บทความนำ ก่อนเปิดชั้นเรียนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เรื่อง "พลังงานกับงานที่มีพลัง" วันเสาร์ที่ 2-9-16 กุมภาพันธ์ 2545 ณ สวนอัญญา อ.เมือง จ.เชียงใหม่

อรศรี งามวิทยาพงศ์

โครงเรื่อง "วิกฤตพลังงาน : กับดักของการพัฒนาโลกาภิวัตน์"
๑. แก้ปัญหาด้วยมายาคติ
๑.๑ วิเคราะห์แบบเก่า : เอามายาเป็นฐาน
๑.๒ แก้ปัญหาแบบเก่า
๑.๓ คิดแบบใหม่ ไปให้พ้นมายา

๒. วิกฤตพลังงาน : มันมากับอหังการ
๒.๑ การเปลี่ยนแปลงทัศนะต่อธรรมชาติ ๒.๒ การเปลี่ยนแปลงทัศนะต่อชีวิต
๒.๓ การเปลี่ยนแปลงค่านิยม

๓. ย้อนรอยพลังงานไทย : ใครใช้ ใครได้
๓.๑ วิกฤตการณ์ธรรมชาติของประเทศ
๓.๒ วิกฤตการณ์ทางสังคม

บทสรุป : พลังงานในวิธีคิดใหม่

ในภาคอุตสาหกรรมนั้น อุตสาหกรรมอาหารใช้พลังงานในการผลิตมากเป็นอันดับหนึ่ง สะท้อนถึงการกินอยู่ของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากที่เคยกินใช้ของในท้องถิ่น ชุมชนมาเป็นการกินการใช้สินค้าข้าวของแบบเดียวกันทั้งประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ดอยหรืออยู่เกาะ อยู่กรุงเทพฯหรือแม่ฮ่องสอน มีผลให้เกิดการผลิตและการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภค จากแหล่งผลิตหรือโรงงานสู่ผู้บริโภคในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศเพิ่มมากขึ้นทั้งทางรถไฟ รถยนต์ เครื่องบิน ...การปรากฏตัวของบะหมี่สำเร็จรูป กาแฟกระป๋อง น้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยวแบบใหม่ ฯลฯ ในเกือบทุกหมู่บ้านของประเทศไทย ร้านอาหารฟาสฟูดตามเมืองเล็กเมืองน้อย อาหารจานหรูจากยุโรปที่ลัดฟ้ามาอยู่ในโรงแรมใหญ่ ฯลฯ เป็นเครื่องบ่งชี้ที่ชัดเจน ของการใช้พลังงาน เพื่อการโภคแบบใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น
ภาพประกอบบทความ ผลงานของ Jerry Lofaro เทคนิคสี Acrylics จากหนังสือ ILLUSTRATION THIRTY-THREE ภาพที่ 63
H
home
156
บทความลำดับที่
หากประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลง จะแก้ปัญหาได้ / บทความนี้ยาวประมาณ 14 หน้ากระดาษ A4
300145
release date
CP
MP
WB
Contents P.
Member P.
Webboard

วิกฤตพลังงาน : กับดักของการพัฒนาโลกาภิวัตน์
อรศรี งามวิทยาพงศ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

๑. แก้ปัญหาด้วยมายาคติ

มนุษย์เปลี่ยนโฉมหน้าการใช้พลังงานครั้งใหญ่ที่สุด เมื่อสามารถค้นพบแหล่งน้ำมันและรู้จักวิธีการนำน้ำมันออกมาใช้เป็นครั้งแรก เมื่อพ.ศ. ๒๔๐๒ หรือเมื่อ 140 กว่าปีที่แล้วในสหรัฐอเมริกา แต่คำว่า "วิกฤตการณ์พลังงาน"เพิ่งมีการพูดถึงอย่างจริงจังทั่วโลก เมื่อกลุ่มผู้ค้าน้ำมันชาติอาหรับหรือโอเปค ประกาศขึ้นราคาน้ำมัน ก่อให้เกิดความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจไปทั่วโลกในช่วงปี ๒๕๑๖ และต่อเนื่องมาเป็นระลอก ๆ จนกระทั่งวิกฤตการณ์ได้ขยายจากปัญหาของราคามาสู่ความตระหนกตกตะลึงว่า ผลกระทบจากการใช้พลังงานของมนุษย์ ได้ก่อวิกฤตการณ์ต่อระบบนิเวศหรือสิ่งแวดล้อมของโลกอย่างน่าหวาดหวั่นด้วย โดยเฉพาะผลกระทบจากอาการโลกร้อนอันเนื่องมาจากการใช้พลังงานของมนุษย์


ในความคิดทั่วไปนั้น เมื่อกล่าวถึง"วิกฤตการณ์พลังงาน" มักจะหมายถึง
-
แหล่งพลังงานธรรมชาติประเภทสร้างทดแทนใหม่ไม่ได้ เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติกำลังขาดแคลน จวนเจียนจะหมดโลก ความร่อยหรอของแหล่งพลังงานจะทำให้พลังงานยิ่งมีราคาแพงมากขึ้น ความหวาดวิตกว่าพลังงานจะหมดโลก มีราคาแพง ทำให้มนุษย์รู้สึกว่าเกิดวิกฤตพลังงานที่ต้องเร่งแก้ไขจัดการ ป้องกัน

- การผลิตและการใช้พลังงานของมนุษย์ จากที่เคยใช้คนละ ๒,๐๐๐ กิโลแคลอรีต่อวันในสมัยโบราณ กลายเป็น ๒๓๐,๐๐๐ กิโลแคลอรีต่อวัน(คนอเมริกัน) ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศหรือสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติอย่างรุนแรง อย่างชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เช่น การใช้พื้นที่ป่าเพื่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้ทำลายระบบนิเวศของป่าไปทั่วโลก การขนส่งน้ำมันก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำจากการรั่วไหลของน้ำมัน และการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์และกากนิวเคลียร์ การเกิดควันพิษ หมอกพิษในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก ฯลฯ ผลจากการใช้พลังงานมาก ทำให้โลกเกิดอาการร้อนผิดปกติที่เรียกว่าปฏิกริยาเรือนกระจก และเกิดรูโหว่ในบรรยากาศชั้นโอโซนที่ก่อผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ ทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังเพิ่มมากขึ้น ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ ฤดูกาลเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น วิกฤตการณ์พลังงานจึงพ่วงตามด้วยวิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่จะต้องเร่งค้นหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขโดยเร่งด่วน

๑.๑ วิเคราะห์แบบเก่า : เอามายาเป็นฐาน
ในแนวคิดกระแสหลักปัจจุบันนั้น วิกฤตการณ์พลังงานที่เกิดขึ้น มักได้รับการวิเคราะห์ว่า มีสาเหตุมาจาก
- ประชากรของโลกมีเพิ่มมากขึ้น จนกระทั่งแหล่งพลังงานมีไม่เพียงพอ จึงมีราคาแพงขึ้น และปริมาณการใช้ที่เพิ่มมากขึ้นจากประชากรโลก ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย

- ขาดการวางแผนและจัดการ ทำให้การใช้พลังงานไร้ประสิทธิภาพ ไม่คุ้มค่า และขาดแผนแก้ไขผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงาน

- การใช้เทคโนโลยีมากและไม่เหมาะสม ทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ไม่คำนึงถึงการอนุรักษ์พลังงาน

- ขาดการรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ทำให้ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาทั้งหลายร่วมกัน

๑.๒ แก้ปัญหาแบบเก่า
จากความคิดที่ว่าวิกฤตมาจากสาเหตุที่กล่าวมา การแก้ไขปัญหาจึงมักดำเนินการดังนี้
- มาตรการทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพเต็มร้อย คุ้มค่าและประหยัด ให้การผลิตการบริโภคมีความรับผิดชอบต่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

- มาตรการทางกฎหมาย มีกฎหมายส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กฎหมายด้านภาษีอากรเพื่อจูงใจให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน ฯลฯ

- มาตรการการศึกษา มีการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม นำมาตรฐาน ISO 14000 มาใช้กับโรงเรียน มีกิจกรรมออกค่ายอนุรักษ์พลังงาน การปลูกป่า ฯลฯ

- มาตรการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ มีการเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลทางสื่อมวลชนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เชิญชวนให้ประชาชนร่วมมือกันประหยัดน้ำ ไฟฟ้า การใช้รถยนต์ร่วม ฯลฯ

- มาตรการทางเทคโนโลยี ส่งเสริมการคิดค้นพลังงานทดแทน และแหล่งพลังงานแบบใหม่อุปกรณ์ประหยัดพลังงานต่าง ๆ มากมาย

แม้ว่ามาตรการเหล่านี้จะมีประโยชน์และมีส่วนช่วยให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานได้ แต่เมื่อคิดอย่างรอบด้านแล้ว จะพบว่า วิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ยังไม่เพียงพอ เพราะการวิเคราะห์สาเหตุของวิกฤตการณ์ยังไปไม่ถึงสาเหตุที่แท้จริงของโรค การสั่งยาจึงเป็นเพียงการบรรเทาอาการของโรคไว้ชั่วคราวเท่านั้น เหมือนอาการปวดศรีษะอันเนื่องมาจากโรคฟัน ตราบใดที่ยังไม่รักษาโรคฟัน อาการปวดศรีษะก็ไม่อาจหายขาดได้ แต่อาจระงับไว้ได้ชั่วคราวด้วยการกินยาแก้ปวด การแก้ไขวิกฤตการณ์ที่ผ่านมา อยู่ในลักษณะเดียวกันนี้

๑.๓ คิดแบบใหม่ ไปให้พ้นมายา
หากย้อนกลับไปดูสาเหตุที่วิเคราะห์ไว้ว่าทำให้เกิดวิกฤตการณ์พลังงาน ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุประชากรเพิ่มมากขึ้น ขาดการวางแผนจัดการที่ถูกต้อง การใช้เทคโนโลยีมากและไม่เหมาะสม ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหา จะพบว่า เรายังติดอยู่ในกับดักของมายาภาพบางประการ กล่าวคือ

