใช้หนี้ รายเก่า
ในขณะเดียวกันธนาคารก็มีกำไรได้จากการให้กู้ยืมเพื่อกินดอก ฉะนั้นก็จะมีการปล่อยกู้กันอุตลุดต่อไป จึงเกิดหนี้สินกันเต็มไปหมดทั้งโลก แต่ระบบการเงินนั้นซับซ้อนจนเราไม่รู้สึกว่า เงินคือหนี้ที่มีกับธนาคาร เท่านั้น สมบัติทั้งหลายก็เป็นของธนาคารซึ่งยึดเอาไว้เป็นหลักทรัพย์ประกันเงินกู้ บ้านก็เป็นของธนาคาร รถก็ใช่ แม้แต่บริษัทที่เราทำงานอยู่ก็ดำเนินงานอยู่ด้วยเงินกู้ของธนาคาร
เขาจึงว่ากันว่า ถ้าเราใช้หนี้กันให้หมดเกลี้ยงแล้ว ก็จะไม่มีเงินตราเหลืออยู่ในโลกนี้อีกเลย เงินตราจะ กลายเป็นเศษกระดาษไร้ค่ากองพะเนินเทินทึกอยู่ในธนาคารเท่านั้นเอง
แต่การใช้หนี้ให้หมดเกลี้ยงนั้นเกิดขึ้นไม่ได้ เพราะหนี้ทุกหนี้มีดอกเบี้ยต้องจ่าย และดังที่กล่าวแล้วว่าดอก เบี้ยนั้นจ่ายคืนได้ด้วยการสร้างหนี้อันใหม่ขึ้นมาจ่ายเท่านั้น ฉะนั้นผลที่สุดแล้วก็จะมีการปั๊มเงินตราออก มาจากธนาคารเพื่อสร้างหนี้ใหม่มาจ่ายหนี้เก่าเป็นปริมาณสูงขึ้นๆ ไปเรื่อยๆ
นี่ไม่ใช่หรือครับที่เป้าหมายทางเศรษฐกิจต้องเป็นความจำเริญหรือการเติบโตอย่างไม่เห็นฝั่ง
เราทุกคนก็ต้องทำงานหนัก ทำกำไรและขูดรีดกันเองอย่างเมามัน เพื่อใช้หนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่หมดเสียที จนกว่าจะกระโดดตึกลงมาโหม่งโลกหรือหลุดออกไปจากอำนาจเงินตราที่เติบโตด้วยดอกเบี้ย
ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า เงินตราเป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้ของการขูดรีดกันอย่างไม่อั้น เพราะถ้าไม่อาศัย เงินตรา เจ้าของฝูงงัวก็ไม่รู้จะสะสมงัวไว้เกินกำลังการใช้สอยและการเลี้ยงดูของตัวไปทำไม และเงินตรานี่ เองที่ทำให้อะไรต่อมิอะไรเช่น แรงงาน, ทรัพยากร, คน ฯลฯ ถูกดูดจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้ไกลลิบ
ทำให้คนหมดพลังทางเศรษฐกิจ ทั้งๆ ที่ก็มีแรงงาน, เวลา, ฝีมือ, ความสัมพันธ์ทางสังคม ฯลฯ เท่าเดิม แต่ เพราะไม่มีเงินตราจึงไม่สามารถใช้แรงงาน, เวลา, ฝีมือ ฯลฯ ของตัวได้อีก
นี่ละครับ คือความแตกต่างที่สำคัญระหว่างธนบัตรกับเบี้ยกุดชุม ธนบัตรไม่ได้เกิดขึ้นจากมูลค่า ของอะไรเลย ในขณะที่เบี้ยกุดชุมวางอยู่บนมูลค่าจริงของสินค้าและบริการที่แลกเปลี่ยนกัน
ฉะนั้นถ้าไม่กระโดดตึกตาย การดิ้นให้หลุดออกจากอำนาจเงินตราประเภทปั๊มกินดอกจึงมีความสำคัญ อย่างมากและทั่วทั้งโลกนี้ มีคนหลากหลายกลุ่มพยายามหาหนทางที่จะดิ้นให้หลุดออกจากระบบเงินตรา ด้วยการทดลองปฏิบัติการกันหลายรูปแบบ ภายใต้หลักการสำคัญที่ว่า ตัวกลางสำหรับใช้ในการแลก เปลี่ยนสินค้าและบริการกันนั้น จะสะท้อนค่าตามที่ผู้ซื้อและผู้ขายเป็นผู้ให้เอง โดยไม่ต้องเผื่อเอาไว้จ่าย ดอกแก่ธนาคาร ดังเช่นกรณีของเบี้ยกุดชุมนี้
