H
home
บทความถอดเทปคำบรรยาย อาจารย์ มารค ตามไท / ณ ห้องประชุมปฏิบัติการชั้น 4 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / 200640
CP
MP
WB
ภาพประกอบโดย Joe Sorren และ Brad Weinman จากหนังสือ
Illustration-Thirty Three 1994 ดัดแปลงโดย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
contents
member
webboard
Website เพื่อการศึกษาผ่านระบบเครือข่ายฟรีของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นบริการทางการศึกษาเพื่อให้คนไทยได้เข้าถึงความรู้ในระดับอุดมศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีอุปสรรคเกี่ยวกับคุณวุฒิ / สนใจศึกษาหัวข้อใด หรือสนใจส่งผลงานวิชาการเข้าร่วมกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กรุณาติดต่อที่ midnightuniv(at)yahoo.com
หากภาพและ
ตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาด font ลง

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิกที่ปุ่ม member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ปุ่ม contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
(midnightuniv(at)yahoo.com)

มารค ตามไท : ที่จริงแล้วเรื่อง Postmodernism ผมไม่ใช่เป็นตัวแทนหนึ่ง แต่อาจจะเป็นตัวแทนของฝ่ายตรงกันข้าม แต่บังเอิญ อาจจะเป็นเรื่องเดียวซึ่งฝ่ายตรงกันข้ามอธิบายจะชัดกว่า เพราะฉะนั้น ผมจึงยินดีที่จะมาคุยเรื่องนี้ นอกจากนั้น ผมคิดว่าคล้ายๆเป็นทัศนะที่ท้าทายทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งผมตั้งเอาไว้เป็นเป้าของชีวิต เพราะฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผมที่จะติดตามงานเขียนทางด้านนี้ เพราะโดยหลักการแล้วผมถือว่า ควรจะติดตามสิ่งซึ่งมีความเห็นต่างจากเรา มากกว่าที่จะเห็นเหมือนกัน

คำว่ารากฐานปรัชญาใน Postmodernism ที่ผมได้รับมา ผมคิดว่าอันนี้ผิดแล้ว ไม่ใช่ผิดในแง่ว่ามันไม่ควรถาม แต่มันจะพาเราไปในทางที่ผิด คือมันเป็นการมอง Postmodernism คล้ายๆเป็น ism อย่างหนึ่ง เหมือน ism อื่นๆทั้งหลาย เช่น Realism, Idealism, Rationalism อะไรเหล่านี้. ชื่อเหล่านี้ เราก็มีคำในภาษาไทยเรียก อย่างเช่น ลงท้ายด้วย"นิยม"ทั้งหลาย เช่น สัจนิยม, จิตนิยม, เหตุผลนิยม, คือ"นิยม"ทั้งหลายเหล่านี้มันมีจุดยืนบางอย่าง และพยายาม classify จุดยืนนั้นด้วยข้อถกเถียงต่างๆนาๆในปรัชญา

สำหรับผม Postmodernism ไม่ใช่ ism แบบนั้น แล้วเมื่อสักครู่ผมก็ได้สอบถามอาจารย์บางคนว่า เคยได้ยินไหมศัพท์ภาษาไทย Postmodernism คืออะไร ? บางคนในที่นี้อาจมีคำเรียกแล้ว แล้วมันจะคืออะไร ? มันจะคือ "ต่อจากความใหม่นิยม" (post - modernism) หรือปรับให้มันสวยงามกว่านั้นหน่อย. ผมว่าถ้าไปตั้งชื่อแบบนั้น ทันทีจะเข้าผิดทาง

คือผมคิดว่าวิธีที่จะเข้าใจ Postmodernism น่าจะต้องทำความเข้าใจอีกแบบหนึ่ง ผมก็เลยไปตั้งอีกหัวข้อหนึ่งสำหรับวันนี้นะครับคือ "สี่ท่าทีที่อาจมีต่อความจริง". เพราะว่าผมเข้าใจว่า Postmodernism เป็นสิ่งที่เหลือ, หลังจากมีการวิพากษ์วิจารณ์ ism ทั้งหลายอื่นๆ. อะไรที่เหลืออยู่ เป็นท่าทีที่เรียกว่า Postmodernism. เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ใช่เป็นจุดยืนใหม่ หรือการหาเหตุผลใหม่มาสนับสนุน

การที่มีลักษณะอย่างนี้จึงทำให้เกิดความยากลำบากซึ่งเดี๋ยวเราจะคุยกัน เช่น สามารถเป็นพื้นฐานของวิชาการได้หรือไม่ ? สำหรับผมมีข้อสงสัยว่า เป็นไม่ได้. เพราะเหตุผลคือ มันไม่ใช่จุดยืนอีกอย่างหนึ่ง มันไม่ใช่ความคิดอีกอย่างที่จะมาแข่งกับความคิดอื่น หรือสำนักอื่น. มันคือผลที่เหลือเท่านั้นเองจากสิ่งที่เกิดขึ้น

ทีนี้ที่พูดว่า"สิ่งที่เหลือ" หลังจากไปวิพากษ์วิจารณ์ทัศนะหรือสำนักต่างๆแล้ว ถ้าพูดอย่างนี้มันก็คล้ายๆ"ชื่อ"นิดหน่อย คือคำว่า Post - หลังทัศนะ ที่เรียกว่า Modernism หรือ Modernity. ทีนี้มีหลายคนเขาได้อธิบายว่า จริงๆแล้วมันมีมาก่อน Modern เสียอีก. คือถ้าไปอ่านหนังสือของนักเขียนทางด้านนี้บางคน เช่น "คู่มือ Postmodernism" ของ Lyotard คล้ายๆจงเป็นอย่างนี้ ถ้าชอบความคิดนี้. หนังสือนั้นบางครั้งจะพูดในลักษณะว่า ความคิดนี้มันมาก่อน หรือ pre-date Modernism

ผมว่าก่อนหรือหลัง ตรงนี้ไม่ค่อยสำคัญ คือ จุดยืนที่เหลืออยู่หลังจากไปวิพากษ์วิจารณ์ทัศนะต่างๆ อันนี้เป็นธรรมชาติของวัฒนธรรมหลายวัฒนธรรม ก่อนที่จะมาถึง Modernity เพราะฉะนั้น อาจเป็นได้ว่า ที่เรียกว่า Modernity นี่เป็นของแปลก ไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์. จริงๆแล้ว ธรรมชาติของมนุษย์คือ Postmodernism ซึ่งเป็นอย่างนั้นมาตลอด แล้วไปถูกสะกิดด้วยวัฒนธรรมอะไร ซึ่งบางคนอาจจะไปโทษว่าเป็นวัฒนธรรมตะวันตก แต่มันอาจจะเป็นอย่างอื่น. จริงๆแล้ว ช่วงที่เรียกว่า Modernism อาจจะเป็นช่วงประหลาดของประวัติศาสตร์มนุษย์ก็ได้ และ Postmodernism จริงๆแล้วไม่ใช่ของใหม่ เป็นของธรรมดาที่มีอยู่ตลอด

อีกอย่าง ก่อนที่จะเริ่ม, จะต้องชี้แจงนิดหน่อยคือ ผมอ่านภาษาฝรั่งเศสไม่ออก แล้วหลายคนที่เขียนในแนวนี้ก็เขียนในแนวฝรั่งเศส. จริงอยู่มีคนเขียนหรือแปลเป็นภาษาอังกฤษ จึงไม่รู้หรอกว่าภาษาฝรั่งเศสมีหรือเปล่า ism อะไรพวกนี้ เพราะฉะนั้น ประเด็นนี้อาจจะไม่ใช่ประเด็นใหญ่ถ้าไปอ่านภาษาฝรั่งเศส

ผมจะขอเริ่มเรื่อง"สี่ท่าที..." นี้ก่อนเลยครับ... คือ "สี่ท่าทีที่อาจมีต่อความจริง" มีดังต่อไปนี้

ท่าทีแรก(1) คือ มีสิ่งที่เป็นอยู่ข้างนอกตัวเรา และมันมีสิ่งที่ที่มันเป็น และเรียกว่า"จริง". คือความจริงมีอยู่. นอกจากมีอยู่แล้ว มนุษย์เราก็เข้าถึงได้ด้วยความพยายามต่างๆนาๆ และนอกจากเข้าถึงได้, ยังมีความอยากจะเข้าถึงด้วย. เพราะฉะนั้นท่าทีแรกที่อาจมีต่อความจริง คือท่าทีที่ว่า ความจริงที่อยู่ต่างหากจากตัวมนุษย์มีอยู่ คือมีโลกภายนอกของมันเอง มนุษย์เราเป็นส่วนหนึ่ง สามารถเข้าถึงความจริงอันนั้นได้ และน่าจะเข้าถึงด้วย เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาที่จะเข้าถึงความจริง

