midnight's article
บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

หากภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน
กรุณาลดขนาดของ font ลงมา

วอลเดน เบลโล : (นิธิ เอียวศรีวงศ์ แปล)
...จะมีการประชุมขององค์กรการค้าโลกในวันนี้และวันพรุ่งนี้ที่เชียงใหม่ โดยมีญัตติการประชุมซึ่งเป็นที่เปิดเผยว่า จะคุยกันเกี่ยวกับเรื่องการค้าและการพัฒนา โดยเชิญข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จากประเทศเอเชียหลายประเทศเข้าประชุม แต่จริงๆแล้ว องค์กรการค้าโลกมีญัตติที่ซ่อนเร้นในการประชุมอยู่สองประการด้วยกันคือ

ประการที่หนึ่งคือ อยากจะเกลี้ยกล่อม, ถ้าเกลี้ยกล่อมได้ แต่ถ้าเกลี้ยกล่อมไม่ได้ก็อยากจะบังคับขับไส หรือบิดแขน อะไรก็แล้วแต่ ในการที่จะทำให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เหล่านี้ ไปผลักดัน ไปสนับสนุนรัฐบาลตนเองในการที่ องค์กรการค้าโลก อยากจะจัดการประชุมโลกรอบที่สามขึ้นในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ และการประชุมองค์กรการค้าโลกในรอบใหม่ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ก็มีจุดมุ่งหมายในการที่จะเปิดเสรี หรือสร้างกฎเกณฑ์ในการเปิดเสรีในด้านต่างๆ ของระเบียบการค้าโลกให้มากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

ประเด็นที่สองก็คือ ในการประชุมครั้งนี้ องค์กรการค้าโลกได้จัด หลังจากที่เขาประชุมข้าราชการเสร็จแล้วนี่ เขาจะจัดให้มีการประชุมพบปะกับ NGO. เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากทีเดียว เพราะว่าเขาต้องการให้ NGO เข้ามาอยู่เบื้องหลัง หรือเข้ามาสนับสนุนการประชุมรอบที่จะเกิดขึ้นใหม่ในปีนี้.

ทำไมเขาถึงสนใจเรื่อง NGO

ในทัศนะของเบลโลคิดว่า เหตุผลก็เพราะว่าในระยะเวลา ๓-๔ ปีที่ผ่านมา ถ้าเราดูการประชุมนานาชาติทั้งหลาย จะพบว่ามันมีการต่อต้าน การเดินขบวน มีการประท้วงทั่วไปหมด ตั้งแต่อเมริกาจนกระทั่งมาถึงในเอเชีย รวมทั้งในเชียงใหม่ของเราเองด้วย. ทั้งนี้มันก็ชี้ให้เห็นสิ่งหนึ่งว่า สิ่งที่เราเรียกว่าภาคประชาสังคม มันกำลังเข้มแข็งมากขึ้น และไม่ปล่อยให้รัฐบาลและองค์กรโลกทั้งหลายเหล่านี้จัดการชีวิตตนเองโดยอิสระอีกต่อไป จึงอยากจะได้การสนับสนุนจากภาคประชาสังคมโดยผ่านการร่วมมือกับ NGO

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า องค์กรการค้าโลกเป็นองค์กรที่ไม่มีความโปร่งใส แม้แต่การประชุมครั้งนี้ ก็มีความพยายามที่จะปิดบังไม่ให้เราได้รู้เห็นเท่าใดนัก เหตุฉะนั้น การตอบโต้ของพวกเราก็คือว่า จำเป็นที่จะต้องทำให้การประชุมครั้งนี้เปิดเผย และเผยแพร่ไปกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเราเชื่อว่า ถ้าการประชุมอะไรก็ตามแต่ขององค์กรโลกทั้งหลายนี่ เป็นที่เปิดเผย เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปแล้ว ก็จะเกิดการควบคุมจากสังคมโลกได้มากขึ้น

อาจารย์เบลโลบอกว่า ประเทศที่กำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ต่อต้านการที่จัดประชุมองค์กรการค้าโลกรอบใหม่ เหตุผลสำคัญก็เพราะว่า ประเทศเหล่านี้ยังไม่ทันได้ผนวกเอาข้อตกลงที่มีอยู่เดิม ในรอบอุรุกวัยให้เข้ามาประเทศด้วยซ้ำไป อย่างที่คุณวิฑูรย์พูดถึงเมื่อสักครู่นี้ ว่ามีเพียงสามประเทศในเอเชียที่แก้กฎหมายตัวเอง. ด้วยเหตุผลที่ประเทศเหล่านี้ ไม่ได้ผนวกเอาข้อตกลงที่มีอยู่ในรอบอุรุกวัย เข้ามาในระเบียบการค้าภายในของประเทศตนเองนั้น ก็เพราะเหตุผลที่ว่า ถูกต่อต้านจากประชาชนของตนเอง เนื่องจากประชาชนของตนเองก็ไปพบว่า ข้อตกลงที่ทำกันเอาไว้ มันก่อให้เกิดผลเสียแก่ประชาชน.

เกิดผลเสียอย่างไรนั้น ดูได้จากตัวเลขของ UNDP ซึ่งได้ทำการศึกษาและพบว่า ภายใต้ระเบียบการค้าขององค์กรการค้าโลกนั้น ในช่วงของ คศ. 1995-2004 นั้น ประเทศที่พัฒนาน้อยหน่อยใน ๔๘ ประเทศ จะสูญเสียเงิน คือถ้าทำตามข้อตกลงนั้น ถึง ๖๐๐ ล้านเหรียญต่อปี.

ถ้าเอาประเทศที่ยากจนลงไปอีก เป็นต้นว่าประเทศใน ซับซาฮาร่า ในแอฟริกา, ก็จะพบว่า จะสูญเสียเงินไปถึง ๑.๒ พันล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี. นอกจากนั้นแล้ว ก็ยังมีการประเมินว่า ๗๐% ของกำไรหรือผลประโยชน์ที่ได้มาจากระเบียบการค้าที่กำหนดกันขึ้น ในการประชุมรอบอุรุกวัยนั้น จะไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว เหลืออีก ๓๐% ที่เหลือนั้น ก็ไม่ได้ไปที่ประเทศยากจน แต่ไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่เน้นการส่งออก

องค์กรการค้าโลกและผู้บริหารองค์กรการค้าโลกในปัจจุบันพยายามที่จะพูดว่า การประชุมรอบใหม่นั้น จะเป็นการประชุมที่เขาตั้งชื่อว่า "การประชุมรอบการพัฒนา" หมายความว่า ฟังดูแล้วเหมือนทุกคนได้ประโยชน์หมด แต่ความเป็นจริงนั้นมันมีอยู่ว่า ญัตติหรือข้อตกลงที่จะประชุมกันนั้น มุ่งไปยังการเปิดเสรีมากขึ้นกว่าที่เป็นไปแล้ว เพื่อจะเปิดโอกาสให้บรรษัทข้ามชาติในโลกที่พัฒนาแล้ว สามารถที่จะทะลุทะลวงเข้ามายังเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆได้ง่ายขึ้น.

ประเทศที่พัฒนาแล้วได้ตั้งญัตติที่สำคัญเอาไว้ ๕-๖ ประเด็นด้วยกัน ที่จะใช้ในการประชุมรอบใหม่ในเดือนพฤศจิกายน, ญัตติเหล่านั้นก็ได้แก่

ข้อที่หนึ่ง จะเจรจาตกลงกันในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายการลงทุน
ข้อที่สอง, จะเจรจาตกลงกันในเรื่องเกี่ยวกับนโยบายการแข่งขันทางการค้า
ข้อที่สาม, การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐบาล
ข้อที่สี่,นโยบายหรือมาตรฐานการใช้แรงงาน มาตรฐานสวัสดิการแรงงาน
ข้อที่ห้า, มาตรฐานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

จะเห็นได้ว่า ในญัตติที่ตั้งใจจะใช้ประชุมกันใน 3 ข้อแรก ก็คือ นโยบายการลงทุน นโยบายการแข่งขัน และการจัดซื้อจัดจ้างของฝ่ายรัฐบาลนั้น จริงๆแล้ว จุดมุ่งหมายก็คือจะเปิดโอกาสให้กับบรรษัทข้ามชาติทั้งหลาย สามารถที่จะทำลายสิทธิพิเศษบางอย่าง ซึ่งประเทศทั้งหลายมักจะให้แก่ผู้ผลิตของประเทศตนเองไว้ก่อน อยากจะทำลายสิ่งเหลานี้ลง เพื่อตัวจะได้สามารถเข้ามาแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นการผลิตก็ตาม การจ้างงานก็ตาม การรับเหมาจากฝ่ายรัฐก็ตาม หรือบริการด้านอื่นๆ อย่างเช่น ธนาคารเป็นต้น

ส่วนญัตติเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานแรงงาน และมาตรฐานสิ่งแวดล้อมนั้น ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายเกรงว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วจะใช้มาตรฐานอันนี้ ในการกีดกันการค้าของตนเองมากกว่า และในขณะเดียวกัน พวก NGO ในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายนั้น คิดว่า การวางมาตรฐานสากลเกี่ยวกับสวัสดิการแรงงานก็ตาม เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมก็ตามเช่นนี้ จะทำใหองค์กรการค้าโลกมีอำนาจอย่างเหลือเฟือ อาจจะยิ่งว่ารัฐบาลภายในประเทศของตนเองด้วยซ้ำไป ที่จะเข้ามาจัดการกำหนดสิ่งนั้นสิ่งนี้ ในเรื่องเกี่ยวกับกรรมกร เกี่ยวกับเรื่องสวัสดิการแรงงาน และสิ่งแวดล้อม ทั้งๆที่องค์กรการค้าโลก ก็ไม่ค่อยรู้เรื่องเกี่ยวกับสวัสดิการแรงงานและเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วยซ้ำไป

ฉะนั้น ถ้าจะมีการประชุมองค์กรการค้าโลกรอบใหม่ ก็จะเกิดความวุ่นวายปั่นป่วนอย่างยิ่ง เมื่อไหร่ก็ตามแต่ที่เราไปจัดให้เกิดการประชุมอย่างนั้นขึ้น จะเกิดประเด็นปัญหาอันที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผลประโยชน์และชีวิตของคนมากมายในประเทศต่างๆ. สหรัฐอเมริกาอาจจะผลักดันในการประชุมรอบใหม่นี้เพื่อจะทำให้ ประเทศต่างๆต้องยอมรับพืชและผลผลิต GMO ทั้งหลายก็เป็นได้

แทนที่ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายจะไปสนับสนุนให้มีการประชุมรอบใหม่ สิ่งที่ควรทำมากกว่าก็คือ การต่อต้านไม่ให้เกิดการประชุมรอบใหม่ แล้วก็ผลักดันที่จะให้ข้อตกลงที่ผ่านมาแล้ว หลายต่อหลายเรื่องด้วยกัน ได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง หรือได้รับการทบทวน สิ่งที่ท่านอยากจะเสนอว่ามันเป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาควรจะผลักดันนั้น มีอยู่ทั้งหมด ๖ ประเด็นด้วยกัน แต่อยากจะพูดถึง ๓ ประเด็นก่อน

ประเด็นแรกสุดก็คือว่า ข้อตกลงที่เกี่ยวกับการค้าทรัพย์สินทางปัญญา ควรจะได้มีการทบทวน และมีกติกาห้ามการจดทะเบียนสิทธิบัตรหรือสิทธิใดๆก็ตามแต่ เหนือชีวิต … ในเรื่องเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาควรให้สิทธิเบื้องต้นแก่ สิ่งที่มันเกิดขึ้นภายในพื้นที่ก่อน นั่นก็คือปกป้องความรู้และภูมิปัญญาของประชาชนในท้องถิ่น ไม่ให้ถูกปล้นสดมภ์จากพวกโจรสลัดชีวภาพ.

