บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นเพื่อใช้ประกอบการบรรยายในหัวข้อ การเรียนการสอนศิลปะของสถาบันศิลปะเบาเฮาส์เปรียบเทียบ / สาขาวิชาออกแบบ คณะวิจิตรศิลป์ มช.
H
home

Portrait of Walter Gropius. 1922 Photograph by Hugo Erfurth BHA.

Walter Gropius was appointed to succeed Henry van de Velde as director of the School for fine art in Weimar. He found the Bauhaus and was its director from 1919 to 1928

release date
170245 :

สถาบันศิลปะเบาเฮาส์หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า The Bauhaus School of Art, craft, and design ได้รับการสร้างขึ้นมาโดยสถาปนิกที่ชื่อว่า Walter Gropius ที่เมืองไวมาร์ ประเทศเยอรมันนี ในปี ค.ศ. 1919 สำหรับคำว่า เบาเฮาส์ (building house)นั้น เป็นการสะท้อนถึงต้นตอกำเนิด ในความคิดแบบสังคมนิยม ที่เกี่ยวพันกับขบวนการเคลื่อนไหว ทางด้านงานศิลปะและงานฝีมือ ซึ่งไม่ใช่อย่างเดียวกันกับ ความพยายามในช่วงต้นๆในการรื้อฟื้นพลังเกี่ยวกับ ผลิตผลทางงานฝีมือขึ้นมาใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด โปรแกรมต่างๆของเบาเฮาส์ ได้เข้าไปอยู่ภายใต้วงแขนของเทคโนโลยี และอุตสาหกรรม

CP
MP
WB
Contents P.
Member P.
Webboard
ภาพประกอบ Poster for the Exhibition"50 Years Bauhaus" of the Wurttemberg Art Association in Stuttgart.1968 ออกแบบโดย Herbert Bayer BHA. จากหนังสือ Bauhaus / editor Jeannine Fiedler
บริการการศึกษาทางไกลฟรี เพื่อนักศึกษา และสมาชิก ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ของ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน / บทความใหม่ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2545

สมเกียรติ ตั้งนโม / คณะวิจิตรศิลป์ มช.

โครงเรื่องของบทความ
1. บทนำและความเป็นมาเกี่ยวกับเบาเฮาส์
2. เมื่อแรกก่อตั้งสถาบันศิลปะเบาเฮาส์
3. เหตุการณ์โลกร่วมสมัยที่ควบคู่กันไปกับการก่อกำเนิดของเบาเฮาส์
4. บุคคลสำคัญที่มีส่วนร่วมกับสถาบันศิลปะเบาเฮาส์ที่เมืองไวมาร์
5. ส่วนผสมของสถาบันศิลปะเบาเฮาส์
6. การเรียนการสอนของเบาเฮาส์
7. นักศึกษาของสถาบันเบาเฮาส์
8. หัวใจที่เดินได้ของเบาเฮาส์
9. บั้นปลายของเบาเฮาส์ในบทสรุป

1. บทนำและความเป็นมาเกี่ยวกับเบาเฮาส์ สถาบันศิลปะเบาเฮาส์หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า The Bauhaus School of Art, craft, and design ได้รับการสร้างขึ้นมาโดยสถาปนิกที่ชื่อว่า Walter Gropius ที่เมืองไวมาร์ ประเทศเยอรมันนี ในปี ค.ศ. 1919 สำหรับคำว่า เบาเฮาส์ (building house)นั้น เป็นการสะท้อนถึงต้นตอกำเนิดในความคิดแบบสังคมนิยมที่เกี่ยวพันกับขบวนการเคลื่อนไหวทางด้านงานศิลปะและงานฝีมือ ซึ่งไม่ใช่อย่างเดียวกันกับความพยายามในช่วงต้นๆในการรื้อฟื้นพลังเกี่ยวกับผลิตผลทางงานฝีมือขึ้นมาใหม่ แต่อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุด โปรแกรมต่างๆของเบาเฮาส์ได้เข้าไปอยู่ภายใต้วงแขนของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม

