ในสองทศวรรษที่ผ่านมา การถกเถียงกันเกี่ยวกับโพส์ทโมเดิร์น ได้มีอิทธิพลอย่างมากต่อฉากทางด้านวัฒนธรรม และวงวิชาการในหลายสาขาวิชาทั่วโลก ในด้านทฤษฎีสุนทรียศาสตร์และวัฒนธรรม, การโต้เถียงกันปรากฏตัวขึ้นมา ท่ามกลางลัทธิโมเดิร์นทางศิลปะ ไม่ว่ามันจะยังคงดำเนินต่อไป หรือยังไม่ตายก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นเรื่องของโพส์ทโมเดิร์น กำลังไล่หลังตามมาติดๆ
ในทางปรัชญา ข้อถกเถียงกันต่างๆได้ปะทุขึ้นมาในความสนใจ ไม่ว่าขนบจารีตของปรัชญาสมัยใหม ่จะสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ก็ตาม, แต่หลายต่อหลายคน เริ่มให้การยกย่องปรัชญาโพส์ทโมเดิร์นใหม่ที่ไปเชื่อมโยงกับ เกี่ยวเนื่องกับ Nietzche, Heidegger, Derrida, Rorty, Lyotard, และคนอื่นๆ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ
Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ
สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิกที่ปุ่ม member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ปุ่ม contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
(midnightuniv(at)yahoo.com)
Chapter
1: In Search of the Postmodern
บทนำที่หนึ่ง : ในการค้นหาเกี่ยวกับ โพสท์โมเดิร์น
ในสองทศวรรษที่ผ่านมา การถกเถียงกันเกี่ยวกับโพสท์โมเดิร์นได้มีอิทธิพลต่อฉากทางด้านศิลปวัฒนธรรมและวงวิชาการในหลายสาขาทั่วโลก.
ในด้านทฤษฎีสุนทรียศาสตร์และวัฒนธรรม การโต้เถียงกันปรากฏตัวขึ้นมาท่ามกลางศิลปะลัทธิโมเดิร์น
ไม่ว่ามันศิลปะในยุคโมเดิร์นจะยังคงดำเนินต่อไป หรือยังไม่ตายก็ตาม แต่ศิลปะแนวโพสท์โมเดิร์นกำลังไล่หลังตามมาติดๆ.
ในทางปรัชญา ข้อถกเถียงกันต่างๆได้ปะทุขึ้นมาในความสนใจ ไม่ว่าขนบจารีตของปรัชญาสมัยใหม่จะสิ้นสุดลงแล้วหรือไม่ก็ตาม
แต่หลายต่อหลายคนเริ่มให้การยกย่องปรัชญาโพสท์โมเดิร์นที่ไปเชื่อมโยงกับ เกี่ยวเนื่องกันกับงานของ
Nietzche, Heidegger, Derrida, Rorty, Lyotard, และคนอื่นๆ.
บรรดาผู้ให้การสนับสนุนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่โพสท์โมเดิร์น ได้วิพากษ์วัฒนธรรม, ทฤษฎี, และการเมืองแนวขนบจารีตยอย่างรุนแรง ขณะเดียวกันพวกที่ให้การปกป้องเกี่ยวกับขนบประเพณีแบบโมเดิร์นก็ตอบโต้ด้วยการเมินเฉยหรือทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ต่อพวกที่ท้าทายใหม่ๆ และมีการโจมตีพวกดังกล่าวกลับไป นอกจากนี้บางคนก็มีปฏิกริยาตอบโต้ด้วยการพยายามที่จะเรียนรู้เรื่องราวของโพส์ทโมเดิร์นด้วยความยากลำบาก และแย่งชิงวาทกรรมใหม่ๆและฐานะตำแหน่งต่างๆเหล่านี้เอาไว้
บรรดานักวิจารณ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่โพสท์โมเดิร์นหรือหลังสมัยใหม่ ให้เหตุผลว่า มันเป็นเพียงแฟชั่นความนิยมเพียงชั่วครั้งชั่วคราวที่จะผ่านเลยไป(Foucault 1986/7; Guattari 1986), และบางคนก็กล่าวว่า มันเป็นนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ที่ดูเรียบร้อยภายนอกอันหนึ่งของปัญญาชนทั้งหลาย ในการแสวงหาเกี่ยวกับวาทกรรมใหม่และต้นตอหรือแหล่งที่มาของทุนทางวัฒนธรรม(Britton 1988), หรือแม้แต่นักอุดมคติแนวอนุรักษ์นิยมอีกคน ก็วิจารณ์ว่าเป็นความพยายามที่จะลดทอนคุณค่าทฤษฎีโมเดิร์นและค่านิยมต่างๆเกี่ยวกับการปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระลงมา(Habermas 1981 and 1987a). แต่การปรากฎตัวขึ้นมาของวาทกรรมต่างๆของโพสท์โมเดิร์น และสิ่งที่ยังไม่เป็นที่เข้าใจเหล่านี้ได้หยิบยกประเด็นปัญหาต่างๆขึ้นมา ซึ่งแสดงถึงการต่อต้านและปฏิเสธที่จะรวมเข้าไปอยู่กับกระบวนทัศน์ทั้งหลายซึ่งเป็นที่ยอมรับกันแล้วอย่างละมุนละม่อม
ในทัศนะที่กว้างขวางเกี่ยวกับข้อโต้แย้งในเรื่องของโพสท์โมเดิร์น เราเสนอที่จะสร้างคำอธิบายและแยกแยะความแตกต่างระหว่างการแสดงออกมาอย่างชัดเจนในสิ่งที่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับทฤษฎีโพสท์โมเดิร์น กับ การที่จะพยายามชี้ให้เห็นถึงฐานะตำแหน่งที่เป็นแกนหลักสำคัญของมัน เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างถ่องแท้ และมองหาข้อจำกัดต่างๆที่มีอยู่. กระนั้นก็ตาม ดังที่เราจะได้เห็นว่า มันไม่มีทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นที่เป็นหน่วยเดียวหรือเอกภาพ หรือแม้แต่สภาพการณ์ใดๆที่เชื่อมโยงสอดคล้องต้องกันที่มีลักษณะรวมกันเป็นเนื้อเดียวกัน
ตรงกันข้าม ทฤษฎีหนึ่งทฤษฎีใดอาจจะถูกโจมตีโดยความหลากหลายแตกต่างระหว่างทฤษฎี ซึ่งบ่อยครั้ง รวมเข้าด้วยกันเป็นก้อนในฐานะที่เป็นทฤษฎีโพสท์โมเดิร์น และทฤษฎีพหุนิยม - ซึ่งก็ขัดแย้งกันอยู่บ่อยๆ - เกี่ยวกับสภาพการณ์ของโพสท์โมเดิร์น . ทฤษฎีหนึ่งทฤษฎีใดยังอาจถูกโจมตีโดยความคิดที่ไม่แข็งแรงมากพอ หรือยังอยู่ภายใต้การสร้างให้เป็นทฤษฎีขึ้นมาได้ด้วยเกี่ยวกับ"โพสท์โมเดิร์น" ในทฤษฎีต่างๆซึ่งรับเอามา หรือถูกแสดงตัวหรืออธิบายในเทอมดังกล่าว
เพื่อความกระจ่างชัดเกี่ยวกับคำซึ่งเป็นกุญแจสำคัญบางคำในครอบครัวของแนวความคิดเกี่ยวกับโพสท์โมเดิร์น มันจะเป็นประโยชน์มากที่จะจำแนกให้เห็นอย่างชัดเจนระหว่างวาทกรรมต่างๆของโมเดิร์นและโพสท์โมเดิร์นออกจากกัน(see Featherston 1988). ซึ่งในบทนี้ ท่านจะพบกับเนื้อหาดังกล่าว
สำหรับการเริ่มต้น เราอาจต้องจำแนกความแตกต่างระหว่าง"ความเป็นสมัยใหม่"(modernity)ที่ได้รับการทำให้เป็นแนวคิดขึ้นมาในยุคโมเดิร์น กับ "ความเป็นหลังสมัยใหม่"(postmodernity)ในฐานะที่เป็นศัพท์ใหม่คำหนึ่ง ซึ่งได้มาอธิบายถึงยุคสมัยที่ตามมาของความเป็นสมัยใหม่(modernity)ที่พูดถึง. มันมีวาทกรรมมากมายเกี่ยวกับความเป็นสมัยใหม่ ซึ่งต่อมาภายหลังมันมีคุณสมบัติของความเป็นหลังสมัยใหม่ และศัพท์คำดังกล่าวยังเป็นการพูดถึงความหลากหลายในการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ, การเมือง, สังคม, และวัฒนธรรมด้วย
ความเป็นสมัยใหม่(modernity) ดังที่ถูกทำให้เป็นทฤษฎีขึ้นมาโดย Marx, Weber, และคนอื่นๆ, เป็นศัพท์ที่เกี่ยวกับยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ ซึ่งอ้างอิงถึงยุคสมัยที่ต่อมาจาก"ยุคกลาง"(Middle Ages) หรือลัทธิศักดินา(feudalism). สำหรับบางคน ความเป็นสมัยใหม่ถูกทำให้ตรงข้ามกับสังคมตามจารีตประเพณีเดิมๆ และถูกสร้างอัตลักษณ์ของตัวมันขึ้นมาโดยสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมใหม่, ความแปลก, และความเป็นพลวัตร(Berman 1982).