และเพราะตัวกลางเช่นนี้เป็นสิ่งที่ชุมชนในท้องถิ่นสร้างขึ้นเองด้วยการตกลงปลงใจร่วมกัน ความศักดิ์สิทธิ์ ของตัวกลางจึงตั้งอยู่บนความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ส่วนความไว้เนื้อเชื่อใจกันนั้นเกิดขึ้นได้จากความสัมพันธ์ ที่เกื้อกูลกันของชุมชนเอง ความสัมพันธ์ในเชิงเกื้อกูลกันหรือความเป็นปึกแผ่น จึงมักเป็นหัวใจของการ รวมกลุ่มเพื่อสร้างตัวกลางสำหรับการแลกเปลี่ยนในท้องถิ่นเหล่านี้เสมอ
อย่างที่กล่าวแล้วว่า ปฏิบัติการเพื่อหลุดออกจากอำนาจเงินตรานั้นทำกันหลายรูปแบบทั่วโลก แต่ไม่ได้ หมายความว่าจะปฏิเสธเงินตราส่วนกลาง เพราะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากไม่มีชุมชนไหนที่จะสามารถผลิต ทุกอย่างขึ้นใช้เองได้
ปัญหาคือจะเชื่อมต่อกับเงินตราส่วนกลางของชาติหรือของโลกอย่างไร จึงจะไม่ถูกดูดกลืนของแรงงานไป เลี้ยงดอกเบี้ยธนาคารอีกเป็นสิ่งที่ต้องลองผิดลองถูกกันมาโดยตลอด
ในขณะเดียวกัน การขยายระบบตัวกลางท้องถิ่นให้กว้างขวางมากๆ ก็อาจเป็นผลให้ชุมชนหนึ่งสามารถดูด เอาทรัพยากรและแรงงานจากอีกชุมชนหนึ่งไปกระจุกไว้กับตัวมันอย่างไม่เป็นธรรมได้
นี่ก็เป็นเรื่องที่ลองผิดลองถูกกันมาหลายวิธี
ไม่มีวิธีการใดในโลกที่เป็นวิธีการสำเร็จรูปซึ่งเราสามารถลอกมาใช้ได้ทันที เพราะแต่ละท้องถิ่นก็มีความ แตกต่างที่เป็นลักษณะเฉพาะของตนเอง กุดชุมได้เริ่มต้นบุกเบิกไปในทิศทางที่มีความสำคัญต่อประเทศ ไทยและต่อโลกเป็นอย่างยิ่ง เพราะเราสามารถมองเห็นได้อย่างง่ายๆ ว่า การปั๊มเงินเพื่อสร้างดอกเบี้ยจะ นำไปสู่ความหายนะ เท่าๆ กับการวางเป้าหมายทางเศรษฐกิจไว้ที่ความเติบโตอย่างไม่มีที่สิ้นสุดก็เป็นไป ได้สำหรับทรัพยากรอันมีจำกัดของโลก
ทั้งประเทศไทยและโลกต้องมีทางเลือกสำหรับการแลกเปลี่ยนหรือการค้า อันเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้ และยังสันติสุขมาสู่มวลมนุษย์มากกว่าระบบเงินตราของธนาคาร
นี่ไม่ใช่เรื่องสำคัญขนาดคอขาดบาดตายหรอกหรือ
ถ้าผมเป็น บ.ก.หนังสือพิมพ์ ผมคงจะส่งนักข่าวไปประจำที่กุดชุมสักคนหรือสองคน เพื่อทำความเข้าใจและ สื่อข่าวสำคัญยิ่งนี้มาสู่สังคมในวงกว้าง ถ้ายังไม่มีงบประมาณ ก็ถอนนักข่าวจากรังนกกระจอกที่ทำเนียบ และนักข่าวที่ตามข่าวองค์กรการค้าโลกมา เสียก็ได้
เพราะถึงอย่างไรก็ไม่มีข่าวสำคัญขนาดกุมชุมอยู่ที่นั่นอย่างแน่นอน
กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