ท่าทีนั้น คือท่าทีของคนส่วนใหญ่ขณะนี้ที่ผมรู้จักเข้าใจความจริงอย่างนี้ และอาจจะเรียกได้ว่า ท่าทีต่อความจริงแบบนี้ คือท่าทีของ Modernity คือมีอยู่จริง เข้าถึงได้. คำถามคือ เป็นท่าทีของใคร ? ถ้าคุ้นเคยกับงานของ Goethe (เกอเธ่) เป็นท่าทีของ Faust ตามความเข้าใจของผม [หมายเหตุ : เกอเธ่ หรือ Johann Wolfgang von Goethe เป็นกวีและนักปรัชญาชาวเยอรมัน เขียนนวนิยายเรื่องหนึ่งชื่อ Faust ในเรื่องดังกล่าวสอนว่า "การรู้ความจริงเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน แต่ก็เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาของมนุษย์ ไม่ควรย่อท้อ เพราะจะช่วยแก้ปัญหาต่างๆที่มีอยู่ในชีวิต. ผู้ที่ยอมจำนนเหมือนเวอร์เทอร์จะเต็มไปด้วยปัญหาที่แก้ไม่ตก แต่ผู้ที่ดั้นด้นค้นหาจะพบความสำเร็จเหมือนเฟาสต์ : สารานุกรมปรัชญา / กีรติ บุญเจือ]

หรืออาจจะเป็นท่าทีของ Hamlet ที่ยังไงก็ตามไม่ยอมให้ความเลวของสังคมมามีอิทธิพลต่อชีวิตตัวได้ คือจะต่อสู้ให้ถึงสิ่งซึ่งดีที่สุด คือหมายถึง"มีสิ่งนั้นอยู่" แล้วเราพยายามแสวงหาและดิ้นรน เป็นท่าทีของกลุ่มต่างๆที่อาจจะได้รับการเรียกว่า กลุ่ม scientism หรือพวกนิยมวิทยาศาสตร์ คือเข้าใจว่า วิทยาศาสตร์สามารถให้คำตอบสุดท้ายเกี่ยวกับสิ่งทั้งหลายที่มีอยู่ได้

ผมว่าเป็นท่าทีของพวกซึ่ง ใช้วิธีการต่างๆนาๆแปลกๆ เพราะคิดว่าวิธีเหล่านั้น จะให้ความจริงที่สำคัญ และวิธีอื่นไม่ให้... เช่นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ มันจะพาเราผิดทาง เพราะฉะนั้น ใช้วิธีอื่น เช่น วิธีนั่งฝัน วิธีใช้ยาต่างๆมากระตุ้นประสาทสัมผัส. ทั้งหมดนี้ ผมก็ถือรวมเข้าไว้ว่าเป็นท่าทีแรกอันนี้ต่อความจริง. และท่าทีแบบที่หนึ่งนี้ ก็เป็นท่าทีของผมด้วย

ถ้าเราไปจำกัดความคิดของเราอยู่ในกรอบ เลยดูเหมือนว่า กลุ่มทั้งหลายที่ผมพูดถึงนี่มีความเห็นต่างกัน เพราะฉะนั้น จะมีกลุ่มที่บอกว่า การไปติดใจกับวิทยาศาสตร์มันไม่ให้ความสุขหรอก หรือวิทยาศาสตร์ ประสาทสัมผัสมันหลอกเรา เราต้องใช้วิธีอื่น หรือความจริงเข้าถึงด้วยวิธีอื่น. ทุกคนที่พูดแบบนี้ มีท่าทีนี้เหมือนกันหมด คือมัน"มีอะไรอยู่"ที่นั่น และ"เราอยากหามัน". ที่มันต่างกันคือ มันไปต่างกันตรงวิธีการเท่านั้นเอง. แต่โดยลักษณะที่ว่ามีสิ่งนี้อยู่ และเราอยากจะหานี่ เหมือนกัน

สำหรับผม วิธีหนึ่งที่เข้าใจท่าทีนี้ได้ก็คือ โดยการบอกว่า เป็นท่าทีต่อความจริงที่คิดว่า "ความจริง"คือทัศนะที่"พระเจ้ามีเวลามองโลก". คือจุดมุ่งหมายของผมมาตลอด 20-30 ปีนี่ คือ ผมอยากเห็นโลกผ่านสายตาของพระเจ้า. ความอยากนี้ไม่ได้หมายความว่า จะเป็นไปได้ก่อนตาย. ประเด็นไม่ได้บอกว่า อีกสัก 10 กว่าปีก็จะถึงแล้ว, แต่เป็นเป้าหมาย. คืออยากจะเห็น อยากจะมี God's eyes view คือ ทุกอย่างที่เป็นอยู่ มันเป็นยังไงก็คือ เป็นอย่างที่พระเจ้าเห็น. พระเจ้าในที่นี้คือพระเจ้าของทุกคน ไม่สำคัญว่าศาสนาอะไร คือเห็นอยู่ว่าเป็นยังไง มีสิ่งนั้น. View อันนั้นคือท่าทีอันที่หนึ่ง... คือมีอยู่ แล้วเราอยากจะเห็นอันนั้น

ท่าทีที่สอง(2) ที่อาจมีต่อความจริงคือ สิ่งที่เรียกว่าจริงมีอยู่ คือ God's eyes view มี แต่โดยธรรมชาติของมนุษย์ไม่มีทางเข้าถึงได้ คือเป็นท่าทีที่คิดว่า ข้อจำกัดของมนุษย์มีมากเกินไป ไม่ว่าจะใช้วิธีอะไรก็ตาม จะเป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ศาสนา ยังไงๆก็เข้าไม่ถึง แต่มีอยู่

ท่าทีนี้เป็นท่าทีของใคร อันนี้ผมไม่รู้ แต่มันอึดอัดพอสมควรนะ เพราะเชื่อว่ามี และเชื่อว่าไม่มีทางไปถึงได้. ท่าทีนี้ค่อนข้างจะ depressing คือน่าหดหู่ เพราะมันติดอยู่ภายในวงจำกัดของตัวเองแล้วไปไหนไม่ได้. ผมไม่ค่อยอยากยกตัวอย่างว่าใครมีท่าทีแบบนี้

ท่าที่สาม(3) ที่อาจมีต่อความจริง คือ สิ่งที่เป็นจริงมีอยู่รอบตัวเรา แต่ไม่สนใจคำถามว่า เข้าถึงได้หรือเปล่า ? เพราะมันไม่สำคัญ. ท่าทีที่สาม ผมคิดว่า อาจเป็นได้คือคิดว่ามนุษย์เราในอดีตหลายคนตีค่าความจริงมากไป หรือสูงเกินไป ไปคิดว่ามันสำคัญ จริงๆมันไม่ใช่เรื่องสำคัญในชีวิต. ท่าทีนี้ไม่ได้ปฏิเสธความจริงว่ามี เพียงแต่มันไม่ได้สำคัญเท่าไหร่ พอไม่สำคัญ ก็เลยไม่ต้องไปถามว่ามันเข้าถึงได้หรือเปล่า เพราะมันไม่ใช่เรื่องสำคัญไง

คือท่าทีที่สอง มันเป็นปัญหาสำหรับเราเพราะว่า สำหรับคนที่คิดอย่างนั้น ความจริงเป็นสิ่งสำคัญแต่ว่าเข้าไม่ถึง. แต่ท่าทีที่สามคือ เข้าไม่ถึงก็ไม่หนักใจ เพราะว่ามันไม่สำคัญ. ทีนี้เวลาบอกว่ามันไม่สำคัญ คือมันไม่ใช่เป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดในการดำเนินชีวิตที่อยากจะเข้าถึง คือ ท่าทีนี้ผมคิดว่าเป็นท่าทีของศรีธนญชัย, อันนี้ไม่รู้ว่าจะเห็นด้วยหรือเปล่า. เป็นท่าทีที่เราเห็นอยู่หลายๆคนรอบๆตัวเราในข่าวสารจากสื่อมวลชน คือ มันไม่จำเป็นต้องเข้าถึง มันมีสิ่งอื่นสำคัญกว่า อาจจะเป็นท่าทีของกลุ่มธรรมชาตินิยมก็ได้ คือ ถ้าเรามองมนุษย์เป็นสัตว์ species หนึ่ง ดำเนินชีวิตไปเรื่อยๆ สิ่งที่สำคัญคือ การอยู่รอด ไม่ใช่การเข้าถึงความจริง. การเข้าถึงความจริง มันก็หนึ่งอย่าง ได้หรือไม่ได้ ไม่สนใจ อย่างอื่นสำคัญกว่า ทำอย่างไรให้อยู่รอดได้

