มหาวิทยาลัยไทยในปัจจุบันมีภาวะเหมือนลูกโป่ง มันลอยตัวอยู่เหนือสังคม ไม่เกี่ยวข้องอะไรกันเลยกับสังคม มหาวิทยาลัยไทยจึงไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาสังคมไทยได้

เนื่องในการเปิดที่ทำการ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนแห่งใหม่ เราได้เชิญ ศ.นพ.ประเวศ วะสี มาแสดงปาฐกถานำ ในหัวข้อ "ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท" ในวันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน 2545 เวลา 09.30 น. จ.เชียงใหม่

บทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ลำดับที่ 195 เกี่ยวกับการอุดมศึกษา

 

บทความของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ไม่สงวนสิทธิ์ในการนำไปใช้ประโยชน์ทางวิชาการ กรุณาอ้างอิงแหล่งที่มาตามสมควร

release date
090745
QUOTATION

ระบบการศึกษาไทยทั้งหมดในร้อยปีเศษที่ผ่านมา ได้สร้างคนไทยที่ไม่รู้จักแผ่นดินไทยขึ้นมาเต็มประเทศไปหมด เพราะเราไม่ได้ศึกษาจากความเป็นจริง แล้วก็ท่องวิชา เราตั้งโรงเรียนขึ้นทั่วประเทศหมด เรียนหนังสือก็เอาหนังสือมาท่องกัน หนังสือก็คนคนกรุงเทพแต่ง คนกรุงเทพก็ไปลอกฝรั่งต่างประเทศมา ไปแปลเขามาหรืออะไรก็แล้วแต่ เราเรียนกันแบบนั้น เราไม่ได้เรียนรู้จักแผ่นดินไทย เพราะเราเอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาความจริงเป็นตัวตั้ง

มหาวิทยาลัยรับคนเข้ามา เอาตัวเองเป็นผู้คัดเลือก มีอำนาจในการคัดเลือก แต่ไม่ได้รับผิดชอบไปตลอด. เรื่องทางการแพทย์เราจะรู้ ชนบทขาดแคลนแพทย์ แต่โรงเรียนแพทย์บอกว่าฉันจะรับคนอย่างนี้ แต่คนนี้จบแล้วฉันก็ไม่รับผิดชอบ ทำไมไม่รับคนที่มาจากชนบท คนที่ชนบทเขาเลือก เขาชอบ เพราะคนนี้เขามีใจเขาอยากบริการ ทำไมไม่รับคนนี้ไปเรียน มหาวิทยาลัยบอกว่าไม่รับหรอกเพราะมันไม่เก่ง
ศ.นพ.ประเวศ วะสี

 

home
กลับไปหน้าแรกสุด
ภาพประกอบดัดแปลง จากบทความเรื่อง The Body in Space และ Beyond Granvity ในหนังสือ National Geographic ฉบับเดือน มกราคม 2001 หน้า 8 และหน้า 14 (ใช้เพื่อประกอบบทความมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน บริการฟรีโดยไม่คิดมูลค่า)
นักศึกษา สมาชิก และผู้สนใจทุกท่าน หากประสบปัญหาภาพและตัวหนังสือซ้อนกัน กรุณาลดขนาดของ font ลงมาจะแก้ปัญหาได้ หรือติดต่อสอบถาม ตามที่อยู่ข้างล่าง

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
กลางวันเรามองเห็นอะไรได้ชัดเจน
แต่กลางคืนเราต้องอาศัยจินตนาการ


Website ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
สร้างขึ้นมาเพื่อผู้สนใจในการศึกษา
โดยไม่จำกัดคุณวุฒิ

สนใจสมัครเป็นสมาชิก
กรุณาคลิก member page
ส่วนผู้ที่ต้องการดูหัวข้อบทความ
ทั้งหมด ที่มีบริการอยู่ขณะนี้
กรุณาคลิกที่ contents page
และผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็น
หรือประกาศข่าว
กรุณาคลิกที่ปุ่ม webboard
ข้างล่างของบทความชิ้นนี้

หากต้องการติดต่อกับ
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ส่ง mail ตามที่อยู่ข้างล่างนี้
midnight2545(at)yahoo.com
midnightuniv(at)yahoo.com

อเมริกาเจริญแค่ไหนในทางวัตถุ ในทางเศรษฐกิจ แล้วทำไมจึงเกิดปัญหาตึก World Trade วันที่ 11 กันยายน 2001 นั่นคือปัญหาการอยู่ร่วมกัน แล้วตอนนี้ก็กลายไปเป็นเรื่องต่างๆที่ลุกลามใหญ่โต แล้วประเด็นอย่างที่ผมคิดว่าเป็นเจตนาของการอยู่ร่วมกัน ผมคิดว่าเราทำอะไรแล้ว เราไม่ได้เอาตรงนั้นเป็นตัวตั้ง เราเอาอย่างอื่นเป็นตัวตั้งทั้งสิ้น ไม่ได้เอาการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ด้วยกันเอง แม้แต่การสร้างวิชา สร้างอะไรต่างๆ ก็ไม่ได้มีเรื่องการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง

สังคมเองก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไปเชื่อมโยงกันและมีความซับซ้อน มีความยากมาก เกิดเป็นระบบที่ซับซ้อนที่เรียกกันว่า Complex system เป็นระบบที่สลับซับซ้อนมาก หาคนเข้าใจความซับซ้อนของสังคมน้อยมาก เพราะเวลาเรียนแล้วเอาวิชาเป็นตัวตั้งเราจะไม่เข้าใจความซับซ้อนของสังคม เมื่อไม่เข้าใจ ก็ไม่สามารถจัดระบบการอยู่ร่วมกันด้วยสันติได้

ทีนี้เมื่อมาดูที่การศึกษาไทย ถามว่ามันเป็นการศึกษาที่อยู่ในสังคมหรือเปล่า ? ตรงนี้จะเห็นปัญหาใหญ่มาก และผมเชื่อว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด เพราะ"ระบบการศึกษาไทยเป็นระบบที่อยู่นอกระบบสังคม" ไม่ได้อยู่ในสังคม ไม่ได้รู้ร้อนรู้หนาว ไม่ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุข ไม่ได้ร่วมแก้ปัญหา เป็นระบบที่ลอยตัวอยู่นอกสังคม

ท่านทั้งหลายลองดูให้ดี คือไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่ได้เป็นระบบประสาท คนเราที่เป็นอยู่อย่างนี้ต้องมีระบบประสาทที่รับรู้ รู้ร้อนรู้หนาว รู้สุขรู้ทุกข์ เผชิญปัญหาพยายามแก้ไข เมื่อไม่เป็นอย่างนั้นก็ลอยตัวตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัยทั้งหมด ทั้งระบบเลยเป็นระบบที่อยู่นอกสังคม นอกบริบท เช่น

ถ้าสนใจอะไร อยากเรียนอะไรก็เรียน ท่องอันนั้น ท่องอันนี้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องสังคม เพราะฉะนั้นจึงอ่อนแอเป็นอย่างยิ่ง ถึงแม้เราจะใช้เวลา ใช้คน ใช้เงิน ใช้อะไรไปทั้งหมด แต่ทั้งหมดก็เป็นระบบที่อ่อนแอเป็นอย่างยิ่ง แล้วมหาวิทยาลัยไม่ได้ทำหน้าที่ทางปัญญาที่ต้องมี

ทีนี้เมื่ออยู่นอกสังคมอย่างนั้นก็อ่อนแอแล้วมันจะบิดเบี้ยว มันจะเบี่ยงเบนไปจากชีวิตและความจริง ท่านพระธรรมปิฎกได้พูดมานานแล้วแต่ไม่มีคนได้ยิน สิ่งที่ท่านพูดมากว่า 20 ปีแล้วว่า การศึกษาปัจจุบันเป็นการแยกส่วน ภาคชีวิตก็อย่างหนึ่ง การศึกษาก็อย่างหนึ่งแยกกันไป ไม่ได้อยู่ที่เดียวกัน การศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้งซึ่งต่างจากหลักการทุกศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพุทธ เป็นคริสต์ เป็นอิสลาม ถือว่าชีวิตคือการศึกษา การศึกษาคือชีวิตอยู่ที่เดียวกัน เพราะฉะนั้น การศึกษาต้องเกี่ยวข้องกับชีวิต ทำให้ชีวิตดีขึ้น

แต่การศึกษาในปัจจุบันทั้งโลก ที่เราไปเอาแบบอย่างของคนอื่นมาด้วย การศึกษาพวกนั้นเอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง ท่านทั้งหลายลองตรองดู พอศึกษา ถามว่าศึกษาวิชาอะไร วิชานี้มีตำราอะไร จะต้องไปท่องตำราอะไร สอบวิชาอะไร สำเร็จได้ปริญญาในวิชาอะไร แต่ไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตเลย ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม มีแต่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ตรงนี้ก็เป็นปัญหาเรื่องใหญ่ที่สุดของปัญหาทางการศึกษา

เวลาเราจะจัดการศึกษาขึ้นใหม่หรือการศึกษาทางเลือก ผมคิดว่าเราต้องตั้งโจทย์ใหญ่ อย่าไปตั้งโจทย์เล็กๆ ว่าการศึกษาปัจจุบันนี้มันมีอะไรผิดไปอย่างฉกรรจ์ทีเดียว มันจึงไม่เป็นเครื่องมือที่ดีเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกัน เพราะฉะนั้น ประเด็นแรกก็คือ เป็นระบบการศึกษาที่อยู่นอกระบบสังคม

ระบบการศึกษาควรจะเป็นสมองของสังคม ท่านทั้งหลายลองดู สัตว์ต่างๆถ้าไม่มีสมองมันมีชีวิตอยู่ไม่ได้ แล้วถ้าถามว่าสมองมันทำหน้าที่อะไร สมองทำหน้าที่ใหญ่ๆทางปัญญา 4 อย่างด้วยกัน คือ

อันที่หนึ่ง, ต้องสามารถรับรู้ความจริง ถ้ารับรู้ความไม่จริง เราก็จะไม่มีปัญญา เราก็จะไม่เข้าใจเรื่องราวอันนั้น เพราะเรารับความลวงมา รับเอาความไม่จริงมา ก็จะไม่มีปัญญา

อันที่สอง, การรับรู้เข้ามาเฉยๆไม่พอ เพราะเรื่องราวมันซับซ้อน มันลึกซึ้งกว่านั้น เพราะฉะนั้นต้องสามารถเอาความจริงมาวิเคราะห์และสังเคราะห์เป็นปัญญาที่สูงขึ้น สูงขึ้นกว่าเท่าที่ปรากฏรับรู้

อันที่สาม, เอาปัญญาไปใช้ เช่นจะต้องเอาไปใช้อย่างไร เอาไปเชื่อมโยงอย่างไร ต้องไปดัดแปลงอย่างไร ต้องไปสังเคราะห์ใหม่อย่างไรให้เหมาะกับการใช้

อันที่สี่, เมื่อนำไปใช้แล้ว ต้องประเมินด้วยว่าได้ผล หรือไม่ได้ผลมากน้อยแค่ไหน เพราะอะไร แล้วเอาตัวที่ประเมินกลับมาใช้อีก เพราะมันจะทำให้เป็นการเกิดปัญญาที่สูงขึ้นไปอีก

ก็จะวนอยู่อย่างนี้ 4 ประการด้วยกันคือ สามารถรับรู้ความจริง, วิเคราะห์-สังเคราะห์สิ่งที่รับรู้มาให้เป็นปัญญาที่สูงขึ้น, เอาปัญญาไปใช้, และประเมินการใช้นั้น ว่าใช้ได้ผลหรือไม่ได้ผลอย่างไร ต้องปรับความเข้าใจ ปรับการกระทำอย่างไร. ถ้าทำได้ครบวงจรอย่างนี้ ทุกรอบมันจะดีขึ้น ฉลาดขึ้นและได้ผลขึ้น อันนั้นเป็นหน้าที่ของสมอง

ทีนี้สังคมก็ต้องมีสมอง เพราะสังคมก็เหมือนองคาพยพ เหมือนสิ่งมีชีวิต ต้องเรียนรู้ได้ ต้องปรับตัวได้ จึงจะรักษาชีวิตไว้ได้ จึงจะมีสุขภาพดี เหมือนเราเองจะมีสุขภาพดีเราต้องมีสมอง ถ้าสมองเราไม่ดีสุขภาพของเราก็ไม่ดี ไม่สามารถที่จะจัดระบบชีวิตให้อยู่ในสมดุลได้ สุขภาพคือดุลยภาพคือความสมดุล ถ้าเราป่วยก็แปลว่าเราเสียดุล สังคมก็เช่นกัน สังคมจะไปได้ดีมีความสุข มีสุขภาพ มีสุขภาวะทางสังคมต้องมีความสมดุลในเรื่องต่างๆ สมดุลระหว่างกายกับจิต ระหว่างมนุษย์กับสังคม มนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ระหว่างประเทศเรากับประเทศอื่น ถ้ามันเสียสมดุลแล้วจะป่วยและไม่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นสังคมต้องมีสมอง

ทีนี้ถามว่า การศึกษาโดยเฉพาะอุดมศึกษาเป็นสมองของสังคมหรือเปล่า คำตอบก็คือไม่เป็น เพราะมันอยู่นอกบริบทสังคม ไม่ได้รับรู้ความจริง เพราะฉะนั้นต้องเอาสังคมเป็นตัวตั้ง รับรู้แล้วนำมาวิเคราะห์-สังเคราะห์ให้ดีขึ้น แล้วจะทำอย่างไร เอาปัญญาไปใช้แก้ความยากจนอย่างไร จะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างไร จะแก้ปัญหาเอดส์อย่างไร จะแก้ปัญหาเสียดุลการค้าอย่างไร ปัญหาเยอะแยะมากมายไปหมด

แต่อุดมศึกษาไทยไม่ได้เข้ามาทำงานเลย ทำนโยบายก็ไม่เป็น ทำยุทธศาสตร์ก็ไม่เป็น เพราะมันไปแยกย่อย ไปท่องวิชาเป็นวิชา การจะทำนโยบายเป็น ทำยุทธศาสตร์เป็นต้องมองภาพรวม เข้าใจภาพรวมของโลก ของไทยว่าเป็นอย่างไร และถ้าจะทำนโยบายมันจะออกมาเป็นอย่างไร มหาวิทยาลัยทำไม่เป็นเพราะมันแยกย่อยออกไปเป็นคณะต่างๆ ภาควิชาต่างๆ สาขาต่างๆ และแต่ละคนก็ไปท่องวิชาเหมือนตาบอดคลำช้าง ไม่เห็นช้างทั้งตัวก็ไม่รู้ ไม่รู้ว่านี่เป็นช้าง ไม่รู้ว่ามันกำลังจะเดินไปทางไหน ไม่รู้ว่ามันจะเจอปัญหาอะไร เพราะรู้เป็นส่วนๆ

หรือเหมือน Jigsaw ก็แปลว่ารู้ส่วนหนึ่ง แต่ละคนก็รู้เป็นส่วนๆซึ่งเป็นส่วนย่อย แต่ไม่เห็นภาพทั้งหมดว่ามันประกอบกันแล้วเป็นรูปเสือ รูปหมูหรือว่ารูปอะไร อันนั้นก็เป็นลักษณะอุดมศึกษาของไทย ซึ่งไม่สามารถเป็นสมองหรือเป็นปัญญาของประเทศได้ และที่ประเทศวิกฤตก็เพราะวิกฤตอุดมศึกษาไทย

เราอาจจะไปโทษนักการเมืองมันว่าเป็นคนเลวอย่างโน้นอย่างนี้ แล้วเราก็ฝันว่าเมื่อไหร่เรามีนักการเมืองที่ดี นักการเมืองที่บริสุทธิ์แล้วบ้านเมืองก็จะดีขึ้น อันนี้ไม่ใช่ความจริง ไม่เป็นความจริง อยู่ที่อุดมศึกษาว่าเมื่อไหร่จะเป็นสมองของประเทศ ถ้าตรงนี้ทำงาน ไม่ว่านักการเมืองเป็นอย่างไรก็ตาม มันสามารถทำให้ประเทศดีขึ้นได้ เพราะฉะนั้นเราจะต้องดูตรงนี้ให้ชัดเจน ถ้าเราจะช่วยกันชำแหละบ้านเมือง อันนี้เป็นปฐมถ้าเราจะมองดูประเด็นเรื่องอุดมศึกษา

มีอยู่คนหนึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ได้รางวัล Nobel Prize ชื่อ อมาตยา เซ็น ท่านเป็นคนละเอียด พูดถึงเรื่องคนจน แต่ผมฟังท่านพูดและได้อ่าน ท่านก็ยังใช้เรื่องตลาดเป็นตัวตั้ง แล้วก็ใช้เรื่องนี้เป็นตัววิเคราะห์ ว่าอะไรที่มันเป็นไปได้ และอะไรที่มันเป็นไปไม่ได้ ผมอ่านแล้วผมก็ไม่เห็นด้วย เพราะถ้าใช้ตลาดเป็นตัวตั้ง เดี๋ยวมันก็จะเพี้ยนไป น่าจะต้องเอาการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง ทำอย่างไรจึงจะอยู่ร่วมกันด้วยดีได้ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ แล้วมันจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เราต้องตามไปทำความเข้าใจ แล้วพยายามที่จะจัดให้มันอยู่ในสมดุลให้ได้