วาทกรรมต่างๆในทางทฤษฎีของความเป็นสมัยใหม่นับจาก Descartes จนมาถึง the Enlightenment (ยุคสว่างหรือยุคแห่งพุทธิปัญญา) และลูกหลานของมันที่ให้การสนับสนุนเรื่องราวของเหตุผลนั้น ต่างถือว่า"เหตุผล"เป็นต้นตอของ"ความก้าวหน้า"ในด้านความรู้และความเจริญของสังคม เช่นเดียวกับฐานะตำแหน่งที่เป็นสิทธิพิเศษของความจริง(truth) และรากฐานของความรู้ที่เป็นระบบ
"เหตุผล"ได้รับการเข้าใจว่า ตัวมันเองมีความสามารถที่จะค้นพบบรรทัดฐานทางด้านทฤษฎีและการปฏิบัติอย่างเพียงพอ ซึ่งระบบคิดและการกระทำสามารถที่จะได้รับการสร้างขึ้นมา และสังคมสามารถได้รับการสร้างขึ้นมาใหม่ได้เช่นกัน. โครงการยุคสว่างหรือยุคแห่งพุทธิปัญญานี้(Enlightenment project)ยังเป็นสิ่งที่นำไปปฏิบัติและมีอิทธิพลในอเมริกา, ฝรั่งเศส, และประเทศที่มีการปฏิวัติประชาธิปไตยอื่นๆด้วย ซึ่งพยายามที่จะล้มล้างโลกแห่งศักดินาลง และสร้างระเบียบสังคมที่ยุติธรรมและความเสมอภาคขึ้นมา ที่จะทำให้เหตุผลและความก้าวหน้าของสังคมเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา (Toulmin 1990).
ความเป็นสมัยใหม่ในทางสุนทรียะ ปรากฏตัวขึ้นมาในความเคลื่อนไหวของพวกขบวนการทางศิลปะแนวหน้าของบรรดาโมเดิร์นนิสท์(the new avant-garde modernist movements) และบรรดาวัฒนธรรมรองต่างๆที่ไม่ยึดถือตามขนบจารีต(behemian subcultures) ซึ่งกบฎต่อแง่มุมที่แปลกแยกของความเป็นอุตสาหกรรมและความเป็นเหตุเป็นผล ขณะเดียวกันก็แสวงหาการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมและค้นหาความสามารถของตนเองในเชิงสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ในทางศิลป[to find creative self-realization in art]
ความเป็นสมัยใหม่ได้เข้ามาสู่ชีวิตประจำวันโดยผ่านการโปรยปรายของศิลปสมัยใหม่ ผลผลิตต่างๆของสังคมบริโภค เทคโนโลยี และลักษณะหรือวิธีการเกี่ยวกับการขนส่งและการสื่อสาร. พลวัตรต่างๆและความเป็นสมัยใหม่ได้สร้างโลกอุตสาหกรรมและอาณานิคมใหม่ขึ้นมา ซึ่งสามารถจะได้รับการอธิบายในฐานะที่เป็น"การทำให้เป็นสมัยใหม่"(modernization) [สำหรับศัพท์คำว่า modernization เป็นศัพท์ที่แสดงถึงขบวนการเหล่านั้นของ การทำให้เป็นปัจเจก, การทำให้เป็นเรื่องทางโลก, การทำให้เป็นอุตสาหกรรม, ความแตกต่างทางวัฒนธรรม, การทำให้เป็นสินค้า, การทำให้มีความเป็นเมือง, การทำให้เป็นระบบราชการ, และการทำให้เป็นเหตุผล ซึ่งรวมเข้าด้วยกันได้ก่อให้เกิดโลกสมัยใหม่ หรือ modern world ขึ้นมา]
กระนั้นก็ตาม การสร้างความเป็นสมัยใหม่ขึ้นมา ได้ผลิตความทุกข์ยากและความเจ็บปวดที่ไม่ได้มีการเปิดเผยหรือบอกกล่าวล่วงหน้าเอาไว้เกี่ยวกับบรรดาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของมัน ซึ่งไล่เลียงได้นับจาก ชาวไร่, ชาวนา, กรรมกร, และช่างฝีมือทั้งหลายที่ถูกกดขี่โดยการทำให้เป็นอุตสาหกรรมของนายทุน จนกระทั่งถึงการกีดกันผู้หญิงออกไปจากปริมณฑลสาธารณะ และไปจนถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกี่ยวกับการทำให้เป็นอาณานิคมของนักจักรวรรดิ์นิยมทั้งหลาย
ความเป็นสมัยใหม่ยังได้สร้างสถาบันทั้งหลายที่เกี่ยวกับระเบียบวินัยขึ้นมา ปฏิบัติการต่างๆ และวาทกรรมหลายหลากที่ทำให้วิธีการต่างๆของมันในการครอบงำและบังคับควบคุมเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย. ด้วยเหตุนี้ ใน The `dialectic of Enlightenment' (หลักวิภาษวิธีของยุคสว่าง)(Horkheimer and Adorno 1972) จึงได้อธิบายถึงขบวนการอันหนึ่ง ซึ่ง"ความเป็นเหตุเป็นผล"ได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ภาวะที่ตรงข้ามกันกับตัวมัน และคำทั่นสัญญาของความเป็นสมัยใหม่เกี่ยวกับการปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระ กลายเป็นหน้ากากของการกดขี่และการครอบงำ. กระนั้นก็ตาม บรรดาผู้ปกป้องเกี่ยวกับความเป็นสมัยใหม่((Habermas 1981, 1987a, and 1987b) อ้างว่า "มันมีศักยภาพที่ยังไม่บรรลุผล"(unfulfilled potential) และมีทรัพยากรต่างๆที่จะเอาชนะข้อจำกัดต่างๆ และผลของการทำลายล้างเหล่านี้
แต่อย่างไรก็ตาม บรรดานักทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นอ้างว่า ในสังคมร่วมสมัยที่มีความไฮเทคทางด้านสื่อ, กระบวนการต่างๆที่เร่งด่วนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและการแปรผัน สิ่งเหล่านี้กำลังผลิตสังคมโพสท์โมเดิร์นใหม่อันหนึ่งขึ้นมา และผู้ที่ให้การสนับสนุนมันทั้งหลายอ้างว่า ยุคของความเป็นโพสท์โมเดิร์นได้ก่อให้เกิดภาวะทางประวัติศาสตร์ที่แปลกใหม่อันหนึ่ง และการก่อตัวขึ้นมาของสังคมวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งต้องการแนวความคิดและทฤษฎีใหม่ๆมารองรับ
บรรดานักทฤษฎีเกี่ยวกับความเป็นโพสท์โมเดิร์น (Baudrillard, Lyotard, Harvey, ฯลฯ) ให้เหตุผลว่า เทคโนโลยีต่างๆอย่างเช่น คอมพิวเตอร์และสื่อ, รูปแบบใหม่ของความรู้, และการเปลี่ยนแปลงในระบบสังคมเศรษฐกิจต่างๆกำลังสร้างรูปแบบทางสังคมหลังสมัยใหม่อันหนึ่งขึ้นมา. Baudrillard และ lyotard ได้ตีความพัฒนาการต่างๆเหล่านี้ในเทอมของแบบฉบับที่แปลกใหม่ของข้อมูล, ความรู้, และเทคโนโลยี, ขณะที่บรรดานักทฤษฎีนีโอ-มาร์กซิสท์ทั้งหลาย อย่าง Jameson และ Harvey ได้ตีความ โพสท์โมเดิร์น ในเทอมต่างๆของพัฒนาการเกี่ยวกับขั้นตอนที่สูงกว่าของลัทธิทุนนิยม(higher stage of capitalism) ซึ่งมันได้รับการทำเครื่องหมายขึ้นมาโดยการแทรกซึมของทุนในระดับที่สูงขึ้น และการทำให้เป็นเนื้อเดียวกันข้ามโลก