บางทีการเข้าถึงสิ่งที่ไม่จริงคือ"ความเท็จ"ช่วยให้อยู่รอดได้ดีกว่าความจริง เพราะฉะนั้น ในกรณีอย่างนั้นก็ต้องเอาพวกความเท็จ... แล้วอยู่รอด. ในที่นี้ตีความได้ตั้งแต่อยู่รอดจริงๆในชีวิต จนอยู่รอดธรรมดาคือรักษาตำแหน่งต่างๆอะไรเอาไว้ได้ มันมีทุกแบบนะเรื่องความอยู่รอด แต่ท่าทีนี้คือท่าทีที่ไม่ได้คิดว่าความจริงมันสำคัญเท่าไหร่เท่านั้นเอง

ท่าทีที่สี่(4) ที่อาจมีต่อความจริง คือ ถ้าโดยดูตัวกำหนดท่าที อาจจะดูเหมือนกับว่าเป็นท่าทีที่ต่างไปจาก 3 ท่าทีที่กล่าวมาแล้ว คือท่าทีนี้บอกว่า"ไม่มีความจริง". ไม่มีความจริงอะไรที่อยู่นอกตัวเรา ไม่มี Objective Truth อะไรที่ไหน ? คือท่าทีนี้ปฏิเสธสิ่งที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด. การปฏิเสธอันนี้มันก็เหมือนกับการที่ใครบอกว่า ใครที่คิดว่ามีสิ่งซึ่งเรากำลังแสวงหา ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทาง ก็คือวิธีที่โลกมันเป็นอยู่นี้ ก็ผิด. เพราะมันไม่มีวิธีที่มันเป็น

ฟังดูแล้ว เหมือนอย่างกับ ท่าทีที่ 1, 2, 3 อยู่พวกเดียวกัน แต่ไปต่างกันตรงที่ว่า คิดว่าเข้าถึงไหม ? หรือว่าสำคัญไหมที่จะไปพยายาม หรืออะไรอย่างนี้. เสร็จแล้วมีท่าทีที่ 4 อยู่ข้างนอกนี้หน่อย. และหลายคนที่อ่านงานเขียนของ Postmodernists หลายคน บางทีอธิบายจุดยืนของตัวเองว่า คือท่าทีที่ 4 นี้ ท่าที่ที่ปฏิเสธ Objective Truth.

แต่วันนี้ผมอยากจะเสนอคือ ว่าจริงๆแล้ว ท่าทีในแบบที่ 2,3,4 มันคือท่าทีที่ใกล้เคียงกันมากกว่า. ไม่ใช่ท่าทีที่ 1,2,3 เป็นพวกหนึ่งแล้วมีท่าทีที่ 4 ซึ่งแตกต่างออกไป. จริงๆแล้วมีท่าที่ 1 ที่แตกต่างออกไป แล้วท่าทีที่ 2,3,4 เป็นพวกที่เหมือนกัน.

เหตุที่ผมเสนออย่างนี้ ให้ลองกลับไปพิจารณาถึงตอนต้นที่ผมบอกว่า ผมเข้าใจว่า Postmodernism คือสิ่งที่เหลือหลังจากไปวิพากษ์วิจารณ์ ism อื่นๆทั้งหลายแล้ว. ทีนี้ ism ต่างๆทั้งหลายอยู่ในท่าทีที่ 1 ทั้งสิ้น. ทุก ism เป็นการยืนยันบางอย่าง หรือว่ามี"ความจริง"บางอย่าง เพียงแต่ว่าเป็นการบอกว่าควรจะใช้วิธีอะไรถึงจะเข้าถึง. แล้วบอกว่าสิ่งที่มีอยู่เป็นอะไร เช่น เป็นแต่"จิต" เป็นแต่"สสาร" เป็นทั้ง"จิตและสสาร" ใช้ประสบการณ์ ใช้เหตุผล ใช้อะไร... พวกนี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็น ism ต่างๆที่อยู่ในแบบท่าทีที่ 1

ทีนี้พอไปวิพากษ์วิจารณ์ ism ทั้งหลายแล้ว สิ่งที่เหลือคืออะไร ? ถ้าดูจากท่าทีที่ 1,2,3,4 แล้ว มันก็ต้องเหลือ 2,3,4 ซิ. คือ พอปฏิเสธหนึ่ง มันไม่ใช่เหลือ 4. ปฏิเสธหนึ่งมันเหลือ 2,3,4. เพราะฉะนั้น คำถามคือว่า Postmodernism มีท่าทีอย่างไรต่อความจริง. หลายคนอาจจะบอกว่า 4. ผมกำลังคิดว่า อาจจะคือ 2 หรือ 3 หรือ 4 ก็ได้. ไม่จำเป็นต้องคือ 4

ทีนี้คำถามคือ ทำไมถึงอยากจะพูดอย่างนั้น ? ประการแรกเพราะอยากจะให้เกียรติ Postmodernist หน่อย เพราะว่า 4 ผมคิดว่าเป็นไปไม่ได้. ไม่ใช่ไม่จริงนะครับ แต่ผมคิดว่า 4 เป็นท่าทีที่มนุษย์มีไม่ได้

คำว่า 4 ท่าทีที่อาจมีต่อความจริง คำว่า"อาจมี" ผมอาจจะใช้คำไม่ชัด ไม่ใช่"อาจมี"ในความหมายมนุษย์"อาจมี" ที่จริงมันน่าจะเป็น "4 ท่าทีที่อาจเป็นไปได้" แต่ไม่ใช่มนุษย์มีได้. ผมกำลังคิดว่าอย่างนี้ ก็แล้วแต่พิจารณา ผมอยากจะเสนอความเห็นของผมว่ามนุษย์มีท่าที่ 4 ไม่ได้. ทำไมมีไม่ได้ ? ลองดูหน่อยนะครับ

ท่าทีที่ 4 คืออย่างนี้ ถึงแม้ว่าหลายคนพูดว่าตัวเองมีท่าทีที่ 4 พวก Postmodernist ท่าทีที่ 4 คือบอกว่า "ไม่มีความจริงในตัวมันเอง". ทีนี้ ถ้า"มีอะไร"ก็ตาม มันก็ต้อง"มีสิ่งที่มันเป็นอยู่". คือไม่ว่า"มีอะไร" มันก็ต้อง"มีวิธีที่มันเป็นอยู่".

ถ้า"มีวิธีที่มันเป็นอยู่" ก็แปลว่าไม่ใช่ท่าทีที่ 4. เพราะท่าทีที่ 4 คือ"ไม่มีอะไรเลย" ไม่มี "Objective Truth" เพราะฉะนั้นก็ต้องไม่มี "Reality". บางคนก็ยอมรับนะครับว่า ถ้าจะเอาท่าทีที่ 4 จริงๆ ต้องเป็นการแย้งสัจนิยม ในความหมายว่า"มีอะไรอยู่". คือถ้าตราบใด"มีอะไรอยู่" ต้องมีท่าที่ 1 หรือ 2 หรือ 3. เพราะถ้า"มีอะไรอยู่" มันก็"มีวิธีที่มันเป็น". ปัญหามันอยู่ที่ว่าเข้าถึงได้หรือเปล่า ? เข้าใจมันได้หรือเปล่า ? ภาษามนุษย์จับมันได้หรือเปล่า ? ของอย่างนั้น มันเป็นเรื่องเล็ก มันไม่ได้บอกว่ามันไม่มีสิ่งนั้น เพียงแต่ว่า มันบอกว่าไม่รู้จะเข้าถึงได้อย่างไร ?

เพราะฉะนั้น ผมคิดว่าท่าทีที่ 4 มนุษย์มีไม่ได้. พูดออกมาไม่ได้ พูดออกมาก็ไม่รู้ว่าพูดให้ใครฟัง เพราะว่าถ้าพูดให้ใครฟัง ก็แสดงว่ามีคนฟัง พอมีคนฟังก็ต้องมีวิธีที่คนนั้นอยู่ มันก็ไม่ใช่ท่าทีที่ 4 แล้ว... ก็มี Objective Truth อันนั้น. ทีนี้ถ้าเป็นอย่างนั้น ผมก็อยากจะดูว่า ท่าทีที่มีต่อความจริงของ Postmodernism คือ 2 หรือ 3

ทีนี้อยากจะอธิบายท่าทีที่ 1 ต่อความจริงของนักคิดคนหนึ่งนิดหน่อย ซึ่งบางคนถือว่าเป็นผู้แทนคนหนึ่งของ Postmodernism คือ ริชาร์ด รอร์ตี. แล้วรอร์ตีจะพูดถึง, concept 1 เรื่อง "Solidarity" ในทัศนะที่เป็นทางเลือกอีกอันหนึ่ง โดยที่ไม่ต้องเลือก objectivity.
(RORTY, Richard, post-analytic philosophy. Rorty has been professor of Humanities at the University of Virginia and professor at Princeton. His books include Philosophy and the Mirror of Nature (1980), The Consequences of Pragmatism (1982), Contingency Irony and Solidarity (1989), Philosophical Papers vol 1: Objectivity, Relativism and Truth, and vol 2 Essays on Heidegger and Others (both 1991)

ในที่นี้ Objective Truth ก็คือท่าที่ 1 ซึ่งเป็นการเชื่อว่ามี God's eyes view แล้วเราอยากจะเข้าให้ถึงซึ่งมันเป็นสิ่งที่ดี. ทีนี้รอร์ตีเขาเริ่มต้นอย่างนี้เวลาเขาอธิบายความคิดของเขา เขาคิดว่ามนุษย์เรามีวิธีให้ความหมายแก่ชีวิต 2 วิธีใหญ่ๆ.

