ประเด็นของนิทเช่อยู่ตรงที่ว่า ใน text เก่าๆนั้น มันเป็นไปไม่ได้ที่จะไปหาต้นฉบับ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่ามันใช่. ยกตัวอย่างเช่น เพลโตที่พูดถึงโสกราตีส คนที่เคยอ่านเพลโตจะพบว่า มีโสกราตีส อย่างน้อย 2 คน. คนแรกก็คือช่วงเวลาที่โสกราตีสยังมีชีวิตอยู่ ปรากฏว่าโสกราตีสที่มีชีวิตอยู่เขามีวิธีการอย่างไรครับ ? ก็คือเขาไปตั้งคำถามกับผู้อื่น ถามว่าอันนี้แปลว่าอะไร นี่แปลว่าอะไร ถามอย่างเดียว.

พอโสกราตีสเสียชีวิตแล้ว เพลโตเขียนถึงโสกราตีสอีกแบบหนึ่ง ตอนนี้กลายเป็นผู้สอนความดี(virtue) อันนี้เป็นคนละคนเลยนะครับ. คนแรกไม่ยอมสอนอะไรทั้งสิ้น มีลักษณะ sophist มากเลย ส่วนคนที่สองสอนทฤษฎีความรัก ทฤษฎีความรู้ อะไรต่างๆ. ทีนี้เรามาตั้งคำถามว่า โสกราตีสคนไหนคือตัวแท้จริง ก็มีเพลโตเพียงผู้เดียวนะครับที่พูดถึงโสกราตีสอย่างละเอียด

นิทเช่ : ในฐานะรากฐานแนวคิดปรัชญาหลังสมัยใหม่ / บทความถอดเทปมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ร่วมกับ กระบวนวิชาปรัชญาศิลป์ วจศ. มช.
201044
release date
PHI
H
home
บรรยายโดย
Hans Decrop
ภาควิชาปรัชญาศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มช.
CP
MP
WB
contents P.
member P.
webboard
Friedrich Nietzsche exerted a powerful influence on European writers and thinkers of the 20th Century
ภาพประกอบจาก Encyclopedia Americana เล่มที่ 20 /Deluxe home edition / Navajo-Opium / น. 327
หากประสบปัญหา ภาพและตัวหนังสือ ซ้อนกัน กรุณาลดขนาด font ลงมา
PAGE2
Hans Decrop
บริการ การศึกษาทางไกลฟรี ผ่าน website มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เพื่อนักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น
The Pedestal of Postmodern Thinking

บทความทางปรัชญาหลังสมัยใหม่ / ประจำเดือน ตุลาคม 2544 / ความยาวประมาณ 27 หน้ากระดาษ A4 / ไม่สงวนลิขสิทธิ์สำหรับการนำไปใช้ประโยชน์ทางการศึกษา

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิกที่ปุ่ม member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ปุ่ม contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
(midnightuniv(at)yahoo.com)

ปรากฎว่างานเขียนของนิทเช่ได้รับการคัดเลือก โดยตัดเอาข้อความบางส่วนมารวมเป็นหนังสือเล่มเล็กเล่มหนึ่ง หนาประมาณ เพียง 20 กว่าหน้า เพื่อแจกให้กับทหารที่ไปรบในสงคราม ทหารที่รู้สึกเบื่อหน่าย ท้อแท้ และอยากกลับบ้าน เมื่อควักหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาอ่านแล้วจะได้เกิดความรู้สึกดีขึ้น. หนังสือที่กล่าวถึงนี้ เป็นการตัดคำด่าของนิทเช่ ซึ่งสไตล์การเขียนหนังสือของเขามันเป็นลักษณะของคำด่า ซึ่งได้ถูกนำมาตัดต่อเข้าด้วยกัน อันนี้ไม่นับว่าใช่งานของนิทเช่จริงๆ. ตอนหลังนิทเช่ล่วงรู้เกี่ยวกับการกระทำเช่นนี้.

สังเกตนะครับ propaganda ของ Nazism จะมี Nietzsche มากพอสมควร เช่น The Will to Power มันค่อนข้างจะตรงกับสิ่งที่ Nazi พูด แต่พอหลังๆแล้วไม่มีการพูดถึงเลย อันนี้คงสังเกตเห็นว่านิทเช่ anti เยอรมันมากพอสมควร. คือหมายความว่า ฮิตเลอร์ไม่ได้รู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับนิทเช่ ฮิตเลอร์ไม่ได้อ่านนิทเช่เสียด้วยซ้ำ เพราะว่าถ้าอ่านแล้วก็คงได้รู้ว่ามันไม่สอดคล้องกัน

ผู้ฟัง : กระบวนทัศน์แบบที่ว่า concept ความรู้ในสาขาวิชาต่างๆเป็นอุปสรรคในการมองเห็น มันฟังดูแล้วเหมือนกับว่ามันจบกระบวนทัศน์อันหนึ่งแล้วก็เริ่มพื้นฐานความคิดในการมองอีกอย่างหนึ่ง อันนี้ใช่ไหมคะ ?

Hans : ผมไม่ทราบว่าคำถามถูกต้องไหม ? แต่คือว่า"กระบวนทัศน์"(paradigm)นั้น เหมือนกับว่ามันค่อนข้างจะมีอะไรที่ชัดเจนตายตัว เช่น กระบวนทัศน์ของพวก positivism อะไรทำนองนี้. แต่ถ้าหมายความว่า เขาพยายามที่จะให้กระบวนทัศน์นั้นสิ้นสุดหรือจบ อาจจะบอกได้. แต่ประเด็นหลักก็คือ เขายังไม่ได้ใช้คำว่ากระบวนทัศน์ เขาไม่ได้สร้างระบบของตัวเอง...

ผู้ฟังท่านเดิม : ไม่ใช่ว่าเขาทำขึ้นมาโดยรู้สึกตัว จากสายตาอาจารย์ คิดว่าเป็นไปในลักษณะนั้นไหมคะ ? ตามความเห็นของอาจารย์ นิทเช่ไม่ได้มีกฎเกณฑ์ ไม่ได้สร้างหรือตั้งใจที่จะสร้างอะไรขึ้นมา แต่เราจะมองได้ไหมคะว่านี่คือการจบความเชื่อพื้นฐานแบบหนึ่ง ฐานของการมองแบบหนึ่ง แล้วก็ขึ้นต้นฐานการมองแบบหนึ่ง ทำให้ทุกอย่างในโลกนี้เปลี่ยนแปลงไป

Hans : จะมองแบบนี้ก็คงได้ แต่ผมคิดว่าหัวใจของนิทเช่ จะบอกว่ามันจบอย่างหนึ่งแล้วก็เริ่มอีกอย่างหนึ่ง แล้วก็เริ่มมีการมองโลกอีกแบบหนึ่ง อันนี้ค่อนข้างจะตรงข้ามกับสิ่งที่นิทเช่พยายามที่จะทำมาตั้งแต่แรก. และอันนี้คือสาเหตุที่ผมได้พูดถึงโสกราตีสมาตั้งแต่ต้น คือ โสกราตีสไม่ต้องการสอนอะไรทั้งสิ้น เขาเพียงต้องการให้ผู้ที่พูด รู้ตัวว่าสิ่งที่พูดเป็นความเข้าใจผิด อันนี้เป็นประเด็นหลัก

ปัจจุบันนี้ นิทเช่ได้ถูกนำมาใช้ ไม่ว่าจะเป็น Foucault, Derrida และพวกนักคิด postmodern ทั้งหลาย ผมคิดว่าอันนี้ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของ Nietzsche นะครับ เพราะว่ามันกลับกลายไปเป็นทฤษฎีขึ้นมาอีกแล้ว อย่างเช่น Genealogy หรือ วงศาวิทยา แท้จริงแล้วมันไม่ใช่วิทยาแม้แต่นิดเดียว. แม้แต่ Foucault ก็รู้ตัว เขาใช้คำว่า Archeology หรือ โบราณคดี เพราะคำว่า archeology ใครๆก็รู้ว่ามันเป็นศาสตร์ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเป็นการคาดคะเน เช่นเราไปเจอวัตถุโบราณชิ้นหนึ่ง แล้วเราก็ไปสร้างทฤษฎีรอบๆวัตถุชิ้นนั้น ว่ามันมาอย่างไรเอย มันมีหน้าที่อย่างไร ? คิดว่า นิทเช่ ไม่ได้ทำอะไรขนาดนั้น

"วงศาวิทยา"ของนิทเช่ ผมคิดว่าเพื่อที่จะทำหน้าที่อย่างเดียวคือ destruct หรือทำลาย ลองดูลักษณะหรือสไตล์การเขียนของนิทเช่ เขาเป็นคนปากเสีย ชอบที่จะทำร้ายความคิดของคนอื่น. และปรากฏว่างานเขียนของเขา บางทีก็ขัดแย้งในตัวเองมากพอสมควร. ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆ เขากำลังหัวเราะเยาะเย้ยบางคนที่อ้างถึงตัวเองในความเป็นเยอรมัน ตัวเองเขาบอก มีบรรพบุรุษเป็นชาวโปลิช เป็นชนชั้นสูง เป็นบารอน อันนี้ไม่จริงนะครับ เขากำลังโกหก

สมเกียรติ ตั้งนโม : เท่าที่ผมฟังเข้าใจว่า แนวคิดของนิทเช่ ต้องการที่จะ destruct แนวคิดปรัชญาโบราณทั้งหมด ในแง่ของการ anti ทุกสิ่งก่อนหน้านั้น ทีนี้ก็คือว่า นิทเช่ยังไม่ได้เสนออะไรใหม่ และเท่าที่ฟังจะไม่ยอมเสนออะไรด้วย เพียงแต่ anti-thesis ของเดิมเพียงเท่านั้น ถูกไหมครับ ? ที่พูดอันนี้หมายความว่า นิทเช่ยังไม่ถึงกับเสนอ paradigm อะไรใหม่ แต่ว่า paradigm เดิมหรือ thesis เดิม ไม่ว่าจะเป็นกรีก สมัยกลาง มนุษยนิยม หรืออะไรก็แล้วแต่ นิทเช่ทำหน้า anti-thesis ความคิดหรือ belief ของอดีตเท่านั้นเอง เท่านี้ได้ไหม ?