- การเพิ่มของประชากร : เป็นสาเหตุทำให้มีผู้ใช้พลังงานและทรัพยากรเพิ่มมากขึ้นจริง และสร้างของเสียจากการบริโภคมากขึ้นจริง แต่เป็นความจริงเพียงเสี้ยวเดียว เพราะส่วนสำคัญที่สุดแต่พูดถึงกันน้อยมาก คือ เราใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ กัน"อย่างไร"ด้วย เพราะข้อเท็จจริงคือ คนทั้งโลกมิได้ใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติเท่ากันหมด มีคนกว่าพันล้านคนที่ยากจน ขาดปัจจัยสี่อย่างเพียงพอในการดำรงชีวิต การใช้พลังงานสมัยใหม่ของคนเหล่านี้จึงมีน้อยมาก ในขณะเดียวกันก็มีคนอีกพันกว่าล้าน ที่ใช้พลังงานและทรัพยากรของโลก ในแบบที่เรียกได้ว่า กินล้างกินผลาญ ในประเทศไทยของเราเอง มีคนยากจนแบบสุด ๆ จนอย่างเรื้อรังเหมือนกรรมพันธุ์ ถ่ายทอดข้ามชั่วอายุคน อดมื้อกินมื้ออยู่เกือบ ๘ ล้านคน แล้วจนแบบปกติอีกนับสิบล้านคน ดังนั้น ค่าเฉลี่ยของการใช้นำมันในประเทศไทยที่คำนวณออกมาว่าคนละ ๑,๔๒๔ ลิตร ( พ.ศ. ๒๕๓๘) จึงเป็นความจริงในเชิงคณิตศาสตร์ แต่มิได้เป็นจริงในความเป็นจริง เนื่องจากคนในชนบทย่อมใช้พลังงานน้อยกว่าคนในเมือง คนร่ำรวยย่อมใช้พลังงานมากกว่าคนยากจน

- ขาดการวางแผนจัดการที่ถูกต้อง: สาเหตุประการนี้เกี่ยวข้องแน่นอนกับการลดและเพิ่มการใช้พลังงาน อย่างไรก็ตาม การวางแผนและการจัดการที่ดี มิใช่เพียงการทำให้เกิดการใช้อย่างคุ้มค่าที่สุดเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่านั้น คือ ต้องเป็นการวางแผนและจัดการให้เกิดการ "ลด"การใช้พลังงานเป็นสำคัญที่สุด มิใช่เพียงการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าโดยไม่ยอมลดปริมาณ เพียงแต่ใช้ให้คุ้มค่าเงินหรือค่าสูญเสียทางทรัพยากร การลดการบริโภคพลังงานจะต้องเป็นอุดมการณ์สูงสุดของการวางแผนและจัดการด้านพลังงาน มิใช่การวางแผนจัดการเพื่อใช้ให้คุ้มค่าโดยยังคงใช้ในจำนวนเดิมหรือเพิ่มขึ้นอีก(เพราะคิดว่าไหน ๆ ก็ใช้คุ้มแล้ว)

คำถามที่ต้องคิดใหม่เพิ่มด้วย คือ เวลาเราพูดถึงการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่านั้น เราหมายถึงความ "คุ้มค่า" ของอะไรหรือของใคร เพราะกว่าที่เราจะได้พลังงานออกมาใช้นั้น มีผู้ต้องรับผลกระทบหรือเกี่ยวข้องด้วยมากมาย ทั้งมนุษย์ สัตว์ ป่าไม้ ชุมชน ฯลฯ คำว่าคุ้มค่าจึงต้องมีความหมายกว้างกว่าเพียงคุ้มค่าเงิน คุ้มค่าการลงทุน การผลิต การบริโภค หรืออื่น ๆ เนื่องจากตราบใดที่เราคิดถึงความคุ้มค่าอย่างแคบ ๆ ตามแบบความคิดเก่า เรากำลังขยายวิกฤตการณ์พลังงานไปสู่วิกฤตการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงอีกมากมาย เช่น คนเมือง ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมบอกว่าการผลิตไฟฟ้าจากเขื่อนพลังน้ำคุ้มค่า ทำให้ได้ใช้ไฟฟ้าราคาถูก แต่ชุมชนที่ต้องสูญเสียระบบนิเวศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำรงชีวิตตนเองให้แก่การผลิตพลังงาน ย่อมบอกว่าไม่คุ้มค่า และนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ต่าง ๆ ดังปรากฏเป็นข่าวมาตลอด เช่นเดียวกับสรรพชีวิตอื่นในระบบนิเวศ (พืช สัตว์นานาพันธุ์ ฯลฯ) อาจจะบอกว่าไม่คุ้มกับการสูญเสียสภาพแวดล้อมให้กับการผลิตและการใช้พลังงานของมนุษย์ (และแสดงความขัดแย้งกับมนุษย์ด้วยภัยธรรมชาติในแบบต่าง ๆ) การประเมินความคุ้มค่าในความคิดแบบเก่าจึงอาจเป็นสาเหตุของวิกฤตการณ์แห่งความรุนแรงทางสังคมได้ด้วย

- ขาดเทคโนโลยีที่อนุรักษ์พลังงาน : การเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตประจำวัน ทำให้มนุษย์มีการเดินทาง การติดต่อสื่อสาร แบบแผนการกินอยู่ การพักผ่อนหย่อนใจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมายจากเดิม การใช้เทคโนโลยีจึงเพิ่มมากขึ้น เพื่อความสะดวก สบายและรวดเร็ว ทั้งยานพาหนะ เครื่องมือในการทำงาน เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ เทคโนโลยีสมัยใหม่ทุกชนิดต้องใช้พลังงานเพื่อการทำงานทั้งสิ้น การใช้เทคโนโลยีมากจึงสิ้นเปลืองพลังงานมาก ก่อมลพิษมากตั้งแต่แบบเล็ก ๆ ไปจนถึงมลพิษขนาดใหญ่ เช่น ไอเสียรถยนต์ การรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสี ฯลฯ การคิดค้นเทคโนโลยีสะอาด อนุรักษ์พลังงานเป็นสิ่งมีประโยชน์และต้องช่วยกันส่งเสริม อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ก็เช่นเดียวกับการวางแผนจัดการ คือ อุดมการณ์ของการใช้เทคโนโลยีในการอนุรักษ์พลังงาน คือต้องลดการใช้เทคโนโลยีให้น้อยที่สุดด้วย นั่นหมายถึงต้องใช้ตามความจำเป็น มิใช่ตามความสะดวก สบาย รวดเร็วอย่างไร้ขีดจำกัด ปัจจุบันเราจะพบว่ามีการประดิษฐ์คิดค้นสินค้าอุปโภคบริโภคมากมายที่มุ่งเพิ่มความสะดวกสบาย รวดเร็ว ให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยขาดความตระหนักว่า ความสะดวก สบาย รวดเร็วนั้น ยิ่งมากเท่าไรก็ต้องใช้เทคโนโลยีและพลังงานมากขึ้นด้วย

- ขาดการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ : การให้ข่าวสารข้อมูลมีความจำเป็น แต่ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดพฤติกรรมของการอนุรักษ์พลังงาน ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนมากที่สุด คือการประหยัดน้ำมันเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องประชาสัมพันธ์ เมื่อราคาน้ำมันไต่เพดานขึ้นไม่ยอมลง คนจะคิดมากขึ้นก่อนการใช้ เพราะการใช้มีผลกระทบทันตาต่อสตางค์ในกระเป๋าของตนเอง ในขณะที่การประชาสัมพันธ์อาจพูดถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง หรือไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์เขาในระดับมากพอ เช่น พลังงานจะหมด("กว่าจะหมดเราก็ตายไปแล้ว หรือกว่าจะหมดก็มีคนคิดอย่างอื่นขึ้นมาแทนให้ใช้แล้ว") เสียดุลการค้าเงินตราไหลออก (ไม่ใช่เงินในกระเป๋าโดยตรง) ฯลฯ

การประชาสัมพันธ์จึงได้ผลจำกัด เนื่องจากเหตุผลหลายประการ ประการแรก ขาดระบบรองรับ เช่นต้องการลดการใช้รถยนต์แต่ระบบขนส่งมวลชนยังไม่ทั่วถึง คุณภาพต่ำ ฯลฯ แต่สาเหตุสำคัญที่สุดคือ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์มิได้เกิดขึ้นจากความรู้ หรือได้รับข้อมูลเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของทัศนะ ค่านิยม จิตสำนึก ความเคยชิน และการฝึกฝนของบุคคลโดยตรงด้วย ( ทั้งนี้ ยังไม่ต้องกล่าวไปถึง การประชาสัมพันธ์แบบบิดเบือนให้เกิดความเข้าใจผิด เช่น สปอตโฆษณาลดการใช้ไฟฟ้า ที่ยายบอกให้ตาปิดไฟเข้านอน อย่าตำข้าวตอนกลางคืน เพื่อจะได้ลดค่าไฟฟ้าไปเอาส่วนลด ๒๐ % ทั้ง ๆ ที่วิถีชีวิตของคนจนและคนชนบทแบบเดิมใช้ไฟฟ้าน้อยมากอยู่แล้ว ค่าไฟฟ้าของครัวเรือนในชนบทซึ่งผู้เขียนเคยอยู่ ใช้ไฟฟ้าเดือนละประมาณ ๖-๑๐ บาท)