วิธีหนึ่ง, คือ ให้ความหมายแก่ชีวิต โดยมองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนหนึ่ง หรือชุมชนตัวเอง และเน้นกิจกรรมที่ทำร่วมกันกับคนอื่นในชุมชนนั้น และผลของการทำกิจกรรมเหล่านั้น. นั่นคือวิธีหนึ่งที่ให้ความหมายแก่ชีวิตได้.

วิธีที่สอง, ให้ความหมายแก่ชีวิตโดยการเน้นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับสิ่งที่อยู่นอกชุมชนมนุษย์ทั้งหมด เช่น ความจริง. คือสิ่งที่อยู่เกินกว่าสิ่งซึ่งอยู่รอบตัวเรา เพราะฉะนั้น เราจะถอยห่างจากชุมชน ถอยห่างจากสภาพแวดล้อมที่เราอยู่ และมองทุกอย่างในฐานะไม่ได้เป็นสมาชิกหนึ่งของสิ่งนั้น ก็คือโลกทั้งหมด. แต่แล้วถ้าสามารถเข้าใจสิ่งนั้นได้ เราก็ได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างตัวเราเองกับสิ่งนี้ ก็คือความจริงของทุกอย่าง. ไม่ใช่ในฐานะเป็นสมาชิกหนึ่ง แต่ในฐานะที่เป็นปัญญาที่อยู่นอกเหนือจากสังคมหรือชุมชน

ทีนี้ 2 วิธีนี้ที่รอร์ตีพูดถึง ... คือคำอธิบายนี้ก็พอเห็นว่าวิธีที่ 2 คือท่าทีที่ 1 ต่อความจริง คือเชื่อว่ามี และเราอยากจะเข้าถึง และการเข้าใจ มันสำคัญกว่าสำหรับความหมายของความเป็นมนุษย์ กว่าการอยู่ร่วมกันด้วยความสงบในชุมชน. สำหรับอันนี้รอร์ตีมักจะใช้คำว่า Objectivity คือเป็นจุดยืนในชีวิตที่เรียกว่าเป็น Objective.

"Solidarity" ในที่นี้ก็คือ วิธีการให้ความหมายอันแรก คือความหมายของชีวิตมาจากความสัมพันธ์ที่มีกับคนอื่นในชุมชนร่วมกัน และชุมชนนี้ต้องเป็นชุมชนเล็กด้วย คือชุมชนจริงๆที่เป็น community ของเรา ไม่ใช่คือชุมชนที่หมายถึงมนุษย์ทั้งหมด เพราะตราบใดที่ไปมองชุมชนของเราเป็นมนุษย์ ทันทีนั้นเรากำลังเข้าไปอยู่ในท่าทีที่ 1 ก็คือมีสิ่งซึ่งเรียกว่าธรรมชาติมนุษย์. การที่เชื่อว่ามีธรรมชาติของมนุษย์ คือการกำลังเข้าแบบ Objectivity คือมีสิ่งที่เรียกว่ามนุษย์ทุกคนต้องเป็นแบบนี้ เสร็จแล้วอยากหาว่าเป็นอย่างไร ? แล้วก็เอาคำตอบพวกนั้นมาเป็นกฎเกณฑ์บางอย่าง เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันหรืออะไรทั้งหลาย

เพราะฉะนั้น ชุมชนที่รอร์ตีสนใจคือชุมชนที่เจอกันจริงๆ ที่อยู่กันจริงๆแค่นั้นเอง และความสัมพันธ์ระหว่างกันนั่นคือความหมายของชีวิต ไม่มีอะไรเหนือกว่านั้น. ที่นี้ ทัศนะอันนั้นเป็นทัศนะที่อาจจะดูเหมือนว่ามาจากการยึดท่าทีที่ 4 คือไม่มีสิ่งนี้. บางทีรอร์ตีก็พูดทำนองนั้น ว่า เขาคิดว่าความคิดของเขาเป็นลักษณะที่มีท่าทีต่อความจริงแบบที่ 4 แต่ผมคิดว่าอาจจะคือท่าทีที่ 3 ก็ได้. เพราะว่า ถ้าเราคิดว่ามีความจริงแต่ไม่สำคัญ เราก็ใช้จุดยืน Solidarity ใช้เป็นความหมายของชีวิตของเรา เพราะว่ามันสำคัญกว่า

ทีนี้สำหรับรอร์ตี ท่าทีที่ 1 หรือสิ่งที่เรียกว่า Objectivity ตัวอย่างหลักผมก็คิดว่า คงเห็นด้วยกันตรงนี้ว่า ที่ชัดที่สุดก็คือ วิวัฒนาการของวัฒนธรรมทางตะวันตก ตั้งแต่สมัยกรีกเป็นต้นมา ผ่านยุค Enlightenment ผ่านอะไรทั้งหลาย. การสร้างวิธีจัดการกับสิ่งแวดล้อมของเราในลักษณะที่คิดว่าสามารถหาได้ว่าจัดการอย่างไรดีที่สุด คล้ายๆกับเป็น optimism หรือการมองโลกในแง่ดีอย่างหนึ่งว่า ทำได้. อาจจะพลาดก็หาวิธีใหม่. อันนี้เป็นท่าทีที่ 1 และคิดว่ามันอาจจะเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของ Objective Stance.

สิ่งที่ตามมาคือ คนที่คิดว่า "ความจริงเป็นสิ่งที่มีอยู่และเข้าถึงได้" คราวนี้พูดในกรอบของปรัชญานิดหน่อยคือ เป็นคนซึ่งในทางปรัชญาเราเรียกว่า ต้องยึดทฤษฎี"ความจริงที่เป็น correspondence". ทฤษฎีความจริงที่เป็น correspondence คือ"จริงอย่างที่เป็นอยู่" คือ"จริง"มันใช้ยังไงก็ได้ มีหลายวิธีที่จะใช้"จริง". ก็มีอันหนึ่งที่เรียกว่า"จริง ที่ตรงกับที่เป็นอยู่ และมันก็มีมาตั้งแต่ข้อเขียนของ Aristotle ซึ่งมันก็ตรงกับสามัญสำนึกหลายอย่าง

ถ้าเราบอกว่ามันจริงที่มีรถจอดอยู่ข้างนอกร้อยคัน ทำไมจริงก็เพราะมีรถจอดอยู่ข้างนอกร้อยคัน คือตรงกับที่เป็นอยู่. จริงแบบในความหมายนั้น. คนที่มีท่าทีแบบ Objectivity นี่ หรือท่าทีที่ 1 ต้องเข้าใจ"จริง"แบบนั้น. คือ"มีอยู่", เข้าถึงก็คือ "ตรงกับที่เป็นอยู่" นั่นคือ "correspondence".

ปัญหาภายในทฤษฎีนี้มีอยู่ค่อนข้างมากมาย ถ้าคนที่มาจากวงการปรัชญาคงทราบดี ปัญหาแบบนี้มันเป็นลักษณะของปัญหาของทุก ism ทั้งหลายในปรัชญา ปัญหาการวิพากษ์วิจารณ์วิทยาศาสตร์ว่าเป็นวิธีให้ความจริงแก่เราได้ ก็เป็นลักษณะนี้

การวิพากษ์วิจารณ์อีกลักษณะหนึ่งที่เรียกว่า Foundationism ก็คือ ความรู้ทั้งหมดมีพื้นฐานที่แน่น ขอให้หาพื้นฐานให้ได้ ต่อไปเราก็สร้างความจริงขึ้นมาได้. ทัศนะอันนั้นก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์โจมตีได้ โดยการบอกว่า แล้วฐานคืออะไร ? เราจะเริ่มที่จุดไหนที่สงสัยไม่ได้ ก็คือปัญหาซึ่งค่อนข้างเก่าของปรัชญา. เพราะฉะนั้น ทัศนะเหล่านี้ที่อยู่ในท่าทีที่ 1 ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาหมด. พอวิพากษ์วิจารณ์แล้วจะทำยังไง ก็ต้องไม่เอา