ส่วนหนึ่งนั้นสำหรับสถาบันศิลปะแห่งนี้ เป็นมรดกตกทอดของความเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดของ Gropius กับ Deutscher Werkbund อันเป็นสมาคมเกี่ยวกับศิลปินและช่างฝีมือเยอรมันที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี 1907 เพื่อสนับสนุนและให้การยอมรับในเรื่องของผลผลิตมวลรวมของระบบอุตสาหกรรม. Gropius และศิลปินคนอื่นๆร่วมกับ เบาเฮาส์ ได้เป็นสมาชิกขององค์กรที่ชื่อว่า Novembergruppe ซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายซ้ายที่ตั้งขึ้นมาในปี 1918 (และได้สลายตัวไปในปี 1924) เพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดระหว่างสาธารณชนกับศิลปินหัวก้าวหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งกระทำโดยผ่านการสร้างสรรค์ของ the Arbeitsrat fur Kunst (Workers' Councils for Art - สภาศิลปะของคนงาน)ในปี 1919

2. เมื่อแรกก่อตั้งสถาบันศิลปะเบาเฮาส์
ในหนังสือเรื่อง Art of Our Century : The Story of Western Art 1900 to the Present ภายใต้การกำกับของ Jean-Louis Ferrier ซึ่งมีความยาวกว่า 895 หน้า เป็นหนังสือที่มีชื่อเสียงเล่มหนึ่งให้ข้อมูลคร่าวๆแต่ครอบคลุมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของวงการศิลปะตะวันตก นับจากปี ค.ศ.1900 มาจนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1988

ในหน้า 188 ของหนังสือเล่มดังกล่าว ซึ่งเป็นหน้าที่ขึ้นต้นปี ค.ศ.1919 ในวงการศิลปะนั้น เรื่องของสถาบันศิลปะ เบาเฮาส์ นับเป็นเรื่องแรกสุดที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาพูด โดยอยู่ภายใต้หัวข้อ Avant-Garde : The Bauhaus Wants to Invent the Future และมีข้อความพิมพ์เป็นตัวหนาดังนี้

"Walter Gropius ซึ่งเป็นสถาปนิก ได้เป็นผู้ก่อตั้งสถาบันศิลปะ Weimar Bauhaus ซึ่งเขาหวังว่าจะเป็นการปฏิวัติบรรดาสถาบันสอนศิลปะทั้งหลาย สำหรับการเรียนการสอนของสถาบันศิลปะแห่งนี้เดิมทีได้สนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงกันระหว่างทฤษฎีศิลปะกับงานศิลปะภาคปฎบัติในสตูดิโอเข้าหากัน เพื่อว่านักศึกษาแต่ละคนจะกลายเป็นผู้สร้างโบสถ์ของอนาคตขึ้นมา ... (ในช่วงปี ค.ศ.1919 นี้) ถือเป็นการสิ้นสุดลงของยุคหนึ่ง และเป็นการเริ่มต้นยุคใหม่ซึ่งได้ให้คำมั่นสัญญาถึงความหวังพอๆกับความยากลำบากที่จะต้องเผชิญในอนาคต"

ปี 1919 นั้น นับเป็นปีที่สำคัญปีหนึ่งของชาวเยอรมัน เพราะเป็นปีแรกหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 [สงครามโลกครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1914-1918] ในปีดังกล่าว บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนต่างวุ่นวายอยู่กับการจัดให้มีการประชุม เพื่อถกเถียงว่าจะมีประชาธิปไตยแบบใดกันดีในเยอรมัน ในขณะเดียวกันนั้น สถาบันศิลปะเบาเฮาส์ ได้ก่อตั้งขึ้นที่เมือง Weimar เป็นครั้งแรก

คำว่าBauhaus หากแปลเป็นภาษาอังกฤษก็คือ building house หรือ Construction Building และผู้ที่คิดคำนี้ขึ้นมาก็คือ Walter Gropius (สถาปนิก)ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งคนสำคัญและเป็นผู้อำนวยการสถาบันศิลปะ เบาเฮาส์ เป็นคนแรก เปิดดำเนินการขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 1919 ณ เมือง Weimar ประเทศเยอรมัน อันเป็นเมืองเล็กๆซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ราว 4 หมื่นคน แต่กลับเป็นจุดโฟกัสทางวัฒนธรรมที่สำคัญเพราะว่าเป็นที่ซึ่ง Gorthe และ Schiller สองนักประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่อาศัยอยู่