นอกจากนี้แล้วจะต้องให้ความสำคัญเป็นเบื้องต้นแก่ มาตรฐานสาธารณสุข ต้องให้ความสำคัญแก่สวัสดิการ หรือสาธารณสุขเหนือกว่าทรัพย์สินทางปัญญา เช่นเป็นต้นว่า ต้องให้สิทธิแก่คนที่ติดเชื้อ HIV หรือคนติดเชื้อเอดส์ทั้งหลาย สามารถที่จะซื้อยาซึ่งทำให้ชีวิตของพวกเขายืนยาวได้ต่อไป ด้วยราคาที่ถูกลง เพราะเรื่องของชีวิตเป็นเรื่องซึ่งสำคัญกว่าทรัพย์สินทางปัญญามาก

ประเด็นที่สองก็คือ ข้อตกลงที่เกี่ยวกับการเกษตร ควรจะได้มีการเพิ่มเติมเสริมต่อหลายอย่างด้วยกัน ทั้งนี้เพื่อจะขจัดการตั้งกำแพงภาษีศุลกากร หรือการเพิ่มภาษีดังกล่าวเพื่อจะกีดกันผลผลิตทางด้านการเกษตรของประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย นอกจากนั้นแล้วก็ควรจะยกเลิก หรือระงับการให้การอุดหนุนแก่ภาคการเกษตรภายในของประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งได้ทำกันในหลายรูปแบบ ทั้งทางตรงทางอ้อม. อันนี้จะต้องระงับสิ่งเหล่านี้เสีย

ประเด็นที่สามต่อมาคือ ควรจะมีการตั้งกติกาหรือกฎเกณฑ์ ในการที่จะให้ข้อยกเว้นแก่ประเทศที่ต้องการสร้างความมั่นคงปลอดภัยทางด้านอาหาร กล่าวคือ ประเทศเหล่านั้น อาจที่จะตีความข้อตกลงเหล่านี้ให้กว้างขวางขึ้น เพื่อจะทำให้เขาสามารถผลิตอาหารได้พอกิน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ. ข้อตกลงทั้งหมดเกี่ยวกับทางด้านเกษตรเหล่านี้ ในทัศนะของอาจารย์เบลโลแล้ว เกิดขึ้นไม่ใช่เพื่อที่จะทำให้เกิดการค้าเสรีทางด้านการเกษตร แต่จุดมุ่งหมายที่แท้จริงก็เพื่อ จะสงวนรักษา การผูกขาดสินค้าด้านเกษตรของประเทศของสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ว่ารักษาการผูกขาดในนามของการค้าเสรีอีกทีหนึ่ง.

มาตรการที่เกี่ยวกับเรื่องของข้อตกลงที่เกี่ยวกับการค้า จะต้องได้รับการทบทวน ทั้งนี้จะต้องเลิกข้อตกลงที่จะให้ยกเลิก การตั้งมาตรฐานที่จะต้องใช้สินค้าภายในในการผลิต ซึ่งผมขออธิบายละเอียดสักนิดหนึ่ง...

เช่นเป็นต้นว่า รัฐบาลไทยเคยตั้งมาตรฐานว่ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศไทยนั้น ในปีนั้นปีนี้ จะต้องมีสิ่งที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย ๓๐%, ๕๐%, ๗๐%, ต่างๆนาๆเหล่านี้ อันนี้องค์กรการค้าโลกได้มีข้อตกลงให้เราทำสิ่งเหล่านี้ได้น้อยลง หรือไม่ได้เลย. แต่ว่าถ้าเราย้อนกลับไปดูประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ซึ่งสามารถสร้างอุตสาหกรรมของตนเองขึ้นมาได้ ก็โดยอาศัยนโยบายทางการค้าตลอดมา แต่ทำไมเขาจึงกลับมาห้ามเราไม่ให้ใช้นโยบายทางการค้าในการสร้างอุตสาหกรรมภายในประเทศ. ฉะนั้นจะต้องมีการทบทวน เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศที่กำลังพัฒนา สามารถใช้นโยบายการค้าสำหรับการหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมของตนเองได้ด้วย

ข้อเสนอที่จะให้มีการทบทวนแก้ไขข้อตกลง WTO พูดจากวันนี้ไปถึงเย็นนี้ ถึงพรุ่งนี้ก็ยังไม่หมด เพราะมันยังมีอีกมากมาย ดังนั้นเท่าที่กล่าวมานั้น เป็นแต่เพียงข้อเสนอสำคัญๆที่เลือกขึ้นมาเท่านั้น

ข้อสี่ก็คือว่า, ข้อตกลงที่มาราเกซในปี ๑๙๙๔ ที่จะให้ช่วยประเทศที่ไม่สามารถผลิตอาหารได้เลย และจะต้องนำเข้าอาหารทั้งหมดเหล่านี้ ยังไม่บังเกิดผลอะไรเลย คือยังไม่มีใครได้รับความช่วยเหลืออะไรเลยทั้งสิ้น ทั้งๆที่ประเทศเหล่านี้ต้องซื้ออาหารแพงขึ้น จากข้อตกลงทางด้านการเกษตร เพราะฉะนั้นต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่งในเรื่องนี้

ข้อที่ห้าต่อมาก็คือว่า, ประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย ซึ่งยังยืนยันที่จะใช้ข้อตกลงในด้านเกี่ยวกับสิ่งทอตามเดิม กล่าวคือมีการกำหนดโควต้า ไม่ว่าจะเป็นยุโรป หรืออเมริกา กำหนดโควต้าการนำเข้าสิ่งทอให้แก่ประเทศต่างๆ อันนี้องค์กรการค้าโลกต้องบังคับให้เลิก เพราะมันขัดกับข้อตกลงองค์กรการค้าโลก

ข้อที่หก, คือ เวลานี้กระบวนการตัดสินใจขององค์กรการค้าโลก เป็นกระบวนการตัดสินใจที่เรียกว่า "การตัดสินใจในห้องเขียว". แต่น่าสนใจว่า การตัดสินใจในห้องเขียวนั้น มันมีประเทศที่สามารถเข้าไปร่วมในการตัดสินใจอยู่ไม่เกิน ๓๐ ประเทศ. แต่ผ่าเรียกมันว่า consensus process หรือ "กระบวนการฉันทานุมัติ". คือ ทุกๆประเทศเห็นพ้องต้องกันทั้งหมด แต่จริงๆแล้วมีประเทศอยู่ไม่เกิน ๓๐ ประเทศที่เข้าไปร่วมในการตัดสินใจ.

กระบวนการอันนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้แทนฝ่ายสหรัฐเองบางคน ก็ได้ออกมาชี้ให้เห็นว่า มันเป็นกระบวนการที่ไม่เป็นธรรม ผู้แทนอังกฤษชี้ให้เห็นว่า องค์กรการค้าโลกจะต้องปฏิรูปกระบวนการตัดสินใจอันนี้ ที่จะสามารถทำให้องค์กรการค้าโลกนั้น สามารถตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประเทศสมาชิกทั้ง ๑๓๔ ประเทศได้.

แม้กระนั้นก็ตาม ผู้อำนวยการองค์กรการค้าโลก ก็ยังยืนยันอย่างหนักแน่น ในการประชุม UNCTAD ครั้งที่สิบที่กรุงเทพฯ ว่า กระบวนการตัดสินใจโดยใช้ห้องเขียว และเรียกมันว่าเป็นกระบวนการฉันทานุมัตินี้ เป็นสิ่งที่ไม่อาจจะเจรจาได้ หมายความว่าต้องยืนยันทำอย่างนี้ต่อไป ไม่ต้องมาเถียงกันในเรื่องนี้

เพราะฉะนั้น กระบวนการตัดสินใจเป็นสิ่งซึ่งมีควาสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้น ประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายจึงจะต้องผลักดัน ที่จะให้มีการแก้ไขกระบวนการตัดสินใจที่ให้มันมีลักษณะเป็นประชาธิปไตย และมีความโปร่งใสมากขึ้น

ในข้อตกลงปี ๑๙๙๕ ที่เปลี่ยนจาก GATS ให้กลายมาเป็น WTO มันจะมีถ้อยคำที่เรียกว่าอารัมภกถา หรืออารัภบทของข้อตกลงเยอะแยะมากเลยทีเดียว และเต็มไปด้วยความสวยหรู ส่วนของข้อตกลงนั้นมีความหนาถึง ๗๕๐ หน้า แล้วก็เป็นตัวพิมพ์เล็กๆด้วย ซึ่งก็ยากมากที่ใครจะทนอ่านอยู่ได้ อย่างไรก็ตามแต่ ท่านได้พูดถึงภาษิตซึ่งเป็นที่รู้ทั่วกันว่า ธรรมดาแล้ว สิ่งซึ่งมันเป็นอารัมภบททั้งหลาย มันก็จะสวยหรูงดงามทั้งสิ้น แต่ว่า ความชั่วร้ายอัปรีย์ทั้งหลายจะซ่อนอยู่ในรายละเอียด ซึ่งก็เหมือนกับข้อตกลงของ WTO ที่หนาถึง ๗๕๐ หน้านั่นเอง

ในปี ๑๙๙๕ ช่วงที่เปลี่ยนจาก GATS มาเป็น WTO อาจจะกล่าวได้ว่า คนยังเชื่อกันและ ยอมรับกันโดยทั่วๆไป ในเรื่องของการค้าเสรีว่า จะเป็นตัวการแก้ปัญหาความยากจน แก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมและอื่นๆ. แต่ปัจจุบันนี้ สถานการณ์มันเปลี่ยนไปแล้ว เพราะว่า ผู้คนจำนวนมากในโลกนี้ยอมรับแล้วว่า การค้าเสรีเพียงอย่างเดียว ไม่ได้เป็นตัวช่วยขจัดปัญหาความยากจนและอื่นๆได้ อย่างที่เคยได้เชื่อกันมาในสมัยนั้น

นอกจากนั้นแล้ว มันยังมีตัวเลขบางอย่าง เช่น การศึกษาของ UNCTAD ก็ชี้ให้เห็นว่า ใน ๑๒๔ ประเทศ ในช่วงที่มีการเปิดารค้าเสรีกว้างขวางขึ้นนั้น คือตั้งแต่ ๑๙๖๕ - ๑๙๙๐ ส่วนแบ่งรายได้ของประเทศที่ร่ำรวยที่สุด ๒๐ ประเทศนั้น เพิ่มขึ้น, ประชาชนของประเทศเหล่านั้นมีส่วนแบ่งของรายได้ของโลก เพิ่มขึ้นจากรายได้ ๖๙% มาเป็น ๘๓%

นอกจากนี้แล้วยังมีการศึกษาของคนอื่นๆอีก เช่น เป็นต้นว่า ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดชื่อ Danny Rodrique ชี้ให้เห็นว่า เราไม่สามารถที่จะหาพยานหลักฐานข้อมูลใดๆมายืนยันได้ว่า มันมีความสัมพันธ์กันระหว่าง การที่เรามีการค้าเสรีกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ. ในทางตรงกันข้าม ตัวเลขในทศวรรษ ๑๙๙๐ กลับชี้ในทางตรงกันข้ามด้วยซ้ำไปว่า การที่ประเทศใดมีการตั้งอุปสรรคในการค้าระหว่างประเทศนั้น กลับพบว่ามีการเติบโตทางเศรษฐกิจมากเสียกว่า. ฉะนั้น ศาตราจารย์ร็อดดริก จึงมีความเห็นว่า จริงๆแล้วประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย ในสมัยหนึ่งก็เคยตั้งกำแพงการค้าเอาไว้ทั้งสิ้น แต่พอประเทศร่ำรวยขึ้น ก็พยายามที่จะลดกำแพงการค้าลงมาเท่านั้นเอง

เบลโลจึงบอกว่า ประเทศเหล่านั้น กำลังบอกเราว่า อย่าทำในสิ่งที่เขาทำมาแล้ว. ก็คือ เขาเองก็เคยตั้งกำแพงการค้ามา แล้วก็รวยไปแล้ว แต่มาบอกกับเราว่า อย่าตั้งกำแพงการค้า

นักวิชาการอีกคนหนึ่ง ซึ่งเคยสนับสนุนการค้าเสรีและองค์กรการค้าโลกอย่างยิ่ง บัดนี้ยอมรับแล้วว่า การเปิดเสรีทางการค้าหรือสิ่งที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์นั้น มีทั้งรายจ่ายที่จะต้องจ่าย แล้วก็มีผู้แพ้ในการเปิดเสรีทางการค้าทั่วทั้งโลกแบบนี้ด้วย การเปิดเสรีทางการค้านั้น ไม่ได้เพิ่มรายได้และความเท่าเทียมกันในสังคมประทศต่างๆ อันที่จริง มันทำให้บางประเทศมีรายได้ลดลง มีความเท่าเทียมทางสังคมลดลง ทำให้บางกลุ่มได้รับรายได้น้อยลง และมีความเหลื่อมล้ำทางสังคมมากขึ้นอีกด้วยซ้ำไป.