ประเด็นที่สอง,
เมื่อการศึกษาอยู่นอกระบบสังคม มันก็เกิดเป็นปัญหาและเป็นปัญหาใหญ่ที่เรียกว่า "โครงสร้างทางปัญญา" ขณะนี้โครงสร้างทางปัญญาของเราทั้งหมดในระบบการศึกษาทุกระดับขึ้นมา มีข้อยกเว้นบ้าง แต่ระบบอุดมศึกษาทั้งหมด เป็นโครงสร้างทางปัญญาที่หมุนอยู่ในสุญญากาศ เพราะมันลอยตัวอยู่นอกสังคม ผมคิดว่ามันเป็นโครงสร้างที่ไม่ถูก

โครงสร้างทางปัญญาจะเป็นโครงสร้างจากดินสู่ฟ้า ฟ้าสู่ดิน ก็หมุนอยู่อย่างนี้ คือจากชีวิตจริง จากการปฏิบัติก็สร้างความรู้ขึ้นมา คนที่ทำงานต่างๆ จะขุดดิน จะทำนาทำสวนหรืออะไรก็แล้วแต่ ทุกๆเรื่องในทางปฏิบัติมันจะสร้างความรู้ขึ้นมาในเรื่องนั้น "ดิน"นี้หมายถึง"ชีวิตจริง" การปฏิบัติจริง แล้วหลังจากนั้นเรานำความรู้มาวิเคราะห์-สังเคราะห์ให้เป็นปัญญาที่สูงขึ้น แล้วเอาปัญญานี้กลับไปใช้ปฏิบัติ มันจะหมุนอย่างนี้จากดินสู่ฟ้า จากฟ้าสู่ดิน ทุกวันนี้โครงสร้างทางปัญญาอุดมศึกษาไทยมันหมุนอยู่ลอยๆของมัน เพี้ยนไปข้างหน้าถ้าไม่เอาสังคมเป็นตัวตั้ง

ผมก็เป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยอยู่หลายแห่ง เวลาเขาเสนอหลักสูตรปริญญาโทขึ้นมาทีไร ก็จะกลุ้มใจทุกที คือเขาคิดว่าน่าจะมีหลักสูตรไอ้นั่นไอ้นี่ น่าจะเรียนวิชาอะไรบ้าง แต่ไม่ได้ไปดูว่าสังคมมีปัญหาอะไร มีโอกาสอะไร มีศักยภาพอะไร แล้วน่าจะทำอะไร ก็คิดกันแต่ลอยๆ เหมือนมันหมุนอยู่ในอากาศ ผมคิดว่าตรงนี้มีปัญหามาก

ถ้าเราจะทำอุดมศึกษาทางเลือก คงต้องมองดูตรงนี้ โครงสร้างทางปัญญาที่มันหมุน มันควรจะหมุนจากของจริง หมุนขึ้นมาทำให้เป็นปัญญาสูงขึ้น แล้วก็หมุนอยู่อย่างนี้ แต่ละรอบมันก็จะดีขึ้น เราจะเข้าใจตรงนั้นและมีการปฏิบัติเป็นตัวกำกับ ถ้าไม่มีการปฏิบัติเป็นตัวกำกับมันจะเพี้ยนหลุดลอยไปได้ง่าย เพราะมันไม่สมจริง จะคิดไปเรื่อย คิดโน่นคิดนี่ แต่ว่ามันหลุดลอยไปจากความเป็นจริง มันต้องทดสอบด้วยการปฏิบัติ

ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎีอะไรก็แล้วแต่ จะอาศัยความเชื่อ จะอาศัยเหตุผล อะไรก็แล้วแต่ มันยังไม่รู้ว่ามันจริงหรือเปล่า มันได้ผลดีจริงหรือเปล่า ต่อเมื่อลงมือปฏิบัติ ปฏิบัติแล้วมันได้ผลดีมันถึงจะเชื่อได้ว่ามันดีจริง ไม่เช่นนั้นมันยังเป็นความเชื่ออยู่ ก็ยังเถียงกันได้ และไม่มีทางตกลงกันได้ด้วยการเถียงกัน

ตรงนี้เองซึ่งมีความสำคัญเหลือเกิน เรียกว่าเป็นที่มาของความรู้ ความรู้มันมาจากไหน? ที่กำลังเสนออยู่นี้ "ความรู้มาจากชีวิตจริง มาจากการปฏิบัติจริง แล้วสร้างเป็นความรู้" หลังจากนั้นเราทำความรู้ให้มันชัดเจนขึ้น ใช้วิธีการวิเคราะห์-สังเคราะห์ แล้วก็เอาความชัดเจนนั้นกลับมาใช้อีก ให้มันหมุนอยู่อย่างนี้ จากดินสู่ฟ้า จากฟ้าสู่ดิน อันนี้คือปัญหาเรื่องโครงสร้างทางปัญญา

ประเด็นที่สาม,
เรื่องการขาดศีลธรรมพื้นฐานคือการเคารพศักดิ์ศรีคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคน โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อย คนยากคนจน ผมคิดว่านี่คือศีลธรรมพื้นฐานและเป็นที่มาของเรื่องอื่นๆ จะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชน หรือเรื่องประชาธิปไตย ถ้าเราขาดตรงนี้จะเจริญไม่ได้

เราแก้ปัญหาความยากจนไม่ได้เพราะเราไม่เคารพคนยากจน จะทำอะไรก็บิดเบี้ยว และประเทศไทยก็ขาดตรงนี้เป็นอย่างมาก เราจะเห็นว่าคนเล็กคนน้อย คนยากคนจนไม่มีความหมาย ไปไหนก็ถูกดุ ถูกเอาเปรียบ ถูกทำร้าย ไม่มีความยุติธรรม ไปไหนก็ไม่มีคนสนใจ เพราะคนเขาจะสนใจคนมีสตางค์ คนที่มีอำนาจมากกว่า

ที่โรงพยาบาล คนจนไปก็จะถูกดุ ผมเองก็ถูกดุถึงแม้ว่าจะเป็นหมอ ผมเคยถูกพยาบาลดุตั้งหลายทีแล้ว เพราะผมไม่ได้ผูกเน็กไทขึ้นไปเยี่ยมคนไข้ เขาไม่ทันมองหรอก นึกว่าเป็นใครสักคนไปตามหาคนคลอดลูก เขานึกว่าเป็นสามี เข้าห้องไปเขาก็ดุ. อีกคราวไปเยี่ยม NGO คนหนึ่งถูกรถชน ผมไปเยี่ยมที่ตึกอุบัติเหตุ ตอนนั้นผมเป็นรองอธิการบดีด้วย ยังโดนพยาบาลไล่. ผมไปเยี่ยมคนไข้ที่โรงพยาบาลรถไฟ เอาโดนไล่โดนดุอีกแล้ว คืออันนี้ถ้าเป็นคนจนก็จะโดนดุ

สังคมไทยเป็นสังคมที่เป็นโครงสร้างอำนาจ เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจ ระหว่างคนข้างบนที่มีอำนาจกับคนข้างล่างที่ไม่มีอำนาจ ถ้าจะอ่านหนังสือที่ดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ ของ อ.อะคิน รพีพัฒน์ เป็นวิทยานิพนธ์ มันเป็นโครงสร้างระหว่างอำนาจของคนข้างบนที่มีอำนาจ กับคนข้างล่างที่ไม่มีอำนาจ ....

ตอนนี้มันมีโรงเรียนที่ให้นักเรียนไปเรียนกับช่างเสริมสวย ช่างผสมปูน กับแม่ค้าขายของชำ ผมไปเยี่ยมมาโรงเรียนหนึ่ง ชื่อโรงเรียนจอมสุรางษ์อุปถัมภ์ และโรงเรียนวัดพนัญเชิง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง, ชาวบ้านที่เป็นครูรู้สึกว่า เราก็มีเกียรติมีคนมาเรียนรู้กับเรา เขาก็มีศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคน นักเรียนเวลาเขาเรียนกับใครก็จะเคารพคนนั้น เพราะคนๆนั้นสอนเขาได้ เพราะฉะนั้น สิ่งต่างๆ ถ้าเราเข้าใจมันก็จะเปลี่ยนแปลงได้ มันดูเหมือนว่าจะเปลี่ยนยากเรื่องการไม่เคารพศักดิ์ศรีของคนจน เพราะมันลึกเข้าไปอยู่ในจิตสำนึก แล้วมันจะเปลี่ยนยังไง แต่มันเปลี่ยนได้ด้วยการศึกษา

คราวหนึ่งผมไปเดินที่สยามสแควร์ เห็นเด็กหนุ่มคนหนึ่ง อายุสัก 17-18 หน้าตาดีด้วย แต่ไม่ค่อยกล้าสบตาคน คือแกรับจ้างขัดรองเท้า เพราะการรับจ้างขัดรองเท้ามันไม่มีเกียรติ คนเราต้องมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี จนก็ได้แต่จนก็ต้องมีศักดิ์ศรีของความเป็นคน ถ้าไม่มีศักดิ์ศรีมันอยู่ยาก มันเป็นความทุกข์ เพราะฉะนั้นแกก็มีความทุกข์ สังคมไทยเป็นสังคมที่ดูถูกคนที่ทำงานต่ำ ที่จริงงานนั้นไม่มีต่ำไม่มีสูงอะไร งานมันเป็นเรื่องที่ดีทั้งนั้น แต่เราได้ไปสร้างกันไว้ในสังคมคนชั้นสูง ซึ่งได้ทำตรงนี้ทิ้งไว้

ตอนผมเด็กๆเคยได้ยินว่า รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา สมัยผมเป็นเด็กอยู่ที่เมืองกาญจนบุรี ผมก็หามเสา ผมไม่รู้สึกว่าผมทำความชั่วอะไร ทำไมจึงรักดีหามจั่วรักชั่วหามเสา อันนี้หมายความว่า คนทำงานเบานั้นเป็นคนดี คนทำงานหนักเป็นคนไม่ดี อันนี้เป็นการสร้างความรู้สึกกันเอาไว้

ขอให้ได้เป็นเจ้าคนนายคน ขอให้นั่งกินนอนกิน แล้วอันนี้มันดีอย่างไร คนเราต้องทำงานถึงจะมีกิน การไม่ทำงานแล้วนั่งกินนอนกินอันนี้มันยังไง ผมก็จับมาคิดว่าแล้วมันดียังไง ผมไปเห็นคนนั่งกินนอนกินแล้วมีความทุกข์มาก เพราะไม่ต้องทำอะไร มีแต่นั่งกินนอนกิน พวกนี้มีความทุกข์มาก ความจริงล้างส้วมก็ได้ ทำความสะอาดก็ได้ ทำอะไรก็ได้ เพราะการทำงานมันช่วยพัฒนาจิตใจ มันช่วยพัฒนาอะไรต่างๆ การนั่งกินนอนกินไม่ทำอะไร มันจะทำให้เราแย่มาก แต่ว่าคำพูดเหล่านี้จะสะท้อนเข้ามาสู่สังคมเยอะ

หลายปีมาแล้ว อาจารย์รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ท่านเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ผมเคยไปขอความรู้จากท่าน ความจริงผมไม่ค่อยไว้ใจนักเศรษฐศาสตร์เท่าไหร่ เพราะกลัวว่าจะคิดแบบแยกส่วน แต่ผมนับถืออาจารย์รังสรรค์ท่านเคยบอกว่า… อันนี้หลายปีมาแล้วคือ รายได้ในสังคมไทย 80% มาจากประเภทอย่างนี้ กำไร ค่าเช่า ดอกเบี้ย แล้วมันแสดงถึงการขูดรีดแบบที่นั่งกินนอนกิน เช่นมีที่ดินอยู่ ก็กินค่าเช่าไม่ต้องทำอะไร กินดอก ซึ่งก็แปลกมาก เรื่องดอก มันออกดอกได้ตลอดเวลา ต้นไม้นี่ยังออกเป็นบางครั้ง บางทีฝนแล้งมันไม่ออก แต่ดอกเบี้ยนี่มันออกได้ทุกฤดูกาล เพียงแต่มีเงิน ไม่ต้องทำความดีอะไร ไม่ต้องออกแรงอะไร ก็นั่งกินนอนกิน

พวก สส. และรัฐมนตรี เขาจะไม่ค่อยยอมทำหน้าที่นิติบัญญัติซึ่งมีความสำคัญมาก แต่อยากจะเป็นรัฐมนตรี เพราะว่ามันเป็นเจ้าคนนายคน มันเป็นลักษณะเจ้าขุนมูลนาย มันมีเกียรติมันโก้ ไม่ได้อยู่ที่ว่างานอะไรที่มันมีประโยชน์ ที่จริงนิติบัญญัติเป็นเรื่องที่มีประโยชน์แต่ไม่ค่อยมีคนสนใจทำ และที่จริงเป็นเรื่องที่ใหญ่มากในเรื่องกฎหมาย

ผมพยายามพูดคุยท้าทายผู้คนเยอะเชียว ว่าต้องปฏิรูปกฎหมาย กฎหมายที่สร้างๆกันขึ้นมาแล้วมันก่อให้เกิดปัญหานี่เยอะมาก อันนี้ก็เป็นปัญหาอุดมศึกษาอีกอย่างหนึ่ง กฎหมายที่สร้างกันขึ้นมาแล้วก่อปัญหาสังคม เพราะมันไม่เข้าเรื่อง เราต้องเอาสังคมหรือการอยู่ร่วมกันด้วยดีเป็นที่ตั้ง แล้วมีกฎหมายอยู่จำนวนมากที่ไม่สนับสนุนการอยู่ร่วมกันด้วยดี เช่น อาจารย์บวรศักดิ์เคยพูดถึงว่า กฎหมายไม่ได้เอื้ออำนวยกับเรื่องคนจนเลย กฎหมายที่เป็นปฏิปักษ์กับคนจน มันต้องการการแก้ไข ต้องการการปฏิรูป

ผมไปท้าทายนักกฎหมาย เขาก็บอกว่าทำไม่ได้ คนหนึ่งซึ่งเป็นนักกฎหมายใหญ่ ดร. อักขราทร จุฬารักษ์ ซึ่งเคยเป็นเลขาธิการกฤษฎีกา ขณะนี้เป็นประธานศาลปกครอง บอกว่าเรื่องนี้ดำมืดมาก เพราะกฎหมายจะก่อให้เกิดความรุนแรง กฎหมายมีอำนาจมาก แต่เป็นอำนาจที่จะยึดให้อยู่กับที่ แต่สังคมต้องเปลี่ยนไปโดยปัจจัยต่างๆ มันต้องเคลื่อนไป ซึ่งเป็นพลังเคลื่อนที่แรงมาก

ตกลงมันมีสองพลัง พลังหนึ่งจะยึดให้อยู่กับที่ อีกพลังหนึ่งจะแยกไป พอมันเป็นอย่างนี้มันก็ทำให้เกิดการฉีกขาด พอฉีกขาดก็เลือดออก ผมจึงบอกว่ากฎหมายเป็นตัวก่อให้เกิดความรุนแรง แต่จะปฏิรูปก็ยาก เพราะการศึกษาทางด้านนิติศาสตร์เป็นการเรียนมาแบบเป็นเทคนิคเท่านั้น เพื่อจะไปใช้เป็นทนายความ เป็นผู้พิพากษา จึงไม่มีพลังทางปัญญาทางความรู้พอที่จะไปแก้กฎหมายหรือปฏิรูปกฎหมาย เพราะจะต้องเข้าใจเรื่องสังคม เข้าใจเรื่องเทคโนโลยี เรื่องเศรษฐกิจร้อยแปด ที่มันเชื่อมโยงกันอยู่ทั้งหมด ที่ผมบอกว่ามันซับซ้อนก็ตรงนี้

เพราะไม่เข้าใจตรงนี้ ก็ไม่เข้าใจว่าจะปฏิรูปกฎหมายอย่างไร เรื่องก็คาอยู่อย่างนั้น เราลองไปยกดูกฎหมายบางเรื่องขึ้นมา อย่างเช่น กฎหมายป่าสงวน ออกเมื่อ พ.ศ.2507 ให้อำนาจรัฐว่าถ้าคุณขีดตรงไหน ตรงนั้นก็เป็นป่าสงวน คือ ถ้าเขาขีดตรงนี้ ตรงนี้ก็เป็นป่าสงวน แล้วคนสิบล้านคนกลายเป็นคนผิดกฎหมาย จะต้องไล่ออกเพราะผิดกฎหมาย เกิดความขัดแย้งเรื้อรัง บางครั้งมีการเลือดตกยางออก เดี๋ยวนี้ก็มีปลอดประสบ แต่งชุดแบบทหาร เพื่อจะลงพื้นที่ขับไล่ชาวบ้าน จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังแก้ไขอะไรไม่ได้ จากกฎหมายที่ออกเมื่อ พ.ศ.2507 กฎหมายป่าสงวน

พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้หลายครั้ง ผมจำได้ว่าครั้งหนึ่ง พ.ศ.2516 กฎหมายนี้ออกปี 2507 พระองค์รับสั่งกับคณะกรรมการจัดงานวันรพี ว่า กฎหมายฉบับนี้ไปบุกรุกชาวบ้าน ไม่ใช่ชาวบ้านมาบุกรุกบ้านเมือง อันนี้ก็ยังไม่ได้แก้ไขเลย

ที่เชียงใหม่ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2524 เสด็จมาปิดสัมนาที่สำนักงานเกษตรภาคเหนือ รับสั่งว่า กรมป่าไม่มีทางจะรักษาป่าไว้ได้ จะไปเที่ยวไล่จับคนเขาได้อย่างไร ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ปลูกป่า เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากป่า และเป็นผู้รักษาป่า คนจะรักษาอะไรก็ต่อเมื่อได้ประโยชน์ต่อสิ่งนั้น รับสั่งเอาไว้ครบ แนวคิดตรงนี้เป็นแนวคิดที่จะรักษา แต่คนจะรักษาก็ต่อเมื่อเขาได้ประโยชน์จากมันเขาก็รักษามัน อันนี้เป็นธรรมดา ใครได้ประโยชน์จากอะไรก็จะรักษาสิ่งนั้น

คราวหนึ่งไม่ทราบว่าจำได้หรือเปล่า รัฐบาลมีโครงการจะปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ใช้เงินไปประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ไปเอาของธนาคารเอาของบริษัทต่างๆ แล้วมันก็ไม่อยู่เพราะมันเป็น concept การปลูก ไม่ใช่ concept การรักษา คนเราจะรักษาเพราะเขาได้ประโยชน์ เช่นป่าชุมชน เขาได้ประโยชน์เขาก็รักษา เพราะฉะนั้น ตรงแนวคิด ถ้าไม่ชัดเจน ถึงแม้ว่าจะมีเจตนาดี ถึงจะใช้ทรัพยากร ใช้อะไรไปเยอะก็ไม่ได้ผล. เรื่องกฎหมายที่ว่านี้ ปัจจุบันก็ไม่ได้มีการแก้ไข คนโน้นคนนี้พูดกัน

คราวหนึ่งรัฐบาลชาติชาย มีการจัดสัมนาคราวหนึ่งขึ้นมาใหญ่มากที่ทำเนียบรัฐบาล เรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องทรัพยากร มีนักวิชาการ มีชาวบ้าน ผู้นำชุมชน นักกฎหมายมาร่วมกันทำเยอะเลย เป็นสัมนาใหญ่ และมีการพูดจากันมาอย่างดีว่าควรจะทำอย่างไร เสร็จแล้วตอนท้ายมีรองนายกรัฐมนตรีมากล่าวปิดสัมนา แล้วกล่าวตรงข้ามกับที่เขาสัมนากันมาทั้งหมด โดยที่ท่านไม่ได้ฟังเลย

ท่านบอกว่าท่านเคยทำงานป่าไม้ เป็นลูกจ้างของบริษัทอะไรไม่รู้ ท่านบอกว่าท่านรู้เรื่องป่าไม้ดี แล้วพูดตรงข้ามหมด ผมออกจากทำเนียบ เห็นอาจารย์เสน่ห์กับอาจารย์เจิมศักดิ์ยืนคุยกันที่ข้างถนน ทั้งคู่โกรธจนหน้าเขียวเลย โกรธรองนายกฯที่มาปิดสัมนา อันนี้จะเห็นว่าเรื่องกฎหมายมีความพยายามเยอะเลย แต่มันก็ยังไม่เปลี่ยน เพราะอะไรที่มันออกมาแล้วมันเปลี่ยนยาก

นักกฎหมายไทยไปเรียนกฎหมายจากที่อังกฤษ แล้วไปเอา concept จากสำนักออสติน เขาเรียกว่า"ออสติเนียน คอนเซ็พท์" สำนักออสตินถือว่า กฎหมายคือเครื่องมือของรัฐ แล้วเราก็เอามาใช้ เมื่ออยากออกกฎหมายอะไรก็ออกมาเลย วิธีออกกฎหมายก็คือรัฐเป็นผู้ออก แต่ว่าขณะนั้นอังกฤษเป็นประชาธิปไตยแล้ว ราษฎรเลือกตัวแทนมาใช้อำนาจรัฐ มันก็ยังเบาอยู่ แต่ของเราไปเอาแนวคิดอันนั้นมาใช้ขณะที่เรายังเป็นเผด็จการโดยรัฐทั้งเนื้อทั้งตัว มันจึงรุนแรงมาก เช่นกฎหมายที่ทำกับสังคม

ที่ผมพูดก็สะท้อนมาว่า แล้วอุดมศึกษาไทยมันมีน้ำยาอะไรบ้างหรือเปล่า ที่จะเข้าใจเรื่องนี้ซึ่งจะช่วยกันปฏิรูปกฎหมาย ก็พบว่าไม่มีน้ำยา เพราะการสอน สอนกันแต่เรื่องเทคนิค ไม่ได้สอนให้มันเกิดปัญญาโดยรอบที่จะเข้าใจเรื่องต่างๆ แล้วมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงด้วย เพราะฉะนั้นตรงนี้ซึ่งเป็นประเด็นที่สามซึ่งกำลังพูดอยู่ ว่าโดยโครงสร้างทางปัญญาที่กล่าวถึงข้อสอง มันนำมาซึ่งระบบการศึกษาเป็นตัวการทำให้เสื่อมเสียศีลธรรมพื้นฐานทั้งระบบเลยทีเดียว อันนี้คือทำให้ไม่ครบคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นคนของคนทุกคน โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อย คนยากคนจน

ประเด็นที่สี่,
เรื่องระบบคุณค่าและการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ผมคิดว่าเป็นระบบที่สร้างความทุกข์ยากให้กับคนทั้งประเทศ เราไปดูซิครับว่ามันน่าสงสารแค่ไหน เด็กๆเรียนมัธยมก็เครียดแล้วกลัวจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ พ่อแม่ก็เครียด ใครมีสตางค์ก็พาลูกไปติว ระหว่างนั้นก็วิตกกังวลกันมาตลอด กลัวลูกจะสอบ entrance ไม่ได้

เมื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย คนส่วนน้อยที่เข้าไปได้ คนส่วนใหญ่ไม่ได้ เราไปสร้างระบบคุณค่าไว้ว่า พอเข้ามหาวิทยาลัยได้เหมือนขึ้นสวรรค์ เข้าไม่ได้เหมือนตกนรก ทำไมเราถึงไปทำกันไว้ถึงขนาดนั้น. ที่ข้างบ้านผมมีเด็กคนหนึ่ง แก่เป็นคนที่นิสัยดีมาก ช่วยพ่อแม่ทำงาน แกเรียนอยู่ระดับมัธยม วันหนึ่งแกยิงตัวตาย เพราะแกสอบ entrance ไม่ได้ ที่จริงแกเป็นคนดี แต่พอสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ ทำให้เข้าใจเหมือนกับว่าไม่ใช่คนดี เราไปสร้างคุณค่าเอาไว้

พวกเราคุ้นเคยกับการสอบ entrance จนเราไม่ได้คิด เดี๋ยวนี้จะเข้าโรงเรียนอนุบาลก็มีการสอบ entrance อันนี้หลักการมันคืออะไรกันแน่ ศีลธรรมมันคืออะไรแน่ตรงนี้ ถ้ามันไม่เก่งไม่ให้เข้าเรียน อันนี้มันยังไง... ถ้ามันไม่เก่งยิ่งต้องให้มันเข้าเรียน แปลว่าเขาไม่ได้คิดถึงสังคมเป็นตัวตั้ง เขาคิดเอาตัวเองเป็นตัวตั้ง อยากได้คนแก่งเข้าเรียน คนไม่เก่งไม่อยากได้ แล้วจะเป็นชื่อเสียงของตัว เอาตัวเองเป็นตัวตั้งใช่หรือเปล่า

มหาวิทยาลัยรับคนเข้ามา เอาตัวเองเป็นผู้คัดเลือก มีอำนาจในการคัดเลือก แต่ไม่ได้รับผิดชอบไปตลอด. เรื่องทางการแพทย์เราจะรู้ ชนบทขาดแคลนแพทย์ แต่โรงเรียนแพทย์บอกว่าฉันจะรับคนอย่างนี้ แต่คนนี้จบแล้วฉันก็ไม่รับผิดชอบ ทำไมไม่รับคนที่มาจากชนบท คนที่ชนบทเขาเลือก เขาชอบ เพราะคนนี้เขามีใจเขาอยากบริการ ทำไมไม่รับคนนี้ไปเรียน มหาวิทยาลัยบอกว่าไม่รับหรอกเพราะมันไม่เก่ง

ถ้าเราเอาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง เพราะเขาจะไปอยู่ด้วยกัน เขาจะไปทำงานด้วยกัน เรามีหน้าที่ เขาจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ เราก็ต้องดัดแปลงวิธีของเราหรืออะไรของเราให้เขาเรียนได้ แต่ว่านี่เราเอาตัวของเราเป็นตัวตั้ง ว่าฉันจะเอาอย่างนี้ ซึ่งเป็นเรื่องของอำนาจว่าใครมีอำนาจที่จะตัดสินตรงนี้ ชุมชนท้องถิ่นควรจะมีอำนาจหรือเปล่าที่จะกำหนดว่าใครควรเรียน อันนี้เราอาจจะไม่ได้คิดเพราะเราทำมาจนเคย

ถ้าใครไปทะเลาะกับอาจารย์วิจิตร ศรีสะอ้าน ตอนท่านเป็นปลัดทบวงมหาวิทยาลัย ท่านก็อ้างร้อยแปดว่ามันดีอย่างไรที่มีการสอบแบบนี้ ว่ามันทำให้เกิดความเป็นธรรม ไม่เช่นนั้นจะมีการใช้เส้นใช้สาย ใช้อะไรอื่นๆ

มีบางประเทศที่เขาออกกฎหมายห้ามสอบ entrance อย่างเช่น ฝรั่งเศส ผมเคยไปดูเขาว่าเขาจัดระบบการศึกษาอย่างไร ประเทศนี้จะใช้กฎหมายมาก เช่น มีกฎหมายห้ามไม่ให้โรงเรียนมัธยมมีนักเรียนเกิน 30 คนต่อชั้นต่อห้อง ถ้ามี 31 คน ผิดกฎหมายแล้ว เราฟังดูแล้วอาจจะขำ แต่ว่าความจริง ไม่ทราบซิ ถ้าจะให้คุณภาพดีชั้นเรียนจะต้องเล็กใช่ไหม?

ผมคิดว่าเมืองไทยไม่มีทาง โดยวัฒนธรรม โดยความสัมพันธ์ ไม่มีทางที่จะไปกีดกันเรื่องการฝาก เพราะฉะนั้นชั้นเรียนก็จะใหญ่ มี 50-60 คน เดี๋ยวผู้แทนฝากบ้าง เดี๋ยวคนนั้นฝากบ้าง ขนาดสมเด็จพระเทพฯ ท่านเป็นครูใหญ่โรงเรียนจิตรลดา ท่านบอกว่า เวลารับนักเรียนท่านกลุ้มใจมาก อยากจะฆ่าตัวตาย แม่ยังฝากเลย ท่านว่า. อันนี้มันจึงยากมาก ถ้าเราจะทำให้ชั้นเรียนในเมืองไทยเล็ก ไม่รู้จำเป็นต้องออกกฎหมายหรือเปล่า?

เขามีกฎหมายห้ามสอบ entrance เขาบอกเป็นสิทธิของคนฝรั่งเศสทุกคนที่จะเข้าศึกษา จะใช้อะไรมาเป็นเครื่องกั้นไม่ได้ จะใช้กรณีว่าเรียนไม่เก่งแล้วให้เข้าเรียนไม่ได้ จะใช้กรณีว่านักเรียนยากจน ไม่ให้เรียนก็ไม่ได้ อันนี้ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้น ผมว่าตรงนี้มันเป็นประเด็นใหญ่เรื่องหนึ่งที่อยากฝากไว้ว่า ถ้าเราอยากจะจัดการศึกษาทางเลือก เราก็ต้องดูประเด็นต่างๆ เราอยากให้มันดีกว่าที่มีอยู่ใช่ไหม?

ทีนี้ระบบอย่างที่ว่าซึ่งเราไปสร้างคุณค่าเช่น ถ้าสอบเข้าจุฬาได้ เข้าธรรมศาสตร์ได้ เข้ามหิดลได้มันมีเกียรติ แล้วยังมีลดหลั่นกันลงไปอีก ว่าเรียนอะไรมีเกียรติเหนือกว่าอะไร ทางสายวิทยาศาสตร์สุขภาพต้องเรียนแพทย์ถึงจะสูงสุด รองลงมาทันตแพทย์ รองลงมาเภสัช กายภาพบำบัด เทคนิคการแพทย์อะไรอย่างนี้

การไปสร้างค่านิยมเอาไว้อย่างนี้ ผมว่าทำให้เกิดความบิดเบี้ยว เพราะคนจะไปเรียนอะไร ควรจะเรียนตามที่ตัวชอบ ตัวมีความถนัด เนื่องจากธรรมชาติของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คนที่ไม่ชอบบริการคนอื่นไม่ควรมาเรียนแพทย์ คนที่ชอบใช้อำนาจ ไม่รู้ว่าจะไปเรียนอะไรดี คนชอบวรรณคดีก็ไปเรียนวรรณคดี ชอบช่างไปเรียนช่าง ไม่เกี่ยวกับเรื่องมีเกียรติหรือไม่มีเกียรติอะไร คนควรจะมีเกียรติเสมอกันหมดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นคน แต่เราไปสร้างคุณค่าหรือค่านิยมบางอย่างขึ้นมามันทำให้เกิดความบิดเบี้ยว แล้วได้คนน้อย

เราได้เห็นกันแล้วว่าบางคนมาเรียนแพทย์ เขาไม่ได้เหมาะที่จะเป็นแพทย์เลย แต่ว่าพ่อแม่อยากให้เรียน เพราะเรียนแล้วมันมีเกียรติมีศักดิ์ศรี มันทำให้เกิดภาพขึ้นในระบบอุดมศึกษาไทย ผมอยู่ในนี้ก็เห็นภาพ อาจจะพูดรุนแรงสักหน่อย ในมหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยคนที่ไม่อยากเรียน ทั้งครูและนักศึกษา ครูก็ต้องเป็นผู้อยากเรียนนะ แต่มาอยู่เพราะว่ามันมีเกียรติ มีรายได้หรืออะไรก็แล้วแต่

อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เขียนเอาไว้บ่อยๆว่า สอนที่คณะรัฐศาสตร์กลุ้มใจจริงๆ มันเต็มไปด้วยเด็กอนุบาล หรืออะไรทำนองนี้ แต่ผมว่าเด็กอนุบาลยังอยากเรียนนะ แต่ในมหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยคนไม่อยากเรียน แล้วเราไปกันท่าคนที่เขาอยากเรียนไม่ให้ได้เข้าเรียน แต่เราไปรับคนที่ไม่ได้อยากเรียนเข้ามาเต็ม เข้ามาแล้วรู้สึกว่ามันมีเกียรติ ได้ปริญญาจากจุฬาฯ จากธรรมศาสตร์ หรืออะไรแล้วรู้สึกว่ามันมีเกียรติ ตอนหลังผมเลยตั้งข้อเสนอแนะว่า ให้ยกเลิกการตีค่าปริญญา ถ้าเราจะเอาเรื่องการศึกษาทางเลือก

การตีค่าปริญญา ถ้าได้ปริญญาตรีจะได้เงินเท่าไหร่ ปริญญาโทจะได้เท่าไหร่, ม.6 ได้เท่าไหร่ เราคุ้นเคยกับมัน คิดว่ามันเป็นเรื่องถูกต้องแล้ว แต่มีบางประเทศเขาไม่ได้ตีราคาตามระดับการศึกษา เขาตีราคาตามความจำเป็นของชีวิต เช่นในประเทศญี่ปุ่น

ผมไปญี่ปุ่นได้ไปสอบถามมาหลายฝ่าย ถามแท็กซี่ ถามคนโน้นคนนี้ ถามรายได้ขั้นแรกของคนญี่ปุ่นว่าได้เท่าไหร่ ปรากฏว่าได้ตรงกันหมด ว่าเงินเดือนขั้นแรกของคนญี่ปุ่น ไม่ว่าจะจบ ม.6 หรือจบปริญญาตรี หรือจบอะไรไม่จบอะไร เงินเดือนเท่ากัน คือ แสนหกหมื่นเยนต่อเดือน อันนี้ก็หลายปีมาแล้วเขาถือว่าเป็นความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต ต้องกินข้าวเท่ากัน เป็นคนเหมือนกัน บางทีคนจนต้องกินข้าวมากกว่าอีก เขาคิดตามความจำเป็นไม่ใช่คิดตามระดับ เราไปสร้างคุณค่าไว้แล้วก็ให้เกิดความทุกข์กับผู้คน