เมื่อย้อนกลับไปคิดทบทวน จะพบว่าการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมนั้น เกี่ยวข้องกับแนวคิดและค่านิยมของสังคมมนุษย์ด้วย คือมนุษย์คิดอย่างไร ตัดสินใจอย่างไร ในการกินการอยู่ เลือกจะใช้ชีวิตแบบหรูหราหรือพอเพียง มีความพอใจในความสะดวก สบาย ระดับใด และเมื่อจะต้องวางแผน-จัดการการใช้พลังงาน มีความคิดในทางลดการใช้พลังงานอย่างไร ให้ความหมายต่อคำว่า"คุ้มค่า"อย่างไร จะเลือกใช้เทคโนโลยีแบบใด ฯลฯ ดังนั้น ความขัดแย้งของการจัดการและการจัดหาพลังงานเพื่อมาให้มนุษย์ใช้ จึงเกี่ยวข้องกับกระบวนทัศน์ของการพัฒนามนุษย์และสังคมในด้านต่าง ๆ ด้วยโดยตรง

๒. วิกฤตพลังงาน : มันมากับอหังการมนุษย์

ความก้าวหน้าในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในรอบศตวรรษที่ผ่านมา ทำให้มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไปจากเดิมอย่างมากมาย จากที่เคยถูกจำกัดให้กินอยู่ตามสภาพแวดล้อมของธรรมชาติในท้องถิ่นของตนเป็นหลัก หรืออาศัยการแลกเปลี่ยนต่างถิ่นต่างเผ่าบ้าง กลายเป็นสามารถอยู่อาศัย สร้างผลผลิตและบริโภคในรูปแบบต่าง ๆ ตามที่ประสงค์ โดยไม่ต้องจำกัดเฉพาะทรัพยากรในท้องถิ่น รวมทั้งสามารถสร้างความบันเทิงในรูปแบบแปลกใหม่ ด้วยภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิทยุ เทป ซีดี ฯลฯ สามารถติดต่อสื่อสารข้ามทวีป ถ่ายโอนย้ายทรัพยากรต่าง ๆ หรืออำนาจการจัดการทรัพยากรได้ในเวลาไม่กี่วินาที เป็นต้น การลดลงหรือเกือบหมดสิ้นไปของข้อจำกัดต่าง ๆ ในการดำรงชีวิต ได้ทำให้เกิดเสรีภาพใหม่ทางกายภาพและความต้องการของจิตใจ วิถีชีวิตของมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เกิดแนวคิดและกิจกรรมใหม่ในทุกด้าน เช่น ด้านเศรษฐกิจ (การผลิต การบริโภค การสะสมส่วนเกินที่เปลี่ยนรูปเป็นเงินตรา) , การเมือง (ระบบวิธีการจัดสรรอำนาจเพื่อการครอบครองทรัพยากร) , วัฒนธรรม ( วิถีการดำรงชีวิต ความเชื่อ ค่านิยม ระบบคุณค่า ระบบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและสังคม ฯลฯ )

กิจกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นและเปลี่ยนแปลงจากวิถีชีวิตแบบเดิมทั้งหมดนี้ ดำเนินการไปได้โดยอาศัยพลังงานชนิดต่าง ๆ เป็นฐานของกิจกรรมทั้งสิ้น เนื่องจากไม่มีกิจกรรมใดของมนุษย์ ที่เกิดขึ้นและดำเนินการโดยไม่ใช้พลังงานตามธรรมชาติที่มีอยู่ในโลก ดังนั้นวิกฤตการณ์ความขัดแย้งในการผลิตและการใช้พลังงาน จึงเป็นความขัดแย้งในวิถีชีวิต โลกทัศน์ ค่านิยม กระบวนทัศน์และวิธีคิดของมนุษย์ที่มีต่อการพัฒนาชีวิตและสังคมของตนเองและธรรมชาติด้วยอย่างสำคัญ เราจะเห็นประเด็นนี้เด่นชัดขึ้นในความขัดแย้งเพื่อจัดหาพลังงานของรัฐ ไม่ว่าในกรณีโรงไฟฟ้าที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ หรือกรณีท่อก๊าซที่ จ.สงขลา 000000000 กระบวนทัศน์หรือชุดความเชื่อ ค่านิยม ในการพัฒนาชีวิตและสังคมสมัยใหม่ ที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม คือ

๒.๑ การเปลี่ยนแปลงทัศนะต่อธรรมชาติ
แต่เดิมนั้น มนุษย์เชื่อว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ไม่ว่าจะโดยพระเจ้าสร้างหรือเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัยของธรรมชาติ(ตามหลักพุทธศาสนา) มนุษย์จึงเชื่อว่า ตนเองมิได้อยู่อย่างแยกตัวต่างหากออกจากธรรมชาติ ในทางตรงข้าม มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติและจะต้องดำรงชีวิตอยู่อย่างผสมกลมกลืนกับระบบความสัมพันธ์ทั้งหมดของธรรมชาติ (ระบบนิเวศ) เช่น ฤดูกาล ทรัพยากรธรรมชาติของพื้นที่ ภูมิสภาพ ฯลฯ การบำรุงรักษาธรรมชาติเป็นทั้งหน้าที่ของศาสนิกและเป็นความจำเป็นของการอยู่รอด เนื่องจากวิถีชีวิตต้องพึ่งพิงธรรมชาติอย่างชัดเจน แต่มนุษย์ก็พยายามที่จะพัฒนาปรับปรุงการดำรงชีวิต มิให้ถูกบีบคั้นหรือขึ้นกับข้อจำกัดของธรรมชาติทั้งหมด โดยการเรียนรู้ธรรมชาติแล้วปรับปรุงความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ เช่น การอยู่อาศัยรวมกันเป็นหมู่เหล่าหรือชุมชน เพื่อพึ่งพาอาศัยกันในการกินอยู่ ป้องกันภัย นันทนาการ การพัฒนาเทคโนโลยีพื้นบ้าน พัฒนาจริยธรรมของหมู่เหล่าและจริยธรรมต่อธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความสุขความพอใจทั้งทางร่างกาย-จิตใจ ทั้งของปัจเจกชนและชุมชน เพื่อพัฒนาศักยภาพมนุษย์ให้เข้าสู่สิ่งสูงสุด(พระเจ้า / ธรรมชาติ / นิพพานฯลฯ) ได้มากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ ในทัศนะนี้ มนุษย์ สรรพชีวิต สรรพสิ่งในธรรมชาติจึงเป็นมิตรกัน ใช้ประโยชน์อย่างเอื้ออาทร ไม่มุ่งประโยชน์ตนฝ่ายเดียว ระบบนิเวศจึงดำรงความสมดุลและอุดมสมบูรณ์มาได้อย่างยาวนาน

ความก้าวหน้าอย่างก้าวกระโดดของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในศตวรรษที่ ๒๐ ได้ขยายความรู้และศักยภาพของมนุษย์ออกไปราวกับปาฎิหาริย์ ซึ่งเคยมีอยู่แต่ในเทพนิยายให้กลายเป็นเรื่องจริง ได้ทำให้มนุษย์เกิดทัศนะใหม่ต่อธรรมชาติ ที่เปลี่ยนแปลงและแตกต่างไปจากเดิมหลายประการ คือ

(๑) มนุษย์เกิดความเชื่อว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้ตนเองหยั่งรู้ธรรมชาติ คาดการณ์ พยากรณ์ ทั้งดิน น้ำ อากาศ แม้แต่ดวงดาวในอวกาศได้มากขึ้นเป็นลำดับ จนกระทั่งโลกและจักรวาลมิใช่ความลึกลับ หรือมีอำนาจอันน่าสะพรึงกลัวอีกต่อไป มนุษย์มี "อำนาจ" อันเกิดใหม่จากความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้สามารถที่จะเข้าไปจัดการต่อสรรพสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเคยอยู่นอกเหนือการจัดการของมนุษย์ได้ สามารถแม้แต่จะเปลี่ยนแปลง ควบคุม จำกัดอำนาจของธรรมชาติ เช่น ทำให้มนุษย์มีชีวิตยืนยาวมากขึ้น หลุดพ้นจากความตายด้วยโรคร้าย (กาฬโรค ไข้ทรพิษ ไข้หวัดใหญ่ ) ที่เคยผลาญชีวิตผู้คนนับล้านได้ เดินทางไปในที่ต้องการได้ แม้แต่การไปดวงจันทร์ หรือแม้แต่กำหนดสายพันธุ์มนุษย์ สัตว์ พืช ด้วยพันธุวิศวกรรมศาสตร์ ฯลฯ อำนาจที่เกิดขึ้นใหม่นี้ไม่แตกต่างไปจากอำนาจของพระเจ้า

ความรู้นี้จึงก่อให้เกิดทัศนะอันอหังการ ที่เชื่อว่ามนุษย์มีอำนาจจัดการชีวิตของตนเองได้ สามารถกำหนดรูปแบบวิถีชีวิตตามความพึงพอใจได้ ไม่ต้องตกอยู่ใต้ข้อจำกัดของธรรมชาติอีกต่อไป มิหนำซ้ำตนเองยังมีอำนาจเหนือธรรมชาติ สามารถที่จะนำสรรพสิ่งในธรรมชาติออกมาใช้ได้อย่างไร้ข้อจำกัด ตราบเท่าที่ตนเองมีความรู้ความสามารถ(อันเป็นอำนาจ)ที่จะเอาออกมาใช้ และเชื่อว่าเทคโนโลยีสามารถแก้ไขปัญหาหรือผลกระทบทุกอย่างที่เกิดขึ้นได้ เพราะความรู้ของมนุษย์ในปัจจุบันอยู่ในลักษณะทวีคูณ คือเชื่อกันว่าจะเพิ่มเท่าตัวทุก ๕ ปี ปัญหาต่าง ๆ จึงมีทางแก้ไขได้เสมอด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ มนุษย์จึงมีอำนาจอันไร้ขีดจำกัด