3. เหตุการณ์โลกร่วมสมัยที่ควบคู่กันไปกับการก่อกำเนิดของเบาเฮาส์
ในขณะที่สถาบันศิลปะเบาเฮาส์ ก่อตัวขึ้นมานั้นในปี 1919 ศิลปกรรมในโลกร่วมสมัยต่างทยอยผลิตออกมาและดำเนินไปตามภาวการณ์ของตัวมันอย่างต่อเนื่อง วงการศิลปะไม่ได้ถึงกับหยุดชะงักไปพร้อมกับหมอกควันหลังสงคราม งาน วรรณคดี ดนตรี ภาพยนตร์ และทัศนศิลป์ ที่เด่นๆยังคงเกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เช่น

ในทางวรรณคดีเยอรมัน Franz Kafka ได้ตีพิมพ์งานเขียนของเขาเรื่อง In the Penal Colony ส่วน Hermann Hesse ได้เขียนเรื่อง Demian ขึ้นมา
ในฝรั่งเศส Andre Breton ได้คิดค้นเรื่องของ Automatic Writing ขึ้น ซึ่งเป็นการประพันธ์งานวรรณกรรมแบบ Surealism นอกจากนี้เขายังสร้างนิตยสารขึ้นมาฉบับหนึ่งชื่อว่า Litterature โดยร่วมกันทำกับ Louis Aragon.
ในอังกฤษ Bertrand Russel ตีพิมพ์ผลงานเรื่อง Introduction to Mathematical Philosophy.
ในอินเดีย ระพินทรนาถ ฐากูร ได้แปลเรื่อง คีตาญชลี ออกมาในภาคภาษาอังกฤษ

ทางด้านดนตรี ในฮังการี Bela Bartok ได้แต่งเพลงให้กับการแสดง Pantomime หรือที่คนไทยเรารู้จักกันในนามของละครใบ้ ชื่อเพลงว่า Le mondain merveilleux.

ในส่วนของทัศนศิลป์นั้น กำลังมีการก่อตัวของกลุ่ม de Stijl (the Style)ขึ้นมาที่ประเทศฮอล์แลนด์

ในด้านภาพยนตร์ ที่เยอรมัน Robert Wiene เสนองาน Expressionism ต่อศิลปะในการถ่ายทำภาพยนตร์(cinematography). ส่วนในสหรัฐอเมริกา ได้มีการก่อตั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์ United Artist และดาราดาวเด่นที่เป็นขวัญใจของคนทั่วโลกที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกในเวลานั้นก็คือ ชาลี แชปลิน

พ้นไปจากวงการศิลปกรรม ในโลกร่วมสมัยก็ได้มีพัฒนาการไปตามความเปลี่ยนแปลงด้วย กล่าวคือในปี 1919 ได้เริ่มมีการเปิดให้บริการสายการบินพาณิชย์ขึ้นมาเป็นครั้งแรกในยุโรป ซึ่งบินไปมาระหว่างกรุงลอนดอนและกรุงปารีส ส่วนในทางด้านวิชาการนั้น Malinowsky นักมานุษยวิทยาชาวโปแลนด์ได้พัฒนาแนวคิด functionalism ขึ้นมา

จะเห็นได้ว่า ท่ามกลางการถือกำเนิดขึ้นมาของสถาบันศิลปะ เบาเฮาส์ ในปี 1919 โลกไม่ได้คลายไปจากเสียงอึกทึก หลังความวุ่นวายและสั่นสะเทือนของสงคราม โลกศิลปะยังคงมีลมหายใจของตัวเองอย่างต่อเนื่อง และผู้คนก็ยังคงขานรับต่อวงการศิลปะและอุตสาหกรรมวัฒนธรรมอย่างกว้างขวาง ในส่วนของการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจและงานวิชาการยังคงก้าวหน้าต่อไป