ฉะนั้น อาจารย์เบลโลจึงบอกว่า สิ่งที่บรรดาประเทศทั้งหลายควรจะทำนั้น ไม่ใช่ไปสนับสนุนให้เกิดการประชุมรอบใหม่ขององค์กรการค้าโลก แต่ควรที่จะเลิกให้การสนับสนุน

อาจารย์เบลโล ได้ตั้งข้อสังเกตุว่า ในการประชุมรอบใหม่ขององค์กรการค้าโลกที่จะทำกันในเดือนพฤศจิกายนปีนี้นั้น เขาจะประชุมกันที่ประเทศกาต้า ก็คงทราบแล้วว่าประเทศนี้อยู่กลางทะเลทราย, ทำไมถึงเลือกกาต้า เหตุผลสำคัญก็คือว่า กาต้าเป็นทะเลทราย ทำให้กลุ่มประชาสังคมทั้งหลายไม่สามารถที่จะไปปรากฎตัว แสดงความคิดเห็น กดดันอะไรก็แล้วแต่ในการประชุมนั้นได้ เหตุดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านบอกว่า พวกเราทั้งหมดคงไม่มีใครได้ไปที่กาต้าด้วยซ้ำไป เพราะว่า เขาไม่ให้เข้าบ้าง ไม่มีเงินจะไปบ้าง ถึงมีเงินจะไป หรือเขาให้เข้า ก็ไม่มีโรงแรมให้เราพัก เพราะถูกจองโดยผู้เข้าร่วมประชุมและนักข่าวต่างๆหมดแล้ว เพราะฉะนั้นก็ต้องเอาเต้นท์ไปกางเท่านั้น ซึ่งเขาจะอนุญาตหรือเปล่าก็ไม่ทราบเหมือนกัน.

เพราะฉะนั้นก็จะเป็นการประชุมที่ปลอดภัยมาก ไม่เหมือนการประชุมที่เชียงใหม่ ที่ดาโวส ที่ต่างๆ ซึ่งกลุมประชาสังคมสามารถรวมตัวกันเข้าไปกดดันได้พอสมควร. จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในช่วงนี้ ในการที่ประชาสังคม จะทำตัวเองให้เข้มแข็งอย่างเต็มที่ เพื่อที่จะบอกรัฐบาลว่า เราไม่ต้องการการประชุมรอบใหม่ แต่เราต้องการหยุดพักการเปิดเสรีทางการค้า รวมทั้งผลักดันให้องค์กรการค้าโลกทบทวนแก้ไขข้อตกลงที่ผ่านมาแล้ว ดังที่กล่าวเอาไว้แต่ต้นมากกว่า.

ฉะนั้น การประชุมองค์กรการค้าโลกที่กาต้า คนที่เข้าประชุมนั้นก็จะเป็นข้าราชการจากประเทศสมาชิกต่างๆ ซึ่งไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง ไม่มีใครจะช่วยเขาได้เลย เขาจะถูกเป็นเชลยขององค์กรการค้าโลก ที่เอาพวกเขามาประชุมกันกลางทะเลทราย แล้วไม่มีพี่น้องของเขามาเฮเฮอยู่ข้างนอกที่ประชุมด้วย เขาจะเป็นคนที่อ่อนแอค่อนข้างมาก แล้วก็ เมื่อคนเหล่านี้อ่อนแอจะทำอย่างไร ? เขาก็ทำสิ่งที่เขาทำตลอดมาคือ หน้าไหว้หลังหลอก เขาก็จะยอมจำนนต่อแรงกดดันของประเทศพัฒนาแล้วในองค์กรการค้าโลก แล้วก็กลับมาหลอกเราว่า เขาไม่ได้จำนนบ้าง หรือจำนน แต่ยังมีเงื่อนไขอย่างอื่นๆบ้าง อย่างที่เคยทำมาแล้ว

เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งว่า ภาคประชาสังคมจะต้องสร้างพลัง ในการกำหนดนโยบายก่อนหน้าที่รัฐบาลประเทศต่างๆเหล่านี้ จะส่งเชลยไปให้จับกุมกลางทะเลทราย เพื่อที่จะทำให้เชลยเหล่านั้น หรือรัฐบาลเหล่านั้นมีความมั่นใจได้ว่า ตัวสามารถจะต่อรองได้เต็มที่เพราะมีประชาชนในประเทศตนเองหนุนหลังอยู่

ชามมาลี กุดตาล : (ชาวอินเดีย ผู้ทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนองค์กรหนึ่งในลุ่มน้ำโขง พูดเป็นภาษาลาว - ดังนั้น อาจมีการสื่อสารผิดพลาดบ้าง)

สำหรับคำว่า GATS ชื่อที่เป็นภาษาอังกฤษก็คือ General Agreement on Trade and Services ภาษาไทยก็คือ การตกลงทั่วไปเกี่ยวกับการค้าและการบริการ.

สำหรับข้อตกลงที่มีอยู่ใน WTO นั้น มีข้อตกลงมากกว่า ๒๐ ข้อตกลงอันเกี่ยวเนื่องกับเรื่องทางการค้า. GATS เป็นหนึ่งในนั้น. ที่จริง GATS ได้เข้ามาอยู่ใน WTO ในปี ๑๙๙๕ แต่มันได้เริ่มมีการเจรจาใหม่ นับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปี ๒๐๐๐ เป็นต้นมา.

สำหรับข้อตกลงของ GATS นั้น ก็คือ ให้สมาชิกทั้งหมดของ WTO ต้องเปิดทางสะดวกให้กับการค้าและการบริการอย่างเป็นเสรี(liberlization) หมายความว่า รัฐบาลไม่ต้องมีกฎหมาย หรือไม่ต้องมีกฎเกณฑ์มาควบคุมการบริการภายในประเทศ

สำหรับเนื้อในของ GATS ในข้อที่หนึ่ง ก็คือเปิดให้การค้าและการบริการทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา สาธารณสุข การอนุรักษ์ป่าไม้ หรือการนับถือศาสนา ต้องเปิดให้เป็นเสรี. รัฐบาลไม่ควรที่จะประกอบการเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ หรือกิจอันเนื่องด้วยสาธารณประโยชน์พวกนี้เลย กล่าวคือไม่ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ public service. ต้องปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ทำสิ่งเหล่านี้

ข้อที่สอง, รัฐบาลต้องปฏิรูปเรื่องการบริการให้เป็นเรื่องในเชิงพาณิชย์ ต้องเก็บกำไร สำหรับทุกรัฐบาลที่ได้เซ็นรับข้อตกลง GATS แล้ว ก็จะไม่มีสิทธิที่จะใช้ข้อกฎหมายใดมากีดกันหรือเป็นอุปสรรคต่อการค้าและบริการเสรี ที่บริษัทจากต่างประเทศจะเข้ามาลงทุนในด้านเหล่านี้ และ WTO ก็จะมีอำนาจในการสั่งให้แต่ละประเทศที่ยอมรับเงื่อนไขเหล่านี้ ออกกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่บริษัทต่างๆชาติข้างต้นด้วย

ต่อไปชามมาลีจะขอพูดเป็นภาษาอังกฤษ แล้วอาจารย์นิธิ จะช่วยแปลเป็นภาษาไทยให้นะคะ, ซึ่งเนื้อหามันอาจจะหนักหน่อย…

สำหรับเนื้อในข้อตกลงข้อที่หนึ่ง มีว่า เรายังไม่รู้แน่นอนว่า ข้อตกลงที่สมบูรณ์แล้วเป็นยังไง เพราะว่ามันยังทำไมเสร็จ เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจาอยู่ แต่สิ่งที่ได้ทำข้อตกลงไปแล้ว ซึ่งเรารู้แน่ๆก็คือว่า จะลดความสามารถหรืออำนาจของรัฐบาลแต่ละประเทศ ในการที่จะควบคุมดูแลเกี่ยวกับกิจการด้านการบริการทั้งหลายลงไป

อันที่สองต่อมา ก็คือว่า ในข้อตกลงที่เรารู้แล้วก็คือ จะห้ามรัฐบาลแต่ละประเทศตั้งกติกาเงื่อนไขว่า บริษัทต่างชาติที่มาลงทุนในประเทศเรา จะต้องมีหุ้นส่วนที่เป็นคนไทยหรือคนพื้นเมืองเท่าไหร่ ๆ มีเงื่อนไขว่าจะต้องจ้างคนไทยเท่าไหร่ ๆ… ข้อกำหนดเหล่านี้ทั้งหมดจะต้องไม่มี เพราะว่ามันมีข้อตกลงที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องที่ว่า การปฏิบัติเยี่ยงประชาชนในประเทศตนเอง หรือเรียกว่า National Treatment ซึ่งจะห้ามให้ประเทศที่เป็นเจ้าของ หรือประเทศเจ้าภาพ(host country)ตั้งข้อห้ามต่างๆ หลายอย่างหลายประการด้วยกัน ที่ทำให้ประหนึ่งว่า บริษัทต่างชาติเหล่านั้น เป็นบริษัทต่างชาติแตกต่างออกไปจากบริษัทที่เป็นของชาติตนเอง

อันที่สาม ก็คือว่า ห้ามรัฐบาลตั้งเงื่อนไขในการต้องถ่ายโอนเทคโนโลยีจากบริษัทที่มาลงทุนให้แก่คนพื้นเมือง

ข้อที่สี่ ก็คือว่า บริษัทต่างชาติทั้งหมด มีสิทธิที่จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล เท่าๆกันกับบริษัทของประชาชนในประเทศนั้นๆ แต่อย่าลืมนะว่า ในประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย รัฐบาลก็คือผู้ซื้อรายใหญ่ที่สุด เพราะมีงบประมาณ เพราะฉะนั้น รัฐบาลก็จำเป็นจะต้องซื้อการบริการที่เป็นของคนพื้นเมืองกับของคนต่างชาติเท่าเทียมกัน บริษัทต่างชาติมีสิทธิที่จะเข้ามาขอสัมปทาน หรือเข้ามาประมูลงานของรัฐบาลเท่าเทียมกันกับบริษัทภายในของตนเอง

ข้อตกลงต่อมา ก็คือ บริษัทต่างชาติมีสิทธิที่จะซื้อที่ดินและรับบริการอื่นของรัฐเท่าเทียมกันกับบริษัทที่เป็นของประเทศนั้นๆ. การที่กำหนดให้มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกันนี้ มันได้ไปลดความสามารถของประเทศต่างๆลงไป ในการที่จะอุ้มชู ปกป้องกิจการทางด้านเศรษฐกิจภายในของตนเอง

ข้อตกลงอีกอันหนึ่งคือ มีพันธะว่า ประเทศที่ลงนามจะต้องเปิดตลาดให้บริษัทต่างชาติเข้าถึงได้อย่างเต็มที่ ข้อตกลงหรือพันธะอันนี้ มันทำให้รัฐบาลไม่สามารถจะให้บริการอะไรแก่ประชาชนของตนเองได้เลย ยกตัวอย่างเช่น เป็นต้นว่า ถ้าจะตั้งโรงพยาบาลเพื่อจะรักษาพยาบาลผู้คน ในราคาที่ต่ำลง ก็จะถือได้ว่าเป็นการแข่งขันกับบริษัทต่างๆชาติ ที่มาตั้งโรงพยาบาลในประเทศไทย และเก็บเงินค่ารักษาพยาบาล. อันนี้ถือเป็นการแข่งขันการบริการที่ไม่เท่าเทียม เพราะฉะนั้น ก็ไม่มีสิทธิที่จะทำได้.

อันนี้ ไม่ว่ามหาวิทยาลัย ไม่ว่าโรงเรียน ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นกิจการธุรกิจภาคบริการทั้งหมดเหล่านี้ รัฐบาลไม่สามารถจะให้แก่ประชาชนได้เลย จะต้องเอามันออกไปเสีย และต้องเก็บเงินเหมือนกันกับคนอื่นเขา

ถ้ารัฐบาลคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องให้บริการอย่างใดอย่างหนึ่งแก่ประชาชน เช่น เป็นต้นว่าค่ารักษาพยาบาล ๓๐ บาท หรืออะไรก็แล้วแต่ รัฐบบาลจะต้องพิสูจน์แก่บริษัทต่างชาติที่มาตั้งหรือมาทำธุรกิจบริการอย่างเดียวกันนี้ หรือพิสูจน์แก่องค์กรการค้าโลกว่า ทำไมจึงจำเป็นที่จะต้องจัดบริการนั้นๆ และมีทางเลือกอื่นหรือไม่ ถ้าไม่ให้บริการนั้น เช่น พิสูจน์ว่า ไม่มีใครตั้งโรงพยาบาลคนเจ็บคนป่วยเลย ฉะนั้นจึงจำเป็นจะต้องให้ หรือจัดให้มีการบริการของรัฐขึ้นมา.