กระบวนการต่างๆเหล่านี้กำลังสร้างการแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยทางวัฒนธรรมเพิ่มขึ้นด้วย รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงในประสบการณ์เกี่ยวกับพื้นที่ว่างและเวลา, และลักษณะใหม่ๆของประสบการณ์, ความเป็นตัวตน, และวัฒนธรรม. เงื่อนไขต่างๆเหล่านี้ได้ให้พื้นฐานสังคมเศรษฐกิจและรากฐานทางวัฒนธรรมสำหรับทฤษฎีโพสท์โมเดิร์น และการวิเคราะห์ของมันได้ให้มุมมองและทัศนียภาพต่างๆจากสิ่งซึ่งทฤษฎีโพสท์โมเดิร์น สามารถอ้างได้ว่าอยู่บนแถวหน้าสุดของพัฒนาการร่วมสมัย
นอกจากความแตกต่างกันระหว่าง"ความเป็นสมัยใหม่"และ"ความเป็นหลังสมัยใหม่"ในปริมณฑลของทฤษฎีทางสังคมแล้ว, วาทกรรมเกี่ยวกับหลังสมัยใหม่หรือโพสท์โมเดิร์น ยังแสดงบทบาทสำคัญในอาณาเขตของสุนทรียศาสตร์และทฤษฎีทางวัฒนธรรมด้วย. ในที่นี้ ข้อถกเถียงได้ไปเกี่ยวพันรายรอบความแตกต่างระหว่างลัทธิสมัยใหม่และลัทธิหลังสมัยใหม่ในศิลปกรรมต่างๆ
ภายใต้วาทกรรมนี้ "ลัทธิสมัยใหม่" อาจถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายถึงขบวนการทางศิลปะของยุคโมเดิร์น (ลัทธิ impressionism, l'art our l'art, expression, surrealism, และขบวนการแนวหน้าอื่นๆ หรือ avant-garde movements), ขณะที่"ลัทธิหลังสมัยใหม่"สามารถอธิบายถึงรูปแบบและปฏิบัติการต่างๆทางสุนทรีย์ที่หลากหลายซึ่งตามมาทีหลัง และแตกหักกับลัทธิสมัยใหม่. รูปแบบเหล่านี้รวมเอาสถาปัตยกรรมของ Robert Venturi และ Philip Johnson, การทดลองทางด้านดนตรีของ John Cage, ผลงานศิลปะของ Warhol และ Rauschenberg, นวนิยายต่างๆของ Pynchon และ Ballard, และงานภาพยนตร์อย่างเช่นเรื่อง Blade Runner หรือ Blue Velvet. ข้อถกเถียงกันเหล่านี้มีศูนย์กลางอยู่ที่ว่ามันใช่หรือไม่ใช่ข้อแตกต่างทางแนวคิดอันแหลมคมระหว่างลัทธิสมัยใหม่และลัทธิหลังสมัยใหม่ และลักษณะที่ดีและข้อจำกัดต่างๆเกี่ยวกับขบวนการต่างๆเหล่านี้
วาทกรรมต่างๆเกี่ยวกับหลังสมัยใหม่ ยังปรากฎตัวในขอบเขตของทฤษฎีและการโฟกัสลงบนการวิจารณ์เกี่ยวกับทฤษฎีสมัยใหม่ และข้อถกเถียงกันต่างๆสำหรับความแตกร้าวของทฤษฎีหลังสมัยใหม่. ทฤษฎีสมัยใหม่ - ไล่ลำดับจากโครงการปรัชญาของ Descartes, ไปจนถึง the Enlightenment, จนกระทั่งถึงทฤษฎีทางสังคมของ Comte, Marx, Weber และคนอื่นๆ - ได้ถูกวิจารณ์ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาของมันเพื่อวางรากฐานอันหนึ่งเกี่ยวกับความรู้, การทำให้เป็นสากล และข้ออ้างแบบรวมทั้งหมด, ความหยิ่งผยองของมันต่อการค้นหาความจริงที่อยู่เหนือคำโต้แย้ง และลัทธิเหตุผลอันหลอกลวงและน่าสงสัยของมัน. โดยในทางที่แย้งกัน บรรดาผู้ปกป้องเกี่ยวกับทฤษฎีสมัยใหม่ ได้โจมตีลัทธิสัมพัทธนิยมหลังสมัยใหม่(postmodern relativism), ลัทธิความไร้เหตุผล(irrationalism), และสุญนิยม(nihilism)
ยิ่งไปกว่านั้น ทฤษฎีหลังสมัยใหม่ยังวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเป็นตัวแทนความจริง และความเชื่อสมัยใหม่ที่ว่าทฤษฎีเป็นกระจกเงาสะท้อนความจริง โดยแทนที่ฐานะสภาพทางทัศนียวิทยาและลักษณะสัมพัทธ์ที่ว่า ทฤษฎีต่างๆ อย่างเก่งที่สุด ก็เพียงให้ทัศนียภาพเพียงบางส่วนของวัตถุต่างๆ และการเป็นตัวแทนของการรับรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับโลกนั้นเป็นเพียงสื่อกลางทางประวัติศาสตร์และทางภาษาเท่านั้น
ทฤษฎีหลังสมัยใหม่หรือโพสท์โมเดิร์นบางทฤษฎี ปฏิเสธอย่างสอดคล้องต้องกันเกี่ยวกับทัศนียภาพขนาดใหญ่(macroperspective)ทั้งหมดในเรื่องของสังคมและประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รับการชื่นชอบโดยทฤษฎีสมัยใหม่หรือโมเดิร์น ทฤษฎีหลังสมัยใหม่เห็นด้วยและให้การสนับสนุนเกี่ยวกับทฤษฎีเล็กๆและการเมืองขนาดเล็ก(microthery and micropolitics)(Lyotard 1984a)
ทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นยังปฏิเสธข้อสันนิษฐานต่างๆของทฤษฎีโมเดิร์นเกี่ยวกับความสอดคล้องกันทางสังคม และความคิดเห็นต่างๆเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นเหตุเป็นผล. ทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นสนับสนุนความหลากหลาย, ลักษณะพหุวิสัย, การแตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย, และลักษณะที่ไม่แน่นอนคลุมเครือ
นอกจากนี้ ทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นยังละทิ้งเรื่องของเหตุผลและอัตบุคคลที่เป็นหน่วยเดียว(unified subject)ซึ่งได้รับการยืนยันโดยทฤษฎีโมเดิร์นเป็นจำนวนมาก ด้วยการสนับสนุนการกระจายออกจากศูนย์กลางทางสังคมและทางภาษา และอัตบุคคลที่แตกออกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย(fragmented subject)
ด้วยเหตุนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสนเกี่ยวกับแนวคิด ในที่นี้จึงอยากจะใช้ศัพท์คำว่า"ความเป็นหลังสมัยใหม่"( postmodernity)เพื่ออธิบายถึงยุคสมัยที่ตามมาหลังจาก"ความเป็นสมัยใหม่"(modernity), และใช้คำว่า"ลัทธิหลังสมัยใหม่"(postmodernism)เพื่ออรรถาธิบายถึงขบวนการต่างๆและสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นในขอบเขตทางวัฒนธรรม ที่สามารถได้รับการจำแนกแยกแยะจากขบวนการต่างๆของสมัยใหม่(modernist), รวมไปถึงตำรับตำราทั้งหลาย และปฏิบัติการต่างๆ