4. บุคคลสำคัญที่มีส่วนร่วมกับสถาบันศิลปะเบาเฮาส์
นับจากปี 1919 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สถาบันศิลปะเบาเฮาส์ ได้รับการก่อตัวขึ้นมาจนกระทั่งสถาบันแห่งนี้สิ้นสุดลงในปี 1933 นั้น มีผู้อำนวยการสถาบันแห่งนี้ที่นับว่าเป็นคนสำคัญที่ได้ทำงานต่อเนื่องกันมา 3 คน ได้แก่ Walter Gropius(เป็นผู้อำนวยการตั้งแต่ปี 1919), Ludwig Mies van der Rohe(เป็นผู้อำนวยการตั้งแต่ปี 1928) และ Hannes Meyer (เป็นผู้อำนวยการตั้งแต่ปี 1930)

ในส่วนของ Walter Gropius ซึ่งเป็นผู้อำนวยการคนแรกของสถาบันแห่งนี้ เขาเป็นสถาปนิกที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงมาแล้วตั้งแต่อายุเพียง 36 ปี ความหวังของเขาเกี่ยวกับการก่อตั้งสถาบันสอนศิลปะแห่งนี้ขึ้นมาก็เพื่อที่จะปฏิวัติโรงเรียนศิลปะให้เป็นแบบสหศึกษา คือมีการสอนทั้งทางด้านสถาปัตยกรรม ออกแบบตกแต่ง ออกแบบผลิตภัณฑ์ ออกแบบโฆษณา งานเซอรามิค งานถักทอเส้นใย รวมไปถึงจิตรกรรม ประติมากรรม และการละคร ฯลฯ เขาหวังจะหวนกลับไปสู่อุดมคติต่างๆของผู้สร้างโบสถ์ในสมัยกลาง(the ideals of the builder of cathedrals in the Middle ages) เพื่อสถาปนาชุมชนคนทำงานศิลปะขึ้นมา แต่เป็นเป็นที่น่าจับตาว่า งานศิลปะในแขนงต่างๆที่กล่าวถึงนี้ ล้วนถูกห่อรวมอยู่ในโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมทั้งสิ้น

นอกจากผู้อำนวยการทั้ง 3 คนแล้ว ยังมีผู้ร่วมสอนคนสำคัญของสถาบัน เบาเฮาส์ แห่งนี้อีกหลายคน ซึ่งล้วนแต่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีผลงานซึ่งได้รับการสืบทอดนำเอาตำรับตำราของคนเหล่านี้มาใช้สอนนักศึกษาศิลปะไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งประเทศไทย อย่างเช่น

Johannes Itten (ชาวสวิสส์) และ Josef Albers (จิตรกรอเมริกัน เกิดในเยอรมัน) ผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเรื่องของทฤษฎีสี การค้นคว้าเกี่ยวกับเรื่องสี จนกระทั่งเขียนขึ้นมาเป็นตำราของเขาได้รับการนำมาแปลถ่ายทอดในหลายภาษา และนำไปใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรมและงานออกแบบทั่วไป รวมไปถึงงานออกแบบอุตสาหกรรมศิลป์

ส่วนจิตรกรคนสำคัญ ซึ่งได้ร่วมสอนอยู่กับสถาบันศิลปะ เบาเฮาส์ และเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการศิลปะจนกระทั่งทุกวันนี้ ซึ่งปัจจุบันนักศึกษาศิลปะยังคงต้องศึกษาผลงานของพวกเขาอยู่ อย่างเช่น Paul Klee(จิตรกรชาวสวิสส์), Wassily Kandinsky(จิตรกรชาวรัสเซีย), Lyonel Feininger(จิตรกรชาวอเมริกัน), และ Loszlo Moholy Nagy (จิตรกรชาวฮังกาเรียน) เป็นต้น

ที่น่าสังเกตุก็คือ จิตรกรเหล่านี้ภายใต้ร่มธงของสถาบันสอนศิลปะเบาเฮาว์ ล้วนทำงานออกมาในรูปโครงสร้างมีลักษณะเรขาคณิต ที่มีความละม้ายคล้ายคลึงกับงานโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม ซึ่งอยู่ภายใต้การอำนวยการของสถาปนิกทั้ง 3 คน แต่ภายหลังจิตรกรเหล่านี้ด้แยกตัวออกจากสถาบันเบาเฮาส์แล้ว พวกเขาแต่ละคนกลับมีสไตล์ผลงานจิตรกรรมที่เป็นของตัวเองอย่างเด่นชัด และเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก อย่างเช่น ผลงานจิตรกรรมของ Paul Klee และ Kandinsky โดยเฉพาะจิตรกรคนหลัง ผลงานของเขาเป็นที่น่าประทับใจและเป็นส่วนหนึ่งของที่มาในสไตล์ผลงานจิตรกรรมแบบ Abstract Expressionism