ภาพประกอบที่หนึ่ง
แผนภาพของหมู่บ้านเกจารา (Kejara)
ซึ่งเป็นของชนเผ่าอินเดียนแดง
ที่กำลังจะสูญพันธุ์ ที่โคลด เลวี่-เสตราส์
ได้สร้างทฤษฎีโครงสร้างนิยมขึ้นมา
ภาพประกอบที่สอง
ผลงานภาพพิมพ์ของ Andy Warhol
ชื่อภาพ Double Elvis
ซึ่งได้แสดงให้เห็นว่า เขาเยาะเย้ย
ความเป็น original ในงานศิลปะ
นอกจากนี้เขายังให้ผู้ช่วยของเขา
เซ็นชื่อว่า Andy Warhol ด้วย
Friedrich
Nietzsche
1844-1900
The Pedestal
of Postmodern
Thinking


Midnight's
article in
October
2001

ชัชวาล ปุญปัน : ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมฮิตเลอร์จึงมาใช้ประโยชน์จากนิทเช่ เพราะตามความเข้าใจของผมก็คือ ลัทธินาซีเติบโตขึ้นมาจากอุดมคติของ Darwinism ขณะที่นิทเช่ปฏิเสธ Darwinism. แต่ขณะเดียวกันความเป็นฮิตเลอร์เกิดขึ้นมาจาก Darwinism แล้วทำไมฮิตเลอร์จึงมานิยมนิทเช่ ตรงนี้ผมยังไม่เข้าใจ กรุณาให้อาจารย์ช่วยอธิบายด้วยครับ

Hans : ความจริงผมมี vdo เกี่ยวกับเรื่องนี้ เห็นได้ชัดว่า ฮิตเลอร์ไม่รู้เรื่องปรัชญา ไม่รู้เรื่อง Darwinism เป็นคนที่ไม่รู้ว่าอาชีพจริงๆเขาคืออะไร คงเป็นนักการเมืองกระมัง เขาไปที่บ้านของนิทเช่ และการไปครั้งนั้น ค่อนข้างที่จะมีความหมายทางด้าน symbolic value นั่นคือ มีการออกทีวี. นิทเช่เป็นที่ยอมรับว่าเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ โดยทั่วไป คนเยอรมันจะภูมิใจมากในเรื่องของ Goethe หรือว่า Schiller ก็ตาม. Weimar เป็นเมืองของนักเขียนแบบนี้ คล้ายกับ Berlin. พี่สาวของนิทเช่ได้ทำอย่างไรบ้างหลังจากที่นิทเช่บ้าแล้ว ? ปรากฏว่าพี่สาวได้ไปสร้างอาคารที่เก็บผลงานของนิทเช่ จากเมืองที่เขาอยู่ ไปอยู่ที่ Weimar

ฮิตเลอร์ทุกครั้งที่เขาไปเยี่ยมเมือง Weimar เขาจะต้องไปแสดงอะไรที่มันน่าประทับใจสำหรับผู้คนเสมอเพราะเขาเป็นนักการเมือง เช่น ไปวางดอกไม้ เพื่อจะได้ออกทีวีได้. แทนที่เขาจะไปหา Goethe ฮิตเลอร์ไม่ได้ไป เพราะ Goethe ค่อนข้างจะเป็น European เป็น cosmopolitan ไม่ได้เป็นเยอรมัน มีลักษณะเป็น international. การที่จะเอา Goethe มาอธิบาย Nazism คงลำบากหน่อย. เขาก็เลยมาจับเอาที่นิทเช่

Hans : ได้. อาจารย์ใช้คำว่า anti-thesis ทำให้ผมนึกถึงว่า ก็ต้องมี thesis, antithesis, synthesis. คือหมายถึงจะต้องต่อๆกัน. ผมอาจจะตอบคำถามนี้ไปพร้อมกับคำถามเมื่อสักครู่คือ เขาบอกว่าเขามีโปรแกรม เขาตั้งใจที่จะ revalue เขาพยายามที่จะบอกให้ทุกคนรู้ตัวว่าถูกผูกมัดอยู่กับศีลธรรมเก่าแก่ เขาอยากจะให้เกิด value ใหม่ๆ. ถ้าบอกว่านี่คือทฤษฎีที่นิทเช่สอน ผมก็ไม่แน่ใจว่าจะพูดว่าเป็นทฤษฎีได้ไหม ? แต่เขาพูดหลายครั้งว่า ผมมีวัตถุประสงค์ที่จะบอกให้ทุกคนตระหนักว่า ตัวเองถูกมัดอยู่กับความรู้เก่าๆ. จะบอกว่า antithesis แล้วก็ควรจะเกิด synthesis ใหม่ว่า ให้ทุกคนเป็น overman หรือ aestheticize ตัวเอง อาจจะบอกได้. ผมชอบอ่านนิทเช่ในฐานะที่เขาเป็น destruct คือชอบทำลาย เหมือนโสกราตีส ไม่มีอะไรที่เป็นของตัวเอง มีแต่ทำให้คนอื่นหน้าแตก

สมเกียรติ : ผมขอเรียนถามอาจารย์ในอีกข้อหนึ่งในเชิงเปรียบเทียบนะครับ สิ่งที่อาจารย์พูดถึงนิทเช่ ทำให้ผมหวนไปนึกถึง Machiavelle ในสมัยเรอเนสซองค์. Machiavelle แนะให้กระทำสิ่งต่างๆเพื่อตัวเองได้ขึ้นไปสู่อำนาจ ถามว่า Nietzsche แตกต่างอย่างไรในเชิงเปรียบเทียบ ? หรือไม่มีอะไรเหมือนกันเลย เพราะว่าคนหนึ่งเป็นนักการเมือง อีกคนหนึ่งเป็นนักคิดนักเขียนในเชิงปรัชญา เป็นนัก antithesis

Hans : ผมคิดว่าเรื่องนี้บริบทเป็นสิ่งที่สำคัญมาก. Machiavelle อยู่ในต้นคริสตศตวรรษที่ 15 เป็นพวก humanism ก็คือ เป็น individualism หรือปัจเจกนิยมซึ่งเกิดขึ้นในอิตาลีที่ตรงกับสภาพการเมืองของอิตาลีในช่วงนั้น ซึ่งเป็น city state ที่มีการต่อสู้กันตลอดเวลา และในเวลาเดียวกัน การที่จะนำเอาอุดมการณ์ทางการเมืองของกรีกมาใช้ในช่วงดังกล่าวก็เป็นเรื่องลำบาก. Machiavelle ก็เลยพยายามปรับปรุงทฤษฎีเก่าๆให้มันสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอิตาลีในช่วงนั้น ดูแล้วไม่ผิดจากวันนี้มากนัก

Machiavelle พยายามสร้างระบบ ซึ่งเขาไม่เชื่อในอุดมการณ์มนุษยนิยม พยายามสร้างระบบการเมือง เขายังสอนเทคนิคการรักษาอำนาจ หมายความว่าเขายังมีทฤษฎีอยู่. นิทเช่ไม่มีอย่างนี้ นิทเช่ไม่ได้สอนให้คนใช้อำนาจอย่างเต็มที่ เปล่าเลย เขาพยายามให้ทุกคนหลุดพ้นจากการครอบงำ. คล้ายๆกับ Marx ที่พยายามสอนให้คน สงสัยความคิดตัวเองว่า อาจจะถูกล้างสมองจากพวกชนชั้นกลาง พวก ideology. นิทเช่ก็เช่นเดียวกัน มันไม่ผิดไปจากคริสตศตวรรษที่ 19 ก็เลยมีความต่างอยู่ที่ว่า Machiavelle ยังพยายามที่จะมีบทบาท เพราะตัวเองก็เป็นขุนนางอยู่ ส่วนนิทเช่ไม่ต้องการเข้ากับใครเลย ในขณะที่ Machiavelle ยังต้องการเข้ากับคนอื่นๆ

ผู้ฟัง : ทำไมนิทเช่จึงเน้นในเรื่องการต่อต้านศีลธรรม หรือเน้นให้หลุดออกไปจากกรอบของศีลธรรม

Hans : คำถามดีมากเลยครับ ซึ่งหมายความว่าตอบยาก, มี vdo จากโทรทัศน์เยอรมันที่พยายามพิสูจน์อะไรบางอย่าง อย่างเช่น งานเขียนของเขา anti พระเจ้าตลอด เรียกว่า philosophy with a hammer คือเขาจะทำร้ายศาสนาคริสต์ให้ได้. มีคนมาตีความว่าเกิดจากการที่พ่อของนิทเช่เคยเป็นบาทหลวงในหมู่บ้านเล็กๆในเยอรมัน ซึ่งได้ถึงแก่กรรมลงตั้งแต่เขายังเด็ก. ตั้งแต่วันนั้น นิทเช่รู้สึกผิดหวังกับศาสนาคริสต์ แต่ผมว่าอันนี้มันผิดไปจากทฤษฎีของนิทเช่. นิทเช่บอกว่า อย่า! มันเป็นแค่การตีความ ผมเข้าใจนิทเช่ว่าอย่างนี้นะครับว่าเป็นการตีความ. บางครั้งเราอยู่ในที่ไนสักแห่งหนึ่ง แล้วคนเขามีความคิดอย่างนี้ แต่เรามีความคิดที่ไม่เหมือนกับเขา แล้วเราไม่กล้าทำสิ่งที่เราคิด.

ผมขอยกตัวอย่างตอนที่ผมเรียนปรัชญาที่เบลเยี่ยม นักปรัชญาที่นั่นเขาจะแต่งตัวแบบ ไม่รู้ว่าจะพูดอย่างไร ? คือ ไว้ผมยาว ทาลิปสติก คือแต่งตัวบ้าๆหน่อยถึงจะเรียกว่าดี อันนี้ไม่มีใครว่า ไม่มีใครมาบังคับ แต่ว่ามันมีกฎที่เห็นชัดๆเลยว่าจะต้องทำตัวอย่างนี้ แต่ผมจำตัวเองได้ว่าในช่วงเวลานั้นผมเข้ากับเขาไม่ได้ ผมแต่งตัวแบบนี้ มันค่อนข้างจะเรียบร้อยนะครับในสายตาของเขา

ผมอาจจะมองนิทเช่ในแง่นี้ มันมีแรงกดดัน, public opinion, วิธีการแต่งกาย, วิธีการคิด, ซึ่งมันไม่ต้องอยู่ในศตวรรษที่ 19 มันมีอย่างนี้ตลอดเวลา. ยิ่งสังคมไทย มีกฎเกณฑ์ต่างๆ แม้แต่เรื่องภาษามันบังคับให้เราเลือกใช้คำพูดวิธีใดวิธีหนึ่ง อยู่กับผู้ใหญ่ต้องใช้คำแบบนี้ วิธีการแต่งกาย วิธีการพูด วิธีการทานอาหาร อะไรต่างๆ ซึ่งยากที่จะหลีกกฎแบบนี้. ผมก็เลยเข้าใจนิทเช่จากแง่นี้ เขาพยายามที่จะหลุดออกจากกรอบ ซึ่งมันยากมาก

การไปทำตามในสิ่งที่นิทเช่พูดนั้น จะทำให้เกิดปัญหาเพราะว่าจะเข้ากับคนอื่นไม่ได้ เราอย่าไปเข้าใจว่าต้องต่อต้านตลอดเวลา เพียงแต่ให้รู้ตัวว่า เราถูกล้างสมองหรือเปล่า, เราถูกครอบงำหรือเปล่า ? สำหรับนิทเช่แล้ว เขาเชื่อว่าเป็นไปได้ที่เราจะหลุดจากกรอบ แต่ปัจจุบันนี้ Foucault ได้พิสูจน์แล้วว่าแทบเป็นไปไม่ได้. Foucault มาบอกว่า หน้าที่ของ intellectual ไม่ใช่ว่าจะต้องต่อต้านทุกสิ่งทุกอย่าง แค่รู้ตัวว่าตัวเองถูกบังคับ ถูกตั้ง identity (สร้างอัตลักษณ์) แค่รู้ก็พอแล้ว เพราะมันลึกซึ้งมาก มากกว่านี้คาดหวังไม่ได้

