แถลงการณ์ ๑๓๗ นักวิชาการ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่
ไปให้พ้นการเมืองแบบ ๒ ขั้ว

(รัฐธรรมนูญของประชาชนต้องมาจากประชาชน)
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน : รวบรวมรายชื่อ

ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และนักวิชาการสถาบัน นักวิชาการอิสระ
ประชาชน นักศึกษา และนักวิชาการ ประสงค์ลงชื่อเพิ่มเติม ส่งรายชื่อท่านมาที่
midnightuniv(at)gmail.com

เป็นที่ชัดเจนว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ประสบความล้มเหลวอย่างยิ่งในการสร้างกติกาทางการเมืองขึ้นใหม่ภายหลังการล้มล้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ไป ไม่เพียงเท่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังนำมาซึ่งความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่เกิดขึ้นและสืบเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน รวมทั้งมีแนวโน้มที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงหรือการใช้อำนาจนอกระบบเข้ามาภายใต้ข้ออ้างเพื่อยุติความรุนแรง

ขณะที่พรรคพลังประชาชนพยายามที่จะผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น แต่การดำเนินการดังกล่าวก็อาจกลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ความขัดแย้งเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากข้อเสนอในการแก้ไขของพรรคพลังประชา ชนมุ่งให้ความสำคัญกับปัญหาความยุ่งยากที่พรรคของตนกำลังประสบอยู่และไม่รับฟังข้อท้วงติงจากฝ่ายอื่นๆ

แม้ข้อเสนอของพรรคพลังประชาชนจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในรัฐธรรมนูญที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข แต่ถ้าหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังคงจำกัดประเด็นเอาเฉพาะที่เอื้อประโยชน์ต่อเพียงพรรคการเมือง และโดยอาศัยขั้นตอนที่อยู่ในอำนาจของนักการเมืองแต่เพียงอย่างเดียว การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ก็จะขาดการสนับสนุนและการมีส่วนร่วมจากสังคมที่กว้างขวางเพียงพอต่อการสร้างความชอบธรรมและการสร้างบทบัญญัติที่ดีให้กับรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญในลักษณะเช่นนี้ย่อมง่ายต่อการที่จะถูกแก้ไขหรือฉีกทิ้งไปได้อีก ที่สำคัญก็คือจะไม่ได้เป็นกระบวนการที่ช่วยแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอยู่ในห้วงเวลาปัจจุบันของสังคมไทยแต่อย่างใด

ท่ามกลางสถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายต่างๆ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้งและเป็นหนทางไปสู่การสร้างกติกาซึ่งได้รับการยอมรับ จะบังเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาจากการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของทั้งสังคมในการแสดงความคิดเห็น ถกเถียง แลกเปลี่ยนกันอย่างเสรี ซึ่งต้องเปิดโอกาสให้ทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ไม่ว่าจะมีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างไร ก็สามารถที่จะเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ ดังที่ได้เคยปรากฏขึ้นในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540

นักวิชาการ 137 คน ขอเสนอหลักการสำคัญ 4 ประการของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ดังต่อไปนี้

ประการแรก การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเป็นการนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ทั้งฉบับ มิใช่เป็นเพียงการแก้ไขในมาตราหนึ่งมาตราใดเท่านั้น

ประการที่สอง ต้องมีการตั้งคณะทำงานหรือสภาร่างรัฐธรรมนูญอิสระที่ประกอบไปด้วยตัวแทนจากกลุ่ม องค์กรต่างๆ เข้ามาเป็นองค์ประกอบ สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมิใช่เป็นองค์กรของข้าราชการระดับสูง นักธุรกิจ นักการเมือง หากต้องประกอบไปด้วยกลุ่มคนอันหลากหลายทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เพศและชาติพันธุ์ที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย

ประการที่สาม ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญต้องเปิดให้กับการมีส่วนร่วมจากประชาชนในการแสดงความคิดเห็น ผลักดัน แลกเปลี่ยน ข้อมูลและความต้องการของแต่ละกลุ่มให้เป็นไปอย่างเสรีและกว้างขวางที่สุด เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นจากฐานของสังคมอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นไปได้ก็ด้วยบรรยากาศของสังคมที่เป็นประชาธิปไตยและการเปิดพื้นที่ให้กับทุกฝ่ายให้สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสื่อมวลชนทุกประเภท

ประการที่สี่ หลังจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสร็จสิ้นลงต้องเปิดให้มีการลงประชามติโดยไม่มีการแทรกแซงจากทุกฝ่ายเช่นครั้งที่ผ่านมา

นักวิชาการจำนวน 137 คน ดังมีรายชื่อข้างท้ายนี้ จึงใคร่ขอเรียกร้องสังคมไทยให้ร่วมกันกดดันให้เกิดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามหลักการ 4 ข้อข้างต้น เพื่อนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญโดยกระบวนการที่สันติ เพื่อสร้างรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจในระบอบประชาธิปไตย และทำให้สังคมไทยหลุดพ้นจากสภาวะตีบตันทางการเมืองโดยเร็วที่สุด

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
สัมภาษณ์ ดร.เกษียร เตชะพีระ / รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม
- เราจะฝ่าความขัดแย้งในสังคมไปได้อย่างไร
- บทสัมภาษณ์: เมื่อปืนใหญ่ 2 กระบอกยิงใส่กัน

ผู้ลงชื่อแล้วประกอบด้วย

ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร. ชยันต์ วรรธนะภูติ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ.ฉลาดชาย รมิตานนท์ ข้าราชการเกษียณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ.ดร. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา
รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.วิระดา สมสวัสดิ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ.ดร. กฤตยา อาชวนิจกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี โครงการสิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
รศ.ดร.ธเนศ เจริญเมือง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผศ. ดร.วีระ สมบูรณ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.ปาริชาติ สถาปิตานนท์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร. สุดา รังกุพันธุ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ. ดร. สมบูรณ์ ศิริประชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร.อรศรี งามวิทยาพงศ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ใจ อึ้งภากรณ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ. บุญส่ง ชัยสิงห์กานานนท์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
อ. วรศักดิ์ มหัทธโนบล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร.ปัทมาวดี ซูซูกิ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ. ดร. วรวิทย์ เจริญเลิศ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร. อภิญญา เฟื่องฟูสกุล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร.ประภาส ปิ่นตกแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ.สายชล สัตยานุรักษ์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ. สมเกียรติ ตั้งนโม มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน - มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ. สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร. เดชา ตั้งศรีฟ้า คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์
ดร. พัฒนา กิตอาสา มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
รศ.อังสนา ธงไชย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ. สมโชติ อ๋องสกุล คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร.ชยันต์ ตันติวัสดาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รศ.ดร.เนาวรัตน์ พลายน้อย คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร.ศุภกาญจน์ พงศ์ยี่หล้า ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
รศ. ฉลอง สุนทราวาณิชย์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ. ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร.นฤมล ทับจุมพล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ. ดร. ชาญณรงค์ บุญหนุน คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
รศ. ดร.อรทัย อาจอ่ำ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร. ทพญ.ศศิธร ไชยประสิทธิ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร. อุดมโชค อาษาวิมลกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ.ดร.โกสุม สายจันทร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร.วรรณภา ลีระศิริ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผศ.ดร.เยาวนิจ กิตติธรกุล คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผศ. ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร. พรพิมล ตั้งชัยสิน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร. วสันต์ ปัญญาแก้ว คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ. ดร. ศิวาลักษ์ ศิวารมณ์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผศ. ดร. ไพโรจน์ คงทวีศักดิ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดร. มาลี สิทธิเกรียงไกร สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผศ.ดร. เสาวลักษณ์ ชายทวีป คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
ดร. ชูศักดิ์ วิทยาภัค ภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ. ดร. สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