คำถามที่น่าสนใจคืออย่างนี้ ... เมื่อไหร่เกิดความรู้สึกว่า ถ้าเมื่อไรความคิดของเราถูกวิพากษ์วิจารณ์ แล้วเราตอบไม่ได้ เราต้องกระโดดเปลี่ยนท่าทีเลย แทนที่จะไปหาใหม่ภายในท่าทีที่ 1. คือสมัยก่อนเป็นอย่างนี้เป็นพันๆปี ถ้าสมมุติเชื่อว่าสามารถหาความจริงได้โดยการเปิดหูเปิดตา เช่น ประสบการณ์นิยม. คนมาวิพากษ์วิจารณ์บอกว่า วิธีของคุณไม่ดี. ทำยังไง ฟังนิดหน่อย เขามีเหตุผลดีไหมว่าวิธีการนี้ไม่ถูก ถ้าคิดว่าดีก็หาวิธีใหม่. เอ้า! คราวนี้ลองใช้เหตุผลซิ. ก็คือ ยังอยู่ในท่าทีที่ 1 อยู่ แต่กระโดดหาวิธีที่เหมาะ

พวกสาขาต่างๆทางวิชาการ อย่างสังคมศาสตร์ สมัยก่อนบางคนชอบที่จะถามคำถามกันอย่างนี้ วิธีการทางวิทยาศาสตร์กายภาพเหมาะไหมสำหรับสังคมศาสตร์ เมื่อ 50 ปีก่อนถามคำถามอันนี้. ถ้าคิดว่าไม่เหมาะ สิ่งที่ทำคืออะไร. ก็ไปหาวิธีที่เหมาะ หาได้หรือเปล่าไม่รู้ ก็ลองหาดู. แต่ไม่รู้เมื่อไหร่เกิดอันนี้ขึ้นมาคือ พอเห็นว่าวิธีที่กำลังใช้ไม่เหมาะ เลยเลิกหาวิธีที่เหมาะ ไปสรุปเอาว่าไม่มีเลย อย่าไปหาเลยดีกว่า

ผมเคยพูดในที่อื่นว่า ผมรู้สึกว่าเป็นคล้ายๆทางออกของ"คนขี้เกียจ" คือไม่อยากหา แต่ตนหลังผมอายุมากขึ้น ไม่ค่อยอยากว่า ว่าเป็นวิธีของคนขี้เกียจ เลยเปลี่ยนเป็นว่าของ"คนที่เหนื่อย"แล้วกัน. แต่สำหรับผมมันน่าสนใจว่า ทำไมอยู่ดีๆจึงไปเปลี่ยน เพราะผมคิดว่าเราไม่สามารถกระโดดจากท่าทีที่ 1,2,3,4 ไปตามใจชอบ. ผมคิดว่าเราไม่สามารถทำอย่างนี้ได้

เอาท่าทีไหนดี หลังจากฟังถ้าหากว่าฟังรู้เรื่องนะครับ เสร็จแล้วมาบอกว่า อ๋อ! ... มีอยู่ 4 ท่าที เอาวิธีไหนดี. ผมไม่ได้หมายถึงตอบเดี๋ยวนี้นะครับ. อันที่จริงผมคิดว่าเลือกไม่ได้ มันอย่างกับไม่ใช่ท่าที่เราเข้าไปสู่ด้วยความตั้งใจ มันเป็นท่าทีที่เกิดเฉยๆ หลังจากมีทุกอย่างในประสบการณ์ชีวิตของเรา มันคล้ายๆความเชื่อย่างนี้ เราไม่สามารถบอกให้ตัวเราเชื่ออะไร ? เราทำไม่ได้.

สมมุติมีอย่างหนึ่งเรา"ไม่ได้เชื่อ"อยู่ แล้วบังคับตัวเอง"ให้เชื่อ เช่น จงเชื่อไอ้นี่ ยังไงผมไม่เชื่อ แต่ผมจะบอกให้ตัวผมเชื่อ. บอกเท่าไหร่บอกไม่ได้ เพราะสภาพทางจิตของสิ่งที่เรียกว่า"เชื่อ" ไม่ได้เป็นสิ่งซึ่งเราคุมได้. ถ้าอย่างว่าบอก เออ...ไอ้นั่นมันเป็นคนไม่ค่อยดี แต่อยากจะเชื่อว่ามันดี ลองเชื่อซิ. ปรากฏว่ามันไม่เชื่อ มันทำไม่ได้. แต่วันหนึ่งอยู่ดีๆ เชื่อนะ ถ้าเกิดจะเชื่อนะครับ. ผมคิดว่าทุกเรื่องเป็นอย่างนี้. ความเชื่อเป็นเรื่องของสิ่งซึ่งเราบังคับไม่ได้

ท่าทีพวกนี้ก็เหมือนกันนะครับ เป็นท่าทีที่เกิดกับคนเฉยๆโดยไม่ได้เข้าสู่ เพราะว่าถ้าเข้าสู่ได้ก็เหมือนกับกำลังยกเรื่องทั้งหมดที่ผมพูดเข้ามาอยู่ในท่าทีที่ 1 ก็คือเอาเหตุผลมานั่งชั่งว่า วิธีไหนมีเหตุผลดีกว่า เช่น ดูเหมือนว่าท่าทีที่ 3 ดี ก็เอา 3. ทั้งหมดทุกท่าทีมันอยู่นอกท่าทีที่ 1 เพราะฉะนั้นมันคิดแบบนั้นไม่ได้

ทีนี้รอร์ตีพยายามพูดถึงสองเรื่องเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งผมคิดว่าค่อนข้างน่าสนใจในการทำความเข้าเกี่ยวกับ Postmodernism ซึ่งเดี๋ยวผมจะอธิบายต่อนิดหน่อย คือการโยงความคิดอันนี้เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า Pragmatism

คือ Pragmatism นี่เป็น ism อย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นมันจึงดูเหมือนเป็น ism อย่างหนึ่งที่จะถูกปฏิเสธ แล้วถึงจะเหลือ Postmodernism. แต่มีนักเขียนหลายคนคิดว่า Pragmatism คือจุดยืนคล้ายๆกับ Postmodernism

ถ้าเข้าใจ Pragmatism ในลักษณะหนึ่ง. Pragmatism บอกว่า"จริง"คืออะไร ? "จริง"ไม่ใช่สิ่งที่ตรงกับที่เป็นอยู่. "จริง"คืออะไรก็ตามที่"ดี". คือเชื่อแล้วมัน"ดี". เพราะฉะนั้นมันไม่ได้โยงว่า เข้าถึงความจริงคือ เข้าถึงอะไรที่อยู่นอกตัวเรา. ไม่ใช่. เข้าถึงความจริงคือการทำอะไรก็ตามที่ดีสำหรับเรา. ถ้า"ดี"มันก็เรียกว่า"จริง"

ทีนี้ปัญหาของ Pragmatism มีอยู่นิดหน่อย คือ "ดี"สำหรับใคร ? บางคนวิจารณ์ว่าเป็นทัศนะที่ Individual เกินไป. "ดี"สำหรับ"ตัวเรา" แล้วเราเรียกว่า"จริง" แล้วมันก็เลยเละไปหมด. คือทุกอย่างจริงหมด ทำอะไรก็ได้. ทีนี้บางคนบอกว่าอาจจะตีความใหม่ได้คือ "ดี"สำหรับ"ชุมชน"ไง, อะไรที่ดีสำหรับกลุ่ม ก็นั่นล่ะคือ"จริง". มันก็เข้ากับสาย Pragmatism แล้วรอร์ตีเขาพยายามอยากให้มองอย่างนี้ เพราะว่าสำหรับรอร์ตีคิดว่าอย่างนี้... เขาบอกว่า... ปกติผมไม่รู้ว่าพวกเราเข้าใจอย่างไรถ้าผมพูดว่าอย่างนี้...

สิ่งซึ่งน่าจะเชื่อที่มีเหตุผลสนับสนุนที่สุด น่าเชื่อ อาจจะไม่จริง. เวลาพูดเช่นนี้มันแปลว่าอะไร ? สิ่งซึ่งดูเหมือนมีหลักฐาน มีข้อมูลสนับสนุนมากที่สุด มีเหตุผลน่าเชื่อถือมากที่สุด อาจจะไม่จริง. ข้อความนี้พวกเราเข้าใจว่ายังไง ?

คือรอร์ตีเขาอยากให้สามารถพูดอย่างนี้ได้ ถึงแม้ว่ามีท่าทีที่ 4. คือปกติเราพูดอย่างนี้ เรานึกว่าเป็นท่าทีที่ 1 ใช่ไหม ? คือมีสิ่งที่จริง เสร็จแล้วมีการหาเหตุผลสนับสนุน หาข้อมูลอะไรทั้งหลาย เสร็จแล้วเรามาพูดว่า เท่าที่เรามีข้อมูลอยู่ อะไรทุกอย่าง แต่มันอาจจะไม่จริง. พอพูดว่า"อาจจะไม่จริง" คือ"อาจจะไม่ตรงกับสิ่งที่เป็นอยู่". แต่สิ่งที่รอร์ตีกำลังเสนอให้คนที่อยู่ที่ไม่ใช่ท่าทีที่ 1 นี่ ก็คือให้ตีความว่า มันแค่หมายความว่า อาจจะมีจุดยืนที่ดีกว่านั้นที่เป็นได้แค่นั้น.