ผมขอมาพูดถึงงานเขียนหนังสือของเขา เท่าที่ผมอ่านมาพอสรุปได้ว่า เขาเป็นคนที่ชอบกวีมาก สุนทรียภาพที่มีอยู่ในกวี ขอให้เราลองไปอ่านต้นฉบับ Thus spoke Zarathustra อ่านครั้งแรกจะรู้สึกงงมากเลย พออ่านครั้งที่สองจะรู้สึกว่างานเขียนชิ้นนี้ไม่ธรรมดา เขาตั้งใจมากที่จะให้มันมีลีลาเป็น rhetoric อาจจะกล่าวได้ว่า นิทเช่ยังยึดติดกับการเขียนที่เน้นในเรื่องของ beauty ดั้งเดิม. เท่าที่เห็นนะครับ เขาไม่นำเสนอทฤษฎีอะไรทั้งสิ้น เขาไม่มุ่งมั่นอะไรทั้งสิ้น นอกจากปฏิเสธ เพื่อที่จะอยู่รอดเท่าที่จะเป็นไปได้

เท่าที่ได้ทราบจากอาจารย์สมเกียรติ ที่บอกว่า หนังสือของนิทเช่ในภาคภาษาไทยมีน้อยมาก แต่ผมได้ข่าวว่ามีหนังสือ Zarathustra ที่เพิ่งแปลใหม่อีกเวอร์ชั่นหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ได้ข่าวว่าค่อนข้างจะดี. ส่วนเรื่อง"อภิมนุษย์"รู้สึกว่าเป็นการตัดต่อจาก Zarathustra และเป็นการตีความของอาจารย์กรีติ บุญเจือ ซึ่งท่านสอนปรัชญา และเป็นบาทหลวง. อันนี้ผมไม่ได้ว่านะครับ แต่ว่าอาจจะมีการตัดต่อเพื่อพิสูจน์อะไรบางอย่าง ก็เลยแนะนำให้ไปอ่านต้นฉบับ. การอ่านงานปรัชญา อย่าตะลุยอ่านให้มันจบๆภายในอาทิตย์สองอาทิตย์ บางทีไม่จำเป็น. เราอาจจะเปิดอ่านดูประมาณครั้งละ 4-5 บรรทัด แล้วนำมาคิด. งานของนิทเช่ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งนี่คือลักษณะงานเขียนของเขา

ผมเองอยากแนะนำให้พวกเราลองไปอ่านหนังสือเล่มสุดท้ายของเขา คือเรื่อง Ecce Homo สำหรับคำนี้เป็นคำพูดคำสุดท้ายในระหว่างที่พระองค์ทรงถูกตรึงกางเขน. นิทเช่เปรียบเทียบตัวเองกับพระเยซูมาตลอด งานชิ้นนี้เป็นอัตชีวประวัติ จะสังเกตว่าเขาเยาะเย้ยผู้อ่านตลอดเวลา ยกตัวอย่างเช่น บทที่สองที่ว่า Why am I so clever ? บทที่สาม Why am I a genius ? ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกไม่ค่อยอยากอ่านเสียเท่าไหร่. หนังสือเล่มสุดท้ายนี้ เขาจะพูดถึงหนังสือที่เขาได้เขียนขึ้นมาทั้งหมด เหมือนกับว่าเขารู้ดีว่ากำลังจะเกิดอะไรขึ้น เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาในปี 1888 เป็นเวลา 1 ปีก่อนที่เขาจะเสียสติ

เหตุผลที่ว่า ทำไมเขาจึงเสียสติ มีคนอธิบายว่า พ่อของเขาเป็นโรคทางสมอง และเขาได้รับการติดต่อมาจากพ่อ บางคนบอกว่านิทเช่ไปเที่ยวผู้หญิงในช่วงที่เขาเป็นวัยรุ่น แล้วก็ติดซิฟิลิส. มีอยู่เรื่องหนึ่งที่แปลกมาก คือคนที่ไม่สบายในช่วงนั้นเขามักจะไปเที่ยวสวิสเซอร์แลนด์สักสองเดือน ไปอยู่ในเขตพื้นที่ภูมิศาสตร์ที่สูงๆหน่อย เพื่อไปสูดบรรยากาศที่สะอาด, หรือในฤดูหนาวก็จะไปเที่ยวอิตาลี.

ผลงานชิ้นเยี่ยมในขั้นอัจฉริยะของนิทเช่ เช่นเรื่อง Zarathustra เขาเขียนขึ้นในช่วงที่ไม่สบายมากๆ เขาปวดหัวหนักมากเลย เขาชอบบอกว่า ยิ่งป่วยยิ่งอัจฉริยะ ถ้าเราไปอ่านงานที่เขาเขียนเอง เราจะพบลีลามากกว่านี้ และจะทำให้เราเข้าใจ

ที่มีคนถามว่าเรื่องของ Genealogy หรือ "วงศาวิทยา" (ผู้ถามไม่ได้ใช้ไมโครโฟน จึงไม่ได้บันทึกคำถาม) ผมขอตอบดังนี้. "วงศาวิทยา"เป็นศาสตร์ในสาขาประวัติศาสตร์ คือเป็นการศึกษาที่มาของตระกูล อย่างเช่น ครอบครัว"เศวตศิลา"มาจากใคร, แต่งงานกับใคร, คือปรากฎจะเห็นชัดๆว่า ตระกูล"เศวตศิลา"ที่แท้จริงนั้นอยู่ตรงไหน พูดไม่ได้นะครับ เพราะแต่งงานกับคนนี้ ผสมกับตระกูลนั้น นี่คือลักษณะ Genealogy คือ แทนที่จะไปหาต้นตอว่าตระกูลเศวตศิลาเกิดขึ้นที่ไหน ? เมื่อไหร่ ? อันนี้จะไปดูกระบวนการ หรือวิวัฒนาการความเป็นมาของตระกูลเศวตศิลา คือหมายความว่าสายตระกูล หรือ concept เศวตศิลาไม่ได้เป็นสายบริสุทธิ์ มันจะมีการผสมผสาน ที่มามันมีการผจญภัย อันนี้ค่อนข้างจะสำคัญ เพราะว่าในประวัติศาสตร์ เราจะเห็นว่าเราต้องการ concept ที่ชัดเจน

เช่น เลือดเยอรมันที่สะอาดบริสุทธิ์ อย่างพวกนาซี หรือว่า"ความเป็นไทย" คือเราไปสร้าง"อัตลักษณ์"กับความเป็นไทยในอดีต แท้จริงแล้วมันไม่มี. ถ้าเราถามว่าความเป็นไทยคืออะไรแน่ เช่น ยกมือไหว้ใช่ไหม, หรือว่าการร่ายรำ, แม้กระทั่งภาษาไทย มันมาจากที่อื่นหมดเลย. ซึ่ง concept เหล่านี้ เราใช้กันอยู่ทุกวัน ทำให้คนบางคนรู้สึกไฟแรง หึกเหิม สู้เพื่อชาติ แต่แท้จริงแล้ว ความเป็นไทย หรือตระกูลเศวตศิลานั้น ไม่มี.

Foucault พยายามต่อต้านนักประวัติศาสตร์ Annles School ของ Fernand Braudel. คือโดยทั่วไปประวัติศาสตร์พยายามจะอธิบายเหตุการณ์จากบริบท จากสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นตลอดมา เช่น ทำไมพวก Humanism จึงเกิดขึ้นในอิตาลี ก็เพราะว่า อิตาลีเป็นศูนย์กลางทางการค้า ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 13-14 อันนี้เป็นคำอธิบายเพราะว่ามันมี commerce. Foucault บอกว่าระวัง เราไม่มีความรู้เพียงพอที่จะทำเช่นนั้น เขาบอกว่าการมองแบบนี้มันเรียบร้อยมากเกินไป แล้วโอกาสที่จะเกิดความผิดพลาดมีมาก เขาจึงใช้วิธีการ"วงศาวิทยา"

ผมขอยกตัวอย่างในคริสตศตวรรษที่ 16 เป็นตัวอย่างของงานจิตรกรรม เป็นงาน painting ของ Verlazques, เขาไปดู Decartes ในปรัชญา, และไปดูวรรณคดีในช่วงนั้น และเขาสังเกตว่ามันเกิด Subject (อัตบุคคล)ขึ้นมา มีการมองมนุษย์เหมือนกันในทุกสาขาวิชา อันนี้เกิดขึ้นมาอย่างไร ? ไม่ทราบ. ทำไมถึงเป็นอย่างนี้ ? ไม่รู้. แค่เปิดหนังสือดู ไปค้นดูในหนังสือเก่าๆ. โบราณคดี, วงศาวิทยา เป็นวิธีการของ Foucault.

ส่วนที่ถามเรื่อง"วัตถุวิสัย" หรือ objectivity (ผู้ถามไม่ได้ใช้ไมโครโฟน จึงไม่ได้บันทึกคำถาม) อันนี้ตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 19 คือได้เกิดมีการถกเถียงเกิดขึ้นระหว่าง natural science กับ human science ที่เกิดขึ้นในคริสตศตวรรษที่ 19 เฉพาะในประเทศเยอรมัน. คือหมายความว่า วิทยาศาสตร์ควรจะมีวิธีการศึกษาแบบไหน ? ลักษณะเด่นของ modern science ก็คือ วัตถุวิสัย, อย่างเช่น ถ้าผมทดลองเรื่องอะไร ผลออกมาอย่างไร, ไม่ว่าใครก็ตามที่ทำการทดลองในแบบเดียวกันนี้กับผม ผลออกมาก็ต้องเหมือนกัน. คือมันมีความเกี่ยวข้องกับตัวผมน้อยที่สุด เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครก็ตามที่ศึกษาแบบนี้ ทดลองแบบนี้ก็จะมีผลออกมาเหมือนกัน เพราะไม่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคล อันนี้เรียกว่า"วัตถุวิสัย". ผู้ศึกษาจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ถูกศึกษาไม่ได้, มันเป็น fact ไม่ใช่ value นี่คือลักษณะของวัตถุวิสัย.

นิทเช่ มาบอกว่ามันเป็นอุดมการณ์ที่มันปฏิบัติตามไม่ได้. เมื่อช่วงคริสตศตวรรษที่ 19 ความคิดแบบนี้ไม่ได้เป็นที่ยอมรับนะครับ ผมขอเอ่ยชื่อ Thomas Kuhn ซึ่งเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง The Structure of Scientific Revolution ปัจจุบันเขามาพิสูจน์ว่า ผมขอยกตัวอย่างง่ายๆนะครับ เรามักจะคิดถึงนักวิทยาศาสตร์ผู้ทำวิจัย ว่าเป็นผู้ที่มีความคิดริเริ่ม เรียกว่าเป็นอัจฉริยะเล็กน้อย มีความเป็นปัจเจก ไม่มีใครมารบกวน. แต่โดยแท้จริง ถ้าไปดูแล้ว กระบวนการวิจัยในปัจจุบันนี้ มีเรื่องของ value เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ตลอดเวลา เช่น ยกตัวอย่างงานวิจัยใหญ่ๆ อย่างเรื่อง cloning เอย หรือ การผลิตพันธุ์ข้าวที่ปราศจากศัตรูรบกวน ความจริงแล้วมันมีบริษัทใหญ่ๆที่ให้ทุนในการทำวิจัย.