อ.วีรบูรณ์ วิสารทสกุล คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิภา ดาวมณี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผศ.วรรณา ศรีวิริยานุภาพ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อ.ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
อ.เชษฐา พวงหัตถ์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
อ.สัญชัย สูติพันธ์วิหาร คณะสิ่งแวดล้อมฯ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ.อัจฉริยา เนตรเชย คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
อ.ยอดพล เทพสิทธา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
พระมหาสุทธิ อาภากโร คณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
ผศ. สุชาติ เศรษฐมาลินี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยพายัพ
อ.สุขทวี สุวรรณชัยรบ คณะการทูตและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ม.อเมริกานา นิคารากัว
ผศ.ชูพินิจ เกษมณี คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
อ. ทวีศักดิ์ เผือกสม สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
อ.สุภิญญา กลางณรงค์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อ
สมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการอิสระ
เจษฎา โชติกิจภิวาทย์ นักวิชาการอิสระด้านแรงงาน
วรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิชาการอิสระด้านแรงงาน โครงการสิทธิมนุษยชน ม.เที่ยงคืน

อ. กมลวรรณ ชื่นชูใจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
อ. วาทิศ โสตถิพันธุ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ.ไพสิฐ พาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ. บุญชู ณ ป้อมเพ็ชร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ. ศักดิ์ชาย จินะวงศ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ.นัทมน คงเจริญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ.ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ. อำนวย กันทะอินทร์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ.ชัชวาล ปุญปัน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ.ชาญกิจ คันฉ่อง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผศ.อำพล วงศ์จำรัส คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผศ.ปราณี วงศ์จำรัส คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ.เอกกมล สายจันทร์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ. พิกุล อิทธิหิรัญวงศ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ.วีระพันธ์ จันทร์หอม หลักสูตรสื่อศิลปะ ฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ.ทัศนัย เศรษฐเสรี หลักสูตรสื่อศิลปะฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ.ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการกฎหมาย มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
อ. ธีรวัฒน์ ขวัญใจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผศ.สุวิมล รุ่งเจริญ ภาควิชาประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักวิชาการอิสระ โครงการสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ
ทพ. วิชัย วิวัฒน์คุณุปการ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐอเมริกา

อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ. ศรันย์ สมันตรัฐ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อ. ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อ. จันทร์จุฑา สุขี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ. นิภา มหารัชพงศ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
อ. พนิดา อนันตนาคม สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผศ.กัญญณัฐฐา อิทธินิติวุฒิ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ.ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
อ. รัตนา โตสกุล คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล สื่อมวลชนอิสระ นักแปล และผู้สนใจประเด็นสาธารณสุข
ผศ. วงกต วงศ์อภัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ. กิ่งกาญจน์ สำนวนเย็น คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
อ. อนุสรณ์ งอมสงัด คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
อ. ญาเรศ อัครพัฒนานุกูล คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ครู ณัฐทินี สอนประสิทธิ์ ครูการศึกษานอกโรงเรียน
อริศรา สิทธิปัน กองห้องสมุด มหาวิทยาลัยแม่โจ้
อ.ธนพรรณ กุลจันทร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ.ผุสดี นนทคำจันทร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ผศ.ลัดดา รุ่งวิสัย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ นักวิชาการอิสระ กลุ่มเพื่อนประชาชน
อ.ดุลยภาค ปรีชารัชช วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
อ. พฤกษ์ ยิบมันตะสิริ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ นักวิชาการอิสระ กลุ่มเพื่อนประชาชน
สุชาติ ตระกูลหูทิพย์ นักวิชาการอิสระทางด้านกฎหมาย (ประเด็นแรงงาน)
ศศินันท์ งามธุระ นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วรรณสิริ ทิพยมงคล นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นิฐิณี ทองแท้ นักศึกษาปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อาจารย์ สามารถ ศรีจำนงค์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ชำนาญ ยานะ นักศึกษาปริญญาโท สถาบันวิจัยภาษาฯ มหาวิทยาลัยมหิดล
อ.สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
ผศ. วรรณา ประยุกต์วงศ์ คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ผศ.ธวัชชานนท์ สิปปภากุล คณะศิลปกรรมและออกแบบฯ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
ผศ. ศรวณีย์ สุขุมวาท ภาควิชาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ.คำรณ คุณะดิลก นักวิชาการอิสระและอาจารย์พิเศษ, สำนักข่าวแประชาธรรม
อ. พฤกษ์ เถาถวิล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
อ. เนตรดาว เถาถวิล คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

คัดลอกมาบางส่วนจาก สารคดี ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๒๗๙ พฤษภาคม ๒๕๕๑, หน้า ๙๔ - ๑๑๑

เราจะฝ่าความขัดแย้งทางการเมืองไปได้อย่างไร
ดร. เกษียร เตชะพีระ
วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ : สัมภาษณ์ ประเวช ตันตราภิรมย์ : ถ่ายภาพ

ความนำ
สำหรับคนที่ติดตามการเมืองไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมาคงต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่า ความขัดแย้งแบ่งขั้วในสังคมไทยเวลานี้ ในที่สุดจะนำไปสู่สถานการณ์รุนแรงถึงขั้นสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตหรือไม่ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ได้ทำให้ประชาชนแตกแยกออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่ศรัทธาในตัวคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตหัวหน้าพรรคไทยรักไทย จากนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ และกลุ่มที่เห็นว่าคุณทักษิณเป็นภัยต่อประเทศชาติ จากการใช้อำนาจที่เกินขอบเขตและข้อกล่าวหาในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชัน นำโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจนนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงรัฐบาลทักษิณหลายครั้ง และจบลงด้วยการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ด้วยเหตุผลสำคัญคือ ป้องกันไม่ให้ความแตกแยกขัดแย้งรุนแรงจนนำไปสู่การนองเลือด

แต่ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเดือนธันวาคม ๒๕๕๐ พรรคพลังประชาชน หรือพรรคไทยรักไทยเดิม ก็ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น โดยเฉพาะผู้แทนที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนในภาคเหนือและภาคอีสาน พร้อมๆ กับการกลับมาเมืองไทยของคุณทักษิณ ชินวัตร ที่ย้ำเสมอว่าจะยุติบทบาททางการเมือง ขณะที่อีกฝ่ายเชื่อว่าคุณทักษิณอยู่เบื้องหลังพรรคพลังประชาชนและการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่มาโดยตลอด

เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้การนำของคุณสมัคร สุนทรเวช ประชาชนทั่วไปก็เชื่อว่าความขัดแย้งที่ทุกฝ่ายเคยมี จะหาทางสมานฉันท์กันได้ ด้วยปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้าจากราคาน้ำมันและราคาข้าวของทุกชนิดถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว น่าจะทำให้ทุกฝ่ายละทิ้งความขัดแย้งทางการเมือง หันหน้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจก่อนเพื่อความอยู่รอดของประเทศชาติ ดูเหมือนว่าทั้งสองฝ่ายจะพักรบ คุมเชิงกันชั่วคราว แต่เพียงไม่กี่เดือนรอยร้าวก็เริ่มปรากฏให้เห็น เมื่อผู้นำรัฐบาลใช้ท่าทีแข็งกร้าวกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับตน มีการยึดกุมสื่อไว้ในมือ ย้ายข้าราชการชั้นสูงหลายตำแหน่ง และล่าสุดเมื่อพรรคพลังประชาชนประกาศว่าจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ ก็ได้กลายเป็นชนวนและตัวเร่งปฏิกิริยาให้การเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่ายรุนแรงขึ้น

ฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเร่งด่วนอ้างว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย มีรากมาจากรัฐประหาร ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ขณะที่ฝ่ายคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญในเวลานี้เชื่อว่า พรรคพลังประชาชนต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งผ่านการลงประชามติเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่คนเพียงกลุ่มเดียว และกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็รวบรัดตัดตอน ไม่ฟังเสียงของประชาชนเลย