เรายังแยกความแตกต่างระหว่าง"ทฤษฎีสมัยใหม่"(modern theory) กับ "ทฤษฎีหลังสมัยใหม่"(postmodern theory)ด้วย, เช่นเดียวกับระหว่าง"การเมืองสมัยใหม่"(modern politics)ซึ่งได้ถูกสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมาโดยพรรคการเมือง, รัฐสภา, หรือการเมืองแบบสหภาพแรงงาน(trade union politics - รูปแบบองค์กรทางการเมืองที่รวมตัวกันโดยคนงานเพื่อต่อรองกับนายจ้าง) ในทางที่ตรงข้ามกันกับ"การเมืองหลังสมัยใหม่"(postmodern politics)ที่เชื่อมสัมพันธ์กับการเมืองขนาดเล็กที่มีฐานของท้องถิ่น(locally base micropolitics) ซึ่งท้าทายต่อขบวนการอันกว้างขวางของวาทกรรมต่างๆ และรูปแบบที่ถูกทำให้เป็นสถาบันต่างๆขึ้นมาของอำนาจ
เพื่อให้ความกระจ่างและความสว่างต่อความสับสนและวาทกรรมหลากรูปแตกต่างกันของโพสท์โมเดิร์น อันดับแรก เราจะนำเสนอวิธีการทางโบราณคดีหรือการขุดค้นเกี่ยวกับคำศัพท์ อธิบายอย่างละเอียดถึงประวัติศาสตร์ของมัน การนำมาใช้ในช่วงแรกๆ และความหมายที่ขัดแย้งกันต่างๆ. ต่อจากนั้น เราจะไปดูกันถึงพัฒนาการเกี่ยวกับทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นร่วมสมัยในบริบทของช่วงหลังทศวรรษที่ 1960s ในประเทศฝรั่งเศส ที่ซึ่งแนวความคิดเกี่ยวกับเงื่อนไขของโพสท์โมเดิร์นใหม่อันหนึ่งกลายมาเป็นแนวทางหรือแก่นแกนสำคัญในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970s. และในหัวข้อ 1.3 เราจะเสก็ตภาพให้เห็นถึงข้อสงสัยและการซักไซ้ไล่เรียงของเราเกี่ยวกับทฤษฎีโพสท์โมเดิร์น และทัศนียภาพที่จะช่วยนำทางข้อซักถามของเราไปจนตลอดของหนังสือเล่มนี้
Chapter
2: Foucault and the Critique of Modernity
บทนำที่สอง : ฟูโกและการวิจารณ์เกี่ยวกับความเป็นสมัยใหม่
"มันมีความจำเป็นไหมที่จะลากเส้นขึ้นมาเส้นหนึ่งระหว่าง คนเหล่านั้นที่เชื่อว่า เราสามารถที่จะวางความไม่ต่อเนื่องต่างๆ(discontinuities)ในปัจจุบันของเราต่อไปในขนบจารีตประวัติศาสตร์ และขนบจารีตที่เหนือธรรมดาของคริสตศตวรรษที่สิบเก้า กับ คนเหล่านั้นที่กำลังสร้างความพยายามที่ยิ่งใหญ่อันหนึ่งเพื่อปลดปล่อยตัวของพวกเขาเองให้เป็นอิสระ, และในท้ายสุด จากกรอบโครงสร้างแนวคิดอันนี้ มันจำเป็นไหม ?"(Foucault 1977: p.120)
"อะไรที่กำลังเป็นไปในช่วงนี้ ? อะไรที่กำลังเกิดขึ้นกับพวกเรา ? อะไรคือโลกนี้, ยุคนี้, ช่วงขณะที่แท้จริงตอนนี้ซึ่งเรากำลังมีชีวิตอยู่ ?"(Foucault 1982a p.216)
"ความประทับใจเกี่ยวกับความสำเร็จและเกี่ยวกับขั้นตอนสุดท้าย ความรู้สึกที่ถูกห่อหุ้มไว้ ซึ่งนำพาและขับเคลื่อนความคิดของเรา และบางทีกล่อมให้เราหลับไหลด้วยพลังความสามารถของคำมั่นสัญญาของมัน... และทำให้เราเชื่อว่าบางสิ่งบางอย่างใหม่ๆจวนเจียนจะเริ่มต้นขึ้นแล้ว บางสิ่งที่เราเหลือบแลเห็นซึ่งเป็นเพียงเส้นบางๆของแสงสว่างที่ปลายขอบฟ้า - ความรู้สึกและความประทับใจอันนั้น บางที จะถูกสร้างขึ้นมาด้วยความไม่ยากเย็นเกินไปนัก" (Foucault 1973b: p.384)
การวิจารณ์ของฟูโกเกี่ยวกับความเป็นสมัยใหม่และลัทธิมนุษยนิยม พร้อมกับคำประกาศของเขาเกี่ยวกับความตายของมนุษย์และการพัฒนามุมมองหรือทัศนียภาพใหม่ๆในทางสังคม, ความรู้, วาทกรรม, และอำนาจ ได้ทำให้เขากลายเป็นทรัพยากรหลักของความคิดโพสท์โมเดิร์นคนหนึ่ง
ฟูโกแสดงการต่อต้านต่อขนบจารีตของยุคสว่าง(anti-Enlightenment) โดยปฏิเสธเรื่องของเหตุผล, การปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระ, และความก้าวหน้า, โดยถกถึงการเผชิญหน้ากันระหว่างรูปแบบสมัยใหม่ต่างๆของอำนาจและความรู้ ที่ได้มารับใช้ ตกแต่ง และสรรค์สร้างรูปแบบใหม่ๆของการครอบงำขึ้นมา.
ในชุดของการศึกษาที่เรียกว่า historico-philosophical studies (การศึกษาทางด้านปรัชญาประวัติศาสตร์) เขาได้พยายามที่จะพัฒนาและพิสูจน์ถึงแนวเรื่องอันนี้จากหลายหลากมุมมอง: ทั้งจากจิตเวชศาสตร์, การแพทย์, การลงโทษ, และอาชญวิทยา, การปรากฎตัวขึ้นมาของสาขาวิชาวิทยาศาสตร์มนุษย์ต่างๆ(human sciences), การก่อตัวขึ้นมาของเครื่องมือหรืออุปกรณ์ต่างๆที่ออกแบบขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่รักษาระเบียบวินัย(disciplinary)อย่างหลากหลาย, และการสร้างตัวขึ้นมาของอัตบุคคล(subject).
โครงการของฟูโกต้องการที่จะเขียนงานวิจารณ์เกี่ยวกับยุคประวัติศาสตร์ของเรา(1984: p.42) ซึ่งพิจารณาในฐานะที่เป็นปัญหารูปแบบสมัยใหม่ของความรู้, ความมีเหตุมีผล, สถาบันต่างๆทางสังคม, และความเป็นอัตบุคคล ที่ดูเหมือนจะได้มาและเป็นธรรมชาติ. แต่ในข้อเท็จจริง สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นสิ่งสร้างทางสังคมประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้คาดหมายมาก่อนของอำนาจและการครอบงำ(contingent sociohistorical constructs of power and domination)
ในขณะที่ฟูโกมีอิทธิพลต่อทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นอย่างเข้มแข็ง แต่เขาก็ไม่สามารถที่จะย่อยซึมเรื่องราวทั้งหมดสู่กฎเกณฑ์นั้นได้ เขาเป็นนักคิดที่สลับซับซ้อนและกว้างขวางทางด้านข้อมูล ซึ่งได้ดึงความรู้จากทรัพยากรหลายๆแหล่งมาใช้และยากต่อการทำความเข้าใจ ขณะเดียวกัน ตัวเขาเองก็ไม่สามารถที่จะทำให้มันมาอยู่บนระนาบของเส้นแนวเดียวกันได้
ถ้าหากว่านั่นเป็นภาพที่พิเศษในงานของเขา, คนเหล่านั้นที่เขาอ้างถึง อย่างเช่น Nietzsche และ Bataille ก็เป็นนักวิจารณ์เกี่ยวกับเหตุผลและความคิดตะวันตกเช่นกัน. Nietzsche ได้ตระเตรียมให้ Foucault และเกือบจะเหมือนๆกันกับบรรดานักคิดหลังโครงสร้างนิยมฝรั่งเศสทั้งหลาย(French poststructuralists) ด้วยการผลักดันและให้ไอเดียต่างๆของคนเหล่านี้ หลุดพ้นไปจากปรัชญา Hegelian และ Marxist.