อันนี้หมายความว่า โอกาสที่ผู้วิจัยจะไปวิจารณ์คนที่ให้ทุนนั้นน้อยมาก. คือในปัจจุบัน กระบวนการวิทยาศาสตร์มีเรื่องของ value เข้ามาเกี่ยวข้องมากพอสมควร. แต่ในวิทยาศาสตร์ เรายังนับถือวัตถุวิสัยอยู่ เรายังนับถือคนที่สวมชุดสีขาว. เราเห็นโฆษณายาสีฟันคอลเกตไหมครับ ? ผู้ที่มาโฆษณายาสีฟันคอลเกต จะสวมชุดสีขาว ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น. อาจจะเป็นสัญลักษณ์ของนักวิทยาศาสตร์ ซึ่งต้องสะอาด หรือความเป็นครู อันที่จริงแล้ว พวกครูไม่ควรที่จะมาโฆษณายาสีฟันเลยด้วยซ้ำ. สีขาวนั้น เราจะเห็นในโรงพยาบาลด้วย ซึ่งหมายถึงสะอาด, objective, true value. นิทเช่จะไม่ยอมรับ เขาบอกว่ามันไม่มี.

อันที่จริงผมอยากจะแก้ไขสิ่งที่ผมพูดไปก่อนหน้านี้สักเล็กน้อย เพื่อป้องกันความเข้าใจผิด คือ การใช้คำว่า individualism ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่ควรทำเลยนะครับ เพราะว่าเขาไม่ต้องการอะไรทั้งสิ้น. ถ้าหากว่าพวกเรามีโอกาสดู vdo ที่ผมเตรียมมา จะเห็นถึงสิ่งที่นิทเช่พูดตอนที่มีสติอยู่ก่อนที่เขาจะบ้า ส่วนช่วง 11 ปีหลังที่เขาเป็นบ้าไปแล้วนั้น หลายคนได้กระทำอะไรไปในทางตรงกันข้ามกับที่เขาพูด ที่เขาไม่ชอบ

ยกตัวอย่าง เขาไม่ต้องการสาวก ไม่ต้องการลูกศิษย์ และปรากฎว่าพี่สาวของเขาได้นัดคนสำคัญๆในยุโรป เพื่อมาดูนิทเช่กินข้าวกลางวัน คล้ายๆกับการไปดูคนที่เป็นอัจฉริยะกินข้าว พี่สาวของเขาได้ทำให้เขากลายเป็นพิพิธภัณฑ์ อันนี้ตรงข้ามกับสิ่งที่นิทเช่เขียนมาตลอดเวลา

ผู้ฟัง : อยากให้อาจารย์ช่วยวิเคราะห์ว่า การที่แนวคิดของนิทเช่เริ่มมาเฟื่องฟูในยุคนี้ มันไปเกี่ยวข้องกับบริบทไหมคะ ที่เป็นทุนนิยม ที่เน้นให้คนเป็นปัจเจกอะไรอย่างนี้ ?

Hans : การที่เขานำเอานิทเช่มา ตามที่ผมเข้าใจ ผมขอเชื่อมกับ postmodern เลย เพราะที่ผ่านมาผมยังไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้. หลักของ postmodern เท่าที่ผมเคยพูดมา, อาจจะเข้าใจผิดนะครับ, ในหนังสือของเลียวตาร์ดนั้นก็คือ "อัตบุคคล"(subject) มีมาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 15 เกิดแนวคิด humanism และ subject เริ่มเข้ามา. อันที่สองก็คือ"ความก้าวหน้า"(progress) อันนี้ตั้งแต่ Enlightenment เป็นต้นมา หมายความว่าความรู้ที่มีอยู่ทำให้เรามีความก้าวหน้ามากขึ้น เราเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น อันนี้คือความหมายของคำว่า progress. วิทยาศาสตร์ได้มาสร้างความสุข วิทยาศาสตร์สามารถแก้ปัญหาได้ในสังคมปัจจุบัน

ผมคิดว่า postmodern ตามที่เข้าใจ, เลียวตาร์ดมาบอกว่า ปัจจุบันนี้ ความเชื่อในสิ่งเหล่านี้ผู้คนไม่ยอมเชื่อกันต่อไปแล้ว. Subject มันตายแล้ว, และ progress ความก้าวหน้าไม่มีใครเชื่อแล้ว. ความรู้ที่มีอยู่มันทำให้เราชีวิตดีขึ้นกว่าเดิมไหม ? ปรากฏว่ายิ่งมีความรู้ยิ่งมีปัญหา. ถ้าเรามาดูในผลงานทางด้านศิลปะปัจจุบัน ภาพเขียนประเภท representation หรือการเป็นตัวแทนความจริง ศิลปินเขายกเลิกกันไปแล้ว. การเป็นตัวแทนมันคือลักษณะของความจริงซึ่งจะต้อง imitate หรือเลียนแบบให้เหมือนกับความจริงมาก ในศิลปะปัจจุบันเขายกเลิกโครงการนี้ไปแล้ว.

มนุษยนิยมก็ตาม ปัจจุบันไม่มีใครเชื่อแล้วว่า เราสามารถเอาอุดมการณ์นี้มาจัดระบบสังคมขึ้นได้. อันนี้คือลักษณะการอธิบายของ เลียวตาร์ด คือหมายความว่า อุดมการณ์ที่เรียกว่า modern, progress, ความจริง, หรือมนุษย์ มันได้หายไปหมดแล้ว

ผมมีแผ่นใสเอามาให้ดู ขอให้เราดูแผนภาพนี้ประกอบ(โปรดดูภาพประกอบที่หนึ่ง) เป็นแผนภาพหมู่บ้านเกจารา ในอเมริกาใต้. นักมานุษยวิทยา โคลด เลวี่-สเตราส์ ที่สร้างระบบโครงสร้างนิยม(structuralism)ในสาขามานุษยวิทยา. หลายคนบอกว่ายาก แต่ผมว่าไม่ยาก ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ขื่อ Tristes Tropich เป็นหนังสือที่ดีมาก. โคลด เลวี่-สเตราส์ ได้เดินทางไปในอเมริกาใต้ และได้เข้าไปศึกษาชนเผ่าอินเดียนที่กำลังจะสูญพันธุ์ไป เขาได้เข้าไปอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ชื่อว่าเกจารา, ได้ไปอยู่ที่นั่นสักพักหนึ่ง และได้สังเกตอะไรบางอย่าง และได้พบเงื่อนงำบางจุด เช่นวิธีการใช้ชีวิตในที่นั่น เขาเริ่มสังเกตว่า มันมี "กฎ" อยู่ในหมู่บ้านซึ่งมองไม่เห็น

หมู่บ้านแห่งนี้ได้แบ่งออกเป็นสองส่วน ข้างบนนี้มันเป็น "ทูกาเร่" ส่วนข้างล่างนี้เป็น เซร่า ปรากฏว่าวิธีการคิดเอย วิธีการใช้ชีวิต วิธีการแต่งงานทั้งหมดมันถูกกำหนดโดย "กฎ" อย่างเช่น ผู้หญิงที่อยู่ข้างล่างจะต้องแต่งงานกับพวกที่อยู่ข้างบน และเมื่อแต่งงานแล้ว ผู้หญิงก็ต้องเข้าไปอยู่ในบ้านของผู้ชาย อันนี้เป็นตัวอย่าง

ขอให้เรามาดูรูปอีกครั้ง เราจะเห็นว่าตรงกลางของวงกลมมีบ้านหลังหนึ่ง นั่นเป็นบ้านของคนหนุ่มๆ, แล้วให้เรามาดูวงกลมเล็กที่ซ้อนอยู่ตรงกลางเฉียงมาทางขวามือ, อันนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าตรงกับสิ่งที่ โคลด เลวี่-สเตราส์ พูดนะครับ แต่ว่ามันประมาณนี้ คือ เด็กผู้หญิงถ้าเดินผ่านตรงนี้ซึ่งมีพวกหนุ่มๆเต็มไปหมด ถ้าหากว่าไม่ได้เดินเข้ามาในเขตวงกลมเล็กข้างในนี้ จะไม่เกิดปัญหาอะไรขึ้นแน่นอน แต่ถ้าพอเหยียบย่างเข้าไปในเขตวงกลมชั้นในนี้เมื่อไหร่ มีสิทธิ์ที่จะถูกข่มขืน เพราะว่านั่นเป็นเขตที่คลุมเครือในหมู่บ้าน มันมีกฎกำหนดไว้ก่อนแล้ว. บ้านหลังนี้ อายุสักเท่าไหร่จึงจะเข้าไปอยู่ ผมจำรายละเอียดขนาดนั้นไม่ได้ แต่ที่สำคัญคือ สิ่งที่กำหนดความคิดหรือพฤติกรรมของคนก็คือประเพณี ความเชื่อเก่าๆ คือพวก "กฎ" ทั้งหลาย เรามองไม่เห็นหรอกครับ มันอยู่ในจิตใต้สำนึก แต่มันมากำหนดวิธีการคิดเกี่ยวกับความดี ความชั่ว ความจริง อนาคต คนแปลกหน้า.

สมมุติคนจากเซร่า ไปแต่งงานกับผู้ชายทูบาเร่ แล้วกลับบ้าน อันนี้ผิดกฎ ต้องลงโทษตามกฎของเกจารา. อันนี้หมายความว่าอะไร ? หมายความว่า... โคลด เลวี่-สเตราส์ สรุปว่า ความคิดของคนมันถูกกำหนดด้วยโครงสร้างที่มีอยู่ในจิตใต้สำนึก เราไม่รู้ตัว เราคิดว่าเป็นความจริง. เป็น concept ที่ถูกบังคับไว้ แต่เราไม่รู้ตัว. อันนี้คือความหมายของ subject ที่ตายแล้ว

ขอเปรียบเทียบกับ Jean-Paul Sartre นิดหนึ่ง, ลัทธิอัตถิภาวนิยม(existentialism), ที่บอกว่า มนุษย์ถึงแม้ว่าจะถูกครอบงำมากน้อยแค่ไหนก็ตาม ต้องต่อสู้เพื่อสร้างความหมายให้กับตัวเอง แต่ปรากฏว่า ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว ความหมายชีวิต, เขาจะมองความหมายในชีวิตหรือไม่ ? หรือต่อต้านความหมายในชีวิต มันล้วนถูกำหนดโดยกฎอะไรบางอย่างที่เขาไม่เกี่ยว อันนี้คือความหมายของ subject ที่ตายแล้วในความหมายของ Foucault.

Foucault มาสรุปว่า subject, หรือว่า อัตบุคคล, หรือว่า มนุษย์ ก็ตาม, มันถูกนำมาใช้ในมนุษยศาสตร์เพียงแค่พักหนึ่ง คือตั้งแต่คริสตศตวรรษที่ 15 เป็นต้นมา. ตอนนี้ concept นี้กำลังจะหายไปโดยมาเป็นโครงสร้างนิยม. ยกตัวอย่างอีกตัวอย่างหนึ่งที่เราคงรู้จักดี คือ Karl Marx เขาบอกว่า"ความคิด"ในทางปรัชญาตามทฤษฎีของ Karl Marx "ความคิด"มันไม่มีความหมายอะไรทั้งสิ้น, "ความคิด"มันเป็นเพียงแค่ผลของขบวนการเศรษฐกิจ-การเมือง ถ้าอยากจะเปลี่ยนแปลงสังคม ก็ต้องไปเปลี่ยนที่สังคม เศรษฐกิจ การเมือง ไม่ใช่ไปเปลี่ยนที่ความคิด

ในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา เรื่องของ subject หรือมนุษย์ มันแทบไม่มีความหมายเลย อันนี้คือความหมายของคำว่า man is dead หรือว่า "มนุษย์ตายแล้ว"สำหรับ Foucault. Foucault ได้ยกตัวอย่างเต็มไปหมด ไม่ว่าจะในคุกเอย ในโรงเรียน มีการครอบงำ มีการสร้างลักษณะนิสัย เราถูกครอบงำมากน้อยแค่ไหน แต่เรายังเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ดี.