สำหรับการนำเอาบทความของ อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ มารวมอยู่ใน website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ในชื่อ "ข้อคิดและมุมมองของนิธิ" : รวมบทความที่เคยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์(1) ีวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อจะรวบรวมงานดังกล่าวสำหรับนักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจที่พลาดงานของอาจารย์ใน webboard ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และต้องการจะอ่าน สามารถที่จะมาดูได้จากหน้านี้ ซึ่งจะทยอยนำมาเผยแพร่เป็นระยะๆ ส่วนจะนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านใด ก็สุดแล้วแต่
บทความเหล่านี้ เป็นงานที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่มาแล้วในมติชนรายวัน และสุดสัปดาห์ แต่ไม่ได้ใส่วันที่ไว้ เพราะตอนที่เริ่มเก็บรวบรวม ก็คิดว่าจะเอามาอ่านเอง เลยไม่ได้ทำอ้างอิงถูกต้องตามหลักวิชาการไว้ จึงขออภัยมา ณ ที่นี้
สำหรับตอนที่ 1 ได้นำเอาบทความจำนวน
4 ชิ้น มารวมอยู่ใน webpage เดียวกัน คือ
1. วัฒนธรรมการอ่าน (เป็นการวิเคราะห์เรื่องการอ่านและการฟัง ซึ่งมีวัฒนธรรมในการสื่อสารแตกต่างกัน)
2. คนจนกับทางออกของสังคม (เป็นการวิเคราะห์ถึงความยากจนในสังคมไทย ที่เกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้าง
และความไม่เป็นทำในการจัดสรรทรัพยากร)
3.รัฐธรรมนูญผู้โดดเดี่ยว (วิเคราะห์การมองรัฐธรรมนูญจากมุมของคนเมืองกับคนชนบทที่แตกต่างกัน)
4. เบี้ยกุดชุม (เป็นการค้นหาคำอธิบายเรื่องเศรษฐศาสตร์ และการเปรียบเทียบเงินตรา
กับ เบี้ยกุดชุม)
หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากการอ่านงานของ อ.นิธิ จะทำให้เราเข้าใจสังคมไทยมากขึ้น
1
นโยบายพัฒนาที่มุ่งแต่จะสร้างความมั่งคั่งให้แก่คนจำนวนน้อย โดยการที่รัฐแย่งชิงเอาทรัพยากรจากคน ส่วนใหญ่ไปบำเรอผลประโยชน์ของคนส่วนน้อยตลอดเวลา ก็เป็นสาเหตุที่สำคัญของความยากจนในเมือง ไทย ยิ่งคนจนไร้อำนาจก็ยิ่งทำให้ไม่สามารถปรับเปลี่ยนนโยบายพัฒนาได้เลย ดังเช่นทีมผู้ยกตัวอย่าง จากการศึกษามูลค่าน้ำในเขื่อนที่สร้างอ่างเก็บน้ำบางแห่งว่า น้ำหนึ่งลูกบาศก์เมตรจะมีราคาต้นทุนตั้งแต่ 40-20 กว่าบาท ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาไปใช้ในการผลิตอะไรให้กำไร
แต่ที่สามารถทำได้ก็เพราะผลักภาระต้นทุนส่วนใหญ่ไปให้ประชาชนโดยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยต่าง