นอกจากนี้ยังได้น้อมนำไปสู่แบบหรือวิธีคิดของ postmetaphysical(หลังอภิปรัชญา) และ poshumanist(หลังมนุษยนิยม), Nietzsche สอน Foucault ว่า เราสามารถที่จะเขียนประวัติศาสตร์วงศ์วานวิทยา(genealogical' history) เกี่ยวกับหัวข้อต่างๆที่ไม่ได้เป็นไปตามขนบประเพณีได้ อย่างเช่น เรื่องของ"เหตุผล", "ความบ้า" และ"อัตบุคคล" ซึ่งค้นหาสมุฏฐานการปรากฏตัวขึ้นมาของสิงเหล่านี้ได้ภายในที่ต่างๆที่มีการครอบงำ
Nietzsche แสดงให้เห็นว่า เจตจำนงต่อความจริงและความรู้เป็นสิ่งที่ไม่อาจตัดความสัมพันธ์เชื่อมโยงจากเจตจำนงต่ออำนาจได้(the will to truth and knowledge is indissociable from the will to power), และฟูโกได้พัฒนาข้ออ้างเหล่านี้ในงานวิจารณ์ของเขาต่อลัทธิมนุษยนิยมแบบ liberal humanism, วิทยาศาสตร์มนุษย์(human sciences), และในงานชิ้นหลังของเขาทางด้านจริยศาสตร์. ขณะเดียวกัน Foucault ไม่เคยเขียนงานของตนในลักษณะคติพจน์ในสไตล์เดียวกันกับ Nietzsche เลย เขายอมรับคำอ้างต่างๆของ Nietzsche ว่าระเบียบวิธีที่ทำให้เป็นระบบได้ทำให้งานวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์และสังคมลดทอนลงไป และความรู้นั้นมีลักษณะเป็นมุมมองหรือทัศนียภาพในธรรมชาติแบบภาพกว้าง ซึ่งต้องการแง่คิดหรือข้อสังเกตที่หลายหลากเพื่อตีความ"ความจริงที่ไม่ลงรอยเป็นเนื้อเดียวกัน"(heterogeneous reality)เหล่านี้
Foucault ยังได้รับอิทธิพลอย่างลึกซึ้งจาก Bataille ด้วย ซึ่งได้โจมตีเหตุผลของยุคสว่าง(Enlightenment reason)อย่างรุนแรง และหลักการเกี่ยวกับความจริงของวัฒนธรรมตะวันตก. Bataille (1985, 1988, 1989)ให้การสนับสนุนขอบเขตปริมณฑลของความแตกต่างไม่เป็นเนื้อเดียวกัน(heterogeneity), พลังอำนาจที่ปะทุขึ้นและความปลื้มปิติอย่างเหลือล้นของความร้อนรนทางศาสนา, ความเป็นเรื่องของทางโลก(secularity), และประสบการณ์มึนเมา(intoxicated experience)ที่ล้มล้างและละเมิดต่อเครื่องมือของเหตุผล และความเป็นปกติวิสัยของวัฒนธรรมชนชั้นกลาง
การต่อต้านทัศนะของนักเหตุผลนิยมทางด้านเศรษฐกิจการเมืองและปรัชญา, Bataille แสวงหาสิ่งที่อยู่เหนือขึ้นไปจากการผลิตและความต้องการที่ถือเรื่องประโยชน์เป็นสำคัญ, ขณะเดียวกันก็ให้การยกย่องเศรษฐกิจทั่วไปอันหนึ่งเกี่ยวกับการบริโภค, ความสิ้นเปลือง-เปล่าประโยชน์, และการใช้จ่ายในฐานะที่เป็นนักปลดปล่อย(liberator). ลักษณะอันเร่าร้อนของ Bataille ผูกติดอยู่กับปรัชญาอัตบุคคลที่มีอำนาจปกครองตนเอง และการอ้าแขนของเขาไปโอบรัดประสบการณ์ต่างๆที่มีลักษณะฝ่าฝืนหรือละเมิด อันเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อ Foucault และบรรดานักทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นคนอื่นๆ
โดยตลอดงานเขียนต่างๆของเขา, Foucault ได้ให้เหตุผลหรือแสดงให้เห็นคุณค่าในคนต่างๆ อย่างเช่น Holderlin, Artaud, และคนอื่นๆสำหรับการล้มล้างการครอบงำหรือความเป็นผู้นำของเหตุผลสมัยใหม่และบรรทัดฐานตางๆของมัน บ่อยครั้ง เขายังร่วมรู้สึกและเอาใจใส่ในเรื่องของความบ้า, อาชญากรรม, สุนทรียภาพ, และลักษณะชายขอบทุกๆชนิด
การทำความรู้จักกับปัญหาต่างๆกับป้ายฉลากที่ติดมากับผลงานของ Foucault, เราปรารถนาที่จะสำรวจถึงขอบเขตที่เขาได้พัฒนาฐานะสภาพที่แท้จริงของโพสท์โมเดิร์น. พวกเราจะไม่อ่านงานของ Foucault ในฐานะโพสท์โมเดิร์นนิสท์ที่ง่ายๆสั้นๆ, แต่อ่านงานของเขาในฐานะที่เป็นนักทฤษฎีคนหนึ่ง ผู้ซึ่งได้รวบรวมเอามุมมองและทัศนียภาพของ premodern, modern, และ postmodern มาไว้ด้วยกัน.
เรามองว่า Foucault เป็นนักคิดที่ขัดแย้งคนหนึ่งอย่างลึกซึ้ง ความคิดของเขาได้ถูกฉีกทึ้งระหว่างความตรงข้ามกัน อย่างเช่น แรงกระตุ้นในลักษณะ totalizing / detotalizing และความตึงเครียดระหว่าง การทำให้เป็นทฤษฎีขึ้นมาของ discursive / extra-discursive, macro / microperspective, และ หลักวิภาษวิธีของ domination / resistance
Chapter
3: Deleuze and Guattari: Schizos, Nomads, Rhizomes
บทนำที่สาม : Deleuze และ Guattari: Schizos, Nomads, Rhizomes
"ในทุกวันนี้เราอาศัยอยู่ในยุคของวัตถุต่างๆ, ก้อนอิฐ ก้อนหิน ที่แตกออกเป็นชิ้นๆ และเศษดินเศษทรายเล็กๆน้อยๆที่เหลืออยู่... พวกเราไม่เชื่อในความคิดรวบยอดเบ็ดเสร็จเดิมๆอีกแล้วซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีอยู่ หรือเชื่อมั่นในความเป็นทั้งหมดในท้ายที่สุดที่รอคอยเรา ณ วันเวลาแห่งอนาคตในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า" (Deleuze and Guattari 1983: p.42)
"ทฤษฎีอันหนึ่งที่ไม่ได้เหมารวมหมด; มันเป็นเครื่องมืออันหนึ่งสำหรับการเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ และมันยังคูณตัวมันเองอีกด้วย... นั่นคือสิ่งที่เป็นในธรรมชาติของอำนาจที่จะรวมตัว และ... ทฤษฎีนั้น โดยธรรมชาติแล้วตรงข้ามหรือเป็นปรปักษ์กับอำนาจ" (Deleuze 1977a: p.208)
Gilles Deleuze และ Felix Guattari ได้ร่วมหัวจมท้ายในการผจญภัยเข้าไปในโพสท์โมเดิร์น ซึ่งพวกเขาพยายามที่จะสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆของความคิด, งานเขียน, ความเป็นอัตบุคคล, และการเมืองขึ้นมา. ขณะที่พวกเขาไม่ได้รับเอาวาทกรรมเกี่ยวกับโพสท์โมเดิร์นมาใช้ และ Guattari (1986) ได้โจมตีมันในฐานะที่เป็นคลื่นลูกใหม่ของ cynicism (ลัทธิซีนิก ซึ่งเชื่อว่ามนุษย์ถูกกระตุ้นโดยความเห็นแก่ตัว พวกนี้จะละทิ้งอารยธรรมและขนบจารีตเพื่อปลดเปลื้องตัวเองให้เป็นอิสระ) และอนุรักษ์นิยม
แต่อย่างไรก็ตาม พวกเขาคือตัวแทนที่น่ายกย่องของฐานะตำแหน่งเกี่ยวกับโพสท์โมเดิร์นในความพยายามอย่างเต็มที่ ที่จะถอดถอนปลดเปลื้องความเชื่อต่างๆของโมเดิร์นในเรื่องของเอกภาพ(unity), ลำดับชั้นสูงต่ำ, เอกลักษณ์, รากฐานต่างๆ, อัตบุคคล และ การเป็นตัวแทน, ขณะเดียวกันก็ให้การสรรเสริญหลักการต่างๆในทางตรงข้ามเกี่ยวกับความแตกต่าง และความหลากหลายในทางทฤษฎี, การเมือง, และชีวิตประจำวัน.