อันนี้คือความตายของ subject. ในศิลปะปัจจุบันนี้ ถ้าเราไปดูภาพของ Andy Warhol ศิลปินแนวป๊อปของอเมริกัน เขาเยาะเย้ยความเป็นต้นฉบับ(original)ในศิลปะ(ดูภาพประกอบที่สอง). โดยทั่วไป modern art พยายามที่จะสร้างภาพที่เป็นของตัวเอง เป็น expression ของ individuality แต่ปรากฏว่า Andy Warhol พิมพ์ภาพของ Marilyn Monroe ซ้ำๆ หรือภาพ Double Elvis แล้วให้ลูกศิษย์ไปเซ็นชื่อของเขาด้วยว่า Andy Warhol อันนี้เขาเล่นกับรูปเขียน และขายได้ดีด้วย อันนี้เขาเยาะเย้ยว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะสร้าง original work ในศิลปะ. อันนี้ทั้งในศิลปะและในมนุษยศาสตร์ คือวิชาที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ ไม่ว่าทางปรัชญา จิตวิทยาเอย เรื่องของ subject มันไม่มีความหมาย

ผู้ฟัง : ที่พูดถึงว่านิทเช่เป็นรากฐานของความคิด postmodern นี้ อาจารย์ช่วยอธิบายตรงนี้ให้ชัดๆว่า เป็นรากฐานของความคิดหลังสมัยใหม่นี้อย่างไร ?

Hans : เมื่อสักครู่ผมอธิบายไปแล้ว แต่โดยอ้อมๆ เอาเป็นว่า ในปัจจุบันนี้ นิทเช่มีชื่อเสียงมากและค่อนข้างที่จะสอดคล้องกับ postmodern ที่บอกว่า, ไม่มี original work, ไม่มีต้นฉบับ, แม้แต่ subject. ช่วงแรกๆผมได้พูดไปว่า self ในความหมายของนิทเช่มันไม่มี มันเป็นสิ่งที่มนุษย์ตั้งขึ้นมาเอง ในด้านภาษามันเป็นความสะดวก เพราะมันกำหนดให้มีภาคประธาน ภาคแสดง แท้จริงแล้วมันไม่มีหรอก. มันเป็น concept ที่นำมาใช้เพื่อความสะดวก อันนี้ผิดพลาดมาตั้งแต่ Decartes แท้จริงแล้ว concept เหล่านี้มันเป็นแค่การตีความ อย่าไปยึดติดอะไรมากนัก.

ถ้าพูดกันในทางศิลปะ สิ่งเหล่านี้มันเป็นส่วนหนึ่งในงานศิลปะแบบ postmodern ซึ่งศิลปะในยุค modern พยายามที่จะให้ subject แสดงความสามารถของตัวเอง ดังนั้นก็จะมีกฎเกณฑ์ในแต่ละลัทธิ. แต่ละลัทธิศิลปะพยายามที่จะเสนอศิลปะของเขาที่ควรจะเป็น เขาพยายามเสนอความจริงในสายตาของเขา. ใน postmodern art ไม่มีใครนับถือกฎอะไรทั้งสิ้น, อาจจะเอา classic มาผสมกับ contemporary หรือ Dada อะไรก็แล้วแต่มาผสมกันหมดเลย เพราะว่าถึงอย่างไรก็ไม่มีความจริงกันอีกแล้ว.

ปัญหาอยู่ที่ว่า มันแยกระหว่าง Kitsch กับศิลปะได้อย่างไร ? ถ้าไม่มีเกณฑ์ประเมินให้ชัดเจนว่า อะไรคือศิลปะและอะไรไม่ใช่ศิลปะ. และเพิ่งจะเกือบร้อยปีที่ Marcel Duchamp อยู่ในลัทธิ Dadaism ก็ทำเช่นเดียวกัน เขาได้เอาโถปัสสาวะเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ เพื่อที่จะเยาะเย้ย อันนี้เป็นลักษณะนิทเช่แท้เลย

Hans : (ตอบคำถามที่ผู้ฟังถามโดยไม่ได้มีการบันทึกเสียง) เท่าที่ผมเข้าใจ เขาไม่ได้ต้องการระบบศีลธรรมอะไรทั้งสิ้นคือ มันมีอยู่ช่วงหนึ่งใน Zarathustra เขายกตัวอย่างว่าเขาทำตัวแบบ Diogenes เป็นนักปรัชญากรีกโบราณแนวทาง cynic นักปรัชญาคนนี้ได้จุดไฟ(ตะเกียง)ขึ้นมาในเวลากลางวัน แล้วเดินเที่ยวไป เขาบอกว่ากำลังหาคนอยู่ อันนี้เป็นการเยาะเย้ยผู้คนที่อยู่รอบๆ.

ที่นิทเช่พูดถึงเรื่องนี้ เขานำไปเปลี่ยนเป็นคนที่กำลังหาพระเจ้าอยู่. คือในแง่หนึ่งเหมือนกับเขาเศร้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นในตะวันตกในช่วงชีวิตของเขา. ศาสนาไม่มีความหมายแล้ว เขาชอบบอกว่ามนุษย์ปัจจุบันนี้ฆ่าพระเจ้า เรานี้เป็นผู้ฆ่าไม่รู้สึกผิดบ้างหรือ ? แต่ว่าอย่าไปเข้าใจผิดนะครับ เขาไม่ได้รู้สึกเศร้ามากนัก ตามที่ผมเข้าใจ ผมว่าเขาดีใจเสียด้วยซ้ำ. คือเริ่มตระหนักว่ามันไม่มีสิ่งเหล่านี้ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า เรายังดำเนินชีวิตไปตามระบบศีลธรรม เรายังกลัวร่างกาย(body)ของตัวเอง เหมือนกับที่ศาสนาสอนไว้มาตั้งแต่สมัยกลาง คือหมายความว่ายังยึดติดอยู่กับกฎหรือคำสอนทางศาสนาอยู่. แต่เขาจะยกย่องศาสดา เพราะศาสนาเป็นผู้ริเริ่ม มีความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆไม่เหมือนเดิม แต่คนที่ติดตาม สาวกต่างๆ เขาไม่ยกย่อง.

Hans : (ตอบคำถามที่ผู้ฟังถามโดยไม่ได้มีการบันทึกเสียง) ที่ผมพูดนั้น ผมคิดว่าให้แต่ละคนไปอ่านผลงานของนิทเช่กันเอาเอง เพราะว่ามันจะเป็น reappropriate คือมันจะตรงกับความคาดหวังของนักเขียน postmodern ก็คือ อ่านแล้วให้มันเป็นของเรา อันนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง. คนที่ไปอ่านงานของนิทเช่ก็จะมีความคิดไม่เหมือนกัน ผมอ่านครั้งแรกผมประทับใจในสิ่งที่คนอื่นอาจจะไม่รู้เรื่องเลย อาจจะไม่เข้าใจ อาจจะไม่เห็นด้วยก็ตาม ทำให้ผมอ่านนิทเช่เพิ่มเติม. อย่างที่บอกมาตั้งแต่แรก สิ่งที่ผมเสนอวันนี้มันเป็นระบบมากเกินไป ซึ่งไม่ตรงกับนิทเช่มากเท่าไหร่ ผมใช้คำว่า individualism, relativism อันนี้มันผิดหลักคำสอนของนิทเช่ เลยอยากแนะนำให้พวกเราไปอ่านเอง

ชัชวาล : ในระหว่างที่ฟังคำถามจากหลายๆท่าน ทำให้ผมเข้าใจว่า ในแต่ละสังคมคงจะมีนิทเช่ในสังคมของตนค่อนข้างมาก. ต่อคำถามที่ว่า ทำไมนิทเช่จึงเขียนออกมาทั้งๆที่เขาก็ไม่ได้เชื่ออะไร ผมก็นั่งคิดและผมคิดว่ามันคงเป็นวัฒนธรรมกระดาษ วัฒนธรรมกระดาษนี่ทำให้ต้องเขียน เพราะฉะนั้นในสังคมตะวันออก คงเป็นนิทเช่แบบกระทำ ผมไม่ทราบแต่อยากให้อาจารย์วิจารณ์ความคิดผมนะครับ

ขอยกตัวอย่าง ในสังคมที่มีคนกบฎเกิดขึ้น มีปฏิกริยาต้านต่อระบบและกฎเกณฑ์ต่างๆ มันพอจะเป็นอย่างเดียวกันได้ไหม ? ผมยกตัวอย่างเช่นในวรรณกรรมที่เรียกว่า"ชาดกนอกนิบาต"ในล้านนา มันจะมีข้อเขียนที่เสียดสีกษัตริย์แล้วก็พระ. กษัตริย์นี่จะโง่เสมอ เช่น หูเบา เชื่อเมียน้อย แล้วพระก็บริโภคแต่สิ่งดีๆ คือการขบฎต่อกรอบของศีลธรรมอย่างหนึ่งเหมือนกัน และวิธีการกบฎก็เป็นคนละเรื่องกับนิทเช่ แต่ว่าเป็นไปโดยการกระทำ เช่น เสือใบ เสือดำ หรือผู้ที่ไปตั้งเป็นซ่องโจร หรือบางระจันอะไรอย่างนี้ ผมคิดว่าอันนี้มีมากในสังคม เพียงแต่ว่าเราไม่ได้ตีความ และไม่ได้ถ่ายทอดออกมาผ่านวัฒนธรรมตัวอักษร อันนี้ไม่ทราบว่าอาจารย์คิดอย่างไร ?

Hans : ผมเห็นด้วยนะครับว่ามันมีทุกวัฒนธรรม ลองดูช่วงเวลาที่นิทเช่มีชีวิตอยู่ มีนักปรัชญาอีกคนหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายๆกัน คือเป็นคนที่ต่อต้านแต่เป็นการต่อต้านอีกแบบหนึ่ง ชื่อ Kierkegaard (คีร์เคกอร์ด) นักคิด existentialist อีกคนหนึ่ง, มีคนชอบนำเอานักปรัชญาคนนี้ไปวางไว้ใน existentialism ซึ่งผมไม่ค่อยเห็นด้วย. อันนี้ไม่ใช่ว่าเขาต้องการสอนทฤษฎีใหม่ๆ แต่เป็นเพราะว่าเขาต่อต้านระบบปรัชญาที่กำลังจะครอบงำมหาวิทยาลัยในเยอรมัน. เขาเขียนอีกแบบหนึ่ง ลองอ่านงานเขียนของเขาก็เป็น literary work อีกแบบหนึ่ง.

เหมือนกับว่าการศึกษาของ Kierkegaard กำหนดให้เขาเป็นนักเขียน นิทเช่ก็คล้ายๆกัน เพราะเขาเรียนสูง เขาเป็นศาสตราจารย์ เขามีผลงาน. Kierkegaard ก็ต่อต้านไปในอีกแบบหนึ่ง ไม่รุนแรงเท่ากับนิทเช่ และได้ไปเสนอทางออกว่า กลับไปยอมรับศาสนาเป็นหัวใจอะไรทำนองนี้.