อารมณ์ความไม่พอใจของมวลชนทั้งสองฝ่ายเริ่มคุกรุ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ จากความเห็นที่สวนทางกัน ต่างฝ่ายต่างแสดงความไม่เห็นด้วยกับอีกฝ่ายผ่านสื่อต่างๆ โดยตั้งอยู่บนอคติโกรธเกลียดมากกว่าเหตุผลจนส่อเค้าว่าสถานการณ์อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงอีกครั้งหนึ่ง แม้แต่ผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่เคยออกมาเตือนสติสังคมไทยในเวลานี้ก็ไม่มีใครยอมฟังอีกต่อไป สังคมไทยแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัดเจน

ดร. เกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เฝ้าติดตามสถานการณ์การเมืองไทยด้วยความห่วงใย ได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจแก่นิตยสารสารคดี ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ว่า "เราจะฝ่าข้ามไปได้อย่างไร" แสงสว่างตรงปลายอุโมงค์ของสังคมไทยยังพอมองเห็นอยู่

สัมภาษณ์ ดร.เกษียร เตชะพีระ
เราจะฝ่าความขัดแย้งในสังคมไปได้อย่างไร

เลิกจินตนาการถึงสังคมอุดมคติที่มีเอกภาพ
๐ ความขัดแย้งในสังคมไทยขณะนี้ที่มีการแบ่งขั้วเป็นหลายฝ่าย โดยเฉพาะขั้วใหญ่สองขั้วคือขั้วที่เรียกว่าอำมาตยาธิปไตย กับขั้วที่จะเรียกว่าทุนนิยมสามานย์ อาจารย์คิดว่ามีทางไหมที่จะลดการเผชิญหน้าและหาทางออกที่ดีกว่า

๐ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ ความขัดแย้งแบบนี้จะคงอยู่กับเราไปอีกหลายปี ผมคิดว่าสิ่งที่เราควรจะเลิกคิดแต่ต้นคือ จินตนาการเห็นสังคมไทยในอนาคตที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต่อให้อีก ๕ ปี ๑๐ ปีข้างหน้าระบบราชการก็ยังอยู่กับเมืองไทย บรรดาสถาบันประเพณีที่เราเคยมีมาในสังคมก็ยังคงอยู่. ในแง่กลับกันอีก ๕ ปี ๑๐ ปีข้างหน้า กลุ่มทุนใหญ่ของเมืองไทย และความพยายามของกลุ่มทุนเหล่านั้นร่วมกับคนจนคนชายขอบซึ่งเขาเดือดร้อนและเขาอยากจะเข้ามามีส่วนใช้อำนาจรัฐ ก็ยังอยู่ในเมืองไทย เขาจะได้เข้ามากุมอำนาจรัฐแบบเด็ดขาดเหมือนสมัยคุณทักษิณหรือเปล่า อันนี้ไม่แน่ แต่ว่าเขาไม่หายไปจากสังคมการเมืองไทยแน่ ๆ

ประวัติศาสตร์ความขัดแย้ง ๓ ระลอก
เราเริ่มต้นแบบนี้ก่อนว่า อย่าจินตนาการเห็นสังคมไทยแบบที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราต้องอยู่ด้วยกันให้ได้ แล้วเราจะอยู่กันอย่างไร นี้ต่างหากที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาของข้อขัดแย้งที่ผ่านมา. ที่ผ่านมาเมืองไทยเผชิญเหตุการณ์แบบนี้มาเป็นระยะ ในแต่ละระยะก็มีความเดือดร้อนวุ่นวายพอสมควร ตัวอย่างระลอกใหญ่ระลอกแรกเกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๗ กลุ่มที่เข้ามาคือนายทุนต่างชาติ เจ้าอาณานิคมทั้งหลาย แล้วก็มีกลุ่มคนที่เติบใหญ่ขึ้นมากับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือข้าราชการ ซึ่งก็คือคนชั้นกลางในสมัยนั้น เมื่อเขาเข้มแข็งในสังคมพอสมควร เขาต้องการส่วนแบ่งอำนาจและผลประโยชน์มากขึ้น เขารู้สึกว่าอำนาจการเมืองแบบเดิมที่อยู่กับศูนย์อำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มันไม่สอดรับไม่สนองตอบผลประโยชน์ของเขา ในที่สุดก็ลงเอยเป็น เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕

ระลอกใหญ่ระลอกที่ ๒ คือตอน ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ ซึ่งเหตุที่เกิดก็คือ กลุ่มศูนย์อำนาจรัฐราชการเดิมต้องการความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจ อยากให้ประเทศไทยทันสมัยก้าวหน้า การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมก็สร้างคนชั้นกลางแบบที่เกิดในภาคประชาสังคมเมืองขึ้นมา สร้างนิสิตนักศึกษาปัญญาชนขึ้นมา สร้างกลุ่มนายทุนทั้งในกรุงเทพฯ ทั้งในต่างจังหวัด ซึ่งพวกนี้ก็อึดอัดอีกเพราะว่า ระบบการเมืองแบบเดิมตีกรอบจำกัดไว้ให้อำนาจเฉพาะข้าราชการ อันเป็นมรดกสืบทอดที่พลิกผันเปลี่ยนแปรมาจากสมัย ๒๔๗๕ ผ่านการรัฐประหารช่วง ๒๔๙๐ - ๒๕๐๑ อีกส่วนหนึ่ง ในเมื่อระบบการเมืองเดิมไม่สนองตอบต่อคนกลุ่มใหม่ที่เกิดขึ้นมา ถึงจุดหนึ่งมันก็ปะทุ ตอน ๑๔ ตุลาผมคิดว่าใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะหาที่ลงตัวให้แก่คนชั้นกลางกับกลุ่มทุนทั้งในหัวเมืองต่างจังหวัดทั้งในกรุงเทพฯ ที่เติบใหญ่ขึ้นมาได้ ในสายตาผมระลอกนั้นยาวนานร่วม ๒๐ ปี จาก ๑๔ ตุลา ๒๕๑๖ กว่าจะจบลงก็คือ เหตุการณ์พฤษภา ๒๕๓๕ แล้วสู้กันหลายรูปแบบมาก ตั้งแต่เดินขบวนประท้วงและลุกฮือขึ้นสู้ในเมือง เผชิญการใช้ความรุนแรง ลอบสังหาร ฆ่าหมู่และรัฐประหารตอน ๖ ตุลา จนต้องเข้าป่าไปรบแล้ววางอาวุธออกมา และต่อมาก็ชุมนุมประท้วงลุกขึ้นสู้อีก แต่ในที่สุดผมคิดว่าหลัง ๒๕๓๕ ตกลงได้แล้วว่าการเมืองต้องเปิดขึ้น ต้องมีที่ให้กับกลุ่มนายทุนหัวเมืองชนบทเข้ามาในรูปของพรรคการเมือง ในรูปของนักเลือกตั้ง ต้องมีที่ให้คนชั้นกลางเข้ามาร่วมสมทบในระบบการเมือง ผ่านการปฏิรูปการเมือง ผ่านสถาบันต่าง ๆ

ความขัดแย้ง ระลอกที่ ๓ ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์
ที่เราเผชิญตอนนี้เป็นระลอกใหญ่ระลอกที่ ๓ ซึ่งเกิดเพราะเราเลือกโลกาภิวัตน์ เราเลือกเอง หรือพูดอีกอย่างว่าชนชั้นนำไทยทางด้านการเมืองเศรษฐกิจเลือกเอง หลังสิ้นสุดสงครามเย็นช่วงพฤษภาทมิฬ เราเลือกแล้วว่าเราจะ globalization เราจะเปิดประเทศรับกลุ่มทุนการเงินต่างชาติต่าง ๆ เข้ามาอย่างเสรี แล้วเดินตามตรรกะทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนโลก ตรรกะนั้นก็คือ เราจะเอาทรัพยากรของเรา เอากำลังแรงงานของเรา เอาสินค้าเกษตรเอาวัตถุดิบต่าง ๆ พลังงานต่าง ๆ แปรเป็นสินค้าส่งขายเขา เข้าร่วมในระบบการเงินของโลก เพราะเราเชื่อว่านั่นจะทำให้ประเทศไทยเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ เราจะรวย มีความภาคภูมิใจกันมากว่าเราจะเป็นฮับหรือศูนย์กลางต่าง ๆ กระบวนการนั้นในที่สุดก็สร้างคนกลุ่มใหม่ขึ้นมา คือกลุ่มที่รวยกะทันหันเพราะเชื่อมต่อกับกระแสโลกาภิวัตน์ได้หรือคว้าไว้ทัน ที่สำคัญคือพวกที่โตจากตลาดหุ้น กระแสเงินสากล และไฮเทค พวกดาวเทียมไอทีต่าง ๆ