(๒) ทัศนะต่อธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ มีผลไปกำหนดวิธีคิด ท่าที พฤติกรรมของมนุษย์ในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ คือเกิดทัศนะว่า ธรรมชาติเป็นสมบัติของมนุษย์แต่เพียงผู้เดียว และจะมีประโยชน์ต่อเมื่อนำออกมาใช้ ธรรมชาติไม่มีคุณค่าโดยตัวเอง มนุษย์จะเป็นผู้กำหนดว่า ทรัพยากรธรรมชาติชนิดใดมีคุณค่าหรือไม่มีคุณค่า ส่วนใดควรขยายให้มีเพิ่มมากขึ้น ส่วนใดควรลดปริมาณ วิธีคิดที่เอาผลประโยชน์ของมนุษย์เป็นตัวตั้งหรือเป็นศูนย์กลางนี้ คือมูลเหตุที่นำมนุษย์เข้าไปใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างไร้ขีดจำกัด และไม่คำนึงถึงระบบนิเวศที่สัมพันธ์เชื่อมโยงกันอยู่อย่างหลากหลาย บูรณาการและเอื้อประโยชน์แก่กันและกัน

(๓) ทัศนะแบบแยกตนเองออกจากธรรมชาติ มีผลให้เกิดการพัฒนาวิถีชีวิตที่แยกตนเองออกจากธรรมชาติ และนำธรรมชาตินั้นมาใช้ตอบสนองวิถีชีวิตดังกล่าวมากขึ้นเป็นลำดับ คือการเติบโตของวิถีชีวิตแบบเมือง ซึ่งใช้พลังงานจำนวนมหาศาล การเติบโตของเมืองก่อให้เกิดการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้น เพื่อการผลิตไฟฟ้า การคมนาคมขนส่ง ความบันเทิง และ"ความสะดวกสบาย" "อยู่ดีกินดี"ของมนุษย์ วิถีชีวิตแบบเมือง ได้ทำให้เกิดมายาภาพหรือทัศนะที่ผิดว่า "เงิน"คือปัจจัยที่บันดาลให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการบริโภค มิใช่ธรรมชาติ เช่น น้ำดื่มน้ำใช้ได้มาจากการผลิตของการประปา ไฟฟ้าได้มาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต อาหารได้มาจากโรงงานผลิตฯลฯ มนุษย์ไม่มีข้อจำกัดในการบริโภคตราบเท่าที่ตนเองยังมี"เงิน"มีความรู้ และเทคโนโลยี

วิถีชีวิตที่แยกออกจากธรรมชาติเช่นนี้ ได้ส่งเสริมและเร่งให้มนุษย์แสวงหาเงินตราเพื่อมาบริโภคมากขึ้น และขาดจิตสำนึกต่อธรรมชาติได้ง่าย เนื่องจากมองไม่เห็นความเชื่อมโยงในการดำรงอยู่ของตนเอง ว่าสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างไร ต้องพึ่งพิงและถนอมรักษาธรรมชาติอย่างไร วิถีชีวิตของมนุษย์จึงก่อให้เกิดการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงมนุษย์และสรรพสิ่งในระบบนิเวศเอง และมีผลให้ความสัมพันธ์ของมนุษย์และธรรมชาติเป็นไปอย่างขาดจริยธรรม คือ ไม่สัมพันธ์กับสิ่งอื่น ไม่เอื้อเฟื้อเกื้อกูลต่อผู้อื่น ขาดจิตสำนึกของความกตัญญูรู้คุณ และความรับผิดชอบต่อธรรมชาติ เป็นความสัมพันธ์ในระบบอำนาจ ยิ่งมีอำนาจ(ความรู้ด้านเทคโนโลยี - เงิน)มากเท่าไร ก็สามารถใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้มากเท่านั้น ทำให้มนุษย์เบียดเบียนธรรมชาติ เห็นคุณค่าหรือประโยชน์ตามทัศนะของตนเป็นสำคัญเท่านั้น

ทัศนะที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ จึงนำไปสู่พฤติกรรมที่ก่อปัญหาแก่ธรรมชาติและมนุษย์ เนื่องจากไปขัดหรือฝืนกับความเป็นจริงพื้นฐานของธรรมชาติที่ดำรงอยู่อย่างหลากหลาย บูรณาการ ร่วมมือ เกื้อกูลกันและกันตามหน้าที่อย่างมีสมดุล กิจกรรมของมนุษย์ที่เอาประโยชน์ตนเองเป็นศูนย์กลาง แล้วใช้ประโยชน์ตามอำเภอใจ ได้ไปกระทบต่อระบบความสัมพันธ์ทั้งหมดขององค์ประกอบต่าง ๆ ในระบบนิเวศ ทำให้องค์ประกอบย่อยทั้งส่วนที่ไม่มีชีวิตและมีชีวิตของระบบนิเวศ ถูกทำลายจนไม่อาจฟื้นฟูตนเองได้อีกหรือได้อย่างเชื่องช้ายิ่ง

๒.๒ การเปลี่ยนแปลงทัศนะต่อชีวิต
แต่เดิมนั้น ทัศนะของมนุษย์ที่มีต่อชีวิตของตนเองนั้น สัมพันธ์เชื่อมโยงอยู่กับทัศนะความเชื่อที่มีต่อธรรมชาติ - พระเจ้า - หรือสิ่งสูงสุดในระบบวัฒนธรรมต่าง ๆ กิจกรรมในวิถีชีวิตของมนุษย์หรือพฤติกรรมจึงเป็นไปเพื่อสิ่งอื่นด้วย มิใช่เพื่อตนเองเพียงประการเดียว เช่น ทำการผลิตเพื่อการบริโภคของครัวเรือน ชุมชน และเพื่อบูชาเทพ - พระเจ้า - ผี หรือทำบุญให้ทานตามคติพุทธศาสนาในโอกาสต่าง ๆ เป้าหมายสำคัญของชีวิตมนุษย์ คือ การเข้าถึงหรือรวมเข้ากับสิ่งสูงสุดในความเชื่อของตนเอง อันจะเกิดขึ้นได้ด้วยการประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของระบบความเชื่อนั้น ๆ ซึ่งมุ่งเน้นวิถีชีวิตแบบกลมกลืนสอดคล้องระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ กิจกรรมและพฤติกรรมของมนุษย์ในทัศนะนี้ จึงเป็นไปเพื่อความอยู่รอดของตนเองและเพื่อสิ่งสูงสุด "ความสุข"ตามทัศนะนี้จึงเป็นการผสมผสานอย่างสมดุลระหว่างร่างกาย จิตใจ คือความสุขทางกายจากการมีปัจจัย ๔ อย่างพอเพียง และความสุขทางจิตใจจากการประพฤติปฏิบัติเพื่อเข้าสู่สิ่งสูงสุด วิถีชีวิตหรือวัฒนธรรมแบบนี้จึงไม่ทำลายธรรมชาติ ไม่ทำลายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์

ทัศนะแบบเดิมนี้ ถูกกระทบให้ค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไปตามทัศนะแบบใหม่ของมนุษย์ที่มีต่อธรรมชาติในข้อ ๒.๑ ทำให้มนุษย์มุ่งเอาธรรมชาติมาเปลี่ยนแปลงวิถีชิวิตของตนเองให้เกิดความสุข สะดวก สบาย จนประทั่งความยากลำบากทางกายภาพต่าง ๆ ถูกพลิกเปลี่ยนไปอย่างมากมาย มีผลให้ปัจเจกชน เกิดความพึงพอใจในความสุขทางกายภาพที่เพิ่มมากขึ้น ๆ ตามความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มุ่งเอาชนะข้อจำกัดทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงเฉพาะด้านกายภาพที่เกิดขึ้น มีผลให้การพัฒนาสังคมและชีวิตของมนุษย์เอียงไปข้างวัตถุหรือความสุขทางร่างกายจากการบริโภคเพียงอย่างเดียว ทัศนะต่อธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปมีผลให้ทัศนะความเชื่อและความผูกพันของมนุษย์ต่อสิ่งสูงสุดค่อย ๆ ลดคุณค่าและหมดความหมายไปเป็นลำดับ "เป้าหมายของชีวิต"และ"ความสุข" จึงเหลือเพียงด้านวัตถุ ละเลยต่อความสุขทางด้านจิตใจอันเกิดจากความสัมพันธ์อันดีกับสิ่งที่อยู่นอกตน ( พระเจ้า ธรรมชาติ มนุษย์) ทัศนะที่ผิดนี้ คือรากเหง้าแห่งวิกฤตการณ์ของมนุษย์ สังคม และธรรมชาติ

๒.๓ การเปลี่ยนแปลงค่านิยม
ทัศนะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงค่านิยมในการดำรงชีวิตของมนุษย์ด้วย เกิดค่านิยมใหม่ที่กลายมาเป็นกระแสหลักซึ่งไปกำหนดวิธีคิด และพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งเป็นสาเหตุของพฤติกรรมการบริโภคที่ทำลายธรรมชาติและชีวิต คือ

(๑) ค่านิยมบริโภคนิยม (Consumerism) หรือวัฒนธรรมบริโภคนิยม
มนุษย์เกิดความเชื่อว่า การได้บริโภควัตถุ เป็นความสุขที่พึงปรารถนาที่สุดและเป็นเป้าหมายของชีวิตมนุษย์ ค่านิยมแบบนี้จะมุ่งที่การแสวงหา เสพวัตถุหรือความสุขจากภายนอก ความพอใจ และความสุขทางจิตใจ จะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีวัตถุมากระตุ้น หรือได้รับวัตถุมาตอบสนองความต้องการแล้ว วัตถุหรือสิ่งภายนอกจึงเป็นตัวกำหนดหรือเป็นแหล่งกำเนิดความสุขเพียงประการเดียว มิใช่ความสุขที่เกิดขึ้นจากภายในจิตใจตนเอง ค่านิยมนี้จึงทำให้มนุษย์ขึ้นต่อหรือตกเป็นทาสวัตถุ ต้องดิ้นรนขวนขวายเพื่อสิ่งเหล่านี้ ซึ่งยากที่จะมีจุดสิ้นสุดหรือพอเพียง เพราะความต้องการของมนุษย์ (ความโลภ) ไม่มีที่สิ้นสุด และตราบเท่าที่มนุษย์ยังเชื่อและพึ่งพิงความสุขจากภายนอก (วัตถุ) มนุษย์จะไม่มีอิสรภาพทางจิต คือสร้างความสุขด้านจิตใจให้เกิดขึ้นมาจากภายในใจตนเองไม่ได้ เป็นเหตุให้เกิดการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติอย่างมากมายมหาศาลมาตอบสนองความต้องการภายนอกนี้