และนอกจากนั้นแล้ว บริการประเทเหล่านี้ แม้ WTO อนุญาตให้ทำได้แล้ว ก็จะต้องบริการฟรีตลอด หมายความว่า ไม่สามารถเก็บหรือเรียกเงินได้เลย ซึ่งอันนี้ก็เป็นไปไม่ได้อีกเหมือนกัน แม้แต่เก็บ ๓๐ บาทก็ไม่ได้ด้วยซ้ำ, ซึ่งป็นไปไม่ได้สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย 000000000 ต่อไปนี้ คุณชามมาลีพยายามชี้ให้เห็นถึงผลร้ายของข้อตกลงพวกนี้

ในประการแรกสุด คือ เธอชี้ให้เห็นว่า ในประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ ขนาดของอุตสาหกรรมบริการใหญ่มาก บางประเทศใหญ่กว่าเศษสองส่วนสามของเศรษฐกิจรวมทั้งหมดของประเทศด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้น การที่มันมีข้อตกลง GATS ตรงนี้ก็คือ ต้องการจะขยายการลงทุนทางด้านบริการไปยังประเทศแถบบ้านเรา ซึ่งยังไม่มีความสามารถการบริการถึงขนาดนั้นได้

ฉะนั้น เมื่อมันเกิดเสรีทางด้านการบริการอย่างเต็มที่ แต่ก่อนนี้เวลาที่เราอยากจะได้การลงทุนจากต่างประเทศมา เรามุ่งหวังว่า มันจะเกิดการจ้างงาน มันจะมีการถ่ายโอนทางด้านเทคโนโลยี จะเกิดมีการเก็บภาษีจากบริษัทต่างชาติที่มาลงทุนภายในประเทศ แต่ว่าจากข้อตกลงเหล่านี้ มันเกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นไม่ได้เลย.

สิ่งที่เคยเชื่อว่า การลงทุนจากต่างประเทศจะสามารถทำได้ มันทำไม่ได้หมด เพราะประเทศเหล่านั้นอาจจะมาลงทุนในประเทศไทย แล้วพบว่าค่าแรงในประเทศไทยแพงเกินไป ก็อาจจะนำเอาแรงงานจากอินเดียเข้ามาก็ได้ คนที่จบวิศวเมืองไทย อาจจะค่าตัวแพงเกินไป ก็เอาวิศวกรจากเวียดนามมาจิ้มคอมพิวเตอร์แทนก็ได้ เพราะว่า มันจะไม่มีข้อห้ามสิ่งเหล่านี้อีกเลย ฉะนั้นประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนจึงสูญหมด จากข้อตกลงเหล่านี้

ประเด็นต่อมา ก็คือว่า จริงๆแล้ว ประเทศที่พัฒนาทั้งหลายเหล่านี้ ที่ขายบริการ ขายอุตสาหกรรมการบริการอยู่ทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า บริการของเขาที่ขายนั้น เป็นบริการที่มีราคาค่อนข้างแพงมาก และการที่จะทำอย่างนั้นได้ เขาจะต้องมีเทคโนโลยีที่สูงมาก ฉะนั้น เมื่อตลาดมันเปลี่ยนแปลงความต้องการ ประเทศเหล่านี้ จะสามารถแปลเปลี่ยนผลิตภัณฑ์สินค้าของเขา ผลิตภัณฑ์บริการไปได้ตามใจตลอดเวลา เพราะความสามารถทางด้านเทคโนโลยีของเขาสูงกว่า

ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาไม่มีอะไรอยู่ในกระเป๋า นอกจากแรงงาน ซึ่งไร้ฝีมือบ้าง มีฝีมือกึ่งๆกลางๆบ้าง เพราะฉะนั้นในระยะยาวแล้ว เราจะไม่สามารถแข่งขันอะไรกับเขาได้เลย ในภาคบริการแล้ว เราจะกลายเป็นประชาชนชั้นสองของโลก เราไม่สามารถที่จะไปแข่งอะไรกับประเทศที่มีเทคโนโลยีด้านบริการ ซึ่งไปได้ไกลถึงขนาดนั้นอีกต่อไป.

จากข้อตกลงเหล่านี้ มันจะเกิดอะไรขึ้นกับประชาชนเดินดินบ้าง

อันแรกสุดก็คือว่า มันลดมาตรฐาน คือเวลาที่เราบอกว่า เราจะ privatize หรือขายกิจการเหล่านี้ให้กับเอกชน เรามักจะบอกว่า เราจะได้รับคุณภาพที่ดีขึ้น, แต่จากตัวอย่างซึ่งเกิดขึ้นจริงกับประเทศต่างๆทั่วโลก เราพบว่า มาตรฐานหรือการบริการต่างๆนั้น เลวลง

เช่นเป็นต้นว่า บริษัทฝรั่งเศสแห่งหนึ่งรับผลิตน้ำ ซึ่งเป็นของเอกชนในหลายต่อหลายประเทศด้วยกัน เป็นบริษัทที่มีชื่อเสีย, ไม่ใช่มีชื่อเสียง, กล่าวคือ มีชื่อเสียอย่างยิ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อม และได้ทำลายสิ่งแวดล้อมไปเยอะแยะหมด แล้วรัฐบาลของประเทศเหล่านั้น เช่น อัฟริกาใต้ โดยข้อตกลงของ GATS เช่นนี้ ไม่สามารถที่จะคุมบริษัทฝรั่งเศสอันนั้นได้ เอาขึ้นศาลก็ไม่ได้ อะไรก็ไม่ได้สักอย่างหนึ่ง แล้วมันก็เปิดตูดหายไปเลย หลังจากที่ทำลายสิ่งแวดล้อมไปแล้ว และไม่สามารถดึงเอาความรับผิดชอบอะไรจากบริษัทกลับคืนได้เลย. ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่าในบางประเทศ สินค้าบริการที่ขาย ตัวมันเองก็มีคุณภาพเลวลงด้วย เช่นเป็นต้นว่า น้ำสกปรกมากขึ้น อันนี้ก็เกิดขึ้นมาแล้ว

ประเด็นที่สองต่อมาคือ การที่เป็นเช่นนี้ ถามว่าราคามันต่ำลงไหม ? ก็พบว่า ไม่อีกเหมือนกัน มันกลับเป็นว่า สินค้าบริการเหล่านี้กลับสูงขึ้น ในเมืองไทยเขายกตัวอย่างค่า FT ของไฟฟ้า ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ตลกๆและจะเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา. ในลาตินอเมริกาบางประเทศ คนจนไม่สามารถซื้อน้ำปะปาใช้ได้ เพราะว่ามันแพงขึ้นๆจนไม่สามารถที่จะซื้อได้ ทำให้โรคท้องเสียจนกระทั่งเสียชีวิต กลับมาระบาดในประเทศนั้นใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทั้งที่อันที่จริง โรคท้องเสียมันหายไปในหลายประเทศแยะมากแล้ว เพราะเขาไม่มีเงินจะซื้อบริการพื้นฐานเหล่านี้ใช้ได้ในชีวิต. ฉะนั้นมันจึงทำให้เกิดภาระด้านการคลังขึ้น

ประเด็นที่สาม ภาระด้านการคลังเกิดขึ้นแก่รัฐบาลสูงมาก เนื่องจากองค์กรโลกต่างๆ เช่น ธนาคารโลกก็ตาม หรือ IMF ก็ตาม, ได้มาผลักดันให้ประเทศเหล่านี้ สร้างเครือข่ายความปลอดภัยซึ่งเรียกว่า Safety net ขึ้น เพื่อจะช่วยคนจนทั้งหลาย. เพราะฉะนั้น หากประเทศเหล่านี้ต้องการที่จะสร้าง Safety net จะต้องเสียเงินซึ่งเป็นภาระด้านการคลังสูงขึ้นไปอีก เพราะถูกบริษัทเอกชนของต่างชาติมาทำลาย safety net ซึ่งมีมาตามธรรมชาติ หรือเครือข่ายความปลอดภัยซึ่งมันมีอยู่ตามธรรมชาติลง แล้วให้รัฐบาลเอาเงินไปยัดตรงนี้แทน.

สำหรับหลักการของข้อตกลง GATS อันนี้ก็คือ ตลาดมันมีผลประโยชน์ยิ่งกว่าตัวบุคคลหรือประชาชนทั้งหมด เพราะฉะนั้น เราจะพบได้ว่า ถ้าเราไปเปิดเสรีทางด้านการบริการอย่างเต็มที่แบบนี้ แม้แต่สิ่งที่เราถือว่าเป็นสิทธิสากลขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ก็จะถูกปฏิเสธ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงน้ำสะอาด เข้าถึงการรักษาโรค เข้าถึงการศึกษาอะไรต่างๆนาๆเหล่านี้ คนจนๆก็จะไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณะได้เลย

ตัวอย่าง ดังจะเห็นได้จาก แม้กระทั่งประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเช่น อเมริกาเหนือ ก็พบว่า คนรวยสามาถเข้าถึงบริการได้อย่างตามใจชอบที่จะเลือก เป็นต้นว่า จะส่งลูกไปเรียนหนังสือที่ไหนๆ คนรวยก็สามารถทำได้. ในขณะที่คนจนๆไม่สามารถที่จะทำได้ และถ้าราคาค่าบริการทางการศึกษามันแพงขึ้น คนจนก็จะต้องเลือกว่าจะส่งลูกคนไหนเข้าเรียน และให้เรียนถึงระดับไหน? แล้วเท่าที่พบทั่วๆไปในอเมริกาเหนือก็คือ ผู้หญิงไม่ได้เรียน เพราะลูกผู้หญิงเป็นเรื่องทีหลัง ส่งลูกผู้ชายเข้าเรียนก่อน

เพราะฉะนั้น ถ้าเกิดว่ามันเป็นอย่างนี้ในระยะยาวแล้ว มันก็จะเกิดการบริการหลายระดับชั้นขึ้นมา และคนรวยก็ได้บริการในระดับชั้นหนึ่ง ส่วนคนจนก็ได้รับบริการในอีกระดับชั้นหนึ่ง บริการของคนจนในระดับที่เขาได้มา จะทำให้เขาไม่สามารถพัฒนาตนเองได้เลย เช่นเป็นต้นว่า จะให้ลูกหลานสามารถหางานที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ก็ไม่ได้ ก็เพราะว่า ไม่สามารถส่งลูกเรียนหนังสือเป็นต้น กลายเป็นลักษณะของคนจนดักดาน ซึ่งจะเกิดขึ้นทั่วไปหมดทั้งโลก แล้วก็ทุกสังคม จะกลายเป็นสังคมที่มีการแบ่งชนชั้นอย่างชัดเจน ระหว่างคนรวยและคนจน

ผลกระทบอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า จะเกิดการทำลายสิ่งที่เรารียกว่าสาธารณสมบัติลงไปโดยสิ้นเชิงเลยก็ว่าได้ เพราะว่าทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าป่า ไม่ว่าน้ำ ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ จะถูกจัดการโดยบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญชำนาญในการขายบริการและการจัดการสำหรับสิ่งเหล่านี้.