5. ส่วนผสมของสถาบันศิลปะเบาเฮาส์
ก่อนการก่อตั้งสถาบันศิลปะเบาเฮาส์มีโรงเรียนที่สอนทางด้านศิลปะอยู่แล้ว ซึ่งบางโรงเรียนก็เน้นไปในเรื่องของพาณิชยศิลป์ ส่วนบางโรงเรียนก็เน้นไปในด้านงานวิจิตรศิลป์โดยตรง สำหรับสถาบันศิลปะเบาเฮาส์นั้น เป็นการรวมกันระหว่าง The School of Art and Trade กับ The School of Plastic Arts ซึ่งโรงเรียนแรกเน้นเรื่องศิลปะไปรับใช้เรื่องทางการค้า ส่วนโรงเรียนหลังมีการเรียนการสอนทางด้านศิลปะตามขนบประเพณี เป็นสถาบันวิชาการทางศิลปะ แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับอาจารย์ผู้สอนศิลปะโรงเรียนหลังนี้กล่าวว่า พวกเขาไม่สามารถที่จะปรับตัวให้เข้ากับโปรแกรมของเบาเฮาส์ได้

6. การเรียนการสอนของเบาเฮาส์
ปรัชญาของการเรียนการสอนของเบาเฮาส์เป็นการผสมผสานระหว่างความเป็นศิลปินหรือผู้ที่มีความสามารถเกี่ยวกับเรื่องราวของรูปทรง(master of form)ให้กลับมาสนใจในงานฝีมือ ในขณะเดียวกันก็ต้องการให้คนที่มีความสามารถในงานฝีมือ(shop master)ใช้ความคิดสร้างสรรค์เช่นเดียวกับศิลปิน ฝึกฝนให้ตนเองให้เกิดความสามารถในการคิดถึงรูปทรงที่ปรากฎออกมาให้สะดุดตา

ในส่วนของข้อแตกต่างอีกข้อหนึ่งระหว่างโรงเรียนสอนศิลปะโดยทั่วไป กับสถาบันศิลปะเบาเฮาส์ที่เด่นชัดคือ สถาบันศิลปะแห่งนี้เน้นในเรื่องการสนทนาระหว่างอาจารย์ผู้สอนกับนักศึกษา การพูดคุยกันถือเป็นหัวใจสำคัญแรกสุด ทั้งนี้เพื่อจะได้ให้ครูบาอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญจากหลายสาขาและมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ได้ถ่ายทอดความรู้ของตนให้กับนักศึกษา และเพื่อให้นักศึกษาแต่ละคนได้นำเอาความรู้ของผู้สอนแต่ละท่านไปสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ของตนเอง

นอกจากนี้ การเรียนของสถาบันศิลปะเบาเฮาส์ยังเน้นในเรื่องการลงมือปฏิบัติด้วย Gropius เชื่อว่า การทำงานด้วยมือถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้นักศึกษามีคุณภาพภายในและรับรู้ถึงการใช้วัสดุอย่างแท้จริง ดังนั้น นักศึกษาศิลปะจึงไม่เพียงเป็นแค่ผู้รู้ในทางทฤษฎีเท่านั้น แต่ยังเป็นนักปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพด้วย โดยเหตุนี้ นักศึกษาของสถาบันศิลปะเบาเฮาส์จึงต้องเข้าโรงฝึกงานหรือสตูดิโอต่างๆ เช่น สตูดิโอที่เกี่ยวกับไม้, โลหะ, กระจก, สิ่งทอ, และงานเครื่องปั้นดินเผา เป็นต้น