บ้านเรา คนจบปริญญากับไม่จบรายได้ต่างกันมากมาย คนไม่จบปริญญาอาจจะได้รายได้ไม่กี่ตังค์หรอก แต่จบปริญญานี่ต่างกันมากมาย มันก็เป็นแรงผลักดันว่าจบปริญญามีศักดิ์ศรีกว่า มีเงินเดือนสูงกว่า ขณะเดียวกันระบบที่เราผลักดันมันแคบ คนส่วนใหญ่เข้าไม่ได้ เกิดความบีบคั้นขึ้น เกิดเป็นความทุกข์ขึ้นตรงนี้ ตรงนี้เป็นประเด็นถ้าเราจะเคลื่อนไหวผลักดันกันต่อไป เราก็ดูที่การตีราคาปริญญาด้วย ผมคิดว่ามันเกี่ยวข้องเพราะมันเกี่ยวกับเรื่องคุณค่า พอมาถึงตรงนี้มันก็เป็นความบิดเบี้ยวอย่างฉกรรจ์

เรื่องอาชีวศึกษาก็เป็นเรื่องสำคัญ แต่ถูกตีค่าว่าเป็นคนจนเรียน ไม่มีเกียรติ มีเกียรติต้องเรียนจุฬาฯ เรียนธรรมศาสตร์ จบมาทำอะไรเป็น มันไม่สำคัญเพราะมันมีเกียรติแล้ว แต่เรียนอาชีวะเรียนแล้วทำอะไรเป็น มันสำคัญมากเรื่องอาชีวะ แต่เราก็ดูถูกมัน พอได้รับการดูถูกก็ทำให้พฤติกรรมเบี่ยงเบนไปได้ ไม่มีใครอยากเข้า ต้องคนจนถึงจะเข้า ต้องคนเกเรถึงจะเข้าเรียน ตอนแรกเข้าไปก็ยังดีอยู่ แต่พอถูกค่านิยมแบบนี้ก็เกเรเลย ไปตีกัน ไปทำอะไรกัน

ผมพยายามพูดให้คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษา บอกว่าเรื่องอาชีวะเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง แต่เราต้องทำตรงคุณค่า ถ้าเราไม่ทำตรงคุณค่าก็ไม่มีคนนิยมเรียน คนจนก็ไม่มีกำลังใจที่จะทำอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นต้องจับตรงคุณค่า ตรงนี้ต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกัน เป็นประเด็นเรื่องคุณค่า เป็นเรื่องของการสอบคัดเลือก

ประเด็นที่ห้า,
ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยปัจจุบันนี้เป็นกลไกของความอยุติธรรมในสังคม เมื่อหลายปีมาแล้ว พอดูตัวเลขคนที่มาเข้าเรียน จ่ายค่าเล่าเรียนประมาณ 1 - 6 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายจริง นอกนั้นรัฐหนุนโดยงบประมาณ ทีนี้ไปดูประชากรของคนที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย มันเปลี่ยนไป ผมตรวจเลือดนี่ผมก็รู้ เมื่อก่อนเราตรวจเลือดนักเรียนแพทย์ที่ศิริราช เราเจออะไร และต่อมาอีก 20 ปีเราเจออะไร เราจะรู้ว่ามันมีการ shift ของประชากรของคนที่เข้ามาเรียน

ตอนที่ผมเรียนแพทย์ ยังมีคนจากที่อื่นเยอะแยะปนกัน คนอีสาน ลูกคนจน ตอนหลังนี้ยากที่คนจนจะเข้าเรียนแพทย์ได้ ต้องมีฐานะ ต้องไปติวกวดวิชา ต้องไปอะไรต่างๆกัน ตกลงปัจจุบันคนที่เข้าไปเรียน ประชากรที่เข้าเรียนจะมีฐานะดี มากกว่าคนที่ฐานะไม่ดี แต่อาศัยคนจนมาอุดหนุนให้เรียน

ถ้าบอกว่างบประมาณแผ่นดินตามที่ผมพูดเมื่อสักครู่นี้ และที่อาจารย์รังสรรค์บอก งบประมาณแผ่นดิน 75-80 เปอร์เซนต์มาจากภาษีทางอ้อม เราอาจคิดว่าจ่ายตามรายได้ นึกว่าคนรวยมากก็จ่ายภาษีมาก แต่คนรวยเลี่ยงภาษีก็มี มีหน่วยราชการบางหน่วยไปทำให้เขาเลี่ยงภาษีก็มี เก็บเงินจากคนรวยได้ยาก ส่วนภาษีทางอ้อมมันมาจากคนจน ซื้อนั่นซื้อนี่ ซื้อกะปิ น้ำปลา พวกนี้เป็นภาษีทางอ้อม

งบประมาณแผ่นดินมาจากภาษีทางอ้อมเป็นส่วนใหญ่ ก็เท่ากับมาจากคนยากคนจนทั่วไปหมด ขายข้าว ขายหอม ขายกะปิ ขายพริก ดังนั้นเมื่อคนรวยเข้ามหาวิทยาลัย แต่จ่ายน้อย อาศัยงบประมาณแผ่นดิน งบประมาณส่วนใหญ่มาจากคนจน ก็เท่ากับคนจนไป subsidize คนรวยให้เรียนมหาวิทยาลัย

อาจารย์รังสรรค์ได้เสนอมานานมากว่า ตรงนี้ทำไง แต่ก็ยังเป็นไปตามเดิม ตรงนี้อาจจะต้องเอาไปพิจารณาดูแล้วก็หาตัวเลขและข้อมูลอะไรมาดูว่าจริงไหม? ที่ผมพูดว่า มหาวิทยาลัยขณะนี้เป็นกลไกความอยุติธรรมในสังคมที่คนจนเข้าเรียนไม่ได้ แต่มาหนุนมาออกสตางค์ให้คนรวยเรียน อาจจะขับรถเบนซ์มาเรียนอะไรต่ออะไร แต่เกือบไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน แต่คนจนอยากเข้าเรียน กลับเข้าเรียนไม่ได้ เพราะระบบสอบ entrance ที่ว่า เพราะฉะนั้นการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยจะต้องเปลี่ยนหลักเกณฑ์แล้วไปเป็นหลักหลักเกณฑ์อื่นมากกว่าการสอบ entrance อย่างที่ว่า

ประเด็นที่หก,
ขณะนี้เราเห็นชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยเป็นการค้ามากขึ้น อันนี้ควรจะวิจัยกันเพื่อให้เห็นตัวเลขกันจริงๆ ที่เราเห็นภาพชัดเจนคือ ขณะนี้มหาวิทยาลัยวิ่งสอนพิเศษกันมาก สอนพิเศษปริญญาโทเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด ทั่วแผ่นดินไทย คนสอนวิ่งลอกกันทั้งประเทศ ถ้าไปที่สนามบินกันจะเจอ วันศุกร์วันเสาร์นี่จะเจอ อาจารย์บินว่อนกันทั่วประเทศหมด เพราะค่านิยม พอได้ปริญญาแล้วมันโก้ดี ขณะนี้ขยับไปปริญญาโท พอมี demand ก็ต้องมี supply แล้วก็เก็บเงินได้มากดี พวกที่มาเรียนนี้มีงานทำ มีรายได้ เก็บเงินกันได้เป็นกอบเป็นกำ อาจารย์วิ่งลอกสอนทั่วประเทศ แต่วิชาการกลับตกต่ำลง

ผมเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ชื่อมันก็บอก แต่ทำไมไม่วิจัยนโยบาย พอทักท้วง ผู้บริหารก็บอกว่าจะกลับไปคิดใหม่ แต่จากนั้นก็ไม่เคยเอากลับมาเลย แล้วหลังจากนั้นเขาก็ไล่ผมออกจากกรรมการสภามหาวิทยาลัย.

ผมบอกว่า ทำไมคุณไม่วิจัยนโยบาย อธิการบดีบอกว่า กรรมการผู้ทรงคุณวุฒินี้เที่ยวเพ้อฝัน มันทำไม่ได้หรอก จะทำได้อย่างไร เพราะอาจารย์วิ่งลอกสอนหนังสือกันง่ายๆแบบนี้ เขามีรายได้เดือนตั้งแสนสองแสน เรื่องอะไรเขาจะมาทำวิจัย จะเห็นความบิดเบี้ยวทางปัญญาว่าตรงนี้มันเกิดขึ้นแล้ว

พอเรื่องเงินทองมันเข้ามา วิจัยไม่วิจัย อย่างที่ผมเรียน วิจัยนโยบายไม่มีเลย อุดมศึกษาไทยไม่เข้าใจนโยบาย ไม่เข้าใจเรื่องยุทธศาสตร์ แต่ว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะว่ามันมีผลกระทบมาก นโยบายอะไรต่อมิอะไรมันมีผลกระทบกับคนทั้งประเทศ แต่เราไม่เข้าใจมัน ไม่เข้าใจกระบวนการ ไม่เข้าใจว่าจะทำอย่างไรให้กระบวนการมันดีกว่านี้ เรื่องนโยบาย มหาวิทยาลัยไม่ function ตรงนี้เลย

มหาวิทยาลัยที่เป็นการค้ามากขึ้น ตรงนี้เป็นประเด็นที่ต้องไปดูแล้ว และขณะนี้มันเชื่อมโยงกับต่างประเทศด้วย เรื่องการค้าขาย เรื่องการเรียน เดี๋ยวนี้มีการเชื่อมโยงกับบางมหาวิทยาลัย เดี๋ยวไปเรียนไทย เดี๋ยวไปเรียนที่อังกฤษ กลับมาเรียนเมืองไทยอีก ไม่รู้เสียเงินเท่าไหร่ ไปเรียนอังกฤษนี้คงแพงมาก ต้องลูกคนรวยเท่านั้นที่จะไปได้ แต่ว่าตรงส่วนที่เรียนเมืองไทยต้องอาศัย subsidy จากคนจน อันนี้จะมีรายละเอียดซึ่งผมคิดว่าต้องไปดูเรื่องนี้ทั้งหมด แล้วใครจะไปดู การจะไปดูต้องวิจัยเพราะเรื่องมันซับซ้อน แต่ถ้าไม่มีคนวิจัยก็ไม่รู้อีก

อย่างเรื่องการคอรัปชั่นเชิงนโยบาย เป็นเรื่องที่ซับซ้อนมาก แล้วถูกกฎหมายด้วย เราจะไปรอดูเฉพาะที่ผิดกฎหมายก็ไม่ได้ และเป็นเงินเยอะมากมีผลกระทบต่อส่วนรวมมาก อาจจะเป็นแสนล้านเพียงเรื่องเดียว แต่อาจารย์ก็ไม่สนใจจะวิจัย หรือไม่สามารถจะวิจัย ซึ่งเป็นประเด็นที่อีกประเดี๋ยวผมจะพูดอีกต่างหากหัวข้อหนึ่ง

เมื่อมาดูว่าถ้ามันเป็นอย่างนี้ ผลมันจะเป็นอย่างไร ผลของอุดมศึกษาที่ผ่านมาว่ามันเป็นอย่างไรก็ไปถึงประเด็นต่อไป

ประเด็นที่เจ็ด,
ระบบการศึกษาไทยทั้งหมดในร้อยปีเศษที่ผ่านมา ได้สร้างคนไทยที่ไม่รู้จักแผ่นดินไทยขึ้นมาเต็มประเทศไปหมด เพราะเราไม่ได้ศึกษาจากความเป็นจริง แล้วก็ท่องวิชา เราตั้งโรงเรียนขึ้นทั่วประเทศหมด เรียนหนังสือก็เอาหนังสือมาท่องกัน หนังสือก็คนคนกรุงเทพแต่ง คนกรุงเทพก็ไปลอกฝรั่งต่างประเทศมา ไปแปลเขามาหรืออะไรก็แล้วแต่ เราเรียนกันแบบนั้น เราไม่ได้เรียนรู้จักแผ่นดินไทย เพราะเราเอาวิชาเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาความจริงเป็นตัวตั้ง

มีคนเตือนว่าการศึกษาแผนปัจจุบันซึ่งออกมาในรัชกาลที่ 5 ออกมาได้ 8 ปีมีคนเตือน ว่าการศึกษาแบบนี้จะทำให้คนไทยขาดจากรากเหง้าของตนเอง คนที่เตือนคือพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวิชรญานวโรรส พระสังฆราช มีอยู่ในหนังสือซึ่งผมอ่านเจอ ผมมีหนังสืออยู่ชุดหนึ่งของพระมหาสมณเจ้า แล้วมีอยู่ตอนหนึ่งว่าด้วยการศึกษา ท่านพูดประเด็นนี้ว่าจะขาดจากรากเหง้าของตัว ไม่เข้าใจพื้นฐาน ไม่เข้าใจวัฒนธรรม

ผมคิดว่าขณะนี้ มีมหาวิทยาลัยน้อยมากที่เข้าใจว่าวัฒนธรรมคืออะไร โดยมากคิดว่าเป็นเรื่องร้องรำทำเพลง ก็มีพูดไว้เหมือนกันเป็นวัตถุประสงค์ข้อที่สี่ของอุดมศึกษา ข้อสี่ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม แล้วทำอะไรบ้างสำหรับมหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษา ถ้ามีเงินหน่อยก็สร้างเรือนไทย ถ้าเก่งหน่อยก็เชิญสมเด็จพระเทพฯมาทรงดนตรีไทย

คราวหนึ่ง มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเขาตั้งรองอธิการบดีฝ่ายวัฒนธรรม ผมรู้สึกตื่นเต้นดีใจ แต่กลายเป็นไปทำกันอย่างว่าเสียอีก ผมคิดว่ามีมหาวิทยาลัยน้อยมากที่เข้าใจว่าวัฒนธรรมคืออะไร ทั้งๆที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุด วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนในสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ เพราะในสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆคนจะต้องดิ้นรนให้มีชีวิตอยู่ คนที่ขั้วโลกพวกเอสกิโมก็ต้องดิ้นรนให้อยู่รอดได้ในสิ่งแวดล้อมอย่างนั้น คนในยุโรปก็ต้องดิ้นรนให้อยู่ได้ คนในประเทศจีน ที่ไหนก็แล้วแต่ มันก็เกิดเป็นวิถีชีวิตที่ต่างกัน เพราะสิ่งแวดล้อมก็ต่างกัน มีความหลากหลาย เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมก็จะหลากหลาย

ก็เป็นวิถีชีวิตร่วมกัน กินความหมดเลย ตั้งแต่เชื่ออะไรร่วมกัน ถือคุณค่าอะไรร่วมกัน มีการทำมาหากินเหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม การทำนา การทำประมงก็เป็นวัฒนธรรม เรื่องอื่นๆทั้งหมด จะเป็นสุนทรียกรรม เรื่องภาษา เรื่องอาหาร เรื่องการแต่งกาย ที่อยู่อาศัย การรักษาโรค ก็เป็นเรื่องวัฒนธรรมทั้งสิ้น

ลองจัดตรงนี้ดูให้ดี เป็นวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชนในสิ่งแวดล้อมหนึ่งๆ เป็นภูมิปัญญาที่สะสมมา เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นอะไรก็ได้. "ภูมิ" ก็แปลว่า"แผ่นดิน" เป็นปัญญาที่ติดแผ่นดินมา ซึ่งไม่เหมือนกันในแต่ละแห่ง

ตรงนี้เรามักจะเข้าใจว่าความรู้มาจากวิทยาศาสตร์เท่านั้น มาจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น ซึ่งเข้าใจผิด ความรู้จากวิทยาศาสตร์ก็มีแต่จะมาทีหลัง ความรู้ของมนุษย์สะสมมาก่อน ทดลองมาก่อน มาทางวัฒนธรรม มาทางภูมิปัญญามาทางวัฒนธรรม ซึ่งได้ทดลองมา บางทีใช้ชีวิตเข้าแรก บางคนอาจจะตายไปด้วยการทดลองนี้

คราวหนึ่งผมประชุมกรรมการสมุนไพร แล้วมีอาจารย์ท่านหนึ่งเป็นหมอ บอกว่าสมุนไพรใดที่ไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ในห้องทดลองจะนำมาใช้ไม่ได้ ผมก็บอกว่า ถ้าถือหลักอันนั้น เราก็กินอาหารไม่ได้ เพราะอาหารเรารู้ว่าอะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้ อะไรกินอร่อยก่อนมีห้องทดลอง วิทยาศาสตร์เพิ่งเกิดขึ้นมาประมาณ 400 ปีอย่างที่เรารู้จัก แต่วัฒนธรรมมีมาตั้งแต่มีมนุษย์หรือก่อนมนุษย์เล็กน้อยด้วยซ้ำไป มันมีมาช้านาน

ถ้าเราเรียนแบบท่องหนังสือ แล้วไม่เข้าใจว่าความรู้มาจากอะไรบ้าง ตัวภูมิปัญญาที่สะสมไว้จะสูญหายไป จะสูญพันธุ์ เหมือนต้นไม้เหมือนสัตว์ที่มันสูญพันธุ์ ซึ่งความรู้แต่ละเรื่องที่ผ่านการสร้าง การทดสอบ การเลือก การสะสมมา มันมีค่ามากเหลือเกิน แต่ว่าถ้าเราเรียนแบบท่องหนังสือตรงนี้จะสูญพันธุ์ จะเหมือนต้นไม้ เหมือนสัตว์ จะไม่กลับมาอีกสำหรับความรู้นั้นๆ ซึ่งจะน่าเสียดายมาก