หนังสือที่มีอิทธิพลมากที่สุดแห่งยุคของพวกเขาคือ Anti-Oedipus (1983; orig. 1972) เป็นการวิจารณ์ปลุกปั่นอันหนึ่งเกี่ยวกับวาทกรรมและสถาบันต่างๆของความเป็นสมัยใหม่ ซึ่งได้มาระงับความปรารถนาและแพร่ขยายความเป็นอัตบุคคลแบบฟาสซิสท์ ที่สิงสู่อยู่ในขบวนการต่างๆของการปฏิวัติ. Deleuze และ Guattari เป็นนักทำสงครามการเมือง และบางทีเป็นพวกที่มีความกระตือรือร้นมากในการให้การสนับสนุนการเมืองขนาดเล็กต่างๆ(micropolitics) เกี่ยวกับความปรารถนาที่จะเร่งการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคนให้เกิดขึ้นโดยการปลดปล่อยความปรารถนาออกมา
ผลที่ตามมาจากเหตุนี้ พวกเขาได้คาดการณ์ถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับแบบของโพสท์โมเดิร์นใหม่อันหนึ่งของการดำรงอยู่ ที่ที่ปัจเจกได้เอาชนะรูปแบบต่างๆของโมเดิร์นที่มากดบีบเกี่ยวกับเรื่องของเอกลักษณ์ และภาวะหยุดนิ่ง ที่จะกลายไปเป็นผู้ที่ร่อนเร่ไปตามความปรารถนาในกระบวนการต่อเนื่องเกี่ยวกับความเหมาะสมและการแปรสภาพ
Deleuze เป็นศาสตราจารย์ทางด้านปรัชญา ผู้ซึ่งในช่วงปีทศวรรษที่ 1950s และ 1960s ได้ให้ความสนใจในการศึกษาเกี่ยวกับแนวคิดของ Spinoza, Hume, Kant, Nietzsche, Bergson, Proust และคนอื่นๆ. ส่วน Guattari เป็นนักจิตวิเคราะห์แนวปฏิบัติ ซึ่งนับแต่ช่วงทศวรรษที่ 1950s ได้ทำงานที่คลีนิคการทดลองทางด้านจิตเวชศาสตร์, La Borde. เขาได้รับการฝึกฝนทางด้านจิตวิเคราะห์แนว Lacanian, เป็นคนที่มีความกระตือรือร้นทางการเมืองนับจากช่วงต้นๆ และได้เข้าไปมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ต่างๆเดือนพฤษภาคม 1968. เขาได้ร่วมงานกับนักทฤษฎีชาวอิตาเลี่ยน Antonio Negri (Guattari and Negri 1990) และได้ถูกนำเข้าไปเกี่ยวพันกับการเคลื่อนไหวเพื่อปกครองตนเอง ซึ่งพยายามให้ได้มาซึ่งขบวนการปฏิวัติที่เป็นอิสระภายนอกโครงสร้างต่างๆขององค์กรพรรคการเมืองทั้งหลาย
Deleuze และ Guattari ทั้งสองประกอบอาชีพต่างกัน และได้มารวมกันเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1969 เมื่อพวกเขาเริ่มงาน Anti-Oedipus. อันนี้ได้รับการตามมาด้วย Kafka: Toward a Minor Literature(1986; orig. 1975), A Thousand Plateaus (1987; orig. 1980), และนอกจากนี้ยังมีผลงานต่างๆที่ต่างคนต่างทำอีกเป็นจำนวนมาก
มีความสนใจมากมายที่มีความคล้ายคลึงและความแตกต่างกันระหว่างผลงานของพวกเขากับ Foucault. ที่เหมือนกันกับ Foucault ก็คือ Deleuze ได้รับการฝึกฝนมาทางด้านปรัชญา และ Guattari ได้ทำงานอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวชศาสตร์ และได้มีความสนใจในความรู้ทางด้านการแพทย์ในฐานะที่เป็นรูปแบบหนึ่งซึ่งมีความสำคัญเกี่ยวกับการควบคุมทางสังคม. Deleuze และ Guattari ได้ดำเนินรอยตามวิถีทางหรือแนวโน้มทั่วๆไปเกี่ยวกับการวิจารณ์ของ Foucault เกี่ยวกับความเป็นสมัยใหม่(modernity). คล้ายๆกับ Foucault, ความใส่ใจที่เป็นแกนกลางสำคัญของพวกเขาก็คือ เรื่องของความเป็นสมัยใหม่ ในฐานะที่เป็นขั้นตอนประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับการครอบงำ ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนการแพร่ขยายของวาทกรรมเกี่ยวกับการทำให้เป็นปกติ(normalizing discourse) และสถาบันต่างๆที่แพร่หลายไปทั่วในทุกๆด้านเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของสังคมและในชีวิตประจำวัน
แต่อย่างไรก็ตาม มุมมองทางทัศนียวิทยาแบบภาพกว้างของพวกเขาต่อความเป็นสมัยใหม่ค่อนข้างจะแตกต่างกัน. สิ่งที่เด่นชัดมากที่สุดก็คือ ในขณะที่ Foucault มีแนวโน้มที่จะวิพากษ์ในลักษณะรวมๆทั้งหมดเกี่ยวกับความเป็นสมัยใหม่, Deleuze และ Guattari กลับค้นหาเพื่อที่จะสร้างทฤษฎีและแยกให้เห็นแง่มุมหรือด้านที่เป็นบวกและมีลักษณะปลดปล่อยของมัน การถอดระหัสเกี่ยวกับการไหลเลื่อนของแรงขับทางเพศ(libidinal)ที่นำไปสู่พลวัตรต่างๆของเศรษฐกิจแบบทุนนิยม(the decoding of libidinal flows initiated to the dynamics of the capitalist economy).
ไม่เหมือนกันกับ Foucault, ผลงานของ Deleuze และ Guattari เป็นงานที่วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับความรู้และเรื่องของเหตุผลไม่มากนัก กล่าวคือ เขาทั้งสองวิจารณ์เรื่องเหล่านี้น้อยกว่าเรื่องของสังคมทุนนิยม; ผลที่ตามมา การวิเคราะห์ต่างของพวกเขาได้ให้ความไว้วางใจและความเชื่อมั่นต่อปริมณฑลต่างๆเกี่ยวกับขนบจารีตแบบมาร์กซิสท์มากกว่างานของ Foucault. แต่อย่างไรก็ตาม ที่เหมือนๆกันกับ Foucault คือ พวกเขาไม่ได้แสดงตัวหรือถือว่าพวกเขาเป็นมาร์กซิสท์ และปฏิเสธระเบียบวิธีในหลักวิภาษวิธีสำหรับตรรกะแบบโพสท์โมเดิร์นเกี่ยวกับความแตกต่าง, ทัศนียวิทยาแบบภาพกว้าง, และการแตกออกเป็นชิ้นๆ. ขณะเดียวกัน ทั้งสามได้มองภาพระยะใกล้ข้างหน้าและเห็นถึงความสำคัญของโครงสร้างขนาดเล็กที่สร้างเป็นทฤษฎีเกี่ยวกับการครอบงำขึ้นมา. Deleuze และ Guattari ค่อนข้างกล่าวออกมาอย่างชัดเจนถึงความสำคัญของโครงสร้างขนาดใหญ่ด้วย และได้พัฒนางานวิจารณ์ที่ลงลึกไปในรายละเอียดเกี่ยวกับรัฐ
ยิ่งไปกว่านั้น ขณะที่การเน้นของ Foucault เจาะจงลงไปที่เทคโนโลยีต่างๆที่เกี่ยวกับเรื่องระเบียบวินัยของความเป็นสมัยใหม่ และพุ่งเป้าไปที่ร่างกายที่ตกอยู่ภายใต้ระบบกฎเกณฑ์ของอำนาจ/ความรู้(power/knowledge). Deleuze และ Guattari กลับเพ่งความสนใจไปที่การทำให้เป็นอาณานิคมเกี่ยวกับความปรารถนาขึ้นมา(the colonization of desire) โดยวาทกรรมและสถาบันสมัยใหม่หลายหลาก. ขณะเดียวกัน ความปรารถนาเป็นแนวเรื่องรองอันหนึ่งในวงศ์วานวิทยาหลังๆของ Foucault เกี่ยวกับอัตบุคคล(subject), แต่สำหรับ Deleuze และ Guattari มันเป็นสิ่งสำคัญแรกสุดเลยทีเดียว
ผลลัพธ์ที่ตามมา วิธีการจิตวิเคราะห์, แนวความคิดเกี่ยวกับการยับยั้งชั่งใจ, การพัวพันอยู่กับ Freudo-Marxism, และการวิเคราะห์เกี่ยวกับครอบครัวและลัทธิฟาสซิสม์จึงแสดงบทบาทสำคัญยิ่งในงานของ Deleuze และ Guattari ยิ่งกว่างานของ Foucault, แม้ว่าการวิจารณ์ของพวกเขาเกี่ยวกับจิตวิเคราะห์จะสร้างขึ้นมาบนการวิจารณ์ของ Foucault เกี่ยวกับ Freud, จิตเวชศาสตร์, และวิทยาศาสตร์มนุษย์ก็ตาม
ในทางที่แย้งกันกับ Foucault ซึ่งเน้นเรื่องธรรมชาติการสร้างอำนาจ และปฏิเสธสมมุติฐานเกี่ยวกับการระงับ-ปราบปราม, Deleuze และ Guattari พร้อมที่จะพูดถึงเรื่องการระงับ-ปราบปรามเกี่ยวกับความปรารถนาอย่างเต็มที่ และพวกเขาได้ทำเช่นนั้น, เพราะพวกเขาได้สร้างแนวคิดที่มีสาระสำคัญอันหนึ่งเกี่ยวกับความปรารถนาขึ้นมา. นอกจากนี้ เจตนาและความตั้งใจของ Deleuze และ Guattari ที่ให้การสนับสนุนการให้เสรีภาพทางด้านร่างกายและความปรารถนา ยืนหยัดอยู่ในความขัดแย้งที่แหลมคมกับความเห็นพ้องหรือการเข้าข้างของ Foucault ที่มีต่อโครงการ"เกรโค-โรมัน" ในเรื่องเกี่ยวกับการควบคุมตัวตน(Foucault's sympathies to the Greco-Roman project of mastering the self).