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับมนุษย์และสังคมจากค่านิยมนี้ คือ เงินกลายเป็นสิ่งสำคัญและมีความหมาย(สูงสุด)ในสังคมสมัยใหม่ เพราะเอื้อต่อการบริโภคที่ต้องการ ค่านิยมดังกล่าวจึงนำไปสู่การแสวงหาเงิน -วัตถุมาบริโภค โดยไม่คำนึงถึงความสัมพันธ์หรือจริยธรรมระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ จริยธรรมในสังคมและมนุษย์จึงเสื่อมถอย เกิดการเบียดเบียนมนุษย์และธรรมชาติ เพื่อแสวงหาความสุขตามค่านิยมหรือคำนิยามใหม่ของตนเอง การที่มนุษย์เกิดมาไม่เท่าเทียมกันทางกายภาพ และการที่แต่ละสังคมมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่แล้วไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทำให้ความสามารถในการแสวงหาวัตถุมาตอบสนองความต้องการของแต่ละคน หรือแต่ละกลุ่มในสังคมไม่เท่าเทียมกัน ค่านิยมมุ่งแสวงหาความสุขจากการบริโภคนี้ จึงยิ่งทำให้สังคมเกิดความเหลื่อมล้ำ แก่งแย่งช่วงชิง ผู้มีอำนาจหรือโอกาสทางการเมือง เศรษฐกิจ ความรู้ จะเป็นผู้มีโอกาสในการบริโภคมากกว่า และมักจะบริโภคอย่างไม่รู้จักพอเพียง

ดังนั้น ค่านิยมบริโภคนิยมยิ่งมีมากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ถูกทำลาย ถูกตีค่าเป็นวัตถุประเภทหนึ่ง (ทรัพยากรมนุษย์) ในมิติทางเศรษฐศาสตร์ จะมีคุณค่าความหมายต่อเมื่อมีความสามารถหรือศักยภาพในการผลิต วัตถุจึงกลายเป็นตัวตัดสินความเป็นมนุษย์และกำหนดความสัมพันธ์ของคนในสังคม ผู้ที่ผลิตวัตถุได้มากหรือครอบครองได้มาก จึงเป็นมนุษย์ที่มีค่า ค่านิยมบริโภคนิยมจึงให้คำจำกัดความที่มุ่งยกย่องเชิดชูผู้มีอำนาจ มีเงิน ที่จะบันดาลให้ได้มาซึ่งวัตถุ มากกว่าการยกย่องยอมรับผู้มีคุณธรรม มีจิตใจสูง (เสียสละ ซื่อสัตย์ มีน้ำใจ ฯลฯ)

(๒) ค่านิยมมุ่งประสิทธิภาพ
การที่เป้าหมายสูงสุดของชีวิตขึ้นกับวัตถุ มีผลให้มนุษย์เกิดค่านิยมในกิจกรรมและวิถีชีวิตที่มุ่งประสิทธิภาพ ( Efficiency ) เพราะประสิทธิภาพเป็นปัจจัยสนับสนุนหรือเอื้อต่อความสามารถในการผลิตและการบริโภควัตถุ คือประสิทธิภาพสูงย่อมตอบสนองความต้องการในการผลิตและการบริโภคได้มาก ค่านิยมนี้ มีผลให้มนุษย์ต้องการเอาชนะเวลาและทำอะไรแข่งขันกับเวลา วิถีชีวิตเต็มไปด้วยความรีบเร่ง และการใช้เครื่องอำนวยความสะดวกนานาชนิด เช่น การเดินทางที่ต้องการใช้เวลาน้อยให้ที่สุด การติดต่อสื่อสารที่ต้องการความเร็วมากที่สุด การกินอยู่ที่ต้องการความสะดวกสบายและใช้เวลาน้อยที่สุด เช่น กินอาหารสำเร็จรูป ใช้เครื่องไฟฟ้าอัตโนมัติซักผ้า ล้างจาน ทำความสะอาด ฯลฯ ค่านิยมนี้เป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีที่ต้องการประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งมักวัดด้วยเวลา และการใช้แรงของมนุษย์ให้น้อยที่สุด วิถีชีวิตของมนุษย์สมัยใหม่ โดยเฉพาะในเมืองและในประเทศพัฒนาที่มุ่งความทันสมัย จึงเกิดการใช้พลังงานอย่างมากมายมหาศาล เพื่อตอบสนองต่อค่านิยมดังกล่าว

ผลกระทบต่อมนุษย์ที่เกิดขึ้นจากค่านิยมมุ่งประสิทธิภาพนี้ คือ มนุษย์จะให้ความสำคัญกับผลสำเร็จของงานหรือเป้าหมายที่ต้องการ มากกว่ากระบวนการเรียนรู้และพัฒนามนุษย์ ซึ่งต้องใช้เวลาของการเรียนรู้และพัฒนามาก ยิ่งมนุษย์มีความหลากหลายต่างระดับความสามารถ การใช้เวลาในการเรียนรู้และพัฒนาก็ยิ่งแตกต่างและใช้เวลามาก กิจกรรมซึ่งต้องการประสิทธิภาพสูง คือใช้เวลาน้อย ได้ผลลัพธ์เร็ว เช่น กิจกรรมเศรษฐกิจ การศึกษา ฯลฯ จึงมักทำลายการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองของมนุษย์ นอกจากนี้ การมุ่งประสิทธิภาพยังเป็นเกณฑ์วัดคุณค่าของมนุษย์ ซึ่งไปทำลายคุณค่าและคุณสมบัติด้านอื่น ๆ เช่น ความละเอียด ประณีต ความสุขุม หรือคุณสมบัติด้านจิตใจ เช่น ความมีน้ำใจ ความเอื้ออาทรผู้อื่นของมนุษย์ด้วย

ทัศนะของมนุษย์ต่อธรรมชาติ ชีวิต และค่านิยมดังที่กล่าวมานี้ มิได้เกิดขึ้นแบบทันทีทันใด อย่างเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ หากเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อย ๆ เกิดขึ้น เมื่อมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ศาสนธรรม วัฒนธรรม ฯลฯ ในรูปแบบต่าง ๆ แล้วได้รับการกระตุ้นและเผยแพร่ ให้กลายเป็นทัศนะและค่านิยมหลักของชีวิตมนุษย์ โดยอาศัยกลไกต่าง ๆ โดยเฉพาะกลไกทางเศรษฐกิจ (การค้า การตลาด) การศึกษา วัฒนธรรม สื่อมวลชน ฯลฯ จนกระทั่งเปลี่ยนแปลงให้มนุษย์มีทัศนะ และค่านิยมในเรื่องความสุขและเป้าหมายของชีวิต ที่สอดคล้องและรองรับกับการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโลก ที่มุ่งความเจริญเติบโตจากการผลิตและการบริโภค ที่ใช้พลังงานมากมายมหาศาล

๓. ย้อนรอยพลังงานไทย : ใครใช้ ใครได้ประโยชน์

การพัฒนาไปสู่ความทันสมัย ( Modernization) ตามแบบสังคมตะวันตก ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติของไทย เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ก่อนการเปลี่ยนแปลงตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑ ซึ่งเริ่มต้นใน พ.ศ.๒๕๐๔ นั้น พลังงานที่ใช้ได้แก่พลังงานจากน้ำมันซึ่งมีปริมาณไม่มากนัก เพราะการคมนาคม ขนส่ง การผลิตภาคอุตสาหกรรมมีน้อย พลังงานไฟฟ้ามีจำกัดใช้ในเมืองใหญ่หรือหัวเมืองสำคัญ ผลิตโดยใช้น้ำมันและถ่านหิน ประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งอยู่ในชนบทใช้พลังงานและทรัพยากรในท้องถิ่นเป็นหลัก เพราะแบบแผนการผลิตและการบริโภคยังเป็นแบบสังคมเกษตรกรรมยังชีพเป็นส่วนใหญ่ เช่น ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ สายลมตามฤดูกาล ไม้ฟืน ถ่าน แกลบ และเชื้อเพลิงอื่น ๆ ที่หาได้จากธรรมชาติ ฯลฯ

ในพ.ศ. ๒๕๐๐ ปริมาณการใช้น้ำมันอยู่ในระดับ ๖ ล้านบาร์เรล เมื่อเริ่มการพัฒนาแบบใหม่ ความต้องการใช้น้ำมันได้เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ คือ เมื่อเริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๑๐ ความต้องการใช้เพิ่มขึ้นเป็น ๑๙ ล้านบาร์เรล มากขึ้นถึง ๓ เท่ากว่า หลังจากนั้นอีก ๑๐ ปี คือพ.ศ. ๒๕๒๐ การใช้น้ำมันเพิ่มเป็น ๗๐ ล้านบาร์เรล และความต้องการใช้มีอัตราการเพิ่มขึ้นในลักษณะก้าวกระโดดอยู่ตลอดเวลา มิใช่เพียงน้ำมันเท่านั้น การใช้พลังงานของประเทศไทยมีลักษณะเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยการเพิ่มในช่วง พ.ศ.๒๕๒๙ -๒๕๓๙ มีอัตราเพิ่มถึงร้อยละ ๑๖๘ โดยน้ำมันสำเร็จรูปยังเป็นพลังงานที่ใช้กันมากที่สุด (1)