กับอีกกลุ่มหนึ่งคือคนที่จนจากโลกาภิวัตน์ คือกลุ่มคนที่จะเรียกว่าเดิมอยู่กับเศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจพอเพียงก็ได้ จากความเปลี่ยนแปลงแบบโลกาภิวัตน์ทำให้เขาสูญเสียฐานทรัพยากรไป เขาไม่สามารถใช้แม่น้ำใช้ป่าใช้ที่ดินเดิมเพราะมันถูกแปรไปเป็นรีสอร์ตเป็นเขื่อน เขาก็หลุดมา เขาหลุดมาเพราะว่าเขายังชีวิตโดยเป็นคนกึ่งเมืองกึ่งชนบท อยู่ชนบทแบบเดิมก็ไม่ได้เต็มที่เพราะว่า ฐานทรัพยากรหมดแล้ว จะเข้าเมืองมาดิ้นรนสู้ก็ไม่สำเร็จไม่ร่ำรวย เพราะขาดการศึกษาขาดทักษะที่ตลาดต้องการ คนสองกลุ่มนี้ ในที่สุดเป็นกลุ่มที่ได้รับบทเรียนครั้งสำคัญตอนวิกฤตเศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ บทเรียนที่ว่าก็คือการปล่อยให้อำนาจรัฐ อำนาจบริหาร จัดการเศรษฐกิจเรื่องการเงินการคลังอยู่ในมือคนอื่นนั้น อาจจะจัดการมันไปในทิศทางที่กระทบผลประโยชน์ของเขาก็ได้

ดังนั้นผลจากวิกฤตเศรษฐกิจ ค่าเงินบาทลดฮวบ หนี้ที่ไปกู้นอกมาเพิ่มเป็นไม่รู้กี่เท่าตัวในเวลาอันสั้น ธนาคารโรงงานร้านรวงปิดตัวล้มละลาย ลูกจ้างพนักงานตกงานเกลื่อนกลาดต้องดิ้นรนกลับไปหากินในชนบท บทเรียนของคนสองกลุ่มนี้คือเขาต้องมีส่วนแบ่งอำนาจรัฐ เขาต้องขอส่วนแบ่งอำนาจในการจัดการผลประโยชน์จัดการทรัพยากรของประเทศ เพียงแต่ว่าแทนที่เขาจะปฏิวัติแบบคณะราษฎรสมัย ๒๔๗๕ แทนที่เขาจะเดินขบวนลุกขึ้นสู้แบบนักศึกษาคนชั้นกลางตอน ๑๔ ตุลา ผมคิดว่ารูปการต่อสู้ทางการเมืองของเขาซึ่งมันชอบธรรมในยุคสมัยนี้คือ จัดตั้งพรรคการเมืองแล้วลงเลือกตั้ง ก็มาในรูปพรรคไทยรักไทย เพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐ ขอส่วนแบ่งอำนาจรัฐ ต้องการเข้าถึงอำนาจรัฐเพื่อใช้อำนาจรัฐนั้นมาบริหารจัดการความเสี่ยงของเขาในท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจการเมืองโลกาภิวัตน์

ผมคิดว่าในกระบวนการนั้น มันก็ไปกระทบกับอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มที่ครองสังคมเศรษฐกิจการเมืองไทยอยู่แล้ว อำนาจแบบของสมัยรัฐบาลทักษิณก็เป็นอำนาจที่รวบเข้ามาที่ตัวนายกรัฐมนตรี ตัวพรรคไทยรักไทยมาก แล้วเข้าไปบริหารจัดการผลประโยชน์กับทรัพยากรของประเทศอย่างค่อนข้างเบ็ดเสร็จ จึงทำให้มีคนที่รู้สึกไม่มั่นคงถูกคุกคามจำนวนหนึ่ง ได้แก่พวกกลุ่มทุนเก่า กลุ่มคนชั้นกลางทั้งหลาย มันเลยนำมาซึ่งการชุมนุมประท้วงในรูปของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และในที่สุดก็คือรัฐประหารในวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙

๐ แต่เลือกตั้งครั้งใหม่ก็กลับมาอีก
๐ มีคำสั่งประกาศ คปค. (คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) มีการตั้งองค์กรต่าง ๆ มากมายไปหมดเพื่อจะเช็คบิลเล่นงานรัฐบาลทักษิณกับพรรคไทยรักไทย แต่ในที่สุดพอจะเลือกตั้ง ทั้งที่ถูกยุบพรรคไปแล้ว เขาก็สามารถรวมกลุ่มเป็นพรรคพลังประชาชนแล้วชนะเลือกตั้งอีกจนได้ ตั้งรัฐบาลอีกจนได้ แล้วก็มีนอมินีเป็นนายกฯ อีกจนได้ ดังนั้นสิ่งที่ควรตระหนักก็คือว่า คุณไม่ได้กำลังเกี่ยวข้องกับทักษิณหรือกับกลุ่มของเขาไม่กี่คน ที่คุณคิดว่าจะสามารถใช้บางองค์กร บางคำสั่ง บางมาตราในรัฐธรรมนูญ แล้วกีดกันเขาออกไปแล้วเรื่องจะจบ

ไม่จบหรอก เพราะสังคมเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแล้ว คนรุ่นใหม่เหล่านี้เกิดขึ้นมาแล้ว เขาอยู่แล้ว เขามาแล้ว สังคมไทยต้องหาทางอยู่กับความเปลี่ยนแปลงนี้ให้ได้ ไม่ได้แปลว่าต้องชอบ ไม่ได้แปลว่าต้องยอมรับทุกอย่างที่เกิดขึ้น แต่แปลว่าเราต้องจินตนาการถึงระบอบการเมือง ที่มีที่ทางให้คนกลุ่มนี้เข้ามา แล้วหาทางอย่างไรที่เราจะดำรงชีวิตทางการเมืองอยู่ด้วยกันในสังคมไทยได้ จัดสรรแบ่งปันอำนาจ ทรัพยากร ผลประโยชน์ ปรับทิศทางสังคมไทยที่เราจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไม่ต้องฆ่าฟันกัน

กรอบ กติกา การยุติความขัดแย้ง
ผมรู้สึกว่าการเมืองสองรูปแบบที่ผ่านมา ไม่ว่ารูปแบบที่กลุ่มใหม่ที่ขึ้นมารวบอำนาจหมดแบบในสมัยรัฐบาลทักษิณ กับรูปแบบเพื่อหยุดทักษิณก็ยินดีทำลายระบอบประชาธิปไตยด้วยการรัฐประหาร มันไม่ไหวทั้งคู่ ทั้งสองรูปแบบนั้นสังคมไทยจ่ายต้นทุนแพงมาก เพื่อหาทางออกจากความพลาดพลั้งจากทางตันทางการเมืองทั้งสองรูปแบบนั้น. รูปแบบการเมืองไหนที่จะทำให้พลังทั้งหมดเหล่านี้อยู่ด้วยกันได้ แล้วก็ต่อสู้ขัดแย้งกันต่อไป? ผมไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะต้องรักกัน สมานฉันท์กันแล้วจบ ไม่ใช่.