อย่างไรก็ตาม นักทฤษฎีทั้งสามคนนี้พยายามที่จะกระจายชนชั้นกลางออกจากการเป็นศูนย์กลาง และทำการชำระสะสางเรื่องอัตบุคคลของมนุษย์(humanist subject). Foucault ติดตามเรื่องราวดังกล่าวโดยผ่านวิธีการโบราณคดีและวงศ์วานวิทยาเชิงวิพกาษ์(a critical archaeology and genealogy)ที่ได้ลดทอนอัตบุคคลลงมาสู่การเป็นผลของวาทกรรมและปฏิบัติการในเรื่องของวินัย, ขณะที่ Deleuze และ Guattari ได้ติดตามเรื่องของการทำลายล้างในลักษณะ schizophrenic (เกี่ยวกับจิตเภท)ของ ego และ super-ego โดยเห็นด้วยกับจิตไร้สำนึกที่เป็นพลวัตร
แม้ว่าต่อมาภายหลัง Foucault จะปรับทัศนะต่างๆของเขาในเรื่องของอัตบุคคล แต่นักทฤษฎีทั้งสามคนนี้ก็ปฏิเสธความคิดโมเดิร์นนิสท์เกี่ยวกับอัตบุคคลที่เป็นแบบเดียวกัน, ความมีเหตุมีผล, และการแสดงออก และพยายามที่จะทำให้เกิดความเป็นไปได้ของการปรากฏตัวขึ้นมาของแบบฉบับใหม่อันหนึ่งของอัตบุคคลที่กระจายออกจากศูนย์กลาง(decetered subjects), และได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระจากสิ่งที่พวกเขาเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่ากลัวเกี่ยวกับเอกลักษณ์ต่างๆที่เป็นแบบเดียวกันและการกำหนดตายตัว, และมีอิสระที่จะกระจายไป พร้อมทั้งมีลักษณะหลากหลาย, ที่ได้รับการก่อตัวขึ้นมาอีกครั้งในฐานะที่เป็นแบบฉบับใหม่อันหนึ่งความเป็นอัตบุคคลและร่างกายต่างๆ(new types of subjectivities and bodies).
นักเขียนทั้งสามคนได้แสดงให้เห็นการนับถือกันอย่างสูงสำหรับผลงานต่างๆของแต่ละคน. ในหนังสือของเขาเรื่อง Foucault (1988; orig. 1986 p.14), Deleuze ต้อนรับทักทาย Foucault ในฐานะนักคิดใหม่ในระดับถอนรากถอนโคนคนหนึ่ง ซึ่งผลงานของเขาเป็นตัวแทนของก้าวย่างที่แจ่มชัดมากที่สุด กระนั้นก็ให้การยอมรับในปฏิบัติการทางทฤษฎีเกี่ยวกับความหลากหลายต่างๆ. สำหรับในส่วนของ Foucault เอง(1977; p.213) อ้างว่า ผลงานของ Deleuze และ Guattari มีอิทธิพลอย่างสำคัญต่อทฤษฎีของเขาเกี่ยวกับเรื่องอำนาจ และได้เขียนบทนำที่ยกย่องสรรเสริญผลงานเรื่อง Anti-Oedipus.
ในงานวิจารณ์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลงานของ Deleuze ใน "Theatrum Philosophicum" (1977: pp. 165-96), Foucault ยกย่องเขาสำหรับงานเขียนที่วิพากษ์วิจารณ์ปริมณฑลต่างๆทางปรัชญาตะวันตก และสรรเสริญในความรู้ที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์. และที่ Foucault แสดงความถ่อมตัวมากครั้งหนึ่ง คือการเอ่ยคำพูดออกมาในเชิงดูหมิ่นฐานะตำแหน่งหรือที่ทางของตัวเขาเองในประวัติศาสตร์ ดังเช่นที่เขาเคยกล่าวว่า (1977; p.165) "บางทีสักวันหนึ่ง, ศตวรรษนี้จะถูกรู้จักในฐานะที่เป็นวันเวลาของแนวคิดแบบ Deleuzian"
ในการสนทนากันเรื่อง "Intellectuals and Power" (Foucault 1977: pp.205-17), สุ้มเสียงของ Foucault และ Deleuze ได้ผสมผสานคลุกเคล้ากันอย่างอิสระในโครงการที่มีส่วนร่วมกันอันหนึ่งเกี่ยวกับการสร้างนิยามความหมายใหม่ขึ้นมาทางทฤษฎี ซึ่งมักจะปฏิบัติกันอยู่แล้วเสมอ ในส่วนตัวของแต่ละคน
Chapter
4: Baudrillard en route to Postmodernity
บทนำที่สี่ : Baudrillard ในเส้นทางสู่ความเป็นหลังสมัยใหม่
Jean Baudrillard ปรากฎตัวขึ้นมาในฐานะนักทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงแพร่กะจายออกไปอย่างกว้างขวาง
เขาได้รับสถานคุรุหรือครูในโลกของคนที่ใช้ภาษาอังกฤษ และผลงานต่างๆของเขาได้รับการแปลออกสู่ภาษาต่างๆอย่างรวดเร็วทั้งในภาษา
สแปนิช, อิตาเลี่ยน, เยอรมัน, และอื่นๆด้วย. บรรดาผู้ช่วยและผู้ติดตามของ Baudrillard
ยกย่องเขาในฐานะผ้ายันต์ของโพสท์โมเดิร์นสากลผืนใหม่ ในฐานะคนที่เกรียวกราวไปทั่วผู้ซึ่งได้สร้างพลังให้กับฉากของโพสท์โมเดิร์นในเชิงทฤษฎี
ในฐานะนักทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่ของความเป็นหลังสมัยใหม่ที่ใหม่มากคนหนึ่ง
ยิ่งไปกว่านั้น ในทางตรงข้าม ขณะที่ Foucault และ Deleuze รวมทั้ง Guattari ไม่เคยรับเอาวาทกรรมเกี่ยวกับโพสท์โมเดิร์นมาใช้, Baudrillard กลับแสดงตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโพสท์โมเดิร์น และได้รับการสวมมงกุฎในฐานะที่เป็นพระหรือบาทหลวงของยุคใหม่ในท้ายที่สุด. นอกจากนี้ Baudrillard ได้พัฒนาทฤษฎีที่น่าประทับใจมากและค่อนข้างสุดขั้วเกี่ยวกับความเป็นหลังสมัยใหม่ และมีอิทธิพลอย่างสูงในทฤษฎีทางวัฒนธรรมและการสนทนาเกี่ยวกับสื่อสารมวลชนร่วมสมัย, ศิลปะ, และสังคม.