แล้วคุณชามมาลี ได้ยกตัวอย่างหนึ่งซึ่งไม่เอ่ยชื่อว่า มันมาจาก NGO นั่นเอง เพราะ NGO ได้เข้าไปช่วยชาวบ้านจัดการสิ่งเหล่านี้มานาน เพราะฉะนั้น จึงได้เก็บสะสมประสบการณ์เหล่านี้ แล้วออกมาสร้างหรือตั้งขึ้นเป็นบริษัท หรือขายให้กับนายทุน โดยรับจ้างในรูปของบริษัท จัดการในเรื่องทรัพยากรเหล่านี้ ซึ่งเป็นสมบัติสาธารณะ เป็นบริษัทรับจ้างอนุรักษ์ไอ้นั่น รับจ้างอนุรักษ์ไอ้นี่

ถ้ามันเป็นอย่างนั้นแล้ว สิ่งที่จะได้พบเห็นแน่ๆในโลกปัจจุบันนี้อยู่แล้วก็คือว่า สมบัติสาธารณะเหล่านี้ ประชาชนจะถูกกีดกันออกไปในการเข้าถึงสมบัติสาธารณะเหล่านี้ เช่นเป็นต้นตัวอย่างซึ่งเรารู้จักกันดีในประเทศไทยก็คือ การท่องเที่ยว กีดกันคนออกไปจากป่า กีดกันคนออกไปจากน้ำตก กีดกันคนออกไปจากที่ต่างๆ ซึ่งครั้งหนึ่ง เคยเป็นแหล่งอาหาร แหล่งยา หรืออะไรอื่นๆของเขาเป็นอย่างมาก. หรือการจัดการของรัฐที่ทำอยู่ในเวลานี้ก็คือ กีดกันคนออกไปแหล่งดังกล่าว

อันที่สองต่อมา หลังจากที่เราทำลายสมบัติสาธารณะเหล่านี้ ก็คือว่า ในที่สุดแล้ว เมื่อคุณเข้าไปจัดการ คุณจะไปพบว่ามันมีความรู้ หรือพูดง่ายๆก็คือภูมิปัญญาซึ่งครั้งหนึ่ง มันเคยเป็นสมบัติสาธารณะเหมือนกัน สิ่งเหล่านี้ก็จะถูกทำให้กลายเป็นสินค้าไป โดยบริษัทเข้าไปยึดกุมเอาความรู้เหล่านี้มาทำเป็นสินค้าสำหรับไว้ขาย

ตอนท้ายนี้คือ ถ้าการพาณิชย์ มันเข้ามายึดกุมตลาดอย่างชัดเจนอย่างนี้แล้ว โอกาสของการควบคุมในทางประชาธิปไตย อำนาจในการควบคุมในลักษณะประชาธิปไตยต่อตลาด ต่อการกระทำต่างๆเหล่านี้ก็จะลดลงไปด้วย

แล้วต่อไปนี้ คุณชามมาลีจะพูดถึงข้อเสนอว่า พวกเราจะทำอะไรได้บ้าง เท่าที่ได้เก็บรวบรวมมาจากข้อเสนอของกลุ่มและคนต่างๆ

ข้อเสนอแรกสุด ก็คือว่า สร้างความสำนึกความรู้ความเข้าใจเสียก่อน คือให้คนทั่วไปเข้าใจว่า GATS คืออะไร ? มันมีผลร้ายอย่างไร ? เพราะสิ่งเหล่านี้มันไม่ค่อยมีการพูดกัน และไม่ค่อยมีการเขียนถึงเพียงพอ เพราะฉะนั้นจึงต้องสร้างความสำนึกและความเข้าใจเหล่านี้ของสังคม

อันที่สองต่อมา กลุ่มประชาสังคมจะต้องพยายามเข้าไปสร้างความรู้ขึ้นมา เพราะว่าในทางตรงข้าม ไม่ว่ารัฐบาลประเทศตะวันตกก็ตาม บริษัทข้ามชาติใหญ่ๆทั้งหลายในประเทศตะวันตกก็ตาม รวมทั้งญี่ปุ่นด้วย ก็พยายามสร้างความรู้เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า GATS ไม่มีผลร้ายอะไร มีแต่ข้อดีอย่างเดียว. เพราะฉะนั้นเราต้องสร้างความสมดุลย์ในเชิงความรู้ เท่าๆกับความรู้ที่บริษัทฝรั่งต่างๆสร้างขึ้น คือชี้ให้เห็นว่ามันมีกรณีที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนจาก GATS อย่างไรบ้างในที่ต่างๆทั่วโลก

ประเด็นที่สามก็คือว่า เราจำเป็นต้องรู้ท่าทีของรัฐบาลเราเองว่า คิดอย่างไร จะทำยังไง จะยืนอยู่ตรงไหน ? ในเรื่องข้อตกลงเกี่ยวกับ GATS. เหตุผลก็เพราะว่า ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายมีจุดยืนเกี่ยวกับ GATS ไม่เหมือนกัน. เธอได้ยกตัวอย่างของประเทศอินเดีย อินเดียนั้น มีจุดยืนเกี่ยวกับข้อตกลงในเรื่องแรงงาน คือไปสนใจในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีฝีมือ แต่ไม่สนใจการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ไม่มีฝีมือ อันนี้เขาไม่คิด เหตุผลก็เพราะว่า อินเดียมีแรงงานมีฝีมือแยะมาก แล้วก็ไม่มีงานทำในอินเดียด้วย.

เพราะฉะนั้นจำเป็นจะต้องรู้ว่ารัฐบาลไทย หรือรัฐบาลใดก็ตามแต่ มีจุดยืนอย่างไรกันแน่เกี่ยวกับเรื่องของ GATS เพื่อว่าเราจะได้สามารถชี้ให้เขาเห็นว่า จุดยืนของเขาผิดอย่างไร ตรงไหน ?

ประเด็นที่สี่ ก็คือว่า ภาคประชาสังคมจำเป็นที่จะต้องสร้างเครือข่ายพันธมิตรของเราเอง และเป็นเครือข่ายพันธมิตรที่ไม่จำกัดอยู่ในชนชั้นเดียวด้วย ต้องข้ามไปสู่ทุกชนชั้นหมด เนื่องจากเหตุผลที่ว่า ข้อตกลง GATS นั้น มันกระทบกับชีวิตทุกชนชั้น

ประเด็นที่ห้า ก็คือว่า พวกเราจำเป็นที่จะต้องชัดเจนและแน่ใจ จากการวิจัย หรือจากการอะไรก็ตามแต่ว่า มันมีอะไรบ้างที่มันเป็นสมบัติสาธารณะ อะไรบ้างซึ่งเราไม่ต้องการจะโยนเข้าไปในตลาด. แน่นอนเลยว่า ยังไงๆเราก็จะสู้ตายไม่ยอมให้โยนสิ่งเหล่านั้นเข้าไปในตลาด แต่อันนี้จะต้องไม่ได้มาจากการคิดเอาเอง จะต้องมาจากการศึกษาให้ดีพอ เพราะว่า เราไม่ได้ปฏิเสธการค้าการบริการ แต่มันมีการค้าบริการบางชนิดที่เป็นอันตรายต่อส่วนรวม และเราจะต้องแน่ใจว่ามันคืออะไรบ้าง สำหรับกรณีของประเทศเราเอง แล้วเราสู้ตาย ไม่ยอมให้นำเอาสิ่งเหล่านั้นเข้าไปในตลาดอย่างเด็ดขาด

ประเด็นสุดท้าย เห็นด้วยกับศาสตราจารย์เบลโล ตรงที่ว่า เราจำเป็นต้องระงับ ซึ่งหมายถึงว่า จะไม่มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องของ GATS อะไรเพิ่มเติมไปกว่านี้อีก เพราะเหตุผลว่า การทำข้อตกลงในเรื่อง GATS นั้น มันเป็นการตกลงที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง กล่าวคือ ไม่มีใครรู้เรื่องเลย อย่างที่คุณวิฑูรย์ พูดเมื่อเช้านี้ คือ ข้อมูลหลายๆอย่างไม่เคยถูกนำไปพูดในสภาฯ ไม่เคยถูกนำไปพูดในหน้าหนังสือพิมพ์ หรือที่ไหนทั้งสิ้น. เพราะฉะนั้นต้องหยุดเรื่องนี้ลงก่อน แล้วกลับมาจัดการเกี่ยวกับเรื่องของข้อตกลง. โดยที่เราต้องทำตัวเองให้พร้อมก่อน ก่อนที่จะไปทำการตกลงอะไรที่มากไปกว่านี้

คุณชามมาลี ชี้ให้เห็นว่า จริงๆแล้วเรื่องข้อตกลง GATS มันไปเชื่อมโยงกับข้อตกลงอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องการเกษตร ข้อตกลงเกี่ยวกับการค้าก็ตาม มันสัมพันธ์เชื่อมโยงกันหมด ฉะนั้น เธอจึงเรียกร้องให้เราเร่งรัดในการที่จะผลักดันว่า ข้อตกลงใดๆก็ตามแต่ในเรื่องของการค้านั้น จะต้องกระทำโดยเปิดเผย โดยที่สังคมทั้งหมดมีส่วนร่วม หยุดการที่จะให้เทคโนแครทเป็นผู้ตัดสินใจ เอาผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายลงมาเสีย มายืนอยู่บนพื้นดินเดียวกับเรา แล้วก็มาเถียงกันให้เต็มที่ อันนี้เป็นสิ่งที่มีความสำคัญเร่งด่วน เพราะว่า ที่ผ่านมาแล้ว มันมีคนเพียงไม่กี่คนที่เป็นเทคโนแครท ซึ่งเป็นผู้มาตัดสินใจในชีวิตเราตลอดเวลา ฉะนั้น ในครั้งนี้ เธอก็อยากจะฟังว่า เราจะทำอะไรต่อไปได้บ้าง เพื่อที่จะบรรลุข้อเสนอต่างๆที่เธอได้พูดมาแล้ว

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ : ที่ อ.วอลเดน พูดไว้ตอนต้น กับที่คุณชามมาลี พูดเมื่อสักครู่นี้ มันก็รวมสองสามอย่างเข้าด้วยกันแล้ว ก็คือการวิเคราะห์ระบบของ WTO ทั้งหมด และก็แนวทางที่เราจะทำได้ แต่ผมใคร่จะเสนอเป็นตัวอย่างเล็กน้อย จากแง่มุมเท่าที่เราเคยทำ และอาจจะพยายามเสนอว่า มันมีประเด็นใดบ้างที่เราควรจะเกี่ยวข้องได้บ้าง

โดยเบื้องต้นคือ ปัญหาทั้งหมดของ WTO และการกำหนดนโยบายของรัฐ ก็คือใช้เรื่องตลาดเป็นเรื่องหลัก ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก ดังนั้น กลไกต่างๆมันก็จะเป็นแบบเดียวกัน ที่มันจะอุดหนุนบริษัทขนาดใหญ่ บรรษัทข้ามชาติ และภาคธุรกิจมามีส่วนกำหนดนโยบายของรัฐ หรือองค์การระหว่างประเทศ หรือทิศทางขององค์การระหว่างประเทศ

เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราจะทำ มันจะต้องมี 2 ระดับ. เราพูดถึงเรื่อง WTO เป็นเรื่องระหว่างประเทศ เรื่องนี้คงไม่ใช่เป็นเรื่องภายในประเทศที่เราจะต้องปฏิบัติการ แต่เป็นปฏิบัติการทั้ง 2 ระดับ ก็คือ เป็นปฏิบัติการในระหว่างประเทศ และเป็นปฏิบัติการที่เราต้องทำต่อรัฐบาลของเราเองด้วย ไม่เช่นนั้นมันก็จะไม่มีประโยชน์

ในข้อแรกผมขอเสริมว่า ขณะนี้เราเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้นทุกที ตั้งแต่อาจารย์วอดเดนได้พูดถึง และคุณชามมาลีก็พูดอีกเมื่อสักครู่ ก็คือว่า ผลกระทบของ WTO มันกระทบกับคนแทบทุกระดับ. คนในประเทศอุตสาหกรรม กลุ่มผู้บริโภค เป็นต้น ตอนนี้เขาต่อต้านเรื่อง GMO ต่อต้านอเมริกันที่พยายามดั๊มเรื่องพืชและสิ่งมีชีวิต ที่มีการดัดแปรงพันธุกรรมเข้าประเทศ อันนี้ชัดเจน.

ก็เหมือนกับที่ประเทศไทยของเรากำลังต่อต้าน การทำข้าว GMO และการที่ชาวนาอินเดียบุกเผาฝ้ายบีทีของมอนซานโต้ ซึ่งเป็นอันเดียวกัน. อันนี้ก็เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ที่กลุ่มแรงงาน ซึ่งเขาไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐในเรื่องปัญหาแรงงาน นี่คือภาพรวม

เพราะฉะนั้นผมเห็นว่า ขณะนี้ การเกิดขึ้นของ WTO มันได้ทำให้อำนาจของบริษัท ที่บริษัทเหล่านั้นได้สร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นกับ ทั้งชาวนา ทั้งกลุ่มซึ่งเป็นผู้บริโภค และคนส่วนใหญ่ในทั้ง 2 ระดับ คือ ในประเทศอุตสาหกรรมและในประเทศไทยเราด้วย. ในแง่นี้ มีความร่วมมือในระดับโลกที่เกิดขึ้นได้ และผมคิดว่า ความร่วมมือแบบนี้ ขณะปัจจุบัน มันก็มีการต่อสายเชื่อมโยงกันอยู่แล้วพอสมควร อันนี้คือประเด็นแรก... แต่ประเด็นดังกล่าว ก็เหมือนกับที่อาจารย์วอลเดนพูดเมื่อสักครู่ว่า ปฏิบัติการระดับนี้ มันก็จะเอื้ออำนวยให้คนบางกลุ่มเท่าที่จะทำได้ แต่เรื่องนี้ก็จะมีความสำคัญใน 2 ระดับ คือ

ระดับแรกนั้น การที่เราไปเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการต่อสู้ และฟังความเห็นของคนต่างๆในเรื่องผลกระทบที่ได้รับในระดับระหว่างประเทศ จะทำให้เราวางกรอบหรือเข้าใจแนวทางของการต่อสู้ในระดับประเทศชัดเจนมากขึ้น เพราะบางเรื่องมันเป็นเรื่องที่ต้องอุดหนุนช่วยเหลือกัน และทำให้มันประสบผลสำเร็จได้.