การต่อสู้ขัดแย้งยังจะมีอยู่ต่อไป แต่เราต้องนึกถึงระบอบที่ทำให้การต่อสู้ขัดแย้งนั้นมันมีกรอบมีกติกา แล้วไม่ต้องลุกขึ้นมาฆ่าฟันและทำร้ายสังคมไทยเองในกระบวนการที่จะโค่นล้างเอาชนะ ระบอบแบบนั้นอาจใช้คำดังที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ใช้ว่า"รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย" ในความหมายที่ว่ามีวัฒนธรรมการเมืองบางอย่างในสังคมไทยที่อาจไม่อยู่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเอาเข้าจริงรัฐธรรมนูญนั้นถูกฉีกได้แต่คุณฉีกวัฒนธรรมการเมืองไทยไม่ได้ ผมคิดว่าถ้าเราสามารถสร้างหรือรักษารัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยเพิ่มเติมขึ้นมาสัก ๓-๔ มาตรา จะเป็นหลักประกันยิ่งใหญ่กว่าการแก้รัฐธรรมนูญที่กำลังจะแก้กันอยู่ตอนนี้

รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรม ๔ ข้อ
๐ รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมเพิ่มเติมที่ว่าจะประกอบด้วยอะไรบ้างครับ
๐ รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมที่ผมคิดว่าพอจะช่วยได้นั้นประกอบด้วย

มาตราแรก อย่าใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมือง
ที่ผ่านมาทั้งสองฝ่ายใช้และอ้างสถาบันกษัตริย์ทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามเหมือนกัน ไม่ว่าฝ่ายพันธมิตรฯ หรือฝ่ายคุณทักษิณ ด้วยน้ำหนักด้วยจังหวะที่อาจจะต่างกันบ้าง ผลคืออะไร? ผลคือว่าพอคุณอ้างสถาบันกษัตริย์เข้ามาอยู่ข้างคุณทางการเมือง คุณขยายความขัดแย้ง เพราะว่าสถาบันกษัตริย์มีสถานะพิเศษในสังคมไทย เป็นสถาบันที่เป็น "ของชาติ" หรือของคนไทยทุกคน พอคุณดึงลงมาแล้วบอกว่าอยู่ข้างคุณในความขัดแย้งทางการเมืองนี้ คุณกำลังขอให้สถาบันกษัตริย์ซึ่งเลือกข้างไม่ได้ให้เลือกข้าง คุณกำลังทำให้สถาบันกษัตริย์ซึ่งควรจะเป็นของคนไทยทุกคนในชาติ กลายเป็นของคนไทยบางคนบางฝ่าย และไม่เป็นของคนไทยบางคนบางฝ่าย มันทำให้ความขัดแย้งขยายใหญ่ แล้วการประนีประนอมเกิดขึ้นยาก มันทำให้มีข้ออ้างที่จะใช้ความรุนแรงในการทำลายฝ่ายตรงข้าม บางคนที่ถูกหาว่าเป็นศัตรูของสถาบันกษัตริย์ก็ถูกมองว่าเป็นศัตรูกับชาติ

มาตราที่ ๒ อย่าดึงกองทัพเข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมือง กรณีที่เกิดขึ้นคือเมื่อขัดแย้งกันไปถึงจุดหนึ่งแล้วหาทางออกไม่ได้ ดุลกำลังการเมืองก้ำกึ่ง ก็หันไปดึงกองทัพเข้ามาแล้วใช้กำลังอาวุธตัดสินความขัดแย้ง ปืนชนะ ทำเช่นนั้นอันตราย เพราะเอาเข้าจริง คุณไม่ได้ชนะทางการเมือง ทันทีที่ทหารเก็บปืนถอนตัวกลับเข้ากรมกองมาเกิดอะไรขึ้น? การเมืองก็พลิกอีก แล้วมันสร้างแบบอย่างที่น่ากลัวขึ้นมา คุณมีหลักประกันอะไรว่าถ้าคุณดึงกองทัพดึงทหารเข้ามาเกี่ยวข้องในความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งมีลักษณะโครงสร้างซึ่งมีลักษณะระยะยาวแบบนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ทำลายล้างบางคนแล้วจบ ไม่เลย นี่เป็นเกมยาว แล้วคุณดึงทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง คุณรู้แน่ได้อย่างไรว่าทหารจะไม่แตกแยกหรือกระทั่งจับปืนยิงกันเองเข้าสักวันหนึ่ง

มาตราที่ ๓ และ ๔ รักษาพื้นที่เสรีภาพ และรักษาพื้นที่ประชาธิปไตย
สองมาตรานี้ไปด้วยกัน ผมคิดว่าบทเรียนที่เราได้ก็คือว่า ในช่วงที่กลุ่มพลังทางการเมืองต่าง ๆ ต่อสู้กัน สิ่งที่เขาทำลายไป สิ่งที่เขาใช้เพื่อเป็นพื้นที่ เป็นอุปกรณ์ในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม คือ"พื้นที่เสรีภาพกับพื้นที่ประชาธิปไตยของประชาชน"

พื้นที่สิทธิเสรีภาพ หมายถึงสิทธิเสรีภาพในร่างกาย ชีวิต ทรัพย์สิน สิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและแสดงออกของประชาชนพลเมือง แต่แล้วเพื่อขจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง คนเหล่านี้พร้อมจะเหยียบย่ำทำลายพื้นที่นี้ เล่นงานสื่อ เล่นงานคนที่มาประท้วงต่อต้านคุณ ในแง่กลับกัน กรณีพื้นที่ประชาธิปไตย เพื่อจะกำจัดกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง พวกเขาก็พร้อมที่จะหยุดการเลือกตั้งหยุดการปกครองในระบอบรัฐสภา ซึ่งมันอันตรายมากถ้าทำลายสองพื้นที่นี้ เพราะพื้นที่สองพื้นที่นี้เป็นหลักประกันว่าความขัดแย้งจะอยู่ในกรอบ ความขัดแย้งจะมีที่ยุติ มีเกมที่เปิด มีการจบเกมเพื่อเล่นเกมใหม่ แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายไม่เคารพพื้นที่สิทธิเสรีภาพ ไม่เปิดโอกาสให้คนโต้แย้งกับผู้มีอำนาจ ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นผู้มีอำนาจ

ซึ่งผมอยากจะบอกว่าเรคคอร์ดของทั้งสองฝ่ายแย่ทั้งคู่ในเรื่องสิทธิเสรีภาพ สมัยรัฐบาลทักษิณไปถามพวกสื่อมวลชนก็ได้ ไปถามพันธมิตรฯ ก็ได้ว่าโดนอะไรเข้าไปบ้าง สมัย คปค. สมัยรัฐบาลสุรยุทธ์ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับ คปค. กับรัฐบาลสุรยุทธ์ก็โดนควบคุมตัว ก็ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ไปถามพวก นปก. (แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ) ก็ได้. พอคุณทำแบบนี้เกิดอะไรขึ้น มันก็เท่ากับคุณไล่เขาลงใต้ดินไปใช้วิธีการต่อสู้รุนแรงนอกระบบ แทนที่คุณจะเปิดพื้นที่สิทธิเสรีภาพให้ความขัดแย้งต่อสู้กันทางความคิดการเมือง ต่อสู้กันทางนโยบายอย่างเปิดเผยในกรอบกติกา แล้วรักษาพื้นที่ประชาธิปไตยไว้ตัดสินผ่านเสียงข้างมากในการเลือกตั้งว่าในเกมนี้ใครชนะ แปลว่าคนแพ้จบเห่ไหม? ไม่ คนแพ้ก็สู้ต่อเพื่อลงเลือกตั้งครั้งหน้า อาศัยกฎเกณฑ์กติกาเท่าที่มีต่อต้านคะคานเสียงข้างมาก ถ้าเราทำลายหลักประชาธิปไตยลงไป เราไม่ยอมให้เกมยุติที่เสียงข้างมาก มันก็ไม่มีที่ยุติ และเพราะเราไม่ยอมให้มีที่ยุติไม่ใช่หรือ ทุกวันนี้มันก็เลยเล่นเราต่อ

