การจับกุมชาวบ้านที่บุกรุกที่ดินของรัฐและเอกชนที่จังหวัดลำพูนตั้งแต่วันที่ ๓๐ เมษายน เป็นต้นมานั้น แม้ดำเนินการตามกฏหมาย แต่หากมองปัญหาโดยพิจารณาเพียงความผิดเฉพาะหน้าบางส่วน โดยมิได้คำนึงถึงปัญหาเชิงโครงสร้างแล้ว นอกจากจะเป็นการทำร้ายชาวบ้านโดยตรง ยังเป็นการปิดกั้นโอกาสการเรียนรู้ร่วมกันของสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาอันเป็นรากฐานของปัญหาความยากจนและการเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจครั้งแล้วครั้งเล่า นั่นคือ ปัญหาเรื่องที่ดิน ความไม่เป็นธรรม และความฉ้อฉลในการถือครองที่ดินเป็นปัญหาสำคัญที่สุดในสังคมไทย ที่บั่นทอนศักยภาพของสังคมในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
การแก้ไขปัญหาเรื่องการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินเป็นปัญหาสำคัญที่สุดของสังคมไทย
ไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะของชาวนาเท่านั้น เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนจำเป็นที่จะต้องมีรากฐานการผลิตและรากฐานของสังคมเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการกระจายปัจจัยการผลิตอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ดินซึ่งเป็นสิ่งที่คนทุกชั้นจำเป็นต้องมี ทั้งเพื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเพื่อการดำรงชีวิต การมีที่ดินในครอบครองตามความจำเป็นของครอบครัว จะส่งผลให้คนทั่วประเทศมีฐานะดีขึ้นจนมีโอกาสเป็นตลาดภายในที่เข้มแข็ง และเป็นแรงงานที่มีคุณภาพสำหรับระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
การปล่อยให้ที่ดินเป็นสินค้าไว้เก็งกำไรซึ่งกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มบุคคลจำนวนน้อย ทำให้ไม่เกิดการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพ ยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไม่ยั่งยืน และจะก่อปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคต
การดูดซับส่วนเกินจากภาคเกษตรกรรมและการริบเอาทรัพยากรทั้งหลาย ที่สำคัญได้แก่ที่ดินจากชาวนา จะทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไฟไหม้ฟาง และต้องประสบปัญหาในเวลาไม่ยาวนานนัก ดังที่สังคมไทยกำลังประสบอยู่ในเวลานี้
การยึดที่ดินของชาวบ้านที่จังหวัดลำพูน เป็นการเข้าไปยึดครองที่ดินที่เดิมนั้นเป็นที่ดินสาธารณะที่ชาวบ้านเคยใช้ประโยชน์ร่วมกันมาเนิ่นนาน แต่ถูกบุคคลและกลุ่มบุคคลกระทำการฉ้อฉล นำที่ดินสาธารณะนั้นเปลี่ยนเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์โดยวิธีการที่ผิดกฎหมาย ในการเข้าไปยึดครองชาวบ้านมิได้กระทำตามอำเภอใจ หากแต่ได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปตรวจสอบความถูกต้องของการครอบครองที่ดินโดยเอกชน ซึ่งปรากฎว่าคณะกรรมการซึ่งรัฐและชาวบ้านตั้งขึ้นมา สามารถแสดงหลักฐานความทุจริตฉ้อฉลในการครอบครองที่ดินของเอกชนรวมเป็นพื้นที่นับพันไร่