การเปลี่ยนแปลงแบบแผนเศรษฐกิจและสังคมอย่างใหม่ ยังมีผลให้เกิดการใช้พลังงานประเภทใหม่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับน้ำมันที่หลากชนิดขึ้น มีทั้งน้ำมันเบนซิน ดีเซล น้ำมันเตา ฯลฯ พลังงานที่เพิ่มมากขึ้นและที่เพิ่มใหม่ คือพลังงานน้ำ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเตา ดีเซล ซึ่งถูกใช้เพื่อการผลิตพลังงานไฟฟ้า อันเป็นพลังงานแปรรูปหรือพลังงานทุติยภูมิ( Secondary Energy) ที่มีความสำคัญและเป็นพลังงานที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและใช้กันในทุกระดับ ทั้งบุคคล ครัวเรือนในเมือง ในชนบท โรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจการค้า บริการ ฯลฯ โดยโรงงานอุตสาหกรรมและธุรกิจการค้า-การบริการเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ มีปริมาณมากกว่าการใช้ในบ้านเรือนประมาณ ๔ - ๕ เท่า กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ ซึ่งเป็น ๓ จังหวัดของเขตการไฟฟ้านครหลวง คือผู้ร่วมกันใช้พลังงานไฟฟ้ามากที่สุดของประเทศ มากขนาดที่ว่า ๓ จังหวัดนี้ ใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่า ๑ ใน ๓ ของทั้งหมด คือเกือบประมาณ ๔๐ % ในขณะที่อีก ๗๓ จังหวัดที่เหลือ ซึ่งมีพื้นที่และจำนวนจังหวัดมากกว่าถึงเกือบ ๒๕ เท่า เป็นผู้ใช้พลังงานไม่ถึง ๒ ใน ๓ หรือประมาณ ๖๐ % และสถานการณ์เป็นเช่นนี้มาโดยตลอด (2)

มิใช่เพียงพลังงานไฟฟ้าเท่านั้น แม้ในส่วนของพลังงานโดยรวมทุกชนิด ก็ปรากฏว่า ภาคอุตสาหกรรมและการขนส่งก็เป็นผู้ใช้พลังงานส่วนใหญ่ด้วยเช่นกัน(3) ในภาคอุตสาหกรรมนั้นอุตสาหกรรมอาหารใช้พลังงานในการผลิตมากเป็นอันดับหนึ่ง สะท้อนถึงการกินอยู่ของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากที่เคยกินใช้ของในท้องถิ่น ชุมชนมาเป็นการกินการใช้สินค้าข้าวของแบบเดียวกันทั้งประเทศ ไม่ว่าจะอยู่ดอยหรืออยู่เกาะ อยู่กรุงเทพฯหรือแม่ฮ่องสอน มีผลให้เกิดการผลิตและการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคจากแหล่งผลิตหรือโรงงานสู่ผู้บริโภคในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศเพิ่มมากขึ้นทั้งทางรถไฟ รถยนต์ เครื่องบิน การเพิ่มปริมาณของรถบรรทุกขนาดใหญ่ และรถปิกอัพของพ่อค้าคนกลางผู้นำสินค้าเข้าไปจำหน่ายต่อในทุกซอกซอย ทุกดอย ทุกลุ่มน้ำ และการปรากฏตัวของบะหมี่สำเร็จรูป กาแฟกระป๋อง น้ำอัดลม ขนมขบเคี้ยวแบบใหม่ ฯลฯ ในเกือบทุกหมู่บ้านของประเทศไทย ร้านอาหารฟาสฟูดตามเมืองเล็กเมืองน้อย อาหารจานหรูจากยุโรปที่ลัดฟ้ามาอยู่ในโรงแรมใหญ่ ฯลฯ เป็นเครื่องบ่งชี้ที่ชัดเจนของการใช้พลังงานเพื่อการโภคแบบใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น

การเพิ่มขึ้นของปริมาณรถยนต์ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งของเครื่องบ่งชี้ ที่แสดงถึงวิถีชิวิตที่เปลี่ยนแปลงไปสู่การบริโภคพลังงานและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมหาศาลของสังคมไทย ปริมาณรถยนต์มีการเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวหรือร้อยละ ๑๐๐ ในช่วงเวลาเพียง ๕ ปี คือ พ.ศ. ๒๕๓๔ มีรถยนต์ที่จดทะเบียนทั้งประเทศ รวมทุกประเภทจำนวน ๘,๔๒๗,๐๘๖ คัน แล้วเพิ่มเป็น ๑๖,๐๙๓,๘๙๖ คัน ในพ.ศ.๒๕๓๙ เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวหรือกว่านั้นในรถยนต์ทุกประเภท ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถยนต์รับจ้าง รถจักรยานยนต์ รถโดยสาร รถบรรทุก คิดเฉลี่ยมีรถยนต์จดทะเบียนประมาณวันละ ๔๔,๐๙๓ คันต่อวัน(4) จำนวนรถยนต์แต่ละประเภทที่เพิ่มขึ้นนี้ สะท้อนอย่างชัดเจนถึงค่านิยม วิถีการดำเนินชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม เช่น การย้ายถิ่น การต้องการความสะดวกสบาย แสดงความมีฐานะ (รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ในชนบท) การเดินทางระหว่างถิ่นที่เพิ่มมากขึ้น (รถรับจ้าง รถโดยสาร) การขนส่งผลิตผลการเกษตรและสินค้าบริโภคอุปโภค(รถบรรทุก)

ดังนั้น แบบแผนการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแบบใหม่จึงมีผลกำหนดวิถีชีวิต การกินอยู่ การผลิต ที่มีผลโดยตรงต่อการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานไฟฟ้าและพลังงานอื่น ๆ โดยผู้มีความสามารถบริโภคมากจะเป็นผู้ใช้พลังงานมาก และเป็นผู้กำหนดนโยบายการใช้และการจัดหาพลังงานในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมาในนามของความทันสมัย การเจริญเติบโต โดยปราศจากการตรวจสอบ และการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายจากส่วนอื่นของสังคม การใช้พลังงานในประเทศไทย จึงก่อผลกระทบในด้านต่าง ๆ มาอย่างเงียบ ๆ แต่กว้างขวางและซ่อนเงื่อนความรุนแรงไว้ในวิกฤตการณ์

๓.๑ วิกฤตการณ์ธรรมชาติของประเทศไทย
การใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ในการผลิต การบริโภค ในรอบ ๔๐ ปีที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติโดยตรง คือการใช้พื้นที่เพื่อขุดเจาะ จัดหาและลำเลียงพลังงาน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตชนบท สร้างผลกระทบต่อจำนวนพื้นที่ป่า กรณีที่เห็นเด่นชัดมากที่สุดและกระทบมากที่สุด คือ การผลิตกระแสไฟฟ้าโดยใช้พลังงานน้ำ เพราะจะต้องใช้พื้นที่ป่าใกล้แหล่งน้ำใหญ่ในการจัดสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำเพื่อปั่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ในระยะเริ่มแรกของการพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฯ นั้น แหล่งกำเนิดไฟฟ้ามาจากพลังงานน้ำเป็นหลัก เนื่องจากพลังงานที่ใช้อยู่เดิมหายากและมีราคาสูง รัฐบาลจึงดำเนินนโยบายจัดหาพลังงานราคาต่ำ เพื่อส่งเสริมการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการเติบโตของเมือง ด้วยการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำ

เขื่อนภูมิพล จ.ตากเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรก จัดสร้างขึ้นในพ.ศ.๒๕๐๗ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้แก่ ๓๖ จังหวัดในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อจากนั้นมีการสร้างเขื่อนขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องมา กระทั่งปัจจุบันประเทศไทยมีเขื่อนที่ผลิตกระแสไฟฟ้าไม่น้อยกว่า ๑๖ เขื่อนในจังหวัดต่าง ๆ เช่น เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี เขื่อนศรีนครินทร์ กาญจนบุรี เขื่อนรัชชประภา จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น รวมกำลังการผลิตในปี ๒๕๓๙ ประมาณ ๗,๒๓๓ ล้านหน่วย (5)

ในปัจุบันการผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำลดลง เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนไม่แน่นอนบางปีปริมาณน้ำมีน้อยจากความแห้งแล้ง แต่รัฐบาลยังมีนโยบายที่จะสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้าในแหล่งน้ำใหญ่เพิ่มเติมอีก เช่น โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โครงการเขื่อนแม่วงก์ เป็นต้น

การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานน้ำนี้ จึงมีผลกระทบโดยตรงต่อจำนวนพื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์ มีการประมาณว่า การสร้างเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนเขาแหลม เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนสิรินธร ทั้ง ๖ เขื่อนนี้ ได้ทำให้พื้นที่ไร่นาป่าเขาจมน้ำไปถึง ๒,๐๕๒ ตารางกิโลเมตร ซึ่งเกือบเท่าพื้นที่ของกรุงเทพฯและนนทบุรีรวมกัน(6)

มิใช่เพียงเฉพาะพื้นที่เขื่อนและบริเวณที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนเท่านั้น แต่การสร้างเขื่อนยังมีผลให้เกิดการทำลายป่าอย่างสืบเนื่องอีกมาก เนื่องจากการลักลอบตัดไม้ และขนส่งไม้กระทำได้โดยสะดวกมากขึ้นจากเส้นทางคมนาคมที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การลดลงของพื้นที่ป่า อันเนื่องมาจากการใช้พื้นที่สร้างเขื่อน การเดินสายไฟฟ้าแรงสูงและการบุกรุกทำลายป่าเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ของมนุษย์ ได้ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยไปอย่างมากด้วยใน ๔ ทศวรรษที่ล่วงมา

ผลกระทบดังกล่าว มีผลต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างน้อย ๓ ด้าน คือ

(๑) อุณหภูมิสูงขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานสถิตแห่งชาติรายงานว่า ปฎิกริยาเรือนกระจก มีผลให้อุณหภูมิโดยเฉลี่ยของประเทศไทยในรอบ ๑๐ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๙ - ๒๕๓๙ มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากการพัฒนาอุตสาหกรรม การใช้เชื้อเพลิงของยานพาหนะ การลดลงของพื้นที่ป่าไม้ (7) โดยเฉพาะจากเชื้อเพลิงที่ประเทศไทยใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งร้อยละ ๗๐ เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล (ซากพืชซากสัตว์ เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ) อันทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อปฏิกริยาเรือนกระจกมากที่สุด