ดังนั้นถ้ารักษา ๔ มาตรานี้ไว้ได้ รักษาพื้นที่สิทธิเสรีภาพ รักษาพื้นที่ประชาธิปไตย ขัดแย้งกันภายในสองพื้นที่นี้, อย่าเอาสถาบันกษัตริย์มาเป็นเครื่องมือทางการเมือง, อย่าเอาทหารเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง. ผมคิดว่าในที่สุดสังคมไทยคงจะเจอทางออกว่า เราจะใช้สูตรการเมืองไหนที่เราจะอยู่ร่วมกันได้ จะเขียนรัฐธรรมนูญออกมาอย่างไรที่ทำให้พลังของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมาจากโลกาภิวัตน์ กลุ่มทุนใหญ่ กลุ่มคนชายขอบ กับกลุ่มอำนาจเก่า กลุ่มคนชั้นกลาง อยู่ร่วมกันได้ในสังคมไทย


สมเกียรติ ตั้งนโม วิเคราะห์ "เมื่อปืนใหญ่ 2 กระบอกยิงใส่กัน"
เรื่องโดย : ทิพย์สุดา มะสิทธิ์ / นพสร แก้วศรีคำ...เรียบเรียง
(บทสัมภาษณ์นี้ ได้รับการปรับปรุงแล้วโดยผู้ให้สัมภาษณ์)

รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นฉบับชั่วคราวที่ทำขึ้นมาเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้าม เมื่อมีลักษณะชั่วคราว หรือที่เรียกว่า "ฉบับล้างแค้น" และเมื่อเราได้พรรคการเมืองมาแล้ว พรรคการเมืองก็ต้องแก้ และหากพิจารณาก็จะพบว่า การแก้ไขนี้ ไม่ได้แก้เพื่อผลประโยชน์ประชาชนเลย
30 พฤษภาคม 2551

หมายเหตุ : รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เป็นวิทยากรกล่าวสนทนาในรายการ "มองคนละมุม" ทางคลื่นเสียงสื่อสารมวลชน Fm100 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย มาณพ คีรีภูวดล ออกอากาศในวันเสาร์ที่ 31 พ.ค.นี้ เวลา 7.00 - 7.30 น. สำนักข่าวประชาธรรมเห็นว่าเนื้อน่าสนใจ จึงเรียบเรียงมานำเสนอ ณ ที่นี้

ถาม - เสนอแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญด้วยการลงประชามติ
๐ การลงประชามติเพื่อให้มีการแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นการเล่นไพ่แบบเอาเปรียบ หมายความว่าพรรคพลังประชาชนย่อมรู้อยู่แก่ใจว่า หากเอาเรื่องนี้ไปลงประชามติต้องชนะแน่นอน อะไรเป็นตัวชี้วัดว่าจะชนะแน่ ก็คือ ในการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว จะเห็นว่าพรรคพลังประชาชนเข้ามาถึง 230 กว่าเสียง ดังนั้นเสียงที่อยู่ตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในกรุงเทพฯ จึงเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่พรรคพลังประชาชน ดังนั้น สามารถเอาคนมาลงประชามติเพื่อให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อย่างไม่ยากเย็น. วิธีการเช่นนี้จึงเสียเงินเปล่าๆ ไปกว่า 2,000 ล้านบาท เพราะคำตอบรู้ล่วงหน้าอยู่แล้วว่า แม้ลงประชามติก็จะชนะแน่นอน ด้วยเหตุนี้ เกมส์ดังกล่าว ผมคิดว่าเลิกเลยดีกว่า เพราะว่าประชาชนจะเสียภาษีอีก 2,000 กว่าล้าน เพื่อให้พรรคพลังประชาชนแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ประเด็นของผมที่อยากจะพูดคือ ปัจจุบันทั้ง 2 ฝ่ายมีการทะเลาะกัน ขอยกคำอุปมาอุปมัยว่าเป็น "ปืนใหญ่ 2 กระบอกยิงใส่กัน" เท่านั้นเอง และคนที่ควบคุมปืนใหญ่ซึ่งกำลังยิงใส่กันอยู่นี้ ไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนเลย ดังนั้นจริงๆ แล้วประชาชนอย่าเข้าไปยุ่ง การตีกันหรืออะไรก็แล้วแต่ถ้าสื่อไม่ประโคมข่าว แต่ใช้วิธีสืบสาวหาต้นตอว่า กลุ่มจัดตั้งทั้งสองกลุ่มเป็นใคร เราก็จะเห็นภาพขัดเจนว่า มันไม่ใช่ประชาชนที่ตีกัน มันเป็นกลุ่มจัดตั้งระหว่างพันธมิตรฯ กับอีกกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มต้านพันธมิตรฯ ซึ่งคิดว่าประชาชนคงรู้ว่าเป็นใคร จริงๆ แล้วเรื่องนี้คิดว่าควรไปหาที่ตีกันที่มันไม่เกี่ยวข้องกับสังคม เช่น ในสนามฟุตบอลใหญ่ๆ แล้วไปบอกตำรวจด้วยว่าเราจะตีกัน เรื่องนี้สังคมย่อมมองเห็นว่า เกมส์นี้เป็นเกมส์ที่ถูกปั่นขึ้นมา เป็นความไม่พอใจส่วนตัว ซึ่งไม่ต้องเอ่ยชื่อก็คงนึกกันออกว่าใครกับใคร แล้วพยายามปั่นกระแสขึ้นมา และเป็นเกมส์แบบไม่ยอมแพ้ ขอโทษ ! การเลือกตั้งเมื่อเดือนธนวาคมปีที่แล้ว มันตัดสินไปแล้วว่า 230 กว่าเสียงนั้นเป็นของใคร และมีฝ่ายหนึ่งไม่ยอมแพ้ก็พยายามที่จะปั่นกระแสขึ้นมาอีก ดังนั้นจริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องความขัดแย้งส่วนตัวและเรื่องผลประโยชน์ ประชาชนไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลย กลับเป็นผู้เสียผลประโยชน์ ถูฏอ้างเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตย

กลุ่มที่ออกมาตีกันที่เห็นชัดเจนคือกลุ่มหนึ่งโพกผ้าเหลืองและเขียนว่า "พันธมิตร" ซึ่งข่าวก็ไม่ค่อยเสนอ ต้องไปดูในเว็บไซต์ต่างๆ ถึงจะเห็นภาพแบบนี้ มีการกระทืบคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามคาป้ายรถเมย์ เป็นคนแก่ด้วย เห็นอะไรก็ตีไปหมด ซึ่งภาพแบบนี้เราไม่ค่อยเห็น แต่ไปโผล่อยู่ในบางเว็บไซต์ เช่นที่เว็บพันธ์ทิพย์ ประชาไท ส่วนข่าวที่รายงานก็คืออีกฝ่ายหนึ่งขว้างปาขวดน้ำ ก้อนหิน ถือไม้ยาว นี่ก็คือภาพที่สื่อไปขยาย แต่หากดูจริงๆ จะเห็นว่าเป็นกลุ่มจัดตั้งทั้งคู่ ในประเด็นนี้ ผมเห็นว่าสื่ออย่าไปทำให้ประชาชนตื่นตกใจมาก สื่อควรทำข่าวเชิงลึก สื่อควรทำข่าวเชิงสืบสวน ที่ย้ำไว้แต่ต้นเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริง ประชาชนก็จะได้รู้ข้อเท็จจริงมากกกว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นวันต่อวันอย่างนี้

ผมคิดว่าสำหรับคนที่อยากแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอยู่หลายฝ่าย แต่อันดับแรกเรามาวิเคราะห์กันก่อนว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 มีความเป็นมาอย่างไร เราจะเห็นว่ามันมาในแบบที่ไม่ถูกต้อง คือมาจากการทำรัฐประหาร ภายหลังการรัฐประหารมีการตั้งกลุ่มขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญ ที่พยายามจะกำจัดพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม ดังที่ปรากฏในมาตรา 237 หรือคุ้มครองเหตุการณ์ที่ผ่านมาเกี่ยวกับการทำรัฐประหาร เช่นมาตรา 309 คุณจะเห็นว่ามันมีรัฐธรรมนูญแบบนี้หรือครับ ในสังคมที่เขาเจริญแล้วเขามีรัฐธรรมนูญแบบนี้หรือ