หลายปีมาแล้วในหนังสือ Time เคยเป็นเรื่องขึ้นปกว่าด้วยเรื่อง traditional knowledge "ความรู้ดั้งเดิม" ก็หมายถึงความรู้เชิงวัฒนธรรม เชิงภูมิปัญญา บอกว่าถ้ายังเรียนแบบนี้ความรู้ดั้งเดิมจะสูญพันธุ์ ซึ่งอันนี้จะน่าเสียดายมากแล้วจะขาดไป แต่ว่าการศึกษาขณะนี้มันทำให้คนไทยขาดจากรากเหง้าของตัวเอง ไม่เข้าใจแผ่นดินไทย แล้วถ้าตรงนี้ท่านทั้งหลายไปวิเคราะห์ดู จะเกิดความสูญเสียมโหฬารพันลึกจากการที่คนไทยไม่เข้าใจแผ่นดินไทย

ผมดูหยาบๆอย่างคนกรุงเทพฯ กรุงเทพเป็นพื้นที่ต่ำน้ำท่วมทุกปี อันนี้เป็นมาแต่โบราณเขาก็รู้ การจะอยู่ที่ไหนต้องรู้ภูมิประเทศที่นั่น ถึงจะอยู่ร่วมกันได้ด้วยดี ที่กรุงเทพก็มีคลองเยอะแยะไปหมด น้ำมาก็ระบายได้หมด และปลูกบ้านขาสูง คนจีนมาเห็นก็คิดว่าแปลกประหลาด คนไทยอยู่บ้านขาสูง พอน้ำขึ้นก็ขึ้นไปอยู่ข้างบน พอน้ำลงก็ลงมาข้างล่าง ไม่ลำบากไม่เสียสตางค์อะไร เพราะเขาอยู่ร่วมกันอย่างสอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม ต่อมามีการถมคลองกันหมด ทำถนน แล้วปลูกบ้านอยู่เป็นบ้านเตี้ยๆอย่างฝรั่ง อยู่กับพื้น น้ำมาน้ำท่วม

น้ำท่วมกรุงเทพ เป็นปัญหาใหญ่ของคนกรุงเทพ ต้องทำสารพัดอย่าง ต้องยกระดับ ต้องกั้นเขื่อน ต้องทำแก้มลิง ทำอะไรร้อยแปด เพื่อจะให้คนกรุงเทพอยู่อย่างไม่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม นี่เป็นปัญหาทางวัฒนธรรมแล้ว คือไม่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม และต้องเสียเงินกี่หมื่นกี่แสนล้านอัดฉีดให้คนกรุงเทพอยู่อย่างผิดธรรมชาติ แล้วเงินที่ทำมาจากไหน ก็ไปเอาเปรียบชนบท

แล้วไปดูเรื่องอื่นๆอีกสารพัดที่มันแก้ปัญหาความยากจนไม่ได้ เพราะไม่เข้าใจแผ่นดินไทย เราเรียนโดยการท่องจำท่องหนังสือลอยตัวอยู่อย่างนี้ ถ้าเราจับประเด็นเรื่องดังกล่าวนี้จะเห็นว่าเสียหายเหลือคณานับที่เราเรียนแบบลอยตัวแบบนี้ ทำให้คนไม่เข้าใจแผ่นดินไทย นี่เป็นประเด็นที่เจ็ด คือขาดการสัมผัสความจริง

ประเด็นที่แปด,
กระบวนการเรียนรู้ที่ใช้วิธีการท่องหนังสือเป็นหลัก ขาดการสัมผัสความจริง คนเราต้องสัมผัสความจริง ความจริงถึงจะเป็นฐานของปัญญาขึ้นมา แล้วยังต้องมีกระบวนการวิเคราะห์-สังเคราะห์อีก ถ้าไม่เข้าใจแจ่มแจ้ง ตอนนี้เกือบไม่มีเลยในอุดมศึกษาไทย ก็วิเคราะห์-สังเคราะห์ไม่เป็น ทำให้เกิดความอ่อนแอทางปัญญาโดยทั่วตลอด

ยกตัวอย่างเรื่องแพทย์ เอาคนเก่งมาเรียน แต่กระบวนการที่เรียน เราเข้าไปสู่กระบวนการซับซ้อนที่ยาก ผมจะยกตัวอย่างให้ฟังคือ คราวหนึ่งกะทรวงสาธารณสุขออกมาตรการที่เรียกว่าราคากลางยา ไม่ว่าคุณจะผลิตจากในประเทศหรือต่างประเทศจะมีราคากลางเท่ากัน มีบริษัทยาต่างชาติเอาฑูตมารุกรัฐบาลไทยว่า ก็คล้ายๆกับเอาฑูตมารุกคุณเนวิน เมื่อเร็วๆนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการค้าปลีกของต่างชาติ ซึ่งมาทำลายผู้ค้ารายย่อย มาทำลายคนขายโชห่วย พวกนี้จะใช้ฑูต เรื่องราคากลางยา บริษัทต่างชาติไปเอาฑูตมารุกรัฐบาลไทย ว่ายาอย่างเดียวกันที่ผลิตในต่างประเทศมีคุณภาพดีกว่ายาที่ผลิตขึ้นในประเทศไทย เช่นยาเตสต้าไซคลินเหมือนกัน แต่ผลิตในต่างประเทศและผลิตในประเทศไทย ของเขาคุณภาพดีกว่า ต้องให้เขาขายแพงกว่า

คำถามคือว่าจริงหรือเปล่า ? ถ้าเราไม่สามารถวิจัยออกมา รัฐบาลก็ไม่มีน้ำยาจะเอาอะไรไปสู้ หรือไปเถียงเขา หรือว่าบริษัทยาเอาเอกสารวิจัยมาให้แพทย์ไทย บอกว่าบริษัทเขาพบยา ก. มันดีสำหรับโรค ข. แพทย์ไทยน่าจะใช้ ถามว่าแพทย์ไทยมีความสามารถพอไหมที่จะดูว่าเอกสารนี้เชื่อถือได้หรือไม่ ปรากฏว่าไม่มีความสามารถตรงนี้ เพราะเรียนมาแบบท่องหนังสือ ด้วยการเรียนแบบนี้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น ความเสียหายไม่น่าจะน้อยว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี เพราะความอ่อนแอทางวิชาการ แล้วทางอื่นไม่ต้องพูดถึง ไม่รู้ว่าเท่าไหร่

ลองไปดูทุกๆทางว่ามหาวิทยาลัยเรียนกันมาแบบนี้ แล้วทำให้เกิดความอ่อนแอทางวิชาการมันทำให้เกิดความเสียหายกับประเทศไทยอย่างไร ซึ่งมันซับซ้อนมาก มันไม่ได้ตรงไปตรงมาแบบครั้งโบราณแล้ว เพียงแต่ว่าแค่ท่องหนังสือมันก็ไปทำอะไรได้ มันจะต้องมีความสามารถที่จะวิเคราะห์ สังเคราะห์ให้เข้าใจปัญหาที่มันซับซ้อน ตรงนี้ก็ไม่มีด้วยกระบวนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยไทยในปัจจุบัน

ประเด็นที่เก้า,
อุดมศึกษาพื้นฐานจริงๆเป็นอุดมศึกษาหรือเปล่า ถ้าเป็นอุดมศึกษามันก็น่าจะนำไปสู่ปัญญาอันอุดม ปัญญาอันอุดมคืออะไร เพียงแต่ท่องจำกันไปมันเกิดปัญญาอันอุดมหรือเปล่า หรือคำที่เราไปแปลเขามาคำว่า university คำว่า universe แปลว่า"จักรวาล" ตรงนี้มันคืออะไร? จักรวาลวิทยาหรืออะไร การที่เราไปท่องหรือไปจำอะไรกันมา มันเป็น university หรือเปล่า? มันเป็นปัญญาอันอุดมหรือเปล่า ในความเห็นผมว่าไม่ใช่

ความรู้กับปัญญาต่างกันอย่างไร ? "ความรู้มันอาจจะรู้อะไรเป็นเรื่องๆก็ได้ แต่ปัญญามันน่าจะต้องรู้เชื่อมโยง" เพราะสรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยง แต่เราไปรู้เป็นส่วนๆ เด็กเวลาโตขึ้นอาจจะรู้เชื่อมโยงกันไป ลองดูว่าความรู้กับปัญญามันต่างกันอย่างไร รู้ความเชื่อมโยงต่างๆทั้งหมด รวมทั้งรู้เรื่องตัวเองด้วย

เรียนแล้วรู้ตัวเองมีหรือเปล่า เข้าใจว่าไม่มีเลยสำหรับมหาวิทยาลัยทั่วโลก เรียนแต่เรื่องข้างนอกตัวทั้งนั้น เรื่องในตัว จิตของตัวเป็นอย่างไร เบญจขันธ์เป็นอย่างไร รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นความเป็นไปของตัวเองตลอดเวลา เรารู้หรือเปล่า. เรารู้จิตใจของเราไหม เรารู้ตัวเองไหม เรารู้สึกอย่างไรเรารู้หรือเปล่า ผมคิดว่าเราไม่มีเรียน เรียนแต่เรื่องข้างนอกตัวตลอดเวลา ดังนั้นเราจึงเรียนกันไม่ครบ เราขาดสิ่งที่สำคัญด้วย เช่น เรารู้สึกสุข ทุกข์อย่างไร เราคิดอะไร เรามีเจตจำนงอะไร อันนี้เป็นเรื่องสำคัญที่กระทบตัวเราเองและกระทบคนอื่นด้วย แต่เราไม่เรียนตรงนี้เลย

เราเรียนแต่ความรู้ข้างนอก ก็เหมือนกับไปหาอาภรณ์มาประดับตัว โดยตัวเราไม่ได้เป็นคนดีขึ้นหรอก หรือบางทีเลวลงอีก มีคนเขากล่าวหาว่าคนเข้าเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว เป็นคนเลวลง จริยธรรมน้อยลงกว่าคนยากคนจน ถ้าเช่นนั้นเราเรียนไปทำไมถ้าเราไม่เป็นคนดีขึ้น ลองดูประเด็นนี้ให้ดี ผมคิดว่าโลกทั้งหมด ผมว่าเกือบไม่มีเลยที่เรียนแล้วรู้ตัวเอง ดังนั้นมันจึงขาดเรื่องที่สำคัญไป

ผมชอบยกตัวอย่าง เรื่องของประธานาธิบดีคลินตัน แกเป็นคนฉลาดมาก เพื่อนของผมคนหนึ่งเป็นหมออยู่ที่ Stanford เขาบอกว่าคลินตันเป็นคนอเมริกันน้อยคนที่เข้าใจความซับซ้อนของสังคม ขณะที่มันซับซ้อนมาก ก็มีคนอเมริกันที่เข้าใจความซับซ้อนนั้นน้อยมาก คลินตันเป็นคนหนึ่งที่เข้าใจ เพราะเขาเป็นคนเก่ง แต่พอเขาเห็นโมนิกา ลูวินสกี้ แกเสียสูญเลย เพราะแกไม่รู้ตัวเองจนพลาดไปเกิดเรื่องซิการ์อะไรต่างๆ ตอนนั้นมันยั้งไม่อยู่แล้ว เพราะมันเร็วมาก ถ้าเราเข้าใจกลไกของจิต จากผัสสะ มันเกิดเวทนา รู้สึกชอบไม่ชอบ ต่อไปมันเกิดอะไรซึ่งเร็วมากตรงนี้

ถ้าเราไม่เรียนให้รู้ตัวเอง ที่เรียกว่า"อินทรียสังวร" มันเหมือนคอยดูประตูอยู่ คอยเฝ้าระวังเอาไว้ มันรับอะไรเข้ามารู้สึกอย่างไร ถ้าไม่มี"อินทรียสังวร"จะควบคุมตัวเองไม่ได้ จะตั้งอยู่ในความดีได้ยาก เพราะมันเร็วมาก ดังนั้น การเรียนแบบความรู้ข้างนอกมันไม่ทันตรงนี้ อันนี้ก็คือประเด็นต่างๆที่เราจะนำมาคิดว่าปัญญาอันอุดมต่างๆคืออะไร แปลว่าอะไร ? ต้องรู้ความเชื่อมโยง จนกระทั่งมารู้ตัวเอง พอเรารู้ตัวเองแล้วเรามีอิสรภาพมากขึ้นหรือเปล่า ผมคิดว่าถ้าเรามีปัญญา เราต้องมีอิสรภาพมากขึ้น ไม่เช่นนั้นเราจะตกอยู่ภายใต้การบีบคั้น

ปัญญาอันอุดมน่าจะนำเราไปสู่อิสรภาพมากขึ้น และทั้งหมดจะนำไปสู่การอยู่ร่วมกันด้วยดี แล้วตรงนี้เองผมคิดว่า ขณะนี้โลกกำลังไปสู่วิกฤต แล้วไม่มีทางแก้ปัญหาการศึกษาแบบเดิม การศึกษาอย่างทุกวันนี้แก้วิกฤตอย่างที่มันเกิดขึ้นไม่ได้ วิกฤตการณ์จากวัตถุนิยม บริโภคนิยมที่กำลังเป็นไปทั่วโลก

มันมีความพยายามให้ทั้งโลกมีอารยธรรมเดียว ถ้าเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมเมื่อสักครู่นี้ จะเห็นว่าอันตรายมาก วัฒนธรรมต้องหลากหลาย อยากให้ทำความเข้าใจความสำคัญของความหลากหลาย ถ้าเรียนชีววิทยา ประเด็นตรงนี้จะเข้าใจ ความหลากหลายเป็นการก่อกำเนิดของชีวิต ถ้าไม่มีความหลากหลายไม่มีชีวิต ถ้าทั้งหมดนี้มีโมเลกุลชนิดเดียว มีธาตุชนิดเดียวจะไม่มีชีวิตเกิดขึ้น ชีวิตจะต้องมาจากความหลากหลาย ต้องมีความหลากหลายถึงขนาดจึงจะเกิดสิ่งที่มีชีวิตขึ้น แล้วต้องอาศัยความหลากหลายถึงจะเผชิญกับวิกฤตได้

อย่างตัวแบคทีเรีย ตัวจุลชีพ ตัวพารามีเซียม ปกติมันจะแบ่งตัวในลักษณะทวีคูณโดยไม่ต้องผสมพันธุ์ แต่ถ้ามันเจอสภาวะวิกฤตเมื่อไหร่ เช่นการขาดอาหาร สิ่งแวดล้อมเป็นกรด เป็นด่าง มีอันตรายกับมัน มันจะผสมพันธุ์กัน ปกติมันจะไม่ผสมสำหรับเซลล์เดียวบางชนิด มันจะผสมพันธุ์กันเพื่อแลกเปลี่ยน DNA ให้มีความหลากหลายของ DNA มากขึ้น จะได้เผชิญกับสิ่งที่เปลี่ยนไปได้ ต้องมีความหลากหลายจึงจะเผชิญกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ถ้าไม่มีความหลากหลายตรงนี้เผชิญไม่ได้ แล้วจะสูญพันธุ์

หลักของความหลากหลายจึงสำคัญ เพราะฉะนั้นความหลากหลายทางวัฒนธรรมจึงสำคัญ มันจะได้เหมาะกับสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน ถ้าไปทำให้ทั้งโลกมันเหมือนกันมันอันตราย แล้วตอนนี้มหาอำนาจกำลังทำ ทำให้ทั้งโลกมีอารยธรรมเดียว ที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ให้มันเหมือนกันทั้งหมด ซึ่งอันตรายมากเหลือเกินที่ตรงนี้ แล้วพาโลกทั้งโลกเข้าไปสู่วิกฤต

มีนักปราชญ์ฝรั่ง 3 คนคุยกันที่แคลิฟอร์เนีย สักสองปีก่อนหน้าที่จะเกิดกรณีตึก World Trade ถล่ม สองในสามคนเป็นคนยุโรป อีกคนหนึ่งเป็นอเมริกัน คนยุโรปคนแรกชื่อลาสโล อีกคนชื่อโกลอบ ส่วนคนอเมริกันชื่อ ปีเตอร์ รัสเซล สามคนนี้คุยกันสองวันสองคืน แล้วได้นำมาพิมพ์เป็นหนังสือ

ตอนหนึ่งที่คุยกันบอกว่า อารยธรรมตะวันตกจะพาโลกทั้งโลกเข้าไปสู่วิกฤต เพราะอารยธรรมวัตถุนิยม บริโภคนิยมแบบนี้มันไปไม่ได้ มันจะไปสร้างวิกฤตการณ์ขึ้น หนักขึ้น มีทางเดียวเท่านั้นที่มนุษย์จะรอดได้คือมีการปฏิวัติทางจิตสำนึก เรียกว่า Consciousness Revolution