ผมขอยกตัวอย่างเช่นว่า ความพยายามของสหรัฐอเมริกาที่จะผลักดันเรื่อง GMO, ถ้าลำพังเฉพาะการต่อต้านของประเทศที่กำลังพัฒนา โดยปราศจากการต่อต้านของกลุ่มผู้บริโภค ที่ตั้งคำถามกับสินค้า GMO จากบริษัทขนาดใหญ่ การเกษตรอาจจะไม่เป็นแบบนี้ แต่อาจจะเปลี่ยนไปเป็น GMO ทั้งหมดแล้วก็เป็นได้

ระดับที่สอง คือระดับภายในประเทศ ขณะนี้ผมเห็นชัดเจนว่า มีปัญหาในเรื่องของการกำหนดท่าที กำหนดนโยบายของรัฐในการเจรจาต่อรองใน WTO ใน 2 ประเด็นด้วยกันคือ

ประเด็นแรกสุดก็คือว่า การต่อรองใน WTO อยู่ในมือของเทคโนแครทที่เราว่าเมื่อกี้เพียงไม่กี่คน ผมขอเล่าประสบการณ์นิดหนึ่งนะครับว่า ที่จริงเป็นประสบการณ์ที่ ดร.อำพล กิตติอำพล เป็นคนเจรจาของกระทรวงเกษตรใน WTO เคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อคราวมีการประชุมที่ลีโอเดอจาเนโร เรื่อง Global Warming หรือเรื่อง"โลกร้อน", ก็พยายามควานหาว่า จะส่งใครไปเจรจาเรื่องนี้ดี ในที่สุดเขาก็เลือกคนที่ไปเจรจาเพื่อไปประชุมเรื่องนี้ได้ ก็คือ "นักบินที่ทำฝนเทียม" เพราะเขาคิดว่า เป็นคนที่รู้เรื่องภูมิอากาศของไทยดีที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่แย่มาก. ตัวอย่างที่ผมยกมานี้เป็นเรื่องจริง คือ มีคนสองสามคนเท่านั้นที่รู้เรื่องนี้ บางครั้งอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ไม่รู้เรื่องนี้เลยด้วยซ้ำ แต่มีรองอธิบดีคนหนึ่งที่รู้เรื่องนี้ เป็นต้น

อันนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า การผลักดันประเด็นต่างๆของ WTO มันเกิดขึ้นจากบรรษัทข้ามชาติและบริษัทอุตสาหกรรม กระทั่งคนที่เป็นหัวกระทิ คือพวกเทคโนแครทในประเทศไทยเอง ก็มีน้อย แทบจะนับนิ้วได้ว่ามีใครบ้างที่รู้เรื่อง และรับมือในเรื่องเหล่านี้ได้

ประเด็นที่สองก็คือว่า ในหลายเรื่องต้องยอมรับว่า บริษัทอุตสาหกรรม บริษัทการเกษตรขนาดใหญ่ และนายทุนใหญ่ในประเทศไทย เกี่ยวข้องและได้ประโยชน์ในการกำหนดนโยบาย อันนี้มีในหลายเรื่อง. เรื่อง GMO เป็นที่ชัดเจนที่สุด. ผมเห็นว่า ข้อเสนอสำหรับพวกเรา หรือคนไทยทั้งหมดในประเทศ เราจะทำอะไรในเรื่องนี้ได้ ผมเห็นว่ามีอยู่ 2-3 ข้อที่น่าจะคุยกันและแลกเปลี่ยนกันด้วย

ข้อเสนอแรก เป็นข้อเสนอที่อยู่ในใจของกระบวนการประชาชนทั่วโลกเลยก็คือว่า "ไม่เอาได้ไหม WTO ?" ก็คือไม่เอามันทั้งหมดเลย เพราะมันก่อให้เกิดปัญหามากมายอย่างที่เราว่ามานี้. ข้อเสนอนี้ก็อาจจะต้องมามองดูว่า มันมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ? ถ้ามองจากการประเมินจากความเป็นจริง มองจากการยอมรับความจริงทางการเมืองว่า เราจะผลักดันเรื่องแบบนี้ได้ไหม ในระยะเวลาอันใกล้. ที่จริงการพูดถึงประเด็นนี้ ได้มีการแยกย่อยพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น มีหลายกลุ่มเสนอว่า เรื่องที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ เอาออกจากข้อตกลงใน WTO ได้หรือเปล่า ?

ที่จริงมีการเสนอในเรื่องแบบนี้อยู่หลายครั้ง อย่างเช่น กรณีของสิ่งแวดล้อมซึ่งมีความพยายามผลักดันไป ตั้งแต่มีการประชุมที่สิงคโปร์ ครั้งแรกมีหลายคนบอกว่า เรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ควรจะไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องภายใต้ WTO เพราะในที่สุดแล้ว มันจะกลายไปเป็นเครื่องมือของบริษัท ในการใช้เรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นตัวกำหนดในทางการค้า และก็ก่อให้เกิดการกีดกันทางการค้า อย่างนี้เป็นต้น. แต่ว่าเรื่อง bio-diversity หรือความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นไปได้ไหม ? มีหลายคนเสนอแบบนี้

ข้อเสนออันที่สอง ข้อตกลงเรื่องเกษตร เป็นต้น ขณะนี้ประชาชนที่รวมตัวกันในนามชาวนาทั่วโลก ต่างเห็นพ้องกันว่า ข้อตกลงทางด้านเกษตร ไม่ควรอยู่ใน WTO ควรจะนำออกมาทั้งหมด. อันนี้เป็นข้อเสนอที่อยู่ในแนวเดียวกันกับ "ไม่เอาได้ไหม WTO ?" ซึ่งอันนี้อาจจะมาลองดูว่า ในทางปฏิบัติจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ? มีพลังทางการเมืองมากน้อยแค่ไหนที่จะผลักดันในเรื่องพวกนี้ได้

ข้อเสนอต่อมา ถ้าไม่เอาเรื่องนั้น กลับมาสู่ที่ อ. วอลเดนกับที่ อ.รังสรรค์ เสนอได้ไหม ? คือว่า "เว้นวรรค", หรือที่ อ.วอลเดนเสนอว่า เราไม่ต้องการการเจรจารอบใหม่ แล้วเราเรียกร้องให้มีการทบทวนข้อตกลง และทบทวนการปฏิบัติที่เราได้ตกลงกันไปแล้ว ว่าเรื่องใดทำได้ เรื่องใดทำไม่ได้ เรื่องใดที่ทำมาแล้ว และทำให้เกิดปัญหา แล้วมาทบทวนเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้. เรื่องนี้เป็นข้อเสนอในหลายประเทศมากในปัจจุบัน และผมคิดว่า ประเทศที่กำลังพัฒนาในหลายประเทศในหลายพื้นที่ของการเจรจา ได้เสนอเรื่องเหล่านี้ทั้งหมดเลย

ยกตัวอย่างเช่นเรื่อง ทรัพย์สินทางปัญญา ชัดเจน ขณะที่ประเทศไทยเรายอมไปแล้ว แต่อีก 80% ของประเทศทั่วโลกยังไม่ได้ทำอะไรเลยในเรื่องนี้ และมีการเสนอให้ทบทวน. ที่จริง เส้นตายของการทบทวนต้องแล้วเสร็จตั้งแต่ปีที่แล้วด้วยซ้ำ แต่ขณะนี้ การทบทวนก็ยังคงดำเนินการอยู่. อันนี้เป็นช่องหนึ่งที่ยังเปิดไว้

ประเด็นถัดมา ผมคิดว่า ท้ายที่สุดแล้ว การมองประเด็นการต่อรองในองค์กรการค้าโลก อาจมีความจำเป็นจะต้อง ลงมาดูรายละเอียดของการตกลงในเรื่องใหญ่ๆหลายๆเรื่อง. ลงไปในรายละเอียดพอสมควร เพื่อจะรู้ว่า เราจะมีพลังอะไร กลุ่มไหน ที่จะเกี่ยวข้องและจะสามารถนำมาขับเคลื่อนได้ ในการนำเสนอทางนโยบาย.

ผมเสนอว่า ที่จริงในบริบทสังคมไทยนี้มีอยู่ 3-4 เรื่องที่สำคัญคือ เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา, เรื่องข้อตกลงเกษตร, เรื่อง GMO. ผมไม่ได้พูดถึงเรื่องข้อตกลงเกี่ยวกับสินค้าบริการ กับเรื่อง MAI ซึ่งมันถูกผลักอยู่ข้างล่าง. แต่ 3 เรื่องที่กล่าวถึงข้างต้น น่าจะเป็นประเด็นที่เราสามารถทำอะไรได้พอสมควร

ผมขอเล่าให้ฟังนิดหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาว่า อาจเป็นตัวอย่างว่าเราพอจะทำอะไรได้บ้าง ? ในตอนแรกสุดของการเจรจาทรัพย์สินทางปัญญา มันอยู่ในมือของกระทรวงพาณิชย์ แต่ในภายหลัง เมื่อมีการพยายามผลักดันประเด็นเรื่อง ผลกระทบการออกกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร เรื่องนี้เลยมาโยงกับกระทรวงเกษตร. และในที่สุด เมื่อมีข้อเสนอจากกลุ่มผู้ป่วยเป็นต้น หรือกลุ่มอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการผลืตยาภายในประเทศ เรื่องนี้ถูกผ่านทางกระทรวงสาธารณสุขขึ้นมา

ในที่สุดแล้ว นอกจากการเคลื่อนไหวของนักวิชาการ และของเกษตรกรในกรณีเกี่ยวกับกฎหมายพันธุ์พืช ที่สุดก็มีการบีบให้กระทรวงพาณิชย์ว่า ในการเจรจา จะต้องเอาข้อเสนอจากองค์กรต่างๆภายในประเทศขึ้นไปเจรจา ไม่ใช่ถูกกำหนดมาจากเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์. ที่จริงแล้ว ที่ผมอยากจะพูดก็คือ มีเจ้าหน้าที่บางคนด้วยซ้ำ ที่ดูแลเรื่องนี้ ที่นั่งอยู่ในสำนักงานของฑูตไทยประจำอยู่ที่เจนีวา มีเพียงไม่กี่คนเอง คือนับได้เพียง 2-3 คนเท่านั้นเอง.

ในที่สุดพบว่า ข้อเสนอเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาของไทยในขณะนี้ ก็ได้มีการนำเอาความเห็นของหลายฝ่ายขึ้นไปแล้ว. ที่จริงเรื่องเหล่านี้ เราผลักดันผ่านอนุกรรมการของสภาผู้แทนราษฎรในชุดที่แล้ว แต่ว่า ส่วนใหญ่ก็มาจากคนทุกภาค แล้วก็สรุปเป็นข้อเสนอของประเทศ ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาว่า จะเอาอะไรบ้าง ? มีกำหนดมา 5 ข้อ เช่น ไม่เอาเรื่องสิทธิบัตรในสิ่งที่มีชีวิต ไม่เอากรอบกฎหมายพันธุ์พืชแบบเดียวกับสหพันธุคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ของประเทศอุตสาหกรรม และให้มีการผลักดันเรื่องการรับรองสิทธิในภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นข้อเสนอที่มาจากกระทรวงสาธารณสุข และฝ่ายสมัชชาคนจน. ในที่สุด ข้อตกลงแบบนี้ของประเทศเกิดขึ้นได้...

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : สรุปประเด็นของคุณวิฑูรย์ให้เหลือสั้นๆ กลายเป็น 2-3 แง่ด้วยกัน. แง่ที่หนึ่งก็คือว่า มันมีประเด็นอะไรบ้างที่เกี่ยวกับองค์กรการค้าโลก ที่เราจะหยิบขึ้นมาสำหรับการเผยแพร่และรณรงค์. ประเด็นที่สองก็คือว่า จะทำอย่างไร ในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เช่นเป็นต้นว่า ในการประชุมองค์กรการค้าโลกที่เชียงใหม่ เราควรจะทำอะไรเพื่อที่จะให้มันเป็นข่าว ก็คือว่า จะทำอะไร ?