เวลาบอกว่า มีเหตุผลดีแต่อาจจะไม่จริง แค่หมายความว่า มีเหตุผลดี แต่อาจจะมีจุดยืนดีกว่านั้นได้ อาจจะมีเหตุผลมากขึ้น จุดยืนดีขึ้น. ผมไม่แน่ใจว่าการตีความแบบนี้มัน consistent หรือเปล่า...

อันต่อมาที่รอร์ตียกมาพูด ซึ่งผมคิดว่าเราจะต้องมาพูดกันมากนิดหน่อยคือ เวลาพูดถึง "4 ท่าทีที่มีต่อความจริง" ค่อนข้างจะเหมือนกำลังพูดถึงเรื่องหนึ่งในปรัชญาที่เรียกกันว่า ถ้าไม่"อภิปรัชญา" ก็ทฤษฎีความรู้"ญานวิทยา". แต่คำถามที่ควรจะมีต่อท่าทีที่มีต่อความจริง และ Postmodernism มันพาไปสู่อีกเรื่องหนึ่งทันที ก็คือ อาจจะพูดได้ว่า "4 ท่าทีที่อาจจะมีต่อความดี".

"4 ท่าทีที่อาจจะมีต่อความจริง" มันมีผลโดยตรงต่อจุดยืนของเราในสังคม และทัศนะที่เรามีทั้งในฐานะที่มีชีวิตทางด้านการเมือง และมีชีวิตทางด้านการอยู่ร่วมกับคนอื่น. ทีนี้มาเปลี่ยนเป็น" 4 ท่าทีที่อาจจะมีต่อความดี" มันก็ไล่แบบ "4 ท่าทีที่อาจจะมีต่อความจริง"ได้. และคำถามก็เกิดเหมือนกัน.

"4 ท่าทีที่อาจจะมีต่อความดี" หรือความความถูกต้อง หรืออะไรก็ตาม ก็คือท่าทีที่ 1. ท่าทีที่ 1 ก็คือ ที่เรียกกันว่า "มีสิ่งที่ดี" แล้วเราอยากเป็นคนดี เราก็ต้องแสวงหาความดี. เป็นท่าทีเกี่ยวกับศาสนา เป็นท่าทีของคนที่ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของสังคม อันนี้เป็นท่าทีที่ 1 คือมันมีสิ่งซึ่งเรียกว่าเป็นธรรม ความยุติธรรมอะไรอย่างนี้ และเราสร้างได้ เราจะหามัน แล้วก็ต่อสู่เพื่อมัน. ถ้าเทียบกับเรื่องความจริงก็คือ ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมก็เหมือนกับเข้าถึง"ความจริง"นั่นแหละ. คือทำให้เกิดขึ้นได้. การที่เกิดขึ้นได้ในสังคมก็เหมือนกับการที่เราสัมผัสความจริง. นี่ก็เป็นท่าทีที่หนึ่งที่มีได้.

ท่าทีที่ 2 ก็คือท่าทีที่ 2 ของความจริงคือ, อาจจะมีสิ่งที่ดี แต่เราเข้าไม่ถึง เพราะมันไม่ใช่เรื่องของมนุษย์ที่จะเข้าไป คล้ายๆไม่ใช่เรื่องในระดับของมนุษย์. ถ้าถามบอกว่า แมวนี่ดีได้ไหม ? ผมไม่ทราบว่าคำถามนี่ตอบยังไง ? ถ้าถามว่าแมวสามารถมีศีลธรรมได้หรือเปล่า ? ผมว่าหลายคนคงจะบอกว่า เรื่องแมวกับเรื่องศีลธรรมมันคนละเรื่องกัน. ศีลธรรมเป็นระดับซึ่งแมวไม่เกี่ยว. ไม่ใช่ว่าแมวไม่มีศีลธรรม หรือไร้ศีลธรรม แต่มันไม่เกี่ยว มันคนละเรื่อง

ทีนี้ ท่าทีที่ 2 ที่มีต่อความดี คือมองมนุษย์แบบแมว นั่นคือ เรื่องมีศีลธรรมหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับมนุษย์. สิ่งที่มนุษย์ทำไม่ใช่ว่าไร้ศีลธรรมนะ การฆ่าฟันกันไม่ใช่ไร้ศีลธรรม แล้วไปช่วยเหลือคนอื่นไม่ใช่เรื่องมีศีลธรรม ไม่เกี่ยวกับศีลธรรม มันทำไปอย่างนั้นเอง. นี่ก็เป็นท่าทีหนึ่งที่คล้ายๆอันที่ 2 เป็นธรรมชาตินิยมแบบหนึ่ง ก็คือ มนุษย์ไม่มีเสรีภาพไง. ถ้าใครคิดว่ามนุษย์ไม่มีเสรีภาพในการกระทำ ในการควบคุมการกระทำ ผมว่าต้องเป็นท่าทีที่ 2 นี่ ก็คือ ทำไปเรื่อยๆ. คิดว่ากำลังเลือก แต่ไม่ได้เลือกหรอก มันก็ทำไปอย่างนั้น ตามกรรมพันธุ์บ้าง ทำอะไรไปเรื่อยๆ.

ท่าทีที่ 3 ของความดี ซึ่งขนานกับความจริงก็คือว่า เราไปตีค่าความดีสูงไป. มันแปลว่าอะไร ? ที่จริงอันนี้มันค่อนข้าง attractive สำหรับผม คืออย่างนี้... ตีค่าความดีสูงไป คือมีสิ่งที่เรียกว่าดีสากล. ถ้าเป็นท่าทีที่ 1 ทุกคนต้องอยากทำอย่างนั้น การนำสังคมไปสู่สิ่งที่ดี

ทีนี้ทำไมมันอาจจะสูงไปได้ ผมอยากจะลองยกตัวอย่างของ Analogy หรือเป็นการเปรียบเทียบที่คล้ายๆกันของคนในสังคมศาสตร์หรืออาจเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งชื่อ นอยลาร์จ(อาจสะกดผิด - ผู้ถอดเทป) คือเป็นการเปรียบเทียบที่ใช้กันในหลายเรื่อง ลองนำมาใช้ในเรื่องนี้ดูซิ

เป็นการเปรียบเทียบการสร้างเรือใหม่ในขณะที่เรือกำลังแล่นอยู่ในน้ำ บางคนอาจจะคุ้นกับ analogy แบบนี้ คือเขาพูดว่าอย่างนี้ เราแล่นเรืออยู่กลางทะเล และเราก็สร้างเรือใหม่โดยการนำเอาวัสดุของเรือเก่าทีละชิ้นถอดออกมาสร้างใหม่ หรือถ้าเป็นเรือไม้เราก็เลาะเอาไม้ออกทีละแผ่น แล้วสร้างเรือลำใหม่ขึ้นมา และบนเรือนั้น ไม่มีอะไรมีแต่ตัวเรา และเราสามารถสร้างเรือใหม่ได้ขณะที่เรือแล่นอยู่ โดยไม่มีวัสดุอื่น ยกเว้นวัสดุของเรือนั้น ทีนี้ทำอย่างไร ? ก็ต้องเปลี่ยนทีละแผ่น และต้องไม่เปลี่ยนเร็ว. เพราะถ้าเผื่อว่าคิดจะสร้างเรือใหม่ แล้วรื้อทั้งหมด เรือก็จมน้ำ เพราะไม่มีอะไรลอยอยู่ มันก็ต้องเอาไปทีละแผ่น น้ำเข้าหน่อยก็ต้องรับไปเปลี่ยนอีกที่หนึ่ง แล้วแผ่นนั้นก็มาไว้ตรงนี้. อันนี้มันต้องออกแบบให้ดี ถ้าออกแบบให้ดี อาจจะมีเรืออีกแบบหนึ่งได้ โดยที่เรือไม่ต้องล่ม