Nietzsche กับ Kierkegaard เป็นสองคนที่อยู่รอดในปัจจุบันนี้ เพราะว่าเขาทั้งสองได้พูดอะไรบางอย่างที่สอดคล้องกับ Foucault และ Derrida. อาจจะบอกได้ว่า Nietzsche เป็นคนโชคดีของคนที่ rebel หรือกบฎ เพราะเขามีฝีมือในการเขียน และที่โชคดีอีกอย่าง ซึ่งแปลกๆหน่อย ตรงที่งานของเขาถูกปิดมาประมาณ 80 ปี จึงทำให้คนเริ่มสนใจมากขึ้น มันเป็น negative publicity ที่ทำให้คนเริ่มสนใจมากขึ้น. ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกยุคทุกสมัยมีขบวนการต่อต้าน แต่น้อยคนที่จะอยู่รอด

ผู้ฟัง : อยากให้อาจารย์ช่วยอธิบายแนวคิด dialectic ของ Hegel

Hans :Hegel เป็นคนที่เสนอแนวความคิดนี้ ผมยกตัวอย่างตัวของผมเอง คือ ตอนที่ผมเข้ามาในประเทศนี้เป็นครั้งแรก ผมเห็นคนไทยยิ้มทุกคน รู้สึกว่า คนไทยที่สนุกจัง มีความสุขทุกคนเลย. แต่พอผมไปเห็นเหตุการณ์อะไรบางอย่างที่เห็นว่าคนโมโหแล้ว เขาก็ยังยิ้มอยู่ อันนี้คือ antithesis คือผมเคยคิดมาก่อนว่า คนที่ยิ้มแล้วมีความสุข แต่พอไปเจออะไรที่มันไม่ตรงกับที่ผมคิด เป็น antithesis มันเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่ผมเคยคิด สิ่งเหล่านี้มันทำให้ผมคิดอะไรใหม่ๆอีกรอบหนึ่ง บางครั้งยิ้มก็มีหน้าที่แสดงถึงความสุข แต่บางครั้งก็เป็นแค่ไม่ให้เกิดเรื่อง. ผมยังคิดเหมือนเดิม แต่ก็มีการคิดเพิ่มเติม ปรับปรุงความคิดตัวเองนี้เรียกว่า synthesis. อันนี้เป็นกระบวนความคิดที่จะก้าวหน้าไปเรื่อยๆ synthesis กลายเป็น thesis อันใหม่ขึ้นมา ขบวนการก็จะเกิดแบบนี้ซ้ำอีก มันจะพัฒนาไปเรื่อยๆ

อุทิศ อติมานะ : ผมฟังอาจารย์ชัชวาลตั้งคำถาม ผมค่อนข้างเห็นด้วยว่า spirit ในการพยายามตั้งคำถาม ไม่ follow ตามกระแสหลัก ไม่เชื่อในเรื่อง original อะไรที่เป็นตัวตน มันไม่มีอยู่จริง ทุกอย่างล้วนแต่เปลี่ยนไป ผ่านมา แล้วก็ผ่านไป. Sprit อันนี้มันค่อนข้างเป็น spirit สากล ผมค่อนข้างเห็นด้วย คือตะวันออกก็มี ตะวันตกก็มี นิทเช่ก็มีตัวนี้ แต่ที่ผมสงสัยคือว่า spirit ตัวนี้ของนิทเช่ นิทเช่เชื่อว่าการใช้ spirit ตัวนี้ทำให้เกิดการพัฒนาหรือเปล่า.

ผมยกตัวอย่างง่ายๆ คุณ X มีหน้าที่อย่างเดียวคือต่อต้านทุกอย่าง ไม่เชื่อเรื่องอะไรเลย ไม่เชื่อเรื่องความก้าวหน้าด้วย คุณอยู่ซ้าย ฉันอยู่ขวา คุณอยู่ขวา ฉันอยู่หน้า คุณอยู่หน้า ฉันอยู่หลัง ใช้ชีวิตอย่างนี้ไปวันๆ และคำตอบที่ผมได้ไม่เห็นความต่อเนื่องกับความคิดอีกแบบหนึ่งคือความแบบต่อเนื่อง. ก็คือว่า thesis, antithesis, synthesis. thesis, antithesis, synthesis ก็คือใช้วิธีการแบบนี้ อยู่ฝั่งตรงข้ามเสมอ แล้วทำให้เกิดความก้าวหน้า เห็นชัดเจนว่ามันมีพัฒนาการที่ก้าวหน้า สำหรับผมเห็นว่าเรามีวิธีคิดสองแบบ

กลับมาที่อาจารย์ชัชวาล สายวิทยาศาสตร์แบบอาจารย์ชัชวาลจะเชื่อแบบหลัง จะเชื่อว่าการผลิตทฤษฎีจะช่วยเติมเต็มองค์ความรู้ให้มันแม่นยำไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่งเขาเชื่อว่าเขาจะพบความจริงสูงสุดที่มันไม่ผิดเพี้ยน เป็นสัจธรรม หรือคำอธิบายเรื่องจักรวาล ค้นพบอะไรก็เอามาต่อยอด, เรื่องเคมี เรื่องฟิสิกส์ค้นพบอะไรก็เอามาต่อยอดเอา ทฤษฎีหลายๆอย่างมารวมกัน มาต่อยอดเหมือนขึ้นบันได. ถามว่า นิทเช่เป็นแบบขึ้นบันไดหรือว่าอยู่กับพื้น คือ anti ไปเรื่อยๆโดยไม่เชื่อความก้าวหน้า

Hans : ผมคิดว่า นิทเช่ไม่เชื่อในความก้าวหน้า ผมขอยกตัวอย่างวิทยาศาสตร์อยู่อย่างหนึ่งนะครับ ในวิทยาศาสตร์เราเชื่อว่ามีความต่อเนื่อง หมายความว่ามีความก้าวหน้า. ผมคิดอะไรขึ้นมาอย่างหนึ่ง ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ ถ้าผิดให้อาจารย์ชัชวาลช่วยบอกด้วยนะครับ คือ

ระบบจักรวาล ระบบดาราศาสตร์ของ Ptolemy ก่อน Copernicus บอกว่า โลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล แล้วเขาจะบรรยายความเคลื่อนไหวของดวงดาวต่างๆจากพื้นที่บนโลก สูตรการคำนวนมันวุ่นวายมากเลยนะครับ มันจะมี epicycle วงกลม ยุ่งเหยิงมาก. ส่วนระบบของ Copernicus ใช้ดวงอาทิตย์อยู่ตรงกลาง มันง่ายกว่าเยอะ สิ่งที่เคยอธิบายเอาไว้ยุ่งยาก ตอนนี้มันเป็นแค่วงกลม ผมถามว่าทฤษฎีไหนมันถูกต้องยิ่งกว่ากัน เรามักจะตอบว่าของ Copernicus แต่แท้จริงแล้ว ของ Ptolemy มันก็ถูกต้อง อันนี้แล้วแต่ perspective คือ ถ้าอยู่บนโลกนี้ ถ้าจะเขียนความเคลื่อนไหวของดวงดาว มันก็เป็นสิทธิ์ของคนที่จะเขียนแบบนี้ เพียงแต่ลำบากหน่อยถ้าจะทำเช่นนี้. แต่ถ้าเอาดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ก็เขียนได้อีกแบบ อันนี้มันแล้วแต่ คือมันเป็นความจริงได้ทั้งคู่. แม้แต่ในวิทยาศาสตร์ เท่าที่ผมเข้าใจ เขามักจะไม่มองว่าทฤษฎีใดมันจะดีกว่า

กลับไปพูดถึงคำถามเรื่องนิทเช่ concept เรื่องความต่อเนื่องนี่ เขาบอกว่าหลอกลวง ทำให้เราสบายใจ. ในประวัติศาสตร์ปัจจุบัน ความต่อเนื่องมันเป็น concept หลัก เราอธิบายปัจจุบันจากอดีต อันนี้คือสิ่งที่เขาสอนประวัติศาสตร์กันในระดับมัธยมศึกษา. Foucault บอกว่า อันนี้เหมือนกันกับ Nietzsche คือเตือนเราให้ระวัง พวก"เหตุ"กับ"ผล" อันนี้เป็น concept ที่เราใช้กันในทุกสาขาวิชา บางครั้งเราไม่มีหลักฐานเพียงพอ. เราไม่สามารถจะไปบอกได้ว่า ทำไมมนุษย์จึงเกิดขึ้นในคริสตศตวรรษ 15 ตามความหมายของ Foucault นะครับคือ เกิดมนุษยนิยม ทำไม ? เราชอบจะไปอธิบายว่า เกิดเศรษฐกิจการเมือง เบื่อศาสนา แต่แน่ใจไหมครับว่าสิ่งเหล่านี้คือปัจจัยหลัก.

ในสมัยกลางตลอดพันปี น่าจะมีคนที่เบื่อกับระบบนั้นมากพอสมควร มีความคิดของอิสลามเข้ามาในยุโรปมากพอควร และคนที่ไปเที่ยวที่จีนแล้วนำความคิดนั้นเข้ามา มีแล้ว แล้วทำไมมันถึงไม่เกิดมนุษยนิยมขึ้นมาล่ะ. เมื่อสักครู่ก็ได้พูดไปแล้ว คือ เวลาที่เราหวนกลับไปมองอดีต เราชอบอะไรที่เรียบร้อย ภาษาไทยนี้ชัดมากคือ เรียบร้อย ค่อนข้างจะต่อเนื่องเข้าใจง่าย. Foucault แค่เตือนว่าระวัง concept ที่เราใช้ในปรัชญาอาจจะไม่เรียบร้อยเท่าที่คิด เขาก็เลยเสนอว่า concept ของการต่อเนื่องนั้นมันเป็นการตีความ อาจจะไม่มีก็ได้ ดังนั้นต้องใช้วิธีการโบราณคดี วิธีการวงศาวิทยา คือเราไม่แน่ใจว่าทฤษฎีที่เราสร้างนั้น concept เรื่องความต่อเนื่องนั้น ถูกต้องไหม ? ลองไปดูว่า literature ในคริสตศตวรรษที่ 15 นั้นมีอะไร ? เขาก็เลยใช้คำว่า"วาทกรรม".