ผู้เข้าร่วมเสวนา : ประเด็นที่เป็นข้อเรียกร้องมาก่อน พอดีเรื่องทุนข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขของ WTO หรือองค์กรไหน คือเรื่อง "การเปิดเผยข้อมูล". เราไม่รู้เลยว่า WTO จะประชุมเมื่อไหร่ ? แล้วประชุมเรื่องอะไร ? เพราะว่าหน่วยงานภายในของประเทศเราไม่เคยเปิดเผยข้อมูล แล้วทำอะไรกันมาก็ไม่บอกประชาชน และเมื่อประชาชนรับรู้ บอกให้ยุติ บอกให้ยกเลิกก็ไม่ทำตาม.

เมื่อดูแล้ว สิ่งที่คุณวิฑูรย์พูดก็เป็นเนื้อหาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อตกลงทางการค้า, เรื่อง GMO, หรือเรื่องอื่นๆ. สิ่งที่ควรจะทำก็คือ หนึ่ง ต้องถามรัฐบาลเราด้วยว่า รัฐบาลภายใต้การนำของคุณทักษิณ คิดเหมือนกับรัฐบาลชวนหรือเปล่า ? เพราะว่ารัฐบาลนี้บอกว่า จะพยายามแก้ไขกฎหมาย แล้วก็ตั้งคุณมีชัย ฤชุพันธ์ มาแก้กฎหมาย 500 ฉบับ แต่เรายังไม่รู้เลยว่า กฎหมาย 500 ฉบับที่เสนอให้แก้ไขเป็นกฎหมายอะไรบ้าง ?

เพราะสิ่งที่เราเสนอนั้นก็คือ ให้ยกเลิกทั้งหมดเกี่ยวกับเงื่อนไขของทุนข้ามชาติ แต่ที่จริง เราเสนอว่าให้ยกเลิกไปทั้งหมดซึ่งจริงๆแล้ว เราก็ไม่รู้ว่ามีอะไรบ้าง ? เพราะฉะนั้น ถ้าเสนอตรงกับรัฐบาล ก็คือว่า กรณีอย่างนี้ที่เกิดขึ้นที่เชียงใหม่ น่าจะต้องถามรัฐบาลทักษิณก่อนเหมือนกันว่า มีท่าทีอย่างไรกับการประชุมที่นี่ หรือว่า จะเปิดเผยเงื่อนไขข้อตกลงทั้งหมดได้อย่างไร ? เพราะว่า เรื่องนี้ก็เป็นหนึ่งในเจ็ดข้อที่เราเสนอต่อรัฐบาล ในการประชุมเปิดตัว สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือร่วมกัน. สิ่งที่ผมเสนอก็คือ เสนอให้มีการเปิดเผย แล้วก็ให้ทบทวน โดยที่เพ่งเล็งตรงไปที่รัฐบาลไทยก่อนครับ.

สมเกียรติ ตั้งนโม : สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปนี้ จะเป็นเรื่อง 4 เรื่องของการที่ว่า จะทำอย่างไร ? ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรใน 4 เรื่องนี้ กับอีก 1 เรื่องที่เป็นข้อสังเกตุ, รวมทั้งหมด 5 เรื่องสั้นๆ

ผมขอเริ่มต้นด้วยข้อสังเกตุเกี่ยวกับการเว้นวรรค WTO ว่า การเว้นวรรค WTO ไม่ใช่ว่าเราจะเว้นวรรคได้ภายในทันทีทันใด อาจจะต้องมีการเตรียมตัว เช่น ถ้าสมมุติเราเว้นวรรค WTO ทันที ผมคิดว่า การกีดกันทางการค้าจะเกิดขึ้นทันทีเช่นเดียวกัน คนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออก อาจจะประสบปัญหาทันที ซึ่งนั่นย่อมหมายความถึงแรงงานจำนวนมาก ก็จะมีปัญหาตามมา

ฉะนั้นการเตรียมฐานของการเว้นวรรค จึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่เราจะต้องคำนึงถึง เช่น อาจจะต้องมีการปรับฐานทางเกษตรกรรมของเรา กลับมาสู่การพึ่งตนเองให้ได้อย่างจริงจัง หรืออาจจะต้องมีการเจรจาตกลงกับประเทศในกลุ่มภูมิภาคเดียวกัน ที่จะต้องปรับให้มีการรองรับฐานพลังงานที่เรายังต้องอาศัยหรือยังต้องพึ่งพิงอยู่ เป็นต้น... 0000000 ทีนี้ข้อที่อยากจะเสนอว่าจะทำอย่างไร 4 ข้อ, ผมคิดว่า

ข้อแรก ที่อยากเรียกร้องก็คือ "การมีส่วนร่วมของประชาชน". ทุกวันนี้ ไม่ว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบาย GATS หรือว่า WTO ก็ตาม. เทคโนแครทของเราเป็นผู้มีส่วนเข้าไปตัดสินใจแทนประชาชน 62 ล้านคน ซึ่งการกระทำเช่นนี้ ประชาชนขาดการมีส่วนร่วมอย่างยิ่ง เรื่องนี้เราจะทำอย่างไรให้ภาคประชาชนหรือองค์กรประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ข้อนี้เราจะทำอย่างไร ?

ข้อที่สอง เรื่องของความโปร่งใส ซึ่งปัจจุบันนี้ที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชวนหรือรัฐบาลทักษิณก็ตาม ซึ่งไปตกลงกับต่างประเทศในเรื่องอะไรบ้าง ต้องเปิดเผยให้ประชาชนทราบ แล้วเราจะทำอย่างไรที่จะไปบังคับให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูล อันนี้เป็นข้อเรียกร้องประการที่สอง ข้อที่สาม คือเรื่องของการรับผิด ผมคิดว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญคือ การตัดสินใจในสิ่งที่ผิดพลาดไปแล้ว รัฐบาล นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง ที่ตัดสินใจอะไรไปในเรื่องผิดๆ คุณต้องรับผิดต่อจากนี้ไป ไม่ใช่ว่าคุณสามารถจะตัดสินใจอะไรก็ได้ เมื่ออำนาจอยู่ในมือของคุณ โดยปราศจากความรับผิดชอบ

ผมจึงขอเสนอข้อเรียกร้องทั้งสามข้อคือ การมีส่วนร่วมของประชาชน ความโปร่งใส และการรับผิดของผู้ตัดสินใจ

ในข้อที่สี่ ผมเห็นด้วยกับคุณชามมาลีที่ว่า ทุกวันนี้ข้อมูลส่วนหนึ่งที่เราได้รับรู้ เป็นข้อมูลที่ขาดวิ่น และเป็นไปอย่างน้อยนิดมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อมูลและข้อตกลงต่างๆกับ GATS หรือ WTO ผมคิดว่าในระดับผู้มีการศึกษาหรือหมู่งชนชั้นกลางโดยทั่วไป มีความรู้เกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้น้อยเกินไป ฉะนั้น ดุลยภาพของความรู้ในอีกด้านหนึ่ง เช่น WTO มีเป้าหมายอะไร มีประสงค์อย่างไร หรืออย่างที่เรามาเสวนากันในวันนี้ น่าจะมีส่วนที่จะเผยแพร่ไปสู่ประชาชนในวงกว้างให้มากที่สุด

นรินทร์ ทองศิริ : อ.สมเกียรติเอา 4 ข้อ ผมขอ 2 ข้อก็พอนะครับ

อันที่หนึ่งก็คือ ข้อมูล หรือข้อตกลงเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่เพราะว่า ข้อมูลพวกนี้ไม่เคยมาถึงประชาชนเลย มีแต่เทคโนแครทซึ่งเป็นเพียงคนไม่กี่คนที่ไปจัดการ.

ผมเองเคยถูกใช้ให้ไปประชุมแทนประเทศไทยครั้งหนึ่งที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ เรื่องมาตรฐานอาหาร. เราจะเห็นได้ชัดว่า ผู้ไปทำหน้าที่ของประเทศไทยเรา ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีปากมีเสียงเลย คือไปเฉยๆ ไปถึงก็นั่ง ไม่ได้พูดอะไร ? ถึงเวลาก็ไปเที่ยว เพราะมันประชุมที่กรุงโรม ก็ไปเที่ยวโรม เที่ยวเดียวกับที่ผมไป เขาได้ทุนรัฐบาล ได้ทุนของกระทรวง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตร ส่วนผมนั้นไปเอง. แต่เขาเห็นว่าผมอาวุโส เขาจึงให้ผมนั่งในฐานะตัวแทนประเทศ ซึ่งเขาเพิ่งได้ยินประเทศไทยพูดครั้งนี้เอง หลังจากที่มีการประชุมมาร่วม 20 ครั้งแล้ว ไม่เคยมีเสียงจากประเทศไทย.

อันนี้แสดงให้เห็นว่า คุณภาพของผู้คนของเราที่ไปอยู่ในขั้นตกลงอะไร เราไม่มีบทบาทเลย เท่าที่ผ่านมา. ยิ่งด้อยพัฒนาเท่าไหร่ ยิ่งไม่มีบทบาท. เพราะฉะนั้น เขาจึงตกลงกันระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้ว. มาตรฐานอาหารอะไรที่เขากำหนดขึ้น ก็คือเขากำหนดของเขา แล้วเราก็จะเป็นผู้ถูกกระทำ พูดง่ายๆอย่างนั้น. แล้วเราก็ไม่มีเสียงอะไรที่จะไปต่อรองด้วย นี่คือลักษณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น GATS หรือ WTO.

ที่ผมบอกว่าลักษณะเดียวกันก็คือ เขาตกลงกันมาแล้วให้เรามาทำ ซึ่งเราจะชอบหรือไม่ชอบก็ไม่รู้. อันนี้คือจุดใหญ่ที่ว่า เราจะทำอย่างไรในเรื่องนี้. ผมเห็นด้วยกับท่านเมื่อสักครู่นี้ที่บอกว่า จะต้องถาม... ตอนนี้น่าจะถามรัฐบาลเพราะได้มีการประชุมกันขึ้นที่เชียงใหม่ แม้จะเป็นกลุ่มย่อยก็ตาม น่าจะถามรัฐบาลว่า คิดอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้ อย่างน้อยให้เขาตอบสนองออกมาหน่อย

อันที่สองคือว่า อย่างที่คุณชามมาลีเสนอ คงจะต้องมีกลุ่มทำงาน ทำเกี่ยวกับเรื่องข้อตกลงทั้งหมดว่า อะไรที่เป็นประโยชน์ อะไรที่มันไม่เป็นประโยชน์. อันนี้สำคัญมากครับ เพราะเราไม่เคยมานั่งวิเคราะห์อย่างละเอียดกันเลย เราฟังคนนั้นพูด คนนี้พูด แล้วอะไรที่มันเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยบ้าง เพื่อจะชี้ให้ประชาชนเรารู้ว่า อะไรมันจะเป็นข้อเสีย. อย่างผมไปเที่ยวที่แล้วนี่ ผมกลับมารู้เลยว่าเราเสียเปรียบเยอะเลย แล้วเราก็ไม่รู้จะทำยังไง เพราะรัฐบาลก็ไม่เคยมาถามเรา. ผมไปประชุมกลับมาก็ไม่เคยมีรัฐบาลมาถามผม ว่าที่ไปประชุมมา จะไปทำอย่างไรกับประเทศไทยเรา อย่างนี้เป็นต้น

ทีนี้ทำอย่างไรล่ะครับ ผู้ที่ไปประชุม มันจะต้องกลับมาแล้วสามารถมาบอกประชาชนซิครับว่า เราประชุมกันแล้วนะ เราสู้เขาไม่ได้ หรือสู้เรื่องอะไร ? อย่างน้อยก็ไปบอกกับเขาว่า issue ที่เราไปสู้มา มันสู้ได้หรือสู้ไม่ได้ แล้วเราจะได้รู้ว่า เราจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม. แต่ตอนนี้เรามีแต่รับลูกเดียว ซึ่งอย่างที่คุณชามมาลียกตัวอย่างตั้งหลายอันว่า โอกาสที่เราจะได้เปรียบน้อยมาก.

นี้ถ้าสมมุติว่า เปิดเสรีทางด้านการเกษตร ผมว่าการเกษตรของเราตอนนี้จะตายอยู่แล้ว แล้วมันจะตายสนิทต่อไป เพราะอะไร ? ก็เพราะขนาดเรา subsidize หรือมีการช่วยเหลืออย่างนี้ยังสู้เขาไม่ได้ แล้วถ้าไม่ให้ subsidize จะเหลือไหม ? ประสิทธิภาพในการผลิตของเขาสูงกว่าเราถึง 10 เท่า. ดังนั้น เกษตรกรของเราจึงมีสิทธิ์ตายอย่างเดียว.