การเจรจาระหว่างชาวบ้านกับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบในช่วงเวลาก่อนหน้าการจับกุม มีท่าทีที่อาจจะสามารถหาทางในการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากความฉ้อฉลนี้ได้ โดยตกลงกันว่าจะใช้พื้นที่ที่มีปัญหาทั้งหมดเป็นพื้นที่สำหรับการศึกษานำร่องเพื่อนำไปสู่การปฎิรูปที่ดินต่อไป
แต่แทนที่รัฐจะใช้ข้อสรุปของคณะกรรมการชุดดังกล่าวเป็นพื้นฐานในการแก้ไขปัญหา รัฐกลับบิดพลิ้วและไม่ยอมรับรู้ความฉ้อฉลในการได้มาซึ่งที่ดินของกลุ่มบุคคลดังกล่าว โดยการอ้างข้อกฎหมายเพียงเฉพาะเรื่องการบุกรุกที่ดินของชาวบ้าน อันนำมาซึ่งการจับกุมชาวบ้านโดยไม่ได้พิจารณาถึงการได้มาซึ่งที่ดินที่ผิดกฎหมายของเอกชนแต่อย่างใด
การบุกรุกที่ดินของชาวบ้านจึงถูกรัฐทำให้มีความหมายเพียงแค่การบุกรุกเข้าไปในที่ดินที่เป็นทรัพย์สินเอกชนเท่านั้น โดยไม่ได้พยายามทำความเข้าใจ หรือทำให้สังคมเข้าใจว่าการบุกรุกของชาวบ้านเป็นการกระทำเพื่อรักษาพื้นที่สาธารณะเดิมของชุมชน ไม่ให้ตกอยู่ในกำมือของกลุ่มบุคคลที่ฉ้อฉลเอาที่ดินสาธารณะมาเป็นผลประโยชน์ส่วนตัว
การจับกุมชาวบ้านที่กระทำผิดกฎหมายบุกรุกที่ดินของรัฐและเอกชนที่จังหวัดลำพูน เป็นการกระทำที่ไม่ได้เป็นหนทางไปสู่การแก้ไขปัญหาใดๆทั้งสิ้น มิหนำซ้ำยิ่งจะทำให้ความขัดแย้งรุนแรงขึ้น และจะทำให้การแก้ไขปัญหานี้เป็นไปได้ยากมากขึ้น เพราะการณ์จะกลายเป็นว่าหลักฐานและข้อมูลที่ถูกต้องไม่มีความหมายอันใด อีกทั้ง ข้อตกลงระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับ ก็ไม่ได้มีผลบังคับให้ภาครัฐดำเนินการให้เป็นไปอย่างถูกต้องและยุติธรรม
สมัชชานักวิชาการเพื่อคนจน จึงขอเรียกร้องต่อสังคมให้ช่วยกันกดดันและเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินดังต่อไปนี้
๑.ขอให้รัฐบาลจัดการแก้ไขปัญหาด้วยความเข้าใจ ไม่ให้ความขัดแย้งรุนแรงลุกลามออกไป และยุติการจับกุมเพิ่มเติม ในกรณีที่จับกุมแล้ว รัฐบาลต้องอนุญาตให้ประกันตัว
๒. ขอให้รัฐบาลได้ใช้หลักการและมติของคณะกรรมการที่ได้ตั้งขึ้นมาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา และใช้กรณีที่เกิดขึ้นที่จังหวัดลำพูนเป็นกรณีตัวอย่างสำหรับศึกษาหาแนวทางปฎิรูปที่ดิน ทั้งเพื่อให้ได้ข้อสรุปเฉพาะของท้องถิ่น และเพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการสร้างหลักการทั่วไปในการปฏิรูปที่ดินในอนาคต ทั้งนี้การปฏิรูปที่ดินต้องมีกรรมการจากชาวบ้านในพื้นที่ร่วมอยู่ด้วย
สมัชชานักวิชาการเพื่อคนจน
และองค์กรพันธมิตรหวังให้สังคมได้ร่วมกันสร้างสรรค์ความเป็นธรรม ตลอดจนหาแนวทางในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนโดยเริ่มต้นที่การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินนี้
สมัชชานักวิชาการเพื่อคนจน
28 พฤษภาคม 2545 ณ ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
บทความประกอบ
เผชิญหน้าโลกาภิวัตน์
ด้วยการปฏิรูปที่ดิน
โดย เกษียร เตชะพีระ
(คัดมาจากหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน เดือนมิถุนายน 2545)