ที่สำคัญก็คือ มันเป็นกระแสนะครับ แนวคิดในปรัชญาเอย ในเศรษฐศาสตร์เอย ทุกสาขาวิชา แม้แต่การปฏิบัติในสังคมนั้นมันต่อเนื่องเหมือนกันหมดเลย ทำไมในช่วงเวลาที่ Decartes พูดว่า "I think therefore I am" ปรากฏว่าในช่วงเวลานั้น Verlazques ซึ่งเป็นจิตรกรชาวสเปน เขาเขียนรูปตัวเองในภาพของตัวเอง หมายความว่าเขาภูมิใจมากที่ตัวเองเป็นผู้เขียนภาพ แสดงว่าเป็นผู้มีความสามารถ. แล้วมีการสังเกตว่ามีการสร้างโรงพยาบาลโรคจิตเป็นครั้งแรก และ Foucault เป็นผู้มีความสามารถในการเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้ แต่เขาเตือนมาตั้งแต่แรกว่ามีจริงหรือไม่ อย่าไปเชื่อ เขาแค่ยกตัวอย่างเท่านั้น

อุทิศ : ผมสรุปอย่างนี้ได้ไหมครับว่า วงการปรัชญาเป็นฝ่ายค้านของวิธีคิดมนุษยชาติ เพราะว่าสิ่งที่อาจารย์พูดเมื่อสักครู่ที่ยกตัวอย่าง คือ ให้เราระวังเรื่องอะไรที่มันเป็นเหตุและผล อะไรที่อ้างถึงอดีตแล้วก็ลากมาถึงปัจจุบัน คือ ศาสตร์ทางปรัชญาที่อาจารย์ยกตัวอย่างมาหลายคน เขาพยายามให้พวกเราระวังเรื่องนี้มาก ในขณะที่วิธีคิดหลักในทุกๆศาสตร์ล้วนเชื่อเรื่องความต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่ผมสอนศิลปะ ก่อนพูดเรื่องศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบันก็ต้องพูดเรื่อง Duchamp ก่อน แล้วก็มาพูดถึง Joseph Beuys แล้วถึงมาว่ากันถึงปัจจุบัน. ตัวศาสตร์ที่สอนกันจริงๆ ทุกวันนี้ผมเชื่อเลย ทุกๆคนล้วนอยู่ภายใต้ความเชื่ออย่างนี้ว่า เมื่อจะพูดถึงปัจจุบันต้องอ้างอดีต ต้องอธิบายเป็นลักษณะต่อเนื่อง

เวลาวิทยาศาสตร์เขาพูดถึงเรื่องทฤษฎีจักรวาล วิทยาศาสตร์สาขาเคมีพูดถึงพัฒนาการ รังสีวิทยาพูดถึงเรื่องของตัวเอง เขาล้วนแต่นำเอาทฤษฎีเก่าๆที่ค้นพบแล้วมาต่อๆกันคล้าย jigsaw เพื่อที่จะอธิบายว่า ความจริง ณ ปัจจุบันของเขามันเข้มแข็ง. คือผมกลับมองว่ากระแสหลัก หรือสไตล์คิดของคนทั่วไปเขาเชื่อเรื่องนี้ ในขณะที่นักปรัชญาทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านให้เราระวังสิ่งที่เรายืนอยู่ ผมสรุปอย่างนี้ไม่ทราบว่าอาจารย์คิดเห็นอย่างไร ?

Hans : ถูกต้องแล้วครับ ความสำคัญของปรัชญา ปรัชญานั้นมันไม่ได้บริสุทธิ์อย่างที่เราคิด แค่เป็นการตีความ และตีความต่อๆกันมา. Foucault พิสูจน์มากกว่านี้อีก คือเขาบอกว่าความคิดมันมีผลกระทบต่อสังคม อย่างเช่น การมองว่ามนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล ทำให้มนุษย์ไปปฏิบัติต่อคนที่ไม่ได้ใช้เหตุผลแบบที่เขาคิด และตราว่าคนพวกนั้นมีความผิดปกติด้านจิตใจ การตรานี้เกิดขึ้นในนามของเหตุผล เริ่มเกิดโรงพยาบาลบ้า เริ่มมีการสร้างระบบการลงโทษขึ้นมา อันนี้ในคุกก็เช่นเดียวกัน. ในเรื่องเกี่ยวกับอาชญวิทยา ในหนังสือของ Foucault, Discipline and punish พูดถึงเรื่องวินัยและการลงโทษ. เมื่อก่อนนี้การลงโทษเป็นเรื่องที่โหดร้ายมาก ปัจจุบันนี้มาบอกว่า เห็นไหม ปัจจุบันนี้มีมนุษยธรรมมากกว่าเดิม ปรากฏว่าในคุกมีการสร้างระบบวินัยภายในขึ้นมา

ยิ่งมีความรู้มาก อันดับแรกมาจากการทดลองกับคน การกระทำกับคนในขณะที่เขาเป็น object เขาไม่มีอะไรจะพูด. อันดับที่สอง ยิ่งมีความรู้ยิ่งสามารถควบคุมคนได้มาก. ความจริงเขายกตัวอย่างมากกว่านี้. เขาบอกว่าความรู้มันไม่ได้บริสุทธิ์ มันเป็นแค่การตีความ ใครจะคิดอะไรก็แล้วแต่ก็เป็นการตีความ. ปรากฏว่าในนามของทฤษฎีใดทฤษฎีหนึ่ง เรามีการกระทำต่อคน ไม่มีความจริง แต่เราตัดคนๆหนึ่งออกจากสังคมหรือผลักให้เขาไปอยู่ชายขอบในนามของความปกติ.

ในประเทศไทยก็กระทำกัน คือมีการตรวจสอบเด็กตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ ดูว่าเหมาะสมไหมที่จะเรียนประถมศึกษา พออายุสัก 12-15 ขวบก็ตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง เขาตรวจสอบด้วยหลักการอะไรกันแน่ ตามทฤษฎีความเป็นปกติในยุคนั้น. ตั้งแต่เด็กเรามีการถูกตรวจสอบมาหลายครั้ง และมีการเปลี่ยนทฤษฎีไปเรื่อยๆ ปัจจุบันนี้ก็ใช้ทฤษฎี EQ มาใช้ ซึ่งเมื่อก่อนนี้ไม่เคยมีการวัด EQ เลย แต่ปัจจุบันนี้เด็กๆจะต้องถูกทดสอบเรื่อง EQ แล้วมีโอกาสที่จะถูกคัดออก เพราะ EQ ต่ำ

ผู้ฟัง : อยากให้อาจารย์อธิบายเรื่องของ paradigm shift

Hans : คือถ้าเราไปดูเรื่องของ Paradigm ของ Thomas Kuhn ที่พูดถึงการเกิด paradigm ใหม่ เขาอธิบายว่า ใน paradigm เดิมมันจะมีปัญหา ซึ่งเป็นปัญหาที่นักวิทยาศาสตร์แก้ไขไม่ได้ แล้วมันก็สะสมขึ้นมาเรื่อยๆครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ และอย่างค่อยเป็นค่อยไป จะมีนักวิทยาศาสตร์เริ่มที่จะไม่เข้ากลุ่ม โดยเริ่มศึกษาประเด็นนั้น โดยใช้แนวคิดของคนอีกคนหนึ่ง หมายความว่า แม้ว่าจะ anti ก็ตาม แต่ก็ยังมีการต่อเนื่องระหว่าง paradigm แต่ผมว่าภาพลักษณ์โดยทั่วไป paradigm shift มันไม่ logical เลย คือไม่เกี่ยวกับเหตุผล. การเปรียบเทียบระหว่าง paradigm จะเอาเหตุผลมาใช้ไม่ได้ เพราะว่าแต่ละทฤษฎีก็จะมองปัญหาต่างกัน คือมันคุยกันไม่รู้เรื่อง. อันนี้เป็นลักษณะของ discourse หรือวาทกรรม

Hans : (มีผู้ถามเรื่องเกี่ยวกับความคิดของโลกตะวันตกและโลกตะวันออก ซึ่งไม่ได้มีการบันทึกเสียง) (อาจารย์ Hans ตอบดังนี้) คำว่า"ตะวันตก"และ"ตะวันออก" ผมไม่กล้าใช้แล้ว ลองยกตัวอย่างซิว่า "ตะวันออก"-"ตะวันตก" คืออะไรกันแน่ สังเกตในหนังสือโดยทั่วไป เช่น ปรัชญาเบื้องต้นชอบบอกว่า "ตะวันตก"นี่ไฟแรง กล้าที่จะปรับปรุงโลกรอบตัว มีความเก่งกล้าในเรื่องเทคนิค มีการนำเอาพลังที่มีอยู่ไปปรับปรุงสิ่งที่อยู่รอบตัว. ส่วน"ตะวันออก"บอกว่า ถ้ามีปัญหาอะไร เริ่มจากตัวเองเสียก่อน ตะวันออกมีลีลาสงวนท่าที อันนี้เป็น characterization ระหว่างตะวันตกและตะวันออก ซึ่งผมไม่เชื่อแล้ว และไม่กล้าพูดอีกแล้ว ทั้งนี้เพราะมันเป็นอุปสรรคต่อความเข้าใจยิ่งกว่าที่จะเป็นตัวทำให้เราเข้าใจอะไรบางอย่าง. ไม่รู้ว่ามันเป็นคำตอบต่อคำถามไหม แต่ concept เหล่านี้ตามความคิดของนิทเช่หรือฟูโกก็ตาม อย่าไปใช้เลย. แต่ให้ระวังเพราะในชีวิตประจำวันเราก็นำมาใช้อยู่ดี

สมเกียรติ : ผมอยากจะเรียนถามอาจารย์ข้อหนึ่งคือ แนวคิดแบบ modern ที่ผ่านมา แล้วพวกเราก็รับกันมาเต็มๆซึ่งผมอยากจะเรียกมันว่า colonial idea หรือเป็นความคิดแบบอาณานิคม คนไทยก็เชื่อแบบนั้นจึงเป็น colony ด้วย. ทีนี้แนวคิดแบบ postmodern มันมาหลังจากยุค modern มัน anti modern. Modern บอกว่ามี originality, มันบอกว่าไม่มี, modern บอกว่าต้องมี unity มันบอกว่า เฮ้ย! ไม่ใช่ ต้อง mix, หรือ hybrid คือผสมผสาน, modern ยังเชื่อในเรื่องของ hegemony เรื่องความเป็นเจ้าโลก หรือคนผิวขาวเป็นใหญ่, postmodern บอกว่าไม่ใช่ ทุกคนสามารถสร้างวาทกรรมของตนเองขึ้นมาได้ ไม่ใช่เฉพาะต้องเชื่อฟังวาทกรรมของคนผิวขาว และคนผิวขาวไม่ใช่เป็นศูนย์กลาง ดังนั้นจึงเน้นในเรื่องของ decentralization. ผมอยากจะเรียนถามว่า postmodern เป็น postcolonial idea ใช่ไหม ? หรือว่า postmodern เป็นการประกาศ colonial idea อันใหม่ ? อาจารย์ฟังคำถามเข้าใจไหมครับ

Hans : ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ อาจารย์ลองอีกครั้งหนึ่งครับ

สมเกียรติ : อยากจะเรียนถามว่า ในเมื่อ modern กับ postmodern มันแตกต่างกันขนาดนี้. Modern เคยเป็น colonial idea, Postmodern ก็เป็น colonial idea ด้วยใช่ไหม, หรือ neo-colonial idea เพราะเรายอมรับแนวคิด anti ของมันจากตะวันตก. แต่อย่างไรก็ตาม เรากล้ายืนขึ้นมาและบอกว่า เฮ้ย! คนผิวขาวไม่ได้เป็นเจ้าโลก คนผิวเหลืองอย่างเราก็สามารถสร้างวาทกรรมของตนเองขึ้นมาได้ เพื่อที่จะประกาศความจริงของเราเช่นเดียวกัน ไม่ใช่ปล่อยให้คนผิวขาวผูกขาดเรื่อง"ความจริง". คำถามผมก็คือ เมื่อ modern เป็น colonial idea แล้ว, post modern เป็น colonial idea ด้วยไหม ? เพราะว่า มันสอนให้เราคิด anti ยุคสมัยที่ผ่านมา. หรือ postmodern เป็น post colonial จริงๆ ก็คือ ไม่ใช่ คุณไม่ได้เป็นอาณานิคมทางปัญญาอีกต่อไป คุณได้ถูกปลดปล่อย หรือปลดปล่อยตัวเองจากการเป็นอาณานิคมทางความคิดด้วยความคิดของตะวันตกอันนี้. ไม่ทราบว่าอาจารย์พอจะฟังเข้าใจไหม ?