(๒) อากาศเป็นพิษ ผลกระทบต่ออากาศที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการใช้พลังงาน คือมลพิษทางอากาศจากการคมนาคมขนส่ง จากการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนในชนบทพบว่า ปัญหานี้ส่วนใหญ่เกิดจากการผลิตกระแสไฟฟ้า ที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์คุณภาพต่ำเป็นเชื้อเพลิง(8) ผู้เชี่ยวชาญได้ประมาณการว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะของการใช้พลังงานแล้ว สถานการณ์มลพิษของประเทศไทย จะทวีความรุนแรงขึ้นอีก (9) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ การเพิ่มของซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ฝุ่นละออง คาร์บอนไดออกไซด์และขี้เถ้า

(๓) ภูมิสภาพเปลี่ยนแปลง การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ การจัดสร้างแหล่งผลิตพลังงาน เส้นทางจ่ายหรือลำเลียงพลังงาน-เชื้อเพลิง ฯลฯ ตลอดจนกิจกรรมการเกษตร การทำเหมืองแร่ การดูดทราย การปศุสัตว์ การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การท่องเที่ยว การอยู่อาศัย ฯลฯ ของประเทศในรอบ ๔ ทศวรรษที่เติบโตได้จากการพัฒนาพลังงานที่ผ่านมา ได้สร้างผลกระทบต่อคุณภาพของโครงสร้างและองค์ประกอบดิน น้ำ ฯลฯ ในระบบนิเวศของประเทศไทยอย่างรุนแรง และเกิดขึ้นในทั่วทุกภาคของประเทศ เช่น ดินเค็ม ดินเสื่อมสภาพ น้ำใต้ดินลดปริมาณ แผ่นดินทรุด น้ำเค็มหนุนเข้าปากน้ำ ลึกเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรมตอนบนมากขึ้น น้ำเน่าเสีย ตลิ่งพัง ร่องน้ำตื้น ฯลฯ เป็นวิกฤตการณ์ที่คุกคามการดำรงอยู่ของระบบนิเวศอย่างรุนแรง

๓.๒ วิกฤตการณ์ทางสังคม

(๑) ความไม่ยุติธรรมในการใช้ทรัพยากรของสังคม
แม้"การทำประเทศให้ทันสมัย" (Modernization) ตามแบบอย่างประเทศตะวันตกได้เริ่มต้นมาก่อนทศวรรษ ๒๕๐๐ แต่ระดับการใช้ทรัพยากร จำนวนประชากรของไทย ระดับความต้องการของประเทศ ของโลก และระดับคุณภาพชีวิตทางวัตถุ ยังมิได้เพิ่มขึ้นสู่ระดับที่คุกคามหรือทำลายความสมดุลในธรรมชาติมากนัก แต่การพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเริ่มในพ.ศ. ๒๕๐๔ ได้มุ่งเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างเร่งรัดและรวดเร็วให้ไปสู่ความทันสมัยในด้านเศรษฐกิจ สังคม โดยมุ่งหมาย"การพัฒนา"ไปที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผลิตและการบริโภคตามแบบประเทศตะวันตก เกิดนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรม การปรับปรุงการคมนาคม การทำเกษตรกรรมแผนใหม่ ซึ่งใช้เครื่องจักรกลแทนแรงงานสัตว์และคน ช่วงของการพัฒนาไปสู่ความทันสมัยนี้ ทำให้เกิดความต้องการพลังงานที่มีมากเกินกว่าอุปทานที่จะจัดหาได้ภายในประเทศ จนต้องมีการนำเข้าพลังงานจำนวนมหาศาล สูญเสียเงินตราและงบประมาณแผ่นดินเป็นจำนวนมาก

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (ส.พ.ช.) เผยแพร่ข้อมูลในปีพ.ศ.๒๕๔๐ว่า เฉพาะน้ำมันดิบอย่างเดียว ประเทศไทยมีการใช้ประมาณวันละ ๑๒๐ ล้านลิตร แต่สามารถผลิตได้เองเพียงวันละ ๔ ล้านลิตร จึงต้องอาศัยการนำเข้าเป็นจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าประมาณปีละ ๒ แสนล้านบาท คิดเฉลี่ยวันละ ๕๕๕ ล้านบาท ซึ่งมีการคำนวณเปรียบเทียบว่า เงินจำนวนนี้สามารถจะสร้างถนนราดยางขนาด ๕ กิโลเมตร ได้วันละ ๓๗ สาย สร้างโรงพยาบาลขนาด ๓๐ เตียงได้วันละ ๕๕ โรง และสามารถสร้างโรงเรียนให้กับ ๒๒๒ หมู่บ้านได้ทุกวัน (10) การใช้พลังงานจึงมีผลกระทบต่อการใช้จ่ายงบประมาณของประเทศ และการเสียเปรียบดุลการค้ากับต่างประเทศอย่างสำคัญ

- การผลิตพลังงานตอบสนองต่อการเติบโตของเมือง และภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ยาวนานตลอดแผนพัฒนา ฯ ฉบับต่าง ๆ ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติระหว่างเมือง-ชนบทอย่างรุนแรง เพราะอำนาจการจัดสรรทรัพยากรของรัฐ หรือแม้แต่เอกชนที่ได้รับสัมปทานสิทธิจากรัฐ ได้ละเลยประโยชน์และสิทธิของประชาชนในท้องถิ่น (เช่น การใช้น้ำเพื่อเกษตรกรรม มีความสำคัญน้อยกว่าการกักเก็บน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ) โดยยังไม่ต้องกล่าวถึงว่า ผลกระทบของระบบนิเวศจากการสร้างเขื่อน โรงไฟฟ้า การขุดเจาะน้ำมัน บริเวณเส้นทางลำเลียงพลังงานหรือวัตถุดิบอื่น ฯลฯ ได้ก่อผลกระทบต่อความยั่งยืนของระบบนิเวศ ทำให้เกิดความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำการเกษตร-การบริโภค ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของปัจจัย ๔ ของชนบท ในเวลาต่อมา

การขาดสิทธิ์และโอกาสในการตัดสินใจใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น เพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน และการสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันบีบคั้นให้เกิดการบุกรุกทำลายป่า ทำลายระบบนิเวศมากยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากสาเหตุของการเปลี่ยนแบบแผนการผลิตและการบริโภคของเกษตรกร มาเป็นเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวหรือเกษตรกรรมเพื่อส่งออกตามแนวคิดใหม่ของของแผนพัฒนาฯ

ดังนั้น นโยบายและแนวทางการพัฒนาพลังงานและกิจกรรมตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฯ ที่ดำเนินมาในเวลากว่า ๔ ทศวรรษ จึงเป็นทั้งการเบียดเบียนธรรมชาติและมนุษย์ในสังคมด้วยกันเอง มีส่วนทำให้เกิดความยากจน อ่อนแอ ล่มสลายของชุมชนชนบทและปัญหาอื่น ๆ ที่สืบเนื่องกับปัญหานี้ เช่น แรงงานอพยพ ชุมชนแออัด ครอบครัวแตกสลาย และการขาดแคลนคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน ฯลฯ

(๒) ความเหลื่อมล้ำในรายได้ การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวิถีการผลิตตามแผนพัฒนา ฯ (การปลูกพืชเชิงเดี่ยว การใช้ยาปราบศัตรูพืช สารเคมีปริมาณมาก ฯลฯ) ทำให้คนชนบทต้องใช้จ่ายด้านพลังงานในการผลิต และการบริโภคเพิ่มมากขึ้น ค่านิยมความเชื่อที่ผ่านมากับระบบการศึกษา สื่อมวลชน ทำให้คนชนบทใช้พลังงานมากขึ้น ทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการบริโภคสินค้าต่าง ๆ การที่สินค้าซึ่งบริโภคหรือเครื่องมือการผลิตต้องจัดซื้อตามราคาตลาด (ที่ผลิตขึ้นจากพลังงานราคาถูกที่รัฐเอื้อให้ธุรกิจ โดยอาศัยระบบนิเวศของธรรมชาติเป็นต้นทุนการผลิต) แต่ต้องขายผลิตผลเกษตรกรรมตามราคาที่ผู้ซื้อ (พ่อค้าคนกลางและพ่อค้าส่งออก)กำหนด เป็นการเอารัดเอาเปรียบและสร้างความเหลื่อมล้ำของรายได้ประชากรระหว่างกลุ่มเกษตรกร - ธุรกิจ หรือคนจนและคนร่ำรวยอย่างสำคัญ พลังงานจึงมีผลทางอ้อมต่อช่องว่างระหว่างรายได้อย่างยากที่จะปฏิเสธเช่นกัน ประเด็นนี้จะเห็นชัดเจนมากขึ้นอีก เมื่อพิจารณาถึงตัวเลขเฉลี่ยของการใช้พลังงานของคนไทย ซึ่งนักวิชาการคำนวณไว้ว่า การใช้พลังงานเฉลี่ยรายคนของประชากรไทย มีปริมาณที่สูงมากขึ้นเป็นลำดับ คือ (11)

พลังงาน : ประชากร ( เทียบเท่าน้ำมันดิบ) ลิตร /คน
ปี ๒๕๓๐ ๖๖๑ ลิตร / คน
ปี ๒๕๓๓ ๘๕๔ ลิตร / คน
ปี ๒๕๓๕ ๑,๐๕๖ ลิตร / คน
ปี ๒๕๓๘ ๑,๔๒๔ ลิตร / คน

หากวิเคราะห์ในรายละเอียด โดยคำนึงถึงปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการใช้พลังงานและการบริโภคทรัพยากรต่าง ๆ เช่น ความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งผลิต-จำหน่าย,รายได้หรือกำลังซื้อ,ลักษณะหรือแบบแผนของวิถีชีวิต ฯลฯ จะพบข้อเท็จจริงว่า ผู้บริโภคพลังงานและทรัพยากรส่วนใหญ่ คือคนเมืองและผู้มีฐานะดีมากกว่าคนในชนบทหรือคนจน เพราะกำลังในการบริโภคพลังงานและทรัพยากร