วันเดียวกับที่สภาผู้แทนราษฎรลงมติไว้วางใจรัฐมนตรี 15 นายเป็นรายบุคคลเมื่อ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา สมัชชานักวิชาการเพื่อคนจน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เปิดแถลงข่าวคัดค้านปฏิบัติการปลุกระดมข่มขู่คุกคาม, ปราบปรามจับกุมฟ้องร้องและทำลายทรัพย์สินพืชผลของชาวบ้านที่ลำพูนต่อเนื่องหลายระลอก ด้วยข้อหาบุกรุกที่ดินของรัฐและเอกชน ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนเป็นต้นมา
เป็นปฏิบัติการที่ระดมกำลังตำรวจหลายร้อยนายในหลายท้องที่ เข้าช่วยนายทุนเจ้าที่ดินรื้อถอนต้นลำไยและพืชผล เผาทำลายกระต๊อบและอาคารประชุม จับกุมฟ้องร้องชาวบ้านนับสิบๆ ราย หลายคนถูกห้ามประกันตัว ซึ่งปฏิบัติการทั้งนี้ผิดขั้นตอนกระบวนการแก้ปัญหาการถือครองที่ดินในพื้นที่ผ่านคณะทำงานชุดต่างๆ ตามที่รัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้องทั้ง 3 นายคือประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์, สมบัติ อุทัยสาง และวราเทพ รัตนากร ได้ร่วมกันตกลงกับชาวบ้านและสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือไว้เมื่อเดือนมีนาคมศกนี้
ทำราวกับชาวบ้านเป็นไอ้เสือไอ้โจรร้ายใจฉกรรจ์ที่ปล้นฆ่ามาทั่วราชอาณาจักรก็มิปาน!
นับว่าน่ายินดีที่รัฐมนตรีทุกคนผ่านการไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรซึ่งพรรคไทยรักไทยกุมเสียงข้างมากเด็ดขาด(แหะๆๆ) รวมทั้งบรรดาพะนะท่านที่ถูกฝ่ายค้านเปิดอภิปรายในข้อหาเกี่ยวเนื่องกับการได้ที่ดินสาธารณะ ที่ป่าสงวนฯ ที่อุทยานแห่งชาติ ที่ธรณีสงฆ์ไปโดยมิชอบทุกๆ ท่าน
เกรงแต่ผู้คนจะเข้าใจไปว่าภาพตัดกัน 2 ภาพนี้ - ภาพที่รัฐมนตรีผู้ทรงเกียรติได้รับความไว้วางใจ ขณะชาวบ้านตาดำๆ ถูกกวาดต้อนจับกุมด้วยข้อหาบุกรุกที่ดินทำนองเดียวกัน - มันสะท้อนภาวะผลประโยชน์ขัดกัน (conflict of interest) และมาตรฐานสองหน้า (double standard) ในการเมืองบ้านเรา
ดังพังเพยในนิยายจีนกำลังภายในที่ว่า อะแฮ่ม...ชอลิ่วเฮียงร้องจับขโมย
แต่ที่น่าเสียใจที่สุดยังคงเป็นปัญหาที่ดินซึ่งจนแล้วจนรอดยังไม่ถูกแก้ไข, มีแต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานกันในเกมการเมือง ทั้งที่นับวันมันจะหนักหน่วงสาหัสถึงขั้นวิกฤต
ปัญหาที่ดินเป็นเรื่องใหญ่ ไม่ใช่แต่เฉพาะกับการเมืองในประเทศ แต่กับเศรษฐกิจระหว่างประเทศของชาติด้วย ผมขออธิบาย: -
ที่ดินเป็นทรัพยากรสำคัญของชาติ แต่ก็ดังที่มีงานวิจัยพบว่า ปัจจุบันชาติของเรามีที่ดินใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ 70%, มีที่ดินเกษตรกรรมทิ้งร้าง 30 ล้านไร่, ทำให้เสียโอกาสทางเศรษฐกิจที่จะใช้ที่ดินนอนนิ่งเหล่านั้นทำการผลิตทางเกษตรไปเปล่าๆ ปลี้ๆ เป็นมูลค่าถึงปีละ 1.2 แสนล้านบาท, กล่าวเฉพาะภาคเหนือตอนบน พื้นที่ออกโฉนดโดยมิชอบ+ที่ดินซึ่งถูกนายทุนทิ้งร้างทั้งหมด = 11,390 ไร่
เพราะใช้ทรัพยากรสำคัญของชาติไม่เป็น ใช้ไม่เต็มที่ ใช้ล้มเหลวอย่างนี้ ชาติไทยจึงอ่อนแอกะปลกกะเปลี้ยซวนเซทางเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์
เรามักเข้าใจกันว่าโลกาภิวัตน์เป็นยุคแห่งการค้าเสรีที่มีอเมริกาเป็นแกนนำผลักดัน - นี่เป็นความเท็จ!