ดังนั้นจะเห็นว่า มันจึงเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ทำขึ้นมาเพื่อกำจัดฝ่ายตรงข้าม ฉะนั้นมันจึงเป็นรํฐธรรมนูญฉบับเฉพาะกาล มีลักษณะชั่วคราว หรือที่ผมเรียกว่า "ฉบับล้างแค้น" และเมื่อเราได้พรรคการเมืองมาแล้วพรรคการเมืองก็ต้องแก้ และหากพิจารณาก็จะพบว่าการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มันไม่ได้แก้เพื่อผลประโยชน์ประชาชนเลย

ด้วยเหตุนี้ เราจึงเสนอทางเลือกที่สามขึ้นมาคือ กรณี 137 นักวิชาการทั่วประเทศซึ่งได้ร่วมกันลงชื่อเพื่อหาทางออกให้กับสังคม
โดยมีข้อเสนออยู่ 4 ข้อคือ

1.ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขั้นมาทั้งฉบับ เป็นฉบับถาวร
2. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นอิสระ ไม่ฝักไขว่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่สังกัดพรรคการเมือง และต้องเป็นตัวแทนประชาชนทั้งหมดขึ้นมาร่วมร่าง

3.หลังจากที่ได้รับรัฐธรรมนูญฉบับร่าง ต้องนำไปทำประชาพิจารณ์ เพื่อหาข้อดี ข้อเสีย และทำการแก้ไข
4. ท้ายสุดให้นำร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขแล้วไปทำการลงประชามติ และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญถาวร

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ผมขอเรียกว่า รัฐธรรมนูญฉบับสังคมเป็นเจ้าภาพ

การรัฐประหารที่ผ่านมา
คิดว่าเรื่องการรัฐประหาร การใช้อำนาจทางการทหารเข้ามาควบคุมบ้านเมือง ต้องย้อนกลับไปดูประสบการณ์ในวันที่ 19 กันยายน 2549 ว่าเราได้อะไรจากวันนั้นรึเปล่า เห็นด้วยกับอาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปะกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย.เชียงใหม่ ที่พูดไว้ว่า เหตุการณ์ปฏิวัติปีครึ่งที่ผ่านมาเราได้วันที่ 20 กันยายนมา กล่าวคือ เสียเวลาและไม่ได้อะไรเลย เว้นแต่ไข้หวัดนกที่ดูจะสงบราบคาบไปในช่วงเวลานั้น

1 ปีครึ่งหลังเหตุการณ์รัฐประหารเป็นเหมือน "สูญญากาศทางการเมือง" การทำรัฐประหารจึงไม่ใช่ทางออก เพราะไม่สามารถที่จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ได้ ผมและคณาจารย์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไม่เคยคิดว่าจะเชียร์พรรคไหน รวมถึงพวกเรานักวิชาการ 137 คนทั่วประเทศ พยายามหาทางเลือกที่สาม เพื่อเป็นทางออกที่ถาวรและมั่นคงให้กับสังคมโโยภาพรวม ผมไม่เคยมีจุดยืนและเชื่อมั่นในระบบการเมืองประชาธิปไตยแบบตัวแทนอย่างที่เป็นอยู่นี้ เพราะมันไม่เคยเป็นผู้แทนราษฎรอย่างแท้จริงแบบนี้มานานแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่ต้องการบอกก็คือ ประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอธิปไตย นั่นคือทางออกจริงๆ นันคือการมองถึงทางออกที่ยั่งยืน

หากเกิดการรัฐประหารจะป้องกันอย่างไร
จากประสบการณ์ การประเมินสถานการณ์ถ้าเกิดรัฐประหารจะทำอย่างไร ก็คงไม่อาจยับยั้งได้ ผมยังไม่เคยเห็นทหารที่มีอาวุธครบมือออกมาทำรัฐประหารแล้ว มีใครสามารถยับยั้งได้ ถ้าทหารด้วยกันเองไม่ออกมาต้าน ประชาชนจะต้านอย่างไร? ในส่วนตัวคิดว่าถ้าทำรัฐประหารอีก ก็สำเร็จอีก สิ่งสำคัญคือ การรัฐประหารให้คำตอบอะไร สังคมได้ประโยชน์อะไร? ที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่า สังคมไทยต้องจ่ายให้เหตุการณ์เหล่านี้ไปเท่าไหร่ ผลที่ได้รับคือความสูญเปล่า สังคมยังคงแบ่งขั้วแยกข้างเหมือนเดิม เพราะไม่ได้ไปแก้ที่ตนเหตุในเรื่องทุนนิยมตีกัน พวกหนึ่งพ่ายแพ้ต่อกระแสโกาภิวัตร อีกพวกหนึ่งโดยสารขบวนรถไฟสายโลกาภิวัตน์ได้ทัน

และเหตุการณ์นี้บานปลาย สื่อประโคมข่าวจนประชาชนตกใจ อาจเป็นไปได้ที่จะมีมือที่สามเข้ามา โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อลดวิกฤตและกระแสความรุนแรงนี้ ซึ่งมันก็จะย้อนกลับไปยังวงจรอุบาทว์เช่นว่า นั่นคือการทำรัฐประหารซ้ำซาก เป็นการข่มขืนซ้ำซ้อนและเราก็จะได้ทายาทปีศาจตัวใหม่ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นอะไรอีก คราวที่แล้ว เราก็ได้รัฐธรรมนูญฉบับล้างแค้น องค์กรที่ทำหน้าที่ไต่สวนจำเลยของตัวด้วยตนเอง ซึ่งเป็นกระบวนการยุติธรรมที่ไม่มีที่ไหนในโลก ยกเว้นประเทศที่มีมาตรฐานเดียวกัน

เราอย่าใช้ต้นทุนที่มีน้อยอยู่แล้วไปกับการสุ่มเสี่ยงเหล่านี้ ควรพิจารณาข้อเสนอต่างๆ ของหุ้นส่วนทางการเมือง หรือหุ้นส่วนประชาธิปไตยในหลายๆ ส่วน ไม่ใช่เฉพาะของ 137 นักวิชาการทั่วประเทศเท่านั้น ถ้ามีองค์กรอื่นออกมาเสนอ สื่อ ประชาชนก็ควรรับฟัง เพราะจะเป็นทางออกที่มากกว่าหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่แค่การรัฐประหาร มันดีกว่าปืนใหญ่สองกระบอกที่ยิ่งใส่กัน แล้วสื่อก็ประโคมข่าวใหญ่โต

การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายนักวิชาการ 137 คน
ในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายนักวิชาการ 137 คน ไม่ใช่จุดประสงค์เดียวกันกับพรรคพลังประชาชน เพราะเราเสนอให้ร่างใหม่ทั้งฉบับโดยสังคมเป็นเจ้าภาพ. เรื่องแก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญของพันธมิตรฯ กับพรรคพลังประชาชนเกมส์นี้เป็นการหยิบเอารัฐธรรมนูญเป็นตัวตั้ง เพื่อการชำระแค้นส่วนตัว ดังนั้น ข้อเสนอของ 137 นักวิชาการ ผมคิดว่าทั้งสองฝ่ายจะไม่รับ คำถามคือ ถ้าเช่นนั้นฝ่ายที่สามคือประชาชนส่วนใหญ่เลือกอะไร? เราอย่าด่วนตัดสินว่าฝ่ายพันธมิตรฯ ไม่เอาแล้วจะสำเร็จ หรือฝ่ายพลังประชาชนไม่เอาแล้วจะไม่มีการแก้ไข