ท่านอาจารย์พุทธทาสมองเห็นก่อนใครตั้งแต่ พ.ศ.2475 บอกว่าโลกกำลังเข้าไปสู่วิกฤตแล้ว บอกตั้งแต่โน่นซึ่งยังไม่มีใครเห็น ผมเองไม่คิดว่าถ้าเราไปในภพภูมิเดิมจะแก้วิกฤตตรงนี้ได้ จำเป็นต้องเปลี่ยนพบ อันนี้เป็นธรรมดาถ้าเราเข้าใจ อย่างลูกไก่ที่มันอยู่ในไข่ มันอยู่ในภพหนึ่ง ภพที่มันเติบโตขึ้นคือพบในไข่ แล้วเปลือกไข่เป็นประโยชน์ต่อมันที่มันอยู่ในภพนั้น เพราะมันช่วยป้องกันให้เติบโตขึ้น พอเติบโตขึ้นมันคับไข่แล้ว ถ้าเปลือกไข่ยังอยู่ ลูกไก่ตาย มันต้องกระเทาะเปลือกออกมาสู่ภพภูมิใหม่นอกไข่ มันถึงจะโตเป็นไก่ตัวใหญ่ได้ เรียกว่าต้องเปลี่ยนภพภูมิของการพัฒนา

เด็กอยู่ในท้องแม่เช่นเดียวกัน พอนานวันมันโตเต็มมดลูกแล้ว ถ้ามันออกไม่ได้มันจะวิกฤตมาก มันต้องออกมาเติบโตในภพใหม่ ถ้าเราดูการพัฒนาจะเห็นว่า เมื่อมีการพัฒนาแล้วจะเต็มภพภูมิเดิม หลังจากนั้นต้องเปลี่ยนภพ ผมคิดว่าเราไปเต็มภพภูมิทางวัตถุแล้ว ถ้ายังพัฒนาไปยังภพภูมิเดิม มันต่อไม่ได้ มันจะวิกฤตมากขึ้น เหมือนลูกไก่ออกจากไข่ไม่ได้มันจะบีบจนตาย ดังนั้น ผมคิดว่าอุดมศึกษาจะต้องพาคนออกจากภพภูมิเดิม ยกระดับขึ้นไป

ทั้งหมดที่เราพูดกันมาทั้งทางศาสนาและวิทยาศาสตร์ สำหรับทางวิทยาศาสตร์จะมีอยู่ 4 ภพภูมิ ภพภูมิหนึ่งเป็นสสารภูมิ เป็นเรื่องของสสาร เป็นสิ่งไม่มีชีวิต ตั้งแต่เกิดจักรวาลขึ้นเรื่อง Big Bang ความรู้ตรงนั้นสนุกมากจะทำให้เราเข้าใจอะไรต่างๆ และระบบสุริยะอายุประมาณ 5000 ล้านปี โลกนี้อายุประมาณ 4500 ล้านปี มันก็เกิดวิวัฒนาการของสสารต่างๆ จนเมื่อ 3500 ล้านปี เกิดสิ่งมีชีวิตครั้งแรกขึ้นมา เป็นเซลล์เดียวเกิดขึ้น เรียกว่า"พืชภูมิ" เป็นเรื่องเกี่ยวกับพืช

ต่อมาก็มี"สัตวภูมิ" มนุษย์เราในทางชีววิทยาเป็นสัตว์ แต่ว่ามีวิวัฒนาการทางสมองเกิดขึ้น ถ้าเราเอาสมองคนไปผ่าจะเห็นด้วยตาเปล่าเลยว่ามี 3 ชั้น ชั้นในสุดเป็นสมองที่มาจากสัตว์เลื้อยคลาน เพราะมันมีวิวัฒนาการมาจากสัตว์ เรียกว่า"สมองตะกวด"ก็ได้ เป็นสมองส่วนที่เกี่ยวกับการอยู่รอด ไม่มีอารมณ์ ไม่มีอะไรทั้งนั้น ความอยู่รอดสำคัญ มันจึงอยู่ชั้นในสุด เพื่อความอยู่รอด เพื่อการหายใจ เพื่อการตะปบกินอะไรต่างๆ. ตะกวด จระเข้ด้วย สัตว์เลื้อยคลานเหล่านี้ถ้ามันหิว มันตะปบลูกมันกินก็ได้ ถ้ามันหิวมันทำตามสัญชาตญาณ

ทีนี้ ชั้นที่สอง เป็นสมองสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาจจะเรียกว่าสมองแมว มันมีอารมณ์ พวกแมวพวก สุนัขพวกนี้มันมีอารมณ์ แต่พวกตะกวดพวกจระเข้ไม่มีอารมณ์หรอก ทีนี้มนุษย์มันมีพอกมาชั้นนอก หนาปึ้กเชียว เขาเรียกว่า นีโอ-คอร์เท็คส์ (neo-cortex)

"นีโอ" แปลว่า "ใหม่", "คอร์เท็คส์" แปลว่า "ส่วนข้างนอก". แม้เรามาจากสัตว์ อยู่ในสัตวภูมิโดยชีววิทยา แต่มันได้เกิดสมอง มันสามารถเรียนรู้และเกิดนามธรรมขึ้น คือ ถ้าเรามาดูเรื่องชีวิตของสัตว์ หมาไปฆ่าแมว แมวไปฆ่าหนู เราไม่เคยไปบอกว่าเป็นบาปใช่ไหม มันเป็นธรรมชาติของสัตว์ มันทำตามธรรมชาติของมัน แต่พอถึงบุคคลหรือตัวคนมันมีเรื่องบุญเรื่องบาปเกิดขึ้น มีเรื่องนามธรรมเกิดขึ้น ตรงนี้จะเรียกชื่อต่าง ๆ ใหม่ ๆ ก็ไม่รู้จะเรียกอะไรแต่มนุษย์จะรู้สึก สมัยนี้ใช้คำว่า "มิติทางจิตวิญญาณ"เกิดขึ้น คือเป็นมิติที่ลึกที่สูงของจิต จิตธรรมดา จิตที่รู้อะไร มีอารมณ์อะไร นั่นเป็นจิตธรรมดา แต่มนุษย์มีมิติทางจิตที่สูงขึ้นเกี่ยวกับเรื่อง"ความดี"

สมัยพุทธกาล มนุษย์มีโจทย์ที่น่าสนใจมาก โจทย์ที่ถามกันทั่วไปหมด ไม่เหมือนเราสมัยนี้ คือ โจทย์ที่ถามว่า ความจริงคืออะไร? ความดีคืออะไร? ซึ่งคนสมัยนั้นจะแปลกมาก ถามกันทั่วบ้าน ทั่วเมือง แล้วก็มีคนมาตอบ ที่เรียกว่า อาจารย์ทั้งหกจะมาตอบว่าความดีคืออะไร?

แล้วในสภาพอย่างนั้น ในการแสวงหาอย่างนั้น พุทธองค์ก็ทรงบังเกิดขึ้น เป็นปัญญาชนที่องอาจ เพราะว่าบรรลุวิมุติธรรม ไม่กลัวอะไรเลย และมีเสน่ห์มาก ใครมาพูดคุย สามารถอธิบายอะไรต่าง ๆ ได้ เป็นที่ติดอกติดใจของคนโดยรวดเร็ว

ไปสังเกตสิครับ ถ้าเราลองไล่เวลาดู พระองค์บรรลุธรรมวันวิสาขะ และพักเสวยวิมุตติสุขอยู่ใต้ต้นไม้ 7 ชนิด ชนิดละ 7 วัน รวมเป็น 49 วัน และเสด็จพุทธดำเนินไปเมืองพาราณสี ไปถึงนั่นอาสาฬหบูชา สอนปัญจวัคคีย์ก็เข้าพรรษาพอดี เขาคำนวณได้ว่าเดินไป 11 วันระยะทางวันละเท่าไหร่ เพราะรู้ระยะทางจากพุทธคยาไปพาราณสี

และพอถึงวันมาฆบูชายังไม่ครบปีเลยเกิดพระอรหันต์ตั้ง 1250 รูป ที่ไปชุมนุมกันที่นั่น แสดงว่ามีเสน่ห์มากใช่ไหมครับ มันเกิดขึ้นทั้งหมดนี้เพราะมันมีคำถามอยู่ คำถามว่า ความดีคืออะไร สมัยนี้เขาถามว่า ทำยังไงถึงจะมีกำไรสูงสุด อาจารย์เขาสอนกันอย่างนั้น มันขึ้นกับคำถามในช่วงนั้น

ผมคิดว่ามาถึงช่วงนี้แล้ว มันต้องมีโจทย์ "อุดมศึกษา" ถ้าเรายังไปในภพภูมิเดิม ซึ่งเป็นสัตวภูมิ ขอประทานโทษ ไอ้เรื่องของสัตว์ มันก็มีเรื่อง กิน ขี้ ปี้ นอน แต่มนุษย์มันขาดความดีไม่ได้ มันมีอีกมิติหนึ่ง เพราะมนุษย์ถ้าทำความดีแล้วมันเกิดความสุขท่วมท้น มีสารเอนดอร์ฟินหลั่งในตัวเกิดความปลื้มปีติทั้งเนื้อทั้งตัว ตรงนี้เป็นที่มาของคำพูดของศาสนาต่าง ๆ เขาพูดกันว่า ต้องมีการเข้าถึงสิ่งสูงสุดในความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่มีแต่แบนราบ กิน ขี้ ปี้ นอน อยู่อย่างนั้น แต่ว่ามนุษย์มีอะไรที่สูงขึ้นไปอีก มีการเข้าถึงสิ่งสูงสุด ถ้าเข้าถึงสิ่งสูงสุด ยังไม่ต้องเข้าถึงหรอก มันเกิดความสุขความปีติความปลื้มไปหมดทั้งเนื้อทั้งตัว แล้วทุกคนเคยเจอทั้งนั้น ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า "มันอยู่ที่ปลายจมูกแหละ" บางคนพูดกันจนเป็นเรื่องที่ไปไม่ถึง อู้ย..มันอยู่ไกลมากเมืองนิพพานเมืองแก้ว แสนชาติกว่าจะไปถึง โห..แสนชาติ กูไม่เอาแล้วโว้ย..ไปไม่ถึง ท่านอาจารย์พุทธทาสบอก ทุกคนเคยเจอทั้งนั้นเรียกว่า "นิพพานชิมลอง" เพราะเราเห็นแก่ตัวก็จริงแต่ไม่ได้เห็นแก่ตัวตลอดเวลา บางเวลาเราเห็นแก่คนอื่นก็มี และเวลาที่เราเห็นแก่คนอื่นเรามีความสุข ความปลื้มปีติ ความรู้สึกเป็นบุญเกิดขึ้นแล้วทำให้มีความสุข เอนดอร์ฟินออก ความต้านทานต่อโรคมากขึ้น อายุยืนขึ้น เป็นมะเร็งก็น้อย เป็นอะไรก็น้อย

เพราะฉะนั้น มนุษย์เรานี้ขาดมิติทางจิตวิญญาณไม่ได้ แต่การพัฒนาใน 2-3 ร้อยปีที่ผ่านมาเราทำเหมือนไม่มีมิติอันนี้ เพราะเราถือหลัก พอเจอหลักวิทยาศาสตร์ เราบอกว่าวิทยาศาสตร์นี่วิเศษเหลือเกิน เพราะมันให้ความรู้เราแบบคม ชัด ลึก แต่ว่าขณะเดียวกันมันแยกส่วน มันไปเน้นที่การชั่ง ตวง วัด ได้แม่นยำ

ในทางวัตถุแล้ว การชั่ง ตวง วัด ทำได้แม่นยำ แต่ทางจิตมันมีความดีความชั่ว มันวัดไม่ได้แม่นยำ ก็เลยไม่เอาเหมือนมันไม่มี โลกก็เลยเอียงมาข้างวัตถุและทิ้งจิตวิญญาณไป ก็เลยเป็น"โรคพร่องทางจิตวิญญาณ" เป็น spiritual deficiency disease

ไปดู ท่านดาไล ลามะ ซึ่งเป็นคนบ้านแตกสาแหรกขาด แต่ไปสอนวิชาความสุขให้คนอเมริกัน คนอเมริกันที่มั่งคั่ง ตอนนี้ท่าน ดาไล ลามะ ไปสอนทีไรมีคนฟังเป็นหมื่น ๆ คน และท่านเขียนหนังสือชื่อ The art of happiness ถ้าใครมีความทุกข์ลองไปอ่านดู ท่านดาไล ลามะ บอกว่าปัญหาของยุคสมัยคือ วิกฤตการณ์ทางจิตวิญญาณ(Spitual Crisis) เพราะฉะนั้นในศตวรรษนี้ เรื่องที่ใหญ่ที่สุดของมนุษย์คือ การปฏิวัติทางจิตวิญญาณ(Spitual Revolution) เมื่อสักครู่ที่ผมกล่าวถึงนักปราชญ์สามคน เขาใช้คำว่า Consciousness Revolution การปฏิวัติทางจิตสำนึก จึงอยากจะฝากประเด็นนี้ไว้พิจารณา

ถ้าเป็นอุดมศึกษา ผมคิดว่าเราต้องมองวิกฤตการณ์ของมนุษย์ในปัจจุบันและตีประเด็นให้แตก ว่ามันอะไร แล้วใครจะเป็นคนตีประเด็นนี้ ถ้าไม่ใช่อุดมศึกษา แต่อุดมศึกษาขณะนี้ไม่ได้ทำตรงนี้

ปัญหาของอุดมศึกษาไทย 9 ข้อก็มีเท่านี้ ทีนี้ต่อไปจะพูดถึงว่า เราจะต้องทำยังไง

เรื่องที่ควรทำก็คือ กลับ 9 ข้อที่ว่าไม่ให้เป็นปัญหา แต่มันไม่ได้บอกมรรควิธี มันพูดถึงนิโรธเท่านั้น ถ้ามันมีปัญหาอะไรก็ไปดับปัญหานั้นเสีย มันไม่ใช่วิธีการที่จะทำ ซึ่งบางคนไม่เข้าใจ นึกว่าพอพูดตรงนี้แล้ว ถือว่าได้พูดการแก้ปัญหาแล้ว อันที่จริงยังไม่ได้แก้ไข อันนั้นมันธรรมดามันเป็นตรรกะ ถ้าถึงมรรคจะต้องทำไง ทั้งหมดลองวางดู ดูทั้ง 9 ข้อว่ามันต้องเริ่มจากตรงไหน

เหมือนถ้าพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่ เราจะตีออกทุกจุดก็ออกไม่ได้ ถ้าออกได้มันก็ไม่มาล้อม พระเจ้าตากจะต้องเลือกจุดไหนที่ว่ามันจะเป็นจุดที่ตีออกไปได้ อันนี้เขาเรียกว่าคิดเชิงยุทธศาสตร์ จุดไหนพม่ามันอ่อนแอที่สุดบุกตรงนั้นจะออกได้ เราออกไปข้างนอกไว้ก่อน แล้วค่อยตีกลับมาใหม่หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าอยู่ข้างในถูกมันบีบ อาจจะเรียก"จุดยุทธศาสตร์" หรือ"จุดคานงัด"

เราลองหาจุดคานงัดที่ว่า ถ้าเราทำจุดตรงนี้มันงัดไปสู่สิ่งอื่น เราทำพร้อมกันทั้งหมดที่เป็นข้อบกพร่องของการศึกษา มันยังทำไม่ได้ ผมคิดว่าจุดคานงัดที่สำคัญที่สุดก็คือ

ข้อแรกสุด
"การศึกษาทางเลือก" เพราะการศึกษาทางเลือก คำว่า"ทางเลือก" มันมี"อิสรภาพ" มี"เสรีภาพที่จะลองนั่นลองนี่ ลองดูสิมันสอดคล้องกับปัญหา มันสอดคล้องกับชีวิตหรืออะไรก็แล้วแต่

ถ้าเราพูดว่าอุดมศึกษาในปัจจุบันมันไม่สอดคล้องกับชีวิต กับการแก้ปัญหา ถ้าการศึกษาทางเลือก ผมคิดว่าสอดคล้องมากกว่า คนทำขึ้นเพราะเห็นปัญหาเห็นความจำเป็นต่าง ๆ แล้วมีอย่างหลากหลาย เพราะฉะนั้นจึงควรส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาทางเลือกให้มากที่สุด ตรงนี้จะนำไปสู่จุดที่มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงเรื่องอุดมศึกษาไทย

ทีนี้ถามว่าถ้าจะทำ จะทำยังไง โดยมากเราจะทำอะไร เราจะเริ่มจากอุดมการณ์ อุดมการณ์สำคัญ ต้องมี แต่อุดมการณ์อย่างเดียวจะพาคนไปได้ประมาณ 3 ปี แล้วจะหมดไฟ อันนี้ผมสังเกต สังเกตจาก 14 ตุลา พวกแพทย์ที่มีอุดมการณ์ ไปทำงานชนบท ไปทำได้ 3 ปี เริ่มมอด หมดแรง เขาเรียก จิตสลาย ( Burnt-out)

อุดมการณ์สำคัญแต่ไม่พอ ต้องอาศัยความรู้ ความรู้ว่าเรื่องนี้มันเป็นอย่างไร จะต้องทำยังไง แพทย์ชนบทจะเริ่มหมดไฟเมื่อ 3 ปีผ่านไป แต่พอได้ไปเรียนเรื่องการวิจัย การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ เรียนวิชาการได้คุยกับคนนั้นคนนี้ มันกลับสดชื่นขึ้นใหม่ และอยู่ชนบทได้นานขึ้น หาความรู้ มีเรื่องอะไรที่ต้องปรับปรุงมีเยอะมากเลย ตรงนั้น ถ้าอยากวิจัยอยู่โรงพยาบาลชุมชนได้วิจัยเยอะมาก ความสามารถในการมองเรื่องต่าง ๆ ให้เป็นความรู้ ตรงนี้เป็นข้ออ่อนของ NGO, NGO จะมีอุดมการณ์ แต่มักจะขาดเรื่องของกระบวนการเรียนรู้ตรงนี้