ตรงนี้ถึงเวลาแล้วที่จะทำให้ส่วนรวมรับรู้ด้วย ยิ่งมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้ประโยชน์ ถ้าไม่เช่นนั้น ก็จะเป็นดังสภาพที่เรารู้กันอยู่ คือ ประเทศไทยมีคนอยู่ 62 ล้านคน แต่มีคนรู้อยู่เพียงแค่ 2 คนที่ไปประชุม นอกนั้นคนทั้งประเทศไม่รู้เรื่องเลย

วอลเดน เบลโล : (อ.นิธิ แปล) อ. เบลโล บอกว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอที่ผ่านๆมาทั้งหมดนี้ แต่ในขณะเดียวกันท่านมีข้อเสนอของท่าน ซึ่งแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นข้อเสนอต่อที่สาธารณะ และอีกส่วนหนึ่งเป็นข้อเสนอที่เป็นส่วนตัวระหว่างพวกเราเท่านั้น สื่อไม่ต้องเผยแพร่ต่อไป

ส่วนที่เป็นสาธารณะท่านคิดว่าอย่างนี้ การที่จะยกเลิก WTO นั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมากๆจนกระทั่งแทบจะไม่ต้องคิดถึง แต่ว่ามันเป็นสิ่งที่พอจะทำได้ง่ายขึ้นก็คือว่า คือ ทำอย่างไรจะทำให้ WTO ทำงานได้ยาก ? ทำอย่างไรจึงจะบั่นทอนอำนาจ WTO ในการปฏิบัติงานลงไป ? ทำอย่างไรจึงจะกระจายอำนาจของ WTO ? เมื่อไหร่ที่ WTO จะทำอะไรที่มันเป็นปึกแผ่นมั่นคงออกมา ทำอย่างไรให้อำนาจพวกนั้นมันทำไม่ได้ มันใช้ไม่ได้ ? และจำเป็นที่จะต้องกระจายอำนาจนั้นลงมาในส่วนย่อยๆให้มากขึ้น. นั่นคือยุทธศาสตร์ของท่าน คือ ทำให้อำนาจของ WTO ลดลง

ยุทธวิธีก็คือว่า ทำให้เกิดปัญหาแก่ข้อตกลงทั้ง 15 หรือ 17 กลุ่มทั้งหมดของ WTO ว่าแต่ละข้อของมันนั้นมีปัญหาทั้งสิ้น และปัญหาเหล่านั้นเป็นปัญหาที่จะต้องเจรจา จะต้องตกลงกันใหม่ อย่างน้อยที่สุด จะต้องมาเจรจากัน จะต้องตกลงกันใหม่ และอย่างน้อยต้องมาชี้แจงกัน เมื่อชี้แจงแล้ว อาจจะไม่เห็นด้วยอีก เป็นข้อๆไป. เช่นท่านยกตัวอย่างว่า ท่านเห็นด้วย ถ้าเราสามารถดึงเอาเรื่องของข้อตกลงทางด้านเกษตรกรรม ออกมาจากข้อตกลงทั้งหมดได้ อันนี้ดี. แต่ยากมาก.

และแทนที่จะทำอย่างนั้น เราเอาเรื่องข้อตกลงทางด้านเกษตรกรรมแต่ละข้อมาวิเคราะห์ แล้วชี้ให้ดูว่ามันเกิดปัญหาอะไร ? เช่นตรงนี้ก็ไม่ชัดเจน ตรงนี้เมื่อปฏิบัติแล้วก็จะเกิดอย่างนั้น อย่างนี้ ทำตัวเป็นเด็กเจ้าปัญหาต่างๆให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้.

ผมวงเล็บเพิ่มเติมว่า คงไม่ใช่ทำกันเพียงแค่ตรงนี้ แต่ทำสิ่งเหล่านี้กันทั่วโลก ในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่ประสบปัญหาคล้ายกัน อันเดียวกันบ้าง แต่คนละแง่มุม หรือจากแง่มุมเดียวกันบ้าง เป็นต้น. เพราะฉะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ ในที่สุดแล้ว WTO ถึงอยากจะปฏิบัติตามพันธะสัญญาต่างๆที่มี ก็ไม่สามารถทำงานได้ เพราะมันไม่สามารถตกลงกันในรายละเอียดต่างๆเหล่านี้ อันนี้เป็นยุทธวิธีที่ท่านมองเห็น.

การประชุมที่ซีแอทเทิล ซึ่งมีการประท้วงกันอย่างกว้างขวางนั้น มันทำให้ความชอบธรรมของ WTO พังยับเยินเลยทีเดียว ท่านบอกว่าเวลานี้ องค์กรการค้าโลกเป็นองค์กรซึ่งไม่เป็นที่นิยมที่สุดในโลก อาจจะยิ่งกว่าทาเลบันเสียอีก.

อย่างไรก็ตามแต่ ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมกันที่ซีแอทเทิลนั้น ปรากฏว่า เมื่อเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวระหว่างภาคประชาชนกับ WTO นั้น, WTO มีไพ่เหนือกว่า เป็นที่นับถือ เป็นที่ให้ความศรัทธามากกว่าการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน. แต่หลังจากการประชุมที่ซีแอทเทิลแล้ว การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนกลับได้รับการยอมรับนับถือ ศรัทธามากกว่า WTO. ฉะนั้น (อันนี้ท่านไม่ได้พูดโดยตรง) จริงๆแล้วองค์กรเหล่านี้ กำลังมีปัญหาเกี่ยวกับการสร้างความชอบธรรมของตนเองในโลกอย่างมากทีเดียว

ผู้เข้าร่วมสนทนา : ผมขอเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อสังเกตุบางอย่างเล็กน้อยครับ คือเมื่อการประชุม ADB ที่เชียงใหม่ พวกเราได้ลงไปปฏิบัติการต้อนรับพวก ADB มันทำให้เชียงใหม่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก มันเป็นการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าการเมืองภาคประชาชนไปอย่างยิ่งทีเดียว เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายทั่วโลก แล้วเกิดเป็นปัญหากับ ADB ว่า เขาไม่อยากเห็นภาพอย่างที่เกิดขึ้นที่เชียงใหม่ที่ไหนอีกในการจัดการประชุมของเขา.

เขาเคยคิดที่จะจัดการประชุมในปี 2001 ของเขาที่ซีแอทเทิล แต่ก็ปรากฏว่า เมื่อมีตัวอย่างซีแอทเทิล มีตัวอย่างที่เชียงใหม่ เขาก็ไม่กล้าจัด ก็เที่ยวหาหมดว่าจะไปจัดที่ไหน ? ในที่สุดก็ตกลงว่า ในวันที่ 5 พฤษภาคมนี้ เขาจะจัดที่ฮอนโนลูลู ฮาวาย สหรัฐอเมริกา. แล้วก็ปรากฏว่า ก่อนหน้าที่จะถึงวันที่ 5 พฤษภาคมนั้น ประชาชนในฮอนโนลูลูเองก็เริ่มรวมตัวกันในการที่จะทำอย่างเชียงใหม่ คือจัดการในการที่จะประท้วง ADB.

ฉะนั้น การประชุมของ WTO ในเชียงใหม่นั้น เป็นการท้าทาย NGO ในเชียงใหม่ กล่าวคือ ถ้าเขาสามารถเอาตัวรอดได้โดยไม่มีอะไรเกิดขึ้น เขาก็จะมีกำลังใจจัดให้มีการประชุมแบบนี้ในที่อื่นๆ หรือในการดำเนินงานของเขา แต่ถ้าพวกนี้โดนอย่างเดียวกับที่ ADB โดน, โดนอย่างเดียวกันนี้มาแล้วที่ซีแอทเทิล ก็จะให้บทเรียนแก่เขา และจะยับยั้ง WTO ไปได้อย่างมากมายทีเดียว

ท้ายสุดนี้ ผมมีสุภาษิตชนชาติบ้านใกล้เรือนเคียงกับเราบอกว่า "ขอให้เราฟังสิ่งที่ไม่ได้พูด เพราะสิ่งที่ไม่ได้พูดนั้นมีความหมายและมีพลังกว่าสิ่งที่พูดออกมา"

นรินทร์ ทองศิริ : คราวที่มีการประชุม ADB ตอนนั้นที่เชียงใหม่ บทบาทของ ADB มีผลกระทบต่อประเทศไทย อันนั้นมันค่อนข้างชัดเจนและมีมากมาย และมีผลให้เห็นว่ามันไม่ดีอย่างไร ? เช่น เอาไปสนับสนุนเขื่อน ทำให้เห็นผลจากข้อเสียเหล่านั้น ซึ่งทำให้ภาคประชาชนเราได้เอาประเด็นพวกนี้ยกขึ้นมา เพื่อเสนอต่อสังคมให้รับรู้ และตอบโต้กับเรื่องดังกล่าว.

แต่สำหรับ WTO ที่มาจัดประชุมข้าราชการระดับสูงที่เชียงใหม่ มันยังไม่มีอะไรชัดเจนที่มาทำให้มันเป็นผลเสียหายที่เป็นรูปธรรม การประชุมนี้ ไม่เห็นว่ามันจะมีผลกระทบอะไรกับประเทศไทยเลย โดยเฉพาะนักการเมืองไทยจะไปเป็นผู้อำนวยการ WTO ในโอกาสต่อไปด้วย. คุณศุภชัย ก็ไปเป็น Lecturer อยู่ที่นี่ใช่ไหม ? เพราะฉะนั้นคนจึงคิดกันไปว่า มันไม่เห็นจะเสียหายอะไรกับประเทศไทย. อันนี้มองจากสายตาของคนทั่วไปอีกภาพหนึ่งนะครับ.

อาจจะว่า ก็เป็นการประชุมธรรมดา เพราะฉะนั้น ภาพของ WTO กับ ADB มันต่างกันเยอะ. ดังนั้น วิธี approach มันจึงไม่เหมือนกัน อาจจะต่างกัน.

สุชาดา จักรพิสุทธิ์ : เป็นข้อเสนอเชิงรูปธรรม คือคิดได้เล็กๆเพียงเท่านี้ ซึ่งเมื่อสักครู่ที่มีการตั้งคำถามว่าทำอย่างไร ? เพื่อให้ข้อมูลเหล่านี้มันเผยแพร่ออกไปได้อย่างกว้างขวาง. คือ อย่างน้อยที่สุด วันนี้ที่ฟังจากคุณวิฑูรย์ จากอาจารย์วอลเดน หรือจากคุณชามมาลี มันมีค่ามากเลย. ทำอย่างไรที่จะให้มีองค์กร อย่าง Focus หรือใครก็ตาม ที่จะสามารถเรียบเรียงข้อมูลเหล่านี้ขึ้นมา เฉพาะข้อมูลที่เราคุยกันวันนี้ ก็น่าจะทำให้เกิด Awareness กับคนที่ได้รับข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ได้

หลังจากที่เราเรียบเรียงข้อมูลข่าวสารวันนี้แล้ว อย่างน้อยที่สุด ส่งให้สื่อมวลชนได้ไหม ? โดยเฉพาะสื่อมวลชนในสายข่าวต่างประเทศ อย่างเช่น สโมสรนักข่าวต่างประเทศ เมื่อมีการจัดประชุมเกิดขึ้น ก็หวังว่านักข่าวเหล่านี้ที่ได้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง จะใช้ข้อมูลเหล่านี้ไปซักถาม เป็นการก่อกวนทางหนึ่ง.

ต่อมาก็คือว่า เป็นไปได้ไหมที่เราจะใช้เครือข่าย เทคโนโลยีที่เรามีอยู่ ทั้ง e-mail และ website ต่างๆ, ข้อมูลจากการเรียบเรียงวันนี้ ส่งเข้าไปให้หมดเลย มันจะถึงใครก็ช่างเถอะ ไม่ว่าจะมีคนอ่านมันไม่มากก็น้อย

ผู้เข้าร่วมเสวนาชาวศรีลังกา : (อ.นิธิ แปล) เธอบอกว่า ถ้า NGO เองก็ไม่รู้เรื่องการประชุมมาก่อน จนกระทั่งถึงวันนี้ และถูกเชิญให้เข้าร่วมประชุม ถ้าเป็นเธอ เธอคิดว่าไม่ควรเข้าประชุมดีกว่า คือควรจะพูดกับ WTO นอกห้องประชุม ไม่ใช่ในห้องประชุม. เพราะการเข้าไปร่วมประชุมด้วยก็เท่ากับเป็นการให้ตรารับรองสินค้ากับ WTO นั่นเอง.

 

กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com