Hans : ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไร อันนี้แล้วแต่คิด. Postmodern จะเป็น colonial ไหม ? ผลที่เกิดจากกระแส postmodern ก็เห็นชัดๆว่ามันกำลังจะครอบงำสาขาศิลปะ และอีกหลายๆสาขาพอสมควร. ถ้าบอกว่าอันนี้คือลักษณะ colonial ไหม ? ไม่รู้นะครับ ถ้าเข้าใจว่า colonial มันมาจากตะวันตกแล้วมาทิศตะวันออก อันนี้เป็นการใช้ concept ที่ผมไม่ชอบเลยนะครับ ก็อาจจะบอกได้

แต่ถ้าไปดูเนื้อหาของพวก postmodern philosophy. เลียวตาร์ด เขาไม่ได้ดีใจอะไรเลย เขากำลังมาบอกว่ามันมีปัญหาในเรื่องของอุดมการณ์ modern ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ทุกวันนี้ เรื่อง"สิทธิมนุษยชน" ซึ่งใน enlightenment เขาตั้งมันขึ้นมาเป็น The White citizen... พวกเราฝรั่งเศสประกาศว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิดังต่อไปนี้ 20-30 ข้อ และเนื้อหา 30 ข้อนี้มันขัดแย้งกันภายใน และเป็นอย่างนี้มานานแล้ว แต่ไม่เคยมีการต่อต้านระบบอันเป็นสากลของปฏินญานฉบับนี้เลย จนกระทั่งปัจจุบัน.

ในนามของอะไร ผมไม่ทราบ แต่ปรากฏว่าหลายต่อหลายคนเริ่มรู้สึกว่าเราไม่ได้เป็นส่วนหนึ่ง หรือเป็นสมาชิกของความเป็นมนุษย์ เริ่มมาบอกว่า การนิยามความเป็นมนุษย์อันนี้มันเป็นของฝรั่ง มันผิดหลัก และไม่ใช่หัวใจของคำประกาศนั้น.

คำว่า colonial ผมเข้าใจว่าเป็นอย่างนี้นะ หัวใจของ colonial ก็คือการครอบงำในนามของอุดมการณ์ที่เขาเรียกว่าเป็น"สากล"-"ศูนย์กลาง" เช่น เขาเข้ามาในอินโดนีเซีย 400 ปี เพื่อปกครองบ้านเมือง เพราะเขาบอกว่าอินโดนีเซียนี่ไม่รู้เรื่อง ทุกวันนี้ก็ยังมีคนพูดอย่างนี้อยู่ คือความคิด colonialism ยังมีอยู่ในยุโรป แต่ในเวลาเดียวกันมันเริ่มมี sensitivity ต่อผู้อื่น ในระบบการศึกษาของยุโรป อันนี้อาจจะเป็นผลดี หมายความว่ามีการยอมรับ เริ่มสงสัยกับอุดมการณ์ของตนเองที่ตนตั้งไว้ เริ่มไม่แน่ใจว่าตัวเองมีสิทธิ์ที่จะพูดในนามของคนทุกคนไหม ?

อุทิศ : ผมสรุปอย่างนี้ได้ไหมครับว่า colonial คือการบังคับให้คนอื่นทำตาม อาจารย์เสนอคำว่า"ครอบงำ". ผมนึกถึงพุทธศาสนา เมื่อก่อนที่เข้ามาในเมืองไทย ไม่รู้ว่าบังคับหรือเปล่านะ หลังจากนั้นสังคมแถบเอเชียอาค์เนย์ก็เป็นพุทธไปหมด ซึ่งก่อนหน้านั้นเชื่อ"ผี". อันนี้ใช้คำว่า colonial ได้ไหม? เราเป็น colonial ของอินเดีย. แต่ถ้าเป็นการเมืองจะเห็นได้ชัด คือ"บังคับ".

จริงๆแล้วผมอยากจะ clear ตรงนี้ คือ อย่างน้อยมันมีปรากฏการณ์ในทางสังคมอยู่ 2 แบบ คือ แบบแรก"บังคับ", ส่วนแบบที่สอง คุณ"ยอมตามเอง"เพราะคำอธิบายที่มันดี. อันนี้มีอยู่ 2 ประเภท คือประเภทแรกเรายังไม่ค่อยเข้าใจเลย แต่มันบังคับให้เราต้องเชื่อ. อันนี้ผมค่อนข้างเห็นด้วยว่าเราต้องใช้คำว่า colonial. แต่อีกประเภทหนึ่ง คือ เขาไม่ได้บังคับเรานะ เขาพูดลอยๆอยู่ในอากาศ แล้วพอเราฟังเรารู้สึกว่ามันดีนี่ และเราก็คล้อยตาม การคล้อยตามนี้ไม่ใช่เกิดขึ้นกับคนสองคน แต่มีการคล้อยตามกันเป็นส่วนใหญ่ คือในประสบการณ์ส่วนตัว ผมเห็นในสองรูปแบบ

กลับมาที่คำถามของ อ.สมเกียรติ. ถ้ายุค modern นี่ผมค่อนข้างเห็นชัดเจนว่าเป็น colonial ฟันธงไปเลย หลับตานั่งนึกถึงเทคโนโลยีของฝรั่ง นึกถึงการรบ นึกถึงการบังคับ ส่งฑูตมาคุมเรา ต้องเดินตามเขาอย่างนั้นอย่างนี้ ต้องมีวัฒนธรรม ต้องมีมหาวิทยาลัย คือค่อนข้างฟันธงลงไปเลยว่า วัฒนธรรม modern เป็นวัฒนธรรม colonial เพราะว่าอะไร ? เพราะว่า เชื่อไม่เชื่อ ฉันจะบังคับคุณ. แต่พอ อ.สมเกียรติ ถามว่าแล้ว postmodern ล่ะ ใช่ไหม ? เพราะทุกวันนี้ แนวคิด postmodern ทั้งหลายที่มันกำลังก่อเค้า และท่าทางมันจะมีอิทธิพลต่อทั้งโลก นักวิชาการทั่วโลกพูดถึงประเด็นนี้ สักพักก็ตามมัน. แต่ postmodern อันนี้เป็นการเดานะ มันเป็นการตาม แบบที่ไม่ได้เป็นการบังคับ มันเป็นคำอธิบายที่มันมีพลัง. ผมตั้งคำถามตรงนี้ก่อนว่า คำว่า colonial ใช้ได้ทั้งคู่หรือเปล่า หรือว่าใช้ได้กับอย่างแรกคือ modern เพียงอย่างเดียว เพราะเป็นการใช้วิธีการบังคับ. ถ้าเรา clear คำว่า colonial ได้ มันจะตอบคำถาม อ.สมเกียรติ ได้

Hans : ผมตอบตามที่เข้าใจเลียวตาร์ดนะ เขาได้พูดถึง postmodern. คำนิยามของ postmodern ก็คือ อุดมการณ์ modern เป็นเรื่องที่ไม่มีใครยอมรับกันอีกต่อไปแล้ว คือ สมมุติว่าผมถูกบังคับ แล้วผมไม่ชอบ หรือทำไปเพราะเห็นชอบ. ยังไงก็ยังเชื่อตามอุดมการณ์. เลียวตาร์ดมาบอกว่า ไม่ว่าดีหรือไม่ดีก็ตาม เขาเห็นมันผิดสังเกต เขาเขียนเอาไว้ในบทนำหนังสือเรื่อง The Postmodern Condition เอาไว้อย่างนี้นะครับ. เขาถูกบังคับทางอ้อมให้ไปศึกษาความคิดในสังคมซึ่งมีพัฒนาการสูงที่สุดในโลกปัจจุบันนี้ และเขาสังเกตว่า อุดมการณ์ในแบบ modern มันหายไปหมดแล้ว. มันมี Metanarrative เช่น สังคมที่ดีในสายตาของพวกสังคมนิยม หรือพวกทุนนิยมที่บอกว่า อีกไม่นานความยากจนทั้งหมดในโลกนี้จะหายไป บอกว่าตอนนี้เรากำลังดำเนินการทางด้านเศรษฐกิจการเมืองอยู่

เหมือนกับว่ามนุษย์, subject ไม่รู้ว่ามันกำลังจะไปไหนแล้ว มันมีกระบวนการของมันเองอยู่ แต่มนุษย์ควบคุมมันไม่ได้ ไม่เชื่อว่าจะสามารถทำได้. พวก Utopia พูดอย่างนั้นดีกว่า, Utopia มันไม่มีแล้ว, Utopia มันตายไปแล้ว. ประเด็นปัญหามันคืออะไร. ในทางศิลปะมักจะมองเรื่องนี้กันในแง่ดีเกี่ยวกับ postmodern, ปัญหาอยู่ที่ว่า แล้วจะทำอะไรต่อไป. ทั้งๆที่เรารู้อยู่ว่า ระบบการเมืองมันกำลังจะเอารัดเอาเปรียบประเทศในโลกที่สาม ทั้งๆที่เรารู้ว่าระบบเศรษฐกิจมันกำลังจะตัดโอกาสคนที่ไม่สามารถจะต่อสู้กับประเทศที่ร่ำรวยได้ เรารู้ว่ามันกำลังเกิดขึ้น แล้วเราควรที่จะทำอะไรกับ modern ideal เหล่านี้. คุณจะดำเนินโครงการนี้ต่อไปหรือว่าคุณจะยกเลิกมัน และถ้าคุณยกเลิกอุดมการณ์เหล่านี้ คุณมีอะไรมาแทนมันไหม ?

เลียวตาร์ดเตือนเราว่า ให้ระวังนะครับอย่าไปสร้างระบบ modern ใหม่ อันนี้เหมือนกับนิทเช่นิดหนึ่งตรงที่ว่า anti แต่ระวังนะ อย่าไปสร้าง concept ใหม่ๆแล้วคิดว่านี่แหละ เพราะว่าอาจจะเกิดความไม่พอใจขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง. พูดง่ายๆนะครับว่าปัญหายังมีอยู่ แล้วจะทำอะไรต่อไป อันนี้คือสิ่งที่ฮาเบอร์มาส ตอบ เลียวตาร์ด แล้วก็ด่าว่าไอ้พวก neo-conservative ทั้งหมด. พวก ฟูโก เดอริดา เลียวตาร์ด เขาตั้งคำถามนี้ คือบอกว่า พอเราเริ่ม isolate ตัวเอง ไม่เชื่อ enlightenment หรือ modern ideal เหมือนกับว่าเราได้มอบอำนาจให้กับ เศรษฐกิจ การตลาด การเมือง และพวกมาเฟียทั้งหลาย ...แล้วจะทำยังไงต่อไป

สมเกียรติ : คิดว่าคงสมควรแก่เวลา วันนี้พวกเราทั้งหลายคงได้รับความรู้กันอย่างเต็มที่ และต้องขอขอบคุณ อาจารย์หลายๆท่าน และนักศึกษาที่มาเข้าฟังกันด้วยความสนใจทุกคน ผมในฐานะตัวแทนกระบวนวิชาปรัชญาศิลป์ คณะวิจิตรศิลป์ มช. และมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ขอขอบพระคุณ อาจารย์ Hans de Crop จากภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มช. ที่กรุณามาให้ความรู้กับพวกเรา ขอขอบพระคุณครับ

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com