ตัวอย่างที่ 1) เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีบุชของอเมริกาเพิ่งประกาศมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กกล้าเก่าแก่ขนาดใหญ่ในประเทศ ด้วยการกำหนดโควตาและตั้งกำแพงภาษีกีดกันผลิตภัณฑ์เหล็กกล้านำเข้าบางชนิดจากต่างประเทศตั้งแต่ 8-30% เป็นเวลาสามปี ส่งผลกระทบประเทศผู้ส่งออกเหล็กกล้าไปอเมริการายสำคัญได้แก่ สหภาพยุโรป รัสเซีย ญี่ปุ่นและบราซิล
มาตรการดังกล่าวเป็นผลให้เรือขนเหล็กกล้าส่งออกจากญี่ปุ่นไปอเมริกาลำหนึ่ง พอเจอภาษีอเมริกันขึ้นสูง ก็เลยเบนเข็มหันหัวเรือวกกลับกลางทะเล กะจะขนเหล็กกล้าไปส่งจีนแทน ปรากฏว่า จีนไม่ยอมรับ เกรงจะกระทบอุตสาหกรรมเหล็กกล้าในประเทศของตนบ้าง เรือเคราะห์ร้ายลำนี้จึงต้องเบนหัวออกทะเลอีกครั้งโดยยังไม่รู้จุดหมาย นักวิเคราะห์เชื่อว่าในระยะถัดไป ผลกระทบจากมาตรการคุ้มครองการค้าของอเมริกาจะทำให้เรือขนเหล็กกล้าส่งออกจากประเทศต่างๆ ลอยเคว้งคว้างเท้งเต้งไปมาเกลื่อนทะเล หาท่าส่งสินค้าเหล็กขึ้นฝั่งมิได้ และนานาประเทศอาจพากันหันไปคุ้มครองและกระตุ้นอุตสาหกรรมเหล็กกล้าของตนแทนการค้าเหล็กเสรี
ตัวอย่างที่ 2) เมื่อ 13 พฤษภาคมศกนี้ ประธานาธิบดีบุชอีกเหมือนกันได้ประกาศใช้กฎหมาย "Farm Security and Rural Investment Act of 2002" เพื่อให้เงินงบประมาณอุดหนุนเกษตรกรอเมริกันเพิ่มอีก 80% เป็น 189,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน 10 ปี ทั้งนี้ นอกจากจะทำให้สินค้าเกษตรจากต่างประเทศที่ส่งเข้าตลาดอเมริกันเสียเปรียบแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อเนื่องให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกรวมทั้งที่ส่งออกจากไทยโดยเฉพาะข้าวซึมยาวอย่างแน่นอนเพราะต้องไปต่อสู้ราคากับเงินอุดหนุนก้อนมหึมานั้น
ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ ทั้งสองสอนไทยและประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายว่า.....