ดังนั้น ผมเสนอแนะว่าถ้าจะทำเรื่องการศึกษาทางเลือก ให้ใช้การวิจัยเป็นตัวเดินเรื่อง มีโครงการวิจัย ไปวิจัยดูว่า ทั้งประเทศไทยมีใครทำเรื่องการศึกษาทางเลือกอยู่บ้าง ถ้าเราดุ่ม ๆ ทำของเรา เราก็ป็อก.. ทำได้แค่นั้น แต่ว่าถ้าเราไปวิจัยดูว่าใครทำอยู่บ้าง ใครมีศักยภาพที่จะทำบ้าง ทำ mapping มาหมดเลย เราจะรู้ว่า ต่อไปเรื่องมันจะเดินยังไง เพราะเพียงแค่ที่เราทำมันเกิดความรู้ที่รู้ถึงกัน รู้ถึงกันเกิดเป็นเครือข่าย เกิดการเรียน รู้จักกัน เกิดพลังทางสังคมขึ้นด้วย และมันก็เป็นพลังทางการเมืองด้วย ลองเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย มีพวกมากขึ้น สรุปแล้ว…

ประการที่ 1 วิจัยให้รู้ทั้งแผ่นดิน ว่าใครกำลังทำการศึกษาทางเลือกที่น่าสนใจ เขามีประเด็นอะไรที่เด่น มีอะไรที่เป็นจุดเข้มแข็งเขาบ้าง มีอะไรเป็นนวัตกรรมบ้างต่างๆรวมหมด ได้ mapping เอาความรู้นี้ไปให้เขาหมดให้รู้ถึงกันหมด รู้ถึงกัน เขาก็จะเรียนรู้จากการเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย

ประการที่ 2 สนับสนุนให้มีคนทำการศึกษาทางเลือกให้มากขึ้น คนที่ทำการศึกษาทางเลือกส่วนใหญ่ไม่มีทรัพยากรในการทำ มีใจที่จะทำ แต่ทรัพยากรไม่ค่อยมี อย่างเช่น หาที่จะทำมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็ไม่ค่อยได้ ตอนหลัง อ.ชัชวาล ปุญปันให้ยืมใช้พื้นที่ที่นี่เป็นต้น ฉะนั้นผมคิดว่าต้องหนุนทรัพยากร

ผมกำลังเสนอว่าให้มี กองทุนนวัตกรรมทางสังคม ก้อนใหญ่ ให้ทำแบบ"กองทุนสร้างเสริมสุขภาพ" คือ ออกกฎหมายขึ้นภาษีบุหรี่ กับภาษีสุรา 2 % ได้เงินมาปีละ 1500 ล้าน วันหนึ่งไหลเข้ามา 5 ล้าน ทุกวันเลย แล้วไม่ต้องไปทะเลาะกับกรรมาธิการงบประมาณ โดนคุณชัย ชิดชอบ ด่า. พวกมหาวิทยาลัยโดนแกด่าเป็นประจำ เวลาไป defence งบประมาณ ทำยากที่สุดเวลาจะทำอะไรไม่ค่อยมีทรัพยากร

สำหรับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตอนนี้มีเงินปีละประมาณ 1,500 ล้าน และเป็นองค์กรที่ไม่ใช่ราชการ ไม่มีอธิบดีหรือปลัดกระทรวงจะมาสั่งซ้ายหันขวาหัน เป็นของรัฐแต่เป็นอิสระ แบบนี้เราจะทำอะไรให้มีพลัง จะเป็นจุดสำคัญ คือต้องใช้ทรัพยากรของรัฐก็คือของเราของประชาชนนั่นเอง แต่มันไปถูกนำไปใช้ทางอื่นเสียมาก เราต้องคิดใช้ทรัพยากรของรัฐแต่เป็นอิสระในการคิดใช้

ถ้าอยู่ในราชการมันทำอะไรไม่ค่อยได้ ใช้สมองน้อย ใช้แต่อำนาจ เป็นระบบอำนาจ ผมยกตัวอย่างญี่ปุ่น เขาออกกฎหมายว่า เงินที่ได้จากการพนันแข่งเรือกันทั้งประเทศ 3.3 % ต้องมาเข้า Nippon Foundation เป็นเงิน 600 ล้านดอลล่าร์ต่อปี เงินจำนวนดังกล่าวใหญ่กว่ามูลนิธิร็อคกี้เฟลเลอร์ ใหญ่กว่ามูลนิธิฟอร์ด. 600 ล้านดอลล่าร์คูณเป็นเงินไทย เกือบสามหมื่นล้านบาทต่อปี เข้ามาโดยอัตโนมัติโดยทางกฎหมาย และ Nippon Foundation ไปช่วยสนับสนุนอะไรต่าง ๆ จนกระทั่งถึง"คาร์เตอร์ เซ็นเตอร์"ในอเมริกา ไปช่วยโครงการเอดส์ที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด

ตอนนี้ก็มีโครงการที่เรียกว่า API หรือ Asian Public Intellectual อยากจะสนับสนุนเรื่องปัญญาชนสาธารณะในเอเชีย มันเกิดขึ้นมากแล้วเชื่อมโยงกัน กรรมการของประเทศไทยก็คือ อ.นิธิ เป็นประธานกรรมการที่จะคัดเลือกเข้าไปเป็น Fellowship ของทุนอันนี้

ผมกำลังเรียนว่า ถ้าเราหา เช่นช่องทางด้านกฎหมาย และเอาอะไรน้อยๆนิดเดียว สมมติเอาสัก 0.1% ของการโอนหุ้น เอานิด ๆ แต่มันได้เงินมาเป็นกอบเป็นกำ ผมคิดว่าถ้าเรามีสัก 10,000 ล้านก็ไม่ว่าอะไร กองทุนนวัตกรรมทางสังคม

เรากำลังดูวิธีการตรงนี้ เราไม่สามารถออกกฎหมายทันทีทันใดได้ ถ้าออกเร็วเกินมันจะเพี้ยน เพราะสภาไม่เข้าใจ วุฒิสภาไม่เข้าใจ พูดกันจนเลอะเทอะ จะต้องก่อตัวให้มันได้ทำงาน ให้มันเกิดวัฒนธรรมของมันก่อน ให้คนเห็นว่าสิ่งนี้มันดีมีประโยชน์ เข้าใจได้ง่าย แต่ถ้าปุบปับเราออกกฎหมาย ผมกลัวมันจะเพี้ยน แต่ว่าในที่สุด ผมอยากให้กฎหมาย จะเอาจากการโอนหุ้น หรือจากเรื่องสื่อ โทรคมนาคม อะไรก็แล้วแต่ มันมีช่องทางหลายเรื่อง ให้มันมีกองทุนขนาดใหญ่ที่ไม่เป็นราชการ เป็นอิสระทำนอง สสส. แล้วไปหนุนนวัตกรรมต่าง ๆ ทั่วแผ่นดินไทย ใครนึกอยากทำอะไรสร้างสรรค์ มีอิสระ อยากลองโน่นลองนี่ หนุนนวัตกรรม หนุนการวิจัย ซึ่งต้องตีความให้กว้างกว่า สกว.

สำหรับผมเอง ผมเห็นชาวบ้านทำวิจัยขนาดใหญ่มาประมาณ 20-30 ปี ทดลองเรื่องการเกษตร เรื่องเศรษฐกิจของเขา นั่นเป็นการวิจัยมาก สนับสนุนการฝึกอบรม สนับสนุนการสร้างเครือข่าย สนับสนุนการตั้งสถาบันที่เป็นอิสระที่จะทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ต่างๆ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนก็ควรจะสนับสนุนให้มีอย่างนี้เยอะๆ ผมคิดว่าประเทศจะได้มีพลังเกิดขึ้นคือ มีเครื่องมือในการสนับสนุนการศึกษาทางเลือกให้มาก

ประการที่ 3 เชื่อมโยงกับการศึกษาทางเลือกกับการศึกษาในระบบ จะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้การศึกษาในระบบมันดีขึ้น การศึกษาไม่ควรไปเรียนจากครูที่กินเงินเดือนที่บรรจุในมหาวิทยาลัยหรือในโรงเรียนเท่านั้น ครูอื่น ๆ มีเยอะมาก และเวลามีบางแห่งทดลองทำนี่สนุกมาก เพราะครูในชุมชนมีเยอะ คนเก่ง ๆ มีเยอะเลย จะเรียนเรื่องการเกษตรผสมผสาน เรียนจากพ่อมหาอยู่ สุนทรไทย เรื่องปลาจากพ่อสุข ชนะชัย เรื่องเกษตรบูรณาการ ใครจะเก่งเหมือนผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ผมคิดว่าในกระทรวงเกษตรไม่มีเลย ในกรมวิชาการก็ไม่มี แล้ว น่าจะมีไม่ได้

ผมมีเพื่อนชื่อ นอร์มอล อ็อบพอร์ อยู่ที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล เขาทำวิจัยเรื่องความยั่งยืนของสังคมเกษตรกรรมทั้งลาตินอเมริกาและอัฟริกา เขามีความรู้เยอะ วิจัยหมดทุกทวีป เมื่อเร็วๆนี้เขามาเมืองไทย เขาบอกว่า ประเวศ นักวิชาการในกระทรวงกับในมหาวิทยาลัยไม่มีทางพบของใหม่หรอก เพราะพวกนี้เขายึดมั่นถือมั่น ต้องนักวิจัยชาวบ้าน

เขาเล่าให้ผมฟังว่า มีเกษตรกรชาวมาดากัสการ์ ทำวิจัยและพบวิธีผลิตข้าวได้ถึง 21 ตันต่อเอเคอร์ ปกติ 1 เอเคอร์จะได้ 800 กิโล - 1 ตัน ถ้าได้ 2-3 ตันก็มากแล้ว แต่นี่มากถึง 21 ตัน โดยใช้น้ำน้อยลง ใช้เมล็ดพันธ์น้อยลง และปุ๋ยไม่ใช้เลย ผมก็ฟังวิธีการที่เขาบรรยาย

เขาว่า การใช้น้ำเยอะที่เราทำอยู่นั้นผิด เพราะน้ำไปป้องกันปฏิกิริยาระหว่างอากาศกับจุลชีพที่มันอยู่ในดิน ที่มันสร้างปุ๋ย ไอ้ตรงนั้นต้องมีชีวิตชีวาได้อากาศได้อะไรเข้ามา น้ำมันจะไปกลบตรงนั้นหมด ควรใช้น้ำน้อยเท่าที่จำเป็น และตรงนั้นมันสร้างปุ๋ยที่รากในดิน ฉะนั้นรากจะใหญ่ปลูกห่างหลุมละเม็ดเดียว พอห่างปั๊บ รากมันมีเสรีภาพ พอผมฟังผมสรุป concept ว่านี่คือ freedom to grow และอันนี้ใช่ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องเด็กที่อยู่ในท้อง เด็กเกิดใหม่ด้วย เพราะเขามีอิสรภาพที่จะเติบโตงอกงามขึ้น

เรื่องข้าวเช่นเดียวกัน พอมันอยู่ห่างกัน ไม่เบียดกัน รากมันใหญ่มากและแบคทีเรียมันมีปฏิกิริยากับข้างบน ใบก็สังเคราะห์จากแสง เอาอาหารลงมาที่รากอีก รากก็ใหญ่มาก ทำให้ต้นข้าวใหญ่ออกรวงเยอะ และยิ่งผ่านไปไม่ได้ใส่ปุ๋ยเลย แต่ปุ๋ยในดินกลับมากขึ้นๆ เพราะอย่างนี้ กระบวนการอย่างนี้ข้าวถึงเพิ่มขึ้น ได้ถึง 21 ตันต่อเอเคอร์

ผมกำลังตามเรื่องนี้ แวะไปคุยกับ เดชา ศิริภัทร์ที่สุพรรณ ถามว่าเดชารู้จักอันนี้ไหม? SRI เพราะขณะนี้มันกำลังเชื่อมโยงกันจากมาดากัสการ์มาศรีลังกา ไปเมืองจีน เขมร เป็นเครือข่าย เดชาบอกว่าได้ยินอยู่ เขาได้ไปเขมรไปเจอคนที่เขาทำเรื่องนี้ ความรู้อย่างนี้ถ้ามีมันประหยัดแรง ประหยัดทรัพยากรของเกษตรกร ซึ่งมันจะเกิดจากการวิจัย วิจัยตลอดเวลา

นอร์มอล บอกว่า ไปบอกนักวิชาการในมหาวิทยาลัยไม่มีใครเชื่อ บอกแต่ว่าเป็นไปไม่ได้ ไม่ยอมรับฟัง ไม่เชื่อ เขาถึงบอกว่านักวิชาการในกระทรวงกับในมหาวิทยาลัย ยาก..เพราะไปยึดมั่น คนพวกนี้มีความคิดแบบนักเศรษฐศาสตร์ เวลาเจอแบงค์ใบละร้อยดอลล่าร์ตกอยู่ที่ดิน นักเศรษฐศาสตร์จะไม่เก็บ เขาบอกเงินต้องเป็นของปลอม ถ้าเป็นของจริงคนอื่นต้องเก็บไปแล้ว เขาบอกมันเป็นวิธีคิดแบบเดียวกัน ฉะนั้นต้องสนใจการวิจัยของชาวบ้าน เพราะชาวบ้านอยู่กับการปฏิบัติ ผมเรียนแล้ว การปฏิบัติมันต้องเผชิญอยู่กับความเป็นจริง เผชิญกับปัญหา ถ้าตรงนั้นถ้าใครเรียนรู้ ประยุกต์หรือเชื่อมโยงจากเขา ตัวนี้มันจะได้การวิจัยที่วิเศษ

ตรงนี้เอง ผมคิดว่าเชื่อมโยงการศึกษาทางเลือกกับในระบบ และในระบบมันต้องเปิดออกมาเรียนรู้จากชาวบ้าน ครูจะเยอะมากเลย ผมพยายามบอกเรื่อยแต่ไม่ค่อยมีคนทำ ว่าเวลาจะตั้งคณะศิลปกรรม ตั้งอะไรก็แล้วแต่ อย่าไปมีเฉพาะอาจารย์ที่บรรจุเข้ามา ชาวบ้านที่เป็นศิลปินทั้งหลายให้เราไปสำรวจ ทำวิจัยดูจะมีเยอะมาก เขาจะเป็นครูได้ ในชุมชนจะมีครูจากชุมชนต่างๆเข้ามาเยอะ จะเรียนสนุกขึ้น เรียนตรงกับของจริงมากขึ้น และจะประหยัดขึ้นด้วย

ประการที่ 4 ที่ว่าจะสนับสนุนการศึกษาทางเลือก ผมเสนอว่าน่าจะยกเลิกการตีราคาปริญญา เปิดโอกาสให้คนศึกษาที่ไหนก็ได้ โคนต้นไม้ก็ได้ มันเรื่องอะไรต้องสร้างตึกใหญ่ๆ เราลงทุนสร้างตึกใหญ่กันไปเยอะแยะมากมายในเรื่องต่างๆในทางราชการ แต่ตัวปัญญาในตึกมันมีน้อยมาก บางครั้งผมแกล้งเรียก"ทัสมาฮาล" ตึกมันสวยแต่ข้างในมีศพอยู่

สิ่งมีชีวิตเรียนรู้ได้ มีปัญญา ให้คนเรียนกันทั้งประเทศเลย ไม่ต้องเป็นกังวลว่ามันจะเข้าจุฬาฯ เข้าธรรมศาสตร์กันไม่ได้ เรียนกันตามศาลาวัด ตามโคนต้นไม้ ในท้องนาตามที่ไหนๆ เลิกตีราคาปริญญาเสีย มันจะได้แก้ปัญหาเรื่องคุณค่า เรื่องสอบ entrance

ข้อสองใหญ่
ในเรื่องจุดคานงัดที่ผมมอง ผมคิดว่าน่าจะมีการอุดหนุนให้มหาวิทยาลัยทำวิจัย โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ขณะนี้เรียนกันโดยเอาวิชาเป็นตัวตั้ง ถ้าเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งก็คือการเอาความเป็นจริงเป็นตัวตั้ง และเรามีโครงสร้างของอุดมศึกษาทั่วทุกพื้นที่ ทุกภาคเรามีมหาวิทยาลัยหลัก เช่น ภาคเหนือมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาคอีสานมีมหาวิทยาลัยขอนแก่น ภาคใต้มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และยังมีราชภัฏ ราชมงคลอีก

ทั้งหมดถ้าหันหน้าไปอีกทางหนึ่ง หันหน้าลงดิน เดิมมันหันหน้าขึ้นฟ้าหมด ถ้าหันหน้าลงดินแล้ววิจัยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ให้รู้หมดแล้วทำงานเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย และวิจัยแบบใหม่ ไปหนุนชาวบ้านให้วิจัยเพราะเรารู้แล้ว ถ้าชาวบ้านวิจัยที่ตำบล เป็นการวิจัยโดยตำบล ของตำบลและเพื่อตำบล เขาจะหายจน เขาจะแก้ปัญหาต่างๆได้