ย้อนกลับไปในปี 2539 นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี ช่วงนั้นธงเขียวสะบัดไปทั่วประเทศ ไฟหน้ารถเปิดหมด ทำให้แรงกดดันทุกภาคส่วนสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ และ 137 นักวิชาการก็จะรณรงค์ประเด็นเหล่านี้ต่อไป เสนอให้ทุกคนเริ่มใช้ริบบิ้นสีเขียว ใส่เสื้อเขียว หรือชูธงเขียว เพื่อให้สังคมแสดงให้เห็นประจักษ์ว่า มันมีทางออกที่เป็นสันติภาพถาวร เป็นประชาธิปไตยที่มั่นคง จะเอาหรือไม่เอา คือทางเลือกในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ย้อนกลับไปในช่วงก่อนเกิดการณ์วิกฤต 19 กันยายน 2549 มันมีวิธีการแก้ไขอยู่หลายทาง หนึ่งในนั้นคือ การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงใช้พระราชอำนาจผ่านมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ผ่านบุคลากรที่อยู่ในฝ่ายตุลาการ ก็จะเห็นว่าผลงานออกมาเรื่อยๆ เริ่มมีการนำคดีเรื่อง CTX เข้าสู่ขบวนการพิจารณา, เริ่มมีการตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ โดย กกต.ก็ได้รับผลไปแล้ว, อันต่อมาเรื่องคดีการขายหุ้นให้เทมาเส็ก, การแปรรูปการไฟฟ้า ภาคประชาชนไม่เห็นด้วย ศาลปกครองก็เอากลับคืนมา ผลงานที่ดำเนินไปตามครรลองของรัฐธรรมนูญผ่านกลไกกระบวนการยุติธรรมกำลังทำงานอยู่ แม้ว่าจะช้า เพราะต้องเปิดโอกาสให้การนำหลักฐานมาต่อสู้หักล้างกัน. ผมไม่ปฏิเสธว่าก่อนหน้านั้นพรรคไทยรักไทยได้เข้ามาแทรกแซงองค์กรอิสระ มีการแทรกแซงเข้าไปในฝ่ายตุลาการ มีการคอร์รับชั่นเชิงนโยบาย แต่ก็เริ่มมีอะไรหลายสิ่งหลายอย่างที่ค่อยๆ ถูกปรับแก้ ทั้งหมดมีผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญปี 40 ที่มีความบกพร่อง

9/11("นายวันวัน"ประเทศไทย)
ช่วงก่อนการรัฐประหารหลายเดือน หลังการขายหุ้นชินวัตรให้เทมาเส็ก ในส่วนของนักวิชาการ และองค์กรภาคเอกชนจำนวนมากกำลังรณรงค์เสนอให้มีการปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปรัฐธรรมนูญด้วย แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ที่ผมอยากจะเรียกว่า 9/11("นายวันวัน"ประเทศไทย) หรือ 11 กันยาของสังคมไทย ใช่ เกิดการทำรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 แต่ที่ผมเรียกว่า 11 กันยาประเทศไทยเพราะ วันที่ 19 คือ วันที่เหลือ 11 วันที่กองทัพจะมีโยกย้ายทั่วประเทศ กองทัพจะเปลี่ยนรูป จะเห็นว่าเหตุการณ์นายวันวัน เกิดขึ้นโดยช่วงนั้นจะเห็นพลเรือเอกบรรณวิทย์ เก่งเรียน ที่เอาโผไปให้ พล.อ.เปรม ช่วงเวลาดังกล่าว สังคมเห็นถึงกองทัพที่ไม่มีความเป็นเอกภาพ

พล.อ.เปรม ต้องไปแสดงปาฐกถาว่า "ใครเป็นจ็อกกี้ ใครเป็นเจ้าของม้า" คำถามคือทำไมต้องไปพูดกับทหารหลายๆ หน่วย สิ่งเหล่านี้เป็นดัชนีชี้วัดที่เห็นกันอยู่ สนธิไปอ้อนวอนสนธิที่เป็นนายพลกี่ครั้ง สนธิไปหน้าบ้าน พล.อ.เปรมกี่ครั้ง สนธิหยุดประท้วงเพราะเงินหมดกี่ครั้ง ไม่ปฏิวัติสักที จนถึงเหตุการณ์นายวันวันของสังคมไทย ปัญหาในครั้งนั้นมันจึงซับซ้อนกว่าที่เราเห็นมาก เช่น ปัญหาระหว่างกลุ่มทุนใหม่กับกลุ่มทุนเก่าไม่สามารถประนีประนอมกันได้ คิดว่าเหตุการณ์ช่วงนั้นนักประวัติศาสตร์คงบันทึกลงไปในรายละเอียดได้มากอย่างรอบด้านและซับช้อน ปัญหามันมากกว่าเหตุผลเชิงเดี่ยว มันมีบริบทของความซับซ้อนเกี่ยวกับการัฐประหาร

ส่วนเหตุการณ์เช่นนั้นจะกลับมาอีกครั้งหรือไม่ ผมเห็นว่าหากมีวิธีการบริหารจัดการที่ชาญฉลาด ไม่มีมือที่สามที่มีพลังเข้ามายุ่ง เหตุการณ์คงจะไม่บานปลาย ยกตัวอย่างที่ผมอุปมาอุปมัยถึงเรื่องปืนใหญ่ 2 กระบอก ปืนใหญ่ 2 กระบอกมีลูกกระสุน ไม่เท่ากัน ฉะนั้นจึงมีฝ่ายหนึ่งยิงๆ หยุดๆ แต่อีกฝ่ายหนึ่งจะยิงได้ตลอด คิดว่าคงรู้ว่าฝ่ายไหนเป็นฝ่ายไหน เหมือนตอนก่อน 19 กันยา มีการยิงๆ หยุดๆ ถ้าสื่อไม่ประโคมข่าว สื่อต้องไม่ตื่นเต้นเกินไป สื่อใช้วิธีการ Investigative News สื่อต้องสาวไปถึงข้อมูลเชิงลึก ต้องอย่าทำให้ประชาชนตื่นตกใจ เราก็จะได้ข้อเท็จจริง เรื่องมันก็จะจบลงได้ และเริ่มต้นกระบวนการตามที่ 137 นักวิชาการเสนอทางเลือก ให้กับสังคม

ทุกคนพร้อมหรือไม่ที่จะเริ่มหาริบบิ้นสีเขียว ผ้าสีเขียว เสื้อสีเขียวมาใส่ ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็จะไปร่วมกับกลุ่มภาคประชาชนและภาคนักวิชาการจากทั่วประเทศที่กรุงเทพฯ เดือนหน้า

ขอขอบคุณ : สำนักข่าวประชาธรรม ที่ www.newspnn.com
http://www.newspnn.com/detail.php?dataid=5602&code=n6_30052008_01&mode=th


1

 

 

 

 

2

 

 

 

 

3

 

 

 

 

4

 

 

 

 

5

 

 

 

 

6

 

 

 

 

7

 

 

 

 

8

 

 

 

 

9

 

 

 

 

10

 

 

 

 

11

 

 

 

 

12

 

 

 

 

13

 

 

 

 

14

 

 

 

 

15

 

 

 

 

16

 

 

 

 

17

 

 

 

 

18

 

 

 

 

19

 

 

 

 

20

 

 

 

 

21

 

 

 

 

22

 

 

 

 

23

 

 

 

 

24

 

 

 

 

25

 

 

 

 

26

 

 

 

 

27

 

 

 

 

28

 

 

 

 

29

 

 

 

 

30

 

 

 

 

31

 

 

 

 

32

 

 

 

 

33

 

 

 

 

34

 

 

 

 

35

 

 

 

 

36

 

 

 

 

37

 

 

 

 

38

 

 

 

 

39

 

 

 

 

40

 

 

 

 

41

 

 

 

 

42

 

 

 

 

43

 

 

 

 

44

 

 

 

 

45

 

 

 

 

46

 

 

 

 

47

 

 

 

 

48

 

 

 

 

49

 

 

 

 

50

 

 

 

 

51

 

 

 

 

52

 

 

 

 

53

 

 

 

 

54

 

 

 

 

55

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

HOST@THAIIS