7. นักศึกษาของสถาบันเบาเฮาส์
ดังที่เคยกล่าวเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า Walter Gropius ได้หวนกลับไปสู่อุดมคติของนักสร้างโบสถ์ในสมัยกลาง ดังนั้น เขาจึงมุ่งหวังว่า สถาบันศิลปะเบาเฮาส์จะผลิตนักศึกษาที่เป็นนักสร้างโบสถ์แห่งอนาคต(A builder of the cathedrals of future) โดยที่นักศึกษาจะเป็นผู้ที่มีความรู้ในศิลปะและเชิงช่างอย่างรอบด้าน ด้วยเหตุนี้ นักศึกษาศิลปะของเบาเฮาส์จึงไม่ได้ถูกคาดหวังให้เป็นสถาปนิกโดยตรง แต่ต้องการให้มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับศิลปะโครงสร้าง หรือที่เรียกว่า Construction Art

เบาเฮาส์ส่งเสริมให้นักศึกษาต่อต้านงานศิลปะแบบอคาเดมิค(Anti-Academic - หมายถึงการเรียนการสอนศิลปะแบบเดิมๆที่สืบทอดกันมา) และยังถือว่า การให้อิสระแก่นักศึกษาเป็นหัวใจสำคัญอันหนึ่งของสถาบัน ทั้งนี้เพราะต้องการจะปลดปล่อยนักศึกษาให้พ้นไปจากขนบประเพณีที่มาทุบทำลายความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษาให้บี้แบน ยิ่งไปกว่านั้น การให้อิสระดังกล่าวยังเล็งผลเพื่อต้องการให้นักศึกษาเป็นนักประดิษฐ์คิดค้นทางด้านรูปทรงใหม่ๆ เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงสิ่งต่างๆในสังคมร่วมสมัย

แม้ว่าสถาบันเบาเฮาส์จะมุ่งให้มีการเรียนการสอนในแนวก้าวหน้า ให้อิสระภาพอย่างเต็มที่ และมีความมุ่งหวังต่อการพัฒนาสังคม แต่ความคิดที่ก้าวหน้า ไม่ยึดติดกับขนบประเพณี และมีอิสระเช่นนี้กลับได้รับการตอบรับจากสังคมอย่างเชื่องช้า และได้ส่งผลกระทบย้อนกลับมาในท้ายที่สุด

8. หัวใจที่เดินได้ของเบาเฮาส์
(แปลจากหนังสือ Art of Our Century : The Story of Western Art 1900 to the Present)
"เป้าหมายสุดท้ายของกิจกรรมที่เป็นรูปทรงใดๆก็ตาม(Plastic activities)ก็คือ อาคารสิ่งก่อสร้าง" Gropius กล่าว และเขายังกล่าวต่อไปว่า "ในการตกแต่งมันนั้นเป็นภารกิจขั้นสูงของงานศิลปะที่มีรูปทรง(plastic art) พวกมันเป็นส่วนประกอบที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับศิลปกรรมอันยิ่งใหญ่ทางด้านสถาปัตยกรรม. อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้พวกมันปิติที่จะเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง แต่เราอาจน้อมนำพวกมันไปสู่ความร่วมมือกันท่ามกลางศิลปินนักสร้างสรรค์ทั้งหลายได้"
(หมายเหตุ : Plastic art หมายถึง ผลงานศิลปะที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ สถาปัตยกรรม ส่วน Non-plastic art หมายถึงผลงานทางด้าน วรรณกรรม ดนตรี บทกวี เป็นต้น)

"สถาปนิก จิตรกร ประติมากร จะต้องเรียนรู้ใหม่อีกครั้งเพื่อจะมีความรู้และเข้าใจรูปทรงอันสลับซับซ้อนของโครงสร้าง ในฐานะที่เป็นทั้งหมดและในองค์ประกอบของมัน: และเมื่อมีการเรียนรู้เช่นนี้แล้ว ผลงานต่างๆของพวกเขาก็จะได้รับการบรรจุเข้าไปอยู่กับจิตวิญญานทางสถาปัตยกรรม ซึ่งพวกมันได้สูญหายไปกับงานศิลปะในห้องวาดเส้น