ผมว่าสิ่งนั้น เป็นคล้ายๆสิ่งที่... ตามความเข้าใจของผม คือเราทำอยู่ เวลาที่สังคมเปลี่ยนแปลง คือเราอยู่ในเรือลำหนึ่ง เรือนั้นคืออะไร ? ก็คือ สภาพความเป็นจริงและประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอะไรทั้งหลายของชุมชนหรือสังคมของเราขณะนี้ นั่นคือ"เรือ". ทีนี้เราจะเปลี่ยนเรือ เปลี่ยนเป็นอะไรก็ได้หรือเปล่า ผมว่าอาจจะไม่ได้ เพราะมันจะล่มไง. ทีนี้บางคนบอกว่า ไปซื้อวัสดุมา แต่มันอยู่กลางทะเล อาจจะมีข้อจำกัดบางอย่างในการเปลี่ยนทิศทางของสังคม หรือทิศทางของชีวิตเราส่วนตัวก็ได้. ข้อจำกัดอันนั้นก็คือ ข้อจำกัดทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรือความเป็นจริงของธรรมชาติ ข้อจำกัดเหล่านั้นทำให้เราไม่สามารถไปทุกที่ได้ที่จะไป

สมมุติว่าเราอยู่ที่นี่ เราในที่นี้อาจจะคือตัวเราในฐานะบุคคล หรืออาจจะคือสังคมเรา อะไรก็แล้วแต่. ทีนี้ จากนี่จะไปไหน ? ก็ต้องมานั่งชั่งเอากัน ถ้าเป็นสังคมก็ถกเถียงกันอะไรอย่างนี้. แต่ผมว่ามันไม่ใช่ไปได้ทุกแห่ง ไปได้เพียงบางแห่ง. บางแห่งนั้นไปไม่ได้ เพราะช่วยไม่ได้ก็เพราะมันไปไม่ได้ คือ ก็แผ่นหรือกระดานมันมีอยู่แค่นี้. มันไม่ใช่หน้าที่หรือความสามารถของเราที่จะถามว่า ทำไมมานั่งเรือแบบนี้ล่ะ ก็มันนั่งอยู่แล้ว. ไม่ใช่ว่าอดีตสร้างเรือมาแล้ว บ่นว่าไม่ชอบ มันอยู่ในเรือนั้นอยู่แล้ว ทีนี้จะไปไหน ? ก็ไปได้บางที่. ถ้าอยากไปที่ซึ่งมันไปไม่ได้ มันก็ไปไม่ได้ เพราะถ้าไปเปลี่ยนเรือ, ไปเปลี่ยนไม้, มันจะจม. แต่ก็ไม่ควรใช้เป็นข้อแก้ตัวที่จะไม่ทำอะไรเลย

อันนี้เกี่ยวกับท่าทีที่ 3 เพราะอย่างนี้ครับ เวลาเราบอกว่ามีความดีสุดยอดหรือสังคมที่พึงปรารถนา นั่นคือท่าทีที่ว่ามีใช่ไหม. พอไปบอกว่าให้ความสำคัญแก่สิ่งนี้ ก็แปลว่าต้องพยายามหาสิ่งนั้นให้ได้ ต้องทำให้ตัวเราหรือสังคมเราไปถึงจุดนั้น. แต่ทีนี้จุดนั้นมันอาจจะคืออย่างนี้ไง. คือบางที่ที่อยากจะไป แต่มันไปไม่ได้ มันต้องไปเท่าที่จะไปได้

อันนี้มันจะแย้งกับคนที่มีท่าทีที่ 1 แน่. ท่าทีที่ 1 คือทำอะไรได้หมด ด้วยความพยายามของมนุษย์ มันมีลักษณะที่เป็น optimist มากเลย ทุกอย่างเป็นไปได้ ไม่มีอะไรเป็นข้อจำกัดทั้งสิ้น

มาถึงท่าทีที่ 4 จะคืออะไร ? ... เป็นท่าทีที่ไม่รู้ว่า ศีลธรรมที่ถูกต้องคืออะไร อยู่ที่ไหน ? ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม. ผมว่ามันตีความได้ทั้ง 2,3,4. อาจจะคือ "มี"แล้วรู้ไม่ได้ เพราะข้อจำกัดของวัฒนธรรม หรืออาจจะ"ไม่มี"เลย. มีความเห็นต่างกันหมด. 7 สังคม มี 7 ศีลธรรม. ผมว่ามันไม่ได้บังคับให้เรายึดท่าทีที่ 4 อาจจะคืออันอื่นก็ได้ แค่ไม่ใช่อันที่ 1 เท่านั้นเอง

เราจะเลือกท่าทีไหนใน 4 ท่าทีนี้. สำหรับรอร์ตี ไม่แปลก ในเมื่อเขาอยู่ในกลุ่ม Postmodernist เขาเข้าใจว่าไม่ได้เลือกโดยมานั่งชั่งว่าอะไรมันถูก หรือมีเหตุผลกว่า อันนั้นไม่ใช่วิธีเลือก. วิธีที่เลือกคืออย่างนี้...

ให้สังเกตสังคมที่เลือกท่าทีต่างๆ. สังคมที่เลือกท่าทีที่ 1 ซึ่งมีต่อความดี หรือความเป็นธรรม ก็ไปสังเกตสังคมที่เลือกอย่างนั้น. ไปหาสังคมที่เลือกท่าทีที่ 2, ไปหาสังคมที่เลือกท่าทีที่ 3 คือ ถ้าเอาภาษาของเขา ระหว่าง Solidarity กับ Objectivity ให้ไปเลือกสังคมดูว่า สังคมไหนที่คนในสังคมให้ความหมายของชีวิต โดยโยงถึงความสัมพันธ์ในชุมชนหรือในสังคมนั้น. มีสังคมไหนไหมที่ให้ความหมายโดยโยงกับเราใกล้กับสิ่งที่นอกตัวเรามากที่สุด แล้วไปเทียบดู และบอกว่าชอบอยู่ในสังคมแบบไหน ? แล้วเลือกอันนั้นมา และนั่นคือวิธีเลือกท่าที

ปัญหาที่ผมมีกับข้อเสนออย่างนี้คือ... สมมุติหาได้สังคมแบบนี้ อาจจะพอได้ มีสังคมต่างๆที่สังคมบางสังคมซึ่งให้ความหมายหรือสิ่งที่ดีที่สุด โดยโยงถึงความสัมพันธ์ของคนในชุมชนนั่นเอง นั่นมาอันที่หนึ่ง แล้วเราก็ดูว่าสังคมนั้นเป็นยังไง ? แต่ปัญหาคือตรงนี้ คือ เราจะเปรียบยังไง ? มันไม่ยากหรอกครับที่จะคิด ยกตัวอย่างสังคมตะวันตกอะไรสักอย่าง แล้วเอาสังคมของหมู่บ้านที่ค่อนข้าง traditional สมมุติ แล้วเราไปเปรียบเทียบ. ปัญหาคือเปรียบเทียบอย่างไร ? คือเอาอะไรมาเปรียบ เพื่อจะบอกว่า ดังนั้น เราจะเลือกท่าทีไหน ? คือสิ่งที่แฝงอยู่เบื้องหลังวิธีการของรอร์ตีนี้คือ มีวิธีเปรียบ. ถ้าเชื่อว่ามีวิธีเปรียบ มันก็คือท่าทีที่ 1. คือพอดูสังคมแล้ว มันจะเห็นเลย

ถ้าหากบอกว่ามันไม่มีวิธีเปรียบ ก็เอาว่าชอบอันไหน ? ถ้าชอบอันไหน มันก็ไม่ได้เป็นการตัดสินว่าเลือกท่าทีไหน เพราะเราอยู่ร่วมกันในสังคมเดียวกัน เราไม่ใช่ เราชอบอันนี้แล้วเราก็จะวิ่งไปอยู่กับเขา, ไม่ใช่. เรากำลังหาท่าทีที่จะทำให้สังคมทั้งหมด ที่ไปยึดท่าทีนั้น

ปัญหาของการเลือกท่าที ก่อนที่จะเลือกท่าทีได้ มันต้องมีวิธีเลือก. แต่การมีวิธีเลือก มันต้องรู้ความจริงบางอย่าง ... แต่พอทำอย่างนั้น ทันทีมันก็ไปเข้าท่าทีที่ 1 อยู่แล้ว. ผมเคยเห็นว่านี่คือปัญหาของการหาวิธีการที่เหมาะสมในสายวิชาการต่างๆ อย่างผมยกตัวอย่าง...