ธรรมชาติ ถูกกำหนดด้วยกำลังซื้อซึ่งมาจากเงิน และการมีวิถีชีวิตแบบเมือง ที่ยิ่งทันสมัยมากเท่าไร การบริโภคพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติก็ยิ่งมาก และกระทบต่อระบบนิเวศรุนแรงมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น รูปแบบการผลิต การบริโภคของกลุ่มประชากรจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับวิกฤตการณ์ทั้งหลายในปัจจุบัน หากการผลิตและการบริโภคของประชากรกลุ่มใหญ่มุ่งไปที่"เศรษฐกิจพอเพียง" คือกิจกรรมทั้งหลายยังคงรักษาสมดุลแห่งธรรมชาติไว้ในสภาวะเดิมให้มากที่สุด วิถีชีวิตของมนุษย์ก็จะไม่ไปรบกวนระบบนิเวศมากนัก

ในทางตรงข้ามหากเป็น"เศรษฐกิจแห่งการเจริญเติบโต" ของการบริโภค การผลิต (ดังเช่นเศรษฐกิจฟองสบู่) กิจกรรมดังกล่าวย่อมล้างผลาญธรรมชาติไปสู่หายนะ และสร้างความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรท้องถิ่น และเพิ่มช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนจนคนรวย และคนเมืองคนชนบทให้มากยิ่งขึ้นโดยง่ายและรวดเร็วยิ่ง นำพาสังคมไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงที่หลีกเลี่ยงได้ยากเพราะ"ผู้ได้" ยังคิดจะเอาแต่ได้อยู่ฝ่ายเดียวตลอดไป

บทสรุป : พลังงานในวิธีคิดใหม่

สังคมไทยได้ละเลยปัญหาเกี่ยวกับการใช้ การผลิตและจัดหาพลังงานมาเป็นเวลานาน ส่วนหนึ่งเนื่องจากรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว(ยกเว้นตอนน้ำมัน ไฟฟ้า ขึ้นราคา) ส่วนคนเมืองแม้จะเป็นผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่ เราก็แทบจะไม่เคยตั้งคำถามกับการใช้พลังงาน เพราะคิดว่ามีเงินก็มีพลังงานใช้ และมักคิดถึงการใช้พลังงานด้วยระบบคิด วิธีคิดแบบแยกส่วน คือ เข้าใจว่าเราใช้พลังงานเฉพาะเวลาเดินทาง ทำกับข้าว ใช้เครื่องไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง จนกระทั่งทำให้เรามองไม่เห็นประเด็นของการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและการเอาเปรียบชนบท ในความเป็นจริงนั้น เราทั้งหลายใช้พลังงานอยู่ตลอดเวลา แต่โดยอ้อม เพราะข้าวของอุปโภคบริโภคทั้งหลายในชีวิตประจำวันล้วนแต่ใช้พลังงานในการผลิตออกมา บรรจุ ขนส่ง เก็บรักษา ฯลฯ ด้วยเหตุนี้การใช้พลังงานจึงสัมพันธ์กับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างอื่นด้วยเสมอ และเป็นฐานของการทำกิจกรรมและการใช้ทรัพยากรอย่างอื่นทั้งหมดด้วย

ดังนั้น การอนุรักษ์พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่อาจคิดแบบแยกออกจากกันได้ เช่น เราช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าโดยใช้เครื่องทำน้ำอุ่นจากพลังงานแสงอาทิตย์แทน แต่เรามิได้ลดการใช้พลังงานในการผลิตเครื่องทำน้ำอุ่น การบรรจุ ขนส่ง วางตลาด ฯลฯ การคิดถึงพลังงานโดยไม่เชื่อมโยงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างอื่นด้วย จะทำให้เราอาจลดการใช้พลังงานทางตรงในบางด้าน แต่ไปเพิ่มการใช้พลังงานทางอ้อมมากขึ้น หรือใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างอื่นมากขึ้นได้ เช่น คนเพิ่มการใช้รถยนต์มากขึ้น เพราะมีพลังงานสะอาด ไม่ก่อมลพิษ โดยลืมนึกถึงพลังงานที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ต้องเพิ่มมากขึ้น และทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ แร่เหล็ก ยาง กระจก ฯลฯ ที่ประกอบเป็นรถ ก็ต้องถูกใช้มากขึ้นด้วย เป็นต้น

การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมในความคิดใหม่จึงเป็นเรื่องเดียวกัน คือการอนุรักษ์ระบบนิเวศทั้งหมดนั่นเอง ดังนั้น จึงต้องให้ผู้เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย วิกฤตการณ์จึงจะแก้ไขได้อย่างยั่งยืน และโดยสันติ

บันทึกท้ายบท(ข้อมูลเพิ่มเติม)

- ในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ มีการประมาณการว่า หากการใช้ไฟฟ้ายังเพิ่มในอัตราเดิม เมื่อสิ้นแผน พัฒนาฯ ฉบับที่ 9 ในปี พ.ศ. 2549 การใช้พลังงานไฟฟ้าจะขึ้นไปถึง 25,371 ล้านวัตต์ หากนโยบายด้านพลังงานของรัฐยังเหมือนเดิม จะต้องสร้างเขื่อนขนาดเท่ากับเขื่อนปากมูล 103 เขื่อน สร้างโรงไฟฟ้าขนาดเท่าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จำนวน 48 โรง หรือสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาด 1,000 ล้านวัตต์ จำนวน 25 โรง (สมบูรณ์ มณีนาวา. แผนการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและบทบาทของผู้ผลิตอิสระในอนาคต. เอกสารประกอบการสัมมนาประจำปี สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย , 2538 )

- สินค้าอุตสาหกรรมประเภทอาหารและเครื่องดื่มใช้พลังงานในการผลิตมากที่สุด ตั้งแต่ปี 2531-2540 เมื่อคิดเฉลี่ย 10 ปีแล้ว ใช้พลังงานประมาณ 37.05 % ของพลังงานที่ใช้ในภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม บางปีใช้สูงถึง 44.6 % คือปี 2531 (รวบรวมจากข้อมูลของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน)

- ประชาชนในสหรัฐอเมริกาทิ้งบรรจุภัณฑ์กระดาษ ที่ใช้ในการหีบห่อสินค้าต่าง ๆ จำนวนถึง59.6 พันล้านปอนด์ในปี 2527 และในปี 2530 คนอเมริกันทิ้งฟิล์มพลาสติกที่ใช้หุ้มห่ออาหารและอื่นๆ จำนวน 4.4 พันล้านปอนด์ ประมาณกันว่าต้องใช้เยื่อกระดาษจากต้นไม้ประมาณ 660 ล้านต้นในการผลิต และใช้พลังงานเท่ากับน้ำมัน 17 พันล้านแกลลอน ในการผลิตและขนส่ง พลังงานจำนวนนี้สามารถจะทำให้หลอดไฟขนาด 60 วัตต์ (ในบ้านคนจน) สว่างไปได้นานถึง 400 ล้านปี ! และกองขยะฟิล์มพลาสติกใช้พลังงานเท่ากับ น้ำมัน 2.8 พันล้านแกลลอน มีการคำนวณว่า หากมีการลดการบริโภคพลาสติกและและบรรจุภัณฑ์กระดาษดังกล่าวเพียง 10 % ขยะจำนวน 6.4 พันล้านปอนด์จะลดลงทันที เท่ากับการลดพลังงานของน้ำมันไปจำนวนถึง 2 พันล้านแกลลอน

(Whiffen,H.J.H ; Earle , J.F.K. ; Hammer,M.S.; Waste Prevention Saves Energy. http://edis.ifas.ufl.edu/scripts/htmlgen.exe?body&DOCUMENT_EH177 )

[เรียบเรียงจากเอกสารบางส่วนที่เขียนให้แก่ฝ่ายวิชาการโครงการบูรณาการกระบวนการศึกษาเพื่อการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ของกระทรวงศึกษาธิการ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และสำนักงานนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒]

เอกสารอ้างอิง
(1) สำนักงานสถิติแห่งชาติ. สถิติสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย พ.ศ.๒๕๔๑ , น. ๖๓
(2) เพิ่งอ้าง. น.๗๑
(3) เพิ่งอ้าง, น. ๒๕
(4) เพิ่งอ้าง, น. ๘๑ และ ๓๒
(5) วินัย วีระวัฒนานนท์และบานชื่น สีพันผ่อง. พลังงานกับสิ่งแวดล้อม.กรุงเทพฯ: อักษรเจริญทัศน์ ๒๕๔๐. , น.๙๖
(6) วารสารอนุรักษ์ ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๓
(7) สำนักงานสถิติแห่งชาติ .อ้างแล้ว , น.๘
(8) ดร.ธีระ พันธุมวนิช. "ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : จะเหลืออะไร (หรือไม่ ) ในอีก ๒๕ ปีข้างหน้า" ในวิสัยทัศน์ประเทศไทย ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม โทรคมนาคม พลังงาน และทรัพยากรมนุษย์มุมมองของสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย (รวมบทความ) . กรุงเทพฯ: สมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย , ๒๕๔๐ น. ๗๐
(9) Thailand's Energy Future Project , Thailand Environment Institute. 1995 อ้างใน ดร.ธีระ พันธุมวนิช. เพิ่งอ้าง , น. ๗๐
(10) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ , เอกสารเผยแพร่ทางสื่อมวลชน. ๒๕๔๐
(11) ปรีดา วิบูลย์สวัสดิ์ . "พลังงานเพื่อการพัฒนาคุณภาพและชีวิต" วิสัยทัศน์ประเทศไทย ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม โทรคมนาคม พลังงาน และทรัพยากรมนุษย์ มุมมองของสมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย (รวมบทความ) . กรุงเทพฯ : สมาคมนักเรียนทุนรัฐบาลไทย, ๒๕๔๐. น. ๑๑๓

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

2
5
4
5

FEB.