เขาได้รับตำแหน่งศาสตราจารย์ทางด้านสังคมวิทยา ณ มหาวิทยาลัย Nanterre นับจากทศวรรษ 1960s จนกระทั่งถึงปี ค.ศ.1987, Baudrillard ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ที่ปลุกเร้าขึ้นมาชุดหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องของวัตถุ, เครื่องหมาย, และระหัส ในสังคมบริโภคด้วยผลงานต่างๆของเขาในยุคต้นๆ. งานเขียนต่างๆเหล่านี้พยายามที่จะสังเคราะห์งานวิจารณ์แบบมาร์กเซียนเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์การเมืองด้วย semiology (วิธีการทางเทคนิคซึ่งผู้คนสื่อสารโดยผ่านสัญลักษณ์และภาพต่างๆ) และเป็นส่วนหนึ่งของการพยายามอันมากมายที่จะฟื้นฟูทฤษฎีปฏิวัติขึ้นมาหลังจากช่วงเหตุการณ์ในทศวรรษที่ 1960s. นอกจากนั้นยังมีงานวิจารณ์ที่แหลมคมเกี่ยวกับลัทธิมาร์กซ์ในเรื่อง The Mirror of Production (1975; orig. 1973) และได้เสนอทางเลือก, งานเกี่ยวกับโพสท์โมเดิร์นที่ถกเถียงกันได้, มุมมอง, ทัศนียภาพแบกว้างๆเกี่ยวกับสังคมร่วมสมัยในเรื่อง L'echange symbolique et la mort (1976). ในหนังสือต่างๆที่เป็นบทสนทนาอย่างกว้างขวางชุดหนึ่งและบทความต่างๆในทศวรรษที่ 1970s และ 1980s, Baudrillard ได้ยึดติดกับสมมุติฐานล่วงหน้าบางอย่างเกี่ยวกับทฤษฎีและการเมืองสมัยใหม่, ขณะเดียวกันก็ให้ทัศนียภาพและมุมมองต่างๆเกี่ยวกับโพสท์โมเดิร์น
Chapter
5: Lyotard and Postmodern Gaming
บทนำที่ห้า : Lyotard และการเล่นเกมโพสท์โมเดิร์น
ในหลายวงการ Lyotard ได้รับการยกย่องในฐานะที่เป็นนักทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นในระดับสุดยอด(par
excellence) ในหนังสือของเขาเรื่อง The Postmodern Condition (1984; orig. 1979)
ได้แนะนำถึงศัพท์คำนี้ต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวาง และได้ถูกนำไปสนทนากันทั่วไปในการถกกันเกี่ยวกับหัวข้อโพสท์โมเดิร์นในช่วงทศวรรษหลังมานี้.
ระหว่างวันเวลาดังกล่าว Lyotard ได้ตีพิมพ์งานหนังสือขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งให้การส่งเสริมฐานะสภาพต่างๆของโพสท์โมเดิร์นในทางทฤษฎี,
จริยศาสตร์, รัฐศาสตร์, และสุนทรียศาสตร์.
เกือบยิ่งไปกว่าทุกๆคน Lyotard ได้สนับสนุนการแตกหักจากทฤษฎีและวิธีการของสมัยใหม่, ขณะเดียวกันก็เป็นทางเลือกโพสท์โมเดิร์นที่ได้รับความนิยมชมชอบและแพร่หลายมาก. ผลลัพธ์ที่ตามมา ผลงานของเขาได้จุดประกายให้เกิดการโต้เถียงกันอย่างเข้มข้นขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งผู้สนใจสามารถหาอ่านได้ในหนังสือ Postmodern Theory ที่มีการพูดถึงอย่างละเอียด
พ้นไปจากข้อพิจารณาอื่นๆทั้งหมด Lyotard ได้ปรากฎตัวขึ้นมาในฐานะผู้ให้การสนับสนุนเด่นสุดเกี่ยวกับเรื่องความแตกต่างและความเป็นพหุนิยมในอาณาจักรและวาทกรรมต่างๆทางทฤษฎี ขณะเดียวกันก็โจมตีทฤษฎีรวบยอดแบบเบ็ดเสร็จทั้งหมดและทฤษฎีต่างๆของความเป็นสากลอย่างมีพลัง
ในหนังสือเรื่อง The Postmodern Condition, Just Gaming (1985; orig. 1979), The Difference (1988; orig. 1983) และหนังสือในชุดอื่นๆและบทความต่างๆซึ่งได้รับการตีพิมพ์ขึ้นมาในช่วงทศวรรษที่ 1980s เขาได้เรียกร้องความสนใจในความแตกต่าง ท่ามกลางพหุนิยมของกฎเกณฑ์อันเคร่งครัดเกี่ยวกับถ้อยคำหรือวลีทั้งหลาย ซึ่งมีกฎระเบียบ, บรรทัดฐาน และวิธีการต่างๆของตัวมันเอง
การเน้นเรื่องเกี่ยวกับความไม่เป็นเนื้อเดียวกัน(ความแตกต่าง)ของวาทกรรมทั้งหลาย, Lyotard ได้ดำเนินรอยตาม Kant โดยให้เหตุผลว่า อาณาจักรต่างๆเหล่านั้นในฐานะที่เป็นการวินิจฉัยทางทฤษฎี, ภาคปฏิบัติ, และการตัดสินทางด้านสุนทรียภาพ มันมีความเป็นอิสระในตัวของพวกมันเอง มีกฎเกณฑ์ต่างๆ และบรรทัดฐานของมัน. ในหนทางนี้ เขาปฏิเสธความคิดเกี่ยวกับทฤษฎีสากลนิยม และรากฐานนิยม เช่นเดียวกับข้ออ้างต่างๆที่ว่าวิธีการอันหนึ่ง หรือแนวความคิดชุดหนึ่งมีสถานภาพที่พิเศษในปริมณฑลต่างๆที่แตกต่างกันไป เช่น ปรัชญา, ทฤษฎีสังคม, หรือสุนทรียศาสตร์. ในการถกเถียงกับสิ่งที่เขาเรียกว่าทฤษฎีก่อการร้ายและทฤษฎีรวบอำนาจ, Lyotard สนับสนุนลักษณะพหุนิยมของวาทกรรมและฐานะสภาพต่างๆที่ค้านต่อทฤษฎีหนึ่งเดียวอย่างเด็ดเดี่ยว
ฐานะตำแหน่งอันมากมายของ Lyotard คือสิ่งที่สำคัญเบื้องต้นสำหรับทฤษฎีโพสท์โมเดิร์นร่วมสมัย และการศึกษาเกี่ยวกับไอเดียหรือความคิดเหล่านั้นของเขา จะพบว่ามันเป็นแกนหลักที่สำคัญที่สุดต่อการโต้เถียงกันในปัจจุบัน. นับแต่อาชีพการงานของเขาได้ดำเนินไปเป็นเวลายาวนานเกือบสี่ทศวรรษเกี่ยวกับกิจกรรมในทางทฤษฎีที่หลากหลาย จำเป็นอย่างยิ่งที่การโฟกัสของเราจะต้องเลือกสรร และต้องละเลยทฤษฎียุ่งยากบางอย่างแต่น่าสนใจของเขาจำนวนมากไป รวมถึงเรื่องของสุนทรียศาสตร์ และรัฐศาสตร์.
ขณะเดียวกันเราจะชี้ประเด็นไปที่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในงานต่างๆของ Lyotard จากจุดยืนเกี่ยวกับทฤษฎีโพสท์โมเดิร์น ซึ่งเป็นความต่อเนื่องอันหนึ่งด้วยเกี่ยวกับพัฒนาการของเขา. สำหรับทุกๆช่วงตอน, Lyotard ได้โจมตีวาทกรรมและทฤษฎีต่างๆของสมัยใหม่อย่างแหลมคม ขณะเดียวกันก็พยายามที่จะพัฒนาวาทกรรมใหม่ๆ ยุทธวิธีการเขียน การเมืองชนิดต่างๆ และทัศนียภาพแบบภาพกว้างทั้งหลายขึ้นมา
ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
Postmodern
theory
บทนำ 5 บทจากหนังสือ "ทฤษฎีโพสท์โมเดิร์น"
STEVEN BEST & DOUGLAS KELLNER
บทความที่จะอ่านต่อไปนี้ ได้ตัดมาจากบทนำในแต่ละบทของหนังสือเรื่อง Postmodern Theory ซึ่งร่วมกันเขียนขึ้นมาโดย STEVEN BEST & DOUGLAS KELLNER ดังนั้นข้อความที่นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่านกำลังอ่าน จึงเน้นไปในทางที่เป็นการแนะนำเนื้อหาภายในของแต่ละบทของเล่มหนังสือดังกล่าว มากกว่าจะเจาะลึกลงไปในรายละเอียด
หัวเรื่องหลักในบทความนี้
บทนำที่หนึ่ง : ในการค้นหาเกี่ยวกับ โพสท์โมเดิร์น
บทนำที่สอง : ฟูโกและการวิจารณ์เกี่ยวกับความเป็นสมัยใหม่
บทนำที่สาม : Deleuze และ Guattari: Schizos, Nomads, Rhizomes
บทนำที่สี่ : Baudrillard ในเส้นทางสู่ความเป็นหลังสมัยใหม่
บทนำที่ห้า : Lyotard และการเล่นเกมโพสท์โมเดิร์น