สมมุติตั้งคำถามบอกว่า วิธีการอย่างไรที่เหมาะสมจะใช้วิธีการในการสร้างองค์ความรู้ หรือเข้าใจสังคม หรือศึกษาสังคม ? วิธีที่เหมาะ มันต้องขึ้นอยู่กับว่า ปรากฎการณ์ที่เรากำลังศึกษาอยู่ในที่นี้ สมมุติว่าคือสังคม เป็นอย่างไร ? คือวิธีที่เหมาะ มันต้องเข้ากับวิธีที่สิ่งนั้นเป็น กลไกมันเป็นยังไง สังคมมันเปลี่ยนยังไง มีพลวัตอย่างไร มันเป็นยังไงถึงได้วิธีที่เหมาะกับสิ่งนั้น. ไม่ใช่ทุกวิธีเหมาะกับทุกอย่าง แต่เราไม่สามารถรู้ว่าเป็นยังไง ถ้าไม่มีวิธีการไปศึกษา

อย่างถ้าผมไม่ทราบว่าสังคมมีกลไกอย่างไร ? พอไม่ทราบ ผมไม่รู้ว่าจะเอาวิธีใดไปศึกษา. ต้องรู้ก่อน แต่รู้ก็ไม่มี เพราะไม่รู้วิธีที่จะไปรู้ สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร ? ก็ไปยึดเอาวิธีหนึ่งมา, อันนี้เกิดขึ้นกับทุกศาสตร์ของมนุษย์ คือไปยึดวิธีการก่อน พอไปยึดวิธีแล้ว วิธีก็เลยเป็นตัวไปกำหนดไอ้สิ่งที่ศึกษาว่าเป็นอย่างไร ? และไม่สามารถออกนอกกรอบนี้ได้

คือมันต้องมีวิธี แล้ววิธีนั้นกำหนด, อย่าง Sociology ทำไมต้องอย่างนี้. ทำไมไม่ Socio -nonlogy ? หรือ Socio -illogy. Sociology คืออะไร ? จะไปดูกลไกที่สังคมทำงานอยู่ ดูด้วยอะไร ดูด้วย logos เข้าใจว่าอยู่ด้วยกันแบบนี้ ก็เลยไปเอาวิธีนี้ไปดูไง. แต่ถ้ามันอยู่กันอย่าง illogy คำถามคือ มีวิธีพบอันนี้ไหม โดยใช้ logy นี่. พบไม่ได้ เพราะตัววิธีการมันตีความปรากฎการณ์ทั้งหมดให้ออกมาเป็นอย่างนั้น มันก็จะออกมา logy แน่.

อันนี้ไม่ใช่ปัญหาของสังคมศาสตร์ แต่เป็นปัญหาของทุกอย่าง เป็นปัญหาของการหาความรู้ของมนุษย์. ในวิทยาศาสตร์ธรรมชาติก็เป็นอย่างนี้. วิธีที่เหมาะซึ่งจะไปรู้ว่าธรรมชาติเป็นอย่างไร ? มันก็ขึ้นอยู่กับกลไกของธรรมชาติด้วย. แต่เราไม่ทราบว่าธรรมชาติเป็นอย่างไร เราศึกษาไม่ได้ เพราะไม่มีวิธีศึกษา ก็เลยวิทยาศาสตร์คืออะไรที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ หรือวิทยาศาสตร์ตั้งแต่การปฏิวัติ คือไปยึดเอาเฉยๆว่าธรรมชาติควบคุมโดยกฎ แล้วเอาอันนี้ไปเป็นตัววิธี แน่นอนมันก็ออกมาด้วยกฎ เพราะไปตั้งวิธีให้หากฎ. ทีนี้จะทำอย่างไร ? มันจะออกไปนอก cycle นี้หรือเปล่า ? คือท่าทีที่ 1 ต้องออก แต่ถ้าออกไม่ได้ไม่รู้.

คำถามคือ ทำไมคนชอบท่าทีที่ 1 ? ท่าทีที่ 1 เป็นท่าทีที่มาจากอะไร ? ถ้าทัศนะของ Postmodernist บางคนที่บอกว่า Postmodernism precede Modernism. คือจริงๆเป็นของซึ่งมีอยู่ก่อน แล้วมันถูกกระทบกระเทือน ซึ่งมันกำลังโผล่มาใหม่. เพราะ Modernism นั้นพลาด, เป็นความหวังที่หวังเกินไป. ทำไมจึงเกิดขึ้นมา ? เป็นอย่างนี้ได้หรือเปล่า ...

ทั้งหมด เป็นการกำลังปกปิดความกลัวตายของมนุษย์ คือ มีหลายคนพูดทำนองว่า การที่มีความจริงอยู่นอกตัวเราและชุมชนของเรา เป็นวิธีหนึ่งซึ่งมนุษย์รอดตายได้. อันนี้ไม่ใช่ร่างกายพ้น แต่มันแปลว่าเราสามารถสัมผัสกับอะไรที่เกินกว่าสิ่งที่เห็นอยู่ และความกลัวที่จะสิ้นสุดเฉยๆ คือ พอตายไม่มีอะไร เป็นความกลัวสูงสุดของมนุษย์ ไม่ใช่ความกลัวอย่างอื่น. อย่างอื่นเรื่องเล็ก เจ็บปวดหน่อยก็ร้องไห้เอา. แต่การที่หายไปเฉยๆไม่มีอะไร เป็นสิ่งซึ่งทนไม่ได้ พอทนไม่ได้ก็จึงต้องไปหาอะไรสักอย่าง และสิ่งนั้นก็คือ สิ่งที่อยู่นอกตัวทั้งหมด คือ"ความจริง".

ร่างกายตายไป ช่างมัน แต่ได้สัมผัส หรืออาจจะมีวิธีได้สัมผัสได้. ทีนี้ถ้าเป็นอย่างนั้น มันก็คือเลือกท่าทีที่ 1 ไม่ใช่ด้วยเหตุผลอะไรทั้งสิ้น แต่มันเป็นเรื่องแรงจูงใจอะไรบางอย่าง หรือความกลัวอะไรบางอย่างของมนุษย์เอง. ผมคงเสนอเท่านี้ก่อนนะครับ

(คลิกไปหน้าต่อไป เพื่อพบกับตอนที่ 2 ช่วงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น)

 

อ่านต่อหน้าถัดไปของบทความนี้

กลับไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

แสดงความคิดเห็นที่กระดานข่าว

 

 

พบกับบทความถอดเทปเรื่อง" 4 ท่าที่ที่มีต่อความจริง : รากฐานปรัชญาหลังสมัยใหม่"่ เพื่อนักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน ที่กำลังศึกษาปรัชญาหลังสมัยใหม่ในเชิงลึก

อาจารย์มารค ตามไท ได้พูดถึง รากฐานเกี่ยวกับความจริง 4 ประเภท ที่ผู้คนยึดถือ และนักคิดหลังสมัยใหม่ มองความจริงอย่างไร ?

สาระสำคัญในที่นี้ก็คือ การนำเสนอเรื่องดังกล่าว เป็นการนำเสนอในที่ประชุมของนักสังคมวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มช. ซึ่ง อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธุ์ และ อาจารย์ไชยันต์ รัชชกูล ร่วมสนทนาด้วย

บันทึกเทปโดย"โครงการสนทนาปัญหาศิลปะ ปรัชญา และวิทยาาสตร์ " คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ - มอบให้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อเป็นวิทยาทานสำหรับการศึกษาไทย

เกริ่นนำ

สำหรับรายการในวันนี้(20 มิถุนายน 2540) ถือว่าเป็นการจัดให้มีการบรรยายกันขึ้นมาเป็นครั้งแรกของภาควิชาสังคมวิทยา มานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันนี้เราได้รับเกียรติจาก อ.มารค ตามไท มาบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับ "พื้นฐานทางปรัชญาของ Postmodernism" อาจารย์เป็นที่รู้จักกันในแวดวงสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์, สอนปรัชญาอยู่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ หลายคนคงไม่ทราบนะครับว่า อาจารย์เคยเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนปริ๊นสโรเยลที่เชียงใหม่มาก่อน

สิ่งที่เราสนใจในการจัดให้มีการบรรยายเช่นวันนี้ เราพยายามที่จะให้มีการพูดคุยกันข้ามสาขาวิชา พยายามที่จะให้เกิด dialogue ที่กว้างขวาง ไม่ใช่เป็นเรื่องของสาขาวิชาใดสาขาหนึ่งโดยเฉพาะ

ในบ้านเราเอง Postmodern มีคนพูดถึงกันเยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางสังคมศาสตร์ หาคนเข้าใจจริงๆได้ไม่ค่อยมากนัก หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า เวลาพูดถึง Postmodern เรากำลังพูดถึงการละลาย field หรือละลาย disciplines ตามที่เคยมีมา. แต่สิ่งที่มีนัยะสำคัญกว่าการทำความเข้าใจ Postmodern ก็คือ เรื่องของการตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ทางสังคมที่มันเกิดขึ้น ... วันนี้เป็นโอกาสที่เราจะทำความเข้าใจกับพื้นฐานของแนวคิดแบบ Postmodern... เพื่อไม่ให้เสียเวลา ผมขอเรียนเชิญท่านอาจารย์ มารค ตามไท เลยครับ

มารค ตามไท (ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย)
2
go to
สี่ท่าทีที่มีต่อความจริง : รากฐานทางปรัชญาหลังสมัยใหม่ / ตอนที่ 1 ช่วงวิทยากรเป็นผู้บรรยาย (หากภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาด font ลง)
ตอนที่ 1 ความยาวประมาณ 10 หน้ากระดาษ A4