โรงเรียนศิลปะเก่าๆไม่อาจบรรลุถึงเอกภาพอันนี้ได้ และไม่รู้ว่าจะทำมันขึ้นมาได้อย่างไร - โรงเรียนศิลปะเหล่านี้คิดว่า ศิลปะเป็นสิ่งไม่อาจที่จะสอนกันได้. พวกเขาจะต้องกลับไปเข้าโรงฝึกงานต่างๆอีกครั้ง. จักรวาลของนักร่างแบบและคนเหล่านั้นผู้ซึ่งทำงานอยู่ในสายงานประยุกต์ศิลป์ทั้งหลาย จักรวาลที่คนๆหนึ่งจำกัดตัวเองอยู่ในห้องวาดเส้นและห้องทำงานจิตรกรรม ในท้ายที่สุดจะต้องค้นพบจักรวาลของอาคารสิ่งก่อสร้างอีกครั้ง. เมื่อคนหนุ่มสาวซึ่งรู้สึกถึงความต้องการความคิดสร้างสรรค์ที่เป็นรูปธรรม อันดับแรก พวกเขาจะต้องเรียนรู้เรื่องของธุรกิจ, เช่นเดียวกับวันเวลาเก่าๆ ต่อจากนั้น ศิลปินที่หย่อนประสิทธิภาพจะไม่ชะตาขาดกับงานที่ทำไม่เสร็จอีกต่อไป สำหรับเขาหรือเธอจะมีธุรกิจอันหนึ่ง ผนวกกับความสามารถอันหนึ่ง ที่เป็นความเหนือกว่าบางอย่าง

สถาปนิก ประติมากร จิตรกร ทั้งหมด เราต้องหวนกลับไปสู่งานที่ทำด้วยมือ ไม่มีพื้นฐานที่แตกต่างกันระหว่างศิลปินและช่างฝีมือ. ศิลปินเป็นเพียงช่างฝีมือที่ยกระดับขึ้นมาเท่านั้น ขอบคุณสวรรค์ ช่วงระหว่างชั่วขณะที่หาได้ยากเต็มทีของแสงสว่างที่พ้นไปจากการควบคุม ศิลปะได้เฟื่องฟูขึ้น เขาจะสร้างสรรค์งานที่ทำขึ้นมาจากมืออย่างไร้สำนึก และความรู้เกี่ยวกับพื้นฐานงานของเขาเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งอันจะขาดเสียมิได้ ไม่ว่าจะเป็นศิลปินคนใด นี่คือต้นตอแห่งผลิตผลในเชิงสร้างสรรค์ทั้งหมด

ด้วยเหตุนี้ ขอให้เราได้สร้างการรวมตัวกันใหม่อีกครั้งของบรรดาช่างฝีมือทั้งหลาย ซึ่งเป็นอิสระจากความหยิ่งจองหองที่น้อมนำไปสู่การแบ่งแยกทางชนชั้นระหว่างช่างฝีมือและศิลปิน ขอให้มีเจตจำนงที่จะทำมัน ขอให้คิดนึกและบรรลุร่วมกันในสิ่งก่อสร้างของอนาคตที่จะรวมเอาทุกสิ่งทุกอย่าง : สถาปัตยกรรม ประติมากรรม และงานจิตรกรรม ลงในสิ่งก่อสร้าง และในวันหนึ่งนั้น เราจะลอยขึ้นสู่สวรรค์ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งแสงสว่างของศรัทธาใหม่"
Walter Gropius / The เบาเฮาส์ Manifesto (excerpt)

9. บั้นปลายของเบาเฮาส์ในบทสรุป
แม้ว่าสถาบันศิลปะเบาเฮาส์จะมีปรัชญาการสอนที่ล้ำหน้ามากในช่วงนั้น นับจากแนวคิดของผู้ก่อตั้ง ผู้ร่วมงาน และการให้อิสระแก่นักศึกษา แต่สถาบันแห่งนี้ภายหลัง กลับต้องยุติบทบาทลงในประเทศเยอรมันนี ทั้งนี้เนื่องมาจากเหตุการณ์ทางการเมืองภายในในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเต็มไปด้วยความขัดแย้งระหว่างความคิดเก่ากับความคิดใหม่ รัฐบาลและประชาชนทั่วไปยังมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม แต่เบาเฮาส์มีแนวโน้มไปทางสังคมนิยม เมื่อความขัดแย้งสั่งสมเพิ่มมากขึ้น จึงได้มีการบีบบังคับให้ Gropius ลาออกและปิดสถาบันศิลปะเบาเฮาส์ที่เมืองไวมาร์ลงในปี 1924