-free trade ที่อเมริกาพร่ำป่าวร้องส่งเสริมไม่ free จริง แต่ free เฉพาะเมื่ออเมริกาได้เปรียบ, ถ้าอเมริกาเสียเปรียบเมื่อไหร่ มันก็จะไม่ free ทันที
-เพื่อเปลี่ยน free trade เก๊ๆ ในโลก "สุนัขขย้ำสุนัข ใครแกร่งกว่าคาบเนื้อไป" ทุกวันนี้ให้เป็น -> fair trade หรือการค้าที่เป็นธรรม ชาติคู่ค้าเล็กๆ รวมทั้งไทยต้องหันมาร่วมมือกันโดยแต่ละชาติต้องเสริมสร้างกำลังเศรษฐกิจสังคมภายในของตนให้แข็งแกร่งพอ จึงจะมีอำนาจเจรจาต่อรองเงื่อนไขการค้ากับมหาอำนาจอย่างไม่เสียเปรียบได้
คำถาม: - ทำยังไงชาติไทยจะแข็งแกร่ง?
อันที่จริงชาติเรามีฐานทรัพยากรเป็นทุนเดิมไม่ว่าป่า ดิน น้ำ ชีวภาพ แร่ธาตุ อุดมสมบูรณ์มากมาย, เปี่ยมล้นศักยภาพที่จะสร้างเสริมชาติให้แข็งแกร่งได้ ถ้าเราจัดการทรัพยากรเหล่านั้นเป็นและจัดการได้ดี
แต่สภาพจริงกลับกัน ชาติเราไม่เพียงไม่แข็งแกร่ง แถมห้าปีก่อนยังล้มคว่ำคะมำหงาย ล้มละลายเงินไหลออกปางตายในวิกฤตเศรษฐกิจนับแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2540 เป็นต้นมา เราต้องถูกมหาอำนาจต่างชาติบีบต้อนแหกตาข่มเหงเอารัดเอาเปรียบ เพราะเราจัดการทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของเราไม่เป็น ไม่ดี พูดตรงๆ คือเราล้มเหลวในการจัดการทรัพยากรของชาติ
เราล้มเหลวเช่นนั้นเพราะชาติไทยเราเสียดุล - เสียดุลทางเศรษฐกิจ การเมือง กฎหมายและสังคม คือให้รัฐกับทุนเอกชนมีอำนาจมากไป ขณะชุมชนอ่อนด้อยอำนาจ, เศรษฐกิจการค้ากับเศรษฐกิจฟองสบู่ชิงทรัพยากรไปใช้มากไป ขณะเศรษฐกิจชุมชน-พอเพียงเสียฐานทรัพยากรร่อยหรออ่อนแอ, ตลาดกับรัฐชี้นำกำกับสังคมไปตามทางพัฒนาสายเดี่ยวเกินไป ทางเลือกการพัฒนาสายชุมชนคับแคบตีบตัน, กฎหมายก็รับรองกรรมสิทธิ์เอกชนและรัฐเป็นหลัก ให้ความสำคัญสิทธิชุมชนน้อยไปและไม่มีมาตรการบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนมีประสิทธิผลพอ ดังที่ องค์กรประชาชนและเอ็นจีโอภาคเหนือได้วิเคราะห์ความเชื่อมโยงอันเจ็บปวดเบื้องหลังความล้มเหลวของชาติครั้งนั้นไว้กระชับชัดในเอกสารเรื่อง "ข้อเท็จจริงกรณีปัญหาการออกเอกสารสิทธิทับที่สาธารณประโยชน์ บ.ศรีเตี้ย ม.3 บ.ศรีเจริญ ม.6 และ บ.ศรีลาภรณ์ ม.7 ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน" ตอนหนึ่งว่า: -
"เมื่อทางการจะปฏิรูปที่ดิน ควรนำเอาที่สาธารณะแห่งนี้มาจัดสรรให้กับชาวบ้านที่เคยใช้ประโยชน์บนที่ดินผืนนี้ ไม่ใช่ปล่อยให้นายทุนเอาไปออกโฉนดเป็นสมบัติส่วนตัว แล้วตีค่าที่ดินผืนนี้ด้วยราคาไม่กี่ร้อยล้านบาท แล้วเอาเงินจากแบงก์ ทำให้แบงก์ล้มเกิดความเสียหายแก่สังคมประเทศชาติ จนปัจจุบันยังแก้ปัญหาหนี้เอ็นพีแอลไม่ได้ เพราะไปทำให้ที่ดินเป็นสินค้า ไม่ได้ทำให้ที่ดินเป็นปัจจัยการผลิต หรือเป็นแหล่งอาหารเลี้ยงประชากรโลก"