วิจัยแบบเก่าคือว่านักวิจัยโฉบไปโฉบมาทำการวิจัย ได้ข้อมูลได้อะไรมา เขียนเปเปอร์ได้เป็นศาสตราจารย์ ได้เป็นอะไร แต่ชาวบ้านเหมือนเดิม แบบนี้เป็นการวิจัยที่ไม่มีจริยธรรม การวิจัยต้องหนุนชาวบ้านให้เขาเก่ง ฉะนั้นตรงนี้สามารถหนุนได้ไม่ยาก การวิจัยโดยตำบล ของตำบล และเพื่อตำบล เริ่มจากวิจัยรายจ่ายก่อน รายจ่ายของตำบลว่ามันจ่ายอะไรบ้าง รวมกันแล้วเท่าไหร่ ตรงนี้จะสร้างจิตสำนึกใหม่ เกิดการเรียนรู้ เกิดการปรับพฤติกรรม เกิดอะไรเยอะแยะ

ขณะนี้กำลังมีคนทำ และเราต้องรู้หมด ความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางพื้นที่ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม เราจะเกิดเหมือนเป็นแผนที่ของประเทศไทย เป็นแผนที่ที่ไม่ใช่รู้แต่เรื่องพื้นดินเท่านั้น แต่เป็นแผนที่ที่รู้หมดว่ามีความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไรบ้าง ความหลากหลายทางวัฒนธรรมอะไรบ้าง รู้หมดทุกหมู่บ้าน ว่าคนไทยแต่ละหมู่บ้านทำอะไรเก่ง ทำอะไรอร่อยบ้าง แล้วความรู้นี้ต้องให้รู้ทั่วกันหมด คนไทยจะได้กินของอร่อยมากขึ้น เศรษฐกิจก็จะหมุนเวียน คนในหมู่บ้านก็จะมีรายได้มากขึ้น

ความรู้นี้มันจะเป็นตัวสร้างเศรษฐกิจสำคัญ และมันจะนำไปสู่เรื่องสารพัด เรื่องการรักษาฐานทรัพยากร เรื่องอะไรที่ต่างชาติกำลังรุกเข้ามาขณะนี้ คนเล่าให้ผมฟังเยอะ ว่าต่างชาติรุกเข้ามาเอาอะไรบ้าง ทางภาคเหนือนี้ก็มี และเอาอะไรไปบ้างต่างๆเรื่องฐานทรัพยากรนี้ ถ้าเราไม่รู้เราก็ไม่สามารถรักษาไว้ได้

การวิจัยโดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง ลงได้ทุก discipline ไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพ ทางชีวภาพ ทางสุขภาพ ทางสังคม หรือทางมนุษยศาสตร์ ทำอะไรได้ทุกเรื่อง โดยมีเป้าหมายว่าวิจัยแล้วให้รู้ และให้พื้นที่เขามีพลังมากขึ้น และเราก็มีโครงสร้างทางการศึกษา โดยเฉพาะอุดมศึกษาอยู่ทั่วทุกภาค แต่ตรงนี้ถ้าให้งบประมาณทบวงเพิ่มขึ้น เขาจะจัดการไม่เป็น ถ้าให้งบประมาณกับมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยจะจัดการไม่เป็น

ผมเสนอรัฐบาลว่า ควรจะเพิ่มงบประมาณให้ สกว.1,000 ล้านบาทต่อปีเป็นการเริ่มต้น เพื่อไปสนับสนุนมหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัย แต่ให้ทำการวิจัยพื้นที่เป็นตัวตั้งและให้เชื่อมโยงกับราชภัฏ ราชมงคลและอื่นๆ ในพื้นที่ด้วย ที่บอก สกว.นี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเงินเท่านั้น ไม่ใช่มีอะไรเอาเงินให้ไป มันตามด้วยเรื่องการจัดการ ให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เรื่องนี้มันจะจัดการยังไง ๆ ตรงนี้จะเป็นจุดเปลี่ยน จะทำให้พื้นที่เข้มแข็งขึ้นซึ่งเป็นฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

การพัฒนาที่ผ่านมา เป็นการพัฒนาข้างบน ให้ข้างบนเอาเปรียบข้างล่างตลอดเวลา ให้ข้างบนบ่อนทำลายข้างล่างตลอดเวลา ข้างล่างก็อ่อนแอลง สังคมก็ยุบตัวลง สร้างพระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน ทำฐานแข็งแรงแล้วข้างบนมันเติบโตได้มากและมั่นคง ตรงนี้จะเกิดความมั่นคงของฐานล่างของสังคม ผมเสนอให้ทำตัวนี้ นอกจากนั้นอาจารย์จะเปลี่ยน นักศึกษาจะเปลี่ยน จากความรู้ที่ลอยอยู่บนนภากาศ สุญญากาศ มาเป็นความรู้จากดินสู่ฟ้า จากฟ้าสู่ดิน มันจะเปลี่ยนการหมุนโครงสร้างทางปัญญาขึ้น

ข้อที่สาม ที่เป็นจุดคานงัด ควรจะทำระบบข้อมูลข่าวสารกับการสื่อสารให้สังคมไทยรู้ความจริงถึงกันหมด และในเวลาใกล้เคียงกัน ถ้าเราดูระบบร่างกาย ระบบในร่างกายนี้มีความหลากหลายมาก แต่มีความเป็นเอกภาพ. ถ้าหัวใจไปทาง ปอดไปทาง ตับไปทาง เราก็จะเป็นคนอย่างนี้ไม่ได้. หลากหลายแต่เป็นเอกภาพ เซลล์สมองกับเซลล์หัวแม่เท้าต่างกันมากแต่ทั้งหมดเชื่อมโยงกันอย่างเป็นเอกภาพ

ถามว่าจะทำไง ระบบนี้จะลงทุนเรื่องข้อมูลข่าวสาร การสื่อสารอย่างไม่น่าเชื่อ รู้ถึงกันหมด ทุกเซลล์มี DNA ซึ่งเป็นระหัส ความยาว 3,000 ล้านตัวอักษร เรามีระบบประสาทรู้ถึงกัน แตะตรงไหนก็รู้หมด สารเคมียังสื่อสารกัน สมมติน้ำตาลเราต่ำ หรือสูง ตัวอื่นจะรู้แล้ว มันจะปรับตัวให้อยู่ในสมดุล

แต่ก่อนนี้เป็นไปไม่ได้ ว่ามนุษย์จะรู้ทั่วถึงกัน ก็เป็นเหตุให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติไม่ได้ เพราะความรู้การรู้มันต่างกันมาก เมืองจีนพบเทคโนโลยีอะไรบางอย่าง กว่าความรู้นี้จะเดินทางไปถึงยุโรป อาจต้องกินเวลากว่าพันปี ความรู้มันเดินช้า แต่ขณะนี้ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารมนุษย์สามารถจะรู้พร้อมกันได้ ดังนั้น ต้องคิดต้องทำระบบตัวนี้ให้ได้ มีระบบที่คนรู้ความจริงถึงกัน ตรงนี้จะทำให้เกิดความเสมอภาค เกิดความเป็นเอกภาพต่างๆขึ้น

ผมได้ลองเขียนระบบการสื่อสารดูว่ามันจะมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ถ้าจะทำให้ครบจะเป็นอย่างไร และกำลังมีกลุ่มคนทำเรื่อง ระบบการสื่อสารทั้งระบบว่าจะเป็นอย่างไร?

ประการสุดท้าย เมื่อเร็วๆนี้ผมได้ไปยุหมอวิจารณ์ ผมเสนอให้ตั้งสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้ เพราะถ้าเราสังเกต จะเห็นว่าสังคมเราจัดการความรู้ไม่เป็น มหาวิทยาลัยก็จัดการความรู้ไม่เป็น, NGO ก็จัดการความรู้ไม่เป็น, ราชการไม่ต้องพูดถึง ราชการมีการซ่อนข้อมูลกันไว้เพื่อไว้ทำร้ายกัน เพื่อจะแข่งกันใครจะเป็นอธิบดี ใครจะเป็นปลัด

การจัดการความรู้ต้องเชื่อมโยงทั้งหมด เชื่อมกับความเป็นจริง แต่มันขาดหายไป เป็น missing link นี้เป็นสิ่งที่ขาดหายไปและทำให้อ่อนแอ เรามีโครงสร้างที่เป็นโครงสร้างอำนาจเต็มไปหมด โครงสร้างราชการ ศาสนา การศึกษา เรื่องมหาอำนาจที่กำลังรุกเข้ามาครอบงำเป็นโครงสร้างที่น่ากลัวมาก ผมเรียกเป็นโครงสร้างแห่งความตายและทุกคนอยู่ในนั้นหมด เหมือนไก่อยู่ในเข่งรอวันเขาเอาไปเชือด แต่ยังจิกตีกันตลอดเวลา ต้องออกจากเข่งให้ได้

ตรงนี้ต้องการหน่วยจัดการความรู้ที่เป็นอิสระ เมื่อเร็วๆเราประชุมว่าด้วยเรื่องนี้ เพื่อให้มันเกิดสถาบันการจัดการความรู้ที่เป็นอิสระ ต้องเป็นอิสระมันถึงจะจัดการได้ และต้องเกิดขึ้นยุบยับหมดทั่วประเทศ ทุกพื้นที่ ทุกองค์กร สังคมจึงจะมีสมอง ตอนนี้เหมือนมีฟอสซิล มันเป็นแท่งอำนาจ มันต้องเรียนรู้ได้ ปรับตัวได้ มันต้องมีสมอง ตรงนี้ต้องสนับสนุนให้เกิดขึ้น สังคมไทยจึงจะเกิดการเรียนรู้ที่เป็นประโยชน์ทั้งประเทศ และถ้าดูดี ๆ มันจะเป็นอุดมศึกษา การศึกษาอันอุดมแบบใหม่ทั้งประเทศ

ช่วงการแลกเปลี่ยนสนทนา

อ.นิธิ : ผมเห็นด้วยเกี่ยวกับการตั้งกองทุน"นวัตกรรมทางสังคม"อย่างยิ่ง แต่ก่อนหน้าที่จะมีกองทุนนั้น ไม่ได้แปลว่าเราทำอะไรไม่ได้ ผมอยากจะเรียนว่า มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนไม่เคยมีปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรเลย เรามีมากเกินกว่าที่เราจะใช้หมดด้วยซ้ำไป เช่น ที่พูดตรงนี้ เคยมีคนเสนอให้เราใช้พื้นที่หลายไร่ พร้อมด้วยอาคารเสร็จ เราไม่เอาเพราะว่ามันอยู่ไกลไป เรามีสิทธิเลือกด้วยซ้ำไป การพูดเช่นนี้ไม่ใช่เพื่อจะอวดว่าเราทำดีเหลือเกิน มีคนสนับสนุนเยอะแยะไปหมด แต่อยากจะบอกเพียงว่า เวลาคิดจะทำอะไรเราชอบคิดว่าต้องมีเงิน มีทรัพยากรก่อน ผมว่าไม่จริง ทำก่อน..เพราะว่า ในสังคมไทย ถึงจะเละเทะยังไงก็แล้วแต่ ผมคิดว่ายังมีคนพร้อมสนับสนุนสิ่งดี ๆ มากพอสมควร เราสามารถเริ่มต้นทำได้ เรื่องเงินมาทีหลัง ค่อยๆคิดไป อย่าได้เป็นห่วงเรื่องนั้น ผมเชื่อว่าคนที่ได้ฟัง อ.ประเวศแล้ว คงนึกอยากจะทำอะไรแยะ ทำเลยครับ อย่ามัวรอกองทุนนั้น

อ.ประเวศ : ขอบคุณอาจารย์ครับ ข้อที่ผมพูดเรื่องกองทุนมาเป็นข้อสอง ข้อหนึ่งให้ทำกันเลย ทำกันให้เยอะๆ แล้วมาข้อสอง ถ้ามีกองทุนก็ดีจะได้สนับสนุนให้ทำให้มากขึ้น อันนี้สำคัญซึ่งต้องขอขอบคุณ อ.นิธิ ที่ทำให้ไม่เกิดความเข้าใจผิด ต้องลงมือ พอลงมือแล้วมันก่อศรัทธาให้คนให้เข้ามาร่วม

ผู้เข้าร่วม : ผมมีคำถามนิดเดียวเกี่ยวกับความมหัศจรรย์ของ อ.ประเวศ เข้าใจว่าเป็นเรื่องเทคนิคที่ผมสนใจมากว่า อาจารย์สามารถตรวจพบว่านักศึกษาแพทย์สมัยที่อาจารย์ตรวจเลือดอยู่ อาจารย์สามารถจำแนกได้ว่า อันไหนเป็นเลือดคนจน อันไหนเป็นเลือดคนรวย ผมขอความกระจ่างนิดเดียวครับว่า เลือดคนจนมันมีกลิ่นกะปิ น้ำปลา อยู่อย่างไรครับ?

อ.ประเวศ : คนจนจะเลือดจาง เราเจออย่างนี้ครับ ที่โรงพยาบาลศิริราช เราตรวจนักเรียนแพทย์ ไม่มีคนโลหิตจางเลย เราตรวจนักเรียนพยาบาล 11% โลหิตจาง เพราะนักเรียนพยาบาลจนกว่านักเรียนแพทย์ เราตรวจชาวนาที่นครชัยศรีกับอยุธยา พบ 40% โลหิตจาง เราตรวจชาวนาอุบลราชธานี พิบูลมังสาหาร 90% กว่าเป็นโรคโลหิตจาง แล้วชื่อพิบูลมังสาหารไม่ค่อยพิบูลหรอก แล้วตรงนี้มันเกิดเป็นเส้นตรงเลยว่า ยิ่งจนยิ่งจาง

อ.สมเกียรติ : ช่วงเช้านี้ เราทั้งหลายต่างได้รับความรู้กันไปมาก ตามที่อาจารย์หมอประเวศกรุณาเตรียมมาอย่างครบครันเกี่ยวกับหัวข้อ "ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท" และในนามของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ต้องขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เอาไว้ ณ ที่นี้เป็นอย่างสูง ที่กรุณาเสียสละเวลาให้กับพวกเราทุกคน หลังจากนี้ หากพวกเรายังคงมีคำถามที่อยากจะพูดคุยกับอาจารย์ ขอเชิญพูดคุยได้ในช่วงรับประทานอาหาร และสุดท้าย ขอขอบคุณทุกท่านที่ช่วยกันมาเปิดมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ณ ที่ทำการใหม่นี้

 

ไปหน้าแรกของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน I สมัครสมาชิก I สารบัญเนื้อหา I webboard

e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com

หากประสบปัญหาการส่ง e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com

ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม

 

สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้

1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด หรือ Ctrl + A
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งย่อหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ

 

ปาฐกถาพิเศษ เนื่องในโอกาสเปิดมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนที่ทำการใหม่
โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี
เรื่อง "ทางเลือกอุดมศึกษาเพื่อความเป็นไท"

ณ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ซ.โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
วันเสาร์ที่ 22 มิถุนายน 2545
(บทความยาวประมาณ 25 หน้ากระดาษ A4)

การที่จะพิจารณาสภาพของการศึกษาไทยในขณะนี้ ผมจะพูดอยู่ใน 9 หัวข้อด้วยกัน และก็มีประเด็นที่เป็นจุดคานงัดอีก 4 เรื่อง

ประเด็นที่หนึ่ง,
เวลาเราพูดอะไรกันก็แล้วแต่ ไม่ควรจะเอาเรื่องนั้นเป็นตัวตั้ง ถ้าเอาเรื่องนั้นเป็นตัวตั้งก็เท่ากับเรากำลังแยกส่วน ควรจะเอาเรื่องสังคมเป็นตัวตั้ง เพราะสังคมคือการอยู่ร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของมนุษย์

ในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม ทั้งสองส่วนนี้จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติได้อย่างไร ? ถ้าเราเอาอย่างอื่นเป็นตัวตั้ง มันจะไขว่เขวไปทางอื่น มันจะไม่เกี่ยวกับเรื่องการอยู่ร่วมกันของคน เช่น ถ้าเอาเศรษฐกิจเป็นตัวตั้งก็ตาม เอาวิชาการเป็นตัวตั้งก็ตาม หรือไม่ว่าจะเอาเรื่องการศึกษาเป็นตัวตั้ง ก็จะไขว่เขวไปทางอื่น

อย่างที่เราเห็น ถ้าเราดูปัญหาทั้งโลก เรื่องการศึกษามีเยอะมากในต่างประเทศ มีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอยู่หลายแห่ง เช่น Oxford, Cambridge, Harvard, Yale, Stanford อะไรก็ตาม ได้มีการสร้างความรู้กันขึ้นมาเป็นจำนวนมาก มีคนได้รางวัล Nobel Prize มากมาย ลองถามดูว่าแล้วทำไมมนุษย์จึงยังมีปัญหาการอยู่ร่วมกันด้วยสันติทั้งโลก

R
relate