แต่ข่าวการปิดสถาบันแห่งนี้ กลับได้รับการตอบรับในลักษณะที่ยินดีจากเมืองสำคัญๆในเยอรมัน เช่น ฟรังค์ฟูร์ต, ฮาเกน, ดามสตัดต์ และเดลซา ซึ่งต่างสนใจที่จะนำสถาบันเบาเฮาส์มาสร้างในเมืองของตน นายกเทศมนตรีของเมืองเดลซาประสบความสำเร็จในเจตจำนงนี้ และได้เปิดสถาบันศิลปะเบาเฮาส์ขึ้น จนกระทั่งปี 1928 Gropius ได้ขอลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการ และต้องแต่งตั้งคนอื่นดูแลแทน

ในช่วงทศวรรษที่ 1930s พรรคนาซีเยอรมันประสบชัยชนะทางการเมืองได้เป็นผู้ปกครองแอนฮอล์ท เบาเฮาส์ต้องย้ายไปอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน และได้ถูกปิดลงอย่างเด็ดขาดในเดือนเมษายน ปี 1933 (อันเป็นเดือนเดียวกันกับการก่อตั้งขึ้นมา) ซึ่งเป็นกาลอวสานของสถาบันแห่งนี้ในเยอรมัน สำหรับอาคารเรียนที่เมืองเดลซาได้ถูกพรรคนาซียึดไปเป็นที่อบรมทางการเมืองระดับหัวหน้าพรรค

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเบาเฮาส์จะถูกปิดตัวลงในเยอรมันนี แต่บทเรียนและวิธีการสอนกลับขยายออกไปมีอิทธิพลต่อโรงเรียนสอนศิลปะทั่วโลก สถาบันสอนศิลปะหลายแห่งในยุโรปและอเมริกาได้รับเอาไปปรับปรุงใช้กับสถาบันของตนเอง. Moholy Nagy ได้ไปก่อตั้ง The New เบาเฮาส์ (ซึ่งปัจจุบันคือ The Institute of Design of the Illinois Institute of Technology) ในชิคาโก นอกจากนี้ ทฤษฎีของเบาเฮาส์ยังได้ถูกนำไปใช้ในสถาบันที่มีชื่อเสียงอีกหลายแห่ง เช่นที่ ฮาร์วาร์ดในบอสตัน นิวยอร์ค และพยานหลักฐานเหล่านี้ ทำให้เบาเฮาส์ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้บุกเบิกสถาบันสอนศิลปะสมัยใหม่แห่งศตวรรษ

หนังสืออ้างอิง
1. Art Spoke เขียนโดย Robert Atkins
2. เบาเฮาส์ เรียบเรียงโดย Jeannine Fiedler และ Peter Feierabend
3. Art of Our Century : The Story of Western Art 1900 to the Present ภายใต้การกำกับของ Jean-Louis Ferrier แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย Walter D. Glanze
4. The Random House Encyclopedia
5. ศิลปะสมัยใหม่ โดย กำจร สุนพงษ์ศรี

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

แผนภาพหลักสูตรการเรียนการสอน
ของสถาบันสอนศิลปะเบาเฮาส์
ซึ่งออกแบบขึ้นมาโดย Walter Gropius

Walter Gropius, Diagrammatic
presentation of the Bauhaus Syllabus
ภาพข้างล่างนี้คือตัวอย่างผลงานศิลปะของ
Wassily Kandinsky ชื่อภาพ Swinging
1925 เทคนิคสีน้ำมันบนไม้กระดาน
เก็บรักษาอยู่ที่ Tate Gallery, London
บทความนี้ยาวประมาณ 7 หน้ากระดาษ A4
หากนักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจท่านใด มีการสำเนาไปใช้ประโยชน์ กรุณาแจ้งให้ทราบที่ midnightuniv(at)yahoo.com