สรุปคือ [national failure <- state failure + market failure]; ความล้มเหลวใหญ่ของชาติครั้งนั้นเกิดจากรัฐล้มเหลวและตลาดล้มเหลว, ทั้งรัฐและตลาดที่ได้รับมอบอำนาจผูกขาดรวมศูนย์เหนือทรัพยากรสำคัญของชาติต่างประสบความล้มเหลวสิ้นท่าในการจัดการมัน
เพื่อปรับสถานะของชาติให้คืนสู่สมดุล เราต้องปรับการจัดการทรัพยากรของชาติที่ตะแคงเค้เก้ไปทางรัฐและตลาดจนล้มเหลวล้มละลายกันอยู่จะจะเสียใหม่ โดยให้ชุมชนหรือนัยหนึ่งผู้ผลิตที่จัดตั้งกันขึ้นเป็นสหกรณ์ช่วยกอบกู้ที่ดินอันเป็นต้นทุนทรัพย์สมบัติดั้งเดิมของชาติของสังคม คืนมาจากทุนเอกชนที่ทำให้มันกลายเป็นแค่ฟองสบู่ ในสภาพที่รัฐก็รักษาไว้มิได้ ให้กลับมาเป็นปัจจัยการผลิตของเศรษฐกิจจริง สร้างโภคทรัพย์ทางเศรษฐกิจ เพิ่ม GDP งอกเงยงอกงามแก่ชาติส่วนรวม
การเพิ่มอำนาจและคืนทรัพยากรที่ดินแก่ชุมชน ก็คือการลงทุนในเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม ให้ชุมชนสร้างฐานที่มั่นของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคเหนือตอนบนขึ้นมา ซึ่งจะเป็นแรงหนึ่งที่ช่วยดึงเศรษฐกิจสังคมไทยทั้งประเทศคืนสู่สมดุล ถ่วงความโน้มเอียงไม่มั่นคงสุ่มเสี่ยงอันตรายที่จะล้มเหลวของตลาดกับรัฐในกระแสเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์อันผันผวน เพิ่มกำลังและความมั่นคงทางเศรษฐกิจสังคมให้แก่ชาติ ชาติไทยจะได้ไม่ล้มเหลวอีก
เมื่อชาติเข้มแข็งมีกำลังวังชาดีบนฐานเศรษฐกิจที่สมดุลระหว่าง [ชุมชน - รัฐ - ตลาด] แล้ว จะได้เข้าร่วมเวทีเศรษฐกิจการค้าเปิดของโลกแบบไม่ตกเป็นแพะให้ใครหลอกขย้ำซ้ำสอง หากมีกำลังความสามารถอำนาจต่อรองที่จะร่วมกับมิตรประเทศทั้งหลายทำ fake free trade ให้เป็น fair trade ขึ้นมา
e-mail : midnightuniv(at)yahoo.com
หากประสบปัญหาการส่ง
e-mail ถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจากเดิม
midnightuniv(at)yahoo.com
ให้ส่งไปที่ใหม่คือ
midnight2545(at)yahoo.com
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจะได้รับจดหมายเหมือนเดิม
สำหรับสมาชิกที่ต้องการ download ข้อมูล อาจใช้วิธีการง่ายๆดังต่อไปนี้
1. ให้ทำ hyper text ข้อมูลทั้งหมด หรือ Ctrl + A
2. copy ข้อมูลด้วยคำสั่ง Ctrl + C
3. เปิด word ขึ้นมา (microsoft-word หรือ word pad)
4. Paste โดยใช้คำสั่ง Ctrl + V
จะได้ข้อมูลมา ซึ่งยอหน้าเหมือนกับต้นฉบับทุกประการ